ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๘. ฉันนสูตร
ว่าด้วยเหตุที่เรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ
[๒๓๑] สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เถระหลายรูป อยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนคร พาราณสี. ครั้งนั้น ท่านพระฉันนะออกจากที่เร้นในเวลาเย็น ถือลูกดาลเข้าไปสู่วิหาร ได้กล่าว กะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า ขอท่านพระเถระทั้งหลาย จงกล่าวสอนผมด้วย ขอท่านพระเถระ ทั้งหลาย จงพร่ำสอนผมด้วย ขอท่านพระเถระทั้งหลาย จงแสดงธรรมีกถาแก่ผมด้วย ตามที่ผม จะพึงเห็นธรรมได้. [๒๓๒] เมื่อพระฉันนะกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้กล่าวกะท่านพระฉันนะ ว่า ดูกรท่านฉันนะ รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณ ไม่เที่ยง รูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณ เป็นอนัตตา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา. ลำดับนั้น ท่านพระฉันนะเกิดความ คิดนี้ว่า แม้เราก็มีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า รูปไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง รูปเป็นอนัตตา ฯลฯ วิญญาณเป็นอนัตตา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตของเรา ไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่หลุดพ้น ในธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ในการสละ คืนอุปธิทั้งปวง ในความสิ้นตัณหา ในวิราคะ ในนิโรธ ในนิพพาน ความสะดุ้งกลัวและอุปาทาน ย่อมเกิดขึ้น ใจก็ถอยกลับอย่างนี้ว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ อะไรเล่าเป็นตนของเรา. แต่ความคิดเห็น อย่างนี้ไม่มีแก่ผู้เห็นธรรม (สัจจธรรม ๔) ใครหนอจะแสดงธรรมแก่เรา โดยที่เราจะพึงเห็นธรรม ได้. [๒๓๓] ลำดับนั้นเอง ท่านพระฉันนะได้มีความคิดว่า ท่านพระอานนท์นี้อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ท่านพระอานนท์ผู้ซึ่งพระศาสดาทรงสรรเสริญและทรงยกย่องแล้ว ย่อมสามารถ แสดงธรรมแก่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญ และสามารถจะแสดงธรรมแก่เรา โดยที่เรา จะพึงเห็นธรรมได้ อนึ่ง เราก็มีความคุ้นเคยในท่านพระอานนท์อยู่มาก อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้า ไปหาท่านพระอานนท์เถิด. ลำดับนั้น ท่านพระฉันนะก็เก็บเสนาสนะแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้า ไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้น ผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่าน พระอานนท์ว่า ท่านอานนท์ สมัยหนึ่ง ผมอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี ครั้งนั้น ผมออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็น ถือลูกดาลเข้าไปสู่วิหาร ทางวิหารแล้ว ได้กล่าวกะ ภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า ขอท่านพระเถระทั้งหลาย จงกล่าวสอนผมด้วย ขอท่านพระเถระทั้งหลาย จงพร่ำสอนผมด้วย ขอท่านพระเถระทั้งหลาย จงแสดงธรรมีกถาแก่ผมด้วย ตามที่ผมจะพึงเห็น ธรรมได้. เมื่อผมกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้กล่าวกะผมว่า ท่านฉันนะ รูปไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง รูปเป็นอนัตตา ฯลฯ วิญญาณเป็นอนัตตา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรม ทั้งปวงเป็นอนัตตา ดังนี้ ผมนั้นได้มีความคิดว่า แม้เราก็มีความคิดเห็นอย่างนั้นว่า รูปไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง รูปเป็นอนัตตา ฯลฯ วิญญาณเป็นอนัตตา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรม ทั้งปวงเป็นอนัตตา ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตของเราไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่หลุดพ้น ในธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ในการสละคืนอุปธิทั้งปวง ในความสิ้นตัณหา ในวิราคะ ในนิโรธ ในนิพพาน ความสะดุ้งกลัวและอุปาทานย่อมเกิดขึ้น ใจก็ถอยกลับอย่างนี้ว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น อะไรเล่าเป็นตนของเรา. แต่ความคิดเห็นอย่างนี้ไม่มีแก่ผู้เห็นธรรม ใครหนอ จะแสดงธรรมแก่เรา โดยที่เราจะพึงเห็นธรรมได้. อาวุโส ผมนั้นได้มีความคิดว่า ท่านพระอานนท์นี้ อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ท่านพระอานนท์ผู้ซึ่งพระศาสดาทรงสรรเสริญและยกย่อง ย่อมสามารถแสดง ธรรมแก่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญ และสามารถจะแสดงธรรมแก่เราโดยที่เราจะพึงเห็น ธรรมได้ อนึ่ง เราก็มีความคุ้นเคยในท่านพระอานนท์อยู่มาก อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปหา ท่านพระอานนท์เถิด ขอท่านพระอานนท์ จงกล่าวสอนผมด้วย ขอท่านพระอานนท์ จงพร่ำสอน ผมด้วย ขอท่านพระอานนท์ จงแสดงธรรมีกถาแก่ผมด้วย ตามที่ผมจะพึงเห็นธรรมได้. [๒๓๔] ท่านพระอานนท์กล่าวว่า แม้ด้วยเหตุเท่านี้ ผมก็ดีใจด้วยท่านพระฉันนะ ทั้ง ได้รำพึงกันมาแต่แรก ท่านพระฉันนะได้กระทำข้อนั้นให้แจ่มแจ้งแล้ว ทำลายความดื้อดึงได้แล้ว ท่านพระฉันนะ ท่านจงเงี่ยโสตลงฟัง ท่านเป็นผู้สมควรจะรู้ธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง. ลำดับนั้น ความปีติและความปราโมทย์อย่างโอฬาร ก็บังเกิดมีแก่ท่านพระฉันนะ ด้วยเหตุเพียงเท่านั้นว่า เราเป็นผู้สมควรจะรู้ธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง. อา. ท่านพระฉันนะ ผมได้สดับคำนี้มาเฉพาะพระพักตร์ รับมาแล้วเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาค ผู้ตรัสสั่งสอนภิกษุกัจจานโคตรอยู่ว่า ดูกรกัจจานะ โลกนี้ โดยมากอาศัยส่วน ๒ อย่าง คือ ความมี ๑ ความไม่มี ๑. ก็เมื่อบุคคลเห็นเหตุเกิดแห่งโลก ด้วยปัญญาอันชอบตาม เป็นจริงอยู่ ความไม่มีในโลกย่อมไม่มี. เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลก ด้วยปัญญาอันชอบตาม ความเป็นจริงอยู่ ความมีในโลกย่อมไม่มี โลกนี้โดยมากยังพัวพันด้วยอุบายเป็นเหตุถือมั่นและ ความยึดมั่น แต่อริยสาวกย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ ซึ่งอุบายเป็นเหตุถือมั่น มีความ ยึดมั่นด้วยความตั้งจิตไว้เป็นอนุสัยว่า อัตตาของเรา ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า ทุกข์นั่นแหละ เมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมบังเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับย่อมดับ อริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ ต้องเชื่อผู้อื่นเลย. ดูกรกัจจานะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล จึงชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ. ดูกรกัจจานะ ส่วนสุดที่ ๑ นี้ว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ ส่วนสุดที่ ๒ นี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี. ตถาคตแสดงธรรมโดย สายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขาร เป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้. เพราะ อวิชชานั่นแหละดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้. ฉ. ดูกรท่านอานนท์ ท่านเหล่าใด มีการกล่าวสอนอย่างนี้ ท่านเหล่านั้น เป็นผู้อนุเคราะห์ มุ่งประโยชน์ กล่าวสอนและพร่ำสอนเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ก็แลผมเองได้ฟังธรรมเทศนานี้ ของท่านอานนท์แล้ว เข้าใจธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง.
จบ สูตรที่ ๘.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ บรรทัดที่ ๒๙๖๓-๓๐๒๘ หน้าที่ ๑๒๗-๑๒๙. https://84000.org/tipitaka/_mcu/v.php?B=17&A=2963&Z=3028&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/_mcu/m_siri.php?B=17&siri=90              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=231              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [231-234] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=17&item=231&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=7643              The Pali Tipitaka in Roman :- [231-234] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=17&item=231&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=7643              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_17              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/17i193-e.php#sutta8 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn22/sn22.090.than.html https://suttacentral.net/sn22.90/en/sujato https://suttacentral.net/sn22.90/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :