ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทศพร

๑๐. เวสสันดรชาดก๑- (๕๔๗)
ว่าด้วยพระเจ้าเวสสันดรทรงบำเพ็ญบารมีชาติสุดท้าย
กัณฑ์ทศพร
(ท้าวสักกะตรัสว่า) [๑๖๕๕] ผุสดีผู้มีรัศมีผิวพรรณอันประเสริฐ มีอวัยวะส่วนด้านหน้าสวยงาม เธอจงเลือกเอาพร ๑๐ ประการ ในปฐพีอันเป็นที่รักแห่งหฤทัยของเธอเถิด (เทพธิดาผุสดีกราบทูลว่า) [๑๖๕๖] ข้าแต่ท้าวเทวราช หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์ หม่อมฉันได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หรือ พระองค์จึงให้หม่อมฉันจุติจากสถานอันน่ารื่นรมย์ ดุจลมพัดต้นไม้ใหญ่ให้โค่นไป (ท้าวสักกะตรัสว่า) [๑๖๕๗] เธอมิได้ทำบาปกรรมอะไรไว้เลย และเธอจะไม่เป็นที่รักของเราก็หามิได้ แต่บุญของเธอได้หมดสิ้นแล้ว เหตุนั้น เราจึงกล่าวกับเธออย่างนี้ [๑๖๕๘] ความตายใกล้เธอแล้ว เธอจักต้องพลัดพรากจากไป เธอจงรับพร ๑๐ ประการนี้ของเราผู้กำลังจะให้ @เชิงอรรถ : @ พระศาสดาประทับอยู่ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงปรารภฝนโบกขรพรรษ (ฝนดุจน้ำตกในใบบัว @มีสีแดง ผู้ต้องการให้เปียกจึงเปียก) ให้เป็นเหตุ ตรัสเวสสันดรชาดกแก่ภิกษุทั้งหลาย @(ขุ.ชา.อ. ๑๐/๕๔๗/๓๑๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๔๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทศพร

(เทพธิดาผุสดีกราบทูลว่า) [๑๖๕๙] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าพระองค์จะประทานพรแก่หม่อมฉัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้หม่อมฉัน พึงเกิดในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากรุงสีพี [๑๖๖๐] ข้าแต่ท้าวปุรินททะ ขอให้หม่อมฉัน (๑) พึงเป็นผู้มีตาดำเหมือนลูกเนื้อทราย ซึ่งมีนัยน์ตาดำ (๒) พึงมีขนคิ้วดำ (๓) พึงมีนามว่าผุสดีในพระราชนิเวศน์นั้น [๑๖๖๑] (๔) พึงได้โอรสผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐ ประกอบความเกื้อกูลในยาจก มิได้ตระหนี่ ซึ่งพระราชาทุกประเทศบูชา มีเกียรติยศ [๑๖๖๒] (๕) เมื่อหม่อมฉันตั้งครรภ์ ขออย่าให้ครรภ์นูนขึ้น พึงมีครรภ์ไม่นูนเสมอดังคันศร ที่นายช่างศรเหลาเกลี้ยงเกลาแล้ว [๑๖๖๓] (๖) ข้าแต่ท้าววาสวะ ขอถันทั้งคู่ของหม่อมฉันอย่าได้หย่อนยาน (๗) ขอผมหงอกจงอย่าได้มี (๘) ขอผงธุลีอย่าได้ติดเปรอะเปื้อนกาย (๙) ขอหม่อมฉันพึงได้ปลดปล่อยนักโทษผู้ต้องประหาร [๑๖๖๔] (๑๐) ขอให้หม่อมฉันได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงสีพี ในพระราชนิเวศน์นั้นอันกึกก้องไปด้วยเสียงร้องของนกยูง และนกกระเรียน แวดล้อมด้วยหมู่ขัตติยนารี มีทั้งคนเตี้ยและคนค่อมเกลื่อนกล่น ที่พ่อครัวชาวแคว้นมคธเลี้ยงดู [๑๖๖๕] กึกก้องไปด้วยเสียงกลอนและเสียงบานประตูอันวิจิตร มีคนเชิญให้ดื่มสุราและกินกับแกล้มเถิด พระเจ้าข้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๔๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์

(ท้าวสักกะตรัสว่า) [๑๖๖๖] นางผู้งามทั่วทั้งสรรพางค์กาย พร ๑๐ ประการใด ที่เราได้ให้เธอ เธอจักได้พรเหล่านั้นทั้งหมด ในแคว้นของพระเจ้ากรุงสีพี [๑๖๖๗] ท้าววาสวมฆวานสุชัมบดีเทวราช ครั้นตรัสพระดำรัสนี้ จึงโปรดประทานพร แก่พระนางผุสดีแล้วทรงอนุโมทนา กัณฑ์ทศพร จบ กัณฑ์หิมพานต์ (พระศาสดาตรัสเนื้อความนี้ว่า) พระนางผุสดีนั้น จุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้ว มาบังเกิดในตระกูลกษัตริย์ ได้ทรงอยู่ร่วมกับพระเจ้าสัญชัยในกรุงเชตุดร พระนางผุสดีทรงครรภ์ถ้วนทศมาสแล้ว เมื่อทรงทำประทักษิณพระนคร ได้ประสูติเราในท่ามกลางถนนของพวกพ่อค้า ชื่อของเรามิได้เนื่องมาแต่พระมารดาและมิได้เกิดแต่พระบิดา เราเกิดที่ถนนของพวกพ่อค้า ฉะนั้น เราจึงชื่อว่า เวสสันดร เมื่อเรายังเป็นเด็กเล็กเกิดได้ ๘ ขวบ นั่งอยู่บนปราสาท คิดที่จะบริจาคทานว่า เราพึงให้หทัย ดวงตา เนื้อ เลือด และร่างกาย ถ้าว่าจะมีใครมาขอเรา เราก็ยินดีบริจาคให้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๔๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์

เมื่อเราคิดจะบริจาคทานตามสภาพความเป็นจริง ใจก็ไม่หวั่นไหวมุ่งมั่นอยู่ในกาลนั้น เหมือนแผ่นดินมีภูเขาสิเนรุและหมู่ไม้เป็นเครื่องประดับ (พระเวสสันดรตรัสกับพวกพราหมณ์ผู้มาทูลขอช้างว่า) [๑๖๖๘] พวกพราหมณ์ผู้มีขนรักแร้ดก และมีเล็บยาว มีขี้ฟันเขรอะ มีธุลีบนศีรษะ เหยียดแขนข้างขวาออก จะขออะไรฉันหรือ (พวกพราหมณ์กราบทูลว่า) [๑๖๖๙] ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทั้งหลายทูลขอรัตนะ ที่เป็นเครื่องทำให้แคว้นของชาวกรุงสีพีเจริญ ขอได้โปรดพระราชทานช้างตัวประเสริฐ มีงาดุจงอนไถ มีกำลังสามารถเถิด (พระเวสสันดรตรัสว่า) [๑๖๗๐] เราจะให้ช้างพลายซับมันตัวประเสริฐ ซึ่งเป็นช้างพาหนะอันสูงสุด ที่พวกพราหมณ์ขอเรา เรามิได้หวั่นไหว [๑๖๗๑] พระราชาผู้ทรงผดุงแคว้นให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี มีพระทัยน้อมไปในการบริจาค เสด็จลงจากคอช้าง ทรงให้ทานแก่พราหมณ์ทั้งหลาย (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๖๗๒] เมื่อพระเจ้ากรุงสีพีพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว คราวนั้นความน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าก็ได้เกิดขึ้น แผ่นดินก็กัมปนาทหวั่นไหว [๑๖๗๓] เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว คราวนั้นความน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าก็ได้เกิดขึ้น ชาวพระนครก็กำเริบเสิบสาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๕๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์

[๑๖๗๔] เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว ชาวเมืองก็วุ่นวายสับสนเสียงดังเซ็งแซ่ เป็นที่น่าสะพรึงกลัวแผ่กระจายไปมากมาย พระนครก็ปั่นป่วน เมื่อพระเวสสันดร ผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี ได้พระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว เสียงอื้ออึงอันน่าสะพรึงกลัวเป็นอันมากก็เป็นไปในนครนั้น (พระศาสดาตรัสว่า) [๑๖๗๕] พวกคนผู้มีชื่อเสียง พระราชบุตร แพศย์ ชาวนา พราหมณ์ กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ [๑๖๗๖] ชาวนิคมและชาวกรุงสีพีทั้งมวลมาประชุมพร้อมกัน ชนเหล่านั้นเห็นพวกพราหมณ์นำพญาช้างไป จึงกราบทูลแด่พระเจ้ากรุงสญชัยให้ทรงทราบว่า [๑๖๗๗] ข้าแต่สมมติเทพ แคว้นของพระองค์ถูกกำจัดแล้ว เพราะเหตุไร พระเวสสันดรพระโอรสของพระองค์ จึงพระราชทานช้างตัวประเสริฐของเราทั้งหลาย ที่ชาวแคว้นบูชา [๑๖๗๘] ทำไม พระเวสสันดรจึงได้พระราชทาน พญากุญชรของเราทั้งหลายตัวมีงาดุจงอนไถ แกล้วกล้าสามารถ รู้จักเขตแห่งการรบทั้งปวง เผือกผ่องประเสริฐสุด [๑๖๗๙] คลุมด้วยผ้ากัมพลเหลือง ซับมัน อาจย่ำยีศัตรูได้ มีงาน่าชอบใจ เผือกผ่องดังภูเขาไกรลาส พร้อมทั้งพัดวาลวีชนี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๕๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์

[๑๖๘๐] ทำไม พระเวสสันดรจึงได้พระราชทาน พญาช้างราชพาหนะซึ่งเป็นยานชั้นเลิศ เป็นทรัพย์อย่างประเสริฐ พร้อมทั้งฉัตรขาว เครื่องลาด หมอช้าง และคนเลี้ยงช้างแก่พวกพราหมณ์ [๑๖๘๑] พระเวสสันดรนั้นควรจะพระราชทาน ข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม และที่นั่งที่นอน ทานเช่นนี้แหละเหมาะสม ทานนั้นแหละสมควรแก่พราหมณ์ [๑๖๘๒] ข้าแต่พระเจ้ากรุงสญชัย ทำไม พระเวสสันดรพระโอรส ผู้เป็นพระราชาโดยสืบพระราชวงศ์ของพระองค์นี้ ผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจึงพระราชทานพญาคชสารไป [๑๖๘๓] ถ้าพระองค์จักไม่ทรงทำตามคำนี้ของชาวกรุงสีพี ชาวกรุงสีพีเห็นทีจักยึดอำนาจพระองค์ พร้อมทั้งพระโอรสไว้ในเงื้อมมือ (พระเจ้าสัญชัยตรัสว่า) [๑๖๘๔] ถึงชนบทจะไม่มี และแม้แคว้นจะพินาศไปก็ตามเถิด เราจะไม่พึงเนรเทศพระราชบุตรผู้ไม่มีโทษ ออกไปจากแคว้นของตนตามคำของชาวกรุงสีพี เพราะพระราชบุตรเกิดจากอกของเรา [๑๖๘๕] ถึงชนบทจะไม่มี และแม้แคว้นจะพินาศไปก็ตามเถิด เราจะไม่พึงเนรเทศพระราชบุตรผู้ไม่มีโทษ ออกไปจากแคว้นของตนตามคำของชาวกรุงสีพี เพราะพระราชบุตรเกิดแต่ตัวของเรา [๑๖๘๖] อนึ่ง เราจะไม่พึงประทุษร้ายในพระราชบุตรนั้น เพราะเธอเป็นผู้มีศีลและวัตรอันประเสริฐ แม้คำติเตียนจะพึงมีแก่เรา และเราจะพึงประสบบาปเป็นอันมาก เราจะให้ประหารพระเวสสันดรโอรสของเราด้วยศัสตราได้อย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๕๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์

(ชาวเมืองกราบทูลว่า) [๑๖๘๗] พระองค์อย่าได้รับสั่งให้ประหารพระเวสสันดรนั้น ด้วยท่อนไม้หรือด้วยศัสตรา พระเวสสันดรนั้นไม่ควรแก่เครื่องจองจำ แต่จงทรงขับไล่พระเวสสันดรนั้น จากแคว้นไปอยู่ที่เขาวงกตเถิด (พระเจ้าสัญชัยตรัสว่า) [๑๖๘๘] ถ้าความพอใจของชาวกรุงสีพีเป็นเช่นนี้ เราก็ไม่ขัด ขอเธอจงอยู่และบริโภคกามทั้งหลายตลอดคืนนี้ [๑๖๘๙] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว ชาวกรุงสีพีจงพร้อมเพรียงกันขับไล่เธอเสียจากแคว้นเถิด [๑๖๙๐] นายนักการ ท่านจงลุกขึ้นรีบไปทูลพระเวสสันดรว่า ขอเดชะ ชาวกรุงสีพี ชาวนิคม พากันโกรธเคืองพระองค์ มาชุมนุมกันแล้ว [๑๖๙๑] พวกคนผู้มีชื่อเสียง พระราชบุตร แพศย์ พราหมณ์ กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ ทั้งชาวนิคมและชาวกรุงสีพีทั้งมวลก็มาประชุมพร้อมกันแล้ว [๑๖๙๒] เมื่อสิ้นราตรีนี้แล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว ชาวกรุงสีพีจะชุมนุมกันขับไล่พระองค์ออกไปจากแคว้น [๑๖๙๓] นายนักการนั้น เมื่อได้รับพระราชดำรัสสั่ง จึงรีบสวมสอดเครื่องประดับมือ นุ่งห่มเรียบร้อย ประพรมด้วยจุรณแก่นจันทน์ [๑๖๙๔] สระศีรษะในน้ำ สวมกุณฑลแก้วมณีแล้ว รีบเข้าไปตำหนักอันน่ารื่นรมย์ ซึ่งเป็นพระราชนิเวศน์ของพระเวสสันดร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์

[๑๖๙๕] ได้เห็นพระเวสสันดรราชกุมาร ซึ่งกำลังทรงพระสำราญรื่นรมย์อยู่ ในพระราชวังของพระองค์ซึ่งแน่นขนัดไปด้วยหมู่อำมาตย์ ปานประหนึ่งท้าววาสวะแห่งสวรรค์ชั้นไตรทศ [๑๖๙๖] นายนักการนั้นครั้นรีบไปในพระราชนิเวศน์นั้นแล้ว จึงได้กราบทูลพระเวสสันดรว่า ข้าแต่พระองค์ผู้จอมทัพ ข้าพระองค์จะกราบทูลความทุกข์แด่พระองค์ ขอพระองค์อย่าได้ทรงกริ้วข้าพระองค์เลย [๑๖๙๗] นายนักการนั้นถวายบังคมแล้วพลางร้องไห้คร่ำครวญ กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์ทรงชุบเลี้ยงข้าพระองค์ ทรงนำมาซึ่งรสที่น่าใคร่ทุกอย่าง [๑๖๙๘] ข้าพระบาทจะกราบทูลแด่พระองค์ เมื่อข้าพระองค์กราบทูลข่าวสาส์นเรื่องทุกข์ร้อนนั้นแล้ว ขอพระองค์จงทรงยังข้าพระองค์ให้เบาใจด้วยเกิด ขอเดชะ ชาวกรุงสีพีและชาวนิคมโกรธเคืองพระองค์ มาชุมนุมกันแล้ว [๑๖๙๙] พวกคนผู้มีชื่อเสียง พระราชบุตร แพศย์ พราหมณ์ กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ ทั้งชาวนิคมและชาวกรุงสีพีทั้งมวลล้วนมาประชุมกัน [๑๗๐๐] เมื่อสิ้นราตรีนี้แล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว ชาวกรุงสีพีจะชุมนุมกันขับไล่พระองค์ออกไปจากแคว้น (พระเวสสันดรตรัสถามว่า) [๑๗๐๑] นายนักการ เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงโกรธเคืองเรา ขอท่านจงบอกความชั่วที่เรามองไม่เห็น ทำไม พวกเขาจึงจะขับไล่เรา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๕๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์

(นายนักการกราบทูลว่า) [๑๗๐๒] พวกคนผู้มีชื่อเสียง พระราชบุตร แพศย์ พราหมณ์ กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ ต่างพากันติเตียน เพราะพระองค์พระราชทานพญาช้าง เหตุนั้น พวกเขาจึงจะขับไล่พระองค์ (พระเวสสันดรตรัสว่า) [๑๗๐๓] เราจะให้หทัย ให้จักษุ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์ หรือแก้วมณีซึ่งเป็นทรัพย์ภายนอกของเราก็จะเป็นไรไป [๑๗๐๔] เมื่อยาจกมาถึง เราเห็นแล้วจะพึงให้แขนขวาแขนซ้าย ก็ไม่หวั่นไหวเลย ใจของเรายินดีในการให้ [๑๗๐๕] ถึงชาวกรุงสีพีทั้งมวลจะขับไล่เราหรือจะเข่นฆ่าเรา หรือตัดเราให้เป็น ๗ ท่อนก็ตามเถิด เราจะไม่งดการให้เลย [๑๗๐๖] ชาวกรุงสีพีและชาวนิคมประชุมพร้อมกันกล่าวอย่างนี้ว่า พระเวสสันดรผู้มีวัตรอันงามจงเสด็จไป สู่อารัญชรคีรีทางฝั่งแม่น้ำโกนติมารา ตามทางที่พระราชาผู้ถูกขับไล่เสด็จออกไปนั้นเถิด (พระเวสสันดรตรัสว่า) [๑๗๐๗] เรานั้นจักไปตามทางที่พระราชาผู้มีโทษเสด็จไป ขอให้ท่านทั้งหลายจงงดโทษแก่เราคืนหนึ่งและวันหนึ่ง พอให้เราได้ให้ทานก่อนเถิด (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๗๐๘] พระราชาตรัสตักเตือนพระนางมัทรี ผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กายว่า ทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้ให้แก่พระนาง และสิ่งของที่ควรสงวนอันเป็นของพระนาง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๕๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์

[๑๗๐๙] คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา หรือแก้วไพฑูรย์มีอยู่เป็นอันมาก และทรัพย์ฝ่ายบิดาของพระนางเอง ควรเก็บไว้ทั้งหมด [๑๗๑๐] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย ได้ทูลถามพระเวสสันดรนั้นว่า ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันจะเก็บไว้ที่ไหน หม่อมฉันได้ทูลถามพระองค์แล้ว ขอได้โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้นเถิด (พระเวสสันดรตรัสว่า) [๑๗๑๑] มัทรี เธอพึงให้ทานในท่านผู้มีศีลทั้งหลายตามสมควรเถิด เพราะที่พึ่งอย่างอื่นของสัตว์ทั้งปวงยิ่งไปกว่าทานไม่มี [๑๗๑๒] มัทรี เธอพึงเอาใจใส่ในลูกทั้งหลาย พึงเอาใจใส่ในแม่ผัวและพ่อผัว อนึ่ง ผู้ใดพึงตกลงปลงใจว่าจะเป็นพระสวามีของเธอ ก็พึงบำรุงผู้นั้นโดยความเคารพ [๑๗๑๓] ถ้าไม่มีผู้ใดตกลงปลงใจเป็นพระสวามีของเธอ เพราะเธอกับพี่จะต้องพลัดพรากจากกัน เธอก็จงแสวงหาผู้อื่นมาเป็นพระสวามีเถิด อย่าลำบากเพราะขาดเราเลย [๑๗๑๔] เพราะเราจะไปสู่ป่าที่น่าสะพรึงกลัวอันประกอบไปด้วยสัตว์ร้าย เมื่อเราคนเดียวอยู่ในป่าใหญ่ ชีวิตก็น่าสงสัย [๑๗๑๕] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย ได้ทูลถามพระเวสสันดรนั้นว่า ทำไมพระองค์ จึงตรัสเรื่องที่ไม่เป็นจริง ทำไมจึงตรัสเรื่องไม่ดี [๑๗๑๖] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์ การที่พระองค์จะพึงเสด็จไปตามลำพังนี้มิใช่ธรรม แม้หม่อมฉันก็จะตามเสด็จไปตามทางที่พระองค์เสด็จไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์

[๑๗๑๗] ความตายร่วมกับพระองค์ หรือการมีชีวิตอยู่เว้นจากพระองค์ ความตายร่วมกับพระองค์นั้นเท่านั้นประเสริฐกว่า การมีชีวิตอยู่เว้นจากพระองค์จะประเสริฐอะไร [๑๗๑๘] การก่อไฟให้ลุกโพลงมีเปลวเป็นอันเดียวกัน แล้วจึงตายในไฟที่ลุกโพลงนั้นประเสริฐกว่า การมีชีวิตอยู่เว้นจากพระองค์จะประเสริฐอะไร [๑๗๑๙] ช้างพังติดตามพญาช้างผู้ได้รับการฝึกอยู่ในป่า เที่ยวไปตามซอกเขาเสมอบ้าง ไม่เสมอบ้างฉันใด [๑๗๒๐] หม่อมฉันจะพาลูกทั้งหลายติดตามพระองค์ไปข้างหลังฉันนั้น หม่อมฉันจักเป็นผู้เลี้ยงง่ายสำหรับพระองค์ จักไม่เป็นผู้เลี้ยงยากสำหรับพระองค์ [๑๗๒๑] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้ ส่งเสียงไพเราะ พูดจาน่ารัก นั่งอยู่ที่พุ่มไม้ในป่า จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๒๒] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้ ส่งเสียงไพเราะ พูดจาน่ารัก กำลังเล่นอยู่ที่พุ่มไม้ในป่า จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๒๓] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้ ส่งเสียงไพเราะ พูดจาน่ารัก อยู่ที่อาศรมอันน่ารื่นรมย์ จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๒๔] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้ ส่งเสียงไพเราะ พูดจาน่ารัก เล่นอยู่ที่อาศรมอันน่ารื่นรมย์ จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์

[๑๗๒๕] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้ ผู้ทัดทรงมาลาประดับองค์อยู่ที่อาศรมรมณียสถาน จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๒๖] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้ ผู้ทัดทรงมาลาประดับองค์เล่นเพลิดเพลินอยู่ ในอาศรมอันน่ารื่นรมย์ จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๒๗] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้ ทัดทรงมาลาอยู่ในอาศรมอันน่ารื่นรมย์ เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๒๘] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารทั้งหลาย ทัดทรงมาลา กำลังฟ้อนรำ เล่นเพลิดเพลินอยู่ในอาศรมอันน่ารื่นรมย์ เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๒๙] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นช้างพลาย มีวัยล่วงได้ ๖๐ ปี กำลังเที่ยวไปในป่าตามลำพัง เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๓๐] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นช้างพลาย มีวัยล่วงได้ ๖๐ ปี กำลังเที่ยวไปทั้งในเวลาเย็นเวลาเช้า เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๓๑] เมื่อใด ช้างพลายมีวัยล่วงได้ ๖๐ ปี เดินนำหน้าโขลงช้างพังไป ส่งเสียงร้องดังกึกก้อง พระองค์ได้ทรงสดับเสียงร้องของช้างที่บันลือลั่นอยู่นั้น เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๕๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์

[๑๗๓๒] เมื่อใด พระองค์ผู้ให้สิ่งที่น่าพอใจ ได้ทอดพระเนตรเห็นลำเนาไพรสองข้าง แห่งทางอันเกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อร้าย เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๓๓] พระองค์ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นเนื้อที่เดินมาเป็นฝูง ฝูงละ ๕ ตัวในเวลาเย็นและได้ทอดพระเนตรเห็นพวกกินนร กำลังฟ้อนรำอยู่ ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๓๔] เมื่อใด พระองค์ได้ทรงสดับเสียงกระเซ็นของแม่น้ำ ที่กำลังหลั่งไหลอยู่ และเสียงเพลงขับกล่อมของพวกกินนร เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๓๕] เมื่อใด พระองค์ได้ทรงสดับเสียงร้องของนกเค้า ที่บินเที่ยวไปตามซอกเขา เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๓๖] เมื่อใด พระองค์ได้ทรงสดับเสียงร้องของเหล่าสัตว์ร้าย คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง แรด และวัวลาน เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๓๗] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนกยูง ซึ่งล้อมสะพรั่งไปด้วยนางนกยูงทั้งหลาย กำลังรำแพนหางจับอยู่บนยอดเขา เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๓๘] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนกยูง ที่มีขนปีกงามตระการตา ซึ่งกำลังรำแพนหางอยู่ ล้อมสะพรั่งไปด้วยนางนกยูงทั้งหลาย เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์

[๑๗๓๙] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนกยูงตัวมีคอสีเขียว มีหงอนงามล้อมสะพรั่งไปด้วยนางนกยูงทั้งหลายฟ้อนรำอยู่ เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๔๐] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ทั้งหลาย มีดอกเบ่งบาน กลิ่นหอมอบอวลในฤดูเหมันต์ เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๔๑] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพื้นดิน อันดารดาษไปด้วยแมลงค่อมทอง มีสีเขียวสดชะอุ่มในเดือนท้ายฤดูเหมันต์ เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๔๒] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ทั้งหลาย มีดอกบานสะพรั่ง คือ อัญชันเขียวที่กำลังผลิยอดอ่อน ต้นโลท และบัวบกที่มีดอกบานสะพรั่ง มีกลิ่นหอมอบอวลไปในฤดูเหมันต์ เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ [๑๗๔๓] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นหมู่ไม้ มีดอกบานสะพรั่ง และปทุมชาติ มีดอกร่วงหล่นลงในเดือนท้ายฤดูเหมันต์ เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
กัณฑ์หิมพานต์ จบ
กัณฑ์ทานกัณฑ์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๗๔๔] พระนางผุสดีราชบุตรีผู้ทรงยศได้ทรงสดับคำ ที่พระโอรสและพระสุณิสาพร่ำสนทนากัน ทรงคร่ำครวญว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๖๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์

[๑๗๔๕] เรากินยาพิษตายเสียดีกว่า เรากระโดดเหวตายเสียดีกว่า เราเอาเชือกผูกคอตายเสียดีกว่า เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงจะให้ขับไล่ลูกเวสสันดรผู้ไม่มีโทษเล่า [๑๗๔๖] เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงจะให้ขับไล่ลูกเวสสันดร ผู้ไม่มีโทษ ผู้ปราดเปรื่อง เป็นทานบดี ควรแก่การขอ ไม่ตระหนี่ ผู้ที่พระราชาทุกๆ ประเทศบูชา มีเกียรติยศ [๑๗๔๗] เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงจะให้ขับไล่ลูกเวสสันดร ผู้ไม่มีโทษ ผู้เลี้ยงดูมารดาบิดา ประพฤติถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในตระกูล [๑๗๔๘] เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงจะให้ขับไล่ลูกเวสสันดร ผู้ไม่มีโทษ ผู้เกื้อกูลแก่พระราชา พระเทวี พระญาติทั้งหลาย มิตรสหายทั้งหลาย และทั่วทั้งแคว้น [๑๗๔๙] ชาวกรุงสีพีจะให้ขับไล่ลูกผู้ไม่มีโทษ แคว้นของพระองค์ก็จะเป็นเหมือนรังผึ้งที่ตัวแมลงผึ้งหนีจากไป และเหมือนผลมะม่วงสุกที่ร่วงหล่นลงบนดิน [๑๗๕๐] พระเจ้าแผ่นดินผู้อันพวกอำมาตย์ทอดทิ้งแล้ว จักทรงลำบากอยู่ตามลำพัง เหมือนหงส์มีขนปีกสิ้นแล้ว ลำบากอยู่ในเปือกตมที่ไม่มีน้ำ [๑๗๕๑] ข้าแต่มหาราช เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงขอกราบทูลพระองค์ว่า ประโยชน์อย่าได้ล่วงเลยพระองค์ไปเสีย ขอพระองค์อย่าได้ทรงขับไล่ลูกผู้ไม่มีโทษนั้น ตามคำของชาวกรุงสีพีเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๖๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์

(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๑๗๕๒] เราย่อมทำความยำเกรงต่อธรรม เราจึงขับไล่ลูกของตนผู้เป็นธงชัยของชาวกรุงสีพี ถึงแม้ลูกจะเป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเราเอง (พระนางผุสดีทรงคร่ำครวญว่า) [๑๗๕๓] เมื่อก่อน ยอดธงปลิวสะบัดตามเสด็จพระเวสสันดร เหมือนดอกกรรณิการ์บานสะพรั่ง วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น [๑๗๕๔] เมื่อก่อน ยอดธงปลิวสะบัดตามเสด็จพระเวสสันดร เหมือนสวนดอกกรรณิการ์ที่บานสะพรั่ง วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น [๑๗๕๕] เมื่อก่อน กองทหารเคยตามเสด็จพระเวสสันดร เหมือนดอกกรรณิการ์ที่บานสะพรั่ง วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น [๑๗๕๖] เมื่อก่อน กองทหารเคยตามเสด็จพระเวสสันดร เหมือนสวนดอกกรรณิการ์ที่บานสะพรั่ง วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น [๑๗๕๗] เมื่อก่อน กองทหารเคยแต่งเครื่องแบบ ผ้ากัมพลเหลืองจากแคว้นคันธาระ ทอแสงแวววับเหมือนแมลงค่อมทอง เคยตามเสด็จพระเวสสันดร วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น [๑๗๕๘] เมื่อก่อน พระเวสสันดรเคยเสด็จไป ด้วยช้างพระที่นั่ง วอ และราชรถทรง ทำไมเล่า วันนี้ จะเสด็จไปด้วยพระบาท {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๖๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์

[๑๗๕๙] เมื่อก่อน พระเวสสันดรเคยลูบไล้องค์ด้วยจุรณแก่นจันทน์ ตื่นอยู่ด้วยการฟ้อนรำขับร้อง ทำไมเล่า วันนี้ จักทรงหนังเสืออันหยาบแข็งและหาบบริขารไป [๑๗๖๐] เพราะเหตุไร กองทหารจึงไม่ขนเอาผ้า ที่ย้อมด้วยน้ำฝาดและหนังเสือ ติดตามพระเวสสันดรผู้เสด็จไปในป่าใหญ่เล่า พระเวสสันดรจึงจะไม่ต้องนุ่งห่มผ้าคากรอง [๑๗๖๑] พวกคนที่เป็นเจ้าทรงผนวช จะทรงครองผ้าคากรองได้อย่างไรหนอ แม่มัทรีจักนุ่งห่มผ้าคากรองได้อย่างไร [๑๗๖๒] พระนางมัทรีเคยใช้แต่ผ้าแคว้นกาสี แคว้นโขมะ และแคว้นโกทุมพร แล้วมาใช้ผ้าคากรองจักทำได้อย่างไร [๑๗๖๓] พระนางมัทรีนั้นเคยไปด้วยยาน คานหาม วอ และรถ วันนี้ จะเดินเท้าไปตามทางได้อย่างไร [๑๗๖๔] พระนางมัทรีผู้มีสิริโฉม มีฝ่ามืออันอ่อนนุ่ม มีความเป็นอยู่อย่างมีความสุข วันนี้ จะเดินเท้าไปตามทางได้อย่างไร [๑๗๖๕] พระนางมัทรีผู้มีฝ่าเท้าอันอ่อนนุ่ม มีความเป็นอยู่อย่างมีความสุข เดินไปอย่างลำบากด้วยรองเท้าทอง วันนี้ จะเดินเท้าไปตามทางได้อย่างไร [๑๗๖๖] พระนางมัทรีผู้ทัดทรงมาลา เดินนำหน้านางข้าหลวงเป็นพัน วันนี้ จะเดินไปป่าคนเดียวได้อย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๖๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์

[๑๗๖๗] พระนางมัทรีเมื่อก่อนได้ยินเสียงสุนัขเห่าหอน ก็สะดุ้งหวาดกลัวประจำ วันนี้ จะเดินไปป่าได้อย่างไร [๑๗๖๘] พระนางมัทรีผู้ได้ยินเสียงนกเค้าแมว นกฮูกร้องครวญคราง ก็หวาดกลัวตัวสั่นเหมือนนางวารุณี๑- วันนี้ จะเดินไปป่าได้อย่างไร [๑๗๖๙] หม่อมฉันกลับมายังนิเวศน์อันว่างเปล่านี้แล้ว ก็จักระทมทุกข์ตลอดกาลนานเป็นแน่แท้ เหมือนแม่นกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า [๑๗๗๐] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย ก็จักผอมเหลืองลง เหมือนแม่นกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า [๑๗๗๑] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย ก็จักวิ่งพล่านไปตามที่นั้นๆ เหมือนแม่นกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า [๑๗๗๒] หม่อมฉันมายังนิเวศน์อันว่างเปล่านี้แล้ว ก็จักระทมทุกข์สิ้นกาลนาน เหมือนแม่นกออกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า [๑๗๗๓] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย ก็จักผอมเหลืองเป็นแน่แท้ เหมือนแม่นกออกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า [๑๗๗๔] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย ก็จักวิ่งพล่านไปตามที่นั้นๆ เหมือนแม่นกออกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า @เชิงอรรถ : @ นางวารุณี หมายถึงหญิงที่โดนผีสิง (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๗๖๘/๓๕๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๖๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์

[๑๗๗๕] หม่อมฉันกลับมายังนิเวศน์อันว่างเปล่านี้แล้ว ก็จักระทมทุกข์ตลอดกาลนานเป็นแน่แท้ เหมือนแม่นกจักรพากซบเซาอยู่ในเปือกตมที่ไม่มีน้ำ [๑๗๗๖] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย ก็จักผอมเหลืองเป็นแน่แท้ เหมือนแม่นกจักรพากซบเซาอยู่ในเปือกตมที่ไม่มีน้ำ [๑๗๗๗] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย ก็จักวิ่งพล่านไปตามที่นั้นๆ เหมือนแม่นกจักรพากวิ่งพล่านอยู่ในเปือกตมที่ไม่มีน้ำ [๑๗๗๘] เมื่อหม่อมฉันพร่ำเพ้ออยู่อย่างนี้ ถ้าพระองค์ยังทรงให้ขับไล่ลูกเวสสันดร ผู้ไม่มีความผิดจากแว่นแคว้นไปสู่ป่า หม่อมฉันเห็นจะละชีวิตแน่ (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๗๗๙] พระสนมกำนัลในพระเจ้ากรุงสีพีถ้วนหน้า ได้ยินคำรำพันของพระนางผุสดีแล้ว ต่างพากันมาประชุมประคองแขนทั้งหลายขึ้นร่ำไห้ [๑๗๘๐] พระโอรสทั้งหลายและพระชายาในนิเวศน์ ของพระเวสสันดร ต่างก็นอนกันแสง เหมือนหมู่ไม้รังที่ถูกพายุพัดล้มระเนระนาด [๑๗๘๑] พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์ในนิเวศน์ ของพระเวสสันดร ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายคร่ำครวญ [๑๗๘๒] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ ต่างก็พากันประคองแขนคร่ำครวญในนิเวศน์ของพระเวสสันดร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๖๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์

[๑๗๘๓] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว ต่อมาพระเวสสันดรก็เสด็จมาสู่โรงทาน เพื่อทรงให้ทาน โดยรับสั่งว่า [๑๗๘๔] พวกท่านจงให้ผ้าแก่ผู้ต้องการผ้า ให้เหล้าแก่พวกนักเลงเหล้า ให้โภชนะแก่พวกคนผู้ต้องการโภชนะโดยทั่วถึงกัน [๑๗๘๕] และพวกท่านอย่าได้เบียดเบียนพวกวณิพกผู้มา ณ ที่นี้ จงเลี้ยงดูพวกเขาให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ พวกเขาได้รับการบูชาแล้ว ก็จงไปเถิด [๑๗๘๖] คราวนั้น มีเสียงอึกทึกกึกก้องน่าสะพรึงกลัว เป็นไปในพระนครนี้ว่า ชาวกรุงสีพีขับไล่พระเวสสันดรนั้นเพราะทรงบริจาคทาน ขอให้พระองค์ได้ทรงบริจาคทานต่อไปอีกเถิด [๑๗๘๗] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก วณิพกเหล่านั้นก็เป็นดังคนเมามีท่าทางอิดโรย นั่งปรับทุกข์กันและกันว่า [๑๗๘๘] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวกรุงสีพีพากันขับไล่พระเวสสันดร ผู้ไม่มีความผิดไปจากแคว้น ก็เหมือนได้พากันตัดต้นไม้ที่มีผลต่างๆ [๑๗๘๙] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวกรุงสีพีพากันขับไล่พระเวสสันดร ผู้ไม่มีความผิดไปจากแคว้น ก็เหมือนได้พากันตัดต้นไม้ที่ให้สิ่งที่น่าต้องการทุกอย่าง [๑๗๙๐] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวกรุงสีพีพากันขับไล่พระเวสสันดร ผู้ไม่มีความผิดไปจากแคว้น ก็เหมือนได้พากันตัดต้นไม้ที่นำรสที่น่าต้องการทุกอย่างมาให้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์

[๑๗๙๑] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก ทั้งคนแก่ เด็ก และคนปานกลาง ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญ [๑๗๙๒] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก พวกทรงเจ้า พวกขันที สนมฝ่ายใน และโหรหลวง ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญ [๑๗๙๓] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก แม้หญิงทั้งหลายที่อยู่ในกรุงนั้นต่างก็พากันร้องไห้คร่ำครวญ [๑๗๙๔] สมณะ พราหมณ์ และพวกวณิพกเหล่าอื่น ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า เป็นการไม่ยุติธรรมเลย [๑๗๙๕] เพราะเหตุที่พระเวสสันดรกำลังบำเพ็ญทาน อยู่ในพระราชวังของพระองค์ จะเสด็จออกไปจากแคว้นของพระองค์ เพราะคำของชาวกรุงสีพีเป็นเหตุ [๑๗๙๖] พระเวสสันดรได้พระราชทานช้าง ๗๐๐ เชือก ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง อันมีสายรัดทองและสัปคับทอง [๑๗๙๗] มีนายควาญช้างถือหอกซัดและขอ ขึ้นขี่คอประจำแล้ว เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์ [๑๗๙๘] พระเวสสันดรทรงพระราชทานม้า ๗๐๐ ตัว ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง เป็นม้าสินธพชาติอาชาไนย มีฝีเท้าเร็ว [๑๗๙๙] มีนายสารถีถือทวนและธนู ขึ้นขี่ประจำแล้ว เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์

[๑๘๐๐] พระเวสสันดรทรงพระราชทานรถ ๗๐๐ คัน ซึ่งผูกสอดเครื่องรบชักธงขึ้น หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง [๑๘๐๑] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนู ขึ้นขับขี่แล้ว เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์ [๑๘๐๒] พระเวสสันดรพระราชทานสตรี ๗๐๐ นาง นั่งประจำในรถคันละนาง สวมสอดด้วยสร้อยสังวาล ตบแต่งด้วยเครื่องทอง [๑๘๐๓] มีเครื่องประดับ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม และประดับเครื่องอาภรณ์ล้วนแต่มีสีเหลือง มีดวงตากว้าง ใบหน้ายิ้มแย้ม สะโพกงาม เอวบางร่างน้อย แล้วเสด็จออกจากแคว้นของพระองค์ [๑๘๐๔] พระเวสสันดรพระราชทานแม่โคนม ๗๐๐ ตัว พร้อมด้วยภาชนะเงินสำหรับรองรับน้ำนมทุกๆ ตัวแล้ว เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์ [๑๘๐๕] พระเวสสันดรพระราชทานทาสี ๗๐๐ คน และทาส ๗๐๐ คนแล้ว จึงเสด็จออกจากแคว้นของพระองค์ [๑๘๐๖] พระเวสสันดรนี้พระราชทานช้าง ม้า รถ และนารีที่ประดับตบแต่งแล้ว จึงเสด็จออกจากแคว้นของพระองค์ [๑๘๐๗] ในสมัยนั้น ได้มีสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้า เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานมหาทานแล้ว แผ่นดินก็สะท้านหวั่นไหว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์

[๑๘๐๘] ในสมัยนั้น ได้มีสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้า เมื่อพระเวสสันดรทรงประนมมือ เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์ [๑๘๐๙] คราวนั้น เสียงอึกทึกกึกก้องน่าสะพรึงกลัว เป็นไปในพระนครนี้ว่า ชาวกรุงสีพีขับไล่พระเวสสันดรนั้นเพราะบริจาคทาน ขอให้พระองค์ได้ทรงบริจาคทานต่อไปอีกเถิด [๑๘๑๐] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก วณิพกเหล่านั้นก็เป็นดังคนเมามีท่าทางอิดโรย นั่งปรับทุกข์กันและกัน [๑๘๑๑] พระเวสสันดรกราบทูลพระเจ้ากรุงสญชัย ผู้ประเสริฐ ผู้ทรงธรรมว่า ขอเดชะ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเนรเทศข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์จะไปยังเขาวงกต [๑๘๑๒] ข้าแต่มหาราช สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีมาแล้ว ที่จะมีมา และที่มีอยู่ สัตว์เหล่านั้นยังไม่อิ่มด้วยกามเลย จะต้องพากันไปสู่สำนักของพญายม [๑๘๑๓] ข้าพระองค์นั้นบำเพ็ญทานอยู่ในบุรีของตน ยังชื่อว่าเบียดเบียนชาวเมืองของตน จะต้องออกจากแคว้นของตนเพราะเหตุแห่งคำของชาวกรุงสีพี [๑๘๑๔] หม่อมฉันจักต้องได้เสวยความคับแค้นนั้นๆ ในป่า อันเกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อร้าย ซึ่งแรดและเสือเหลืองอยู่อาศัย ข้าพระองค์จะบำเพ็ญบุญ ขอพระองค์ประทับจมอยู่ในเปือกตมเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์

[๑๘๑๕] ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอพระแม่เจ้า ได้ทรงโปรดอนุญาตหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันพอใจการบวช หม่อมฉันเมื่อบำเพ็ญทานอยู่ในบุรีของตน ยังชื่อว่าเบียดเบียนชาวเมืองของตน จะต้องออกจากแคว้นของตนเพราะเหตุแห่งคำของชาวกรุงสีพี [๑๘๑๖] หม่อมฉันจักต้องได้เสวยความคับแค้นนั้นๆ ในป่า อันเกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อร้าย ซึ่งแรดและเสือเหลืองอยู่อาศัย หม่อมฉันจะบำเพ็ญบุญ ขอพระองค์ประทับจมอยู่ในเปือกตมเถิด (พระนางผุสดีตรัสว่า) [๑๘๑๗] ลูกเอ๋ย แม่อนุญาตให้ลูก ขอการบวชของลูกจงสำเร็จ ส่วนแม่มัทรีผู้มีโฉมงาม มีสะโพกผึ่งผาย เอวบางร่างน้อยนี้ จงอยู่กับลูกๆ เถิด จักทำอะไรในป่าได้ (พระนางมัทรีกราบทูลว่า) [๑๘๑๘] หม่อมฉันไม่ต้องการนำแม้ทาสีไปสู่ป่าโดยที่เธอไม่ปรารถนา ถ้าเธอปรารถนา จะติดตามไปก็ตามใจ ถ้าไม่ปรารถนาก็จงอยู่เถิด [๑๘๑๙] ลำดับนั้น พระมหาราชเสด็จดำเนินไปทรงวิงวอนพระสุณิสาว่า แม่มัทรี ผู้มีร่างกายอันชโลมจันทน์ เจ้าอย่าได้ทรงไว้ซึ่งความหมักหมมด้วยละอองธุลีเลย [๑๘๒๐] แม่มัทรีเคยทรงผ้าแคว้นกาสี อย่าได้ทรงผ้าคากรองเลย การอยู่ในป่าเป็นความลำบาก แม่มัทรีผู้มีลักษณะงาม เจ้าอย่าได้ไปเลยนะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์

[๑๘๒๑] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย ได้กราบทูลพระสัสสุระนั้นว่า ความสุขใดจะพึงมีแก่หม่อมฉันโดยเว้นจากพระเวสสันดร หม่อมฉันไม่พึงปรารถนาความสุขนั้น [๑๘๒๒] พระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี ได้ตรัสกับพระนางมัทรีนั้นว่า เชิญฟังก่อนแม่มัทรี สัตว์อันจะรบกวน ยากที่จะอดทนได้ สัตว์เหล่าใดมีอยู่ในป่า [๑๘๒๓] สัตว์เหล่านั้นเป็นอันมาก คือ เหลือบ ตั๊กแตน ยุง และผึ้ง มันจะพึงเบียดเบียนเธอในป่านั้น ความทุกข์อย่างยิ่งนั้นจะพึงมีแก่เธอ [๑๘๒๔] เธอจะต้องได้พบสัตว์ที่น่ากลัวอื่นอีก ที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำ เช่นงูเหลือม สัตว์ที่ไม่มีพิษ แต่มีกำลังมาก [๑๘๒๕] มันรัดมนุษย์ หรือแม้แต่เนื้อที่มาใกล้ ด้วยขนดแล้วนำมาสู่อำนาจของมัน [๑๘๒๖] แม้เนื้อร้ายอื่นๆ เช่นหมีดำ คนที่มันได้เห็นแล้วหนีขึ้นต้นไม้ก็ไม่พ้น [๑๘๒๗] ควายเปลี่ยวขวิดลับปลายเขาทั้งคู่ให้แหลม เที่ยวไปอยู่ในถิ่นที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโสตุมพะ [๑๘๒๘] แม่มัทรี เธอเปรียบเสมือนแม่โคนมรักลูก เห็นฝูงเนื้อและโคถึกที่ท่องเที่ยวอยู่ในป่า จักทำอย่างไร [๑๘๒๙] แม่มัทรี เธอได้เห็นลิงทะโมนไพรที่น่าสะพรึงกลัว ซึ่งบังเอิญประจวบเข้าที่หนทางที่เดินได้ยาก ความหวาดหวั่นพรั่นพรึงอันใหญ่หลวง ก็จักมีแก่เธอเพราะไม่รู้จักเขต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๗๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์

[๑๘๓๐] แม่มัทรี เมื่อเธออยู่ในพระนคร ได้ยินเสียงสุนัขเห่าหอน ยังสะดุ้งตกใจบ่อยๆ เธอไปถึงเขาวงกตจักทำอย่างไร [๑๘๓๑] เมื่อฝูงนกพากันจับชุมนุมอยู่ในเวลาเที่ยงตรง ป่าใหญ่เหมือนส่งเสียงกระหึ่ม เธอปรารถนาจะไปในป่าใหญ่นั้นทำไม [๑๘๓๒] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้ทรงสิริโฉม ได้กราบทูลคำนี้กับพระเจ้ากรุงสญชัยนั้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ขอพระองค์ทรงพระกรุณา ตรัสบอกสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวที่มีอยู่ในป่าแก่หม่อมฉัน หม่อมฉันจักยอมอดทนต่อสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวเหล่านั้นทั้งหมด หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้ [๑๘๓๓] หม่อมฉันจักแหวกต้นเป้ง หญ้าคา หญ้าคมบาง แฝก หญ้าปล้อง และหญ้ามุงกระต่ายไปด้วยอก หม่อมฉันจักไม่เป็นผู้อันพระเวสสันดรนั้นนำไปได้โดยยาก [๑๘๓๔] กุมารีได้สามีด้วยวัตตจริยาเป็นอันมาก คือ ด้วยการอดอาหาร ทรมานท้อง และด้วยการผูกคาดด้วยไม้คางโค [๑๘๓๕] ด้วยการบำเรอไฟ และด้วยการดำน้ำ ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้ [๑๘๓๖] ชายใดจับมือหญิงหม้ายนั้นผู้ไม่ปรารถนาฉุดคร่าไป ชายนั้นเป็นผู้ไม่ควรบริโภคของที่เป็นเดนของหญิงหม้ายนั้น ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๗๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์

[๑๘๓๗] ชายอื่นดูหมิ่นหญิงผู้ไม่มีสามี ให้ทุกข์มากมายมิใช่น้อยแก่หญิงผู้ไม่มีสามีนั้น ด้วยการจับผม เตะ ถีบ ถอง และผลักให้ล้มลงบนพื้นดิน ไม่ยอมหลีกไป ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้ [๑๘๓๘] พวกผู้ชายเจ้าชู้ต้องการหญิงหม้ายผู้มีผิวพรรณผุดผ่อง ให้ทรัพย์เล็กน้อยแล้ว ก็เข้าใจว่า ตนเป็นผู้มีโชคดี ย่อมยื้อยุดฉุดกระชากหญิงหม้ายผู้ไม่ปรารถนาจะไป เหมือนฝูงกาพากันรุมทึ้งนกเค้า ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้ [๑๘๓๙] อันว่าหญิงหม้าย แม้จะอยู่ในตระกูลญาติ ที่เจริญรุ่งเรืองไปด้วยเครื่องทองสัมฤทธิ์ จะไม่ได้รับคำติเตียนล่วงเกินจากพี่น้องและเพื่อนฝูงเป็นไปไม่ได้ ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้ [๑๘๔๐] แม่น้ำที่ไม่มีน้ำก็ดี แว่นแคว้นที่ไม่มีเจ้าครองก็ดี ย่อมไร้ประโยชน์ แม้หญิงหม้ายถึงจะมีพี่น้องตั้ง ๑๐ ก็เหมือนอยู่โดดเดี่ยว ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้ [๑๘๔๑] ธงเป็นเครื่องหมายแห่งรถ ควันเป็นเครื่องปรากฏแห่งไฟ พระราชาเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดิน ภัสดาเป็นศรีสง่าของสตรี ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๗๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์

[๑๘๔๒] หญิงใดผู้มีเกียรติ เป็นคนขัดสนในเวลาสามีขัดสน เป็นคนมั่งคั่งในเวลาสามีมั่งคั่ง หญิงนั้นแล เทพเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญว่า “กระทำสิ่งที่ทำไดัยาก” ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้ [๑๘๔๓] หม่อมฉันจักบวชติดตามพระสวามีไปทุกเมื่อ ในเมื่อแม้แต่แผ่นดินยังไม่แตกสลายไป ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดของหญิง [๑๘๔๔] หม่อมฉันขาดพระเวสสันดรแล้ว ก็ไม่ปรารถนาแม้แต่แผ่นดินอันมีสาครเป็นขอบเขต ซึ่งมีทรัพย์เครื่องปลื้มใจมากมาย บริบูรณ์ด้วยรัตนะนานัปปการ [๑๘๔๕] หญิงเหล่าใดเมื่อสามีมีทุกข์ ย่อมปรารถนาสุขเพื่อตน หญิงเหล่านั้นเลวทรามแท้ หัวใจของพวกเธอเป็นอย่างไรหนอ [๑๘๔๖] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก หม่อมฉันจักขอติดตามพระองค์ไปด้วย เพราะพระองค์เป็นผู้ทรงประทาน สิ่งที่น่าต้องการทั้งปวงแก่หม่อมฉัน [๑๘๔๗] พระมหาราชได้ตรัสพระดำรัสนี้ กับพระนางมัทรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กายว่า แม่มัทรีผู้มีลักษณะสวยงาม พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา ลูกทั้งหลายเหล่านี้ของเธอยังเป็นเด็ก เจ้าจงฝากฝังไว้แล้วไปเถิด พวกเราจะรับเลี้ยงดูเด็กทั้งหลายนั้นไว้เอง [๑๘๔๘] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย ได้กราบทูลพระเจ้าสญชัยนั้นดังนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาเป็นลูกรักของหม่อมฉัน ลูกทั้ง ๒ นั้นจักชโลมใจหม่อมฉัน ผู้มีชีวิตที่เศร้าโศกให้รื่นรมย์ในป่านั้นได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๗๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์

[๑๘๔๙] พระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี ได้ตรัสกับพระนางมัทรีนั้นว่า เด็กทั้งหลายเคยเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่ปรุงด้วยเนื้ออันสะอาด เมื่อมาเสวยผลไม้ จักทำอย่างไร [๑๘๕๐] เด็กทั้งหลายเคยเสวยในถาดทองหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ เป็นของใช้ประจำราชตระกูล เมื่อต้องมาเสวยในใบไม้ จักทำอย่างไร [๑๘๕๑] เด็กทั้งหลายเคยสวมใส่ผ้าแคว้นกาสี แคว้นโขมะ และแคว้นโกทุมพร เมื่อต้องมาสวมใส่ผ้าคากรอง๑- จักทำอย่างไร [๑๘๕๒] เด็กทั้ง ๒ เคยไปด้วยคานหาม วอ และรถ เมื่อต้องเดินด้วยเท้าเปล่า จักทำอย่างไร [๑๘๕๓] เด็กทั้งหลายเคยนอนในเรือนยอด มีบานหน้าต่างปิดมิดชิด เมื่อต้องมานอนในที่โคนไม้ จักทำอย่างไร [๑๘๕๔] เด็กทั้งหลายเคยนอนบนพรมที่ปูลาดอย่างวิจิตรบนบัลลังก์ เมื่อต้องมานอนที่ลาดด้วยหญ้า จักทำอย่างไร [๑๘๕๕] เด็กทั้งหลายเคยลูบไล้ด้วยกฤษณาและจันทน์หอม เมื่อต้องมาแปดเปื้อนละอองธุลี จักทำอย่างไร [๑๘๕๖] เด็กทั้งหลายเคยดำรงอยู่ในความสุข มีผู้ใช้แส้จามรีและกำหางนกยูงพัดวีให้ ต้องถูกเหลือบและยุงกัด จักทำอย่างไร [๑๘๕๗] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย ได้กราบทูลพระเจ้ากรุงสญชัยดังนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ทรงปริเวทนาการ และอย่าได้เสียพระทัยเลย หม่อมฉันทั้งหลายเป็นอย่างไร เด็กทั้งหลายก็จักเป็นอย่างนั้น @เชิงอรรถ : @ ผ้าทำด้วยหญ้าคา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๗๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์

[๑๘๕๘] พระนางมัทรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย ครั้นกราบทูลดังนี้แล้วก็เสด็จจากไป พระนางผู้มีลักษณะโสภาทรงพาพระโอรสทั้งหลาย เสด็จไปตามทางที่พระเจ้ากรุงสีพีเคยเสด็จไป [๑๘๕๙] ลำดับนั้น พระเวสสันดรผู้เป็นกษัตริย์ ครั้นได้ทรงบริจาคทานแล้วก็ถวายบังคม พระบิดาและพระมารดา และทรงทำประทักษิณ [๑๘๖๐] รีบเสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่งอันเทียมด้วยม้าสินธพ ๔ ตัว ทรงพาพระโอรสและพระชายาเสด็จไปสู่เขาวงกต [๑๘๖๑] ลำดับนั้น พระเวสสันดรเสด็จไป ในสถานที่ที่มีหมู่ชนเป็นอันมากอยู่ ตรัสบอกลาว่า เราจะไปละนะ ขอหมู่ญาติทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีโรคเถิด [๑๘๖๒] เชิญดูเถิดมัทรี ที่ประทับของพระเจ้ากรุงสีพีผู้ประเสริฐ ปรากฏเป็นรูปอันน่ารื่นรมย์ ส่วนตำหนักของเราเป็นดังที่อยู่ของเปรต [๑๘๖๓] พราหมณ์ทั้งหลายได้ตามพระเวสสันดรนั้นไป พวกเขาได้ทูลขอม้ากับพระองค์ พระองค์ถูกขอแล้ว จึงได้ทรงมอบม้า ๔ ตัวให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๔ คน [๑๘๖๔] เชิญดูเถิดมัทรี ละมั่งทองปรากฏร่างงดงาม เป็นดังม้าที่ได้รับการฝึกมาดีแล้ว นำเราไป [๑๘๖๕] ต่อมา พราหมณ์คนที่ ๕ ในป่านั้น ได้มาทูลขอราชรถกับพระองค์ พระองค์ถูกขอแล้ว ก็ทรงพระราชทานราชรถนั้นให้แก่เขา และพระองค์มิได้มีพระทัยท้อแท้เลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๗๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์

[๑๘๖๖] ลำดับนั้น พระเวสสันดรรับสั่งให้คนของพระองค์ลงแล้ว ทรงพอพระทัยมอบรถม้าพระที่นั่ง ให้แก่พราหมณ์ผู้แสวงหาทรัพย์ไป [๑๘๖๗] มัทรี เธอจงอุ้มแม่กัณหาผู้เป็นน้องนี้ซึ่งเบากว่า ส่วนพี่จักอุ้มพ่อชาลี เพราะเธอเป็นพี่คงจะหนักกว่า (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๘๖๘] พระราชาทรงอุ้มพระกุมาร ส่วนพระนางมัทรีราชบุตรีทรงอุ้มทาริกา ทรงยินดีร่วมกัน ทั้งตรัสปราศรัยคำอันไพเราะ กับกันและกันดำเนินไป
กัณฑ์ทานกัณฑ์ จบ
กัณฑ์วนปเวสน์
(พระศาสดาตรัสเนื้อความที่พระเวสสันดรตรัสกับพระนางมัทรีว่า) [๑๘๖๙] ถ้ามนุษย์บางคนเดินไปตามทาง หรือเดินสวนทางมา เราจะได้ถามทางกับพวกเขาว่า เขาวงกตอยู่ที่ไหน [๑๘๗๐] พวกเขาพบเราในระหว่างทางนั้น ต่างก็พากันคร่ำครวญอย่างน่าสงสาร ทุกข์ระทมตอบเราว่า เขาวงกตยังอยู่อีกไกล (พระศาสดาตรัสเนื้อความนี้ว่า) [๑๘๗๑] ถ้าทารกทั้งหลาย ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ที่มีผลในป่าใหญ่ ต่างก็ทรงกันแสง เพราะเหตุแห่งผลไม้เหล่านั้น [๑๘๗๒] หมู่ไม้สูงใหญ่ดังจะเห็นทารกทรงพระกันแสง จึงโน้มกิ่งลงมาเอง จนใกล้จะถึงทารกทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๗๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์

[๑๘๗๓] พระนางมัทรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย เห็นเหตุอัศจรรย์ไม่เคยมีมา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดขนพองสยองเกล้านี้แล้ว จึงกล่าวสาธุการว่า [๑๘๗๔] เหตุอันน่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาในโลก เป็นเหตุให้เกิดขนพองสยองเกล้า ด้วยเดชแห่งพระเวสสันดร ต้นไม้จึงโน้มกิ่งลงมา [๑๘๗๕] ทวยเทพทั้งหลายต่างก็ได้มาช่วยย่นทางเข้า ให้กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์เสด็จถึงเจตราชได้ โดยใช้เวลาเสด็จเพียงวันเดียว เพื่ออนุเคราะห์ทารกทั้งหลาย [๑๘๗๖] กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์นั้นทรงดำเนินไปสิ้นทางไกล เสด็จถึงเจตราชซึ่งเป็นชนบทที่เจริญมั่งคั่ง มีเนื้อและข้าวอย่างดีเป็นอันมาก (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๘๗๗] ชาวนครเจตราชเห็นพระนางมัทรี ผู้มีลักษณะสวยงามเสด็จมา ก็ห้อมล้อมแห่แหนด้วยกล่าวกันว่า พระแม่เจ้าเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติหนอ ดำเนินมาด้วยพระบาทเปล่า [๑๘๗๘] เคยทรงราชยานคานหามและราชรถ วันนี้ พระนางมัทรีต้องดำเนินด้วยพระบาทเปล่าในป่า [๑๘๗๙] พระยาเจตราชทั้งหลายได้เห็นพระเวสสันดร ต่างก็ทรงกันแสงเข้าไปเฝ้ากราบทูลถามว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ทรงพระสำราญ ปราศจากโรคาพาธหรือ พระองค์ไม่มีทุกข์หรือ พระราชบิดาของพระองค์หาพระโรคาพาธมิได้หรือ ชาวกรุงสีพีก็ไม่มีโรคหรอกหรือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๗๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์

[๑๘๘๐] ข้าแต่มหาราช พลนิกายของพระองค์อยู่ที่ไหน กระบวนรถของพระองค์อยู่ที่ไหน พระองค์ไม่มีม้าทรง ไม่มีรถทรง ทรงดำเนินมาสิ้นทางแสนไกล ถูกพวกอมิตรย่ำยีหรือ จึงเสด็จมาถึงทิศนี้ (พระเวสสันดรตรัสว่า) [๑๘๘๑] สหายทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีความสุขไม่มีโรคเบียดเบียน อนึ่ง พระราชบิดาของข้าพเจ้าก็ทรงปราศจากพระโรค และชาวกรุงสีพีก็ไม่มีโรคเบียดเบียน [๑๘๘๒] เพราะข้าพเจ้าได้ให้พญากุญชรมีงาดุจงอนไถ แกล้วกล้าสามารถรู้จักเขตแห่งการรบทั้งปวง เผือกผ่องประเสริฐสุด [๑๘๘๓] คลุมด้วยผ้ากัมพลเหลือง ซับมัน อาจย่ำยีศัตรูได้ มีงาน่าชอบใจ เผือกผ่องดังภูเขาไกรลาส พร้อมทั้งพัดวาลวีชนี [๑๘๘๔] ทำไม พระเวสสันดรจึงได้พระราชทาน พญาช้างราชพาหนะซึ่งเป็นยานชั้นเลิศ เป็นทรัพย์อย่างประเสริฐพร้อมทั้งฉัตรขาว เครื่องลาด หมอช้าง และคนเลี้ยงช้างแก่พวกพราหมณ์ [๑๘๘๕] เพราะเหตุนั้น ชาวกรุงสีพีจึงพากันโกรธเคืองข้าพเจ้า ทั้งพระบิดาก็ทรงกริ้วขับไล่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไปเขาวงกต สหายทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงทราบโอกาสซึ่งเป็นที่อยู่ในป่าของข้าพเจ้าเถิด (พระยาเจตราชกราบทูลว่า) [๑๘๘๖] ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดี มิได้เสด็จมาร้าย พระองค์ผู้ทรงเป็นใหญ่เสด็จมาถึงแล้ว ขอพระองค์ตรัสบอกพระประสงค์สิ่งที่มีอยู่ในเมืองนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๗๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์

[๑๘๘๗] ข้าแต่มหาราช ขอเชิญพระองค์เสวยสุธาโภชนาหาร ข้าวสาลี ผักดอง เหง้ามัน น้ำผึ้ง และเนื้อเถิด พระองค์เป็นแขกที่ข้าพระองค์ทั้งหลายสมควรต้อนรับ (พระเวสสันดรตรัสว่า) [๑๘๘๘] สิ่งใดที่ท่านทั้งหลายให้แล้ว ขอสิ่งนั้นทั้งหมดจงเป็นอันเราได้รับไว้แล้วเถิด บรรณาการเป็นอันท่านทั้งหลายได้ทำแล้วทุกอย่าง พระราชาทรงพิโรธข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไปยังเขาวงกต สหายทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงทราบ โอกาสซึ่งเป็นที่อยู่ในป่าของข้าพเจ้าเถิด (พระยาเจตราชกราบทูลว่า) [๑๘๘๙] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ ขอเชิญพระองค์เสด็จประทับ ณ เจตราชนี้ก่อนเถิด จนกว่าชาวเจตราชจักไปเฝ้าพระเจ้ากรุงสีพีเพื่อทูลขอถึงพระราชสำนัก [๑๘๙๐] เพื่อทูลขอพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี ทรงอภัยโทษให้ชาวเจตราชได้ที่พึ่งแล้ว มีความปรีดาแห่แหนแวดล้อมพระองค์ไป ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด (พระเวสสันดรตรัสว่า) [๑๘๙๑] ท่านทั้งหลายอย่าได้ชอบใจเลย การไปทูลขอถึงพระราชสำนักเพื่อให้พระราชาทรงอภัยโทษให้ แม้แต่พระราชาก็ไม่ทรงเป็นใหญ่ในเรื่องนี้ [๑๘๙๒] เพราะถ้าชาวกรุงสีพีพร้อมทั้งพลนิกาย และชาวนิคมโกรธเคืองยิ่งแล้ว ก็ปรารถนาจะกำจัดพระราชาเสียเพราะสาเหตุแห่งเรา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๘๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์

(พระยาเจตราชกราบทูลว่า) [๑๘๙๓] ข้าแต่พระองค์ผู้ผดุงรัฐให้เจริญ ถ้าเหตุการณ์นี้ในรัฐนั้นเป็นไปเช่นนี้ ขอพระองค์ทรงมี ชาวเจตราชแวดล้อมเสด็จครองราชสมบัติในรัฐนี้เถิด [๑๘๙๔] รัฐนี้มั่งคั่งสมบูรณ์ ชนบทก็มั่งคั่งกว้างใหญ่ ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงตกลงพระทัยครองราชสมบัติเถิด (พระเวสสันดรตรัสว่า) [๑๘๙๕] ข้าพเจ้าไม่มีความพอใจ ไม่ตกลงใจที่จะครองราชสมบัติ บุตรแห่งชาวเจตราชทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า ผู้ถูกขับไล่จากแคว้นเถิด [๑๘๙๖] ชาวกรุงสีพี พลนิกาย และชาวนิคมคงไม่ยินดีว่า ชาวเจตราชได้ราชาภิเษกข้าพเจ้าผู้ถูกขับไล่จากแคว้น [๑๘๙๗] แม้ความไม่เบิกบานใจจะพึงมีแก่ท่านทั้งหลาย เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้าแน่นอน อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่ชอบใจความบาดหมางใจ และความทะเลาะกับชาวกรุงสีพีเลย [๑๘๙๘] มิใช่แต่เท่านั้น ความบาดหมางใจจะพึงรุนแรงขึ้น สงครามใหญ่ก็อาจจะมีได้ คนเป็นจำนวนมากก็จะฆ่าฟันกันเอง เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้าผู้เดียว [๑๘๙๙] สิ่งใดที่ท่านทั้งหลายให้แล้ว ขอสิ่งนั้นทั้งหมดจงเป็นอันข้าพเจ้ารับไว้แล้วเถิด บรรณาการเป็นอันท่านทั้งหลายได้ทำแล้วทุกอย่าง พระราชาทรงพิโรธข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไปยังเขาวงกต สหายทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงทราบ โอกาสซึ่งเป็นที่อยู่ในป่าของข้าพเจ้าเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๘๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์

(ชาวเจตราชกราบทูลว่า) [๑๙๐๐] เชิญเถิด ราชฤๅษีทั้งหลายผู้ทรงบูชาไฟ มีพระทัยตั้งมั่นประทับอยู่ ณ ประเทศใด ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจักกราบทูลประเทศนั้น ขอให้ทรงทราบเหมือนอย่างผู้ฉลาดในหนทางฉะนั้นเถิด [๑๙๐๑] ข้าแต่มหาราช โน่น ภูเขาคันธมาทน์ที่เป็นศิลาล้วน ซึ่งเป็นสถานที่ประทับอยู่ของพระองค์ พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายและพระชายา [๑๙๐๒] พระยาเจตราชทั้งหลายต่างก็ทรงกันแสง มีพระเนตรนองด้วยพระอัสสุชล กราบทูลพระเวสสันดรให้ทรงทราบว่า ข้าแต่มหาราช จากนี้ไป ขอเชิญพระองค์ทรงบ่ายพระพักตร์ ตรงไปทางทิศเหนือเถิด [๑๙๐๓] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ต่อจากนั้น พระองค์จักทรงทอดพระเนตรเห็นภูเขาเวปุลละ ซึ่งดารดาษไปด้วยหมู่ไม้นานาพันธุ์ มีเงาร่มเย็น น่ารื่นรมย์ใจ [๑๙๐๔] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ พระองค์เสด็จเลยภูเขาเวปุลละนั้นไป จากนั้นก็จะทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำเกตุมดี ซึ่งเป็นแม่น้ำลึก ไหลมาจากซอกเขา [๑๙๐๕] เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงปลามากมาย มีท่าน้ำราบเรียบดี มีน้ำมาก พระองค์จะได้สรงสนานและเสวย ณ ที่นั้น ปลุกปลอบพระโอรสและพระชายาให้สำราญพระทัย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๘๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์

[๑๙๐๖] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ต่อจากนั้นไป พระองค์จักทอดพระเนตรเห็นต้นไทร ที่มีผลหวาน มีร่มเงาเยือกเย็น เป็นที่รื่นรมย์ใจ ซึ่งเกิดอยู่บนยอดเขาอันน่ารื่นรมย์ [๑๙๐๗] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ถัดจากนั้นไป พระองค์จักทอดพระเนตรเห็นภูเขานาลิกะซึ่งเป็นศิลาล้วน คลาคล่ำไปด้วยฝูงนกนานาพันธุ์และหมู่กินนร [๑๙๐๘] ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือแห่งภูเขานาลิกะนั้น มีสระมุจลินท์ที่ดารดาษไปด้วยดอกบุณฑริก ดอกอุบลขาว และดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม [๑๙๐๙] ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปยังไพรสณฑ์วนสถาน อันเขียวชะอุ่มดังเมฆอยู่เป็นนิตย์ สะพรั่งไปด้วยไม้ดอก และไม้ผลทั้ง ๒ เหมือนพญาราชสีห์ที่มุ่งเหยื่อ [๑๙๑๐] ในไพรสณฑ์นั้น มีฝูงนกมากมาย ส่งเสียงขันคูกู่ร้องก้องไพเราะ ประสานเสียงกู่ร้องอยู่อึงมี่ บนต้นไม้ที่ผลิดอกออกช่อตามฤดูกาล [๑๙๑๑] พระองค์เสด็จดำเนินถึงซอกเขาซึ่งเป็นทางเดินลำบาก และเป็นต้นของแม่น้ำทั้งหลาย จะได้ทอดพระเนตรเห็น สระโบกขรณีอันสะพรั่งไปด้วยไม้กุ่มและไม้รกฟ้า [๑๙๑๒] เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงปลามากมาย มีท่าน้ำงาม ราบเรียบดี มีน้ำมาก เต็มเปี่ยมอยู่สม่ำเสมอ เป็นสระสี่เหลี่ยม มีน้ำอร่อย ปราศจากกลิ่นเหม็น [๑๙๑๓] ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือแห่งสระโบกขรณีนั้น พระองค์ได้ทรงสร้างบรรณศาลา ครั้นแล้วพึงทรงบำเพ็ญเพียรเลี้ยงพระชนมชีพ ด้วยการเที่ยวแสวงหามูลผลาหารอยู่เถิด
กัณฑ์วนปเวสน์ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๘๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก

กัณฑ์ชูชก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้นจึงตรัสว่า) [๑๙๑๔] ได้มีพราหมณ์ชื่อชูชก ซึ่งอยู่ประจำในแคว้นกาลิงคะ เขามีภรรยาสาวชื่ออมิตตตาปนา [๑๙๑๕] ถูกพวกหญิงในหมู่บ้านนั้นที่พากันไปตักน้ำที่ท่าน้ำ ต่างแตกตื่นกันมารุมด่าอย่างอึงมี่ว่า [๑๙๑๖] มารดาของเจ้าคงเป็นศัตรูแน่นอน บิดาของเจ้าก็คงเป็นศัตรูแน่ จึงได้พากันยกเจ้า ที่ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้ [๑๙๑๗] ไม่เกื้อกูลเลยหนอ พวกญาติของเจ้าแอบไปปรึกษากันลับๆ ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้ [๑๙๑๘] พวกญาติของเจ้าเป็นศัตรูหนอ ได้พากันแอบไปปรึกษากันลับๆ ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้ [๑๙๑๙] เป็นความชั่วจริงหนอ ที่พวกญาติของเจ้าได้แอบไปปรึกษากันลับๆ ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้ [๑๙๒๐] เป็นความเลวทรามจริงหนอ ที่พวกญาติของเจ้าได้แอบไปปรึกษากันลับๆ ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้ [๑๙๒๑] เป็นที่น่าเสียใจหนอ ที่พวกญาติของเจ้าได้แอบไปปรึกษาลับๆ ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๘๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก

[๑๙๒๒] เจ้าคงไม่พอใจอยู่กับผัวแก่ การที่เจ้าอยู่ในเรือนของพราหมณ์เฒ่า เจ้าตายเสียยังดีกว่าอยู่ [๑๙๒๓] แม่คนงามสุดสวย มารดาและบิดาของเจ้า คงหาชายอื่นมาให้เป็นผัวเจ้าไม่ได้แน่ จึงยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้ [๑๙๒๔] ในดิถีที่ ๙ เจ้าคงจักบูชายัญไว้ไม่ดี คงจักไม่ได้ทำการบูชาไฟ มารดาและบิดาของเจ้าจึงยกเจ้า ผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้ [๑๙๒๕] เจ้าคงสาปแช่งสมณะและพราหมณ์ ผู้มีพรหมจรรย์เป็นเบื้องหน้า ผู้มีศีล เป็นพหูสูตในโลกแน่ เจ้าจึงได้มาอยู่ในเรือนของพราหมณ์เฒ่า แต่ยังเป็นสาวแรกรุ่นอย่างนี้ [๑๙๒๖] การถูกงูกัดก็ไม่เป็นทุกข์ การถูกแทงด้วยหอกก็ไม่เป็นทุกข์ การได้เห็นผัวแก่นั้นแหละเป็นทุกข์หนักหนา [๑๙๒๗] การเล่นหัวกับผัวแก่ก็ไม่มี การรื่นรมย์กับผัวแก่ก็ไม่มี การสนทนาปราศรัยกับผัวแก่ก็ไม่มี แม้แต่การซิกซี้ก็ไม่งาม [๑๙๒๘] แต่เมื่อใด ผัวหนุ่มเมียสาวเล่นเย้าหยอกกันอยู่ในที่ลับ เมื่อนั้น ความเศร้าโศกทุกอย่าง ที่เสียดแทงหัวใจอยู่ ก็หายไปสิ้น [๑๙๒๙] เจ้ายังเป็นสาวรูปงาม พวกชายหนุ่มปรารถนายิ่งนัก เจ้าจงไปอยู่อาศัยในตระกูลญาติเถิด คนแก่จักทำให้เจ้ารื่นรมย์ได้อย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๘๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก

(นางอมิตตตาปนากล่าวว่า) [๑๙๓๐] พราหมณ์ ฉันจักไม่ไปตักน้ำที่ท่าน้ำเพื่อท่านต่อไปอีก เพราะพวกหญิงชาวบ้านมันรุมกันด่าฉัน เหตุที่ท่านเป็นคนแก่ (ชูชกปลอบว่า) [๑๙๓๑] เธออย่าได้ทำการงานเพื่อฉัน อย่าได้ตักน้ำมาเพื่อฉัน ฉันจักตักน้ำเอง แม่มหาจำเริญ เธออย่าได้โกรธเคืองฉัน (นางอมิตตตาปนาตอบว่า) [๑๙๓๒] ฉันมิได้เกิดในตระกูลที่จะใช้สามีตักน้ำ พราหมณ์ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ฉันจักไม่อยู่ในเรือนของท่าน [๑๙๓๓] พราหมณ์ ถ้าท่านจักไม่นำทาสหรือทาสีมาให้ฉัน ท่านจงทราบอย่างนี้ว่า ฉันจักไม่อยู่ในสำนักของท่าน (ชูชกกล่าวว่า) [๑๙๓๔] พราหมณี ศิลปกรรมหรือทรัพย์ และข้าวเปลือกของฉันไม่มีที่ไหน ฉันจักนำทาสหรือทาสีมาให้แก่เธอผู้เจริญได้ ฉันจักอุปถัมภ์บำรุงเธอ เธออย่าได้โกรธเคืองเลย (นางอมิตตตาปนาตอบว่า) [๑๙๓๕] มาเถิด ฉันจักบอกแก่ท่านตามที่ฉันได้ฟังมา โน่นพระราชาเวสสันดรประทับอยู่ที่เขาวงกต [๑๙๓๖] พราหมณ์ ท่านจงไปทูลขอทาสและทาสี กับพระองค์เถิด เมื่อท่านทูลขอแล้ว พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์จักพระราชทานทาสและทาสีให้แก่ท่าน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๘๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก

(ชูชกกล่าวว่า) [๑๙๓๗] นางผู้เจริญ ฉันแก่แล้วเป็นคนทุพพลภาพ ทั้งหนทางก็แสนไกล เดินไปได้แสนยาก เธออย่าได้พิไรรำพัน อย่าได้เสียใจ ฉันจักอุปถัมภ์บำรุงเธอ เธออย่าได้โกรธเคืองเลย (นางอมิตตตาปนาพูดว่า) [๑๙๓๘] คนขลาดยังไม่ทันถึงสนามรบ ยังไม่ทันได้รบก็ยอมแพ้ฉันใด พราหมณ์ ท่านยังไม่ทันได้ไป ก็ยอมแพ้เสียแล้วก็ฉันนั้นเหมือนกัน [๑๙๓๙] พราหมณ์ ถ้าท่านจักไม่นำทาสหรือทาสีมาให้ฉัน ท่านจงทราบอย่างนี้ว่า ฉันจักไม่อยู่ในเรือนของท่าน จักทำการที่ไม่พอใจให้แก่ท่าน ข้อนั้นจักเป็นทุกข์แก่ท่าน [๑๙๔๐] ในคราวมหรสพซึ่งมีในต้นฤดูนักขัตฤกษ์ ท่านจักได้เห็นฉันแต่งตัวสวยงาม รื่นรมย์อยู่กับชายอื่น ข้อนั้นจักเป็นทุกข์แก่ท่าน [๑๙๔๑] พราหมณ์ เมื่อท่านที่เป็นคนแก่รำพันอยู่ เพราะไม่เห็นฉัน ร่างกายที่งอก็จักงอยิ่งขึ้น และผมที่หงอกก็จักหงอกมากขึ้น (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๙๔๒] ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นตกใจกลัว ตกอยู่ในอำนาจของนางพราหมณี ถูกกามราคะบีบคั้น ได้กล่าวกับนางพราหมณีว่า [๑๙๔๓] พราหมณี เธอจงทำเสบียงเดินทางให้ฉัน ทั้งขนมงา ขนมเทียน สัตตุก้อน สัตตุผง และข้าวผอก เธอจงจัดให้ดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๘๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก

[๑๙๔๔] ฉันจักนำพระกุมารทั้ง ๒ มาให้เป็นทาส พระกุมารทั้ง ๒ องค์นั้นเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน จักปรนนิบัติเธอทั้งกลางคืนและกลางวัน [๑๙๔๕] พราหมณ์ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพรหม ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ก็สวมรองเท้า พร่ำสั่งเสียต่อไป ทำประทักษิณภรรยาแล้ว [๑๙๔๖] พราหมณ์นั้นสมาทานวัตร มีน้ำตานองหน้า หลีกไปยังนครอันเจริญรุ่งเรืองของชาวกรุงสีพี เที่ยวไปแสวงหาทาส [๑๙๔๗] พราหมณ์ชูชกนั้นไปในเมืองนั้นแล้ว ได้ถามชนทั้งหลายผู้มาประชุมกันอยู่ในที่นั้นว่า พระราชาเวสสันดรประทับอยู่ที่ไหน เราจะไปเฝ้าพระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ได้ที่ไหน [๑๙๔๘] ชนเหล่านั้นผู้มาประชุมกัน ณ ที่นั้น ได้ตอบพราหมณ์ชูชกนั้นไปว่า พราหมณ์ พระเวสสันดรบรมกษัตริย์ ถูกพวกท่านเบียดเบียน เพราะทรงบริจาคทานมากเกินไป จึงถูกขับไล่ไปจากแคว้นของพระองค์ บัดนี้ ประทับอยู่ ณ เขาวงกต [๑๙๔๙] พราหมณ์ พระเวสสันดรผู้เป็นกษัตริย์ ถูกพวกท่านเบียดเบียน เพราะทรงบริจาคทานมากเกินไป จึงทรงพาพระโอรสและพระชายา ไปประทับอยู่ ณ เขาวงกต [๑๙๕๐] พราหมณ์ชูชกนั้นเป็นผู้มีความติดใจในกาม ถูกนางพราหมณีอมิตตตาตักเตือน จึงได้เสวยทุกข์เป็นอันมากในป่าที่มีสัตว์ร้ายพลุกพล่าน เป็นที่อาศัยอยู่ของแรดและเสือเหลือง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๘๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก

[๑๙๕๑] แกถือไม้เท้าสีเหมือนผลมะตูม เครื่องบูชาไฟ และเต้าน้ำ เข้าไปสู่ป่าใหญ่ ในที่ที่จะได้ทราบข่าว พระเวสสันดรผู้ประทานสิ่งที่น่าใคร่ [๑๙๕๒] เมื่อแกเข้าไปยังป่าใหญ่ ถูกฝูงสุนัขรุมล้อมกัด แกร้องเสียงหลง เดินผิดทางถอยห่างออกไปจากทาง [๑๙๕๓] ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นผู้โลภในโภคะ ไม่สำรวม เดินผิดทางที่จะไปยังเขาวงกต ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า [๑๙๕๔] ใครเล่าจะพึงบอกพระราชบุตร พระนามว่าเวสสันดรผู้ประเสริฐสุด ทรงชนะความตระหนี่ที่ใครๆ ให้แพ้ไม่ได้ ประทานความปลอดภัยในเวลามีภัยแก่เรา [๑๙๕๕] พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของพวกยาจก เหมือนธรณีเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราชผู้เปรียบดังธรณีแก่เราได้ [๑๙๕๖] พระองค์ทรงเป็นที่เข้าเฝ้าของพวกยาจก เหมือนสาครเป็นที่ไหลรวมแห่งแม่น้ำทั้งหลาย ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราชผู้เปรียบดังทะเลแก่เราได้ [๑๙๕๗] ใครจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช ผู้เปรียบเหมือนห้วงน้ำมีท่าสวยงาม สะอาด มีน้ำเยือกเย็นเป็นที่รื่นรมย์ใจ ดารดาษไปด้วยดอกบุณฑริก สะพรั่งไปด้วยเกสรดอกบัวแก่เราได้ [๑๙๕๘] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช ผู้เปรียบเหมือนต้นโพธิ์ที่เกิดอยู่ริมทาง มีร่มเงาเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๘๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก

[๑๙๕๙] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช ผู้เปรียบเหมือนต้นไทรที่เกิดอยู่ริมทาง มีร่มเงาเยือกเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้ [๑๙๖๐] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช ผู้เปรียบเหมือนต้นมะม่วงที่เกิดอยู่ริมทาง ที่มีร่มเงาเยือกเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้ [๑๙๖๑] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช ผู้เปรียบเหมือนต้นสาละที่มีร่มเงาเยือกเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้ [๑๙๖๒] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช ผู้เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่เกิดอยู่ริมทาง มีร่มเงาเยือกเย็น เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้ [๑๙๖๓] ก็เมื่อเราเข้าไปในป่าใหญ่ เพ้อรำพันอยู่อย่างนี้ ผู้ใดพึงบอกว่า เรารู้จัก ผู้นั้นจะพึงทำความเพลิดเพลินให้เกิดแก่เราได้ [๑๙๖๔] ก็เมื่อเราเข้าไปในป่าใหญ่ เพ้อรำพันอยู่อย่างนี้ ผู้ใดพึงบอกสถานที่ประทับอยู่ ของพระเวสสันดรได้ว่า เรารู้จัก ผู้นั้นพึงประสบบุญมิใช่น้อยด้วยคำคำเดียวนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๙๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก

(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๙๖๕] เจตบุตรพรานป่าได้ตอบพราหมณ์ชูชกว่า พราหมณ์ พระเวสสันดรผู้เป็นกษัตริย์ถูกพวกท่านรบกวน เพราะทรงบริจาคทานมากเกินไป จึงถูกขับไล่ออกจากแคว้น ของพระองค์ไปประทับอยู่ที่เขาวงกต [๑๙๖๖] พราหมณ์ พระเวสสันดรผู้เป็นกษัตริย์ถูกพวกท่านรบกวน เพราะทรงบริจาคทานมากเกินไป จึงทรงพาพระโอรส และพระชายาไปประทับอยู่ที่เขาวงกต [๑๙๖๗] ท่านเป็นคนโง่เขลา ทำสิ่งที่ไม่น่าทำ จากแคว้นมาป่าใหญ่ เที่ยวแสวงหาพระราชบุตร เหมือนนกยางเที่ยวเสาะหาปลาในน้ำ [๑๙๖๘] พราหมณ์ ณ ที่นี้ เราจักไม่ให้ท่านมีชีวิตอยู่ได้ ลูกศรที่เรายิงนี้แหละจักดูดกินโลหิตของท่าน [๑๙๖๙] พราหมณ์ เราจะตัดศีรษะของท่าน ผ่าหัวใจพร้อมด้วยไส้พุง บูชายัญชื่อปันถสกุณะ๑- พร้อมด้วยเนื้อของท่าน [๑๙๗๐] พราหมณ์ เราจะเชือดเฉือนเอาหัวใจของท่าน พร้อมด้วยเนื้อ มันข้น และมันสมองของท่าน ยกขึ้นเป็นเครื่องบวงสรวง [๑๙๗๑] พราหมณ์ ข้อนั้นจักเป็นยัญที่เราบูชาดีแล้ว บวงสรวงดีแล้ว ด้วยเนื้อของท่าน และท่านจักนำพระชายาและพระโอรสทั้งหลาย ของพระราชบุตรไปไม่ได้ @เชิงอรรถ : @ ปันถสกุณะ หมายถึงการฆ่าแล้วผ่าเนื้อหัวใจควักออกมาพร้อมด้วยตับ ไต และลำไส้ แล้วบูชายัญแก่ @เทวดาประจำทาง (คล้ายการฆ่านกแล้วย่างไฟบูชา) (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๙๖๙/๓๙๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๙๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา

(ชูชกโกหกว่า) [๑๙๗๒] เจตบุตร ท่านจงฟังเราก่อน พราหมณ์ผู้เป็นทูตไม่ควรถูกฆ่า เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่ฆ่าทูต นี้เป็นธรรมอันเก่าแก่ [๑๙๗๓] ชาวกรุงสีพีทุกคนตกลงยินยอมแล้ว พระบิดาก็ทรงพระประสงค์จะพบพระราชบุตรนั้น และพระมารดาของพระราชบุตรนั้นก็ทรงทุพพลภาพ คงไม่นานนัก พระเนตรทั้ง ๒ ของพระองค์ก็จักขุ่นมัว [๑๙๗๔] เจตบุตร ท่านจงฟังเราก่อน เราเป็นทูตที่พวกชาวกรุงสีพีนั้นส่งมา เราจักทูลเชิญพระราชบุตรเสด็จกลับ ถ้าท่านรู้ขอได้บอกทางแก่เราเถิด (พรานเจตบุตรกล่าวว่า) ท่านเป็นทูตที่โปรดปรานของพระเวสสันดรผู้เป็นที่รักของเรา เราจะให้รางวัลแก่ท่าน [๑๙๗๕] พราหมณ์ เราจะให้น้ำเต้า และขาเนื้ออย่างดีแก่ท่าน และจะบอกสถานที่ประทับอยู่ของพระเวสสันดร ผู้ให้สิ่งที่น่าใคร่แก่ท่าน
กัณฑ์ชูชก จบ
จูฬวนวัณณนา
พรรณนากัณฑ์จุลพน
(พรานเจตบุตรกล่าวว่า) [๑๙๗๖] มหาพราหมณ์ นั่นภูเขาคันธมาทย์ศิลาล้วน ซึ่งเป็นที่ประทับอยู่ของพระเวสสันดร พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายและพระชายา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๙๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา

[๑๙๗๗] พระองค์ทรงเพศนักบวชอันประเสริฐ ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา ทรงนุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือแผ่นดินและทรงบูชาไฟอยู่ [๑๙๗๘] ทิวไม้เขียวนั้นมีผลหลากหลาย และภูผาสูงยอดเสียดเมฆเขียวชะอุ่ม นั่นแลเป็นภูเขาที่เต็มไปด้วยดอกอัญชัน [๑๙๗๙] นั่นหมู่ไม้ตะแบก หูกวาง ไม้ตะเคียน ไม้รัง ไม้สะคร้อ และย่านทราย อ่อนไหวไปตามลม เหมือนมาณพดื่มสุราครั้งเดียวก็ซวนเซไปมาอยู่ [๑๙๘๐] ท่านจะได้ยินเสียงนกนานาชนิด ที่จับอยู่บนกิ่งไม้ดุจทิพยสังคีต คือ เหล่านกโพระดก นกดุเหว่า ส่งเสียงขันคูกู่ร้อง บินขวักไขว่ไปมาจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง [๑๙๘๑] ทั้งหมู่ไม้ที่ต้องลมพัดสะบัดกิ่งใบไหวพลิ้วเสียดสีกันไปมา เหมือนจะเรียกคนผู้กำลังเดินไปให้หวนกลับมา และเหมือนจะเชิญชวนเหล่าชนผู้กำลังเดินผ่านมา ให้ชื่นชมรื่นรมย์พักผ่อน ณ สถานที่ที่พระเวสสันดร พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายประทับอยู่ [๑๙๘๒] พระองค์ทรงเพศเป็นบรรพชิตอันประเสริฐ ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา ทรงนุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือแผ่นดินและทรงบูชาไฟอยู่ [๑๙๘๓] ในบริเวณอาศรมสถานนั้นมีไม้มะม่วง มะขวิด ขนุน ไม้รัง ชมพู่ สมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อม โพธิ และพุทรา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๙๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา

[๑๙๘๔] ทั้งมะพลับทอง ไทร มะขวิด มะซางหวาน และมะเดื่อ มีผลสุกแดงปลั่งอยู่ในที่ต่ำ [๑๙๘๕] หมู่ไม้ที่มองเห็น ณ เชิงเขาปาเรวตะ ผลองุ่น ผลจันทน์มีรสหวานเหมือนน้ำผึ้ง รวงผึ้งที่ปราศจากตัวผึ้ง คนเอื้อมมือนำมาบริโภคได้เองในอาศรมนั้น [๑๙๘๖] ต้นมะม่วงบางต้นก็ผลิดอกออกช่อแย้มบาน บางต้นมีดอกและใบร่วงหล่น ผลิผลดาษดื่น บางผลดิบ บางผลสุก ผลมะม่วงทั้งดิบและสุก มีสีคล้ายหลังกบ [๑๙๘๗] อนึ่ง ในบริเวณอาศรมนั้น คนที่ยืนอยู่ใต้ต้นมะม่วงเหล่านั้นก็เก็บเอาผลมะม่วงสุกได้ ผลมะม่วงทั้งดิบและสุกมีสีสวยงาม กลิ่นหอม และมีรสอร่อย [๑๙๘๘] สิ่งที่ว่ามาทั้งนี้เป็นที่น่าอัศจรรย์แก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับข้าพเจ้าออกอุทานว่า อือ ที่ประทับอยู่ของพระเวสสันดรนั้น เหมือนกับที่อยู่ของพวกเทวดา งดงามเปรียบด้วยพระอุทยานนันทวัน [๑๙๘๙] มีต้นตาล ต้นมะพร้าว และต้นอินทผาลัมอยู่ในป่าใหญ่ มีดอกสีหลากหลายเหมือนพวงดอกไม้ ที่เขาร้อยไว้บนต้นไม้ที่มีดอกบานสะพรั่ง ต้นไม้เหล่านั้น ย่อมปรากฏดังยอดธงชัย เหมือนดวงดาวประดับฟ้า [๑๙๙๐] ในบริเวณอาศรมนั้นมีหมู่ไม้นานาพันธุ์ คือ ไม้โมกมัน โกฐสะค้าน แคฝอย บุนนาค บุนนาคเขา และไม้ซึก มีดอกบานสะพรั่ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๙๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา

[๑๙๙๑] อนึ่ง ในบริเวณอาศรมนั้นมีต้นราชพฤกษ์ มะเกลือ กฤษณา รักดำ ไทรใหญ่ หงอนไก่ และประดู่ เป็นอันมาก มีดอกบานสะพรั่ง [๑๙๙๒] ในบริเวณอาศรมนั้นมีไม้โมกหลวง ไม้สน ไม้กระทุ่ม ไม้ช่อ ไม้ตะแบก และไม้รัง ล้วนมีดอกบานสะพรั่ง เป็นพุ่มเหมือนลอมฟาง [๑๙๙๓] ในที่ไม่ไกลจากอาศรมนั้น มีสระโบกขรณี ณ ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ ดารดาษไปด้วยดอกปทุมและดอกอุบล เหมือนสระโบกขรณีที่อยู่ในอุทยานนันทวันของเหล่าเทวดา [๑๙๙๔] อนึ่ง ณ ที่ใกล้สระโบกขรณีนั้น มีฝูงนกดุเหว่าเมารสดอกไม้ ส่งเสียงร้องไพเราะจับใจ ทำให้ป่าใหญ่ดังอึกทึกกึกก้อง เมื่อหมู่ไม้ผลิดอกออกช่อเบ่งบานตามฤดูกาล [๑๙๙๕] รสหวานปานน้ำผึ้งพลัดร่วงลงจากเกสรดอกไม้ มาติดค้างอยู่บนใบบัว จึงชื่อว่าน้ำผึ้งใบบัว อนึ่ง อาศรมนั้น เมื่อลมทิศใต้และทิศตะวันตกพัดมา ก็เกลื่อนกลาดไปด้วยละอองเกสรดอกปทุม [๑๙๙๖] ในสระโบกขรณีนั้นมีกระจับขนาดใหญ่ ทั้งข้าวสาลีอ่อนบ้าง แก่บ้าง เหล่านั้นนั่นแหละล้มระเนระนาดอยู่บนพื้นดิน และในสระโบกขรณีนั้น น้ำใสสะอาดมองเห็นฝูงปลา เต่า และปูเป็นจำนวนมากที่กำลังว่ายไปมาเป็นกลุ่ม รสที่ไหลออกจากเหง้าบัวและจากสายบัว มีรสหวานปานน้ำผึ้ง นมสด และเนยใสที่เจือปนด้วยน้ำนม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๙๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา

[๑๙๙๗] ไม้ป่านั้นมีกลิ่นต่างๆ มีลมโชยพัดมา หอมฟุ้งตลบอบอวลเหมือนจะยังชนผู้มาถึงแล้ว ให้บันเทิงเบิกบานด้วยกลิ่นและพวงดอกไม้ หมู่ภมรก็โผบินร่อนส่งเสียงกระหึ่มอยู่รายรอบ เพราะกลิ่นหอมของดอกไม้ [๑๙๙๘] อนึ่ง ที่ใกล้อาศรมนี้ มีฝูงนกจำนวนมากที่มีสีต่างๆ กัน ต่างก็บันเทิงใจอยู่กับคู่ของตน กู่ร้องประชันเสียงกันและกัน [๑๙๙๙] ยังมีฝูงนกอีก ๔ ฝูง๑- อาศัยอยู่ใกล้สระโบกขรณี คือ ฝูงนกนันทิกา ฝูงนกชีวปุตตา ฝูงนกปุตตาปิยาจโน ฝูงนกปิยปุตตาปิยานันทา [๒๐๐๐] ดอกไม้ทั้งหลาย ตั้งเรียงรายกันอยู่ เหมือนพวงมาลัยที่เขาร้อยไว้ หมู่ไม้เหล่านั้นย่อมปรากฏดังยอดธงชัย มีดอกสีต่างๆ กัน ดังนายช่างผู้ฉลาดได้เก็บมาเรียงร้อยไว้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระราชาเวสสันดร พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายประทับอยู่ [๒๐๐๑] พระองค์ทรงเพศเป็นนักบวชอันประเสริฐ ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา ทรงนุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือพื้นดินและทรงบูชาไฟอยู่ @เชิงอรรถ : @ ฝูงนก ๔ ฝูง หมายถึงนกที่มีชื่อต่างกันตามเสียงร้อง ฝูงนกนันทิการ้องว่า “ข้าแต่พระเวสสันดรผู้เป็น @นาย ขอให้ท่านอยู่ในป่านี้อย่างเพลิดเพลินเถิด” ฝูงนกชีวปุตตาร้องว่า “ขอให้พระองค์และพระราชโอรส @จงเป็นอยู่สบาย” ฝูงนกปุตตาปิยาจโนร้องว่า “ขอให้พระองค์และพระโอรสสุดที่รักจงมีชีวิตอยู่” ฝูงนก @ปิยปุตตาปิยานันทาร้องว่า “ขอให้พระองค์และพระราชโอรสสุดที่รักจงเพลิดเพลิน” @(ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๙๙๙/๓๙๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๙๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา

(ชูชกกล่าวว่า) [๒๐๐๒] ก็ข้าวสัตตุผงที่ระคนด้วยน้ำผึ้ง และข้าวสัตตุก้อนที่มีรสหวานอร่อยของเรานี้ ที่นางอมิตตตาได้จัดแจงให้ เราจะแบ่งให้แก่เจ้า (พรานเจตบุตรกล่าวว่า) [๒๐๐๓] ท่านพราหมณ์ ขอจงเอาไว้เป็นเสบียงทางของท่านเถิด ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาเสบียงทาง ท่านพราหมณ์ ขอท่านจงรับเอาคืนไปจากที่นี้เถิด ขอท่านจงไปตามสบายเถิด [๒๐๐๔] ทางนี้เป็นทางเดินไปได้คนเดียว ตรงไปยังอาศรม แม้อัจจุตฤๅษีผู้อยู่ในอาศรมนั้นเป็นผู้มีขี้ฟันเขรอะ มีศีรษะเปื้อนด้วยธุลี ทรงเพศเป็นนักบวชอันประเสริฐ ถือขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎาอยู่ [๒๐๐๕] เป็นผู้นุ่งห่มหนังเสือ นอนเหนือพื้นดิน และบูชาไฟ เชิญท่านไปถามฤๅษีนั้นดูเถิด ฤๅษีจักบอกทางให้แก่ท่าน [๒๐๐๖] ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์ ครั้นได้ฟังคำแนะนำนี้แล้วกระทำประทักษิณ มีใจเบิกบาน อำลาพรานเจตบุตร แล้วหลีกไปในทางที่อัจจุตฤๅษีอยู่
พรรณนากัณฑ์จุลพน จบ
มหาวนวัณณนา
พรรณนากัณฑ์มหาพน
[๒๐๐๗] พราหมณ์ชูชกภารทวาชะนั้น เมื่อเดินไปก็ได้พบอัจจุตฤๅษี ครั้นพบแล้ว ได้ทักทายปราศรัยกับอัจจุตฤๅษีว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๙๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา

[๒๐๐๘] พระคุณเจ้าไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ สุขสำราญดีหรือ เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกหรือ มูลผลาหารก็มีมากหรือ [๒๐๐๙] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ ในป่าที่มีเนื้อร้ายพลุกพล่าน ไม่มีมาเบียดเบียนหรือ (อัจจุตฤๅษีกล่าวว่า) [๒๐๑๐] พราหมณ์ เราไม่มีโรคเบียดเบียน เราสุขสบายดี อนึ่ง เราเลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกดี ทั้งมูลผลาหารก็มีมาก [๒๐๑๑] อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่าน ก็ไม่มีมาเบียดเบียนเราเลย [๒๐๑๒] หลายปีมาแล้ว เรามาอยู่อาศรมของเรา ยังไม่รู้จักอาพาธที่ไม่น่ารื่นรมย์ซึ่งจะเกิดขึ้น [๒๐๑๓] มหาพราหมณ์ ท่านมาดีแล้ว มิได้มาร้าย ท่านผู้เจริญ ขอเชิญเข้าไปข้างใน เชิญล้างเท้าทั้ง ๒ ของท่านเถิด [๒๐๑๔] ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง ผลหมากเม่า มีรสหวานปานน้ำผึ้ง เชิญท่านเลือกบริโภคแต่ผลดีๆ เถิด [๒๐๑๕] น้ำดื่มเย็นสนิทที่เรานำมาจากซอกเขา มหาพราหมณ์ ถ้าท่านต้องการ ก็เชิญดื่มเถิด (ชูชกกล่าวว่า) [๒๐๑๖] สิ่งใดที่พระคุณเจ้าให้แล้ว สิ่งนั้นทั้งหมดเป็นอันข้าพเจ้ารับไว้แล้ว บรรณาการพระคุณเจ้าได้ทำไว้ทุกอย่างแล้ว ข้าพเจ้ามาก็เพื่อจะเยี่ยมเยือนพระราชาเวสสันดร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๙๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา

พระโอรสของพระเจ้ากรุงสญชัย ซึ่งพลัดพรากจากชาวกรุงสีพีมาช้านาน ถ้าพระคุณเจ้าทราบสถานที่ประทับ ก็โปรดแจ้งแก่ข้าพเจ้าเถิด (อัจจุตฤๅษีกล่าวว่า) [๒๐๑๗] ท่านผู้เจริญ มาเพื่อต้องการบุญ เพื่อเยี่ยมเยือนพระเวสสันดรเจ้ากรุงสีพีก็หาไม่ เราเข้าใจว่าท่านปรารถนา(จะมาขอ)พระชายา ผู้เคารพนบนอบพระราชาไปเป็นภรรยา หรือมิฉะนั้น ท่านก็ปรารถนา(จะมาขอ) พระกัณหาชินาไปเป็นทาสีและพระชาลีไปเป็นทาส [๒๐๑๘] หรือหาไม่ ก็มาเพื่อจะนำทั้งพระมารดา และพระโอรสทั้ง ๓ พระองค์ไปจากป่า ท่านพราหมณ์ โภคะทั้งหลาย ทรัพย์สิน และข้าวเปลือกของพระเวสสันดรนั้นไม่มี (ชูชกกล่าวว่า) [๒๐๑๙] ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ท่านยังไม่สมควรจะโกรธเคือง เพราะข้าพเจ้ามิได้มาเพื่อขอ การพบเห็นพระอริยะเป็นการดี การอยู่ร่วมกับพระอริยะเป็นสุขทุกเมื่อ [๒๐๒๐] ข้าพเจ้าไม่เคยได้พบพระเวสสันดรเจ้ากรุงสีพี ผู้ทรงพลัดพรากจากชาวกรุงสีพีมานาน ข้าพเจ้ามาเพื่อเยี่ยมเยือนพระองค์ ถ้าพระคุณเจ้ารู้จักสถานที่ประทับ โปรดบอกแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๙๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา

(อัจจุตฤๅษีกล่าวว่า) [๒๐๒๑] มหาพราหมณ์ นั่นภูเขาคันธมาทน์ศิลาล้วน ซึ่งเป็นที่ประทับอยู่ของพระเวสสันดร พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายและพระชายา [๒๐๒๒] พระองค์ทรงเพศนักบวชอันประเสริฐ ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา นุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือพื้นดินและทรงบูชาไฟอยู่ [๒๐๒๓] ทิวไม้เขียวนั้นมีผลหลากหลาย และภูผาสูงยอดเสียดเมฆเขียวชะอุ่ม นั่นแลเป็นภูเขาที่เต็มไปด้วยดอกอัญชัน [๒๐๒๔] นั่นหมู่ไม้ตะแบก หูกวาง ไม้ตะเคียน ไม้รัง ไม้สะคร้อ และย่านทราย อ่อนไหวไปตามลม เหมือนมาณพดื่มสุราครั้งเดียวก็ซวนเซไปมาอยู่ [๒๐๒๕] ท่านจะได้ยินเสียงนกนานาชนิด ที่จับอยู่บนกิ่งไม้ดุจดังเสียงทิพยสังคีต คือ นกโพระดก นกดุเหว่า ส่งเสียงขันคูกู่ร้อง บินขวักไขว่ไปมาจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง [๒๐๒๖] ทั้งหมู่ไม้ที่ต้องลมพัดสะบัดกิ่งใบไหวพลิ้วเสียดสีกันไปมา เหมือนจะเรียกคนผู้กำลังเดินผ่านไปให้หวนกลับมา และเหมือนจะเชิญชวนเหล่าชนผู้กำลังเดินผ่านมา ให้ชื่นชมรื่นรมย์พักผ่อน ณ สถานที่ที่พระราชาเวสสันดร พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายและพระชายาประทับอยู่ [๒๐๒๗] พระองค์ทรงเพศนักบวชอันประเสริฐ ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา นุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือพื้นดินและทรงบูชาไฟอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๐๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา

[๒๐๒๘] ที่ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ใจ มีดอกกุ่มร่วงหล่นเรี่ยราด พื้นแผ่นดินเขียวชะอุ่มไปด้วยหญ้าแพรก ณ ที่นั้น ไม่มีผงธุลีฟุ้งขึ้นเลย [๒๐๒๙] หญ้านั้นสีเขียวคล้ายสร้อยคอนกยูง อ่อนนุ่มเหมือนสัมผัสสำลี หญ้ารายรอบยาวไม่เกิน ๔ นิ้ว [๒๐๓๐] ต้นมะม่วง ชมพู่ มะขวิด และมะเดื่อมีผลสุกอยู่ในที่ต่ำๆ ป่านั้นเป็นสถานที่เพิ่มความรื่นรมย์มากขึ้น เพราะมีหมู่ไม้ที่ใช้บริโภคได้ [๒๐๓๑] มีน้ำใสสะอาดกลิ่นหอม สีเหมือนแก้วไพฑูรย์ เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงปลาหลั่งไหลไปในป่านั้น [๒๐๓๒] ภูมิภาคเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ ไม่ห่างไกลจากอาศรมนั้น มีสระโบกขรณีดารดาษไปด้วยดอกปทุมและดอกอุบล เหมือนมีในอุทยานนันทวันของพวกเทวดา [๒๐๓๓] พราหมณ์ ในสระโบกขรณีนั้น มีอุบลอยู่ ๓ เหล่า คือ อุบลเขียว อุบลขาว และอุบลแดง งามตระการตามากมาย [๒๐๓๔] ในสระนั้นมีดอกปทุมสีขาวดังผ้าโขมพัสตร์ สระนั้นชื่อสระมุจลินท์ ดารดาษไปด้วยอุบลขาว จงกลนี และผักทอดยอด [๒๐๓๕] อนึ่ง ในสระนี้มีปทุมชาติบานสะพรั่ง ปรากฏดังจะหาที่สุดมิได้ บ้างก็บานในฤดูคิมหันต์ บ้างก็บานในฤดูเหมันต์ ปรากฏเหมือนลอยอยู่บนน้ำซึ่งลึกประมาณเพียงเข่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๐๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา

[๒๐๓๖] ปทุมชาติงามตระการตาชูดอกสะพรั่ง ส่งกลิ่นอบอวล หมู่ภมรก็โผบินร่อนเสียงดังกระหึ่มอยู่รายรอบ เพราะกลิ่นหอมของดอกไม้ [๒๐๓๗] พราหมณ์ ณ ริมรอบขอบสระนี้ มีต้นไม้ขึ้นมากมายเช่นต้นกระทุ่ม ต้นแคฝอย และต้นทองหลาง ผลิดอกออกช่อบานสะพรั่ง [๒๐๓๘] ต้นปรู ไม้ซาก ไม้ปาริชาติ ก็มีดอกบานสะพรั่ง ต้นกากะทิงมีอยู่ที่ ๒ ฟากฝั่งของสระมุจลินท์ [๒๐๓๙] ต้นซึก ต้นแคขาว บัวบกส่งกลิ่นฟุ้งไป ต้นคนทีสอ ต้นคนที ต้นเขมา และต้นประดู่ ขึ้นอยู่ใกล้สระนั้น มีดอกบานสะพรั่ง [๒๐๔๐] ต้นมะคำไก่ ไม้มะซาง ต้นแก้ว ต้นมะรุม การะเกด กรรณิการ์ และชบา ผลิดอกบานสะพรั่ง [๒๐๔๑] ต้นรกฟ้า ต้นอินทนิล ต้นกระท้อน และต้นทองกวาว ต่างก็ผลิดอกออกช่อและยอดแดงระเรื่อ [๒๐๔๒] ไม้มะลื่น ตีนเป็ด กล้วย ต้นคำฝอย นมแมว คนทา ประดู่ลาย และสลอด ผลิดอกบานสะพรั่ง [๒๐๔๓] ต้นมะไฟ ต้นงิ้ว ช้างน้าว พุดขาว กฤษณา โกฐเขมา และโกฐสอ ผลิดอกบานสะพรั่ง [๒๐๔๔] ณ บริเวณสระนั้น มีต้นไม้ที่มีทั้งอ่อนและแก่ ต้นไม่คดงอ ผลิดอกแย้มบาน ตั้งอยู่ทั้ง ๒ ข้างอาศรมรอบเรือนไฟ [๒๐๔๕] อนึ่ง ที่ริมรอบขอบสระนี้ มีพรรณไม้เกิดขึ้นมากมาย คือ ตะไคร้ ถั่วเขียว ถั่วราชมาส สาหร่าย และสันตะวา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา

[๒๐๔๖] น้ำในสระนี้ ถูกลมรำเพยพัด เกิดเป็นระลอกคลื่นกระทบฝั่ง มีหมู่แมลงโผบินเคล้าเกสรดอกไม้ที่แย้มบาน สีเสียดเทศ เต่าร้าง และผักทอดยอดมีอยู่มาก [๒๐๔๗] พราหมณ์ ต้นไม้ทั้งหลายดารดาษไปด้วยกล้วยไม้ชนิดต่างๆ กลิ่นของบุปผชาติเหล่านั้นหอมอบอวล อยู่ได้ถึง ๗ วัน ไม่ระเหยหายไป [๒๐๔๘] บุปผชาติทั้งหลายเกิดอยู่เรียงราย ๒ ฟากฝั่ง สระมุจลินท์ ล้วนแต่สวยงาม ป่านั้นดารดาษไปด้วยต้นราชพฤกษ์ทำให้สวยงาม [๒๐๔๙] กลิ่นดอกราชพฤกษ์นั้นหอมอบอวล อยู่ได้ถึงกึ่งเดือน ไม่ระเหยหาย ดอกอัญชันเขียว อัญชันขาว และกุ่มแดง มีดอกบานสะพรั่ง ป่านั้นดารดาษไปด้วยอบเชยและแมงลัก [๒๐๕๐] เหมือนป่านั้นจะให้คนบันเทิงใจ ด้วยดอกไม้และกิ่งไม้ที่มีกลิ่นหอม หมู่ภมรก็โผบินร่อนเสียงดังกระหึ่มอยู่รายรอบ เพราะกลิ่นหอมของดอกไม้ [๒๐๕๑] พราหมณ์ ณ ริมรอบขอบสระนั้น มีฟักแฟง แตง น้ำเต้า ๓ ชนิด คือ ชนิดหนึ่งมีผลเขื่องขนาดเท่าหม้อ อีก ๒ ชนิดเหล่านั้นมีผลโตขนาดเท่าตะโพน [๒๐๕๒] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีเมล็ดพันธุ์ผักกาด เป็นจำนวนมาก ทั้งกระเทียมที่มีใบเขียวสด ต้นเหลาชะโอนตั้งอยู่เหมือนต้นตาล ผักสามหาวเป็นจำนวนมากควรเด็ดดอกด้วยกำมือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา

[๒๐๕๓] มีเถาโคกกระออม นมตำเลีย เถาหญ้านาง เถาชะเอม ไม้อโศก ต้นเทียน บอระเพ็ดไฟ ชิงช้าชาลี [๒๐๕๔] ว่านหางช้าง อังกาบ เถาพลุ และมะลิซ้อน มีดอกแย้มบาน ต้นทองกวาวเครือมีดอกบานสะพรั่ง ขึ้นอยู่ตามต้นไม้ [๒๐๕๕] ต้นก้างปลา กำยาน คัดเค้า ชะเอม มะลิเลื้อย มะลิธรรมดา ชบา บัวบก งดงาม [๒๐๕๖] ต้นแคฝอย ฝ้ายทะเล และกรรณิการ์มีดอกเบ่งบาน ปรากฏดังข่ายทองงดงาม ระเรื่อ เปรียบเหมือนเปลวเพลิง [๒๐๕๗] ดอกไม้ที่เกิดบนบกและเกิดในน้ำเหล่านั้น ทั้งหมดต่างก็ปรากฏอยู่ในสระนั้น เพราะมีน้ำขังอยู่มากน่ารื่นรมย์ ด้วยประการฉะนี้ [๒๐๕๘] อนึ่ง ในสระโบกขรณีนั้น มีปลาที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำมากชนิด คือ ปลาตะเพียน ปลาช่อน ปลาดุก จระเข้ ปลามังกร ปลากา [๒๐๕๙] ณ ที่ใกล้สระนั้น มีชะเอมต้น ชะเอมเครือ กำยาน ประยงค์ เนระพูสี แห้วหมู สัตตบุษย์ สมุลแว้ง [๒๐๖๐] พิมเสน สามสิบ กฤษณา เถากระไดลิงเป็นจำนานมาก บัวบก โกฐขาว กระทุ่มเลือด ต้นหนาด [๒๐๖๑] ขมิ้น แก้มหอม หรดาล กำคูณ สมอพิเภก ไคร้เครือ การะบูร และกลิงคุก [๒๐๖๒] อนึ่ง ในป่านั้น มีสัตว์หลากหลายชนิด คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง ยักษิณีมีหน้าดุจฬา ช้างพัง ช้างพลาย เนื้อทราย เนื้อฟาน ละมั่ง และอีเห็น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๐๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา

[๒๐๖๓] สุนัขจิ้งจอก หมาใน บ่าง กระรอก จามรี ชะนี ลิงลม ค่าง ลิง ลิงจุ่น [๒๐๖๔] ณ ที่ใกล้สระนั้น มีกวาง กระทิง หมี วัวป่า แรด หมู พังพอน และงูเห่า เป็นจำนวนมาก [๒๐๖๕] กระบือ หมาใน สุนัขจิ้งจอก กิ้งก่า ตะกวด เหี้ย เสือดาว และเสือเหลืองมีอยู่โดยรอบด้าน [๒๐๖๖] กระต่าย แร้ง ราชสีห์ และเสือปลา สกุณชาติหลายชนิด คือ นกกวัก นกยูง นกหงส์ขาว ไก่ฟ้า [๒๐๖๗] นกกะปูด ไก่ป่า นกหัสดีลิงค์ ร่ำร้องคูขันหากันและกัน นกยางโทน นกยางกรอก นกโพระดก นกต้อยตีวิด นกกระเรียน [๒๐๖๘] เหยี่ยวดำ เหยี่ยวแดง นกช้อนหอย นกพริก นกคับแค นกแขวก นกกด นกกระเต็นใหญ่ นกนางแอ่น [๒๐๖๙] นกคุ่ม นกกระทา นกกระทุง นกกระจอก นกกระจาบ นกกระเต็นน้อย นกกางเขน [๒๐๗๐] นกการเวก นกแอ่นลม นกเงือก นกออก สระมุจลินท์เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงนกนานาชนิด กู่ร้องขานขันด้วยเสียงต่างๆ กัน [๒๐๗๑] อนึ่ง ณ ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกมากมายมีขนปีกงามวิจิตร มีเสียงไพเราะเสนาะโสตบันเทิงใจอยู่กับคู่ของตน กู่ร้องประชันเสียงกันและกัน [๒๐๗๒] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกส่งเสียงร้องไพเราะเป็นนิตย์ มีตางามประกอบด้วยเบ้าตาขาว มีฝูงนกที่มีขนปีกงามวิจิตร [๒๐๗๓] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกส่งเสียงร้องไพเราะเป็นนิตย์ มีหงอน มีสร้อยคอเขียว กู่ร้องประชันเสียงกันและกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๐๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา

[๒๐๗๔] มีไก่เถื่อน ไก่ฟ้า นกเปล้า นกนางนวล เหยี่ยวดำ เหยี่ยวนกเขา นกกาน้ำ นกแขกเต้า และนกสาลิกา [๒๐๗๕] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีนกเป็นจำนวนมากเป็นพวกๆ คือ เหลือง แดง ขาว นกหัสดีลิงค์ พญาหงส์ทอง นกกาน้ำ นกแขกเต้า นกเอี้ยง [๒๐๗๖] นกดุเหว่า นกอกขาว หงส์ขาว นกเงือก นกเค้าแมว ห่าน นกยาง นกโพระดก นกต้อยตีวิด [๒๐๗๗] นกพิราบ หงส์แดง นกจักรพาก นกเป็ดน้ำ นกหัสดีลิงค์ ส่งเสียงร้องที่น่ารื่นรมย์ใจ นกเหล่านั้นต่างก็ส่งเสียงร้องกู่ก้องหากันและกันที่เชิงเขา ทั้งเช้าและเย็นอยู่เป็นนิตย์ [๒๐๗๘] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกจำนวนมากที่มีสีต่างๆ กัน บันเทิงใจอยู่กับคู่ของตนกู่ประชันเสียงกันและกัน [๒๐๗๙] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกจำนวนมากที่สีต่างๆ กัน ทั้งหมดต่างก็ขันคูกู่ร้องเสียงไพเราะ อยู่ฟากฝั่งทั้ง ๒ ของสระมุจลินท์ [๒๐๘๐] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกการเวก ต่างก็บันเทิงใจอยู่กับคู่ของตน กู่ประชันเสียงกันและกัน [๒๐๘๑] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ ฝูงนกการเวกทั้งหมดนั้น ต่างก็กู่ร้องเสียงไพเราะอยู่ฟากฝั่งทั้ง ๒ ข้างของสระมุจลินท์ [๒๐๘๒] ป่านั้นเกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อทราย เนื้อฟาน เป็นที่อยู่อาศัยของช้างพลายและช้างพัง ดารดาษไปด้วยเถาวัลย์นานาชนิด เป็นที่อาศัยอยู่ของฝูงชะมด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๐๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร

[๒๐๘๓] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีธัญญชาติเป็นจำนวนมาก คือ ข้าวฟ่าง ลูกเดือยเป็นอันมาก ข้าวสาลีที่ไม่ต้องหุงด้วยฟืนไฟ และอ้อยมิใช่น้อยก็มีอยู่ในป่านั้น [๒๐๘๔] ทางนี้เป็นทางเดินไปได้คนเดียว ตรงไปยังอาศรม คนผู้ไปถึงอาศรมซึ่งเป็นสถานที่ที่พระเจ้าเวสสันดร พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายประทับอยู่นั้น จะไม่ประสบความหิว ความกระหาย และความไม่ยินดี [๒๐๘๕] พระองค์ทรงเพศเป็นนักบวชอันประเสริฐ ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฏา นุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือพื้นดินและบูชาไฟอยู่ [๒๐๘๖] ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์ ครั้นได้ฟังคำแนะนำนี้แล้ว กระทำประทักษิณ มีใจเบิกบาน อำลาท่านฤๅษี แล้วหลีกไปยังสถานที่ที่พระเจ้าเวสสันดรประทับอยู่
พรรณนากัณฑ์มหาพน จบ
กัณฑ์กุมาร
(พระเวสสันดรตรัสว่า) [๒๐๘๗] ลุกขึ้นยืนเถิดนะ พ่อชาลี การมาของพวกยาจกในวันนี้ ปรากฏเหมือนที่พ่อเห็นพราหมณ์มาเมื่อครั้งก่อนๆ ความชื่นชมยินดีทำให้พ่อเกษมศานต์ (พระชาลีกราบทูลว่า) [๒๐๘๘] ข้าแต่พระบิดา แม้หม่อมฉันก็เห็นผู้นั้น ปรากฏเหมือนพราหมณ์ ดูเหมือนคนเดินทาง จักเป็นแขกของพวกเรา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๐๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร

(ชูชกทูลถามว่า) [๒๐๘๙] พระองค์ไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ ทรงสุขสำราญดีหรือ เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกหรือ มูลผลาหารก็มีมากหรือ [๒๐๙๐] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ ในป่าที่มีเนื้อร้ายพลุกพล่าน ไม่มีมาเบียดเบียนหรือ (พระเวสสันดรตรัสว่า) [๒๐๙๑] ท่านพราหมณ์ เราทั้งหลายไม่มีโรคเบียดเบียนเป็นสุขสำราญดี อนึ่ง เราเลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกดี ทั้งมูลผลาหารก็มีมาก [๒๐๙๒] อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่าน ก็ไม่มีมาเบียดเบียนเราเลย [๒๐๙๓] เมื่อเรามาอยู่ในป่ามีชีวิตอันหงอยเหงาตลอด ๗ เดือน เราเพิ่งจะเห็นท่านผู้เป็นพราหมณ์บูชาไฟ ทรงพรตอันประเสริฐ ถือไม้เท้ามีสีดังผลมะตูม และลักจั่นน้ำนี้เป็นคนแรก [๒๐๙๔] ท่านมหาพราหมณ์ ท่านมาดีแล้ว มิได้มาร้าย ท่านผู้เจริญ ขอเชิญเข้าไปข้างใน เชิญล้างเท้าทั้ง ๒ ของท่านเถิด [๒๐๙๕] พราหมณ์ ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง ผลหมากเม่ามีรสหวานปานน้ำผึ้ง เชิญท่านเลือกฉันแต่ผลดีๆ เถิด [๒๐๙๖] มหาพราหมณ์ แม้น้ำดื่มนี้ก็เย็นสนิท เรานำมาจากซอกเขา ถ้าท่านต้องการก็เชิญดื่มเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๐๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร

[๒๐๙๗] อนึ่ง ท่านมาถึงป่าใหญ่ เพราะเหตุไร หรือเพราะปัจจัยอะไร เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกความนั้นแก่เรา (ชูชกกราบทูลว่า) [๒๐๙๘] ห้วงน้ำเต็มเปี่ยมอยู่ตลอดเวลาไม่เหือดแห้งฉันใด พระองค์ก็ฉันนั้น หม่อมฉันมาเพื่อทูลขอ ขอพระองค์ผู้ที่หม่อมฉันทูลขอแล้ว ทรงพระกรุณาพระราชทานพระโอรสทั้งหลายเถิด (พระเวสสันดรตรัสว่า) [๒๐๙๙] ท่านพราหมณ์ เรายอมให้ เรามิได้หวั่นไหว ท่านจงเป็นใหญ่ นำลูกทั้ง ๒ ของเราไปเถิด พระนางมัทรีราชบุตรีไปป่าแต่เช้า จักกลับมาจากการแสวงหาผลไม้ในเวลาเย็น [๒๑๐๐] ท่านพราหมณ์ จงพักค้างคืนสักคืนหนึ่งเถิด พรุ่งนี้เช้าจึงค่อยไป เมื่อกุมารและกุมารีที่พระมารดาของเธอให้อาบน้ำดำเกล้า ประดับระเบียบดอกไม้ไว้แล้ว [๒๑๐๑] พราหมณ์ จงพักค้างคืนสักคืนหนึ่งเถิด พรุ่งนี้เช้าจึงค่อยไป จงพากุมารและกุมารีที่ประดับตกแต่งด้วยกลิ่นหอมชนิดต่างๆ ไป ในหนทางที่ปกคลุมไปด้วยดอกไม้นานาชนิด เกลื่อนกล่นไปด้วยมูลผลาหารนานาประการ (ชูชกกราบทูลว่า) [๒๑๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ ข้าพระองค์ไม่ชอบใจที่จะพักอยู่ ข้าพระองค์ยินดีที่จะไป แม้อันตรายจะพึงมีแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ก็จะไปให้ได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๐๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร

[๒๑๐๓] เพราะว่า ธรรมดาสตรีเหล่านี้เป็นผู้ไม่สมควรแก่การขอ มีปกติกระทำอันตราย หญิงทั้งหลายรู้มนต์๑- ย่อมรับทุกสิ่งโดยข้างซ้าย [๒๑๐๔] เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทานด้วยพระศรัทธา พระองค์อย่าได้เห็นพระมารดาของพระปิโยรสนั้นเลย ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ พระมารดาของพระปิโยรสทั้ง ๒ พระองค์นั้น จะพึงทำอันตรายได้ ข้าพระองค์จะไปให้ได้ [๒๑๐๕] ขอพระองค์ตรัสเรียกพระโอรสเหล่านั้นมาเถิด อย่าให้พระโอรสเหล่านั้นได้พบเห็นพระมารดาเลย เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทานอยู่ด้วยศรัทธา บุญย่อมเจริญยิ่งขึ้นด้วยอาการฉะนี้ [๒๑๐๖] ขอพระองค์ตรัสเรียกพระโอรสเหล่านั้นมาเถิด อย่าให้พระโอรสเหล่านั้นได้พบเห็นพระมารดาเลย ขอเดชะ พระองค์ทรงประทานทรัพย์คือพระโอรสทั้งหลาย แก่ข้าพระองค์แล้วจักเสด็จไปสวรรค์ (พระเวสสันดรตรัสว่า) [๒๑๐๗] ถ้าท่านไม่ปรารถนาจะเห็นภริยาของเราผู้มีวัตรอันงาม ก็จงทูลถวายพระกุมารทั้ง ๒ คือพระชาลีและพระกัณหาชินา แด่พระเจ้ากรุงสญชัยผู้เป็นพระอัยกา [๒๑๐๘] พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระราชกุมารเหล่านี้ ผู้มีพระสุระเสียงไพเราะ ตรัสพระวาจาน่ารัก ทรงปลื้มพระทัยปรีดาปราโมทย์ จักพระราชทานทรัพย์แก่ท่านเป็นอันมาก @เชิงอรรถ : @ มนต์ หมายถึงมารยา (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๑๐๓/๔๑๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร

(ชูชกกราบทูลว่า) [๒๑๐๙] ข้าแต่พระราชบุตร ขอพระองค์โปรดทรงฟังข้าพระองค์ก่อน ข้าพระองค์กลัวการที่จะถูกหาว่าฉกชิงเอาไป พระเจ้ากรุงสญชัยมหาราชจะพึงลงพระราชอาญาข้าพระองค์ คือ จะทรงปรับสินไหมหรือให้ประหารชีวิต ข้าพระองค์จะขาดทั้งทรัพย์และทาส และจะถูกนางพราหมณีผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ติเตียนได้ (พระเวสสันดรตรัสว่า) [๒๑๑๐] พระมหาราชทรงตั้งอยู่ในธรรม ทรงเป็นผู้ผดุงรัฐ ให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้ ผู้มีพระสุระเสียงไพเราะ ตรัสพระวาจาน่ารัก ได้ปีติและโสมนัสแล้วจักพระราชทานทรัพย์แก่ท่านเป็นอันมาก (ชูชกกราบทูลว่า) [๒๑๑๑] ข้าพระองค์จักทำตามสิ่งที่พระองค์ทรงพร่ำสอนคงไม่ได้ จักนำทารกทั้งหลายไปเป็นทาสรับใช้ ของนางพราหมณีเท่านั้น (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๑๑๒] ลำดับนั้น พระกุมารทั้ง ๒ คือ พระชาลีและพระกัณหาชินา ได้สดับคำของชูชกผู้หยาบช้า ตกพระทัยจึงพากันเสด็จวิ่งหนีไปจากที่นั้น (พระเวสสันดรตรัสเรียก ๒ กุมารว่า) [๒๑๑๓] ชาลีลูกรัก มานี่เถิด เจ้าทั้ง ๒ จงช่วยกันบำเพ็ญบารมีของพ่อให้เต็มเถิด จงช่วยกันโสรจสรงหทัยของพ่อให้เยือกเย็นเถิด จงเชื่อฟังคำของพ่อเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๑๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร

[๒๑๑๔] เจ้าทั้ง ๒ จงเป็นดุจยานนาวาของพ่อ อันไม่โยกโคลงในสาครคือภพเถิด พ่อจักข้ามฝั่งคือชาติ จักช่วยสัตวโลกพร้อมด้วยเทวโลกให้ข้ามด้วย [๒๑๑๕] แม่กัณหาลูกรัก มานี่เถิด ทานบารมีเป็นที่รักของพ่อ เจ้าทั้ง ๒ จงช่วยกันโสรจสรงหทัยของพ่อให้เยือกเย็นเถิด จงเชื่อฟังคำของพ่อเถิด [๒๑๑๖] เจ้าทั้ง ๒ จงเป็นดุจยานนาวาของพ่อ อันไม่โยกโคลงในสาครคือภพเถิด พ่อจักข้ามฝั่งคือชาติ จักช่วยสัตวโลกพร้อมด้วยเทวโลกให้ข้ามด้วย (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๑๑๗] ลำดับนั้น พระเวสสันดรผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี ทรงพาพระกุมารทั้ง ๒ คือ พระชาลีและพระกัณหาชินามา ได้พระราชทานให้แก่พราหมณ์แล้ว [๒๑๑๘] ลำดับนั้น พระเวสสันดรทรงพาพระกุมารทั้ง ๒ คือพระชาลีและพระกัณหาชินามา ได้พระราชทานให้แก่พราหมณ์แล้ว ก็ทรงพระทัยชื่นบานในปุตตทานอันอุดม [๒๑๑๙] ครั้งนั้น เมื่อพระเวสสันดรได้พระราชทาน พระกุมารทั้ง ๒ แล้ว ความบันลือลั่น น่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้า ได้เกิดขึ้น แผ่นดินก็สะท้านหวั่นไหว [๒๑๒๐] ครั้งนั้น พระเวสสันดรผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี ทรงประคองอัญชลี พระราชทานพระกุมาร ผู้เจริญด้วยความสุขให้เป็นทานแก่พราหมณ์ ความบันลือลั่นน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้า ได้เกิดขึ้นแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร

[๒๑๒๑] ลำดับนั้น พราหมณ์ผู้หยาบช้ากัดเถาวัลย์ให้ขาดแล้ว เอาเถาวัลย์ผูกพระหัตถ์ของพระกุมารทั้ง ๒ ฉุดกระชากลากไปด้วยเถาวัลย์ [๒๑๒๒] แต่นั้น พราหมณ์นั้นถือเอาเชือกและไม้เท้า ทุบตีพระกุมารทั้ง ๒ นั้นไป ทั้งที่พระเจ้าเวสสันดรพระเจ้ากรุงสีพีทอดพระเนตรเห็นอยู่ [๒๑๒๓] ลำดับนั้น พระกุมารทั้งหลาย พอหลุดจากพราหมณ์ก็รีบวิ่งหนีไป พระชาลีมีพระเนตรทั้ง ๒ นองไปด้วยพระอัสสุชล ชะเง้อมองดูพระบิดา [๒๑๒๔] ทรงถวายบังคมพระยุคลบาทของพระบิดา พระวรกายสั่นระริกเหมือนใบโพธิ์ ครั้นทรงถวายบังคมพระยุคลบาทของพระบิดาแล้ว ก็ได้กราบทูลดังนี้ว่า [๒๑๒๕] ข้าแต่พระบิดา พระมารดากำลังเสด็จออกไปป่า พระองค์ก็จะพระราชทานหม่อมฉันทั้ง ๒ เสียแล้ว ข้าแต่พระบิดา ขอพระองค์โปรดประทานหม่อมฉันทั้ง ๒ เมื่อหม่อมฉันทั้ง ๒ เห็นพระมารดากลับมาก่อน [๒๑๒๖] ข้าแต่พระบิดา พระมารดากำลังเสด็จออกไปป่า พระองค์ก็จะพระราชทานหม่อมฉันทั้ง ๒ เสียแล้ว ขอพระองค์โปรดพระราชทานหม่อมฉันทั้ง ๒ จนกว่าพระมารดาของหม่อมฉันทั้ง ๒ จะได้เสด็จมา เมื่อนั้น พราหมณ์นี้จะขายหรือจะฆ่า ก็จงทำตามความปรารถนาเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร

[๒๑๒๗] พราหมณ์ผู้หยาบช้านี้ประกอบด้วยบุรุษโทษ ๑๘ ประการ๑- คือ ๑. มีเท้าทู่ ๒. มีเล็บกุด ๓. มีปลีน่องหย่อนยาน ๔. มีริมฝีปากบนยาว ๕. มีน้ำลายไหล ๖. มีเขี้ยว ๗. มีจมูกหัก [๒๑๒๘] ๘. มีพุงเหมือนหม้อ ๙. มีหลังค่อม ๑๐. มีตาเหล่ ๑๑. มีหนวดแดง ๑๒. มีผมเหลือง ๑๓. มีหนังย่นตกกระ [๒๑๒๙] ๑๔. มีตาเหลือง ๑๕. มีกายคต ๑๖. มีขาโกง ๑๗. มีขนหยาบยาว ๑๘. นุ่งห่มหนังเสือ เป็นอมนุษย์ที่น่าสะพรึงกลัว [๒๑๓๐] เป็นมนุษย์หรือยักษ์ที่กินเนื้อและเลือด ออกจากบ้านมาสู่ป่า มาทูลขอทรัพย์กับพระองค์ พระเจ้าข้า (กัณหาชาลีกล่าวว่า) [๒๑๓๑] ข้าแต่พระบิดา หม่อมฉันทั้ง ๒ กำลังถูกปีศาจนำไปอยู่ เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงมองเมินอยู่ พระทัยของเสด็จพ่อเห็นจะเหมือนหิน หรือมิฉะนั้น ก็เหมือนแผ่นเหล็กที่ตรึงไว้ @เชิงอรรถ : @ บุรุษโทษ ๑๘ ประการ คือ (๑) มีเท้าทู่ หมายถึงมีเท้าแบนเป็นแผ่น (๒) มีเล็บกุด หมายถึงมีเล็บเน่า @(๓) มีปลีน่องหย่อนยาน หมายถึงเนื้อปลีน่องหย่อนยานลงข้างล่าง (๔) มีริมฝีปากบนยาว หมายถึง @ริมฝีปากด้านบนยาวห้อยปิดริมฝีปากด้านล่าง (๕) มีน้ำลายไหล หมายถึงมีน้ำลายไหล(ตลอดเวลา) @(๖) มีเขี้ยว หมายถึงมีเขี้ยวงอกขึ้นเหมือนเขี้ยวสุกร (๗) มีจมูกหัก หมายถึงมีจมูกทั้งหักทั้งคด (๘-๑๐ @ความชัดแล้ว) (๑๑) มีหนวดแดง หมายถึงมีหนวดสีแดงเหมือนเส้นลวดทองแดง (๑๒) มีผมเหลือง @หมายถึงมีผมงอกขึ้นมาเป็นสีทอง (๑๓) มีหนังย่นตกกระ หมายถึงหนังตามตัวเต็มไปด้วยรอยย่นและ @เกลื่อนกล่นไปด้วยมูลแมลงวัน (๑๔) มีตาเหลือง หมายถึงมีลูกตาเหลือกเหลืองเหมือนตาแมว (๑๕) มี @กายคด หมายถึงมีที่คด ๓ แห่ง คือ สะเอว หลัง และคอ (๑๖) มีขาโกง หมายถึงมีเท้าเฉไปคนละทาง @ข้อต่อกระดูกไม่สนิทกัน (เวลาเดิน)เสียงดังกฏะ กฏะ (๑๗) ความชัดแล้ว (๑๘) เป็นอมนุษย์ หมายถึง @ไม่ใช่มนุษย์ คือ ผู้นั้นเป็นยักษ์จำแลงตัวเป็นมนุษย์เที่ยวไป (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๑๒๗-๒๑๒๙/๔๒๗-๔๒๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร

[๒๑๓๒] พระองค์ไม่ทรงรู้สึกว่า หม่อมฉันทั้ง ๒ ถูกพราหมณ์ผู้หยาบช้าเหลือเกิน ผู้แสวงหาทรัพย์ผูกมัด แกเฆี่ยนตีหม่อมฉันทั้ง ๒ เหมือนนายโคบาลเฆี่ยนตีโค [๒๑๓๓] ขอให้น้องกัณหาอยู่ ณ ที่นี้นี่แหละ เธอยังไม่รู้จักทุกข์ร้อนอะไรๆ เธอจะคร่ำครวญ เหมือนลูกเนื้อที่ยังดื่มนมพลัดจากฝูงไม่เห็นแม่ (พระกุมารคร่ำครวญถึงพระมารดาและพระบิดาว่า) [๒๑๓๔] ข้าพระองค์ไม่เป็นทุกข์ เพราะความทุกข์เช่นนี้คนพึงได้รับเหมือนกัน แต่ทุกข์ที่หม่อมฉันไม่เห็นพระมารดา เป็นทุกข์ที่ยิ่งกว่านี้ของหม่อมฉัน [๒๑๓๕] ข้าพระองค์ไม่เป็นทุกข์ เพราะความทุกข์เช่นนี้คนพึงได้รับเหมือนกัน แต่ทุกข์ที่หม่อมฉันไม่เห็นเสด็จพ่อ เป็นทุกข์ที่ยิ่งกว่านี้ของหม่อมฉัน [๒๑๓๖] พระมารดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่ เมื่อไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกัณหาชินากุมารี ผู้มีดวงเนตรงดงาม ก็จักทรงกันแสงพร่ำหาตลอดกาลนาน [๒๑๓๗] พระบิดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่ เมื่อไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกัณหาชินากุมารี ผู้มีดวงเนตรงดงาม ก็จักทรงกันแสงพร่ำหาตลอดกาลนาน [๒๑๓๘] พระมารดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่ เมื่อไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกัณหาชินากุมารี ผู้มีดวงเนตรงดงาม ก็จักทรงกันแสงพร่ำหา ในอาศรมตลอดกาลนาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร

[๒๑๓๙] พระบิดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่ เมื่อไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกัณหาชินากุมารี ผู้มีดวงเนตรงดงาม ก็จักทรงกันแสงพร่ำหา ในอาศรมตลอดกาลนาน [๒๑๔๐] พระมารดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่ จักทรงกันแสงพร่ำหาตลอดกาลนาน ทรงหวนระลึกถึงเราทั้ง ๒ ตลอดครึ่งคืนหรือทั้งคืนแล้ว จะทรงซูบผอมตายไปเหมือนแม่น้ำน้อยในฤดูแล้งเหือดแห้งไป [๒๑๔๑] พระบิดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่ จักทรงกันแสงพร่ำหาตลอดกาลนาน ทรงหวนระลึกถึงเราทั้ง ๒ ตลอดครึ่งคืนหรือทั้งคืนแล้ว จะทรงซูบผอมตายไปเหมือนแม่น้ำเขินเหือดแห้งไป [๒๑๔๒] รุกขชาติชนิดต่างๆ เหล่านี้ คือ ต้นหว้า ต้นย่านทราย ที่มีกิ่งห้อยย้อย วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งรุกขชาติต่างๆ เหล่านั้นไป [๒๑๔๓] รุกขชาติชนิดที่มีผลชนิดต่างๆ คือ ต้นโพธิ์ใบ ต้นขนุน ต้นไทร และต้นมะขวิด ที่เราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งรุกขชาติเหล่านั้นไป [๒๑๔๔] สวนเหล่านี้ก็ยังตั้งอยู่ นี้แม่น้ำที่เยือกเย็น เราทั้ง ๒ เคยลงเล่นมาก่อน วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งสิ่งทั้ง ๒ นั้นไป [๒๑๔๕] บุปผชาติชนิดต่างๆ บนภูเขาลูกโน้น ที่เราทั้ง ๒ เคยทัดทรงมาก่อน วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งสิ่งเหล่านั้นไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร

[๒๑๔๖] ผลไม้ชนิดต่างๆ บนภูเขาลูกโน้น ที่เราทั้ง ๒ เคยบริโภคมาก่อน วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งผลไม้เหล่านั้นไป [๒๑๔๗] สิ่งของเหล่านี้ คือ ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว ที่พระบิดาทรงปั้นไว้ให้เราทั้ง ๒ เล่น ซึ่งเราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งตุ๊กตาเหล่านั้นไป (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๑๔๘] พระกุมารทั้ง ๒ พระองค์ถูกพราหมณ์ชูชกนำไปอยู่ ได้กราบทูลพระบิดาดังนี้ว่า ข้าแต่พระบิดา ขอให้พระองค์ทรงพระกรุณา ตรัสบอกพระมารดาว่า ลูกทั้ง ๒ ไม่มีโรค และขอพระองค์ทรงพระสำราญเถิด (ชาลีกล่าวว่า) [๒๑๔๙] ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว เหล่านี้เป็นของหม่อมฉันทั้ง ๒ ขอให้พระองค์โปรดประทานตุ๊กตาเหล่านั้นแก่พระมารดา ความเศร้าโศกของพระองค์จักหายไปเพราะตุ๊กตาเหล่านั้น [๒๑๕๐] ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว เหล่านี้เป็นของหม่อมฉันทั้ง ๒ พระมารดาได้ทอดพระเนตรเห็นตุ๊กตาเหล่านั้น ก็จักทรงกำจัดความเศร้าโศกเสียได้ (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๑๕๑] ลำดับนั้น พระเวสสันดรขัตติยราชทรงบำเพ็ญทานแล้ว เสด็จเข้าไปสู่บรรณศาลาทรงกันแสงพิลาปว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร

(พระเวสสันดรทรงคร่ำครวญว่า) [๒๑๕๒] วันนี้ ลูกน้อยทั้ง ๒ จะหิวข้าว กระหายน้ำอย่างไรหนอ จักเดินทางไกล ร้องไห้สะอึกสะอื้น ครั้นในตอนเย็นเวลาบริโภคอาหาร ใครจะให้อาหารแก่ลูกทั้ง ๒ นั้น [๒๑๕๓] วันนี้ ลูกน้อยทั้ง ๒ จะหิวข้าว กระหายน้ำอย่างไรหนอ จักเดินทางไกล ร้องไห้สะอึกสะอื้น ครั้นในตอนเย็นเวลาบริโภคอาหาร ลูกทั้ง ๒ เคยอ้อนมัทรีผู้เป็นมารดาว่า พระเจ้าแม่ ลูกทั้ง ๒ หิวแล้ว ขอเสด็จแม่จงประทานแก่ลูกทั้ง ๒ เถิด [๒๑๕๔] ลูกทั้ง ๒ ไม่ได้สวมรองเท้า จะเดินทางด้วยเท้าเปล่าได้อย่างไร ลูกทั้ง ๒ จะเมื่อยล้ามีบาทาทั้ง ๒ ข้างฟกช้ำ ใครจะจูงมือลูกทั้ง ๒ นั้นเดินทาง [๒๑๕๕] ทำไมหนอ พราหมณ์นั้นช่างร้ายกาจนักไม่ละอาย เฆี่ยนตีลูกๆ ผู้ไม่ประทุษร้ายต่อหน้าเรา [๒๑๕๖] แม้แต่คนที่ตกเป็นทาสีเป็นทาสของเรา หรือคนรับใช้อื่น ใครเล่าที่มีความละอาย จักเฆี่ยนตีคนที่แสนต่ำต้อยแม้นั้นได้ [๒๑๕๗] เมื่อเรายังอยู่ พราหมณ์ช่างด่า ช่างเฆี่ยนลูกรักทั้ง ๒ ของเราผู้มองดูอยู่ เหมือนปลาที่ติดอยู่ที่หน้าไซ [๒๑๕๘] หรือเราจักถือเอาธนู จักเหน็บพระขรรค์ไว้ข้างซ้าย นำเอาลูกทั้ง ๒ ของเรามา เพราะว่าลูกทั้ง ๒ ถูกเฆี่ยนตีเป็นทุกข์ทรมาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร

[๒๑๕๙] การที่กุมารทั้งหลายเดือดร้อน เป็นทุกข์แสนสาหัสนี้ไม่ควรเลย ก็ใครเล่ารู้ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย ให้ทานแล้วย่อมเดือดร้อนใจในภายหลัง (ชาลีกล่าวว่า) [๒๑๖๐] ได้ยินว่า คนบางพวกในโลกนี้ได้พูดความจริงไว้อย่างนี้ว่า บุตรใดไม่มีมารดาของตนเอง บุตรนั้นก็เหมือนไม่มีบิดา [๒๑๖๑] มานี่เถิด น้องกัณหา เราทั้ง ๒ จักตายด้วยกัน จะมีชีวิตอยู่ไปก็เปล่าประโยชน์ พระบิดาผู้ทรงเป็นจอมประชาชนได้ประทานเราทั้ง ๒ แก่ตาพราหมณ์ผู้แสวงหาทรัพย์ ผู้หยาบช้าเหลือเกิน แกเฆี่ยนตีหม่อมฉันทั้ง ๒ เหมือนนายโคบาลเฆี่ยนตีโค [๒๑๖๒] รุกขชาติชนิดต่างๆ เหล่านี้ คือ ต้นหว้า ต้นย่านทรายมีกิ่งห้อยย้อย ที่เราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งรุกขชาติเหล่านั้นไป [๒๑๖๓] รุกขชาติที่มีผลต่างชนิดๆ คือ ต้นโพธิ์ใบ ต้นขนุน ต้นไทร และต้นมะขวิด ที่เราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้ง รุกขชาติเหล่านั้นไป [๒๑๖๔] สวนเหล่านี้ก็ยังตั้งอยู่ นี้แม่น้ำที่เยือกเย็น เราทั้ง ๒ เคยลงเล่นมาก่อน น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งสิ่งทั้ง ๒ นั้นไป [๒๑๖๕] บุปผชาติชนิดต่างๆ บนภูเขาลูกโน้น ที่เราทั้ง ๒ เคยทัดทรงมาก่อน น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งสิ่งเหล่านั้นไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร

[๒๑๖๖] ผลไม้ชนิดต่างๆ บนภูเขาลูกโน้น ที่เราทั้ง ๒ เคยบริโภคมาก่อน น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งผลไม้เหล่านั้นไป [๒๑๖๗] สิ่งของเหล่านี้ คือ ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว ที่พระบิดาทรงปั้นไว้ให้เราทั้ง ๒ เล่น ซึ่งเราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งตุ๊กตาเหล่านั้นไป [๒๑๖๘] พระกุมารทั้ง ๒ เหล่านั้น คือ พระชาลี และพระกัณหาชินาถูกพราหมณ์ชูชกนำไปอยู่ พอพ้นออกจากมือพราหมณ์ ก็พากันวิ่งไปทางนั้นๆ [๒๑๖๙] ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นถือเอาเชือกและไม้เท้า ทุบตีราชกุมารและกุมารีทั้ง ๒ นั้นแล้วนำไป ทั้งที่พระเวสสันดรพระเจ้ากรุงสีพีทอดพระเนตรเห็นอยู่ (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๑๗๐] พระกัณหาชินาได้กราบทูลพระบิดาว่า ข้าแต่พระบิดา พราหมณ์นี้เฆี่ยนตีหม่อมฉันด้วยไม้เท้าเหมือนตีทาสีผู้เกิดในเรือนเบี้ย [๒๑๗๑] ข้าแต่พระบิดา ผู้นี้คงจะมิใช่พราหมณ์เป็นแน่ เพราะพราหมณ์ทั้งหลายเป็นผู้มีธรรม แต่พราหมณ์คงจะเป็นยักษ์แปลงเพศเป็นพราหมณ์ นำลูกทั้ง ๒ ไปเพื่อจะกินเป็นอาหาร พระเจ้าข้า ลูกทั้ง ๒ ถูกพราหมณ์ผู้เป็นปีศาจนำไป ข้าแต่พระบิดา ทำไมหนอ พระองค์จึงเมินเฉยอยู่เล่า (พระกัณหาชินาได้เดินคร่ำครวญไปว่า) [๒๑๗๒] เท้าของเราทั้ง ๒ นี้ยังเล็กนักเป็นทุกข์ ทั้งหนทางก็ไกล เดินไปได้แสนยาก เมื่อพระอาทิตย์คล้อยลงต่ำ พราหมณ์ก็เร่งเราทั้ง ๒ ให้รีบเดิน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๒๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร

[๒๑๗๓] เราทั้ง ๒ ขอโอดครวญกราบไหว้เทพเจ้าทั้งหลาย ผู้สิงสถิตอยู่ ณ ภูเขา ลำเนาไพร สระน้ำ และบ่อน้ำ ที่มีท่าสวยงาม ด้วยเศียรเกล้า [๒๑๗๔] ขอเทพเจ้าทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่ ณ ป่าหญ้า ลดาวัลย์ ต้นไม้ที่เป็นโอสถ บนภูเขา และป่าไม้ ขอให้ช่วยกราบทูลพระมารดาว่า เราทั้ง ๒ นี้ไม่มีโรค พราหมณ์นี้นำเราทั้ง ๒ ไป [๒๑๗๕] อนึ่ง เทพเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย ขอให้ท่านทั้งหลาย จงช่วยกราบทูลพระแม่เจ้ามัทรีผู้เป็นพระมารดาของเราทั้ง ๒ ว่า ถ้าพระแม่เจ้าปรารถนาจะเสด็จติดตามมา ก็ให้รีบเสด็จติดตามมาโดยเร็ว [๒๑๗๖] ทางนี้เป็นทางเดินไปได้คนเดียว ตรงไปยังอาศรม พระมารดาพึงเสด็จติดตามมาทางนั้นเท่านั้น ก็จะทันได้เห็นเราทั้ง ๒ อย่างเร็วไว [๒๑๗๗] โอหนอ พระเจ้าแม่ผู้ทรงเพศเป็นตาปสินี ทรงนำมูลผลาหารมาจากป่า ได้เห็นอาศรมอันว่างเปล่า พระองค์จักเป็นทุกข์ [๒๑๗๘] พระมารดาเสด็จเที่ยวไปแสวงหามูลผลาหารจนล่วงเวลา คงได้มามิใช่น้อย คงไม่ทราบว่า เราทั้ง ๒ ถูกพราหมณ์ผู้แสวงหาทรัพย์ผูกมัดพาไป [๒๑๗๙] ถูกพราหมณ์ผู้หยาบช้าเหลือเกิน ผู้แสวงหาทรัพย์ผูกมัด แกเฆี่ยนตีหม่อมฉันทั้ง ๒ เหมือนนายโคบาลเฆี่ยนตีโค เออก็วันนี้ เราทั้ง ๒ จะได้เห็นพระมารดา เสด็จมาจากการแสวงหามูลผลาหารในเวลาเย็น [๒๑๘๐] พระมารดาพึงประทานผลไม้ที่เจือด้วยน้ำผึ้งแก่พราหมณ์ ครั้งนั้น พราหมณ์นี้หิวกระหาย จะไม่พึงเร่งให้เราทั้ง ๒ เดิน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี

[๒๑๘๑] เท้าทั้ง ๒ ของเราบวมหนอ พราหมณ์ก็เร่งให้เราทั้ง ๒ รีบเดิน พระกุมารทั้งหลายทรงรักใคร่ในพระมารดา ทรงกันแสงพิลาปอยู่ ณ ที่นั้นด้วยประการฉะนี้
กัณฑ์กุมาร จบ
กัณฑ์มัทรี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๑๘๒] เทวดาเหล่านั้นได้ฟังพระกุมารทั้ง ๒ นั้น ทรงพิลาปรำพันแล้ว จึงได้กล่าวกับเทพบุตรทั้ง ๓ ดังนี้ว่า “ท่านทั้ง ๓ จงแปลงเพศเป็นสัตว์ร้ายในป่า คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลือง [๒๑๘๓] อย่าให้พระนางมัทรีราชบุตรีเสด็จกลับมาจากการแสวงหา มูลผลาหารในตอนเย็น และอย่าให้สัตว์ร้ายในป่า อันเป็นแคว้นของเราทั้งหลายรบกวนพระนางมัทรีราชบุตรีได้ [๒๑๘๔] ถ้าราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลือง พึงรบกวนพระนางผู้ทรงสิริโฉม พระชาลีกุมารก็จะมีพระชนม์อยู่ไม่ได้เลย แล้วพระกัณหาชินาจะมีพระชนม์อยู่ได้แต่ที่ไหน พระนางผู้ทรงลักษณะอันสง่างาม จะพึงสูญเสียทั้งพระภัสดาและพระลูกรักทั้ง ๒ ไปเท่านั้น” (พระนางมัทรีใคร่ครวญว่า) [๒๑๘๕] “เสียมของเราก็หล่นลง ตาข้างขวาก็เขม่นอยู่ริกๆ ต้นไม้ทั้งหลายที่เคยมีผลก็กลับไม่มีผล และทุกๆ ทิศก็มืดมน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๒๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี

[๒๑๘๖] เมื่อพระนางเสด็จกลับบ่ายพระพักตร์มาสู่อาศรม ในเวลาที่พระอาทิตย์อัสดงคต เหล่าสัตว์ร้ายก็มายืนขวางทาง (พระนางมัทรีรำพึงว่า) [๒๑๘๗] เมื่อพระอาทิตย์คล้อยต่ำลง และอาศรมก็ยังอยู่ไกลนัก พระเจ้าพี่เวสสันดรและพระลูกรักทั้ง ๒ นั้น ก็คอยบริโภคมูลผลาหารที่เราจักนำไปจากป่านี้ [๒๑๘๘] พระจอมกษัตริย์นั้นประทับอยู่ในบรรณศาลาพระองค์เดียว คงจะทรงปลอบประโลมให้ลูกน้อยทั้ง ๒ ผู้หิวกระหาย คอยทอดพระเนตรดูเราผู้ยังมาไม่ถึงให้ยินดีเป็นแน่แท้ [๒๑๘๙] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร ในเวลาเย็นเป็นเวลากินเวลาดื่มก็จักคอย เหมือนลูกเนื้อที่กำลังดื่มนมเป็นแน่แท้ [๒๑๙๐] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร ในเวลาเย็นเป็นเวลากินเวลาดื่มก็จักคอย เหมือนลูกเนื้อที่กำลังกระหายน้ำเป็นแน่แท้ [๒๑๙๑] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร คงจะยืนคอยต้อนรับเรา เหมือนลูกโคอ่อนคอยชะเง้อหาแม่เป็นแน่แท้ [๒๑๙๒] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร คงจะยืนคอยต้อนรับเรา เหมือนลูกหงส์ที่ตกอยู่ในเปือกตมเป็นแน่แท้ [๒๑๙๓] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร คงจะยืนคอยต้อนรับเราอยู่ไม่ไกลจากอาศรม [๒๑๙๔] หนทางที่จะไปก็มีอยู่ทางเดียว และเป็นทางที่เดินไปได้คนเดียว โดยข้างหนึ่งเป็นสระน้ำ อีกข้างหนึ่งเป็นบึง เรายังไม่เห็นทางอื่นที่จะไปสู่อาศรมได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี

[๒๑๙๕] ข้าแต่พญาเนื้อทั้งหลายผู้มีกำลังมากในป่าใหญ่ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายกับข้าพเจ้าก็เป็นพี่น้องกันโดยธรรม ข้าพเจ้าขออ้อนวอน ขอท่านทั้งหลายจงให้ทางแก่ข้าพเจ้าเถิด [๒๑๙๖] ข้าพเจ้าเป็นภรรยาของพระราชบุตรผู้มีสิริ ผู้ถูกขับไล่จากกรุงสีพี และข้าพเจ้ามิได้ดูหมิ่นพระสวามีพระองค์นั้นเลย เหมือนดังนางสีดาคอยประพฤติตามพระราม [๒๑๙๗] ขอท่านทั้งหลายจงหลีกทางให้ดิฉัน แล้วกลับไปเยี่ยมลูกน้อยของท่าน ในเวลาออกหาอาหารในตอนเย็น ส่วนดิฉันก็จะกลับไปเยี่ยมลูกน้อยทั้ง ๒ คือ พระชาลีและพระกัณหาชินา [๒๑๙๘] อนึ่ง มูลผลาหารนี้ก็มีอยู่มาก และภักษาก็มีอยู่ไม่น้อย ดิฉันขอแบ่งให้พวกท่านกึ่งหนึ่ง ดิฉันอ้อนวอนแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงให้ทางแก่ดิฉันเถิด [๒๑๙๙] พระมารดาของเราทั้งหลายเป็นราชบุตรี และพระบิดาของเราทั้งหลายก็เป็นพระราชบุตร ท่านทั้งหลายกับดิฉันเป็นพี่น้องกันโดยธรรม ดิฉันอ้อนวอนแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงให้ทางแก่ดิฉันเถิด [๒๒๐๐] พญาเนื้อร้ายทั้งหลายได้ฟังวาจาอันไพเราะ ซึ่งประกอบด้วยความการุณย์เป็นอย่างมาก ของพระนางผู้ทรงพิลาปรำพันอยู่ จึงได้พากันหลีกออกจากทางไป [๒๒๐๑] ลูกน้อยทั้งหลายคงขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น คงจะยืนคอยต้อนรับเรา เหมือนลูกโคอ่อนยืนคอยชะเง้อหาแม่เป็นแน่แท้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี

[๒๒๐๒] ลูกน้อยทั้งหลายคงขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น คงจะยืนคอยต้อนรับเราอยู่ตรงนี้ เหมือนลูกหงส์ที่ตกอยู่ในเปือกตมเป็นแน่แท้ [๒๒๐๓] ลูกน้อยทั้งหลายคงขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น คงจะยืนคอยต้อนรับเราอยู่ตรงนี้ ไม่ห่างไกลจากอาศรม [๒๒๐๔] ลูกน้อยเหล่านั้นเคยร่าเริงวิ่งมาต้อนรับเรา เหมือนจะทำให้หทัยของเราหวั่นไหว เหมือนลูกเนื้อเห็นแม่แล้วหูชันร่าเริงวิ่งไปวิ่งมารอบแม่ วันนี้ เรามิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย [๒๒๐๕] เราละลูกน้อยทั้งหลายไว้ออกไปหาผลไม้ เหมือนแม่แพะและแม่เนื้อละลูกน้อย ไปหากิน เหมือนปักษีละลูกน้อยไปจากรัง หรือเหมือนแม่ราชสีห์ ผู้ต้องการอาหารละลูกน้อยไว้ออกไปหากิน วันนี้ เราไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย [๒๒๐๖] นี้รอยเท้าวิ่งเล่นไปมาของลูกน้อยทั้ง ๒ ยังปรากฏอยู่เหมือนรอยเท้าช้างที่เชิงเขา นี้กองทรายที่ลูกน้อยทั้ง ๒ ขนมาเล่น ยังกระจัดกระจายอยู่ ณ ที่ใกล้อาศรม วันนี้ เราไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย [๒๒๐๗] ลูกน้อยทั้งหลายเคยเกลื่อนกล่นไปด้วยทราย และขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น วิ่งเข้ามาล้อมเราอยู่รอบๆ เรามิได้เห็นทารกเหล่านั้น [๒๒๐๘] เมื่อก่อนลูกน้อยทั้งหลายเคยต้อนรับเราผู้กลับมา จากป่าแต่ที่ไกล วันนี้ เราไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี

[๒๒๐๙] ลูกน้อยทั้งหลายเคยไปคอยต้อนรับแม่ คอยมองดูเราแต่ที่ไกล เหมือนลูกแพะหรือลูกเนื้อคอยชะเง้อหาแม่ เรามิได้เห็นทารกเหล่านั้นเลย [๒๒๑๐] ผลมะตูมสีเหลืองที่ตกอยู่นี้ เป็นของเล่นของลูกน้อยทั้ง ๒ นั้น วันนี้ เรามิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย [๒๒๑๑] ถันทั้ง ๒ ของเรานี้ยังเต็มไปด้วยน้ำนม และอกของเราเหมือนจะแตกดับ วันนี้ เรามิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ พ่อชาลีและแม่ กัณหาชินานั้นเลย [๒๒๑๒] ใครเล่าจะค้นชายพก ใครเล่าจะเหนี่ยวถันทั้ง ๒ ของเรา วันนี้ เราไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย [๒๒๑๓] เวลาเย็น ลูกน้อยทั้ง ๒ ขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น เคยวิ่งเข้ามาเกาะที่ชายพกของเรา วันนี้ เรามิได้เห็นทารกเหล่านั้นเลย [๒๒๑๔] เมื่อก่อน อาศรมนี้ปรากฏแก่เราเหมือนโรงมหรสพ วันนี้ เมื่อเราไม่เห็นลูกน้อยเหล่านั้น อาศรมปรากฏเหมือนดังจะหมุนไป [๒๒๑๕] นี่อย่างไร อาศรมจึงปรากฏกับเราดูเงียบสงัดจริงหนอ แม้ฝูงกาป่าก็มิได้ส่งเสียงร้อง ทารกทั้งหลายของเราคงจะตายแน่ [๒๒๑๖] นี่อย่างไร อาศรมจึงปรากฏกแก่เราดูเงียบสงัดจริงหนอ แม้ฝูงนกก็มิได้ส่งเสียงร้อง ทารกทั้งหลายของเราคงจะตายแน่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี

[๒๒๑๗] นี่อย่างไร พระองค์จึงทรงนิ่งเฉยอยู่ แม้เมื่อคืนใจหม่อมฉันก็เหมือนฝันไป แม้ฝูงกาป่าก็มิได้ส่งเสียงร้อง ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงจะตายแน่ [๒๒๑๘] นี่อย่างไร พระองค์จึงทรงนิ่งเฉยอยู่ แม้เมื่อคืนใจหม่อมฉันก็เหมือนฝันไป แม้ฝูงนกก็มิได้ส่งเสียงร้อง ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงจะตายแน่ [๒๒๑๙] ข้าแต่พระลูกเจ้า เหล่าเนื้อร้ายในป่าอันเงียบสงัด ได้กินทารกทั้งหลายของหม่อมฉันแล้วหรือกระไรหนอ หรือว่าใครนำทารกทั้งหลายของหม่อมฉันไป [๒๒๒๐] ทารกเหล่านั้นผู้กำลังพูดจาน่ารัก พระองค์ทรงส่งไปเป็นทูต หรือว่ายังหลับอยู่ หรือทารกเหล่านั้นของเราออกไปเล่นภายนอก [๒๒๒๑] เส้นผม ลายมือ ลายเท้าของทารกเหล่านั้นมิได้ปรากฏเลย หรือนกทั้งหลายมาโฉบเฉี่ยวเอาไป หรือว่าใครนำทารกทั้งหลายของหม่อมฉันไป [๒๒๒๒] การที่หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาในวันนี้นั้น เป็นทุกข์ยิ่งกว่าการถูกขับไล่จากแคว้น เปรียบเหมือนแผลที่ถูกลูกศรแทง [๒๒๒๓] การที่หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ และฝ่าพระบาทมิได้ตรัสกับหม่อมฉันนี้ เป็นดุจลูกศรเสียบแทงหทัยของหม่อมฉันซ้ำสอง หทัยของหม่อมฉันย่อมหวั่นไหว [๒๒๒๔] ข้าแต่พระราชบุตร ถ้าคืนวันนี้พระองค์มิได้ตรัสกับหม่อมฉัน พรุ่งนี้เช้าพระองค์น่าจะได้ทอดพระเนตรหม่อมฉัน ผู้ปราศจากชีวิตตายไปแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๒๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี

(พระเวสสันดรตรัสว่า) [๒๒๒๕] แม่มัทรีราชบุตรีผู้มีรูปโฉมงดงาม ผู้มียศ มัวไปแสวงหามูลผลาหารแต่เช้า ทำไมจึงกลับมาจนเย็น (พระนางมัทรีกราบทูลว่า) [๒๒๒๖] พระองค์ได้ทรงสดับแล้วมิใช่หรือ ซึ่งเสียงบันลือลั่นของราชสีห์และเสือโคร่ง ต่างก็มุ่งมาสู่สระนี้เพื่อจะดื่มน้ำ [๒๒๒๗] บุพพนิมิตได้เกิดมีแก่หม่อมฉันผู้กำลังเที่ยวอยู่ในป่าใหญ่ คือ เสียมพลัดตกจากมือของหม่อมฉัน และกระเช้าที่หาบอยู่ก็พลัดตกจากบ่า [๒๒๒๘] เวลานั้น หม่อมฉันหวาดกลัวเป็นกำลัง จึงได้ทำอัญชลี นอบน้อมไปทั่วทุกทิศ ขอความสวัสดีพึงมีแต่ที่นี้ด้วย [๒๒๒๙] ขอพระราชบุตรของเราอย่าได้ถูกราชสีห์ หรือเสือเหลืองเบียดเบียนเลย หรือขอให้ทารกทั้งหลายอย่าได้ถูกหมี สุนัขป่า หรือเสือดาวรังควานเลย [๒๒๓๐] สัตว์ร้ายทั้ง ๓ ในป่า คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลืองได้มายืนขวางทางหม่อมฉัน เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงกลับมาถึงในเวลาเย็น (พระนางมัทรีทรงคร่ำครวญว่า) [๒๒๓๑] เราเป็นผู้ไม่ประมาท หมั่นปฏิบัติพระสวามี บำรุงเลี้ยงดูลูกน้อยทั้งหลายทุกวัน เหมือนมาณพปฏิบัติอาจารย์ เราเกล้าผมประพฤติพรหมจรรย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๒๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี

[๒๒๓๒] นุ่งห่มหนังเสือ เที่ยวไปแสวงหามูลผลาหาร ในป่ามาทุกวันคืนเพราะความรักเธอทั้งหลาย นะลูกน้อย [๒๒๓๓] ขมิ้นเหลือง ผลมะตูมสุกแม่หามาแล้ว และแม่ก็ได้นำผลไม้สุกมา นี้เป็นของเล่นของลูกรักทั้ง ๒ นะลูก [๒๒๓๔] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมกษัตริย์ เหง้าบัวพร้อมทั้งฝัก หน่ออุบล และกระจับ ที่คลุกน้ำผึ้ง ขอเชิญพระองค์ทรงเสวยพร้อมพระโอรสทั้งหลายเถิด [๒๒๓๕] ขอพระองค์โปรดประทานดอกปทุมให้พ่อชาลี ประทานดอกโกมุทให้กุมารี พระองค์จะได้ทอดพระเนตรพระกุมารทั้งหลาย ผู้ทรงประดับดอกไม้ฟ้อนรำอยู่ ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ขอพระองค์โปรดตรัสเรียก พระโอรสทั้งหลายมาเถิด [๒๒๓๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ต่อจากนั้น ขอพระองค์ทรงสดับพระสุรเสียงอันไพเราะอ่อนหวาน ของแม่กัณหาชินาผู้ซึ่งกำลังเข้าสู่อาศรมเถิด [๒๒๓๗] เราทั้ง ๒ ถูกเนรเทศจากแคว้น เป็นผู้มีสุขและทุกข์เสมอกัน ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ถึงพระองค์ก็โปรดทอดพระเนตรลูกน้อยทั้ง ๒ คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาเถิด [๒๒๓๘] หม่อมฉันคงได้สาปแช่งสมณะและพราหมณ์ ผู้มีพรหมจรรย์เป็นเบื้องหน้า มีศีล เป็นพหูสูตในโลกเป็นแน่ วันนี้ หม่อมฉันจึงไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา [๒๒๓๙] รุกขชาติชนิดต่างๆ เหล่านี้ คือ ต้นหว้า ต้นย่านทรายมีกิ่งห้อยย้อย ที่พระกุมารทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน วันนี้ กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๒๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี

[๒๒๔๐] รุกขชาติที่มีผลชนิดต่างๆ คือ ต้นโพธิ์ใบ ต้นขนุน ต้นไทร และต้นมะขวิด เหล่านี้ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาวิ่งเล่น วันนี้ กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น [๒๒๔๑] สวนเหล่านี้ก็ยังตั้งอยู่ นี้แม่น้ำที่เยือกเย็น ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาเล่น กุมารทั้ง ๒ ไม่ปรากฏให้เห็น [๒๒๔๒] บุปผชาติชนิดต่างๆ มีอยู่บนภูเขาลูกนี้ ที่กุมารทั้ง ๒ เคยทัดทรง กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น [๒๒๔๓] ผลไม้ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่บนภูเขาลูกนี้ ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาเสวย กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น [๒๒๔๔] ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว เหล่านี้ที่กุมารเหล่านั้นเคยเล่น กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น [๒๒๔๕] ตุ๊กตาเนื้อทรายทองเล็กๆ ตุ๊กตากระต่าย ตุ๊กตานกเค้า ตุ๊กตาชะมดเหล่านี้เป็นอันมากที่กุมารทั้ง ๒ เคยเล่น กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น [๒๒๔๖] ตุ๊กตาหงส์ ตุ๊กตานกกระเรียน ตุ๊กตานกยูงที่มีแววหางงามวิจิตร เหล่านี้ที่กุมารทั้ง ๒ เคยเล่น กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น [๒๒๔๗] พุ่มไม้มีดอกบานสะพรั่งทุกฤดูกาลเหล่านี้ ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาเล่น กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๓๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี

[๒๒๔๘] สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์เหล่านี้ มีนกจักรพากส่งเสียงกู่ขัน ดารดาษไปด้วยดอกมณฑาลก ปทุม และอุบล ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาเล่น กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น [๒๒๔๙] พระองค์มิได้หักฟืน มิได้ตักน้ำ มิได้ติดไฟ เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงหงอยเหงาซบเซาอยู่ [๒๒๕๐] เพราะคนรักกับคนรักยังรวมกันอยู่ ความทุกข์ร้อนของหม่อมฉันย่อมหายไป วันนี้ หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา [๒๒๕๑] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของฉัน ไม่ทราบว่า ผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป แม้แต่ฝูงกาป่าก็มิได้ส่งเสียงร้อง ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงตายแล้วเป็นแน่ [๒๒๕๒] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของเรา ไม่ทราบว่า ผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป แม้ฝูงนกก็มิได้ส่งเสียงร้อง ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงตายแล้วเป็นแน่ [๒๒๕๓] พระนางมัทรีทรงปริเวทนา พลางเที่ยวไปวิ่งหาตามซอกเขาและป่าชัฏ ในท้องเขาวงกตนั้นแล้วเสด็จมายังอาศรมอีก ทรงกันแสงอยู่ในสำนักพระราชสวามี ทูลคร่ำครวญว่า [๒๒๕๔] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของเรา และไม่ทราบว่า ผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป แม้แต่ฝูงกาป่าก็มิได้ส่งเสียงร้อง ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงตายแล้วเป็นแน่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๓๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี

[๒๒๕๕] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของเรา และไม่ทราบว่า ผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป แม้แต่ฝูงนกก็ไม่ส่งเสียงร้อง ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงตายแล้วเป็นแน่ [๒๒๕๖] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของเรา และไม่ทราบว่าผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป ทั้งที่เที่ยวไปหาที่โคนไม้ ภูเขา และถ้ำ [๒๒๕๗] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้ทรงพระรูปโฉมงดงาม ผู้มีพระยศ ประคองพระพาหาคร่ำครวญล้มลง ณ พื้นดิน แทบพระยุคลบาทของพระเวสสันดรนั้นนั่นเองด้วยประการฉะนี้ (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๒๕๘] พระเวสสันดรราชฤๅษีทรงวักน้ำประพรม พระนางมัทรีราชบุตรีผู้เสด็จมาเฝ้าพระองค์ (ทรงวิสัญญีล้มลงแทบพระยุคลบาทของพระองค์) ทรงทราบว่า พระนางทรงฟื้นพระองค์ดีแล้ว จึงได้ตรัสพระดำรัสนี้กับพระนางว่า [๒๒๕๙] มัทรี เราไม่อยากจะบอกความทุกข์แก่เธอแต่แรกก่อน พราหมณ์แก่ยาจกผู้ตกยากมาสู่อาศรม [๒๒๖๐] เราได้ให้ลูกน้อยทั้ง ๒ แก่พราหมณ์นั้นไป มัทรี เธออย่าได้กลัวเลย เธอจงดีใจเถิด มัทรี เธออย่าเห็นลูกน้อยทั้ง ๒ เลย อย่าได้ร้องไห้ไปนักเลย เมื่อเรายังชีวิตอยู่ ไม่มีโรคภัย ก็จักได้พบลูกน้อยทั้ง ๒ แน่ [๒๒๖๑] สัตบุรุษเห็นยาจกมาหาแล้วพึงให้บุตร ปศุสัตว์ ธัญชาติ และทรัพย์อื่นใดในเรือน มัทรี ขอเธอจงอนุโมทนาปุตตทานอันสูงสุดของเราเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๓๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี

(พระนางมัทรีกราบทูลว่า) [๒๒๖๒] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันขออนุโมทนา ปุตตทานอันสูงส่งของพระองค์ ขอพระองค์พระราชทานปุตตทานอันสูงส่งแล้ว ทรงทำพระทัยให้ผ่องใสเถิด ขอพระองค์จงทรงบำเพ็ญทานให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด [๒๒๖๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชน ในหมู่มนุษย์ผู้เป็นคนตระหนี่ พระองค์ผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี ได้ทรงบำเพ็ญทานแก่พราหมณ์แล้ว [๒๒๖๔] แผ่นดินก็บันลือลั่นแก่พระองค์ กิตติศัพท์ของพระองค์บันลือไปถึงสวรรค์ชั้นไตรทิพย์ สายฟ้าก็แลบแปลบปลาบอยู่โดยรอบ ดังสะท้านปานประหนึ่งว่าภูเขาจะถล่มทลาย [๒๒๖๕] เทพเจ้าทั้ง ๒ หมู่ผู้สิงสถิตอยู่ ณ ภูเขานารทะ ต่างถวายอนุโมทนาแด่พระเวสสันดรนั้นว่า พระอินทร์ พระพรหม ท้าวประชาบดี พระโสม ยมยักษ์ ท้าวเวสสุวรรณมหาราช และเทพเจ้าเหล่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พร้อมทั้งพระอินทร์ทุกถ้วนหน้า ต่างก็ถวายอนุโมทนา [๒๒๖๖] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้ทรงรูปโฉมงดงาม ผู้มีพระยศ ก็ทรงอนุโมทนาปุตตทาน อันสูงสุดของพระเวสสันดรแล้วด้วยประการฉะนี้แล
กัณฑ์มัทรี จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๓๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ

กัณฑ์สักกบรรพ
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๒๖๗] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว ท้าวสักกเทวราชทรงแปลงเพศเป็นพราหมณ์ ได้ปรากฏแก่กษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์นั้นแต่เช้าตรู่ (พราหมณ์ทูลถามว่า) [๒๒๖๘] พระคุณเจ้าไม่มีโรคาพาธเบียดเบียนหรือหนอ ทรงพระสำราญดีหรือ พระคุณเจ้าเลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกหรือ มูลผลาหารมีมากหรือ [๒๒๖๙] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่านไม่มีมาเบียดเบียนหรือ (พระเวสสันดรตอบว่า) [๒๒๗๐] ท่านพราหมณ์ เราไม่มีโรคมาเบียดเบียน เป็นสุขสำราญดี อนึ่ง เราเลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหาร และมูลผลาหารก็มีอยู่มาก [๒๒๗๑] อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่าน ก็ไม่มีมาเบียดเบียนเราเลย [๒๒๗๒] เมื่อพวกเรามีชีวิตเศร้าโศกอยู่ในป่ามาตลอด ๗ เดือน เราย่อมเห็นท่านผู้เป็นพราหมณ์ ผู้ทรงเพศอันประเสริฐ บูชาไฟ ถือไม้เท้าสีดังผลมะตูมสุก และลักจั่นน้ำนี้เป็นคนที่ ๒ [๒๒๗๓] มหาพราหมณ์ ท่านมาดีแล้ว มิได้มาร้าย ท่านผู้เจริญ ขอเชิญเข้าไปภายใน เชิญล้างเท้าของท่านเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๓๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ

[๒๒๗๔] พราหมณ์ ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง ผลหมากเม่าที่มีรสหวานปานน้ำผึ้ง เชิญท่านเลือกบริโภคแต่ผลที่ดีๆ เถิด [๒๒๗๕] มหาพราหมณ์ แม้น้ำดื่มนี้ก็เย็นสนิทเรานำมาจากซอกเขา ถ้าท่านต้องการก็เชิญดื่มเถิด [๒๒๗๖] อนึ่ง ท่านมาถึงป่าใหญ่ เพราะเหตุไร หรือเพราะปัจจัยอะไร เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกความนั้นแก่เรา (พราหมณ์กราบทูลว่า) [๒๒๗๗] ห้วงน้ำยังเต็มเปี่ยมตลอดเวลาไม่เหือดแห้งฉันใด พระองค์ทรงมีพระทัยเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาฉันนั้น ข้าพระองค์ทูลขอแล้ว ขอพระองค์ทรงพระกรุณา พระราชทานพระชายาแก่ข้าพระองค์เถิด (พระเวสสันดรตรัสว่า) [๒๒๗๘] ท่านพราหมณ์ ท่านขอสิ่งใด เราจะให้สิ่งนั้น เรามิได้หวั่นไหวเลย เราไม่ซ่อนสิ่งของที่มีอยู่ ใจของเรายินดีในทาน (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๒๗๙] พระเวสสันดรผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี ทรงกุมพระหัตถ์ของพระนางมัทรี ทรงจับเต้าน้ำ หลั่งน้ำพระราชทานพระนางมัทรีให้เป็นทานแก่พราหมณ์ [๒๒๘๐] ขณะนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์ ทรงบริจาคพระนางมัทรีให้เป็นทาน ความน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าได้เกิดขึ้น แผ่นดินก็หวั่นไหว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ

[๒๒๘๑] พระนางมัทรีมิได้มีพระพักตร์เง้างอ มิได้ทรงเก้อเขิน และมิได้ทรงกันแสง ทรงเพ่งดูพระสวามีโดยดุษณีภาพ โดยคิดว่า ท้าวเธอย่อมทรงทราบสิ่งที่ประเสริฐ (พระศาสดาตรัสพระดำรัสนี้ว่า) เมื่อตถาคตเป็นพระเวสสันดร บริจาคพ่อชาลีและแม่กัณหาชินาซึ่งเป็นธิดา และพระมัทรีเทวีผู้มีวัตรอันดี ผู้ยำเกรงในพระสวามี มิได้คิดเสียดายเลย เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น บุตรทั้ง ๒ เป็นที่เกลียดชังของเราก็หามิได้ พระนางมัทรีเทวีจะไม่เป็นที่รักของเราก็หามิได้ แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา ฉะนั้น เราจึงได้ให้ของซึ่งเป็นที่รัก (ต่อมา พระนางมัทรีกราบทูลว่า) [๒๒๘๒] หม่อมฉันเป็นพระชายาของพระองค์ตั้งแต่ยังเป็นสาวรุ่น พระองค์ทรงเป็นพระสวามีผู้เป็นใหญ่ของหม่อมฉัน พระองค์ทรงปรารถนาจะพระราชทานหม่อมฉันแก่ผู้ใด ก็ทรงพระราชทานแก่ผู้นั้นเถิด หรือทรงปรารถนาจะขายหรือจะฆ่า ก็ทรงขายหรือทรงฆ่าเถิด (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๒๘๓] ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระดำริของกษัตริย์ทั้ง ๒ นั้น จึงได้ตรัสดังนี้ว่า ข้าศึกทั้งมวล๑- ทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นของมนุษย์ พระองค์ทรงชนะแล้ว @เชิงอรรถ : @ ข้าศึกทั้งมวล หมายถึงผู้รับทานที่มีทิพยสมบัติและผู้รับทานที่มีมนุษยสมบัติ ท่านเหล่านั้นยังมีความ @ตระหนี่อยู่ พระเวสสันดรชนะคนเหล่านี้ได้ด้วยการให้บุตรและภรรยาเป็นทาน (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๒๘๓/๔๖๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ

[๒๒๘๔] แผ่นดินก็บันลือลั่นแก่พระองค์ กิตติศัพท์ของพระองค์บันลือไปถึงสวรรค์ชั้นไตรทิพย์ สายฟ้าก็แลบแปลบปลาบอยู่โดยรอบ ดังสะท้านปานประหนึ่งว่าภูเขาถล่มทลาย [๒๒๘๕] เทพเจ้าทั้ง ๒ หมู่ผู้สิงสถิตอยู่ ณ ภูเขานารทะ ต่างถวายอนุโมทนาแด่พระเวสสันดรนั้นว่า พระอินทร์ พระพรหม ท้าวประชาบดี พระโสม ยมยักษ์ ท้าวเวสสุวรรณมหาราชและทวยเทพทั้งมวล ต่างก็ถวายอนุโมทนาว่า พระองค์ทรงกระทำสิ่งที่ทำได้ยากแท้ [๒๒๘๖] สัตบุรุษทั้งหลายเมื่อจะให้ทานชื่อว่าให้ได้ยาก๑- เมื่อจะทำกรรมก็ชื่อว่าทำได้ยาก ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายพวกอสัตบุรุษรู้ได้ยาก [๒๒๘๗] เพราะฉะนั้น สัตบุรุษและอสัตบุรุษ จึงมีคติที่ไปจากโลกนี้ต่างกัน คือ พวกอสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก พวกสัตบุรุษย่อมไปสู่สวรรค์ [๒๒๘๘] การที่พระองค์เสด็จมาประทับอยู่ในป่า ได้พระราชทานพระกุมารทั้งหลายและพระชายาให้เป็นทานนี้ ชื่อว่าเป็นยานอันประเสริฐ ไม่เป็นยานที่พาก้าวลงสู่อบายภูมิ ขอมหาทานของพระองค์จงเผล็ดผลในสวรรค์เถิด (ท้าวสักกะตรัสว่า) [๒๒๘๙] ข้าพเจ้าขอถวายพระนางมัทรีพระชายา ผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กายคืนแก่พระคุณเจ้า พระองค์เท่านั้นทรงเป็นผู้คู่ควรกับพระนางมัทรี และพระนางมัทรีก็เป็นผู้คู่ควรแก่พระสวามี [๒๒๙๐] น้ำนมและสังข์ทั้ง ๒ มีสีเหมือนกันฉันใด พระองค์และพระนางมัทรีก็ทรงมีพระทัยเสมอเหมือนกันฉันนั้น @เชิงอรรถ : @ ดู ขุ.ชา. แปล ๒๗/๕๙-๖๐/๗๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ

[๒๒๙๑] ทั้ง ๒ พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้สมบูรณ์ด้วยพระโคตร เป็นอุภโตสุชาติ๑- ทั้งฝ่ายพระมารดาและพระบิดา ทรงถูกเนรเทศจากแคว้นมาอยู่ ณ อาศรมในป่านี้ บุญทั้งหลายที่พระองค์กระทำมาแล้วฉันใด ขอพระองค์ทรงให้ทาน กระทำบุญอยู่ร่ำไปฉันนั้น [๒๒๙๒] ข้าแต่พระราชฤๅษี หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมเทพ มาในสำนักของพระองค์ ขอพระองค์ทรงเลือกรับพร หม่อมฉันขอถวายพร ๘ ประการแก่พระองค์ (พระเวสสันดรตรัสว่า) [๒๒๙๓] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้ทรงเป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง ถ้าพระองค์จะประสาทพรแก่หม่อมฉัน ขอให้พระบิดาจงมารับหม่อมฉัน ขอพระบิดาทรงต้อนรับหม่อมฉัน ผู้ออกจากป่านี้ไปถึงเรือนของตนด้วยราชอาสน์ นี้เป็นพรประการที่ ๑ [๒๒๙๔] ขอให้หม่อมฉันไม่พึงชอบใจการฆ่าคน อนึ่ง แม้ผู้นั้นจะเป็นนักโทษถึงประหารชีวิต ผู้กระทำความผิดอย่างร้ายแรง ขอให้หม่อมฉันพึงได้ปลดปล่อยให้พ้นจากการถูกประหารชีวิต นี้เป็นพรประการที่ ๒ [๒๒๙๕] ขอให้ประชาชนทั้งหลายทั้งคนแก่ ทั้งเด็ก และคนปานกลาง พึงเข้ามาอาศัยหม่อมฉันเลี้ยงชีวิต นี้เป็นพรประการที่ ๓ @เชิงอรรถ : @ อุภโตสุชาติ หมายถึงมีวรรณะเสมอกัน คือ บริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๒๑๙/๔๖๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ

[๒๒๙๖] ขอให้หม่อมฉันอย่าพึงล่วงละเมิดภรรยาผู้อื่น พอใจแต่ในภรรยาของตนไม่ไปสู่อำนาจของหญิงทั้งหลาย นี้เป็นพรประการที่ ๔ [๒๒๙๗] ข้าแต่ท้าวสักกะ ขอให้บุตรของหม่อมฉันผู้พลัดพรากไปนั้น พึงมีอายุยืนนาน จงครอบครองแผ่นดินโดยธรรมเถิด นี้เป็นพรประการที่ ๕ [๒๒๙๘] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว ขอให้อาหารทิพย์พึงปรากฏ นี้เป็นพรประการที่ ๖ [๒๒๙๙] เมื่อหม่อมฉันให้ทานอยู่ ขออย่าให้ไทยธรรมหมดสิ้นไป เมื่อกำลังให้ ขอให้หม่อมฉันพึงทำใจให้ผ่องใส ครั้นให้แล้ว ขออย่าให้หม่อมฉันได้เดือดร้อนใจในภายหลัง นี้เป็นพรประการที่ ๗ [๒๓๐๐] เมื่อพ้นจากอัตภาพนี้ไป ขอให้หม่อมฉันไปสู่สวรรค์ อันเป็นการไปพิเศษ ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก นี้เป็นพรประการที่ ๘ [๒๓๐๑] ครั้นได้สดับพระดำรัสของพระเวสสันดรแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสพระดำรัสดังนี้ว่า คงไม่นานนัก พระบิดาบังเกิดเกล้าของพระองค์ ก็คงจะเสด็จมาเยี่ยมพระองค์ [๒๓๐๒] ครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้ว ท้าวมฆวานสุชัมบดีเทวราช ก็ได้พระราชทานพรแก่พระเวสสันดรแล้ว เสด็จกลับไปสู่หมู่ชาวสวรรค์
กัณฑ์สักกบรรพ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช

กัณฑ์มหาราช
(พระเจ้าสญชัยทอดพระเนตรเห็น ๒ กุมารจึงตรัสว่า) [๒๓๐๓] นั่นใครหนอ หน้างามยิ่งนักดังทองคำธรรมชาติ ที่นายช่างหล่อหลอมด้วยไฟ สีใสสุกปลั่ง ดังแท่งทองธรรมชาติที่ละลายคว้างอยู่ที่ปากเบ้า [๒๓๐๔] ทารกเหล่านี้มีอวัยวะคล้ายคลึงกัน มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ คนหนึ่งเหมือนพ่อชาลี อีกคนเหมือนแม่กัณหาชินา [๒๓๐๕] ทารกเหล่านี้มีรูปเสมอกันเหมือนราชสีห์ออกจากถ้ำทอง ทารกเหล่านี้ปรากฏเหมือนหล่อหลอม ด้วยทองคำธรรมชาติเลยทีเดียว [๒๓๐๖] ภารทวาชพราหมณ์ ท่านได้นำ ทารกเหล่านี้มาจากที่ไหนหนอ วันนี้ ท่านได้มาถึงแคว้นของเราแล้ว จะไปที่ไหนต่อไป (ชูชกกราบทูลว่า) [๒๓๐๗] ข้าแต่สมมติเทพ ทารกเหล่านี้มีผู้ให้แก่ข้าพระองค์ด้วยความพอใจ ตั้งแต่วันที่ได้ทารกเหล่านี้มา วันนี้เป็นคืนที่ ๑๕ (พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๒๓๐๘] ด้วยวาจาไพเราะอะไรเล่า ท่านจึงได้ทารกเหล่านี้มา ท่านควรทำให้เราเชื่อโดยวิธีที่ชอบ ใครให้ปุตตทานอันสูงสุดนั้นแก่ท่าน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช

(ชูชกกราบทูลว่า) [๒๓๐๙] พระราชาผู้ทรงเป็นที่พึ่งของพวกยาจกที่มาทูลขอ เป็นดังธรณีเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย คือพระเวสสันดรผู้เสด็จไปประทับอยู่ในป่า ได้พระราชทานพระโอรสทั้งหลายแก่ข้าพระองค์ [๒๓๑๐] พระราชาผู้ทรงเป็นที่ต้องประสงค์ของพวกยาจกผู้มาทูลขอ เป็นดังสาครอันเป็นที่รองรับของแม่น้ำทั้งหลายที่หลั่งไหลมา คือพระเวสสันดรผู้เสด็จไปประทับอยู่ในป่า ได้พระราชทานพระโอรสทั้งหลายแก่ข้าพระองค์ (พวกอำมาตย์ติเตียนพระเวสสันดรว่า) [๒๓๑๑] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระราชาผู้มีศรัทธา ทรงอยู่ครอบครองเรือน ทรงทำกรรมที่ไม่สมควรหนอ พระเวสสันดรถูกเนรเทศออกจากแคว้นไปอยู่ในป่า จะพึงพระราชทานพระโอรสทั้งหลายได้อย่างไรหนอ [๒๓๑๒] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวพระนครมีประมาณเท่าใด ที่มาประชุมกันอยู่ในที่นี้ ขอทุกท่านจงช่วยกันพิจารณาดูเรื่องนี้ พระเวสสันดรประทับอยู่ในป่า ได้พระราชทานพระโอรสทั้งหลายได้อย่างไร [๒๓๑๓] พระองค์จงพระราชทานทาส ทาสี ม้า แม่ม้าอัสดร รถ และช้างกุญชรตัวประเสริฐไปเถิด ทำไม จึงทรงพระราชทานทารกทั้งหลายเล่า (พระชาลีกุมารกราบทูลว่า) [๒๓๑๔] ข้าแต่สมเด็จพระอัยกา ในเรือนของผู้ใดไม่มีทาส ม้า แม่ม้าอัสดร รถ และช้างกุญชรตัวประเสริฐ ผู้นั้นจะพึงให้อะไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช

(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๒๓๑๕] บุตรน้อยทั้งหลาย ปู่สรรเสริญทานแห่งบิดาของเจ้านั้น ไม่ได้ติเตียนเลย หทัยแห่งบิดาของเจ้าเป็นอย่างไรหนอ จึงได้ให้เจ้าทั้ง ๒ แก่พราหมณ์วณิพก (พระชาลีกุมารกราบทูลว่า) ข้าแต่พระอัยกามหาราช พระบิดาของหม่อมฉัน พระราชทานพวกหม่อมฉันแก่พราหมณ์วณิพกแล้ว ได้ทรงสดับถ้อยคำรำพันพิลาปซึ่งน้องกัณหาได้กล่าวแล้ว [๒๓๑๖] ข้าแต่สมเด็จพระอัยกา พระหทัยของพระบิดานั้น เป็นทุกข์และเร่าร้อน มีดวงพระเนตรแดงดังดาวโรหิณี มีพระอัสสุชลหลั่งไหล [๒๓๑๗] น้องกัณหาชินาได้กราบทูลพระบิดาว่า “ข้าแต่พระบิดา พราหมณ์นี้เฆี่ยนตีหม่อมฉัน ด้วยไม้เท้าเหมือนตีทาสีผู้เกิดในเรือนเบี้ย [๒๓๑๘] ข้าแต่พระบิดา ผู้นี้คงจะมิใช่พราหมณ์แน่ เพราะพราหมณ์ทั้งหลายเป็นผู้มีธรรม แต่พราหมณ์คงจะเป็นยักษ์แปลงเพศเป็นพราหมณ์ นำลูกทั้ง ๒ ไปเพื่อจะกินเป็นอาหาร พระเจ้าข้า ลูกทั้ง ๒ ถูกพราหมณ์ผู้เป็นปีศาจนำไป ข้าแต่พระบิดา ทำไมหนอ พระองค์จึงทรงเมินเฉยอยู่เล่า” (พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๒๓๑๙] มารดาของเจ้าทั้งหลาย เป็นพระราชบุตรี บิดาเป็นราชบุตร เจ้าทั้งหลาย เคยขึ้นนั่งตักของปู่ แต่บัดนี้ เพราะเหตุไร จึงยืนอยู่ห่างไกลหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช

(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า) [๒๓๒๐] พระมารดาของหม่อมฉันทั้งหลาย เป็นพระราชบุตรี และพระบิดาก็เป็นพระราชบุตร แต่หม่อมฉันทั้งหลาย เป็นทาสของพราหมณ์ เพราะฉะนั้น จึงยืนอยู่ห่างไกล พระเจ้าข้า (พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๒๓๒๑] เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ไม่ชอบเลย หทัยของปู่กำลังเร่าร้อน กายของปู่เหมือนอยู่บนเชิงตะกอน ปู่มิได้รับความสุขบนราชอาสน์เลย [๒๓๒๒] เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ไม่ชอบเลย อย่าได้เพิ่มความเศร้าโศกให้เกิดแก่ปู่เลย ปู่จักไถ่เธอทั้งหลายด้วยทรัพย์ เธอทั้งหลายจักไม่เป็นทาส [๒๓๒๓] พ่อชาลี บิดาของเธอทั้งหลาย ได้ตีราคาพวกเธอไว้เท่าไร จึงให้พราหมณ์ ขอให้เธอทั้งหลายจงบอกปู่ตามความจริง พนักงานทั้งหลายจงให้พราหมณ์รับเอาทรัพย์ไปเถิด (พระชาลีกุมารกราบทูลว่า) [๒๓๒๔] ข้าแต่พระอัยกา พระบิดาทรงตีราคาหม่อมฉัน มีค่าเท่าราคาทองคำ ๑,๐๐๐ แท่ง ทรงตีราคาน้องกัณหาชินาราชกัญญา ด้วยสัตว์พาหนะมีช้างเป็นต้นอย่างละ ๑๐๐ แล้วจึงได้พระราชทานให้แก่พราหมณ์ (พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๒๓๒๕] มหาดเล็ก เจ้าจงลุกขึ้น รีบไปนำทาสี ทาส โค ช้าง และโคอุสภราชอย่างละ ๑๐๐ กับทองคำ ๑,๐๐๐ แท่ง มาให้แก่พราหมณ์ เป็นค่าไถ่บุตรทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช

[๒๓๒๖] ลำดับนั้น พนักงานรีบไปนำทาสี ทาส โค ช้าง และโคอุสภราชอย่างละ ๑๐๐ มาให้แก่พราหมณ์ เป็นค่าไถ่ (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๓๒๗] กษัตริย์ทั้ง ๒ ทรงไถ่แล้ว รับสั่งให้สรงสนานและให้เสวยพระกระยาหารเสร็จ ให้ประดับด้วยอาภรณ์ทั้งหลายแล้ว สมเด็จพระอัยกาทรงอุ้มทารกองค์หนึ่ง สมเด็จพระอัยยิกาทรงอุ้มองค์หนึ่ง [๒๓๒๘] พระกุมารทั้ง ๒ ทรงสรงสนานพระเศียรแล้ว ทรงพระภูษาอันสะอาด ทรงประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวงแล้ว พระราชาผู้พระอัยกาก็ทรงอุ้มพระชาลีขึ้นประทับบนพระเพลา [๒๓๒๙] พระกุมารทั้ง ๒ ทรงประดับกุณฑล ที่มีเสียงดังก้องน่ารื่นรมย์ใจ ทรงประดับดอกไม้และเครื่องอลังการทั้งปวงแล้ว พระราชาทรงอุ้มพระชาลีกุมารขึ้นประทับ บนพระเพลาแล้วได้ตรัสถามดังนี้ว่า [๒๓๓๐] พ่อชาลี พระบิดาและพระมารดาทั้ง ๒ ของเธอ ไม่มีโรคดอกหรือ เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหา ผลาหารหรือ มูลผลาหารมีมากหรือ [๒๓๓๑] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ ในป่าที่มีเนื้อร้ายพลุกพล่าน ไม่มีมาเบียดเบียนหรือ (พระชาลีกุมารกราบทูลว่า) [๒๓๓๒] ข้าแต่สมมติเทพ พระบิดาและพระมารดาของหม่อมฉัน ทั้ง ๒ พระองค์นั้นไม่มีโรค เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหาผลาหาร และมูลผลาหารก็มีมาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช

[๒๓๓๓] อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย ในป่าที่มีสัตว์ร้ายพลุกพล่าน ก็ไม่มีมาเบียดเบียน ซึ่งพระบิดาและพระมารดาทั้ง ๒ พระองค์นั้นเลย [๒๓๓๔] พระมารดาของหม่อมฉันทรงขุดรากบัว เหง้าบัว ทรงสอยผลพุทรา ผลรกฟ้า และผลมะตูม นำมาเลี้ยงพระบิดาและหม่อมฉันทั้ง ๒ [๒๓๓๕] พระมารดานั้นทรงนำมูลผลาหารใดมาจากป่า พระบิดาและหม่อมฉันทั้ง ๒ มารวมกัน เสวยมูลผลาหารนั้นในทุกคืนวัน [๒๓๓๖] พระมารดาของหม่อมฉันทั้ง ๒ เป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ ต้องมาเที่ยวแสวงหาผลไม้ มีพระฉวีวรรณผอมเหลือง เพราะลมและแดด เหมือนดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ [๒๓๓๗] เมื่อพระมารดาเสด็จเที่ยวไปในป่าใหญ่ ซึ่งเป็นป่าที่มีสัตว์ร้ายพลุกพล่าน เป็นที่อยู่อาศัยของแรดและเสือเหลือง พระเกสาของพระองค์ก็ร่วงหล่น [๒๓๓๘] พระมารดาทรงขมวดพระเมาลี ทรงไว้ซึ่งเหงื่อไคลที่พระกัจฉะ ทรงพระภูษาหนังเสือ บรรทมเหนือแผ่นดินและทรงบูชาไฟ [๒๓๓๙] บุตรทั้งหลายเกิดมาแล้วเป็นที่รักของมนุษย์ในโลก พระอัยกาของเราทั้งหลายไม่เกิดพระสิเนหาในพระโอรสเป็นแน่ (พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๒๓๔๐] หลานรัก จริงทีเดียว การที่ปู่ให้เนรเทศ ซึ่งพระบิดาของเจ้าผู้ไม่มีโทษเพราะคำพูดของชาวกรุงสีพีนั้น ชื่อว่าปู่ได้ทำกรรมชั่วร้าย และชื่อว่าปู่ได้ทำกรรมที่ทำลายความเจริญแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช

[๒๓๔๑] สิ่งใดสิ่งหนึ่งของปู่มีอยู่ในนครนี้ก็ดี ทรัพย์และธัญชาติใดๆ มีอยู่ก็ดี ขอให้พระเจ้าเวสสันดรจงมาเป็นเจ้าปกครองสิ่งนั้นๆ ในกรุงสีพีเถิด (พระชาลีกุมารกราบทูลว่า) [๒๓๔๒] ขอเดชะสมมติเทพ พระบิดาของหม่อมฉัน เป็นผู้สูงสุดแห่งชาวกรุงสีพีคงจักไม่เสด็จมาเพราะคำของหม่อมฉัน ขอให้พระองค์ผู้สมมติเทพเสด็จไปทรงอภิเษก พระบิดาของหม่อมฉันด้วยโภคะทั้งหลายด้วยพระองค์เองเถิด (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๓๔๓] ลำดับนั้น พระเจ้ากรุงสญชัยจึงได้รับสั่งเสนาบดีว่า กองทัพ คือ กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบจงตระเตรียมอาวุธให้พร้อม ชาวนิคม พราหมณ์ และพวกปุโรหิตจงตามเราไป [๒๓๔๔] ต่อจากนั้น เหล่าทหาร ๖๐,๐๐๐ นายผู้สง่างาม ผูกสอด(อาวุธ)แล้ว ประดับด้วยผ้าสีต่างๆ กัน จงพากันรีบตามมาโดยเร็ว [๒๓๔๕] เหล่าทหารผู้ผูกสอด(อาวุธ)แล้ว ประดับประดาด้วยเสื้อผ้าสีต่างๆ กัน คือ พวกหนึ่งแต่งด้วยผ้าสีเขียว พวกหนึ่งแต่งสีเหลือง พวกหนึ่งแต่งสีแดง พวกหนึ่งแต่งสีขาวจงรีบตามมา [๒๓๔๖] ภูเขาคันธมาทน์มีกลิ่นหอมถูกหิมะปกคลุม ดารดาษไปด้วยพฤกษชาตินานาชนิด เป็นที่อาศัยอยู่ของฝูงสัตว์เป็นอันมาก [๒๓๔๗] และมีต้นไม้ที่เป็นทิพยโอสถ สว่างไสวและฟุ้งตลบไปทั่วทิศฉันใด ขอเหล่าทหารผู้ผูกสอด(อาวุธ)แล้วจงรีบตามมา และจงรุ่งเรืองมีเกียรติยศฟุ้งขจรไปทั่วทิศฉันนั้นเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช

[๒๓๔๘] ต่อจากนั้น จงจัดเทียมช้างที่สูงใหญ่ ๑๔,๐๐๐ เชือก มีสายรัดประคับทองมีเครื่องประดับ และเครื่องปกคลุมศีรษะที่สำเร็จแล้วด้วยทอง [๒๓๔๙] มีนายควานช้างถือโตมรและขอ ขึ้นขี่คอประจำ เตรียมพร้อมสรรพ ประดับตกแต่งสวยงาม จงรีบตามมา [๒๓๕๐] ต่อจากนั้น จงจัดม้าสินธพชาติอาชาไนย ๑๔,๐๐๐ ตัว ที่มีฝีเท้าเร็ว [๒๓๕๑] พร้อมด้วยนายสารถีผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการ ถือแส้และดาบสั้น ผูกสอด(อาวุธ)ขึ้นขี่ประจำหลัง [๒๓๕๒] ต่อจากนั้น จงจัดเทียมกระบวนรถ ๑๔,๐๐๐ คัน ที่มีเหล็กหุ้มกงล้ออย่างแน่นหนา เรือนรถขจิตด้วยทอง [๒๓๕๓] จงยกธงขึ้นปักไว้บนรถคันนั้นๆ พวกนายขมังธนูผู้ยิงได้แม่นยำ คล่องแคล่วชำนาญ ในรถทั้งหลาย จงเตรียมโล่ห์ เกราะ และแล่งธนูไว้ให้พร้อม ทหารเหล่านี้จงตระเตรียมให้พร้อมแล้วรีบตามมา [๒๓๕๔] ขอจงให้โปรยข้าวตอก ดอกไม้ มาลัย ของหอม และเครื่องลูบไล้เถิด และจงให้จัดตั้งเครื่องบูชาอันมีค่า ตามทางที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา [๒๓๕๕] ในบ้านแต่ละหมู่บ้าน จงให้ตั้งหม้อสุราและเมรัยไว้ หมู่ละ ๑๐๐ หม้อที่หนทางที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา [๒๓๕๖] จงให้ตั้งมังสาหาร ขนม ขนมแดกงา ขนมกุมมาส ที่ปรุงด้วยเนื้อปลาไว้ใกล้ทาง ที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช

[๒๓๕๗] จงให้ตั้งเนยใส น้ำมัน นมส้ม นมสด ขนมแป้ง ข้าวฟ่าง และสุราเป็นจำนวนมาก ไว้ใกล้ทางที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา [๒๓๕๘] ให้มีพนักงานพิเศษทั้งครัวหวานและครัวคาว จัดตั้งไว้เพื่อประชาชนทั่วไป ให้มีมหรสพฟ้อนรำขับร้องทุกๆ อย่าง เพลงปรบมือ กลองยาว คนขับเสภา และคนผู้บรรเทาความเศร้าโศก๑- [๒๓๕๙] พวกมโหรีจงเล่นดนตรี ดีดพิณพร้อมทั้งตีกลองน้อยกลองใหญ่ เป่าสังข์ ตีกลองหน้าเดียว [๒๓๖๐] ตีตะโพน แกว่งบัณเฑาะว์ เป่าสังข์ ดีดจะเข้ และตีกลองใหญ่ กลองเล็ก (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๓๖๑] กองทัพของกรุงสีพีเป็นกองทัพใหญ่ ที่จัดเป็นกระบวนตั้งไว้เสร็จแล้ว มีพระชาลีราชกุมารเป็นผู้นำทาง ได้ยาตราไปยังเขาวงกต [๒๓๖๒] ช้างพลายอายุ ๖๐ ปี มีสายรัดประคับทอง ผูกตกแต่งไว้ บันลือก้องโกญจนาทกระหึ่มอยู่ ช้างวารณะก็บันลือโกญจนาทกระหึ่มอยู่ [๒๓๖๓] เหล่าม้าอาชาไนยก็แผดเสียงแหลมดังลั่น เสียงกงล้อดังกึกก้อง ฝุ่นละอองฟุ้งตลบถึงนภากาศ กองทัพของชาวกรุงสีพีก็จัดกระบวนตั้งไว้ดีแล้ว @เชิงอรรถ : @ คนผู้บรรเทาความเศร้าโศก หมายถึงนักมายากล หรือนักร้อง นักดนตรี แม้พวกอื่น ท่านก็เรียกว่า @ผู้บรรเทาความเศร้าโศก เพราะสามารถนำความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นออกไปได้ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๓๕๘/๔๘๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์

[๒๓๖๔] กองทัพนั้นเป็นกองทัพใหญ่ จัดเป็นกระบวนตั้งไว้ สามารถทำลายล้างอริราชศัตรูได้ มีพระชาลีราชกุมารเป็นผู้นำทาง ได้ยาตราไปยังเขาวงกต [๒๓๖๕] พระเจ้ากรุงสญชัยพร้อมด้วยข้าราชบริพารเหล่านั้น เสด็จเข้าไปยังป่าใหญ่มีกิ่งไม้มากมายและน้ำมาก ดารดาษไปด้วยต้นไม้ดอกและไม้ผลทั้ง ๒ อย่าง [๒๓๖๖] ในป่าใหญ่นั้น มีนกมากมายหลายสี มีเสียงกล่อมไพเราะ เกาะอยู่บนต้นไม้ที่ผลิดอกตามฤดูกาล ร้องประสานเสียง เสียงระเบงเป็นคู่ๆ [๒๓๖๗] พระเจ้ากรุงสญชัยพร้อมด้วยราชบริพารเหล่านั้น เสด็จพระราชดำเนินไปสู่ทางไกล ล่วงเลยหลายวันหลายคืน จึงบรรลุถึงประเทศที่พระเวสสันดรประทับอยู่
กัณฑ์มหาราช จบ
กัณฑ์ฉกษัตริย์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๓๖๘] พระเวสสันดรได้ทรงสดับเสียงกึกก้องแห่งกองทัพเหล่านั้น ก็ตกพระทัยกลัว เสด็จขึ้นภูเขา ทรงหวาดหวั่นพรั่นพรึง ทอดพระเนตรดูกองทัพ ตรัสว่า [๒๓๖๙] เชิญดูเถิดมัทรี เสียงกึกก้องเช่นใดในป่า ม้าอาชาไนยส่งเสียงแผดร้องก้องสนั่น ปรากฏยอดธงไหวๆ [๒๓๗๐] นายพรานเหล่านี้ได้ขึงข่ายล้อมฝูงเนื้อในป่า ไล่ต้อนให้ตกลงในหลุมแล้ว ไล่ทิ่มแทงด้วยหอกอันคม คัดเลือกเอาเนื้อเหล่านั้นตัวอ้วนๆ ฉันใด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์

[๒๓๗๑] เราทั้ง ๒ ก็ฉันนั้น เป็นผู้ไม่มีโทษ ถูกขับไล่จากแคว้นมาอยู่ในป่า จึงตกอยู่ในเงื้อมมือของพวกศัตรูเป็นแน่ จงดูเอาเถิดคนผู้ฆ่าคนที่ไม่มีกำลัง (พระนางมัทรีกราบทูลว่า) [๒๓๗๒] พวกศัตรูย่ำยีพระองค์ไม่ได้ เปรียบเหมือนไฟย่ำยีห้วงน้ำไม่ได้ฉะนั้น ขอพระองค์จงทรงระลึกถึงข้อนั้นนั่นแหละ แต่นี้ไปจะพึงมีแต่ความสวัสดี (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๓๗๓] ลำดับนั้น พระเจ้าเวสสันดรได้เสด็จลงจากภูเขา ประทับนั่งในบรรณศาลา ทรงตั้งพระทัยให้หนักแน่น [๒๓๗๔] พระบิดารับสั่งให้ถอยรถกลับ ให้วางกำลังกองทัพไว้แล้ว เสด็จเข้าไปหาพระโอรสผู้ประทับอยู่ในป่าเพียงลำพัง [๒๓๗๕] เสด็จลงจากคอช้างพระที่นั่ง ทรงเฉวียงพระอังสา ประนมพระหัตถ์ แวดล้อมแห่แหนด้วยหมู่อำมาตย์ เสด็จไปเพื่ออภิเษกพระโอรส [๒๓๗๖] ณ ที่นั้น ท้าวเธอได้ทอดพระเนตรเห็น พระโอรสทรงเพศเป็นบรรพชิต ประทับนั่งเข้าฌานอยู่ในบรรณศาลา เป็นสมาธิแน่วแน่ ไม่มีภัยแต่ที่ไหน [๒๓๗๗] พระเวสสันดรและพระนางมัทรี ทอดพระเนตรเห็นพระบิดา ผู้มีความรักในบุตรกำลังเสด็จมา ได้ทรงต้อนรับถวายอภิวาท {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์

[๒๓๗๘] ฝ่ายพระนางมัทรีทรงซบพระเศียรถวายอภิวาท แทบพระยุคลบาทของพระสัสสุระ(พ่อผัว)กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมัทรีสะใภ้ของพระองค์ ขอถวายบังคมพระยุคลบาท พระเจ้ากรุงสญชัยทรงสวมกอด ๒ กษัตริย์ ใช้ฝ่าพระหัตถ์ ลูบพระปฤษฎางค์อยู่ไปมา ณ อาศรมนั้น (ตรัสว่า) [๒๓๗๙] ลูกรัก พวกเจ้าไม่มีโรคเบียดเบียน เป็นสุขสำราญดีหรือ เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกหรือ มูลผลาหารมีมากอยู่หรือ [๒๓๘๐] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ ในป่าที่มีเนื้อร้ายพลุกพล่าน ไม่มาเบียดเบียนหรือ (พระเวสสันดรกราบทูลว่า) [๒๓๘๑] ข้าแต่สมมติเทพ พวกหม่อมฉันเป็นอยู่ตามมีตามได้ หม่อมฉันทั้งหลายเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง ชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยการเที่ยวแสวงหา [๒๓๘๒] ข้าแต่มหาราช นายสารถีทรมานม้าให้หมดฤทธิ์ฉันใด หม่อมฉันทั้งหลายก็ถูกทรมานให้หมดฤทธิ์ฉันนั้น ความหมดฤทธิ์ย่อมทรมานหม่อมฉันทั้งหลาย [๒๓๘๓] ข้าแต่มหาราช เมื่อหม่อมฉันทั้งหลาย ถูกเนรเทศมามีชีวิตอยู่อย่างหงอยเหงาในป่า หม่อมฉันทั้งหลาย มีเนื้อหนังซูบซีดผอมลง เพราะไม่ได้พบพระบิดาและพระมารดา [๒๓๘๔] ข้าแต่มหาราช ทายาทผู้มีมโนรถยังไม่สมบูรณ์ ของหม่อมฉันผู้ประเสริฐแห่งชาวกรุงสีพี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์

คือพ่อชาลีและแม่กัณหาชินา ทั้ง ๒ องค์ ยังตกอยู่ในอำนาจของพราหมณ์ผู้หยาบช้า มันเฆี่ยนตีพ่อชาลีและแม่กัณหาชินาทั้ง ๒ นั้นเหมือนเฆี่ยนตีโค [๒๓๘๕] ถ้าพระองค์ทรงทราบ หรือทรงได้สดับข่าวลูกทั้ง ๒ ของพระราชบุตรีนั้น ขอได้ทรงกรุณารีบตรัสบอกแก่หม่อมฉันทั้งหลายด้วยเถิด เหมือนหมอรีบพยาบาลคนผู้ถูกงูกัด (พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๒๓๘๖] กุมารทั้ง ๒ คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา พ่อได้ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์แล้วไถ่ถอนมา ลูกรัก ลูกอย่าได้กลัวเลย จงเบาใจเถิด (พระเวสสันดรทูลถามว่า) [๒๓๘๗] ข้าแต่พระบิดา พระองค์ไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ ทรงพระสำราญดีหรือ พระจักษุของพระมารดาของข้าพระองค์ยังไม่เสื่อมหรือ (พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๒๓๘๘] ลูกรัก พ่อสบายดี ไม่มีโรคเบียดเบียน อนึ่ง จักษุแม่ของเจ้าก็ไม่เสื่อม (พระเวสสันดรทูลถามว่า) [๒๓๘๙] ราชพาหนะของพระองค์ที่เขาเทียมแล้วยังมั่นคงหรือ ราชพาหนะยังนำภาระไปได้หรือ ชนบทเจริญดีอยู่หรือ ฝนไม่แห้งแล้งหรือ (พระเจ้าสญชัยตอบว่า) [๒๓๙๐] ราชพาหนะของเราที่เทียมแล้วยังมั่นคง ราชพาหนะยังนำภาระไปได้ ชนบทก็เจริญดี และฝนก็ไม่แล้ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์

[๒๓๙๑] เมื่อกษัตริย์ทั้ง ๓ เหล่านั้นกำลังทรงสนทนากันอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ พระมารดาผู้เป็นราชบุตรี ไม่ทรงฉลองพระบาท เสด็จไปปรากฏที่ช่องภูเขา [๒๓๙๒] พระเวสสันดรและพระนางมัทรีทอดพระเนตรเห็นพระมารดา ผู้มีความรักในพระโอรสกำลังเสด็จมา จึงทรงต้อนรับถวายอภิวาท [๒๓๙๓] ฝ่ายพระนางมัทรีทรงซบพระเศียรเกล้าถวายอภิวาท แทบพระยุคลบาทของพระสัสสุ(แม่ผัว)กราบทูลว่า ข้าแต่สมเด็จพระอัยยิกา หม่อมฉันมัทรีสะใภ้ของพระองค์ ขอถวายบังคมพระยุคลบาท [๒๓๙๔] ส่วนบุตรน้อยทั้งหลาย เสด็จมาแต่ที่ไกลโดยสวัสดิภาพ ทอดพระเนตรเห็นพระนางมัทรี ก็ทรงคร่ำครวญวิ่งเข้าไปหา อุปมาเหมือนลูกโคอ่อนคอยชะเง้อหาแม่เป็นแน่ [๒๓๙๕] ฝ่ายพระนางมัทรีทอดพระเนตรเห็นบุตรน้อยทั้งหลาย ผู้เสด็จมาแต่ที่ไกลโดยสวัสดิภาพ ทั้งสั่นระรัวไปทั่วพระวรกายเหมือนแม่มด น้ำนมก็หลั่งไหล [๒๓๙๖] เมื่อพระญาติทั้งหลายมาพร้อมกันแล้ว ขณะนั้น ก็ได้เกิดเสียงดังอึกทึกกึกก้อง ภูเขาทั้งหลายก็มีเสียงดังลั่น แผ่นดินสะเทือนหวั่นไหว [๒๓๙๗] ฝนตกลงยังท่อธารให้หลั่งไหลไป ขณะที่พระเจ้าเวสสันดรได้สมาคมกับพระญาติทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐ .เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์

[๒๓๙๘] ในกาลที่กษัตริย์ทั้งหลาย คือ พระราชา พระเทวี พระโอรส พระสุณิสา และพระนัดดาทั้งหลาย มาประชุมพร้อมกันแล้ว ก็ได้เกิดอัศจรรย์น่าขนพองสยองเกล้า [๒๓๙๙] ประชาราษฎร์ทั้งปวงมาพร้อมใจกัน ประนมมือถวายบังคมพระมหากษัตริย์ ร้องไห้วิงวอนพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ในป่าอันน่าสะพรึงกลัวว่า ขอพระองค์ทรงเป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย ขอพระองค์ทั้ง ๒ ทรงพระกรุณาเสวยราชสมบัติ เป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด
กัณฑ์ฉกษัตริย์ จบ
กัณฑ์นครกัณฑ์
(พระเวสสันดรตรัสว่า) [๒๔๐๐] พระบิดา ชาวชนบท และชาวนิคม ได้พร้อมใจกันเนรเทศหม่อมฉัน ผู้ครองราชสมบัติโดยธรรมจากแคว้น (พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๒๔๐๑] ลูกรัก จริงทีเดียว การที่พ่อให้เนรเทศ ซึ่งลูกผู้ไม่มีความผิดออกไปจากแคว้นตามคำของชาวกรุงสีพีนั้น ชื่อว่าพ่อได้ทำกรรมชั่วร้าย และชื่อว่าพ่อได้ทำกรรมที่ทำลายความเจริญแล้ว [๒๔๐๒] ขึ้นชื่อว่าบุตรควรช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ ของมารดาบิดาและพี่น้องที่เกิดขึ้น เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ด้วยชีวิตของตน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์

(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๔๐๓] ลำดับนั้น พระเจ้าเวสสันดรได้ทรงชำระล้างธุลีและสิ่งโสโครก ครั้นทรงชำระล้างธุลีและสิ่งโสโครกแล้ว ได้ทรงเพศเป็นพระราชา [๒๔๐๔] พระเวสสันดรบรมกษัตริย์ทรงสนานพระเศียรแล้ว ทรงพัสตราภรณ์อันสะอาด ทรงประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง สอดพระแสงขรรค์ที่ทำให้ราชปัจจามิตรเดือดร้อนเกรงขาม เสด็จขึ้นทรงพญาปัจจยนาค [๒๔๐๕] ครั้งนั้น เหล่าทหาร ๖๐,๐๐๐ นายผู้สง่างาม ต่างก็ชื่นชมยินดี แวดล้อมพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ [๒๔๐๖] ลำดับนั้น เหล่าพระสนมกำนัลในของพระเจ้ากรุงสีพี มาประชุมพร้อมกัน ทูลเชิญพระนางมัทรีให้สรงสนานแล้ว ถวายพระพรว่า ขอพระเวสสันดรจงทรงอภิบาลรักษาพระเจ้าแม่ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาทั้ง ๒ พระองค์ อนึ่ง ขอพระเจ้ากรุงสญชัยมหาราชจงทรงอภิรักษ์พระแม่เจ้าเทอญ [๒๔๐๗] พระเวสสันดรบรมกษัตริย์และพระนางมัทรี กลับมาดำรงในสิริราชสมบัติตามเดิมแล้ว ทรงระลึกถึงความลำบากของตนในกาลก่อน จึงรับสั่งให้นำกลองนันทิเภรีไปตีประกาศ ที่คุ้มครองเขาวงกตอันน่ารื่นรมย์ [๒๔๐๘] พระนางมัทรีผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะได้ปัจจัย๑- นี้แล้ว ทรงระลึกถึงความลำบากของตนในกาลก่อน ครั้นได้พบพระโอรสทั้งหลายก็มีพระทัยปลาบปลื้มโสมนัส @เชิงอรรถ : @ ได้ปัจจัยนี้ หมายถึงได้ราชสมบัติ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๔๐๘/๔๙๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์

[๒๔๐๙] ก็พระนางมัทรีผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะได้ปัจจัยนี้แล้ว ทรงระลึกถึงความลำบากของตนในกาลก่อน มีพระทัยชื่นชมยินดีปรีดาพร้อมกับพระโอรสทั้งหลาย [๒๔๑๐] ลูกรักทั้ง ๒ เมื่อก่อนแม่ได้บำเพ็ญวัตรนี้ นอนเหนือแผ่นดินเป็นนิตย์ นี้เป็นวัตรของแม่ เพราะแม่รักเจ้าทั้งหลาย [๒๔๑๑] วัตรของแม่สำเร็จในวันนี้ เพราะได้พบพวกเจ้า ลูกรักทั้ง ๒ ขอความโสมนัสที่เกิดจากแม่ก็ดี จากพระบิดาก็ดี จงคุ้มครองลูก อนึ่ง ขอพระเจ้ากรุงสญชัยมหาราช จงทรงอภิรักษ์ความโสมนัสนั้น [๒๔๑๒] บุญกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่แม่และพระบิดาของลูกทำแล้วมีอยู่ ด้วยบุญกุศลทั้งหมดนั้น ขอลูกจงเป็นผู้ไม่แก่ไม่ตาย [๒๔๑๓] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยพระภูษาอย่างใด พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดพระภูษาอย่างนั้น คือ พระภูษากัปปาสิกพัสตร์ โกไสยพัสตร์ โขมพัสตร์ และโกทุมพรพัสตร์ ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา [๒๔๑๔] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น คือ พระธำมรงค์สุพรรณรัตน์ สร้อยพระศอนพรัตน์ ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา [๒๔๑๕] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น คือ พระวลัยสำหรับประดับข้อพระบาท พระกุณฑลสำหรับพระกรรณ สายรัดพระองค์ฝังแก้วมณีเพชร ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์

[๒๔๑๖] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น คือ ดอกไม้กรองเครื่องประดับพระเมาลี เครื่องประดับพระนลาตและเครื่องประดับฝังแก้วมณีสีต่างๆ กัน ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา [๒๔๑๗] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น คือ เครื่องประดับพระถัน เครื่องประดับพระอังสา สะอิ้งเพชร และฉลองพระบาท ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา [๒๔๑๘] พระนางมัทรีราชบุตรีทรงตรวจดูเครื่องประดับ ที่ร้อยด้วยด้ายและไม่ร้อยด้วยด้าย พระนางมัทรีราชบุตรีทรงตรวจดูและประดับตกแต่งแล้ว ทรงงดงามดังนางเทพกัญญาในพระอุทยานนันทวัน [๒๔๑๙] พระนางมัทรีราชบุตรีทรงสนานพระเศียร ทรงพัสตราภรณ์อันสะอาด ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง ทรงงดงามดังนางเทพอัปสรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๒๔๒๐] พระนางมัทรีราชบุตรีทรงมีริมพระโอษฐ์งาม ทรงงดงามดังต้นกล้วยสีทองที่เกิดในสวนจิตรลดาถูกลมพัดไปมา [๒๔๒๑] พระนางมัทรีราชบุตรีมีพระโอษฐ์แดงดุจผลไทรและผลตำลึกสุก งดงามดังกินนรีมีขนปีกงามวิจิตร บินร่อนอยู่ในอากาศ [๒๔๒๒] เหล่าพนักงานตกแต่งดรุณหัตถีอันเป็นช้างพระที่นั่ง ตัวประเสริฐ อดทนต่อหอกซัดและลูกศร มีงาเรียวงามดุจงอนรถ มีกำลังกล้าหาญ เสร็จแล้วให้นำมาประเทียบเกยคอยต้อนรับพระนางมัทรีนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์

[๒๔๒๓] พระนางมัทรีนั้นเสด็จขึ้นประทับบนหลังดรุณหัตถี อันเป็นช้างพระที่นั่งตัวประเสริฐ อดทนต่อหอกซัดและลูกศร มีงาเรียวงามดุจงอนรถ มีกำลังกล้าหาญ [๒๔๒๔] ฝูงเนื้อประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้ ฝูงเนื้อประมาณเท่านั้นไม่เบียดเบียนกันและกัน ด้วยเดชของพระเวสสันดร [๒๔๒๕] ฝูงนกประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้ ฝูงนกประมาณเท่านั้นไม่เบียดเบียนกันและกัน ด้วยเดชของพระเวสสันดร [๒๔๒๖] ฝูงเนื้อประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้ ฝูงเนื้อประมาณเท่านั้นมาประชุมในที่เดียวกัน ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ [๒๔๒๗] ฝูงนกประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้ ฝูงนกประมาณเท่านั้นมาประชุมในที่เดียวกัน ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ [๒๔๒๘] ฝูงเนื้อประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้ ฝูงเนื้อประมาณเท่านั้นมิได้ส่งเสียงร้องไพเราะเหมือนในกาลก่อน ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ [๒๔๒๙] ฝูงนกประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้ ฝูงนกประมาณเท่านั้นมิได้ส่งเสียงร้องไพเราะเหมือนในกาลก่อน ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ [๒๔๓๐] ราชมรรควิถีที่จะเสด็จพระราชดำเนินนั้น ประชาราษฎร์ช่วยกันประดับตกแต่งงามตระการตา ลาดด้วยดอกไม้ ตั้งแต่กรุงเชตุดร จนถึงที่ประทับของพระเวสสันดร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์

[๒๔๓๑] ลำดับนั้น เหล่าทหาร ๖๐,๐๐๐ นาย ผู้แต่งเครื่องพร้อมสรรพ งามสง่าน่าดู ต่างพากันติดตามแวดล้อมอยู่โดยรอบ ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ [๒๔๓๒] พวกพระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพวกพราหมณ์ ต่างพากันติดตามพระเวสสันดรแวดล้อมอยู่โดยรอบ ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ [๒๔๓๓] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ ต่างพากันตามเสด็จแวดล้อมโดยรอบ ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ [๒๔๓๔] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว ต่างพร้อมใจกันมาประชุมแวดล้อมอยู่โดยรอบ ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ [๒๔๓๕] เหล่าทหารกล้าต่างก็สวมหมวก สวมเกราะ ถือดาบ ถือโล่ห์หนังเดินนำหน้า ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกับ [๒๔๓๖] กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์นั้นเสด็จเข้าสู่พระนครที่รื่นรมย์ ซึ่งมีป้อมปราการและประตูเป็นอันมาก ประกอบด้วยข้าวน้ำอุดม และการฟ้อนรำและขับร้องทั้ง ๒ ประการ [๒๔๓๗] ชาวชนบทและชาวนิคมต่างชื่นชมโสมนัสยินดี พร้อมใจกันมาประชุม ในเมื่อพระเวสสันดร ผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จถึงพระนครโดยลำดับแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์

[๒๔๓๘] เมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงพระราชทานทรัพย์เสด็จมาถึงแล้ว ชาวชนบทและชาวนิคมต่างก็โบกผ้าสะบัดไปมา พระองค์รับสั่งให้นำกลองนันทิเภรีไปตีประกาศในพระนคร และรับสั่งให้ประกาศปลดปล่อยสัตว์ทั้งปวง จากเครื่องพันธนาการ [๒๔๓๙] ขณะที่พระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี เสด็จเข้าพระนคร ท้าวสักกเทวราชก็ทรงบันดาลให้ฝนทองตกลงมา [๒๔๔๐] ต่อมา พระเจ้าเวสสันดร ผู้เป็นกษัตริย์ ผู้มีปัญญา ทรงบำเพ็ญทานแล้ว หลังจากสวรรคตแล้ว พระองค์ก็เสด็จเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ฉะนี้แล
กัณฑ์นครกัณฑ์ จบ
มหาเวสสันดรชาดกที่ ๑๐ จบ
มหานิบาต จบ
ชาดก ภาค ๒ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๖๐}
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๔๔๗-๕๖๐. http://84000.org/tipitaka/atita/m_siri.php?B=28&siri=22              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11], [12], [13], [14], [15], [16], [17], [18], [19], [20], [21], [22], [23], [24], [25], [26], [27], [28], [29], [30], [31], [32], [33], [34].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/atita/v.php?B=28&A=6511&Z=16412                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=1045              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=1045&items=225              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=44&A=6531              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=1045&items=225              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=44&A=6531                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja547/en/cowell-rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :