ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

อรรถกถา เตมิยชาดก
พระเจ้าเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี

หน้าต่างที่   ๓ / ๓.

ลำดับนั้น นายสุนันทสารถีกราบทูลพระนางว่า
ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอพระแม่เจ้าโปรดประทานอภัยแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ขอกราบทูลตามที่ได้ฟังได้เห็นในสำนักพระราชโอรส แด่พระองค์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทชฺชาสิ ความว่า ถ้าพระองค์จะถึงประทานอภัย นายสุนันทสารถีนั้นคิดว่า ถ้าเราจะกราบทูลว่า พระโอรสของพระองค์ไม่เป็นคนใบ้ ไม่เป็นคนง่อยเปลี้ย ไม่เป็นหนวก มีพระดำรัสไพเราะ เป็นธรรมกถึก ดังนี้ พระราชาจะพึงมีพระดำริว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไร ท่านจึงไม่พาลูกของเรานั้นมา พึงกริ้วสั่งลงพระราชอาญาแก่เราแน่ เราต้องขอพระทานอภัยเสียก่อน จึงกราบทูลคำนี้.

ลำดับนั้น พระนางจันทาเทวีจึงตรัสแก่นายสารถีนั้นว่า
ดูก่อนนายสารถีผู้สหาย เราให้อภัยแก่ท่าน ท่านไม่ต้องกลัว จงกล่าวตามที่ท่านได้ฟัง หรือได้เห็นในสำนักของพระราชโอรส.


แต่นั้น นายสารถีกราบทูลว่า
พระราชโอรสนั้นมิได้เป็นใบ้ มิได้เป็นง่อยเปลี้ย พระองค์มีพระวาจาสละสลวย ได้ยินว่า พระองค์กลัวราชสมบัติ จึงได้ทรงทำการลวงเป็นอันมาก พระองค์ทรงระลึกถึงชาติก่อน ที่พระองค์ได้เสวยราชสมบัติ พระองค์เสวยราชสมบัติในกาลนั้นแล้ว ต้องไปตกนรกอันกล้าแข็ง พระองค์เสวยราชสมบัติ ในกาลนั้น ๒๐ ปี แล้วต้องหมกไหม้อยู่ในนรก ๘๐,๐๐๐ ปี. พระองค์กลัวจะต้องเสวยราชสมบัตินั้น ทรงอธิษฐานว่า ขอชนทั้งหลายอย่าถึงอภิเษกเราในราชสมบัติเลย เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ตรัสในสำนักของพระชนกและพระชนนีในกาลนั้น. พระราชโอรสทรงสมบูรณ์ด้วยองคาพยพ มีพระรูปงดงามสมส่วน มีพระวาจาสละสลวย มีพระปัญญา ทรงดำรงอยู่ในมรรคาแห่งสวรรค์ ถ้าพระแม่เจ้ามีพระราชประสงค์ จะทอดพระเนตรเห็นพระราชโอรสของพระองค์ ก็ขอเชิญเสด็จเถิด ข้าพระองค์จะนำเสด็จพระแม่เจ้าไปให้ถึงที่ ที่พระเตมิยราชโอรสประทับอยู่.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิสฎฺฐวจโน ได้แก่ มีพระดำรัสบริสุทธิ์. บทว่า อกรา อาลเย พหู ความว่า ได้กระทำการลวงพระองค์เป็นอันมาก. บทว่า ปญฺโญ แปลว่า มีปัญญา. บทว่า สเจ ตฺวํ ความว่า นายสารถีกระทำพระราชาให้เป็นธุระ กราบทูลอย่างนี้กะทั้งสองพระองค์นั้น. บทว่า ยตฺถ สมฺมติ ความว่า นายสารถีกราบทูลว่า พระโอรสของพระองค์ทรงรับปฏิญญาไว้กับข้าพระองค์ประทับอยู่ ณ ที่ใด ข้าพระองค์จักพาพระองค์ไป ณ ที่นั้น ควรรีบเสด็จไปโดยไม่เนิ่นช้า.

ฝ่ายเตมิยกุมาร ครั้นส่งนายสารถีไปแล้ว ใคร่จะทรงผนวช ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงทราบพระหฤทัยของพระกุมารนั้น จึงตรัสสั่งพระวิสสุกรรมเทพบุตรว่า พ่อวิสุกรรม พระเตมิยกุมารใคร่จะทรงผนวช ท่านจงไปสร้างบรรณศาลา และเครื่องบริขารแห่งบรรพชิตแก่พระกุมารนั้น. พระวิสสุกรรมเทพบุตรรับเทวโองการ แล้วลงมาจากสวรรค์ เนรมิตอาศรมขึ้นในราวป่าสามโยชน์ เนรมิตที่พักกลางคืน และกลางวัน และสระโบกขรณี ทำสถานที่นั้นให้สมบูรณ์ด้วยต้นไม้มีผลไม้ไม่จำกัดกาล เนรมิตที่จงกรมประมาณ ๒๕ ศอก ในที่ใกล้บรรณศาลา เกลี่ยทรายมีสี ดังแก้วผลึกภายในที่จงกรม และเนรมิตเครื่องบริขาร สำหรับบรรพชิตทุกอย่าง แล้วเขียนอักษรบอกไว้ที่ฝาว่า กุลบุตรผู้ใดผู้หนึ่งใคร่จะบวช จงถือเอาเครื่องบริขารสำหรับบรรพชิตเหล่านี้ บวชเถิด. แล้วให้เนื้อและนกใกล้อาศรมหนีไป เสร็จแล้วกลับไปยังที่อยู่ของตน.
ขณะนั้น พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นอาศรมบทนั้น ทรงอ่านหนังสือแล้ว ก็ทรงทราบว่า ท้าวสักกราชประทานให้ จึงแสดงเข้าบรรณศาลา เปลื้องภูษาของพระองค์ ทรงนุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดง ทรงห่มผ้านั้นผืนหนึ่ง ทำหนังเสือเฉวียงพระอังสา ทรงผูกมณฑลชฎา ยกคานเหนือพระอังสา ทรงถือธารพระกร เสด็จออกจากบรรณศาลา เมื่อจะให้สิริแห่งบรรพชิตเกิดขึ้น จึงเสด็จจงกรมกลับไปกลับมา ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า การบรรพชาที่เราได้แล้ว เป็นสุข เป็นสุขยิ่งหนอ แล้วเสด็จเข้าบรรณศาลา ประทับนั่งบนที่ลาดด้วยใบไม้ ยังอภิญญาห้า และสมาบัติแปดให้เกิด เสด็จออกจากบรรณศาลาในเวลาเย็น เก็บใบหมากเม่าที่เกิดอยู่ท้ายที่จงกรม นึ่งในภาชนะที่ท้าวสักกะประทานด้วยน้ำร้อนอันไม่มีรสเค็ม ไม่มีรสเปรี้ยว ไม่เผ็ด เสวย ดุจบริโภคอมฤตรส เจริญพรหมวิหารที่สำเร็จอิริยาบถอยู่ในที่นั้น.
ฝ่ายพระเจ้ากาสิกราชได้ทรงสดับคำของสุนันทสารถี จึงตรัสสั่งให้เรียกมหาเสนาคุต รีบร้อนใคร่ให้ทำการตระเตรียมเสด็จ ตรัสว่า
เจ้าหน้าที่ทั้งหลายจงเทียบรถเทียบม้า จงผูกเครื่องประดับช้าง จนกระทั่งสังข์และบัณเฑาะว์ จงตีกลองหน้าเดียว จงตีกลองสองหน้า และรำมะนาอันไพเราะ ขอชาวนิคมจงตามเรามา เราจักไปให้โอวาทแก่ลูกชาย. นางสนม กุมาร พ่อค้า และพราหมณ์ทั้งหลาย จงรีบเตรียมยาน เราจักไปให้โอวาทแก่ลูกชาย. พวกกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ จงรีบเตรียมยาน เราจักไปให้โอวาทแก่ลูกชาย. ชาวชนบทและชาวนิคม จงมาประชุมรีบเตรียมยาน เราจักไปให้โอวาทแก่ลูกชาย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทฺธริยนฺตุ ได้แก่ จงบรรเลงสนั่น. บทว่า นทนฺตุ ได้แก่ จงเปล่งเสียง. บทว่า เอกโปกฺขรา ได้แก่ กลองหน้าเดียว. บทว่า สนฺนทฺธา ได้แก่ หุ้มไว้อย่างดี. บทว่า วคฺคู ได้แก่มีเสียงไพเราะ. บทว่า คจฺฉํ แปลว่า จักไป. บทว่า ปุตฺตนิวาทโก ความว่า เราจักไปกล่าวสอน คือให้โอวาทแก่ลูกชาย พระเจ้ากาสิกราชตรัสอย่างนี้ ด้วยมีพระราชประสงค์ว่า เราจะไปเพื่อกล่าวสอนเตมิยกุมาร ให้เชื่อถือคำของเรา แล้วอภิเษกตั้งเขาไว้ในกองรัตนะ ณ ที่นั้นแหละแล้วนำมา. บทว่า เนคมา ได้แก่ พวกคนมีทรัพย์. บทว่า สมาคตา ความว่า จงประชุมกันตามเรามา.

นายสารถีทั้งหลาย ที่พระราชาตรัสสั่งอย่างนี้แล้ว ก็เทียมม้าจอดรถไว้ แทบประตูพระราชวัง แล้วกราบทูลให้ทรงทราบ.

พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความข้อนั้น ตรัสว่า
นายสารถีทั้งหลาย จูงม้าที่เทียมรถและม้าสินธพ ซึ่งเป็นพาหนะว่องไว มายังประตูพระราชวัง แล้วกราบทูลว่า ม้าทั้งสองพวกนี้เทียมเสร็จแล้ว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สินฺธเว ได้แก่ ม้าที่เกิดลุ่มน้ำสินธุ. บทว่า สีฆพาหเน ความว่า จูงม้าทั้งหลายที่ถึงพร้อมด้วยความเร็ว. บทว่า สารถี แปลว่า นายสารถีทั้งหลาย. บทว่า ยุตฺเต ได้แก่เทียมที่รถทั้งหลาย. บทว่า อุปาคญฺฉุ ความว่า นายสารถีเหล่านั้นจูงม้าทั้งหลาย ที่เทียมไว้ที่รถทั้งหลายมา ครั้นมาแล้วได้กราบทูลว่า ม้าสองพวกเหล่านี้ เทียมไว้แล้ว.

แต่นั้น พระราชาตรัสว่า
ม้าอ้วนเสื่อมความว่องไว ม้าผอมเสื่อมถอยเรี่ยวแรง จงเว้นม้าผอมและม้าอ้วนเสีย จัดเทียมแต่ม้าที่สมบูรณ์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สํสฎฺฐา ความว่า พระราชาตรัสว่า พวกท่านอย่าถือเอาเหล่าม้า เห็นปานนี้. บทว่า กีเส ถูเล วิวชฺชิตูวา ความว่า พวกท่านอย่าถือเอาเหล่าม้าผอมและเหล่าม้าอ้วน. บทว่า สํสฎฺฐา โยชิตา หยา ความว่า เทียมม้าที่ประกอบด้วยวัย วรรณะ ความว่องไว และกำลัง.

ลำดับนั้น พระราชา เมื่อเสด็จไปสำนักพระราชโอรส ตรัสสั่งให้ประชุมวรรณะ ๔ เสนี ๑๘ และพลนิกายทั้งหมด ประชุมอยู่สามวัน ในวันที่สี่ พระเจ้ากาสิกราชเสด็จออกจากพระนครพร้อมด้วยเสนา ให้เอาทรัพย์ที่พอจะเอาไปได้ไปด้วย เสด็จถึงอาศรมแห่งเตมิยราชฤาษี ทรงยินดีกับพระราชฤาษีผู้เป็นราชโอรส ทรงทำปฏิสันถารแล้ว.
แต่นั้น พระราชารีบเสด็จขึ้นประทับบนม้าสินธพอันเทียมแล้ว ได้ตรัสกะนางข้างในว่า จงตามเราไปทุกคน เตรียมเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ คือ พัด วาลวิชนี พระอุณหิส พระขรรค์ เศวตฉัตร และฉลองพระบาททอง ให้ขนขึ้นรถไปด้วย แต่นั้นพระราชาตรัสสั่ง ให้นายสารถีนำทางเสด็จเคลื่อนขบวน เข้าไปถึงสถานที่ ที่พระเตมิยราชฤาษีประทับอยู่โดยพลัน.
พระเตมิยราชฤาษี ทอดพระเนตรเห็นพระราชบิดากำลังเสด็จมา ทรงรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ ทรงแวดล้อมไปด้วยหมู่อมาตย์ จึงถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตรทรงปราศจากพระโรคาพาธหรือ ทรงเป็นสุขสำราญดีหรือ ราชกัญญาของพระองค์ และโยมมารดาของอาตมภาพ ไม่มีพระโรคาพาธหรือ.


พระราชาตรัสตอบว่า
พระลูกรัก ดิฉันไม่มีโรคาพาธ สุขสำราญดี ราชกัญญาทั้งปวงของดิฉัน และโยมมารดาของพระลูกรัก หาโรคภัยมิได้.


ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ทูลถามพระราชาว่า
ขอถวายพระพร มหาบพิตรไม่เสวยน้ำจัณฑ์ ไม่ทรงโปรดน้ำจัณฑ์หรือ พระหฤทัยของมหาบพิตรทรงยินดีในสัจจะ ในธรรม และในทานบ้างหรือ.


ลำดับนั้น พระราชาตรัสตอบว่า
พระลูกรัก ดิฉันไม่ดื่มน้ำจัณฑ์ ไม่โปรดน้ำจัณฑ์ อนึ่ง ใจของดิฉันยินดีในสัจจะ ในธรรมและในทาน.


พระมหาสัตว์ทูลถามว่า
พาหนะมีม้าและโคเป็นต้นของมหาบพิตร ที่เขาเทียมในยาน ไม่มีโรคหรือ นำอะไรๆ ไปได้หรือ มหาบพิตรไม่มีพยาธิที่เข้าไปแผดเผาพระสรีระหรือ.


พระราชาตรัสตอบว่า
พาหนะมีม้าและโคเป็นต้นของดิฉัน ที่เขาเทียมในยาน ไม่มีโรค อนึ่ง พาหนะนำอะไรๆ ไปได้ และดิฉันไม่มีพยาธิที่เข้าไปแผดเผาสรีระ.


พระมหาสัตว์ทูลถามว่า
ปัจจันตชนบทของมหาบพิตรยังเจริญดีอยู่หรือ คามนิคมในท่ามกลางรัฐสีมาของมหาบพิตร ยังเป็นปึกแผ่นดีหรือ ฉางหลวงและพระคลังของมหาบพิตรยังบริบูรณ์ดีอยู่หรือ.


พระราชาตรัสว่า
ปัจจันตชนบทของดิฉันยังเจริญดีอยู่ คามนิคมในท่ามกลางรัฐาสีมาของดิฉันยังเป็นปึกแผ่นดีอยู่ ฉางหลวงและพระคลังของดิฉันทั้งหมดยังบริบูรณ์ดีอยู่.


พระมหาสัตว์ทูลถามว่า
ขอถวายพระพร มหาบพิตรเสด็จมาดีแล้ว พระองค์เสด็จมาไกลก็เหมือนใกล้ ราชบุรุษทั้งหลาย จงทอดราชบัลลังก์ให้ประทับเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปาที รถมารุยฺห ความว่า ขนฉลองพระบาททองขึ้นรถ พระราชาทรงสั่งว่า พวกท่านจงเอาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่างไปด้วยเพื่ออภิเษกลูก ณ ที่ตรงนั้นแหละ ดังนี้ จึงตรัสทั้งสามเหล่านี้. บทว่า สุวณฺเณหิ อลงฺกตา ตรัสหมายฉลองพระบาท. บทว่า อุปาคญฺฉิ แปลว่า ได้เสด็จเข้าไปแล้ว เวลาอะไร เวลาที่พระมหาสัตว์ทรงนึ่งใบหมากเม่าดับไฟแล้วประทับนั่ง. บทว่า ชลนฺตมิว เตชลา ได้แก่ เหมือนรุ่งเรืองด้วยเดชานุภาพแห่งพระราชา. บทว่า ขคฺคสํฆปริพฺยุฬฺหํ ความว่า แวดล้อมไปด้วยหมู่อมาตย์ผู้มีความผาสุกด้วยกล่าวถ้อยคำ. บทว่า เอตทพฺรวิ ความว่า พระเตมิยฤาษีทรงต้อนรับพระเจ้ากาสิกราช ผู้พักกองทัพไว้ภายนอก เสด็จมาบรรณศาลาด้วยพระบาท ถวายบังคมพระองค์แล้วประทับนั่ง ได้ตรัสคำนี้.
พระเตมิยราชฤาษีตรัสถามถึง ความไม่มีโรคเท่านั้น ด้วยบทแม้ทั้งสองว่า กุสลํ อนามยํ. บทว่า กจฺจิ อมชฺชโป ตาต ความว่า พระเตมิยราชฤาษีทูลถามพระเจ้ากาสิราชว่า พระองค์เป็นผู้ไม่เสวยน้ำจัณฑ์ จะไม่เสวยน้ำจัณฑ์บ้างละหรือ. ปาฐะว่า อปฺปมชฺโช ดังนี้ก็มี ความว่า ไม่ประมาทในกุศลกรรมทั้งหลาย. บทว่า สุรทปฺปิยํ ความว่า การดื่มสุราไม่เป็นที่รักของพระองค์ ปาฐะว่า สุรมปฺปิยา ดังนี้ก็มี ความว่า สุราไม่เป็นที่รักของพระองค์. บทว่า ธมฺเม ได้แก่ ทศพิธราชธรรม. บทว่า โยคํ ความว่า พาหนะมีม้าและโค เป็นต้น ที่ควรเทียมในยานทั้งหลาย. บทว่า กจฺจิ วหติ ความว่า ไม่มีโรคยังนำไปได้หรือ. บทว่า พาหนํ ได้แก่ พาหนะทั้งหมดมีช้างเป็นต้น. บทว่า สรีรสฺสุปตาปิยา แปลว่า เข้าไปแผดเผาสรีระ. บทว่า อนฺตา ได้แก่ ปัจจันตชนบท. บทว่า ผิตา แปลว่า มั่งคั่ง มีภิกษาหาได้ง่าย อยู่กันหนาแน่น. บทว่า มชฺเฌ จ ได้แก่ ท่ามกลางรัฐ . บทว่า พหลา ความว่า ชาวคามและชาวนิคมอยู่กันเป็นปึกแผ่น. บทว่า ปฏิสณฐิตํ ความว่า ปกปิดแล้ว คือคุ้มครองดีหรือบริบูรณ์. บทว่า นิสกฺกติ ความว่า พระมหาสัตว์ตรัสว่า จงทอดบัลลังก์ซึ่งเป็นที่ที่พระราชาจักประทับนั่ง พระราชาไม่ประทับนั่งบนบัลลังก์ ด้วยความเคารพพระมหาสัตว์.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า ถ้าพระราชาไม่ประทับนั่งบนบัลลังก์ ท่านทั้งหลายจงปูลาดเครื่องปูลาดใบไม้ให้ทีเถิด เมื่อทรงเชื้อเชิญพระราชาให้ประทับนั่งบนเครื่องปูลาดที่ปูลาดไว้นั้น ตรัสคาถาว่า
ขอเชิญมหาบพิตรประทับนั่ง บนเครื่องปูลาดใบไม้ ที่เขากำหนดลาดไว้ เพื่อพระองค์ในที่นี้ จงทรงเอาน้ำแต่ภาชนะนี้ ล้างพระบาทของมหาบพิตรเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิยเต ได้แก่ จัดตั้งไว้อย่างดี พระมหาสัตว์ตรัสแสดงน้ำสำหรับบริโภค ด้วยบทว่า เอตฺโต.

ด้วยความเคารพต่อพระมหาสัตว์ พระราชามิได้ประทับนั่งบนเครื่องปูลาดใบไม้ ประทับนั่ง ณ พื้นดิน พระมหาสัตว์เสด็จเข้าบรรณศาลา นำใบหมากเม่านั้นออกมา เมื่อจะเชิญพระราชาให้เสวย จึงตรัสคาถาว่า
มหาบพิตร ใบหมากเม่าของอาตมภาพนี้เป็นของสุก ไม่มีรสเค็ม ขอมหาบพิตรผู้เสด็จมาเป็นแขกของอาตมภาพจงเสวยเถิด.


ลำดับนั้น พระราชาตรัสกะพระมหาสัตว์ว่า
ดิฉันไม่บริโภคใบหมากเม่า โภชนะของดิฉันไม่ใช่อย่างนี้เลย ดิฉันบริโภคข้าวสุกแห่งข้าวสาลี ที่ปรุงด้วยมังสะอันสะอาด.


ก็แลครั้นตรัสห้ามแล้ว พระราชาทรงสรรเสริญโภชนะของพระองค์ แล้วทรงหยิบใบหมากเม่าหน่อยหนึ่ง วางไว้ในฝ่าพระหัตถ์ ด้วยทรงเคารพในพระมหาสัตว์ แล้วตรัสถามว่า พ่อเสวยโภชนะ อย่างนี้ดอกหรือ. พระมหาสัตว์ทูลรับว่า ใช่ มหาบพิตร. พระราชาประทับนั่งรับสั่งพระวาจาเป็นที่รักกับพระโอรส.
ขณะนั้น พระนางจันทาเทวีแวดล้อมไปด้วยหมู่นางสนมเสด็จมา ทรงจับพระบาททั้งสองของพระปิโยรส ทรงไหว้แล้วกันแสง มีพระเนตรทั้งสองนองไปด้วยพระอัสสุชล ประทับนั่ง ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง. ลำดับนั้น พระราชาตรัสกะพระนางว่า ที่รัก เธอจงดูโภชนาหารของลูกเธอ แล้วทรงหยิบใบหมากเม่าหน่อยหนึ่ง วางในพระหัตถ์ของพระนาง แล้วประทานแก่นางสนมอื่นๆ คนละหน่อย นางสนมทั้งปวงเหล่านั้นกล่าวว่า พระองค์เสวยโภชนะเห็นปานนี้ หรือพระเจ้าข้า. แล้วรับใบหมากเม่านั้นมาวางไว้บนศีรษะของตนๆ กล่าวว่า พระองค์ทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง พระเจ้าข้า แล้วถวายนมัสการนั่งอยู่.
ลำดับนั้น พระราชาตรัสกะพระมหาสัตว์ว่า ลูกรัก เรื่องนี้ปรากฏเป็นอัศจรรย์แก่ดิฉัน แล้วตรัสคาถาว่า
ความอัศจรรย์ย่อมแจ่มแจ้งแก่ดิฉัน เพราะได้เห็นลูกรักอยู่ในที่ลับ แต่ผู้เดียว บริโภคอาหารเช่นนี้ เหตุไร จึงมีผิวพรรณผ่องใส.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอกกํ ความว่า ลูกรัก ความอัศจรรย์ปรากฏแก่ดิฉัน เพราะได้เห็นเธออยู่ในที่ลับแต่ผู้เดียว ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโภชนะนี้. บทว่า อีทิสํ ความว่า พระราชาตรัสถามพระมหาสัตว์ว่า ผู้บริโภคโภชนะไม่มีรสเค็ม ไม่เปรี้ยว ไม่มีการปรุงรส ผสมน้ำ เห็นปานนี้ เหตุไรจึงมีผิวพรรณผ่องใส.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะทูลตอบแด่พระราชา จึงตรัสว่า
มหาบพิตร อาตมภาพนอนผู้เดียวบนเครื่องลาดใบไม้ที่ปูลาดไว้ เพราะการนอนผู้เดียวนั้น ผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส. การรักษาทางราชการที่ผูกเหน็บดาบของอาตมภาพไม่มี เพราะการนอนผู้เดียวนั้น ผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส. ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่ตามเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว ไม่ปรารถนาถึงอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะเหตุนั้น ผิวพรรณจึงผ่องใส. คนพาลทั้งหลายย่อมเหี่ยวแห้ง เพราะเหตุ ๒ อย่างนั้น คือ เพราะปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง เพราะตามเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว ดุจไม้อ้อที่ยังเขียวสด ถูกถอนทิ้งไว้ที่แดดฉะนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เนตฺตึ สพนฺธา ได้แก่ ผูกเหน็บพระขรรค์. บทว่า ราชรกฺขา ได้แก่ พระราชาทรงรักษา. บทว่า นปฺปชปฺปามิ แปลว่า ไม่ปรารถนา. บทว่า หริโต แปลว่า มีสีเขียวสด. บทว่า ลุโต ความว่า ราวกะว่าไม้อ้อที่ถูกถอดทิ้งไว้กลางแดด.

ลำดับนั้น พระราชามีพระดำริว่า เราจักอภิเษกลูกของเราในที่นี้ แล้วพากลับไปพระนคร เมื่อจะเชิญพระมหาสัตว์ให้ครองราชสมบัติ จึงตรัสว่า
ลูกรัก ดิฉันขอมอบกองพลช้าง กองพลรถ กองพลม้า กองพลราบ และกองพลผูกเกราะ ตลอดถึงพระราชนิเวศน์อันเป็นที่รื่นรมย์แก่พ่อ และขอมอบนางสนมกำนัลใน ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพแก่พ่อ พ่อจงปฏิบัติในนางเหล่านั้น จงเป็นพระราชาของดิฉันทั้งหลาย สตรี ๔ คนเป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง ศึกษามาดีแล้ว จักทำให้ลูกรื่นรมย์ในกาม พ่อจักทำอะไรในป่า. ดิฉันจักนำราชกัญญาจากพระราชาเหล่าอื่น ที่ตกแต่งแล้วมาเพื่อพ่อ พ่อจงให้นางเหล่านั้นมีโอรสมากๆ แล้วจึงผนวชต่อภายหลัง พ่อยังเยาว์เป็นหนุ่มแน่น ตั้งอยู่ในปฐมวัย มีเกศาดำสนิท จงครองราชสมบัติเถิด ขอพ่อจงเจริญ จักทำอะไรในป่า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หตฺถานีกํ ความว่า ช้างโขลงใหญ่ตั้งแต่ ๑๐ เชือกขึ้นไปชื่อว่า กองพลช้าง กองพลรถก็อย่างนั้น. บทว่า จมฺมิโน ได้แก่ กองทหารกล้าตายสวมเกราะ. บทว่า กุสลา แปลว่า ผู้ฉลาด. บทว่า สุสิกฺขิตา ความว่า เป็นผู้ได้รับการศึกษาดีในหน้าที่ของหญิงแม้อื่นๆ. บทว่า จตุริยฺถิโย ได้แก่ หญิงงามมีเสน่ห์ ๔ คน อีกอย่างหนึ่ง หญิงชาวเมือง ๔ คน อีกอย่างหนึ่ง หญิงฟ้อนรำ ๔ คน. บทว่า ปฏิราชูหิ กญฺญา ความว่า ลูกรัก พ่อจักนำราชกัญญาอื่นๆ แต่พระราชาอื่นๆมาให้ลูก. บทว่า ยุวา ได้แก่ ถึงความเป็นหนุ่ม. บทว่า ทหโร แปลว่า หนุ่ม. บทว่า ปฐมุปฺปตฺติโต ความว่า เกิดขึ้น คือ ขึ้นต้นโดยปฐมวัย. บทว่า สุสู ความว่า ยังหนุ่มแน่นมีเกศาดำขลับ.

ตั้งแต่นี้ไป เป็นธรรมกถาของพระมหาสัตว์ พระมหาสัตว์ เมื่อทรงแสดงธรรมถวายพระราชา ตรัสว่า
คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ควรเป็นคนหนุ่ม การบรรพชาควรเป็นของคนหนุ่ม ข้อนั้นท่านผู้แสวงหาคุณธรรมทั้งหลายสรรเสริญแล้ว. คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ควรเป็นหนุ่ม อาตมภาพจักประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ต้องการราชสมบัติ.
อาตมภาพเห็นเด็กชายของท่านทั้งหลายผู้เรียกมารดาบิดา ซึ่งเป็นบุตรที่รักอันได้มาโดยยาก ยังไม่ทันแก่ก็ตายเสียแล้ว. อาตมภาพเห็นเด็กหญิงของท่านทั้งหลายซึ่งเป็นเด็กหญิงที่สวยงามน่าชมสิ้นชีวิต เหมือนหน่อไม้ไผ่ยังอ่อนที่ถูกถอนฉะนั้น.
จริงอยู่ นรชนจะเป็นชายหนุ่มหรือหญิงสาวก็ตาม ตายทั้งนั้น. ใครเล่าจะพึงวางใจในชีวิตว่า เรายังหนุ่มอยู่ อายุของคนเราเป็นของน้อยนัก เพราะวันคืนล่วงไปๆ เหมือนอายุของฝูงปลาในน้ำน้อย ความเป็นหนุ่มสาวในวัยนั้น จักทำอะไรได้.
สัตว์โลกถูกครอบงำและถูกห้อมล้อมอยู่เป็นนิตย์ เมื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เป็นไปอยู่ มหาบพิตรจะอภิเษกอาตมภาพในราชสมบัติทำไม.


พระราชาตรัสถามว่า
สัตว์โลกถูกอะไรครอบงำไว้ และถูกอะไรห้อมล้อมไว้ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์อะไรเป็นไปอยู่ ดิฉันถามแล้ว พ่อจงบอกข้อนั้นแก่ดิฉัน.


พระมหาสัตว์ตรัสว่า
สัตว์โลกถูกความตายครอบงำไว้ ถูกความแก่ห้อมล้อมไว้ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ คือคืนวันเป็นไปอยู่. มหาบพิตรจงทรงทราบอย่างนี้ ขอถวายพระพร เมื่อด้ายที่เขากำลังทอ ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอก็ยังเหลืออยู่น้อยเท่านั้น แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น.
แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมไม่ไหลไปสู่ที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่กลับไปสู่ความเป็นเด็กอีก ฉันนั้น. แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมพัดพาเอาต้นไม้ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไป ฉันใด สัตว์ทั้งปวงย่อมถูกชราและมรณะพัดพาไป ฉันนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺรหฺมจารี ยุวา สิยา ความว่า ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ควรเป็นคนหนุ่มทีเดียว. บทว่า อิสีภิ วณฺณิตํ ความว่า ท่านผู้แสวงหาคุณธรรมทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น สรรเสริญแล้ว คือชมเชยแล้ว. บทว่า รชฺเชนมตฺถิโก ความว่า อาตมภาพไม่ต้องการราชสมบัติ. บทว่า อมฺมตาต วทนฺนรํ ได้แก่ ซึ่งนระผู้เรียกว่า แม่จ๋าพ่อจ๋า. บทว่า ปลุตฺตํ ความว่า ถูกความตายถอนขึ้นยึดไว้. บทว่า ยสฺส รตฺยาธิวาเสน ความว่า มหาบพิตร ตั้งแต่เวลาที่เด็กถือปฏิสนธิในครรภ์มารดา อายุก็น้อยลงเรื่อยๆ เพราะคืนวันล่วงไปๆ. บทว่า โกมาริกํ ตหึ ความว่า ในวัยนั้น ความเป็นหนุ่มจักทำอะไรได้. บทว่า เกนมพฺภาหโต ความว่า โลกนี้ถูกอะไรครอบงำไว้ พระราชาไม่ทรงทราบเนื้อความของคำที่กล่าวไว้โดยย่อ จึงตรัสถามข้อนี้. บทว่า รตฺยา แปลว่า ราตรีทั้งหลาย มหาบพิตร ราตรีทั้งหลายย่อมทำอายุ วรรณะ และพละของสัตว์เหล่านี้ให้สิ้นไป เป็นไปอยู่ ดังนั้นพึงทราบว่า ชื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เป็นไปอยู่. บทว่า ยํ ยํ เทโว ปวุยฺหติ ความว่า ในผ้าที่กำลังทออยู่ เมื่อทำส่วนที่เหลือซึ่งจะต้องทอนั้นๆ ให้เต็ม ย่อมเหลืออยู่น้อย ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ ฉันนั้น. บทว่า น ปรวตฺตติ ความว่า น้ำที่ไหลไปเรื่อยๆอยู่ ในขณะนั้นย่อมไม่ไหลไปในที่สูง. บทว่า วเห รุกฺเข ปกุลเช ความว่า พึงพัดพาต้นไม้ทั้งหลายที่เกิดใกล้ฝั่งไป.

พระราชาทรงสดับธรรมกถาของพระมหาสัตว์แล้ว ไม่ทรงคิดผูกพัน ด้วยการครองเรือน มีพระราชประสงค์จะทรงผนวช ตรัสว่า เราจักไม่ไปพระนครอีก จักบรรพชาในที่นี้แหละ ถ้าลูกของเราไปพระนคร เราจะให้เศวตฉัตรแก่เขา ดังนี้
เพื่อจะทรงทดลองพระมหาสัตว์ จึงตรัสเชื้อเชิญด้วยราชสมบัติอีกว่า
ลูกรัก ดิฉันขอมอบกองพลช้าง กองพลรถ กองพลม้า กองพลราบ และ กองพลผูกเกราะ ตลอดถึงพระราชนิเวศอันเป็นที่รื่นรมย์แก่พ่อ และขอมอบนางสนมกำนัลใน ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพแก่พ่อ พ่อจงปฏิบัติในนางเหล่านั้น จงเป็นพระราชาของดิฉันทั้งหลาย สตรี ๔ คนเป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง ศึกษามาดีแล้ว จักทำให้ลูกรื่นรมย์ในกาม พ่อจะทำอะไรในป่า ดิฉันจักนำราชกัญญาจากพระราชาเหล่าอื่น ที่ตกแต่งแล้วมาเพื่อพ่อ พ่อจงให้นางเหล่านั้นมีโอรสมากๆ แล้วจึงผนวชต่อภายหลัง ลูกรัก ดิฉันขอให้ฉางหลวงพระคลัง พาหนะ และกองพลทั้งหลาย ตลอดถึงพระราชนิเวศน์ อันเป็นที่รื่นรมย์แก่พ่อ พ่อจงแวดล้อมด้วยราชกัญญาอันงดงามเป็นปริมณฑล มีหมู่บริจาริกานารีห้อมล้อม จงครองราชสมบัติเถิด ขอพ่อจงเจริญ จักทำอะไรในป่า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โคมณฺฑลปริพฺยุฬโห ความว่า มีเหล่าราชกัญญาผู้สวยงามห้อมล้อมเป็นวง.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เป็นประกาศความที่พระองค์ไม่ต้องการราชสมบัติ ตรัสว่า
มหาบพิตรจะให้อาตมภาพเสื่อมไป เพราะทรัพย์ทำไม. บุคคลจักตาย เพราะภริยาทำไม. ประโยชน์อะไรด้วยความเป็นหนุ่มสาว ซึ่งต้องแก่. ทำไมจะต้องให้ชราครอบงำ ในโลกสันนิวาสซึ่งมีชราและมรณะเป็นธรรมดานั้น จะเพลิดเพลินไปทำไม จะเล่นหัวไปทำไมจะยินดีไปทำไม จะมีประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ จะมีประโยชน์อะไรด้วยบุตรและภริยาแก่อาตมภาพ.
มหาบพิตร อาตมภาพเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก มัจจุราชย่อมไม่ประมาทในอาตมภาพผู้รู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลเมื่อถูกมัจจุราชครอบงำแล้ว จะยินดีไปทำไม จะประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์.
ผลไม้ที่สุกแล้ว ย่อมเกิดภัย แต่การหล่นเป็นนิตย์ ฉันใด สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วย่อมมีภัยแต่ความตายเป็นนิตย์ ฉันนั้น.
ชนเป็นอันมากเห็นกันอยู่ในเวลาเช้า บางพวกพอตกเวลาเย็นก็ไม่เห็นกัน ชนเป็นอันมากเห็นกันอยู่ในเวลาเย็น บางพวกพอถึงเวลาเช้าก็ไม่เห็นกัน.
ภูมิประเทศที่ตั้งกองช้าง กองรถ กองราบ ย่อมไม่มีในสงคราม คือมรณะนั้น ไม่อาจจะต่อสู้เอาชัยชนะต่อมฤตยู ด้วยเวทมนต์ หรือยุทธวิธี หรือสินทรัพย์ได้.
มฤตยูมิได้เว้นกษัตริย์ พราหมณ์ พ่อค้า ลูกจ้าง คนจัณฑาล และคนเทหยากเยื่อไรๆ ย่อมย่ำยีทั้งหมดทีเดียว ควรรีบทำความเพียรในวันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะพึงรู้ว่าตายพรุ่งนี้ เพราะความผลัดผ่อนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ไม่มีเลย.
โจรทั้งหลายย่อมปรารถนาทรัพย์ อาตมภาพเป็นผู้พ้นจากเครื่องผูก ขอถวายพระพร เชิญมหาบพิตรเสด็จกลับไปเถิด อาตมภาพไม่ต้องการราชสมบัติ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชิยฺเยถ ความว่า มหาบพิตร พระองค์ทรงเชื้อเชิญอาตมภาพเหตุทรัพย์ทำไม. ทรัพย์ซึ่งสิ้นไปย่อมละเสียซึ่งบุคคล บางทีบุคคลย่อมละเสียซึ่งทรัพย์ไป แม้สิ่งที่ปวงก็ย่อมถึงความสิ้นไปทั้งนั้น. พระองค์ทรงเชื้อเชิญอาตมภาพเหตุทรัพย์ทำไม.
บทว่า กึ ภริยาย มริสฺสติ ความว่า เมื่ออาตมภาพยังดำรงอยู่ ภรรยาก็จักตาย เมื่อภรรยานั้นยังดำรงอยู่ แม้อาตมภาพก็จักตาย พระองค์จักทำอะไรด้วยภรรยานั้น. บทว่า ชิณฺเณน ความว่า อันชราห้อมล้อมครอบงำ. บทว่า ตตฺถ ความว่า ในโลกสันนิวาสซึ่งมีชราและมรณะเป็นธรรมดา. บทว่า กา นนฺทิ ความว่า จะยินดีไปทำไม. บทว่า กา ขิฑฺฑา ความว่า จะเล่นไปทำไม. บทว่า กา รติ ความว่า จะยินดีในกามคุณห้าไปทำไม.
บทว่า พนฺธนา ความว่า เพราะข่มไว้ได้ด้วยฌาน พระมหาสัตว์จึงตรัสอย่างนี้ว่า มหาบพิตร อาตมภาพเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูกคือกาม หรือจากเครื่องผูกคือตัณหา.
บทว่า มจฺจุ เม ความว่า มัจจุราชไม่ประมาทในเรา. บทว่า นปฺปมชฺชสิ ความว่า เป็นผู้ไม่ประมาทเพื่อจะฆ่าอาตมภาพเป็นนิจเลย. บทว่า โยหํ ความว่า อาตมภาพทราบอย่างนี้. บทว่า อนฺตเกนาธิปนฺนสฺส ความว่า เมื่ออาตมภาพถูกความตายครอบงำ คือหยั่งลงแล้ว จะยินดีแสวงหาทรัพย์ไปทำไม. บทว่า นิจฺจํ ความว่า ภัยแต่มรณะย่อมเกิดขึ้นในกาลทั้งปวง จำเดิมแต่กาลที่เป็น กลละ. บทว่า อาตปฺปํ ได้แก่ ความเพียรในกุศลกรรม. บทว่า กิจฺจํ แปลว่า พึงกระทำ. บทว่า โก ชญฺญา มรณํ สุเว ความว่า ใครจะรู้ว่า จะเป็นจะตายในวันพรุ่งนี้ หรือวันมะรืนนี้. บทว่า สงฺครํ ได้แก่ กำหนด. บทว่า มหาเสเนน ความว่า ผู้มีเสนามาก มีมหาภัย ๒๕ กรรมกรณ์ ๓๒ และโรค ๙๖ เป็นต้น. บทว่า โจรา ธนสฺส ปตฺเถนฺติ ความว่า โจรทั้งหลาย เมื่อสละชีวิตเพื่อต้องการ ทรัพย์ ชื่อว่าปรารถนาทรัพย์. บทว่า ราช มุตฺโตสฺมิ ความว่า มหาบพิตร อาตมภาพพ้นแล้วจากเครื่องผูก กล่าวคือ ความปรารถนาทรัพย์ อาตมภาพไม่ต้องการทรัพย์.
บทว่า นิวตฺตสฺสุ ความว่า ขอมหาบพิตรทรงกลับพระหฤทัยโดยชอบตามคำของอาตมภาพ มหาบพิตรจงละราชสมบัติทรงผนวช ทำเนกขัมมคุณให้เป็นที่พึ่งจะมิดีหรือ อนึ่ง มหาบพิตรอย่าได้มีพระราชดำริ ถึงเรื่องที่มหาบพิตรได้มีพระราชดำริไว้นั้นว่า เราจะให้ลูกของเราคนนี้ดำรงอยู่ในราชสมบัติ อาตมภาพไม่ต้องการราชสมบัติ.
ธรรมเทศนาของพระมหาสัตว์ ชื่อว่ายถานุสนธิ จบลงด้วยประการฉะนี้.

นางสนมหมื่นหกพันคน และประชาชนมีเหล่าอมาตย์เป็นต้น นับตั้งแต่พระราชา และพระนางจันทาเทวีเป็นต้น ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระมหาสัตว์นั้นแล้ว ได้มีความประสงค์จะบรรพชาในคราวนั้น ครั้งนั้น พระราชาโปรดให้ตีกลองประกาศในพระนครว่า ชนใดๆปรารถนาจะบวชในสำนักของลูกเรา ชนนั้นๆ จงบวชเถิด และโปรดให้เปิดประตูพระคลังทองเป็นต้นทั้งหมด แล้วให้จารึกในแผ่นทองผูกไว้ที่เสาท้องพระโรงว่า หม้อขุมทรัพย์ใหญ่มีอยู่ในที่โน้นด้วยในที่โน้นด้วย ผู้ที่ต้องการจงถือเอาเถิด
ฝ่ายชาวพระนครทั้งหลาย ก็ละทิ้งร้านตลาดตามที่เปิดเสนอขายของกัน และทิ้งบ้านเรือนซึ่งเปิดประตูไว้ ไปสู่สำนักแห่งพระราชา พระราชาทรงผนวชในสำนักของพระมหาสัตว์ พร้อมด้วยประชาชนเป็นจำนวนมาก. อาศรมสถานสามโยชน์ที่ท้าวสักกเทวราชถวาย เต็มไปหมด. พระมหาสัตว์ทรงพิจารณาบรรณศาลาทั้งหลาย ทรงมอบบรรณศาลาทั้งหลายในที่ท่ามกลางแก่เหล่าสตรี เพราะเหตุไร เพราะสตรีเหล่านี้เป็นคนขลาด. พระมหาสัตว์ทรงพิจารณาแล้ว ทรงมอบบรรณศาลาหลังนอกๆ แก่เหล่าบุรุษ. บรรพชิตชายหญิงทั้งหมดเก็บผลไม้ ที่ต้นมีผลทั้งหลาย อันพระวิสสุกรรมเนรมิตไว้ ซึ่งหล่นลงที่พื้นดิน ในวันรักษาอุโบสถ มาบริโภคแล้วเจริญสมณธรรม. บรรดาบรรพชิตเหล่านั้น ผู้ใดตรึกกามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตก พระมหาสัตว์ทรงทราบวาระจิตแห่งผู้นั้น เสด็จประทับนั่งแสดงธรรมสั่งสอนในอากาศ บรรพชิตเหล่านั้นทั้งหมดฟังพระโอวาทนั้นแล้ว ทำอภิญญาห้าและสมาบัติ(แปด) ให้เกิดพลันทีเดียว.
กาลนั้น กษัตริย์สามนตราชองค์หนึ่งทรงสดับว่า ได้ยินว่า พระเจ้ากาสิกราชทรงผนวชแล้ว จึงทรงคิดว่า เราจักยึดเอาราชสมบัติในกรุงพาราณสีเสีย จึงเสด็จออกจากพระนคร (ของพระองค์) ถึงกรุงพาราณสี เสด็จเข้าสู่พระนคร ทอดพระเนตรเห็น พระนครซึ่งตกแต่งไว้ จึงเสด็จขึ้นพระราชนิเวศ ทอดพระเนตรดูรัตนะอันประเสริฐเจ็ดประการ ทรงจินตนาการว่า ภัยอย่างหนึ่งพึงมีเพราะอาศัยทรัพย์นี้ รับสั่งให้เรียกพวกนักเลงสุรามา ตรัสถามว่า แน่ะพ่อนักดื่มทั้งหลาย ในพระนครนี้ มีภัยเกิดขึ้นแก่พระราชาผู้เป็นเจ้านายของพวกท่านหรือ.
พวกนักเลง. ไม่มีพระเจ้าข้า.
กษัตริย์สามนตราช. ตรัสถามว่า เพราะเหตุไร?
ก็ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ เตมิยกุมาร ผู้เป็นโอรสของพระราชาของพวกข้าพระองค์ ทรงเห็นว่า จักครองราชสมบัติในกรุงพาราณสีทำไม มิได้เป็นใบ้ก็แสร้งทำเป็นใบ้ เสด็จออกจากพระนครนี้เข้าป่า ทรงผนวชเป็นฤาษี เพราะเหตุนั้น แม้พระราชาของพวกข้าพระองค์พร้อมด้วยมหาชน ก็ได้เสด็จออกจากพระนครนี้ไปสำนักของเตมิยกุมาร ทรงผนวชแล้ว. พระเจ้าสามนตราชตรัสถามว่า พระราชาของพวกเจ้าเสด็จออกทางประตูไหน. เมื่อเขากราบทูลว่า เสด็จออกทางประตูทิศตะวันออก ก็เสด็จออกทางประตูนั้นเหมือนกัน ได้เสด็จไปตามฝั่งแม่น้ำ.
พระมหาสัตว์ทรงทราบว่า พระเจ้าสามนตราชเสด็จมาทรงต้อนรับ แล้วประทับนั่งในอากาศแสดงธรรมแก่พระเจ้าสามนตราชนั้น พระราชาสามนตราชนั้นพร้อมด้วยบริษัท ทรงสดับธรรมแล้ว ทรงผนวชในสำนักของพระมหาสัตว์นั้น แม้พระราชาอื่นๆ อีกสามพระองค์ ต่างก็ทรงละทิ้งราชสมบัติทรงผนวชแล้วอย่างนั้นนั่นแล ด้วยประการฉะนี้ ประเทศตรงนั้นได้เป็นมหาสมาคม ช้างทั้งหลายก็กลายเป็นช้างป่า ม้าทั้งหลายก็กลายเป็นม้าป่า แม้รถทั้งหลายก็ชำรุดทรุดโทรมไปในป่านั่นเอง ภัณฑะเครื่องใช้สอย และกหาปณะทั้งหลายก็เรี่ยราดเกลื่อน ดุจทรายที่ใกล้อาศรมสถาน บรรพชิตทั้งหมดนั้นทำสมาบัติแปดให้บังเกิดในที่นั้นเอง เมื่อสิ้นชีวิตได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า แม้ช้างและม้าทั้งหลายซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉาน ยังจิตให้เลื่อมใสในหมู่ฤาษีทั้งหลาย ได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นกามาพจร ๖ ชั้น.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เราละราชสมบัติออกบวช. แม้ในกาลก่อน เราก็ได้ละราชสมบัติออกบวชเหมือนกัน ดังนี้แล้ว ทรงประกาศอริยสัจ ๔
แล้วประชุมชาดก.
เทพธิดาผู้สิงสถิตอยู่ที่เศวตฉัตรในกาลนั้น เป็น ภิกษุณี ชื่ออุบลวรรณา ในบัดนี้.
นายสุนันทสารถี เป็น พระสารีบุตร.
ท้าวสักกะ เป็น พระอนุรุทธ์.
พระชนกและพระชนนี เป็น มหาราชสกุล.
บริษัทนอกนี้ เป็น พุทธบริษัท.
ส่วนบัณฑิตผู้ทำเป็นใบ้ ทำเป็นง่อยเปลี้ย คือ เราผู้สัมมาสัมพุทธ นี่เองแล.

-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา เตมิยชาดก จบ.
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒][๓]
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]