ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

อรรถกถา มโหสถชาดก
พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี

หน้าต่างที่   ๑๐ / ๑๒.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น ตรัสว่า
เสนกะเดินไปก่อน มโหสถเดินไปข้างหลัง พระเจ้าวิเทหราชเสด็จดำเนินไปท่ามกลาง พร้อมด้วยอมาตย์ห้อมล้อมเป็นราชบริพาร.

คนหนุ่มผู้รับใช้ของมโหสถเหล่านั้นรู้ว่า พระเจ้าวิเทหราชเสด็จมา จึงนำพระนางสลากเทวีพระราชมารดาพระเจ้าจุลนี พระนางนันทาเทวีมเหสีพระเจ้าจุลนี และพระปัญจาลจันทราชกุมาร พระนางปัญจาลจันทีราชกุมารี ผู้เป็นราชโอรสราชธิดาของพระเจ้าจุลนี ออกจากอุโมงค์ให้ประทับอยู่ ณ พลับพลากว้างใหญ่. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชเสด็จออกจากอุโมงค์กับมโหสถ. กษัตริย์ทั้ง ๔ คือ พระนางสลากเทวี พระนางนันทาเทวี ปัญจาลจันทกุมาร ปัญจาลจันทีกุมารี ได้ทอดทัศนาการเห็นพระเจ้าวิเทหราชกับมโหสถ ก็ทราบว่า พวกเราตกอยู่ในเงื้อมมือผู้อื่นโดยไม่สงสัย. เหล่าคนของมโหสถจับพวกเรามา ก็ครั่นคร้ามต่อมรณภัย ทั้งกลัวทั้งสะดุ้งร้องอึง.
ได้ยินว่า พระเจ้าจุลนีเสด็จไปรักษาอยู่ ณ สถานที่ ๑ คาวุต ใกล้ฝั่งคงคา ด้วยทรงเกรง พระเจ้าวิเทหราชจะหนี. ก็พระเจ้าจุลนีในเมื่อราตรีเงียบสงัด ได้ทรงฟังเสียงร้องของกษัตริย์ทั้ง ๔ เป็นผู้ใคร่จะตรัสว่า เสียงนั้นเป็นเสียงนางนันทาเทวี แต่ก็หาได้ตรัสอย่างไรไม่ ด้วยทรงเกรงความเย้ยหยันว่า พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระนางนันทาเทวีที่ไหน. พระมหาสัตว์เชิญให้พระนางปัญจาลจันทีราชกุมารีประทับบนกองรัตนะ แล้วอภิเษกในที่นั้น. แล้วกราบทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า พระองค์เสด็จมาเพราะเหตุการณ์นี้. พระราชกุมารีนี้จงเป็นมเหสีของพระองค์. เรือ ๓๐๐ ลำได้เทียบอยู่แล้ว. พระเจ้าวิเทหราชเสด็จลงจากพลับพลากว้าง ขึ้นสู่เรืออันตกแต่งแล้ว. แม้กษัตริย์ทั้ง ๔ ก็ขึ้นสู่เรือ.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น ตรัสว่า
พระเจ้าวิเทหราชเสด็จออกจากอุโมงค์ ขึ้นสู่เรือแล้ว มโหสถรู้ว่าพระองค์ขึ้นสู่เรือแล้ว ได้ถวายอนุศาสน์ว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระเจ้าจุลนีพรหมทัตนี้เป็นพระสัสสุระของพระองค์.
ข้าแต่พระจอมประชากร พระนางนันทาเทวีนี้เป็นพระสัสสูของพระองค์ การปฏิบัติพระราชมารดาของพระองค์อย่างใด จงมีแก่พระสัสสูของพระองค์อย่างนั้น.
ข้าแต่พระราชา พระเชษฐภาดาร่วมพระอุทรพระมารดาเดียวกันโดยตรงของพระองค์ ทรงรักใคร่อย่างใด พระปัญจาลจันทราชกุมาร พระองค์ควรทรงรักใคร่อย่างนั้น.
พระนางปัญจาลจันทีนี้ เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าพรหมทัตที่พระองค์ทรงปรารถนา พระองค์จงทำความใคร่ของพระองค์แก่พระนาง พระนางจงเป็นพระมเหสีของพระองค์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุสาสิ ความว่า ได้ยินว่า มโหสถนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ในกาลบางคราว พระเจ้าวิเทหราชอาจกริ้ว แล้วฆ่าพระชนนีของพระเจ้าจุลนีเสีย พึงสำเร็จสังวาสกับพระนางนันทาเทวีผู้มีพระรูปงดงาม พึงฆ่าพระราชกุมารเสียก็ได้ จำเราจักถือปฏิญญาของพระเจ้าวิเทหราชไว้ เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวถวายอนุศาสน์ด้วยคำว่า อยํ เต เป็นต้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อยํ เต สสฺสุโร ความว่า พระปัญจาลจันทกุมารนี้เป็นพระโอรสของพระเจ้าจุลนีผู้เป็นพระสัสสุระของพระองค์ เป็นพระกนิษฐภาดาของพระนางปัญจาลจันที บัดนี้ พระเจ้าจุลนีเป็นพระสัสสุระของพระองค์. บทว่า อยํ สสฺสุ ความว่า พระมารดาของพระนางปัญจาลจันทีนี้ พระนามว่านันทาเทวี เป็นพระสัสสูของพระองค์. บทว่า ยถา มาตุ ความว่า บุตรย่อมกระทำวัตรปฏิบัติแก่มารดา ฉันใด. พระองค์จงมีการกระทำวัตรปฏิบัติแก่พระนางนันทาเทวี ฉันนั้น. ยังมาตุสัญญาซึ่งมีกำลังกว่าให้ปรากฏ อย่าทรงแลดูพระนางนันทาเทวีด้วยโลภจิต ไม่ว่าในกาลไรๆ. บทว่า นิยโก ความว่า เป็นผู้เกิดภายใน คือเกิดด้วยบิดามารดาเดียวกัน. บทว่า ทยิตพฺโพ แปลว่า พึงประพฤติเป็นที่รัก. บทว่า ภริยา ความว่า พระนางปัญจาลจันทีนี้จักเป็นมเหสีของพระองค์ พระองค์อย่าทรงดูหมิ่นพระนางนี้.
มโหสถบัณฑิตได้ถือปฏิญญาของพระเจ้าวิเทหราชอย่างนี้.

พระเจ้าวิเทหราชทรงรับคำว่า ดีแล้ว. ก็มโหสถไม่กล่าวอะไรๆ ปรารภถึงพระราชชนนีพระเจ้าจุลนี เพราะเหตุไรจึงไม่กล่าวปรารภถึง เพราะพระราชชนนีนั้นทรงพระชราแล้ว. พระโพธิสัตว์ยืนกล่าวเรื่องทั้งปวงอยู่ริมฝั่งคงคา.
ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราชเป็นผู้ใคร่จะเสด็จไปด้วยความพ้นจากทุกข์ใหญ่ จึงตรัสกะมโหสถว่า ดูก่อนพ่อ เจ้าจะยืนอยู่ริมฝั่งคงคาทำอะไร แล้วตรัสคาถาว่า
ดูก่อนมโหสถ เจ้าจงรีบขึ้นเรือ เจ้าจะยืนอยู่ริมฝั่งคงคาทำไมหนอ เราทั้งหลายพ้นจากทุกข์แล้วโดยยาก จงไปบัดนี้เถิด.

พระมหาสัตว์ได้ฟังรับสั่งจึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ การโดยเสด็จด้วยพระองค์ ยังไม่ควรแก่ข้าพระองค์ก่อน แล้วทูลว่า
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า การที่ข้าพระองค์ผู้เป็นนายกแห่งเสนามาทอดทิ้งเสนางคนิกรเสีย เอาแต่ตัวรอด หาชอบไม่ ข้าพระองค์จักนำมาซึ่งเสนางคนิกรในกรุงมิถิลาที่พระองค์ละไว้ และสิ่งของที่พระเจ้าพรหมทัตประทานแล้ว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺโม ได้แก่ สภาวะ. บทว่า นิเวสนมฺหิ ท่านกล่าวหมายเอาพระนคร. บทว่า ปริโมจเย แปลว่า พึงปลดเปลื้อง. บทว่า ปริหาปิตํ แปลว่า ทิ้งไว้.

มโหสถกล่าวคาถาดังนี้ แล้วกราบทูลว่า ก็เมื่อเหล่าชนมาแต่ทางไกล บางพวกเคี้ยวกิน บางพวกดื่ม บางพวกเหน็ดเหนื่อยก็นอนหลับ ไม่รู้การที่พวกเราออกจากอุโมงค์แล้ว บางพวกเจ็บป่วย ทำงานมากับข้าพระองค์ตลอด ๔ เดือน เป็นคนมีอุปการะแก่ข้าพระองค์ ก็บรรดาชนเหล่านั้นมีมาก ข้าพระองค์ไม่อาจจะทิ้งแม้คนหนึ่งไป แต่ข้าพระองค์จักกลับนำมาซึ่งเสนาทั้งปวงของพระองค์ และทรัพย์ที่พระเจ้าจุลนีประทานมิให้เหลือไว้ ขอพระองค์อย่าเฉื่อยช้าในที่ไหน รีบเสด็จ ขอพระองค์ทรงละช้างม้าพาหนะเป็นต้น ที่ข้าพระองค์วางไว้ในหนทางเป็นระยะซึ่งเหน็ดเหนื่อยแล้วๆ เสีย เสด็จขึ้นพระยานมาศที่สามารถเข้าสู่กรุงมิถิลาเสียโดยเร็วพลัน.
ลำดับนั้น พระราชาได้ตรัสคาถาว่า
ดูก่อนบัณฑิต เจ้าเป็นผู้มีเสนาน้อย จักข่มพระเจ้าจุลนีผู้มีเสนามากตั้งอยู่อย่างไร เจ้าเป็นผู้ไม่มีกำลัง จักลำบากด้วยพระเจ้าจุลนีผู้มีกำลัง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิคฺคยฺห ได้แก่ ครอบงำ. บทว่า วิหญฺญิสฺสสิ แปลว่า จักลำบาก.

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์กล่าวคาถาว่า
ถ้าบุคคลมีความคิด แม้มีเสนาน้อยย่อมชนะบุคคลผู้ไม่มีความคิดที่มีเสนามากได้ พระราชาพระองค์เดียว ย่อมชนะพระราชาทั้งหลายได้ ดุจดวงอาทิตย์อุทัยกำจัดความมืด ฉะนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มนฺตี ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความคิด คือมีปัญญา คือฉลาดในอุบาย. บทว่า อมนฺตินํ ได้แก่ ผู้ไม่ฉลาดในอุบาย. บทว่า ชินาติ ความว่า ผู้มีปัญญาย่อมชนะผู้มีปัญญาทราม. บทว่า ราชา ราชาโน ความว่า พระราชาเห็นปานนี้แม้พระองค์เดียว ก็ย่อมชนะพระราชาทั้งหลายที่มีปัญญาทรามแม้มาก เหมือนอย่างอะไร. บทว่า อาทิจฺโจวุทยนฺตมํ ความว่า ดวงอาทิตย์อุทัยส่องแสงสว่าง กำจัดความมืด ฉันใด. ผู้มีปัญญาย่อมชนะและย่อมไพโรจน์ราวกะดวงอาทิตย์ ฉันนั้น.

ก็แลครั้นทูลดังนี้แล้ว พระมหาสัตว์ถวายบังคมพระเจ้าวิเทหราช กราบทูลว่า เชิญพระองค์เสด็จไปเถิด แล้วส่งเสด็จ. พระเจ้าวิเทหราชทรงนึกถึงคุณของพระโพธิสัตว์ว่า เราพ้นจากเงื้อมมือข้าศึกแล้วหนอ และความประสงค์ของเราก็ถึงที่สุดแล้ว เพราะได้นางปัญจาลจันทีราชธิดาพระเจ้าพรหมทัตแล้ว ก็บังเกิดพระปีติปราโมทย์. เมื่อจะตรัสสรรเสริญคุณของมโหสถแก่เสนกะ จึงตรัสคาถาว่า
แน่ะเสนกาจารย์ การอยู่ร่วมด้วยเหล่าบัณฑิต เป็นสุขดีหนอ เพราะว่ามโหสถปลดเปลื้องพวกเราผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึก ดุจบุคคลปลดเปลื้องฝูงนกที่ติดอยู่ในกรง หรือฝูงปลาที่ติดอยู่ในแห ฉะนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุสุขํ วต ความว่า การอยู่ร่วมด้วยบัณฑิตทั้งหลาย นี้เป็นสุขยิ่ง เป็นสุขยิ่งกว่าหนอ. บทว่า อิติ เป็นนิบาตลงในอรรถว่า เหตุ มีคำอธิบายว่า แน่ะอาจารย์เสนกะ เพราะมโหสถปลดเปลื้อง พวกเราที่ตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึก ฉะนั้น. เราจึงกล่าวว่า การอยู่ร่วมด้วยเหล่าบัณฑิตอย่างนี้ นี้เป็นสุขดีหนอ.

อาจารย์เสนกะได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้น เมื่อจะสรรเสริญคุณของมโหสถ จึงกล่าวว่า
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บัณฑิตทั้งหลายนำความสุขมาแท้จริง อย่างนี้ทีเดียว มโหสถปลดเปลื้องพวกเราผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึก ดุจบุคคลปลดเปลื้องฝูงนกที่ติดอยู่ในกรง หรือฝูงปลาที่ติดอยู่ในแห ฉะนั้น.

ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราชเสด็จขึ้นจากแม่น้ำ ถึงบ้านที่มโหสถให้สร้างไว้ทุกระยะ ๑ โยชน์ ชนทั้งหลายที่มโหสถวางไว้ในบ้านนั้นๆ ก็จัดช้างพาหนะข้าวน้ำเป็นต้นถวายพระราชา พระราชายังช้างม้ารถที่เหน็ดเหนื่อยแล้วๆ ให้กลับ เปลี่ยนสัตว์พาหนะนอกนี้ ถึงบ้านอื่นด้วยสัตว์พาหนะเหล่านั้น ล่วงมรรคา ๑๐๐ โยชน์ด้วยอุบายนี้ รุ่งเช้าก็เสด็จเข้ากรุงมิถิลา.
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ไปสู่ประตูอุโมงค์ เปลื้องดาบที่ตนเหน็บไว้ออก คุ้ยทรายที่ประตูอุโมงค์ฝังดาบนั้นไว้ในทรายนั้น. ก็แลครั้นฝังดาบ แล้วก็เข้าไปสู่อุโมงค์ แล้วออกจากอุโมงค์เข้าสู่เมืองที่สร้างไว้ ขึ้นปราสาทอาบน้ำหอมแล้ว บริโภคโภชนะมีรสเลิศต่างๆ แล้วไปสู่ที่นอนอันประเสริฐ. เมื่อนึกว่ามโนรถของเราถึงที่สุด แล้วก็หลับไป.
ฝ่ายพระเจ้าจุลนีตรวจเสนางคนิกรแล้วเสด็จถึงนครนั้นโดยกาลล่วงไปแห่งราตรีนั้น.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น ตรัสว่า
พระเจ้าจุลนีผู้มีกำลังมาก รักษาการตลอดราตรีทั้งสิ้น ครั้นอรุณขึ้น ก็เสด็จถึงอุปการนคร พระเจ้ากรุงอุตตรปัญจาละพระนามว่า จุลนี ผู้มีกำลังมากเสด็จทรงช้างที่นั่งตัวประเสริฐมีกำลัง อายุ ๖๐ ปี ได้ตรัสการทัพกะเสนาของพระองค์ พระองค์ทรงสวมเกราะแก้วมณี พระหัตถ์จับศร ได้ตรัสกะพวกเหล่าทวยหาญผู้รับใช้ ซึ่งชำนาญในศิลป์เป็นอันมากประชุมกันอยู่.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กสิณํ ได้แก่ ตลอดราตรีทั้งสิ้นไม่เหลือ. บทว่า อุเทนฺตํ ได้แก่ขึ้นไปอยู่. บทว่า อุปการํ ความว่า เสด็จถึงนครที่ได้ชื่อว่า อุปการ เพราะพระมหาสัตว์สร้างเทียบเคียงปัญจาลนคร. บทว่า อโวจ ความว่า ได้ตรัสกะเสนาของพระองค์. บทว่า เปสิเย ได้แก่ ผู้ทำการรับใช้ของพระองค์. บทว่า อชฺฌภาสิตฺถ ความว่า ตรัสยิ่งแล้ว คือได้ตรัสก่อนกว่านั่นเอง. บทว่า ปุถุคุมฺเพ ความว่า ผู้ดำรงอยู่ในศิลปะเป็นอันมาก คือรู้ศิลปะเป็นอเนก.

บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงข้อความเหล่านั้นโดยย่อ พระศาสดาจึงตรัสว่า
พระเจ้าจุลนีตรัสกะกองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ ผู้มีศิลปธนู ผู้ยิงแม่น ยิงขนทรายก็ไม่พลาด ผู้ประชุมกันอยู่แล้ว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปาสนมฺหิ ได้แก่ ผู้ชำนาญในการยิงธนู.
บทว่า กตหตฺเถ ได้แก่ ผู้ยิงแม่นเพราะยิงไม่ผิดพลาด.

บัดนี้ พระเจ้าจุลนี เมื่อจะตรัสสั่งให้จับเป็นพระเจ้าวิเทหราช จึงตรัสว่า
เจ้าทั้งหลายจงไสช้างพลายมีกำลัง อายุ ๖๐ ปี ช้างทั้งหลายจงย่ำยีนคร ที่พระเจ้าวิเทหราชทรงสร้างไว้ดีแล้วเสีย ลูกศรอันขาวด้วยเขี้ยวงา ปลายแหลมคมสามารถแทงกระดูกได้ เกลี้ยงเกลา เหล่านี้จงตกลงดังห่าฝนด้วยกำลังธนู. เหล่าโยธารุ่นหนุ่มสวมเกราะแกล้วกล้า มีอาวุธประกอบด้วยด้ามอันวิจิตร เหล่าช้างใหญ่แล่นมา จงหันหน้าสู้ช้างทั้งหลาย หอกทั้งหลายที่ขัดด้วยน้ำมันแล้ว มีแสงเป็นประกายวะวับรุ่งเรืองตั้งอยู่ ดังดาวประกายพรึก มีรัศมีมาก. เมื่อเหล่าโยธาของเรามีกำลังคืออาวุธ ทรงสังวาลคือเกราะ ไม่ล่าหนีในสงครามเช่นนี้ พระเจ้าวิเทหราชจักพ้นไปได้ที่ไหน หากจะเป็นเหมือนนกบินไปทางอากาศ ก็จักทำได้อย่างไร.
ก็โยธาของเราทั้งหมด ๓๙,๐๐๐ ซึ่งเราเที่ยวไปทั่วแผ่นดิน ไม่เห็นเทียมทัน สามารถตัดศีรษะข้าศึกเอามาคนละศีรษะได้. อนึ่ง ช้างพลายทั้งหลายอันประดับแล้ว มีกำลังอายุ ๖๐ ปี เหล่าโยธาหนุ่มๆมีผิวพรรณดังทองคำงดงามอยู่บนคอ โยธาทั้งหลายมีเครื่องประดับสีเหลือง นุ่งผ้าสีเหลือง ห่มผ้าเฉวียงบ่าสีเหลืองงดงามอยู่บนคอช้าง ดังเทพบุตรทั้งหลายในนันทนวัน ดาบทั้งหลายมีสีดังปลาสลาด ขัดถูด้วยน้ำมัน แสงวะวับ อันเหล่าโยธาผู้วีรบุรุษทำเสร็จแล้ว มีคมเสมอ มีคมยิ่ง เงาวับ ดาบทั้งหลายหาสนิมมิได้ ทำด้วยเหล็กกล้ามั่นคง อันเหล่าโยธาผู้มีกำลัง เชี่ยวชาญในวิธีประหาร ถือเป็นคู่มือแล้ว.
เหล่าโยธาผู้ถึงพร้อมด้วยความงามดังทองคำ สวมเสื้อสีแดงกวัดแกว่งดาบย่อมงดงาม ดังสายฟ้าแลบวาบอยู่ในระหว่างก้อนเมฆ เหล่าโยธาผู้กล้าหาญสวมเกราะ สามารถยังธงให้สะบัดในอากาศ ฉลาดในการใช้ดาบและเกราะ ถือดาบ ฝึกมาอย่างชำนาญสามารถจะตัดคอช้างให้ขาดตกลง. (แต่กาลก่อน)ท่านเป็นผู้อันหมู่ชนเช่นนี้แวดล้อม แต่กาลนี้ ความพ้นภัยของท่านไม่มี. เราไม่เห็นราชานุภาพของท่าน ที่จะเป็นเหตุให้ท่านไปกรุงมิถิลาได้เลย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทนฺตี ได้แก่ มีงาสมบูรณ์. บทว่า วจฺฉทนฺตมุขา ได้แก่ มีหน้าเช่นเหล็กสกัด. บทว่า ปนุณฺณา แปลว่า เกลี้ยงเกลา.
บทว่า สมฺปตนฺตุตรีตรา ความว่า ลูกศรเห็นปานนี้เหล่านั้นจงตกลง คือจงมาพร้อมกันแล้วๆ เล่าๆ พระเจ้าจุลนีมีพระดำรัสสั่งว่า พวกเจ้าจงหลั่งฝนคือลูกศร ให้เป็นเหมือนฝนลูกเห็บตก.
บทว่า มาณวา ได้แก่ ทหารหนุ่ม. บทว่า จมฺมิโน ได้แก่ ถือโล่. บทว่า จิตฺตทณฺฑยุตาวุธา ความว่า ประกอบด้วยอาวุธที่มีด้ามวิจิตร. บทว่า ปกฺขนฺทิโน ได้แก่ ผู้แล่นเข้าสงคราม.
บทว่า มหานาคา ความว่า แม้เมื่อช้างใหญ่ทั้งหลายทำโกญจนาทมา โยธาทั้งหลายก็สามารถที่จะยืนนิ่ง จับงาทั้งสองของช้างเหล่านั้น ถอนออกเสียได้. บทว่า สตรํสาว ตารกา ความว่า มีรัศมีมากราวกะดาวประกายพรึก. บทว่า อาวุธพลวนฺตานํ ได้แก่ ประกอบด้วยกำลังอาวุธ.
บทว่า คุณิกายุรธารินํ ความว่า เกราะท่านเรียกว่า คุณี ผู้ทรงไว้ซึ่งเกราะทั้งหลายด้วย ซึ่งเครื่องประดับ คือกำไลแขนทั้งหลายด้วย หรือผู้ทรงไว้ซึ่งกำไลแขน กล่าวคือเกราะ.
บทว่า สเจ ปกฺขีว กาหติ ความว่า พระเจ้าจุลนีตรัสว่า ถ้าจักบินไปได้ทางอากาศเหมือนนก แม้อย่างนั้น ก็จักพ้นไปได้อย่างไร. บทว่า ตึส เม ปุริสนาวุโตฺย ความว่า ท่านเรียกบุรุษ ๓๙,๐๐๐ ว่า ตึสนาวุโตฺย ดังนี้.
บทว่า สพฺเพ เจเกกนิจฺจิตา ความว่า พระเจ้าจุลนีทรงแสดงว่า โยธาของเราสามารถแย่งอาวุธจากมือคนอื่นๆ ตัดศีรษะปัจจามิตรทั้งหลายได้ เป็นโยธาที่คัดเลือกเป็นคนๆ อยู่ประจำการ.
บทว่า เกวลํ มหิมํ จรํ ความว่า เที่ยวไปตลอดแผ่นดินนี้ทั้งสิ้น.
บทว่า เยสํ สมํ น ปสฺสามิ ความว่า พระเจ้าจุลนีทรงแสดงว่า เราไม่เห็นโยธาเหล่านั้น ที่เหมือนโยธาของเราซึ่งมีความสามารถเท่านี้.
ทองท่านเรียกว่า จารุ ในบทว่า จารุทสฺสนา ความว่า มีวรรณะดังทอง. บทว่า ปีตาลงฺการา ได้แก่ มีเครื่องประดับสีเหลือง. บทว่า ปีตวสนา ได้แก่ นุ่งผ้าเหลือง. บทว่า ปีตุตฺตรนิวาสนา ได้แก่ มีผ้าห่มเหลือง. บทว่า ปาฐีนวณฺณา ได้แก่ เช่นกับปลาสลาด. บทว่า เนตฺตึสา แปลว่า พระขรรค์. บทว่า นรวีเรหิ ได้แก่ บุรุษผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีความเพียร. บทว่า สุนิสฺสิตา ได้แก่ ลับอย่างดี คมกริบ. บทว่า เวลฺลาฬิโน ความว่า โชติช่วง ดังดวงอาทิตย์เที่ยงวัน. บทว่า สิกฺกายสมยา ความว่า ทำด้วยเหล็กกล้าที่ให้นกกระเรียนเคี้ยวเจ็ดครั้งถือเอา. บทว่า สุปฺปหารปฺปหาริภิ ได้แก่ โยธามือแม่น. บทว่า โลหิตกญฺจูปธาริตา ความว่า ประกอบด้วยเสื้อสีแดง. บทว่า ปวกา ได้แก่ สามารถสะบัดธงในอากาศ. บทว่า อสิจมฺมสฺส โกวิทา ได้แก่ ฉลาดในการใช้ดาบและเกราะ. บทว่า ผรุคฺคหา ได้แก่ ผู้ถือดาบ. บทว่า สิกฺขิตรา ได้แก่ ฝึกอย่างเหลือเกินในการถือดาบนั้น. บทว่า นาคกฺขนฺธนิปาติโน ความว่า สามารถใช้พระขรรค์ตัดคอช้างให้ตกลง.
บทว่า นตฺถิ โมกฺโข ความว่า พระเจ้าจุลนีตรัสว่า พ่อเปรตวิเทหะ ครั้งก่อน ท่านรอดพ้นได้ ด้วยอานุภาพมโหสถบุตรคฤหบดี. แต่บัดนี้ ท่านไม่มีทางรอดพ้นเลย.
บทว่า ปภาวนฺเต ความว่า บัดนี้ เราไม่เห็นราชานุภาพของท่าน ที่เป็นเครื่องให้กลับไปกรุงมิถิลาได้. วันนี้ ท่านเป็นเหมือนปลาเข้าแหที่ทอดไว้.

พระเจ้าจุลนีตรัสคุกคามพระเจ้าวิเทหราชอย่างนี้แล้ว ทรงทำในพระหฤทัยว่า เราจักจับเป็นพระเจ้าวิเทหราชให้ได้ในบัดนี้ จึงทรงเตือนช้างที่นั่งด้วยพระแสงขออันประดับเพชร แล้วตรัสสั่งเสนาว่า พวกเจ้าจงจับ จงทำลาย จงแทง เสด็จถึงอุปการนครประหนึ่งจะถมทับเสีย.
ลำดับนั้น บุรุษทั้งหลายที่มโหสถวางไว้ ก็พาพวกของตนแวดล้อมมโหสถไว้ ด้วยคิดว่า ใครจะรู้ อะไรจักมี. ขณะนั้น พระโพธิสัตว์ลุกจากที่นอนอันเป็นสิริ ชำระร่างกายแล้ว บริโภคอาหารเช้า ประดับตกแต่งตัวนุ่งผ้ามาแต่แคว้นกาสีราคาตั้งแสน ห่มรัตกัมพล เฉียงอังสา ถือไม้เท้าทองที่สำหรับใช้อันหนึ่ง ซึ่งขจิตด้วยรัตนะ ๗ สวมรองเท้าทอง. เหล่าสตรีที่ตกแต่งแล้วดุจเทพอัปสรพัดอยู่ด้วยวาลวีชนี เปิดสีหบัญชรบนปราสาทซึ่งตกแต่งแล้ว แสดงตนแด่พระเจ้าจุลนี เดินกลับไปกลับมา ด้วยลีลาดังท้าวสักกเทวราช.
ฝ่ายพระเจ้าจุลนีทอดพระเนตร เห็นสิริรูปอันอุดมของมโหสถ ก็ไม่สามารถจะยังพระมนัสให้เลื่อมใส เร่งไสช้างที่นั่งเข้าไปด้วยทรงคิดว่า เราจักจับมโหสถให้ได้ ในบัดนี้. มโหสถโพธิสัตว์คิดว่า พระเจ้าจุลนีนี้ด่วนมาด้วยทรงสำคัญว่า เราได้ตัวพระเจ้าวิเทหราชแล้วในที่นี้เอง ชะรอยจะไม่ทรงทราบว่า เราจับพระโอรสพระธิดาและพระมเหสีของพระองค์ ส่งถวายแด่พระราชาของพวกเราแล้ว ฉะนั้น เราจักสำแดงหน้าของเราให้เช่นกับแว่นทอง แล้วกล่าวกับพระเจ้าจุลนี. พระโพธิสัตว์ยืนอยู่ที่หน้าต่าง เปล่งเสียงไพเราะ เมื่อจะกล่าวเย้ยหยันกับพระเจ้าจุลนี จึงทูลว่า
พระองค์ด่วนไสช้างที่นั่งตัวประเสริฐมาทำไมหนอ พระองค์มีพระหฤทัยร่าเริงแล้วเสด็จมา คงจะเข้าพระทัยว่า ทรงเป็นผู้ได้ประโยชน์แล้ว ขอพระองค์ทรงลดแล่งธนูนั่นลงเสียเถิด ทรงทิ้งลูกธนูเสียเถิด ทรงเปลื้องเกราะอันงามโชติช่วงด้วยแก้วไพฑูรย์ แก้วมณีนั่นออกเสียเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุญฺชรํ ได้แก่ ช้างตัวประเสริฐ. บทว่า ปหฏฐรูโป ความว่า มีพระหฤทัยร่าเริงแล้วยินดีแล้ว คือทรงโสมนัส.
บทว่า อาคมสิ แปลว่า เสด็จมา. บทว่า ลทฺธตฺโถสฺมิ ความว่า พระองค์เข้าพระหฤทัยว่า เรามีประโยชน์อันสำเร็จแล้ว คือความปรารถนาของเราถึงที่สุดแล้ว.
บทว่า โอหเรตํ ความว่า พระองค์ทรงนำลง คือเอาลง คือทิ้งธนู กล่าวคือแล่งนั่นเสีย ประโยชน์อะไรด้วยธนูนั่นแก่พระองค์. บทว่า ปฏิสํหร ความว่า จงนำออกประทานแก่ผู้อื่น หรือเก็บไว้ในที่มิดชิด พระองค์จักใช้ลูกธนูทำอะไร.
บทว่า จมฺมํ ความว่า แม้เกราะนั่นก็โปรดนำออกเสีย เพราะเกราะนี้พระองค์ทรงสวม ตั้งแต่เมื่อวาน โปรดทิ้งเสียเถิด อย่าให้มันเบียดเบียนพระวรกายของพระองค์เลย อย่าทำพระวรกายของพระองค์ให้ลำบากเลย โปรดเสด็จเข้าพระนครของพระองค์แต่เช้าเถิด. พระโพธิสัตว์ได้ทำความเย้ยหยันกับพระเจ้าจุลนี ดังนี้.

พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับคำของมโหสถแล้ว ตรัสว่า บุตรคฤหบดีนี้ทำการเย้ยหยันกับเรา วันนี้เราจักรู้กิจที่จะพึงทำแก่เจ้า. เมื่อทรงคุกคามมโหสถ ตรัสว่า
เจ้าเป็นผู้มีผิวหน้าผ่องใส และกล่าวถ้อยคำเคยยิ้มแย้ม ความถึงพร้อมแห่งผิวพรรณเช่นนี้ ย่อมมีในเวลาใกล้ตาย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิหิตปุพฺพญฺจ ภาสสิ ความว่า เจ้ายิ้มแย้มก่อนแล้วกล่าวภายหลัง ชื่อว่ากล่าวถ้อยคำเคยยิ้มแย้ม เจ้าไม่นับเราในเรื่องอะไรๆ.
บทว่า โหติ โข ความว่า ธรรมดา ความถึงพร้อมแห่งผิวพรรณเห็นปานนี้ ย่อมมีแก่คนในเวลาใกล้ตายเท่านั้น เพราะฉะนั้น ท่านผ่องใส วันนี้เราจักตัดศีรษะของเจ้า แล้วดื่มชัยบาน.

ในเวลาที่มโหสถทูลกับพระเจ้าจุลนีนั้นอย่างนี้ ฝ่ายพลนิกายเป็นอันมากได้เห็นรูปสิริแห่งพระมหาสัตว์ จึงได้ไปสู่สำนักของพระเจ้าพรหมทัต ด้วยคิดว่า พระราชาของพวกเราทรงปรึกษามโหสถ ตรัสอะไรกันหนอ พวกเราจักฟังพระดำรัสและถ้อยคำแห่งพระราชาและมโหสถ. ฝ่ายมโหสถบัณฑิตได้ฟังพระดำรัสของพระเจ้าจุลนีแล้ว คิดว่า พระเจ้าจุลนีไม่ทรงรู้จักเราว่ามโหสถบัณฑิต เราจักไม่ให้ฆ่าเราได้ คิดฉะนี้ จึงทูลว่า ความคิดของพระองค์กระจายแล้ว พระเจ้าข้า เรื่องที่พระองค์และเกวัฏคิดด้วยใจ ไม่เกิดแล้ว แต่เรื่องที่กล่าวด้วยปาก เกิดแล้ว. เมื่อจะประกาศข้อความนั้น จึงทูลว่า
ข้าแต่ขัตติยราช พระดำรัสที่พระองค์ตรัสคุกคาม ไร้ประโยชน์เสียแล้ว พระองค์เป็นผู้มีพระดำริกระจายไปทั่วแล้ว พระองค์จับพระเจ้าวิเทหราชไม่ได้หรอก ดังม้าสินธพอันม้ากระจอกไล่ไม่ทัน.
พระเจ้าวิเทหราช พร้อมเหล่าอมาตย์ราชบริพาร เสด็จข้ามคงคาไปแล้ว แต่วันวานนี้ เมื่อพระองค์จักติดตามไปก็จักตก เหมือนกาบินไล่ตามพระยาหงส์ ฉะนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภินฺนมนฺโตสิ ความว่า มโหสถกล่าวว่า
พระองค์อย่าได้เข้าพระหฤทัยว่า ความคิดของเราที่ปรึกษากับเกวัฏในห้องสิริไสยานั้น ไม่มีใครรู้ ความคิดนั้น ข้าพระองค์รู้แล้วก่อนทีเดียว. ฉะนั้น พระองค์จึงเป็นผู้มีพระดำริ กระจายไปทั่วแล้ว.
บทว่า ทุคฺคณฺโห หิ ตยา ความว่า ข้าแต่พระมหาราช พระราชาของพวกข้าพระองค์ พระองค์ทรงจับได้ยาก เหมือนม้าสินธพกับม้ากระจอก พระองค์เหมือนคนขี่ม้ากระจอก ไม่อาจที่จะจับพระราชาของพวกข้าพระองค์ ซึ่งเหมือนคนขี่ม้าอาชาไนยมีกำลังเร็ว. มโหสถแสดงว่า เกวัฏเหมือนม้ากระจอก พระองค์เหมือนคนขี่ม้ากระจอก. ข้าพระองค์เหมือนม้าสินธพมีกำลังเร็ว พระราชาของพวกข้าพระองค์เหมือนคนขี่ม้าสินธพ.
บทว่า ติณฺโณ หิยฺโย ความว่า พระเจ้าวิเทหราชพร้อมด้วยเหล่าอมาตย์ ข้าราชบริพารเสด็จข้ามน้ำไปแต่วันวานนี้แล้ว มิได้เสด็จหนีไปพระองค์เดียวเสียด้วย.
บทว่า อนุชวํ ความว่า ก็ถ้าพระองค์จักไล่ตาม คือจักติดตามพระเจ้าวิเทหราช กาบินไล่ตามพระยาหงส์ทอง จักตกในระหว่างนั่นแล ฉันใด พระองค์จักตก คือจักถึงความพินาศในระหว่างนั่นแล ฉันนั้น. มโหสถทูลดังนี้.
บัดนี้ พระมหาสัตว์มิได้พรั่นพรึง ประดุจพระยาไกรสรราชสีห์ เมื่อจะนำอุทาหรณ์มา จึงทูลว่า
สุนัขจิ้งจอกทั้งหลายเป็นสัตว์ต่ำช้ากว่ามฤค เห็นดอกทองกวาวบานในรัตติกาล ก็สำคัญว่าชิ้นเนื้อ เข้าล้อมต้นอยู่ ครั้นเมื่อราตรีล่วงไปแล้ว พระอาทิตย์ขึ้น สุนัขจิ้งจอกเป็นสัตว์ต่ำช้ากว่ามฤค เห็นดอกทองกวาวบานแล้ว ก็หมดหวัง ฉันใด. ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงล้อมพระเจ้าวิเทหราช ก็จักทรงหมดหวังเสด็จไป เหมือนสุนัขจิ้งจอกทั้งหลายเห็นดอกทองกวาว ฉันนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิสฺวาน ได้แก่ เห็นด้วยแสงจันทร์. บทว่า ปริพฺยุฬฺหา ความว่า ยืนล้อมด้วยหวังว่า จักเคี้ยวกินชิ้นเนื้อแต่เช้าทีเดียวแล้วจักไป. บทว่า วีติวตฺตาสุ ความว่า สุนัขจิ้งจอกเหล่านั้นได้ยืนอยู่อย่างนั้นในราตรีใดๆ เมื่อราตรีนั้นๆ ล่วงไปแล้ว. บทว่า ทิสฺวา ความว่า สุนัขจิ้งจอกทั้งหลายเห็นดอกทองกวาวแต่เช้าทีเดียว รู้ว่า นี้ไม่ใช่เนื้อ ก็หมดหวังพากันหนีไป.
บทว่า สิงฺคาลา ความว่า สุนัขจิ้งจอกทั้งหลายล้อมต้นทองกวาวแล้วหมดหวังไป ฉันใด แม้พระองค์ก็ฉันนั้น ทรงทราบว่าพระเจ้าวิเทหราชไม่มีในที่นี้ ก็จักหมดหวังเสด็จไป คือจักพาเสนาหนีไป. มโหสถแสดงดังนี้.

พระเจ้าจุลนีทรงสดับคำไม่พรั่นพรึงของมโหสถนั้น ทรงคิดว่า บุตรคฤหบดีนี้เป็นคนกล้าเกินกล่าวแล้ว มันคงให้พระเจ้าวิเทหราชเสด็จหนีไปแล้ว โดยไม่ต้องสงสัย ก็กริ้วเหลือเกิน ทรงรำพึงว่า เมื่อก่อน พวกเราไม่เป็นเจ้าของ แม้แห่งผ้าสาฎกที่คาดพุงเพราะมโหสถ บัดนี้ ปัจจามิตรอยู่ในเงื้อมมือของพวกเราแล้ว ก็มโหสถให้หนีไป มโหสถเป็นคนทำความฉิบหายแก่พวกเรามากหนอ เราจักทำโทษอันควรทำแก่คนสองคน รวมแก่มโหสถนี้คนเดียว เมื่อจะทรงสั่งลงโทษแก่มโหสถ จึงตรัสว่า
เจ้าทั้งหลายจงตัดมือและเท้า หูและจมูกของมโหสถผู้ปล่อยพระเจ้าวิเทหราชศัตรูของข้า ซึ่งอยู่ในเงื้อมมือแล้วไปเสีย เจ้าทั้งหลายจงเสียบมโหสถผู้ปล่อยพระเจ้าวิเทหราชศัตรูของข้า ซึ่งอยู่ในเงื้อมมือแล้วไปเสีย ในหลาวย่างมันให้ร้อน ดุจย่างเนื้อฉะนั้น.
บุคคลแทงหนังโคที่แผ่นดิน หรือเกี่ยวหนังราชสีห์ หรือเสือโคร่งฉุดมาด้วยขอ ฉันใด ข้าจักให้เจ้าทั้งหลายทิ่มแทงมโหสถ ผู้ปล่อยพระเจ้าวิเทหราชศัตรูของข้า ซึ่งอยู่ในเงื้อมมือแล้วไปเสีย แล้วฆ่าเสียด้วยหอก ฉันนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาตปฺปํ ความว่า จงเสียบบุตรคฤหบดีนี้ในหลาวย่างไฟ เหมือนเสียบเนื้อมฤคเป็นต้นที่ควรย่าง ฉะนั้น. บทว่า สีหสฺส อโถ พฺยคฺฆสฺส ความว่า เหมือนอย่างว่า บุคคลเอาขอเกี่ยวหนังราชสีห์เป็นต้น ฉุดมา ฉันใด. จงทำแก่มโหสถ ฉันนั้น. บทว่า เวธยิสฺสามิ ได้แก่ จักให้แทง.

พระมหาสัตว์ได้ฟังพระดำรัสดังนั้น ก็หัวเราะ คิดว่า พระราชานี้ไม่รู้ว่า เราส่งพระมเหสีและพระวงศานุวงศ์ของพระองค์ไปกรุงมิถิลาแล้ว เพราะฉะนั้น จึงคิดลงกรรมกรณ์แก่เรา แต่อาจยิงเราด้วยศร หรือทำโทษอย่างอื่นตามชอบพระหฤทัยของพระองค์ด้วยความพิโรธ เอาเถิด เราจะแจ้งเหตุการณ์ เพื่อทำให้พระองค์โศกาดูรเสวยทุกข์ บรรทมสลบอยู่บนหลังช้างที่นั่งนั่นเอง คิดฉะนี้แล้ว จึงทูลว่า
ถ้าพระองค์ตัดมือและเท้า หูและจมูกของข้าพระองค์ พระเจ้าวิเทหราชจักให้ตัดพระหัตถ์เป็นอาทิแห่งพระปัญจาลจันทราชโอรส พระนางปัญจาลจันทีราชธิดา และพระนางนันทาเทวีมเหสีของพระองค์ พระเจ้าวิเทหราชจักให้ตัดพระหัตถ์เป็นต้นของพระราชโอรสพระราชธิดาและพระมเหสีของพระองค์ อย่างนั้นเหมือนกัน.
ถ้าพระองค์เสียบเนื้อข้าพระองค์ในหลาวย่างให้ร้อน พระเจ้าวิเทหราชก็จักให้เสียบเนื้อพระปัญจาลจันทราชโอรส พระนางปัญจาลจันทีราชธิดา และพระนางนันทาเทวีมเหสีของพระองค์ ย่างให้ร้อน พระเจ้าวิเทหราชจักให้เสียบเนื้อพระราชโอรส พระราชธิดา และพระมเหสีของพระองค์ ย่างให้ร้อน อย่างนั้นเหมือนกัน.
ถ้าพระองค์จักทิ่มแทงข้าพระองค์ด้วยหอก พระเจ้าวิเทหราชก็จักให้ทิ่มแทง พระปัญจาลจันทราชโอรส พระนางปัญจาลจันทีราชธิดา และพระนางนันทาเทวีมเหสีของพระองค์ด้วยหอก พระเจ้าวิเทหราชจักทิ่มแทงพระราชโอรส พระราชธิดา และพระมเหสีของพระองค์ด้วยหอก อย่างนั้นเหมือนกัน.
ข้อความดังกราบทูลมาอย่างนี้ ข้าพระองค์ทั้งสอง คือพระเจ้าวิเทหราชกับข้าพระองค์ ได้ปรึกษาตกลงกันไว้แล้วเป็นความลับ โล่หนังมีน้ำหนัก ๑๐๐ ปละ ที่ช่างหนังทำสำเร็จแล้ว ด้วยมีดของช่างหนังย่อมช่วยป้องกันตัว เพื่อห้ามกันลูกศรทั้งหลาย ฉันใด ข้าพระองค์เป็นผู้นำความสุข บรรเทาทุกข์ถวายพระเจ้าวิเทหราชผู้เรืองยศ ก็จำต้องทำลายลูกศร คือพระดำริของพระองค์ ด้วยโล่หนัง คือความคิดของข้าพระองค์ ฉันนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เฉทยิสฺสติ ความว่า พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับว่า ได้ยินว่า พระเจ้าจุลนีตัดมือเท้าของมโหสถบัณฑิตแล้ว ก็จักให้ตัด.
บทว่า ปุตฺต ทารสฺส ความว่า พระราชาของพวกข้าพระองค์จักให้ตัดมือเท้าของคน ๓ คน คือพระราชโอรสพระราชธิดา ๒ และพระอัครมเหสี ๑ เพราะตัดมือเท้าของข้าพระองค์คนเดียวเป็นเหตุ.
บทว่า เอวํ โน มนฺติตํ รโห ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระองค์และพระเจ้าวิเทหราช ได้ปรึกษาตกลงกันไว้ในที่ลับอย่างนี้ว่า พระเจ้าจุลนีรับสั่งให้กระทำกรรมใดๆ แก่ข้าพระองค์ในกรุงปัญจาละนี้. พระเจ้าวิเทหราชพึงกระทำกรรมนั้นๆ แก่พระราชโอรสพระราชธิดา และพระมเหสีของพระองค์ ในกรุงมิถิลานั้น.
บทว่า ปลสตํ ความว่า หนังน้ำหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ ที่ให้ขี้เถ้าเป็นอันมากกัดให้อ่อนนุ่ม มีดของช่างหนัง ท่านเรียกว่า โกนฺติมนฺตา ในบทว่า โกนฺติมนฺตาสุนิฏฺฐิตํ โล่หนังสำเร็จด้วยดี เพราะรอยตัดทั้งหลายทำด้วยมีดของช่างหนังนั้น.
บทว่า ตนุตาณาย ความว่า โล่หนังนั้นเข้าถึงความป้องกันสรีระ เพื่อป้องกันลูกศรทั้งหลาย คือป้องกันลูกศรทั้งหลาย รักษาสรีระไว้ได้ ฉันใด.
บทว่า สุขาวโห ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า แม้ข้าพระองค์ก็เป็นผู้นำความสุขมาถวายแด่พระราชาของพวกข้าพระองค์ โดยห้ามปัจจามิตรทั้งหลาย เหมือนโล่หนังสำหรับป้องกันลูกศรของพระองค์.
บทว่า ทุกฺขนูโท ความว่า ข้าพระองค์นำมาซึ่งความสุขทางกายและทางใจ บรรเทาความทุกข์.
บทว่า มตินฺเต ความว่า เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จักต้องทำลายความคิด คือปัญญาของพระองค์ ด้วยความคิดของข้าพระองค์ เหมือนป้องกันลูกศรด้วยโล่หนังหนัก ๑๐๐ ปละนั้น.

พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับดังนั้น แล้วทรงพระดำริว่า บุตรคฤหบดีพูดอย่างนี้ทำไม ได้ยินว่า เราทำกรรมกรณ์แก่เขาอย่างใด พระเจ้าวิเทหราชจักทรงทำกรรมกรณ์แก่โอรสและมเหสีของเราอย่างนั้น บุตรคฤหบดีไม่รู้ว่า เราจัดการอารักขาโอรสและมเหสีของเราอย่างดี บัดนี้ เขาจักตายจึงบ่นเพ้อด้วยกลัวตายนั่นเอง เราไม่เชื่อคำของเขา. มโหสถคิดว่า พระราชาสำคัญตัวเราว่า พูดด้วยความกลัวตาย เราจักให้พระองค์ทรงทราบเสีย จึงทูลว่า
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เชิญเถิด ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรดูภายในเมืองของพระองค์ ซึ่งว่างเปล่า นางสนม และกุมารทั้งหลาย ตลอดถึงพระชนนีของพระองค์ ข้าพระองค์ให้นำออกจากอุโมงค์ ถวายไปแด่พระเจ้าวิเทหราชแล้ว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุมฺมงฺคา ความว่า ข้าพระองค์สั่งคนหนุ่มๆ ของข้าพระองค์ไปพาพระวงศานุวงศ์เหล่านั้น ลงจากปราสาทนำมาทางอุโมงค์นั่นแล แล้วนำออกจากอุโมงค์ใหญ่ ถวายแด่พระเจ้าวิเทหราชไปแล้ว.

พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับดังนั้น จึงทรงคิดว่า บุตรคฤหบดีนี้กล่าวหนักแน่นเหลือเกิน อนึ่ง เมื่อคืนนี้ เราได้ยินเสียงเหมือนเสียงนางนันทาเทวี ข้างแม่น้ำคงคา มโหสถนี้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก บางทีพึงกล่าวจริง ทรงคิดฉะนี้ แล้วเกิดความโศกมีกำลัง ดำรงพระสติไว้ทำเป็นไม่โศก.
เมื่อจะตรัสเรียกอมาตย์คนหนึ่งมา ส่งไปให้รู้ความ จึงตรัสคาถาว่า
เจ้าจงไปภายในเมืองของเรา ตรวจตราดูคำของมโหสถนี้ จริงหรือเท็จอย่างไร.

อมาตย์นั้นพร้อมด้วยบริวารไปสู่พระราชนิเวศน์ เปิดพระทวารเข้าไปภายใน ได้เห็นเหล่าคนผู้รักษาพระราชนิเวศน์ และเหล่าบริจาริกานารีที่ค่อมแคระเป็นต้น ถูกผูกมือและเท้าอุดปาก ติดกับไม้นาคทันต์ทั้งหลาย ภาชนะในห้องเครื่องแตกทำลาย ขาทนียโภชนียะเกลื่อนกล่นในที่นั้น และห้องประกอบด้วยสิริมีประตูเปิด มีการปล้นรัตนะ ซึ่งเหล่าปัจจามิตรเปิดประตูคลังรัตนะกระทำแล้ว ได้เห็นฝูงกาเข้าไปทางพระทวารและพระแกล ซึ่งเปิดทิ้งไว้เที่ยวอยู่พระราชนิเวศน์หาสิริมิได้ เช่นกับบ้านที่ทิ้งแล้วหรือประหนึ่งพื้นสุสาน จึงกลับมา เมื่อจะกราบทูลแด่พระราชา จึงกล่าวคาถานี้ว่า
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า มโหสถทูลอย่างใด ข้อความนั้นก็เป็นอย่างนั้น พระราชนิเวศน์ทั้งปวงว่างเปล่า ดุจที่ลงหากินแห่งกา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กากปตนกํ ยถา ความว่า เป็นราวกะว่า บ้านที่ทิ้งไว้ใกล้ฝั่งทะเล เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงกา ที่มาด้วยกลิ่นหอมของปลา.

.. อรรถกถา มโหสถชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙][๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]