ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

อรรถกถา ภูริทัตชาดก
พระเจ้าภูริทัตทรงบำเพ็ญศีลบารมี

หน้าต่างที่   ๔ / ๕.

จบนาคคเวสนกัณฑ์
เมื่อพระมหาสัตว์ถึงนาคพิภพ เสียงร่ำไรรำพันก็เกิดขึ้นพร้อมกัน. ฝ่ายพระภูริทัตเหน็ดเหนื่อย เพราะเข้าอยู่ในกระโปรงถึงหนึ่งเดือน. จึงเลยนอนเป็นไข้ มีพวกนาคมาเยี่ยมนับไม่ถ้วน พระภูริทัตนั้นเหน็ดเหนื่อยเพราะปราศรัยกับนาคเหล่านั้น. กาณาริฏฐะ ซึ่งยังไปเทวโลก ครั้นไม่พบพระมหาสัตว์ก็กลับมาก่อน. ลำดับนั้น ญาติมิตรของพระมหาสัตว์เห็นว่า กาณาริฏฐะนั่นเป็นผู้ดุร้าย หยาบคายสามารถจะห้ามนาคบริษัทได้ จึงให้กาณาริฏฐะเป็นผู้เฝ้าประตูห้องบรรทมของพระมหาสัตว์.
ฝ่ายสุโภคะก็เที่ยวไปทั่วหิมพานต์ จากนั้นจึงตรวจตราต่อไป ตามหามหาสมุทรและแม่น้ำนอกนั้น. แล้วตรวจตรามาถึงแม่น้ำยมุนา.
ฝ่ายพราหมณ์เนสาทเห็นอาลัมพายน์เป็นโรคเรื้อน จึงคิดว่า เจ้านี่ทำพระภูริทัตให้ลำบาก จึงเกิดเป็นโรคเรื้อน. ส่วนเราก็เป็นคนชี้พระภูริทัต ผู้มีคุณแก่เรามากให้อาลัมพายน์ด้วยอยากได้แก้ว กรรมชั่วอันนั้นคงจักมาถึงเรา. เราจักไปยังแม่น้ำยมุนาตลอดเวลาที่กรรมนั้นจะยังมาไม่ถึง แล้วจักกระทำพิธีลอยบาปที่ท่าปยาคะ เขาจึงไปที่ท่าน้ำปยาคะแล้วกล่าวว่า เราได้ทำกรรมประทุษร้ายมิตรในพระภูริทัต เราจักลอยบาปนั้นไปเสีย ดังนี้แล้วจึงทำพิธีลงน้ำ.
ขณะนั้น สุโภคะไปถึงที่นั้น ได้ยินคำของพราหมณ์เนสาทนั้นจึงคิดว่า ได้ยินว่า ตาคนนี้บาปหนา พี่ชายของเราให้ยศศักดิ์มันมากมายแล้ว กลับไปชี้ให้หมองู เพราะอยากได้แก้ว เราเอาชีวิตมันเสียเถิด. ดังนี้แล้วจึงเอาหางพันเท้าพราหมณ์ทั้งสองข้าง ลากให้จมลงในน้ำ พอจวนจะขาดลมหายใจ จึงหย่อนให้หน่อยหนึ่ง. พอพราหมณ์โผล่หัวขึ้นได้ ก็กลับลากให้จมลงไปอีก ทรมานให้ลำบากอย่างนี้อยู่หลายครั้ง. พราหมณ์เนสาทโผล่หัวขึ้นได้ จึงกล่าวคาถาว่า
น้ำที่โลกสมมติว่าสามารถลอยบาปได้ มีอยู่ที่ท่าปยาคะ ภูตผีอะไรฉุดเราลงสู่แม่น้ำยมุนาอันลึก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โลกฺยํ ความว่า น้ำอันโลกสมมติว่า สามารถลอยบาปได้อย่างนี้.
บทว่า สชฺชนฺตํ ความว่า น้ำเห็นปานนี้ที่จัดไว้สำหรับประพรม.
บทว่า ปยาคสฺมึ ได้แก่ มีอยู่ที่ท่าปยาคะ.

ลำดับนั้น สุโภคะได้กล่าวกะพราหมณ์เนสาทนั้น ด้วยคาถาว่า
นาคราชนี้ใดเป็นใหญ่ในโลก เรืองยศ พันกรุงพาราณสีไว้โดยรอบ. เราเป็นลูกของนาคราช ผู้ประเสริฐนั้น. ดูก่อนพราหมณ์ นาคทั้งหลายเรียกเราว่า สุโภคะ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยเทส ตัดเป็น โย เอโส แปลว่า นาคราชนั้นใด. บทว่า ปกีรหรี สมนฺตโต ความว่า พันกรุงพาราณสีไว้ทั้งหมด โดยรอบปรกพังพานไว้ข้างบน โดยสามารถนำทุกข์เข้าไปแก่ผู้เป็นข้าศึก.

ลำดับนั้น พราหมณ์เนสาทจึงคิดว่า นาคนี้เป็นพี่น้องของพระภูริทัต จักไม่ไว้ชีวิตเรา. อย่ากระนั้นเลย เราจะยกยอเกียรติคุณของนาคนี้ ทั้งมารดาและบิดาของเขา ให้ใจอ่อนแล้วขอชีวิตเราไว้ ดังนี้แล้ว จึงกล่าวคาถาว่า
ถ้าท่านเป็นโอรสของนาคราชผู้ประเสริฐ ผู้เป็นพระราชาของชนชาวกาสี เป็นอธิบดีอมร. พระชนกของท่านเป็นใหญ่คนโตผู้หนึ่ง และพระชนนีของท่านก็ไม่มีใครเทียบเท่าในหมู่มนุษย์. ผู้มีอานุภาพมากเช่นท่าน ย่อมไม่สมควรจะฉุด แม้คนที่เป็นเพียงทาสของพราหมณ์ให้จมน้ำเลย.


ในพระคาถานั้น โดยนามอีกอย่างว่า กาสี ชนทั้งหลายเรียกกันว่า พระราชาผู้เป็นอิสระในแคว้นกาสี ซึ่งมีชื่ออย่างนี้. พราหมณ์พรรณนาแคว้นกาสี ให้เป็นของพระเจ้ากาสี เพราะพระราชธิดาผู้เป็นใหญ่ในแคว้นกาสียึดเอา.
บทว่า อมราธิปสฺส ความว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งนาคทั้งหลาย กล่าวคือ อมร เพราะมีอายุยืน. บทว่า มเหสกฺโข ความว่า เป็นผู้หนึ่งบรรดาผู้มีศักดิ์ใหญ่. บทว่า ทาสํปิ ความว่า จริงอยู่ ผู้มีอานุภาพมากเช่นท่าน ไม่ควรเพื่อจะทำผู้ไม่มีอานุภาพ แม้เป็นทาสของพราหมณ์ให้จมน้ำ จะป่วยกล่าวไปไยถึงพราหมณ์ ผู้มีอานุภาพมากเล่า.

ลำดับนั้น สุโภคะจึงกล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า เจ้าพราหมณ์ชั่วร้าย เจ้าสำคัญว่า จะหลอกให้เราปล่อยหรือ เราไม่ไว้ชีวิตเจ้า เมื่อจะประกาศกรรมที่พราหมณ์นั้นกระทำ จึงกล่าวว่า
เจ้าแอบต้นไม้ยิงเนื้อซึ่งมาเพื่อจะดื่มน้ำ เนื้อถูกยิงแล้วรู้สึกได้ด้วยกำลังลูกศร จึงวิ่งหนีไปไกล. เจ้าไปพบมันล้มอยู่ในป่าใหญ่ จึงแล่เนื้อหามมาถึงต้นไทร. ในเวลาเย็น อันกึกก้องไปด้วยเสียงร้องของนกดุเหว่า และนกสาลิกามีใบเหลือง เกลื่อนกล่นไปด้วยย่านไทร. มีฝูงนกดุเหว่าร้องอยู่ระงม น่ารื่นรมย์ใจ ภูมิภาคเขียวไป ด้วยหญ้าแพรกอยู่เป็นนิตย์. พี่ชายของเราเป็นผู้รุ่งเรืองไปด้วยฤทธิ์และยศ มีอานุภาพมาก. อันนางนาคกัญญาทั้งหลายแวดล้อม ปรากฏแก่เจ้าผู้อยู่ที่ต้นไทรนั้น. ท่านพาเจ้าไปเลี้ยงดู บำรุงบำเรอ ด้วยสิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่าง เป็นคนประทุษร้ายต่อท่านผู้ไม่ประทุษร้าย เวรนั้นมาถึงเจ้าในที่นี้แล้ว. เจ้าจงเหยียดคอออกเร็วๆเถิด. เราจักไม่ไว้ชีวิตเจ้า เราระลึกถึงเวรที่เจ้าทำต่อพี่ชายเรา จึงจักตัดศีรษะเจ้าเสีย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สายํ นิโคฺรธมุปาคมิ ความว่า ท่านเข้าไปยังต้นไทรในเวลาวิกาล.
บทว่า ปิงฺคิยํ ความว่า มีใบสีเหลือง. บทว่า สณฺฐตายุตํ แปลว่า เกลื่อนกล่นไปด้วยย่านไทร.
บทว่า โกกิลาภิรุทํ ความว่า มีฝูงนกดุเหว่าร้องอยู่ระงม.
บทว่า ธุวํ หริตสทฺทลํ ความว่า ภูมิภาคเขียวไปด้วยหญ้าแพรกอยู่เป็นนิตย์ เพราะเกิดในที่ใกล้น้ำ. บทว่า ปาตุรหุ ความว่า พี่ชายของเรานั้นได้ปรากฏชัดแก่เจ้า ผู้อยู่ที่ต้นไทรนั้น. บทว่า อิทฺธิยา แปลว่าด้วยเดชแห่งฤทธิ์. บทว่า โส เตน ความว่า ท่านนั้นอันพี่ชายของเรา พาไปสู่ภพของตนแล้วเลี้ยงดู. บทว่า ปริสรํ ความว่า เราระลึกนึกถึงเวรคือกรรมชั่วที่เจ้าทำแก่พี่ชายของเรา. บทว่า เฉทยิสฺสามิ แปลว่า เราจักตัด.

ลำดับนั้น พราหมณ์เนสาทจึงคิดว่า นาคนี้เห็นจะไม่ไว้ชีวิตเราแน่. แต่ถึงกระนั้น เราก็ควรจะพยายามกล่าวอะไรๆ เพื่อให้พ้นให้จงได้ จึงกล่าวคาถาว่า
พราหมณ์ผู้ทรงเวท ๑ ผู้ประกอบในการขอ ๑ ผู้บูชาไฟ ๑ ทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นพราหมณ์ที่ใครๆ ไม่ควรจะฆ่า.


บรรดาบทเหล่านี้ บทว่า เอเตหิ ความว่า พราหมณ์เป็นผู้อันใครไม่ควรฆ่า คือฆ่าไม่ได้ ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้ มีพราหมณ์ผู้ทรงเวทเป็นต้น เพราะผู้ใดฆ่าพราหมณ์ ผู้นั้นย่อมเกิดในนรก.

สุโภคะได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็เกิดความลังเลใจ จึงคิดว่า เราจะพาพราหมณ์นี้ไปยังนาคพิภพ สอบถามพี่น้องดูก็จักรู้ได้ ดังนี้จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
เมืองของท้าวธตรฐ อยู่ภายใต้แม่น้ำยมุนา จดหิมวันตบรรพต ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลแม่น้ำยมุนา ล้วนแล้วไป ด้วยทองคำงามรุ่งเรือง. พี่น้องร่วมท้องของเรา ล้วนเป็นคนมีชื่อลือชา อยู่ในเมืองนั้น. ดูก่อนพราหมณ์ พี่น้องของเราเหล่านั้นจักว่าอย่างไร เราจักต้องเป็นอย่างนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ ปุรํ แปลว่า นครใด.
บทว่า โอคาฬฺหํ ความว่า อยู่ลึกลงไปใต้แม่น้ำยมุนา. บทว่า คิริมาหจฺจ ยามุนํ ความว่า ตั้งอยู่ไม่ไกลแต่แม่น้ำยมุนา จดหิมวันตบรรพต. บทว่า โชตเต แปลว่า รุ่งเรืองอยู่.
บทว่า ตตฺถ เต ความว่า พี่ชายของเราเหล่านั้น อยู่ในนครนั้น. อธิบายว่า เมื่อเจ้าถูกนำไปในที่นั้น พี่ชายเหล่านั้นว่าอย่างใด เจ้าจักเป็นอย่างนั้น ก็ถ้าเจ้ากล่าวคำจริง ชีวิตของเจ้าก็จะมีอยู่. ถ้ากล่าวคำไม่จริง เราจะตัดศีรษะของเจ้าในที่นั้นทีเดียว.

สุโภคะ ครั้นกล่าวดังนั้นแล้ว จึงจับคอพราหมณ์เสือกไสไปพลาง บริภาษไปพลาง จนถึงประตูปราสาทของพระโพธิสัตว์.
จบสุโภคกัณฑ์

ลำดับนั้น กาณาริฏฐะนั่งเฝ้าประตูอยู่ เห็นสุโภคะพาพราหมณ์เนสาททรมานมาดังนั้น. จึงเดินสวนทางไปบอกว่า แน่ะ พี่สุโภคะ พี่อย่าเบียดเบียนพราหมณ์นั้น เพราะพวกที่ชื่อว่า พราหมณ์ในโลกนี้ เป็นบุตรท้าวมหาพรหม. ถ้าท้าวมหาพรหมรู้เข้าก็จักโกรธว่า นาคเหล่านี้เบียดเบียน แม้ลูกทั้งหลายของเราแล้ว. จักทำนาคพิภพทั้งสิ้นให้พินาศ เพราะพวกที่ชื่อว่า เป็นพราหมณ์ เป็นผู้ประเสริฐและมีอานุภาพมากในโลก พี่ไม่รู้จักอานุภาพของพวกพราหมณ์เหล่านั้น ส่วนข้าพเจ้าเองรู้. เล่ากันมาว่า กาณาริฏฐะในภพที่เป็นลำดับที่ล่วงมา ได้เกิดเป็นพราหมณ์บูชายัญ เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวอย่างนี้. ก็แลครั้นกล่าวแล้ว ด้วยอำนาจที่ตนเคยเสวยมาในกาลก่อน. จึงมีปกติฝังอยู่ในการบูชายัญ จึงเรียกสุโภคะและนาคบริษัทมาบอกว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงมาเถิด เราจักพรรณนาคุณของพราหมณ์ผู้ทำการบูชายัญ ดังนี้แล้ว เมื่อเริ่มกล่าวพรรณนายัญจึงกล่าวว่า
ข้าแต่พี่สุโภคะ ยัญและเวททั้งหลายในโลกที่พวกพราหมณ์นอกนี้ประกอบขึ้น ไม่ใช่เป็นของเล็กน้อย เพราะฉะนั้น ผู้ติเตียนพราหมณ์ซึ่งใครๆ ไม่ควรติเตียน ชื่อว่าย่อมละทิ้งทรัพย์เครื่องปลื้มใจ และธรรมของสัตบุรุษเสีย


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนิตฺตรา ความว่า ดูก่อนสุโภคะ ยัญและเวททั้งหลายในโลกนี้ ที่พวกพราหมณ์ประกอบขึ้น ไม่ใช่เป็นเล็กน้อย ไม่เลวทราม มีอานุภาพมาก. ยัญและเวทเหล่านั้นที่พวกพราหมณ์นอกนี้ ประกอบขึ้น. เพราะฉะนั้น แม้พราหมณ์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ใช่เล็กน้อยเลย.
บทว่า ตทคฺครยฺหํ ความว่า ผู้ติเตียนพราหมณ์ที่ไม่ควรติ ชื่อว่าย่อมละทิ้งทรัพย์ และธรรมของสัตบุรุษ คือของบัณฑิตทั้งหลาย.

เล่ากันมาว่า เขาได้กล่าวว่า นาคบริษัททั้งหลายอย่าได้เพื่ออันกล่าวว่า พราหมณ์นี้ได้ทำกรรมประทุษร้ายต่อมิตรในพระภูริทัตนี้.
ลำดับนั้น กาณาริฏฐะได้กล่าวกะสุโภคะนั้นว่า ดูก่อนพี่สุโภคะ พี่สุโภคะรู้หรือไม่ว่า โลกนี้ใครสร้าง. เมื่อสุโภคะตอบว่า ไม่รู้. เพื่อจะแสดงว่า โลกนี้ท้าวมหาพรหม ปู่ของพวกพราหมณ์สร้าง จึงกล่าวคาถาอีกว่า
พวกพราหมณ์ ถือการทรงไตรเพท พวกกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน พวกแพศย์ยึดการไถนา และพวกศูทรยึดการบำเรอ. วรรณะทั้ง ๔ นี้ เข้าถึงการงานตามที่อ้างมาเฉพาะอย่างๆ นั้น กล่าวกันว่า มหาพรหม ผู้มีอำนาจจัดทำไว้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปาคู แปลว่า เข้าถึงแล้ว.
เล่ากันมาว่า พรหมนิรมิตวรรณะ ๔ มี พราหมณ์เป็นต้นแล้ว กล่าวกะพราหมณ์ทั้งหลายผู้ประเสริฐ เป็นอันดับแรกว่า พวกท่านจงยึดการศึกษาไตรเพทเท่านั้น อย่ากระทำสิ่งอะไรอื่น. กล่าวกะพระราชาว่า พวกท่านจงปกครองแผ่นดินอย่างเดียว อย่ากระทำสิ่งอะไรอื่น. กล่าวพวกแพศย์ว่า พวกท่านจง ยึดการไถนาอย่างเดียว. กล่าวกะพวกศูทรว่า พวกท่านจงยึดการบำเรอวรรณะ ๓ อย่างเดียว. ตั้งแต่นั้นมา ท่านกล่าวว่า พราหมณ์ผู้ประเสริฐยึดการศึกษาไตรเพท พระราชายึดการปกครอง แพศย์ยึดการไถนา ศูทรยึดการบำเรอ.
บทว่า ปจฺเจกํ ยถาปเทสํ ความว่า เมื่อจะเข้ายึด ยึดเอาตามทำนองที่พราหมณ์กล่าวแล้ว โดยสมควรตามตระกูล และประเทศของตน. บทว่า กตาหุ เอเต วสินาติ อาหุ ความว่า ท่านแสดงว่า พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้อันท้าวมหาพรหม ผู้มีอำนาจได้สร้างไว้อย่างนี้.

กาณาริฎฐะกล่าวว่า ขึ้นชื่อว่า มหาพรหมผู้มีอานุภาพมากอย่างนี้. ก็ผู้ใดทำจิตให้เลื่อมใส ในมหาพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมให้ทาน. ผู้นั้นไม่มีการถือปฏิสนธิในที่อื่น ย่อมไปสู่เทวโลกอย่างเดียว จึงกล่าวว่า
พระพรหมผู้สร้างโลก ท้าววรุณ ท้าวกุเวร ท้าวโสมะ พระยายม พระจันทร์ พระวายุ พระอาทิตย์ แม้ท่านเหล่านี้ ก็ล้วนบูชายัญมามากแล้ว และบูชาสิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่าง แก่พราหมณ์ผู้ทรงเวท. ท้าวอรชุนและท้าวภีมเสน มีกำลังมาก มีแขนนับพัน ไม่มีใครเสมอในแผ่นดิน ยกธนูได้ ๕๐๐ คัน ก็ได้บูชาไฟมาแต่ก่อน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอเตปิ ได้แก่ เทวราชผู้บูชายัญเป็นต้น เหล่านั้น. บทว่า ปุถุโล ความว่า บูชายัญมามากมาย. ด้วยบทว่า อถ สพฺพกาเม นี้ ท่านแสดงว่า อนึ่ง ให้สิ่งซึ่งน่าใคร่ทั้งปวง แก่พราหมณ์ผู้ทรงเวท จึงถึงฐานะเหล่านี้. บทว่า วิกาสิตา แปลว่า ฉุดคร่ามา. บทว่า จาปสตานิ ปญฺจ ความว่า ไม่ใช่เพียงคันธนู ๕๐๐ คัน. ถึงธนูใหญ่ ๕๐๐ คัน ก็ยังคร่ามาได้ด้วยตนเอง. เสนาผู้น่ากลัว ชื่อว่า ภีมเสนะ.
บทว่า สหสฺสพาหุ ความว่า ไม่ใช่ท่านมีแขนนับพัน หมายความว่า ท่านสามารถยกธนูใหญ่ ซึ่งต้องยกด้วยแขนจำนวน ๑,๐๐๐ แขนของคนผู้ถือธนู ๕๐๐ คนได้ เพราะเหตุนั้นจึงกล่าวอย่างนี้.
บทว่า อาทหิ ชาตเวทํ ความว่า ในกาลนั้น พระราชาแม้นั้น ให้พราหมณ์ทั้งหลายอิ่มหนำด้วยกามทั้งปวง ให้จุดไฟตั้งบำเรอไฟ. เพราะเหตุนั้นนั่นแลท่าน จึงบังเกิดในเทวโลก เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ชื่อว่าพราหมณ์ทั้งหลายเป็นใหญ่ในโลกนี้.

กาณาริฏฐะนั้น เมื่อจะสรรเสริญเฉพาะพวกพราหมณ์ แม้ให้ยิ่งขึ้นไป จึงกล่าวคาถาว่า
ดูก่อนพี่สุโภคะ ผู้ใดเลี้ยงพราหมณ์ มานานด้วย ข้าวและน้ำตามกำลัง. ผู้นั้นมีจิตเลื่อมใสอนุโมทนาอยู่ ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โย เป็นบทแสดงอนิยม คือท่านแสดงว่า ผู้นั้นใดเช่นพระเจ้าพาราณสีองค์เก่า. บทว่า ยถานุภาวํ ความว่า บริจาคสิ่งทั้งหมดที่มีอยู่แก่เขา ตามกำลังแล้วให้บริโภค. บทว่า เทวญฺญตโร ความว่า ดูก่อนพี่สุโภคะ เขาได้เป็นเทวราชผู้มีศักดิ์ใหญ่ตนหนึ่ง. พราหมณ์ทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นทักขิไณยบุคคลผู้เลิศอย่างนี้.

ลำดับนั้น กาณาริฏฐะ เมื่อจะนำเหตุแม้อื่นอีกมาแสดง จึงกล่าวคาถาว่า
พราหมณ์ผู้ใด สามารถบูชาเทวดา คือไฟ ผู้กินมาก มีสีไม่ทราม ไม่อิ่มหนำด้วยเนยใส. พราหมณ์ผู้นั้นบูชายัญวิธีแก่เทวดา คือไฟผู้ประเสริฐแล้ว ได้ไปบังเกิดในทิพยคติ และได้เข้าเฝ้าพระเจ้ายุตินทะ(๑. บาลีเป็น พระเจ้ามุจลินท์.).


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหาสนํ แปลว่า ผู้กินมาก. บทว่า เชตุํ แปลว่า เมื่ออิ่มหนำ.
บทว่า ยญฺญตฺตํ ได้แก่ วิธีบูชายัญ. บทว่า วรโต ได้แก่ บูชาเทวดา คือไฟผู้ประเสริฐ.
บทว่า มุชตินฺทชฺฌคจฺฉิ ความว่า พระเจ้ามุชตินทะได้ทรงเข้าถึงแล้ว.

เล่ากันมาว่า พระราชาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่ามุชตินทะ ในกรุงพาราณสี. ในกาลก่อน ตรัสสั่งให้เรียก พราหมณ์ทั้งหลายมาแล้ว ถามถึงทางไปสวรรค์.
ลำดับนั้น พราหมณ์เหล่านั้น ทูลพระราชานั้นว่า ขอพระองค์จงทรงกระทำสักการะ แก่พวกพราหมณ์ และแก่เทวดาผู้เป็นพราหมณ์. เมื่อพระราชาตรัสถามว่า เทวดาผู้เป็นพราหมณ์เหล่าไหน จึงทูลว่า เทวดาคือไฟ ดังนี้. แล้วจึงทูลพระราชาว่า ขอพระองค์จงให้ไฟนั้นอิ่มหนำ ด้วยเนยใสและเนยข้น. พระราชานั้นได้ทรงกระทำอย่างนั้น.
กาณาริฏฐะนั้น เมื่อจะประกาศความนั้น จึงกล่าวคาถานี้ว่า
พระเจ้าทุทีปะ มีอานุภาพมาก มีอายุ ๑,๐๐๐ ปี มีพระรูปงาม น่าดูยิ่งนัก ทรงละแว่นแคว้น. อันไม่มีที่สุดพร้อมทั้งเสนา เสด็จออกผนวชแล้ว ได้เสด็จสู่สวรรค์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปพฺพชิ ความว่า ผู้ครองราชสมบัติสิ้น ๕๐๐ ปี กระทำสักการะแก่พราหมณ์ทั้งหลาย. แล้วละราชสมบัติ อันหาที่สุดมิได้ พร้อมด้วยเสนาออกผนวช ทรงกระทำสมณธรรม ๕๐๐ ปี เป็นพระทักขิไณยผู้เลิศน่าดูน่าชม. บทว่า ทุทีโปปิ ท่านกล่าวว่า พระราชาทรงพระนามว่าทุทีปะ นั้น บูชาพราหมณ์ทั้งหลายเท่านั้น ก็เสด็จไปสู่สวรรค์. บาลีว่า ทุทิปะ ก็มี.

กาณาริฏฐะ เมื่อจะแสดงอุทาหรณ์แม้อื่นอีก แก่สุโภคะนั้น จึงกล่าวคาถาว่า
ข้าแต่พี่สุโภคะ พระเจ้าสาครราชทรงปราบ แผ่นดินอันมีสาครเป็นที่สุด รับสั่งให้ตั้งเสาผูกสัตว์ บูชายัญอันงามยิ่งนัก ล้วนแล้วด้วยทองคำ ทรงบูชาไฟแล้วได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง แม่น้ำคงคาและสมุทร เป็นที่สั่งสมนมส้ม ย่อมเป็นไปด้วยอานุภาพของผู้ใด. ผู้นั้นคือ พระเจ้าอังคโลมบาท ทรงบำเรอไฟ. แล้วเสด็จไปเกิด ในพระนครของท้าวสหัสสนัยน์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาครนฺตํ ได้แก่ แผ่นดินมีสาครเป็นที่สุด. บทว่า อุสฺเสสิ ความว่า เมื่อท่านถามถึงทางสวรรค์กะพวกพราหมณ์. ครั้นพวกพราหมณ์กล่าวว่า จงให้ยกเสาบูชายัญทองคำขึ้น จึงให้ยกขึ้นเพื่อฆ่าสัตว์เลี้ยง. บทว่า เวสฺสานรมาทหาโน ความว่า เริ่มบูชาไฟเทวดา อีกอย่างหนึ่งบาลีว่า เวสฺสานรึ ดังนี้ก็มี. บทว่า เทวญฺญตโร กาณาริฏฐะกล่าวว่า ดูก่อนพี่สุโภคะ ก็พระราชาองค์นั้น บูชาไฟแล้วได้เป็นเทวดา ผู้มีศักดิ์ใหญ่ตนหนึ่ง.
บทว่า ยสฺสานุภาเวน ความว่า ดูก่อนพี่สุโภคะ แม่น้ำคงคาและมหาสมุทรใครสร้างพี่รู้ไหม. สุโภคะกล่าวว่า เราไม่รู้. กาณาริฏฐะกล่าวว่า พี่ไม่รู้อะไร พี่รู้แต่จะโบยตีพราหมณ์เท่านั้น. ก็ในอดีตกาลพระเจ้ากรุงพาราณสีทรงพระนามว่า อังคโลมบาท ตรัสถามทางสวรรค์กะพวกพราหมณ์. เมื่อพวกพราหมณ์ทูลว่า พระองค์จงเสด็จเข้าไปหิมวันต์ กระทำสักการะแก่พราหมณ์ทั้งหลายแล้ว บำเรอไฟ พระองค์จึงพาแม่โคนมและพระมเหสี หาประมาณมิได้เข้าไปยังหิมวันต์ ได้กระทำอย่างนั้น. เมื่อพระราชาตรัสถามว่า นมสดและนมส้มที่เหลือจากพวกพราหมณ์บริโภคแล้ว จะพึงทำอย่างไร จึงกล่าวว่า จงทิ้งเสีย. ในที่ๆ น้ำนมแต่ละน้อยถูกทิ้งลงไปนั้นๆ ได้กลายเป็นแม่น้ำน้อย ส่วนน้ำนมนั้นกลายเป็นนมส้ม ไหลไปขังอยู่ในที่ใด ที่นั้นได้กลายเป็นสมุทรไป. พระเจ้าพาราณสีทรงกระทำ สักการะเห็นปานนี้ เสด็จไปสู่บุรีของท้าวสหัสสนัยน์ ผู้บำเรอไฟตามวิธีที่พราหมณ์กล่าว ด้วยประการฉะนี้.

กาณาริฏฐะ ครั้นนำอดีตนิทานนี้มาชี้แจงแก่สุโภคะดังนี้แล้ว จึงกล่าวคาถาว่า
เทวดาผู้ประเสริฐ มีฤทธิ์มาก มียศ เป็นเสนาบดีของท้าววาสวะในไตรทิพย์ กำจัดมลทินด้วยโสมยาควิธี (บูชาด้วยการดื่มน้ำโสม) ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส โสมยาเคน มลํ วิหนฺตฺวา ความว่า ดูก่อนพี่สุโภคะผู้เจริญ บัดนี้ ผู้ที่เป็นเสนาบดีของท้าวสักกเทวราช มียศมาก เป็นเทพบุตร. แม้ผู้นั้น เมื่อก่อน เป็นพระเจ้าพาราณสี ถามถึงทางเป็นที่ไปสวรรค์กะพวกพราหมณ์. เมื่อพวกพราหมณ์กล่าวว่า ขอพระองค์จงลอยมลทินของตน ด้วยโสมยาควิธีแล้วจะไปสู่เทวโลก. จึงทรงกระทำสักการะใหญ่แก่พราหมณ์ทั้งหลายแล้ว กระทำการบูชาโสมยาคะ ตามวิธีที่พวกพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวแล้ว จึงทรงกำจัดมลทินด้วยวิธีนั้นแล้ว เกิดเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง

เมื่อจะประกาศความนี้ จึงกล่าวอย่างนี้
เมื่อกาณาริฏฐะจะแสดงอุทาหรณ์แม้อื่นอีกแก่สุโภคะ จึงกล่าวว่า
เทวดาผู้ประเสริฐ มีฤทธิ์เรืองยศสร้างโลกนี้โลกหน้า แม่น้ำภาคีรถี (๑. ศัพท์ว่า ภาติรถึ อรรถกถาว่า ภาติรถิคงคา. อภิธานว่า ภาคีรถี.) ขุนเขาหิมวันต์ และเขาวิชฌะ ได้บูชาไฟมาก่อน ภูเขามาลาคิริ ขุนเขาหิมวันต์ เขาวิชฌะ ภูเขาสุทัสนะ ภูเขานิสภะ ภูเขากากเวรุ ภูเขาเหล่านี้ และภูเขาใหญ่อื่นๆ กล่าวกันว่า พวกพราหมณ์ ผู้บูชายัญได้ก่อสร้างไว้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โสปิ ตทา อาทหิ ชาตเวทํ ท่านแสดงว่า ดูก่อนพี่สุโภคะ มหาพรหมใด ได้สร้างโลกนี้และโลกหน้า แม่น้ำภาคีรถี แม่น้ำคงคา ขุนเขาหิมวันต์ เขาวิชฌะและเขากากเวรุ. ในกาลใด มหาพรหมแม้นั้นได้เป็นมาณพก่อนกว่าพรหมอุบัติ. ในกาลนั้นเขาเริ่มต้นบูชาไฟ เป็นมหาพรหมได้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง พราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ก็เป็นอย่างนั้น. บทว่า จิตฺยา กตา ความว่า เล่ากันมาว่า เมื่อก่อน พระเจ้ากรุงพาราณสีพระองค์หนึ่ง ตรัสถามถึงทางไปสวรรค์กะพวกพราหมณ์. เมื่อพวกพราหมณ์ทูลว่า ขอพระองค์จงทำสักการะแก่พวกพราหมณ์ พระองค์ก็ได้ถวายมหาทาน แก่พราหมณ์เหล่านั้นแล้ว ตรัสถามว่า ในการให้ทานของข้าพเจ้านี้ ไม่มีผลหรือ. เมื่อพวกพราหมณ์ทูลว่า มีทั้งหมด พระเจ้าข้า แต่อาสนะไม่เพียงพอแก่พวกพราหมณ์. จึงรับสั่งให้ก่ออิฐสร้างอาสนะทั้งหลาย. ที่นอนและตั่งที่พระองค์ให้ก่อสร้างขึ้นนั้น เจริญด้วยอานุภาพของพวกพราหมณ์ กลายเป็นภูเขามาลาคิริเป็นต้น ภูเขาเหล่านั้นกล่าวกันว่า พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญ ได้สร้างไว้ด้วยประการฉะนี้แล.

ลำดับนั้น กาณาริฏฐะจึงกล่าวกะสุโภคะนั้นอีกว่า พี่สุโภคะ ก็พี่รู้หรือไม่ว่า เพราะเหตุไร สมุทรนี้จึงเกิดเป็นน้ำเค็ม ดื่มไม่ได้. สุโภคะกล่าวว่า ดูก่อนอริฏฐะ พี่ไม่รู้. กาณาริฏฐะจึงกล่าวกะสุโภคะนั้นว่า พี่ก็รู้แต่จะเบียดเบียนพวกพราหมณ์เท่านั้น ไม่รู้อะไรอื่นเลย คอยฟังเถิด จึงกล่าวคาถาว่า
ชนทั้งหลายเรียกพราหมณ์ผู้ทรงเวท ผู้เข้าถึงคุณแห่งมนต์ ผู้มีตบะ ในโลกนี้ว่า ผู้ประกอบในการขอ. มหาสมุทรซัดท่วมพราหมณ์ ผู้กำลังตระเตรียมน้ำอยู่ ที่ฝั่งมหาสมุทร เพราะเหตุนั้น น้ำในมหาสมุทร จึงดื่มไม่ได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาจโยคีติธาหุ ความว่า ชนทั้งหลายในโลกนี้เรียกพราหมณ์นั้นว่า ยาจโยคี ผู้ประกอบในการอ้อนวอนขอ.
บทว่า อุทกํ สชฺชนฺตํ ความว่า เล่ากันว่า วันหนึ่งพราหมณ์นั้น กระทำกรรม คือการลอยบาป ยืนอยู่ที่ริมฝั่ง ตักน้ำจากสมุทร กระทำการดำเกล้าสระหัวของตน. ขณะนั้นสาครกำเริบท่วมทับพราหมณ์นั้น ผู้กระทำอย่างนั้น. มหาพรหมได้ทรงสดับเหตุนั้นจึงโกรธว่า ได้ทราบว่า สาครนี้ฆ่าบุตรเรา จึงสาปว่าสมุทรจงดื่มไม่ได้ จงเป็นน้ำเค็ม. ด้วยเหตุนั้นนั่นเอง สมุทรจึงดื่มไม่ได้ กลายเป็นน้ำเค็ม ชื่อว่าพราหมณ์เหล่านี้ มีคุณมากถึงปานนี้แล.

กาณาริฏฐะกล่าวต่อไปว่า
วัตถุที่ควรบูชา คือพวกพราหมณ์เป็นอันมากมีอยู่บนแผ่นดิน ของท้าววาสวะ. พราหมณ์ทั้งหลายมีอยู่ในทิศบูรพา ทิศปัจฉิม ทิศทักษิณและทิศอุดร ย่อมยังปีติและโสมนัสให้เกิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วาสวสฺส ความว่า ของท้าววาสวะ คือของท้าวสักกเทวราช ผู้ให้ทานแก่พวกพราหมณ์ในกาลก่อนแล้ว. ถึงความเป็นท้าววาสวะ. บทว่า อายาควตฺถูนิ ความว่า พราหมณ์เป็นอันมาก ในปฐพี คือในแผ่นดิน ผู้เป็นบุญเขตในกาลก่อน ผู้เป็นทักขิไณยอันเคยมีอยู่. บทว่า ปุริมํ ทิสํ ความว่า แม้บัดนี้พราหมณ์เหล่านั้นมีอยู่ในทิศทั้ง ๔ นี้ ย่อมให้เกิดความปลื้มปีติเป็นอันมาก คือนำมาซึ่งความมีปีติและโสมนัส แก่ท้าววาสวะนั้น.

อริฏฐะพรรณนาถึงพราหมณ์ ยัญ และ เวทด้วยคาถา ๑๔ คาถาด้วยประการฉะนี้.
จบการพรรณนายัญญวาท

.. อรรถกถา ภูริทัตชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓][๔] [๕]
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]