ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

อรรถกถา จันทกุมาร
พระจันทกุมารทรงบำเพ็ญขันติบารมี

หน้าต่างที่   ๒ / ๓.

กัณฑหาลพราหมณ์นั้นคิดว่า นี่พระราชาทรงกระทำอย่างไรหนอ ลุกขึ้นแล่นมาด้วยกำลังเร็ว ประหนึ่งว่า ถูกไฟประลัยกัลป์เผาอยู่ฉะนั้น จึงกล่าวคาถาว่า
ข้าพระองค์ทูลไว้แล้วในกาลก่อนเทียวว่า การบูชายัญนี้ทำได้ยาก ให้เกิดความยินดีได้แสนยาก. บัดนี้ พระองค์ทรงกระทำยัญที่ข้าพระองค์ตระเตรียมไว้แล้ว ให้กระจัดกระจาย เพราะเหตุไร. ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี และชนเหล่าใดให้ผู้อื่น บูชายัญก็ดี. อนึ่ง ชนเหล่าใดอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ ของบุคคลผู้บูชาอยู่ก็ดี ชนเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมไปสู่สุคติ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุพฺเพ เมสิ วุตฺโต ความว่า ข้าพระองค์ได้ทูลไว้แล้วในกาลก่อนเทียว มิใช่หรือว่า คนมีชาติขลาดกลัว เช่นพระองค์ ไม่สามารถจะบูชายัญ ขึ้นชื่อว่าบูชายัญนี้ทำได้ยาก ให้ความยินดีได้ยาก. เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านชื่อว่ากระทำความซัดส่ายแห่งยัญ ซึ่งถูกทอดทิ้งในบัดนี้ของเรา.
บาลีว่า วิขมฺภํ ดังนี้ ก็มี อธิบายว่า ปฏิเสธ. เขาแสดงว่า ดูก่อนมหาราช เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงกระทำอย่างนี้. ก็ชนประมาณเท่าใด บูชายัญด้วยตนเองก็ดี ให้บุคคลอื่นบูชาก็ดี อนุโมทนาที่ผู้อื่นบูชาแล้วก็ดี ทั้งหมดนั้น ย่อมไปสู่สุคติอย่างเดียว.

พระราชาผู้บอดเขลา ทรงถือเอาคำของกัณฑหาลพราหมณ์ ผู้เป็นไปในอำนาจแห่งความโกรธ. ผู้สำคัญว่าเป็นการชอบธรรม ก็ทรงให้ราชบุรุษไปจับกุมพระราชกุมารทั้งหลายกลับมาอีก เพราะเหตุนั้น พระจันทกุมาร เมื่อจะยังพระราชบิดาให้ทรงทราบ จึงทูลว่า
ขอเดชะ เหตุไรในกาลก่อน พระองค์จึงรับสั่งให้ พราหมณ์กล่าวคำเป็นสวัสดีแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย. มาบัดนี้จะรับสั่งให้ฆ่า ข้าพระองค์ทั้งหลาย เพื่อต้องการบูชายัญ โดยหาเหตุมิได้เลย. ข้าแต่พระบิดา เมื่อก่อนในเวลาที่ข้าพระองค์ยังเป็นเด็ก พระองค์มิได้ทรงฆ่า และมิได้ทรงสั่งให้ฆ่า. บัดนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายถึงความเจริญวัย เป็นหนุ่มแน่นแล้ว มิได้คิดประทุษร้ายพระองค์เลย. เพราะเหตุไร จึงรับสั่งให้ฆ่าเสีย.
ข้าแต่พระมหาราชา ขอพระองค์จงทอดพระเนตรข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้ขึ้นคอช้าง ขี่หลังม้า ผูกสอดเครื่องรบ ในเวลาที่รบมาแล้ว หรือเมื่อกำลังรบ. ก็บุตรทั้งหลายเช่นดัง ข้าพระองค์ทั้งหลาย ย่อมไม่ควรจะฆ่า เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญเลย. ข้าแต่พระราชบิดา เมื่อเมืองชายแดน หรือเมื่อพวกโจรในดงกำเริบ เขาใช้คนเช่นดังข้าพระองค์ทั้งหลาย. แต่ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกฆ่าให้ตายโดยมิใช่เหตุ ในมิใช่ที่.
ขอเดชะ แม่นกเหล่าไรๆ เมื่อทำรังแล้วย่อมอยู่ ลูกทั้งหลายเป็นที่รักของแม่นกเหล่านั้น. ส่วนพระองค์ได้ตรัสสั่งให้ฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลาย เพราะเหตุไร. ขอเดชะ อย่าได้ทรงเชื่อกัณฑหาลปุโรหิต. กัณฑหาลปุโรหิตไม่พึงฆ่าพระองค์เพราะว่า เขาฆ่าข้าพระองค์แล้วก็จะพึงฆ่าแม้พระองค์ ในลำดับต่อไป.
ข้าแต่พระมหาราชา พระราชาทั้งหลาย ย่อมพระราชทานบ้านอันประเสริฐ นิคมอันประเสริฐ. แม้โภคะแก่พราหมณ์นั้น. อนึ่ง พวกพราหมณ์ แม้ได้ข้าวน้ำอันเลิศในตระกูล บริโภคในตระกูล ยังปรารถนาจะประทุษร้ายต่อผู้ให้ข้าวน้ำเช่นนั้นอีก เพราะพวกพราหมณ์เหล่านั้น โดยมากเป็นคนอกตัญญู.
ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย. โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิตเถิด พระเจ้าข้า. ถึงแม้ว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขา.
ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย. โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิตเถิด พระเจ้าข้า. ถึงแม้ว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลช้างให้เขา.
ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย. โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิตเถิด พระเจ้าข้า. ถึงแม้ว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลม้าให้เขา.
ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย. โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิต ตามที่พระองค์มีพระราชประสงค์เถิด พระเจ้าข้า. ถึงแม้ว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกขับไล่จากแว่นแคว้น ก็จักเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุพฺเพ ความว่า ข้าแต่พระบิดา ถ้าข้าพระองค์เป็นบุตรอันพระองค์พึงฆ่าไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้เพราะเหตุไรเล่า. ในกาลก่อน คือในกาลที่ข้าพระองค์เกิดแล้ว ชนผู้เป็นญาติของข้าพระองค์ทั้งหลาย จึงได้ให้พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวคำเป็นสวัสดีมงคล.
ได้สดับมาว่า ในกาลนั้น กัณฑหาลพราหมณ์เองด้วย ตรวจตราลักษณะทั้งหลายของข้าพระองค์แล้ว ได้ทำนายว่า ภัยอันมาในระหว่างใดๆ จักไม่มีแก่พระราชกุมารองค์นี้. ในกาลเป็นที่สุดของพระองค์ พระราชกุมารองค์นี้จักยังรัฐให้เป็นไป. คำหลังของกัณฑหาลพราหมณ์ฟังไม่สมกับคำต้นดังนี้. พราหมณ์คนนี้ ย่อมเป็นคนกล่าวเท็จ. แต่บัดนี้พระองค์ทรงถือเอาคำของกัณฑหาลพราหมณ์ จักฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเพื่อบูชายัญ โดยหาเหตุอันควรมิได้เลย. ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลาย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมนรชน ขอพระองค์จงกำหนดให้จงดีว่า กัณฑหาลพราหมณ์คนนี้แล เป็นผู้ปรารถนาจะฆ่าชนหมู่ใหญ่ เพราะความเป็นเวรในข้าพระองค์คนเดียว.
บทว่า ปุพฺเพวโน ความว่า ข้าแต่พระมหาราชา ถ้าแม้พระองค์ทรงใคร่จะฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลาย เพราะเหตุไร. ในกาลก่อน คือในกาลที่ข้าพระองค์ทั้งหลายยังเยาว์วัย พระองค์จึงมิได้ฆ่าเอง หรือให้ผู้อื่นฆ่าซึ่งข้าพระองค์ทั้งหลาย. แต่มาบัดนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายรุ่นขึ้นเป็นหนุ่มตั้งอยู่ในปฐมวัย เจริญพร้อมด้วยบุตรและธิดาทั้งหลาย. เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพระองค์เกิดมามิได้คิดปองร้ายต่อพระองค์เลย. พระองค์จักฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลาย เพราะเหตุไรเล่า.
บทว่า ปสฺส โน ความว่า ขอพระองค์จงพิจารณาดู ซึ่งข้าพระองค์ผู้พี่น้องชายทั้ง ๔ คน.
บทว่า ยุชฺฌมาเน ความว่า ในการที่ศัตรูทั้งหลายล้อมพระนครแล้วตั้งอยู่. ขอพระองค์จงทอดพระเนตรดู ซึ่งพระราชบุตรทั้งหลายเช่นข้าพระองค์ รบอยู่ด้วยข้าศึกเหล่านั้น ก็พระราชาทั้งหลายอันไร้พระราชบุตร ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีที่พึ่ง. บทว่า มาทิสา ความว่า พระราชบุตรทั้งหลายอันกล้าหาญ มีกำลัง จึงไม่เป็นบุคคลที่ควรฆ่าเพื่อบูชายัญ. บทว่า นิโยชนฺติ ความว่า ท่านย่อมใช้เพื่อประโยชน์อันจับกุมปัจจามิตรทั้งหลาย. บทว่า อถ โน แก้เป็น อถ อมฺเห . บทว่า อกรณสฺมา ความว่า เพราะเหตุอันไม่สมควร. บทว่า อภูมิยํ ความว่า ในโอกาสอันไม่สมควรเลย. อธิบายว่า เพราะเหตุไร พ่อ พวกเราจึงถูกฆ่า. บทว่า มา ตสฺส สทฺทเหสิ ความว่า ดูก่อนมหาราช กัณฑหาลพราหมณ์มิได้ฆ่าเรา ท่านอย่าเชื่อกัณฑหาลพราหมณ์แม้นั้น. บทว่า โภคํ ปิสฺส ความว่า พระราชาทั้งหลายไม่ให้แม้โภคะแก่พราหมณ์นั้น. บทว่า อถคฺคปิณฺฑิกาปิ ความว่า ก็พราหมณ์เหล่านั้น เมื่อได้ซึ่งน้ำอันเลิศ ก้อนข้าวอันเลิศ จึงชื่อว่า ได้ก้อนข้าวอันเลิศ. บทว่า เตสํปิ ความว่า พวกเขาบริโภคในตระกูลของคนเหล่าใด พวกเขาอยากจะทำร้าย แม้คนผู้ให้ซึ่งก้อนข้าว เห็นปานนี้แม้เหล่านั้น.

พระราชา ครั้นทรงสดับคำพร่ำกล่าวของกุมารนั้น จึงตรัสว่า
เจ้าทั้งหลายพร่ำเพ้ออยู่เพราะรักชีวิต ย่อมก่อทุกข์ให้เกิดแก่เรานักแล. จงปล่อยกุมารทั้งหลายไป ณ บัดนี้. เราขอเลิกเอาบุตรบูชายัญ.

พระราชา ครั้นทรงกล่าวคาถานี้แล้ว ก็โปรดให้ปล่อยกุมารทั้งหลาย แม้อีก
กัณฑหาลพราหมณ์มาแล้ว กล่าวอีกว่า
ข้าพระองค์ได้ทูลไว้แล้วก่อนเทียว การบูชายัญนี้ ทำได้ยาก ให้ยินดีได้แสนยาก. บัดนี้ พระองค์ทรงกระทำยัญที่ข้าพระองค์เตรียมไว้แล้ว ให้กระจัดกระจาย. เพราะเหตุไร ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี และชนเหล่าใดให้ผู้อื่นบูชายัญก็ดี. อนึ่ง ชนเหล่าใดอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ ของบุคคลผู้บูชาอยู่ก็ดี ชนเหล่านั้นย่อมไปสู่สุคติ.

ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ให้จับพระราชกุมารเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่ง. ลำดับนั้น พระกุมารเพื่อต้องการจะกล่าวไป ตามกระแสความของกัณฑหาลพราหมณ์ จึงทูลว่า
ข้าแต่พระราชา ถ้าชนทั้งหลายบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลาย จุติจากโลกนี้ไปสู่เทวโลก ดังที่เล่ากันมาไซร้. พราหมณ์จงบูชายัญก่อน พระองค์จักทรงบูชาในภายหลัง.
ถ้าชนทั้งหลายบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลาย จุติจากโลกนี้แล้วย่อมไปสู่เทวโลก ดังที่เล่ากันมาไซร้. กัณฑหาลพราหมณ์ผู้นี้แล จงบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายของตน.
ถ้ากัณฑหาลพราหมณ์รู้อยู่อย่างนี้ เหตุไรจึงไม่ฆ่าบุตรทั้งหลาย ไม่ฆ่าคนที่เป็นญาติทุกคนและตนเองเล่า.
ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี และชนเหล่าใดให้ผู้อื่นบูชายัญก็ดี. อนึ่ง ชนเหล่าใดอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ ของบุคคลผู้บูชาอยู่ก็ดี ชนเหล่านั้นย่อมไปสู่นรกทั้งหมด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺราหฺมโณ ตาว ความว่า จงบูชากัณฑหาลพราหมณ์ก่อน. บทว่า สเกหิ ความว่า แปลว่า จงบูชาด้วยบุตรทั้งหลายของตน.

ลำดับนั้น พระจันทกุมาร เมื่อจะแสดงจึงได้ทูลอย่างนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ เมื่อกัณฑหาลพราหมณ์นั้นบูชายัญอย่างนี้ แล้วไปสู่เทวโลก. พระองค์จึงจักทรงบูชายัญภายหลัง แม้โภชนะมีรสอร่อย พระองค์จะเสวย ต่อเมื่อคนอื่นได้ลองชิมแล้ว ก็นี่ความตายของบุตรทีเดียว. เหตุไร พระองค์จึงไม่โปรดให้คนอื่น ทดลองก่อนแล้วจึงทรงกระทำ.
บทว่า เอวํ ชานํ ความว่า เมื่อรู้อย่างนี้ว่า คนทั้งหลายฆ่าบุตรและธิดา แล้วไปสู่เทวโลก. เพราะเหตุไร กัณฑหาลพราหมณ์จึงไม่ฆ่าบุตรทั้งหลาย และพวกญาติของตน และตนเองเล่า. ถ้าบุคคลใดรู้คุณแห่งการบูชายัญอย่างนี้ว่า ถ้าฆ่าผู้อื่นแล้วย่อมไปสู่เทวโลก ถ้าฆ่าตนเองแล้วจะได้ไปถึงพรหมโลกดังนี้ไซร้. ก็ไม่พึงฆ่าคนอื่น พึงฆ่าตนเองนั้นแล. แต่กัณฑหาลพราหมณ์คนนี้ไม่กระทำอย่างนั้น กลับจะยังพระองค์ให้ฆ่าข้าพระองค์. ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงทราบซึ่งความกระทำของกัณฑหาลพราหมณ์. แม้ด้วยเหตุนี้ว่า เมื่อไม่ได้เพื่อจะกระทำการปล้นลูกความในการวินิจฉัย เขาจึงกระทำดังนี้.
บทว่า เอทิสํ ได้แก่ ยัญที่ฆ่าบุตรเห็นปานนี้.
พระราชกุมาร เมื่อทูลความมีประมาณเท่านี้ ก็ไม่อาจจะกระทำให้พระราชบิดาทรงถือเอาถ้อยคำของพระองค์ จึงทรงปรารภราชบริษัทที่ห้อมล้อมพระราชาอยู่นั้น ตรัสว่า
ได้ยินว่า พ่อเจ้าเรือนและแม่เจ้าเรือนทั้งหลายผู้รักบุตร ซึ่งมีอยู่ในพระนครนี้ ไฉนจึงไม่ทูลพระราชา อย่าให้ทรงฆ่าพระราชบุตรอันเกิดแต่พระอุระ.
ได้ยินว่า พ่อเจ้าเรือนและแม่เจ้าเรือนทั้งหลายผู้รักบุตร ซึ่งมีอยู่ในพระนครนี้ ไฉนจึงไม่ทูลทัดทานพระราชา อย่าให้ทรงฆ่าพระราชบุตรอันเกิดแต่พระองค์.
เราปรารถนาประโยชน์แก่พระราชาด้วย ทำประโยชน์แก่ชาวชนบททั้งปวงด้วย ใครๆ จะมีความแค้นเคืองกับเรา ไม่พึงมี ชาวชนบทไม่ช่วยกราบทูลให้ทรงทราบเลย.


บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า ปุตฺตกามาโย ท่านกล่าวหมายเอา แม่เจ้าเรือนเท่านั้น. อนึ่ง พ่อเจ้าเรือนก็ชื่อว่า เป็นผู้ปรารถนาบุตร. บทว่า น อุปวทนฺติ ความว่า ไม่เข้าไปกล่าวโทษ คือไม่ว่ากล่าว. บทว่า อตฺรชํ แปลว่า เกิดด้วยตน. แม้เมื่อท่านกล่าวอย่างนี้ ใครๆ ชื่อว่าเป็นผู้สามารถเพื่อจะทูลกับพระราชา ไม่ได้มีเลย.
บทว่า น โกจิ อสฺส ปฏิฆํ มยา ความว่า ใครๆ แม้เพียงคนเดียว ชื่อว่ากระทำความแค้นเคืองกับเราว่า พระราชกุมารองค์นี้รับสินบนของเรา หรือว่าก่อทุกข์ชื่อนี้ให้แก่เรา เพราะความเมาด้วยความเป็นใหญ่ ดังนี้มิได้มีเลย.
บทว่า ชนปโท น ปเวเทติ ความว่า ชาวชนบทไม่ช่วยกันประกาศ คือกราบทูลให้พระราชาทรงทราบว่า เราเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์ของพระราชา และของชาวชนบท ด้วยประการฉะนี้. ทำไม ชาวชนบทนี้จึงไม่กราบทูลพระราชบิดาของเราว่า พระราชบุตรของพระองค์ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม.

แม้เมื่อพระจันทกุมารตรัสอย่างนี้แล้ว ใครๆ มิได้พูดอะไรเลย เพราะเหตุนั้น พระกุมาร เมื่อจะส่งพระชายาของพระองค์ ๗๐๐ นางให้ไปเพื่อวิงวอน จึงตรัสว่า
ดูก่อนแม่เจ้าเรือนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย จงไปกราบทูลพระราชบิดา และวิงวอนกัณฑหาลพราหมณ์ว่า ขอจงอย่าฆ่าพระราชกุมารทั้งหลาย ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์. ดูก่อนแม่เจ้าเรือนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงไปกราบทูลพระราชบิดา และวิงวอนกัณฑหาลพราหมณ์ว่า ขอจงอย่าฆ่าพระราชกุมารทั้งหลาย ผู้เป็นที่เพ่งที่หวังของโลกทั้งปวง.

แม่เจ้าเรือนเหล่านั้นไปกราบทูลวิงวอนแล้ว พระราชาไม่ทอดพระเนตรดูเลย เพราะฉะนั้น พระราชกุมารไร้ที่พึ่งแล้ว จึงพร่ำเพ้อ กล่าวคาถาว่า
ไฉนหนอ เราพึงเกิดในตระกูลนายช่างรถ ในตระกูลปุกกุสะ หรือพึงเกิดในหมู่พ่อค้า พระราชาก็ไม่พึงรับสั่งให้ฆ่า ในการบูชายัญวันนี้.

ครั้นกล่าวดังนี้ พระกุมาร เมื่อจะส่งพระชายาทั้งหลายไปอีกครั้งหนึ่งจึงตรัสว่า
เจ้าผู้มีความคิดแม้ทั้งปวง จงไปหมอบลงแทบเท้าของผู้เป็นเจ้ากัณฑหาละ เรียนว่า เรามิได้เห็นโทษเลย. ดูก่อนแม่เจ้าเรือนแม้ทั้งปวง เจ้าจงไปหมอบลงแทบเท้าของผู้เป็นเจ้ากัณฑหาละ เรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าเราทั้งหลายได้ประทุษร้ายอะไรในท่าน ขอท่านจงอดโทษเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปราธาหํ น ปสฺสามิ ความว่า ข้าแต่อาจารย์กัณฑหาละ ข้าพเจ้าไม่เห็นความผิดของตน. บทว่า กินฺเต ภนฺเต ความว่า ข้าแต่ผู้เป็นเจ้ากัณฑทหาละ พวกเราไม่เห็นความผิดอะไรของท่าน. ก็ถ้าจันทกุมารมีโทษไซร้ ขอท่านจงกล่าวกะจันทกุมารนั้นว่า ขอท่านจงอดโทษเถิด.

ลำดับนั้น พระกนิษฐภคินีของพระจันทกุมารทรงนามว่าเสลากุมารี เมื่อไม่อาจอดกลั้นความโศกเศร้า ก็กราบลงแทบบาทมูลของพระราชบิดา แล้วคร่ำครวญ.
พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
พระเสลาราชกุมารีผู้ควรการุญ ทรงเห็นพระภาดาทั้งหลายอันเขานำมาเพื่อบูชายัญ ทรงคร่ำครวญว่า ดังได้สดับมา พระราชบิดาของเราทรงปรารถนาสวรรค์ รับสั่งให้ตั้งยัญขึ้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปนีตตฺเต แปลว่า มีสภาวะอันเขานำมาเพื่อบูชายัญ. บทว่า อุกฺขิปิโต ความว่า พระราชบิดารับสั่งให้ยกขึ้นตั้งไว้ คือให้เป็นไปอยู่. ด้วยบทว่า สคฺคกาเมน นี้ พระเสลาคร่ำครวญอยู่ว่า พระราชบิดาฆ่าพี่ชายทั้งหลายของเราปรารถนาสวรรค์. พระองค์จักฆ่าพี่ชายเหล่านี้ แล้วไปสวรรค์หรือ?

พระราชาไม่ทรงยึดถือถ้อยคำแม้ของนาง. ลำดับนั้น โอรสของพระจันทกุมาร ทรงนามว่าวสุละ. ครั้นเห็นพระบิดาได้รับทุกข์ คิดว่า เราจักเข้าไปทูลวิงวอนพระอัยกา ให้ประทานชีวิตแก่บิดาของเรา. ดังนี้แล้ว หมอบลงแทบบาทมูลแห่งพระราชา แล้วคร่ำครวญ.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
พระวสุลราชนัดดา กลิ้งไปกลิ้งมาเบื้องพระพักตร์พระราชากราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระบาทยังเป็นเด็กไม่ถึงความเป็นหนุ่ม. ขอพระองค์ได้ทรงโปรด อย่าได้ฆ่าพระบิดาของข้าพระองค์เลย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทหรมฺหา อโยพฺพนปฺปตฺตา ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พวกข้าพระองค์ยังเป็นเด็กอ่อน ยังไม่ถึงความเป็นหนุ่มก่อน. ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพระบิดาของพวกข้าพระองค์ ด้วยความเอ็นดู แม้ในพวกข้าพระองค์ก่อนเถิด.

พระราชาทรงสดับเสียงคร่ำครวญของพระวสุละ มีพระอุระประดุจจะแตกทำลายแล้ว สวมกอดพระราชนัดดา มีพระเนตรเต็มไปด้วยพระอัสสุชล ตรัสว่า หลานรัก เจ้าจงได้คืนลมหายใจเถิด ปู่จะปล่อยพ่อเจ้า. แล้วก็ทรงกล่าวพระคาถาว่า
ดูก่อนวสุละ พ่อเจ้าอยู่นี่ เจ้าจงไปพร้อมกับบิดา. เจ้าพร่ำเพ้ออยู่ในพระราชวัง ย่อมให้เกิดทุกข์แก่ปู่นัก. จงปล่อยพระราชกุมารทั้งหลาย ณ บัดนี้ เราขอเลิกการเอาบุตรบูชายัญ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนฺเต ปรสฺมึ ได้แก่ ในภายในพระราชวัง.

กัณฑหาลพราหมณ์มากล่าวอีกว่า
ข้าพระองค์ได้ทูลไว้แล้วในกาลก่อนเทียว การบูชายัญนี้ทำได้ยาก ให้ยินดีได้แสนยาก บัดนี้ พระองค์ทรงกระทำยัญที่ข้าพระองค์ตระเตรียมไว้แล้วให้กระจัดกระจาย เพราะเหตุไร ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี และชนเหล่าใดให้ผู้อื่นบูชายัญก็ดี อนึ่ง ชนเหล่าใดอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของบุคคล ผู้บูชาอยู่ก็ดี ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปสู่สุคติ.

ฝ่ายพระราชาผู้มืดเขลา ก็ให้ราชบุรุษไปจับกุม พระราชบุตรทั้งหลายมาอีกครั้งหนึ่ง ตามคำของกัณฑหาลพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น กัณฑหาลพราหมณ์ จึงคิดว่า พระราชาพระองค์นี้ใจอ่อน ประเดี๋ยวให้ปล่อย ประเดี๋ยวก็ให้จับพระราชบุตรทั้งหลาย พระองค์จะปล่อยพระราชบุตรทั้งหลาย ตามคำของทารกทั้งหลายอีก อย่ากระนั้นเลย เราจะพาพระองค์ไปสู่หลุมยัญเสียเลย.
ลำดับนั้น จึงกล่าวคาถา เพื่อจะให้พระองค์เสด็จไปในที่นั้นว่า
ข้าแต่สมเด็จพระเอกราช ข้าพระองค์ตระเตรียมยัญ แล้วด้วยแก้วทุกอย่าง ตกแต่งไว้แล้วเพื่อพระองค์ ขอเดชะ เชิญเสด็จออกเถิด พระองค์ทรงบูชายัญแล้ว เสด็จสู่สวรรค์จักทรงบันเทิงพระหฤทัย.


ความแห่งคำเป็นคาถานั้นว่า ข้าแต่มหาราช ยัญข้าพระองค์ตระเตรียมแล้วด้วย แก้วทุกประการเพื่อพระองค์. บัดนี้เป็นเวลาที่พระองค์จะเสด็จไป เพราะฉะนั้น จักเสด็จออกไปบูชายัญ แล้วไปสู่สวรรค์ทรงบันเทิงพระหฤทัย.

ครั้นในเวลาที่เขาพาพระโพธิสัตว์ไปยังหลุมเป็นที่บูชายัญ นางห้ามทั้งหลายของพระโพธิสัตว์นั้น ก็ได้ออก (จากที่นี้) โดยพร้อมกัน.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
หญิงสาว ๗๐๐ นาง ผู้เป็นชายาของพระจันทกุมาร ต่างสยายผมแล้วร้องไห้ ดำเนินไปตามทาง. ส่วนพวกหญิงอื่นๆ ออกไปแล้วด้วยความเศร้าโศก เหมือนเทวดาในนันทวัน ต่างก็สยายผม ร้องไห้ไปตามทาง.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นนฺทเน วิย เทวา ความว่า เหมือนเทวดาทั้งหลายห้อมล้อมเทพบุตร ผู้มีอันจุติเป็นธรรมดาในนันทวัน.

พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับด้วยกุณฑล ไล้ทาด้วยกฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกราชบุรุษนำไป เพื่อบูชายัญของสมเด็จพระเอกราช.
พระจันทกุมารและ... ...ถูกราชบุรุษนำไป. ทำความเศร้าพระหฤทัยให้แก่พระชนนี.
พระจันทกุมารและ... ...ถูกราชบุรุษนำไป. ทำความเศร้าใจให้แก่ประชุมชน.
พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร เสวยพระกระยาหาร อันปรุงด้วยรสเนื้อ ช่างสนานสระสรงพระกายดีแล้ว ประดับกุณฑล ไล้ทาด้วยกฤษณาและจุรณแก่นจันทน์. ถูกราชบุรุษนำไป เพื่อบูชายัญของสมเด็จพระเอกราช.
พระจันทกุมารและ... ...ถูกราชบุรุษนำไป ทำความเศร้าพระหฤทัยให้แก่พระชนกชนนี.
พระจันทกุมารและ... ...ถูกราชบุรุษนำไป ทำความเศร้าใจให้แก่ประชุมชน.
ในกาลก่อน พวกพลช้างย่อมตามเสด็จ พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ผู้เสด็จขึ้นสู่คอช้างเชือกประเสริฐ. วันนี้พระจันทกุมารและพระสุริยกุมารทั้ง ๒ พระองค์เสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่า.
ในกาลก่อน พวกพลม้า... ...ผู้เสด็จขึ้นหลังม้าตัวประเสริฐ... ...ด้วยพระบาทเปล่า.
ในกาลก่อน พวกพลรถ... ...ผู้เสด็จขึ้นทรงรถอันประเสริฐ... ...ด้วยพระบาทเปล่า.
ในกาลก่อน พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ราชบุรุษนำเสด็จออกด้วยม้าทั้งหลาย อันตบแต่งด้วยเครื่องทอง. วันนี้ ทั้งสองพระองค์ต้องเสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาสิกสุจิวตฺถธรา ความว่า พระจันทกุมารและพระสุริยกุมารทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด. บทว่า จนฺทสุริยา ได้แก่ พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร. บทว่า นหาปกสุนหาตา ชื่อว่าสนานสระสรงพระกายดี เพราะไล้ทาด้วยจุรณจันทน์ แล้วกระทำการประพรม ด้วยเครื่องสนานทั้งหลาย. บทว่า เย อสฺสุ ในบท ยสฺสุ นี้เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า ซึ่งกุมารเหล่าใด. บทว่า ปุพฺเพ แปลว่า ในกาลก่อนแต่นี้. บทว่า หตฺถิวรธุรคเต ได้แก่ ผู้เสด็จขึ้นสู่คอช้างเชือกประเสริฐ คือผู้เสด็จขึ้นสู่คอช้างเชือกประเสริฐ อันเขาประดับตกแต่งแล้ว. บทว่า อสสวรธุรคเต แปลว่า ผู้ขึ้นสู่หลังม้าตัวประเสริฐ. บทว่า รถวรธุรคเต แปลว่า ผู้เสด็จทรงท่ามกลางรถอันประเสริฐ. บทว่า นียึสุ แปลว่า ออกไปแล้ว.

เมื่อหญิงเหล่านั้นปริเทวนาการอยู่อย่างนี้นั่นแล ราชบุรุษนำพระโพธิสัตว์ออกจากพระนคร ในกาลนั้น ทั่วพระนครก็กำเริบขึ้น ชาวนครปรารภจะออก. เมื่อมหาชนกำลังออกไป ประตูทั้งหลายไม่เพียงพอ. พราหมณ์เห็นคนมากเกินไป จึงคิดว่า ใครจะรู้ว่า เหตุอะไรจักเกิดขึ้น ก็สั่งให้ปิดประตูพระนครเสีย. มหาชนเมื่อจะออกไปไม่ได้ ก็พากันร้องอื้ออึ้งอยู่ใกล้ๆ สวนแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ริมประตูภายในพระนคร. ฝูงนกทั้งหลายพากันตกใจกลัว ด้วยเสียงอื้ออึงนั้น ก็บินขึ้นสู่อากาศ มหาชนเรียกนกนั้นๆ แล้วพร่ำเพ้อกล่าวว่า
นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ เจ้าจงบินไปทางทิศบูรพาแห่งปุปผวดีนคร ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหล จะทรงบูชายัญด้วยราชโอรส ๔ พระองค์.
นกเอ๋ย... ...จะทรงบูชายัญด้วยพระราชธิดา ๔ พระองค์.
นกเอ๋ย... ...จะทรงบูชายัญด้วยพระมเหสี ๔ พระองค์.
นกเอ๋ย... ...จะทรงบูชายัญด้วยคฤหบดี ๔ คน.
นกเอ๋ย... ...จะทรงบูชายัญด้วยช้าง ๔ เชือก.
นกเอ๋ย... ...จะทรงบูชายัญด้วยม้า ๔ ตัว
นกเอ๋ย... ...จะทรงบูชายัญด้วยโคอุสุภราช ๔ ตัว
นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ เจ้าจงบินไปทางทิศบูรพาแห่งปุปผวดีนคร ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราช ผู้หลงใหล จะทรงบูชายัญด้วยสัตว์ทั้งปวงอย่างละ ๔.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มํสมิจฺฉสิ ความว่า นกผู้เจริญเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ. บทว่า อุยฺยสฺสุ ปุพฺเพน ปุปฺผวติยา ความว่า เจ้าจงบินไปในที่ๆ มีการปิดกั้นเพื่อบูชายัญ ทางทิศบูรพาแห่งปุปผวดีนคร.
บทว่า ยชเตตฺถ ความว่า ในที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหล พระองค์ทรงเชื่อถ้อยคำของกัณฑหาลพราหมณ์ บูชายัญด้วยพระราชโอรส ๔ พระองค์. แม้ในคาถาที่เหลือ พึงทราบโดยนัยนี้เหมือนกัน.

มหาชนพากันคร่ำครวญในที่นั้นด้วยอาการอย่างนี้ จึงไปยังสถานที่อยู่ของพระโพธิสัตว์ เมื่อกระทำประทักษิณปราสาท แลเห็นพระตำหนักเรือนยอดในภายในพระนคร และสถานที่ต่างๆ มีพระอุทยานเป็นต้น จึงกล่าวคร่ำครวญอยู่ด้วยคาถาว่า
นี้ปราสาทของท่านล้วนด้วยทองคำภายในพระราชวัง น่ารื่นรมย์ยิ่งนัก บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า
นี้เรือนยอดของท่านล้วนแล้วด้วยทองคำ เกลื่อนกล่นด้วยพวงมาลัย... ...เพื่อจะฆ่า.
นี้พระอุทยานของท่าน มีดอกไม้บานสะพรั่ง ตลอดกาลทั้งปวง น่ารื่นรมย์ใจ... ...เพื่อจะฆ่า.
นี้ป่าอโศกของท่าน มีดอกบานสะพรั่งตลอดกาลทั้งปวง น่ารื่นรมย์ใจ... ...เพื่อจะฆ่า.
นี้ป่ากรรณิการ์ของท่าน มีดอกบานสะพรั่งตลอดกาลทั้งปวง น่ารื่นรมย์ใจ... ...เพื่อจะฆ่า.
นี้ป่าแคฝอยของท่าน มีดอกบานสะพรั่งตลอดกาลทั้งปวง น่ารื่นรมย์ใจ... ...เพื่อจะฆ่า.
นี้สวนมะม่วงของท่าน มีดอกบานสะพรั่งตลอดกาลทั้งปวง น่ารื่นรมย์ใจ... ...เพื่อจะฆ่า.
นี้สระโบกขรณีของท่าน ดารดาษไปด้วยดอกบัวหลวงและบัวขาบ มีเรือทองอันงดงามวิจิตร ด้วยลายเครือวัลย์ เป็นที่รื่นรมย์ดี. บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกนำไปเพื่อจะฆ่า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เตทานิ ความว่า บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ ของเรา มีพระจันทกุมารเป็นหัวหน้า ละทิ้งปราสาทเห็นปานนี้. ถูกนำไปเพื่อจะฆ่า. บทว่า โสวณฺณวิกตา แปลว่า ขจิตด้วยทองคำ.

คนทั้งหลายพร่ำเพ้อ ในที่มีประมาณเท่านี้ จึงพากันไปสู่โรงช้างเป็นต้นอีก แล้วกล่าวว่า
นี้ช้างแก้วของท่านชื่อเอราวัณ เป็นช้างมีกำลัง. บัดนี้พระลูกเจ้าทั้ง ๔ นั้นถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า.
นี้ม้าแก้วของท่าน เป็นม้ามีกีบไม่แตก เป็นม้าวิ่งได้เร็ว... ...เพื่อจะฆ่า.
นี้รถม้าของท่าน มีเสียงไพเราะเหมือนเสียงนกสาลิกา เป็นรถงดงามวิจิตรด้วยแก้ว. พระลูกเจ้าเสด็จไปในรถนี้ ย่อมงดงามดังเทพเจ้าในนันทวัน... ...เพื่อจะฆ่า.
อย่างไร พระราชาผู้หลงใหล จึงจักทรงบูชายัญ ด้วยพระราชโอรส ๔ พระองค์ ผู้งามเสมอทอง มีพระวรกายไล้ทาด้วยจุรณจันทน์.
อย่างไร พระราชาผู้หลงใหล... ... ด้วยพระราชธิดา ๔ พระองค์... ...ด้วยจุรณจันทน์.
อย่างไร พระราชาผู้หลงใหล... ...ด้วยพระมเหสี ๔ พระองค์... ...ด้วยจุรณจันทน์.
อย่างไร พระราชาผู้หลงใหล... ...ด้วยคฤหบดี ๔ คน... ...ด้วยจุรณจันทน์
คามนิคมทั้งหลายจะว่างเปล่า ไม่มีมนุษย์ กลายเป็นป่าใหญ่ไป ฉันใด เมื่อพระราชารับสั่งให้เอา พระจันทกุมารและสุริยกุมารบูชายัญ. พระนครปุปผวดีก็จักร้างว่างเปล่า ไม่มีมนุษย์ กลายเป็นป่าใหญ่ไป ฉันนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอราวโณ นี้ เป็นชื่อของช้างนั้น. บทว่า เอกขุโร ได้แก่ มีกีบไม่แตก.
บทว่า สาลิยา วิย นิคฺโฆโส ความว่า ในเวลาไป ประกอบด้วยเสียงกังวาลไพเราะ ดุจกังวานแห่งนกสาลิกาทั้งหลาย. บทว่า กถนฺนาม สามสมสุนฺทเรหิ ความว่า มีผิวเหลืองดังทองคำ เสมอซึ่งกันและกันโดยกำเนิด ชื่อว่า งามเพราะปราศจากโทษ. บทว่า จนฺทนมรุกคตฺเตหิ แปลว่า มีอวัยวะไล้ทาด้วยจันทน์แดง.
บทว่า พฺรหารญฺญา ความว่า คามและนิคมเหล่านั้นว่างไม่มีมนุษย์ กลายเป็นป่าใหญ่ ฉันใด. เมื่อพระราชาทรงบูชายัญ ด้วยพระราชโอรสทั้งสองพระองค์. แม้พระนครปุปผวดี ก็จักร้างว่างเปล่าเป็นเสมือนป่าใหญ่ไป ฉันนั้น.

คนเป็นอันมากนั้น เมื่อไม่ได้เพื่อจะออกไปภายนอก ก็พากันคร่ำครวญ เที่ยวไปภายในพระนครนั่นเอง. ฝ่ายพระโพธิสัตว์ถูกนำไปสู่หลุมที่บูชายัญ. ลำดับนั้น พระมารดาของพระโพธิสัตว์ทรงนามว่า โคตมีเทวี ซบลงแทบบาทมูลของพระราชา ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอพระองค์จงประทานชีวิตแก่บุตรทั้งหลายของข้าพระบาท ทรงกรรแสงพลางกล่าวว่า

.. อรรถกถา จันทกุมาร
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑][๒] [๓]
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]