ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

อรรถกถา จันทกุมาร
พระจันทกุมารทรงบำเพ็ญขันติบารมี

หน้าต่างที่   ๓ / ๓.

ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอพระองค์จงประทานชีวิตแก่ บุตรทั้งหลายของข้าพระบาท ทรงกรรแสงพลางกล่าวว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระบาทจักเป็นบ้า มีความเจริญถูกขจัดแล้ว มีสรีระเกลือกกลั้วด้วยธุลี ถ้าเขาฆ่าจันทกุมาร ลมปราณของข้าพระบาทก็จะแตกทำลาย.
ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระบาทจักเป็นบ้า มีความเจริญถูกขจัดแล้ว มีสรีระเกลือกกลั้วด้วยธุลี ถ้าเขาฆ่าสุริยกุมาร ลมปราณของข้าพระบาทก็จะแตกทำลาย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภูนหตา แปลว่า มีความเจริญถูกขจัดแล้ว.
บทว่า ปํสุนาว ปริกิณฺณา ความว่า ข้าพระบาทมีสรีระเหมือนเกลือกกลั้วด้วยฝุ่น จักเป็นบ้าเที่ยวไป.

พระนางโคตมีเทวี เมื่อคร่ำครวญอยู่อย่างนี้ มิได้รับพระดำรัสอย่างไร จากสำนักพระราชา. จึงทรงกล่าวแก่พระสุณิสาทั้งหลายว่า ชะรอยลูกเราโกรธเจ้าแล้ว จึงจักไปเสียกระมัง เหตุไรเจ้าไม่ยังเขาให้กลับมา ทรงสวมกอดชายาทั้ง ๔ ของพระกุมารเข้าแล้ว ก็ทรงกล่าวคร่ำครวญว่า
สะใภ้เราเหล่านี้ คือ นางฆัฏฏิกา นางอุปริกขี นางโปกขรณีและนางคายิกา ล้วนกล่าววาจาเป็นที่รักแก่กันและกัน. เพราะเหตุไร จึงไม่ฟ้อนรำขับร้องให้จันทกุมาร และสุริยกุมารรื่นรมย์เล่า. ใครอื่นที่จะเสมอด้วยนางทั้ง ๔ นั้นไม่มี.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กินฺนุมา น รมาเปยฺยุํ ความว่า เพราะเหตุไร สะใภ้ทั้ง ๔ มีนางฆัฏฏิกาเป็นต้นนี้ จึงไม่พูดคำพึงใจแก่กันและกัน ฟ้อนรำขับร้องให้ราชโอรสทั้งสอง ของเราเพลิดเพลิน. ไม่ให้เบื่อหน่าย. อธิบายว่า จริงอยู่ ในการฟ้อนรำหรือขับร้อง ในชมพูทวีปทั้งสิ้นนี้. ใครอื่นที่จะเสมอด้วยนางทั้ง ๔ นี้ย่อมไม่มี.

พระนางทรงคร่ำครวญกะพระสุณิสาดังนี้แล้ว เมื่อไม่มองเห็นอุบาย อันควรถืออย่างอื่น จึงทรงกล่าวคาถา ๘ คาถา แช่งด่ากัณฑหาลพราหมณ์ว่า
ดูก่อนเจ้ากัณฑหาละ ความโศกเศร้าใจใด ย่อมเกิดมีแก่เรา. ในเมื่อจันทกุมารถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า. แม่ของเจ้าจงได้ประสบความโศกเศร้าใจของเรานี้.
ดูก่อนเจ้ากัณฑหาละ ความโศกเศร้าใจใดย่อมเกิดมีแก่เรา ในเมื่อสุริยกุมารถูกเขานำไปจะฆ่า. แม่ของเจ้าจงได้ประสบความโศกเศร้าใจของเรานี้.
ดูก่อนเจ้ากัณฑหาละ ความโศกเศร้าใจใดย่อมเกิดมีแก่เรา ในเมื่อจันทกุมารถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า. ภรรยาของเจ้าจงประสบความโศกเศร้าใจของเรานี้.
ดูก่อนเจ้ากัณฑหาละ ความโศกเศร้าใจใดย่อมเกิดมีแก่เรา ในเมื่อสุริยกุมารถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า. ภรรยาของเจ้าจงได้ประสบความโศกเศร้าใจของเรานี้.
ดูก่อนเจ้ากัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์. แม่ของเจ้าจงอย่าได้เห็นพวกลูกๆ และอย่าได้เห็นสามีเลย
ดูก่อนเจ้ากัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย ผู้เป็นที่มุ่งหวังของโลกทั้งปวง. แม่ของเจ้าจงอย่าได้เห็นพวกลูกๆ และอย่าได้เห็นสามีเลย.
ดูก่อนเจ้ากัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์. ภรรยาของเจ้าจงอย่าได้เห็นพวกลูกๆ และอย่าได้เห็นสามีเลย.
ดูก่อนเจ้ากัณฑหาละ เจ้าได้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย ผู้เป็นที่มุ่งหวังของโลกทั้งปวง. ภรรยาของเจ้าจงอย่าได้เห็นพวกลูกๆ และอย่าได้เห็นสามีเลย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิมํ มยฺหํ ความว่า ความโศกเศร้าใจของเรานี้ จัดเป็นทุกข์.
บทว่า ปฏิมุญฺจตุ ความว่า จงเข้าไป คือจงถึง. บทว่า โย ฆาเตสิ ความว่า เจ้าใดย่อมฆ่า.
บทว่า อเปกฺขิเต ความว่า เจ้าย่อมฆ่าผู้ที่ชาวโลกทั้งปวงหวังอยู่ คือปรากฏอยู่.

พระโพธิสัตว์ เมื่อทูลวิงวอนที่หลุมยัญ จึงกล่าวว่า
ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิตเถิด พระเจ้าข้า ถึงแม้ว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขา.
ขอเดชะ... ...พระเจ้าข้า ถึงแม้ว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลช้างให้เขา.
ขอเดชะ... ...พระเจ้าข้า ถึงแม้ว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำ ด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลม้าให้เขา.
ขอเดชะ... ...ตามที่พระองค์มีพระประสงค์เถิด พระเจ้าข้า ถึงแม้ว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกขับไล่จากแว่นแคว้น ก็จะเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต.
ขอเดชะ หญิงทั้งหลายผู้ปรารถนาบุตร แม้จะเป็นคนยากจน ย่อมวอนขอบุตรต่อเทพเจ้า หญิงบางพวกละปฏิภาณแล้ว ไม่ได้บุตรก็มี หญิงเหล่านั้นย่อมกระทำความหวังว่า ขอลูกทั้งหลายจงเกิดแก่เรา แต่นั้นขอหลานจงเกิดอีก ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระองค์รับสั่งให้ฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลาย เพื่อต้องการทรงบูชายัญ โดยเหตุอันไม่สมควร.
ข้าแต่สมเด็จพระบิดา คนทั้งหลายเขาได้ลูก เพราะความวิงวอนของเทพเจ้า ขอพระองค์อย่ารับสั่ง ให้ฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเลย อย่าทรงบูชายัญนี้ด้วยบุตรทั้งหลาย ที่ได้มาโดยยากเลย พระเจ้าข้า.
ข้าแต่สมเด็จพระบิดา คนทั้งหลายเขาได้บุตร เพราะความวิงวอนเทพเจ้า ขอพระองค์อย่ารับสั่ง ให้ฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเลย พระเจ้าข้า. ขอได้ทรงพระกรุณาโปรดอย่าได้พราก ข้าพระองค์ทั้งหลายผู้เป็นบุตรที่ได้มา ด้วยความยากจากพระมารดาเลย พระเจ้าข้า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิพฺยํ ความว่า แต่ก่อนพระองค์ผู้สมมติเทพ นารีทั้งหลายผู้ไร้บุตร แม้เป็นผู้ยากจน เป็นผู้มีความต้องการบุตร นำบรรณาการเป็นอันมาก ไปวอนขอเทพเจ้าว่า ขอเราจักได้ซึ่งลูกหญิง หรือลูกชายดังนี้.
บทว่า ปฏิภาณานิปิ หิตฺวา ความว่า แม้ละแล้ว คือไม่ได้แล้วซึ่งการตั้งครรภ์ ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า ข้าแต่มหาราช ก็ครรภ์ของนารีทั้งหลาย ผู้ไม่ได้การตั้งครรภ์เกิดขึ้นแล้ว ย่อมซูบซีดไป ฉิบหายไป. ในบรรดาหญิงเหล่านั้น บางพวกเมื่อไม่ได้บุตรก็ขอ, บางนางได้แล้วละการตั้งครรภ์ แล้วไม่บริโภค ก็ไม่ได้ซึ่งบุตร. บางนางเมื่อไม่ได้ความตั้งครรภ์ ก็ไม่ได้ซึ่งบุตร แต่มารดาของข้าพระบาท ได้แล้วซึ่งการตั้งครรภ์แล้วบริโภค และมิได้ปล่อยให้ครรภ์ที่เกิดขึ้นแล้ว พินาศไปเสีย จึงได้บุตรทั้งหลาย. พระราชกุมารทรงวิงวอนว่า ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลาย อันเป็นราชบุตรที่ได้มาด้วยประการฉะนี้.
บทว่า อสฺสาสกานิ ความว่า ข้าแต่มหาราช สัตว์เหล่านี้ย่อมกระทำความหวังว่า อย่างไร ขอบุตรทั้งหลายจงเกิดแก่เรา. บทว่า ตโต จ ปุตฺตา ความว่า ขอบุตรทั้งหลายจงเกิดแม้แก่บุตรทั้งหลายของเราด้วย. บทว่า อถ โน อการณสฺมา ความว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ได้ชื่อว่า ฆ่าพวกข้าพระองค์ เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ ด้วยเหตุอันไม่สมควรเลย. บทว่า อุปยาจิตเกน ได้แก่ ด้วยความวิงวอนเทพทั้งหลาย.
บทว่า กปณลทฺธเกหิ พระราชโอรสตรัสว่า ขอพระองค์จงอย่าได้กระทำ ความพลัดพรากจากมารดาของพวกข้าพระองค์ กับพวกข้าพระองค์ ซึ่งเป็นบุตรที่มารดาได้มาด้วยความยากเลย และจงอย่าทำความพลัดพราก พวกข้าพระองค์กับมารดาเลย.

พระจันทกุมาร แม้เมื่อทูลวิงวอนด้วยอาการอย่างนี้ ก็ไม่ตอบอะไรๆ จึงหมอบลงแทบบาทมูลของพระมารดา พลางปริเทวนาการกล่าวว่า
ข้าแต่พระมารดา พระมารดาย่อมย่อยยับ เพราะทรงเลี้ยงลูกจันทกุมารมาด้วยความลำบาก ลูกขอกราบพระบาทพระมารดา ขอพระราชบิดาจงทรงได้ปรโลกอันสมบูรณ์เถิด.
เชิญพระมารดาทรงสวมกอดลูก แล้วประทานพระยุคลบาทให้ลูกกราบไหว้ ลูกจะจากไป ณ บัดนี้ เพื่อประโยชน์แก่ยัญของพระราชบิดาเอกราช.
เชิญพระมารดาทรง... ...ณ บัดนี้ ทำความโศกเศร้าพระทัยให้พระมารดา.
เชิญพระมารดาทรง... ...ณ บัดนี้ ทำความโศกเศร้าใจให้แก่ประชุมชน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหุทุกฺขโปสิยา ความว่า พระมารดาทรงเลี้ยงลูกมา โดยความลำบากมาก.
บทว่า จนฺทํ ความว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระองค์ทรงเลี้ยงซึ่งบุตร คือพระจันทกุมาร ด้วยประการฉะนี้ บัดนี้ พระแม่เจ้าย่อมทรงชราลง.
บทว่า ลภตํ ตาโต ปรโลกํ ความว่า ขอพระราชบิดาของข้าพระองค์ จงได้ปรโลกอันสมบูรณ์ด้วยโภคะเถิด. บทว่า อุปคุยฺห ความว่า จงสวมกอด คือโอบกอด. บทว่า ปวาสํ ความว่า เป็นการพลัดพราก จากไปอย่างแท้จริง โดยมิได้หวนกลับมาอีก.

ลำดับนั้น พระมารดาของจันทกุมาร เมื่อจะทรงปริเทวนาการ จึงตรัสคาถา ๔ คาถาว่า
ดูก่อนลูกโคตมี มาเถิด เจ้าจงรัดเมาลีด้วยใบบัว จงประดับดอกไม้อันแซมด้วยกลีบจำปา นี่เป็นปรกติของเจ้ามาแต่ก่อน.
มาเถิด เจ้าจงไล้ทาเครื่องลูบไล้ คือจุรณจันทน์แดงของเจ้า เป็นครั้งสุดท้าย. เจ้าลูบไล้ด้วยจุรณจันทน์แดงนั้นดีแล้ว ย่อมงดงามในราชบริษัท.
มาเถิด เจ้าจงนุ่งผ้ากาสิกพัสตร์ อันเป็นผ้าเนื้อละเอียด เป็นครั้งสุดท้าย. ครั้นนุ่งผ้ากาสิกพัสตร์นั้นแล้ว ย่อมงดงามในบริษัท.
เชิญเจ้าประดับหัตถาภรณ์ อันเป็นเครื่องประดับทองคำฝังแก้วมุกดาและแก้วมณี. เจ้าประดับด้วยหัตถาภรณ์นั้นแล้ว ย่อมงดงามในบริษัท.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปทุมปตฺตานํ ความว่า ซึ่งเครื่องประดับอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปทุมปัตตเวฐนะ ผ้าโพกสำหรับรัดเมาลี ทำด้วยใบบัว พระนางโคตมีทรงพระประสงค์เอาเครื่องประดับนั้นนั่นแล จึงตรัสอย่างนั้น. อธิบายว่า เจ้าจงรวบขึ้นซึ่งเมาลีของเจ้า อันกระจัดกระจายแล้ว จงพันด้วยปทุมปัตตเวฐนะ. ทรงเรียกพระจันทกุมารด้วยคำว่า โคตมิปุตฺต.
บทว่า จมฺปกทลมิสฺสาโย ความว่า เจ้าจงประดับระเบียบดอกไม้นานาชนิด อันสมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่น แซมด้วยกลีบจำปาสอดสลับ ณ ภายใน. ด้วยบทว่า เอสา เต นี้พระนางพร่ำว่า นี้เป็นปกติของเจ้ามาแต่ครั้งก่อน. จงลูบไล้เครื่องลูบไล้ เครื่องจุรณจันทน์นั้น นั่นแลลูก.
บทว่า เยหิ จ ความว่า เจ้าลูบไล้ด้วยเครื่องลูบไล้ คือจันทน์แดงเหล่าใดแล้ว. เจ้าจะงดงามในราชบริษัท เจ้าจงลูบไล้ด้วยเครื่องลูบไล้ คือจุรณจันทน์แดงเหล่านั้นเถิด. บทว่า กาสิกํ ได้แก่ ผ้ากาสิกพัสตร์อันมีค่าแสนหนึ่ง. บทว่า คณฺหสฺส ความว่า จงประดับ.

บัดนี้ พระนางจันทาผู้เป็นอัครมเหสีของพระจันทกุมาร หมอบลงแทบบาทมูลของพระราชา พลางร่ำไรกล่าวว่า
พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองรัฐ ผู้เป็นทายาทของชนบท เป็นเจ้าโลกองค์นี้ จักไม่ทรงยังความสิเนหาให้เกิดในบุตร แน่ละหรือ.

พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว ตรัสพระคาถาว่า
ลูกทั้งหลายเป็นที่รักของเรา (ตนเองก็เป็นที่รัก) อนึ่ง แม้เจ้าทั้งหลายผู้เป็นภรรยา ก็เป็นที่รักของเรา แต่เราปรารถนาสวรรค์ เหตุนั้นจึงได้ให้ฆ่าเจ้าทั้งหลาย.


เนื้อความแห่งพระดำรัสนั้นว่า เพราะเหตุไร เราจึงไม่บังเกิดความรักลูก แท้จริง บุตรทั้งหลายเป็นที่รักของเรา ไม่ใช่แต่พระโคตมีองค์เดียวเท่านั้น. แม้เราก็มีความรักบุตรทั้งหลาย ตนเองก็ดีก็เป็นที่รัก เจ้าทั้งหลายผู้เป็นสะใภ้ก็ดี ภรรยาทั้งหลายก็ดี ก็เป็นที่รักของเราเหมือนกัน แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น เราปรารถนาซึ่งสวรรค์นั้น เพราะเหตุนั้น เราจักฆ่าเจ้าทั้งหลายเหล่านี้ เจ้าอย่าคิดไปเลย แม้เจ้าทั้งหลายของเราเหล่านี้ ก็ไปอยู่กับเราในเทวโลกทั้งสิ้น.

พระนางจันทาทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอจงทรงพระกรุณา โปรดรับสั่งให้ฆ่าข้าพระบาทเสียก่อน ขอความทุกข์อย่าได้ทำลายหทัยของข้าพระบาทเลย. พระราชโอรสของพระองค์เป็นสุขุมาลชาติ ประดับแล้วงดงาม ข้าแต่เจ้าชีวิต ขอได้โปรดฆ่าข้าพระบาทเสียก่อน ข้าพระบาทจักเป็นผู้มีความโศกเศร้า กว่าจันทกุมาร ขอพระองค์จงทรงทำบุญให้ไพบูลย์ ข้าพระบาททั้งสองจะเที่ยวไปในปรโลก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฐมํ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอพระองค์จงทรงฆ่าข้าพระบาท ก่อนกว่าพระสวามีของข้าพระบาท.
บทว่า ทุกขํ ความว่า ทุกข์แต่ความตายของพระจันทกุมารนั้น ขออย่าได้ยังหัวใจ (๑. ในอรรถกถา เพิ่มคำว่า อตฺตา จ ตนเองก็เป็นที่รัก) ของข้าพระบาทให้แตกเสียเลย.
ทว่า อลงฺกโต ความว่า ประดับแล้วด้วยอาการอย่างนี้ คือพระกุมารองค์นี้องค์เดียว เขาประดับตกแต่งแล้วสำหรับข้าพระบาท. บทนี้ย่อมแสดงว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์ไม่ทรงรักใคร่ ซึ่งพระราชบุตรองค์นี้ ว่าเป็นลูกของเรา. บทว่า หนฺทยฺย ตัดบทเป็น หนฺท อยฺย. พระนางพร่ำเพ้อพลางทูลอย่างนี้กะพระราชา.
บทว่า สโสกา ความว่า เป็นไปกับด้วยความโศกเศร้า กับพระจันทกุมาร.
บทว่า เหสฺสามิ แปลว่า จักเป็น.
บทว่า วิจราม อุโภ ปรโลเก ความว่า ข้าพระองค์แลพระจันทกุมาร อันพระองค์ให้ฆ่ารวมกัน แม้ข้าพระองค์ทั้งสองจะเสวยสุข เที่ยวไปในปรโลก ขอพระองค์อย่าได้ทรงทำอันตรายแก่สวรรค์ของข้าพระบาททั้งสองเลย.

พระราชาตรัสว่า
ดูก่อนจันทาผู้มีตางาม เจ้าอย่าชอบใจความตายเลย เมื่อโคตมีบุตรผู้อันเราบูชายัญแล้ว พี่ผัวน้องผัวของเจ้าเป็นอันมาก จักยังเจ้าให้รื่นรมย์ยินดี.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา ตฺวํ จนฺเท รุจิ ความว่า เจ้าอย่าชอบใจความตายของตนเลย. บาลีว่า มา รุทิ ดังนี้ก็มี ความว่า อย่าร้องไห้ไปเลย. บทว่า เทวรา ความว่า พี่ผัวน้องผัวของเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ.

ต่อแต่นั้น พระศาสดาจึงตรัสกึ่งคาถาว่า
เมื่อพระราชาตรัสอย่างนั้นแล้ว พระนางจันทาเทวีก็ร่ำไห้ตีพระองค์ ด้วยฝ่าพระหัตถ์.

ต่อแต่นั้น พระนางก็ทรงรำพันว่า
ไม่มีประโยชน์อะไรด้วยชีวิต เราจักดื่มยาพิษตายเสียในที่นี้.
พระญาติ และมิตรของพระราชาพระองค์นี้ ผู้มีพระทัยดี ซึ่งจะกราบทูลทัดทานพระราชาว่า อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าพระราชโอรส อันเกิดแต่พระอุระเลย ย่อมไม่มีแน่แท้เทียว.
พระญาติ และมิตรของพระราชาพระองค์นี้ ผู้มีพระทัยดี ซึ่งจะกราบทูลทัดทานพระราชาว่า อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าพระราชโอรส อันเกิดแต่พระองค์เลย ย่อมไม่มีเป็นแน่แท้เทียว.
บุตรของข้าพระบาทเหล่านี้ ประดับพวงดอกไม้ สวมกำไลทองต้นแขน. ขอพระราชาจงเอาบุตรของข้าพระบาทเหล่านั้นบูชายัญ. แต่ขอพระราชทานปล่อยโคตมีบุตรเถิด.
ข้าแต่พระมหาราชา ขอจงทรงตัดแบ่งข้าพระบาทให้เป็นร้อยส่วน แล้วทรงบูชายัญในสถานที่ ๗ แห่ง. อย่าทรงฆ่าพระราชโอรสองค์ใหญ่ ผู้ไม่ผิดไม่ประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์เลย.
ข้าแต่พระมหาราชา ขอจงทรงตัดแบ่งข้าพระบาทให้เป็นร้อยส่วน แล้วทรงบูชายัญในสถานที่ ๗ แห่ง. อย่าได้ทรงฆ่าพระราชโอรสองค์ใหญ่ เป็นที่มุ่งหวังของโลกทั้งปวงเลย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ ความว่า เมื่อพระเจ้าเอกราชตรัสอย่างนั้น. ด้วยบทว่า หนฺติ พระนางทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ เหตุไรหรือพระองค์จึงตรัสเช่นนั้น แล้วทุบตีพระองค์ด้วยฝ่าพระหัตถ์.
บทว่า ปิสฺสามิ แปลว่า จักดื่ม. บทว่า อิเม เตปิ ความว่า ทรงจับมือเด็กที่เหลือ แม้เหล่านี้ตั้งต้นแต่วสุลกุมาร ประทับยืนอยู่ ใกล้บาทมูลของพระราชา. แล้วได้กล่าวอย่างนั้น.
บทว่า คุณิโน ความว่า ประกอบด้วยอาภรณ์ คือกลุ่มดอกไม้.
บทว่า กายุรธาริโน ความว่า ทรงไว้ซึ่งเครื่องประดับ คือกำไลทอง.
บทว่า วิลสตํ ความว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์ฆ่าข้าพระบาทแล้วแบ่งเป็นร้อยส่วน.
บทว่า สตฺตธา ความว่า จงบูชายัญในที่ ๗ แห่ง.

ดังนั้น พระนางจันทาเทวีนั้นทรงคร่ำครวญในสำนักพระราชา ด้วยคาถาเหล่านี้แล้ว. เมื่อไม่ได้มีความโล่งใจ จึงเสด็จไปสำนักพระโพธิสัตว์นั่นแล แล้วยืนร่ำไรอยู่.
ลำดับนั้น พระจันทกุมารตรัสแก่พระนางจันทาว่า
ดูก่อนจันทา เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ เราให้อาภรณ์แก่เจ้ามากมาย มีแก้วมุกดาเป็นต้น. เมื่อเรื่องนั้นๆ เจ้าเล่า เจ้ากล่าวแล้วด้วยดี แต่วันนี้เราจะให้อาภรณ์ อันประดับอยู่กับกายเรานี้ เป็นของเราให้อันท้ายที่สุด เจ้าจงรับอาภรณ์นี้ไว้.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
เครื่องประดับเป็นอันมากล้วนแต่ของดีๆ คือมุกดา มณี แก้วไพฑูรย์เราให้แก่เจ้า เมื่อเจ้ากล่าวคำดี นี้เป็นของที่เราให้แก่เจ้าครั้งสุดท้าย.

ฝ่ายพระนางจันทาเทวี ครั้นสดับคำพระสวามีแล้วก็พลางรำพันกล่าวด้วยคาถา ๙ คาถาอื่นจากนั้นว่า
เมื่อก่อนพวงมาลาบาน เคยสวมที่พระศอของพระกุมารเหล่าใด วันนี้ ดาบที่เขาลับคมดีแล้ว จักฟันที่พระศอของพระกุมารเหล่านั้น.
เมื่อก่อนพวงมาลาอันวิจิตร เคยสวมที่พระศอของพระกุมารเหล่าใด วันนี้ ดาบอันลับคมดีแล้ว จักฟันที่พระศอของพระกุมารเหล่านั้น.
ไม่ช้าแล้วหนอ ดาบจักฟันที่พระศอของพระราชบุตรทั้งหลาย ก็หทัยของเราจะไม่แตก แต่จะต้องมีเครื่องรัดอย่างมั่นคงเหลือเกิน.
พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันสะอาด ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ เสด็จออกเพื่อประโยชน์ แก่การบูชายัญของพระเจ้าเอกราช.
พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญของพระเจ้าเอกราช.
พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ เสด็จออกทำความเศร้าพระหฤทัยแก่พระชนนี.
พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ เสด็จออกทำความเศร้าใจให้แก่ประชุมชน
พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร เสวยพระกระยาหาร อันปรุงด้วยรสเนื้อ. ช่างสนานสระสรงพระกายดี แล้วประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ เสด็จออกเพื่อประโยชน์ แก่การบูชายัญของพระเจ้าเอกราช
พระจันทกุมารและ... ...เสด็จออกกระทำความเศร้าพระทัยให้แก่พระชนนี.
พระจันทกุมารและ... ...เสด็จออกกระทำความเศร้าใจให้แก่ประชุมชน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ผุลฺลา มาลา ได้แก่ พวงดอกไม้. บทว่า เตสชฺช ตัดเป็น เตสํ อชฺช.
บทว่า เนตฺตึโส แก้เป็น อสิ. บทว่า วิวตฺติสฺสติ แปลว่า จักตก. บทว่า อจิรา วต แปลว่า ไม่นานหนอ. บทว่า น ผาเลติ แปลว่า ไม่แตก.
บทว่า ตาว ทฬฺหพนฺธนญฺจ เม อาสิ ความว่า จักมีเครื่องผูกมัดอันมั่นยิ่งนัก จักผูกมัดหทัยของเรา.

เมื่อพระนางจันทาคร่ำครวญอยู่อย่างนั้น การงานทุกอย่างในหลุมยัญสำเร็จแล้ว. อำมาตย์ทั้งหลายนำพระราชบุตรมาแล้ว ให้ก้มพระศอลงนั่งอยู่. กัณฑหาลพราหมณ์น้อมถาดทองคำ เข้าไปใกล้แล้วหยิบดาบมาถือยืนอยู่ ด้วยหมายใจว่า เราจักตัดพระศอพระราชกุมาร.
พระนางจันทาเทวีเห็นดังนั้น คิดว่าที่พึ่งอื่นของเราไม่มี เราจักกระทำความสวัสดีของพระสวามี ด้วยกำลังความสัตย์ของเรา จึงประคองอัญชลีดำเนินไป ในระหว่างแห่งที่ชุมนุมชน แล้วทรงกระทำสัจกิริยา
เมื่อเขาตกแต่งเครื่องบูชายัญทุกสิ่งแล้ว เมื่อพระจันทกุมารและพระสุริยกุมารประทับนั่งเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ พระราชธิดาของพระเจ้าปัญจาลราช ประนมอัญชลี เสด็จดำเนินเวียน ในระหว่างบริษัททั้งปวง ทรงกระทำสัจกิริยาว่า กัณฑหาละผู้มีปัญญาทราม ได้กระทำกรรมอันชั่ว ด้วยความสัจจริงอันใด ด้วยสัจจวาจานี้
ขอให้ข้าพเจ้าได้อยู่ร่วมกับพระสวามี อมนุษย์เหล่าใดมีอยู่ในที่นี้ ยักษ์ สัตว์ที่เกิดแล้วและสัตว์ที่จะมาเกิดก็ดี ขอจงกระทำความขวนขวายช่วยเหลือข้าพเจ้า.
ขอให้ข้าพเจ้าได้อยู่ร่วมกับพระสวามี เทวดาทั้งหลายที่มาแล้วในที่นี้ ปวงสัตว์ที่เกิดแล้วและสัตว์ที่จะมาเกิด ขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าผู้แสวงหาที่พึ่ง ผู้ไร้ที่พึ่ง ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านทั้งหลาย ขออย่าให้พวกข้าศึกชนะพระสวามีของข้าพเจ้าเลย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปกฺขตสฺมึ ความว่า เมื่อเขาจัดตกแต่งเครื่องบูชายัญพร้อมทุกสิ่ง.
บทว่า สมงฺคินี ความว่า ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้ประกอบพร้อม คือประกอบเป็นอันเดียวกัน ได้แก่เป็นผู้อยู่ร่วมกัน. บทว่า เยธตฺถิ ตัดเป็น เย อิธ อตฺถิ ชนเหล่าใดมีอยู่ในที่นี้.
บทว่า ยกฺขภูตภพฺยานิ ความว่า ยักษ์กล่าวคือเทวดา. ภูตกล่าวคือสัตว์ที่เจริญแล้ว ดำรงอยู่ และเหล่าสัตว์ที่พึงเกิด กล่าวคือสัตว์ผู้เจริญในบัดนี้.
บทว่า เวยฺยาวฏิกํ ความว่า จงกระทำขวนขวายเพื่อข้าพเจ้า. บทว่า ตายถ มํ ความว่า จงรักษาข้าพเจ้า. บทว่า ยาจามิ โว ความว่า ข้าพเจ้าขอร้องท่านทั้งหลาย. บทว่า ปติมาหํ ตัดเป็น ปติ อหํ.
บทว่า อเชยฺยํ ความว่า ขอข้าศึกอย่าพึงชนะ คือไม่ชนะ.

ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงสดับเสียงคร่ำครวญของพระนางจันทาเทวีนั้น ทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว. ในขณะนั้นนั่นเอง ฉวยเอาค้อนเหล็กอันลุกโพลงแล้ว เสด็จมาขู่พระราชาแล้ว ให้ปล่อยคนเหล่านั้นทั้งหมด.
พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
ท้าวสักกเทวราช ได้ทรงสดับเสียงคร่ำครวญของพระนางจันทาเทวีนั้นแล้ว ทรงกวัดแกว่งค้อน. ยังความกลัวให้เกิดแก่พระเจ้าเอกราชนั้น. แล้วได้ตรัสกะพระราชาว่า
พระราชากาลี จงรู้ไว้อย่าให้เราตีเศียรของท่านด้วยค้อนเหล็กนี้. ท่านอย่าได้ฆ่าบุตรองค์ใหญ่ ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์.
พระราชากาลี ท่านเคยเห็นที่ไหน? คนผู้ปรารถนาสวรรค์ ฆ่าบุตร ภรรยา เศรษฐี และคฤหบดีผู้ไม่คิดประทุษร้าย.
กัณฑหาลปุโรหิต และพระราชาได้ฟังพระดำรัสของท้าวสักกะ ได้เห็นรูปอันน่าอัศจรรย์แล้ว ให้เปลื้องเครื่องพันธนาการของสัตว์ทั้งปวง เหมือนดังเปลื้องเครื่องพันธนาการของคน ผู้ไม่มีความชั่ว.
เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่ประชุมอยู่ ณ ที่นั้น ในกาลนั้น ทุกคนเอาก้อนดินคนละก้อนทุ่มลง การฆ่าซึ่งกัณฑหาลปุโรหิตได้มีแล้วด้วยประการดังนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมนฺสฺโส ได้แก่ ท้าวสักกเทวราช. บทว่า พชฺฌสฺสุ แปลว่า ทรงรู้คือทรงกำหนด. บทว่า ราชกลิ ความว่า ดูก่อนพระราชาผู้กาลกิณี พระราชาผู้ลามก. บทว่า มา เตหํ ความว่า ดูก่อนพระราชาชั่ว ท่านจงรู้ อย่าให้เราตี คือประหารกระหม่อมของท่าน.
บทว่า โก เต ทิฏฺโฐ ความว่า ใครที่ไหน ที่ท่านเคยเห็น. ศัพท์ว่า หิ ในบทว่า สคฺคกามา หิ นี้เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า ผู้ใคร่ต่อสวรรค์ คือผู้ปรารถนาสวรรค์.
บทว่า ตํ สุตฺวา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัณฑหาลปุโรหิตฟังคำแห่งท้าวสักกเทวราชแล้ว.
บทว่า อพฺภูตมิทํ ความว่า อนึ่ง พระราชาทรงเห็นแล้วซึ่งการแสดงรูปแห่งท้าวสักกเทวราชนี้ อันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาก่อนเลย. บทว่า ยถา ตํ ความว่า ให้ปลดเปลื้องสัตว์ทั้งปวง เหมือนเปลื้องคนหาความชั่วมิได้ ฉะนั้น.
บทว่า เอเกกเลฑฺฑุมกํสุ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายทั้งปวงมีประมาณเท่าใด ประชุมกันแทบหลุมยัญนั้น กระทำเสียงเอิกเกริก ได้ให้การประหารกัณฑหาลปุโรหิต ด้วยก้อนดินคนละก้อน.
บทว่า เอส วโธ ความว่า นั่นได้เป็นการฆ่ากัณฑหาลปุโรหิต. อธิบายว่า ให้กัณฑหาลปุโรหิตถึงความสิ้นชีวิต ในที่นั้นนั่นเอง.

ส่วนมหาชน ครั้นฆ่ากัณฑหาลพราหมณ์นั้นแล้ว ก็เริ่มเพื่อจะฆ่าพระราชา. พระโพธิสัตว์สวมกอดพระราชบิดาไว้แล้ว มิได้ประทานให้เขาฆ่า. มหาชนกล่าวว่า เราจะให้แต่ชีวิตเท่านั้นแก่พระราชาชั่วนั้น แต่พวกเราจะไม่ยอมให้ ฉัตรและที่อยู่อาศัย ในพระนครแก่พระราชานั่น. เราจักทำพระราชาให้เป็นคนจัณฑาล แล้วให้ไปอยู่เสียภายนอกพระนคร แล้วก็ให้นำออกเสีย ซึ่งเครื่องทรงสำหรับพระราชา ให้ทรงผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด ให้โพกพระเศียร ด้วยท่อนผ้าย้อมด้วยขมิ้น กระทำให้เป็นจัณฑาล แล้วส่งไปสู่ที่เป็นอยู่ของคนจัณฑาล. ส่วนคนพวกใด บูชายัญอันประกอบด้วยการฆ่าปศุสัตว์ก็ดี ใช้ให้บูชาก็ดี พลอยยินดีตามก็ดี. ชนเหล่านั้นได้เป็นคนมีนิรยาบาย เป็นที่ไปในเบื้องหน้าทั้งสิ้นทีเดียว.
พระศาสดา เมื่อจะประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
คนทำกรรมชั่วโดยวิธีใดแล้ว ต้องตกนรกทั้งหมด คนทำกรรมชั่วแล้วไปจากโลกนี้ไม่ได้สุคติเลย.

แม้มหาชนเหล่านั้น ครั้นนำคนกาลกิณีทั้งสองนั้นออกไปแล้ว ก็นำมาซึ่งเครื่องอุปกรณ์แห่งพิธีอภิเษก แล้วทรงอภิเษกพระจันทกุมารในที่นั้น นั่นเอง.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในกาลนั้น คือพระราชาทั้งหลายประชุมกันอภิเษกจันทกุมาร.
เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในกาลนั้น คือเทวดาทั้งหลายประชุมพร้อมกันอภิเษกพระจันทกุมาร.
เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น ในกาลนั้น คือเทพกัญญาทั้งหลายประชุมพร้อมกันอภิเษกพระจันทกุมาร.
เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่ประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น ในกาลนั้น คือพระราชาทั้งหลายประชุมพร้อมกัน ต่างแกว่งผ้าและโบกธง.
เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น ในกาลนั้น คือราชกัญญาทั้งหลายประชุมพร้อมกันต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง.
เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น ในกาลนั้น คือเทพบุตรทั้งหลายประชุมพร้อมกันต่างแกว่งผ้าและโบกธง.
เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น ในกาลนั้น คือเทพกัญญาทั้งหลายประชุมพร้อมกันต่างแกว่งผ้าและโบกธง.
เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ชนเป็นอันมากต่างก็รื่นรมย์ยินดี พวกเขาได้ประกาศความยินดี ในเวลาที่พระจันทกุมารเสด็จเข้าสู่พระนคร และได้ประกาศความหลุดพ้นจาก เครื่องจองจำของสัตว์ทั้งปวง.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราชปริสา จ ความว่า ฝ่ายบริษัทแห่งพระราชาทั้งหลาย ก็ได้ถวายน้ำอภิเษกกะพระจันทกุมารนั้น ด้วยสังข์ทั้ง ๓. บทว่า ราชกญฺญาโย ความว่า แม้ขัตติยราชธิดาทั้งหลาย ก็ถวายน้ำอภิเษกพระจันทกุมาร. บทว่า เทวปริสา ความว่า ท้าวสักกเทวราช ก็ถือสังข์วิชัยยุตรถวายน้ำอภิเษกพร้อมด้วยเทพบริษัท. บทว่า เทวกญฺญาโย ความว่า แม้นางสุชาดาเทพธิดา พร้อมด้วยนางเทพกัญญาทั้งหลาย ก็ถวายน้ำอภิเษก. บทว่า เจลุกฺเขปมกรุํ ความว่า ได้ให้ยกธงทั้งหลาย พร้อมผ้าสีต่างๆ ชักขึ้นซึ่งผ้าห่มทั้งหลาย ทำให้เป็นแผ่นผ้าในอากาศ.
บทว่า ราชปริสา ความว่า ราชบริษัททั้งหลาย และอีก ๓ เหล่า (คือราชกัญญา เทวบริษัท เทพกัญญา) ซึ่งเป็นผู้กระทำอภิเษกพระจันทกุมาร รวมเป็นสี่หมู่ด้วยกัน. ได้กระทำการชักโบกผ้า และธงนั่นแล.
บทว่า อานนฺทิโน อหุวาทึสุ ความว่า คนทั้งหลายผู้บันเทิงทั่ว บันเทิงยิ่งแล้ว.
บทว่า นนฺทิปฺปเวสนครํ ความว่า คนทั้งหลายผู้บันเทิงร่าเริงทั่วแล้ว ในกาลที่พระจันทกุมารเสด็จเข้าสู่พระนครให้กั้นฉัตร แล้วตีกลองอานันทเถรี ร้องประกาศไปทั่วพระนคร.
ถามว่า เพื่อประโยชน์อะไร?
แก้ว่า พระจันทกุมารของเราทั้งหลายพ้นแล้วจากเครื่องจองจำ ฉันใด. คนทั้งปวงหลุดพ้นจากการจองจำ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พนฺธโมกฺโข อโฆสถ ได้ประกาศการพ้นจากเครื่องจำดังนี้.

ลำดับนั้นแล พระโพธิสัตว์ทรงเริ่มตั้งวัตรปฏิบัติต่อพระราชบิดา พระราชบิดาไม่ได้เสด็จเข้าสู่พระนคร. ในกาลเมื่อเสบียงอาหารสิ้นไป พระโพธิสัตว์ก็เสด็จไปเพื่อประโยชน์แก่กิจต่างๆ มีการเล่นสวนเป็นต้น. ก็เข้าไปเฝ้าพระราชบิดานั้น แต่ก็มิได้ถวายบังคม. ฝ่ายพระเจ้าเอกราชกระทำอัญชลี แล้วตรัสว่า ขอพระองค์จงทรงมีพระชนม์ยืนนาน พระเจ้าข้า. เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสถามว่า พระบิดาต้องประสงค์ด้วยสิ่งใด. พระเจ้าเอกราชจึงทูลความปรารถนาแล้ว. พระโพธิสัตว์ก็โปรดให้ ถวายค่าจับจ่ายใช้สอยแก่พระราชบิดา. พระโพธิสัตว์นั้นครองราชสมบัติ โดยเที่ยงธรรมแล้ว. ในกาลเป็นที่สุดแห่งอายุ ก็ได้เสด็จไปยังเทวโลก.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ประกาศอริยสัจ แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่ในบัดนี้อย่างเดียวเท่านั้น แม้ในกาลก่อน พระเทวทัตพยายามเพื่อฆ่าคนเป็นอันมาก เพราะอาศัยเราแม้ผู้เดียว ดังนี้แล้ว
จึงทรงประชุมชาดก.
กัณฑหาลพราหมณ์ ในกาลนั้น ได้เป็น พระเทวทัต.
พระนางโคตมีเทวี เป็น พระมหามายา.
พระนางจันทาเทวี เป็น ราหุลมารดา.
พระวสุละ เป็น พระราหุล.
พระเสลากุมารี เป็น อุบลวรรณา.
พระสุรกุมาร เป็น พระอานนท์.
พระรามโคตตะ(๑. บาลีเป็น วามโคตตะ) เป็น กัสสปะ.
พระภัททเสน เป็น โมคคัลลานะ.
พระสุริยกุมาร เป็น พระสารีบุตร.
ท้าวสักกเทวราช เป็น อนุรุทธะ.
บริษัทในกาลนั้น ได้มาเป็น พุทธบริษัท.
ส่วนพระจันทกุมารนั้น คือ เราสัมมาสัมพุทธะ ดังนี้แล.

-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา จันทกุมาร จบ.
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒][๓]
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]