ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

อรรถกถา มหานารทกัสสปชาดก
พระมหานารทกัสสปะทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี

หน้าต่างที่   ๓ / ๓.

ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ได้เป็นมหาพรหมนามว่านารทะ. ก็ธรรมดา พระโพธิสัตว์มีอัธยาศัยใหญ่ด้วยเมตตาภาวนา เที่ยวตรวจดูโลกตามกาลอันสมควร เพื่อจะดูเหล่าสัตว์ผู้ปฏิบัติดีและปฏิบัติชั่ว ในวันนั้น ท่านตรวจดูโลกเห็นพระนางรุจาราชธิดานั้นกำลังนมัสการเหล่าเทวดาผู้บริหารโลก เพื่อจะปลดเปลื้องพระชนกนาถจากมิจฉาทิฏฐิ จึงมาดำริว่า คนอื่นเว้นเราเสีย ย่อมไม่สามารถเพื่อจะปลดเปลื้องมิจฉาทิฏฐิ พระเจ้าอังคติราชนั้นได้ วันนี้ เราควรจะไปกระทำการสงเคราะห์ราชธิดา และกระทำความสวัสดี แก่พระราชาพร้อมด้วยบริวารชน แต่จะไปด้วยเพศอะไรดีหนอ เห็นว่า เพศบรรพชิตเป็นที่รักเป็นที่เคารพ มีวาจาเป็นที่เชื่อฟังยึดถือของพวกมนุษย์ เพราะฉะนั้น เราจะไปด้วยเพศบรรพชิต.
ครั้นตกลงใจฉะนี้แล้ว ก็แปลงเพศเป็นมนุษย์ มีวรรณะดังทองคำน่าเลื่อมใส ผูกชฏามณฑลอันงามจับใจ ปักปิ่นทองไว้ในระหว่างชฎา นุ่งผ้าพื้นแดงไว้ภายใน ทรงผ้าเปลือกไม้ย้อมฝาดไว้ภายนอก กระทำเฉวียงบ่าผ้าหนังเสือ อันแล้วไปด้วยเงิน ซึ่งขลิบด้วยดาวทอง แล้วเอาภิกขาภาชนะทองใส่สาแหรกอันประดับด้วยมุกดาข้าง ๑ เอาคนโทน้ำแก้วประพาฬใส่ในสาแหรกอีกข้าง ๑ เสร็จแล้วก็ยกคานทอง อันงามงอนขึ้นวางเหนือบ่า แล้วเหาะมาโดยอากาศ ด้วยเพศแห่งฤาษีนี้ ไพโรจน์โชติช่วง ประหนึ่งพระจันทร์ (เพ็ญ) ลอยเด่นบนพื้นอากาศ เข้าสู่พื้นใหญ่แห่งจันทกปราสาท ได้ยืนอยู่ ณ เบื้องพระพักตร์พระเจ้าอังคติราช.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า
[๘๖๖] ในกาลนั้น นารทมหาพรหมตรวจดูชมพูทวีป ได้เห็นพระเจ้าอังคติราชผู้ทรงมีความเห็นผิด จึงมาจากพรหมโลกถึงถิ่นมนุษย์ ลำดับนั้น นารทมหาพรหมได้ยืนอยู่ที่ปราสาท เบื้องพระพักตร์แห่งพระเจ้าวิเทหราช ก็พระนางรุจาราชธิดาเห็นนารทฤาษีนั้นมาถึง จึงนมัสการ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อทฺทส ความว่า นารทมหาพรหม ผู้สถิตอยู่ในพรหมโลกนั่นแล ได้เพ่งดูชมพูทวีป ได้เห็นพระเจ้าอังคติราช ผู้ยึดถือความเห็นผิด ในสำนักของคุณาชีวก. อธิบายว่า เพราะเหตุนั้น จึงมา.
บทว่า ตโต ปติฏฺฐา ความว่า แต่นั้น พรหมนั้น เมื่อจะแสดงรอยในที่ไม่มีรอยนั้น ในปราสาทนั้น เบื้องพระพักตร์ของพระราชานั้น ผู้แวดล้อมไปด้วยหมู่อำมาตย์ประทับอยู่ จึงยืนอยู่บนอากาศ.
บทว่า อนุปฺปตฺตํ แปลว่า ถึงแล้ว คือมาถึงแล้ว.
บทว่า อิสึ ความว่า พระศาสดาตรัสเรียกว่า อิสึ เพราะมาด้วยเพศแห่งฤาษี.
บทว่า อวนฺทถ ความว่า พระนางรุจาราชธิดานั้นทรงยินดีร่าเริงว่า ท้าวเทวราชนั้นจักมาทำความกรุณาในพระชนกนาถของเรา ด้วยความอนุเคราะห์แก่เรา ดังนี้ จึงน้อมกายลงนมัสการนารทมหาพรหม เหมือนต้นกล้วยทองที่ถูกลมพัดต้อง ฉะนั้น.

ฝ่ายพระราชา พอเห็นนารทมหาพรหม ถูกเดชแห่งพรหมคุกคามแล้ว ไม่สามารถจะทรงดำรงอยู่บนราชอาสน์ของพระองค์ได้ จึงเสด็จลงจากราชอาสน์ ประทับยืนอยู่ที่พื้น แล้วตรัสถามพระนารทะถึงเหตุที่เสด็จมา และนามและโคตร.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า
[๘๖๗] ครั้งนั้น พระราชาทรงหวาดพระทัยเสด็จลงจากราชอาสน์ เมื่อจะตรัสถามนารทฤาษี ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า ท่านมีผิวพรรณงามดังเทวดา ส่องรัศมีสว่างไสวไปทั่วทิศ ดังพระจันทร์ ท่านมาจากไหนหนอ ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกนามและโคตรแก่ข้าพเจ้า คนในมนุษย์โลกย่อมรู้จักท่าน อย่างไรหนอ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺยมฺหิตมานโส ได้แก่ เป็นผู้มีจิตคิดกลัว.
บทว่า กุโต นุ ความว่า พระราชาทรงสำคัญว่า ผู้นี้ชะรอยว่า เป็นวิชาธรบ้างหรือหนอ จึงไม่ทรงไหว้เลย ถามอย่างนี้.

ลำดับนั้น นารทฤาษีคิดว่า พระราชานี้สำคัญว่าปรโลกไม่มี เราจักถามเฉพาะปรโลกแก่พระราชานั้นก่อน ดังนี้แล้ว จึงกล่าวคาถาว่า
[๘๖๘] อาตมภาพมาจากเทวโลกเดี๋ยวนี้เอง ส่องรัศมีสว่างจ้าไป ทั่วทิศดังพระจันทร์ มหาบพิตรตรัสถามแล้ว อาตมภาพขอถวายพระพร นามและโคตรให้ทรงทราบ คนทั้งหลายเขารู้จักอาตมภาพ โดยนามว่านารทะ และโดยโคตรว่ากัสสปะ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เทวโต แปลว่า จากเทวโลก.
บทว่า นารโท กสฺสโป จ ความว่า คนทั้งหลายรู้จักอาตมภาพโดยชื่อว่านารทะ และโดยโคตรว่ากัสสปะ.

ลำดับนั้น พระเจ้าอังคติราชทรงพระดำริว่า เรื่องปรโลกเราจักไว้ถามภายหลัง เราจักถามถึง เหตุที่เธอได้ฤทธิ์เสียก่อน แล้วจึงตรัสคาถาว่า
[๘๖๙] สัณฐานของท่าน การที่ท่านเหาะไป และยืนอยู่บนอากาศได้ น่าอัศจรรย์ ดูก่อนท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามความนี้กะท่าน เออ เพราะเหตุอะไร ท่านจึงมีฤทธิ์เช่นนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาทิสญฺจ ความว่า สัณฐานของท่านเป็นเช่นใด ท่านเหาะไป และยืนอยู่บนอากาศได้อย่างไร นี้น่าอัศจรรย์.

ลำดับนั้น ท่านนารทฤาษีจึงทูลว่า
[๘๗๐] คุณธรรม ๔ ประการนี้คือ สัจจะ ๑ ธรรมะ ๑ ทมะ ๑ จาคะ ๑ อาตมภาพได้ทำไว้ในภพก่อน เพราะคุณธรรมที่อาตมภาพเสพมาดีแล้วนั้น นั่นแล อาตมภาพจึงไปไหนๆ ได้ตามความปรารถนา เร็วทันใจ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สจจํ ได้แก่ วจีสัจจะ.
บทว่า ธมฺโม จ ได้แก่ สุจริตธรรม ๓ ประการ และฌานธรรมอันเกิดแต่การบริกรรมกสิณ.
บทว่า ทโม ได้แก่ การฝึกอินทรีย์.
บทว่า จาโค ได้แก่ การสละกิเลสและการสละไทยธรรม.
ด้วยบทว่า ปกตา ปุราณา ท่านแสดงว่า เราได้กระทำไว้ในภพก่อน.
บทว่า เตเหว ธมฺเมหิ สุเสวิเตหิ ความว่า ด้วยคุณธรรมทั้งปวงนั้น ซึ่งอาตมภาพได้เสพดีแล้ว คือได้อบรมมาแล้ว.
บทว่า มโนชโว แปลว่า เร็วทันใจ.
บทว่า เยน กามํ คโตสฺมิ ความว่า อาตมภาพจะไปในแดนของเทวดา และแดนของมนุษย์ ได้ตามความปรารถนา.

แม้เมื่อพระโพธิสัตว์กราบทูลอย่างนี้ พระเจ้าอังคติราชก็ไม่ทรงเชื่อปรโลก เพราะทรงยึดถือมิจฉาทิฏฐิเสียมั่นดีแล้ว จึงตรัสคาถาว่า ผลของบุญมีอยู่หรือแล้ว จึงตรัสคาถานี้ว่า
[๘๗๑] เมื่อท่านบอกความสำเร็จแห่งบุญ ชื่อว่าท่านบอกความอัศจรรย์ ถ้าแลเป็นจริงอย่างท่านกล่าว ดูก่อนท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กะท่าน ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงพยากรณ์ให้ดี.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุญฺญสิทฺธึ ความว่า ท่านเมื่อจะบอกความสำเร็จแห่งบุญ คือความที่บุญให้ผล ชื่อว่าท่านย่อมบอกความอัศจรรย์.

นารทฤาษีจึงทูลว่า
[๘๗๒] ขอถวายพระพร ข้อใดพระองค์ทรงสงสัย เชิญมหาบพิตรตรัสถามข้อนั้น กะอาตมภาพเถิด อาตมภาพจะถวายวิสัชนาให้มหาบพิตรทรงสิ้นสงสัย ด้วยนัยด้วยญายธรรม และด้วยเหตุทั้งหลาย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตเวส อตฺโถ ความว่า อันข้อความที่พระองค์จะพึงถามนั้น.
บทว่า ยํ สํสยํ ความว่า พระองค์สงสัยในอรรถข้อใดข้อหนึ่ง พระองค์จงถามความข้อนั้นกะอาตมภาพเถิด.
บทว่า นิสฺสํสยตํ ความว่า อาตมภาพจะนำให้พระองค์หมดความสงสัย.
บทว่า นเยหิ ได้แก่ ด้วยคำอันเป็นเหตุ.
บทว่า ญาเยหิ ได้แก่ ด้วยญาณ.
บทว่า เหตุภิ ได้แก่ ด้วยปัจจัย. อธิบายว่า อาตมภาพจะไม่กราบทูล โดยเหตุเพียงปฏิญาณไว้เท่านั้น จักกระทำให้พระองค์หมดความสงสัย ด้วยการกำหนดด้วยญาณแล้วกล่าวเหตุ และด้วยปัจจัย อันเป็นเหตุให้ธรรมเหล่านั้นตั้งขึ้น.

[๘๗๓] ดูก่อนท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กะท่าน ท่านถูกถามแล้ว อย่าได้กล่าวมุสากะข้าพเจ้า ที่คนพูดกันว่า เทวดามี มารดาบิดามี ปรโลกมี นั้นเป็นจริงหรือ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชโน ยมาห ความว่า พระเจ้าอังคติราชถามว่า ข้อที่พูดกันอย่างนี้ว่า เทวดามี มารดาบิดามี ปรโลกมี ทั้งหมดมีอยู่ จริงหรือ?.

พระนารทฤาษีจึงกราบทูลว่า
[๘๗๔] ที่เขาพูดกันว่า เทวดามี มารดาบิดามี และปรโลกมีนั้น เป็นจริงทั้งนั้น แต่นรชนผู้หลงงมงาย ใคร่ในกามทั้งหลาย จึงไม่รู้ปรโลก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺเถว ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร เทวดามี มารดาบิดามี. ที่นรชนพูดกันว่า ปรโลกมี แม้นั้นก็อยู่จริงทีเดียว.
บทว่า น วิทู ความว่า นรชนผู้ติดอยู่ในกาม และหลงงมงายเพราะโมหะ จึงไม่รู้ คือย่อมไม่ทราบปรโลก.

พระเจ้าอังคติราชได้ทรงสดับดังนั้น จึงทรงพระสรวลตรัสว่า
[๘๗๕] ที่อยู่ในปรโลกของเหล่าสัตว์ผู้ตายไปแล้วก็ต้องมี ท่านจงให้ทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะแก่ข้าพเจ้าในโลกนี้ ข้าพเจ้าจะใช้ให้ท่านหนึ่งพันกหาปณะในปรโลก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิเวสนํ ได้แก่ สถานที่เป็นที่อยู่อาศัย.
บทว่า ปญฺจสตานิ แปลว่า ๕๐๐ กหาปณะ.

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ เมื่อจะกล่าวติเตียนในท่ามกลางบริษัท จึงทูลว่า
[๘๗๖] ถ้าอาตมภาพรู้ว่า มหาบพิตรทรงมีศีล ทรงรู้ความประสงค์ของสมณพราหมณ์ อาตมภาพก็จะให้มหาบพิตรทรงยืมสัก ๕๐๐ แต่มหาบพิตรหยาบช้า ทรงจุติจากโลกนี้แล้ว จะต้องไปอยู่ในนรก ใครจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่ง ในปรโลกเล่า
ผู้ใดในโลกนี้เป็นผู้ไม่มีศีลธรรม ประพฤติชั่ว เกียจคร้าน มีกรรมอันหยาบช้า บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่ให้หนี้ในผู้นั้น เพราะจะไม่ได้ทรัพย์คืนจากคนเช่นนั้น ส่วนบุคคลผู้ขยันหมั่นเพียร มีศีล รู้ความประสงค์ คนทั้งหลายรู้แล้ว ย่อมเอาโภคทรัพย์มาเชื้อเชิญเอง ด้วยคิดว่า ผู้นี้ทำการงานเสร็จแล้ว พึงนำมาใช้ให้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชญฺญาม เจ ความว่า ถ้าอาตมภาพรู้ว่า มหาบพิตรเป็นผู้มีศีล รู้ความประสงค์ คือรู้ว่าสมณพราหมณ์ผู้ทรงธรรมมีความต้องการด้วยสิ่งนี้ ในเวลานี้ เป็นผู้กระทำกิจนั้นๆ ชื่อว่ารู้ความประสงค์ เมื่อเช่นนี้ อาตมภาพจึงยอมให้ทรัพย์แก่ท่าน ๕๐๐ กหาปณะ แต่มหาบพิตรเป็นคนหยาบช้า ทารุณ ยึดถือมิจฉาทิฏฐิ กำจัดทานและศีล ผิดในภรรยาของคนอื่น จุติจากโลกนี้แล้ว จักเกิดในนรก ใครจะไปในนรกนั้น ทวงเอาทรัพย์กะมหาบพิตรผู้หยาบช้า ผู้อยู่ในนรกว่า ท่านจงให้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ ด้วยอาการอย่างนี้.
บทว่า ตถาวิธมฺหา ความว่า คนเช่นนั้นชื่อว่าจะมาทวงหนี้ที่ให้แล้ว ย่อมไม่มี.
บทว่า ทกขํ ได้แก่ ฉลาดในการยังทรัพย์ให้เกิด.
บทว่า ปุนมาหเรสิ ความว่า ท่านทำกรรมของตนแล้วยังทรัพย์ให้เกิด แล้วนำทรัพย์ที่มีอยู่มาให้เราอีก.
บทว่า นิมนฺตยนฺติ ความว่า คนทั้งหลายย่อมเชื้อเชิญ ด้วยโภคทรัพย์ แม้ด้วยตนเอง.

พระเจ้าอังคติราช อันพระนารทฤาษีกล่าวข่มขู่ด้วยประการฉะนี้ ก็หมดปฏิภาณที่จะตรัสโต้ตอบ. มหาชนต่างพากันร่าเริงยินดี เล่าลือกันทั่วพระนครว่า วันนี้ ท่านนารทฤาษีผู้เป็นเทพมีฤทธิ์มาก ปลดเปลื้องมิจฉาทิฏฐิพระเจ้าอยู่หัวได้ ด้วยอานุภาพของพระมหาสัตว์ ชนชาวมิถิลาผู้อยู่ไกลแม้ตั้งโยชน์ ก็ได้ยินพระธรรมเทศนาของพระมหาสัตว์ ในขณะนั้นสิ้นด้วยกันทุกคน ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงคิดว่า พระราชานี้ยึดมิจฉาทิฏฐิเสียมั่นแล้ว จำเราจะต้องคุกคามด้วยภัยในนรก ให้ละมิจฉาทิฏฐิ แล้วให้ยินดีในเทวโลกอีกภายหลัง ดังนี้แล้ว จึงกราบทูลว่า ขอถวายพระพร ถ้าพระองค์ยังไม่ทรงละทิฏฐิไซร้ ก็จักต้องเสด็จสู่นรก ซึ่งเต็มไปด้วยทุกขเวทนา
แล้วเริ่มกล่าวนิรยกถาว่า
[๘๗๗] ขอถวายพระพร มหาบพิตรเสด็จไปจากที่นี่แล้ว จักทอดพระเนตรเห็นพระองค์เองอยู่ในนรกนั้น ซึ่งถูกฝูงการุมยื้อแย่งฉุดคร่าอยู่ ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรผู้ตกอยู่ในนรก ถูกฝูงกา ฝูงแร้ง ฝูงสุนัข รุมกัดกิน ตัวขาด กระจัดกระจาย เลือดไหลโทรม.


ก็แล ครั้นพระนารทฤาษีพรรณนาถึงนรกอันเต็มไปด้วยฝูงกาและนกเค้าแก่ท้าวเธอแล้ว จึงกราบทูลว่า ถ้าพระองค์ไม่ไปเกิดในที่นั้น ก็จักบังเกิดในโลกันตนรก เพื่อจะทูลชี้แจงโลกันตนรกนั้นถวาย จึงกล่าวคาถาว่า
[๘๗๘] ในโลกันตนรกนั้นมืดที่สุด ไม่มีพระจันทร์และพระอาทิตย์ โลกันตนรกมืดตื้ออยู่ทุกเมื่อ น่ากลัว กลางคืนกลางวันไม่ปรากฏ ผู้ต้องการทรัพย์คนไรเล่า จะพึงเที่ยวไปในสถานที่เช่นนั้นได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนฺธตมํ ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร มิจฉาทิฏฐิบุคคลบังเกิดในโลกันตนรกใด. ในโลกันตนรกนั้นมืดที่สุด เป็นที่ห้ามการเกิดขึ้นแห่งจักษุวิญญาณ.
บทว่า สทา ตุมุโล ความว่า นรกนั้น มีความมืดตื้ออยู่เป็นนิจ.
บทว่า โฆรรูโป ความว่า นรกนั้นเป็นที่หวาดกลัวอย่างยิ่ง.
บทว่า สา เนว รตฺติ น ทิวา ความว่า ในนรกนั้นกลางคืนกลางวันก็ไม่ปรากฏเลย.
บทว่า โก วิจเร ความว่า ใครจักเที่ยวไป ยังความพยายามให้สำเร็จเล่า.

ครั้นพระนารทฤาษีพรรณนา โลกันตนรกนั้นถวายแล้ว จึงทูลชี้แจงต่อไปว่า ขอถวายพระพร ถ้าพระองค์ยังไม่ทรงละมิจฉาทิฏฐิ ก็จักต้องได้รับทุกขเวทนาแม้อื่นๆ อีกไม่สิ้นสุด แล้วกล่าวคาถานี้ว่า
[๘๗๙] ในโลกันตนรกนั้น มีสุนัขอยู่ ๒ เหล่า คือด่างเหล่า ๑ ดำเหล่า ๑ ล้วนมีร่างกายกำยำ ล่ำสัน แข็งแรง ย่อมพากันมากัดกินผู้ที่จุติจากมนุษยโลกนี้ ไปตกอยู่ในโลกันตนรกด้วยเขี้ยวเหล็ก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิโต ปนุณฺณํ ความว่า ผู้จุติจากมนุษยโลกนี้. แม้ในนรกอื่นก็นัยนี้เหมือนกัน. เพราะเหตุนั้น บัณฑิตทั้งหลายพึงให้สถานที่นรกทั้งหมดนั้นพิศดาร โดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลัง พร้อมกับความพยายามของนายนิรยบาลนั่นแล แล้วพึงพรรณนา บทที่ยังไม่ง่ายแห่งคาถานั้นๆ ว่า
ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่ง ในปรโลกกะมหาบพิตร ผู้ตกอยู่ในนรก ถูกสุนัขอันทารุณร้ายกาจนำทุกข์มาให้ รุมกัดกินตัวขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรมได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลุทฺเทหิ แปลว่า ทารุณ.
บทว่า พาเลหิ แปลว่า ผู้ร้ายกาจ.
บทว่า อฆมฺมิเกหิ ความว่า ผู้นำความคับแค้นมาให้ คือนำความทุกข์มาให้.

[๘๘๐] และในนรกอันร้ายกาจ พวกนายนิรยบาลชื่อกาลูปกาละ ผู้เป็นข้าศึก พากันเอาดาบและหอกอันคมกริบ ทิ่มแทงนรชน ผู้ทำกรรมชั่วไว้ในภพก่อน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หนนฺติ วิชฺฌนฺติ จ ความว่า พวกนายนิรยบาล เอาดาบและหอก สับฟันและทิ่มแทงกระทำร่างกายทั้งสิ้นให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ให้ตกไปบนแผ่นดินเหล็กอันไฟลุกโชน.
บทว่า กาลูปกาลา ได้แก่ นายนิรยบาลทั้งหลายผู้มีชื่ออย่างนี้.
บทว่า นิรยมฺหิ ความว่า นายนิรยบาล กล่าวคือ กาปลูปกาลา ผู้อยู่ในนรกนั้นนั่นเอง.
บทว่า ทุกฺกฏกมฺมการึ ได้แก่ ผู้กระทำกรรมชั่วด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ.

ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่ง ในปรโลกกะมหาบพิตร ผู้ถูกทิ่มแทงที่ท้องที่สีข้าง พระอุทรพรุน วิ่งวุ่นอยู่ในนรก ตัวขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรมได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ ความว่า กะมหาบพิตร ผู้ถูกสับฟันทิ่มแทงอยู่อย่างนั้นในนรกนั้น.
บทว่า วชนฺตํ ความว่า ผู้วิ่งไปข้างโน้นข้างนี้.
บทว่า กุจฺฉิสฺมึ ความว่า ถูกทิ่มแทงที่ท้องและที่สีข้าง.

[๘๘๑] ในโลกันตนรกนั้น มีห่าฝนต่างๆ ชนิด คือหอก ดาบ แหลน หลาวมีประกายวาว ดังถ่านเพลิงตกลงบนศีรษะ. สายอัสนีศิลาอันแดงโชนตกต้องสัตว์นรก ผู้มีกรรมหยาบช้า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า องฺคารมิวจฺจิมนฺโต ความว่า ฝนอาวุธมีประกายวาว ดังถ่านเพลิงที่ลุกโชนตกบนศีรษะ.

บทว่า ลุทฺทกมฺเม ความว่า ห่าฝนสายอัสนีศิลา อันลุกโชนตั้งขึ้นบนอากาศ แล้วตกกระหน่ำลงบน ศีรษะของผู้ทำกรรมชั่วเหล่านั้น เหมือนสายอัสนีตกลงในเมื่อฝนตก.

และในนรกนั้นมีลมร้อนยากที่จะทนได้. สัตว์ในนรกนั้น ย่อมไม่ได้รับความสุข แม้แต่น้อย. ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์พันหนึ่ง ในปรโลกกะมหาบพิตร ซึ่งทรงกระสับกระส่ายวิ่งไปมา หาที่ซ่อนเร้นมิได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิตรํปิ แปลว่า แม้นิดน้อย.
บทว่า ธาวนฺตํ แปลว่า แล่นไปอยู่.

[๘๘๒] ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่ง ในปรโลกกะมหาบพิตร ผู้ถูกเทียมในรถวิ่งไปวิ่งมา ต้องเหยียบแผ่นดินอันลุกโพลง ถูกแทงด้วยประตักอยู่ได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รเถสุ ยุตฺตํ ความว่า เทียมที่รถอันแล้วด้วยโลหะ อันลุกโชนนั้นๆ ตามวาระโดยวาระ.
บทว่า กมนฺตํ แปลว่า ก้าวไปอยู่.
บทว่า สุโจทยนฺตํ แปลว่า ไปทวงอยู่ด้วยดี.

[๘๘๓] ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่ง ในปรโลกกะมหาบพิตร ซึ่งทนไม่ได้ วิ่งไปขึ้นภูเขาอันดาดไปด้วยขวากกรด ลุกโชนน่าสยดสยองอย่างยิ่ง ตัวขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรมได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตมารุหนฺตํ ความว่า กะมหาบพิตรผู้อดทนการประหาร ด้วยอาวุธอันลุกโชนไม่ได้ แล้ววิ่งขึ้นสู่ภูเขาอันล้วนแล้วด้วยโลหะอันลุกโชน ดารดาษไปด้วยคมดาบหอกอันลุกโชน.

[๘๘๔] ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่ง ในปรโลกกะมหาบพิตร ซึ่งต้องวิ่งเหยียบกองถ่านเพลิงเท่าภูเขา ลุกโพลงน่ากลัว มีตัวถูกไฟไหม้ทนไม่ไหว ร้องครวญครางอยู่ได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺทฑฺฒคตฺตํ ได้แก่ ร่างกายที่ถูกไฟไหม้ด้วยดี.

[๘๘๕] ต้นงิ้วสูงเทียมเมฆ เต็มไปด้วยหนามเหล็กคมกริบ กระหายเลือดคน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กณฺฏกาหิ จิตา แปลว่า เต็มไปด้วยหนามอันลุกโพลง.
บทว่า อโยมเยหิ นี้ ท่านกล่าวเพื่อแสดงถึงหนาม อันเต็มไปด้วยเหล็ก.

หญิงผู้ประพฤติล่วงสามี และชายผู้กระทำชู้กับภรรยาของผู้อื่น ถูกนายนิรยบาลผู้ทำตามคำสั่งของพระยายม ถือหอกไล่ทิ่มแทงให้ขึ้นต้นงิ้วนั้น.


บรรดาเหล่านั้น บทว่า ตมารุหนฺติ ความว่า ย่อมขึ้นต้นงิ้วเห็นปานนั้น.
บทว่า ยมนิทฺเทสการิภิ ความว่า อันนายนิรบาล ผู้กระทำตามคำของพระยายม.

ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์จำนวนนั้นกะมหาบพิตร ซึ่งต้องขึ้นต้นงิ้วในนรก เลือดไหลเปรอะเปื้อน มีกายเหี้ยมเกรียม หนังปอกเปิกกระสับกระส่าย เสวยเวทนาอย่างหนัก.
ใครเล่าจะไปขอทรัพย์จำนวนเท่านั้นกะพระองค์ ผู้หอบแล้วหอบอีก อันเป็นโทษของบุรพกรรม หนังปอกเปิก เดินทางผิดได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิททฺธกายํ แปลว่า มีกายถูกกำจัดแล้ว.
บทว่า วิตจํ ความว่า เหมือนดอกทองหลางและดอกทองกวาว เพราะถูกตัดหนังและเนื้อ.

[๘๘๖] ต้นงิ้วสูงเทียมเมฆ เต็มไปด้วยใบเหล็ก คมกริบกระหายเลือดคน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสิปตฺตจิตา แปลว่า เต็มไปด้วยใบดาบเหล็ก อันคมกริบ.

ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่ง ในปรโลกกะมหาบพิตร ซึ่งขึ้นอยู่บนต้นงิ้วนั้น ก้าวไปเหยียบใบเหล็กอันคมดังดาบ ก็ถูกใบงิ้วอันคมนั้นบาด มีตัวขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรมได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตมานุปตฺตํ ความว่า กะมหาบพิตร ผู้ซึ่งขึ้นอยู่บนต้นงิ้วนั้น ทนไม่ไหวต่ออาวุธ เครื่องประหารของนายนิรยบาล.

[๘๘๗] ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์จำนวนเท่านั้น กะมหาบพิตร ซึ่งเดินหนีออกจากขุมนรกไม้งิ้ว มีใบเป็นดาบ ไปพลัดตกลงในแม่น้ำเวตรณีได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺปติตํ แปลว่า ตกลง.

[๘๘๘] แม่น้ำเวตรณีน้ำเป็นกรดเผ็ดร้อน ยากที่จะข้ามได้ดาดาษไปด้วยบัวเหล็กใบคมกริบไหลอยู่.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขรา แปลว่า หยาบ คือเผ็ดร้อน.
บทว่า อโยโปกฺขรสญฺฉนฺนา ความว่า ปกปิดด้วยใบบัวเหล็ก อันคมกริบอยู่โดยรอบ.
บทว่า ปตฺเตหิ ความว่า แม่น้ำนั้นคมกริบไหลออกจากใบเหล่านั้น.

ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์นั้นกะมหาบพิตร ซึ่งมีตัวขาดกระจัดกระจาย เปรอะเปื้อนไปด้วยโลหิตลอยอยู่ในเวตรณีนทีนั้น หาที่เกาะมิได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวตรญฺเญ ความว่า ในเวตรณีนที คือแม่น้ำกรดเวตรณี.
จบนิรยกัณฑ์

ส่วนพระเจ้าอังคติราชได้ทรงสดับนิรยกถาของพระมหาสัตว์นี้ ก็มีพระหฤทัยสลด เมื่อจะทรงแสวงหาที่พึ่งกะพระมหาสัตว์ จึงตรัสว่า
[๘๘๙] ข้าพเจ้าแทบจะล้มเหมือนต้นไม้ที่ถูกตัด ข้าพเจ้าหลงสำคัญผิด จึงไม่รู้จักทิศ ท่านฤาษี ข้าพเจ้าได้ฟังคาถาภาษิตของท่านแล้ว ย่อมร้อนใจ เพราะกลัวมหาภัย ท่านฤาษี ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ประหนึ่งน้ำสำหรับแก้กระหายในเวลาร้อน เกาะเป็นที่อาศัย ในห้วงมหาสมุทร และประทีปสำหรับส่องสว่างในที่มืดฉะนั้นเถิด ท่านฤาษี ขอท่านจงสอนอรรถและธรรมแก่ข้าพเจ้า ในกาลก่อน ข้าพเจ้าได้กระทำความผิดไว้ส่วนเดียว ข้าแต่พระนารทะ ขอท่านจงบอกทางบริสุทธิ์แก่ข้าพเจ้า โดยข้าพเจ้าจะไม่พึงตกไปในนรกด้วยเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภยสานุตปฺปามิ ความว่า ตามเดือดร้อนเพราะภัยแห่งบาปที่ตนทำไว้.
บทว่า มหา จ เม ภยา ความว่า และนิรยภัยใหญ่อันบังเกิดแก่ข้าพเจ้า.
บทว่า ทีปํโวเฆ ความว่า เป็นดังเกาะในห้วงน้ำ ฉะนั้น.
ท่านอธิบายไว้ว่า เป็นดังท่ามกลางน้ำในกายที่ไม่ติดทั่ว เหมือนเกาะของบุคคลผู้ไม่ได้ที่พึ่งแห่งเรือที่อับปาง ในห้วงน้ำหรือในมหาสมุทร ท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า เหมือนแสงสว่างที่โชติช่วง แก่ผู้ไปในที่มืด.
บทว่า อตีตมทฺธา อปราธิตํ มยา ความว่า ข้าพเจ้าได้กระทำความผิด อันเป็นกรรมชั่วไว้ในอดีต ล่วงกุศลทำแต่อกุศลเท่านั้น.

ครั้นเมื่อพระมหาสัตว์ทูลบอกทางอันบริสุทธิ์แก่พระเจ้าอังคติราชนั้น เมื่อจะแสดงซึ่งข้อปฏิบัติชอบของพระราชาในปางก่อน โดยยกเป็นอุทาหรณ์ จึงกล่าวว่า
[๘๙๐] พระราชา ๖ พระองค์นี้ คือ ท้าวธตรฐ ท้าวเวสสามิตร ท้าวอัฏฐกะ ท้าวยมทัตติ ท้าวอุสสินนระ ท้าวสิวิราชและพระราชาพระองค์อื่นๆ ได้ทรงบำรุงสมณพราหมณ์ทั้งหลาย แล้วเสด็จไปยังสวรรค์ ฉันใด ดูก่อนมหาบพิตรผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แม้มหาบพิตร ก็ฉันนั้น จงทรงเว้นอธรรม แล้วทรงประพฤติธรรม ราชบุรุษทั้งหลายจงถืออาหารไป ประกาศภายในพระราชนิเวศน์ และภายในพระนครว่า ใครหิว ใครกระหาย ใครปรารถนามาลา ใครปรารถนาเครื่องลูบไล้ ใครไม่มีผ้านุ่งห่ม จงนุ่งห่มผ้าสีต่างๆ ตามปรารถนา ใครต้องการร่ม ใครต้องการรองเท้า อย่างเนื้ออ่อน อย่างดี ราชบุรุษทั้งหลายจงประกาศดังนี้ ในพระนครของพระองค์ ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า มหาบพิตรอย่าได้ใช้คนแก่เฒ่า และโคม้าอันแก่ชรา เหมือนดังก่อน และจงทรงพระราชทาน เครื่องบริหารแก่บุคคลที่เป็นกำลัง เคยกระทำความดีไว้เท่าเดิมเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอเต จ ความว่า พระราชาทั้ง ๖ เหล่านั้นคือ ท้าวธตรฐ ท้าวเวสสามิตร ท้าวอัฏฐกะ ท้าวยมทัตติ ท้าวอุสสินนระ ท้าวสิวิราช และพระราชาอื่นๆ ได้ประพฤติธรรม อันเป็นวิสัยแห่งท้าวสักกะ ฉันใด. แม้พระองค์ก็พึงเว้นอธรรม พึงประพฤติธรรม ฉันนั้น.
บทว่า โก ฉาโต ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร พวกราชบุรุษผู้ถืออาหาร จงประกาศไปในวิมาน ในบุรี ในราชนิเวศน์ และในพระนครของพระองค์ว่า ใครหิว ใครกระหาย. ดังนี้เพื่อประสงค์จะให้แก่พวกเหล่านั้น.
บทว่า โก มาลํ ความว่า จงโฆษณาว่า ใครปรารถนามาลา ใครปรารถนาเครื่องลูบไล้ ใครปรารถนาสีแดงต่างๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง จงให้ผ้าสีนั้นๆ. ใครเป็นคนเปลือยกายจักนุ่งห่ม.
บทว่า โก ปนฺเถ ฉตฺตมาเทติ ความว่า ใครจะกั้นร่มในในหนทาง.
บทว่า ปาทุกา จ ความว่า และใครจะปรารถนารองเท้าอ่อนนุ่มและสวยงาม.
บทว่า ชิณฺณํ โปสํ ความว่า ผู้ใดเป็นอุปัฏฐากของท่าน จะเป็นอำมาตย์ หรือผู้อื่นที่ทำอุปการะไว้ก่อน.

ในเวลาที่คร่ำคร่า เพราะชราไม่สามารถจะทำการงานได้ เหมือนในก่อน. แม้โคและม้าเป็นต้น ในเวลาแก่ก็ไม่สามารถจะทำการงานได้. แม้ในบรรดาโคและม้าเป็นต้น แม้ตัวเดียว ท่านก็อย่าใช้ในการงานทั้งหลาย เช่นในก่อน.
จริงอยู่ ในเวลาแก่ สัตว์เหล่านั้นไม่สามารถจะทำการงานเหล่านั้นได้.
การบริหารในบทว่า ปริหารญฺจ นี้ท่านกล่าว สักการะ ท่านอธิบายไว้ว่า ก็ผู้ใดเป็นกำลังของท่าน คือเป็นการกระทำอุปการะมาก่อน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ ท่านพึงให้การบริหารแก่เขา เหมือนก่อนมา.
จริงอยู่ อสัตบุรุษในเวลาที่บุคคลสามารถเพื่อจะทำอุปการะแก่ตน ย่อมทำความนับถือ. ในเวลาที่เขาไม่สามารถ ก็ไม่แลดูบุคคลผู้นั้นเลย. ส่วนสัตบุรุษในเวลาสามารถก็ดี ในเวลาไม่สามารถก็ดี ย่อมสามารถกระทำสักการะ เหมือนอย่างนั้นแก่เขาเหล่านั้น. เพราะฉะนั้น แม้พระองค์ก็พึงกระทำ อย่างนั้นแล.

ดังนั้น พระมหาสัตว์ ครั้นแสดงทานกถาและศีลกถาแล้ว บัดนี้ เพราะเหตุที่พระราชานี้ ย่อมยินดีในพรรณนาโดยเปรียบเทียบด้วยรถในอัตภาพของตน เพราะเหตุดังนี้นั้น เมื่อจะแสดงธรรมโดยเปรียบเทียบ ด้วยรถอันให้ความใคร่ทั้งปวง จึงกล่าวว่า
[๘๙๑] มหาบพิตรจงทรงสำคัญ พระวรกายของพระองค์ว่าเป็นดังรถ อันมีใจเป็นสารถี กระปรี้กระเปร่า (เพราะปราศจากถีนมิทธะ) อันมีอวิหิงสาเป็นเพลาที่เรียบร้อยดี มีการบริจาคเป็นหลังคา.
มีการสำรวมเท้าเป็นกง มีการสำรวมมือเป็นกระพอง มีการสำรวมท้องเป็นน้ำมันหยอด.
มีการสำรวมวาจาเป็นความเงียบสนิท มีการกล่าวคำสัตย์เป็นองค์รถอันบริบูรณ์ มีการกล่าวคำไม่ส่อเสียดเป็นการเข้าหน้าไม้สนิท มีการกล่าวคำอ่อนหวานเป็นเครื่องรถอันเกลี้ยงเกลา มีการกล่าวพอประมาณเป็นเครื่องผูกรัด.
มีศรัทธาและอโลภะเป็นเครื่องประดับ มีการถ่อมตนและกราบไหว้เป็นทูบ มีความไม่กระด้างเป็นงอนรถ. มีการสำรวมศีลเป็นเชือกขันชะเนาะ มีความไม่โกรธเป็นอาการไม่กระเทือน มีกุศลธรรมเป็นเศวตฉัตร มีพาหุสัจจะเป็นสายทาบ.
มีการตั้งจิตมั่นเป็นที่มั่น มีความคิดเครื่องรู้จักกาลเป็นไม้แก่น มีความแกล้วกล้าเป็นไม้ค้ำ. มีความประพฤติถ่อมตนเป็นเชือกขันแอก มีความไม่เย่อหยิ่งเป็นแอกเบา มีจิตไม่หดหู่เป็นเครื่องลาด.
มีการเสพบุคคลผู้เจริญเป็นเครื่องกำจัดธุลี มีสติของนักปราชญ์เป็นประตัก มีความเพียรเป็นสายบังเหียน มีใจที่ฝึกฝนดีแล้วเช่นดังม้าที่หัดไว้เรียบเป็นเครื่องนำทาง.
ความปรารถนาและความโลภเป็นทางคด. ส่วนความสำรวมเป็นทางตรง.
ขอถวายพระพร ปัญญาเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนม้าในรถ คือพระวรกายของมหาบพิตรที่กำลังแล่นไปในรูป เสียง กลิ่น รส. พระองค์นั้นแลเป็นสารถี. ถ้าความประพฤติชอบและความเพียรมั่น มีอยู่ด้วยยานนี้. รถนั้นจะให้สิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่าง จะไม่นำไปบังเกิดในนรก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รถสญฺญาโต ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์ทรงสำคัญว่า พระวรกายของพระองค์ว่าเป็นดังรถ.
บทว่า มโนสารถิโก ความว่า ประกอบด้วยกุศลจิต คือใจเป็นนายสารถี.
บทว่า ลหุ ได้แก่ เป็นผู้เบาเพราะปราศจากถีนมิทธะ.
บทว่า อวิหึสาสาริตกฺโข ความว่า ประกอบด้วยเพลาอันเป็นเครื่องแล่น อันสำเร็จเรียบร้อยแล้วไปด้วยอวิหึสา.
บทว่า สํวิภาคปฏิจฺฉโท ความว่า ประกอบด้วยหลังคา อันสำเร็จด้วยการจำแนกทาน.
บทว่า ปาทสญฺญมเนมิโย แปลว่า ประกอบด้วยกงอันสำเร็จด้วยการสำรวมเท้า.
บทว่า หตฺถสญฺญมปกฺขโร แปลว่า ประกอบด้วยกระพองอันสำเร็จด้วยการสำรวมมือ.
บทว่า กุจฺฉิสญฺญมนพฺภนฺโต ความว่า หยอดด้วยน้ำมัน อันสำเร็จด้วยโภชนะพอประมาณ กล่าวคือการสำรวมท้อง.
บทว่า วาจาสญฺญมกูชโน แปลว่า มีการสำรวมวาจาเป็นการเงียบสนิท.
บทว่า สจฺจวากฺยสมตตงฺโค ความว่า มีการกล่าวคำสัตย์เป็นองค์รถบริบูรณ์ ไม่บกพร่อง.
บทว่า อเปสุญฺญสุสญฺญโต ความว่า มีการไม่กล่าวคำส่อเสียดเป็นการสำรวมสัมผัสอย่างสนิท.
บทว่า คิราสขิลเนลงฺโค ความว่า มีการกล่าวคำอ่อนหวานน่าคบเป็นสหาย ไม่มีโทษเป็นเครื่องรถอันเกลี้ยงเกลา.
บทว่า มิตภาณิสิเลสิโต ความว่า มีการกล่าวพอประมาณอันสละสลวยเป็นเครื่องผูกรัดด้วยดี.
บทว่า สทฺธาโลภสุสงฺขาโร ความว่า ประกอบด้วยเครื่องประดับอันงาม อันสำเร็จด้วยศรัทธา กล่าวคือการเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม และสำเร็จด้วยอโลภะ.
บทว่า นิวาตญฺชลิกุพฺพโร ความว่า ประกอบด้วยทูบรถ อันสำเร็จด้วยความประพฤติอ่อนน้อม และสำเร็จด้วยอัญชลีกรรมแก่ผู้มีศีล.
บทว่า อถทฺธตานตีสาโก ความว่า ไม่มีความกระด้างหน่อยหนึ่งเป็นงอนรถ เพราะไม่มีความกระด้าง กล่าวคือความเป็นผู้มีวาจาน่าคบเป็นสหาย และมีวาจานำมาซึ่งความบันเทิงใจ.
บทว่า สีลสํวรนทฺธโน ความว่า ประกอบด้วยเชือกขันชะเนาะ กล่าวคือการสำรวมจักขุนทรีย์ และมีศีล ๕ ไม่ขาดเป็นต้น
บทว่า อกฺโกธนมนุคฺฆาฏี ความว่า ประกอบด้วยการไม่กระทบกระทั่ง กล่าวคือความเป็นผู้ไม่โกรธ.
บทว่า ธมฺมปณฺฑรฉตฺตโก ได้แก่ ประกอบด้วยเศวตฉัตรอันขาวผ่อง กล่าวคือกุศลกรรมบถธรรม ๑๐ ประการ.
บทว่า พาหุสจฺจมุปาลมฺโพ ได้แก่ ประกอบด้วยสายทาบ อันสำเร็จด้วยความเป็นพหูสูตอันอิงอาศัยประโยชน์.
บทว่า ฐิติจิตฺตมุปาธิโย ความว่า ประกอบด้วยเครื่องลาดอันยอดเยี่ยม หรือด้วยราชอาสน์อันตั้งมั่น กล่าวถึงความเป็นผู้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง อันตั้งมั่นด้วยดี โดยภาวะไม่หวั่นไหว.
บทว่า กาลญฺญุตาจิตฺตสาโร ความว่า ประกอบด้วยจิต คือด้วยกุศลจิตอันเป็นสาระ อันรู้จักกาลแล้วจึงกระทำ กล่าวคือความเป็นผู้รู้จักกาลอย่างนี้ว่า นี้กาลที่ควรให้ทาน นี้กาลที่ควรรักษาศีล. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์ควรปรารถนาทัพสัมภาระทั้งหมด ตั้งต้นแต่ลิ่มแห่งรถและสิ่งอันบริสุทธิ์ สำเร็จแต่สิ่งอันเป็นสาระ ฉันใด รถนั้นก็ควรแก่การตั้งอยู่ได้นาน ฉันนั้น แม้รถคือกายของพระองค์ก็เหมือนกัน จึงมีจิตอันหมดจดรู้จักกาลแล้วจึงกระทำ จงประกอบด้วยกุศลสาระ มีทานเป็นต้น.
บทว่า เวสารชฺชติทณฺฑโก ความว่า แม้เมื่อแสดงในท่ามกลางบริษัท จงประกอบด้วยไม้สามขา กล่าวคือความเป็นผู้แกล้วกล้า.
บทว่า นิวาตวุตฺติโยตฺตงฺโค ความว่า ประกอบด้วยเชือกผูกแอกอันอ่อนนุ่ม กล่าวคือความประพฤติในโอวาท.
จริงอยู่ ม้าสินธพย่อมนำรถอันผูกได้ ด้วยเชือกผูกแอก อันอ่อนนุ่มไปได้สดวก. พระวรกายของพระองค์ก็เหมือนกัน อันผูกมัดด้วยความประพฤติใน โอวาทของบัณฑิตทั้งหลาย ย่อมแล่นไปได้อย่างสะดวก.
บทว่า อนติมานยุโค ลหุ ความว่า ประกอบด้วยแอกเบา กล่าวคือความไม่ทนงตัว.
บทว่า อลีนจิตฺตสนฺถาโร ความว่า รถคือพระวรกายของพระองค์จงมีจิตไม่ท้อถอย ไม่คดโกงด้วยกุศล มีทานเป็นต้น. ย่อมงามด้วยเครื่องลาด อันโอฬารสำเร็จด้วยงา เช่นเดียวกับเครื่องลาดจิตของพระองค์ ที่ไม่หดหู่ย่อหย่อน ด้วยกุศลกรรมมีทานเป็นต้น ฉะนั้น.
บทว่า วุฑฺฒิเสวี รโชหโต ความว่า รถเมื่อแล่นตามทางที่มีธุลีอันไม่เสมอ เกลื่อนกล่นไปด้วยธุลี ย่อมไม่งาม. เมื่อแล่นโดยหนทางสม่ำเสมอ ปราศจากธุลี ย่อมงดงาม ฉันใด. แม้รถ คือกายของพระองค์ก็ฉันนั้น ดำเนินไปตามทางตรงมีพื้นสม่ำเสมอ เพราะเสพกับบุคคลผู้เจริญด้วยปัญญา จงเป็นผู้ขจัดธุลี.
บทว่า สติ ปโตโท ธีรสฺส ความว่า พระองค์มีนักปราชญ์ คือบัณฑิต. จงมีสติตั้งมั่นอยู่ที่รถเป็นประตัก.
บทว่า ธิติ โยโค จ รสฺมิโย ความว่า พระองค์มีความตั้งมั่น กล่าวคือมีความเพียรไม่ขาดสาย. และจงมีความพยายาม กล่าวคือความประกอบในข้อปฏิบัติอันเป็นประโยชน์ และจงมีบังเหียนอันมั่นคงที่ร้อยไว้ในรถของพระองค์นั้น.
บทว่า มโน ทนฺตํ ปถํ เนติ สมทนฺเตหิ วาชิภิ ความว่า รถที่แล่นไปนอกทางด้วยม้าที่ฝึกไม่สม่ำเสมอ ย่อมแล่นผิดทาง. แต่เทียมด้วยม้าที่ฝึกดีแล้ว ศึกษาดีแล้ว ย่อมแล่นไปตามทางตรงทีเดียว ฉันใด. แม้ใจของพระองค์อันฝึกแล้ว ก็ฉันนั้น ย่อมละพยศไม่เสพทางผิด ถือเอาแต่ทางถูกฉะนั้น. เพราะฉะนั้น จิตที่ฝึกดีแล้วสมบูรณ์ด้วยอาจาระ จึงยังกิจแห่งม้าสินธพแห่งรถ คือพระวรกายของพระองค์ให้สำเร็จ.
บทว่า อิจฺฉา โลโภ จ ความว่า ความปรารถนาในวัตถุที่ยังไม่มาถึง และความโลภที่มาถึงเข้า. เพราะฉะนั้น ความปรารถนาและความโลภนี้ จึงชื่อว่าเป็นทางผิดเป็นทางคดโกง เป็นทางไม่ตรง ย่อมนำไปสู่อบายถ่ายเดียว. แต่การสำรวมในศีล อันเป็นไปด้วยอำนาจแห่งกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือมรรคมีองค์ ๘ ชื่อว่าทางตรง.
บทว่า รูเป ความว่า พระองค์จงมีเป็นปัญญาเป็นเครื่องรถ คือพระวรกายของพระองค์ ผู้ถือเอานิมิตในกามคุณ มีรูปเป็นต้น อันเป็นที่ชอบใจเหล่านั้น เหมือนประตักสำหรับเคาะห้าม ม้าสินธพแห่งราชรถ ที่แล่นออกนอกทาง. ก็ปัญญานั้นคอยห้ามรถ คือพระวรกายนั้นจากการแล่นไปนอกทาง ให้ขึ้นสู่ทางตรง คือทางสุจริต.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺตนาว ความว่า ก็ชื่อว่า นายสารถีอื่น ย่อมไม่มีในรถ คือพระวรกายของพระองค์นั้น พระองค์นั้นแหละเป็นสารถีของพระองค์เอง.
บทว่า สเจ เอเตน ยาเนน ความว่า ถ้ารถใดมียานเป็นเครื่องแล่นไป เห็นปานนั้นมีอยู่.
บทว่า สมจริยา ทฬฺหา ธิติ ความว่า รถคือกายใด ย่อมมีความประพฤติสม่ำเสมอ และมีความตั้งมั่นคงถาวร. รถนั้นก็จะไปด้วยยานนั้น เพราะเหตุที่รถนั้นย่อมให้ความใคร่ทั้งปวง คือย่อมให้ความใคร่ทั้งปวงตามที่มหาบพิตรปรารถนา. เพราะเหตุนั้น พระองค์ไม่ต้องไปนรกแน่นอน พระองค์ทรงยานนั้นไว้โดยส่วนเดียว พระองค์ไม่ไปสู่นรกด้วยยานนั้น.

มหาบพิตรจะตรัสข้อใดกะอาตมภาพว่า นารทะ ขอท่านจงบอกทางแห่งวิสุทธิ ตามที่อาตมาจะไม่พึงตกนรก ด้วยประการฉะนี้แล้ว ความข้อนั้นอาตมภาพได้บอกแก่พระองค์แล้ว โดยอเนกปริยายแล.
ครั้นพระนารทฤาษีแสดงธรรมถวายพระเจ้าอังคติราช ให้ทรงละมิจฉาทิฏฐิ ให้ตั้งอยู่ในศีลอย่างนี้แล้ว จึงถวายโอวาทกะพระราชาว่า ตั้งแต่นี้ไป พระองค์จงละปาปมิตร เข้าไปใกล้กัลยาณมิตร อย่าทรงประมาทเป็นนิตย์ ดังนี้แล้วพรรณนาคุณของพระนางรุจาราชธิดา ให้โอวาทแก่ราชบริษัทและทั้งนางใน.
เมื่อมหาชนเหล่านั้นกำลังดูอยู่นั่นแล ได้กลับไปสู่พรหมโลกด้วยอานุภาพอันใหญ่ พระเจ้าอังคติราชทรงตั้งอยู่ในโอวาทของพรหมนารทะ ละมิจฉาทิฏฐิ บำเพ็ญบารมีทานเป็นต้น ได้เป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น. แม้ในกาลก่อน เราก็ทำลายข่ายคือทิฏฐิแล้ว จึงทรมานอุรุเวลกัสปะนั่นเอง
เมื่อจะประชุมชาดก จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ ในตอนจบว่า
อลาตเสนาบดี เป็น พระเทวทัต.
สุนามอำมาตย์ เป็น พระภัททชิ.
วิชยอำมาตย์ เป็น พระสารีบุตร.
คุณาชีวกผู้อเจลก เป็น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร.
พระนางรุจาราชธิดา ผู้ทรงยังพระราชาให้เลื่อมใส เป็น พระอานนท์.
พระเจ้าอังคติราช ผู้มีทิฏฐิชั่วในกาลนั้น เป็น พระอุรุเวลกัสสปะ.
มหาพรหมโพธิสัตว์ เป็น เราตถาคต.
ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้ ด้วยประการฉะนี้แล.

-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา มหานารทกัสสปชาดก จบ.
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒][๓]
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]