ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

อรรถกถา วิธุรชาดก
พระวิธูรบัณฑิตทรงบำเพ็ญสัจจะบารมี

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงพระปรารภปัญญาบารมี จึงได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ปณฺฑ กีสิยาสิ ทุพฺพลา ดังนี้.
ความพิศดารว่า วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันที่โรงธรรมสภาว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริงหนอ พระศาสดาทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาเร็วไว มีพระปัญญาร่าเริง มีพระปัญญาเฉียบแหลม มีพระปัญญาปรุโปร่ง ทรงย่ำยีถ้อยคำกล่าวร้ายของคนอื่น ทรงทำลายปัญหาอันละเอียด ที่กษัตริย์และบัณฑิตเป็นต้นแต่งขึ้น ได้ด้วยอานุภาพแห่งพระปัญญาของพระองค์ ทรงทรมานให้หมดพยศ แล้วให้ตั้งอยู่ในสรณะและศีล และให้ดำเนินไปตามหนทางอันจะนำสัตว์ไป สู่อมตมหานิพพาน. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ. เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบ. จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่เราตถาคตได้บรรลุพระปรมาภิสัมโพธิญาณ อันสามารถทำลายเสีย ซึ่งคำที่คนอื่นกล่าวให้ร้าย แนะนำชนทั้งหลายมีกษัตริย์เป็นต้นได้เช่นนี้ ไม่น่าอัศจรรย์ เพราะว่า ตถาคตแม้เมื่อกำลังแสวงหาพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในภพก่อน ก็เป็นผู้มีปัญญาย่ำยีถ้อยคำที่คนอื่นกล่าวให้ร้ายเช่นนี้ เหมือนกัน. จริงอย่างนั้น ในกาลที่เราเป็นวิธุรบัณฑิต เราทรมานยักษ์เสนาบดีนามว่า ปุณณกะ ได้ด้วยกำลังญาณบนยอดกาฬคิริบรรพตสูงถึง ๖๐ โยชน์ ปราบให้หมดพยศ ให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ จนยอมมอบชีวิตให้แก่เรา. ดังนี้แล้ว ทรงดุษณีภาพ. อันภิกษุเหล่านั้นทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัส ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามว่าธนัญชัยโกรพยราช ทรงครองราชย์ในกรุงอินทปัตตะ แคว้นกุรุ. อำมาตย์ชื่อว่าวิธุรบัณฑิต ได้เป็นราชเสวกของพระเจ้าธนัญชัยโกรพยราชนั้น. ในตำแหน่งผู้ถวายอรรถธรรม ท่านเป็นผู้มีถ้อยคำไพเราะ เป็นมหาธรรมกถึก ประเล้าประโลมพระราชาชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น. ด้วยธรรมเทศนา อันไพเราะจับใจของตน ประหนึ่งกระแสเสียงแห่งพิณอันยังช้างให้รักใคร่ ฉะนั้น. ไม่ยอมให้พระราชาเหล่านั้นเสด็จ กลับไปยังแว่นแคว้นของพระองค์ แสดงธรรมแก่มหาชน ด้วยพุทธลีลา อาศัยอยู่ในนครนั้นด้วยยศใหญ่. แม้ในกรุงพาราณสีแล ยังมีพราหมณมหาศาล ๔ คน เคยเป็นเพื่อนคฤหัสถ์ด้วยกัน. ในเวลาที่ตนแก่ลง เห็นโทษในกามทั้งหลาย ละทิ้งเหย้าเรือน เข้าไปสู่หิมวันตประเทศ บวชเป็นฤาษีบำเพ็ญอภิญญาและสมาบัติให้เกิดแล้ว. มีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร อยู่ในหิมวันตประเทศนั้น นั่นแลสิ้นกาลนาน. จึงเที่ยวจาริกไปเพื่อต้องการเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว ไปถึงกรุงกาลจัมปากนคร ในแคว้นอังคะ. พากันพักอยู่ในพระราชอุทยาน วันรุ่งขึ้นจึงเข้าไปภิกขาจารยังนคร.
ในกรุงกาลจัมปากะนั้น ยังมีกุฏุมพีอยู่ ๔ สหาย เลื่อมใสในอิริยาบถของฤาษีเหล่านั้น. ต่างก็ไหว้แล้วรับเอาภิกษาภาชนะ นำมาสู่เรือนของตน คนละองค์ๆ อังคาสด้วยอาหารอันประณีต. จึงขอรับปฏิญญาแล้วให้อยู่ในสวน. ดาบสทั้ง ๔ ครั้นฉันอาหารในเรือนกุฏุมพี ๔ สหายเสร็จแล้ว. มีความประสงค์จะพักผ่อนกลางวัน จึงองค์หนึ่งไปสู่ภพชั้นดาวดึงส์ องค์หนึ่งไปสู่ภพพระยานาค องค์หนึ่งไปสู่ภพพระยาครุฑ องค์หนึ่งไปสู่พระราชอุทยานชื่อว่ามิคาชินะ ของพระเจ้าโกรพยราช. บรรดาดาบสทั้ง ๔, องค์ที่ไปพักผ่อนกลางวันยังเทวโลก ได้เห็นพระอิสริยยศแห่งท้าวสักกเทวราช. จึงได้พรรณนาพระอิสริยยศนั้นนั่นแลแก่กุฏุมพีผู้เป็นอุปัฏฐากของตน. องค์ที่ไปพักผ่อนกลางวันยังพิภพนาค ได้เห็นสมบัติของพระยานาค. เมื่อกลับมาถึงแล้ว จึงพรรณนาสมบัติของพระยานาคนั้นนั่นแลแก่กุฏุมพีผู้เป็นอุปัฏฐากของตน. องค์ที่ไปพักผ่อนกลางวัน ยังพิภพพระยาครุฑ ได้เห็นเครื่องประดับของพระยาครุฑ. เมื่อกลับมาแล้ว จึงพรรณนาเครื่องประดับของพระยาครุฑนั้นแก่กุฏุมพีผู้เป็นอุปัฏฐากของตน. องค์ที่ไปพักผ่อนกลางวัน ยังพระราชอุทยานของพระเจ้าโกรพยราชได้เห็นสมบัติอันเลิศด้วยความงามคือ สิริของพระเจ้าธนัญชัย. ครั้นกลับมาจึงพรรณนาโภคสมบัติของพระเจ้าธนัญชัยนั้นแก่กุฏุมพีผู้เป็นอุปัฏฐากของตน.
กุฏุมพี ๔ สหายนั้น เมื่อปรารถนาฐานะนั้นๆ จึงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น. ในที่สุดแห่งการสิ้นอายุ คนหนึ่งบังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช. คนหนึ่งพร้อมด้วยบุตรและภรรยา เกิดเป็นพระยานาคในนาคพิภพ. คนหนึ่งเกิดเป็นพระยาครุฑในฉิมพลีรุกขพิมาน. คนหนึ่งเกิดในครรภ์ของพระอัครมเหสี ของพระเจ้าธนัญชัย. ดาบสทั้ง ๔ นั้นก็ไม่เสื่อมจากฌาน ทำกาละแล้วบังเกิดในพรหมโลก.
บรรดากุฏุมพี ๔ สหายนั้น กุฏุมพีผู้เป็นพระโกรัพยกุมาร ทรงเจริญวัยขึ้นแล้ว. ครั้นพระราชบิดาสวรรคต ทรงครองราชสมบัติสืบสันติวงศ์ ครองราชย์โดยธรรม โดยถูกต้อง. อันพระเจ้าโกรพยราชนั้นทรงพอพระราชหฤทัยในการทรงสกา. ท้าวเธอทรงตั้งอยู่ในโอวาทของวิธุรบัณฑิต ทรงบำเพ็ญทาน รักษาเบ็ญจศีล และอุโบสถศีล.
วันหนึ่ง ท้าวเธอทรงสมาทานอุโบสถแล้ว ทรงดำริว่า เราจะพอกพูนวิเวก ดังนี้แล้ว. เสด็จพระราชดำเนินสู่พระราชอุทยานประทับนั่ง ณ มนุญสถาน ทรงเจริญสมณธรรม. ฝ่ายท้าวสักกเทวราชทรงสมาทานอุโบสถแล้ว ทรงพระดำริว่า ในเทวโลก ยังมีความกังวลอยู่ ดังนี้แล้ว. จึงเสด็จไปยังพระอุทยานนั้นนั่นแลในมนุษย์โลก. ได้ประทับนั่ง เจริญสมณธรรมอยู่ ณ มนุญสถาน. แม้วรุณนาคราชสมาทานอุโบสถแล้วคิดว่า ในนาคพิภพมีความกังวลอยู่ จึงไปในพระราชอุทยานนั้น. นั่งเจริญสมณธรรม ณ มนุญสถานส่วนหนึ่ง. ฝ่ายพระยาครุฑสมาทานอุโบสถแล้วก็ดำริว่า ในพิภพครุฑมีความกังวล จึงไปในพระราชอุทยานนั้น แล้วนั่งเจริญสมณธรรม ณ มนุญสถานส่วนหนึ่ง.
พระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้น ในเวลาเย็นออกจากที่อยู่ของตนๆ ไปพบกันที่ฝั่งสระโบกขรณี อันเป็นมงคลพอเห็นกันและกัน ต่างก็มีความพร้อมเพรียงชื่นชมยินดี เข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตมีเมตตาแก่กันและกัน ต้อนรับด้วยถ้อยคำอันไพเราะ ด้วยอำนาจแห่งความรักใคร่ ซึ่งเคยมีแก่กันและกันในปางก่อน. ฝ่ายท้าวสักกเทวราช ประทับนั่งเหนือพื้นศิลาอันเป็นมงคล. ส่วนพระราชาทั้ง ๓ นั้น ทรงทราบโอกาสที่ควรแก่พระองค์ๆ.
ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสกับพระราชาทั้ง ๓ นั้นว่า พวกเราทั้ง ๔ ล้วนเป็นพระราชาสมาทานอุโบสถ. แต่ในบรรดาเราทั้ง ๔ ใครจะมีศีลมากกว่ากัน.
ลำดับนั้น วรุณนาคราชได้พูดขึ้นว่า ศีลของข้าพเจ้าเท่านั้น มากกว่าศีลของพวกท่านทั้ง ๓. ท้าวสักกเทวราชตรัสถามเธอว่า เหตุไฉนในเรื่องนี้ ท่านจึงพูดอย่างนั้น. วรุณนาคราชกล่าวว่า เหตุว่า พระยาครุฑนี้เป็นข้าศึกแก่พวกข้าพเจ้า ทั้งที่เกิดแล้วและยังไม่เกิด. แม้ข้าพเจ้าเห็นพระยาครุฑ ผู้เป็นข้าศึกที่อาจทำร้ายพวกข้าพเจ้าให้สิ้นชีวิต ได้เช่นนี้. ก็มิได้ทำความโกรธต่อพระยาครุฑนั้นเลย เพราะเหตุนี้ ศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่าๆ ศีลของท่านทั้ง ๓ ดังนี้แล้ว จึงตรัสคาถาที่ ๑ ในจตุโปสถชาดก ในทสกนิบาตดังนี้ว่า
คนใดย่อมไม่ทำความโกรธ ในบุคคลควรโกรธ. อนึ่งคนใดเป็นสัปบุรุษ ย่อมไม่โกรธในกาลไหนๆ. ถึงเขาโกรธแล้ว ก็หาทำความโกรธให้ปรากฏไม่. บัณฑิตทั้งหลายเรียกคนนั้นแลว่า ผู้สงบในโลก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โย ได้แก่. ในบรรดาชนทั้งหลายมีกษัตริย์เป็นต้น คนใดคนหนึ่ง.
บทว่า โกปเนยฺเย ความว่า ไม่กระทำความโกรธ ในบุคคลที่ควรโกรธ เหมือนขันติวาทีดาบสฉะนั้น. บทว่า กทาจิ ความว่า ก็บุคคลใดไม่กระทำความโกรธ ในกาลไหนๆ.
บทว่า กุทฺโธปิ ความว่า ก็ถ้าบุคคลนั้นเป็นสัปบุรุษ ย่อมโกรธไซร้ หรือแม้โกรธแล้ว ก็ไม่ทำความโกรธนั้นให้ปรากฏ เหมือนจูฬโพธิดาบส ฉะนั้น.
บทว่า ตํ เว นรํ ความว่า ดูก่อนมหาราชเจ้า บัณฑิตทั้งหลายย่อมเรียกบุคคลผู้นั้น ผู้เป็นสัปบุรุษ ว่าเป็นผู้สงบในโลก. เพราะสงบความชั่วเสียได้ ก็คุณธรรมเหล่านี้มีอยู่ในข้าพเจ้า เพราะฉะนั้น ศีลของข้าพเจ้าเท่านั้น จึงมากกว่าศีลของท่านทั้งสาม.

พระยาครุฑได้สดับดังนั้น จึงกล่าวว่า นาคนี้เป็นอาหารอย่างดีของข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าแม้เห็นนาค ผู้เป็นอาหารอย่างดีเช่นนี้แล้ว ก็อดกลั้นความอยากไว้เสีย ไม่ทำความชั่ว เพราะเหตุแห่งอาหาร เพราะฉะนั้น ศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่า ดังนี้แล้วจึงกล่าวคาถาว่า
คนใดมีท้องพร่อง แต่ทนความอยากไว้ได้. เป็นผู้ฝึกฝน มีความเพียรเผาผลาญกิเลส. บริโภคข้าวและน้ำพอประมาณ ไม่ทำความชั่ว เพราะเหตุแห่งอาหาร. ปราชญ์เรียกคนนั้นแลว่า ผู้สงบในโลก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทนฺโต ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยการฝึกอินทรีย์.
บทว่า ตปสฺสี แปลว่า ผู้อาศัยความเพียร เครื่องเผาผลาญกิเลส.
บทว่า อาหารเหตุ น กโรติ ปาปํ ความว่า บุคคล แม้ถูกความหิวเบียดเบียน ก็ไม่ทำกรรมอันลามก เหมือนพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร. แต่ข้าพเจ้าในวันนี้ไม่กระทำความชั่ว เพราะเหตุแห่งอาหาร เพราะฉะนั้น ศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่า.

ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสว่า ข้าพเจ้าละสมบัติในเทวโลกอันมีความสุขเป็นเหตุใกล้มีประการต่างๆ มาสู่มนุษยโลกเพื่อต้องการจะรักษาศีล เพราะฉะนั้น ศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่าศีลของท่าน ดังนี้แล้วจึงตรัสพระคาถานี้ว่า
บุคคลใดละขาดการเล่น การยินดีในกามได้ทั้งหมด ไม่พูดเหลาะแหละแม้น้อยหนึ่งในโลก เว้นจากเมถุน เว้นจากตกแต่งร่างกาย. นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกคนนั้น นั่นแลว่า เป็นผู้สงบในโลก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขิฑฺฑํ ได้แก่ การเล่นทางกายและการพูดเล่นทางวาจา.
บทว่า รตึ ได้แก่ ความยินดีในกามคุณอันเป็นทิพย์. บทว่า กิญฺจิ แปลว่า แม้มีประมาณน้อย.
บทว่า วิภูสนฏฺฐานา ความว่า การตกแต่งมี ๒ อย่างคือ การตกแต่งเนื้อ ๑ การตกแต่งผิวหนัง ๑. ในการตกแต่ง ๒ อย่างนั้น อาหารที่กลืนกินเข้าไปชื่อว่า การตกแต่งเนื้อ. การตกแต่งด้วยมาลาและเครื่องหอมเป็นต้น ชื่อว่า การตกแต่งผิวหนังอันเป็นเหตุ เป็นที่ตั้งแห่งอกุศลจิตที่เกิดความยินดี เว้นขาดจากความยินดีนั้น.
บทว่า เมถุนสฺมา ความว่า เว้นขาดจากการซ่องเสพเมถุน.
บทว่า ตํ เว นรํ สมณมาหุ โลเก ความว่า ก็วันนี้ เราละนางเทพอัปสรทั้งหลาย มาในมนุษยโลกนี้ทำสมณธรรม เพราะฉะนั้น ศีลของเราจึงมากกว่า.

แม้ท้าวสักกเทวราชก็ย่อมทรงสรรเสริญศีลของพระองค์เท่านั้น.
พระเจ้าธนัญชัยได้ทรงสดับดังนั้นจึงตรัสว่า วันนี้ ข้าพเจ้าละราชสมบัติที่หวงแหนเป็นอันมาก และพระราชวังที่พรั่งพร้อมด้วยเหล่าหญิงนักฟ้อนหกหมื่น มาบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในพระราชอุทยานนี้ ฉะนั้น ศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่า ดังนี้แล้ว จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
นรชนใดแล กำหนดรู้วัตถุกาม และกิเลสกามด้วยปริญญาแล้ว. สละวัตถุกามและกิเลสกามทั้งปวงได้เด็ดขาด. นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกนรชนนั้นแล ผู้ฝึกตนแล้วมีตนอันมั่นคง ปราศจากตัณหาเป็นเหตุยึดถือว่าของเรา หมดความหวังว่า เป็นผู้สงบในโลก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปริคฺคหํ ได้แก่ วัตถุกามมีประการต่างๆ.
บทว่า โลภธมฺมํ ได้แก่ ตัณหาที่เกิดขึ้นในเพราะวัตถุกามนั้น.
บทว่า ปริญฺญาย ความว่า กำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ เหล่านี้คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา. ความรู้สภาวะแห่งขันธ์เป็นต้น ชื่อญาตปริญญา.
ในบรรดาปริญญา ๓ อย่างนั้น กิริยาที่ใคร่ครวญ พิจารณาเห็นโทษในขันธ์ทั้งหลาย ชื่อว่าตีรณปริญญา. กิริยาที่เห็นโทษในขันธ์เหล่านั้น แล้วพรากความติดอยู่ด้วยอำนาจความพอใจ ชื่อว่าปหานปริญญา. ชนเหล่าใดกำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ เหล่านี้แล้ว สละละทิ้งวัตถุกามและกิเลสกามไปอยู่.
บทว่า ทนฺตํ ได้แก่ ผู้หมดพยศแล้ว. บทว่า ฐิตตฺตํ ได้แก่ มีสภาวะตั้งอยู่ โดยความไม่มีแห่งมิจฉาวิตก. บทว่า อมมํ ได้แก่ ไม่มีตัณหาเป็นเหตุยึดถือว่าของเรา. บทว่า นิราสํ ได้แก่ มีจิตหมดห่วงใย ด้วยบุตรและภรรยาเป็นต้น.
บทว่า ตํ เว นรํ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมเรียกบุคคล เห็นปานนั้นว่า ผู้สงบดังนี้.

ดังนั้น พระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้นต่างสรรเสริญศีลของตนๆ เท่านั้นว่า มีมากกว่าดังนี้แล้ว. จึงตรัสถามพระเจ้าธนัญชัยว่า ดูก่อนมหาราชเจ้า ก็ใครๆ เป็นบัณฑิตในสำนักของพระองค์ ที่จะพึงบรรเทาความสงสัยของพวกเรามีอยู่หรือ. พระเจ้าธนัญชัยตรัสตอบว่า มีอยู่มหาราชเจ้า คือวิธุรบัณฑิต ผู้ดำรงตำแหน่งอรรถธรรมานุสาสน์. เป็นผู้ทรงปัญญา หาผู้เสมอเหมือนมิได้ จักบรรเทาความสงสัยของพวกเราได้. พวกเราจงพากันไปยังสำนักของวิธุรบัณฑิตนั้นเถิด. พระราชาทั้ง ๓ พระองค์นั้นทรงรับคำพร้อมกันแล้ว.
ลำดับนั้น พระราชาเหล่านั้นทั้งหมดพากันเสด็จออกจากพระราชอุทยาน ไปสู่โรงธรรมสภา รับสั่งให้ประดับธรรมาสน์ เชิญพระโพธิสัตว์ให้นั่ง ณ ท่ามกลางบัลลังก์อันประเสริฐ ทำปฏิสันถารแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. แล้วได้ตรัสกะบัณฑิตว่า ความสงสัยเกิดขึ้นแก่พวกเรา ขอท่านจงทรงบรรเทาความสงสัยนั้นเถิด ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถามบัณฑิต ผู้มีปัญญาไม่ต่ำทราม สามารถรู้เหตุและมิใช่เหตุ ควรทำและไม่ควรทำ. ด้วยการโต้เถียงกันในเรื่องศีล ได้เกิดมีแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย. ขอท่านได้โปรดตัดความสงสัย คือวิจิกิจฉาทั้งหลายให้ในวันนี้. จงช่วยพวกข้าพเจ้าทั้งปวงให้ข้ามพ้นความสงสัย ในวันนี้เถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กตฺตารํ ได้แก่ ท่านผู้สามารถทราบเหตุและมิใช่เหตุ อันได้แก่เหตุที่ควรทำและไม่ควรทำ.
บทว่า วิคฺคโห อตฺถิ ชาโต ความว่า การกล่าวขัดแย้งกันในเรื่องศีล คือการโต้เถียงกันในเรื่องศีลเรื่องหนึ่ง เกิดขึ้นอยู่.
บทว่า ฉินฺทชฺช ความว่า วันนี้ท่านจงตัดความสงสัย คือความลังเลใจนั้นของข้าพเจ้าทั้งหลาย. เหมือนท้าวสักกเทวราชตัดยอดเขาสิเนรุด้วยเพชร ฉะนั้น.
บทว่า วิตเรมุ แปลว่า ให้พวกข้าพเจ้าข้ามไป.

ลำดับนั้น วิธุรบัณฑิตได้สดับพระกระแสรับสั่งของพระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้น. จึงทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เรื่องโต้เถียงกันที่อาศัยศีลของพระองค์ทั้งหลายเกิดแล้วนั้น. ข้าพระองค์จะทราบได้อย่างไรว่า พระกระแสรับสั่งนั้น เช่นไรผิด เช่นไรถูก. ดังนี้แล้ว จึงกล่าวคาถานี้ว่า
บัณฑิตทั้งหลาย ผู้ที่เห็นข้อความแต่จะตัดสินความ ด้วยอุบายอันแยบคายได้. ในเมื่อโจทก์และจำเลยบอกข้อที่พิพาทกันให้ตลอด. ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งทวยราษฎร์ ข้าพระองค์ขอพระวโรกาส บัณฑิตผู้ฉลาดทั้งหลาย เมื่อโจทก์และจำเลย ไม่บอกข้อความให้แจ้ง จะพึงตัดสินพิจารณาข้อความนั้น ได้อย่างไร. เหตุนั้น ขอพระองค์ตรัสเล่าข้อความให้ข้าพระองค์ทราบก่อน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถทสฺส ความว่า ผู้สามารถเพื่อเห็นข้อความ.
บทว่า ตตฺถ กาเล ความว่า ในกาลที่โจทก์และจำเลยบอกข้อความที่ทะเลาะกันนั้น กาลที่ควรและไม่ควร บัณฑิตทั้งหลาย เมื่อบอกข้อความนั้น ย่อมกล่าวโดยแยบคาย.
บทว่า อตฺถํ เนยฺยํ กุสลา ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งทวยราษฎร์ บัณฑิตทั้งหลาย แม้เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม เมื่อโจทก์และจำเลยไม่บอกข้อความให้แจ้งชัด จะพึงพิจารณาข้อความนั้นได้อย่างไร. วิธุรบัณฑิตเรียกพระราชาทั้งหลายว่า ผู้เป็นจอมแห่งทวยราษฎร์. เพราะฉะนั้น ขอพระองค์จงตรัสข้อความนี้ให้ ข้าพเจ้าทราบก่อน.
พระมหาสัตว์ทูลต่อไปว่า
พระยานาคราชตรัสว่าอย่างไร พระยาครุฑตรัสว่าอย่างไร ท้าวสักกเทวราชตรัสว่าอย่างไร ส่วนมหาราชเจ้า ผู้เป็นจอมแห่งชาวกุรุรัฐตรัสว่าอย่างไร.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คนฺธพฺพราชา วิธุรบัณฑิตกล่าวหมายเอาท้าวสักกเทวราช.

ลำดับนั้น พระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้นตรัสพระคาถาตอบพระมหาสัตว์นั้นว่า
พระยานาคย่อมทรงสรรเสริญอธิวาสนขันติ กล่าวคือ ความไม่โกรธในบุคคล แม้ผู้ควรโกรธ. พระยาครุฑย่อมทรงสรรเสริญการไม่ทำความชั่ว เพราะเหตุแห่งอาหาร กล่าวคือบริโภคอาหารแต่น้อย. ท้าวสักกเทวราชทรงสรรเสริญการละความยินดีในกามคุณ ๕. พระเจ้ากุรุรัฐทรงสรรเสริญความไม่มีความกังวล.
พึงทราบคำอันเป็นคาถานั้นดังต่อไปนี้ว่า
ดูก่อนบัณฑิต พระยานาคราชสรรเสริญอธิวาสนขันติ กล่าวการไม่โกรธในบุคคล แม้ผู้ควรโกรธ. พระยาครุฑย่อมสรรเสริญการไม่ทำความชั่ว เพราะเหตุแห่งอาหาร กล่าวคือการบริโภคอาหารน้อย. ท้าวสักกเทวราช ทรงสรรเสริญการละความยินดีในกามคุณ ๕. พระเจ้ากุรุรัฐทรงสรรเสริญความไม่มีความกังวล.
พระมหาสัตว์ได้สดับพระกระแสรับสั่งของพระราชาทั้ง ๔ พระองค์แล้ว กล่าวคาถานี้ว่า
พระกระแสรับสั่งทั้งปวงนี้เป็นสุภาษิตทั้งหมด แท้จริงพระกระแสรับสั่งเหล่านี้ จะเป็นทุพภาษิตเพียงเล็กน้อยหามิได้. คุณธรรม ๔ ประการนี้ตั้งมั่นอยู่ในนรชนใด เป็นดังกำเกวียนที่รวมกันอยู่ที่ดุมเกวียน. บัณฑิตเรียกนรชนผู้ประกอบพร้อมด้วยธรรม ๔ ประการนั้นแลว่า เป็นผู้สงบในโลก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตานิ ความว่า คุณชาติทั้ง ๔ ประการนี้ ตั้งมั่นด้วยดีในบุคคลใด เป็นดังกำเกวียนตั้งรวมกันอยู่ด้วยดีที่ดุมเกวียน ฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคลนั้นผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้ว่าผู้สงบในโลกฉะนั้น.

พระมหาสัตว์ได้ทำศีลของพระราชาทั้ง ๔ พระองค์ให้มีคุณสม่ำเสมอกันทีเดียวอย่างนี้.
ท้าวเธอทั้ง ๔ ครั้นได้ทรงสดับดังนั้น ต่างมีพระหฤทัยร่าเริงยินดี เมื่อจะทรงชมเชยพระมหาสัตว์ จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ท่านเป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นผู้ยอดเยี่ยม ไม่มีใครเทียมถึง มีปัญญาดี รักษาธรรม และรู้แจ้งธรรม วิเคราะห์ปัญหาของพวกข้าพเจ้าได้ด้วยดี ด้วยปัญญาของตน. พวกข้าพเจ้าอ้อนวอนท่านว่า ขอท่านผู้เป็นปราชญ์ จงตัดความสงสัยลังเลใจของพวกข้าพเจ้า ให้ขาดไปในวันนี้เหมือนช่างทำงาช้าง ตัดงาช้างให้ขาดไปด้วยเลื่อยอันคม ฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตฺวมนุตฺตโรสิ ความว่า ท่านเป็นผู้ยอดเยี่ยมไม่มีผู้เทียมถึง ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีผู้ยอดเยี่ยมเท่าท่าน.
บทว่า ธมฺมคู ความว่า ทั้งเป็นผู้รักษาธรรมและรู้ธรรม. บทว่า ธมฺมวิทู ความว่า ผู้มีธรรมเป็นที่ปรากฏ. บทว่า สุเมโธ ความว่า ผู้มีปัญญาดี.
บทว่า ปญฺญาย ความว่า ศึกษาปัญหาของพวกเราเป็นอย่างดีด้วยปัญญาแล้ว ก็ทราบความจริงว่า ในเรื่องนี้มีเหตุอย่างนี้.
บทว่า อจฺเฉจฺฉ ความว่า ขอท่านผู้ทรงเป็นปราชญ์ โปรดตัดสินข้อสงสัยของพวกข้าพเจ้า และเมื่อตัดสินอย่างนี้ โปรดให้คำขอร้องของพวกข้าพเจ้านี้จบสิ้นว่า ท่านได้ตัดสินข้อสงสัย คือวิจิกิจฉาแล้วดังนี้.
บาทคาถาว่า จุนฺโท ยถา นาคทนฺตํ ขเรน ความว่า ขอท่านช่วยตัดข้อสงสัย เหมือนนายช่างทำงาช้าง ตัดงาช้างด้วยเลื่อยเล่มคม ฉะนั้น.

พระราชาแม้ทั้ง ๔ พระองค์นั้น ครั้นตรัสชมเชยพระมหาสัตว์อย่างนั้นแล้ว ต่างทรงพอพระหฤทัยด้วยพยากรณ์ปัญหาของพระมหาสัตว์. ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงทรงบูชาพระมหาสัตว์ ด้วยผ้าทุกุลพัสตร์อันเป็นทิพย์. พระยาครุฑบูชาด้วยมาลัยทอง วรุณนาคราชบูชาด้วยแก้วมณี พระเจ้าธนัญชัยบูชาด้วยวัตถุต่างๆ มีโคนมนับจำนวนพันเป็นต้น.
พระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้นได้ตรัสอย่างนี้ว่า
ดูก่อนท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้ายินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหานี้ ผ้าทิพย์สีดอกบัวเขียว ปราศจากมลทิน เนื้อละเอียดดังควันเพลิง หาค่ามิได้ ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม. พระยาครุฑบูชาด้วยดอกไม้ทองตรัสว่า ดูก่อนท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้ายินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหานี้ ดอกไม้ทองมีกลีบร้อยกลีบแย้มออกแล้ว มีเกสรแล้วด้วยแก้วนับด้วยพัน ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม. พระยาวรุณนาคราชบูชาด้วยแก้วมณีตรัสว่า ดูก่อนท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้ายินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหานี้ แก้วมณีอันเป็นเครื่องประดับของข้าพเจ้า มีสีงดงามผุดผ่อง หาค่ามิได้ ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม. พระเจ้าธนัญชัยทรงบูชาด้วยวัตถุต่างๆ มีโคนมพันหนึ่งเป็นต้น แล้วมีพระราชดำรัสว่า ข้าพเจ้ายินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหา โคนมพันหนึ่งและโคอุสุภราชนายฝูง รถ ๑๐ คัน เทียมด้วยอาชาไนย บ้านส่วย ๑๖ บ้านเหล่านี้ ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม.
พระราชาทั้ง ๔ พระองค์มีท้าวสักกเทวราชเป็นต้น ครั้นทรงบูชาพระมหาสัตว์แล้ว ได้เสด็จไปยังที่ประทับของพระองค์ตามเดิม ด้วยประการฉะนี้.
จบจตุโปสถกัณฑ์

บรรดาพระราชา ๔ พระองค์นั้น พระยานาคมีพระชายานามว่าพระนางวิมลาเทวี. พระนางนั้น เมื่อไม่เห็นเครื่องประดับแก้วมณีที่พระศอของพระยานาค. จึงทูลถามว่า แก้วมณีของพระองค์หายไปไหนเล่า พระเจ้าข้า. ท้าวเธอจึงตรัสว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ เราได้สดับธรรมกถาของวิธุรบัณฑิต บุตรแห่งจันทพราหมณ์ มีจิตเลื่อมใส. จึงเอาแก้วมณีนั้นบูชาเธอ จะบูชาแต่เราคนเดียว ก็หามิได้. แม้ท้าวสักกเทวราชก็ยังทรงบูชาเธอ ด้วยผ้าทุกุลพัสตร์อันเป็นทิพย์. พระยาครุฑบูชาเธอด้วยดอกไม้ทอง. พระเจ้าธนัญชัยทรงบูชาเธอด้วยวัตถุต่างๆ มีโคนมพันหนึ่งเป็นต้น. พระนางทูลถามว่า พระวิธุรบัณฑิตนั้นเป็นพระธรรมกถึกหรือ พระเจ้าข้า. ดูก่อนนางผู้เจริญ แล้วจะพูดไปไยเล่า พระราชา ๑๐๑ พระองค์ในชมพูทวีปทั้งสิ้นล้วนพอพระหฤทัยในธรรมกถาอันไพเราะของเธอ เหมือนกับกาลอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้ายังเป็นไปอยู่ ในชมพูทวีปทั้งสิ้น. จนจะเสด็จกลับไปยังแว่นแคว้นของตนๆ ไม่ได้ เป็นดังกระแสเสียงพิณ ชื่อหัตถีกันต์. ประโลมฝูงช้างตกมันให้ใคร่ เธอเป็นธรรมกถึกเอก แสดงธรรมไพเราะจับใจยิ่งนัก. พระยาวรุณนาคราชทรงสรรเสริญคุณของพระมหาสัตว์ ด้วยประการฉะนี้.
พระนางได้สดับคุณกถาของพระวิธุรบัณฑิต ใคร่จะสดับธรรมกถาของท่าน จึงทรงดำริว่า หากเราจะทูลว่า หม่อมฉันใคร่จะฟังธรรมกถาของพระวิธุรบัณฑิต ขอพระองค์โปรดให้เชิญมาในนาคพิภพนี้เถิด พระเจ้าข้า ดังนี้. ท้าวเธอจักไม่โปรดให้เชิญมาให้แก่เรา อย่ากระนั้นเลย เราควรจะแสดงอาการดังเป็นไข้ ด้วยปรารถนาดวงหฤทัยวิธุรบัณฑิตนั้น. พระนางครั้นกระทำอย่างนั้นแล้ว ให้สัญญาแก่เหล่านักสนม. จึงเสด็จเข้าบรรทมอยู่ ณ พระแท่นอันประกอบด้วยสิริ. พระยานาคราช เมื่อไม่ทรงเห็นพระนางวิมลาเทวีในเวลาเข้าเฝ้า จึงตรัสถามว่า พระนางวิมลาไปไหน? เมื่อเหล่านางนักสนมทูลว่า พระนางทรงประชวร พระเจ้าข้า. ท้าวเธอจึงเสด็จลุกจากพระราชอาสน์ เสด็จไปยังสำนักแห่งพระนางวิมลานั้น ประทับนั่งข้างพระแท่น ทรงลูบคลำพระสรีระกายของพระนางอยู่ ได้ตรัสพระคาถาที่ ๑ ว่า
เธอเป็นไรไป มีผิวพรรณเหลืองซูบผอม ถดถอยกำลัง ในปางก่อน รูปโฉมของเธอไม่ได้เป็นเช่นนี้เลย. ดูก่อนพระน้องวิมลา พี่ถามแล้ว จงบอกเวทนาในร่างกายของเธอ เป็นเช่นไร?


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปณฺฑุ แปลว่า มีผิวพรรณดังใบไม้เหลือง. บทว่า กีสิยา แปลว่า ซูบผอม. บทว่า ทุพฺพลา แปลว่า มีกำลังน้อย. บทว่า วณฺณรูเป น ตเวทิสํ ปุเร ความว่า รูปกล่าวคือวรรณะของเจ้า มิได้เป็นเหมือนในก่อนเลย คือในก่อนไม่มีโทษไม่เศร้าหมอง. แต่บัดนี้รูปนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป มีภาวะไม่เป็นที่ชื่นใจเลย. พระยานาคตรัสเรียกพระนางวิมลาเทวีว่า วิมลา. ดูก่อนพระน้องวิมลา ดังนี้.

ลำดับนั้น พระนางวิมลาเทวี เมื่อจะทูลบอกความนั้นแก่ท้าวเธอ จึงตรัสพระคาถาที่ ๒ ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมหมู่นาค ชื่อว่าความอยากได้โน่นอยากได้นี่. เขาเรียกกันว่า เป็นธรรมดาของหญิงทั้งหลายในหมู่มนุษย์. ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสุดในหมู่นาค หม่อมฉันอยากได้ดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต ที่บุคคลนำมาได้โดยชอบ เพคะ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺโม ได้แก่ สภาวะ. บทว่า มาตีนํ ได้แก่ หญิงทั้งหลาย. บทว่า ชนินฺท แปลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งหมู่นาค.
สองบาทคาถาว่า ธมฺมาหฏํ นาคกุญฺชร วิธุรสฺส หทยาภิปตฺถเย ความว่า ข้าแต่นาคผู้ประเสริฐสุด เมื่อดิฉันอยากได้ดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตที่พระองค์นำมาได้ โดยชอบธรรม ไม่ใช่โดยกรรมที่สาหัส. ชีวิตของหม่อมฉันจะยังทรงอยู่ได้. ถ้าเมื่อดิฉันไม่ได้ไซร้ หม่อมฉันเห็นจะมรณะอยู่ในที่นี้แล.
พระนางตรัสอย่างนั้น หมายถึงปัญญาของวิธุรบัณฑิตนั้น.

ดูก่อนพระน้องวิมลา เธอปรารถนาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตนั้น ดังจะปรารถนา พระจันทร์ พระอาทิตย์ หรือลม เพราะว่าวิธุรบัณฑิตยากที่บุคคลจะเห็นได้ ใครจะนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้ได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุลฺลเภ หิ วิธุรสฺส ทสฺสเน ความว่า การเห็นวิธุรบัณฑิต ผู้มีเสียงอันไพเราะ หาผู้เสมือนมิได้นั้น หาได้ยาก. ด้วยว่า พระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้น ทรงจัดการพิทักษ์ รักษา ป้องกันวิธุรบัณฑิต อย่างกวดขันประกอบโดยธรรม. แม้ใครๆ จะเห็นก็เห็นไม่ได้ ใครเล่าจะนำวิธุรบัณฑิตนั้นมาในนาคพิภพนี้ได้.

พระนางวิมลาเทวีได้สดับพระสวามีตรัสดังนั้นจึงทูลว่า เมื่อหม่อมฉันไม่ได้ จักตายในที่นี้แล. แล้วเบือนพระพักตร์ผันพระปฤษฎางค์ ให้แก่พระสวามี เอาชายพระภูษาปิดพระพักตร์บรรทมนิ่งอยู่ พระยานาคเสด็จไปสู่ห้องที่ประกอบด้วยสิริของพระองค์ ประทับนั่งลงเหนือพระแท่นบรรทม ทรงเข้าพระทัยว่า พระนางวิมลาเทวีจะให้เอาเนื้อหทัยของวิธุรบัณฑิตมาให้ จึงทรงพระดำริว่า เมื่อพระนางวิมลาไม่ได้ดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต ชีวิตของเธอจักหาไม่ ทำอย่างไรหนอ เราจึงจักได้เนื้อหทัยของวิธุรบัณฑิตนั้น.
ลำดับนั้น นางนาคกัญญานามว่าอิรันทตี นางเป็นธิดาของพระยานาคนั้น ประดับด้วยเครื่องประดับพร้อมสรรพ มาสู่ที่เฝ้าพระบิดาด้วยสิริวิลาสอันใหญ่ ถวายบังคมพระบิดาแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เห็นพระอินทรีย์ของพระบิดาผิดปกติ จึงทูลว่า ข้าแต่สมเด็จพ่อ ดูเหมือนสมเด็จพ่อได้รับความน้อยพระทัย เป็นอย่างยิ่ง นี่เป็นเพราะเหตุไรหนอ พระพุทธเจ้าข้า ดังนี้แล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาว่า
ข้าแต่สมเด็จพระบิดา เหตุไรหนอ สมเด็จพระบิดาจึงทรงซบเซา พระพักตร์ของสมเด็จพระบิดา เป็นเหมือนดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ ข้าแต่สมเด็จพระบิดาผู้เป็นใหญ่ เป็นที่เกรงขามของศัตรู เหตุไรหนอ สมเด็จพระบิดาจึงทรงเป็นทุกข์พระทัย อย่าทรงโศร้าโศกไปเลย เพคะ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปชฺฌายสิ ได้แก่ คิดบ่อยๆ. บทว่า หตฺถคตํ ความว่า พระพักตร์ของพระองค์ เป็นเหมือนดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ. บทว่า อิสฺสร ความว่า ข้าแต่พระบิดาผู้เป็นเจ้าของมณฑลนาคพิภพ ซึ่งมีประมาณห้าร้อยโยชน์.

พระยานาคราชทรงสดับคำของธิดา เมื่อจะทรงบอกเรื่องนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
อิรันทตีลูกรัก ก็พระมารดาของเจ้าปรารถนาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต เพราะวิธุรบัณฑิต ยากที่บุคคลจะเห็นได้. ใครจะนำวิธุรบัณฑิต มาในนาคพิภพนี้ได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธนิยฺยติ แปลว่า ย่อมปรารถนา.

ลำดับนั้น พระยานาคราชจึงตรัสกะเธอว่า ดูก่อนลูกหญิง บุคคลผู้สามารถเพื่อจะนำวิธุรบัณฑิตมาในสำนักของเราได้ก็ไม่มี. เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาเถิด จงไปแสวงหาภัสดาผู้สามารถนำ ดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตมาให้ได้.

เมื่อจะส่งธิดาไป จึงตรัสกึ่งคาถาว่า
เจ้าจงไปเที่ยวแสวงหาภัสดา ซึ่งสามารถนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จร แปลว่า จงเที่ยวไป.

พระยานาคนั้นได้ตรัสถ้อยคำ แม้ที่ไม่สมควรแก่ธิดา เพราะถูกกิเลสครอบงำด้วยประการฉะนี้ เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า
ก็นางนาคมาณวิกานั้น ได้สดับพระดำรัสของพระบิดาแล้ว เป็นผู้มีจิตชุ่มด้วยกิเลส ออกเที่ยวแสวงหาสามีในเวลากลางคืน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อวสฺสตี จริ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นางนาคมาณวิกานั้นได้สดับคำพระบิดาแล้ว. จึงปลอบโยนพระบิดาให้เบาพระทัย แล้วไปสู่สำนักพระมารดาแล้ว. ไปยังห้องอันประกอบด้วยสิริของตน ประดับพร้อมสรรพนุ่งผ้าสีดอกคำผืนหนึ่ง ทำเฉวียงบ่าผืนหนึ่ง. แหวกน้ำเป็นสองส่วน ออกจากนาคพิภพไปในคืนนั้นเอง. เหาะไปสู่กาฬคิรีบรรพต มีแท่งทึบเป็นอันเดียว มีสีดังดอกอัญชันสูงได้ ๖๐ โยชน์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ฝั่งสมุทร ณ หิมวันตประเทศ. เป็นผู้มีจิตชุ่มด้วยอำนาจกิเลส ได้เที่ยวแสวงหาภัสดาแล้ว.

นางอิรันทตีนาคกัญญานั้น เก็บดอกไม้ในหิมวันตประเทศนั้น ที่สมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่น มาประดับยอดบรรพตทั้งสิ้น ให้เป็นดุจพนมแก้วมณี ลาดดอกไม้ที่พื้นเบื้องบนแห่งบรรพตนั้น ฟ้อนรำด้วยท่าทางอันงามเพริศพริ้ง ขับร้องเพลงขับไพเราะจับใจ ได้กล่าวคาถาที่ ๗ ว่า
คนธรรพ์ รากษส นาค กินนร หรือมนุษย์คนไหนเป็น ผู้ฉลาดสามารถจะให้สิ่งทั้งปวงได้ คนนั้นจักได้เป็นสามีของเรา ตลอดกาลนาน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เก คนฺธพฺเพ จ รกฺขเส นาเค ความว่า คนธรรพ์ รากษส หรือนาคก็ตาม.
บทว่า เก ปณฺฑิเต สพฺพกามทเท ในบรรดาคนธรรพ์เป็นต้นนั้น คนไหนเป็นผู้ฉลาดสามารถเพื่อจะให้สมบัติอันน่าใคร่ทุกอย่าง เมื่อนำมโนรถของมารดาของเรา ผู้ปรารถนาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตมา ผู้นั้นจักได้เป็นภัสดาของเราตลอดกาลนาน.

ขณะนั้น ปุณณกยักษ์เสนาบดี หลานของท้าวเวสวัณมหาราช เผ่นขึ้นม้ามโนมัยสินธพสูงประมาณ ๓ คาวุต เหาะไปสู่ยักษ์สมาคมที่พื้นมโนศิลา เหนือยอดกาฬาคิรีบรรพต ได้ยินเสียงแห่งนางอิรันทตีนาคกัญญานั้น เสียงขับร้องของนางอิรันทตี ได้ตัดผิวหนังเป็นต้นของปุณณกยักษ์ เข้าไปกระทั่งถึงเยื่อในกระดูก เพราะเคยอยู่ร่วมกันในอัตภาพถัดมา. ปุณณกยักษ์นั้นมีจิตปฏิพัทธ์ ชักม้ากลับคืน นั่งอยู่บนหลังม้าสินธพนั้นแล เล้าโลมนางให้ยินดีว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ พี่เป็นผู้สามารถนำดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตมาให้ ได้โดยชอบธรรมด้วยปัญญาของพี่ อย่าคิดวิตกไปเลย แล้วกล่าวคาถาที่ ๘ ว่า
ดูก่อนนางผู้มีนัยน์ตาหาที่ติไม่ได้ เธอจงเบาใจเถิด. เราจักเป็นสามีของเธอ จักเป็นผู้เลี้ยงดูเธอเพราะปัญญาของเรา. อันสามารถจะนำเนื้อหทัยของวิธุรบัณฑิตมาให้ จงเบาใจเถิด เธอจักเป็นภรรยาของเรา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนินฺทโลจเน แปลว่า ผู้มีขนตางามที่จะพึงตำหนิมิได้.
บทว่า ตถาวิธาหิ ความว่า อันสามารถนำมาซึ่งเนื้อหทัยของวิธุรบัณฑิตมาได้. บทว่า อสฺสาส ความว่า เจ้าจงได้ความดีใจไว้วางใจเถิด. บทว่า เหสฺสสิ ความว่า เจ้าจักเป็นภรรยาของพี่.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
นางอิรันทตีผู้มีใจกำหนัดรักใคร่ เพราะเคยร่วมอภิรมย์กันมาในภพก่อน. ได้กล่าวกะปุณณกยักษ์ว่า มาเถิดท่าน เราจักไปในสำนักพระบิดาของดิฉัน พระบิดาของดิฉันจักตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ท่าน.


บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า ปุพฺพปถานุคเตน เจตสา ความว่า นางมีใจกำหนัดรักใคร่ในปุณยักษ์นั้น ผู้เคยเป็นสามีมาในอัตภาพถัดมา เพราะเคยร่วมอภิรมย์กันมา ในกาลก่อนนั่นแล.
บทว่า เอหิ คจฺฉาม ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุณณยักษ์เสนาบดีนั้น ครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้วจึงคิดว่า เราจักขึ้นหลังม้านี้ นำไปลงเหนือยอดบรรพต. จึงเหยียดมือออกจับมือนางอิรันทตีนั้น. ฝ่ายนางอิรันทตีนั้นไม่ให้จับมือตน จับมือปุณณกยักษ์ที่เหยียดออกไปเสียเอง. แล้วกล่าวว่า ข้าแต่นาย ดิฉันมิใช่คนไร้ที่พึ่ง. พระยานาคนามว่า วรุณ เป็นบิดาของดิฉัน. พระนางวิมลาเทวีเป็นมารดาของดิฉัน. มาเถิดท่าน ดิฉันจะพาไปสู่สำนักแห่งบิดาของดิฉัน เราทั้งสองจะควรทำมงคลด้วยประการใด ท้าวเธอคงตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ท่านด้วยประการนั้น.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า
นางอิรันทตีประดับประดานุ่งผ้าเรียบร้อย ทัดทรงดอกไม้ ประพรมด้วยจุรณแก่นจันทน์ จูงมือปุณณกยักษ์เข้าไปสู่สำนักแห่งพระบิดา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปิตุ สนฺติกมุปาคมิ ความว่า เข้าไปสู่สำนักพระบิดา.

ฝ่ายปุณณกยักษ์ติดตามไปยังสำนักแห่งพระยานาค เมื่อจะทูลขอนางอิรันทตี จึงทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าหมู่นาค ขอพระองค์ได้ทรงโปรดสดับถ้อยคำของข้าพระองค์. ขอพระองค์จงทรงรับสินสอดตามสมควร. ข้าพระองค์ปรารถนาพระนางอิรันทตี. ขอพระองค์ได้ทรงโปรดกรุณาให้ ข้าพระองค์ได้ทรงอยู่ร่วมกับพระนางอิรันทตีเถิด. ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอได้ทรงพระกรุณารับสินสอดนั้นคือ ช้าง ๑๐๐ ม้า ๑๐๐ รถเทียมม้า ๑๐๐ เกวียน บรรทุกของเต็มล้วนแก้วต่างๆ ๑๐๐ ขอได้โปรดพระราชทานพระราชธิดาอิรันทตี แก่ข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุงฺกยํ ความว่า ขอพระองค์จงทรงรับเอาทรัพย์ คือสินสอดเพื่อพระราชา ตามสมควรแก่ตระกูลและประเทศของพระองค์เถิด. บาทพระคาถาว่า ตาย สมงฺคึ กโรหิ มํ ตุวํ ความว่า ขอพระองค์จงทรงพระกรุณากระทำข้าพระองค์ให้เป็นผู้อยู่ร่วมกับพระนางอิรันทตีราชธิดานั้นเถิด. บทว่า พลภิยฺโย แปลว่า เกวียนอันเต็มไปด้วยสิ่งของ. บทว่า นานารตนสฺส เกวลา ความว่า ล้วนเต็มไปด้วยแก้วนานาชนิด.

ลำดับนั้น พระยานาคราชจึงตรัสกะปุณณกยักษ์นั้น ด้วยพระคาถาว่า
ขอท่านจงรออยู่จนกว่า เราจะได้ปรึกษาหารือกับบรรดาญาติมิตร และเพื่อนสนิทเสียก่อน กรรมที่กระทำด้วยการไม่ปรึกษาหารือ ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาว อามนฺตเย ความว่า ดูก่อนยักษ์เสนาบดีผู้เจริญ เราจะให้ธิดาแก่ท่าน หรือจะไม่ให้ ก็หามิได้. แต่ว่าท่านจงรอก่อน เราจะปรึกษาหารือกะพวกญาติมิตร และเพื่อนที่สนิทดูก่อน.
บาทพระคาถาว่า ตึ ปจฺฉา อนุตปฺปติ ความว่า พระยาวรุณนาคราชกล่าวว่า เพราะว่าหญิงทั้งหลายบางทีก็ยินดีรักใคร่กัน บางทีก็ไม่ยินดีรักใคร่กัน กรรมที่เราทำลงไปโดยมิได้ปรึกษาหารือใคร. เมื่อเวลาเขาไม่ยินดีรักใคร่ต่อกัน เพราะฉะนั้น พวกญาติมิตรและเพื่อนสนิท ย่อมจะไม่ช่วยกระทำความขวนขวาย. ด้วยเหตุที่กรรมที่เราทำ โดยมิได้ปรึกษาหารือกับเขา จึงเป็นเช่นนี้ กรรมนั้นย่อมจะนำมาซึ่งความเดือดร้อนในภายหลัง.

ลำดับนั้น ท้าววรุณนาคราชเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ ปรึกษากะพระชายา เป็นพระคาถาความว่า
ปุณณกยักษ์มาขอลูกอิรันทตีกะเรา เราจะให้ลูกอิรันทตี ซึ่งเป็นที่รักของเราแก่ปุณณกยักษ์นั้น เพราะได้ทรัพย์เป็นจำนวนมากหรือ?


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปวิสิตฺวา ความว่า ปล่อยปุณณกยักษ์ไว้ในที่นั้นนั่นเอง. พระองค์ก็เสด็จลุกขึ้น เข้าไปยังพระนิเวศน์ที่ชายาของพระองค์บรรทมอยู่ทันที. บทว่า ปิยํ มมํ ความว่า พระองค์ตรัสถามว่า เราจะให้ธิดาซึ่งเป็นที่รักของเรา โดยได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจเป็นอันมากหรือ?

พระนางวิมลาเทวี ตรัสว่า
ปุณณกยักษ์ไม่พึงได้ลูกอิรันทตีของเราเพราะทรัพย์ เพราะสิ่งที่ปลื้มใจ. ถ้าปุณณกยักษ์ได้หทัยของวิธุรบัณฑิตนำมาในนาคพิภพนี้ โดยชอบธรรม. เพราะความชอบธรรมนั่นแล เขาจะพึงได้ลูกสาวของเรา. หม่อมฉันปรารถนาทรัพย์อื่น ยิ่งกว่าหทัยของวิธุรบัณฑิต หามิได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมฺหํ อิรนฺทตี ความว่า อิรันทตีธิดาของเรา. บทว่า เอเตน จิตฺเตน ความว่า ด้วยอาการที่ยินดีนั้นนั่นแล.

ลำดับนั้น ท้าววรุณนาคราชเสด็จออกจากนิเวศน์ ตรัสเรียกปุณณกยักษ์มาตรัสว่า ท่านไม่พึงได้ลูกอิรันทตีของเรา เพราะทรัพย์ เพราะสิ่งเครื่องปลื้มใจ. ถ้าท่านได้หทัยของวิธุรบัณฑิตนำมา ในนาคพิภพนี้โดยชอบธรรม. ท่านจะพึงได้ลูกสาวของเรา เราปรารถนาทรัพย์อื่น ยิ่งไปกว่าหทัยของวิธุรบัณฑิต หามิได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า ปุณฺณกามนฺตยิตฺวาน ความว่า เรียกปุณณกยักษ์มา.

ปุณณกยักษ์ทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ในโลกนี้คนบางพวกย่อมเรียก คนใดว่าเป็นบัณฑิต คนบางพวกกลับเรียกคนนั้น นั่นแลว่าเป็นพาล ในเรื่องนี้ คนทั้งหลายยังกล่าวแย้งกันอยู่ ขอได้ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ พระองค์ทรงเรียกใครว่าเป็นบัณฑิต.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ ปณฺฑิโต ความว่า ได้ยินว่า ปุณณกยักษ์ได้สดับว่า ให้นำหทัยวิธุรบัณฑิตมาดังนี้ คิดว่า คนบางพวกเรียกคนใดว่า เป็นบัณฑิต แต่คนพวกอื่นก็เรียกคนนั้นแหละว่าเป็นพาล ทั้งที่แม่นางอิรันทตีบอกเราว่า วิธุรบัณฑิตแม้โดยแท้ ถึงกระนั้น เราจักทูลถามท้าวเธอให้รู้แน่นอนกว่านั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงได้กล่าวอย่างนั้น.

.. อรรถกถา วิธุรชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]