ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
๖. ภูริทัตชาดกที่ ๖
พระเจ้าภูริทัต ทรงบำเพ็ญศีลบารมี
[๖๘๗] รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง มีอยู่ในนิเวศน์ของท้าวธตรฐ รัตนะทั้งหมดนั้น จงมาสู่พระราชนิเวศน์ของพระองค์ ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาโปรด ประทานพระราชธิดาแก่พระราชาของข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า. [๖๘๘] พวกเราไม่เคยทำการวิวาห์กับนาคทั้งหลาย ในกาลไหนๆ เลย พวกเรา จะทำการวิวาห์อันไม่สมควรนั้นได้อย่างไรเล่า. [๖๘๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ พระองค์จำต้องทรงสละพระชนม์ชีพ หรือแว่นแคว้นเสียเป็นแน่ เพราะเมื่อนาคโกรธแล้ว คนทั้งหลาย เช่น พระองค์จะมีชีวิตอยู่นานไม่ได้ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระองค์เป็น มนุษย์ไม่มีฤทธิ์ มาดูหมิ่นพระยานาคธตรฐผู้มีฤทธิ์ ผู้เป็นบุตรของท้าว วรุณนาคราช เกิดภายใต้แม่น้ำยมุนา. [๖๙๐] เราไม่ได้ดูหมิ่นท้าวธตรฐผู้เรืองยศ ก็ท้าวธตรฐเป็นใหญ่กว่านาคแม้ทั้ง หมด ถึงจะเป็นพระยานาคผู้มีอานุภาพมาก ก็ไม่สมควรกะธิดาของเรา เราเป็นกษัตริย์ของชนชาววิเทหรัฐ และนางสมุททชาธิดาของเราก็เป็น อภิชาต. [๖๙๑] พวกนาคเหล่ากัมพลอัสสดรจงเตรียมตัว จงไปบอกให้นาคทั้งปวงรู้กัน จงพากันไปเมืองพาราณสี แต่อย่าได้เบียดเบียนใครๆ เลย. [๖๙๒] นาคทั้งหลาย จงแผ่พังพานห้อยอยู่ที่บ้านเรือน ในสระน้ำ ที่ทางเดิน ที่ทาง ๔ แพร่ง บนยอดไม้ และบนเสาระเนียด แม้เราก็จะนิรมิตตัว ให้ใหญ่ขาวล้วน วงล้อมเมืองใหญ่ด้วยขนดหาง ยังความกลัวให้เกิด แก่ชนชาวกาสี. [๖๙๓] นาคทั้งหลายได้ฟังคำของท้าวธตรฐแล้ว แปลงเพศเป็นหลายอย่าง พา กันเข้าไปยังพระนครพาราณสี แต่มิได้เบียดเบียนใครๆ เลย แผ่พังพาน ห้อยอยู่ที่บ้านเรือน ในสระน้ำ ที่ทางเดิน ที่ทาง ๔ แพร่ง บนยอดไม้ พวกสตรีเป็นอันมากได้เห็นนาคเหล่านั้น แผ่พังพานห้อยอยู่ตามที่ต่างๆ หายใจฟู่ๆ ก็พากันคร่ำครวญ ชาวเมืองพาราณสีมีความสะดุ้งกลัว เดือดร้อนก็พากันไปประชุมกอดอกร้องทุกข์ว่า ขอพระองค์จงทรงพระ- ราชทานพระราชธิดาแก่พญานาคเถิด พระเจ้าข้า. [๖๙๔] ท่านชื่ออะไร มีนัยน์ตาแดง อกผาย นั่งอยู่ท่ามกลางป่าอันเต็มไปด้วย ดอกไม้ สตรี ๑๐ คนเป็นใคร ทรงเครื่องประดับล้วนแต่ทองคำ นุ่งผ้า งาม ยืนเคารพอยู่ ท่านเป็นใคร มีแขนใหญ่ รุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางป่า เหมือนไฟอันลุกโชนด้วยเปรียง ท่านคงเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่ คนใดคนหนึ่ง เป็นยักษ์หรือเป็นนาคผู้มีอานุภาพมาก. [๖๙๕] เราเป็นนาคผู้มีฤทธิ์เดช ยากที่ใครๆ จะล่วงได้ ถ้าแม้เราโกรธแล้ว พึง ขบชนบทที่เจริญให้แหลกได้ด้วยเดช มารดาของเราชื่อสมุททชา บิดา ของเราชื่อว่าธตรฐ เราเป็นน้องของสุทัสสนะ คนทั้งหลายเรียกเราว่า ภูริทัต. [๖๙๖] ท่านเพ่งดูห้วงน้ำลึกวนอยู่ทุกเมื่อ น่ากลัวห้วงน้ำนั้นเป็นที่อยู่อันรุ่งเรือง ของเรา ลึกหลายร้อยชั่วบุรุษ ท่านอย่ากลัวเลย จงเข้าไปยังแม่น้ำยมุนา เป็นแม่น้ำมีสีเขียวไหลจากกลางป่า กึกก้องด้วยเสียงนกยูงและนกกระ- เรียน เป็นที่เกษมสำราญของผู้มีอาจารวัตร. [๖๙๗] ดูกรพราหมณ์ ท่านพร้อมด้วยบุตรและภรรยา ไปถึงนาคพิภพแล้ว เรา จะบูชาท่านด้วยกามทั้งหลาย ท่านจักอยู่เป็นสุข. [๖๙๘] แผ่นดินมีพื้นอันราบเรียบ ประกอบด้วยต้นกฤษณาเป็นอันมาก ดารดาษ ด้วยหมู่แมลงค่อมทอง มีหญ้าเขียวชะอุ่มงามอุดม หมู่ไม้อันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีที่สร้างไว้สวยงาม ระงมด้วยเสียงหงส์ มีดอกปทุมร่วงหล่น อยู่เกลื่อนกลาด มีปราสาท ๘ มุม มีเสาพันเสาอันขัดเกลาดีแล้วทุกเสา สำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์ เรืองจรูญด้วยเหล่านางนาคกัญญา พระองค์เป็น ผู้บังเกิดในวิมานทิพย์อันกว้างใหญ่ เป็นวิมานเกษมสำราญรื่นรมย์ มี สุขหาอันใดจะเปรียบปานมิได้ ด้วยบุญของพระองค์ พระองค์เห็นจะ ไม่ทรงหวังวิมานของพระอินทร์ เพราะฤทธิ์อันยิ่งใหญ่ไพบูลย์ของพระ- องค์นี้ ก็เหมือนของท้าวสักกะผู้รุ่งเรือง ฉะนั้น. [๖๙๙] อานุภาพของคนรับใช้ชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของท้าวสักกเทว- ราชผู้รุ่งเรือง ใครๆ ไม่พึงถึงแม้ด้วยใจ. [๗๐๐] เราปรารถนาวิมานของเทวดาทั้งหลาย ผู้ตั้งอยู่ในความสุขนั้น จึงไป รักษาอุโบสถอยู่บนจอมปลวก. [๗๐๑] ข้าพระองค์พร้อมด้วยบุตรเข้าไปสู่ป่าแสวงหาเนื้อ ญาติเหล่านั้นไม่รู้ว่า ข้าพระองค์ตายหรือเป็น ข้าพระองค์ขอทูลลาพระภูริทัตผู้เรืองยศ โอรส แห่งกษัตริย์แคว้นกาสี พระองค์ทรงอนุญาตแล้ว ข้าพระบาทก็จะได้ไป เยี่ยมญาติ. [๗๐๒] การที่ท่านได้มาอยู่ในสำนักของเรานี้ เป็นความพอใจของเราหนอ แต่ ว่ากามารมณ์เช่นนี้ เป็นของหาไม่ได้ง่ายในมนุษย์ ถ้าท่านไม่ปรารถนา จะอยู่ เราจะบูชาท่านด้วยกามารมณ์ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ท่านไปเยี่ยม ญาติได้โดยสวัสดี. [๗๐๓] ดูกรพราหมณ์ เมื่อท่านทรงทิพยมณีนี้อยู่ ย่อมได้ปศุสัตว์และบุตรทั้ง หลายตามปรารถนา ท่านจงถือเอาทิพยมณีไป ปราศจากโรคภัยเป็นสุข เถิด. [๗๐๔] ข้าแต่ภูริทัต พระดำรัสของพระองค์หาโทษมิได้ ข้าพระองค์ยินดียิ่งนัก ข้าพระองค์แก่แล้วจักบวช ไม่ปรารถนากามทั้งหลาย. [๗๐๕] ถ้าหากพรหมจรรย์มีการแตกหัก กิจที่ต้องทำด้วยโภคทรัพย์ทั้งหลายเกิด ขึ้น ท่านอย่าได้มีความหวั่นใจ ควรมาหาเรา เราจะให้ทรัพย์แก่ท่าน มากๆ. [๗๐๖] ข้าแต่พระภูริทัต พระดำรัสของพระองค์หาโทษมิได้ ข้าพระองค์ยินดียิ่ง นัก ข้าพระองค์จักกลับมาอีก ถ้าจักมีความต้องการ. [๗๐๗] พระภูริทัตตรัสดำรัสนี้แล้ว จึงใช้ให้นาคมาณพ ๔ ตนไปส่งว่า ท่าน ทั้งหลายจงมา เตรียมตัวพาพราหมณ์ไปส่งให้ถึงโดยเร็ว นาคมาณพ ๔ ตนที่ภูริทัตตรัสใช้ให้ไปส่ง ฟังรับสั่งของภูริทัต เตรียมตัวแล้ว พา พราหมณ์ไปส่งให้ถึงโดยเร็ว. [๗๐๘] แก้วมณีที่สมมติกันว่าเป็นมงคล เป็นของดี เป็นเครื่องปลื้มรื่นรมย์ใจ เกิดแต่หิน สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ที่ท่านถืออยู่นี้ใครได้มาไว้. [๗๐๙] แก้วมณีนี้ พวกนางนาคมาณวิกาประมาณพันหนึ่งล้วนมีตาแดง แวด- ล้อมอยู่โดยรอบในกาลวันนี้ เราเดินทางไปได้แก้วมณีนั้นมา. [๗๑๐] แก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้ ที่หามาได้ด้วยดี อันบุคคลเคารพบูชา ประดับ- ประดาเก็บรักษาไว้ด้วยดีทุกเมื่อ ยังประโยชน์ทั้งปวงให้สำเร็จได้ เมื่อ บุคคลปราศจากการระวังในการเก็บรักษา หรือในการประดับประดา แก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้ ที่บุคคลหามาได้โดยไม่แยบคาย ย่อมเป็นไป เพื่อความพินาศ คนผู้ไม่มีกุศลไม่ควรประดับแก้วมณีอันเป็นทิพย์นี้ เรา จักให้ทองคำร้อยแท่ง ขอท่านจงให้แก้วมณีนี้แก่เราเถิด. [๗๑๑] แก้วมณีของเรานี้ ไม่ควรแลกเปลี่ยนด้วยโคหรือรัตนะ เพราะแก้วมณี อันเกิดแต่หิน บริบูรณ์ด้วยลักษณะ เราจึงไม่ขาย. [๗๑๒] ถ้าท่านไม่แลกเปลี่ยนแก้วมณีด้วยโคหรือรัตนะ เมื่อเช่นนั้น ท่านจะ แลกเปลี่ยนแก้วมณีด้วยอะไร เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกความข้อนั้น แก่เรา. [๗๑๓] ผู้ใดบอกนาคใหญ่ผู้มีเดช ยากที่บุคคลจะล่วงเกินได้ เราจะให้แก้วมณี อันเกิดแต่หิน อันรุ่งเรืองด้วยรัศมี. [๗๑๔] ครุฑผู้ประเสริฐหรือไรหนอ แปลงเพศเป็นพราหมณ์มาแสวงหานาค ประสงค์จะนำไปเป็นอาหารของตน. [๗๑๕] ดูกรพราหมณ์ เรามิได้เป็นครุฑ เราไม่เคยเห็นครุฑ เราเป็นผู้สนใจด้วย งูพิษ ชนทั้งหลายรู้จักเราว่าเป็นหมองู. [๗๑๖] ท่านมีกำลังอะไร มีศิลปอะไร ท่านเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งผลอันพิเศษในอะไร จึงไม่ยำเกรงนาค. [๗๑๗] ครุฑมาบอกวิชาหมองูอย่างสูง แก่ฤาษีโกสิยโคตรผู้อยู่ในป่า ประพฤติ ตบะอยู่สิ้นกาลนาน เราเข้าไปหาฤาษีตนหนึ่งซึ่งนับเข้าในพวกฤาษีผู้ บำเพ็ญตนอาศัยอยู่ในระหว่างภูเขา ได้บำรุงท่านโดยเคารพ มิได้เกียจ- คร้านทั้งกลางคืนกลางวัน ในกาลนั้น ท่านบำเพ็ญวัตรและพรหมจรรย์ เป็นผู้มีโชค เมื่อได้สมาคมกับเรา จึงสอนมนต์ทิพย์ให้แก่เราด้วยความ รัก เราทรงไว้ซึ่งผลอันวิเศษในมนต์นั้น จึงไม่กลัวต่อนาค เราเป็น อาจารย์ของพวกหมอฆ่าพิษ ชนทั้งหลายรู้จักเราว่าอาลัมพายน์. [๗๑๘] เราทั้งหลายจงรับแก้วไว้สิ ดูกรพ่อโสมทัต เจ้าจงรู้ไว้ เราทั้งหลายอย่า ละสิริอันมาถึงตนด้วยท่อนไม้ตามชอบใจสิ. [๗๑๙] ข้าแต่พ่อผู้เป็นพราหมณ์ ภูริทัตนาคราชบูชาคุณพ่อผู้ไปถึงที่อยู่ของตน เพราะเหตุไร คุณพ่อจึงปรารถนาประทุษร้ายต่อผู้กระทำดีเพราะความหลง อย่างนี้ ถ้าคุณพ่อปรารถนาทรัพย์ ภูริทัตนาคราชก็คงจักให้ คุณพ่อไป ขอท่านเถิด ภูริทัตนาคราชคงจักให้ทรัพย์เป็นอันมากแก่คุณพ่อ. [๗๒๐] ดูกรโสมทัต การกินของที่ถึงมือ ถึงภาชนะ หรือที่ตั้งอยู่เบื้องหน้า เป็นความประเสริฐ ประโยชน์ที่เห็นประจักษ์ อย่าได้ล่วงเราไปเสียเลย. [๗๒๑] คนประทุษร้ายมิตร สละความเกื้อกูล จะต้องหมกไหม้อยู่ในนรกอัน ร้ายแรง แผ่นดินย่อมสูบผู้นั้น หรือเมื่อผู้นั้นมีชีวิตอยู่ก็ซูบซีด ถ้า คุณพ่อปรารถนาทรัพย์ ภูริทัตนาคราชก็คงจักให้ ผมเข้าใจว่า คุณพ่อ จักต้องได้ประสบเวรที่ตนทำไว้ในไม่ช้า. [๗๒๒] พราหมณ์ทั้งหลายบูชายัญแล้ว ย่อมบริสุทธิ์ได้ เราจักบูชามหายัญ ก็จัก พ้นจากบาปด้วยการบูชายัญอย่างนี้. [๗๒๓] เชิญเถิด ผมจะขอแยกไป ณ บัดนี้ วันนี้ผมจะไม่ขออยู่ร่วมกับคุณพ่อ จะไม่ขอเดินทางร่วมกับคุณพ่อผู้ทำกรรมหยาบอย่างนี้สักก้าวเดียว. [๗๒๔] โสมทัตผู้ได้ยินได้ฟังมามาก ครั้นกล่าวกะบิดา และประกาศกะเทวดา ทั้งหลายอย่างนี้แล้ว ก็หลีกไปจากที่นั้น [๗๒๕] ท่านจงจับเอานาคใหญ่นั่น จงส่งแก้วมณีนั้นมาให้เรา นาคใหญ่นั่นมี รัศมีดังสีแมลงค่อมทอง ศีรษะแดง ตัวปรากฏดังกองปุยนุ่น นอนอยู่ บนจอมปลวกนั่น ท่านจงจับเอาเถิดพราหมณ์. [๗๒๖] อาลัมพายน์เอาทิพยโอสถทาตัว และร่ายมนต์ทำการป้องกันตัวอย่างนี้ จึงสามารถจับพญานาคนั้นได้. [๗๒๗] เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นข้าพระองค์ผู้ให้สำเร็จ สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงมา เฝ้าแล้ว อินทรีย์ของพระแม่เจ้าไม่ผ่องใส พระพักตร์พระแม่เจ้าก็เกรียม ดำ เพราะทอดพระเนตรเห็นข้าพระองค์เช่นนี้ พระพักตร์พระแม่เจ้า เกรียมดำ เหมือนดอกบัวอยู่ในมือถูกขยี้ ฉะนั้น. [๗๒๘] ใครว่าล่วงเกินพระแม่เจ้าหรือ หรือพระแม่เจ้ามีเวทนาอะไร เพราะ ทอดพระเนตรเห็นข้าพระองค์ผู้มาเฝ้า พระพักตร์ของพระแม่เจ้าเกรียมดำ เพราะเหตุไร. [๗๒๙] พ่อสุทัสสนะลูกรักเอ๋ย แม่ได้ฝันเห็นล่วงมาเดือนหนึ่งแล้วว่า (มี) ชาย มาตัดแขนของแม่ดูเหมือนข้างขวา พาเอาไปทั้งที่เปื้อนเลือด เมื่อแม่ กำลังร้องไห้อยู่ ตั้งแต่แม่ได้ฝันเห็นแล้ว เจ้าจงรู้เถิดว่าแม่ไม่ได้ความสุข ทุกวันทุกคืน. [๗๓๐] แต่ก่อนนางกัญญาทั้งหลาย ผู้มีร่างกายอันสวยสดงดงาม ปกคลุมด้วย ตาข่ายทอง พากันบำเรอภูริทัตใด บัดนี้ภูริทัตนั้นย่อมไม่ปรากฏ แต่ ก่อนเสนาทั้งหลายผู้ถือดาบอันคมกล้า งามดังกรรณิการ์ พากันห้อม- ล้อมภูริทัตใด บัดนี้ภูริทัตนั้นย่อมไม่ปรากฏ เอาละเราจักไปยังนิเวศน์ แห่งภูริทัตเดี๋ยวนี้ จักไปเยี่ยมน้องของเจ้า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ ด้วยศีล. [๗๓๑] ภริยาทั้งหลายของภูริทัต เห็นพระมารดาของภูริทัตเสด็จมา ต่างพากัน ประคองแขนคร่ำครวญว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า หม่อมฉันทั้งหลายไม่ทราบ เกล้า ล่วงมาเดือนหนึ่งแล้วว่า ภูริทัตผู้เรืองยศ โอรสของพระแม่เจ้า สิ้นชีพเสียแล้วหรือว่ายังดำรงชนม์อยู่. [๗๓๒] เราไม่เห็นภูริทัต จักตรอมตรมด้วยทุกข์สิ้นกาลนาน ดังนางนกพลัดพราก จากลูกเห็นแต่รังเปล่า เราไม่เห็นภูริทัต จักตรอมตรมด้วยทุกข์สิ้น กาลนาน ดังนางหงส์ขาวพลัดพรากจากลูกอ่อน เราไม่เห็นภูริทัต จัก ตรอมตรมด้วยทุกข์สิ้นกาลนาน ดังนางนกจากพรากในเปือกตมอันไม่มี น้ำเป็นแน่ เราไม่เห็นภูริทัตจักตรอมตรมด้วยความโศก เปรียบเหมือน เบ้าของช่างทอง เกรียมไหม้ในภายใน ไม่ออกไปภายนอก ฉะนั้น. [๗๓๓] บุตรธิดาและชายาในนิเวศน์ของภูริทัต ล้มนอนระเนระนาด ดังต้นรัง อันลมฟาดหักลง ฉะนั้น. [๗๓๔] อริฏฐะและสุโภคะ ได้ฟังเสียงอันกึกก้องของบุตรธิดาและชายาของ ภูริทัตเหล่านั้นในนิเวศน์ของภูริทัต จึงวิ่งไปในระหว่าง ช่วยกันปลอบ มารดาว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า จงเบาพระทัยอย่าเศร้าโศกไปเลย เพราะว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมมีความตายและความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาอย่างนี้ การ ตายและการเกิดขึ้นนี้ เป็นความแปรของสัตว์โลก. [๗๓๕] ดูกรพ่อสุทัสสนะ ถึงแม้รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา ก็แต่ว่า แม่เป็นผู้อันความเศร้าโศกครอบงำแล้ว ถ้าเมื่อแม่ไม่ได้เห็นภูริทัตคืน วันนี้ เจ้าจงรู้ว่า แม่ไม่ได้เห็นภูริทัต เห็นจะต้องละชีวิตไปแน่. [๗๓๖] ข้าแต่พระแม่เจ้า จงเบาพระทัย อย่าเศร้าโศกไปเลย ลูกทั้ง ๓ จักเที่ยว แสวงหาภูริทัตไปตามทิศน้อยทิศใหญ่ ที่ภูเขา ซอกเขา บ้าน และ นิคมแล้วจักนำท่านพี่ภูริทัตมา พระแม่เจ้าจักได้ทรงเห็นท่านพี่ภูริทัตมา ภายใน ๗ วัน. [๗๓๗] นาคหลุดพ้นจากมือ ไปฟุบลงที่เท้าของท่านคุณพ่อ มันกัดเอากระมัง หนอ คุณพ่ออย่ากลัวเลย จงถึงความสุขเถิด. [๗๓๘] นาคตัวนี้ ไม่สามารถจะทำความทุกข์อะไรๆ แก่เราเลย หมองูมีอยู่ เท่าใด ก็ไม่ดียิ่งไปกว่าเรา. [๗๓๙] คนเซอะอะไรหนอ แปลงเพศเป็นพราหมณ์มาท้ารบในที่ประชุมชน ขอ บริษัทจงฟังเรา. [๗๔๐] ดูกรหมองู ท่านจงต่อสู้กับเราด้วยนาค เราจักต่อสู้กับท่านด้วยลูกเขียด ในการรบของเรานั้น เราทั้งสองจงมาพนันกันด้วยเดิมพัน ๕๐๐๐. [๗๔๑] ดูกรมาณพ เราเท่านั้นเป็นคนมั่งคั่งด้วยทรัพย์ ท่านเป็นคนจนใครจะ เป็นคนรับประกันท่าน และอะไรเป็นเดิมพันของท่าน เดิมพันของเรามี และคนรับประกันเช่นนั้นก็มี ในการรบของเราทั้งสอง เราทั้งสองมา พนันกันด้วยเดิมพัน ๕๐๐๐. [๗๔๒] ดูกรมหาบพิตรผู้ทรงเกียรติ เชิญสดับคำของอาตมภาพ ขอความเจริญจง มีแก่มหาบพิตร ขอมหาบพิตรทรงรับประกันทรัพย์ ๕๐๐๐ ของอาตมภาพ เถิด. [๗๔๓] ข้าแต่ดาบส หนี้เป็นของบิดา หรือว่าเป็นหนี้ที่ท่านทำเอง เพราะเหตุไร ท่านจึงขอทรัพย์มากมายอย่างนี้ต่อข้าพเจ้า. [๗๔๔] เพราะนายอาลัมพายน์ ปรารถนาจะต่อสู้กับอาตมภาพด้วยนาค อาตมภาพ จักให้ลูกเขียดกัดนายอาลัมพายน์ ดูกรมหาบพิตรผู้ผดุงรัฐ ขอเชิญ พระองค์ผู้มีหมู่ทหารดาบเป็นกองทัพเสด็จไปทอดพระเนตรนาคในวันนี้. [๗๔๕] ข้าแต่ดาบส เราไม่ได้ดูหมิ่นท่านโดยทางศิลปศาสตร์เลย ท่านมัวเมา ด้วยศิลปศาสตร์มากไป ไม่ยำเกรงนาค. [๗๔๖] ดูกรพราหมณ์ แม้อาตมาก็ไม่ได้ดูหมิ่นท่านในทางศิลปศาสตร์ แต่ว่า ท่านล่อลวงประชาชนนักด้วยนาคอันไม่มีพิษ ถ้าชนพึงรู้ว่านาคของท่าน ไม่มีพิษ เหมือนอย่างอาตมารู้แล้วท่านก็จะไม่ได้แกลบสักกำมือหนึ่งเลย จักได้ทรัพย์แต่ที่ไหนเล่าหมองู. [๗๔๗] ท่านผู้นุ่งหนังเสือพร้อมทั้งเล็บ เกล้าชฎารุ่มร่าม เหมือนคนเซอะ เข้ามาในประชุมชน ดูหมิ่นนาคเช่นนี้ว่าไม่มีพิษ ท่านเข้ามาใกล้แล้วก็ จะพึงรู้ว่านาคนั้นเต็มไปด้วยเดช เหมือนของนาคอันสูงสุด ข้าพเจ้าเข้า ใจว่านาคตัวนี้จักทำท่านให้แหลกเป็นเหมือนเถ้าไปโดยฉับพลัน. [๗๔๘] พิษของงูเรือน งูปลา งูเขียว พึงมี แต่พิษของนาคมีศีรษะแดง ไม่มี เลยทีเดียว. [๗๔๙] ข้าพเจ้าได้ฟังคำของพระอรหันต์ทั้งหลายผู้สำรวม ผู้มีตบะมาว่า ทายก ทั้งหลายให้ทานในโลกนี้แล้วย่อมไปสู่สวรรค์ ท่านมีชีวิตอยู่ จงให้ทาน เสียเถิด ถ้าท่านมีสิ่งของที่ควรจะให้ นาคนี้มีฤทธิ์มาก มีเดช ยากที่ ใครๆ จะก้าวล่วงได้ เราจะให้นาคนั้นกัดท่าน มันก็จักทำท่านให้เป็น เถ้าไป. [๗๕๐] ดูกรสหาย แม้เราก็ได้ฟังคำของพระอรหันต์ทั้งหลายผู้สำรวม ผู้มีตบะมา ว่า ทายกทั้งหลายให้ทานในโลกนี้แล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์ ท่านนั่นแหละ เมื่อมีชีวิตอยู่ จงให้ทานเสีย ถ้าท่านมีสิ่งของที่ควรจะให้ ลูกเขียดชื่อ ว่าอัจจิมุขีนี้ เต็มด้วยเดชเหมือนของนาคอันสูงสุด เราจักให้ลูกเขียดนั้น กัดท่าน ลูกเขียดนั้นจักทำท่านให้เป็นเถ้าไป นางเป็นธิดาของท้าวธตรฐ เป็นน้องสาวต่างมารดาของเรา นางอัจจิมุขีผู้เต็มไปด้วยเดช เหมือน ของนาคอันสูงสุดนั้นจงกัดท่าน. [๗๕๑] ดูกรมหาบพิตร ถ้าอาตมภาพจักหยดพิษลงบนแผ่นดิน มหาบพิตรจง ทรงทราบเถิด ต้นหญ้าลดาวัลย์ และต้นยาทั้งหลาย พึงเหี่ยวแห้งไป โดยไม่ต้องสงสัย. [๗๕๒] ดูกรมหาบพิตร ถ้าอาตมภาพจักขว้างพิษขึ้นไปบนอากาศ มหาบพิตรจง ทราบเถิดว่า ฝนและน้ำค้างจะไม่ตกตลอด ๗ ปี [๗๕๓] ดูกรมหาบพิตร ถ้าอาตมภาพจักหยดพิษลงในน้ำ มหาบพิตรจงทราบ เถิด สัตว์น้ำมีประมาณเท่าใด ทั้งปลาและเต่าก็พึงตายหมด. [๗๕๔] น้ำที่โลกสมมติว่าสามารถลอยบาปได้ มีอยู่ที่ท่าปยาคะ ภูตผีอะไรฉุดเรา ลงสู่แม่น้ำยมุนาอันลึก. [๗๕๕] นาคราชใด เป็นใหญ่ในโลก เรืองยศ พันเมืองพาราณสีไว้โดยรอบ เราเป็นลูกของนาคราชผู้ประเสริฐนั้น ดูกรพราหมณ์ นาคทั้งหลายเรียก เราว่า สุโภคะ. [๗๕๖] ถ้าท่านเป็นโอรสของนาคราชผู้ประเสริฐ ผู้เป็นพระราชาของชนชาวกาสี เป็นอธิบดีอมร พระชนกของท่านเป็นคนใหญ่คนโตผู้หนึ่ง และพระชนนี ของท่าน ก็ไม่มีใครเทียบเท่าในหมู่มนุษย์ ผู้มีอานุภาพมากเช่นท่าน ย่อมไม่สมควรจะฉุดแม้คนเพียงเป็นทาสของพราหมณ์ให้จมน้ำเลย. [๗๕๗] เจ้าแอบต้นไม้ยิงเนื้อซึ่งมาเพื่อจะดื่มน้ำ เนื้อถูกยิงแล้วรู้สึกได้ด้วยกำลัง ลูกศร จึงวิ่งหนีไปไกล เจ้าไปพบมันล้มอยู่ในป่าใหญ่ จึงแล่เนื้อหาบ มาถึงต้นไทรในเวลาเย็น อันกึกก้องไปด้วยเสียงร้องของนกแขกเต้า และนกสาลิกา มีใบเหลืองเกลื่อนกล่นไปด้วยย่านไทร มีฝูงนกดุเหว่า ร้องอยู่ระงม น่ารื่นรมย์ใจ ภูมิภาคเขียวไปด้วยหญ้าแพรกอยู่เป็นนิตย์ พี่ชายของเราเป็นผู้รุ่งเรืองไปด้วยฤทธิ์และยศ มีอานุภาพมากอัน นางนาคกัญญาทั้งหลายแวดล้อม ปรากฏแก่เจ้าผู้อยู่ที่ต้นไทรนั้น ท่าน พาเจ้าไปเลี้ยงดู บำรุงบำเรอด้วยสิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่าง เป็นคนประทุษร้าย ต่อท่านผู้ไม่ประทุษร้าย เวรนั้นมาถึงเจ้าในที่นี้แล้ว เจ้าจงเหยียดคอออก เร็วๆ เถิด เราจักไม่ไว้ชีวิตแก่เจ้า เราระลึกถึงเวรที่เจ้าทำต่อพี่เรา จัก ตัดศีรษะเจ้าเสีย. [๗๕๘] พราหมณ์ผู้ทรงเวทย์ ๑ ผู้ประกอบในการขอ ๑ ผู้บูชาไฟ ๑ ด้วยฐานะ ๓ ประการนี้ พราหมณ์เป็นผู้ที่ใครๆ ไม่ควรจะฆ่า. [๗๕๙] เมืองของท้าวธตรฐอยู่ภายใต้แม่น้ำยมุนา จดหิมวันตบรรพต ซึ่งตั้งอยู่ ไม่ไกลแม่น้ำยมุนาล้วนแล้วไปด้วยทองคำงามรุ่งเรือง พี่น้องร่วมท้อง ของเรา ล้วนเป็นคนมีชื่อลือชา อยู่ในเมืองนั้น ดูกรพราหมณ์ พี่น้อง ของเราเหล่านั้นจักว่าอย่างไร เจ้าจักต้องเป็นอย่างนั้น. [๗๖๐] ข้าแต่พี่สุโภคะ ยัญและเวทย์ทั้งหลายในโลกที่พวกพราหมณ์ประกอบ ขึ้น ไม่ใช่เป็นของเล็กน้อย เพราะฉะนั้น ผู้ติเตียนพราหมณ์ซึ่งใครๆ ไม่ควรติเตียน ชื่อว่าย่อมละทิ้งทรัพย์ เครื่องปลื้มใจและธรรมของ สัตบุรุษเสีย. [๗๖๑] พวกพราหมณ์ถือการทรงไตรเพท พวกกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน พวก แพศย์ยึดไถนา และพวกศูทรยึดการบำเรอวรรณะทั้ง ๔ นี้ เข้าถึงการ งานตามที่อ้างมาเฉพาะอย่าง ๆ นั้นกล่าวกันว่า มหาพรหมผู้มีอำนาจจัดไว้. [๗๖๒] พระพรหมผู้สร้างโลก ท้าววรุณ ท้าวกุเวร ท้าวโสมะ พระยายม พระจันทร์ พระวายุ พระอาทิตย์ แม้ท่านเหล่านี้ ก็ล้วนบูชายัญมามาก แล้ว และบูชาสิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่างแก่พราหมณ์ผู้ทรงเวทย์ ท้าวอรชุน และท้าวภีมเสน มีกำลังมาก มีแขนนับพัน ไม่มีใครเสมอในแผ่นดิน ยกธนูได้ ๕๐๐ คัน ก็ได้บูชาไฟมาแต่ก่อน. [๗๖๓] ดูกรพี่สุโภคะ ผู้ใดเลี้ยงพราหมณ์ทั้งหลายมานานด้วยข้าว และน้ำตาม กำลัง ผู้นั้นมีจิตเลื่อมใสอนุโมทนาอยู่ ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง. [๗๖๔] พระเจ้ามุจลินท์สามารถบูชาเทวดาคือไฟ ผู้กินมาก มีสีไม่ทราม ให้ อิ่มหนำด้วยเนยใส ทรงบูชายัญวิธีแก่เทวดา คือไฟผู้ประเสริฐแล้วได้ ไปบังเกิดในทิพยคติ. [๗๖๕] พระเจ้าทุทีป มีอานุภาพมาก มีอายุยืน ๑๐๐๐ ปี มีพระรูปงามน่าดูยิ่ง นัก ทรงละแว่นแคว้นอันไม่มีที่สุดพร้อมทั้งเสนาเสด็จออกผนวชแล้ว ได้เสด็จสู่สวรรค์. [๗๖๖] ข้าแต่พี่สุโภคะ พระเจ้าสาครราช ทรงปราบแผ่นดินอันมีสาครเป็น ที่สุด รับสั่งให้ตั้งเสายัญอันงานยิ่ง ล้วนแล้วด้วยทอง ทรงบูชาไฟ แล้วได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง แม่น้ำคงคา และมหาสมุทร เป็นที่สั่ง สมนมส้ม ย่อมเป็นไปด้วยอานุภาพของผู้ใด ผู้นั้น คือ พระเจ้า- อังคโลมบาท ทรงบำเรอไฟแล้วเสด็จไปเกิดในพระนครของท้าว สหัสสนัยน์. [๗๖๗] เทวดาผู้ประเสริฐมีฤทธิ์มาก มียศ เป็นเสนาบดีของท้าววาสวะใน ไตรทิพย์ กำจัดมลทินด้วยโสมยาควิธี (บูชาด้วยการดื่มน้ำโสม) ได้ เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง. [๗๖๘] เทวดาผู้ประเสริฐ มีฤทธิ์ เรืองยศ สร้างโลกนี้โลกหน้า แม่น้ำภาคีรถี ขุนเขาหิมวันต์และเขาวิชฌะ ได้บูชาไฟมาก่อน ภูเขามาลาคิริ ขุนเขา หิมวันต์ ภูเขาวิชฌะ ภูเขาสุทัศนะ ภูเขานิสภะ ภูเขากากเวรุ ภูเขาเหล่านี้ และภูเขาใหญ่อื่นๆ กล่าวกันว่าพวกพราหมณ์ผู้บูชายัญได้ ก่อสร้างทำไว้. [๗๖๙] ชนทั้งหลายเรียกพราหมณ์ผู้ทรงเวทย์ ผู้เข้าถึงคุณแห่งมนต์ ผู้มีตบะ ในโลกนี้ว่า ผู้ประกอบในการขอ มหาสมุทรซัดท่วมพราหมณ์นั้น ผู้ กำลังตระเตรียมน้ำอยู่ที่ฝั่งมหาสมุทร เพราะเหตุนั้น น้ำในมหาสมุทร จึงดื่มไม่ได้. [๗๗๐] วัตถุที่ควรบูชา คือพวกพราหมณ์เป็นอันมากมีอยู่ในแผ่นดินของ ท้าววาสวะ พราหมณ์ทั้งหลายมีอยู่ในทิศบูรพา ทิศปัศจิมทิศ ทักษิณ และทิศอุดร ย่อมยังปีติและโสมนัสให้เกิด. [๗๗๑] ดูกรพ่ออริฏฐะ ความกาลีคือความปราชัยของนักปราชญ์ทั้งหลาย กลับ เป็นความมีชัยของคนโง่เขลาผู้ทรงเวทย์ ไตรเพทเป็นเหมือนอาการของ พยับแดด เพราะเป็นของไม่เห็นเสมอไป มีคุณทางหลอกลวง พาเอา คนมีปัญญาไปไม่ได้ ไตรเพทมิได้มีเพื่อป้องกันคนผู้ประทุษร้ายมิตร ผู้ ล้างผลาญความเจริญเหมือนไฟที่คนบำเรอแล้ว ย่อมป้องกันคนโทสจริต ทำกรรมชั่วไม่ได้ ถ้าคนทั้งหลายจะเอาไม้ที่มีอยู่ในโลกทั้งหมด พร้อม ทั้งทรัพย์สมบัติของตน คลุกกับหญ้าให้ไฟเผา ไฟอันมีเดชไม่มีใคร เทียมเผาสิ่งนั้นหมดก็ไม่อิ่ม ใครจะพึงทำให้ไฟซึ่งรู้รสสองอย่างให้อิ่มได้ นมสดแปรไปได้เป็นธรรมดา คือ แปรเป็นนมส้ม แล้วเป็นเนยข้น ฉันใด ไฟก็มีความแปรเป็นธรรมดา ฉันนั้น ไฟประกอบด้วยความเพียร (ในการสีไฟ) จึงจะเกิดได้ ไม่เคยได้เห็นไฟเข้าไปอยู่ในไม้แห้ง และ ไม้สด คนสีไฟไม่สี ไฟก็ไม่เกิด ไฟย่อมไม่เกิดเพราะไม่มีคนทำให้เกิด ถ้าแหละไฟพึงอยู่ภายในไม้แห้งและไม้สด ป่าทั้งหมดในโลกก็จะพึงแห้ง ไป และไม้แห้งก็จะพึงลุกโพลง ถ้าคนทำบุญได้โดยเอาไม้และหญ้าให้ ไฟกิน คนเผาถ่าน คนหุงเกลือ พ่อครัว และคนเผาศพ ก็พึงทำบุญได้ ถ้าแม้พราหมณ์เหล่านี้ทำบุญได้เพราะการเลี้ยงไฟ เพราะเรียนมนต์ เพราะเลี้ยงไฟให้อิ่มหนำ ในโลกนี้ใครๆ ผู้เอาของให้ไฟกินจะไม่ชื่อว่า ได้ทำบุญอย่างไรเล่า เพราะเหตุอย่างไรเล่า เพราะไฟเป็นผู้อันโลกยำเกรง รู้รสสองอย่าง พึงกินได้มากทั้งของไม่มีกลิ่นอันไม่น่าฟูใจ คนเป็น อันมากไม่ชอบ พวกมนุษย์ละเว้น และเป็นของไม่ประเสริฐ คน บางพวกนับถือไฟเป็นเทวดา ส่วนพวกมิลักขุนับถือน้ำเป็นเทวดา ทั้งหมดนี้พูดผิด ไฟและน้ำไม่ใช่เทพเจ้าตนใดตนหนึ่ง โลกบำเรอไฟ ซึ่งไม่มีอินทรีย์ ไม่มีกายที่จะรู้สึกได้ ส่องแสงสว่าง เป็นเครื่องทำการ งานของประชาชน เมื่อยังทำบาปกรรมอยู่ จะพึงไปสุคติได้อย่างไร พวกพราหมณ์ผู้ต้องการเลี้ยงชีวิตในโลกนี้กล่าวว่า พระพรหมครอบงำ ได้ทั้งหมด และว่าพระพรหมบำเรอไฟ พระพรหมมีอานุภาพกว่าทุกสิ่ง และมีอำนาจไม่มีใครสร้าง กลับไปไหว้ไฟที่ตนสร้างเพื่อประโยชน์อะไร คำของพวกพราหมณ์น่าหัวเราะเยาะ ไม่ควรแก่การเพ่งเล็ง ไม่เป็นความ จริง พวกพราหมณ์ในปางก่อนก่อขึ้นไว้ เพราะเหตุแห่งสักการะ พราหมณ์เหล่านั้น เมื่อลาภและสักการะเกิดขึ้น จึงร้อยกรองยัญพิธีว่า เป็นธรรมสงบระงับ ด้วยการฆ่าสัตว์บูชายัญ พวกพราหมณ์ถือการทรง ไตรเพท พวกกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน พวกแพศย์ยึดการไถนา และ พวกศูทรยึดการบำเรอ วรรณะทั้ง ๔ นี้ เข้าถึงการงานตามที่อ้างมา เฉพาะอย่าง ๆ นั้น กล่าวกันว่า มหาพรหมผู้มีอำนาจจัดไว้ถ้าคำนี้พึง เป็นคำจริงเหมือนดังที่พวกพราหมณ์กล่าวไว้ คนที่ไม่ใช่กษัตริย์ไม่พึงได้ ราชสมบัติ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่พึงศึกษามนต์ คนนอกจากแพศย์ไม่ พึงทำการไถเลย และพวกศูทรก็ไม่พึงพ้นจากการรับใช้ผู้อื่น เพราะคำนี้ เป็นคำไม่จริง เป็นคำเท็จ พวกคนหาเลี้ยงท้องกล่าวไว้ คนไม่มีปัญญา หลงเชื่อ บัณฑิตทั้งหลายย่อมเห็นด้วยตนเอง เพราะพวกกษัตริย์ ย่อมเก็บส่วนจากพวกแพศย์ พวกพราหมณ์ถือศาตราเที่ยวฆ่าสัตว์ เพราะ เหตุไร พระพรหมจึงไม่ทำโลกอันแตกต่างกันเช่นนั้นให้ตรงเสีย ถ้า แหละพระพรหมเป็นใหญ่ เป็นผู้เจริญในโลกทั้งปวง เป็นเจ้าชีวิตของ หมู่สัตว์ ทำไมจึงจัดโลกทั้งปวงให้มีความทุกข์ ทำไมจึงไม่ทำโลกทั้งปวง ให้มีความสุข ถ้าแหละพรหมนั้นเป็นใหญ่ เป็นผู้เจริญในโลกทั้งปวง เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ เหตุไรจึงทำโลกโดยไม่เป็นธรรม คือ มารยา และเจรจาคำเท็จ มัวเมา ถ้าแหละพระพรหมนั้นเป็นใหญ่ เป็นผู้เจริญ ในโลกทั้งปวง เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ ก็ชื่อว่าเป็นเจ้าชีวิตอยุติธรรม เมื่อธรรมมีอยู่ พรหมนั้นก็จัดโลกไม่เที่ยงธรรม ตั๊กแตน ผีเสื้อ งู แมลงภู่ หนอน และแมลงวัน ใครฆ่าแล้วย่อมบริสุทธิ์ ธรรมเหล่านี้ ไม่ใช่ของพระอริยะ เป็นธรรมผิดๆ ของชาวกัมโพชรัฐเป็นอันมาก. [๗๗๒] ถ้าแหละคนฆ่าเขาแล้วย่อมบริสุทธิ์ และผู้ถูกฆ่าย่อมเข้าถึงแดนสวรรค์ พวกพราหมณ์ก็พึงฆ่าพวกพราหมณ์ด้วยกันเสียซิ หรือพึงฆ่าพวกที่หลง เชื่อถ้อยคำ ของพราหมณ์ด้วยกันเสียซิ พวกเนื้อ ปศุสัตว์และโคตัว ไหนๆ ไม่ได้อ้อนวอนเพื่อให้ฆ่าตนเลย ล้วนแต่ดิ้นรนต้องการมีชีวิตอยู่ ในโลกนี้ ชนทั้งหลายย่อมนำเอาสัตว์และปศุสัตว์เข้าผูกที่เสายัญ พวก คนพาลย่อมยื่นหน้าเข้าไปที่เสาบูชายัญเป็นที่ผูกสัตว์ ด้วยการพรรณนา ต่างๆ ว่า เสายัญนี้จะให้สิ่งที่น่าใคร่แก่ท่านในโลกหน้า จะเป็นของ ยั่งยืนในสัมปรายภพ ถ้าว่าบุคคลพึงได้แก้วมณี สังข์ มุกดา ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน ทองที่เสายัญ ในไม้แห้งและไม้สดไซร้ อนึ่ง เสายัญ จะพึงให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงในไตรทิพย์ได้ พราหมณ์เท่านั้นพึงบูชายัญ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ก็จะไม่พึงให้พราหมณ์บูชายัญอะไรๆ เลย แก้วมณี สังข์ มุกดา ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน ทอง จักมีที่เสายัญ ที่ไม้แห้ง ที่ไม้สดที่ไหน เสายัญจะพึงให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงในไตรทิพย์ที่ไหน พราหมณ์เหล่านี้เป็นคนโอ้อวด หยาบช้า โง่เขลา โลภจัด ยื่นหน้า เข้าไปด้วยการพรรณนาต่างๆ ว่า จงถือเอาไฟมา และจงให้ทรัพย์แก่ เรา แต่นั้นท่านให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงแล้ว จักมีความสุข พวกที่โกนผม โกนหนวดและตัดเล็บพาพระราชา หรือมหาอำมาตย์เข้าไปยังโรงบูชาไฟ ยื่นหน้าเข้าไปด้วยการพรรณนาต่างๆ ย่อมถือเอาทรัพย์ด้วยเวท พวก พราหมณ์ผู้โกหก พอหลอกลวงได้คนหนึ่ง ก็มาประชุมกินกันเป็นอัน มากเหมือนฝูงกาตอมนกเค้า หลอกเอาจนเกลี้ยงแล้ว เก็บไว้ที่บริเวณ บูชายัญ พวกพราหมณ์ลวงผู้นั้นได้คนหนึ่งอย่างนี้แล้ว ก็พากันมาเป็น อันมาก ใช้ความพยายามล่อหลอกพรรณนา ด้วยสิ่งที่ไม่แลเห็นปล้น เอาทรัพย์ที่แลเห็นไป เหมือนพวกราชบุรุษ ที่พระราชาสอนให้เก็บส่วย เก็บเอาทรัพย์ของพระราชาไป ฉะนั้น ดูกรอริฏฐะ พราหมณ์เช่นนั้น เป็นเหมือนโจร ไม่ใช่สัตบุรุษเป็นผู้ควรจะฆ่าเสีย แต่ไม่มีใครฆ่าในโลก พวกพราหมณ์กล่าวว่า ไม้ทองหลางเป็นแขนขวาของพระอินทร์ จึงตัด เอาไม้ทองหลางมาใช้ในยัญนี้ ถ้าคำนั้นเป็นคำจริง พระอินทร์ก็แขนขาด ทำไมพระอินทร์จึงชนะพวกอสูรด้วยกำลังแขนนั้นได้ คำนั้นเป็นคำเท็จ พระอินทร์ยังมีแขนพร้อม เป็นเทวดาชั้นดีเลิศ ไม่มีใครฆ่าได้ กำจัด อสูรได้ มนต์ของพราหมณ์เหล่านี้เหลวเปล่า หลอกลวงกันให้เห็น ได้เฉพาะในโลกนี้ ภูเขามาลาคิรี ขุนเขาหิมวันต์ ภูเขาวิชฌะ ภูเขา- สุทัศน์ ภูเขานิสภะ ภูเขากากเวรุ ภูเขาเหล่านี้และภูเขาใหญ่อื่นๆ ที่กล่าวกันว่า พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญก่อสร้างไว้ ที่กล่าวกันว่าพวก พราหมณ์ผู้บูชายัญเอาอิฐเช่นใดมาสร้างภูเขา อิฐเช่นนั้นก็ไม่ใช่ธรรม- ชาติของภูเขา ภูเขาเป็นอย่างอื่น ไม่หวั่นไหว เห็นได้ชัดๆ ว่าเป็นหิน ไม่ใช่อิฐเป็นหินมานมนาน เหล็กและโลหะย่อมไม่เกิดในอิฐ ที่พวก พราหมณ์สรรเสริญยัญกล่าวไว้ว่า ผู้บูชายัญก่อสร้างไว้ ชนทั้งหลายเรียก พราหมณ์ผู้ทรงเวท ผู้เข้าถึงคุณแห่งมนต์ ผู้มีตบะในโลกนี้ว่า ผู้ประกอบ ในการขอ มหาสมุทรซัดท่วมพราหมณ์นั้นผู้กำลังตระเตรียมน้ำอยู่ที่ฝั่ง มหาสมุทร เพราะเหตุนั้น น้ำในมหาสมุทรจึงดื่มไม่ได้ แม่น้ำพัดเอา พราหมณ์ผู้เรียนเวท ทรงมนต์ ไปเกินกว่าพัน เหตุไรน้ำในแม่น้ำจึงมี รสไม่เสีย มหาสมุทรเท่านั้นดื่มไม่ได้ บ่อน้ำทั้งหลายในมนุษยโลกนี้ ที่ เขาขุดไว้เกิดเป็นน้ำเค็มก็มี แต่ไม่ใช่เค็มเพราะท่วมพราหมณ์ตาย น้ำ ในบ่อเหล่านั้นดื่มไม่ได้ เป็นน้ำรู้รสสองอย่าง ครั้นครั้งดึกดำบรรพ์ตั้งแต่ ปฐมกัป ใครเป็นภรรยาใคร ใครได้ให้มนุษย์เกิดขึ้นก่อน โดยธรรม แม้นั้นใครๆ ไม่เลวไปกว่าใคร ท่านกล่าวจำแนกส่วนไว้อย่างนี้ แม้ ลูกคนจัณฑาลก็พึงเรียนเวท สวดมนต์ได้ (ถ้า) เป็นคนฉลาดมีความคิด หัวของเขาก็ไม่พึงแตกเจ็ดเสี่ยง มนต์เหล่านี้พวกพรหมสร้างไว้เพื่อฆ่า ตน เป็นการสร้างแต่ปาก เป็นการสร้างยึดถือไว้ด้วยความโลภ เปลื้อง ได้ยาก เข้าถึงคลองด้วยคำของพวกพราหมณ์ผู้แต่งกาพย์กลอน จิตของ พวกคนโง่ ยังหลงในทางลุ่มๆ ดอนๆ คนไม่มีปัญญาเชื่อเอาจริงจัง ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง มีกำลังอย่างลูกผู้ชาย พราหมณ์ไม่มี กำลังเช่นนั้นเลย ความเป็นมนุษย์ของพราหมณ์เหล่านั้น พึงเห็นเหมือน ของโค ชาติของพราหมณ์เหล่านั้นเท่านั้นไม่มีใครเสมอ สิ่งอื่นๆ เสมอกันหมด ถ้าแหละพระราชาทรงชำนะหมู่ศัตรูได้โดยลำพังพระองค์ เอง ประชาราษฎร์ของพระราชานั้นพึงมีสุขอยู่เสมอ มนต์ของกษัตริย์ และไตรเพทเหล่านี้ มีความหมายเสมอกัน ถ้าไม่วินิจฉัยความแห่งมนต์ และไตรเพทนั้นก็ไม่รู้เหมือนทางที่น้ำท่วม มนต์ของกษัตริย์และไตรเพท เหล่านี้มีความหมายเสมอกัน ลาภ ไม่มีลาภ ยศ และไม่มียศ ทั้งหมด เทียว เป็นธรรมดาของวรรณทั้ง ๔ นั้น พวกคฤหบดีใช้คนจำนวนมาก ให้ทำการงานในแผ่นดิน เพราะเหตุแห่งทรัพย์และข้าวเปลือก ฉันใด แม้พวกพราหมณ์ผู้ทรงไตรเพทก็ฉันนั้น ย่อมใช้คนเป็นจำนวนมากให้ ทำการงานในแผ่นดิน ในวันนี้ พราหมณ์เหล่านั้นเสมอกันกับคฤหบดี มีความขวนขวายประกอบในกามคุณเป็นนิตย์ ใช้คนเป็นจำนวนมากให้ ทำการงานในแผ่นดินเหมือนกัน พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้รู้รสสองอย่าง หาปัญญามิได้. [๗๗๓] กระบวนกลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์ และมโหรทึกของใคร มา ข้างหน้า ทำให้พระราชาจอมทัพทรงหรรษา ใครมีสีหน้าสุกใสด้วยแผ่น ทองคำอันหนา มีพรรณดังสายฟ้า ชันษายังหนุ่มแน่น สอดสวมแล่งธนู รุ่งเรืองด้วยสิริมาอยู่นั่นเป็นใคร ใครมีพักตร์ผ่องใสเพียงดังทอง เหมือน ถ่านไฟไม้ตะเคียนซึ่งลุกโชนอยู่ที่ปากเบ้า รุ่งเรืองด้วยสิริมาอยู่ ใครนั่น มีฉัตรทองชมพูนุทมีซี่น่ารื่นรมย์ใจสำหรับกันรัศมีพระอาทิตย์ รุ่งเรือง ด้วยสิริมาอยู่ ใครนั่นมีปัญญาประเสริฐ มีพัดวาลวิชนีอย่างดีเยี่ยม อัน คนใช้ประคอง ณ เบื้องบนเศียรทั้งสองข้าง คนทั้งหลายถือกำหางนกยูง อันวิจิตรอ่อนสลวย มีด้ามล้วนแล้วด้วยทองและแก้วมณี จรลีมาทั้ง สองข้าง ข้างหน้าของใคร กุณฑลอันกลมเกลี้ยง มีรัศมีดังสีถ่านไม้ ตะเคียนซึ่งลุกโชนอยู่ที่ปากเบ้า งดงามอยู่ทั้งสองข้าง ข้างหน้าของใคร เส้นผมของใครต้องลมอยู่ไหวๆ ปลายสนิท ละเอียดดำ งามจดนลาต ดังสายฟ้าพุ่งขึ้นจากท้องฟ้า ใครมีเนตรซ้ายขวากว้างและใหญ่ งาม มี พักตร์ผ่องใส ดังคันฉ่องทอง ใครมีโอฐสะอาดเหมือนสังข์อันขาวผ่อง เมื่อเจรจา (แลเห็น) ฟันขาวสะอาดงามดังดอกมณฑารพตูม ใครมีมือ และเท้าทั้งสองมีสีเสมอด้วยน้ำครั่ง ตั้งอยู่ในที่สบาย มีริมฝีปากเปล่ง- ปลั่งดั่งผลมะพลับ งามดังดวงอาทิตย์ ใครนั่นมีเครื่องปกคลุมขาวสะอาด ดังหนึ่งต้นสาละใหญ่ดอกสะพรั่งข้างเขาหิมวันต์ในฤดูหิมะตก งามปาน ดังพระอินทร์อันได้ชัยชนะ ใครนั่นนั่งอยู่ท่ามกลางบริษัท คล้องพระ- แสงขรรค์คร่ำทองวิจิตรด้วยด้ามแก้วมณีที่อังสา ใครนั่นสวมสุวรรณ ปาทุกาอันวิจิตร เย็นเรียบร้อย สำเร็จเป็นอันดี ข้าพเจ้าขอนอบน้อม ต่อผู้แสวงหาคุณอันใหญ่. [๗๗๔] ผู้ที่มาเหล่านี้ เป็นนาคที่มีฤทธิ์ เรืองยศ เป็นลูกแห่งท้าวธตรฐ เกิด แต่นางสมุททชา นาคเหล่านี้มีฤทธิ์มาก.
จบ ภูริทัตชาดกที่ ๖
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ บรรทัดที่ ๔๓๒๘-๔๗๖๐ หน้าที่ ๑๖๗-๑๘๓. https://84000.org/tipitaka/atita10/v.php?B=28&A=4328&Z=4760&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/atita10/m_siri.php?B=28&siri=18              ศึกษาอรรถกถาชาดกนี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=687              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [687-774] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=28&item=687&items=88              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=44&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- [687-774] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=28&item=687&items=88              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=44&A=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja543/en/cowell-rouse

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :