ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1014 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1021 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1028 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา อัฏฐิเสนชาดก
ว่าด้วย การขอ

               พระศาสดาทรงอาศัยเมืองอาฬาวี เสด็จประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ ทรงปรารภกุฏิการสิกขาบท จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า เย เม อหํ น ชานามิ ดังนี้.
               เรื่องปัจจุบันเป็นเช่นกับที่กล่าวมาแล้วใน มณิกัณฐกชาดก ในหนหลังนั่นเอง.
               ก็พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นมาแล้ว ตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมัยก่อน เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้น บัณฑิตสมัยก่อนได้บรรพชาในพาหิรลัทธิ แม้พระราชาทรงปวารณาแล้วก็ไม่ทูลขออะไร โดยคิดว่า ขึ้นชื่อว่าการขอของรัก ย่อมไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของชนเหล่าอื่น ดังนี้แล้ว
               ได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้อุบัติในตระกูลพราหมณ์ในนิคมหนึ่ง พวกญาติได้ตั้งชื่อท่านว่า อัฏฐิเสนกุมาร. ท่านเจริญวัยแล้วได้เล่าเรียนศิลปะทุกอย่างในเมืองตักกสิลา ต่อมาเห็นโทษในกามทั้งหลาย แล้วได้ออกจากฆราวาสบวชเป็นฤๅษี ให้ฌานสมาบัติและอภิญญาสมาบัติเกิดขึ้นแล้ว อยู่ที่ถิ่นหิมพานต์เป็นเวลานาน ดำเนินไปสู่วิถีทางของมนุษย์ เพื่อต้องการลิ้มรสเค็มและรสเปรี้ยว ถึงเมืองพาราณสีโดยลำดับ พักอยู่ที่พระราชอุทยาน.
               รุ่งเช้าได้เที่ยวไปภิกขาจารถึงพระลานหลวง พระราชาทรงเลื่อมใสในอาจาระและวิหารธรรมของท่าน จึงให้ราชบุรุษเรียกนิมนต์ท่านมา ให้นั่งที่พื้นปราสาท แล้วให้ฉันโภชนะอย่างดี ทรงสดับอนุโมทนากถา ในเวลาฉันเสร็จแล้ว ทรงเลื่อมใสจึงทรงรับปฏิญญาให้พระมหาสัตว์พักอยู่ที่พระราชอุทยาน และได้เสด็จไปอุปัฏฐาก วันละ ๒-๓ ครั้ง.
               วันหนึ่ง พระองค์ทรงเลื่อมใสในธรรมกถาจึงทรงปวารณาว่า พระคุณเจ้าต้องการสิ่งใด ตั้งต้นแต่ราชสมบัติ ขอพระคุณเจ้าจงบอกสิ่งนั้นเถิด. พระโพธิสัตว์ไม่ถวายพระพรว่า ขอพระองค์จงพระราชทานสิ่งนี้แก่อาตมภาพ ขอพระองค์จงพระราชทานสิ่งนี้แก่อาตมภาพ ผู้ขอเหล่าอื่นจะทูลขอสิ่งที่ตนปรารถนาต้องการว่า ขอพระองค์จงพระราชทานสิ่งนี้ ขอพระองค์จงพระราชทานสิ่งนี้. พระราชาจะพระราชทานไม่ทรงขัดข้อง.
               อยู่มาวันหนึ่ง พระองค์ทรงดำริว่า ยาจกและวณิพกเหล่าอื่นขอกะเราว่า ขอพระองค์จงพระราชทานสิ่งนี้และสิ่งนี้แก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย แต่พระคุณเจ้าอัฏฐิเสนะนี้ ตั้งแต่เราปวารณามาแล้วไม่ขออะไรเลย ก็พระคุณเจ้านี้เป็นผู้มีปัญญาจริงเป็นผู้ฉลาดในอุบาย เราจักเรียนถามท่าน.
               อยู่วันหนึ่ง พระองค์เสวยพระกระยาหารเช้าแล้วได้เสด็จไปอุปัฏฐากฤๅษี ทรงไหว้แล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง เมื่อจะตรัสถามถึงเหตุแห่งการขอของยาจกเหล่าอื่น และเหตุแห่งการไม่ขอของท่าน จึงตรัสคาถาที่ ๑ ว่า :-
               ข้าแต่ท่านอัฏฐิเสนะ พวกวณิพกทั้งหลายที่โยมไม่รู้จัก พากันมาหาโยมแล้ว ขอสิ่งที่ต้องการกัน แต่เหตุไฉน พระคุณเจ้าจึงไม่ขออะไรกะโยม.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วนิพฺพเก ได้แก่ ผู้ขอ.
               บทว่า สงฺคมฺม ความว่า พากันมาหา. มีคำอธิบายว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าอัฏฐิเสนะ วณิพกเหล่านี้ใด ข้าพเจ้าไม่รู้จักแม้ว่าคนเหล่านี้ชื่อนี้ โดยชื่อโคตรตระกูลและประเทศ วณิพกเหล่านั้นพากันมาหา แล้วขอสิ่งที่ตนต้องการ แต่เหตุไฉน พระคุณเจ้าจึงไม่ขออะไรกะโยม?

               พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               เพราะผู้ขอ ย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ให้ ส่วนผู้ให้ เมื่อไม่ให้สิ่งที่เขาขอ ก็ไม่เป็นที่รักของผู้ขอ เพราะฉะนั้น อาตมภาพจึงไม่ขออะไรกะมหาบพิตร ขอความบาดหมางใจ อย่าได้มีแก่อาตมภาพเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาจโก อปฺปิโย โหติ ความว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร ก็บุคคลผู้ที่ขอว่า ขอจงให้สิ่งนี้แก่ข้าพเจ้า ขอจงให้สิ่งนี้แก่ข้าพเจ้า ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ของมารดาบิดาบ้าง ของมิตรและอำมาตย์เป็นต้นบ้าง ความที่เขาไม่เป็นที่รักนั้นควรแสดงโดยมณิกัณฐกชาดก.
               บทว่า ยาจํ ได้แก่ สิ่งของที่เขาขอ. มีคำอธิบายว่า ฝ่ายบุคคลผู้ไม่ให้นับแต่มารดาบิดาเป็นต้นไป ซึ่งไม่ให้สิ่งของที่เขาขอ ย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ขอ.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุที่ผู้ขอก็ไม่เป็นที่รักของผู้ให้ ทั้งผู้ให้ เมื่อไม่ให้สิ่งของที่เขาขอ ก็ไม่เป็นที่รักของผู้ขอ ฉะนั้น อาตมภาพจึงไม่ขออะไรกะมหาบพิตร.
               บทว่า มา เม วิทฺเทสนา อหุ ความว่า ถ้าหากอาตมภาพจะพึงขอพระราชทานทีเดียวไซร้ มหาบพิตรก็คงพระราชทานสิ่งนั้น แต่อาตมภาพคงเป็นที่บาดหมางพระทัยของมหาบพิตร ความบาดหมางใจที่เกิดขึ้นจากสำนักมหาบพิตรนั้นก็จะมีแก่อาตมภาพ ถ้าแม้นว่ามหาบพิตรจะไม่พึงพระราชทานไซร้ มหาบพิตรก็คงเป็นที่บาดหมางใจของอาตมภาพ และอาตมภาพก็จะมีความบาดหมางใจในมหาบพิตร เมื่อเป็นเช่นนั้น อาตมภาพอย่าได้มีความบาดหมางใจแม้ในที่ทุกแห่ง คือไมตรีระหว่างมหาบพิตรกับอาตมภาพทั้ง ๒ อย่าได้แตกกันเลย
               อาตมภาพ เมื่อเล็งเห็นประโยชน์นี้ จึงไม่ขออะไรกะมหาบพิตร.

               ลำดับนั้น พระราชาครั้นทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงได้ตรัสคาถา ๓ คาถาว่า :-
               ก็ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยการขอ แต่ไม่ขอสิ่งที่ควรขอในเวลาที่ควรขอ ผู้นั้นย่อมขจัดผู้อื่นจากบุญด้วย ทั้งตนเองก็เลี้ยงชีพอยู่ไม่ได้ด้วย.
               ส่วนผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยการขอ ขอสิ่งที่ควรขอทั้งในเวลาที่ควรขอ ผู้นั้นย่อมให้ผู้อื่นได้บุญด้วย ทั้งตนเองก็เลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วย.
               ผู้มีปัญญาทั้งหลาย เห็นผู้ขอมาแล้ว ไม่ขึ้งเคียดเลย. ข้าแต่ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ พระคุณเจ้าเป็นที่รักของโยม พระคุณเจ้าต้องประสงค์อะไรที่ควรบอก ขอพระคุณเจ้าจงบอก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาจนชีวาโน ได้แก่ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยการขอ.
               อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะ ก็เป็น ยาจนชีวาโน นี้เหมือนกัน.
               มีคำอธิบายว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าอัฏฐิเสนะ ผู้ใดประพฤติดำรงชีพด้วยการขอ จะเป็นสมณะก็ตาม เป็นพราหมณ์ก็ตาม ขออะไรๆ ที่ควรขอในเวลาที่สมควรก็หาไม่ ผู้นั้นย่อมขจัดผู้อื่นที่เป็นผู้ให้ คือยังเขาให้เสื่อมไปจากบุญด้วย ทั้งตนเองก็มีชีวิตอยู่ไม่เป็นสุขด้วย.
               บทว่า ปุญฺญํ ลเภติ ความว่า แต่เมื่อขอสิ่งที่ควรขอในเวลาที่ควรขอ ยังผู้อื่นให้ได้บุญด้วย ทั้งตนเองก็มีชีวิตอยู่เป็นสุขด้วย.
               ด้วยบทว่า น เว ทุสฺสนฺติ พระราชาทรงแสดงว่า พระคุณเจ้ากล่าวคำใดว่า ขอความบาดหมางใจอย่าได้มีแก่อาตมภาพเลย
               เหตุไฉน พระคุณเจ้าจึงกล่าวคำนั้น?
               เพราะว่า ผู้มีปัญญาทั้งหลาย คือเหล่าบัณฑิตผู้รู้ทั้งทานและผลของทาน เห็นยาจกผู้มาแล้ว ไม่ขึ้งเคียด คือไม่โกรธ แต่เป็นผู้บันเทิงใจโดยแท้.
                อักษรในคำว่า ยาจกมาคเต ท่านกล่าวไว้ด้วยอำนาจพยัญชนสนธิ. ความหมายก็คือ ยาจเก อาคเต ยาจกผู้มาแล้ว.
               บทว่า พฺรหฺมจารี ปิโย เมสิ ความว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าอัฏฐิเสนะ ผู้ประพฤติบริสุทธิ์ ผู้มีปัญญามาก พระคุณเจ้า เป็นที่รักของอาตมภาพเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ขอให้พระคุณเจ้าบอก คือขอพรทีเดียวกะโยม.
               บทว่า ภญฺญิตมิจฺฉสิ ความว่า พระคุณเจ้าต้องประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่ควรพูดขอ โยมจะถวายทุกอย่างทีเดียว แม้แต่ราชสมบัติ.

               พระราชาทรงปวารณาแม้ด้วยราชสมบัติอย่างนี้ พระโพธิสัตว์ก็ไม่ทูลขออะไรๆ เลย.
               ก็เมื่อพระราชาตรัสถามถึงอัธยาศัยของตนอย่างนี้แล้ว
               ฝ่ายพระมหาสัตว์ เมื่อจะแสดงปฏิปทาของนักบวชถวายว่า ขอถวายพระพรบพิตรมหาราช ขึ้นชื่อว่าการขอนี้ เป็นของที่พวกคฤหัสผู้บริโภคกาม ประพฤติมาชินแล้ว ไม่ใช่พวกบรรพชิต ส่วนบรรพชิต ตั้งแต่เวลาบวชแล้ว ควรเป็นผู้มีอาชีพบริสุทธิ์ ด้วยการสังวรด้วยทวารทั้ง ๓.
               เพื่อแสดงถึงบรรพชิตปฏิบัติ จึงกล่าวคาถาที่ ๖ ถวายว่า :-
               ผู้มีปัญญาทั้งหลายจะไม่ออกปากขอเลย ธีรชนควรรู้ไว้ พระอริยเจ้าทั้งหลายยืนเจาะจงอยู่ที่ใด นั่นคือการขอของพระอริยเจ้าทั้งหลาย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สปฺปญฺญา เป็นต้น ความว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี พุทธสาวกทั้งหลายก็ดี พระโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้บวชเป็นฤๅษี ปฏิบัติเพื่อโพธิญาณก็ดี แม้ทั้งหมดชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาด้วย เป็นผู้มีศีลด้วย ท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีปัญญาเห็นปานนี้ จะไม่ขอว่า ขอท่านทั้งหลายจงให้สิ่งนี้และสิ่งนี้แก่อาตมภาพทั้งหลาย.
               บทว่า ธีโร เวทิตุมรหติ ความว่า ส่วนธีรชน คือบัณฑิตผู้อุปัฏฐากควรรู้ คือทราบความต้องการทุกอย่างของท่านเอาเอง ทั้งในเวลาอาพาธและในเวลาไม่อาพาธ.
               บทว่า อุทฺทิสฺส อริยา ติฏฺฐนฺติ ความว่า ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลายมีความต้องการสิ่งใด จะไม่เปล่งวาจาขอ แต่จะยืนอยู่เฉพาะ ณ ที่นั้น ด้วยภิกขาจารวัตรอย่างเดียวเท่านั้น คือไม่ให้องค์คือกายและองค์คือวาจาไหว เพราะว่า เพื่อแสดงกายวิการ ทำเครื่องหมายให้รู้ ก็ชื่อว่าให้องค์คือกายไหว เมื่อทำการเปล่งวาจา ก็ชื่อว่าให้องค์คือวาจาไหว พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นจะไม่ทำทั้ง ๒ อย่างนั้นยืนอยู่เฉยๆ.
               บทว่า เอสา อริยาน ยาจนา ความว่า การไม่ให้องค์คือวาจาไหว ยืนอยู่เพื่อภิกษานี้ ชื่อว่าเป็นการขอของพระอริยเจ้าทั้งหลาย.

               พระราชาทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์แล้ว เมื่อตรัสว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ถ้าหากว่า อุปัฏฐากผู้มีปัญญา รู้ด้วยตนเองแล้วไซร้ ก็จะถวายสิ่งที่ควรถวายแก่กุลบุตร ฝ่ายโยมก็จะถวายสิ่งนี้และสิ่งนี้แก่ท่านทั้งหลาย ดังนี้
               จึงตรัสคาถาที่ ๗ ว่า :-
               ข้าแต่ท่านพราหมณ์ โยมขอถวายโคนมสีแดงพันตัวพร้อมกับโคตัวผู้แก่พระคุณเจ้า เพราะผู้มีอาจาระอันประเสริฐ ได้ฟังคาถาที่ประกอบด้วยธรรมของท่านแล้ว เหตุไฉนจะไม่ถวายทานแก่ท่านผู้มีอาจาระอันประเสริฐ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โรหินีนํ ความว่า มีสีแดง.
               บทว่า ควํ สหสฺสํ ความว่า โยมจะถวายโคชนิดนี้พันตัวแด่พระคุณเจ้า เพื่อประโยชน์แก่การดื่มรสนมสดและนมเปรี้ยวเป็นต้น ขอพระคุณเจ้าจงรับโคนั้นของโยม.
               บทว่า อริโย ได้แก่ ผู้มีอาจาระประเสริฐ.
               บทว่า อริยสฺส ความว่า แก่ท่านผู้มีอาจาระประเสริฐ.
               บทว่า กถํ น ทชฺชา ความว่า เหตุไร จึงจะไม่ถวาย.

               เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว พระโพธิสัตว์ก็ทูลปฏิเสธว่า มหาบพิตร ธรรมดาบรรพชิตไม่มีความกังวลอะไร อาตมภาพไม่มีความต้องการด้วยแม่โคทั้งหลาย. พระราชาทรงดำรงอยู่แล้วในโอวาทของพระโพธิสัตว์นั้น ทรงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น ได้เป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์มีฌานไม่เสื่อมเกิดขึ้นแล้วในพรหมโลก.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรมทั้งหลาย ทรงประชุมชาดกไว้ว่า ในที่สุดแห่งสัจธรรม คนจำนวนมากบรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้น.
               พระราชาในครั้งนั้น ได้แก่ พระอานนท์ ในบัดนี้
               ส่วนอัฏฐิเสนฤๅษี ได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถาอัฏฐิเสนชาดกที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อัฏฐิเสนชาดก ว่าด้วย การขอ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1014 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1021 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1028 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=4443&Z=4465
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=39&A=3246
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=39&A=3246
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :