ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 249 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 296 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 315 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา กุณาลชาดก
ว่าด้วย นางนกดุเหว่า

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ ริมสระชื่อกุณาละ ทรงพระปรารภภิกษุ ๕๐๐ รูป ซึ่งถูกความเบื่อหน่ายอยากจะสึกบีบคั้นแล้ว จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า เอวมกฺขายติ ดังนี้.
               ลำดับเรื่องในกุณาลชาดกนั้นดังนี้
               ดังได้สดับมาว่า ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์ กับเมืองโกลิยะทั้งสองเมืองนี้ มีแม่น้ำชื่อว่า โรหิณี สายเดียวเท่านั้นไหลผ่านลงมา ชนชาวสากิยะและชนชาวโกลิยะ จึงทำทำนบกั้นน้ำนั้นร่วมอันเดียวกันแล้วจึงตกกล้า. ครั้งหนึ่ง ในต้นเดือน ๗ ข้าวกล้าเฉาลง พวกกรรมกรของชนชาวนครทั้งสองนั้นจึงประชุมกัน บรรดากรรมกรทั้งสองเมืองนั้น พวกกรรมกรชาวเมืองโกลิยะกล่าวขึ้นก่อนว่า น้ำที่ปิดกั้นไว้นี้ ถ้าจะไขเข้านาทั้งสองฝ่าย ก็ไม่พอเลี้ยงต้นข้าวของพวกเราและพวกท่าน ก็ข้าวกล้าของพวกเราจักสำเร็จเพราะน้ำคราวเดียวเท่านั้น พวกท่านจงให้น้ำนี้แก่พวกเราเถิด แม้พวกกรรมกรชาวเมืองกบิลพัสดุ์ ก็พูดขึ้นว่า เมื่อพวกท่านได้ข้าวกล้าเอาบรรจุไว้ในฉางจนเต็มแล้วตั้งปึ่งอยู่ พวกเราไม่อาจที่จะถือเอากหาปณะทองคำ เงิน นิล มณี สัมฤทธิ์ แบกกระเช้ากระสอบเป็นต้น เที่ยวไปขอซื้อตามประตูเรือนของท่านได้ แม้ข้าวกล้าของพวกเราก็จักสำเร็จได้ เพราะน้ำคราวเดียวเท่านั้นเหมือนกัน ขอพวกท่านจงให้น้ำนี้แก่พวกเราเถิด ทั้งสองฝ่ายต่างก็ขึ้นเสียงเถียงกันว่า พวกเราจักไม่ให้ แม้พวกเราก็จักไม่ยอมให้เหมือนกัน ดังนี้ ครั้นพูดกันมากขึ้นๆ อย่างนี้ กรรมกรคนหนึ่งก็ลุกขึ้น ตีเอาคนหนึ่งเข้า แม้คนที่ถูกตีนั้น ก็ตีคนอื่นๆ ต่อไป ต่างฝ่ายต่างตีกันอย่างนี้ ก็เกิดทะเลาะกระทบชาติแห่งราชตระกูล
               พวกกรรมกรชาวโกลิยะกล่าวขึ้นก่อนว่า พวกมึงจงพาพวกเด็กๆ สากิยะ ซึ่งอยู่ในเมืองกบิลพัสดุ์ไปเถิด อ้ายพวกสังวาสกับน้องสาวของตัวเอง เหมือนสัตว์เดียรัจฉาน มีหมาบ้านและหมาป่าเป็นต้น ถึงจะมีกำลังเป็นต้นว่า ช้าง ม้า โล่ และอาวุธ ก็จักกระทำอะไรแก่พวกกูได้ แม้พวกกรรมกรชาวสากิยะ ก็กล่าวตอบว่า พวกมึงก็เหมือนกันจงพาเด็กขี้เรื้อนไปเสียในบัดนี้ อ้ายพวกอนาถาหาที่ไปไม่ได้ เที่ยวอาศัยอยู่ในโพรงไม้กระเบา เหมือนสัตว์เดียรัจฉาน ถึงจะมีโยธาหาญเป็นต้นว่าช้าง ม้า โล่และอาวุธ ก็จักกระทำอะไรแก่พวกกูได้ ชนเหล่านั้นต่างฝ่ายต่างก็ไปร้องเรียนอำมาตย์ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ในการนั้น พวกอำมาตย์จึงเสนอเรื่องราวแก่ราชตระกูลต่อไป ในลำดับนั้น พวกกษัตริย์สากิยะทั้งหลายจึงตรัสว่า พวกเราจะสำแดงเรี่ยวแรงและกำลังของคนที่สังวาสกับน้องสาวให้ดู แล้วตระเตรียมการรบยกออกไป แม้กษัตริย์พวกโกลิยะก็ตรัสว่า พวกเราก็จะสำแดงให้เห็นเรี่ยวแรงและกำลังของคนที่อาศัยอยู่ในต้นกระเบา แล้วตระเตรียมการรบยกออกไปเหมือนกัน.
               เรื่องที่วิวาทกันนี้บางอาจารย์กล่าวว่า พวกทาสีของชาวสากิยะและชาวโกลิยะไปสู่แม่น้ำเพื่อตักน้ำ ต่างปลดเอาเทริดลงวางไว้ที่พื้นดินแล้ว นั่งพักผ่อนสนทนากันอยู่อย่างสบาย ทาสีคนหนึ่งหยิบเอาเทริดของคนหนึ่งไปด้วยเข้าใจว่า เป็นของตน อาศัยเทริดนั้นเป็นเหตุ จึงเกิดทะเลาะกันขึ้นว่า เทริดของกู เทริดของมึง ดังนี้ ครั้นแล้วชนชาวนครทั้งสอง เริ่มแต่ทาสกรรมกรโดยลำดับ มาจนถึงเสวกนายบ้าน อำมาตย์อุปราชและพระราชาทั้งหมดต่างฝ่ายต่างก็เตรียมออกไปทำสงครามกัน แต่นัยก่อนจากนัยนี้มีมาในอรรถกถามากแห่งด้วยกัน และรูปเครื่องก็เหมาะสม เพราะฉะนั้น บัณฑิตจึงควรถือเอาเรื่องที่วิวาทกัน เพราะแย่งน้ำนั้นแล ก็กษัตริย์สากิยะและโกลิยะทั้งสองฝ่ายนั้น ครั้นเตรียมรบพร้อมแล้ว ก็ยกออกไปในเวลาเย็น ด้วยประการฉะนี้แล.
               ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ เมืองสาวัตถี ทรงทอดพระเนตรดูสัตวโลก ในเวลาใกล้รุ่งทีเดียว ได้ทอดพระเนตรเห็นกษัตริย์ทั้งสองพระนครเหล่านี้ มีการตระเตรียมรบ แล้วยกกองทัพออกไปอย่างนี้ เมื่อทอดพระเนตรเห็นแล้ว จึงทรงใคร่ครวญต่อไปว่า เมื่อเราไปห้ามการทะเลาะนี้จักระงับหรือไม่หนอ ก็ทรงเห็นว่า เราไปในที่นั้นแล้ว จักแสดงชาดก ๓ เรื่องเพื่อระงับการทะเลาะวิวาท การทะเลาะวิวาทก็จักระงับลงในขณะนั้น ครั้นแล้วเราจักแสดงชาดกอีก ๒ เรื่องเพื่อต้องการจะให้แสดงความสามัคคีนั้น แล้วจักแสดงอัตตทัณฑสูตรต่อไป กษัตริย์ผู้อยู่ในพระนครทั้งสอง เมื่อได้ฟังเทศนาของเราแล้ว ก็จักให้พระราชกุมารฝ่ายละ ๒๕๐ พระองค์ เราจักให้พระราชกุมารเหล่านี้บรรพชา สมาคมใหญ่จักมีด้วยประการฉะนี้
               ครั้นตกลงพระหฤทัยดังนี้แล้ว พอรุ่งเช้า ก็ทรงกระทำการชำระพระสรีระ เสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี เสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้ว ถึงเวลาเย็น ก็เสด็จออกจากพระคันธกุฎี มิได้ตรัสบอกแก่ใครๆ เลย ทรงถือเอาบาตรแลจีวรด้วยพระองค์เอง ทรงคู้บัลลังก์ประทับนั่ง ในอากาศระหว่างเสนาทั้งสองฝ่าย ทรงเปล่งพระรัศมีออกจากพระเกศ ทำให้เกิดความมืดในเวลากลางวัน เพื่อให้เกิดความท้อใจแก่พวกนักรบเหล่านั้น ลำดับนั้น เมื่อพวกนักรบเหล่านั้นเกิดความท้อใจแล้ว พระองค์จึงทรงแสดงพระองค์ให้ปรากฏ ทรงเปล่งพระพุทธรัศมีมีพรรณ ๖ ประการ ฝ่ายเหล่ากษัตริย์สากิยะชาวเมืองกบิลพัสดุ์ ครั้นเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงดำริว่า ญาติผู้ประเสริฐของพวกเราเสด็จมาแล้ว ชะรอยพระองค์คงจะได้ทรงทราบว่า พวกเรากระทำการทะเลาะวิวาทกัน จึงพากันวางเครื่องอาวุธเสียด้วยตกลงใจว่า ก็เมื่อพระศาสดาเสด็จมาแล้ว พวกเราไม่อาจที่จะให้อาวุธตกต้องร่างกายของผู้อื่นได้ พวกชาวเมืองโกลิยะจะฆ่าจะแกงพวกเราเสียก็ตามทีเถิด แม้พวกกษัตริย์ชาวเมืองโกลิยะ ก็คิดและกระทำอย่างนั้นเหมือนกัน ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเสด็จลงมาประทับนั่ง ณ พุทธอาสน์อันประเสริฐ ซึ่งพวกกษัตริย์จัดถวายบนเนินทรายในประเทศอันรื่นรมย์ ทรงรุ่งเรืองอยู่ด้วยพระพุทธสิริ อันงดงามหาสิ่งเปรียบมิได้ แม้พระราชาทั้งสองฝ่ายนั้น ก็พากันถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่งอยู่.
               ลำดับนั้น พระศาสดา แม้ทรงทราบเรื่องอยู่ แต่ก็ได้ตรัสถามพวกกษัตริย์เหล่านั้นอีกว่า ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย พวกท่านมา ณ ที่นี้ทำไม กษัตริย์เหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันทั้งปวงมา ณ ที่นี้ เพื่อต้องการจะดูแม่น้ำก็หามิได้ เพื่อต้องการจะเที่ยวเล่นก็หามิได้ เพื่อต้องการจะดูภาพอันน่ารื่นรมย์ในป่าดงก็หามิได้ ก็แต่ว่าหม่อมฉันมา ณ ที่นี้ เพราะการเริ่มสงครามกันขึ้น.
               ดูก่อนมหาราช พวกเธอเกิดทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องอะไรเล่า. เพราะเรื่องน้ำ พระเจ้าข้า.
               ดูก่อนมหาราช น้ำมีราคาเท่าไร. น้ำราคาเล็กน้อย พระเจ้าข้า.
               ดูก่อนมหาราช ก็แผ่นดินราคาเท่าไร. แผ่นดินมีราคาประมาณมิได้ พระเจ้าข้า.
               ดูก่อนมหาราช ก็กษัตริย์เล่ามีราคาเท่าไร. กษัตริย์ก็มีราคาประมาณมิได้เหมือนกัน พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย ไฉนพวกท่านจึงจะยังกษัตริย์ทั้งหลายซึ่งหาค่ามิได้ให้พินาศไป เพราะอาศัยน้ำซึ่งมีราคาเพียงเล็กน้อยเล่า
               ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงตรัสเทศนาผันทนชาดกความว่า ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการหายใจคล่อง เพราะเหตุทะเลาะวิวาทกันนั้นไม่มีเลย ด้วยว่า รุกขเทวดาตนหนึ่งกับหมีตัวอาฆาตกัน เพราะเหตุทะเลาะวิวาทกัน เวรนั้นก็ตกตามอยู่ตลอดกัปนี้ทั้งสิ้น.
               ลำดับต่อนั้นไป ได้ตรัสเทศนาทุททุภายชาดก ความว่า ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย เกิดมาเป็นคนไม่ควรหันไปตามเหตุที่ถึงของบุคคลอื่น (คือไม่ควรเก็บเอาเรื่องของคนอื่นมาคิด) จะเล่าให้ฟัง พวกสัตว์จตุบทในประเทศหิมวันต์ซึ่งกว้างประมาณ ๓,๐๐๐ โยชน์ ยึดถือเรื่องของคนอื่น พากันวิ่งจะไปลงทะเล เพราะฟังคำของกระต่ายตัวหนึ่ง เพราะฉะนั้น บุคคลจึงไม่ควรยึดถือเอาเรื่องของคนอื่น.
               ต่อจากนั้น พระองค์ตรัสเทศนาลฏุกิกชาดกความว่า ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย บางคราว ผู้ที่มีกำลังน้อยก็หาช่องทำลายผู้มีกำลังมากได้ บางคราวผู้มีกำลังมากก็ได้ช่องทำแก่ผู้มีกำลังน้อย แม้แต่นางนกไซ้ยังฆ่าพญาช้างตัวประเสริฐได้
               สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสเทศนาชาดก ๓ เรื่อง เมื่อทรงพระประสงค์จะระงับการทะเลาะวิวาทดังนี้แล้ว จึงตรัสเทศนาชาดกอีก ๒ เรื่อง เพื่อแสดงสามัคคีธรรม เหมือนดังนั้นอีก คือตรัสเทศนารุกขธรรมชาดก ว่า ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลพร้อมเพรียงกันอยู่แล้ว ใครๆ ก็ไม่อาจหาช่องทำร้ายได้ แล้วตรัสเทศนาวัฏฏกชาดกความว่า ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย เมื่อฝูงนกกระจาบพร้อมเพรียงกันอยู่ นายพรานก็ไม่อาจหาช่องทำร้ายได้ ต่อเมื่อใดฝูงนกกระจาบเกิดแก่งแย่งกันขึ้น เมื่อนั้นบุตรนายพรานคนหนึ่ง จึงทำลายชีวิตเอานกกระจาบเหล่านั้นไปเสีย ขึ้นชื่อว่าความหายใจคล่องในการทะเลาะวิวาทย่อมไม่มีเลย พระศาสดาตรัสชาดก ๕ เรื่องเหล่านี้อย่างนี้แล้ว ในที่สุดจึงตรัสเทศนาอัตตทัณฑสูตร.
               พระราชาแม้ทั้งหมดสดับพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ก็ทรงเลื่อมใส ปรึกษากันว่า ถ้าหากว่าพระศาสดาไม่เสด็จมา พวกเราก็จักฆ่าฟันซึ่งกันและกัน จนเลือดไหลนองเป็นแม่น้ำ พวกเราได้ชีวิตเพราะอาศัยพระศาสดา ก็ถ้าพระศาสดาจักทรงครอบครองฆราวาส ราชสมบัติในทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีทวีปน้อย ๒,๐๐๐ เป็นบริวาร ก็จะตกอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของพระองค์ และพระองค์จักมีพระราชโอรสกว่าพัน แต่นั้นก็จักมีกษัตริย์เป็นบริวารเสด็จเที่ยวไป ก็แต่ว่า พระองค์ทรงสละราชสมบัติเช่นนั้นเสียแล้ว เสด็จออกบรรพชาจนได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ถึงอย่างนั้นเดี๋ยวนี้ พระองค์ก็ควรมีกษัตริย์เป็นบริวารเสด็จเที่ยวไป ครั้นปรึกษากันดังนี้แล้ว กษัตริย์ทั้งสองพระนครนั้นจึงถวายพระราชกุมารฝ่ายละ ๒๕๐ องค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงให้พระราชกุมารเหล่านั้นบรรพชาแล้ว เสด็จไปสู่มหาวัน จำเดิมแต่วันรุ่งขึ้นเป็นต้นไป พระผู้มีพระภาคเจ้ามีภิกษุราชกุมารเหล่านั้นแวดล้อมเป็นบริวาร เสด็จเที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครทั้งสอง คือบางคราวก็เสด็จไปเมืองกบิลพัสดุ์ บางคราวก็เสด็จไปเมืองโกลิยะ แม้ชาวพระนครทั้งสองก็กระทำสักการะใหญ่แก่พระองค์
               ฝ่ายพวกภิกษุราชกุมารเหล่านั้น บวชด้วยความเคารพในสมเด็จพระบรมครู หาได้บวชด้วยความเต็มใจของตนไม่ จึงได้เกิดความกระสันอยากจะสึก ใช่แต่เท่านั้น พวกภรรยาเก่าของภิกษุเหล่านั้น ยังกล่าวถ้อยคำและส่งข่าวสาสน์ ไปยั่วยวนชวนให้เกิดความเบื่อหน่ายอีก ภิกษุราชกุมารเหล่านั้นก็ยิ่งเบื่อหน่ายหนักขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาดู ก็ทรงทราบว่า ภิกษุเหล่านั้นเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นแล้ว จึงทรงใคร่ครวญว่า ภิกษุเหล่านี้อยู่ร่วมกับพระพุทธเจ้าเช่นเรา ยังมีความเบื่อหน่ายอีก ธรรมกถาเช่นไรหนอ จึงเป็นที่สบายของภิกษุเหล่านี้ได้ ก็ทรงเห็นว่ากุณาลธรรมเทศนาเป็นที่สบาย ลำดับนั้น พระองค์จึงทรงตรึกต่อไปว่า เราจักพาภิกษุเหล่านี้ไปยังประเทศหิมวันต์ ประกาศโทษของมาตุคามตามถ้อยคำของนกดุเหว่าชื่อกุณาละ ให้ภิกษุเหล่านั้นได้ฟังกำจัดความเบื่อหน่ายเสียแล้ว จักแสดงพระโสดาปัตติมรรคแก่เธอ ครั้นเวลารุ่งเช้า พระองค์จึงทรงนุ่งห่มถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ณ เมืองกบิลพัสดุ์ พอเวลาปัจฉาภัตรก็เสด็จกลับจากบิณฑบาต รับสั่งให้หาภิกษุประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น มาในเวลาเสร็จภัตกิจแล้ว ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเคยเห็นหิมวันตประเทศ อันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์แล้วหรือ. ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ยังไม่เคยเห็นเลย พระเจ้าข้า. จึงตรัสถามว่า ก็พวกเธอจักไปเที่ยวยังประเทศหิมวันต์ไหมเล่า. กราบทูลว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่มีฤทธิ์ จักไปอย่างไรได้เล่า พระเจ้าข้า. ตรัสว่า ถ้าใครคนใดคนหนึ่งจะพาพวกเธอไป เธอจะไปหรือไม่เล่า. พระภิกษุเหล่านั้นก็กราบทูลว่า ข้าพระองค์จักไป พระเจ้าข้า.
               สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงพาภิกษุเหล่านั้น แม้ทั้งหมดไปด้วยฤทธิ์ของพระองค์ ทรงเหาะไปในอากาศจนถึงป่าหิมวันต์ ประทับยืนอยู่บนท้องฟ้า ทรงชี้ให้ชมภูเขา ๗ ลูกต่างๆ กัน คือ ภูเขาทอง ภูเขาเงิน ภูเขาแก้วมณี ภูเขาหรดาล ภูเขามอ ภูเขาโล้น ภูเขาแก้วผลึก แล้วทรงชี้ให้ดูแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ สาย คือ คงคา ยมนา อจิรวดี สรภู มหี แล้วทรงชี้ให้ดูสระทั้ง ๗ แห่ง คือ สระชื่อกัณณมุณฑะ รถการ มัณฑากิณี สีหปบาต ฉัททันต์ อโนดาต กุณาละ ภูเขาที่ได้ชื่อว่าหิมวันต์นั้นสูงถึง ๕๐๐ โยชน์ กว้าง ๓,๐๐๐ โยชน์ พระศาสดาทรงชี้สถานอันน่ารื่นรมย์นี้ ซึ่งเป็นเพียงบางส่วนของภูเขาหิมวันต์นั้น ด้วยอานุภาพของพระองค์ แล้วทรงชี้ถึงสัตว์ ๔ เท้าเป็นต้นว่า ราชสีห์ เสือโคร่ง ตระกูลช้าง และสัตว์ ๒ เท้า มีนกดุเหว่าเป็นต้น ซึ่งอาศัยอยู่ที่ภูเขาหิมวันต์นั้น แต่บางส่วนอีก ต่อจากนั้นทรงชี้ถึงป่าอันเป็นที่รื่นรมย์ราวกะว่า สวนที่ประดับตกแต่งไว้ มีทั้งพรรณไม้อันมีดอกออกผล เกลื่อนกล่นด้วยหมู่นกนานาชนิด ทั้งดอกไม้น้ำและดอกไม้บก ด้านทิศตะวันออกของภูเขาหิมวันต์นั้นมีพื้นแผ่นสุวรรณ ด้านทิศตะวันตกมีพื้นหรดาล
               จำเดิมแต่กาลที่ภิกษุเหล่านั้น เห็นสถานที่และวัตถุอันน่ารื่นรมย์เหล่านี้ แล้วความกำหนัดยินดีในชายาก็เสื่อมหายไป. ลำดับนั้น พระศาสดาจึงทรงพาภิกษุเหล่านั้นลงจากอากาศ เสด็จประทับนั่งบนอาสนะมโนศิลาอันมีปริมณฑลได้ ๓ โยชน์ ภายใต้ต้นรังอันตั้งอยู่ตลอดกัป ซึ่งมีปริมณฑลได้ ๗ โยชน์ ขึ้นอยู่บนพื้นมโนศิลาอันกว้างใหญ่ประมาณ ๖๐ โยชน์ อยู่ด้านทิศตะวันตกแห่งภูเขาหิมวันต์ เมื่อภิกษุเหล่านั้นแวดล้อมพร้อมกันแล้ว จึงทรงเปล่งพระรัศมีมีพรรณ ๖ ประการ ดุจดวงสุริยะอันชัชวาลย์ส่องสว่างกลางท้องมหาสมุทร ทำทะเลให้กระเพื่อมขึ้นลงฉะนั้น แล้วทรงเปล่งพระสุรเสียงอันไพเราะตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งอันใดที่พวกเธอไม่เคยเห็นในเขาหิมวันต์นี้ ก็จงถามเราเถิด
               ในขณะนั้น นางนกดุเหว่าสวยงาม ๒ ตัว คาบท่อนไม้ที่ปลายทั้งสองข้าง ให้นกตัวเป็นสามีของตนจับตรงกลาง แล้วมีนางนกดุเหว่าบินไปข้างหน้า ๘ ตัว ข้างหลัง ๘ ตัว ข้างซ้าย ๘ ตัว ข้างขวา ๘ ตัว ข้างล่าง ๘ ตัว ข้างบนบินบังเป็นเงา ๘ ตัว พวกนางนกดุเหว่าเหล่านั้นบินแวดล้อมนกดุเหว่านั้น บินไปในอากาศโดยอาการอย่างนี้
               ภิกษุเหล่านั้นเห็นฝูงนกทั้งหมด จึงทูลถามพระศาสดาว่า ฝูงนกเหล่านี้ชื่อนกอะไร พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาตรัสตอบว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นวงศ์เก่าของเรา เราได้ตั้งประเพณีนี้ไว้ แต่ก่อนนางนกดุเหว่าทั้งหลาย ก็ได้บำเรอเราอย่างนี้มาเหมือนกัน แต่คราวนั้นฝูงนกนี้ยังเป็นฝูงใหญ่ นางนกที่บินตามแวดล้อมเรามีประมาณถึง ๓,๕๐๐ ตัว. ในกาลต่อมาก็ร่วงโรยลงโดยลำดับ จนเวลานี้เหลืออยู่เพียงเท่าที่เห็นอยู่นี้.
               พวกภิกษุจึงทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางนกเหล่านี้ได้เคยบำเรอพระองค์มา ในป่าชัฏเห็นปานนี้อย่างไร พระเจ้าข้า. ลำดับนั้น พระศาสดาจึงตรัสแก่พวกภิกษุเหล่านั้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟังถ้อยคำของเราเถิด แล้วทรงดำรงพระสติ เมื่อจะทรงนำอดีตนิทานมาแสดง จึงมีพระพุทธฎีกาว่า
               เล่ากันมาอย่างนี้ ได้ยินมาอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า ที่ภูเขาหิมพานต์อันทรงไว้ซึ่งแผ่นดินมีโอสถทุกชนิด ดารดาษไปด้วยดอกไม้และของหอมทุกชนิด เป็นที่สัญจรเที่ยวไปแห่งช้าง โค กระบือ กวาง เนื้อทราย จามรี กวาง แรด ละมาด ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาไน เสือดาว นาก ชะมด แมว กระต่าย วัวกระทิง เป็นที่อาศัยอยู่แห่งช้างใหญ่ และช้างตระกูลอันประเสริฐเกลื่อนกล่นอยู่ทั่วปริมณฑลอันราบเรียบ มี ค่าง ลิง อีเห็น ละมั่ง เนื้อลาย เนื้อสมัน เนื้อกระ หน้าม้า กินนร ยักษ์รากษสอาศัยอยู่มากมายดารดาษไปด้วยหมู่ไม้เป็นอเนก ทรงไว้ซึ่งดอกตูมและก้านมีดอกอันแย้มบานตลอดปลาย มีฝูงนกออก นกโพระดก นกหัสดีลิงค์ นกยูง นกพิราบ นกพริก นกกระจาบ นกยาง นกแขก นกการเวก ส่งเสียงร้องก้องระงมไพร มาตรว่าฝูงละร้อยๆ เป็นภูมิประเทศที่ประดับด้วยแร่ธาตุหลายร้อยชนิดเป็นต้น ว่า อัญชัน มโนศิลา หรดาล มหาหิงค์ ทอง เงิน ทองคำ เป็นป่าชัฏอันน่ารื่นรมย์เห็นปานนี้
               มีนกดุเหว่าตัวหนึ่งชื่อกุณาละ มีตัว ปีกและขนงดงามยิ่งนักอาศัยอยู่ และนกดุเหว่าชื่อ กุณาละ นั้น มีนางนกดุเหว่าเป็นบริวาร สำหรับบำเรอถึง ๓,๕๐๐ ตัว นางนก ๒ ตัวเอาปากคาบท่อนไม้ให้นกกุณาละนั้นจับตรงกลางพาบินไป ด้วยประสงค์ว่า นกกุณาละนั้นอย่าได้มีความเหน็ดเหนื่อย ในหนทางไกลเลย เหล่านางนกดุเหว่า ๕๐๐ ตัวบินไปเบื้องต่ำ ด้วยประสงค์ว่า ถ้านกกุณาละนี้ตกจากที่เกาะแล้ว พวกเราก็จะเอาปีกรับไว้ นางนกอีก ๕๐๐ คอยบินไปข้างบนด้วยคิดว่า แสงแดดอย่าได้ส่องถูกพญานกกุณาละนี้เลย นางนกบินไปข้างๆ ทั้งสองอีกข้างละ ๕๐๐ ด้วยประสงค์ว่า พญานกกุณาละนี้อย่าได้ถูกความหนาว ความร้อน หญ้า ละออง ลมและน้ำค้างเลย นางนกอีก ๕๐๐ บินไปข้างหน้า ด้วยประสงค์ว่า เด็กเลี้ยงโค เด็กเลี้ยงสัตว์ คนเกี่ยวหญ้า คนหักฟืน คนทำงานในป่า อย่าได้ขว้างปานกกุณาละนั้นด้วยท่อนไม้ กระเบื้อง เครื่องมือ หิน ก้อนดิน ไม้กระบอง ศาสตรา หรือก้อนกรวดเลย นางนกอีก ๕๐๐ บินไปข้างหน้าด้วยประสงค์ว่า นกกุณาละนี้ อย่าได้ถูกกอไม้ เครือเถา ต้นไม้ กิ่งไม้ เสาหรือหิน หรือนกที่มีกำลังมากกว่าเลย นางนกอีก ๕๐๐ บินไปข้างหลัง เจรจาด้วยถ้อยคำที่ละเอียดอ่อนหวานไพเราะ ด้วยประสงค์ว่า นกกุณาละนี้อย่าได้เงียบเหงาอยู่บนที่จับเลย ยังมีนางนกอีก ๕๐๐ บินไปในทิศานุทิศ นำผลไม้อันอร่อยจากต้นไม้หลายชนิดมาให้ ด้วยประสงค์ว่า นกกุณาละนี้อย่าได้ลำบากด้วยความหิวในระหว่างทางเลย
               ได้ยินว่า นางนกเหล่านั้นพานกกุณาละนั้นเข้าป่า ออกป่าเข้าสวน ท่าน้ำ ซอกภูเขา สวนมะม่วง สวนชมพู่ สวนขนุนสำมะลอ สวนมะพร้าว โดยรวดเร็ว เพื่อต้องการให้รื่นเริง ได้ยินว่า เมื่อนางนกเหล่านั้นบำเรออยู่ครบถ้วนเช่นนี้ พญานกกุณาละก็ยังรุกรานเอาพวกนางนกเหล่านั้นว่า อีถ่อยฉิบหาย อีถ่อยละลาย อีโจร อีนักเลง อีเผอเรอ อีใจง่าย อีไม่รู้จักคุณของคน อีตามใจตนเหมือนลม.


               มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ได้ยินมาอย่างนี้ ได้ฟังมาอย่างนี้ว่า ชัฏแห่งป่านั้นเป็นสถานที่เต็มไปด้วยโอสถทุกชนิด มีเนื้อความพิสดารว่า คำว่า ทรงไว้ซึ่งแผ่นดินมีโอสถทั้งหมด มีอธิบายว่า ประกอบด้วยภาคพื้นดินทรงไว้ซึ่งโอสถทั้งหมด มีรากไม้เปลือกไม้ใบไม้และดอกไม้เป็นต้น
               อีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นประเทศที่ทรงไว้ซึ่งภาคพื้นอันประกอบด้วยโอสถทั้งหมด ด้วยว่าประเทศนั้นเป็นประเทศที่ทรงไว้ซึ่งแผ่นดินอันประกอบ ไปด้วยโอสถทั้งหมด เพราะฉะนั้น จึงกล่าวกันมาอย่างนี้
               และได้ยินกันมาอย่างนี้ มีคำกล่าวอธิบายว่า ในชัฏแห่งป่านั้นมีแผ่นดินที่มีเครื่องยาทั้งหมด แม้ในการประกอบบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกันทีเดียว. คำว่า ดารดาษด้วยดอกไม้และของหอมมิใช่น้อย อธิบายว่า ดารดาษแล้วด้วยดอกไม้ที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นผล และระเบียบดอกไม้สำหรับเป็นเครื่องประดับมิใช่น้อย. คำว่า กวาง หมายถึงจำพวกเนื้อที่มีสีเป็นทอง. คำว่า นาก หมายถึงจำพวกนาก. คำว่า แมว หมายเอาแมวตัวใหญ่ๆ มณฑลแห่งช้างรุ่นเรียกว่ามณฑลอันราบรื่น. คำว่า ช้างใหญ่ หมายถึงช้างขนาดใหญ่ มีอธิบายว่า มีสกุลช้างตัวประเสริฐ ๑๐ ตระกูล ซึ่งเป็นช้างใหญ่มีมณฑลอันราบเรียบและฝูงช้างรุ่นอาศัยอยู่. คำว่า อิสสมฤค หมายถึง ราชสีห์ดำ. คำว่า เนื้อสมัน หมายถึง เนื้อสมันตัวใหญ่ๆ. คำว่า เนื้อกระ หมายถึง เนื้อลาย. คำว่า หน้าม้า หมายถึง นางยักษิณีที่มีหน้าคล้ายม้า. คำว่า กินนร ได้แก่ พวกกินนรต่างประเภทเป็นต้นว่า เทพกินนร จันทกินนร ทุมกินนร (คือกินนรบนต้นไม้) นกต้อยตีวิดมานพ นกกระเรียน กินนรมีผ้าห้อยหูเป็นต้น. คำว่า ดารดาษด้วยหมู่ไม้เป็นอเนกทรงไว้ซึ่งดอกตูมและก้านมีดอกอันแย้มบานตลอดปลาย อธิบายว่า ดารดาษด้วยหมู่ไม้เป็นอันมาก ล้วนแต่ทรงไว้ซึ่งดอกตูมและทรงก้าน มีดอกอันบานดีแล้ว บานตลอดถึงปลาย นกหัสดีลิงค์ ชื่อว่า อารณะ นกเหล่านี้บางทีเรียกว่า เจลาวกะก็มี. คำว่า เทพและกนกทั้งสองนั้น หมายถึง สุพรรณชาติอย่างเดียว. อธิบายว่า เป็นประเทศที่ประดับด้วยธาตุหลายร้อยชนิดมีอัญชันเป็นต้นเหล่านี้ และกองแห่งธาตุซึ่งมีสีเป็นอันมาก. คำว่า ท่านผู้เจริญ นี้เป็นคำทักทายโดยธรรม. คำว่า งดงาม คือ งามตั้งแต่จะงอยปากตลอดถึงภายใต้ส่วนแห่งท้อง.
               คำว่า ๓,๕๐๐ คือ ๔,๐๐๐ หย่อน ๕๐๐ หมายความว่า ๓,๕๐๐ นั่นเอง. คำว่า ในหนทางไกล คือในทางที่จะไป คือระยะทางอันไกล. คำว่า เบียดเบียน คือ บีบคั้นหรือท่วมทับ. คำว่า ถูก อธิบายว่า ความหนาวเป็นต้นอย่าได้เข้าไปกระทบเลย. คำว่า ขว้างปา นี้ บัณฑิตพึงทราบเนื้อความว่า เด็กเลี้ยงโคเป็นต้น อย่าได้ขว้างปาพญานกนั้นเลย. คำว่า ถูกต้อง คือ พญานกนั้นอย่าได้ถูกกอไม้เป็นต้นเลย. คำว่า ละเอียด คือ กลมเกลี้ยง. คำว่า อ่อน คือ น่ารัก. คำว่า หวาน คือ ไม่หยาบคาย. คำว่า ไพเราะ หมายถึง วาจาที่เปล่งด้วยเสียงอันไพเราะ. คำว่า เจรจา คือ บำเรออยู่ด้วยสามารถกระทำการฟ้อนรำขับร้อง. คำว่า ผลไม้อันอร่อยจากต้นไม้หลายชนิด หมายถึง ผลไม้มีรสแปลกๆ ต่างๆ ชนิด. คำว่า เข้าป่าออกป่า อธิบายว่า บรรดาป่าดอกไม้เป็นต้น นางนกเหล่านั้นได้นำพญานกเข้าไปยังป่านี้ โดยป่าแห่งใดแห่งหนึ่งทีเดียว แม้ในคำว่าสวนเป็นต้นก็มีนัยเหมือนกัน. คำว่า สวนมะพร้าว หมายถึง สวนมะพร้าวแห่งอื่นจากสวนมะพร้าวนั้น. คำว่า พา หมายความว่า นางนกเหล่านั้นพาพญานกไปอย่างนี้ เข้าไปถึงสถานที่นั้นโดยเร่งรีบ เพื่อต้องการให้รื่นเริง. คำว่า บำรุงบำเรออยู่ตลอดวันยังค่ำ อธิบายว่า บำเรออยู่ทั้งวัน. คำว่า รุกราน อธิบายว่า ได้ยินว่า นางนกเหล่านั้นบำรุงบำเรอพญานกนั้นตลอดวันอย่างนี้ ให้ลงจากต้นไม้ที่อยู่ จับอยู่ที่กิ่งไม้เป็นต้น ปรารถนาอยู่ว่า ไฉนหนอ เราพึงได้ถ้อยคำอันไพเราะบ้าง ในเวลาที่พญานกบอกให้กลับ คิดว่า พวกเราจักไปยังที่อยู่ของตนแล้วก็พักอยู่. ส่วนพญานกกุณาละ เมื่อจะส่งพวกนางนกเหล่านั้นให้กลับไป ได้รุกรานด้วยคำว่า อีฉิบหายเป็นต้น. คำว่า อีฉิบหาย ในข้อความนั้น หมายความว่า พวกเจ้าจงกลับไป. คำว่า อีถ่อยละลาย หมายความว่า จงฉิบหายโดยประการทั้งปวง. อธิบายว่า พญานกกล่าวว่า อีโจร เพราะนำทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นต้นในเรือนให้พินาศ. เรียกว่า อีนักเลง เพราะมีมายามาก. เรียกว่า อีเผอเรอ เพราะไม่มีสติ. เรียกว่า อีใจง่าย เพราะมีใจโลเล. เรียกว่า อีไม่รู้จักคุณคน เพราะทำลายมิตร กระทำความพินาศให้.

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงตรัสต่อไปว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เมื่อเราเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็ย่อมรู้ว่า หญิงทั้งหลายเป็นคนอกตัญญู เป็นคนมีมายามาก เป็นคนประพฤติอนาจาร เป็นคนทุศีล ด้วยประการฉะนี้ แม้ในคราวนั้น เราก็มิได้อยู่ในอำนาจของหญิงเหล่านั้น กลับให้หญิงเหล่านั้นอยู่ในอำนาจของตน พระองค์ทรงนำเสียซึ่งความเบื่อหน่ายของภิกษุเหล่านั้นออกไป ด้วยพระธรรมกถาอย่างนี้แล้ว ก็ทรงดุษณีภาพนิ่งอยู่ ในขณะนั้น มีนางนกดุเหว่าดำ ๒ ตัว ให้นกสามีจับตรงกลางท่อนไม้ แล้วคาบบินมา แม้ในส่วนเบื้องต่ำเป็นต้น ก็มีนางนกประจำข้างละ ๔ ตัวๆ ได้มาถึงประเทศนั้น
               ภิกษุเหล่านั้นเห็นนกเหล่านั้น จึงทูลถามพระศาสดา.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่ปางก่อน มีนกดุเหว่าขาวตัวหนึ่งชื่อปุณณมุขะ เป็นสหายของเรานี้ เป็นวงศ์ของนกดุเหว่าปุณณมุขะนั้น
               เมื่อภิกษุเหล่านั้นทูลถามโดยนัยก่อนทีเดียว จึงตรัสว่า
               ดูก่อนท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า ข้างทิศตะวันออกแห่งภูเขาหิมพานต์นั้น มีแม่น้ำอันไหลมาแต่ซอกเขาอันละเอียดสุขุมดียิ่งนัก มีสีเขียว.


               อธิบายว่า ซอกเขาอันละเอียดสุขุมดี เพราะมีน้ำอันใสสะอาดดีเป็นที่เกิดของแม่น้ำเหล่านี้ เพราะฉะนั้น แม่น้ำเหล่านั้นจึงได้ชื่อว่ามีซอกเขาอันละเอียด สุขุมดีเป็นแดนเกิด แม่น้ำที่ไหลผ่านจากเขาหิมพานต์นั้น มีสีเขียวเพราะมีห้วงน้ำเจือด้วยหญ้าเขียว ไหลผ่านมาลงสระกุณาละ แม่น้ำทั้งหลายซึ่งมีซอกเขา อันละเอียดสุขุมเป็นแดนเกิดมีสีเขียวไหลผ่านไปเห็นปานนี้ ย่อมไหลไปในที่ใด

               บัดนี้ พระศาสดา เมื่อจะทรงพรรณนาดอกไม้ทั้งหลายในสระชื่อกุณาละ ซึ่งแม่น้ำเหล่านั้นไหลลงมา จึงได้ตรัสว่า
               เป็นประเทศที่น่ารื่นเริงบันเทิงใจ ด้วยกลิ่นหอมอันเกิดในบัดนั้นจากดอกอุบล ดอกปทุม ดอกกุมุท ดอกนลิน บัวผัน จงกลนี บัวเผื่อน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ดอกอุบล หมายถึงดอกอุบลเขียว. คำว่า ดอกนลิน หมายถึง บัวขาว. คำว่า บัวผัน หมายถึงมีดอกบัวทุกชนิดครบบริบูรณ์. คำว่า ในบัดนั้น ได้แก่ ดอกไม้เหล่านี้งอกงามขึ้นในบัดนั้น คือ เกิดขึ้นใหม่ๆ ภูเขาหิมพานต์นั้นประกอบด้วยประเทศที่มีกลิ่นหอมมีกลิ่นเป็นที่ฟูใจ และเป็นที่รื่นเริงใจ เพราะสามารถที่จะผูกน้ำใจไว้ได้.

               บัดนี้ พระศาสดา เมื่อจะทรงพรรณนาถึง ต้นไม้เป็นต้นในสระนั้น จึงตรัสเนื้อความดังต่อไปนี้
               ดูก่อนท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า ณ ภูเขาหิมพานต์ซึ่งเป็นป่าอันเป็นทิวแถวประกอบด้วยพรรณไม้ต่างชนิด คือบัวต่างๆ พรรณและพรรณต้นไม้ คือ ไม้จิก ไม้เกด ไม้ย่างทราย ซึ่งมีกิ่งห้อยย้อยลงมา ไม้อ้อยช้าง ต้นบุนนาค ต้นพิกุล ต้นงา ต้นประยงค์ ต้นขมิ้น ต้นรัง ต้นจำปา ต้นอโศก ต้นนาก ต้นหงอนไก่ ต้นเสม็ด ต้นโลท ต้นจันทน์ ซึ่งมีกิ่งเห็นแผ่ก่ายกัน อันเป็นป่าชัฏซึ่งเต็มไปด้วยต้นกระลำพัก ต้นปทุม ต้นประยงค์ ต้นเทพทาโร ต้นกล้วย ทรงไว้ซึ่งต้นไม้รกฟ้า ต้นมวกเหล็ก ต้นประดู่ ต้นสัก ต้นกรรณิการ์ ต้นกัณณวิรา ต้นหางช้าง ต้นทองหลาง ต้นทองกวาว ต้นคัดเค้า ต้นมะลิป่า ต้นแก้ว ต้นซึกอันไม่มีโทษ ต้นขานางซึ่งงดงามดียิ่งนัก และดอกไม้สำหรับร้อยเป็นพวงมาลัยต่างๆ พรรณ ดารดาษไปด้วยกอมะลิ และนมแมว ลำเจียก กฤษณา แฝก ซึ่งล้วนมีดอกตูมอ่อนสะพรั่ง เป็นประเทศที่มีพรรณไม้ดอกงอกงามขึ้นเป็นพุ่ม และดารดาษประดับด้วยเครือวัลย์ ได้ยินเสียงหมู่หงส์ นกนางนวล นกกาน้ำ นกเป็ดน้ำ ร้องก้องระงมไพร เป็นที่สถิตอยู่แห่งหมู่วิทยาธร ฤษี สิทธิสมณ ดาบส เป็นประเทศที่ประชุมอยู่ของหมู่มนุษย์ เทพยดา ยักษ์ รากษส ทานพ คนธรรพ์ กินนร พญานาค ในไพรสณฑ์อันน่ารื่นรมย์สำราญเห็นปานนี้ มีนกดุเหว่าขาว มีถ้อยคำอันอ่อนหวานยิ่งนัก มีตาแดงดังนัยน์ตาคนเมาสอดส่ายไปมาอาศัยอยู่.
               ดูก่อนท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า นกดุเหว่าชื่อปุณณมุขะนั้น มีนางนกดุเหว่าเป็นนางบำเรอ ๓๕๐ ตัว กล่าวกันว่า นางนกดุเหว่า ๒ ตัว คาบท่อนไม้ตัวละข้างให้ พญานกปุณณมุขะจับที่ตรงกลางพาบินไป ด้วยความประสงค์จะมิให้ พญานกปุณณมุขะนั้นเหน็ดเหนื่อยในหนทางยืดยาว นางนกอีก ๕๐ ตัวบินไปในเบื้องต่ำ ด้วยประสงค์ว่า ถ้าพญานกปุณณมุขะพลาดจากที่จับแล้ว จะได้เอาปีกทั้งสองประคองรับไว้ นางนกอีก ๕๐ ตัวบินไปในเบื้องบน ด้วยประสงค์จะป้องกันมิให้แดดส่องต้องพญาปุณณมุขะได้ นางนกอีก ๑๐๐ ตัวบินไปข้างซ้ายและข้างขวาข้างละ ๕๐ ตัว ด้วยประสงค์มิให้หนาวร้อน หญ้า ละออง ลมและน้ำค้างตกต้องพญานกปุณณมุขะนั้น นางนกอีก ๕๐ ตัวบินไปข้างหน้าด้วยประสงค์จะป้องกันพวกเลี้ยงโค พวกเลี้ยงสัตว์ คนหาหญ้า คนหาฟืน คนทำงานในป่ามิให้ประหารด้วยไม้ ด้วยกระบอง ด้วยเครื่องมือ ด้วยก้อนหิน ไม้ค้อน ศัสตรา และก้อนกรวด. นางนกอีก ๕๐ ตัวบินไปเบื้องหลัง ด้วยประสงค์มิให้พญานกปุณณมุขะกระทบกอไม้เครือเถา ต้นไม้ กิ่งไม้ เสา หิน และนกที่มีกำลังมากกว่า ยังมีนางนกอีก ๕๐ ตัว เปล่งเสียงอันละเอียดอ่อนหวานไพเราะจับใจ บินตามไปข้างหลัง ด้วยประสงค์มิให้พญานกปุณณมุขะ ซึ่งจับอยู่บนคอนมีความเงียบเหงา ยังมีนางนกอีก ๕๐ ตัวบินไปในที่ต่างๆ นำผลไม้มีรสอันอร่อยมากมายมาให้ ด้วยประสงค์จะมิให้พญานกปุณณมุขะหิวโหย ในระหว่างทาง
               ดูก่อนท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า นางนกทิชกัญญาเหล่านั้นพาพญานกปุณณมุขะเข้าป่าออกป่า เข้าสวนออกสวนไปยังท่าน้ำ ยอดภูเขา สวนมะม่วง สวนชมพู่ สวนขนุนสำมะลอ สวนมะพร้าว โดยรวดเร็ว เพื่อให้มีความรื่นเริงยินดี
               ได้ยินว่า เมื่อนางนกทั้งหลายบำเรออยู่อย่างนี้ตลอดวัน พญานกปุณณมุขะ ย่อมสรรเสริญอย่างนี้ว่า ดีมากๆ น้องหญิงทั้งหลาย การปฏิบัติผัวอย่างนี้ สมควรแก่พวกเจ้าผู้เป็นลูกเหล่าตระกูล.

               ดูก่อนผู้เจริญ ได้ยินว่า ในกาลต่อมา พญานกปุณณมุขะดุเหว่าขาว ได้ไปหาพญานกกุณาละ พวกนางนกดุเหว่าบริจาริกาของพวกพญานกกุณาละเห็น พญานกปุณณมุขะแต่ไกล จึงออกไปหา แล้วพูดกะพญานกดุเหว่าปุณณมุขะนั้นว่า ข้าแต่สหายปุณณมุขะ พญากุณาละนี้หยาบช้า มีวาจาหยาบคาย พวกเราจะได้ฟังวาจาอันเป็นที่รัก เพราะอาศัยท่านได้บ้างหรือไม่หนอ. พญานกปุณณมุขะจึงตอบว่า บางทีจะได้บ้างกระมัง น้องหญิงทั้งหลาย แล้วก็พาไปหาพญากุณาละ กล่าวสัมโมทนียกถากับพญากุณาละแล้ว ก็สถิตอยู่ ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง ครั้นเรียบร้อยแล้ว พญานกปุณณมุขะก็กล่าวกะพญานกกุณาละนั้นว่า ดูก่อนสหายกุณาละ เพราะเหตุไร ท่านจึงปฏิบัติผิดต่อหญิงทั้งหลายที่เป็นลูกเหล่าตระกูล มีชาติเสมอกัน ซึ่งนางปฏิบัติดีต่อท่าน ดูก่อนสหายกุณาละ ได้ยินเขาว่ากันว่า หญิงทั้งหลายที่บริบูรณ์ด้วยมารยาท ถึงจะพูดไม่ถูกใจเรา เราก็ควรพูดให้ถูกใจเขา ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงหญิงที่มีมารยาทดี พูดถูกใจเรา และเราจะไม่พูดให้ถูกใจเขาเล่า เมื่อพญานกปุณณมุขะกล่าวอย่างนี้ พญานกกุณาละจึงรุกรานเอาพญานกปุณณมุขะว่า ดูก่อนสหายลามกชั่วช้า ใครเขาจะฉลาดผจญเมียยิ่งไปกว่าเธอเล่า พญานกปุณณมุขะถูกพญานกกุณาละรุกรานเอา ก็กลับจากที่นั้น.

               ได้ยินว่า ต่อมาโดยสมัยอื่นอีก อาพาธอันแรงกล้าได้เกิดขึ้นแก่พญานกปุณณมุขะโดยกาลไม่นานทีเดียว คือ ลงเป็นโลหิต เกิดเวทนากล้าแข็งจวนตาย. ลำดับนั้น นางนกดุเหว่าซึ่งเป็นบริจาริกาของพญานกปุณณมุขะ ก็เกิดความปริวิตกว่า พญานกปุณณมุขะนี้เกิดอาพาธหนักแล้ว จะหายหรือไม่หายจากโรคนี้ก็ไม่รู้ได้ คิดแล้ว ก็ทิ้งพญานกปุณณมุขะไว้แต่เพียงตัวเดียว ไม่มีเพื่อน พากันเข้าไปหาพญานกกุณาละ
               ฝ่ายพญานกกุณาละ ได้เห็นนางนกเหล่านั้นบินมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว จึงได้กล่าวกะพวกนางนกเหล่านั้นว่า ดูก่อนพวกอีถ่อย ก็ผัวของเจ้าไปเสียไหนเสียเล่า. นางนกทั้งหลายจึงตอบว่า ข้าแต่สหายกุณาละเอ๋ย พญานกปุณณมุขะดุเหว่าขาวเจ็บหนัก จะหายจากอาพาธนั้นหรือไม่หาย ก็ไม่รู้ได้. เมื่อนางนกทั้งหลายกล่าวอย่างนี้แล้ว พญานกกุณาละก็รุกรานเอาพวกนางนกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนอีถ่อย พวกเจ้าจงฉิบหาย ดูก่อนอีถ่อย พวกเจ้าจงพินาศ อีพวกโจร อีพวกนักเลง อีเผอเรอ อีใจง่าย อีไม่รู้จักคุณคน อีตามใจตนเหมือนลม ครั้นรุกรานแล้ว จึงเข้าไปหาพญานกปุณณมุขะดุเหว่าขาว แล้วร้องเรียกว่า นี่แน่ะสหายปุณณมุขะเอ๋ย พญานกปุณณมุขะก็ตอบรับว่า อะไรนะสหายกุณาละ. ครั้นแล้วพญานกกุณาละ ก็ประคบประหงมพญานกปุณณมุขะ ด้วยปีกและจะงอยปาก พอให้ลุกขึ้นได้แล้ว ก็ให้ดื่มยาต่างๆ อาพาธของพญานกปุณณมุขะ ก็หายลงในขณะนั้นทีเดียว.


               พระอรรถกถาจารย์กล่าวอธิบายไว้ว่า
               คำว่า ดอกประยงค์ หมายถึง จำพวกดอกไม้ขาว. ห อักษรในคำว่า หสนา นั้นเป็นบทสนธิ. แท้จริงเป็นอสนา เท่านั้น. คำว่า ติริฏิ หมายถึงรุกขชาติชนิดหนึ่ง. คำว่า ต้นจันทน์ หมายถึงต้นจันทน์แดง. คำว่า ในป่าอันเป็นทิวแถว คือในป่าอันประกอบด้วยทิวแถวของหมู่ไม้เหล่านี้. คำว่า อันเป็นป่าชัฏซึ่งเต็มไปด้วยต้นเทพทาโรและต้นกล้วย หมายถึง ป่าต้นเทพทาโรและป่ากล้วยทั้งหลาย. คำว่า ต้นสัก คือรุกขชาติชนิดหนึ่ง. คำว่า กรรณิการ์ หมายถึงต้นกรรณิการ์ซึ่งมีดอกใหญ่. คำว่า กัณณวิรา หมายถึงต้นกรรณิการ์ที่มีดอกเล็ก. คำว่า ทองกวาว หมายถึงต้นราชพฤกษ์ก็ได้. คำว่า ต้นคัดเค้า หมายถึงต้นโยธกาก็ได้. คำว่า ทรงไว้ซึ่งต้นมะลิป่า ต้นแก้ว ต้นซึกอันไม่มีโทษ ต้นขานางซึ่งงามดียิ่งนัก และดอกไม้สำหรับร้อยเป็นพวงมาลัยต่างๆ พรรณ. อธิบายว่า ทรงไว้ซึ่งดอกไม้ทั้งหลายแห่งต้นมะลิป่า ต้นแก้ว ต้นไม้ที่ไม่มีโทษ ต้นซึก ต้นไม้ที่งดงาม ต้นขานางซึ่งร้อยเป็นมาลัยได้. คำว่า นมแมว หมายถึงต้นคนทาก็ได้. คำว่า ลำเจียก หมายถึงทั้งต้นทั้งใบของลำเจียก. คำว่า ดารดาษไปด้วยกอ หมายถึงกอไม้ที่เกิดในน้ำ และกอไม้ที่เกิดบนภูเขา ดารดาษไปด้วยดอกมะลิเป็นต้นเหล่านี้. คำว่า เป็นพุ่มและประดับด้วยเครือวัลย์ หมายถึง ประเทศที่ดารดาษและประดับด้วยพรรณไม้ต่างชนิด มีไม้ดอกเป็นต้น และเครือวัลย์ต่างๆ ชนิด ซึ่งยกขึ้นเป็นพุ่มอย่างดีในที่นั้นๆ. คำว่า มีหมู่สถิตอยู่ อธิบายว่า มีหมู่พวกวิทยาธรเป็นต้นสถิตอยู่ในที่นั้น. คำว่า พญานกปุณณมุขะ อธิบายว่า นกที่ได้ชื่อว่าปุณณมุขะ เพราะมีหน้าเต็ม และได้ชื่อว่าเป็นนกดุเหว่าขาว เพราะสิ่งเหล่าอื่นถูกต้อง.
               คำว่า มีนัยน์ตาสอดส่าย คือ มีนัยน์ตาส่ายไปส่ายมา. คำว่า มีตาเหมือนคนเมา อธิบายว่า มีตาแดงเหมือนตาของคนเมา อนึ่ง มีตาประกอบด้วยประมาณ. คำว่า น้องหญิงทั้งหลาย เป็นคำร้องเรียกด้วยโวหารอันประเสริฐ. คำว่า ปฏิบัติ คือ พึงรับใช้ตลอดวันยังค่ำ. พญานกปุณณมุขะกล่าวด้วยคำอันเป็นที่รัก แล้วจึงส่งพวกนางนกเหล่านั้นไป ด้วยประการฉะนี้ ก็ในกาลบางครั้ง พญานกกุณาละพร้อมด้วยบริวารได้ไปหาพญานกปุณณมุขะ บางครั้งพยานกปุณณมุขะก็มาหาพญานกกุณาละ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อน ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่าในกาลบางครั้ง ดังนี้เป็นต้น. คำว่า สหาย หมายเอาเพื่อนที่รักใคร่กัน. คำว่า อาศัย ได้แก่ ตั้งใจเข้าไปอาศัย. คำว่า พึงได้ อธิบายว่า พวกเราพึงได้ด้วยคำอันเป็นที่รักจากสำนักของพญานกกุณาละ. คำว่า บ้างกระมัง อธิบายว่า พึงได้บ้างเป็นแน่ เราจักลองพูดกะพญานกกุณาละดู. คำว่า มีชาติเสมอกัน คือ มีชาติร่วมกัน. คำว่า จงฉิบหาย คือ จงปราศจากไป. คำว่า ลามก คือ เลวทราม.
               คำว่า ฉลาด อธิบายว่า คนอื่นใครเล่าที่เขาจะฉลาดเหมือนอย่างท่านยังจะมีอยู่. คำว่า ชายาชิเนน หมายความว่า เมียเอาชนะตัว อีกอย่างหนึ่ง บาลีเป็น ชายาชิเตน ดังนี้เลยก็มี อธิบายว่า พญานกกุณาละได้รุกรานพญานกปุณณมุขะว่า ขึ้นชื่อว่าใครที่จะฉลาดเหมือนอย่างท่านที่ถูกหญิงให้ท่านแพ้แล้วยังมีอยู่ ดังนี้ เพื่อต้องการจะมิให้กล่าวถ้อยคำเช่นนั้นอีกต่อไป. คำว่า จากที่นั้น อธิบายว่า พญานกปุณณมุขะคิดว่า พญานกกุณาละโกรธเราแล้ว จึงกลับจากที่นั้นทีเดียว พร้อมด้วยบริวาร กลับไปยังที่อยู่ของตนทีเดียว. คำว่า ไม่รู้ นี้เป็นคำแสดง ถึงความวิตกด้วยความสงสัย พวกนกเหล่านั้นคิดกันอย่างนี้ว่า พญานกปุณณมุขะนี้ จะพึงหายจากการเจ็บไข้นี้ หรือไม่หายก็ไม่รู้ ดังนี้ จึงพากันละทิ้งพญานกปุณณมุขะนั้น แล้วหลีกไป. คำว่า ของเจ้า หมายเอาผัวของพวกเจ้า. คำว่า ก็ไม่รู้ อธิบายว่า พวกนางนกเหล่านั้นกล่าวว่า พญานกปุณณมุขะนี้ จะหายจากการเจ็บไข้นั้นหรือไม่หาย ก็ไม่รู้ได้ ในเวลาที่พวกข้าพเจ้าไปแล้ว เธอคงจักตายแน่ ด้วยว่าพวกข้าพเจ้ารู้ว่า พญานกปุณณมุขะนี้จักตายในบัดนี้ จึงได้พากันมา เพื่อจะเป็นบาทบริจาริกาของท่าน. คำว่า ไปหา อธิบายว่า พญานกกุณาละคิดว่า พวกนางนกเหล่านี้คิดว่า พวกเราจักพากันมาในเวลาที่สามีตายแล้ว ก็จักดูน่าเกลียด จึงพากันละทิ้งพญานกปุณณมุขะนั้น แล้วพากันมา ส่วนเราจะไปจัดแจงยาต่างๆ มีดอกไม้และผลไม้เป็นต้น กระทำสหายของเราให้หายโรค ครั้นคิดดังนี้แล้ว พระมหาสัตว์ซึ่งมีกำลังดุจพญาช้างสาร จึงบินไปในอากาศ เข้าไปหาพญานกปุณณมุขะโดยทิศาภาคที่เธออยู่. คำว่า หํ เป็นนิบาต พญานกกุณาละ เมื่อจะถามว่า ท่านยังมีชีวิตอยู่หรือสหาย จึงได้กล่าวอย่างนี้ แม้พญานกปุณณมุขะนอกนี้ กล่าวตอบพญานกกุณาละว่า เออ เรายังมีชีวิตอยู่ สหายเอ๋ย. คำว่า ให้ดื่ม คือให้ดื่มยาต่างๆ ชนิด. คำว่า หาย อธิบายว่า โรคของพญานกปุณณมุขะ ก็สงบลงในขณะนั้น.

               ฝ่ายนางนกดุเหว่าทั้งหลายแม้เหล่านั้น พอพญานกปุณณมุขะหายเจ็บ ก็พากันกลับมา.

.. อรรถกถา กุณาลชาดก ว่าด้วย นางนกดุเหว่า
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 249 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 296 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 315 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=1897&Z=2257
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=6718
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=6718
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๖  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :