ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270215อรรถกถาชาดก 270217
เล่มที่ 27 ข้อ 217อ่านชาดก 270219อ่านชาดก 272519
อรรถกถา คิริทัตตชาดก
ว่าด้วย การเอาอย่าง

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุคบพวกผิดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ทูสิโต คิริทตฺเตน ดังนี้.
เรื่องราวกล่าวไว้แล้วใน มหิฬามุขชาดก ในหนหลัง.
แต่ในเรื่องนี้ พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้คบพวกผิดมิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน ภิกษุนี้ก็คบพวกผิดเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
ในอดีตกาล พระราชาพระนามว่าสามะ ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี. ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลอำมาตย์ ครั้นเจริญวัย ก็ได้เป็นผู้สอนอรรถและธรรมของพระราชา. ก็พระราชามีม้ามงคลตัวหนึ่งชื่อปัณฑวะ. คนเลี้ยงม้าของพระองค์ชื่อคิริทัต เขามีขาพิการ. ม้าเห็นนายคิริทัตถือบังเหียนเดินไปข้างหน้า สำคัญว่า คนนี้สอนเราจึงเรียนตามเขากลายเป็นม้าขาพิการไป. นายคิริทัตจึงกราบทูลถึงความพิการของม้าให้พระราชาทรงทราบ. พระราชาจึงทรงส่งแพทย์ไปตรวจอาการ. พวกแพทย์ไปตรวจดูก็ไม่เห็นโรคในตัวม้า จึงกราบทูลพระราชาว่า พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่พบโรคของม้า พระเจ้าข้า.
พระราชาจึงทรงส่งพระโพธิสัตว์ไปว่า ท่านจงไปดูเหตุการณ์ของม้าในร่างกายนี้ พระโพธิสัตว์ไปตรวจดูก็รู้ว่า ม้านั้นพิการเพราะเกี่ยวกับคนเลี้ยงม้าขาพิการ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา เมื่อจะแสดงให้เห็นว่าเป็นอย่างนี้ เพราะโทษที่เกี่ยวข้องกัน
จึงกล่าวคาถาแรกว่า :-
ม้าชื่อปัณฑวะของพระเจ้าสามะ ถูกคนเลี้ยงชื่อคิริทัตประทุษร้าย จึงละปกติเดิมของตน ศึกษาเอาอย่างคนเลี้ยงม้านั่นเอง.


ในบทเหล่านั้น บทว่า หโย สามสฺส ได้แก่ ม้ามงคลของพระเจ้าสามะ.
บทว่า โปราณปกตึ หิตฺวา ได้แก่ ละปกติเดิม อันเป็นสมบัติของตนเสีย.
บทว่า ตสฺเสว อนุวิธิยฺยติ ได้แก่ ศึกษาเอาอย่าง.

ลำดับนั้น พระราชาจึงรับสั่งถาม บัดนี้จะควรทำอย่างไรแก่ม้านั้น. พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ได้คนเลี้ยงม้าที่ดีแล้วจักเป็นเหมือนเดิม พระพุทธเจ้าข้า.
แล้วกล่าวคาถาที่สองว่า :-
ถ้าบุรุษผู้บริบูรณ์ด้วยอาการอันงดงามสมควรแก่ม้านั้น ตกแต่งร่างกายงดงาม จับจูงม้านั้นที่บังเหียนพาเวียนไปรอบๆ สนามม้า ไม่ช้าเท่าไร ม้าก็จะละความเป็นกระจอกเสีย ศึกษาเอาอย่างบุรุษนั้นทีเดียว.


ในบทเหล่านั้น บทว่า ตนุโช ได้แก่ เป็นผู้บังเกิดตาม คือสมควรแก่ม้านั้น. บุรุษใดสมควรแก่ม้านั้น บุรุษนั้นชื่อว่าเป็นตัวอย่างของม้านั้น.
ข้อนี้ท่านอธิบายไว้ว่า
ข้าแต่มหาราช หากมีบุรุษผู้สมควรแก่ม้า อันถึงพร้อมด้วยมารยาทอันน่ารักนั้น ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยมารยาทอันน่ารัก.
บทว่า สิงฺคาราการกปฺปิโต ความว่า บุรุษนั้นตกแต่งผมและหนวดด้วยอาการอันน่ารัก คืองดงาม จะพึงจับม้านั้นที่บังเหียนจูงเดินเวียนไปในบริเวณของม้า ม้านี้จักละความพิการนี้เสียทันที จะเอาอย่าง คือสำเหนียกคนเลี้ยงม้า คือจักตั้งอยู่ในความเป็นปกติ โดยสำคัญว่า คนเลี้ยงม้าผู้น่ารัก ถึงพร้อมด้วยมารยาทนี้ ให้เราเอาอย่าง.

พระราชารับสั่งให้ทำอย่างนั้น ม้าก็ตั้งอยู่ในความปกติ พระราชาทรงโปรดปรานว่า ท่านผู้นี้รู้อัธยาศัยแม้กระทั่งสัตว์เดียรัจฉาน จึงได้พระราชทานยศแก่พระโพธิสัตว์เป็นอันมาก.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก
คิริทัตในครั้งนั้นได้เป็น เทวทัต ในครั้งนี้
ม้าได้เป็นภิกษุผู้คบพวกผิด
พระราชาได้เป็น อานนท์
ส่วนอำมาตย์บัณฑิต คือ เราตถาคต นี้แล.

-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา คิริทัตตชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270215อรรถกถาชาดก 270217
เล่มที่ 27 ข้อ 217อ่านชาดก 270219อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=1334&Z=1342
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๒๐  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]