ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 271188อรรถกถาชาดก 271199
เล่มที่ 27 ข้อ 1199อ่านชาดก 271207อ่านชาดก 272519
อรรถกถา ทีปิชาดก
ว่าด้วย คนร้ายไม่ต้องการเหตุผล

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรงปรารภแม่แพะตัวหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ขมนียํ ยาปนียํ ดังนี้.
ความพิสดารว่า สมัยหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระอยู่ที่เสนาสนะซอกเขา ใกล้ประตูภูเขาวงก์แห่งหนึ่ง ที่จงกรมของท่านได้มีอยู่ที่ใกล้ๆ ประตูภูเขานั้น. ครั้งนั้น พวกคนเลี้ยงแพะคิดว่า แพะจะเที่ยวอยู่ในที่นี้ จึงได้ต้อนแพะเข้าไปไว้ในซอกภูเขา แล้วพากันเที่ยวเล่นอยู่.
เย็นวันหนึ่ง เมื่อพวกคนเลี้ยงแพะพากันต้อนฝูงแพะไป แม่แพะตัวหนึ่งไปเล่นไกลฝูง ไม่ทันเห็นฝูงแพะออกจากคอก จึงเดินล้าหลังอยู่. เสือเหลืองตัวหนึ่งเห็นแม่แพะนั้นออกทีหลัง จึงคิดว่า เราจักกินแม่แพะนั้น แล้วจึงไปยืนขวางประตูซอกเขาอยู่. แม่แพะเหลียวดูทางโน้นทางนี้ เห็นเสือเหลืองนั้น คิดว่า เสือนี้ยืนอยู่ ถ้าเราจะกลับหนีไปก็คงไม่รอดชีวิต เราควรจะทำความกล้าหาญในวันนี้ ดังนี้แล้ว จึงยกเขามุ่งหน้าเผชิญเสือเหลืองนั้น วิ่งไปโดยเร็ว เสือเหลืองหลบด้วยคิดว่า จักจับเอาทางนี้ แต่ไม่ทัน แม่แพะได้โจนเข้าที่รกชัฏ รีบหนีเข้ากลุ่มแพะไปได้.
พระโมคคัลลานเถระได้เห็นกิริยาของสัตว์ทั้งสองนั้น.
วันรุ่งขึ้น จึงไปกราบทูลพระตถาคตว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม่แพะนั้นได้ทำความบากบั่นด้วยความที่ตนเป็นผู้มีอุบายฉลาด จึงรอดพ้นจากเสือเหลืองได้อย่างนี้ พระเจ้าข้า.
พระศาสดาตรัสว่า โมคคัลลานะ เสือเหลืองไม่อาจจับแม่แพะนั้นได้ ในบัดนี้เท่านั้น แต่ในกาลก่อน เสือเหลืองได้ฆ่าแม่แพะนั้นผู้กำลังคร่ำครวญอยู่กินแล้ว ดังนี้.
พระมหาโมคคัลลานะได้กราบทูลอาราธนาให้ตรัสเรื่องราว จึงได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ได้เกิดในตระกูลมีโภคะมาก ในบ้านตำบลหนึ่ง ในมคธรัฐ.
ครั้นเจริญวัยแล้ว ได้ละกามออกบวชเป็นฤๅษี ทำฌานและอภิญญาให้เกิดแล้ว อยู่ในหิมวันตประเทศเป็นเวลานาน เมื่อต้องการจะเสพรสเค็มรสเปรี้ยว จึงได้ไปพระนครราชคฤห์ สร้างบรรณศาลาอยู่ที่ซอกเขาแห่งหนึ่ง.
ครั้งนั้น พวกคนเลี้ยงแพะปล่อยฝูงแพะเที่ยวอยู่ โดยทำนองที่กล่าวแล้ว. วันหนึ่ง เสือเหลืองได้เห็นแม่แพะตัวหนึ่งออกทีหลัง จึงคิดว่า เราจักกินแม่แพะนั้น จึงยืนขวางประตูอยู่. แม่แพะเห็นดังนั้นคิดว่า วันนี้เราจักไม่รอดชีวิต เราจักปราศรัยด้วยวาจาอ่อนหวานกับเสือเหลืองนี้ ด้วยอุบายอย่างหนึ่ง ทำหัวใจเสือเหลืองให้อ่อนโยน รักษาชีวิตไว้ คิดดังนี้แล้ว จึงกระทำปฏิสันถารกับเสือเหลืองนั้นมาแต่ไกล.
เมื่อมาถึง จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ความว่า :-
คุณลุงครับ ท่านพออดทนได้หรือ พอจะเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปได้อยู่หรือ ท่านมีความสุขดีหรือ มารดาของฉันได้ถามความสุขของท่าน เราทั้งหลายปรารถนาความสุขแก่ท่านเหมือนกัน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขํ เต อมฺม ความว่า มารดาของฉันได้พูดมากะฉันในวันนี้ว่า จะได้รับความสุขจากท่าน. บทว่า มยํ ความว่า ข้าแต่ท่านลุง แม้ตัวฉันก็ต้องการให้ลุงมีความสุขเหมือนกัน.

เสือเหลืองได้ฟังดังนั้นคิดว่า แม่แพะฉ้อโกงตัวนี้ ประสงค์จะล่อลวงเราด้วยคิดว่า ลุง ไม่รู้ว่าเป็นผู้ร้ายกาจ ดังนี้.
แล้วกล่าวคาถาที่ ๒ ความว่า :-
แน่ะแม่แพะ เจ้ามารังแกเหยียบหางของเราได้ วันนี้ เจ้าสำคัญว่าจะพึงพ้นความตาย ด้วยวาทะว่า ลุง หรือ?

คาถานั้น มีความหมายว่า แน่ะแม่แพะ เจ้ามาแกล้งรังแกเหยียบหางเรา วันนี้ เจ้าคงจะเข้าใจว่า จะพ้นจากความตาย ด้วยเสแสร้งแกล้งกล่าวคำว่า ลุง เจ้าอย่าได้มั่นหมายอย่างนี้เลย.

แม่แพะได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่านลุง ขอท่านอย่าได้ทำอย่างนี้เลย.
แล้วกล่าวคาถาที่ ๓ ความว่า :-
ท่านนั่งผินหน้าตรงทิศบูรพา ฉันก็ได้มานั่งอยู่ตรงหน้าท่าน ไฉนฉันจะเข้าไปเหยียบหางของท่าน ซึ่งอยู่เบื้องหลังได้เล่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มุขํ แปลว่า เฉพาะหน้า. บทว่า กถํ โขหํ ความว่า ไฉน ฉันจะไปเหยียบหางของท่าน ซึ่งอยู่เบื้องหลังได้ อย่างไรเล่า?

ลำดับนั้น เสือเหลืองกล่าวกะแม่แพะว่า แน่ะแม่แพะ เจ้าพูดอะไร ที่ที่จะพ้นจากหางของเราไปไม่มี ดังนี้.
แล้วกล่าวคาถาที่ ๔ ความว่า :-
ทวีปทั้ง ๔ ทั้งมหาสมุทร และภูเขามีประมาณเท่าใด เราเอาหางของเราวงที่มีประมาณเท่านั้นไว้หมด เจ้าจะงดเว้นที่ ที่เราเอาหางวงไว้นั้นได้อย่างไร?

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตาวตา ความว่า เสือเหลืองกล่าวว่า เราเอาหางของเราวงที่เท่านั้น เข้าไว้ทั้งหมด.

แม่แพะได้ฟังดังนั้นคิดว่า เสือเหลืองนี้ลามก หาติดอยู่ในถ้อยคำที่ไพเราะไม่ กลับเป็นศัตรูกล่าวเสียดแทงเรา ดังนี้.
แล้วกล่าวคาถาที่ ๕ ความว่า :-
ในกาลก่อน มารดาบิดาก็ดี พี่น้องทั้งหลายก็ดี ได้บอกความเรื่องนี้แก่ฉันแล้วว่า หางของท่านผู้ประทุษร้ายยาว ฉันจึงมาทางอากาศ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกฺขึสุ ความว่า เมื่อก่อน มารดาบิดาก็ดี ญาติพี่น้องทั้งหลายก็ดี ได้บอกความเรื่องนี้ไว้แก่เราแล้ว. บทว่า สมฺหิ ความว่า เรานั้นทราบความจากสำนักมารดาบิดา ญาติพี่น้องว่า หางของท่านผู้ประทุษร้ายยาว เพื่อรักษาหางของท่าน จึงมาทางอากาศ.

ลำดับนั้น เสือเหลืองกล่าวว่า เรารู้ว่าเจ้ามาทางอากาศ แต่เมื่อมา เจ้าได้มาทำภักษาหารของเราให้พินาศ ดังนี้.
แล้วกล่าวคาถาที่ ๖ ความว่า :-
แน่ะแม่แพะ ก็เพราะว่า ฝูงเนื้อเห็นเจ้ามาในอากาศ จึงพากันหนีไปเสีย ภักษาหารของเรา เจ้าทำให้พินาศหมดแล้ว.


แม่แพะได้ฟังดังนั้น ก็กลัวมรณภัย เมื่อไม่อาจหาอุบายอย่างอื่นมาแก้ไขได้ จึงร้องวิงวอนว่า ข้าแต่ลุง ท่านอย่าได้ทำกรรมหยาบช้าอย่างนี้เลย จงให้ชีวิตแก่ข้าพเจ้าเถิด. เสือเหลืองได้ตะครุบแม่แพะ ซึ่งกำลังร้องวิงวอนอยู่ ฆ่ากินแล้ว.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสอภิสัมพุทธคาถา ๒ คาถานี้ว่า :-
เมื่อแม่แพะวิงวอนอยู่อย่างนี้ เสือเหลืองผู้มีเลือดเป็นภักษาหารก็ขม้ำคอ วาจาสุภาษิตมิได้มีในหมู่บุคคลผู้ประทุษร้าย.
เหตุผล สภาพธรรม วาจาสุภาษิตมิได้มีในบุคคลผู้ประทุษร้ายเลย บุคคลพึงพยายามหลีกไปให้พ้นบุคคลผู้ประทุษร้าย ก็บุคคลผู้ประทุษร้ายนั้น ย่อมไม่ยินดีคำสุภาษิตของสัตบุรุษทั้งหลาย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รุหํฆโส ได้แก่ เสือเหลืองผู้มีโลหิตเป็นภักษา คือผู้ดื่มกินซึ่งโลหิต. บทว่า คลกํ อนฺธาวมทฺที ความว่า เสือเหลืองขม้ำคอ ฉีกเนื้อ ดื่มเลือดกิน.
บทว่า สุภาสิตํ ได้แก่ ถ้อยคำที่กล่าวดีแล้ว. อธิบายว่า คำเป็นสุภาษิตทั้งหมดนั้น ย่อมไม่มีในบุคคลผู้ประทุษร้าย. บทว่า นิกฺกมฺเม ทุฏฺเฐ ยุญฺเชถ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงทำความเพียร ก้าวให้พ้นคนใจร้าย. บทว่า โส จ สพฺภิ น รชฺชติ ความว่า ก็เพราะบุคคลใจร้ายนั้น ย่อมไม่ยินดี คือไม่สนใจ คำสุภาษิตอันสุนทรของสัตบุรุษทั้งหลาย.

พระดาบสได้เห็นกิริยาของสัตว์ทั้งสองนั้นทุกอย่าง.

พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
แม่แพะในครั้งนั้น ได้มาเป็นแม่แพะ ในบัดนี้
เสือเหลืองในครั้งนั้น ได้มาเป็นเสือเหลือง ในบัดนี้
ส่วนพระดาบสได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล

จบ อรรถกถาทีปิชาดกที่ ๑๐
จบ กัจจานิวรรค.
-----------------------------------------------------

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กัจจานิชาดก ว่าด้วย ในกาลไหนๆ ธรรมย่อมไม่ตาย
๒. อัฏฐสัททชาดก ว่าด้วย นิพพาน
๓. สุลสาชาดก ว่าด้วย ผู้รอบรู้เหตุผลย่อมรอดพ้นศัตรู
๔. สุมังคลชาดก ว่าด้วย คุณธรรมของกษัตริย์
๕. คังคมาลชาดก ว่าด้วย กามทั้งหลายเกิดจากความดำริ
๖. เจติยราชชาดก ว่าด้วย เชฏฐาปจายนธรรม
๗. อินทริยชาดก ว่าด้วย ดี ๔ ชั้น
๘. อาทิตตชาดก ว่าด้วย การให้ทานกับการรบ
๙. อัฏฐานชาดก ว่าด้วย สิ่งที่เป็นไปไม่ได้
๑๐. ทีปิชาดก ว่าด้วย คนร้ายไม่ต้องการเหตุผล
จบ อัฏฐกนิบาตชาดก.
-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา ทีปิชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 271188อรรถกถาชาดก 271199
เล่มที่ 27 ข้อ 1199อ่านชาดก 271207อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=5069&Z=5100
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๓๑  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]