ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 271443อรรถกถาชาดก 271453
เล่มที่ 27 ข้อ 1453อ่านชาดก 271463อ่านชาดก 272519
อรรถกถา จักกวากชาดก
ว่าด้วย นกจักรพราก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุเหลาะแหละรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า วณฺณวา อภิภูโปสิ ดังนี้.
ได้ยินว่า ภิกษุรูปนั้นไม่อิ่มด้วยปัจจัยมีจีวรเป็นต้น เที่ยวแสวงหาอยู่ว่าสังฆภัตมีที่ไหน กิจนิมนต์มีที่ไหนเป็นต้น พอใจอยู่ในเรื่องอามีสเท่านั้น
ครั้งนั้น ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักหวังจะอนุเคราะห์เธอ จึงกราบทูลกะพระศาสดา
พระศาสดารับสั่งให้เรียกภิกษุนั้นมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอเป็นผู้เหลาะแหละจริงหรือ เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า
จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอบวชในศาสนาที่จะนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ เหตุไรจึงเป็นผู้เหลาะแหละ ขึ้นชื่อว่าความเหลาะแหละเป็นเรื่องลามกมาก แม้ในกาลก่อน เธอก็อาศัยความเหลาะแหละไม่รู้จักอิ่มด้วยศพช้างเป็นต้นในเมืองพาราณสี ต้องเข้าไปในป่าใหญ่ ดังนี้
แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี มีกาเหลาะแหละตัวหนึ่งไม่รู้จักอิ่มด้วยศพช้างเป็นต้นในเมืองพาราณสี จึงคิดว่า ป่าเป็นเช่นไรหนอแล้วไปป่า ไม่สันโดษด้วยผลาผลในป่านั้น เที่ยวไปถึงฝั่งแม่น้ำคงคา เห็นนกจักรพรากสองตัวผัวเมีย แล้วคิดว่า นกเหล่านี้งามเหลือเกิน นกเหล่านี้เห็นจะกินเนื้อปลามากที่ฝั่งแม่น้ำคงคานี้ แม้เราก็ควรจะถามนกเหล่านี้ แล้วกินอาหารของนกเหล่านี้ จะเป็นผู้มีวรรณะงาม คิดแล้วก็ไปจับอยู่ใกล้ๆ นกจักรพรากเหล่านั้น
เมื่อจะถามนกจักรพราก จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-

ดูก่อนจักรพราก ท่านมีสีสวย รูปงาม ร่างกายแน่นแฟ้น มีสีแดงดังทอง ทรวดทรงงาม ใบหน้าผุดผ่อง.
ท่านจับอยู่ที่ฝั่งคงคา เห็นจะได้กินอาหารอย่างนี้ คือปลากา ปลากระบอก ปลาหมอ ปลาเค้า ปลาตะเพียนกระมัง.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฆโน คือ มีร่างกายแน่น. บทว่า สญฺชาตโรหิโต คือ มีสีแดงที่เกิดแล้วด้วยดี ดังทองสีแดง. บทว่า ปาฏีนํ คือ ปลากา ชื่อว่าปาฏีนะ. บทว่า ปาวุสํ ได้แก่ปลากระบอก บาลีว่า ราวุสํ ดังนี้ก็มี. บทว่า พลชฺชํ ได้แก่ปลาหมอ. บทว่า มุญฺชโรหิตํ ได้แก่ปลาเค้าและปลาตะเพียน.

กาถามว่า ท่านเห็นจะได้กินอาหารเห็นปานนี้?
นกจักรพราก เมื่อจะปฏิเสธคำของกานั้น จึงได้กล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-

ดูก่อนสหาย สิ่งอื่นนอกจากสาหร่ายและแหนแล้ว เรามิได้ถือเอาเนื้อสัตว์บกหรือสัตว์น้ำมากินเป็นอาหารเลย สาหร่ายและแหนเท่านั้นเป็นอาหารของเรา.


พึงทราบความแห่งคำอันเป็นคาถานั้นว่า ดูก่อนสหาย สิ่งอื่นนอกจากสาหร่ายและแหนแล้ว เรามิได้ถือเอาเนื้อสัตว์บกหรือสัตว์น้ำมาบริโภคเป็นอาหารเลย ดูก่อนสหาย ก็สาหร่ายและแหนเท่านั้นเป็นอาหารของเรา.

ลำดับนั้น กาจึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
ดูก่อนสหาย เราไม่เชื่อว่าอาหารของนกจักรพรากเป็นอย่างนี้ แม้เรากินอาหารที่คลุกเคล้าด้วยเกลือและน้ำมันในบ้าน
ซึ่งเป็นอาหารที่ปรุงด้วยเนื้ออันสะอาดทำกินกันในหมู่มนุษย์ ดูก่อนนกจักรพราก ถึงกระนั้น สีของเราก็ไม่เหมือนท่าน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถา ตุวํ เป็นต้น ความว่า สีของเราไม่เหมือนท่านผู้ซึ่งเพียบพร้อมด้วยความงามอันเลอเลิศมีสีดุจทอง ด้วยเหตุนั้น เมื่อท่านบอกว่า มีสาหร่ายและแหนเป็นอาหาร เราจึงไม่เชื่อ.

ลำดับนั้น นกจักรพราก เมื่อจะบอกเหตุที่ทำให้วรรณะเศร้าหมอง แสดงธรรมแก่กานั้น
จึงได้กล่าวคาถาที่เหลือว่า :-

ท่านเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย จึงต้องคอยมองดูผู้ที่ผูกเวรในตน เพียงแต่จะกินก็สะดุ้งกลัว เพราะเหตุนั้น สีกายของท่านจึงเป็นเช่นนี้.
แน่ะท่านธังกะ ท่านเป็นผู้ถูกคนทั่วโลกโกรธเคือง อาหารที่ท่านได้มาด้วยกรรมอันลามก ย่อมไม่อิ่มท้อง เพราะเหตุนั้น สีกายของท่านจึงเป็นเช่นนี้.
ดูก่อนสหาย ส่วนเรามิได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวงมากิน มีความขวนขวายน้อย ไม่มีใครรังเกียจ ใจไม่ห่อเหี่ยว ภัยแต่ที่ไหนๆ ก็มิได้มี.
ท่านนั้นจงสร้างอานุภาพ ละปกติคือความทุศีลของตนเสีย อย่าเบียดเบียนใครเที่ยวไปในโลก จะเป็นที่รักของชาวโลกเช่นตัวเรา.
ผู้ใดไม่ฆ่าเอง ไม่ใช่ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ทำทรัพย์ให้เสื่อมเอง ไม่ใช้ผู้อื่นทำให้เสื่อม มีเมตตาจิตในสัตว์ทั่วไป ผู้นั้นย่อมไม่มีเวรกับใครๆ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺปสฺสํ ความว่า แน่ะเพื่อนกา ท่านเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย จึงต้องคอยแลดูจิตที่คิดผูกเวรในตนซึ่งเกิดขึ้นในผู้อื่น. บทว่า มานุสึ ปชํ ได้แก่เบียดเบียน คือทำร้ายสัตว์ทั้งหลาย. บทว่า อุตฺรสฺโต คือกลัวแล้ว.
บทว่า ฆสสี แปลว่า จะกินเพราะเหตุนั้น วรรณะของท่านจึงเป็นเช่นนี้.
นกจักรพรากร้องเรียกกาว่า ดูก่อนธังกะ โภชนะ ชื่อว่าปิณฑะ.
บทว่า อหึสํ สพฺพปาณินํ ความว่า นกจักรพรากกล่าวว่า ส่วนเรามิได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวงมากิน. บทว่า โส กรสฺสุ อานุภาวํ ความว่า แม้ท่านนั้นจงทำความเพียรของตน ละความทุศีล กล่าวคือปกติของตนเสีย. บทว่า อหึสาย คือ เป็นผู้ประกอบด้วยอหิงสาเที่ยวไปในโลก. บทว่า ปิโย โหหิสิ มมฺมิว ความว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านย่อมจะเป็นที่รักของชาวโลกเช่นตัวเรานั่นเทียว.
บทว่า น ชินาติ คือ ไม่ทำทรัพย์ให้เสื่อมเอง.
บทว่า น ชาปเย คือ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นทำทรัพย์ให้เสื่อม.
บทว่า เมตฺตํโส คือ มีเมตตาจิตอันเป็นส่วนแห่งความรัก.
บทว่า น เกนจิ ความว่า ขึ้นชื่อว่าเวรของผู้นั้น ย่อมไม่มีกับใครๆ แม้สักคนเดียว.

ฉะนั้น ท่านต้องการเป็นที่รักของโลกพร้อมทั้งเทวโลก ก็จงงดเว้นจากเวรทั้งหมด
นกจักรพรากแสดงธรรมแก่กาด้วยประการฉะนี้.
กากล่าวว่า ท่านไม่บอกอาหารของตนแก่เรา แล้วก็ร้อง กา กา บินไปร่อนลง ณ พื้นที่ที่เจือด้วยอุจจาระในกรุงพาราณสี.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม เวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้เหลาะแหละดำรงอยู่ในอนาคามิผล
พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า
กาในครั้งนั้น ได้มาเป็น ภิกษุผู้เหลาะแหละในบัดนี้
นางนกจักรพรากในครั้งนั้น ได้มาเป็น มารดาพระราหุล ในบัดนี้
ส่วนนกจักรพรากในครั้งนั้น คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาจักกวากชาดกที่ ๑๓

.. อรรถกถา จักกวากชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 271443อรรถกถาชาดก 271453
เล่มที่ 27 ข้อ 1453อ่านชาดก 271463อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=5882&Z=5905
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]