ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 272519อรรถกถาชาดก 280001
เล่มที่ 28 ข้อ 1อ่านชาดก 280020อ่านชาดก 281045
อรรถกถา นฬินิกาชาดก
ว่าด้วย ราชธิดาทำลายตบะของดาบส.

หน้าต่างที่   ๒ / ๒.

ดาบสนั้นฟังคำของบิดาแล้ว เมื่อจะเล่าถึงเหตุการณ์นั้นให้ทราบ จึงเรียนว่า

ชฎิลผู้ประพฤติพรหมจรรย์มาในอาศรมนี้ มีรูปร่างน่าดู น่าชม เอวเล็กเอวบาง ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก รัศมีสวยงาม มีศีรษะปกคลุมด้วยผมอันดำเป็นเงางาม ไม่มีหนวด บวชไม่นาน มีเครื่องประดับเป็นรูปเชิงบาตรอยู่ที่คอ มีปุ่มสองปุ่มงามเปล่งปลั่งดังก้อนทองคำ เกิดดีแล้วที่อก หน้าของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก มีกรรเจียกจอนห้อยอยู่ที่หูทั้งสองข้าง กรรเจียกเหล่านั้น ย่อมแวววาว
เมื่อชฏิลนั้นเดินไปมา สายพันชฎาก็งาม แพรวพราว เครื่องประดับเหล่าอื่นอีกสี่อย่างของชฎิลนั้น มีสีเขียว เหลือง แดง และขาว เมื่อชฎิลนั้นเดินไปมา เครื่องประดับเหล่านั้นย่อมดังกริ่งกร่าง เหมือนฝูงนกติริฏิร้องในเวลาฝนตก ฉะนั้น ชฎิลนั้นไม่ได้คาดเครื่องรัดเอวที่ทำด้วยหญ้าปล้อง ไม่ได้นุ่งผ้าที่ทำด้วยเปลือกไม้ เหมือนของพวกเรา ผ้าเหล่านั้นพันอยู่ที่ระหว่างแข้งงามโชติช่วง ปลิวสะบัดดังสายฟ้าแลบอยู่ในอากาศ
ข้าแต่ท่านพ่อ ชฎิลนั้นมีผลไม้ไม่สุก ไม่มีขั้ว ติดอยู่ที่สะเอวภายใต้นาภี ไม่กระทบกัน กระดูกเล่นอยู่เป็นนิตย์ อนึ่ง ชฎิลนั้นมีชฎาน่าดูยิ่งนัก มีปลายงอนมากกว่าร้อย มีกลิ่นหอม
มีศีรษะอันแบ่งด้วยดีเป็นสองส่วน โอ ขอให้ชฎาของเรา จงเป็นเช่นนั้นเถิดหนอ และในคราวใด ชฎิลนั้นขยายชฎาอันประกอบด้วยสีและกลิ่น ในคราวนั้น อาศรมก็หอมฟุ้งไป เหมือนดอกอุบลเขียวที่ถูกลมรำเพยพัด ฉะนั้น
ผิวพรรณของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก ไม่เป็นเช่นกับผิวพรรณที่กายของข้าพเจ้า ผิวกายของชฎิลนั้น ถูกลมรำเพยพัดแล้วย่อมหอมฟุ้งไป ดุจป่าไม้ อันมีดอกบานในฤดูร้อน ฉะนั้น
ชฎิลนั้นตีผลไม้อันวิจิตรงามน่าดูลงบนพื้นดิน และผลไม้ที่ขว้างไปแล้ว ย่อมกลับมาสู่มือของเขาอีก ข้าแต่ท่านพ่อ ผลไม้นั้นชื่อผลอะไรหนอ
อนึ่ง ฟันของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก ขาวสะอาด เรียบเสมอกันดังสังข์อันขัดดีแล้ว เมื่อชฎิลเปิดปากอยู่ ย่อมยังใจให้ผ่องใส ชฎิลนั้นคงไม่ได้เคี้ยวผักด้วยฟันเหล่านั้นเป็นแน่
คำพูดของเขาไม่หยาบคาย ไม่เคลื่อนคลาด ไพเราะ อ่อนหวาน ตรง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คลอนแคลน เสียงของเขาเป็นเครื่องฟูใจ จับใจดังเสียงนกการเวก นำใจของข้าพเจ้าให้กำหนัดยิ่งนัก เสียงของเขาหยดย้อย เป็นถ้อยคำไม่สะบัดสะบิ้ง ไม่ประกอบด้วยเสียงพึมพำ
ข้าพเจ้าปรารถนาจะได้เห็นเขาอีก เพราะชฎิลนั้นเป็นมิตรของข้าพเจ้ามาก่อน แผลที่ต่อสนิทดี เกลี้ยงเกลาในที่ทั้งปวงใหญ่ เกิดดีแล้วคล้ายกับกลีบบัว ชฎิลนั้นให้ข้าพเจ้าคร่อมตรงแผลนั้น แหวกขาเอาแข้งบีบไว้ รัศมีซ่านออกจากกายของชฎิลนั้น ย่อมเปล่งปลั่งสว่างไสวรุ่งเรือง ดังสายฟ้าอันแลบแปลบปลาบอยู่ในอากาศ ฉะนั้น
อนึ่ง แขนทั้งสองของชฎิลนั้นอ่อนนุ่ม มีขนเหมือนขนดอกอัญชัน แม้มือทั้งสองของชฎิลนั้น ก็ประกอบด้วยนิ้วมืออันเรียววิจิตรงดงาม ชฎิลนั้นมีอวัยวะไม่ระคาย มีขนไม่ยาว เล็บยาว ปลายเป็นสีแดง ชฎิลนั้นมีรูปงาม กอดรัดข้าพเจ้าด้วยแขนทั้งสองอันอ่อนนุ่ม บำเรอให้รื่นรมย์
ข้าแต่ท่านพ่อ มือทั้งสองของชฎิลนั้นอ่อนนุ่มคล้ายสำลี งามเปล่งปลั่ง พื้นฝ่ามือเกลี้ยงเกลา เหมือนแว่นทอง ชฎิลนั้นกอดรัดข้าพเจ้า ด้วยมือทั้งสองนั้นแล้ว ไปจากที่นี้ ย่อมทำให้ข้าพเจ้าเร่าร้อนด้วยสัมผัสนั้น
ชฎิลนั้นมิได้นำหาบมา มิได้หักฟืนเอง มิได้ฟันต้นไม้ด้วยขวาน แม้มือทั้งสองของชฎิลนั้นก็ไม่มีความกระด้าง หมีได้กัดชฎิลนั้นเป็นแผล เธอจึงกล่าวกะข้าพเจ้าว่า ขอท่านช่วยทำให้ข้าพเจ้ามีความสุขเถิด ข้าพเจ้าจึงช่วยทำให้เธอมีความสุข และความสุข ก็เกิดมีแก่ข้าพเจ้าด้วย
ข้าแต่ท่านผู้เป็นพรหม เธอได้บอกข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้ามีความสุขแล้ว ก็ที่อันปูลาดด้วยใบเถาย่างทรายของท่านนี้ กระจุยกระจายแล้ว เพราะข้าพเจ้าและชฎิลนั้น เราทั้งสองเหน็ดเหนื่อยแล้ว ก็รื่นรมย์กันในน้ำ แล้วเข้าสู่กุฏิอันมุงบังด้วยใบไม้บ่อยๆ
ข้าแต่ท่านพ่อ วันนี้ มนต์ทั้งหลายย่อมไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้าเลย การบูชาไฟข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย แม้การบูชายัญ ในที่นั้นข้าพเจ้าก็ไม่ชอบใจ ตราบใดที่ข้าพเจ้า ยังมิได้พบเห็นชฎิล ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ข้าพเจ้าจะไม่บริโภคมูลผลาหารของท่านพ่อเลย
ข้าแต่ท่านพ่อ แม้ท่านพ่อย่อมรู้เป็นแน่แท้ว่า ชฎิลผู้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ทิศใด ขอท่านพ่อจงพาข้าพเจ้าไปให้ถึงทิศนั้นโดยเร็วเถิด ข้าพเจ้าอย่าได้ตายเสียในอาศรมของท่านเลย
ข้าแต่ท่านพ่อ ข้าพเจ้าได้ฟังถึงป่าไม้อันวิจิตรมีดอกบาน กึกก้องไปด้วยเสียงนกร้อง มีฝูงนกอาศัยอยู่ ขอท่านพ่อช่วยพาข้าพเจ้าไปให้ถึงป่าไม้นั้น โดยเร็วเถิด ข้าพเจ้าจะต้องละชีวิตเสียก่อนในอาศรมของท่านพ่อเป็นแน่.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธาคมา ได้แก่ ข้าแต่ท่านพ่อ ชฎิลผู้ประพฤติพรหมจรรย์มายังอาศรมนี้.
บทว่า สุทสฺสเนยฺโย ได้แก่ มีรูปร่างควรดูด้วยดี.
บทว่า สุตนู ได้แก่ มีรูปร่างบางกำลังดี ไม่ผอมนัก ไม่อ้วนนัก.
บทว่า วิเนติ ความว่า ย่อมยังอาศรมให้ถึง คือให้เต็มเปี่ยมด้วยรัศมีกายของตน คล้ายกับว่าอาศรมมีแต่รัศมีอย่างเดียว.
บทว่า สุกณฺหกณฺหจฺฉทเนหิ โภโต ความว่า ข้าแต่ท่านพ่อ ศีรษะของท่านผู้เจริญนั้น มีสีดำสนิทด้วยเส้นผมที่มีสีคล้ายแมลงภู่ เพราะปกคลุมด้วยสีดำเป็นเงางามย่อมปรากฏ คล้ายทำด้วยแก้วมณีที่ขัดสีดีแล้ว ฉะนั้น.
บทว่า อมสฺสุชาโต ได้แก่ ชฎิลนั้นยังเป็นหนุ่มแน่น หนวดของเขาจึงยังไม่ปรากฏก่อน.
บทว่า อปุราณวณฺณี ได้แก่ ยังบวชไม่นานนัก.
บทว่า อาธารรูปญฺจ ปนสฺส กณฺเฐ นี้ ท่านกล่าวหมายถึงแก้วมุกดาหารว่า ก็ชฎิลนั้นมีเครื่องประดับคล้ายกับรูปเชิงบาตร สำหรับใช้วางภาชนะภิกษาของพวกเราอยู่ที่คอ.
บทว่า คณฺฑา นี้ ท่านกล่าวหมายถึงนมทั้งสองข้าง.
บทว่า อุเร สุชาตา ได้แก่ เกิดดีแล้วที่อก. ปาฐะว่า อุรโต ดังนี้ก็มี.
บทว่า ปภสฺสรา ได้แก่ สมบูรณ์ด้วยรัศมี. ปาฐะว่า ปภาสเร ดังนี้ก็มี ความว่า ย่อมส่องสว่าง.
บทว่า ภุสทสฺสเนยฺยํ แปลว่า น่าดูยิ่งนัก.
บทว่า กุญฺจิตคฺคา นี้ ท่านกล่าวหมายถึงกรรเจียกจอน.
บทว่า สุตฺตญฺจ ความว่า สายพันที่ชฎาของชฎิลนั้น ย่อมส่องแสงแพรวพราว.
ด้วยบทว่า สํยมานิ จตสฺโส นี้ ท่านแสดงถึงเครื่องประดับ ๔ อย่างที่ทำด้วยแก้วมณี ทองคำ แก้วประพาฬและเงิน.
บทว่า ตา สํสเร ความว่า เครื่องประดับเหล่านั้นย่อมดังกริ่งกร่าง เหมือนฝูงนกติริฏิร้องในเวลาที่ฝนตก ฉะนั้น.
บทว่า เมขลํ แปลว่า สายรัดเอวสำหรับผู้หญิง. ปาฐะก็อย่างนี้เหมือนกัน. คำนี้ท่านกล่าวหมายถึงผ้าใยไม้ชนิดบางสำหรับนุ่ง.
บทว่า น สนฺถเร ได้แก่ ไม่ใช่ผ้าเปลือกไม้. มีคำที่ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ข้าแต่ท่านพ่อ ชฎิลนั้นมิได้ใช้ผ้าที่ทำด้วยหญ้าปล้อง หรือที่ทำด้วยเปลือกไม้ เหมือนของพวกเราเลย แต่ชฎิลนั้นใช้ผ้าใยไม้ชนิดบางสีทอง.
บทว่า อขิลกานิ ได้แก่ ไม่สุก ไม่มีขั้ว.
บทว่า กฏิสโมหิตานิ ได้แก่ ผูกติดอยู่ที่สะเอว.
บทว่า นิจฺจกีฬํ กโรนฺติ ความว่า แม้จะไม่กระทบกัน แต่ก็กระดกเล่นอยู่เป็นนิตย์.
บทว่า หนฺตาต แปลว่า ข้าแต่ท่านพ่อผู้เจริญ.
บทว่า กึ รุกฺขผลานิ ตานิ นี้ ท่านกล่าว หมายถึง แก้วมณีและผ้าพาดว่า ผลไม้เหล่านั้น เป็นผลไม้ชนิดไหน ที่ผูกด้ายเป็นปมติดอยู่ที่สะเอวของมาณพนั้น.
บทว่า ชฎา ท่านกล่าวหมายถึงมวยผมที่แซมเสียบติดด้วยรัตนะ โดยเป็นระเบียบวงรอบชฎา.
บทว่า เวลฺลิตคฺคา แปลว่า มีปลายงอนขึ้น.
บทว่า เทฺวธาสิโร ได้แก่ ศีรษะของชฎิลนั้น มีชฎาที่ผูกแบ่งด้วยดีเป็นสองส่วน.
บทว่า ตถา ความว่า ดาบสปรารถนาว่า ชฎาของผม ท่านพ่อมิได้ผูกให้เหมือนชฎาของมาณพนั้นเลย โอ หนอ ขอให้ชฎาแม้ของผมจงเป็นเช่นนั้นเถิด ดังนี้ จึงได้กล่าวไว้แล้ว.
บทว่า อุเปตรูปา ได้แก่ ชฎามีสภาวะอันประกอบแล้ว.
บทว่า วาตสเมริตํว ความว่า กลิ่นหอมย่อมฟุ้งขจรไป ในอาศรมไพรสณฑ์นี้ เหมือนดอกอุบลเขียวที่ถูกลมรำเพยพัดฟุ้งไป ฉะนั้น.
บทว่า เนตาทิโส ความว่า ข้าแต่ท่านพ่อ ผิวพรรณที่สรีระของชฎิลนั้นทั้งน่าดูยิ่งนัก ทั้งมีกลิ่นหอมด้วย ไม่เป็นเช่นกับผิวพรรณที่กายของข้าพเจ้าเลย.
บทว่า อคฺคคิมฺเห ได้แก่ ในสมัยต้นฤดูฝน.
บทว่า นิหนฺติ แปลว่า ย่อมตี.
บทว่า กึ รุกฺขผลํ นุโข ตํ ได้แก่ ผลไม้นั้นเป็นผลของต้นไม้อะไรหนอ.
บทว่า สงฺขวรูปปนฺนา ได้แก่ มีส่วนเปรียบเสมอด้วยสังข์อันขัดดีแล้ว.
บทว่า น นูน โส สากมขาทิ ความว่า มาณพนั้นไม่ได้เคี้ยวผัก หัวมันและผลไม้ด้วยฟันเหล่านั้น เหมือนอย่างพวกเราเป็นแน่. ดาบสนั้นย่อมแสดงว่า เพราะเมื่อพวกเราพากันเคี้ยวผลไม้เหล่านั้นอยู่ ฟันจึงมีสีเปลือกตมจับสนิท.
บทว่า อกกฺกสํ ความว่า ข้าแต่ท่านพ่อ คำพูดของดาบสนั้น แม้จะพูดอยู่บ่อยๆ ก็ไม่หยาบคาย ไม่เคลื่อนคลาด อ่อนหวานเพราะไพเราะหวานสนิท เป็นคำตรงเพราะไม่หลงลืม เป็นคำสงบ เรียบเพราะไม่ฟุ้งซ่าน เป็นคำไม่คลอนแคลน เพราะเป็นคำมั่นคงหลักฐาน.
บทว่า รุทํ ความว่า แม้เสียงร้องคือเสียงของเขาผู้พูดอยู่ ย่อมจับใจ เป็นเสียงดี ไพเราะหวาน ดุจเสียงนกการเวก ฉะนั้น.
บทว่า รญฺชยเตว ความว่า ใจของข้าพเจ้าย่อมกำหนัดยิ่งนัก.
บทว่า พินฺทุสฺสโร ได้แก่ เสียงของเขาหยดย้อย.
บทว่า มาณวาหุ ความว่า เพราะมาณพนั้นได้เป็นมิตรของข้าพเจ้ามาก่อน.
บทว่า สุสนฺธิ สพฺพตฺถ วีมฏฐิมํ วณํ ความว่า ข้าแต่ท่านพ่อ แผลแผลหนึ่ง มีอยู่ที่ระหว่างขาอ่อนของมาณพนั้น แผลนั้นมีรอยต่อสนิทดี สัมผัสดี เกลี้ยงเกลาในที่ทั้งปวง คือ เกลี้ยงเกลาโดยรอบ คล้ายกับปากแผลที่มีศิลปะ.
บทว่า ปุถุ ได้แก่ ใหญ่. บทว่า สุชาตํ ได้แก่ ดำรงอยู่เหมาะดี.
บทว่า ขรปตฺตสนฺนิภํ แปลว่า คล้ายกับกลีบดอกบัว.
บทว่า อุตฺตริยาน ได้แก่ คร่อม คือทับลง. บทว่า ปิฬยิ แปลว่า บีบไว้.
บทว่า ตปนฺติ ความว่า รัศมีมีสีดุจทองคำแผ่ซ่านออกจากสรีระของมาณพนั้น ย่อมเปล่งปลั่งสว่างไสวและรุ่งเรือง.
บทว่า พาหา ได้แก่ แม้แขนทั้ง ๒ ข้างของชฎิลนั้นก็อ่อนนุ่ม.
บทว่า อญฺชนโลมสทิสา ได้แก่ ประกอบพร้อมด้วยขนทั้งหลาย เช่นกับขนดอกอัญชัน.
บทว่า วิจิตฺรวฏฺฏงฺคุลิกสฺส โสภเร ความว่า แม้มือทั้งสองข้างของชฎิลนั้น ก็ประกอบด้วยนิ้วมืออันเรียวงดงาม มีลักษณะอันวิจิตร เช่นกับยอดผ้าขนสัตว์.
บทว่า อกกฺกสงฺโค ได้แก่ มีอวัยวะน้อยใหญ่ปราศจากโรคภัย มีโรคหิดที่เบียดเบียนเป็นต้น.
บทว่า รมยํ อุปฏฺฐหิ ความว่า บำรุง บำเรอให้ข้าพเจ้ารื่นรมย์.
บทว่า ตูลูปนิภา ได้แก่ เป็นข้ออุปมาถึงความอ่อนนุ่ม.
บทว่า สุวณฺณกมฺพูตลวฏฺฏสุจฺฉวี ได้แก่ พื้นฝ่ามือกลมเกลี้ยง และมีผิวพรรณดี คล้ายพื้นแว่นทองคำ. อธิบายว่า มีพื้นกลมเกลี้ยง และมีผิวพรรณงดงาม.
บทว่า สํผุสิตฺวา ได้แก่ สัมผัสด้วยดี คือใช้มือทั้งสองของตนสัมผัส ทำให้สรีระของข้าพเจ้าซาบซ่าน.
บทว่า อิโต คโต ได้แก่ ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้ามองดูอยู่นั่นแหละ เธอก็จากที่นี้ไปเสียแล้ว.
บทว่า เตน มํ ทหนฺติ ความว่า ด้วยการกอดรัดสัมผัสนั้นของเขา ทำให้ข้าพเจ้าเร่าร้อนอยู่จนถึงบัดนี้แหละ อธิบายว่า ก็จำเดิมแต่กาลที่ชฎิลนั้นจากไปแล้วอย่างนั้น ความเร่าร้อนก็บังเกิดขึ้นในสรีระของข้าพเจ้า ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงถึงความโทมนัสนอนซมอยู่แล้ว.
บทว่า ขาริวิธํ ความว่า ข้าแต่ท่านพ่อ มาณพนั้นมิได้ยกหาบเที่ยวไปเป็นแน่.
บทว่า ขีฬานิ ได้แก่ สิ้นความกระด้าง. อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน.
บทว่า สุขฺยํ ได้แก่ ความสุข. บทว่า สนฺถตา ได้แก่ อันปูลาด.
บทว่า วิกิณฺณรูปา จ ความว่า ข้าแต่ท่านพ่อ ที่อันปูลาดด้วยใบเถาย่างทรายของท่านนี้ กลายเป็นที่เปรอะเปื้อนอากูล ด้วยอำนาจการที่ข้าพเจ้าและชฎิลนั้นลูบคลำ สัมผัสทางเพศกันและกัน ในวันนี้ คล้ายกระจุยกระจาย ด้วยการนอนพลิกไปพลิกมา ฉะนั้น.
บทว่า ปุนปฺปุนํ ปณฺณกุฏึ วชาม ความว่า ชฎิลนั้นพูดว่า ข้าแต่ท่านพ่อ ข้าพเจ้าและชฎิลนั้นอภิรมย์กันแล้ว ก็เหน็ดเหนื่อย ออกจากบรรณศาลา พากันไปยังแม่น้ำ รื่นรมย์แล้ว พอปราศจากความกระวนกระวายแล้วก็กลับเข้าไปยังกุฎีนี้นั่นแหละบ่อยๆ.
บทว่า มนฺตา ความว่า วันนี้ คือตั้งแต่กาลที่ชฎิลนั้นจากข้าพเจ้าไปแล้ว มนต์ทั้งหลายย่อมไม่แจ่มแจ้ง คือย่อมไม่ปรากฏ ได้แก่ย่อมไม่ชอบใจข้าพเจ้าเลย.
บทว่า น อคฺคิหุตฺตํ นปิ ยญฺญ ตตฺร ความว่า แม้กิริยาของยัญมีจุดไฟ (สุมไฟ) ในการสังเวยเป็นต้น ที่ควรทำเพื่อต้องการอ้อนวอนท้าวมหาพรหม ย่อมไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย.
บทว่า น จาปิ เต ความว่า ข้าพเจ้าจะไม่ยอมบริโภค แม้ซึ่งมูลผลาหารที่ท่านพ่อนำมาแล้ว.
บทว่า ยสฺสํ ทิสํ แปลว่า ในทิศใด.
บทว่า วนํ ได้แก่ ป่าไม้ที่เกิดอยู่แวดล้อมอาศรมของมาณพนั้น.

เมื่อดาบสนั้นกำลังพร่ำเพ้ออยู่นั่นเอง พระมหาโพธิสัตว์ได้ฟังคำพร่ำเพ้อนั้นแล้ว ก็ทราบว่า ศีลของดาบสนี้ เห็นทีจักถูกผู้หญิงคนหนึ่งทำลายให้ขาดเสียแล้วเป็นแน่ ดังนี้
เมื่อจะกล่าวสอนดาบสนั้น จึงกล่าวคาถา ๖ คาถา ความว่า

เราไม่ควรให้เจ้าผู้ยังเป็นเด็กเช่นนี้ ถึงความกระสันในป่าโชติรส ที่หมู่คนธรรพ์และเทพอัปสรซ่องเสพ เป็นที่อยู่อาศัยแห่งฤาษีทั้งหลาย ในกาลก่อน พวกมิตรย่อมมีบ้าง ไม่มีบ้าง ชนทั้งหลาย ย่อมทำความรักในพวกญาติและพวกมิตร กุมารใดย่อมไม่รู้ว่า เราเป็นผู้มาแต่ไหน กุมารนี้เป็นผู้ลามก อยู่ในกลางวัน เพราะเหตุอะไร
มิตรสหายย่อมสนิทกันบ่อยๆ เพราะความอยู่ร่วมกัน มิตรนั้นนั่นแหละย่อมเสื่อมไป เพราะความไม่อยู่ร่วมของบุรุษที่ไม่สมาคม
ถ้าเจ้าได้เห็นพรหมจารี ได้พูดกับพรหมจารี เจ้าจักละคุณคือตปธรรมนี้เร็วไว ดุจข้าวกล้าที่สมบูรณ์แล้ว เสียไปเพราะน้ำมาก ฉะนั้น
หากเจ้าได้เห็นพรหมจารีอีก ได้พูดกับพรหมจารีอีก เจ้าจักละสมณเดชนี้เร็วไว ดุจข้าวกล้าที่สมบูรณ์แล้ว เสียไปเพราะน้ำมาก ฉะนั้น
ดูก่อนลูกรัก พวกยักษ์นั้นย่อมเที่ยวไปในมนุษยโลก โดยรูปแปลกๆ นรชนผู้มีปัญญา ไม่พึงคบพวกยักษ์นั้น พรหมจารีย่อมฉิบหายไป เพราะความเกาะเกี่ยวกัน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิมสฺมา ได้แก่ อิมสฺมึ แปลว่า (ในป่าอันเป็นโชติรส) นี้.
คำว่า หิ เป็นเพียงนิบาต.
บทว่า โชติรเส ได้แก่ ในป่าอันมีรัศมีโชติช่วงสว่างไสวปกคลุมทั่ว.
บทว่า สนนฺตนมฺหิ แปลว่า ในกาลก่อน.
บทว่า ปาปุเณถ แปลว่า (ไม่)ควรให้ถึง.
มีคำอธิบายที่ท่านกล่าวไว้ว่า ลูกเอ๋ย! กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิตอยู่ในป่าเห็นปานนี้ ไม่ควรให้เจ้าผู้ยังเป็นเด็กเช่นนี้ ถึงความกระสันเลย. อธิบายว่า ไม่ควรให้ถึง.
บทว่า ภวนฺติ ความว่า พระมหาโพธิสัตว์กล่าวคาถานี้ เฉพาะคนที่อยู่ภายในเท่านั้น.
ความในคาถานั้น มีอธิบายดังต่อไปนี้
ธรรมดาว่า หมู่มิตรของปวงสัตว์ในโลก ย่อมมีบ้าง ไม่มีบ้าง ในบรรดาคนเหล่านั้น พวกที่เป็นมิตร ย่อมทำความรักในพวกญาติและพวกมิตรของตน.
บทว่า อยญฺจ ชมฺโม ได้แก่ (กุมารนี้) เป็นมิคสิงคะ ผู้ลามก.
บทว่า กิสฺส ทิวา นิวิฏฺโฐ ความว่า เพราะค่าที่ตนเกิดในท้องของมิคีแล้วเติบโตในป่า ด้วยเหตุอะไร กุมารนั้นจึงอยู่กับมาตุคาม โดยสำคัญว่าเป็นมิตรเล่า
บทว่า กุโตมฺหิ อาคโต ความว่า กุมารนั้นย่อมไม่รู้ว่าตนมีฐานะมาอย่างไร จะป่วยกล่าวไปไยถึงหมู่ญาติและมิตรเล่า.
บทว่า ปุนปฺปุนํ ความว่า ลูกเอ๋ย! ธรรมดาว่า หมู่มิตรย่อมสนิทสนมกัน ติดต่อกันบ่อยๆ เพราะการอยู่ร่วมกัน คือคบหากัน.
บทว่า เสฺวว มิตฺโต ความว่า มิตรนั้นนั่นแหละ ย่อมเสื่อมไป คือย่อมพินาศไป เพราะการไม่อยู่ร่วมกล่าว คือการไม่สมาคมกันนั้นของบุรุษผู้ที่ไม่สมาคม.
คำว่า สเจ ความว่า เพราะฉะนั้น ลูกเอ๋ย! ถ้าเจ้าได้เห็นพรหมจารีนั้นซ้ำอีก หรือว่าได้พูดกับพรหมจารีนั้น เจ้าก็จักละ จักทำให้คุณ คือตปธรรมของตนนี้ เสื่อมไปเร็วไว ดุจข้าวกล้าที่เผล็ดผล สมบูรณ์ดีแล้ว เสียไปเพราะน้ำมาก ฉะนั้น.
บทว่า อุสฺมาคตํ แปลว่า สมณเดช.
บทว่า วิรูปรูเปน แปลว่า โดยรูปแปลกๆ.
มีคำที่ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า
พระโพธิสัตว์กล่าวสอนแล้วซึ่งบุตรอย่างนี้ว่า ดูก่อนลูกรัก ก็ภูต คือพวกยักษ์เหล่านี้ ย่อมเที่ยวไปในมนุษยโลก โดยรูปร่างของตนปกปิดรูปแปลกๆ ไว้ ก็เพื่อเคี้ยวกินพวกคนที่ตกไปสู่อำนาจของตน นรชนผู้มีปัญญา ไม่พึงคบหาพวกภูตคือยักษ์เหล่านั้น เพราะถึงความเกาะเกี่ยวกันเช่นนั้น การประพฤติพรหมจรรย์ย่อมฉิบหายไป เจ้าถูกนางยักษิณีนั้นพบเห็นแล้ว แต่ยังไม่ถูกเคี้ยวกิน.
ดาบสนั้นได้ฟังถ้อยคำของบิดาแล้ว เกิดความกลัวขึ้นว่า เพิ่งทราบว่า หญิงคนนั้นคือนางยักษิณี จึงกลับใจแล้ว ขอขมาคุณพ่อว่า คุณพ่อครับ ผมจักไม่ขอไปจากที่นี้ พ่อยกโทษให้ผมเถอะ. แม้พระโพธิสัตว์นั้นปลอบใจให้ลูกสบายใจแล้ว จึงบอกถึงวิธีการเจริญพรหมวิหารว่า
มาณพน้อยเอ๋ย! เจ้ามานี่ซิ เจ้าจงเจริญเมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขาเถิด.
ดาบสนั้นปฏิบัติตามอย่างนั้นแล้ว ก็ทำฌานและอภิญญาให้บังเกิดขึ้นได้อีก.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะทั้งหลายแล้ว ทรงประชุมชาดก. ในเวลาจบสัจจะ อุกกัณฐิตภิกษุ ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
พระราชธิดานฬินิกา ในกาลนั้น ได้เป็น ปุราณทุติยิกา.
อิสิสิงคดาบส ได้เป็น อุกกัณฐิตภิกษุ
ส่วนพระโพธิสัตว์ผู้เป็นบิดา ก็คือ เรา นั่นเอง.
-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา นฬินิกาชาดก จบ.
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 272519อรรถกถาชาดก 280001
เล่มที่ 28 ข้อ 1อ่านชาดก 280020อ่านชาดก 281045
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=28&A=1&Z=140
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๒๐  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]