ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280094อรรถกถาชาดก 280134
เล่มที่ 28 ข้อ 134อ่านชาดก 280163อ่านชาดก 281045
อรรถกถา โสณนันทชาดก
ว่าด้วย เรื่องพระราชาไปขอขมาโทษโสณดาบส

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภภิกษุผู้เลี้ยงมารดารูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า เทวตา นุสิ ดังนี้.
เนื้อเรื่องของชาดกนี้ คล้ายกับเรื่องในสุวรรณสามชาดก ทีเดียว.
ก็ในกาลนั้น พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธออย่าติเตียนภิกษุรูปนี้เลย บัณฑิตแต่ปางก่อนทั้งหลาย แม้ได้ราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้น ก็ยังไม่ยอมรับเอาราชสมบัตินั้น ย่อมเลี้ยงแต่มารดาบิดาถ่ายเดียว แล้วทรงนำอดีตนิทานมา ตรัสว่า
ในอดีตกาล กรุงพาราณสีได้เป็นพระนครที่มีชื่อว่าพรหมวัธน์ พระราชาทรงมีพระนามว่ามโนชะ เสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครนั้น. มีพราหมณ์มหาศาลผู้หนึ่ง มีทรัพย์สมบัติประมาณ ๘๐ โกฏิ แต่หาบุตรมิได้ อาศัยอยู่ในพระนครนั้น นางพราหมณีผู้เป็นภริยาของพราหมณ์นั้น เมื่อพราหมณ์ผู้สามีนั้นกล่าวว่า นางผู้เจริญ เธอจงปรารถนาบุตรเถิด ดังนี้ ก็ได้ปรารถนาแล้ว.
ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสด็จจุติจากพรหมโลก ทรงถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางพราหมณีนั้น. เมื่อกุมารนั้นเกิดแล้ว มารดาบิดาจึงตั้งชื่อว่าโสณกุมาร ในกาลเมื่อโสณกุมารนั้นเดินได้ แม้สัตว์อื่นก็จุติจากพรหมโลกถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางพราหมณีนั้นอีก มารดาบิดาตั้งชื่อกุมารนั้นว่านันทกุมาร
เมื่อกุมารทั้งสองคนนั้นเรียนพระเวทจนจบการศึกษาศิลปศาสตร์ทั้งหมดแล้ว พราหมณ์ผู้บิดามองเห็นรูปสมบัติอันเจริญวัย จึงเรียกนางพราหมณีมา แล้วพูดว่า แน่ะนางผู้เจริญ เราจักผูกพันโสณกุมารลูกชายของเราไว้ด้วยเครื่องผูก คือเรือน นางรับว่า ดีละ แล้วบอกเนื้อความนั้นแก่บุตรให้ทราบ
โสณกุมารนั้นจึงพูดว่า อย่าเลยแม่ เรื่องการอยู่ครองเรือนสำหรับฉัน ฉันจะปฏิบัติคุณพ่อและคุณแม่จนกว่าชีวิตจะหาไม่ เมื่อคุณพ่อและคุณแม่ล่วงไปแล้ว ก็จะเข้าป่าหิมพานต์บวช. นางพราหมณีจึงบอกเนื้อความนั้นแก่พราหมณ์ให้ทราบ. คนทั้งสองคนนั้น แม้กล่าวอยู่บ่อยๆ ก็ไม่ได้ความยินยอมพร้อมใจจากโสณกุมารนั้น จึงเรียกนันทกุมารมาแล้วพูดว่า ลูกเอ๋ย ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงครอบครองทรัพย์สมบัติเถิด เมื่อนันทกุมารพูดว่า ฉันจะยื่นศีรษะออกไปรับก้อนเขฬะ ที่พี่ชายถ่มทิ้งแล้วไม่ได้แน่ ก็ตัวฉันเองเมื่อพ่อแม่ถึงแก่กรรมแล้ว ก็จะออกบวชพร้อมกับพี่ชายเหมือนกัน ฟังคำของลูกชายทั้งสองคนนั้นแล้ว จึงพากันคิดว่า ลูกชายทั้งสองคนนี้กำลังหนุ่มอยู่อย่างนี้ ก็ยังละกามารมณ์ทั้งหลายเสียได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงเราทั้งสองคนเล่า พวกเราพากันบวชเสียให้หมดเถิด จึงพูดกะบุตรทั้งสองคนว่า ลูกเอ๋ย เมื่อแม่และพ่อหาชีวิตไม่แล้ว การบวชของเจ้าทั้งสองจะมีประโยชน์อะไร เราทั้งหมดจักออกบวชพร้อมกันเสียในบัดนี้เถิด แล้วกราบทูลแด่พระราชา สละทรัพย์ทั้งหมดลงในทางทาน กระทำชนผู้เป็นทาสให้เป็นไท ให้ส่งของที่สมควรให้แก่หมู่ญาติ พร้อมกันทั้ง ๔ คนด้วยกัน ออกจากนครพรหมวัธน์ สร้างอาศรมอยู่ในชัฏป่าอันน่ารื่นรมย์ใจ อาศัยสระอันดารดาษไปด้วยดอกปทุมเบญจวรรณ ในหิมวันตประเทศ แล้วบรรพชาอาศัยอยู่ในอาศรมนั้น.
แม้พระโสณะและพระนันทะทั้ง ๒ นั้น ก็ช่วยกันปฏิบัติมารดาบิดา ตื่นเช้าก็จัดไม้สำหรับชำระฟันและน้ำล้างหน้าให้แก่ท่านทั้ง ๒ แล้วไปกวาดบรรณศาลาและบริเวณอาศรม ตั้งน้ำฉันไว้เสร็จแล้ว พากันไปเลือกผลไม้น้อยใหญ่ ซึ่งมีรสอันอร่อยมาจากป่า นำมาให้มารดาบิดาได้บริโภค ถึงยามร้อนก็หาน้ำเย็นมาให้อาบ คอยชำระสะสางมวยผมให้สะอาด กระทำการบีบนวดเป็นต้น แก่มารดาบิดาทั้งสองคนนั้น.
ด้วยการปฏิบัติอยู่อย่างนี้ เวลาล่วงไปนาน คราวหนึ่ง นันทบัณฑิตดำริว่า เราจะให้มารดาบิดาได้บริโภคผลไม้น้อยใหญ่ที่เราหามาได้ก่อน. เธอจึงรีบไปล่วงหน้าพี่ชายแต่เช้าตรู่ หาผลไม้ลูกเล็กลูกใหญ่ เท่าที่พอจะหาได้ มาจากที่ที่ตนเคยเก็บเมื่อวานบ้าง วานซืนบ้าง แล้วรีบนำมาให้มารดาบิดาบริโภคก่อน. มารดาบิดาบริโภคผลไม้แล้ว บ้วนปากสมาทานอุโบสถ. ส่วนโสณบัณฑิตไปยังที่ไกลๆ เลือกหาผลไม้น้อยใหญ่ที่มีรสอันอร่อยกำลังสุกงอมดี แล้วนำเข้าไปให้. ลำดับนั้น มารดาบิดาจึงกล่าวกะโสณบัณฑิตนั้นว่า ลูกเอ๋ย เราได้บริโภคผลไม้ที่น้องชายของเจ้าหามาให้เรียบร้อยแล้วแต่เช้าตรู่ (เดี๋ยวนี้) สมาทานอุโบสถแล้ว บัดนี้เราไม่มีความต้องการ ผลไม้ดีๆ ของโสณดาบสนั้น ไม่มีใครได้บริโภคเลย ก็จะเน่าเสียไปด้วยประการฉะนี้. แม้ในวันต่อๆ มา ก็เป็นเช่นนั้นอีกเหมือนกัน พระโสณดาบสนั้นสามารถจะไปยังสถานที่ไกลๆ แล้วนำผลไม้มาได้ ด้วยอาการอย่างนี้ เพราะท่านได้อภิญญา ๕ ประการ แต่มารดาบิดาก็มิได้บริโภค.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงคิดว่า มารดาบิดาของเราเป็นสุขุมาลชาติ น้องนันทะไปหาผลไม้ลูกเล็กลูกใหญ่ดิบบ้างสุกบ้าง มาให้ท่านบริโภค เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านทั้งสองนี้ก็จะไม่เป็นอยู่เช่นนี้ได้ตลอดกาลนาน เราจักห้ามเธอเสีย. ลำดับนั้น โสณบัณฑิตจึงเรียกน้องชายนั้นมา แล้วบอกว่า ดูก่อนน้อง จำเดิมแต่นี้ไปเมื่อน้องหาผลไม้มาได้แล้ว จงรอให้พี่กลับมาเสียก่อน เราทั้งสองคนจักให้มารดาบิดาบริโภคพร้อมๆ กัน แม้เมื่อพระมหาสัตว์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระนันทะก็มุ่งหวังแต่ความดีของตนอย่างเดียว จึงมิได้กระทำตามคำของพี่ชาย. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์คิดว่า น้องนันทะไม่กระทำตามคำของเรา กระทำหน้าที่อันไม่สมควร จะต้องขับไล่เธอไปเสีย แต่นั้น เราผู้เดียวเท่านั้นจะปฏิบัติมารดาบิดา จึงดีดนิ้วมือขู่ขับนันทดาบสด้วยวาจาว่า ดูก่อนนันทะ เจ้าเป็นคนที่ไม่อยู่ในถ้อยคำ ไม่กระทำตามคำของบัณฑิตทั้งหลาย เราเป็นพี่ชายของเจ้า มารดาบิดาจงเป็นหน้าที่รับผิดชอบของเราผู้เดียว เราผู้เดียวเท่านั้นจักปฏิบัติมารดาบิดา เจ้าจักไม่ได้เพื่อจะอยู่ในที่นี้ จงไปในที่อื่น
นันทบัณฑิตนั้นถูกพระโสณบัณฑิตพี่ชายนั้นขับไล่ ไม่อาจจะอยู่ในสำนักของพี่ชายได้ จึงไหว้พี่ชายแล้วเข้าไปหามารดาบิดา เล่าความนั้นให้ฟัง ไหว้มารดาบิดาแล้ว เข้าไปสู่บรรณศาลาของตน เพ่งดูกสิณเป็นอารมณ์ ในวันนั้นนั่นเอง ก็ทำอภิญญา ๕ และสมาบัติให้บังเกิดขึ้นได้แล้ว คิดว่า เราจะนำทรายแก้วมาแต่เชิงเขาสิเนรุ โปรยลงในบริเวณบรรณศาลาแห่งพี่ชายของเรา ก็เป็นการเพียงพอที่จะให้พี่ชายอภัยโทษเราได้ แม้การกระทำอย่างนี้จักยังไม่งดงาม เราก็จะไปนำน้ำมาจากสระอโนดาต รดลงในบริเวณบรรณศาลาแห่งพี่ชายของเรา ก็จะพอยังพี่ชายให้อภัยโทษเราได้ แม้อย่างนี้ก็จักยังไม่งดงาม ถ้าเราพึงทำพี่ชายของเราให้อภัยโทษเราได้ ด้วยอำนาจเทวดาทั้งหลาย เราก็จะนำท้าวมหาราชทั้ง ๔ และท้าวสักกะมา ก็พอจะยังพี่ชายให้อภัยโทษได้ แม้อย่างนี้จักยังไม่งดงาม เราจักไปนำพระราชาทั้งหลาย มีพระเจ้ามโนชะผู้เป็นพระราชาล้ำเลิศในชมพูทวีปทั้งสิ้นนี้ไปเป็นประธาน ก็พอจะให้พี่ชายอภัยโทษเราได้ เมื่อเป็นเช่นนี้คุณงามความดีแห่งพี่ชายของเรา ก็จะแผ่ตลบทั่วไปในชมพูทวีปทั้งสิ้น จักปรากฏประดุจพระจันทร์และพระอาทิตย์ ฉะนั้น.
ขณะนั้น พระนันทดาบสนั้นก็เหาะไปด้วยฤทธิ์ ลงที่ประตูพระราชนิเวศน์ของพระราชานั้น ในพรหมวัธนนคร สั่งให้ราชบุรุษกราบทูลแด่พระราชาว่า ได้ยินว่า พระดาบสองค์หนึ่งต้องการจะเข้าเฝ้าพระองค์. พระราชาทรงดำริว่า เราเห็นบรรพชิตจะได้ประโยชน์อะไร ชะรอยว่า บรรพชิตรูปนั้นคงจักมาเพื่อต้องการอาหารเป็นแน่ จึงจัดส่งภัตตาหารไปถวาย. พระดาบสไม่ปรารถนาภัตร. พระองค์จึงทรงส่งข้าวสารไปถวาย พระดาบสนั้น ก็มิได้ปรารถนาข้าวสาร. จึงทรงส่งผ้าไปถวาย พระดาบสก็มิได้รับผ้า. จึงทรงส่งหมากพลูไปถวาย. พระดาบสนั้น ก็มิได้รับหมากพลู.
ลำดับนั้น พระองค์จึงทรงส่งทูตไปยังสำนักของพระดาบสนั้นว่า พระผู้เป็นเจ้ามาแล้ว เพื่อประสงค์อะไรกัน. พระดาบส เมื่อถูกทูตถามจึงบอกว่า เรามาเพื่อบำรุงพระราชา. พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงรับสั่งให้คนไปบอกว่า พวกคนอุปัฏฐากของเรามีอยู่มากมายแล้ว ท่านดาบสจงบำเพ็ญหน้าที่ดาบสของตนเถิด. พระดาบสฟังคำนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า เราจักถือเอาราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้น ด้วยกำลังของเราแล้ว ถวายแก่พระราชาของท่านทั้งหลาย. พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงทรงพระดำริว่า ธรรมดาว่า บรรพชิตทั้งหลายเป็นบัณฑิต คงจักทราบอุบายอะไรบ้างกระมัง จึงรับสั่งให้นิมนต์พระดาบสนั้นเข้ามา ให้นั่งบนอาสนะ ทรงไหว้แล้ว ตรัสถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ได้ยินว่า พระผู้เป็นเจ้าจะถือเอาราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้นแล้ว ยกให้แก่ข้าพเจ้าหรือ. พระดาบสทูลว่า เป็นเช่นนั้น มหาบพิตร.
พระราชาตรัสถามว่า พระผู้เป็นเจ้าจักถือเอาได้อย่างไร. พระดาบสทูลว่า ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพจะมิต้องให้โลหิต แม้มาตรว่า แมลงวันตัวน้อยดื่มกินได้ โดยกำหนดอย่างต่ำให้บังเกิดขึ้นแก่ใครๆ เลย ทั้งไม่กระทำ ความสิ้นเปลืองแห่งพระราชทรัพย์ของพระองค์ด้วย จักถือเอาด้วยฤทธิ์ของอาตมภาพแล้ว ยกถวายแด่พระองค์ ก็แต่ว่า ไม่ควรจะกระทำความชักช้าอย่างเดียว รีบเสด็จออกเสียในวันนี้แหละ.
พระราชาทรงเชื่อถ้อยคำของนันทดาบสนั้น แวดล้อมไปด้วยหมู่เสนางคนิกร เสด็จออกจากพระนคร. ผิว่าความร้อนเกิดขึ้นแก่เสนา นันทบัณฑิตก็เนรมิต ให้มีเงากระทำให้ร่มเย็นด้วยฤทธิ์ของตน เมื่อฝนตก ก็มิได้ตกลงในเบื้องบนหมู่เสนา ห้ามความร้อนและความหนาวเสียได้ บันดาลให้อันตรายทั้งหมดเป็นต้นว่า ขวากหนาม และตอไม้ในระหว่างทาง ให้อันตรธานสูญหายไปหมด กระทำหนทางให้ราบเรียบ ดุจมณฑลแห่งกสิณ แม้ตนเองปูแผ่นหนังนั่งบนบัลลังก์ มีหมู่เสนาแวดล้อม แล้วเหาะลอยไปในอากาศ.
พระนันทบัณฑิตนั้นพาหมู่เสนาไปด้วยอาการอย่างนี้ ลุถึงแคว้นโกศลเป็นครั้งแรก จึงสั่งให้หยุดกองทัพตั้งค่ายไม่ไกลเมือง แล้วส่งทูตเข้าไปทูลพระเจ้าโกศลราชว่า จะให้การยุทธ์แก่พวกเรา หรือว่าจะให้เศวตฉัตร. พระเจ้าโกศลราชนั้นได้ทรงสดับถ้อยคำของทูต ก็ทรงพิโรธตรัสว่า เราไม่ใช่พระราชาหรืออย่างไร เราจะให้การรบ ทรงกระทำเสนาข้างหน้าเสด็จยกพลออกไป. เสนาทั้งสองฝ่ายเริ่มจะรบกัน.
ลำดับนั้น นันทบัณฑิตจึงเนรมิตหนังเสือเหลือง ซึ่งเป็นอาสนะที่นั่งของตนให้ใหญ่โต ขึงไว้ในระหว่างกองทัพทั้ง ๒ แล้วคอยรับลูกศรที่พวกเสนาทั้ง ๒ ฝ่าย ต่างยิงกันไปมาด้วยแผ่นหนังนั้นทีเดียว. เสนาแม้สักคนหนึ่ง ใครๆ ที่ชื่อว่า ถูกลูกศรแทงแล้วไม่ได้มีเลย. กองทัพแม้ทั้ง ๒ นั้น ก็หมดความอุตสาหะลง ยืนเฉยอยู่ เพราะลูกศรที่อยู่ในมือหมดด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย. นันทบัณฑิตจึงไปยังสำนักของพระเจ้ามโนชราช ทูลปลอบเอาพระทัยว่า พระองค์อย่าทรงวิตกไปเลย มหาบพิตร. แล้วไปยังสำนักของพระเจ้าโกศลราชทูลว่า พระองค์อย่าทรงวิตกไปเลย มหาบพิตร อันตรายจักไม่มีแก่พระองค์ ราชสมบัติของพระองค์ ก็จักคงยังเป็นของพระองค์อยู่ทีเดียว ขอให้พระองค์ทรงอ่อนน้อมแก่ พระเจ้ามโนชราชอย่างเดียวเท่านั้น
พระเจ้าโกศลราชทรงเชื่อนันทบัณฑิตนั้น ก็ทรงรับว่า ดีละ ดังนี้. ลำดับนั้น นันทบัณฑิตจึงนำเสด็จท้าวเธอไปยังสำนักของพระเจ้ามโนชราช แล้วทูลว่า ดูก่อนมหาบพิตร พระเจ้าโกศลราชทรงยอมอ่อนน้อมต่อพระองค์ แต่ขอให้ราชสมบัติของพระเจ้าโกศลราชนี้ จงยังคงเป็นของท้าวเธออยู่ตามเดิมเถิด. พระเจ้ามโนชราชทรงรับว่า ดีละ ทรงกระทำพระเจ้าโกศลราชพระองค์นั้น ให้อยู่ในอำนาจของพระองค์แล้ว ยกพลเสนาทั้ง ๒ กองทัพเสด็จไปยังแคว้นอังคะ ได้แคว้นอังคะแล้ว ต่อจากนั้น ก็ไปยังแคว้นมคธ ได้แคว้นมคธ โดยอุบายอย่างนี้ ทรงกระทำพระราชาทั้งหลายในชมพูทวีปทั้งสิ้น ให้ตกอยู่ในอำนาจของพระองค์ได้ทั้งหมด แต่นั้น ก็เป็นผู้มีพระราชาเหล่านั้นเป็นบริวาร เสด็จไปยังพรหมวัธนนครทีเดียว ก็พระเจ้ามโนชราชนี้ ทรงถือเอาราชสมบัติอยู่ถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วันจึงเสร็จเรียบร้อย. พระเจ้ามโนชราชนั้น รับสั่งให้พระราชาเหล่านั้นนำของเคี้ยวและของบริโภคมีประการต่างๆ จากราชธานีของตนทุกๆ พระนคร ทรงพาพระราชาทั้ง ๑๐๑ พระองค์เหล่านั้น ชวนกันดื่มเครื่องดื่ม เป็นการใหญ่กับพระราชาเหล่านั้นตลอดถึง ๗ วัน.
นันทบัณฑิตดาบสคิดว่า พระราชายังเสวยความสุข ที่เกิดแต่ความเป็นใหญ่อยู่ตราบใด เราจักไม่แสดงตนแก่ท้าวเธอตราบนั้น จึงเที่ยวไปบิณฑบาตในอุตตรกุรุทวีปแล้ว ไปอยู่ที่ปากถ้ำทองในหิมวันตประเทศ ๗ วัน. แม้พระเจ้ามโนชราช ในวันที่ ๗ ทรงแลดูสิริราชสมบัติอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ก็ทรงระลึกถึงนันทบัณฑิตดาบสว่า อิสริยยศทั้งหมดนี้ มารดาบิดาของเรามิได้ให้ ชนเหล่าอื่นก็มิได้ให้แก่เรา บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยนันทบัณฑิตดาบส ก็เราไม่ได้เห็นท่านเลยถึง ๗ วันเข้าวันนี้แล้ว บัดนี้ท่านผู้ให้อิสริยยศแก่เรา อยู่ที่ไหนหนอ. นันทบัณฑิตนั้นได้ทราบว่า ท้าวเธอระลึกถึงตน จึงเหาะมายืนอยู่บนอากาศ ตรงพระพักตร์พระราชา. พระราชานั้นทอดพระเนตรเห็นนันทดาบสมายืนอยู่ จึงทรงพระดำริอย่างนี้ว่า เรายังไม่ทราบว่า พระดาบสนี้จะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ก็ถ้าเธอเป็นมนุษย์ เราจักยกราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งหมดให้แก่เธอทีเดียว ถ้าเธอเป็นเทวดา เราจักกระทำเครื่องสักการะสำหรับเทวดาแก่เธอ.
พระราชาพระองค์นั้น เมื่อจะทรงสอบถามนันทบัณฑิตนั้นให้ทราบชัด จึงตรัสพระคาถาเป็นปฐมว่า
พระผู้เป็นเจ้าเป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ เป็นท้าวสักกปุรินททะ หรือว่าเป็นมนุษย์ผู้มีฤทธิ์ ข้าพเจ้าทั้งหลายจะรู้จักพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร.


นันทดาบสนั้นสดับคำของพระราชานั้นแล้ว เมื่อจะทูลบอกตามความจริง
จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า
อาตมภาพไม่ใช่เป็นเทวดา ไม่ใช่เป็นคนธรรพ์ ไม่ใช่ท้าวสักกปุรินททะ อาตมภาพเป็นมนุษย์ผู้มีฤทธิ์ ดูก่อนภารถะ มหาบพิตร จงทราบอย่างนี้เถิด.


นันทบัณฑิตเรียกพระราชาพระองค์นั้นอย่างนี้ว่า ภารถ ดังนี้ ในคาถานั้น เพราะพระองค์เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งภาระของรัฐ.
พระราชาทรงได้สดับคำนั้นแล้ว จึงทรงพระดำริว่า ได้ยินว่า พระดาบสนี้เป็นมนุษย์ เธอมีอุปการะมากถึงเพียงนี้แก่เรา เราจักให้เธออิ่มหนำด้วยอิสริยยศ
จึงตรัสว่า
ความช่วยเหลืออันมิใช่น้อยนี้ เป็นกิจที่พระผู้เป็นเจ้ากระทำแล้ว คือ เมื่อฝนตกพระผู้เป็นเจ้าก็ได้ทำไม่ให้มีฝน แต่นั้น เมื่อลมจัดและแดดร้อน พระผู้เป็นเจ้าก็ได้ทำให้มีเงาบังร่มเย็น แต่นั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทำการป้องกันลูกศร ในท่ามกลางแห่งศัตรู แต่นั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทำบ้านเมือง อันรุ่งเรืองและชาวเมืองเหล่านั้น ให้ตกอยู่ในอำนาจของข้าพเจ้า แต่นั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทำกษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ ให้เป็นผู้ติดตามของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอขอบคุณพระผู้เป็นเจ้ายิ่งนัก.
พระผู้เป็นเจ้าจะปรารถนาสิ่งที่จะให้จิตชื่นชม คือยานอันเทียมด้วยช้าง รถอันเทียมด้วยม้า และสาวน้อยทั้งหลายที่ประดับประดาแล้ว หรือรมณียสถานอันเป็นที่อยู่อาศัย อันใด ขอพระผู้เป็นเจ้าจงเลือกเอาสิ่งนั้นตามประสงค์เถิด ข้าพเจ้าขอถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า
หรือว่าพระผู้เป็นเจ้าจะปรารถนาแคว้นอังคะหรือแคว้นมคธ ข้าพเจ้าก็ขอถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า หรือว่าพระผู้เป็นเจ้าปรารถนาแคว้นอัสสกะ หรือแคว้นอวันตี ข้าพเจ้าก็มีใจยินดีขอถวายแคว้นเหล่านั้น ให้แก่พระผู้เป็นเจ้า หรือแม้พระผู้เป็นเจ้าปรารถนาราชสมบัติกึ่งหนึ่งไซร้ ข้าพเจ้าก็ขอถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระคุณเจ้ามีความต้องการด้วยราชสมบัติทั้งหมด ข้าพเจ้าก็ขอถวายพระคุณเจ้า ปรารถนาสิ่งใด ขอพระคุณเจ้าบอกมาเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กตรูปมิทํ ได้แก่ มีสภาพอันพระคุณเจ้ากระทำแล้ว.
บทว่า เวยยาวจฺจ ได้แก่ การงานที่ช่วยเหลือกันทางกาย.
บทว่า อโนวสฺสํ ได้แก่ มิให้ฝนตก. อธิบายว่า พระคุณเจ้าได้กระทำโดยประการที่ฝนจะไม่ตกลงมา.
บทว่า สีตจฉายํ ได้แก่ มีเงาอันร่มเย็น.
บทว่า วสิโน เต ได้แก่ พระคุณเจ้าได้กระทำประชาชนชาวแคว้นเหล่านั้น ให้อยู่ในอำนาจของข้าพเจ้า.
บทว่า ขตฺเย ได้แก่ กษัตริย์ทั้งหลาย แม้ในอรรถกถา ท่านก็กล่าวไว้อย่างนี้เหมือนกัน.
บทว่า ปติตาสสุ มยํ ได้แก่ ข้าพเจ้ายินดียิ่งนัก.
บทว่า วร ตํ ภุญชมิฉสิ ความว่า คำว่า ภุญชะ นี้เป็นชื่อของรัตนะ (สิ่งที่ทำให้เกิดความยินดี). อธิบายว่า ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่าน ท่านปรารถนารัตนะอันใด ท่านจงเลือกเอารัตนะอันนั้นเถิด.
พระราชาทรงแสดงรัตนะนั้น โดยรวบยอดด้วยคำว่า หตฺถิยานํ ดังนี้เป็นต้น.
บทว่า อสสกาวนตี ได้แก่ แคว้นอัสสกะหรือแคว้นอวันตี ด้วยบทว่า รชฺเชน นี้ พระราชาทรงแสดงว่า ถ้าแม้พระคุณเจ้ามีความปรารถนาราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งหมด ข้าพเจ้าก็จะให้ราชสมบัตินั้นแก่พระคุณเจ้า แล้วจักมีมือถือโล่และอาวุธ วิ่งไปข้างหน้ารถของพระคุณเจ้า ดังนี้.
บทว่า ยทิจฺฉสิ ความว่า พระคุณเจ้าปรารถนาสิ่งใด ทุกอย่างที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วเหล่านี้ ก็จงบอก คือจงสั่งสิ่งนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด.

นันทบัณฑิตดาบสได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว เมื่อจะชี้แจงความประสงค์ของตนให้แจ่มแจ้ง
จึงทูลว่า
อาตมภาพไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัติ บ้านเมือง ทรัพย์ หรือแม้ชนบท อาตมภาพไม่มีความต้องการเลย


นันทบัณฑิตทูลต่อไปว่า ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าพระองค์มีความรักในอาตมภาพ ขอได้ทรงกระทำตามคำของอาตมภาพสักอย่างหนึ่ง
แล้วทูลเป็นคาถาว่า
ในแว่นแคว้นอาณาเขตของมหาบพิตร มีอาศรมอยู่ในป่า มารดาและบิดาทั้งสองท่านของอาตมภาพอยู่ในอาศรมนั้น อาตมภาพอยู่ในอาศรมนั้น อาตมภาพไม่ได้เพื่อทำบุญในท่านทั้งสอง ผู้เป็นบุรพาจารย์นั้น อาตมภาพขอเชิญมหาบพิตร ผู้ประเสริฐยิ่ง ไปขอขมาโทษโสณดาบส เพื่อสังวรต่อไป.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รฏเฐ ได้แก่ ในความเป็นพระราชา.
บทว่า วิชิเต ได้แก่ สถานที่ที่พระองค์แผ่ราชอาญาไป.
บทว่า อสฺสโม ได้แก่ ในป่าแห่งหิมวันตประเทศนั้น มีอาศรมอยู่แห่งหนึ่ง.
บทว่า สมฺมนฺติ ได้แก่ อยู่ในอาศรมนั้น.
บทว่า เตสาหํ ตัดบทเป็น เตสุ อหํ แปลว่า อาตมภาพมิได้กระทำบุญในบุรพาจารย์ทั้ง ๒ นั้น.
บทว่า กาตเว ความว่า อาตมภาพไม่ได้กระทำบุญ กล่าวคือวัตรปฏิบัติ และการนำผลไม้น้อยใหญ่มา เพราะว่าพี่ชายของอาตมภาพชื่อโสณบัณฑิต ได้ขับไล่อาตมภาพ เพราะความผิดอย่างหนึ่งของอาตมภาพว่า เจ้าจงอย่าอยู่ในที่นี้เลย.
บทว่า อชฺฌาวรํ ความว่า อาตมภาพจะขออัญเชิญพระองค์ ผู้ประเสริฐยิ่ง พร้อมด้วยบริวาร เสด็จไปขอขมาโทษโสณบัณฑิต คืออาตมภาพจะขอสำรวมต่อไป.
บาลีว่า ยาเจมิ มํ วรํ แปลว่า อาตมภาพจะขอพรอันนี้ ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า อาตมภาพจะไปอ้อนวอนพระโสณะให้ยกโทษ พร้อมกับพระองค์ คืออาตมภาพจะรับเอาพรอันนี้จากสำนักของพระองค์.

ลำดับนั้น พระราชาตรัสกะนันทดาบสนั้นว่า
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าจะขอทำตามคำที่พระคุณเจ้ากล่าวกะข้าพเจ้าทุกประการ ก็แต่ว่า บุคคลผู้จะอ้อนวอนขอโทษ มีประมาณเท่าใด ขอพระคุณเจ้าจงบอกบุคคล มีประมาณเท่านั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กโรมิ ความว่า พระราชารับสั่งว่า ข้าพเจ้าจะให้ราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งหมด จักมิได้กระทำกรรมอะไรมีประมาณเพียงเท่านี้ ข้าพเจ้าก็จะกระทำตามคำของท่าน.
บทว่า กีวนโต ได้แก่ มีประมาณเท่าใด.

นันทบัณฑิตทูลว่า
ชาวชนบทมีประมาณหนึ่งร้อยเศษ พราหมณ์มหาศาลก็เท่ากัน กษัตริย์ผู้เป็นอภิชาต ผู้เรืองยศเหล่านี้ทั้งหมด ทั้งมหาบพิตรซึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้ามโนชะ บุคคลผู้จะอ้อนวอนขอโทษ ประมาณเท่านี้ ก็พอแล้ว ขอถวายพระพร.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชานปทา ได้แก่ คฤหบดีมหาศาล
บทว่า พราหมณา ได้แก่ พราหมณ์ผู้จบพระเวทประมาณร้อยเศษเท่ากัน.
บทว่า อลํ เหสสนติ ความว่า จักเป็นการเพียงพอแล้ว.
บทว่า ยาจกา ได้แก่ บุคคลที่จะไปขอร้องให้โสณบัณฑิตยกโทษ เพื่อประโยชน์แก่อาตมภาพ.

ลำดับนั้น พระราชาตรัสกะนันทบัณฑิตนั้นว่า
เจ้าพนักงานทั้งหลาย จงเตรียมช้าง จงเตรียมม้า นายสารถี ท่านจงเตรียมรถ ท่านทั้งหลายจงถือเอาเครื่องผูก จงยกธงชัยขึ้นที่คันธงทั้งหลาย เราจะไปยังอาศรมอันเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบส.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โยเชนตุ ความว่า นายควาญช้างทั้งหลายจงจัดเตรียมช้าง และนายควาญม้าทั้งหลายจงจัดเตรียมม้า.
บทว่า รถํ สนนยห สารถิ ความว่า ดูก่อนสารถีผู้เป็นสหาย แม้ตัวท่านก็จงผูกสอดรถนั้น.
บทว่า อาพนธนานิ ความว่า ท่านทั้งหลาย จงถือเอาเครื่องที่สำหรับจะผูกทั่วๆ ไป ในช้าง ม้าและรถทั้งหลาย.
บทว่า ปาเทสุสสารยทธเช ความว่า จงยกคือให้ยกธงที่คันธงซึ่งตั้งอยู่บนรถ.
บทว่า โกสิโย ความว่า พระราชาตรัสว่า พระดาบสผู้โกสิยโคตร อยู่ในอาศรมใด ดังนี้.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
ก็ลำดับนั้น พระราชาพร้อมด้วยจาตุรงคเสนา ได้เสด็จไปยังอาศรมอันน่ารื่นรมย์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบส.

นี้เป็นคาถาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเพิ่มเข้ามา

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตโต จ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชาพระองค์นั้น ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ในลำดับนั้น จึงทรงพากษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ แวดล้อมด้วยเสนาหมู่ใหญ่ ให้พระดาบสนันทบัณฑิตนำหน้า เสด็จออกจากพระนคร.
บทว่า จตุรงคินี ความว่า เสด็จไปยังอาศรมพร้อมด้วยจตุรงคเสนา แม้กำลังเสด็จประทับอยู่ในระหว่างทาง ท่านก็กล่าวไว้อย่างนี้ เพราะจะต้องเสด็จไปอย่างแน่นอน นันทบัณฑิตดาบสเดินทางไป พร้อมด้วยหมู่พลเสนาประมาณได้ ๒๔ อักโขภิณี เนรมิตทางที่กว้างได้ ๘ อุสภะให้ราบเรียบ ด้วยอานุภาพแห่งฤทธิ์ แล้วลาดแผ่นหนังในอากาศทีเดียว นั่งขัดสมาธิบนแผ่นหนังนั้น มีเสนาแวดล้อมแล้ว กล่าวถ้อยคำอันประกอบด้วยธรรมะ กับพระราชาผู้ประทับนั่งบนคอช้างที่ประทับแล้ว เสด็จไปด้วยกัน ห้ามเสียซึ่งอันตรายมีความเย็นและความร้อนเป็นต้น ได้ไปแล้ว.
ในวันเมื่อพระนันทดาบสนั้นมาถึงอาศรม โสณบัณฑิตดาบสรำพึงว่า น้องชายของเราออกไปเสียนานถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วันแล้ว จึงเล็งแลดูด้วยทิพยจักษุญาณว่า บัดนี้เธอไปอยู่ที่ไหนหนอ ก็เห็นว่า
น้องชายของเรากำลังพาพระราชา ๑๐๑ พระองค์ พร้อมด้วยบริวารประมาณ ๒๔ อักโขภิณีมาเพื่อจะให้ เรายกโทษเป็นแน่แท้ จึงดำริต่อไปว่า กษัตริย์เหล่านี้พร้อมทั้งบริษัท ได้เห็นปาฏิหาริย์ของน้องชายเราเป็นอันมาก แต่ยังมิได้ทราบอานุภาพของเรา ก็จะพากันมาเจรจาข่มขู่ดูหมิ่นเราว่า ผู้นี้แหละเป็นชฏิลโกง ช่างไม่รู้จักประมาณตนเองเสียเลย จะมาต่อยุทธ์กับพระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ดังนี้ ทั้งหมดก็จะพึงมีนรกอเวจีเป็นที่เป็นไปในเบื้องหน้า เราจักแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แก่พวกกษัตริย์และบริษัทเหล่านั้น พระโสณบัณฑิตดาบสนั้นจึงวางไม้คานสำหรับหาบน้ำในอากาศ โดยมิให้ถูกบ่าห่างประมาณ ๔ องคุลี แล้วเหาะไปทางอากาศ ในที่ไม่ไกลแต่พระราชา เพื่อจะนำเอาน้ำมาจากสระอโนดาต นันทบัณฑิตดาบสพอเห็นพี่ชายเหาะมา ไม่อาจจะแสดงตนได้ จึงอันตรธานไปในที่นั่งนั้นทีเดียว หนีเข้าไปยังป่าหิมวันต์
พระเจ้ามโนชราชทอดพระเนตรเห็น พระโสณบัณฑิตดาบสนั้นเหาะมา ด้วยเพศฤาษีอันน่าเลื่อมใส
จึงตรัสพระคาถาว่า
ไม้คานอันทำด้วยไม้กระทุ่มของใคร ผู้ไปเพื่อหาบน้ำ ลอยมายังเวหาสมิได้ถูกบ่า ห่างประมาณ ๔ องคุลี.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาพมฺพโย ได้แก่ ทำด้วยไม้กระทุ่ม.
บทว่า อํสํ อสํผุสํ เอติ ความว่า ไม้คานนี้มิได้ถูกต้องบ่า ลอยมาอยู่.
บทว่า อุทกาหารสฺส ความว่า ไม้คานนี้ของใคร ผู้ไปอยู่เพื่อนำน้ำมา คือท่านชื่ออะไร หรือว่าท่านมาจากไหนกัน.

แม้เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพชื่อว่าโสณะ เป็นดาบสมีวัตรอันสมาทานแล้ว มิได้เกียจคร้าน เลี้ยงดูมารดาบิดาอยู่ทุกคืนทุกวัน ดูก่อนมหาบพิตร ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ อาตมภาพระลึกถึงอุปการคุณ ที่ท่านทั้งสองได้กระทำแล้ว ในกาลก่อน จึงนำผลไม้ป่าและเผือกมันมาเลี้ยงดูมารดาบิดา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สหิตพฺพโต ความว่า พระโสณบัณฑิตดาบสนั้นกล่าวว่า อาตมภาพเป็นดาบสองค์หนึ่ง เป็นผู้มีวัตรอันสมาทานแล้ว คือเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลและมารยาท.
บทว่า ภรามิ แปลว่า เลี้ยงดูประจำ.
บทว่า อตนฺทิโต ได้แก่ เป็นผู้ไม่เกียจคร้าน.
บทว่า ปุพเพกตมนุสสรํ ความว่า อาตมภาพระลึกถึงอยู่ซึ่งบุญคุณที่มารดาและบิดาทั้งสองนั้นได้กระทำไว้แล้วแก่อาตมภาพ ในกาลก่อน.

พระราชาได้ทรงสดับคำนั้นแล้ว มีพระประสงค์ใคร่จะทอดพระเนตรอาศรม พร้อมด้วยพระโพธิสัตว์นั้น จึงได้ตรัสคาถาอันเป็นลำดับต่อไปว่า
ข้าพเจ้าทั้งหลายปรารถนาจะไปยังอาศรม ซึ่งเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบส ข้าแต่ท่านโสณะ ขอท่านได้โปรดบอกทาง ที่จะไปยังอาศรมนั้น แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสฺสมํ ความว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายปรารถนาจะไปยังอาศรมบทของท่านทั้งหลาย.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงเนรมิตหนทางสำหรับไปยังอาศรมบท ด้วยอานุภาพของตน แล้วทูลกะพระเจ้ามโนชราชนั้นว่า
ดูก่อนมหาบพิตร หนทางนี้เป็นหนทางสำหรับเดินคนเดียว ขอเชิญมหาบพิตร เสด็จไปยังป่าอันสะพรั่งไปด้วยต้นทองหลาง มีสีเขียวชอุ่มดังสีเมฆ โกสิยดาบสอยู่ในป่านั้น.


เนื้อความแห่งคำอันเป็นคาถานั้นมีดังต่อไปนี้
ดูก่อนมหาบพิตร หนทางนี้เป็นหนทางเท้าสำหรับเดินไปได้เพียงคนเดียว ขอเชิญพระองค์เสด็จไป โดยทิศาภาคที่หมู่ไม้อันสะพรั่งไปด้วยต้นทองหลาง มีดอกอันเบ่งบานดีแล้ว มีสีเหมือนเมฆปรากฏอยู่นี้. บิดาของอาตมภาพผู้โกสิยโคตร อยู่ในอาศรมนี้ นั่นคืออาศรมแห่งบิดาของอาตมภาพ.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
โสณมหาฤาษี ครั้นกล่าวคำนี้แล้ว ได้พร่ำสอนกษัตริย์ทั้งหลาย ณ กลางหาวแล้ว รีบหลีกไปยังสระอโนดาต แล้วกลับมาปัดกวาดอาศรม แต่งตั้งอาสนะแล้ว เข้าไปสู่บรรณศาลา แจ้งให้ดาบสผู้เป็นบิดาทราบว่า ข้าแต่ท่านมหาฤาษี พระราชาทั้งหลายผู้เป็นอภิชาตเรืองยศเหล่านี้ เสด็จมาหา ขอเชิญบิดาออกไปนั่งนอกอาศรมเถิด มหาฤาษีได้ฟังคำของโสณบัณฑิตนั้นแล้ว รีบออกจากอาศรม มานั่งอยู่ที่ประตูของตน.

นี้เป็นพระคาถาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเพิ่มขึ้น

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปกฺกามิ ได้แก่ ไปยังสระอโนดาต.
บทว่า อสฺสมํ ปริมชชิตวา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฤาษีนั้นรีบไปยังสระอโนดาตโดยเร็วพลัน แล้วตักน้ำดื่มมา เมื่อพระราชาเหล่านั้น ยังไม่ทันถึงอาศรมนั่นแล ก็กลับมาก่อน จัดแจงตั้งหม้อน้ำดื่มไว้ในโรงน้ำ แล้วอบน้ำด้วยดอกไม้ในป่าทั้งหลาย ด้วยคิดว่า มหาชนจักได้ดื่มน้ำ แล้วถือเอาไม้กวาดมากวาดอาศรม จัดแจงแต่งตั้งอาสนะของบิดาไว้ที่ประตูบรรณศาลาแล้ว เข้าไปบอกให้บิดาได้ทราบ.
บทว่า อุปาวิสิ ได้แก่ นั่งบนอาสนะสูง.
ส่วนมารดาของพระโพธิสัตว์ นั่งบนอาสนะต่ำกว่าบิดา ซึ่งตั้งอยู่ข้างหลัง. พระโพธิสัตว์นั่งอยู่บนอาสนะต่ำ ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
ฝ่ายนันทบัณฑิตดาบส ในเวลาที่พระโพธิสัตว์ไปตักน้ำดื่มมาจากสระอโนดาต กลับมายังอาศรมแล้ว จึงไปยังสำนักของพระราชา ให้หยุดพักกองทัพไว้ ณ ที่ใกล้อาศรม. ลำดับนั้น พระเจ้ามโนชราชทรงสรงสนาน ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง มีกษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ ห้อมล้อมเป็นบริวาร พานันทบัณฑิตเสด็จเข้าไปยังอาศรม ด้วยความเป็นผู้เลิศด้วยความงามแห่งสิริอันยิ่งใหญ่ เพื่อจะขอให้พระโพธิสัตว์ยกโทษ ลำดับนั้น บิดาพระโพธิสัตว์เห็นพระราชานั้นเสด็จมาดังนั้น จึงถามพระโพธิสัตว์ แม้พระโพธิสัตว์ก็ได้เล่าถึง ความเป็นไปทั้งหมดให้บิดาได้ทราบ.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
โกสิยดาบสได้เห็นพระเจ้ามโนชะนั้น ซึ่งมีหมู่กษัตริย์ห้อมล้อมเป็นกองทัพ ประหนึ่งรุ่งเรืองด้วยเดช เสด็จมาอยู่ จึงกล่าวคาถานี้ความว่า กลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์ และมโหระทึก ยังพระราชาผู้เป็นจอมทัพให้ร่าเริงอยู่ ดำเนินไปแล้วข้างหน้าของใคร หน้าผากของใครสวมแล้วด้วยแผ่นทองอันหนามีสีดุจสายฟ้า ใครกำลังหนุ่มแน่นผูกสอดด้วยกำลูกศร รุ่งเรืองด้วยสิริ เดินมาอยู่
อนึ่ง หน้าของใครงามผุดผ่อง ดุจทองคำอันละลายคว้างที่ปากเบ้า มีสีดังถ่านเพลิง ใครหนอรุ่งเรืองด้วยสิริ กำลังเดินมาอยู่ ฉัตรพร้อมด้วยคันน่ารื่นรมย์ใจ สำหรับกั้นแสงอาทิตย์ อันบุคคลกางแล้วเพื่อใคร ใครหนอรุ่งเรืองด้วยสิริ กำลังเดินมาอยู่ ชนทั้งหลายถือพัดวาลวีชนีเครื่องสูง เดินเคียงองค์ของใคร ผู้มีบุญอันประเสริฐ มาอยู่โดยคอช้าง เศวตฉัตร ม้าอาชาไนย และทหารสวมเกราะ เรียงรายอยู่โดยรอบของใคร ใครหนอรุ่งเรืองด้วยสิริ กำลังเดินมาอยู่ กษัตริย์ ๑๐๑ พระนครผู้เรืองยศ เสด็จพระราชดำเนินแวดล้อมตามอยู่โดยรอบของใคร ใครหนอรุ่งเรืองด้วยสิริ กำลังเดินมาอยู่ จาตุรงคเสนา คือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า เดินแวดล้อมตามอยู่โดยรอบของใคร ใครหนอรุ่งเรืองด้วยสิริ กำลังเดินมาอยู่ เสนาหมู่ใหญ่นี้นับไม่ถ้วน ไม่มีที่สุด ดุจคลื่นในมหาสมุทร กำลังห้อมล้อมตามหลังใครมา.


พระมหาสัตว์ เมื่อจะบอกพระนามของพระเจ้ามโนชราชนั้น
จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาเหล่านี้ว่า
กษัตริย์ที่กำลังเสด็จมานั้น คือ พระเจ้ามโนราชาธิราช เป็นเพียงดังพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ เข้าถึงความเป็นบริษัทของนันทดาบส กำลังมาสู่อาศรม อันเป็นที่ประพฤติพรหมจรรย์ เสนาหมู่ใหญ่นี้นับไม่ถ้วน ไม่มีที่สุดดุจคลื่นในมหาสมุทร กำลังตามหลังพระเจ้ามโนชะนั้นมา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชลนตริว แปลว่า ราวกะรุ่งเรืองอยู่.
บทว่า ปฏิปนนานิ ความว่า เครื่องดนตรีเหล่านี้มาข้างหน้าของใคร.
บทว่า หาสยนตา ได้แก่ ให้ยินดีอยู่.
บทว่า กญจนปฏเฏน ความว่า พระดาบสผู้เป็นบิดาถามว่า ลูกเอ๋ย ที่สุดแห่งหน้าผากของใครสวมแล้ว ด้วยแผ่นทอง คืออุณหิสอันทำด้วยทองคำ มีสีประดุจสายฟ้า.
บทว่า ยุวา ได้แก่ กำลังรุ่นหนุ่ม.
บทว่า กลาปสนนทโธ ได้แก่ มีแล่งลูกศรอันผูกสอดเสร็จแล้ว.
บทว่า อุกกามุปหฏฐํว ได้แก่ ประดุจทองคำที่กำลังคว้างอยู่ในเตาของนายช่างทอง.
บทว่า ขทิรงคารสนนิภํ ได้แก่ มีสีคล้ายถ่านเพลิงของไม้ตะเคียนที่เขาถากไว้ดีแล้ว.
บทว่า อาทิจจรํสาวรณํ ได้แก่ สำหรับกั้นรัศมีทั้งหลายแห่งดวงอาทิตย์.
บทว่า องคํ ปริคคยห ความว่า เดินล้อมรอบ คือเดินแวดล้อมองค์.
บทว่า วาลวีชนิมุตตมํ ได้แก่ พัดวาลวีชนี อันเป็นเครื่องสูงสุดชนิดหนึ่ง.
บทว่า จรนฺติ แปลว่า เดินไปพร้อมๆ กัน.
บทว่า ฉตตานิ ได้แก่ ฉัตรที่พวกทหารห่มเกราะนั่งบนหลังม้าถือไว้.
บทว่า ปริกิรนติ ความว่า ยืนเรียงรายกันอยู่ ในทิศาภาคทั้งหมดโดยรอบของใคร.
บทว่า จตุรงคินี ความว่า เสนาอันประกอบด้วยองค์ ๔ มีช้างเป็นต้นเหล่านี้.
บทว่า อกโขภินี ได้แก่ ไม่อาจจะนับได้.
บทว่า สาครสเสว ได้แก่ หาที่สุดมิได้ ประดุจลูกคลื่นในมหาสมุทรฉะนั้น.
บทว่า ราชาภิราชา ความว่า ชื่อว่าเป็นพระราชาภิราช เพราะเป็นผู้อันพระราชาทั้ง ๑๐๑ พระองค์บูชาแล้ว หรือว่าเป็นพระราชาที่ยิ่งกว่าพระราชาเหล่านั้น.
บทว่า ชยตํ ปติ ความว่า เป็นผู้เจริญที่สุดกว่า เทวดาชั้นดาวดึงส์ทั้งหลายผู้ถึงความชนะแล้ว.
บทว่า อชฌาวรํ ความว่า พระราชาพระองค์นั้น เข้าถึงความเป็นบริษัทของนันทดาบสมาอยู่ เพื่อให้ลูกยกโทษ.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า

.. อรรถกถา โสณนันทชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280094อรรถกถาชาดก 280134
เล่มที่ 28 ข้อ 134อ่านชาดก 280163อ่านชาดก 281045
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=28&A=943&Z=1157
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๒๙  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]