ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280249อรรถกถาชาดก 280296
เล่มที่ 28 ข้อ 296อ่านชาดก 280315อ่านชาดก 281045
อรรถกถา กุณาลชาดก
ว่าด้วย นางนกดุเหว่า

หน้าต่างที่   ๒ / ๔.

ฝ่ายนางนกดุเหว่าทั้งหลายแม้เหล่านั้น พอพญานกปุณณมุขะหายเจ็บ ก็พากันกลับมา.
พญานกกุณาละหาผลไม้น้อยใหญ่ มาให้พญานกปุณณมุขะกินอยู่สองสามวัน พอพญานกปุณณมุขะมีกำลังดีแล้ว จึงกล่าวว่า สหายเอ๋ย บัดนี้ ท่านก็หายจากโรคแล้ว จงอยู่กับนางบริจาริกาของท่านเถิด เราจักไปยังที่อยู่ของเรา. ลำดับนั้น พญานกปุณณมุขะจึงกล่าวว่า นางนกบริจาริกาเหล่านี้พากันละทิ้งเราเมื่อไข้หนัก หนีไปเสีย เราไม่ต้องการอยู่กับอีพวกนักเลงเหล่านี้ต่อไป. พระมหาสัตว์ได้สดับคำนั้นจึงกล่าวว่า ดูก่อนสหาย ถ้าเช่นนั้น เราจะกล่าวความลามกของหญิงทั้งหลายให้ท่านได้ฟัง ว่าแล้วก็พาพญานกปุณณมุขะไปยังพื้นมโนศิลาข้างเขาหิมพานต์ พักอยู่ที่มโนศิลาโคนไม้รั้งอันมีปริมณฑล ๗ โยชน์ พญานกปุณณมุขะกับบริวารก็พากันสถิตอยู่ในที่ควรข้างหนึ่ง. ฝ่ายเทวดาก็เที่ยวป่าวร้องไปทั่วหิมพานต์ว่า วันนี้ พญานกกุณาละจะแสดงธรรมด้วยพุทธลีลาที่พื้นมโนศิลา ขอให้ท่านทั้งหลายไปฟัง เทวดาในกามาวจรทั้ง ๖ ได้รู้ เพราะการร้องป่าวประกาศต่อๆ ไป ก็พากันมาประชุมในที่นั้นเป็นอันมาก ใช่แต่เท่านั้น พวกนาค ยักษ์ รากษส สุบรรณ วิชาธร แร้ง และเทวดาที่อาศัยอยู่ในดงก็โฆษณาเนื้อความนั้นต่อๆ ไป.
คราวนั้น พญาแร้งชื่อว่า อานนท์ มีแร้งหมื่นหนึ่งเป็นบริวารอาศัยอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เมื่อได้ยินเสียงป่าวร้องเป็นโกลาหล ก็พาบริวารมาอยู่ข้างหนึ่ง ด้วยความประสงค์จะฟังธรรม นารทฤาษีผู้สำเร็จอภิญญา ๕ มีดาบสบริษัทหมื่นหนึ่ง อยู่ในหิมวันตประเทศ ได้ยินเสียงป่าวร้องก็คำนึงว่า ได้ยินว่า พญานกกุณาละสหายของเราจะชี้โทษของหญิงทั้งหลาย จักมีสมาคมใหญ่ ควรเราจักไปฟังเทศนาของพญานกกุณาละ คิดแล้วก็พาดาบสหมื่นหนึ่งมาด้วยฤทธิ์ ครั้นถึงก็สถิต ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้น พระมหาสัตว์อ้างพญานกปุณณมุขะเป็นพยานแล้ว ก็แสดงเหตุที่ตนได้เห็นมาแล้วในอดีตภพ ซึ่งประกอบด้วยโทษแห่งหญิงโดยชาติสรญาณ (ญาณที่ระลึกชาติได้).

เมื่อพระศาสดาจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
ได้ยินว่า พญานกกุณาละได้กล่าวกับพญานกปุณณมุขะดุเหว่าขาว ซึ่งหายจากไข้ และหายยังไม่นานว่า ดูก่อนสหายปุณณมุขะ เราเคยเห็นมาแล้ว นางกัณหาสองพ่อ นางมีผัว ๕ คน ยังมีจิตปฏิพัทธ์ผูกพันในบุรุษที่ ๖ ซึ่งเป็นคนเปลี้ยหลังโกงโค้งงอ คอก้มลงมาถึงท้องเหมือนคนศีรษะขาด
และเรื่องนี้มีคำกล่าวเป็นคาถาอีกส่วนหนึ่งว่า

ครั้งนั้น นางคนหนึ่งล่วงละเมิดสามี ๕ คน คือพระเจ้าอัชชุนะ พระเจ้านกุล พระเจ้าภีมเสน พระเจ้ายุธิษฐิล พระเจ้าสหเทพ แล้วทำลามกกับบุรุษเปลี้ยเตี้ยแคระอีก.

ดูก่อนสหายปุณณมุขะ เรายังได้เคยเห็นอีก นางสมณีชื่อว่าปัญจตปาวี อาศัยอยู่ในท่ามกลางป่าช้า ถือพรตยอมอดอาหาร ๔ วันจึงบริโภคครั้งหนึ่ง ได้กระทำกรรมอันลามกกับพวกนักเลงสุรา. ดูก่อนสหายปุณณมุขะ เรายังได้เคยเห็นมาแล้วอีก นางเทวีมานามว่า กากวันตี อยู่ในท่ามกลางสมุทร เป็นภรรยาของท้าวเวนไตยพญาครุฑ ได้กระทำกรรมอันลามกกับกุเวรผู้เจนในการฟ้อน ดูก่อนสหายปุณณมุขะ เราเคยเห็นมาแล้ว นางขนงาม ชื่อว่ากุรุงคเทวี รักใคร่ได้เสียอยู่กินกับเอฬกกุมาร ได้กระทำกรรมอันลามกกับฉพังคกุมารเสนาบดี และธนันเตวาสีคนใช้ของฉฬังคกุมารอีก เป็นความจริงเราได้รู้มาอย่างนี้แหละ แม้พระมารดาของพระเจ้าพรหมทัต ก็ได้ทรงทอดทิ้งพระเจ้าโกศลราช กระทำกรรมอันลามกกับพราหมณ์ชื่อว่า ปัญจาลจัณฑะ


พญานกกุณาละกล่าวเป็นคาถาต่อไปว่า
หญิงทั้งหลายที่กล่าวมาแล้วนั้นก็ดี หญิงอื่นก็ดี ได้กระทำมาแล้วซึ่งกรรมอันลามก เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่วิสสาสะ ไม่สรรเสริญหญิงทั้งหลาย แผ่นดินอันทรงไว้ซึ่งสรรพแก้วยินดีเสมอกัน รับรองสิ่งที่ดีและชั่ว ทนทานได้หมด ไม่ดิ้นรน ไม่หวั่นไหว ฉันใด หญิงทั้งหลายก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ไม่ควรวิสสาสะกับหญิงทั้งหลาย
อนึ่ง ราชสีห์พาฬมฤคดุร้าย บริโภคเนื้อเลือดเป็นอาหาร ยินดีในการที่จะเบียดเบียนสัตว์ ใช้อาวุธ ๕ (คือปาก ๑ เท้า ๔) ข่มขี่สัตว์ทั้งหลายกินฉันใด หญิงทั้งหลายย่อมใช้อาวุธ ๕ อย่าง (คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) เหมือนกันฉันนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรวิสสาสะกับหญิงทั้งหลายเหล่านั้น.

ดูก่อนสหายปุณณมุขะ หญิงทั้งหลายไม่ใช่แพศยา ไม่ใช่นางงาม ไม่ใช่หญิงสัญจร ชื่อทั้ง ๓ นี้ไม่ใช่ชื่อโดยกำเนิด หญิงเหล่านี้ คือแพศยา นางงาม หญิงสัญจร ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่า หญิงทั้งหลายมุ่นมวยผมเหมือนพวกโจร ประทุษร้ายให้เป็นพิษเหมือนสุราเจือยาพิษ พูดโอ้อวดเหมือนคนขายของ ตลบตะแลงพลิกพลิ้วเหมือนเขาเนื้อ สองลิ้นเหมือนงู ปกปิดความชั่ว เหมือนเอาแผ่นกระดานปิดหลุมคูถไว้ บรรทุกให้เต็มยากเหมือนบาดาล ทำให้ยินดีได้ยากเหมือนรากษส กวาดไปไม่มีเหลือเหมือนพระยม กินไม่เลือกเหมือนไฟ พัดพาไปไม่เลือกเหมือนแม่น้ำ ประพฤติตามอำเภอใจตัวเหมือนลม ไม่ทำอะไรให้พิเศษเหมือนเขาพระเมรุมาศ (อธิบายว่า สัตว์เข้าไปที่ภูเขาพระเมรุแล้ว จะมีสีเป็นทองเหมือนกันไปหมด) ผลิตผลเป็นนิตย์เหมือนต้นไม้มีพิษ
มีคาถากล่าวความเหล่านี้ไว้อีกส่วนหนึ่งว่า

หญิงทั้งหลายเกล้าผมเหมือนโจร ประทุษร้ายเหมือนสุรามีพิษ
พูดโอ้อวดเหมือนคนขายของ ตลบตะแลงเหมือนเขาเนื้อ
สองลิ้นเหมือนงู ปิดความชั่วเหมือนปิดหลุมคูถ
ให้เต็มได้ยากเหมือนบาดาล ทำให้ยินดีได้ยากเหมือนรากษส
นำไปอย่างเดียวเหมือนพระยม กินไม่เลือกเหมือนไฟ
พัดให้ลอยไปไม่เลือกเหมือนแม่น้ำ ประพฤติตามใจตัวเหมือนลม
ไม่ทำอะไรให้วิเศษเหมือนเขาเมรุมาศ ผลิตผลเป็นนิตย์เหมือนต้นไม้มีพิษ
หญิงทั้งหลายเป็นผู้กอบกำรัตนะทั้งหลายไว้ในมือจนนับไม่ถ้วน
ทำโภคสมบัติในเรือนให้พินาศ.


คำว่า ซึ่งหายจากไข้ อธิบายว่า เป็นไข้มาก่อนแล้วจึงหายในภายหลัง. คำว่า เราเคยเห็นมาแล้วดังนี้

พระอรรถกถาจารย์นำเรื่องพิสดารมาสาธกไว้ว่า
ได้ยินว่า ในกาลอันล่วงมาแล้ว พระเจ้าพรหมทัต ผู้เป็นพระราชา ในแคว้นกาสี เสด็จไปตีได้ราชสมบัติในแคว้นโกศลเพราะพระองค์มีพลพาหนะอันมากมาย ฆ่าพระเจ้าโกศลเสียแล้ว พาพระอัครมเหสีของพระเจ้าโกศลราช ซึ่งกำลังทรงพระครรภ์อ่อนๆ มาด้วย เสด็จไปยังเมืองพาราณสี ทรงตั้งให้เป็นพระอัครมเหสีของพระองค์ ไม่ช้านางก็ประสูติพระธิดา โดยปกติพระเจ้าพรหมทัตมิได้มีพระโอรสพระธิดา ท้าวเธอจึงทรงยินดีมากถึงกับออกพระโอฐว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ เราจะให้พร พระอัครมเหสีก็ทรงยึดเป็นคำมั่นสัญญาไว้ พระประยูรญาติทั้งหลาย ถวายพระนามพระราชกุมารีนั้นว่า นางกัณหา เมื่อนางเจริญวัยแล้ว พระมารดาจึงบอกว่า พระราชบิดาของเจ้าพระราชทานพรไว้ แม่ได้ถือเป็นคำมั่นสัญญาไว้แล้ว เจ้าจงเลือกตามความพอใจของเจ้าเถิด. นางกัณหาทูลว่า ทรัพย์สมบัติใดๆ ของหม่อมฉัน ซึ่งจะไม่มีนั้นหามิได้ ขออนุญาตให้หม่อมฉันเลือกสามีได้ตามความชอบใจเถิด ที่นางหมดความอายความกลัวทูลพระราชมารดาได้ดังนั้น ก็เพราะกิเลสแรงกล้า. พระมารดาจึงนำความกราบทูลต่อพระเจ้าพรหมทัต พระเจ้าพรหมทัตตรัสรับว่า ดีแล้ว จึงป่าวร้องบุรุษมาแล้ว ให้ธิดาเลือกตามความชอบใจ พวกบุรุษทั้งหลายก็พากันประดับประดาด้วยเครื่องอลังการ มาประชุมพร้อมหน้ากันที่หน้าพระลาน นางกัณหาถือผอบดอกไม้ยืนอยู่ที่ช่องพระแกลอันสูง แลดูบุรุษเหล่านั้นก็มิได้ชอบใจสักคนหนึ่ง.
คราวนั้นมีราชกุมาร ๕ พระองค์ เป็นราชบุตรแห่งพระเจ้าบัณฑุราช องค์หนึ่งมีพระนามว่าอัชชุน องค์หนึ่งมีพระนามว่านกุล องค์หนึ่งมีพระนามว่าภีมเสน องค์หนึ่งมีพระนามว่ายุธิษฐิล องค์หนึ่งมีพระนามว่าสหเทพ พากันไปเล่าเรียนศิลปศาสตร์ ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักกสิลา สำเร็จแล้ว ใคร่จะทราบถึงจารีตในประเทศต่างๆ จึงพากันไปเที่ยวถึงเมืองพาราณสี ได้ยินเขาวุ่นวายกันในเมืองจึงเข้าไปถาม ครั้นทราบความแล้วก็ปรึกษากันว่าจะไปบ้าง กุมารทั้ง ๕ องค์นั้นมีรูปร่างงามผ่องใสคล้ายๆ กัน ต่างก็พากันไปยืนอยู่ต่อๆ กัน ฝ่ายนางกัณหานั้นเห็นราชกุมารทั้ง ๕ ก็มีความสิเนหาทุกๆ องค์ จึงโยนพวงมาลัยไปคล้องให้ทั้ง ๕ แล้วกราบทูลพระมารดาว่า หม่อมฉันเลือกเอาคนทั้ง ๕ คนนี้ พระมารดาก็ไปกราบทูลพระเจ้าพรหมทัต พระเจ้าพรหมทัตไม่พอพระทัย แต่ไม่อาจตรัสว่าไม่ได้ เพราะพระราชทานพรไว้เสียแล้ว จึงตรัสถึงชาติตระกูลและนามบิดา ครั้นทรงทราบว่า เป็นราชกุมารของพระเจ้าบัณฑุราช ก็พระราชทานราชสักการะแล้ว ยกนางกัณหาให้เป็นบริจาริกาพระราชกุมารทั้ง ๕ องค์ นางกัณหาก็บำเรอราชกุมารทั้ง ๕ ด้วยสามารถกิเลส อยู่บนปราสาท ๗ ชั้น และนางกัณหานั้นมีบุรุษคอยรับใช้อยู่คนหนึ่ง เป็นคนเปลี้ยค่อม เมื่อนางกัณหาบำเรอราชกุมารที่ ๕ ด้วยกิเลสแล้ว พอราชกุมารนั้นออกไปภายนอก นางมีเวลาว่าง เมื่อกิเลสลุกลามขึ้นก็ทำความชั่วกับบุรุษเปลี้ย
เมื่อนางเจรจากับบุรุษเปลี้ยนั้นได้กล่าวว่า คนอื่นซึ่งเป็นที่รักของเรา ยิ่งกว่าท่านไม่มี เราจักฆ่าพระราชกุมารทั้ง ๕ เสีย เอาเลือดในลำคอมาล้างเท้าท่านดังนี้ ถึงพระราชกุมารทั้ง ๕ นางก็พูดอย่างนี้ คือ เวลาคลอเคลียอยู่กับราชกุมารพี่ชายใหญ่ นางก็พูดว่า หม่อมฉันรักพระองค์ ยิ่งกว่าพระราชกุมารทั้ง ๔ ชีวิตของหม่อมฉัน สละถวายพระองค์แล้ว ถ้าบิดาของหม่อมฉันทิวงคต หม่อมฉันจะให้เขาถวายราชสมบัติแก่พระองค์ดังนี้ เวลานางคลอเคลียอยู่กับราชกุมารองค์อื่นอีก นางก็กล่าวอย่างนี้ทั้ง ๔ พระองค์ พระราชกุมารทั้ง ๕ องค์ ก็ทรงยินดีด้วยนางกัณหายิ่งนัก ด้วยใส่ใจว่า นางกัณหารักตน และอิสริยยศจะเกิดกับตน ก็เพราะอาศัยนางกัณหา ต่อมาภายหลังวันหนึ่ง นางกัณหาประชวรไข้ พระราชกุมารทั้ง ๕ ก็ไปนั่งแวดล้อม องค์หนึ่งนวดฟั้นศีรษะ อีก ๔ องค์นวดมือและเท้าทั้ง ๔ เจ้าเปลี้ยนั่งอยู่ใกล้เท้า. ส่วนนางกัณหาก็ให้อาณัติสัญญาอย่างรวมๆ แก่พระอัชชุนผู้เป็นเชษฐาด้วยศีรษะ เป็นเชิงแสดงให้รู้ว่า คนอื่นซึ่งเป็นที่รักของหม่อมฉันยิ่งกว่าพระองค์ไม่มี เมื่อหม่อมฉันมีชีวิตอยู่ก็จักมีชีวิตอยู่สำหรับพระองค์ ถ้าพระราชบิดาทิวงคตแล้วจะให้เขาถวายราชสมบัติแก่พระองค์ ส่วนราชกุมารอีก ๔ องค์ นางก็ให้อาณัติสัญญาด้วยมือและเท้าตามทิศที่นั่ง แสดงเลศนัยอย่างเดียวกัน ใช่แต่เท่านั้น ยังทำลิ้นให้อาณัติสัญญาแก่บุรุษเปลี้ยตามถ้อยคำที่เคยพูด คือว่า เจ้าคนเดียวเท่านั้นเป็นที่รักของข้า ข้าจักมีชีวิตอยู่สำหรับเจ้า ทุกๆ คนเห็นอาณัติสัญญา แล้วก็รู้เนื้อความ เพราะนางเคยพูดมาแต่ก่อนเนืองๆ
แต่อัชชุนกุมารสังเกตเห็นอาการเคลื่อนไหวมือเท้าและลิ้นของนาง ก็ดำริว่า นางกัณหาให้อาณัติสัญญาแก่เราฉันใด ชะรอยจะให้แก่ผู้อื่นฉันนั้น เห็นจะทำความรักใคร่ชิดชมกับอ้ายเปลี้ยด้วย โดยไม่ต้องสงสัย ดำริแล้ว จึงพาน้องชายออกไปข้างนอก แล้วไต่ถามว่า นาง ๕ ผัวแสดงท่าด้วยศีรษะให้เรา เจ้าเห็นหรือไม่ พระราชกุมาร ๔ องค์ก็รับว่า เห็น. อัชชุนกุมารจึงถามว่า เจ้ารู้เท่าทันหรือไม่. พระราชกุมารทั้ง ๔ ตอบว่า ไม่รู้. อัชชุนกุมารจึงถามว่า ก็ที่นางทำอาณัติสัญญาให้เจ้าทั้ง ๔ ด้วยมือ และเท้าทั้ง ๔ นั้นเจ้ารู้หรือไม่เล่า. พระราชกุมารทั้ง ๔ ตอบว่า รู้. อัชชุนกุมารจึงตรัสว่า นางให้สัญญาแก่พวกเราด้วยเรื่องอย่างเดียวกันนั่นแหละ แล้วถามต่อไปว่า ที่นางแสดงกิริยาพิรุธด้วยลิ้นแก่อ้ายเปลี้ยนั้น เจ้ารู้เท่าทันหรือไม่เล่า. พระราชกุมารทั้ง ๔ ก็ตอบว่า ไม่รู้. ลำดับนั้น อัชชุนกุมารจึงบอกแก่น้องชายว่า ชะรอยนางนี่จะได้ประพฤติชั่วกับอ้ายเปลี้ยด้วยอีกคนหนึ่งเป็นแน่ เมื่อเห็นว่าน้องชายทั้ง ๔ ไม่เชื่อ จึงเรียกให้บุรุษเปลี้ยเข้ามาถาม บุรุษเปลี้ยก็ยอมรับสารภาพทั้งหมดสิ้น พระราชกุมารทั้ง ๕ ได้ฟังแล้วก็หมดความยินดีรักใคร่ ติเตียนมาตุคามโดยอเนกปริยายว่า
น่าสลดใจนัก ขึ้นชื่อว่า มาตุคาม แล้วลามกทุศีล มาสละละคนที่บริบูรณ์ ด้วยชาติและสวยงามเช่นพวกเราเสีย แล้วไปประพฤติลามกกับด้วยอ้ายเปลี้ย อันน่าเกลียดปฏิกูลได้ ก็ใครเล่าที่เขาเป็นนักปราชญ์ จะพึงรื่นรมย์ยินดีกับด้วยหญิงทั้งหลาย ผู้หาความละอายมิได้ มีแต่ธรรมลามก.
เมื่อติเตียนแล้ว พระราชกุมารทั้ง ๕ ก็ตกลงใจกันว่า ไม่ต้องการอยู่เป็นฆราวาส จึงพากันเข้าไปสู่ป่าหิมพานต์ ถือเพศบรรพชา กระทำกสิณบริกรรม เมื่อสิ้นอายุแล้วก็ได้ไปตามยถากรรม.
ก็ในกาลนั้น พญานกกุณาละเกิดเป็นอัชชุนกุมาร ฉะนั้น เมื่อแสดงเหตุที่ตนได้เห็นมา จึงกล่าวว่า เราได้เห็นมาแล้ว ดังนี้.

คำว่า สองพ่อ ในพระพุทธพจน์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึง พระเจ้ากรุงโกศลกับพระเจ้ากาสิกราช. คำว่า มีผัว ๕ คน หมายความว่า ผัวของนางมีถึง ๕ คน. ย อักษรเป็นเพียงนิบาตที่แทรกเข้ามา. คำว่า ยังมีจิตปฏิพัทธ์ คือ มีจิตผูกพันอยู่. คำว่า ถึงท้อง อธิบายว่า ได้ยินว่า คอของชายเปลี้ยนั้นโค้งลงมา ตลอดหน้าอกถึงท้อง เพราะฉะนั้น เขาจึงปรากฏเหมือนมีศีรษะขาด. คำว่า ล่วงละเมิดสามี ๕ คน อธิบายว่า นางล่วงละเมิดสามีทั้ง ๕ คนเหล่านี้เสียแล้ว. คำว่า กับบุรุษเปลี้ย อธิบายว่า นางทำกรรมอันลามกกับบุรุษเปลี้ยเตี้ยแคระ.

พญานกกุณาละ ครั้นกล่าวเรื่องนี้จบลงแล้ว เมื่อจะแสดง เรื่องที่ตนเคยเห็นมาเรื่องอื่นอีก จึงกล่าวต่อไปว่า
ดูก่อนสหายปุณณมุขะ ยังมีอีกเราได้เห็นมาแล้ว นางสมณี ชื่อปัญจตปาวี อาศัยอยู่ในป่าช้า ถือพรตอดอาหาร ๔ วัน จึงบริโภคครั้งหนึ่ง นางได้ทำกรรมลามกกับนักเลงสุรา.

บรรดาเรื่องเหล่านั้น เรื่องที่หนึ่งนี้ พระอรรถกถาจารย์นำเอานิทานพิสดารมาสาธกว่า
ดังได้ยินมา ในอดีตกาล ยังมีนางสมณีนุ่งขาวรูปหนึ่ง ชื่อปัญจตปาวี อาศัยอยู่ในเมืองพาราณสี นางให้ทำบรรณศาลาอาศัยอยู่ในป่าช้า นางถือพรตอดอาหารข้ามเวลาถึง ๔ วันจึงฉันครั้งหนึ่ง จนเกียรติคุณปรากฏ ดุจกับพระจันทร์และพระอาทิตย์ ถึงกับพวกชาวพาราณสีไอจามหรือพลาดหกล้ม ก็เปล่งเสียงนมัสการนางปัญจตปาวี ต่อมาภายหลัง ครั้งหนึ่งเป็นเวลานักขัตฤกษ์ วันแรกพวกช่างทองก็ชักชวนพวกไปสร้างปรำขึ้นหลังหนึ่ง แล้วจัดหาของต่างๆ เป็นต้นว่า ปลา เนื้อ สุรา ของหอม นั่งล้อมกันจะเสพสุรา เวลานั้น ช่างทองคนหนึ่งทำกระติกเหล้าตกลง ก็ตกใจเปล่งเสียงนมัสการนางปัญจตปาวี ในที่นั้น มีชายฉลาดคนหนึ่งพูดขึ้นว่า ท่านนี้เขลานัก ไฉนจึงนอบน้อมไหว้ผู้หญิง ซึ่งมีจิตกลับกลอกเล่า. ช่างทองนั้นตอบว่า ดูก่อนสหายเอ๋ย ท่านอย่าพูดอย่างนี้ อย่าทำกรรมที่จะนำไปตกนรกเลย. บุรุษผู้ฉลาดจึงตอบว่า ท่านนี้งมงายหาปัญญามิได้ มาพนันกันพันหนึ่งหรือ ต่อไปนี้อีก ๗ วัน เราจะไปพานางปัญจตปาวีมาให้แต่งตัวงดงาม แล้วให้มานั่งที่นี่ ให้ถือกระติกเหล้ารินให้เรากินให้ได้ ขึ้นชื่อว่ามาตุคามแล้ว ที่จะมีศีลยั่งยืนนั้นไม่มีเลย. ช่างทองคนนั้นก็ตอบว่า เป็นไปไม่ได้. จึงพนันกับบุรุษผู้เป็นบัณฑิตพันหนึ่ง.
บุรุษบัณฑิตนั้นระบุเรื่องการพนันให้ช่างทองอื่นๆ ฟังแล้วครั้นรุ่งขึ้น เวลาเช้าก็เข้าไปในป่าช้า นั่งนมัสการพระอาทิตย์อยู่ใกล้กับที่อยู่ของนางปัญจตปาวี เมื่อนางปัญจตปาวีเข้าไปเที่ยวภิกขาจารในพระนคร กลับมาพบบุรุษนั้นแล้วก็คิดว่า ดาบสรูปนี้เห็นจะมีฤทธิมากมาย เราอยู่ริมป่าช้านี่เข้ามาอยู่กึ่งกลาง เห็นจะมีสัปบุรุษธรรมอยู่ในภายใน จำเราจักเข้าไปทำความเคารพ คิดแล้วนางก็เข้าไปไหว้ ดาบสปลอมแกล้งนิ่งเฉย มิได้เหลียวดูและไม่ทักทาย วันที่ ๒ ก็ทำอย่างนั้นอีก พอถึงวันที่ ๓ เมื่อนางปัญจตปาวีไหว้แล้ว ดาบสปลอมก้มหน้าพูดว่า ไปเถอะ. ครั้นวันที่ ๔ จึงทักทายปราศรัยว่า ท่านไม่ลำบากด้วยภิกขาหารดอกหรือ นางปัญจตปาวีดีใจมากที่ได้รับคำปฏิสันถาร ครั้นวันที่ ๕ นางได้รับคำปฏิสันถารมากขึ้นอีก ถึงต้องนั่งอยู่หน่อยหนึ่ง จึงลุกไป ครั้นวันที่ ๖ พอนางมานั่งไหว้ ดาบสปลอมก็ถามว่า น้องหญิงวันนี้เสียงขับร้องเอิกเกริกในเมืองพาราณสี ทำไมกันหนอ. นางปัญจตปาวีตอบว่า พระผู้เป็นเจ้าไม่รู้ดอกหรือ เขาเล่นมหรสพกันกึกก้องในพระนคร นั่นเป็นเสียงนักเล่นมหรสพ. ดาบสปลอมแกล้งทำเป็นไม่รู้ว่าเสียงอะไร แกล้งถามเรื่องอื่นต่อไปว่า เจ้ามาประพฤติพรตอยู่นี้เว้นอาหารเท่าไร. นางตอบว่าเว้น ๔ วัน แล้วย้อนถามว่า ก็พระผู้เป็นเจ้าเว้นเท่าไรเล่า ดาบสปลอมตอบว่า เว้น ๗ วัน ที่แท้ก็เท็จทั้งนั้น เว้นแต่กลางวัน กลางคืนกินทุกคืน แล้วดาบสปลอมถามต่อไปว่า น้องหญิง เจ้าบวชมากี่ปีแล้ว ครั้นนางบอกว่า ๑๒ ปี แล้วย้อนถามบ้างว่า พระผู้เป็นเจ้าเล่าบวชมากี่ปีแล้ว. จึงตอบว่า ๖ ปีแล้ว แล้วถามต่อไปว่า เจ้าได้บรรลุธรรมเครื่องระงับแล้วหรือ. ครั้นนางปฏิเสธว่าไม่ได้บรรลุและย้อนถามบ้าง ดาบสปลอมก็บอกว่า ยังไม่ได้บรรลุเหมือนกัน.
ต่อนั้น ก็รำพันเป็นเชิงชวนให้เกิดความต้องการดังนี้ว่า น้องหญิงเอ๋ย เราทั้งสองนี้มิได้รับความสุขทั้ง ๒ อย่าง ทางกามโภคีสำหรับผู้ครองเรือนที่จะเป็นสุข ด้วยทรัพย์สมบัติก็ไม่ได้ เนกขัมมสุข เครื่องระงับทางใจก็ไม่เกิดขึ้น ไฟนรกมันจะร้อนแต่เราสองคนเท่านั้นหรือ ถ้าเราจักประพฤติอย่างมหาชนคนหมู่มากเขาทำกัน ข้าเห็นจะทนทุกข์เช่นนี้อยู่อีกไม่ได้ จักต้องสึกเป็นคฤหัสถ์ ทรัพย์สมบัติของแม่ก็ยังมีอยู่บ้าง พอจะก่อร่างสร้างตัวต่อไป นางปัญจตปาวีได้ฟังคำเช่นนั้นก็เกิดความกำหนัดรักใคร่ จึงปฏิญาณความในใจออกมาว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เรื่องนี้เป็นหัวอกอันเดียวกัน แต่จนใจที่มิรู้จะหันหน้าไปหาใคร ถ้าท่านจะไม่ทอดทิ้งข้าพเจ้าแล้วไซร้ ข้าพเจ้าจะยอมเป็นน้องสาว สึกไปอยู่รับใช้ท่าน. ดาบสปลอมจึงตอบว่า ถ้าปลงใจเช่นนั้นก็มาเถิด พี่จะไม่ทอดทิ้ง จะเลี้ยงเจ้าเป็นภรรยา ว่าแล้วก็พากันไปในเมือง อยู่สมัครสังวาสอย่างสามีภรรยาทั้งหลายแล้ว ก็ให้นางถือกระติกสุรา พากันไปสู่ปรำสุราบาน นั่งดื่มสุราอยู่ ฝ่ายนายช่างทองก็แพ้เสียเงินพันหนึ่ง. นางปัญจตปาวีก็เกิดบุตรธิดาด้วยนักเลงสุรานั้นหลายคน ในคราวนั้น พญานกกุณาละเกิดเป็นนักเลงสุรา เมื่อนำเหตุนั้นมาแสดงจึงได้กล่าวว่า เราได้เห็นมาแล้วดังนี้

อดีตนิทานในเรื่องที่ ๒ มีพรรณนาไว้แล้วในอรรถกถาแห่งกากาติชาดก ในจตุกกนิบาต ในกาลนั้น พญานกกุณาละเกิดเป็นพญาครุฑ เพราะฉะนั้น เมื่อจะประกาศเหตุที่ตนประสบมาแล้ว จึงได้กล่าวว่า เราได้เห็นมาแล้ว ดังนี้.

ในเรื่องที่ ๓ นี้ พระอรรถกถาจารย์นำเรื่องพิสดารมาสาธกไว้ว่า
ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตปลงพระชนม์พระเจ้าโกศลราช ทรงริบเอาราชสมบัติแล้ว พาพระอัครมเหสีของพระเจ้าโกศลไปสู่เมืองพาราณสี แม้ทรงทราบอยู่ว่า นางนั้นมีครรภ์ ก็ยังทรงตั้งนางนั้นเป็นพระอัครมเหสี ครั้นนางมีครรภ์แก่แล้ว ก็ประสูติพระราชบุตรอันงดงามดุจดังทองคำ นางจึงดำริว่า เมื่อกุมารนี้เติบโต พระเจ้าพาราณสีก็จักให้ฆ่าทิ้งเสีย ด้วยทรงเห็นว่าเป็นบุตรของข้าศึก ไม่ต้องพระประสงค์จะเลี้ยงไว้ อย่าให้บุตรของเราตายด้วยมือคนอื่นเลย. นางดำริแล้วจึงสั่งนางนมว่า เจ้าจงเอาผ้าเก่าๆ ห่อทารกนี้แล้ว จงนำไปทิ้งเสียที่ป่าช้าผีดิบ นางนมทำตามสั่งอาบน้ำชำระเกล้าแล้ว จึงกลับมา.
ฝ่ายพระเจ้าโกศลราชทิวงคตแล้วไปเกิดเป็นรุกขเทวดา จึงบันดาลด้วยอานุภาพของตน ให้คนเลี้ยงแพะต้อนแพะไปสู่ประเทศนั้น นางแพะตัวหนึ่งไปพบทารกนั้นเข้า ก็เกิดความสิเนหา จึงให้ทารกนั้นดื่มกินน้ำนมแล้ว ก็เที่ยวไปแล้วกลับมาให้กินอีก ๓-๔ ครั้ง. คนเลี้ยงแพะเห็นกิริยาของนางแพะนั้น จึงเข้าไปดู เห็นทารกนั้นแล้ว ก็เกิดความรักใคร่เหมือนบุตร จึงอุ้มมาให้ภรรยาของตน. ภรรยาของคนเลี้ยงแพะไม่มีบุตร ก็ไม่มีนมจะให้กิน จึงให้ทารกกินนมแพะตัวนั้น. แต่วันนั้นมา นางแพะก็ตายลง ๒ ตัว ๓ ตัวทุกวัน คนเลี้ยงแพะจึงคิดว่า ถ้าเรายังเลี้ยงเด็กคนนี้ไว้ นางแพะก็คงจะตายหมดแน่ จะเลี้ยงมันไว้ทำไม จึงเอาทารกนั้นวางลงในภาชนะดินใบหนึ่ง แล้วเอาอีกใบหนึ่งคว่ำปิดลง เอาแป้งถั่วมายาปิดปากไม่ให้มีช่องแล้ว ปล่อยให้ลอยน้ำไป.
มีคนจัณฑาลผัวเมีย ซึ่งเป็นคนซ่อมของเก่าในพระราชนิเวศน์ ลงไปล้างปอที่ท่าข้างใต้ เห็นภาชนะลอยมาก็รีบว่ายไปพาขึ้นมาบนฝั่ง พอเปิดขึ้นก็ได้เห็นทารกรูปงดงาม. ภรรยาของคนจัณฑาลไม่มีบุตร ก็มีความรักใคร่ทารกเหมือนดังบุตร จึงนำไปเลี้ยงไว้ที่เรือน พอทารกนั้นเจริญวัยได้ ๗ ปี เมื่อบิดามารดาไปสู่ราชตระกูล ก็พากันไปด้วย พอทารกนั้นเจริญวัยได้ ๑๖ ปี ก็ได้ไปช่วยทำการปฏิสังขรณ์ของเก่าในราชตระกูล ก็พระอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตนั้น มีพระราชธิดาพระองค์หนึ่งพระนามว่ากุรุงคเทวี มีรูปร่างงดงาม ตั้งแต่นางกุรุงคเทวีได้เห็นกุมารนั้น ก็มีจิตผูกพันรักใคร่ ไม่ยินดีในผู้อื่น. นางเสด็จไปสู่ที่ทำการของกุมารนั้นเนืองๆ เมื่อพบกันบ่อยๆ เข้า ทั้งสองก็มีจิตผูกพันรักใคร่กัน ลอบประพฤติสังวาสกันในที่ลับ ในราชตระกูลนั่นเอง นานๆ เข้า พวกเหล่าบริจาริกาก็รู้เรื่องนั้น จึงนำความกราบทูลพระเจ้าพรหมทัต พระเจ้าพรหมทัตทรงพระพิโรธ จึงให้ประชุมอำมาตย์ทั้งหลาย ตรัสปรึกษาโทษว่า ลูกคนจัณฑาลทำอย่างนี้ ท่านทั้งหลายจงวางบทกำหนดโทษตามควรแก่โทษเถิด. อำมาตย์ทั้งหลายก็กราบทูลว่า โทษผิดใหญ่หลวงควรทำโทษ ทรมานก่อนแล้ว จึงฆ่าในภายหลัง.
ในขณะนั้น รุกขเทวดาผู้เป็นบิดาของกุมารนั้น จึงมาเข้าสิงนางอัครมเหสีผู้เป็นมารดา นางก็เข้าไปเฝ้าพระเจ้าพรหมทัต ด้วยอานุภาพแห่งเทวดาแล้วทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า กุมารนี้ไม่ใช่ลูกคนจัณฑาล กุมารนี้เกิดในครรภ์ของหม่อมฉัน เป็นบุตรพระเจ้าโกศลราช หม่อมฉันได้ทูลมุสาวาทแก่พระองค์ว่า พระโอรสตายแล้ว ด้วยคิดว่าเป็นบุตรของพระราชา ผู้เป็นข้าศึกของพระองค์ จึงมอบให้นางนมเอาไปทิ้งเสียในป่าช้าผีดิบ คนเลี้ยงแพะคนหนึ่ง จึงรับปฏิบัติต่อมา ครั้นเกิดเหตุแม่แพะตายขึ้นหลายตัว คนเลี้ยงแพะก็เอาไปลอยน้ำเสีย. คนจัณฑาล ซึ่งเป็นผู้ซ่อมของเก่าในราชตระกูลของพระองค์ พบกุมารนี้ลอยน้ำมา จึงเอามาเลี้ยงไว้ ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อ จงให้หาเขาเหล่านั้นมาตรัสถามดูเถิด. พระเจ้าพรหมทัตตรัสให้หาคนเหล่านั้น ตั้งต้นแต่นางนมเข้ามาตรัสถาม เขาเหล่านั้นก็ทูลความตั้งแต่ต้นจนอวสาน. พระเจ้าพรหมทัตก็ทรงยินดีว่า กุมารประกอบด้วยชาติ จึงให้สรงสนานแต่งเครื่องอลังการแล้ว พระราชทานราชธิดาให้ และคนทั้งหลายขนานนามว่า เอฬกกุมาร ถือเอาเหตุที่แพะตาย ต่อมาพระเจ้าพรหมทัตจึงพระราชทานเสนา พาหนะแก่เอฬกกุมาร แล้วส่งให้ไปปกครองราชสมบัติของบิดา เอฬกกุมารก็พานางกุรุงคเทวีไปครองราชสมบัติ ภายหลังพระเจ้าพรหมทัตทรงดำริเห็นว่า เอฬกกุมารมิได้ศึกษาศิลปศาสตร์ จึงทรงตั้งฉฬังคกุมารเป็นเสนาบดี ด้วยเห็นว่าเป็นอาจารย์ของพระองค์.
ต่อมาภายหลัง นางกุรุงคเทวีลอบลักประพฤติอนาจาร กับฉฬังคกุมาร. ฉฬังคกุมารมีคนใช้คนหนึ่ง ชื่อธนันเตวาสี ฉฬังคกุมารเคยใช้ให้นำสิ่งของเป็นต้นว่า ผ้าและเครื่องประดับไปให้นางกุรุงคเทวี นางกุรุงคเทวีก็ประพฤติลามกกับคนใช้นั้นอีก.
เมื่อพญานกกุณาละนำเอาเหตุนี้มาแสดง จึงได้กล่าวว่า เราได้เห็นมาแล้ว.

คำว่า นางขนงาม ในพระบาลีนั้น ท่านกล่าวหมายถึงนางผู้มีท้องอันประดับด้วยขนเป็นแถวๆ. คำว่า กับฉฬังคกุมารเสนาบดี และธนันเตวาสี อธิบายว่า แม้นางปรารถนาอยู่กับเอฬกกุมาร ก็ได้กระทำกรรมอันลามก กับฉฬังคกุมารเสนาบดี และธนันเตวาสีคนใช้ของเสนาบดีนั้นอีกด้วย.
พญานกกุณาละกล่าวว่า หญิงทั้งหลายมีความประพฤติเลวทรามอย่างนี้ เป็นผู้ทุศีลมีธรรมอันลามก ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่สรรเสริญหญิงเหล่านั้นเลย พระมหาสัตว์นำอดีตนิทานนี้มาแสดงแล้ว ก็ในกาลนั้น เธอได้เป็นฉฬังคกุมาร เพราะฉะนั้น จึงนำเหตุที่ตนเห็นมากล่าวให้ฟัง.

แม้ในเรื่องที่ ๔ พระอรรถกถาจารย์นำเรื่องพิสดารมาสาธกไว้ว่า
ในกาลอันล่วงมาแล้ว พระเจ้าโกศลราชยึดราชสมบัติเมืองพาราณสีได้ จึงทรงตั้งพระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี ซึ่งทรงครรภ์อยู่แล้ว ให้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ต่อมาไม่ช้านัก พระอัครมเหสีนั้นก็ประสูติพระราชโอรส ส่วนพระเจ้าโกศลราชก็ทรงเลี้ยงไว้ ด้วยความรักใคร่เหมือนโอรสของพระองค์ เหตุพระองค์หาพระโอรสมิได้ ครั้นพระกุมารนั้นทรงเจริญ ก็ให้ศึกษาศิลปศาสตร์แล้ว ส่งไปให้ครองเมืองพระชนก พระราชกุมารก็ไปเสวยสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี.
ต่อมาภายหลัง พระมารดาของพระเจ้าพาราณสีจึงเข้าไปทูลลาพระเจ้าโกศลราชว่า จะไปเยี่ยมพระราชบุตร แล้วนางก็พาบริวารเป็นอันมาก ไปสู่เมืองพาราณสี หยุดพักอาศัยในนิคมหนึ่ง อันอยู่ในระหว่างแคว้นทั้งสอง มีพราหมณ์กุมารคนหนึ่ง ชื่อปัญจาลจัณฑะ รูปร่างสะสวยอยู่ที่นิคมนั้น ได้นำเครื่องบรรณาการมาถวายพระนาง. พระนางพอเห็นก็มีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ ลอบทำลามกกับพราหมณ์ผู้นั้น พักอยู่ ๒-๓ วัน แล้วจึงไปยังเมืองพาราณสี พบกับพระราชบุตรแล้วก็รีบกลับมาพักที่นิคมนั้นอีก ลอบประพฤติอนาจารกับพราหมณ์นั้นอีก ๒-๓ วันแล้ว จึงไปยังเมืองโกศล ตั้งแต่นั้นมาไม่ช้านานนัก นางก็เข้าไปทูลลาพระเจ้าโกศล อ้างเหตุไปเยี่ยมพระราชโอรสอีก เวลาไปและกลับ ก็ไปพักประพฤติอนาจารกับพราหมณ์ ที่นิคมนั้นอยู่ตั้งครึ่งเดือน.
ดูก่อนสหายปุณณมุขะเอ๋ย ขึ้นชื่อว่าหญิงเหล่านี้ เป็นผู้ทุศีล มีปกติชอบกล่าวคำเท็จ. พระมหาสัตว์แสดงอดีตนิทานเรื่องนี้ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า เป็นความจริง เราเห็นมาอย่างนี้

พระอรรถกถาจารย์กล่าวคำอธิบายในพระบาลีนั้นว่า คำว่า พระมารดาของพระเจ้าพรหมทัต หมายถึง พระชนนีของพรหมทัตกุมาร ซึ่งได้เสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี ได้ยินว่า ในกาลนั้นพญานกกุณาละได้เป็นพราหมณ์ ชื่อปัญจาลจัณฑะ เพราะฉะนั้น เมื่อจะแสดงเหตุที่ตนได้รู้มานั้น จึงได้กล่าวอย่างนี้.

คำว่า หญิงที่กล่าวมาแล้วนี้ อธิบายว่า ดูก่อนสหายปุณณมุขะเอ๋ย ก็หญิงทั้ง ๕ คนนี้ ได้กระทำกรรมอันลามกแล้ว ท่านจงอย่าได้สำคัญว่า หญิงเหล่าอื่นจะไม่กระทำ หญิงเหล่านี้ก็ดี หญิงเหล่าอื่นอีกมากมายก็ดี ได้กระทำกรรมอันลามกในกาลทุกเมื่อแล เราอยู่ในที่นี้ จะพึงกล่าวถึงเรื่องของหญิงที่ประพฤตินอกใจได้ทั้งโลก. คำว่า สัตวโลก อธิบายว่า แผ่นดินเมทนีดล วสุนธรา ปฐพี กล่าวคือโลกย่อมรับรองทั้งสิ่งดีและชั่ว ฉันใด. คำว่า สรรพแก้วยินดีเสมอกัน อธิบายว่า ชื่อว่า ยินดีเสมอกันในสิ่งทั้งหมดด้วยภาวะแม้รับรอง ด้วยว่า แผ่นดินนั้นเป็นที่รับรองทุกสิ่งทุกอย่างทั้งดีและชั่ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นที่รับรองสิ่งที่สูงที่สุดและต่ำที่สุด แม้หญิงทั้งหลายก็เหมือนกัน ย่อมเป็นที่รับรองของสิ่งที่ดีที่สุดและชั่วที่สุดทุกชนิดด้วยอำนาจกิเลส จริงอยู่ หญิงทั้งหลายเมื่อได้โอกาส ชื่อว่าจะไม่กระทำกรรมอันลามกกับบุรุษไรๆ ย่อมไม่มีเลย. คำว่า ทนทานได้หมด อธิบายว่า ธรรมดาว่า แผ่นดินย่อมทนทานได้ทั้งหมดทีเดียว คือไม่สะทกสะท้าน ไม่ดิ้นรน ไม่หวั่นไหว ฉันใด หญิงทั้งหลายก็เหมือนกัน ย่อมทนทานได้ในบุรุษทั้งหมด ด้วยอำนาจความยินดีในโลก ถ้าหากว่า ชายคนใดเป็นที่ถูกใจนาง นางย่อมไม่ดิ้นรนและไม่กระทำความโกลาหล เพราะจะรักษาชายนั้น
อนึ่ง แผ่นดินย่อมไม่สะเทือนไม่หวั่นไหว ฉันใด แม้หญิงทั้งหลายก็ฉันนั้น ย่อมไม่สะเทือน ไม่หวั่นไหวด้วยเมถุนธรรม คือไม่อาจที่จะให้เต็มด้วยเมถุนธรรมนั้นได้. คำว่า พาฬมฤค หมายถึงเนื้อร้าย. คำว่า มีอาวุธ ๕ อย่างนี้ ท่านกล่าวหมายถึงปากและเล็บเท้าทั้ง ๔. คำว่า ร้ายกาจ คือ หยาบช้าโหดร้ายทารุณ. คำว่า หญิงเหล่านั้นก็เหมือนกัน อธิบายว่า ราชสีห์มีอาวุธ ๕ อย่าง คือ ปาก ๑ และมีเท้าอีก ๔ ฉันใด หญิงทั้งหลายก็เหมือนกัน มีอาวุธ ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ราชสีห์นั้น เมื่อจะถือเอาอาหารของตน ย่อมถือเอาด้วยอาวุธ ๕ อย่างนั้น ฉันใด แม้พวกหญิงเหล่านั้นก็เหมือนกัน เมื่อจะถือเอาอาหาร คือกิเลส ย่อมประหารด้วยอาวุธมีรูปเป็นต้น แล้วจึงถือเอา ราชสีห์นั้นดุร้าย ข่มขี่สัตว์จับกินเป็นอาหาร ฉันใด แม้หญิงเหล่านี้ก็เหมือนกัน หยาบช้า ข่มขี่กิน จริงอย่างนั้น หญิงทั้งหลายย่อมกระทำอาการ คือความข่มขี่ในบุรุษผู้มีศีลอย่างเคร่งครัดด้วยกำลังของตน ให้ถึงความพินาศแห่งศีลเสียได้ ราชสีห์ย่อมยินดีแต่ที่จะเบียดเบียนสัตว์อื่นฉันใด แม้หญิงเหล่านั้นก็เหมือนกัน ยินดีในการเบียดเบียนผู้อื่นด้วยอำนาจกิเลส. คำว่า หญิงเหล่านั้น อธิบายว่า หญิงผู้ไม่ประกอบด้วยคุณสมบัติอย่างนี้ นรชนไม่ควรวิสาสะเลย. คำว่า สัญจร หมายถึง หญิงโสเภณี มีคำกล่าวอธิบายว่า ดูก่อนสหายปุณณมุขะเอ๋ย ชื่อของหญิงทั้งหลายเป็นต้นว่า แพศยาเหล่านี้เป็นชื่อเดิมของพวกนางก็หาไม่ หญิงเหล่านี้มีชื่อว่า แพศยา ชื่อว่านารี ชื่อว่าสัญจร ชื่อว่าเกี่ยวพันธ์ก็หาไม่ แต่หญิงเหล่านี้โดยชื่อเดิมแล้ว เรียกว่าผู้ฆ่า หญิงเหล่านั้นเรียกกันต่างๆ ว่า แพศยา นารี สัญจร. คำว่า ผู้ฆ่า หมายความว่า ฆ่าสามี.
ข้อความอันนี้ บัณฑิตพึงแสดงด้วยเรื่องมหาหังสชาดก.
จริงอยู่ ท่านกล่าวไว้ในชาดกนั้นว่า
อนึ่ง หญิงนี้มีมารยาเหมือนพยับแดด เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งความเศร้าโศก โรคและอุปัทวันตราย และหญิงนี้เป็นคนหยาบนัก เป็นเครื่องผูกมัด เป็นบ่วงเป็นถ้ำ และเป็นที่อยู่ของพญามัจจุราช บุรุษใดระเริงใจในหญิงเหล่านั้น บุรุษนั้นนับว่าเป็นคนอธรรมในนรชนทั้งหลาย.


คำว่า เกล้ามวยผม คือ มีมวยผมเกล้าไว้แล้ว จริงอยู่ พวกโจรที่อยู่ในดง ย่อมผูกมวยผมแล้ว จึงแย่งชิงทรัพย์ฉันใด แม้พวกหญิงเหล่านี้ก็เหมือนกัน นำเอาพวกบุรุษไปสู่อำนาจกิเลสแล้วปล้นทรัพย์. คำว่า ประทุษร้ายให้เป็นพิษเหมือนสุราเจือยาพิษ คือ เหมือนสุราที่เจือด้วยยาพิษฉะนั้น อธิบายว่า สุราที่เจือยาพิษแสดงอาการที่แปลกๆ ฉันใด แม้หญิงเหล่านี้ก็เหมือนกัน เป็นผู้มีความกำหนัดในบุรุษทั้งหลายอื่น ไม่รู้จักกิจน้อยใหญ่ เมื่อกระทำกิจในบุรุษอื่นแล้วกระทำกะบุรุษอื่นต่อไปอีก ชื่อว่าย่อมแสดงอาการแปลกๆ. คำว่า พูดโอ้อวด อธิบายว่า คนขายของย่อมกล่าวอวดคุณภาพแห่งสินค้าของตนฉันใด แม้หญิงเหล่านี้ก็เหมือนกัน ปิดบังโทษอันมิใช่คุณของตนเสียแล้ว ประกาศแต่คุณอย่างเดียว. คำว่า ตลบตะแลง อธิบายว่า เขาของเนื้อบิดไปบิดมาฉันใด พวกหญิงเหล่านี้ ก็ตลบตะแลงพลิกไปพลิกมา เพราะความที่ตนมีจิตเบา ฉันนั้นเหมือนกัน. คำว่า เหมือนงู อธิบายว่า หญิงทั้งหลายชื่อว่ามีสองลิ้นเหมือนงู เพราะเป็นคนมักกล่าวเท็จเสมอๆ. คำว่า เหมือนบ่อคูถ อธิบายว่า บ่อคูถย่อมถูกปิดด้วยไม้กระดานฉันใด แม้หญิงทั้งหลายก็ปกปิดร่างกายด้วยผ้าและเครื่องอาภรณ์ เที่ยวไปฉันนั้นเหมือนกัน อีกอย่างหนึ่ง บ่อที่ปกปิดด้วยหยากเยื่อเป็นต้น เมื่อเหยียบลงไปย่อมให้เกิดความลำบากแก่เท้าฉันใด แม้หญิงเหล่านั้นก็เหมือนกัน เมื่อใครเข้าไปคบหาด้วย ก็ให้เกิดทุกข์แก่ผู้นั้น.
คำว่า เหมือนบาดาล อธิบายว่า บาดาลในมหาสมุทร ย่อมทำให้เต็มได้ยากฉันใด แม้หญิงเหล่านี้ก็เหมือนกัน ย่อมทำให้เต็มได้ยากด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ ด้วยเมถุน ๑ ด้วยการคลอด ๑ ด้วยการแต่งตัว ๑ เพราะเหตุนั้นแล สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หญิงทุกคนไม่อิ่มด้วยธรรม ๓ ประการ คือ ด้วยเมถุนธรรม ๑ ด้วยการคลอด ๑ ด้วยการแต่งตัว ๑ ย่อมกระทำกาละดังนี้เป็นต้น. คำว่า เหมือนรากษส อธิบายว่า ธรรมดาว่า รากษส ใครๆ ไม่อาจจะให้ยินดีด้วยทรัพย์ได้ เพราะตนอยากกินเนื้ออย่างเดียว รากษสนั้นย่อมห้ามทรัพย์ แม้เป็นจำนวนมากเสียแล้ว ปรารถนาแต่เนื้ออย่างเดียว ฉันใด แม้หญิงเหล่านี้ก็เหมือนกัน ย่อมไม่ยินดีด้วยทรัพย์แม้มาก เพราะตนปรารถนาเมถุน หญิงเหล่านั้นย่อมไม่รับทรัพย์ ปรารถนาเมถุนอย่างเดียว. คำว่า เหมือนพระยม อธิบายว่า พระยมมีแต่นำไปโดยส่วนเดียว มิได้ยกเว้นใครๆ ไว้เลย ฉันใด แม้หญิงเหล่านี้ก็เหมือนกัน ย่อมไม่เหลือใครๆ ไว้เลย ในบรรดาบุคคลที่สมบูรณ์ด้วยชาติเป็นต้น นางย่อมให้ถึงความพินาศแห่งศีลด้วยอำนาจกิเลสทั้งหมด ในวาระแห่งจิตดวงที่ ๒ ก็ย่อมนำไปสู่นรก. คำว่า เปรียบเหมือนไฟ อธิบายว่า ธรรมดาว่า เปลวไฟย่อมกินสิ่งทั้งหมด แม้สะอาดหรือไม่สะอาดฉันใด แม้หญิงเหล่านั้นก็เหมือนกัน ย่อมเสพสิ่งทั้งหมดตั้งแต่เลวจนถึงดีที่สุด แม้ในข้อความที่เปรียบด้วยแม่น้ำ ก็มีนัยเหมือนกันทีเดียว. คำว่า ตามใจตัว อธิบายว่า หญิงเหล่านี้ ย่อมมีความรักใคร่ในสถานที่ใด ก็ย่อมวิ่งไปในสถานที่นั้นทันที.
คำว่า เหมือนเขาพระสุเมรุ อธิบายว่า ในป่าหิมพานต์มีภูเขาทองอยู่ลูกหนึ่ง แม้กาซึ่งมีสีดำแก่พอเข้าไปใกล้ภูเขานั้น ก็กลับกลายเป็นสีทอง ภูเขานั้นมีอุปมาฉันใด แม้หญิงเหล่านั้นก็เหมือนกัน มิได้กระทำสิ่งใดให้วิเศษเลย ย่อมมองเห็นชายที่เข้าไปใกล้ตนเหมือนเป็นคนเดียวกันหมด. คำว่า เหมือนต้นไม้มีพิษ อธิบายว่า ต้นไม้ที่มีผลสุก เช่นกับมะม่วงนั้น ย่อมผลิตผลเป็นนิจ และย่อมเป็นผลที่ไม่สมบูรณ์ด้วยสีเป็นต้น บุคคลไม่มีความสงสัยบริโภคผลไม้นั้น ย่อมตายฉันใด แม้หญิงเหล่านั้นก็เหมือนกัน ย่อมปรากฏเหมือนเป็นที่น่ารื่นรมย์ด้วยอำนาจรูปเป็นต้น เพราะผลิตผลเป็นนิจ ก็เมื่อผู้ใดเสพอยู่ ย่อมนำผู้นั้นให้เกิดความประมาทแล้ว ฉุดให้ตกลงไปในอบาย เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า
ผู้ใดเสพกามเพราะไม่รู้จักโทษ กามก็ย่อมฆ่าผู้นั้นเสีย เหมือนบริโภคผลไม้ที่มีพิษ ฉะนั้น.
อีกอย่างหนึ่ง ต้นไม้มีพิษย่อมนำความพินาศมาให้ในกาลทุกเมื่อ เพราะมีผลเป็นนิจ ฉันใด แม้หญิงเหล่านั้นก็เหมือนกัน ย่อมนำความฉิบหายมาให้ในกาลทุกเมื่อ ด้วยอำนาจความพินาศแห่งคุณมีศีลเป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง ราก เปลือก ใบ ดอก ผลของต้นไม้มีพิษนั้นย่อมเป็นพิษ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามีผลเป็นนิจฉันใด แม้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แม้ทั้ง ๕ อย่างของหญิงเหล่านั้น ก็เป็นพิษเหมือนกันฉันนั้น เพราะฉะนั้น หญิงเหล่านั้นจึงชื่อว่าเผล็ดผลเป็นนิจ ประหนึ่งต้นไม้มีพิษ ฉะนั้น. คำว่า มีคาถากล่าวความนี้ไว้อีกส่วนหนึ่ง อธิบายว่า พญานกกุณาละกล่าวอย่างนี้ เพื่อจะกระทำเนื้อความนั้นให้ปรากฏยิ่งขึ้น ด้วยคำอันประพันธ์ขึ้นเป็นคาถา. คำว่า หญิงทั้งหลาย เป็นผู้กอบกำเอารัตนะไว้ในมือจนนับไม่ถ้วน อธิบายว่า หญิงทั้งหลาย เป็นผู้กระทำอันตรายแก่รัตนะทั้งหลายที่สามีหามาได้ ด้วยความเหนื่อยยาก นำเอารัตนะแม้เหล่านี้ไปให้ชายเหล่าอื่น ย่อมประพฤติอนาจาร.
เบื้องหน้าแต่นี้ไป พญานกกุณาละ เมื่อจะแสดงกถาอันสละสลวยของตนโดยประการต่างๆ จึงกล่าวว่า ดูก่อนสหายปุณณมุขะเอ๋ย ทรัพย์ ๔ อย่างนี้ คือ โคผู้ โคนม ยาน ภริยา ไม่ควรให้อยู่ในตระกูลอื่น ผู้เป็นบัณฑิตย่อมไม่ยอมให้ทรัพย์ ๔ อย่างนี้อยู่พรากจากเรือน.

พญานกกุณาละ กล่าวคาถาแสดงถึงเหตุผลแห่งทรัพย์ ๔ อย่างนั้นต่อไปว่า

.. อรรถกถา กุณาลชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280249อรรถกถาชาดก 280296
เล่มที่ 28 ข้อ 296อ่านชาดก 280315อ่านชาดก 281045
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=28&A=1897&Z=2257
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๖  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]