ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280249อรรถกถาชาดก 280296
เล่มที่ 28 ข้อ 296อ่านชาดก 280315อ่านชาดก 281045
อรรถกถา กุณาลชาดก
ว่าด้วย นางนกดุเหว่า

หน้าต่างที่   ๔ / ๔.

คราวนั้น พญานกกุณาละเกิดเป็นพระเจ้าพรหมทัต เพราะเหตุนั้น เมื่อจะแสดงถึงเหตุที่ตนเห็นมาเอง จึงกล่าวว่า

นางปิงคิยานีภรรยาที่รักของพระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นใหญ่แห่งปวงสัตวโลก ได้ประพฤติล่วงแก่คนเลี้ยงม้าผู้ใกล้ชิด และเป็นไปในอำนาจแล้ว นางผู้ใคร่ต่อกามนั้น ก็ไม่ได้ประสบกับความใคร่ทั้งสองราย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ วาปิ ความว่า นางประพฤตินอกใจอย่างนี้ ก็ไม่ได้ประสบกับสิ่งทั้งสองคื อ คนเลี้ยงม้านั้น หรือตำแหน่งอัครมเหสีนั้น คือ ได้เป็นผู้พลาดแล้วทั้งสองอย่าง.
บทว่า กามกามินี ความว่า ผู้ปรารถนากาม.

พญานกกุณาละกล่าวโทษหญิงทั้งหลายว่า มีธรรมอันลามกอย่างนี้อย่างนี้ ดังกับเรื่องอดีตที่ได้พรรณนามาแล้ว เมื่อจะกล่าวโทษแห่งหญิงทั้งหลายโดยปริยายอื่นอีก จึงกล่าวว่า

บุรุษผู้ไม่ถูกผีสิง ไม่ควรเชื่อหญิงทั้งหลายผู้หยาบช้า ใจเบา อกตัญญู ประทุษร้ายมิตร หญิงเหล่านั้นไม่รู้จักสิ่งที่กระทำแล้ว สิ่งที่ควรกระทำ ไม่รู้จักมารดาบิดาหรือพี่น้อง ไม่มีความละอาย ล่วงเสียซึ่งธรรม ย่อมเป็นไปตามอำนาจจิตของตน เมื่อมีอันตราย และเมื่อกิจเกิดขึ้น ย่อมละทิ้งสามี แม้จะอยู่ด้วยกันมานาน เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่อนุเคราะห์แม้เสมอกับชีวิต เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่วิสาสะกับหญิงทั้งหลาย
จริงอยู่ จิตของหญิงเหมือนจิตของวานร ลุ่มๆ ดอนๆ เหมือนเงาไม้ หัวใจของหญิงไหวไปไหวมา เหมือนล้อรถที่กำลังหมุน เมื่อใด หญิงทั้งหลายผู้มุ่งหวัง เห็นทรัพย์ของบุรุษที่ควรจะถือเอาได้ เมื่อนั้น ก็ใช้วาจาอ่อนหวานชักนำบุรุษไปได้ เหมือนชาวกัมโพชลวงม้าด้วยสาหร่าย ฉะนั้น เมื่อใด หญิงทั้งหลายผู้มุ่งหวัง ไม่เห็นทรัพย์ของบุรุษที่ควรถือเอาได้ เมื่อนั้น ย่อมละทิ้งบุรุษนั้นไป เหมือนคนข้ามฟากถึงฝั่งโน้น แล้วละทิ้งแพไป ฉะนั้น
หญิงทั้งหลายเปรียบด้วยเครื่องผูกรัด กินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ มีมายา กล้าแข็งเหมือนแม่น้ำมีกระแสเชี่ยว ย่อมคบบุรุษได้ทั้งที่น่ารัก ทั้งที่ไม่น่ารัก เหมือนเรือจอดไม่เลือกฝั่งนี้ และฝั่งโน้น ฉะนั้น หญิงทั้งหลายไม่ใช่ของบุรุษคนเดียวหรือสองคน ย่อมรับรองทั่วไปเหมือนร้านตลาด ผู้ใดสำคัญมั่นหมายหญิงเหล่านั้นว่า ของเรา ก็เท่ากับดักลมด้วยตาข่าย
แม่น้ำ หนทาง ร้านเหล้า สภา และบ่อน้ำ ฉันใด หญิงในโลกก็ฉันนั้น เขตแดนของหญิงเหล่านั้นไม่มี หญิงทั้งหลายเสมอด้วยไฟกินเปรียง เปรียบด้วยงูเห่า ย่อมเลือกคบแต่บุรุษที่มีทรัพย์ เหมือนโคเลือกกินหญ้าที่ดีๆ ในภายนอก ฉะนั้น
ไฟกินเปรียง ๑ ช้างสาร ๑ งูเห่า ๑ พระราชาผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ๑ หญิงทั้งปวง ๑ สิ่งทั้ง ๕ นี้ นรชนพึงคบด้วยความระวังเป็นนิตย์ เพราะสิ่งทั้ง ๕ นี้ มีความแน่นอนที่รู้ได้ยากแท้
หญิงที่งามเกินไป ๑ หญิงที่คนหมู่มากรักใคร่ ๑ หญิงที่เหมือนมือขวา ๑ หญิงที่เป็นภรรยาคนอื่น ๑ หญิงที่คบหาด้วยเพราะเหตุแห่งทรัพย์ ๑ หญิง ๕ จำพวกนี้ ไม่ควรคบ.


ในคาถาเหล่านั้นมีอรรถาธิบายว่า
คำว่า หยาบช้า หมายความว่า ร้ายกาจ. คำว่า หยาบช้านี้ ท่านกล่าวหมายถึง หญิงที่มีความกำหนัดรักใคร่ แม้ในโจรที่เขาผูกนำไปฆ่า ดุจในเรื่องกณเวรชาดก ฉะนั้น.
คำว่า ใจเบา อธิบายว่า เพียงชั่วครู่เดียวเท่านั้น ก็มีใจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เรื่องหญิงใจเบานี้ บัณฑิตพึงแสดงด้วย เรื่องจุลลธนุคคหชาดก ส่วนความเป็นผู้ไม่รู้จักคุณคนของพวกหญิงเหล่านี้ บัณฑิตพึงแสดงด้วย เรื่องตักการิยชาดก ในเอกนิบาต.
คำว่า ไม่ถูกผีสิง อธิบายว่า บุรุษที่ไม่ถูกเทวดาเข้าสิง หรือไม่ถูกยักษ์เข้าสิง หรือไม่ถูกภูตผีเข้าสิง ไม่ควรเชื่อหญิงผู้มีวาทะว่า ตนเป็นผู้มีศีลพรตเลย ส่วนบุรุษที่ถูกภูตเข้าสิง จึงควรเชื่อ. คำว่า สิ่งที่ทำแล้ว หมายถึง อุปการคุณที่คนอื่นทำแล้วแก่ตน. คำว่า สิ่งที่ควรทำ หมายถึงกิจที่ตนควรทำ. คำว่า ไม่รู้จักมารดา อธิบายว่า หญิงเหล่านี้ละทิ้งญาติแม้ทั้งหมด ชื่อว่าย่อมไม่รู้จัก แม้มารดาเป็นต้น เพราะคอยติดตามบุรุษที่ตนมีจิตรักใคร่ผู้เดียวเท่านั้น ดุจมารดาของมหาปันถกุฏุมพี. คำว่า เป็นคนเลว ได้แก่ ไม่มียางอาย. คำว่า ของตน หมายถึงใจของตัวเอง. คำว่า เมื่อมีอันตราย หมายถึง อันตรายทุกชนิด. คำว่า กิจ หมายถึง หน้าที่ที่ควรกระทำนั้นๆ. คำว่า ลุ่มๆ ดอนๆ คือ ขึ้นๆ ลงๆ เหมือนอย่างว่า เงาไม้ในประเทศที่มีพื้นที่ไม่เสมอกันย่อมลงไปสู่ที่ลุ่มบ้าง ขึ้นไปสู่ที่ดอนบ้าง ฉันใด แม้ใจของหญิงเหล่านั้นก็เหมือนกัน ย่อมไม่เลือกว่าใครๆ ทั้งสูงสุดและต่ำสุด. คำว่า ไหวไปไหวมา คือไม่ตั้งอยู่ในที่เดียว. คำว่า ล้อรถ อธิบายว่า ใจของหญิงย่อมหมุนไป เหมือนกงล้อที่หมุนไปตามเกวียนฉะนั้น. คำว่า ที่ควรจะถือเอาได้ หมายถึง ทรัพย์อันเป็นวัตถุที่ตนควรจะถือเอาได้. คำว่า ทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์ทุกชนิด. คำว่า ชักพาไป คือ นำพาไปสู่อำนาจของตน.
คำว่า ด้วยสาหร่าย หมายถึง สาหร่ายที่เกิดในน้ำ ได้ยินว่า เมื่อชาวกัมโพชทั้งหลายปรารถนาจะจับม้าจากป่า จึงกั้นคอกลงในที่แห่งหนึ่ง ตกแต่งประตูแล้ว เอาน้ำผึ้งทาสาหร่ายที่ลอยอยู่บนน้ำ ที่พวกม้าป่าเคยกินแล้ว ทอดหญ้าบนฝั่งให้ต่อเนื่องกับสาหร่ายต่อๆ ไปจนถึงประตูคอกทาน้ำผึ้งตลอดมา พวกม้าป่าลงไปดื่มน้ำแล้ว เที่ยวกินหญ้าทาน้ำผึ้ง ด้วยติดใจในรส ก็ย่อมเข้าไปสู่ที่นั้นโดยลำดับ. พวกชาวกัมโพชเหล่านั้นล่อม้าด้วยสาหร่าย นำไปสู่อำนาจได้ ฉันใด แม้หญิงเหล่านี้เห็นทรัพย์แล้ว ย่อมชักนำบุรุษไปสู่อำนาจ ด้วยถ้อยคำอันละเอียดอ่อนหวาน เพราะต้องการจะเอาทรัพย์นั้น ด้วยประการฉะนี้. คำว่า แพ หมายถึง สิ่งที่ผูกมัดกันเข้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ยึดถือเอาเมื่อต้องการจะข้ามฟาก. คำว่า อุปมาเหมือนเครื่องผูกมัด อธิบายว่า เช่นกับเครื่องผูกรัด เพราะผูกใจบุรุษทั้งหลายไว้. คำว่า มีมายากล้าแข็ง คือ มีมายาหลักแหลม มีมายาเร็ว. คำว่า เหมือนแม่น้ำ อธิบายว่า หญิงทั้งหลายมีมายาเร็วพลัน เหมือนแม่น้ำซึ่งมีน้ำตกลงมาจากภูเขา ย่อมมีกระแสน้ำเชี่ยว ฉะนั้น. คำว่า เหมือนร้านตลาด อธิบายว่า ร้านตลาดที่เขาวางของขาย ย่อมมีอุปการะแก่ทรัพย์ที่มีมูลค่าเหล่านั้น ฉันใด แม้พวกหญิงเหล่านั้นก็เหมือนกัน. คำว่า ผู้ใด อธิบายว่า บุรุษผู้ใดสำคัญว่าหญิงเหล่านั้นเป็นของตน. คำว่า ดัก อธิบายว่า บุรุษนั้นพึงดักลมด้วยตาข่าย. คำว่า ฝั่งฝาของเขาไม่มีเลย อธิบายว่า สถานที่มีแม่น้ำเป็นต้นเหล่านี้ ย่อมไม่มีความขีดคั้นว่า จะพึงไปได้ในที่นี้ ในเวลาโน้นเท่านั้น บุคคลพึงเข้าไปได้ในขณะที่ตนปรารถนาแล้วๆ ทั้งกลางคืนทั้งกลางวัน ไม่มีกำหนดว่า คนชื่อโน้นเท่านั้นจึงจะเข้าไปได้ ผู้มีความประสงค์จะเข้าไป ก็ย่อมเข้าไปได้ทุกคนฉันใด แม้ความขีดคั้นของพวกหญิงเหล่านี้ ก็ย่อมไม่มีฉันนั้นเหมือนกัน.
คำว่า เสมอด้วยไฟอันกินเปรียง อธิบายว่า ไฟย่อมไม่อิ่มด้วยเชื้อ ฉันใด แม้หญิงเหล่านี้ ก็ย่อมไม่อิ่มด้วยความยินดีในกิเลส ฉันนั้นเหมือนกัน. คำว่า อุปมาเหมือนหัวงูเห่า อธิบายว่า หญิงทั้งหลายเช่นกับหัวงูเห่า ด้วยเหตุ ๕ ประการเหล่านี้ คือ เป็นผู้มักโกรธ ๑ มีพิษร้าย ๑ ผูกโกรธไว้ ๑ มีลิ้นชั่ว ๑ มักจะประทุษร้ายมิตร ๑ บรรดาเหตุทั้ง ๕ อย่างนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า มีพิษร้ายเพราะมีความกำหนัดมาก มีลิ้นชั่วเพราะกล่าวคำส่อเสียด ประทุษร้ายมิตรเพราะมักประพฤตินอกใจสามี. คำว่า เหมือนโคที่เลือกกินหญ้าในภายนอก อธิบายว่า โคทั้งหลายละทิ้งสถานที่ซึ่งตนเคยหากินแล้ว เลือกกินแต่หญ้าที่อร่อยๆ ที่ตนชอบใจในภายนอก ฉันใด แม้หญิงเหล่านั้นก็เหมือนกัน ย่อมละทิ้งบุรุษที่หมดทรัพย์สิน แล้วคบกับชายที่มีทรัพย์คนอื่นต่อไปอีก. คำว่า ได้มูรธาภิเษก หมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน. คำว่า หญิง หมายถึง หญิงทั้งหมด. คำว่า นี้ หมายถึงชนทั้ง ๕ จำพวกเหล่านี้. คำว่า ด้วยความระวังเป็นนิตย์ อธิบายว่า นรชนพึงเป็นผู้มีความระวังอยู่เป็นนิตย์ มีสติตั้งอยู่อย่างมั่นคง คือ เป็นผู้ไม่ประมาท. คำว่า รู้ได้ยาก คือ รู้ได้แสนจะลำบาก. คำว่า สภาพที่แน่นอน หมายถึง อัธยาศัย อธิบายว่า จริงอยู่ ไฟถึงจะบำเรออยู่นาน ถ้าเผลอก็ไหม้เอาได้ ช้างสารที่คุ้นเคยกันมานาน ก็ยังฆ่าคนเลี้ยงได้ งูเห่าแม้เลี้ยงไว้จนเชื่อง ถ้าประมาทก็กัดคนเลี้ยงได้ พระราชาแม้จะทรงโปรดปราน ถ้าพลั้งก็ถึงชีวิต หญิงทั้งหลายก็เหมือนกัน ถึงจะคลุกคลีกันมาเป็นเวลาสักเพียงไร ถ้าเกิดไม่พอใจ ก็อาจจะฆ่าให้ถึงตายได้. คำว่า หญิงที่งามเกิน อธิบายว่า หญิงที่สวยงามเกินไป ผู้ชายไม่ควรคบหาด้วย. คำว่า หญิงที่คนหมู่มากรักใคร่ หมายถึง หญิงอันเป็นที่รักใคร่เป็นที่ชอบใจของชายเป็นอันมาก ประหนึ่งหญิงงามเมือง ที่คนพอใจตั้งครึ่งแคว้นกาสี ชายไม่ควรคบ. คำว่า หญิงที่เหมือนมือขวา หมายถึง หญิงที่สันทัดในการฟ้อนรำและการขับร้อง. จริงอยู่ หญิงเช่นนั้นย่อมมีคนปรารถนามาก มีเพื่อนมาก เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรคบ. คำว่า หญิงที่เห็นแก่ทรัพย์ อธิบายว่า หญิงใดคบชายเพราะเห็นแก่ทรัพย์อย่างเดียว หญิงนั้นแม้ไม่มีใครหวงแหน ชายก็ไม่ควรคบหา ด้วยว่าหญิงชนิดนั้น เมื่อไม่ได้ทรัพย์ย่อมเกรี้ยวกราด.
เมื่อพญานกกุณาละกล่าวอย่างนี้แล้ว มหาชนได้ฟังคาถาอันไพเราะของมหาสัตว์ ก็ให้สาธุการว่า น่าชมเชย ท่านกล่าวดีจริงๆ แม้พญานกกุณาละนั้นได้กล่าวโทษของหญิงทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล้วก็นิ่งอยู่ พญาแร้งชื่อว่า อานนท์ ได้ฟังคำนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า ดูก่อนพญานกกุณาละผู้เป็นสหาย แม้ข้าพเจ้าก็จักขอกล่าวโทษของพวกหญิง ตามกำลังความรู้ของข้าพเจ้าบ้าง ว่าแล้ว ก็ปรารภกถาแสดงโทษต่อไป.

พระศาสดา เมื่อจะทรงแสดงเรื่องราวที่ พญาแร้งปรารภกถาแสดงโทษของหญิงนั้น จึงตรัสว่า
ได้ยินว่า ในครั้งนั้น พญาแร้งชื่ออานนท์ รู้แจ้งซึ่งคาถาเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลายของพญานกกุณาละแล้ว จึงได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า
ถ้าบุรุษจะพึงให้แผ่นดินอันเต็มด้วยทรัพย์นี้ แก่หญิงที่ตนนับถือไซร้ หญิงนั้นได้โอกาสก็จะพึงดูหมิ่นบุรุษนั้น เราจึงไม่ยอมตกอยู่ในอำนาจของพวกหญิงเผอเรอ
เมื่อมีอันตรายและเมื่อกิจธุระเกิดขึ้น หญิงย่อมละทิ้งผัวหนุ่มผู้หมั่นขยัน มีความประพฤติไม่เหลาะแหละ เป็นที่รักเป็นที่พอใจ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่วิสาสะกับหญิงทั้งหลาย
บุรุษไม่ควรวางใจว่าหญิงคนนี้ปรารถนาเรา ไม่ควรวางใจว่า หญิงคนนี้ร้องไห้กระซิกกระซี้เรา เพราะว่า หญิงทั้งหลายย่อมคบได้ทั้งบุรุษที่น่ารัก ทั้งบุรุษที่ไม่น่ารัก เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งโน้นฝั่งนี้ ฉะนั้น
ไม่ควรวิสาสะกะใบไม้ลาดที่เก่า ไม่ควรวิสาสะกะมิตรเก่าที่เป็นโจร ไม่ควรวิสาสะกะพระราชาว่า เป็นเพื่อนของเรา ไม่ควรวิสาสะกะหญิงแม้จะมีลูก ๑๐ คนแล้ว ไม่ควรวิสาสะในหญิงที่กระทำความยินดีให้ เป็นผู้ล่วงศีลไม่สำรวม
ถึงแม้ภรรยาจะพึงเป็นผู้มีความรักแน่นแฟ้น ก็ไม่ควรวางใจ เพราะว่าหญิงทั้งหลายเสมอกับท่าน้ำ หญิงทั้งหลายพึงฆ่าชายก็ได้ พึงตัดเองก็ได้ พึงใช้ให้ผู้อื่นตัดก็ได้ พึงตัดคอแล้วดื่มเลือดกินก็ได้ อย่าพึงกระทำความสิเนหาในหญิงผู้มีความรักใคร่อันเลวทราม ผู้ไม่สำรวม ผู้เปรียบเหมือนด้วยท่าน้ำ.
คำเท็จของหญิงเหมือนคำจริง คำจริงของหญิงเหมือนคำเท็จ หญิงทั้งหลายย่อมเลือกคบแต่ชายที่มีทรัพย์ ดังโคเลือกกินหญ้าที่ดีๆ ในภายนอก หญิงทั้งหลายย่อมประเล้าประโลมชายด้วยการเดิน การจ้องดู ยิ้มแย้ม นุ่งผ้าหลุดๆ ลุ่ยๆ และพูดเพราะ หญิงทั้งหลายเป็นโจรหัวใจแข็งดุร้าย เป็นน้ำตาลกรวด ย่อมไม่รู้อะไรๆ ว่าเป็นเครื่องล่อลวงในมนุษย์ ธรรมดาหญิงในโลกเป็นคนลามก ไม่มีเขตแดน กำหนัดนักทุกเมื่อ และคะนองกินไม่เลือก เหมือนเปลวไฟไหม้เชื้อทุกอย่าง บุรุษชื่อว่าเป็นที่รักของหญิงไม่มี ไม่เป็นที่รักก็ไม่มี. เพราะหญิงทั้งหลายย่อมคบบุรุษได้ทั้งที่รักทั้งที่ไม่น่ารัก เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น.
บุรุษชื่อว่าเป็นที่รักของหญิงไม่มี ไม่เป็นที่รักก็ไม่มี หญิงย่อมผูกพันชายเพราะต้องการทรัพย์ เหมือนเถาวัลย์พันไม้ หญิงทั้งหลายย่อมติดตามชายที่มีทรัพย์ ถึงจะเป็นคนเลี้ยงช้าง เลี้ยงม้า เลี้ยงโค คนจัณฑาล สัปเหร่อ คนเทหยากเยื้อก็ช่าง หญิงทั้งหลายย่อมละทิ้งชายผู้มีตระกูลแต่ไม่มีอะไร เหมือนซากศพ แต่ติดตามชายเช่นนั้นได้ เพราะเหตุแห่งทรัพย์.


ในคาถาเหล่านั้นมีอรรถาธิบายว่า คำว่า เบื้องต้นท่ามกลางและเบื้องปลาย คือ พญาแร้งรู้แจ้งซึ่งเบื้องต้น ท่ามกลางและเบื้องปลายแห่งคาถา. คำว่า ได้ช่อง คือได้โอกาส. คำว่า อยากได้เรา อธิบายว่า บุรุษไม่พึงวิสาสะกับหญิงทั้งหลายด้วยคิดว่า หญิงนี้อยากได้เรา. คำว่า ใบไม้ลาดที่เก่า อธิบาย ว่า บุรุษไม่พึงวิสาสะกับใบไม้ลาดซึ่งเก่าที่เขาลาดไว้แล้ว เมื่อวานนี้ หรือในวันก่อนๆ เมื่อยังมิได้ลองตบๆ ดูก่อน หรือยังมิได้พิจารณาแล้ว ไม่พึงใช้สอย ด้วยว่าสัตว์เลื้อยคลานพึงเข้าไปอาศัยอยู่ หรือว่าศัตรูพึงซุกศาสตราไว้ในเครื่องลาดนั้น. คำว่า เพื่อนเก่าที่เป็นโจร อธิบายว่า โจรซึ่งซุ่มอยู่ในที่ที่คอยประทุษร้ายคนเดินทาง บุคคลไม่ควรวิสาสะว่าเป็นมิตรเก่าของเรา เพราะธรรมดาว่า โจรทั้งหลายย่อมฆ่าคนที่รู้จักตัวเสียทีเดียว. คำว่า เป็นเพื่อนของเรา อธิบายว่า ด้วยว่า พระราชานั้นมักกริ้วโกรธได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น บุคคลจึงไม่ควรวิสาสะกับพระราชาว่า เป็นเพื่อนของเรา. คำว่า มีลูกสิบคน อธิบายว่า บุรุษไม่พึงวิสาสะด้วยคิดว่า หญิงนี้แก่แล้ว บัดนี้คงจะไม่ประพฤตินอกใจ จักรักษาตนดังนี้. คำว่า ทำความยินดี อธิบายว่า กระทำความยินดีแก่พวกชนพาล. คำว่า เป็นผู้ล่วงศีล คือเป็นผู้ก้าวล่วงศีลเสียแล้ว. คำว่า มีความรักอันฝังแน่น อธิบายว่า ถึงแม้ว่าหญิงจะมีความรักฝังแน่น แม้เป็นเช่นนั้นบุคคล ก็ไม่พึงวิสาสะกับหญิงนั้น ถามว่า เพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะหญิงทั้งหลายเสมอด้วยแม่น้ำ อธิบายว่า ธรรมดา หญิงย่อมเป็นของทั่วไป แก่ชายทั้งหมดเปรียบเหมือนท่าน้ำ. คำว่า พึงฆ่า อธิบายว่า หญิงทั้งหลายที่โกรธสามี หรือมีความรักใคร่ชายอื่น พึงกระทำการฆ่าเป็นต้นนี้ทั้งหมด. คำว่า มีความรักใคร่อันเลวทราม คือ มีอัธยาศัยอันเลว. คำว่า ความรักใคร่ อธิบายว่า อย่าได้ทำความสิเนหาในพวกหญิงเห็นปานนี้. คำว่า เสมอด้วยท่าน้ำ คือเช่นกับท่าน้ำ ด้วยอรรถว่าทั่วไปแก่หมู่ชนทั้งหมด.
คำว่า เท็จ คือคำมุสาวาทของหญิงเหล่านั้น เช่นกับคำจริงทีเดียว.
คำว่า ด้วยการเดินเป็นต้น อธิบายว่า
บัณฑิตพึงแสดง อุมมาทันตีชาดก ด้วยการจ้องดู และการเล้าโลม
พึงแสดง เรื่องนฬินิกาชาดก ด้วยการนุ่งผ้าไม่มิดชิด
พึงแสดง เรื่องของพระนันทเถระ มีคำเป็นต้นว่า ข้าแต่บุตรแห่งเจ้า ขอท่านพึงรีบมาไวๆ เถิดดังนี้ ด้วยการพูดไพเราะ.
คำว่า เป็นโจร คือ หญิงทั้งหลายเป็นโจร ด้วยนำทรัพย์ที่สามีหามาได้ให้พินาศไป. คำว่า หัวใจแข็ง คือ มีดวงใจอันแข็งกระด้าง. คำว่า ดุร้าย คือ มีใจคิดประทุษร้าย อธิบายว่า มักโกรธด้วยเหตุเพียงเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น. คำว่า บ่นเป็นน้ำตาลกรวด คือ เป็นประดุจน้ำตาลกรวดด้วยการบ่นแต่ถ้อยคำที่หาประโยชน์มิได้. คำว่า ลามก คือ เป็นผู้หาความยั้งคิดมิได้ เป็นผู้เลวทราม. คำว่า ย้อมด้วยกิเลส อธิบายว่า เป็นผู้มีความกำหนัดในกาลทุกเมื่อ. คำว่า คะนอง คือ เป็นผู้คะนองด้วยความคะนองกายเป็นต้น. คำว่า เหมือนเปลวไฟ อธิบายว่า เปลวไฟย่อมกินเชื้อทั้งหมดไม่เลือกฉันใด แม้หญิงเหล่านั้นก็เหมือนกัน ย่อมกินทุกอย่างไม่เลือกฉันนั้น. คำว่า ย่อมคลุกคลี อธิบายว่า กระเสือกกระสนเคล้าคลึงพัวพัน. คำว่า เหมือนเถาวัลย์ อธิบายว่า เถาวัลย์ย่อมพันต้นไม้ฉันใด แม้หญิงเหล่านั้นถึงจะเกาะชาย ชื่อว่าย่อมเกาะทรัพย์. คำว่า เป็นคนเลี้ยงช้าง อธิบายว่า บรรดาคนเลี้ยงช้างเป็นต้น คนเลี้ยงโคเรียกกันว่าโคบุรุษ. คำว่า สัปเหร่อ หมายถึง คนเผาศพ อธิบายว่า คนเฝ้าป่าช้า. คำว่า เทหยากเยื่อ ได้แก่ บุคคลที่ทำความสะอาดในสถานที่อันสกปรก. คำว่า มีทรัพย์ อธิบายว่า บรรดาบุคคลเหล่านี้ทั้งหมด หญิงย่อมติดตามชายที่มีทรัพย์. คำว่า ไม่มีอะไร หมายถึง ไม่มีทรัพย์. คำว่า เช่นว่า คือ เช่นกับคนจัณฑาลที่กินเนื้อหมา หญิงทั้งหลายย่อมถึง คือ ย่อมคบบุรุษ แม้ไม่มีคุณวิเศษด้วยทรัพย์นั้น เพราะฉะนั้น หญิงทั้งหลายจึงโดดติดตามชาย เพราะเหตุแห่งทรัพย์.
พญาแร้ง ชื่อว่าอานนท์ ดำรงอยู่ในความรู้ของตนกล่าวโทษแห่งหญิงทั้งหลายอย่างนี้ แล้วก็นิ่งอยู่ นารทฤษีได้ฟังคำของพญาแร้งอานนท์นั้นแล้ว ก็ดำรงอยู่ในญาณของตน กล่าวโทษแห่งหญิงเหล่านั้นบ้าง.

พระศาสดา เมื่อจะทรงแสดงถึง เรื่องนารทฤษีกล่าวโทษแห่งหญิง จึงตรัสว่า
ได้ยินว่า ครั้งนั้นพราหมณ์ฤษีชื่อว่านารทะ รู้แจ้งชัดซึ่งเบื้องต้นท่ามกลางและเบื้องปลายแห่งคาถาของพญาแร้งชื่อว่าอานนท์แล้ว จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ ในเวลานั้นว่า
ดูก่อนพญานกทิชัมบดี ท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้ากล่าว มหาสมุทร ๑ พราหมณ์ ๑ พระราชา ๑ หญิง ๑ ทั้ง ๔ อย่างนี้ย่อมไม่เต็ม แม่น้ำสายใดสายหนึ่ง อาศัยแผ่นดินไหลไปสู่มหาสมุทร แม่น้ำเหล่านั้นก็ยังมหาสมุทรให้เต็มไม่ได้ เพราะฉะนั้น มหาสมุทรชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่อง. ส่วนพราหมณ์เรียนเวทอันมีการบอกเป็นที่ ๕ ได้แล้วยังปรารถนาการเรียนยิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่อง พระราชาทรงชนะแผ่นดินทั้งหมด อันบริบูรณ์ด้วยรัตนะนับไม่ถ้วน พร้อมทั้งมหาสมุทรและภูเขา ครอบครองอยู่ ก็ยังปรารถนามหาสมุทรฝั่งโน้นอีก เพราะฉะนั้น พระราชาจึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่อง. หญิงคนหนึ่งๆ มีสามีคนละ ๘ คน สามีล้วนเป็นคนแกล้วกล้า มีกำลังสามารถนำมาซึ่งกามรสทุกอย่าง หญิงยังกระทำความพอใจในชายคนที่ ๙ อีก เพราะฉะนั้น หญิงจึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่อง.
หญิงทุกคนกินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ พาไปได้ทุกอย่างเหมือนแม่น้ำ เหมือนกิ่งไม้มีหนาม ย่อมละชายไปเพราะเหตุแห่งทรัพย์ ชายใดพึงวางความรักทั้งหมดในหญิง ชายนั้นเหมือนดักลมด้วยตาข่าย เหมือนตักน้ำใส่มหาสมุทรด้วยมือข้างเดียว จะพึงได้ยินแต่เสียงมือของตน.
ภาวะของหญิงที่เป็นโจร รู้มาก หาความจริงได้ยาก เป็นอาการที่ใครๆ รู้ได้ยาก เหมือนรอยทางปลาในน้ำ ฉะนั้น หญิงไม่มีความพอ อ่อนโยน พูดเพราะ เต็มได้ยากเสมอแม่น้ำ ทำให้ล่มจม บุคคลรู้ดังนี้แล้ว พึงเว้นเสียให้ห่างไกล หญิงเป็นเหมือนน้ำวน มีมายามาก ทำพรหมจรรย์ให้กำเริบ ทำให้ล่มจม บุคคลรู้ดังนี้แล้ว พึงเว้นเสียให้ห่างไกล เมื่อหญิงคบบุรุษใดเพราะความพอใจ หรือเพราะเหตุแห่งทรัพย์ ย่อมเผาบุรุษนั้นโดยพลัน เหมือนไฟป่าเผาสถานที่เกิดของตนฉะนั้น.


ในคาถาเหล่านั้นมีอรรถาธิบายว่า นารทฤษีเรียกพญานกกุณาละตัวประเสริฐกว่าพวกนกว่า ทิชัมบดี. คำว่า ไหลซ่านเป็นต้น ท่านกล่าวไว้แล้วเพื่อแสดงถึงภาชนะแห่งเหมืองที่ตั้งอยู่แล้ว. คำว่า เพราะยังพร่องอยู่ คือยังพร่องอยู่ทีเดียว เพราะสมุทรนั้นเป็นที่ขังน้ำไว้มากมาย. คำว่า เรียนเวท หมายถึง ท่องพระเวทแล้ว. คำว่ามีการบอกเป็นคำรบที่ ๕ หมายถึงพระเวททั้ง ๔ หมวด มีอิติหาสเป็นที่ ๕. คำว่า พร่อง อธิบายว่า ด้วยว่า พราหมณ์นั้นชื่อว่าย่อมไม่เต็มเปี่ยมด้วยพระเวทที่คนพึงศึกษา เพราะตนมีอัธยาศัยอันกว้างขวาง. คำว่า ประกอบด้วยรัตนะ คือ ประกอบบริบูรณ์ด้วยรัตนะต่างๆ. คำว่า พร่อง อธิบายว่า เพราะพระราชานั้นย่อมไม่เต็ม เพราะตนมีความอยากมาก. คำว่า มี หมายความว่า มีผัว อีกอย่างหนึ่ง บาลีเป็นสิยาดังนี้ก็มี. คำว่า นำมาซึ่งรสในกามทั้งปวง คือ นำรสแห่งกามมาครบทุกอย่าง. คำว่า คนที่ ๙ นี้ ท่านกล่าวไว้เพื่อจะแสดงภาวะที่ล่วงมาแล้วถึง ๘ คน แม้หญิงคนนั้น ก็ย่อมกระทำความพอใจแม้ในชายคนที่ ๑๐ คนที่ ๒๐ หรือในคนที่ยิ่งไปกว่านั้นได้. คำว่า พร่อง อธิบายว่า แม้หญิงคนนั้นก็ย่อมไม่เต็มเพราะมีกามตัณหามาก.
คำว่า เหมือนกิ่งไม้ที่มีหนาม คือ เช่นกับด้วยกิ่งไม้ที่มีหนามในหนทางอันคับแคบ. จริงอยู่ หนามนั้นย่อมคล้องเกี่ยวมาได้ฉันใด แม้หญิงเหล่านี้ก็ย่อมคล้องเกี่ยวเอาชายมา ด้วยรูปเป็นต้นฉันนั้น อนึ่ง กิ่งไม้ตำที่อวัยวะมีมือเป็นต้น ย่อมทำให้เกิดความทุกข์ฉันใด แม้หญิงเหล่านี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แต่พอถูกตัวเท่านั้น ก็เกี่ยวเอาด้วยสัมผัสแห่งสรีระ ย่อมให้ถึงความพินาศอย่างใหญ่หลวง. คำว่า ไป คือ ไปตามติดตามชายอื่น. คำว่า ดัก ได้แก่ จับ. คำว่า ตักน้ำ อธิบายว่า บุคคลลงสู่แม่น้ำเพื่อจะอาบน้ำแล้ว ตักน้ำในสมุทรทั้งสิ้นด้วยมือข้างเดียววักเอาๆ แล้วก็ทิ้งไป. คำว่า ของตน อธิบายว่า บุคคลเอามือข้างเดียวของตนประหารมือนั้น ก็ย่อมทำให้เกิดเสียง. คำว่า ความรักทั้งปวง อธิบายว่า บุรุษผู้ใดเมื่อหญิงบอกว่า ท่านคนเดียวเป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพึงพอใจดังนี้ เชื่อมั่นอยู่ว่า คำนี้เป็นความจริงอย่างนี้แล้ว พึงวางอัธยาศัยของตนทั้งหมดไว้ในหญิงทั้งหลาย บุรุษผู้นั้นชื่อว่ากระทำการดักลมเป็นต้นด้วยตาข่ายเป็นต้น. คำว่า ไป หมายถึง การว่ายไปของพวกปลา. คำว่า ไม่มีพอ คือ เว้นขาดจากคำว่าเพียงพอด้วยคำของคฤหัสถ์. คำว่า เต็มได้ยาก อธิบายว่า แม่น้ำใหญ่เต็มได้ยากด้วยน้ำฉันใด แม้หญิงก็เต็มได้ยากด้วยความยินดีในกิเลส ฉันนั้นเหมือนกัน. คำว่า นํ ในข้อความที่ว่า สีทนฺติ นํ วิทิตฺวาน นี้ เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า บุคคลรู้แล้วว่า หญิงทั้งหลายย่อมทำให้ล่มจมลงไปในอบายทั้ง ๔ ด้วยการแนะนำพูดจา. คำว่า เหมือนน้ำวน อธิบายว่า น้ำวนก็ดี มายาก็ดี ย่อมทำหัวใจของคนให้หลงใหล ให้เป็นไปในอำนาจของตนได้ฉันใด แม้หญิงเหล่านี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. คำว่า ให้กำเริบ อธิบายว่า ทำพรหมจรรย์ให้กำเริบ ด้วยอรรถว่า ให้พินาศและด้วยอรรถว่าถือเอา. คำว่า ด้วยความพอใจ คือ ด้วยการอยู่ร่วมกันด้วยความรักใคร่. คำว่า หรือเพราะอยากได้ทรัพย์ คือ หรือเพราะเหตุแห่งทรัพย์. คำว่า ที่เกิดของตน อธิบายว่า ไฟป่าไหม้ไปยังประเทศใดๆ ก็เผาประเทศนั้นๆ ซึ่งเป็นที่เกิดของตนฉันใด แม้หญิงเหล่านี้ก็ฉันนั้น คบกับบุรุษใดๆ ด้วยอำนาจกิเลส ก็ตามเผาบุรุษนั้นๆ คือ ไปถึงความพินาศอย่างใหญ่หลวง.

เมื่อนารทฤษีประกาศ โทษของหญิงทั้งหลายอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ก็ประกาศ โทษของหญิงเหล่านั้นให้วิเศษขึ้นไปอีก.

พระศาสดา เมื่อจะทรงแสดงการที่ พญานกกุณาละประกาศโทษของหญิงโดยพิเศษนั้น จึงตรัสว่า
ได้ยินว่า ครั้งนั้นพญานกกุณาละรู้แจ้งแล้ว ซึ่งเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดแห่งคาถาของนารทพราหมณ์ จึงภาษิตคาถาทั้งหลายนี้ในเวลานั้นว่า
บัณฑิตพึงเจรจากับบุรุษผู้ถือดาบอย่างคมกล้า พึงเจรจากับปีศาจผู้ดุร้าย แม้จะพึงเข้าไปนั่งใกล้งูพิษร้าย แต่ไม่ควรเจรจากับหญิงตัวต่อตัว เพราะว่า หญิงเป็นผู้ย่ำยีจิตของโลก ถืออาวุธ คือ การฟ้อนรำขับร้องและการเจรจา ย่อมเบียดเบียนบุรุษผู้ไม่ตั้งสติไว้ เหมือนหมู่รากษสที่เกาะเบียดเบียนพวกพ่อค้าฉะนั้น
หญิงไม่มีวินัย ไม่มีสังวร ยินดีในน้ำเมา และเนื้อสัตว์ ไม่สำรวม ผลาญทรัพย์ที่บุรุษหามาได้โดยยากฉิบหาย เหมือนปลาติมิงคละกลืนกินมังกรในทะเลฉะนั้น หญิงมีกามคุณ ๕ อันน่ายินดีเป็นทำเลหากิน เป็นคนหยิ่ง จิตไม่เที่ยงตรง ไม่สำรวม ย่อมเข้าไปหาชายผู้ประมาท เหมือนแม่น้ำทั้งหลาย อันไหลไปสู่มหาสมุทร ฉะนั้น
หญิงได้ชื่อว่าฆ่าชาย ด้วยราคะและโทสะ เข้าไปหาชายคนใดเพราะความพอใจ เพราะความกำหนัด หรือเพราะต้องการทรัพย์ ย่อมเผาชายเช่นนั้นเสีย เช่นดังเปลวไฟ หญิงรู้ว่า ชายมั่งคั่งมีทรัพย์มาก ย่อมเข้าไปหาชาย ยอมให้ทั้งทรัพย์และตนเอง ย่อมเกาะชายที่มีจิตถูกราคะย้อม เหมือนเถาย่านทรายเกาะไม้สาละในป่า ฉะนั้น หญิงประดับร่างกายหน้าตาให้สวย เข้าไปหาชายด้วยความพอใจมีประการต่างๆ ทำยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ใช้มารยาตั้งร้อย เหมือนดังคนเล่นกลและอสุรินทราหู
หญิงประดับประดาด้วยทอง แก้วมณี และมุกดา ถึงจะมีคนสักการะและรักษาไว้ในตระกูลสามี ก็ยังประพฤตินอกใจสามี ดังหญิงที่อยู่ในทรวงอกประพฤตินอกใจทานพ ฉะนั้น จริงอยู่ นรชนผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา แม้จะมีเดช มีมหาชนสักการะบูชา ถ้าตกอยู่ในอำนาจของหญิงแล้ว ย่อมไม่รุ่งเรือง เหมือนพระจันทร์ถูกราหูจับ ฉะนั้น โจรผู้มีจิตโกรธคิดประทุษร้าย พึงกระทำแก่โจรอื่น ซึ่งเป็นข้าศึกที่มาประจัญหน้า ส่วนผู้ตกอยู่ในอำนาจของหญิง ไม่มีอุเบกขา ย่อมเข้าถึงความพินาศยิ่งกว่านั้นอีก
หญิงถึงจะถูกชายฉุดกระชากลากผม และหยิกข่วนด้วยเล็บ คุกคามทุบตีด้วยเท้า ด้วยมือ และท่อนไม้ ก็กลับวิ่งเข้ามาหา เหมือนหมู่แมลงวันที่ซากศพฉะนั้น บุรุษผู้มีจักษุคือปัญญา ปรารถนาความสุขแก่ตน พึงเว้นหญิงเสีย เหมือนกับบ่วงและข่ายที่ดักไว้ในสกุล ในถนนสายหนึ่ง ในราชธานี หรือในนิคม
ผู้ใดสละเสียแล้วซึ่งตบะคุณอันเป็นกุศล ประพฤติจริตอันมิใช่ของพระอริยะ ผู้นั้นต้องกลับจากเทวโลกไปคลุกเคล้าอยู่กับนรก เหมือนพ่อค้าซื้อหม้อแตกฉะนั้น บุรุษผู้ตกอยู่ในอำนาจของหญิง ย่อมถูกติเตียนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า กรรมของตนกระทบแล้ว เป็นคนโง่เขลา ย่อมไปพลั้งๆ พลาดๆ โดยไม่แน่นอน เหมือนรถที่เทียมด้วยลาโกง ย่อมไปผิดทางฉะนั้น
ผู้ตกอยู่ในอำนาจของหญิง ย่อมเข้าถึงนรกเป็นที่เผาสัตว์ให้รุ่มร้อน และนรกอันมีป่าไม้งิ้ว มีหนามแหลมดังหอกเหล็ก แล้วมาในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ย่อมไม่พ้นจากวิสัยเปรต และอสุรกาย หญิงย่อมทำลายความเล่นหัว ความยินดี ความเพลิดเพลินอันเป็นทิพย์ และจักรพรรดิสมบัติในมนุษย์ของชายผู้ประมาทให้พินาศ และยังทำชายนั้นให้ถึงทุคติอีกด้วย
ชายเหล่าใดไม่ต้องการหญิง ประพฤติพรหมจรรย์ ชายเหล่านั้นพึงได้การเล่นหัวความยินดีอันเป็นทิพย์ จักรพรรดิสมบัติในมนุษย์และนางเทพอัปสรอันอยู่ในวิมานทอง โดยไม่ยากเลย
ชายเหล่าใดไม่ต้องการหญิง ประพฤติพรหมจรรย์ ชายเหล่านั้นพึงได้คติที่ก้าวล่วงเสียซึ่งกามธาตุ รูปธาตุสมภพ และคติที่เข้าถึงวิสัยความปราศจากราคะโดยไม่ยากเลย
ชายเหล่าใดไม่ต้องการหญิง ประพฤติพรหมจรรย์ ชายเหล่านั้นเป็นผู้ดับแล้ว สะอาดพึงได้ นิพพานอันเกษม อันก้าวล่วงเสียซึ่งทุกข์ทั้งปวงล่วงส่วน ไม่หวั่นไหว ไม่มีอะไรปรุงแต่ง โดยไม่ยากเลย.


ในคาถาเหล่านั้นมีอรรถาธิบายว่า คำว่า พึงเจรจา อธิบายว่า บัณฑิตพึงเจรจาแม้กับบุรุษผู้ยืนถือดาบกล่าวว่า ถ้าท่านเจรจากับเรา เราจักตัดศีรษะท่านเสียดังนี้ อนึ่ง บัณฑิตพึงเจรจากับปีศาจที่กำลังโกรธจัดยืนกล่าวอยู่ว่า เราจักกินท่านเสียในขณะที่ท่านพูดทีเดียว จักทำให้ท่านถึงความพินาศแห่งชีวิต อนึ่ง พึงเข้าไปนั่งใกล้งูที่มีเดชสูงซึ่งกล่าวว่า เราจักกัดท่านผู้เข้ามาใกล้แล้วทำให้พินาศ แต่เมื่ออยู่คนเดียวแล้ว อย่าได้เจรจากับหญิงในที่ลับสองต่อสองเป็นอันขาด. คำว่า เป็นผู้ย่ำยีจิตของสัตวโลก อธิบายว่า หญิงทั้งหลายเป็นผู้เหยียบย่ำจิตของสัตวโลก คือบีบคั้นจิตของชาวโลก. คำว่า เหมือนหมู่นางรากษส อธิบายว่า หมู่นางรากษสอาศัยอยู่ที่เกาะกลางสมุทร นิมิตเพศเป็นหญิงมนุษย์ มาล่อลวงพวกพ่อค้าพาไปไว้ในอำนาจของตน แล้วเคี้ยวกินเสียฉันใด แม้หญิงเหล่านี้ก็ฉันนั้น กระทำสัตวโลกไว้ในอำนาจของตนด้วยกามคุณทั้ง ๕ มีรูปเป็นต้น แล้วให้ถึงความพินาศอย่างใหญ่หลวง.
คำว่า วินัย หมายถึง ความประพฤติ. คำว่า สังวร หมายถึงมรรยาท. คำว่า หามาได้ อธิบายว่า หญิงทั้งหลายย่อมกลืนกิน คือ ย่อมทำทรัพย์ที่สามีหามาได้ด้วยความเหนื่อยยาก ให้พินาศไป. คำว่า ไม่เที่ยงตรง คือมีจิตไม่แน่นอน. คำว่า ไหลไปสู่สมุทร คือ ไหลไปสู่น้ำเค็มได้แก่สมุทรนั่นเอง. คำว่า แม่น้ำ หมายถึง แม่น้ำทุกสาย อีกอย่างหนึ่ง พระบาลีเป็น นทิโย เลยดังนี้ก็มี อธิบายว่า แม่น้ำทั้งหลาย ย่อมไหลลงสู่สมุทรฉันใด หญิงทั้งหลายย่อมซ่านไปหาชายผู้ประมาท ด้วยความประมาทฉันนั้นเหมือนกัน. คำว่า ความพอใจ หมายถึง ความรัก. คำว่า ความกำหนัด หมายถึง ความยินดีในกามคุณทั้ง ๕. คำว่า เห็นแก่ทรัพย์ หมายถึงว่า หรือเพราะเหตุแห่งทรัพย์. คำว่า ดังเปลวไฟ อธิบายว่า ประดุจไฟที่ลุกโพลงแล้ว เพราะความถึงพร้อมแห่งโทษ. คำว่า ฆ่าชายด้วยราคะ โทสะ อธิบายว่า เป็นผู้ฆ่าด้วยกามราคะ และโทสะ อีกอย่างหนึ่ง บาลีเป็น ราคโทสคติโย ดังนี้ก็มี. คำว่า ย่อมซ่านไปหา อธิบายว่า เข้าไปผูกพันชายนั้น ด้วยถ้อยคำอันไพเราะ. คำว่า มีทรัพย์มาก หมายถึง มีเงินมีทองมาก บาลีเป็น สธนา ดังนี้ก็มี อธิบายว่า แม้ให้ทรัพย์ของตนอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็ยังซ่านไปหา เพื่อต้องการผ้าและเครื่องประดับ. คำว่า พร้อมทั้งตน อธิบายว่า ย่อมเป็นเหมือนเสียสละตัวของตัวด้วยตัวเองแก่ชายนั้นผู้เดียว. คำว่า เกาะแน่น อธิบายว่า พัวพันบีบคั้นอย่างเหลือเกิน เพื่อต้องการเอาทรัพย์. คำว่า ด้วยความพอใจมีประการต่างๆ คือ ด้วยอาการหลายอย่าง. คำว่า ประดับร่างกายหน้าตาให้วิจิตร คือ มีร่างกายอันงดงาม และมีหน้างดงามด้วยสามารถแห่งเครื่องประดับ.
คำว่า ยิ้มใหญ่ ได้แก่ หัวเราะด้วยเสียงดัง. คำว่า ยิ้มน้อย คือ หัวเราะด้วยเสียงค่อย. คำว่า ดังคนเล่นกลและอสุรินทราหู หมายถึง บุรุษผู้กระทำการล่อลวงและท้าวอสุรินท์. คำว่า เหมือนหญิงที่อยู่ในทรวงอกประพฤติล่วงทานพ อธิบายว่า มีเรื่องกล่าวไว้ในกรัณฑชาดกว่า ทานพตนหนึ่งให้ภรรยานั่งในผอบแล้วกลืนเข้าไว้ในท้อง วันหนึ่งไปคายผอบออกชมเชยกัน แล้วลงอาบน้ำในสระ วิชาธรตนหนึ่งเหาะมาเห็นภรรยาทานพก็ลงไปทำชู้ด้วย พอทานพขึ้นจากน้ำ นางก็เอาวิชาธรอมไว้เสีย ทานพก็เอาภรรยาซึ่งอมชู้ใส่ไว้ในผอบอมไปอีก. พระอรรถกถาจารย์แสดงว่า หญิงที่อยู่ในทรวงอก แม้ถูกกลืนเก็บไว้ในท้องยังทิ้งทานพเสีย ประพฤติล่วงกับวิชาธรตนอื่น ดังในเรื่องกรัณฑชาดก มีคำเป็นต้นว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ ท่านไปไหนกันมาตั้ง ๓ คน เล่าหนอดังนี้ หญิงทั้งหลายย่อมประพฤตินอกใจอย่างนี้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงหญิงเหล่านี้ ที่มิได้มีใครดูแลรักษา. คำว่า ไม่รุ่งเรือง อธิบายว่า ย่อมไม่รุ่งโรจน์ เหมือนพระเจ้าหาริต พระเจ้าโสมกัสสปะ และพระเจ้ากุสราช ฉะนั้น. คำว่า ยิ่งกว่านั้น อธิบายว่า ย่อมถึงความพินาศยิ่งกว่าความพินาศที่ศัตรูกระทำไปนั้นอีก. คำว่า ไม่มีอุเบกขา หมายถึง ยังมีความอยาก. คำว่า ฉุดกระชากลากผมหยิกข่วนด้วยเล็บ อธิบายว่า มีผมอันถูกฉุดกระชาก มีตัวถูกข่วนด้วยเล็บถูกคุกคาม. คำว่า ทุบตี อธิบายว่า และถูกทุบตีด้วยอวัยวะมีเท้าเป็นต้น ชายใดย่อมกระทำอาการแปลกๆ เหล่านี้ ด้วยอำนาจกลีโทษ หญิงทั้งหลายย่อมเข้าไปหาชายผู้เลวทรามเช่นนั้นแล้วอภิรมย์ด้วย. ถามว่า นางย่อมประคับประคองชายที่มีอาการวิปริตเหล่านี้ ย่อมไม่รื่นรมย์ชายที่มีความประพฤติเรียบร้อย เพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะหมู่แมลงวันย่อมชอบศพ. คำว่า หมู่แมลงวันที่ซากศพ อธิบายว่า ถ้าชายชั่วทำเช่นนั้น หญิงย่อมอยู่ด้วย เหมือนแมลงวันชอบอยู่ในซากศพช้างเป็นต้น อันน่าเกลียดฉะนั้น.
คำว่า เป็นเหมือนบ่วง อธิบายว่า พึงเว้นหญิงพวกเหล่านี้เสีย โดยที่แท้ บุรุษผู้มีจักษุด้วยปัญญาจักษุ ผู้มีความต้องการด้วยความสุขอันเป็นทิพย์ และความสุขอันเป็นของมนุษย์ สำคัญอยู่ว่า หญิงนั้นเป็นประดุจบ่วงแห่งเทพยดา ผู้เป็นเจ้าแห่งความรัก กล่าวคือ กิเลสมาร ในที่เหล่านี้พึงเว้นเสีย เหมือนเนื้อและนกเว้นบ่วงและตาข่ายที่พวกนายพรานดักไว้เพื่อจะจับฉะนั้น. คำว่า สละเสีย คือ ทิ้งเสียซึ่งคุณ คือตบะอันสามารถได้ ซึ่งสมบัติอันยิ่งใหญ่ในสวรรค์และมนุษย์. คำว่า ผู้ใด อธิบายว่า บุรุษผู้ใดมาประพฤติซึ่งจริต กล่าวคือความยินดีในกามคุณ ในกามคุณทั้งหลายอันไม่ประเสริฐไม่บริสุทธิ์. คำว่า จักเคลื่อนจากเทวดาไปคลุกเคล้าอยู่กับนรก อธิบายว่า บุรุษผู้นั้นจักกลับจากเทวโลก แล้วมาถือเอากำเนิดในนรก. คำว่า เหมือนพ่อค้าซื้อหม้อน้ำอันแตก อธิบายว่า พ่อค้าโง่ให้สิ่งของมีราคามาก แลกเอาหม้อน้ำที่แตกไปฉันใด บุรุษนี้เป็นเหมือนอย่างนั้นแล. คำว่า บุรุษนั้น หมายถึง บุรุษผู้ตกอยู่ในอำนาจของหญิงทั้งหลาย. คำว่า โดยไม่แน่นอน คือ ไม่แน่นอนก็จักไหม้อยู่ในอบายทั้งหลาย ตลอดกาลมีประมาณเพียงเท่านี้. คำว่า พลั้งๆ พลาดๆ อธิบายว่า พลาดจากเทวโลก หรือมนุษยโลกแล้ว ย่อมไปสู่อบายอย่างเดียว ถามว่า เปรียบเหมือนอะไร? ตอบว่า เปรียบเหมือนรถที่ลาโกงพาไปผิดทางฉะนั้น อธิบายว่า รถที่เทียมด้วยลาโกง ย่อมแวะออกจากทางไปนอกทางฉันใด บุรุษผู้ลุอำนาจแห่งหญิงก็ฉันนั้น. คำว่า มีป่าไม้งิ้วมีหนามแหลมเป็นหอกเหล็ก อธิบายว่า นรกนั้นมีป่าไม้งิ้วเป็นเหล็ก ประกอบด้วยหนามเหมือนหอก. คำว่า วิสัยเปรตอสุรกาย หมายเอาวิสัยแห่งเปรตและวิสัยแห่งกาลกัญชิกอสูร.
คำว่า ผู้ประมาท คือ ผู้เลินเล่อ. จริงอยู่ ชายเหล่านั้นเป็นผู้ประมาทแล้วในหญิงทั้งหลาย ย่อมไม่กระทำคุณงามความดี อันเป็นมูลรากแห่งสมบัติเหล่านั้น หญิงเหล่านั้นทั้งหมดชื่อว่า ย่อมทำบุรุษผู้ประมาทแล้วเหล่านั้น ให้พินาศไปด้วยประการฉะนี้. คำว่า ทำบุรุษผู้นั้นให้ตกไป อธิบายว่า หญิงเหล่านั้นย่อมยังบุรุษเห็นปานนั้น ให้กระทำแต่อกุศลกรรม ด้วยสามารถแห่งความประมาท ชื่อว่าย่อมทำบุรุษนั้นให้ตกไปยังทุคติ. คำว่า อยู่วิมานทอง คือมีปกติอยู่ในวิมานอันสำเร็จด้วยทองคำ. คำว่า ไม่ต้องการด้วยหญิง อธิบายว่า ชายเหล่าใดเป็นผู้ไม่มีความต้องการด้วยหญิงทั้งหลายแล้ว ย่อมประพฤติพรหมจรรย์. คำว่า ก้าวล่วงเสียซึ่งกามธาตุ หมายถึง หนทางดำเนิน เพราะก้าวล่วงกามธาตุเสียได้. คำว่า รูปธาตุสมภพ หมายถึงความมีพร้อมแห่งรูปธาตุ กล่าวคือทางดำเนินที่ก้าวล่วงกามธาตุ ย่อมเป็นของหาได้ไม่ยาก แก่ชนเหล่านั้นเลย. คำว่า คติที่เข้าถึงความปราศจากราคะ อธิบายว่า การบังเกิดในเทวโลกชั้นสุทธาวาส ในวิสัยแห่งบุคคลผู้ปราศจากราคะ แม้นั้นก็เป็นของหาได้ไม่ยากแก่ชนเหล่านั้น. คำว่า ล่วงส่วน อธิบายว่า ไม่เป็นไปล่วง คือเป็นธรรมที่ไม่ถึงความพินาศ. คำว่า ไม่หวั่นไหว คือ ไม่กระทบกระเทือนด้วยกิเลสทั้งหลาย. คำว่า ดับแล้ว คือ มีกิเลสอันดับแล้ว. คำว่า สะอาด คือพระนิพพานเห็นปานนี้ อันท่านผู้บริสุทธิ์สะอาดทั้งหลายจะพึงได้โดยไม่ยากเลย.

พระมหาสัตว์ ยังเทศนาให้จบลงจนถึงอมตมหานิพพานอย่างนี้แล้ว สัตว์ทั้งหลายเป็นต้นว่า กินนรและพระยานาคในป่าหิมพานต์ และเทวดาที่อยู่ในอากาศ ก็พากันให้สาธุการว่า น่าอัศจรรย์จริง พญานกกุณาละกล่าวอย่างลีลาของพระพุทธเจ้าดีมาก.
พญาแร้งชื่อว่า อานนท์ พราหมณ์ฤาษีชื่อนารทะ และพญานกปุณณมุขะดุเหว่าขาว ก็พาบริวารของตนๆ ไปสู่ที่อยู่เดิม แม้พระมหาสัตว์ก็กลับไปยังที่อยู่ของตนเช่นเดียวกัน ฝ่ายพวกที่กล่าวมาแล้วนอกนี้ ย่อมไปมาหาสู่กันเสมอ และตั้งอยู่ในโอวาทของพระมหาสัตว์ ก็ย่อมมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว เมื่อจะทรงประชุมชาดก จึงตรัสคาถาที่สุดว่า
พญานกกุณาละในครั้งนั้น เป็น เรา
พญานกดุเหว่าขาว เป็น พระอุทายี
พญาแร้ง เป็น พระอานนท์
นารทฤาษี เป็น พระสารีบุตร
บริษัททั้งหลาย เป็น พุทธบริษัท
เธอทั้งหลายจงทรงจำกุณาลชาดกไว้อย่างนี้แล.


ฝ่ายพระภิกษุราชกุมารทั้งหลาย เวลาจะไปก็ไปด้วยอานุภาพของพระศาสดา แต่เวลามานั้น มาด้วยอานุภาพของตน คือ พระศาสดาทรงแสดงกัมมัฏฐานให้ภิกษุเหล่านั้นในป่ามหาวัน พระภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุพระอรหัตในวันนั้นเอง และได้มีเทวดาสมาคมใหญ่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดง มหาสมัยสูตร เมื่อจบลง เทวดาทั้งหลายได้บรรลุมรรคผล มีพระโสดาบัน เป็นต้น.

-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา กุณาลชาดก จบ.
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280249อรรถกถาชาดก 280296
เล่มที่ 28 ข้อ 296อ่านชาดก 280315อ่านชาดก 281045
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=28&A=1897&Z=2257
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๖  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]