ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280893อรรถกถาชาดก 281045
เล่มที่ 28 ข้อ 1045
อรรถกถา มหาเวสสันตรชาดก
ว่าด้วย พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมี

หน้าต่างที่   ๙ / ๑๐.

สักกบรรพ

เมื่อกษัตริย์ทั้งสององค์ คือพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ตรัสสัมโมทนียกถาต่อกันและกันอยู่อย่างนี้. ท้าวสักกเทวราชทรงดำริว่า เมื่อวันวานนี้ พระเวสสันดรมหาราชนี้ได้ประทานปิยบุตรแก่ชูชกพราหมณ์ แผ่นดินไหว. บัดนี้ ถ้าจะมีคนต่ำช้าผู้หนึ่งไปเฝ้าพระเวสสันดร ทูลขอพระนางมัทรีผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะทั้งปวง มีศีลาจารวัตรบริบูรณ์ พาพระนางมัทรีไป ทำให้ท้าวเธออยู่คนเดียว แต่นั้น ท้าวเธอก็จะเปล่าเปลี่ยวขาดผู้ปฏิบัติ อย่ากระนั้นเลย เราจะจำแลงเพศเป็นพราหมณ์ ไปเฝ้าท้าวเธอ ทูลขอพระนางมัทรี ให้ถือเอาทานนั้นเป็นยอดแห่งทานบารมี. ทำให้ไม่ควรสละแก่ใครๆ แล้วถวายพระนางเจ้านั้นคืนท้าวเธอไว้อีก แล้วกลับเทวสถานของเรา. ท้าวสักกเทวราชนั้นได้เสด็จไปสู่สำนักแห่งพระบรมโพธิสัตว์ ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
ลำดับนั้น เมื่อราตรีสิ้นไป ดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นมา ท้าวสหัสสนัยจำแลงเพศเป็นพราหมณ์ ได้ปรากฏแก่สองกษัตริย์นั้น แต่เช้า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาโต เนสํ อทิสฺสถ ความว่า ได้มีรูปปรากฏ ยืนอยู่เบื้องหน้าของกษัตริย์ทั้งสอง แต่เช้าทีเดียว

ก็และครั้นประทับยืนอยู่แล้ว เมื่อจะทรงทำปฏิสันถาร จึงตรัสว่า
พระองค์ไม่มีพระโรคาพาธกระมัง พระองค์มีความผาสุกสำราญกระมัง พระองค์ทรงยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยเสาะแสวงหาผลาหารสะดวกกระมัง มูลผลาหารมีมากกระมัง. เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานทีจะมีน้อยกระมัง. ความเบียดเบียนให้ลำบาก ในวนประเทศที่เกลื่อนไปด้วยเนื้อร้าย ไม่ค่อยมีกระมัง.


เมื่อท้าวสักกเทวราชทูลถามอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ เมื่อทรงทำปฏิสันถารกับท้าวสักกเทวราชนั้น ตรัสว่า
ดูก่อนพราหมณ์ เราทั้งหลายไม่มีอาพาธ สุขสำราญดี ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยเสาะแสวงหาผลไม้สะดวกดี และผลาผลก็มีมาก อนึ่ง เหลือบ ยุงและสัตว์เลื้อยคลานมีบ้างก็เล็กน้อย. ความเบียดเบียนให้ลำบากในวนประเทศ ที่เกลื่อนไปด้วยเนื้อร้าย ก็ไม่ค่อยมีแก่เรา. เมื่อพวกเรามาอยู่ป่า มีชีวิตเตรียมตรมตลอด ๗ เดือน เราพึงเห็นพราหมณ์ผู้มีเพศดังเพศแห่งเทพ ถือไม้เท้ามีสีดังผลมะตูม ทรงหนังเสือเหลืองเป็นเครื่องปกปิดกาย แม้นี้เป็นคนที่สอง.
ดูก่อนมหาพราหมณ์ ท่านมาดีแล้ว และมาไกล ก็เหมือนใกล้ เชิญเข้าข้างใน ขอให้ท่านเจริญเถิด ชำระล้างเท้าของท่านเสีย ดูก่อนพราหมณ์ ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง และผลหมากเม่า เป็นผลไม้มีรสหวานปานน้ำผึ้ง เชิญท่านเลือกบริโภคแต่ที่ดีๆ เถิด. ดูก่อนพราหมณ์ น้ำดื่มนี้เย็นนำมาแต่ซอกเขา ขอเชิญดื่มเถิด ถ้าปรารถนาจะดื่ม.


พระมหาสัตว์ทรงทำปฏิสันถารกับพราหมณ์นั้นอย่างนี้แล้ว ตรัสถามว่า
ก็ท่านมาถึงป่าใหญ่ด้วยเหตุการณ์เป็นไฉน เราถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอกความนั้นแก่เราเถิด.


พระมหาสัตว์ตรัสถามถึงเหตุที่ท้าวสักกะมา ด้วยประการฉะนี้ ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชทูลสนองว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระองค์เป็นคนแก่มาในที่นี้ มาเพื่อทูลขอประทานพระนางมัทรีอัครมเหสีของพระองค์ ขอพระองค์โปรดประทานพระนางเจ้านั้นแก่ข้าพระองค์.
ครั้นทูลฉะนี้แล้ว กล่าวคาถาว่า
ห้วงน้ำซึ่งเต็มเปี่ยมตลอดเวลา ไม่มีเวลาเหือดแห้ง ฉันใด. พระองค์มีพระหฤทัยเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา ฉันนั้น. ข้าพระองค์มาเพื่อทูลขอพระนางมัทรีกะพระองค์ ขอพระองค์โปรดพระราชทานพระมเหสีแก่ข้าพระองค์ ผู้ทูลขอเถิด.


เมื่อท้าวสักกเทวราชแปลงทูลอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์มิได้ตรัสว่า เมื่อวานนี้ อาตมาได้ให้บุตรบุตรีแก่พราหมณ์ไปแล้ว อาตมาจะต้องอยู่ในป่ารูปเดียวเท่านั้น จักให้มัทรีแก่ท่านได้อย่างไร ดังนี้ เป็นเพียงดัง ผู้มีกำลังวางถุงกหาปณะพันหนึ่ง ลงบนหัตถ์ที่เหยียดออกรับ มีพระมนัสไม่ขัด ไม่ข้อง ไม่หดหู่ เป็นราวกะยังภูผาให้บันลือลั่น ตรัสว่า
ดูก่อนพราหมณ์ อาตมาให้สิ่งที่ท่านขอต่ออาตมา อาตมาไม่หวั่นหวาด ไม่ซ่อนสิ่งที่มีอยู่ ใจของอาตมายินดีในทาน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺตํ นปฺปฏิคุยฺหามิ ความว่า ไม่ซ่อนสิ่งที่มีอยู่.

ก็และครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ทรงนำน้ำมาด้วยพระเต้าทันทีทีเดียว หลั่งน้ำลงในมือของพราหมณ์ พระราชทานปิยทารทานแก่พราหมณ์ มหัศจรรย์ทั้งปวงมีประการดังกล่าวแล้ว ในหนหลัง ได้ปรากฏในขณะนั้นนั่นเทียว.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระเวสสันดรผู้ยังแคว้นสีพีให้เจริญ ทรงจับพระกรพระนางมัทรีด้วยพระหัตถ์ข้างหนึ่ง จับพระเต้าน้ำด้วยพระหัตถ์ข้างหนึ่ง หลั่งอุทกลงในมือพราหมณ์ ได้พระราชทานพระนางมัทรีแก่พราหมณ์. มหัศจรรย์อันให้สยดสยอง และยังโลมชาติให้ชูชัน คือเมื่อพระเวสสันดรทรงบริจาคพระนางมัทรีแก่พราหมณ์. แผ่นดินได้กัมปนาทหวั่นไหว ในกาลนั้น พระนางมัทรีมิได้ทำพระพักตร์สยิ้วกริ้วพระภัสดา ไม่ทรงแสดงพระอาการขวยเขิน ไม่ทรงกันแสง เมื่อพระภัสดาทอดพระเนตรพระนางเจ้าก็ทรงดุษณีภาพ พระภัสดาก็ทรงทราบพระอัธยาศัยอันประเสริฐของพระนางเจ้า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อทา ทานํ ความว่า พระเวสสันดรมหาสัตว์ตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ผู้เจริญ พระสัพพัญญุตญาณเท่านั้นเป็นที่รักของอาตมา ยิ่งกว่าแม้พระนางมัทรีร้อยเท่าพันเท่าแสนเท่า ขอทานของอาตมานี้ จงเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ดังนี้แล้ว ได้ทรงบริจาคปิยทารทาน.

สมจริงดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ว่า
เราตถาคต เมื่อสละชาลีโอรส กัณหาชินาธิดา และมัทรีเทวีผู้เคารพต่อภัสดา มิได้คิดเสียดายเลย เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น ลูกทั้งสองเป็นที่เกลียดชังของเรา ก็หามิได้. มัทรีเทวีไม่เป็นที่รักของเรา ก็หามิได้ พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรายิ่งกว่า เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้บุตรธิดาและเทวีผู้เป็นที่รักเสีย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมกมฺปถ(๑. ม. สมปกมฺปถ.) ความว่า แผ่นดินไหวจดถึงน้ำ. บทว่า เนวสฺส มทฺที ภกุฏี ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขณะนั้นพระนางมัทรีมิได้มีพระพักตร์สยิ้ว เพราะกริ้วว่า พระราชาเวสสันดรประทานเราแก่พราหมณ์แก่. บทว่า น สนฺธียติ น โรทติ ความว่า มิได้ทรงเก้อเขิน มิได้ทรงกันแสง จนน้ำตาเต็มพระเนตรทั้งสอง ด้วยทรงคิดว่า พระสวามีดูเราทำไม ทั้งทรงดุษณีภาพเข้าพระทัยว่า เมื่อให้นางแก้วเช่นเรา จักไม่ให้เพราะไร้เหตุ อธิบายว่า พระนางมัทรีประทับยืนทอดพระเนตร ดูพระพักตร์ของพระเวสสันดรซึ่งมีวรรณะดังดอกปทุมบาน ด้วยเข้าพระทัยว่า พระสวามีของเรานี้แหละ ทรงทราบสิ่งที่ประเสริฐ.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรดูพระพักตร์ของพระนางมัทรี ด้วยทรงคิดว่า มัทรีจะเป็นอย่างไร. พระนางเจ้าจึงทูลถามว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ทอดพระเนตรดูหน้าหม่อมฉัน ทำไม.
เมื่อทรงบันลือสีหนาท จึงตรัสคาถานี้ว่า
หม่อมฉันผู้ยังเป็นสาว เป็นเทวีของพระองค์ท่านใด พระองค์ท่านนั้นเป็นพระภัสดา เป็นใหญ่ของหม่อมฉัน พระองค์ท่านทรงปรารถนาจะพระราชทานแก่บุคคลใด ก็จงพระราชทานแก่บุคคลนั้น หรือจะพึงขายพึงฆ่าเสีย ก็ย่อมได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺส ความว่า หม่อมฉันเป็นเทวีสาวของพระองค์ท่านใด พระองค์ท่านนั้นแหละเป็นพระภัสดาด้วย เป็นใหญ่ด้วยของหม่อมฉัน พระองค์ท่านปรารถนาจะพระราชทานแก่ผู้ใด ก็พึงพระราชทานแก่ผู้นั้น หรือเมื่อต้องการทรัพย์ ก็พึงขายหม่อมฉัน หรือเมื่อต้องการเนื้อก็พึงฆ่าหม่อมฉัน เพราะฉะนั้น พระองค์จงกระทำสิ่งที่ทรงชอบพระทัยเถิด หม่อมฉันไม่โกรธ.

ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงทราบอัธยาศัยอันประณีตของกษัตริย์ทั้งสอง จึงทรงชมเชยสองกษัตริย์นั้น.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระดำริของสองกษัตริย์ จึงได้ตรัสคำนี้ว่า ข้าศึกทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ พระองค์ทั้งสองทรงชนะแล้ว ปฐพีบันลือลั่นเสียงสาธุการก้องไปถึงสวรรค์ชั้นไตรทิพ สายฟ้าก็แวบวาบไปโดยรอบ เสียงโกลาหลนั้นปรากฏ ดังหนึ่งเสียงภูเขาถล่มทลาย เทพนิกายทั้งสอง คือนารทะและปัพพตะเหล่านั้น ย่อมอนุโมทนาแก่สองกษัตริย์นั้น พระอินทร์ พระพรหม พระปชาบดี พระโสม พระยม และพระเวสวัณมหาราช เทพเจ้าทั้งหมดย่อมอนุโมทนาว่า
พระองค์ทรงทำกิจที่ทำได้ยากแท้ เพราะความที่เหล่าผู้ให้ทานให้ด้วยยาก เพราะความที่เหล่าผู้ทำบุญกรรมทำด้วยยาก อสัตบุรุษทั้งหลายทำตามไม่ได้ ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย อันอสัตบุรุษทั้งหลายนำไปยาก เหตุดังนั้น คติภูมิที่ไปจากโลกนี้ของสัตบุรุษและอสัตบุรุษทั้งหลายต่างกัน อสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไปสู่นรก สัตบุรุษทั้งหลายมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
ข้อที่พระองค์ เมื่อเสด็จประทับแรมอยู่ในป่า ได้พระราชทานกุมารกุมารีและพระมเหสีนี้ นับว่าเป็นพรหมยานอันสัมฤทธิ์แล้วแด่พระองค์ เพราะจะมิต้องเสด็จไปในอบายภูมิ ขอพระกุศลทานอันนั้น จงอำนวยวิบากสมบัติแด่พระองค์ในสวรรค์เถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปจฺจูหา ได้แก่ ข้าศึก. บทว่า ทิพฺพา ได้แก่ ห้ามเสียซึ่งทิพยสมบัติ. บทว่า มานุสา ได้แก่ ห้ามเสียซึ่งมนุษยสมบัติ แต่อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า บทว่า เต ได้แก่ ธรรม คือความตระหนี่. ความตระหนี่ทุกอย่างนั้น อันพระมหาสัตว์ผู้ประทานโอรสธิดาและมเหสี ทรงชำนะแล้ว เพราะเหตุนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสว่า สพฺเพ ชิตา เต ปจฺจูหา ดังนี้.
บทว่า ทุกฺกรํ หิ กโรติ โส ความว่า ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า เทวดาทั้งปวงเหล่านั้นอนุโมทนาอย่างนี้ว่า พระราชาเวสสันดรนั้นประทับอยู่ในป่า พระองค์เดียวเท่านั้น เมื่อประทานพระมเหสีแก่พราหมณ์ ย่อมกระทำกรรมที่ทำได้โดยยาก ท้าวสักกเทวราช เมื่อทรงทำอนุโมทนา จึงตรัสคาถาว่า ยเมตํ เป็นต้น.
บทว่า วเน วสํ แปลว่า ประทับอยู่ในป่า.
บทว่า พฺรหฺมยานํ ได้แก่ ยานอันประเสริฐก็ธรรม คือความสุจริตสามอย่าง และธรรม คือการบริจาค เห็นปานนี้ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งอริยมรรค ดังนั้น ท่านจึงเรียกว่าพรหมยาน เพราะฉะนั้น พรหมยานนี้จึงสำเร็จแก่พระองค์ ผู้ให้ทานในวันนี้เพราะไม่ต้องเสด็จไปสู่อบายภูมิ.
บทว่า สคฺเค เต ตํ วิปจฺจตุ ความว่า จงให้พระสัพพัญญุตญาณ ในที่สุดแห่งวิบากนั่นเทียว

ท้าวสักกเทวราชทรงอนุโมทนาแด่พระเวสสันดรอย่างนี้แล้ว ทรงดำริว่า บัดนี้ ควรที่เราจะไม่ชักช้าในที่นี้ ควรถวายคืนพระนางมัทรีแด่พระเวสสันดร แล้วกลับไป.
ทรงดำริฉะนี้ แล้วตรัสว่า
ข้าพระองค์ขอถวายพระนางมัทรีพระมเหสีผู้งามทั่วสรรพางค์ คืนแด่พระองค์ผู้เจริญ เพราะพระองค์มีพระฉันทะอัธยาศัย เสมอด้วยพระนางมัทรี และพระนางมัทรีก็ทรงมีพระฉันทะอัธยาศัย เสมอด้วยพระองค์ผู้พระสวามี น้ำนมและสังข์มีสีเสมอเหมือนกัน ฉันใด พระองค์และพระนางมัทรี ก็มีพระมนัสเจตนาเสมอเหมือนกัน ฉันนั้น พระองค์ทั้งสองเป็นขัตติยชาติ สมบูรณ์ด้วยพระวงศ์ เกิดดีแล้วแต่พระมารดาพระบิดา ถูกเนรเทศเสด็จมาแรมอยู่ ณ อาศรมในราวไพรนี้ ขอพระองค์ เมื่อทรงบำเพ็ญทานต่อๆ ไป พึงบำเพ็ญบุญกุศล ตามสมควรเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉนฺโน ได้แก่ สมควร. บทว่า อุโภ สมานวณฺณิโน ความว่า ทั้งสองมีวรรณะเสมอกันบริสุทธิ์แท้. บทว่า สมานมนเจตสา ความว่า ประกอบด้วยใจ กล่าวคือมนะที่เสมอกัน โดยคุณมีอาจาระเป็นต้น. บทว่า อวรุทฺเธตฺถ ความว่า ถูกเนรเทศจากแว่นแคว้น ประทับอยู่ในอรัญประเทศนี้.
บทว่า ยถา ปุญฺญานิ ความว่า พระองค์อย่าทรงยินดีด้วยบุญเพียงเท่านี้ คือบุญที่ทรงทำไว้เป็นอันมากในกรุงเชตุดร บุญที่ทรงทำ เช่นเมื่อวันวานพระราชทานพระโอรสธิดา วันนี้พระราชทานพระมเหสี ทรงบริจาคทานต่อๆ ไป แม้ยิ่งขึ้นกว่าที่กล่าวแล้วนั้น พึงบำเพ็ญบุญทั้งหลายตามสมควรเถิด.

ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงมอบพระนางมัทรีแด่พระมหาสัตว์แล้ว เมื่อจะแจ้งพระองค์ว่าเป็นพระอินทร์ เพื่อถวายพระพร จึงตรัสว่า
หม่อมฉัน คือท้าวสักกะจอมเทพ มาสู่สำนักของพระองค์ ข้าแต่พระราชฤาษี ขอพระองค์จงทรงเลือกเอาพระพร หม่อมฉันขอถวายพระพร ๘ ประการแด่พระองค์ท่าน.


เมื่อท้าวสักกะจอมเทพตรัสอยู่นั่นเอง ก็รุ่งเรืองเปล่งปลั่งด้วยอัตภาพทิพย์ สถิตอยู่ในอากาศ ปานประหนึ่งภาณุมาศเปล่งรัศมีอ่อนๆ ฉะนั้น.
แต่นั้น พระโพธิสัตว์ เมื่อจะทรงรับพระพร จึงตรัสว่า
ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ของสรรพสัตว์ ถ้าพระองค์จะประทานพระพรแก่หม่อมฉัน ขอพระชนกของหม่อมฉันพึงทรงยินดี ให้หม่อมฉันกลับจากป่านี้สู่นิเวศน์ของหม่อมฉัน พึงเชื้อเชิญด้วยราชบัลลังก์ หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพระพรข้อที่ ๑. หม่อมฉันไม่ชอบการฆ่าคน แม้ทำผิดร้ายแรง พึงยังคนมีโทษให้พ้นจากการประหารชีวิต หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพระพรข้อที่ ๒. ชนเหล่าใดเป็นคนแก่ เป็นคนหนุ่ม และเป็นคนกลางคน ชนเหล่านั้นพึงอาศัยหม่อมฉันเลี้ยงชีพ หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพระพรข้อที่ ๓. หม่อมฉันไม่พึงถึงภรรยาของชนอื่น พึงขวนขวายแต่ในภรรยาของตน และไม่พึงตกอยู่ในอำนาจแห่งสตรีทั้งหลาย หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพระพรข้อที่ ๔.
ข้าแต่ท้าวสักกะ บุตรของหม่อมฉันที่พลัดพรากไปนั้น พึงมีอายุยืน พึงครองแผ่นดินโดยธรรม หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพระพรข้อที่ ๕. เมื่อราตรีสิ้นไป พระอาทิตย์อุทัยขึ้นมา ขอให้ภิกษาหารอันเป็นทิพย์พึงปรากฏมี หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพระพรข้อที่ ๖. เมื่อหม่อมฉันบริจาคทาน ทรัพย์สมบัติพึงไม่หมดสิ้นไป บริจาคแล้วไม่พึงเดือดร้อนภายหลัง เมื่อกำลังบริจาคพึงทำจิตให้ผ่องใส หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพระพรข้อที่ ๗. เมื่อหม่อมฉันพ้นจากอัตภาพนี้ พึงไปสู่สวรรค์ถึงชั้นดุสิตอันวิเศษ จุติจากชั้นดุสิตนั้นมาเป็นมนุษย์ พึงเป็นผู้ไม่เกิดอีก หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพระพรข้อที่ ๘.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนโมเทยฺย ได้แก่ พึงทรงรับ คือไม่กริ้ว. บทว่า อิโต ปตฺตํ ได้แก่ จากป่านี้ถึงนิเวศน์ของตน. บทว่า อาสเนน ได้แก่ ด้วยราชบัลลังก์ คือพระเวสสันดรตรัสว่า ขอพระชนกจงประทานราชสมบัติแก่หม่อมฉัน. บทว่า อปิ กิพฺพิสการกํ ความว่า หม่อมฉันเป็นพระราชา พึงปล่อยนักโทษประหาร แม้เป็นผู้ทำความผิดต่อพระราชา ให้พ้นจากถูกประหาร. หม่อมฉัน แม้เป็นถึงอย่างนี้ก็ไม่ชอบการประหาร. บทว่า มเมว อุปชีเวยฺยุํ ความว่า ขอเขาเหล่านั้นทั้งหมดพึงอาศัยหม่อมฉันนี่แหละเลี้ยงชีพ. บทว่า ธมฺเมน ชิเน ความว่า จงชนะโดยธรรม คือจงครองราชสมบัติโดยเรียบร้อย. บทว่า วิเสสคู ความว่า พระเวสสันดรตรัสว่า ขอหม่อมฉันจงเป็นผู้ไปสู่สวรรค์ชั้นพิเศษ คือเป็นผู้บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต. บทว่า อนิพฺพตฺตี ตโต อสฺสํ ความว่า พระเวสสันดรตรัสว่า หม่อมฉันจุติจากดุสิตพิภพนั้นแล้วมาสู่ความเป็นมนุษย์ พึงเป็นผู้ไม่บังเกิดในภพใหม่ทีเดียว คือ พึงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงสดับพระดำรัสของพระมหาสัตว์นั้นแล้ว ได้ตรัสคำนี้ว่า พระราชบิดาผู้บังเกิดเกล้าของพระองค์จักเสด็จมาพบพระองค์ โดยไม่นานนัก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทฏฺฐเมสฺสติ ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระบิดาของพระองค์ประสงค์จะเยี่ยมพระองค์ จักเสด็จมาที่นี้โดยไม่นานนัก ก็และครั้นเสด็จมาแล้ว จักพระราชทานเศวตฉัตรแด่พระองค์ แล้วเชิญเสด็จไปกรุงเชตุดรทีเดียว ความปรารถนาของพระองค์ทุกอย่างจักถึงที่สุด อย่าร้อนพระหฤทัยไปเลย จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด มหาราช.

ครั้นประทานโอวาทแด่พระมหาสัตว์อย่างนี้แล้ว ท้าวสักกเทวราชก็เสด็จไปสู่ทิพยสถานของพระองค์ นั่นแล.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
ท้าวมัฆวานสุชัมบดีเทวราชตรัสดังนี้แล้ว ประทานพระพรแด่พระเวสสันดร แล้วเสด็จไปสู่ หมู่เทพในสรวงสวรรค์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวสฺสนฺตเร ได้แก่ แด่พระเวสสันดร. บทว่า อปกฺกมิ ได้แก่ เสด็จไปแล้ว คือเสด็จถึงแล้วโดยลำดับ นั่นแล.
จบสักกบรรพ

กาลนั้น พระเวสสันดรโพธิสัตว์และพระนางมัทรี ทรงบันเทิงเสด็จแรมอยู่ในอาศรม ที่ท้าวสักกะประทาน. ครั้งนั้น พราหมณ์ชูชกพาพระชาลีพระกัณหาทั้งสององค์เดินทาง ๖๐ โยชน์ เหล่าเทพเจ้าได้อารักขาพระกุมารกุมารี. ฝ่ายชูชก ครั้นดวงอาทิตย์อัสดงคต ก็ผูกพระกุมารกุมารีทั้งสองไว้ที่กอไม้ ให้บรรทมเหนือพื้นดิน ตนเองขึ้นต้นไม้นอนที่หว่างค่าคบกิ่งไม้ ด้วยเกรงพาลมฤคที่ดุร้าย.
ในขณะนั้น มีเทพบุตรองค์หนึ่งแปลงเพศเป็นพระเวสสันดรมา ภายหลังมีเทพธิดาองค์หนึ่งแปลงเพศเป็นพระนางมัทรี มาแก้สองกุมาร นวดพระหัตถ์และพระบาทของสองกุมาร สรงน้ำ ประดับ ให้เสวยทิพยโภชนาหาร ตกแต่งด้วยสรรพาลังการ ให้บรรทมบนพระยี่ภู่ทิพย์. พออรุณขึ้น ก็ให้บรรทมด้วยเครื่องพันธนาการตามเดิมอีก แล้วอันตรธานหายไป ราชกุมารกุมารีทั้งสองนั้น หาพระโรคมิได้ เสด็จไปด้วยเทวสงเคราะห์อย่างนี้. เมื่อราตรีนั้นสว่างแล้ว ชูชกลงจากต้นไม้ ล้างหน้าบ้วนปากสีฟัน แล้วบริโภคผลาผล. กาลนั้น แกพาสองกุมารไปถึงมรรคาหนึ่ง คิดว่า เราจักไปกาลิงครัฐ แล้วเดินไปเห็นทางสองแพร่ง. ทางหนึ่งไปกาลิงครัฐ ทางหนึ่งไปกรุงเชตุดร เทวดาดลใจ แกจึงละทางไปกาลิงครัฐ เห็นทางหนึ่งไปกรุงเชตุดร จึงนำสองกุมารไป ด้วยสำคัญว่า ทางนี้เป็นทางไปกาลิงครัฐ. แกคิดว่า เราจักไปกาลิงครัฐ ล่วงเชิงภูผาของภูผาที่ไปยากทั้งหลาย ถึงกรุงเชตุดรโดยกาล นับได้กึ่งเดือน.
วันนั้นเวลาใกล้รุ่ง พระเจ้ากรุงสญชัยสีวีมหาราชทรงพระสุบิน พระสุบินนั้นมีข้อความนี้ว่า เมื่อพระเจ้าสญชัยมหาราชประทับนั่ง ในสถานที่มหาวินิจฉัย มีชายคนหนึ่งผิวดำ นำดอกปทุมสองดอกมาวางไว้ในพระหัตถ์แห่งพระราชา พระราชาทรงรับดอกปทุมทั้งสองดอกนั้นไว้ ทรงประดับที่พระกรรณสองข้าง ละอองเกสรแห่งดอกปทุมสองดอกนั้น ล่วงลงบนพระอุระแห่งพระราชา. พระเจ้าสญชัยตื่นบรรทม ตรัสเรียกพวกพราหมณ์ผู้รู้ทำนายสุบิน มาตรัสถาม พราหมณ์เหล่านั้นทูลพยากรณ์ว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระประยูรญาติของพระองค์ที่จากไปนานจักมา. พระเจ้ากรุงสญชัยได้ทรงสดับคำพยากรณ์นั้น ทรงยินดี โปรดให้พราหมณ์เหล่านั้นกลับไป สนานพระเศียรแต่เช้า แล้วเสวยโภชนาหารมีรสเลิศต่างๆ ตกแต่งพระองค์ด้วยเครื่องอลังการ คืออาภรณ์ทั้งปวง ประทับนั่ง ณ สถานมหาวินิจฉัย. เทวดานำพราหมณ์กับกุมาร มายืนอยู่ที่พระลานหลวง.
ขณะนั้น พระเจ้ากรุงสญชัยทอดพระเนตรดูมรรคาทรงเห็นสองกุมาร จึงตรัสว่า
นั่นเป็นดวงหน้าของใครงามนัก ราวกะว่าทองคำที่หลอมร้อนแล้วด้วยไฟ หรือประหนึ่งว่า ลิ่มแห่งทองคำที่ละลายคว้างในปากเบ้า ทั้งสองกุมารกุมารีมีอวัยวะคล้ายกัน ทั้งสองกุมารกุมารีมีลักษณะคล้ายกัน คนหนึ่งเหมือนพระชาลี คนหนึ่งเหมือนแม่กัณหาชินา ทั้งสองกุมารกุมารีมีรูปสมบัติ ดังราชสีห์ออกจากถ้ำ กุมารกุมารีเหล่านี้ปรากฏประดุจหล่อด้วยทองคำทีเดียว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วุตฺตตฺตมคฺคินา ได้แก่ หลอมร้อนแล้วด้วยไฟ.
บทว่า สีหา วิลาว นิกฺขนฺตา ความว่า เป็นราวกะราชสีห์ออกจากถ้ำทอง ทีเดียว.

พระเจ้าสญชัยตรัสสรรเสริญสองกุมารด้วยคาถา ๓ คาถาอย่างนี้แล้ว มีพระราชดำรัสสั่ง อมาตย์คนหนึ่งผู้ฉลาดศึกษาดีแล้วว่า เจ้าจงไปนำพราหมณ์กับทารกทั้งสองมา. อมาตย์นั้นได้ฟังดังนั้นก็ลุกขึ้นไปโดยเร็ว นำพราหมณ์กับทารกทั้งสองมาแสดงแด่พระเจ้าสญชัย.
ลำดับนั้น พระเจ้าสญชัย เมื่อตรัสถามพราหมณ์ชูชก ตรัสว่า
ดูก่อนตาพราหมณ์ภารทวาชโคตร แกนำทารกทั้งสองนี้มาแต่ไหน แกมาจากไหนถึงแว่นแคว้น ในวันนี้.


ชูชกกราบทูลสนองว่า
ข้าแต่พระเจ้าสญชัย พระราชกุมารราชกุมารีทั้งสองนี้ พระเวสสันดรทรงยินดี พระราชทานแก่ข้าพระบาท ๑๕ ราตรีทั้งวันนี้ นับแต่ข้าพระบาทได้พระราชกุมารกุมารีมา.


พระเจ้าสญชัยได้ทรงสดับคำชูชกกราบทูล จึงตรัสว่า
แกได้มาด้วยวาจาพึงให้รักอย่างไร ต้องให้พวกข้าเชื่อด้วยเหตุโดยชอบ ใครบ้างจะให้บุตรบุตรี อันเป็นทานสูงสุดเป็นทานแก่แก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทินฺนา จิตฺเตน ได้แก่ ยินดี คือเลื่อมใส. บทว่า อชฺช ปณฺณรสา รตฺตี ความว่า ชูชกกราบทูลว่า จำเดิมแต่วันที่ข้าพระบาทได้สองกุมารกุมารีนี้มา ๑๕ ราตรีเข้าวันนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เกน วาจาย เปยฺเยน ความว่า ตาพราหมณ์ แกได้สองกุมารกุมารีเหล่านั้น ด้วยคำอันเป็นที่รักอย่างไร. บทว่า สมฺมา ญาเยน สทฺทเห ความว่า แกอย่าทำมุสาวาท ต้องให้พวกข้าเชื่อด้วยเหตุการณ์ โดยชอบทีเดียว. บทว่า ปุตฺตเก ความว่า ใครจะทำลูกน้อยๆ ที่น่ารักของตน ให้เป็นทานอันสูงสุดแล้วให้ทานนั้นแก่แก.

ชูชกกราบทูลว่า
พระราชาเวสสันดรพระองค์ใด เป็นที่พึ่งอาศัยของยาจกทั้งหลาย ดุจธรณีเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์ทั้งหลาย หรือเป็นที่ไปมาของยาจกทั้งหลาย ดุจสาครเป็นที่ไหลหลั่งไปมาแห่งแม่น้ำทั้งหลาย พระราชาเวสสันดรพระองค์นั้น เมื่อเสด็จประทับแรม ณ ราวไพร ได้พระราชทานพระโอรสพระธิดาแก่ข้าพระบาท.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปติฏฺฐาสิ ได้แก่ เป็นที่พึ่ง.

อำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังชูชกกล่าวดังนั้น เมื่อจะติเตียนพระเวสสันดร จึงกล่าวว่า
เรื่องนี้พระราชาเวสสันดร ถึงมีพระราชศรัทธา แต่ยังครองฆราวาสวิสัย ทำไม่ถูก พระองค์ถูกขับจากราชอาณาจักรไปประทับอยู่ในป่า พึงพระราชทานพระโอรสพระธิดาเสีย อย่างไรหนอ ท่านผู้เจริญทั้งหลายผู้มาประชุมกัน ณ ที่นี้ จงพิจารณาเรื่องนี้ดู.
พระราชาเวสสันดร เมื่อประทับอยู่ในป่า พระราชทานพระโอรสพระธิดาเสียอย่างไร พระราชาเวสสันดรควรพระราชทานทาส ทาสี ม้า แม่ม้าอัสสดร รถ ช้างตัวประเสริฐ พระองค์ต้องพระราชทานพระโอรสพระธิดา ทำไมหนอ พระองค์ควรพระราชทานทอง เงิน ศิลา แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์ แก้วมณี แก้วประพาฬ พระองค์ต้องพระราชทานพระโอรสพระธิดา ทำไม.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สทฺเธน ความว่า แม้มีศรัทธา. บทว่า ฆรเมสินา ความว่า เรื่องนี้ พระราชาเวสสันดร เมื่อทรงอยู่ครองฆราวาสวิสัย ทรงทำไม่ถูก คือทรงทำไม่ควรหนอ. บทว่า อวรุทฺธโก ความว่า พระเวสสันดรถูกขับไล่จากแว่นแคว้น ประทับแรมในป่า. บทว่า อิมํ โภนฺโต ความว่า อมาตย์ทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ ด้วยความประสงค์ว่า ขอชาวพระนครผู้เจริญทั้งหลาย บรรดาที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ทั้งหมด จงพิจารณา คือใคร่ครวญเรื่องนี้ดูเถิด พระเวสสันดรนี้พระราชทานพระโอรสน้อยๆ ของพระองค์ให้เป็นทาสได้อย่างไร เรื่องอย่างนี้เคยมีใครทำไว้. บทว่า ทชฺชา ความว่า จงพระราชทานทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาทรัพย์ทั้งหลายมีทาสเป็นต้น. บทว่า กถํ โส ทชฺชา ทารเก ความว่า อมาตย์ทั้งหลายกล่าวว่า พระเวสสันดรได้พระราชทานพระโอรสธิดาเหล่านี้ ด้วยเหตุไร.

พระชาลีราชกุมารได้ทรงฟังคำอมาตย์เหล่านั้น เมื่อทรงอดทนคำครหาพระชนกไม่ได้ เป็นผู้ราวกะจะค้ำจุนเขาสิเนรุที่ถูกลมประหาร ด้วยพระพาหาของพระองค์ จึงตรัสคาถานี้ว่า
ทาส ม้า แม่ม้าอัสสดร รถ และช้างกุญชรตัวประเสริฐ ไม่มีในนิเวศน์แห่งพระราชบิดา ข้าแต่พระอัยกาเจ้า พระราชบิดาจะพึงพระราชทานอะไรเล่า. ในอาศรมแห่งพระราชบิดาไม่มีศิลา ทอง เงิน แก้วมณีและแก้วประพาฬ ข้าแต่พระอัยกาเจ้า พระราชบิดาจะพึงพระราชทานอะไรเล่า.


พระเจ้ากรุงสญชัยได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า
ดูก่อนพระหลานน้อย พวกเราสรรเสริญทานของบิดาเจ้าดอก มิได้ติเตียนเลย บิดาของหลานให้หลานทั้งสองแก่คนขอทาน หฤทัยของเขาเป็นอย่างไรหนอ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทานมสฺส ปสํสาม ความว่า ดูก่อนพระหลานน้อย พวกเราสรรเสริญทานของบิดาเจ้า มิได้ติเตียน.

พระชาลีราชกุมารได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า
ข้าแต่พระอัยกามหาราช พระบิดาของหม่อมฉันพระราชทานหม่อมฉันทั้งสอง แก่คนขอทานแล้ว. ได้ทรงฟังวาจาอันน่าสงสาร ที่น้องหญิงกัณหากล่าว.
พระองค์ทรงมีพระทัยเป็นทุกข์และเร่าร้อน มีพระเนตรแดงก่ำดังดาวโรหิณี มีพระอัสสุชลหลั่งไหล.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุกฺขสฺส ความว่า ข้าแต่พระอัยกาเจ้า พระบิดานั้นทรงสดับคำนี้ ที่น้องกัณหาชินาของหม่อมฉันกล่าว พระองค์ได้มีพระหฤทัยเป็นทุกข์. บทว่า โรหิณีเหว ตามฺพกฺขี ความว่า พระบิดาของหม่อมฉันมีพระเนตรแดงก่ำ ราวกะดาวโรหิณีที่มีสีแดง ฉะนั้น. ทรงมีพระอัสสุชลหลั่งไหลเป็นดังสายเลือด ในขณะนั้น.

บัดนี้ พระชาลีราชกุมาร เมื่อจะทรงแสดงพระวาจาของพระกัณหาชินานั้น จึงตรัสว่า
น้องกัณหาชินาได้กราบทูลพระบิดาว่า ข้าแต่พระบิดา พราหมณ์นี้ตีหม่อมฉันด้วยไม้เท้า ดุจตีทาสีผู้เกิดในเรือน. ข้าแต่พระบิดา พราหมณ์ทั้งหลายเป็นผู้ประกอบด้วยธรรม แต่พราหมณ์นี้หาเป็นเช่นนั้นไม่ แกเป็นยักษ์แปลงเพศเป็นพราหมณ์ มานำหม่อมฉันทั้งสองไปเคี้ยวกิน ข้าแต่พระบิดา หม่อมฉันทั้งสองถูกปีศาจนำไป พระองค์ทอดพระเนตรเห็นหรือหนอ.


ลำดับนั้น พระเจ้ากรุงสญชัยทอดพระเนตรเห็นพระราชนัดดาทั้งสอง ยังไม่พ้นจากมือพราหมณ์ชูชก จึงตรัสคาถาว่า
พระมารดาของหลานทั้งสองก็เป็นราชบุตรี พระบิดาของหลานทั้งสองก็เป็นราชโอรส แต่ก่อน หลานทั้งสองขึ้นนั่งบนตักปู่ เดี๋ยวนี้มายืนอยู่ไกล เพราะอะไรหนอ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุพฺเพ เม ความว่า แต่ก่อนนี้ หลานทั้งสองเห็นปู่เข้ามาโดยเร็วขึ้นตักปู่ บัดนี้ เหตุอะไรหนอ หลานทั้งสองจึงยืนอยู่ไกล.

พระชาลีราชกุมารกราบทูลว่า
พระชนนีของหม่อมฉันทั้งสองเป็นพระราชบุตรี พระชนกของหม่อมฉันทั้งสองเป็นพระราชบุตร แต่หม่อมฉันทั้งสองเป็นทาสของพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันทั้งสองจึงต้องยืนอยู่ไกล.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทาสา มยํ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ เมื่อก่อน หม่อมฉันทั้งสองรู้ตัวว่าเป็นราชบุตร แต่เดี๋ยวนี้ หม่อมฉันทั้งสองเป็นทาสของพราหมณ์ ไม่ได้เป็นนัดดาของพระองค์.

พระเจ้าสญชัยตรัสว่า
หลานรักทั้งสองอย่าได้พูดอย่างนี้เลย หทัยของปู่เร่าร้อน กายของปู่เหมือนถูกยกขึ้นไว้บนจิตกาธาน ปู่ไม่ได้ความสุขในราชบัลลังก์ หลานรักทั้งสองอย่าได้พูดอย่างนี้เลย เพราะยิ่งเพิ่มความโศกแก่ปู่ ปู่จักไถ่หลานทั้งสองด้วยทรัพย์ หลานทั้งสองจักไม่ต้องเป็นทาส.
แน่ะพ่อชาลี บิดาของหลานให้หลานทั้งสองแก่พราหมณ์ ตีราคาไว้เท่าไร หลานจงบอกปู่ตามจริง พนักงานจะได้ให้พราหมณ์รับทรัพย์ไป.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺม เป็นคำแสดงความรัก. บทว่า จิตกายํว เม กาโย ความว่า บัดนี้ กายของปู่เป็นเหมือนถูกยกขึ้นสู่เชิงตะกอนถ่านเพลิง. บทว่า ชเนถ มํ ความว่า ให้เกิดแก่ปู่ บาลีก็อย่างนี้แหละ. บทว่า นิกฺกีณิสฺสามิ ทพฺเพน ความว่า จักให้ทรัพย์แล้วเปลื้องจากความเป็นทาส. บทว่า กิมคฺฆิยํ ความว่า ตีราคาไว้เท่าไร. บทว่า ปฏิปาเทนฺติ ความว่า ให้รับทรัพย์.

พระชาลีราชกุมารได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า
ข้าแต่พระอัยกา พระบิดาพระราชทานหม่อมฉันแก่พราหมณ์ ทรงตีราคาพันตำลึงทองคำ ทรงตีราคาน้องกัณหาชินาผู้มีพระพักตร์ผ่องใส ด้วยทรัพย์มีช้างเป็นต้น อย่างละร้อย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สหสฺสคฺฆํ หิ มํ ความว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระบิดาพระราชทานหม่อมฉันแก่พราหมณ์ ทรงตีราคาพันลิ่มทองคำ. บทว่า อจฺฉํ ความว่า แต่น้องหญิงกัณหาชินาของหม่อมฉัน. บทว่า หตฺถิอาทิสเตน ความว่า พระชาลีทูลว่า พระบิดาทรงตีราคาด้วยช้าง ม้ารถ เหล่านี้ทั้งหมดอย่างละร้อย. แม้โดยที่สุดจนเตียงและตั่ง ก็อย่างละร้อยทั้งนั้น.

พระเจ้าสญชัยได้ทรงฟังพระชาลีกราบทูล เมื่อจะทรงโปรดให้ไถ่พระกุมารกุมารีทั้งสององค์ จึงตรัสว่า
ดูก่อนเสวกามาตย์ เจ้าจงลุกขึ้นรีบให้ทาสี ทาส โคเมีย โคผู้ ช้าง อย่างละร้อยๆ แก่พราหมณ์เป็นค่าไถ่แม่กัณหา และจงให้ทองคำพันตำลึง เป็นค่าไถ่พ่อชาลี.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อวากรา ได้แก่ จงให้. บทว่า นิกฺกยํ ความว่า จงให้ค่าไถ่.

เสวกามาตย์ทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสสั่ง ดังนั้นแล้ว จึงกระทำตามนั้น ได้จัดค่าไถ่สองกุมารให้แก่พราหมณ์ทันที.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
แต่นั้น เสวกามาตย์รีบให้ทาสี ทาส โคเมีย โคผู้ ช้าง อย่างละร้อยๆ แก่พราหมณ์เป็นค่าไถ่พระกัณหา และได้ให้ทองคำพันตำลึงเป็นค่าพระชาลี.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อวากริ ได้แก่ ได้ให้แล้ว. บทว่า นิกฺกยํ ความว่า ให้ค่าไถ่.

พระเจ้าสญชัยได้พระราชทาน สิ่งทั้งปวงอย่างละร้อย และทองคำพันตำลึง แก่พราหมณ์ชูชก เป็นค่าไถ่พระราชกุมารกุมารี และพระราชทานปราสาท ๗ ชั้นแก่ชูชก ด้วยประการฉะนี้ จำเดิมแต่นั้น ชูชกก็มีบริวารมาก แกรวบรวมทรัพย์ขึ้นสู่ปราสาท นั่งบนบัลลังก์ใหญ่ บริโภคโภชนะมีรสอันดี แล้วนอนบนที่นอนใหญ่.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระเจ้าสญชัยสีวีราชได้พระราชทานทาสี ทาส โคเมีย ช้าง โคผู้ แม่ม้าอัสดรและรถ ทั้งเครื่องบริโภคอุปโภคทั้งปวงอย่างละร้อยๆ และทองคำพันตำลึง แก่พราหมณ์ชูชกผู้แสวงหาทรัพย์ ผู้ร้ายกาจเหลือเกิน เป็นค่าไถ่สองกุมารกุมารี.


ลำดับนั้น พระเจ้าสญชัยมหาราชให้พระชาลีและพระกัณหา สนานพระเศียร แล้วให้เสวยโภชนาหาร ทรงประดับราชกุมารกุมารีทั้งสอง ทรงจุมพิตพระเศียร. พระเจ้าสญชัยให้พระชาลีประทับนั่งบนพระเพลา พระนางเจ้าผุสดีให้พระกัณหาชินาประทับนั่งบนพระเพลา.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระอัยกาพระอัยกีทรงไถ่พระชาลีพระกัณหาแล้ว ให้สนานพระกาย ให้เสวยโภชนาหาร แต่งองค์ด้วยราชาภรณ์ แล้วให้ประทับนั่งบนพระเพลา. เมื่อพระราชกุมารกุมารีสนานพระเศียร ทรงภูษาอันหมดจด ประดับด้วยสรรพาภรณ์และสรรพาลังการ คือกุณฑลซึ่งมีเสียงดังเสนาะ ทั้งระเบียบดอกไม้แล้ว พระอัยกาให้พระชาลีประทับนั่งบนพระเพลา แล้วตรัสถาม ด้วยคำนี้ว่า.
แน่ะพ่อชาลี พระชนกชนนีทั้งสองของพ่อ ไม่มีพระโรคาพาธกระมัง. ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยเสาะแสวงหาผลาหารสะดวกกระมัง. มูลผลาหารมีมากกระมัง. เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานทีจะมีน้อยกระมัง. ความเบียดเบียนให้ลำบาก ในวนประเทศที่เกลื่อนไปด้วยเนื้อร้าย ไม่ค่อยมีกระมัง.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุณฺฑเล ได้แก่ ให้ประดับกุณฑลทั้งหลาย. บทว่า ฆุสิเต ได้แก่ กุณฑลซึ่งมีเสียงดังเสนาะ คือส่งเสียงเป็นที่ยินดีแห่งใจ. บทว่า มาเล ได้แก่ ให้ประดับดอกไม้นั้นๆ ทั้งสอง. บทว่า องฺเก กริตฺวาน ได้แก่ ให้พระชาลีราชกุมารประทับนั่งบนพระเพลา.

พระชาลีราชกุมารได้ทรงฟังพระราชดำรัสถามดังนั้น จึงกราบทูลสนองว่า
ข้าแต่สมมติเทพ พระชนกชนนีทั้งสองของหม่อมฉัน ไม่ค่อยมีพระโรคาพาธ ยังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยเสาะแสวงหาผลาหารสะดวกดี และมูลผลาหารก็มีมาก อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลาน มีบ้างก็เล็กน้อย ความเบียดเบียนให้ลำบากในวนประเทศที่เกลื่อนไปด้วยเนื้อร้าย ก็ไม่ค่อยมีแด่พระชนกพระชนนีทั้งสองนั้น พระชนนีของหม่อมฉันทั้งสองเสด็จไปขุดมัน กระชากมันอ่อน มันมือเสือ มันนก และนำผลกะเบา ผลจาก ผลมะนาว มาเลี้ยงกัน พระชนนีเป็นผู้หามูลผลในป่า ทรงนำมาซึ่งมูลผลใด หม่อมฉันทั้งหลายประชุมพร้อมกันเสวยมูลผลนั้น ในเวลากลางคืน ไม่ได้เสวยในเวลากลางวัน.
พระชนนีของหม่อมฉันทั้งสองเป็นสุขุมาลชาติ ต้องทรงหาผลไม้ในป่ามาเลี้ยงกัน จนทรงซูบมีพระฉวีเหลือง เพราะลมและแดด ดุจดอกปทุมอยู่ในกำมือ เมื่อพระชนนีเสด็จเที่ยวอยู่ในป่าใหญ่ ซึ่งเกลื่อนไปด้วยพาลมฤค มีแรดและเสือเหลืองอยู่อาศัย พระเกสาก็ยุ่งเหยิง พระองค์เกล้าพระชฎาบนพระเกสา ทรงเปรอะเปื้อนที่พระกัจฉประเทศ พระชนกทรงเพศบรรพชิตผู้ประเสริฐ ทรงถือไม้ขอ ภาชนะเครื่องบูชาเพลิงและชฎา ทรงหนังเสือเหลืองเป็นพระภูษา ทรงบรรทมเหนือแผ่นดิน นมัสการเพลิง.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขนนฺตาลุกลมฺพานิ ความว่า พระชาลีราชกุมารทรงพรรณนาถึงชีวิตลำเค็ญของพระชนกชนนี ด้วยคำว่า ขุดมันมือเสือ มันนกเป็นต้น. บทว่า โน ในบทว่า ตนฺโน นี้ เป็นเพียงนิบาต. บทว่า ปทุมํ หตฺถคตมิว ความว่า เหมือนดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ. บทว่า ปตนูเกสา ความว่า ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อพระชนนีของหม่อมฉันเสด็จเที่ยวไปหามูลผลาหารในป่าใหญ่ พระเกศาซึ่งดำมีสีเหมือนขนปีกแมลงภู่ ถูกกิ่งไม้เป็นต้นเกี่ยวเสียยุ่งเหยิง. บทว่า ชลฺลมธารยิ ความว่า มีพระกัจฉประเทศทั้งสองข้างเปรอะเปื้อน เสด็จเที่ยวไปด้วยเครื่องแต่งองค์ปอนๆ.

พระชาลีราชกุมารกราบทูลถึงความที่พระชนนีมีความทุกข์ยากอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทูลท้วงพระอัยกา จึงตรัสว่า
ลูกทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลก ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ผู้เป็นพ่อแม่ทั้งหลาย พระอัยกาของหม่อมฉันทั้งสอง คงไม่เกิดเสน่หาในพระโอรสเป็นแน่ทีเดียว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทปชฺชึสุ ความว่า ย่อมเกิดขึ้น.

ลำดับนั้น พระเจ้าสญชัย เมื่อชี้โทษของพระองค์ จึงตรัสว่า
ดูก่อนพระหลานน้อย จริงทีเดียว การที่ปู่ให้ขับไล่พระบิดาของเจ้าผู้ไม่มีโทษ เพราะถ้อยคำของชาวสีพีนั้น ชื่อว่าปู่ได้กระทำกรรมอันชั่วช้า ทำกรรมอันทำลายความเจริญแก่พวกเรา สิ่งใดๆ ของปู่ที่อยู่ในนครนี้ก็ดี ทรัพย์และธัญชาติที่มีอยู่ก็ดี ปู่ขอยกให้แก่พระบิดาของเจ้าทั้งสิ้น ขอให้เวสสันดรจงมาเป็นราชาปกครองในสีพีรัฐเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โปต ความว่า ดูก่อนชาลีกุมารหลานน้อย นั่นเป็นกรรมที่พวกเราทำไว้ชั่ว. บทว่า ภูนหจจํ ได้แก่ เป็นกรรมที่ทำลายความเจริญ. บทว่า ยํ เม กิญฺจิ ความว่า สิ่งอะไรๆของปู่มีอยู่ในพระนครนี้ สิ่งนั้นทั้งหมดปู่ยกให้แก่พระบิดาของหลาน. บทว่า สิวิรฏฺเฐ ปสาสตุ ความว่า ขอพระเวสสันดรนั้น จงเป็นราชาปกครองในพระนครนี้.

พระชาลีราชกุมารกราบทูลว่า
ข้าแต่สมมติเทพ พระชนกของหม่อมฉันคงจักไม่เสด็จมาเป็นพระราชาของชาวสีพี เพราะถ้อยคำของหม่อมฉัน ขอพระองค์เสด็จไปอภิเษกพระราชโอรสด้วยราชสมบัติ ด้วยพระองค์เองเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิวิสุตฺตโม ได้แก่ เป็นผู้ประเสริฐที่สุดของชาวสีพี. บทว่า สิญฺจ ความว่า อภิเษกด้วยราชสมบัติ เหมือนมหาเมฆโปรยหยาดน้ำฝน ฉะนั้น.

พระเจ้าสญชัยได้ทรงสดับฟังพระชาลีตรัส จึงมีพระราชดำรัสเรียกหาเสนาคุตอมาตย์มา สั่งให้ตีกลองใหญ่ป่าวประกาศทั่วเมือง

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
แต่นั้น พระเจ้าสญชัยบรมกษัตริย์ตรัสกะเสนาบดีว่า กองทัพ คือกองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ จงผูกสอดศัสตราวุธ. ชาวนิคม พราหมณ์ปุโรหิตจงตามข้าไป.
แต่นั้น อมาตย์หกหมื่นผู้สหชาตของบุตรเรางามน่าดู ประดับแล้วด้วยผ้าสีต่างๆ. พวกหนึ่งทรงผ้าสีเขียว พวกหนึ่งทรงผ้าสีเหลือง พวกหนึ่งทรงผ้าสีแดงเป็นดุจอุณหิส พวกหนึ่งทรงผ้าสีขาว. ผูกสอดศัสตราวุธ จงมาโดยพลัน.
เขาหิมวันต์ เขาคันธรและเขาคันธมาทน์ ปกคลุมด้วยนานาพฤกษชาติ เป็นที่อยู่แห่งหมู่ยักษ์ ยังทิศทั้งหลายให้รุ่งเรืองฟุ้งตลบไปด้วยทิพยโอสถ ฉันใด. โยธาทั้งหลายผูกศัสตราวุธแล้ว จงมาพลัน จงยังทิศทั้งหลายให้รุ่งเรืองฟุ้งตลบไป ฉันนั้น.
จงผูกช้างหมื่นสี่พันเชือกให้มีสายรัดแล้วด้วยทองแท่ง เครื่องประดับแล้วด้วยทอง อันเหล่าควาญช้างถือโตมรและขอขึ้นขี่. ผูกสอดศัสตราวุธแล้ว มีอลังการปรากฏ บนคอช้าง จงรีบมา.
แต่นั้น จงผูกม้าหมื่นสี่พันตัว ที่เป็นชาติอาชาไนยสินธพมีกำลัง อันควาญม้าถือดาบและแล่งธนูขี่ ผูกสอดศัสตราวุธแล้ว ประดับกายแล้วอยู่บนหลังม้า จงรีบมา.
แต่นั้น จงเทียมรถหมื่นสี่พันคัน ซึ่งมีกงรถแล้วด้วยเหล็ก มีเรือนรถขจิตด้วยทอง จงยกขึ้นซึ่งธง โล่ เขน แล่งธนู ในรถนั้น เป็นผู้มีธรรมมั่นคง มุ่งประหารข้าศึก ผูกสอดศัสตราวุธแล้ว เป็นช่างรถอยู่ในรถ จงรีบมา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺนาหยนฺตุ ได้แก่ จงผูกสอดอาวุธทั้งหลาย. บทว่า สฏฺฐีสหสฺสานิ ได้แก่ อมาตย์หกหมื่นผู้เป็นสหชาติกับบุตรของเรา. บทว่า นีลวตฺถาธราเนเก ความว่า พวกหนึ่งทรงผ้าสีเขียว คือเป็นผู้นุ่งห่มผ้าสีเขียวจงมา. บทว่า มหาภูตคณาลโย ได้แก่ เป็นที่อยู่ของหมู่ยักษ์ทั้งหลาย. บทว่า ทิสา ภนฺตุ ปวนฺตุ จ ความว่า จงให้รุ่งเรืองและฟุ้งตลบไปด้วยอาภรณ์และเครื่องลูบไล้ทั้งหลาย. บทว่า หตฺถิกฺขนฺเธหิ ความว่า ควาญช้างเหล่านั้นจงขี่คอช้างรีบมา. บทว่า ทสฺสิตา ได้แก่ มีเครื่องประดับปรากฏ. บทว่า อโยสุกตเนมิโย ได้แก่ มีกงรถที่ใช้เหล็กหุ้มอย่างดี. บทว่า สุวณฺณจิตฺรโปกฺขเร ความว่า พระเจ้าสญชัยตรัสว่า จงเทียมรถหมื่นสี่พันคันปานนี้ ซึ่งมีเรือนรถขจิตด้วยทอง. บทว่า วิปฺผาเลนฺตุ ได้แก่ จงยกขึ้น.

พระเจ้าสญชัยจัดกองทัพอย่างนี้แล้ว ตรัสสั่งว่า พวกเจ้าจงตกแต่งมรรคาเป็นที่มา ให้มีพื้นเรียบกว้างแปดอุสภะ ตั้งแต่เชตุดรราชธานีจนถึงเขาวงกต แล้วทำสิ่งนี้ด้วยๆ เพื่อต้องการตกแต่งมรรคาให้งดงาม แล้วตรัสว่า
พวกเจ้าจงจัดบุปผชาติทั้งระเบียบดอกไม้ ของหอม เครื่องทา กับทั้งข้าวตอกเรี่ยรายลง ทั้งบุปผชาติและรัตนะอันมีค่า. จัดหม้อสุราเมรัย ๑๐๐ หม้อทุกประตูบ้าน. จัดมังสะ ขนม ขนมทำด้วยงา ขนมกุมมาสประกอบด้วยปลา และจัดเนยใส น้ำมัน น้ำส้ม นมสด สุราทำด้วยแป้งข้าวฟ่างให้มาก แล้วจงยืนอยู่ ณ ทางที่พ่อเวสสันดรลูกข้าจะมา ให้มีคนหุงต้ม พ่อครัว คนฟ้อนรำ คนโลดเต้น และคนขับร้องเพลง ปรบมือ กลองยาว คนขับเสียงแจ่มใส คนเล่นกลสามารถกำจัดความโศกได้ จงนำพิณทั้งปวง และกลอง ทั้งมโหระทึกมา จงเป่าสังข์ ตีกลองหน้าเดียว จงประโคมตะโพน บัณเฑาะว์ สังข์ และดุริยางค์ ๔ คือ โคธะ กลองใหญ่ กลองรำมะนา กุฏุมพะ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลาชา โอโลกิยา ปุปฺผา ความว่า พระเจ้าสญชัยมีรับสั่งว่า จงจัดโปรยดอกไม้ดอกกับข้าวตอกทั้งหลาย ซึ่งชื่อว่าดอกไม้มีข้าวตอกเป็นที่ห้า โปรยดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้ในมรรคา ห้อยดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ที่เพดาน. บทว่า อคฺฆิยานิ จ ความว่า จงตั้งบุปผชาติและรัตนะอันมีค่าในทางที่ลูกของเราจะมา. บทว่า คาเม คาเม ได้แก่ ตั้งไว้ทุกๆ ประตูบ้าน. บทว่า ปติตา ฐนฺตุ ความว่า จงจัดแจงตั้งหม้อสุราเมรัยเป็นต้น เพื่อผู้ระหายจะได้ดื่ม. บทว่า มจฺฉสํยุตา ได้แก่ ประกอบด้วยปลาทั้งหลาย. บทว่า กงฺคุปิฏฺฐา ได้แก่ สำเร็จด้วยแป้งข้าวฟ่าง. บทว่า มุทฺทิกา ได้แก่ คนขับร้องเสียงใส. บทว่า โสกชฺฌายิกา ความว่า พวกเล่นกล หรือแม้คนอื่นๆใครก็ตามที่สามารถระงับความโศกที่เกิดขึ้นเสียได้ ท่านเรียกว่า โสกชฺฌายิกา. บทว่า ขรมุขานิ ได้แก่ สังข์ใหญ่เกิดแต่สมุทรเป็นทักษิณาวัฏ. บทว่า สํขา ได้แก่ สังข์สองชนิดคือ สังข์รูปกำมือ และสังข์รูปขวด ดนตรี ๔ อย่างเหล่านี้คือ โคธะ กลองใหญ่ กลองรำมะนา และกุฏุมพะ.

พระเจ้าสญชัยทรงสั่งจัดการประดับมรรคาด้วยประการฉะนี้. กาลนั้น ฝ่ายชูชกบริโภคอาหารเกินประมาณ ไม่อาจให้อาหารที่บริโภคนั้นย่อยได้ ก็ทำกาลกิริยาในที่นั้นเอง ครั้งนั้น พระเจ้าสญชัยให้ทำฌาปนกิจชูชก ให้ตีกลองใหญ่ป่าวประกาศในพระนครว่า คนใดคนหนึ่งซึ่งเป็นญาติของชูชก จงเอาสมบัติที่พระราชทานเหล่านี้ไป. ครั้นไม่พบคนที่เป็นญาติของชูชก จึงโปรดให้ขนทรัพย์ทั้งปวงคืนเข้าพระคลังหลวงอีกตามเดิม.
ครั้งนั้น พระเจ้าสญชัยจัดประชุมกองทัพทั้งปวงประมาณ ๑๒ อักโขภิณีสิ้น ๗ วัน พระบรมกษัตริย์พร้อมด้วยราชบริพารใหญ่ ยกกองทัพออกจากพระนคร ให้พระชาลีราชกุมารเป็นผู้นำทางเสด็จ.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
กองทัพใหญ่นั้น เป็นพาหนะของชนชาวสีพีควบคุมกัน มีพระชาลีราชกุมารเป็นผู้นำทางไปสู่เขาวงกต ช้างพลายกุญชรมีอายุ ๖๐ ปี พอควาญช้างผูกสายรัด ก็บันลือโกญจนาท ม้าอาชาไนยทั้งหลายก็ร่าเริง เสียงกงรถก็เกิดดังกึกก้อง ธุลีละอองก็ฟุ้งปิดนภากาศ.
เมื่อกองทัพพาหนะของชาวสีพีควบคุมกันยกไป กองทัพใหญ่นั้นควบคุมกัน นำสิ่งที่ควรนำไป มีพระชาลีราชกุมารเป็นผู้นำทางไปสู่เขาวงกต โยธาทั้งหลายเข้าไปสู่ป่าใหญ่อันมีกิ่งไม้มาก มีน้ำมาก ดาดาษไปด้วยไม้ดอกและไม้ผลทั้งสองอย่าง เสียงหยาดน้ำไหลในไพรสณฑ์นั้นดังลั่น นกทั้งหลายเป็นอันมากมีพรรณต่างๆ กัน เข้าไปร่ำร้องกะนกที่ร่ำร้องอยู่ที่แถวไม้อันมีดอกบานตามฤดูกาล. กษัตริย์ทั้ง ๔ องค์ เสด็จทางไกลล่วงวันและคืน ก็ลุถึงประเทศที่พระเวสสันดรประทับอยู่.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหตี ได้แก่กองทัพนับประมาณ ๑๒ อักโขภิณี. บทว่า อุยฺยุตฺตา ได้แก่ ควบคุมกัน. บทว่า โกญจํ นทติ ความว่า ในกาลนั้น พราหมณ์ชาวกาลิงครัฐ เมื่อฝนตกในแคว้นของตนแล้ว ก็นำช้างปัจจัยนาคตัวประเสริฐนั้นมาถวายคืนแด่พระเจ้าสญชัย. ช้างนั้นดีใจว่า จักได้พบนายละหนอ จึงได้บันลือโกญจนาท ท่านกล่าวคำนี้หมายเอาช้างนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กจฺฉาย ความว่า พอควาญช้างผูกสายรัดทองคำ ก็ดีใจบันลือโกญจนาท. บทว่า หสิสฺสนฺติ ได้แก่ ได้ส่งเสียงดัง. บทว่า หาริหารินี ได้แก่ สามารถนำสิ่งที่พึงนำไป. บทว่า ปาวึสุ ได้แก่ เข้าไปแล้ว. บทว่า พหุสาขํ ได้แก่ มีกิ่งไม้มาก. บทว่า ทีฆมทฺธานํ ได้แก่ ทางประมาณ ๖๐ โยชน์. บทว่า อุปาคญฺฉุํ ความว่า ลุถึงประเทศที่พระเวสสันดรประทับอยู่.

จบมหาราชบรรพ

.. อรรถกถา มหาเวสสันตรชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280893อรรถกถาชาดก 281045
เล่มที่ 28 ข้อ 1045
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=28&A=6511&Z=8340
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]