ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อรรถกถาชาดก 270000
เล่มที่ 27 ข้อ 0อ่านชาดก 270001อ่านชาดก 272519
อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค
นิทานกถา ว่าด้วยทูเรนิทาน อวิทูเรนิทาน สันติเกนิทาน
อปัณณกชาดก ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ

ชาตกัฏฐกถา
อรรถกถาชาดก เอกนิบาต
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประณามคาถา

ข้าพเจ้าขอกราบไหว้พระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐสุด หาบุคคลผู้เปรียบปานมิได้ ผู้เสด็จขึ้นจากสาครแห่งไญยธรรม ผู้ทรงข้ามสงสารสาครเสียได้ ด้วยเศียรเกล้า พร้อมทั้งพระธรรมอันลึกซึ้ง สงบยิ่ง ละเอียดยากที่คนจะมองเห็นได้ ที่ทำลายเสียได้ซึ่งภพน้อยและภพใหญ่ สะอาดอันเขาบูชาแล้ว เพราะพระสัทธรรม อีกทั้งพระสงฆ์ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องข้อง ผู้สูงสุดแห่งหมู่ ผู้สูงสุดแห่งทักขิไณยบุคคล ผู้มีอินทรีย์อันสงบแล้ว หาอาสวะมิได้.
ด้วยการประณาม ที่ข้าพเจ้าได้กระทำแล้วต่อพระรัตนตรัย ด้วยความนับถือเป็นพิเศษนี้นั้น ข้าพเจ้าอันผู้ที่เป็นนักปราชญ์ยิ่งกว่านักปราชญ์ ผู้รู้อาคม [ปริยัติ] เป็นวิญญูชน มียศใหญ่ได้ขอร้องด้วยการเอาใจแล้วๆ เล่าๆ เป็นพิเศษว่า ท่านขอรับ ท่านควรจะแต่งอรรถกถาอปทาน [ชีวประวัติ] เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจักแสดงการพรรณนาเนื้อความ อันงามแห่งพระบาลีในพระไตรปิฎกทีเดียว พร้อมทั้งชีวประวัติที่ยังเหลืออยู่ เรื่องราวอันดีเยี่ยมนี้ใครกล่าวไว้ กล่าวไว้ที่ไหน กล่าวไว้เมื่อไร และกล่าวไว้เพื่ออะไร ข้าพเจ้าจักกล่าวเรื่องนั้นๆ แล้ว ก็มาถึงวิธีเพื่อที่จะให้ฉลาดในเรื่องนิทาน เพราะจะทำให้เล่าเรียน และทรงจำได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้น เรื่องราวที่ท่านจัดให้แปลกออกไป ตามที่เกิดก่อนและหลัง รจนาไว้ในภาษาสิงหลของเก่าก็ดี ในอรรถกถาของเก่าก็ดี เมื่อมาถึงวิธีนั้นๆ แล้ว ย่อมไม่ให้สำเร็จประโยชน์ตามที่สาธุชนต้องการ เหตุนั้น ข้าพเจ้าก็จักอาศัยนัยตามอรรถกถาของเก่านั้น เว้นไม่เอาเนื้อความที่ผิดเสีย แสดงแต่เนื้อความที่แปลกออกไป กระทำการพรรณนาเฉพาะแต่ที่แปลก ซึ่งดีที่สุดเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.


เพราะเหตุที่ได้ปฏิญาณไว้แล้วว่า เรื่องราวอันดีเยี่ยมใครกล่าวไว้ กล่าวไว้ในที่ไหน และกล่าวไว้เมื่อไร และว่าข้าพเจ้าจักทำการพรรณนาเนื้อความดังนี้ ก็การพรรณนาเนื้อความแห่งชีวประวัตินั้น เมื่อข้าพเจ้าแสดงนิทานสามอย่างเหล่านี้ คือ ทูเรนิทาน [นิทานในที่ไกล] อวิทูเรนิทาน [นิทานในที่ไม่ไกลนัก] สันติเกนิทาน [นิทานในที่ใกล้] พรรณนาอยู่ก็จักเป็นที่เข้าใจได้แจ่มแจ้ง เพราะคนที่ได้ฟัง ได้เข้าใจมาตั้งแต่ได้อ่านแล้ว. เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงจักแสดงนิทานเหล่านั้น พรรณนาชีวประวัตินั้น. บรรดานิทานเหล่านั้น ก่อนอื่นควรทราบปริเฉท [ข้อความที่กำหนดไว้เป็นตอนๆ] เสียก่อน.
กถามรรคที่เล่าเรื่องตั้งแต่ พระมหาสัตว์ได้ตั้งปรารถนาอย่างจริงจัง ณ เบื้องบาทมูลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร จนถึงจุติจากอัตภาพเป็นพระเวสสันดร แล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต จัดเป็น ทูเรนิทาน.
กถามรรคที่เล่าเรื่อง ตั้งแต่จุติจากภพสวรรค์ชั้นดุสิต จนถึงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ที่ควงไม้โพธิ์ จัดเป็น อวิทูเรนิทาน.
ส่วน สันติเกนิทาน มีปรากฏอยู่ในที่ต่างๆ ของพระองค์ ที่เสด็จประทับอยู่ในที่นั้นๆ ด้วยประการฉะนี้.

ทูเรนิทาน
ในนิทานเหล่านั้น ที่ชื่อทูเรนิทานมีดังต่อไปนี้.
เล่ากันมาว่า ในที่สุด สี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปนับแต่นี้ ได้มีนครหนึ่งนามว่า อมรวดี. ในนครนั้นมีพราหมณ์ชื่อ สุเมธ อาศัยอยู่ เขามีกำเนิดดี มีครรภ์อันบริสุทธิ์ ทั้งทางฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดานับได้เจ็ดชั่วตระกูล ใครจะดูถูกมิได้ หาผู้ตำหนิมิได้เกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติ มีรูปสวย น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณอันงามยิ่ง เขาไม่การทำการงานอย่างอื่นเลย ศึกษาแต่ศิลปะของพราหมณ์. บิดาและมารดาของเขาได้ถึงแก่กรรมเสียตั้งแต่เขารุ่นหนุ่ม. ต่อมาอำมาตย์ผู้จัดการผลประโยชน์ นำเอาบัญชีทรัพย์สินมา เปิดห้องคลังที่เต็มไปด้วย ทอง เงิน แก้วมณีและแก้วมุกดาเป็นต้น บอกให้ทราบถึงทรัพย์ตลอดเจ็ดชั่วตระกูลว่า ข้าแต่กุมาร ทรัพย์สินเท่านี้เป็นของมารดา เท่านี้เป็นของบิดา เท่านี้เป็นของปู่ตาและทวด แล้วเรียนว่า ขอท่านจงจัดการเถิด. สุเมธบัณฑิตคิดว่า ปู่เป็นต้นของเราสะสมทรัพย์นี้ไว้แล้ว เมื่อจะไปสู่ปรโลกที่ชื่อว่าจะถือเอาทรัพย์ แม้กหาปณะหนึ่งติดตัวไปด้วย หามีไม่. แต่เราควรการทำเหตุที่จะให้ถือเอาทรัพย์ไปด้วยได้. ดังนี้แล้วได้กราบทูลแด่พระราชา ให้ตีกลองป่าวร้องไปในพระนคร ให้ทานแก่มหาชน แล้วออกบวชเป็นดาบส ก็เพื่อที่จะให้เนื้อความนี้แจ่มแจ้ง ควรจะกล่าวสุเมธกถาไว้ในที่นี้ด้วย.

สุเมธกถา
แต่สุเมธกถานี้ มีมาแล้วในพุทธวงศ์ติดต่อกัน แต่เพราะเล่าเรื่องประพันธ์เป็นคาถา จึงไม่ใคร่จะแจ่มชัดดีนัก. เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจักกล่าวพร้อมกับแสดง คำที่ประพันธ์เป็นคาถา แทรกไว้ในระหว่างๆ. ในที่สุดแห่ง สี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป ได้มีพระนครมีนามว่า อมรวดี และอีกนามหนึ่งว่า อมร อึกทึกไปด้วยเสียง ๑๐ เสียง ที่ท่านหมายถึงเสียงที่กล่าวไว้ในพุทธวงศ์ ว่า
ในสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป มีพระนครหนึ่งนามว่า อมร เป็นเมืองสวยงามน่าดู น่ารื่นรมย์ สมบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ อึกทึกไปด้วยเสียง ๑๐ เสียง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทสหิ สทฺเทหิ อวิวิตฺตํ ความว่า อึกทึกไปด้วยเสียงเหล่านี้ คือ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงสังข์ เสียงกังสดาล เสียงที่ ๑๐ ว่า เชิญกิน เชิญขบเคี้ยว เชิญดื่ม ซึ่งท่านถือเอาเพียงเอกเทศหนึ่งแห่งเสียงเหล่านั้น จึงกล่าวคาถานี้ไว้ในพุทธวงศ์ว่า
กึกก้องด้วยเสียงช้าง เสียงม้า เสียงกลอง เสียงสังข์และเสียงรถ เสียงป่าวร้องด้วยข้าวและน้ำ ว่า เชิญขบเคี้ยว เชิญดื่ม.

แล้วกล่าวว่า
พระนครอันสมบูรณ์ด้วยคุณลักษณะทุกประการ เข้าถึงความเป็นพระนคร ที่มีสิ่งต้องการทุกชนิด สมบูรณ์ด้วยแก้วเจ็ดประการ ขวักไขว่ไปด้วยเหล่าชนต่างๆ มั่งคั่งเป็นดุจเทพนารี เป็นที่อาศัยอยู่ของเหล่าผู้มีบุญ. พราหมณ์ชื่อสุเมธ มีสมบัติสะสมไว้นั้นได้หลายโกฏิ มีทรัพย์และข้าวเปลือกมากมาย เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงมนต์ได้มาก เรียนจบไตรเพท ถึงความสำเร็จบริบูรณ์ในลักขณศาสตร์ อิติหาสศาสตร์ และในสัทธรรม.

ต่อมาวันหนึ่ง สุเมธบัณฑิตนั้นไปในที่เร้น ณ พื้นปราสาทชั้นบน นั่งขัดสมาธิคิดว่า นี่แน่ะบัณฑิต การเกิดอีก ชื่อว่าการถือปฏิสนธิเป็นทุกข์ การแตกดับแห่งสรีระในที่ที่เกิดแล้ว ก็เป็นทุกข์เช่นกัน และเราก็มีการเกิดเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา ควรที่เราผู้เป็นเช่นนี้ จะแสวงหาพระมหานิพพานที่ไม่มีเกิด ไม่มีแก่ ไม่มีทุกข์ มีแต่สุข เยือกเย็น ไม่รู้จักตาย. ทางสายเดียวที่พ้นจากภพมีปรกติ นำไปสู่พระนิพพานจะพึงมีแน่นอน ดังนี้.
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
เราเข้าไปสู่ที่เร้น นั่งแล้วในตอนนั้น ได้คิดว่า ขึ้นชื่อว่า การเกิดใหม่เป็นทุกข์ การแตกดับแห่งสรีระก็เป็นทุกข์ เรามีความเกิดเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดาเช่นกัน. เราจักแสวงหาพระนิพพานที่ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นแดนเกษม. ไฉนหนอ เราไม่พึงมีเยื่อใย ไร้ความต้องการทิ้งร่างกายเน่า ซึ่งเต็มไปด้ายซากศพนานาชนิดนี้เสียได้ แล้วไปทางนั้นมีอยู่ จักมีแน่. ทางนั้นอันใครๆ ไม่อาจที่จะไม่ให้มีได้. เราจักแสวงหาทางนั้น เพื่อพ้นจากภพให้ได้
ดังนี้.
ต่อจากนั้น ก็คิดยิ่งขึ้นไปอีกอย่างนี้ว่า เหมือนอย่างว่าชื่อว่า สุขที่เป็นปฏิปักษ์ต่อทุกข์มีอยู่ในโลก ฉันใด เมื่อภพมีอยู่ แม้สิ่งที่ปราศจากภพ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อภพนั้นก็พึงมี ฉันนั้น. และเหมือนเมื่อความร้อนมีอยู่ แม้ความเย็นที่จะระงับความร้อนนั้นก็ต้องมี ฉันใด แม้พระนิพพานที่ระงับไฟมีราคะเป็นต้นก็พึงมี ฉันนั้น. ธรรมที่ไม่มีโทษ อันงามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมอันเป็นบาปอันลามก ย่อมมีอยู่ ฉันใด. เมื่อชาติอันลามกมีอยู่ แม้พระนิพพาน กล่าวคือความไม่เกิด เพราะให้ความเกิดทุกอย่างสิ้นไปก็พึงมี ฉันนั้น ดังนี้.
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
เมื่อทุกข์มีอยู่ ขึ้นชื่อว่าสุขก็ต้องมีฉันใด เมื่อภพมีอยู่ แม้สภาพที่ปราศจากภพ ก็ควรปรารถนาฉันนั้น. เมื่อความร้อนมีอยู่ ความเย็นอีกอย่างก็ต้องมีฉันใด ไฟสามอย่างมีอยู่ พระนิพพานก็ควรปรารถนาฉันนั้น. เมื่อสิ่งชั่วมีอยู่ แม้ความดีงามก็ต้องมีฉันใด ความเกิดมีอยู่ แม้ความไม่เกิดก็ควรปรารถนาฉันนั้น
ดังนี้.
ท่านยังคิดข้ออื่นๆ อีกว่า บุรุษผู้จมอยู่ในกองคูถเห็น สระใหญ่ดาดาษไปด้วยดอกปทุมห้าสีแต่ไกล ควรที่จะแสวงหาสระนั้น ด้วยคิดว่า เราควรจะไปที่สระนั้นโดยทางไหนหนอ. การไม่แสวงหาสระนั้น หาเป็นความผิดของสระนั้นไม่ แต่เป็นความผิดของบุรุษนั้นเท่านั้น ฉันใด เมื่อสระใหญ่ คืออมตนิพพานเป็นที่ชำระล้างมลทิน คือกิเลสมีอยู่ การไม่แสวงหาสระนั้น ไม่เป็นความผิดของสระใหญ่ คืออมตนิพพาน แต่เป็นความผิดของบุรุษนั้นเท่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน. อนึ่งบุรุษผู้ถูกพวกโจรห้อมล้อม เมื่อทางหนีมีอยู่ ถ้าเขาไม่หนีไป ข้อนั้นหาเป็นความผิดของทางไม่ แต่เป็นความผิดของบุรุษนั้นเท่านั้นฉันใด บุรุษผู้ถูก กิเลสห้อมล้อมจับไว้ได้แล้ว เมื่อทางอันเยือกเย็นเป็นที่ไปสู่พระนิพพานมีอยู่ แต่ไม่แสวงหาทางนั้น หาเป็นความผิดของทางไม่ แต่เป็นความผิดของบุคคลนั้นเท่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน. และบุรุษผู้ถูกพยาธิเบียดเบียน เมื่อหมอผู้รักษาความเจ็บป่วยมีอยู่ หากเขาไม่แสวงหาหมอนั้น ให้รักษาความเจ็บป่วย ข้อนั้นหาเป็นความผิดของหมอไม่ แต่เป็นความผิดของบุรุษนั้นฉันใด ผู้ใดถูกพยาธิ คือกิเลสเบียดเบียน ไม่แสวงหาอาจารย์ผู้ฉลาดในการระงับกิเลสซึ่งมีอยู่ ข้อนั้นเป็นความผิดของผู้นั้นเท่านั้น หาเป็นความผิดของอาจารย์ผู้ทำกิเลสให้พินาศไม่ ฉันนั้นเหมือนกัน ดังนี้.
เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
บุรุษผู้ตกอยู่ในคูถ เห็นสระมีน้ำเต็มเปี่ยม ไม่ไปหาสระนั้น ข้อนั้นหาเป็นความผิดของสระไม่ ฉันใด เมื่อสระ คืออมตะในการที่จะชำระล้างมลทิน คือกิเลสมีอยู่ เขาไม่ไปหาสระนั้น ข้อนั้นหาเป็นความผิดของสระ คืออมตะไม่ ฉันนั้นเหมือนกัน.
คนผู้ถูกศัตรูกลุ้มรุม เมื่อทางหนีไปมีอยู่ไม่หนีไป ข้อนั้นหาเป็นความผิดของทางไม่ ฉันใด คนที่ถูกกิเลสกลุ้มรุม เมื่อทางปลอดภัยมีอยู่ไม่ไปหาทางนั้น ข้อนั้นหาเป็นความผิดของทางที่ปลอดภัยนั้นไม่ ฉันนั้นเหมือนกัน.
คนผู้เจ็บป่วยเมื่อหมอรักษาโรคมีอยู่ ไม่ยอมให้รักษาความเจ็บป่วยนั้น ข้อนั้นหาเป็นความผิดของหมอนั้นไม่ ฉันใด คนผู้ได้รับทุกข์ถูกความเจ็บป่วย คือกิเลสเบียดเบียนแล้ว ไม่ไปหาอาจารย์นั้น ข้อนั้น หาเป็นความผิดของอาจารย์ผู้แนะนำไม่ ฉันนั้นเหมือนกัน.

ท่านยังนึกถึงแม้ข้ออื่นๆ อีกว่า คนผู้ชอบแต่งตัวพึงทิ้ง ซากศพที่คล้องไว้ที่คอ ไปได้อย่างมีความสุข ฉันใด แม้เราก็ควรทิ้งกายอันเน่านี้ ไม่มีอาลัยเข้าไปสู่นิพพานนคร ฉันนั้น. ชายหญิงทั้งหลายถ่ายอุจจาระและปัสสาวะรด บนพื้นที่อันสกปรกแล้ว ย่อมไม่เก็บใส่พกหรือเอาชายผ้าห่อไป ต่างรังเกียจไม่มีอาลัยเลย กลับทิ้งไปเสีย ฉันใด แม้เราก็ควรจะไม่มีอาลัยทิ้งกายเน่านี้เสีย เข้าไปสู่นิพพานนครอันเป็นอมตะ ฉันนั้น. และนายเรือไม่มีอาลัย ทิ้งเรือลำเก่าคร่ำคร่าไป ฉันใด แม้เราก็จะละกาย อันเป็นที่หลั่งไหลออกจากปากแผลทั้งเก้านี้ ไม่มีอาลัยเข้าไปสู่นิพพานบุรี ฉันนั้น.
อนึ่ง บุรุษพาเอาแก้วนานาชนิดเดินทางไปพร้อมกับโจร จึงละทิ้งพวกโจรเหล่านั้นเสีย เพราะกลัวจะเสียแก้วของตน ถือเอาทางที่ปลอดภัย ฉันใด กรชกาย (กายที่เกิดจากธุลี) แม้นี้ ก็ฉันนั้น. เป็นเช่นกับโจรปล้นแก้ว ถ้าเราจักก่อตัณหาขึ้นในกายนี้ แก้วคือพระธรรมอันเป็นกุศล คืออริยมรรคจะสูญเสียไป. เพราะฉะนั้น ควรที่เราจะละทิ้งกาย อันเช่นกับโจรนี้เสีย แล้วเข้าไปสู่นิพพานนคร ดังนี้. เพราะเหตุนั้นท่าน จึงกล่าวว่า
บุรุษปลดเปลื้องซากศพที่น่าเกลียด ซึ่งผูกไว้ที่คอแล้วไป อยู่อย่างสุขเสรี อยู่ลำพังตนได้ ฉันใด คนก็ควรละทิ้งร่างกายเน่า ที่มากมูลด้วยซากศพนานาชนิดไปอย่างไม่มีอาลัย ไม่มีความต้องการอะไร ฉันนั้น.
ชายหญิงทั้งหลายถ่ายกรีสลงในที่ถ่ายอุจจาระทิ้งไปอย่างไม่มีอาลัย ไม่มีความต้องการอะไร ฉันใด เราจะละทิ้งกายที่เต็มไปด้วยซากศพนานาชนิดนี้ไป เหมือนคนถ่ายอุจจาระ แล้วละทิ้งส้วมไป ฉะนั้น.
เจ้าของละทิ้งเรือที่เก่าคร่ำคร่าผุพัง น้ำรั่วเข้าไปได้ ไม่มีความอาลัย ไม่มีความต้องการอะไร ฉันใด เราจักละทิ้งกายนี้ที่มีช่องเก้าช่อง หลั่งไหลออกเป็นนิตย์ เหมือนเจ้าของทิ้งเรือเก่าไป ฉะนั้น.
บุรุษไปพร้อมกับโจรถือห่อของไป เห็นภัยที่จะเกิดจากการตัดห่อของ จึงทิ้งแล้วไปเสีย ฉันใด กายนี้ เปรียบเหมือนมหาโจร เราจักละทิ้งกายนี้ไป เพราะกลัวจะถูกตัดกุศล ฉันนั้นเหมือนกัน.

สุเมธบัณฑิตคิดเนื้อความประกอบด้วยเนกขัมมะนี้ ด้วยอุปมาต่างๆ อย่างแล้ว สละกองแห่งโภคสมบัตินับไม่ถ้วน ในเรือนของตน แก่เหล่าชนมีคนกำพร้า และคนเดินทางไกลเป็นต้น ตามนัยที่กล่าวมาแล้วแต่หนหลัง ถวายมหาทาน ละวัตถุกามและกิเลสกามแล้ว ออกจากอมรนครคนเดียวเท่านั้น อาศัยภูเขาชื่อธรรมิกะในป่าหิมพานต์ สร้างอาศรม เนรมิตบรรณศาลาและที่จงกรม เนรมิตขึ้นด้วยกำลังแห่งบุญของตน เพื่อจะละเว้นเสียจากโทษแห่งนิวรณ์ทั้งห้า นำมาซึ่งกำลัง กล่าวคืออภิญญาที่ประกอบด้วยเหตุ อันเป็นคุณ ๘ อย่าง ตามที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยเป็นต้นว่า เมื่อจิตมั่นคงแล้วอย่างนี้ ดังนี้ แล้วละทิ้งผ้าสาฎกที่ประกอบด้วยโทษ ๙ ประการ ไว้ในอาศรมบทนั้น แล้วนุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ที่ประกอบด้วยคุณ ๑๒ ประการ บวชเป็นฤาษี.
ท่านเมื่อบวชแล้วอย่างนี้ ก็ละบรรณศาลานั้น ซึ่งเกลื่อนกล่นไปด้วยโทษ ๘ ประการ เข้าไปหาโคนต้นไม้ซึ่งประกอบด้วยคุณ ๑๐ ประการ เลิกละข้าวต่างๆ อย่างทั้งปวง หันมาบริโภคผลไม้ที่หล่นจากต้นเอง เริ่มตั้งความเพียรด้วยอำนาจการนั่ง การยืน และการจงกรม ในภายในเจ็ดวันนั่นเอง ก็ได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘. ท่านได้บรรลุกำลังแห่งอภิญญาตามที่ปรารถนาไว้นั้น ด้วยประการฉะนี้.
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
เราคิดอย่างนี้แล้วได้ให้ทรัพย์นั้นได้หลายร้อยโกฏิ แก่คนยากจนอนาถา แล้วเข้าไปสู่ป่าหิมพานต์ ในที่ไม่ไกลแห่งป่าหิมพานต์มีภูเขาชื่อธรรมิกะ เราสร้างอาศรมอย่างดีไว้ เนรมิตบรรณศาลาไว้อย่างดี ทั้งยังเนรมิตที่จงกรมเว้นจากโทษ ๕ ประการไว้ในอาศรมนั้น เราได้กำลังอภิญญาประกอบด้วยองค์แปดประการ.
เราเลิกใช้ผ้าสาฎกอันประกอบด้วยโทษ ๙ ประการ หันมานุ่งผ้าเปลือกไม้อันประกอบด้วยคุณ ๑๒ ประการ. เราเลิกละบรรณศาลาที่เกลื่อนกล่นไปด้วยโทษ ๘ ประการ เข้าไปสู่โคนไม้อันประกอบด้วยคุณ ๑๐ ประการ. เราเลิกละข้าวที่หว่านที่ปลูก โดยไม่มีส่วนเหลือเลย หันมาบริโภคผลไม้หล่นเอง ที่สมบูรณ์ด้วยคุณเป็นอเนกประการ. เราเริ่มตั้งความเพียรในที่นั่ง ที่ยืนและที่จงกรมในอาศรมบทนั้น ภายในเจ็ดวันก็ได้บรรลุ กำลังแห่งอภิญญา
ดังนี้.
ในคาถานั้นด้วยบาลีนี้ว่า อสฺสโม สุกโต มยฺหํ ปณฺณสาลํ สุมาปิตํ ท่านกล่าวถึงบรรณศาลา และที่จงกรมไว้ราวกะว่า สุเมธบัณฑิตสร้างขึ้นด้วยมือของตนเอง แต่ในคาถานี้มีใจความดังต่อไปนี้ ท้าวสักกะทรงเห็นว่า พระมหาสัตว์จักเข้าไปสู่ป่าหิมพานต์แล้ววันนี้ จักถึงภูเขาชื่อธรรมิกะ จึงรับสั่งเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรว่า นี่พ่อ สุเมธบัณฑิตออกมาด้วยคิดว่า เราจักบวช ท่านจงเนรมิตที่อยู่ให้แก่พระมหาสัตว์นั้น. วิสสุกรรมเทพบุตรนั้นรับพระดำรัสของพระองค์แล้ว จึงเนรมิตอาศรมน่ารื่นรมย์ บรรณศาลาสร้างอย่างดี ที่จงกรมน่าเบิกบานใจ. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยอาศรมบทนั้น ที่สำเร็จด้วยอานุภาพแห่งบุญของพระองค์ จึงตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร ที่ธรรมิกบรรพตนั้น อาศรมเราได้สร้างขึ้นอย่างดีแล้ว เนรมิตบรรณศาลาไว้อย่างดี ทั้งยังเนรมิตที่จงกรม เว้นจากโทษ ๕ ประการ ไว้ใกล้อาศรมนั้นด้วย ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุกโต มยฺหํ แปลว่า เราสร้างอาศรมไว้อย่างดีแล้ว.
บทว่า ปณฺณสาลํ สุมาปิตํ ความว่า แม้บรรณศาลาที่มุงด้วยใบไม้ เราก็สร้างไว้ดีแล้ว.
บทว่า ปญฺจโทสวิวชฺชิตํ ความว่า ชื่อว่าโทษของที่จงกรมมี ๕ อย่างเหล่านี้ คือ แข็งกระด้างและขรุขระ มีต้นไม้ภายใน มุงไว้รกรุงรัง คับแคบมากนัก กว้างขวางเกินไป.
จริงอยู่ เมื่อบุคคลเดินจงกรมบนที่จงกรมมีพื้นดินแข็งกระด้างและขรุขระ เท้าทั้งสองจะเจ็บปวด เกิดการพองขึ้น จิตจึงไม่ได้ความแน่วแน่ และกรรมฐานก็จะวิบัติ แต่กรรมฐานจะถึงพร้อม เพราะอาศัยการอยู่สบายในพื้นที่อ่อนนุ่มและราบเรียบ. เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า พื้นที่แข็งกระด้างและขรุขระเป็นโทษอันหนึ่ง.
เมื่อต้นไม้มีอยู่ภายในหรือท่ามกลาง หรือที่สุดแห่งที่จงกรม เมื่ออาศัยความประมาท เดินจงกรม หน้าผากหรือศีรษะก็จะกระทบ. เพราะฉะนั้น มีต้นไม้ภายใน จึงเป็นโทษข้อที่ .
เมื่อเดินจงกรมบนที่จงกรมมุงไว้ รกรุงรังด้วยหญ้าและเถาวัลย์เป็นต้น ในเวลากลางคืนก็จะเหยียบสัตว์มีงูเป็นต้น ทำให้มันตาย หรือจะถูกพวกมันกัดได้รับความเดือดร้อน. เพราะฉะนั้น การที่มุงบังรกรุงรัง จึงจัดเป็นโทษข้อที่ .
เมื่อเดินจงกรมบนที่จงกรมแคบเกินไป จึงมีกำหนดโดยกว้างเพียงศอกเดียวหรือครึ่งศอก เล็บบ้าง นิ้วมือบ้าง จะไปสะดุดเข้าแล้วแตก. เพราะฉะนั้น ความคับแคบเกินไปจึงเป็นโทษข้อที่ .
เมื่อเดินจงกรมบนที่จงกรมกว้างขวางเกินไป จิตย่อมวิ่งพล่านจะไม่ได้ความมีอารมณ์แน่วแน่. เพราะฉะนั้น การที่ที่กว้างขวางเกินไป จึงเป็นโทษข้อที่ .
ที่เดินจงกรมโดยส่วนกว้างได้ศอกครึ่ง ในสองข้างมีประมาณศอกหนึ่ง ที่เดินจงกรมโดยส่วนยาวมีประมาณ ๖๐ ศอก มีพื้นอ่อนนุ่ม มีทรายโรยไว้เรียบเสมอ ก็ใช้ได้ เหมือนที่เดินจงกรมของพระมหินทเถระ. ผู้ปลูกฝังความเลื่อมใสให้ชาวเกาะที่เจติยคิรีวิหาร ก็ได้เป็นเช่นนี้. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เราได้สร้างที่เดินจงกรมไว้ในอาศรมนั้น อันเว้นจากโทษ ๕ ประการ.
บทว่า อฏฺฐคุณสมุเปตํ คือประกอบด้วยสุขของสมณะ ๘ ประการ ชื่อว่าสุขของสมณะ ๘ ประการนั้นมีดังนี้คือ ไม่มีการหวงแหนทรัพย์สินและข้าว แสวงหาแต่บิณฑบาตที่ไม่มีโทษ บริโภคแต่บิณฑบาตที่เย็น ไม่มีการบีบบังคับราษฎร ในเมื่อพวกลูกหลวงทั้งหลายเที่ยวบีบบังคับ ราษฎรถือเอาทรัพย์มีค่าและเหรียญกษาปณ์ตะกั่วเป็นต้น ปราศจากความกำหนัด ด้วยอำนาจความพอใจในเครื่องอุปกรณ์ทั้งหลาย ไม่มีความกลัวภัยในเรื่องถูกโจรปล้น ไม่ต้องไปคลุกคลีกับพระราชาและราชอำมาตย์ ไม่ถูกกระทบกระทั่งในทิศทั้ง ๔. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ผู้อยู่ในอาศรมนั้น สามารถที่จะประสบสุขของสมณะ ๘ อย่างเหล่านี้ได้ ฉันใด เราสร้างอาศรมนั้นประกอบด้วยคุณ ๘ อย่าง ฉันนั้น.
บทว่า อภิญฺญาพลมาหรึ ความว่า ภายหลังเมื่อเราอยู่ในอาศรมนั้น กระทำบริกรรมในกสิณแล้ว เริ่มวิปัสสนาโดยความเป็นของไม่เที่ยงและโดยความเป็นทุกข์ เพื่อต้องการความเกิดขึ้นแห่งอภิญญาและสมาบัติ แล้วก็ได้กำลังแห่งวิปัสสนาอันทรงเรี่ยวแรง.
อธิบายว่า เมื่อเราอยู่ในอาศรมนั้น สามารถนำกำลังนั้นมาได้ ฉันใด เราได้สร้างอาศรมนั้น กระทำให้เหมาะสมแก่กำลังแห่งวิปัสสนานั้น เพื่อประโยชน์แก่อภิญญา.
ในคาถานี้ว่า สาฏกํ ปชหึ ตตฺถ นวโทสมุปาคตํ มีคำที่จะกล่าวไปตามลำดับ ดังต่อไปนี้
ได้ยินว่า ในกาลนั้น เมื่อวิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตอาศรม ที่ประกอบด้วยกระท่อม ที่เร้นและที่เดินจงกรมโดยทางโค้ง ดาดาษไปด้วยต้นไม้ผลิดอกออกผล มีน้ำมีรสอร่อยน่ารื่นรมย์ ปราศจากสัตว์ร้ายและนกมีเสียงร้องน่าสะพรึงกลัวต่างๆ ควรแก่การสงบสงัด จัดหาพะนักสำหรับพิง ไว้ที่ที่สุดสองข้างแห่งที่เดินจงกรม อันตกแต่งแล้ว ตั้งแผ่นหินมีสีดังถั่วเขียวมีหน้าเสมอ ไว้ที่ตรงท่ามกลางที่เดินจงกรม ในภายในบรรณศาลา เนรมิตสิ่งของทุกอย่างที่จะเป็นไป เพื่ออุปการะแก่บรรพชิตอย่างนี้คือ ชฎามณฑล (ชฎาทรงกลม) ผ้าเปลือกไม้ บริขารของดาบส มีไม้สามง่ามเป็นต้น ที่ซุ้มน้ำมีหม้อน้ำดื่ม สังข์ตักน้ำดื่ม ขันตักน้ำดื่ม ที่โรงไฟมีกะทะรองถ่าน และไม้ฟืนเป็นต้น ที่ฝาผนังแห่งบรรณาศาลาเขียนอักษรไว้ว่า ใครๆ มีประสงค์จะบวช จงถือเอาบริขารเหล่านี้บวชเถิด แล้วไปสู่เทวโลก.
สุเมธบัณฑิตไปสู่ป่าหิมพานต์ตามทางแห่งซอกเขา มองหาที่ผาสุกควรจะอาศัยอยู่ได้ของตน มองเห็นอาศรมน่ารื่นรมย์ ที่วิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตไว้ อันท้าวสักกะประทานให้ที่ทางไหลกลับแห่งแม่น้ำ จึงไปที่ท้ายที่เดินจงกรม มิได้เห็นรอยเท้า จึงคิดว่า บรรพชิตแสวงหาภิกขาในบ้านใกล้ แล้วเหน็ดเหนื่อยจักมา เข้าไปสู่บรรณศาลาแล้วนั่งแน่แท้ จึงรออยู่หน่อยหนึ่งคิดว่า บรรพชิตชักช้าเหลือเกิน เราอยากจะรู้นัก จึงเปิดประกุฏิในบรรณศาลา เข้าไปข้างใน ตรวจดูข้างโนนและข้างนี้ อ่านอักษรที่ฝาผนังแผ่นใหญ่แล้วคิดว่า กัปปิยะบริขารเหล่านั้นเป็นของเรา เราจักถือเอาบริขารเหล่านั้นบวช จึงเปลื้องทิ้งผ้าสาฎกทั้งคู่ที่ตนนุ่งและห่มแล้วไว้. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เราเปลื้องทิ้งผ้าสาฎกไว้ในบรรณศาลานั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ดูก่อนสารีบุตร เราเข้าไปอย่างนี้แล้ว เปลื้องทิ้งผ้าสาฎกอันประกอบด้วยโทษ ๙ ประการ ไว้ในบรรณศาลานั้น. เพราะฉะนั้น เราเมื่อจะเปลื้องทิ้งผ้าสาฎก จึงเปลื้องทิ้งไปเพราะเห็นโทษ ๙ ประการ.
จริงอยู่ สำหรับผู้ที่บวชเป็นดาบส โทษ ๙ ประการย่อมปรากฏในผ้าสาฎก คือมีค่ามาก เป็นโทษอันหนึ่ง. เกิดขึ้นเพราะเกี่ยวเนื่องกับคนอื่น หนึ่ง. เศร้าหมองเร็วเพราะการใช้สอย หนึ่ง. เศร้าหมองแล้วจะต้องชักและต้องย้อม การที่เก่าไปเพราะการใช้สอย เป็นโทษอันหนึ่ง. ก็สำหรับผ้าที่เก่าแล้วจะต้องทำการชุนหรือใช้ผ้าดาม การที่จะได้รับด้วยการแสวงหาอีกก็ยาก เป็นโทษอันหนึ่ง. ไม่เหมาะสมกับการบวชเป็นดาบส เป็นโทษอันหนึ่ง. เป็นของทั่วไปแก่ศัตรู เป็นโทษอันหนึ่ง. เพราะจะต้องคุ้มครองไว้ โดยอาการที่ศัตรูจะถือเอาไม่ได้ เป็นเครื่องประดับประดาของผู้ใช้สอย เป็นโทษอันหนึ่ง. สำหรับผู้ถือเที่ยวไปเป็นคนมักมากในสิ่งที่เป็นของใช้ประจำตัว เป็นโทษอันหนึ่ง.
บทว่า วากจีรํ นิวาเสสึ ความว่า ดูก่อนสารีบุตร ครั้งนั้นเราเห็นโทษ ๙ ประการเหล่านั้น จึงเปลื้องทิ้งผ้าสาฎกนุ่งผ้าเปลือกไม้ คือใช้ผ้าเปลือกไม้ ที่ฉีกหญ้ามุงกระต่ายให้เป็นชิ้นน้อยใหญ่ ถักเข้ากันกระทำขึ้น เพื่อประโยชน์จะใช้เป็นผ้านุ่งและผ้าห่ม.
บทว่า ทฺวาทสคุณมุปาคตํ คือ ประกอบด้วยอานิสงส์ ๑๒ ประการ.
ก็ในผ้าเปลือกไม้มีอานิสงส์ ๑๒ ประการ คือราคาถูกดีสมควร นี้เป็นอานิสงส์อันหนึ่งก่อน. สามารถทำด้วยมือตนเอง นี้เป็นอานิสงส์ที่ ๒. จะเศร้าหมองช้าๆ ด้วยการใช้สอย แม้ซักก็ไม่ชักช้า นี้เป็นอานิสงส์ที่ ๓. แม้จะเก่าไปเพราะการใช้สอยก็ไม่ต้องเย็บ นี้เป็นอานิสงส์ที่ ๔. เมื่อแสวงหาใหม่ก็ทำได้ง่าย นี้เป็นอานิสงส์ที่ ๕. เหมาะกับการบวชเป็นดาบส เป็นอานิสงส์ที่ ๖. ผู้เป็นศัตรูไม่ใช้สอย เป็นอานิสงส์ที่ ๗. เมื่อใช้สอยอยู่ ก็ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการประดับประดา เป็นอานิสงส์ที่ ๘. จะนุ่งห่มก็เบา นี้เป็นอานิสงส์ที่ ๙. แสดงว่ามักน้อยในปัจจัยคือจีวร นี้เป็นอานิสงส์ที่ ๑๐. การเกิดขึ้นแห่งเปลือกไม้ เป็นของชอบธรรมและไม่มีโทษ เป็นอานิสงส์ที่ ๑๑. เมื่อผ้าเปลือกไม้แม้จะสูญหายไป ก็ไม่มีอาลัย นี้เป็นอานิสงส์ที่ ๑๒.
บทว่า อฏฺฐ โทสสมากิณฺณํ ปชหึ ปณฺณสาลกํ ความว่า เราละอย่างไร.
ได้ยินว่า สุเมธบัณฑิตนั้นเปลื้องผ้าสาฎกเนื้อดีทั้งคู่ออก แล้วถือเอาผ้าเปลือกไม้สีแดง เช่นกับพวงแห่งดอกอังกาบ ซึ่งคล้องอยู่ที่ราวจีวร แล้วนุ่งห่มผ้าเปลือกไม้สีดังทอง อีกผืนหนึ่งบนผ้าเปลือกไม้นั้น กระทำหนังเสือพร้อมทั้งเล็บ เช่นกับสัณฐานของดอกบุนนาคพาดเฉวียงบ่า รวบชฎามณฑล แล้วสอดปิ่นปักผมทำด้วยไม้แข็งเข้าไปตรึงไว้กับมวย เพื่อทำให้ไม่ไหวติง ได้วางคนโทน้ำมีสีดังแก้วประพาฬในสาแหรกเช่นกับพวงแก้วมุกดา ถือเอาหาบโค้งในที่สามแห่ง คล้องคนโทน้ำไว้ที่ปลายหาบ ขอและตะกร้า ไม้สามง่ามเป็นต้น ไว้ที่ปลายข้างหนึ่ง เอาหาบดาบสบริขารวางบนบ่า เอามือขวาถือไม้เท้า ออกไปจากบรรณศาลา เดินจงกรมอยู่ไปมาบนที่เดินจงกรม มีประมาณ ๖๐ ศอก มองดูเพศของตน แล้วคิดว่า มโนรถของเราถึงที่สุดแล้ว การบรรพชาของเรางาม จริงหนอ ขึ้นชื่อว่าบรรพชานี้ อันท่านผู้เป็นธีรบุรุษทั้งปวง มีพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นต้น สรรเสริญชมเชยแล้ว. เครื่องผูกมัดของคฤหัสถ์ เราละแล้ว. เรากำลังออกบวช เราออกบวชแล้วได้บรรพชาอันสูงสุด เราจักกระทำสมณธรรม เราจักได้สุขอันเกิดแต่มรรคผล ดังนี้แล้ว เกิดความอุตสาหะวางหาบดาบสบริขารลง นั่งลงบนแผ่นหินมีสีดังถั่วเขียว เหมือนดังรูปปั้นทอง ฉะนั้น. ให้เวลากลางวันสิ้นไป เข้าไปสู่บรรณศาลาในเวลาเย็น นอนบนเสื่อที่ถักด้วยแขนงไม้ข้างเตียงหวาย ให้ตัวได้รับอากาศพอสบาย แล้วตื่นขึ้นตอนใกล้รุ่ง คำนึงถึงการมาของตนว่า เราเห็นโทษในฆราวาส แล้วสละโภคสมบัตินับไม่ถ้วน ยศอันหาที่สุดมิได้ เข้าไปสู่ป่าแสวงหาเนกขัมมะบวช จำเดิมแต่นี้ไป เราจะประพฤติตัวด้วยความประมาทหาควรไม่ เพราะแมลงวัน คือมิจฉาวิตก ย่อมจะกัดกินผู้ที่ละความสงบสงัดเที่ยวไป. บัดนี้ ควรที่เราจะพอกพูนความสงบสงัด ด้วยว่าเรามองเห็นการอยู่ครองเรือนโดยความเป็นของมีแต่กังวล จึงออกมา บรรณศาลาน่าพอใจนี้ พื้นที่ซึ่งล้อมรั้วไว้ราบเรียบแล้ว มีสีดังมะตูมสุก ฝาผนังสีขาวมีสีราวกะเงิน หลังคาใบไม้มีสีดังเท้านกพิราบ เตียงหวายมีสีแห่งเครื่องปูลาดอันงดงาม ที่อยู่พออยู่อาศัยได้อย่างผาสุก ความพร้อมมูลแห่งเรือนของเรา ปรากฏเหมือนจะมียิ่งกว่านี้ ดังนี้. เลือกเฟ้นโทษของบรรณศาลาอยู่ ก็ได้เห็นโทษ ๘ ประการ.
จริงอยู่ ในการใช้สอยบรรณศาลามีโทษ ๘ ประการ คือ จะต้องแสวงหาด้วยการรวบรวมขึ้น ด้วยทัพสัมภาระที่มีน้ำหนักมากกระทำ เป็นโทษข้อหนึ่ง. จะต้องช่อมแซมอยู่เป็นนิตย์ เพราะเมื่อหญ้าใบไม้และดินเหนียวร่วงหล่นลงมา จะต้องเอาของเหล่านั้นวางไว้ที่เดิมแล้วๆ เล่าๆ เป็นโทษข้อที่ ๒. ธรรมดา เสนาสนะจะต้องตกแก่คนแก่ก่อน เมื่อเขาเข้ามาให้เราลุกขึ้นในเวลาที่ไม่เหมาะ ความแน่วแน่แห่งจิตก็จะมีไม่ได้. เพราะฉะนั้น การที่ถูกปลุกให้ลุกขึ้น จึงเป็นโทษข้อที่ ๓. เพราะกำจัดเสียได้ซึ่งหนาวและร้อน ก็จะทำให้ร่างกายบอบบาง (ไม่แข็งแรง) เป็นโทษข้อที่ ๔. คนเข้าไปสู่เรือน อาจทำความชั่วอย่างใดอย่างหนึ่งได้. เพราะฉะนั้น การที่ปกปิดสิ่งน่าติเตียน เป็นโทษข้อที่ ๕. การหวงแหนด้วยคิดว่าเป็นของเรา เป็นโทษข้อที่ ๖. ธรรมดา การมีเรือนแสดงว่าต้องมีภรรยา เป็นโทษข้อที่ ๗. เป็นของทั่วไปแก่ตนหมู่มาก เพราะเป็นสาธารณะแก่สัตว์มีเล็น เรือดและตุ๊กแกเป็นต้น เป็นโทษข้อที่ ๘.
บทว่า อิเม ความว่า พระมหาสัตว์เห็นโทษ ๘ ประการเหล่านี้ แล้วจึงเลิกละบรรณศาลา. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เราเลิกละบรรณศาลาที่เกลื่อนกล่นด้วยโทษ ๘ ประการ.
บทว่า อุปาคมึ รุกฺขมูลํ คุเณ ทสหุปาคตํ ความว่า พระมหาสัตว์กล่าวว่า เราห้ามที่มุงบัง เข้าหาโคนต้นไม้ที่ประกอบด้วยคุณ ๑๐ ประการ ในข้อนั้น คุณ ๑๐ ประการมีดังต่อไปนี้ มีความยุ่งยากน้อยเป็นคุณข้อที่ ๑. เพราะเพียงแต่เข้าไปเท่านั้น ก็อยู่ที่นั่นได้. เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องดูแลรักษา เป็นคุณข้อที่ ๒. ก็ที่นั้น จะปัดกวาดก็ตาม ไม่ปัดกวาดก็ตาม ก็ใช้สอยได้อย่างสบายเหมือนกัน การที่ไม่ต้องบากบั่นนัก เป็นคุณข้อที่ ๓. ที่นั้น ปกปิดความนินทาไม่ได้ เพราะเมื่อคนทำความชั่วในที่นั้นย่อมละอาย. เพราะฉะนั้น การปกปิดความนินทาไม่ได้ เป็นคุณข้อที่ ๔. โคนไม้เหมือนกับอยู่ในที่กลางแจ้ง ย่อมไม่ยังร่างกายให้อึดอัด. เพราะฉะนั้น การที่ร่างกายไม่อึดอัด จึงเป็นคุณข้อ ๕. ไม่มีการต้องทำการหวงแหนไว้ เป็นคุณข้อที่ ๖. ห้ามเสียได้ซึ่งความอาลัยในบ้านเรือน เป็นคุณข้อที่ ๗. ไม่มีการที่จะต้องพูดว่า เราจักปัดกวาดเช็ดถู พวกท่านจงออกไป แล้วก็ไล่ไปเหมือนในเรือนที่ทั่วไปแก่คนหมู่มาก เป็นคุณข้อที่ ๘. ผู้อยู่ก็ได้รับความเอิบอิ่มใจ เป็นคุณข้อที่ ๙. ไม่ต้องอาลัยอาวรณ์ เพราะเสนาสนะ คือโคนต้นไม้ หาได้ง่ายไม่ว่าจะไปที่ไหน เป็นคุณข้อที่ ๑๐.
พระมหาสัตว์เห็นคุณ ๑๐ อย่างเหล่านั้น จึงกล่าวว่า เราเข้าอาศัยโคนต้นไม้ดังนี้. พระมหาสัตว์กำหนดเหตุมีประมาณเท่านี้เหล่านั้นแล้ว วันรุ่งขึ้นก็เข้าไปเพื่อภิกษา. ครั้งนั้น พวกมนุษย์ในบ้านที่ท่านไปถึง ได้ถวายภิกษาด้วยความอุตสาหะใหญ่. ท่านทำภัตกิจเสร็จแล้วมายังอาศรม นั่งลงแล้วคิดว่า เราบวชด้วยคิดว่า เราจะไม่ได้อาหารก็หาไม่. ธรรมดาว่า อาหารที่อร่อยนี้ ย่อมยังความเมาด้วยอำนาจมานะ และความเมาในความเป็นบุรุษให้เจริญ และที่สุดแห่งทุกข์ อันมีอาหารเป็นมูลไม่มี. ถ้ากระไร เราพึงเลิกละอาหารที่เกิดจากข้าวที่เขาหว่านและปลูก บริโภคผลไม้ที่หล่นเอง ดังนี้. จำเดิมแต่นั้น ท่านกระทำอย่างนั้น พากเพียรพยายามอยู่ในภายในสัปดาห์หนึ่ง ทำให้สมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ เกิดขึ้นได้แล้ว.
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
เราเลิกละข้าวที่หว่านที่ปลูกโดยเด็ดขาด มาบริโภคผลไม้ที่หล่นเอง ที่สมบูรณ์ด้วยคุณเป็นอันมาก เราเริ่มตั้งความเพียรในการนั่ง การยืน และการเดินจงกรมที่โคนต้นไม้นั้น ในภายในสัปดาห์หนึ่ง ก็ได้บรรลุอภิญญาพละ
ดังนี้.
เมื่อสุเมธดาบสบรรลุอภิญญาพละอย่างนี้แล้ว ให้เวลาล่วงไปด้วยสุข อันเกิดจากสมาบัติ. พระศาสดาทรงพระนามว่า ทีปังกร เสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ในการถือปฏิสนธิ การอุบัติขึ้น การตรัสรู้และการประกาศพระธรรมจักร โลกธาตุหมื่นหนึ่งแม้ทั้งสิ้นหวั่นไหว สั่นสะเทือนร้องลั่นไปหมด บุรพนิมิต ๓๒ ประการ ปรากฏขึ้นแล้ว. สุเมธบัณฑิตให้เวลาล่วงเลยไป ด้วยสุขอันเกิดแต่สมาบัติ ไม่ได้ยินเสียงนั้นเลย ทั้งไม่ได้เห็นนิมิตแม้เหล่านั้นด้วย.
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
เมื่อเราบรรลุความสำเร็จในศาสนา เป็นผู้มีความชำนิชำนาญอย่างนี้ พระชินเจ้าผู้เป็นโลกนายกทรงพระนามว่าทีปังกร เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว เมื่อพระองค์ทรงถือกำเนิด เสด็จอุบัติขึ้น ตรัสรู้ แสดงพระธรรมเทศนา เราเอิบอิ่มอยู่ด้วยความยินดีในฌาน มิได้เห็นนิมิตทั้ง ๔ เลย.

ในกาลนั้น พระทศพลทรงพระนามว่า ทีปังกร มีพระขีณาสพสี่แสนห้อมล้อมแล้ว เสด็จจาริกไปตามลำดับ เสด็จถึงนคร ชื่อรัมมกะบางแห่งเป็นรัมมนคร เสด็จประทับ ณ สุทัสนมหาวิหาร. พวกชาวรัมมกนครได้กล่าวว่า ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร ผู้เป็นใหญ่กว่าสมณะ ทรงบรรลุอภิสัมโพธิอย่างยิ่ง ทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวร เสด็จจาริกไปโดยลำดับ เสด็จถึงรัมมกนคร แล้วเสด็จประทับอยู่ที่ สุทัสนมหาวิหาร. ต่างพากันถือเภสัช มีเนยใสและเนยข้นเป็นต้น และผ้าเครื่องนุ่งห่ม มีมือถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น. พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ ณ ที่ใด ก็หลั่งไหลพากันติดตามไป ณ ที่นั้นๆ เข้าไปเฝ้าพระศาสดา แล้วถวายบังคม บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น แล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ฟังพระธรรมเทศนา แล้วทูลนิมนต์เพื่อเสวยในวันรุ่งขึ้น พากันลุกจากที่นั่ง แล้วหลีกไป. ในวันรุ่งขึ้น ต่างพากันตระเตรียมมหาทาน ประดับประดานคร ตกแต่งหนทางที่จะเสด็จมาของพระทศพล. ในที่มีน้ำเซาะก็เอาดินถมทำพื้นที่ดินให้ราบเสมอ โรยทรายอันมีสีดังแผ่นเงิน โปรยปรายข้าวตอกและดอกไม้ ปักธงชายและธงแผ่นผ้า พร้อมด้วยผ้าย้อมสีต่างๆ ตั้งต้นกล้วยและหม้อน้ำเต็มด้วยดอกไม้เรียงรายเป็นแถว.
ในกาลนั้น สุเมธดาบสเหาะจากอาศรมบทของตน มาโดยทางอากาศ เบื้องบนของพวกมนุษย์เหล่านั้น เห็นพวกเขาร่าเริงยินดีกัน คิดว่า มีเหตุอะไรกันหนอ. จึงลงจากอากาศยืน ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ถามพวกเขาว่า ท่านผู้เจริญ พวกท่านพากันประดับประดาทางนี้ เพื่อใคร ดังนี้.
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
พวกมนุษย์มีใจยินดี นิมนต์พระตถาคต ในเขตแดนแห่งปัจจันตประเทศแล้ว พากันชำระสะสางทางเสด็จดำเนินมาของพระองค์. สมัยนั้น เราออกไปจากอาศรมของตน สะบัดผ้าเปลือกไม้ไปมาแล้ว ทีนั้น ก็เหาะไปทางอากาศ.
เราเห็นชนต่างเกิดความดีใจ ต่างยินดีร่าเริง ต่างปราโมทย์ จึงลงจากท้องฟ้า ไต่ถามพวกมนุษย์ทันทีว่า มหาชนยินดีร่าเริง ปราโมทย์ เกิดความดีใจ พวกเขาชำระสะสางถนนหนทาง เพื่อใคร.

พวกมนุษย์จึงเรียนว่า ข้าแต่ท่านสุเมธผู้เจริญ ท่านไม่ทราบอะไร พระทศพลทีปังกรทรงบรรลุสัมโพธิญาณแล้ว ประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ เสด็จจาริกมาถึงนครของพวกเราแล้ว เสด็จพำนักที่สุทัสนมหาวิหาร. พวกเรานิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นมา จึงตกแต่งทางนี้ที่จะเป็นที่เสด็จมาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระองค์นั้น.
สุเมธดาบสคิดว่า แม้เพียงคำประกาศว่า พระพุทธเจ้า ก็หาได้ยากในโลก จะป่วยกล่าวไปไย ถึงการอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า แม้เราก็ควรจะร่วมกับมนุษย์เหล่านั้น ตกแต่งทางเพื่อพระทศพลด้วย. ท่านจึงกล่าวกะพวกมนุษย์เหล่านั้นว่า ท่านผู้เจริญ ถ้าพวกท่านตกแต่งทางนี้เพื่อพระพุทธเจ้า ขอจงให้โอกาสส่วนหนึ่งแก่เราบ้าง แม้เราก็จักตกแต่งทาง เพื่อพระทศพลพร้อมกับพวกท่าน. พวกเขาก็รับปากว่า ดีแล้ว. ต่างรู้ว่า สุเมธดาบสมีฤทธิ์ จึงกำหนดที่ว่างซึ่งมีน้ำเซาะให้กล่าวว่า ท่านจงแต่งที่นี้เถิด แล้วมอบให้ไป.
สุเมธดาบสยึดเอาปีติ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ คิดว่า เราสามารถจะตกแต่ง ที่ว่างนี้ด้วยฤทธิ์ได้. แต่เมื่อเราตกแต่งเช่นนี้ ใจก็จะไม่ยินดีนัก. วันนี้ เราควรจะกระทำการรับใช้ด้วยกาย ดังนี้แล้ว ขนดินมาเทลงในที่ว่างนั้น. เมื่อที่ว่างแห่งนั้น ยังตกแต่งไม่เสร็จเลย พระทศพลทีปังกร มีพระขีณาสพผู้ได้อภิญญา ๖ มีอานุภาพมาก สี่แสนรูปห้อมล้อม. เมื่อเหล่าเทวดาบูชาอยู่ ด้วยของหอมและดอกไม้ทิพย์ เมื่อสังคีตบรรเลงอยู่ เมื่อเหล่ามนุษย์บูชาอยู่ ด้วยของหอมและดอกไม้ เสด็จเยื้องกรายบนพื้นมโนสิลา ด้วยพระพุทธลีลาอันหาที่สุดมิได้ ประดุจราชสีห์ เสด็จดำเนินมาสู่ทาง ที่ตกแต่งประดับประดาแล้วนั้น.
สุเมธดาบสลืมตาทั้งสองขึ้น มองดูพระวรกายของพระทศพล ผู้เสด็จดำเนินมาตามทางที่ตกแต่งแล้ว ซึ่งถึงความเลิศด้วยพระรูปโฉม ประดับด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ สวยงามด้วยพระอนุพยัญชนะ (ลักษณะส่วนประกอบ) ๘๐ ประการ แวดวงด้วยแสงสว่างมีประมาณวาหนึ่ง เปล่งพระพุทธรัศมีหนาทึบมีสี ๖ ประการออกมาดูประหนึ่งสายฟ้าหลายหลาก ในพื้นท้องฟ้ามีสีดุจแก้วมณี ฉายแสงแปลบปลาบอยู่ไปมาและเป็นคู่ๆ กัน จึงคิดว่า วันนี้เราควรกระทำการบริจาคชีวิตแด่พระทศพล. เพราะฉะนั้น ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่าได้ทรงเหยียบเปือกตม แต่จงทรงย่ำหลังของเรา เสด็จพร้อมกับพระขีณาสพสี่แสน เหมือนทรงเหยียบสะพานแก้วมณีเถิด ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน ดังนี้แล้วแก้ผมออก ลาดหนังเสือ ชฎาและผ้าเปลือกไม้วางลงบนเปือกตม ซึ่งมีสีดำ นอนบนหลังเปือกตมเหมือนสะพานแผ่นแก้วมณี.
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
พวกมนุษย์เหล่านั้นถูกเราถาม แล้วยืนยันว่า พระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม เป็นพระชินะ เป็นพระโลกนายก ทรงพระนามว่า ทีปังกร เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก. พวกเขาแผ้วถาง ถนนหนทางเพื่อพระองค์ ปีติเกิดขึ้นแล้วแก่เราทันใด เพราะได้ฟังคำว่า พุทโธ. เราเมื่อกล่าวอยู่ว่า พุทโธ พุทโธ ก็ได้เสวยโสมนัสแล้ว เรายืนอยู่ในที่นั้นยินดี มีใจเกิดความสังเวช จึงคิดว่า เราจักปลูกพืชไว้ในที่นั้น ขณะอย่าได้ล่วงเลยเราไปเสียเปล่า. ถ้าพวกท่านจะแผ้วถาง หนทางเพื่อพระพุทธเจ้า ก็จงให้ที่ว่างแห่งหนึ่งแก่เรา. แม้เราก็จักแผ้วถาง ถนนหนทางที่นั้น. พวกเขาได้ให้ที่ว่างแก่เรา เพื่อจะแผ้วถางทาง.
เวลานั้น เรากำลังคิดอยู่ว่า พุทโธ พุทโธ แผ้วถางทาง เมื่อที่ว่างของเราทำไม่เสร็จ พระมหามุนีทีปังกรผู้เป็นพระชินเจ้า พร้อมกับพระขีณาสพสี่แสน ได้อภิญญา ๖ ผู้คงที่ ปราศจากมลทิน เสด็จดำเนินมาทางนั้น การต้อนรับต่างๆ ก็มีขึ้น กลองมากมายบรรเลงขึ้น เหล่าคนและเทวดาล้วนร่าเริง ต่างทำเสียงสาธุการลั่นไปทั่ว เหล่าเทวดาเห็นพวกมนุษย์ และแม้เหล่ามนุษย์ก็เห็นเทวดา. แม้ทั้งสองพวกนั้นต่างประคองอัญชลี เดินตามพระตถาคตไป. เหล่าเทวดาที่เหาะมาทางอากาศ ก็โปรยปรายดอกมณฑารพ ดอกบัวหลวง ดอกปาริฉัตรอันเป็นทิพย์ไปทั่วทุกทิศ. เหล่าคนที่อยู่บนพื้นดินต่าง ก็ชูดอกจำปา ดอก (สัลลชะ) ดอกกระทุ่ม ดอกกากะทิง ดอกบุนนาค ดอกการะเกดไปทั่วทุกทิศ. เราแก้ผมออก เปลื้องผ้าเปลือกไม้และหนังเสือในที่นั้น ลาดลงบนเปือกตม นอนคว่ำหน้า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยศิษย์จงทรงเหยียบเรา เสด็จไป อย่าได้เหยียบบนเปือกตมเลย. ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เรา
ดังนี้.
สุเมธดาบสนั้นนอนบนหลังเปือกตมนั้นแล ลืมตาทั้งสองเห็นพระพุทธสิริของพระทศพลทีปังกร จึงคิดว่า ถ้าเราพึงต้องการ ก็พึงเผากิเลสทั้งปวงหมด แล้วเป็นพระสงฆ์นวกะเข้าไปสู่รัมนครได้ แต่เราไม่มีกิจด้วยการเผากิเลส ด้วยเพศที่ใครไม่รู้จัก แล้วบรรลุนิพพาน. ถ้ากระไร เราพึงเป็นดังพระทศพลทีปังกร บรรลุพระอภิสัมโพธิญาณอย่างสูงยิ่ง แล้วขึ้นสู่ธรรมนาวา ให้มหาชนข้ามสงสารสาครได้ แล้วปรินิพพานภายหลัง ข้อนี้สมควรแก่เรา. ดังนี้แล้ว ต่อจากนั้น ประมวลธรรม ๘ ประการ กระทำความปรารถนาอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้าแล้วนอนลง.
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
เมื่อเรานอนบนแผ่นดินได้มีความคิดอย่างนี้ว่า วันนี้ เราเมื่อปรารถนาอยู่ก็พึงเผากิเลสของเราได้. จะมีประโยชน์อะไรแก่เราเล่า ด้วยการทำให้แจ้งธรรมในที่นี้ ด้วยเพศที่ใครๆ ไม่รู้จัก. เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ จักเป็นพระพุทธเจ้าในโลก พร้อมทั้งเทวโลก. จะมีประโยชน์อะไรแก่เรา ด้วยลูกผู้ชายผู้มีรูปร่างแข็งแรงนี้ ข้ามฝั่งไปคนเดียว. เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ แล้วจักให้มนุษย์พร้อมทั้งเทวดาข้ามฝั่ง. ด้วยการกระทำอันยิ่งใหญ่ของเรา ด้วยลูกผู้ชายผู้มีรูปร่างแข็งแรงนี้ เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว จะให้เหล่าชนมากมายข้ามฝั่ง. เราตัดกระแสน้ำ คือสงสาร ทำลายภพทั้งสามแล้ว ขึ้นสู่ธรรมนาวา จักให้มนุษย์พร้อมทั้งเทวดาข้ามฝั่ง
ดังนี้.

.. อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อรรถกถาชาดก 270000
เล่มที่ 27 ข้อ 0อ่านชาดก 270001อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=1&Z=12
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๓  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]