ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
เวรัญชกัณฑ์

หน้าต่างที่ ๑๐ / ๑๕.

               กถาว่าด้วยปฐมฌาน               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงคุณวิเศษ ตั้งต้นแต่ปฐมฌาน มีวิชชา ๓ เป็นที่สุดที่พระองค์ได้บรรลุแล้วด้วยปฏิปทานี้ จึงตรัสว่า โส โข อหํ ดังนี้เป็นต้น.
               ในบรรดาบทเหล่านั้น ใจความแห่งบทเป็นต้นว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วในวิภังค์นั่นแล โดยนัยเป็นต้นว่า บรรดากามและอกุศลธรรมเหล่านั้น กามเป็นไฉน? คือความพอใจ ชื่อว่า กาม, ความกำหนัด ชื่อว่า กาม, ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ชื่อว่า กาม, ความดำริ ชื่อว่า กาม, ความกำหนัด ชื่อว่า กาม, ความกำหนัดด้วยอำนาจความดำริ ชื่อว่า กาม, เหล่านี้เราเรียกว่า กาม,
               บรรดากามและอกุศลธรรมเหล่านั้น อกุศลธรรมเป็นไฉน? คือ ความพอใจด้วยอำนาจแห่งความใคร่ ความพยาบาท ความหดหู่และเคลิบเคลิ้ม ความฟุ้งซ่านและรำคาญ ความลังเลสงสัย, เหล่านี้เราเรียกว่า อกุศลธรรม,
               พระโยคาวจรเป็นผู้สงัดแล้ว คือเงียบแล้วจากกามเหล่านี้ และจากอกุศลธรรมเหล่านี้ ดังกล่าวมาฉะนี้, เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรนั้นเราเรียกว่า สงัดแล้วเทียวจากกามทั้งหลาย สงบแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย๑- ดังนี้ แม้ก็จริง, ถึงกระนั้น ใจความ (แห่งบทเหล่านั้น) เว้นอรรถกถานัยเสีย จะปรากฏด้วยดีไม่ได้ ข้าพเจ้าจักประกาศใจความนั้น ตามอรรถกถานัยนั่นแล ต่อไป :-
               ข้อนี้อย่างไรเล่า?
               อย่างนี้คือ สองบทว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ แปลว่า สงัดแล้ว คือหลีกเว้นจากจากกามทั้งหลาย.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๕๑ บาลีเดิมไม่มี ปวิวิตฺโต.

               [อธิบาย เอว อักษร]               
               ก็ เอว อักษรนี้ ในบทว่า วิวิจฺเจว นี้ พึงทราบว่า มีความกำหนดเป็นอรรถ. ก็เพราะ เอว อักษร มีความกำหนดเป็นอรรถนั้น, ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงความที่กามทั้งหลาย แม้ไม่มีอยู่ในเวลาเข้าปฐมฌานนั้น ก็เป็นข้าศึกแก่ปฐมฌานนั้น และการจะบรรลุปฐมฌานนั้นได้ ก็ด้วยการสละกามนั่นแล.
               ถามว่า ข้อนั้น คืออย่างไร?
               แก้ว่า คือ สงัดแล้วเทียวจากกามทั้งหลาย.
               อธิบายว่า จริงอยู่ เมื่อทำความนิยมไว้อย่างนั้น คำนี้ย่อมปรากฏชัดว่ากามทั้งหลายย่อมเป็นข้าศึกต่อฌานนี้ อย่างแน่นอน, เมื่อกามเหล่าใดยังมีอยู่ ปฐมฌานนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ ดุจเมื่อมีมืด แสงประทีปก็ไม่มีฉะนั้น และการบรรลุปฐมฌานนั้นจะมีได้ก็ด้วยการสละกามเหล่านั้นเสียได้ เปรียบเหมือนการไปถึงฝั่งโน้นได้ ก็ด้วยการละฝั่งนี้ฉะนั้น, เพราะฉะนั้น ท่านจึงทำความกำหนดไว้.
               ในคำว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ นั้น พึงมีคำถามว่า ก็เพราะเหตุไร? พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส เอว อักษรนั่นไว้เฉพาะบทต้นเท่านั้น ไม่ตรัสไว้ในบทหลังเล่า, พระโยคาวจรแม้ไม่สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็พึงได้บรรลุฌานอยู่หรือ?
               แก้ว่า ก็แล เอว อักษร ที่เป็นอวธารณะนั้น บัณฑิตไม่ควรเห็นอย่างนั้น. เพราะว่า เอว อักษรนั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในบทต้น ก็เพราะฌานเป็นเครื่องสลัดเสียซึ่งกามนั้น. แท้จริงฌานนี้ชื่อว่าสลัดเสียซึ่งกามทั้งหลายทีเดียว เพราะก้าวล่วงกามธาตุเสียได้ และเพราะเป็นข้าศึกต่อกามราคะ. เหมือนดังที่พระสารีบุตรกล่าวไว้ว่า ฌาน คือเนกขัมมะนี้นั่น สลัดเสียซึ่งกามทั้งหลาย๑- ดังนี้.
               อัน เอว อักษรนั่นบัณฑิตควรกล่าวไว้แม้ในบทหลัง เหมือนอย่างเอว อักษร ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำมาตรัสไว้ในคำนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑ มีอยู่ในศาสนานี้ทีเดียว, สมณะที่ ๒ มีอยู่ในศาสนานี้๒- ดังนี้เป็นต้น ฉะนั้น.
               จริงอยู่ ใครๆ ไม่สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลายกล่าวคือนิวรณ์ แม้อื่นจากกามฉันท์นี้ ไม่อาจจะบรรลุฌานอยู่ได้เลย, เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงเห็นความนิยมนี้ แม้ในบททั้งสองอย่างนี้ว่า พระโยคาวจรสงัดแล้วเทียวจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วเทียวจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ดังนี้.
               อนึ่ง วิเวกแม้ทั้งหมดมีตทังควิเวกและกายวิเวกเป็นต้น ย่อมถึงความสงเคราะห์เข้าแม้ในบททั้งสอง ด้วยคำที่เป็นสาธารณะนี้ว่า วิวิจฺจ แม้ก็จริง, ถึงกระนั้น ในอธิการนี้ ก็ควรเห็นวิเวกเพียง ๓ เท่านั้น คือ กายวิเวก จิตตวิเวก วิกขัมภนวิเวก.
               ก็พวกวัตถุกาม ที่พระสารีบุตรเถระกล่าวไว้ในนิเทศ โดยนัยเป็นต้นว่า๓-
               วัตถุกามเป็นไฉน? คือรูปอันเป็นที่ชอบใจ และพวกกิเลสกามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในวิภังค์ในนิเทศนั้นนั่นแล โดยนัยเป็นต้นว่า ความพอใจ ชื่อว่า กาม๔- แม้ทั้งหมดเหล่านั้น บัณฑิตพึงเห็นว่า ท่านสงเคราะห์เข้าด้วยบทว่า กาเมหิ นี้แล. ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น สองบทว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ ความหมายว่า สงัดแล้วเทียว แม้จากวัตถุกามทั้งหลาย ดังนี้ก็ใช้ได้. กายวิเวกย่อมเป็นอันท่านกล่าวแล้ว ด้วยความสงัดจากวัตถุกามนั้น.
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๗๓๙.
๒- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๔๑.
๓- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๒
๔- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๕๑

               หลายบทว่า วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ ความหมายว่า สงัดแล้วจากกิเลสกามทั้งหลาย หรือจากอกุศลธรรมทั้งปวง ดังนี้ ก็ใช้ได้. จิตตวิเวกย่อมเป็นอันท่านกล่าวแล้ว ด้วยความสงัดจากกิเลสกาม หรือจากอกุศลธรรมทั้งปวงนั้น.
               ก็บรรดากายวิเวกและจิตตวิเวก ๒ อย่างนี้ ความสละกามสุขเป็นอันท่านประกาศแล้ว ด้วยกายวิเวกข้อต้น เพราะกล่าวถึงความสงัดจากวัตถุกามทั้งหลายนั่นเอง, ความประคองเนกขัมมสุข เป็นอันท่านประกาศแล้ว ด้วยจิตตวิเวกข้อที่ ๒ เพราะกล่าวถึงความสงัดจากกิเลสกามทั้งหลาย.
               อนึ่ง บรรดาบททั้ง ๒ ตามที่กล่าวแล้วนั้น การละสังกิเลสวัตถุพึงรู้ว่าท่านประกาศแล้ว ด้วยบทแรก, การละสังกิเลส พึงรู้ว่า ท่านประกาศแล้วด้วยบทที่ ๒. การละเหตุแห่งความอยาก พึงรู้ว่า ท่านประกาศแล้วด้วยบทแรก, การละเหตุแห่งความโง่เขลา พึงรู้ว่า ท่านประกาศแล้วด้วยบทที่ ๒, ความบริสุทธิ์แห่งการประกอบความเพียร พึงรู้ว่า ท่านประกาศแล้วด้วยบทแรก, และความกล่อมเกลาอัธยาศัย พึงรู้ว่า ท่านประกาศแล้วด้วยบทที่ ๒ เพราะกล่าวถึงความสงัดจากวัตถุกามและกิเลสกามนั่นแล ดังพรรณนามาฉะนี้.
               บรรดากามตามที่กล่าวในบทว่า กาเมหิ นี้ ในฝ่ายวัตถุกามมีนัยเท่านี้ก่อน. ส่วนในฝ่ายกิเลส กามฉันท์นั่นเอง ซึ่งมีประเภทมากมาย ท่านประสงค์ว่า กาม โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ฉันทะ ชื่อว่ากาม และว่า ราคะ ชื่อว่ากาม. ก็กามฉันท์นั้นถึงเป็นของนับเนื่องในอกุศลก็ตาม พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้ในคัมภีร์วิภังค์แผนกหนึ่ง เพราะเป็นข้าศึกต่อฌาน โดยนัยเป็นต้นว่า บรรดากามและอกุศลธรรมเหล่านั้น ความพอใจด้วยอำนาจแห่งความใคร่ เป็นไฉน? คือ กาม ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง กามฉันท์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในบทต้น เพราะเป็นกิเลสกาม. ตรัสไว้ในบทที่ ๒ เพราะเป็นกามนับเนื่องในอกุศล.
               อนึ่ง ไม่ได้ตรัสว่า กามโต แต่ตรัสว่า กาเมหิ เพราะกามฉันท์นั้นมีประเภทมากมาย. ก็เมื่อความที่ธรรมทั้งหลายแม้เหล่าอื่นซึ่งเป็นอกุศลยังมีอยู่. นิวรณ์ทั้งหลายเท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในคัมภีร์วิภังค์ เพราะทรงแสดงความที่นิวรณ์เป็นข้าศึกโดยตรงต่อองค์ฌานชั้นสูงขึ้นไป โดยนัยเป็นต้นว่า บรรดากามและอกุศลธรรมเหล่านั้น อกุศลธรรมเป็นไฉน? คือความพอใจด้วยอำนาจแห่งความใคร่ ดังนี้.
               จริงอยู่ นิวรณ์ทั้งหลายย่อมเป็นข้าศึกโดยตรงต่อองค์ฌาน. มีคำอธิบายว่า องค์ฌานทั้งหลายเท่านั้นเป็นปฏิปักษ์ คือเป็นเครื่องกำจัดนิวรณ์เหล่านั้น.
               จริงอย่างนั้น พระมหากัจจายนเถระก็ได้กล่าวไว้ในเปฏกปกรณ์ว่า สมาธิเป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันท์ ปีติเป็นปฏิปักษ์ต่อพยาบาท วิตกเป็นปฏิปักษ์ต่อถีนมิทธะ สุขเป็นปฏิปักษ์ต่ออุทธัจจกุกกุจจะ วิจารเป็นปฏิปักษ์ต่อวิจิกิจฉา.
               บรรดาบททั้ง ๒ นี้ ความสงัดด้วยอำนาจการข่มกามฉันท์ไว้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ด้วยบทนี้ว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ. ความสงัดด้วยอำนาจการข่มนิวรณ์แม้ทั้ง ๕ ไว้เป็นอันพระองค์ตรัสด้วยบทนี้ว่า วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้.
               อนึ่ง ความสงัดด้วยอำนาจการข่มกามฉันท์ไว้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยบทแรก ด้วยศัพท์ที่ท่านมิได้ถือเอา, ความสงัดด้วยอำนาจการข่มนิวรณ์ที่เหลือไว้ เป็นอันตรัสด้วยบทที่ ๒.
               อนึ่ง บรรดาอกุศลมูลทั้ง ๓ ความสงัดด้วยอำนาจการข่มโลภะอันมีความต่างแห่งปัญจกามคุณเป็นอารมณ์ เป็นอันตรัสไว้ด้วยบทแรก, ความสงัดด้วยอำนาจการข่มโทสะและโมหะ อันมีชนิดแห่งอาฆาตวัตถุเป็นต้นเป็นอารมณ์ เป็นอันตรัสไว้ด้วยบทที่ ๒.
               อีกอย่างหนึ่ง บรรดาธรรมทั้งหลายมีโอฆะเป็นต้น ความสงัดด้วยอำนาจการข่มสังโยชน์ คือกามโอฆะ กามโยคะ กามาสวะ กามุปาทาน อภิชฌากายคัณฐะและกามราคะไว้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยบทแรก. ความสงัดด้วยอำนาจการข่มสังโยชน์ คือโอฆะ โยคะ อาสวะ อุปาทานและคัณฐะที่เหลือไว้ ย่อมเป็นอันพระองค์ตรัสด้วยบทที่ ๒.
               อนึ่ง ความสงัดด้วยอำนาจการข่มตัณหา และกิเลสที่สัมปยุตด้วยตัณหานั้นไว้ เป็นอันพระองค์ตรัสด้วยบทแรก, ความสงัดด้วยอำนาจการข่มอวิชชา และกิเลสที่สัมปยุตด้วยอวิชชานั้นไว้ เป็นอันพระองค์ตรัสด้วยบทที่ ๒.
               อีกอย่างหนึ่ง ความสงัดด้วยอำนาจการข่มจิตตุปบาท ๘ ดวงที่สัมปยุตด้วยโลภะไว้ พึงทราบว่า เป็นอันพระองค์ตรัสด้วยบทแรก, ความสงัดด้วยอำนาจการข่มอกุศลจิตตุปบาท ๔ ดวงที่เหลือไว้ พึงทราบว่า เป็นอันพระองค์ตรัสด้วยบทที่ ๒.
               การประกาศเนื้อความในคำว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ นี้ มีเพียงเท่านี้ก่อน.

               [อรรถาธิบายองค์ ๕ แห่งปฐมฌาน]               
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงองค์สำหรับละแห่งปฐมฌานด้วยคำมีประมาณเพียงเท่านี้แล้ว คราวนี้ เมื่อจะทรงแสดงองค์ประกอบ จึงตรัสคำมีอาทิว่า เป็นไปกับด้วยวิตก เป็นไปกับด้วยวิจาร.
               ในพากย์ว่า เป็นไปกับด้วยวิตก เป็นต้นนั้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ความตรึก ชื่อว่า วิตก, ท่านอธิบายว่า ความดำริ, วิตกนี้นั้น มีความกดเฉพาะซึ่งจิตในอารมณ์เป็นลักษณะ มีการจดและจดโดยรอบเป็นรส.
               จริงอย่างนั้น พระโยคาวจร ท่านเรียกว่า ทำอารมณ์ให้เป็นธรรมชาติอันวิตกจดแล้วและจดโดยรอบแล้วด้วยวิตกนั้น. วิตกนั้นมีอันนำมาซึ่งจิตในอารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน. ความตรอง ชื่อว่า วิจาร, ท่านอธิบายว่า การที่จิตท่องเที่ยวเรื่อยไป. วิจารนี้นั้นมีการเคล้าอารมณ์เป็นลักษณะ มีอันประกอบเนืองๆ ซึ่งสหชาตธรรมในอารมณ์นั้นเป็นรส มีการตามผูกพันแห่งจิตเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               ก็เมื่อความไม่พรากจากกันแห่งวิตกวิจารเหล่านั้นในจิตตุปบาทลางขณะ แม้มีอยู่ วิตกก็คือการตกไปเฉพาะอารมณ์ครั้งแรกของใจ ดุจเสียงเคาะระฆัง เพราะหมายความว่าเป็นสภาพที่หยาบ และเพราะความหมายว่าเป็นสภาพเริ่มก่อน. วิจารก็คือการที่จิตตามผูกพันติดต่อ ดุจเสียงครวญของระฆัง เพราะหมายความว่าเป็นสภาพที่ละเอียด.
               ก็ในวิตกวิจารเหล่านี้ วิตกมีการแผ่ไป (หรือสั่นสะเทือน) เป็นความไหวตัวของจิต (ในเวลาที่เกิดความคิดขึ้นครั้งแรก) ดุจการกระพือปีกของนก ซึ่งต้องการจะบินขึ้นไปในอากาศ และดุจการโผลงตรงดอกบัวหลวงของแมลงผึ้ง ซึ่งมีใจจดจ่ออยู่ที่กลิ่น,
               วิจารมีความเป็นไปสงบ มิใช่ความไหวตัวอย่างแรงของจิต ดุจการกางปีกของนกซึ่งบินไปแล้วในอากาศ และดุจการบินร่อนอยู่ในส่วนเบื้องบนดอกบัวหลวงของแมลงผึ้ง ซึ่งโผลงบ่ายหน้าสู่ดอกบัวหลวงฉะนั้น.
               ส่วนความแปลกกันแห่งวิตกวิจารเหล่านั้น จะปรากฏในปฐมฌานและทุติยฌาน.
               ฌานนี้ย่อมเป็นไปกับด้วยวิตกนี้และด้วยวิจารนี้ ดุจต้นไม้ย่อมเป็นไปด้วยดอกและผลฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น ฌานนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นไปกับด้วยวิตก เป็นไปกับด้วยวิจาร. แต่ในคัมภีร์วิภังค์ พระองค์ทรงทำเทศนาเป็นบุคลาธิษฐาน โดยนัยเป็นต้นว่า
               ภิกษุเป็นผู้เข้าถึงแล้ว เข้าถึงพร้อมแล้ว ด้วยวิตกนี้ และด้วยวิจารนี้๑- ถึงเนื้อความแม้ในคัมภีร์วิภังค์นั้น ก็พึงเห็นเหมือนอย่างนี้แหละ.
               ในบทว่า วิเวกชํ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ความสงัด ชื่อว่า วิเวก. อธิบายว่า ความปราศจากนิวรณ์. อีกอย่างหนึ่ง ธรรมที่สงัดจากนิวรณ์ ชื่อว่าวิเวก เพราะอรรถว่า สงัดแล้ว. อธิบายว่า กองแห่งธรรมอันสัมปยุตด้วยฌาน. ปีติและสุขเกิดจากวิเวกนั้น หรือเกิดในวิเวกนั้น เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า วิเวกชํ.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๕๒.

               [อรรถาธิบายองค์ฌาน คือปีติและสุข]               
               ธรรมชาติที่ชื่อว่า ปีติ เพราะอรรถว่า ทำให้เอิบอิ่ม. ปีตินั้นมีความปลาบปลื้มเป็นลักษณะ มีความอิ่มกายและจิตเป็นรส, อีกอย่างหนึ่ง มีความแผ่ไปเป็นรส มีความเบิกบานใจเป็นปัจจุปัฏฐาน. ความสบาย ชื่อว่า ความสุข. อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติที่ชื่อว่า ความสุข เพราะอรรถว่า ย่อมเคี้ยวกินและขุดเสียด้วยดี ซึ่งอาพาธทางกายและจิต. ความสุขนั้นมีความสำราญเป็นลักษณะ มีอันเข้าไปพอกพูนซึ่งธรรมที่สัมปยุตด้วยความสุขนั้นเป็นรส มีความอนุเคราะห์เป็นเครื่องปรากฏ.
               ก็เมื่อความไม่พรากจากกันแห่งปีติและสุขเหล่านั้นในจิตตุปบาทลางขณะ แม้มีอยู่ ปีติ คือความยินดีด้วยการได้อิฏฐารมณ์, สุข คือความเสวยรสแห่งอารมณ์ที่ตนได้แล้ว. ปีติ มีอยู่ในจิตตุปบาทใด สุข ก็มีอยู่ในจิตตุปบาทนั้น. สุข มีอยู่ในจิตตุปบาทใด, ในจิตตุปบาทนั้น โดยความนิยม ไม่มีปีติ.
               ปีติ ท่านสงเคราะห์เข้าเป็นสังขารขันธ์, สุข ท่านสงเคราะห์เข้าเป็นเวทนาขันธ์, ปีติ เปรียบเหมือนความอิ่มใจของบุคคลผู้เหน็ดเหนื่อยในทางกันดาร เพราะได้เห็นและได้ฟังว่ามีป่าไม้และมีน้ำ, สุข เปรียบเหมือนความสบายใจของบุคคลผู้เหน็ดเหนื่อยในทางกันดาร เพราะได้เข้าไปสู่ร่มเงาแห่งป่าไม้และได้บริโภคน้ำ ฉะนั้น. บัณฑิตพึงทราบสันนิษฐานว่า ก็คำที่พระอาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า ปีติ คือ ความยินดีด้วยการได้อิฏฐารมณ์เป็นต้นนั้น ก็เพราะมีปีติปรากฏอยู่ ในสมัยนั้นๆ. ปีตินี้ด้วย สุขนี้ด้วย มีอยู่แก่ฌานนั้นหรือมีอยู่ในฌานนั้น เพราะเหตุนั้น ฌานนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปีติสุขํ.
               อีกอย่างหนึ่ง ปีติด้วย สุขด้วย ชื่อว่าปีติและสุข เหมือนธรรมและวินัยเป็นต้นฉะนั้น. ปีติและสุข เกิดแต่วิเวก มีอยู่แก่ฌานนั้น หรือมีอยู่ในฌานนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าปีติและสุข เกิดแต่วิเวก แม้ดังพรรณนามาฉะนี้. เหมือนอย่างว่า ฌานเกิดแต่วิเวกฉันใด, ก็ในฌานนี้ ปีติและสุขย่อมเป็นของเกิดแต่วิเวกเหมือนกันฉันนั้น.
               อนึ่ง ปีติและสุขนั้น มีอยู่แก่ฌานนั้น เพราะเหตุ๑- ดังนี้นั้น จะกล่าวรวมด้วยบทเดียวกันเลยว่า วิเวกช ปีติสุขํ ดังนี้บ้าง ก็ใช้ได้. แต่ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปีติสุขนั่นไว้โดยนัยเป็นต้นว่า สุขนี้ สหรคตด้วยปีตินี้๒- ดังนี้. ก็เนื้อความแม้ในคัมภีร์วิภังค์นั้น พึงเห็นเหมือนอย่างนี้แล.
____________________________
๑- วิสุทธิมรรค. ๑/๑๘๕. ไม่มี อิติ.
๒- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๕๔.

               [ฌานย่อมเผาผลาญธรรมที่เป็นข้าศึก]               
               บทว่า ปฐมํ คือเป็นทีแรก เพราะเป็นลำดับแห่งการคำนวณ. ฌานนี้ ชื่อว่า ทีแรก เพราะอรรถว่า พระโยคาวจรบรรลุเป็นครั้งแรก. คุณธรรม ชื่อว่า ฌาน เพราะอรรถว่า เผาธรรมที่เป็นข้าศึก (มีนิวรณ์เป็นต้น). พระโยคีทั้งหลายย่อมเผา (ธรรมที่เป็นข้าศึกมีนีวรณ์เป็นต้นนั้น) ด้วยฌานนี้ แม้เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า ฌาน. อธิบายว่า พระโยคีทั้งหลายย่อมเผาธรรมที่เป็นข้าศึก หรือย่อมคิดถึงโคจร (คืออารมณ์สำหรับหน่วงมีกสิณเป็นต้น). อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ฌาน เพราะอรรถว่า เพ่ง คือเข้าไปเพ่งอารมณ์นั้นเสียเอง เพราะเหตุนั้นนั่นแล ฌานนั้น ท่านจึงเรียกว่า มีอันเข้าไปเพ่งเป็นลักษณะ.

               [ฌานมี ๒ นัย]               
               ฌานนี้นั้น มีอยู่ ๒ อย่างคือ อารัมมณูปนิชฌาน (เข้าไปเพ่งอารมณ์) ลักขณูนิฌาน (เข้าไปเพ่งลักษณะ). บรรดาฌานทั้ง ๒ นั้น สมาบัติ ๘ พร้อมด้วยอุปจาร ท่านเรียกว่า อารัมณูนิชฌาน.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               แก้ว่า เพราะเข้าไปเพ่งอารมณ์คือกสิณ.
               วิปัสสนามรรคและผล ท่านเรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               แก้ว่า เพราะเข้าไปเพ่งลักษณะ.
               จริงอยู่ บรรดาวิปัสสนามรรคและผลเหล่านี้ วิปัสสนาย่อมเข้าไปเพ่งไตรลักษณ์มีอนิจลักษณะเป็นต้น. ก็กิจคือการเข้าไปเพ่ง ด้วยวิปัสสนาย่อมสำเร็จด้วยมรรค เพราะเหตุนั้น มรรคท่านเรียกว่า ลักขณูนิฌาน. ส่วนผล ท่านก็เรียกว่า ลักขณูนิฌาน เพราะอรรถว่า เข้าไปเพ่งลักษณะที่แท้จริงแห่งนิโรธ. แต่ในอรรถนี้ ท่านประสงค์เอาอารัมมณูปนิชฌานเท่านั้นว่า ฌาน.
               ในอธิการว่าด้วยฌานนี้ พระอาจารย์ผู้โจทก์ท้วงว่า ชื่อว่าฌานที่ควร จะพึงอ้างถึงอย่างนี้ว่า เป็นไปกับด้วยวิตก เป็นไปกับด้วยวิจาร ฯลฯ มีปีติและสุข ดังนี้ นั้นเป็นไฉนเล่า?
               ข้าพเจ้าจะกล่าวเฉลยต่อไป :-
               เปรียบเหมือนบุรุษคนอื่นเว้นทรัพย์และปริชนเสีย ย่อมเป็นผู้ไม่สมควรภาวะที่จะพึงอ้างถึงในประโยคมีอาทิว่า ผู้มีทรัพย์ ผู้มีปริชน ฉันใด ฌานอื่น เว้นธรรมมีวิตกเป็นต้นเสีย ควรจะพึงอ้างถึง ย่อมไม่มี ฉันนั้น. เหมือนอย่างว่า การสมมติว่าเสนา ในองค์เสนาทั้งหลายที่ชาวโลกกล่าวว่า เสนา มีพลรถ มีพลเดินเท้า ดังนี้นั่นแล บัณฑิตควรทราบฉันใด ในอธิการนี้ก็ควรทราบ การสมมติว่าฌาน ในองค์ ๕ นั้นแลฉันนั้น.
               ควรทราบในองค์ ๕ เหล่าไหน? ในองค์ ๕ เหล่านี้ คือ วิตก ความตรึก วิจาร ความตรอง ปีติ ความอิ่มใจ สุข ความสบายใจ จิตเตกัคคตา ความที่จิตมีอารมณ์เดียว.
               จริงอยู่ องค์ ๕ เหล่านี้แหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยความเป็นองค์แห่งฌานนั้น โดยนัยมีอาทิว่า เป็นไปกับด้วยวิตก เป็นไปกับด้วยวิจาร.
               ถ้าหากพระอาจารย์ผู้โจทก์พึงท้วงว่า เอกัคคตา (ความที่จิตมีอารมณ์เดียว) จัดเป็นองค์ (แห่งฌาน) ไม่ได้ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสไว้ (ในบาลีแห่งฌาน) มิใช่หรือ?
               แก้ว่า ก็คำที่ท่านกล่าวนั้น ย่อมไม่ถูก.
               ถามว่า เพราะเหตุอะไร?
               แก้ว่า เพราะจิตเตกัคคตาแม้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในบาลีแห่งฌานนั่นเอง.
               จริงอยู่ จิตเตกัคคตาแม้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แน่นอนในคัมภีร์วิภังค์อย่างนี้ว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข จิตเตกัคคตา ชื่อว่า ฌาน.๑- เพราะฉะนั้น คำที่ท่านกล่าวไว้ว่า เป็นไปกับด้วยวิตก เป็นไปกับด้วยวิจาร ดังนี้ ฉันใด แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสไว้ในอธิการนี้ว่า สจิตเตกัคคตา แม้จิตเตกัคคตา ก็ควรทราบว่า เป็นองค์ (แห่งฌาน) ทีเดียว ตามพระบาลีในคัมภีร์วิภังค์นี้ ฉันนั้น.
               จริงอยู่ อุเทศ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำไว้แล้วด้วยพระประสงค์ใด อุเทศนั้นนั่นเอง ก็เป็นอันพระองค์ทรงประกาศไว้แล้ว แม้ในคัมภีร์วิภังค์ ด้วยพระประสงค์นั้นแล.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๕๓.

               [ความหมายแห่งอุปสัมปัชชศัพท์]               
               บทว่า อุปสมฺปชฺช แปลว่า เข้าไปใกล้แล้ว. ท่านอธิบายว่าบรรลุแล้ว. อีกอย่างหนึ่ง ท่านอธิบายว่า ให้เข้าถึงพร้อมแล้ว คือให้สำเร็จแล้ว.
               แต่ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า บทว่า อุปสมฺปชฺช คือความได้ ความกลับได้ ความถึง ความถึงพร้อม ความถูกต้อง ความทำให้แจ้ง ความบรรลุ ซึ่งปฐมฌาน.๑- เนื้อความแห่งคำแม้นั้น ก็พึงทราบเหมือนอย่างนั้นแล.
               บทว่า วิหาสึ ความว่า เราเป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยฌานมีประการดังกล่าวแล้วอย่างนี้ จึงยังการสืบเนื่องกัน การประพฤติเป็นไป การรักษา การเป็นไป การให้เป็นไป การเที่ยวไป การพักอยู่แห่งอัตภาพให้สำเร็จ ด้วยอิริยาบถวิหาร กล่าวคือการนั่งอยู่ ณ โพธิมัณฑ์.
               ข้อนี้ สมจริงดังที่พระองค์ตรัสไว้ในคัมภีร์วิภังค์ว่า บทว่า วิหรติ ความว่า สืบเนื่องกันอยู่ ประพฤติเป็นไปอยู่ รักษาอยู่ เป็นไปอยู่ ให้เป็นไปอยู่ เที่ยวไปอยู่ พักอยู่ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า พักอยู่.๒-
               ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำอะไร จึงทรงเข้าฌานนี้อยู่?
               แก้ว่า ทรงเจริญกรรมฐาน.
               ถามว่า ทรงเจริญกรรมฐานอะไร?
               แก้ว่า ทรงเจริญอานาปานสติกรรมฐาน.
               ถามว่า คนอื่น ผู้มีความต้องการอานาปานสติกรรมฐานนั้นควรทำอย่างไร?
               แก้ว่า แม้คนอื่น ก็ควรเจริญกรรมฐานนั้น หรือบรรดากรรมฐานทั้งหลายมีปฐวีกสิณเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง.
               นัยแห่งการเจริญอานาปานสติกรรมฐานเป็นต้นเหล่านั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรคนั่นแล. ก็เมื่อข้าพเจ้าจะกล่าวนัยแห่งการเจริญไว้ในอธิการนี้ นิทานแห่งพระวินัยก็จะเป็นภาระหนักยิ่ง.
               เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะทำเพียงการประกาศเนื้อความแห่งพระบาลีเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๕๗.
๒- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๒๗.

               กถาว่าด้วยปฐมฌาน จบ.               
               ------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]
อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=1&Z=315
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๔
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :