ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 397อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 414อ่านอรรถกถา 1 / 421อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา เตรสกัณฑ์
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๔

               พรรณนาสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๔               
               อัตตกามปาริจริยสิกขาบทว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา เป็นต้น ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               วินิจฉัยในอัตตกามปาริจริยสิกขาบทนั้น พึงทราบดังนี้ :-

               [แก้อรรถปฐมบัญญัติเรื่องพระอุทายี]               
               บทว่า กุลุปโก ความว่า เป็นผู้เข้าใกล้ชิดตระกูล คือ เป็นผู้ขวนขวายเป็นนิตย์ในการเข้าหาตระกูล เพื่อต้องการปัจจัย ๔.
               บทว่า จีวรปิณฺฑปาตเสนาสนคิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขารํ ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร.
               ก็ในบทว่า คิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขารํ นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               ที่ชื่อว่าปัจจัย เพราะอรรถว่า ทำการบำบัด. คำว่า ปัจจัย เป็นชื่อแห่งเภสัชอันสบายชนิดใดชนิดหนึ่ง. ชื่อว่ากรรมของหมอ เพราะหมอนั้นอนุญาต ฉะนั้นจึงชื่อว่าเภสัช. คิลานปัจจัยด้วย เภสัชด้วย ชื่อว่าคิลานปัจจัยเภสัช.
               มีคำอธิบายว่า การงานของหมอมีน้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้นชนิดใดชนิดหนึ่ง เป็นที่สบายแก่คนไข้. ก็เครื่องล้อม ท่านเรียกว่า บริขาร ในคำเป็นต้นว่า เมืองเป็นอันเขาล้อมดีแล้วด้วยเครื่องล้อมเมือง ๗ ชั้น๑- ดังนี้. เครื่องประดับท่านก็เรียกว่า บริขาร ในคำเป็นต้นว่า รถมีเครื่องประดับขาว มีฌานเป็นเพลา มีความเพียรเป็นล้อ๒- ดังนี้. เครื่องค้ำจุน ท่านเรียกว่า บริขาร ในประโยคเป็นต้นว่า เครื่องค้ำจุนชีวิตแม้เหล่านี้อันบรรพชิตพึงแสวงหา๓- ดังนี้.
               ในบทว่า คิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขารํ นี้ย่อมควรทั้งเครื่องค้ำจุน ทั้งเครื่องล้อม. แท้จริง คิลานปัจจัยเภสัชนั้นเป็นเครื่องล้อมชีวิตบ้าง เพราะไม่ให้ช่องแก่ความเกิดขึ้นแห่งอาพาธอันจะยังชีวิตให้พินาศ เป็นเครื่องค้ำจุนบ้าง เพราะเป็นเหตุให้ชีวิตนั้น เป็นไปได้นาน เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า บริขาร พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า คิลานปัจจัยเภสัชนั้นด้วยเป็นบริขารด้วย โดยนัยดังกล่าวมานี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร. ซึ่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขารนั้น.
____________________________
๑- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๖๔
๒- สํ. มหาวาร. เล่ม ๑๙/ข้อ ๒๔
๓- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๓๕

               บทว่า วสลํ แปลว่า เลว คือชั่วช้า. อีกนัยหนึ่ง ผู้ที่ชื่อว่า วสละ เพราะอรรถว่า ไหลออกมา. อธิบายว่า ย่อมหลั่งออก.
               บทว่า นิฏฺฐหิตฺวา แปลว่า บ้วนเขฬะให้ตกไป.
               ด้วยคำว่า กิสฺสาหํ เกน หายามิ ดังนี้ หญิงนั้นแสดงว่า เราจะด้อยกว่าหญิงอื่นคนไหน? ว่าโดยอะไร? คือว่าโดยโภคะก็ตาม โดยเครื่องแต่งตัวก็ตาม โดยรูปร่างก็ตาม หญิงชื่ออะไรเล่า? จะเป็นผู้ดียิ่งไปกว่าเรา.
               บทว่า สนฺติเก แปลว่า ยืนอยู่ในที่ใกล้เคียง คือในที่ไม่ไกลโดยรอบ. แม้ด้วยบทภาชนะ ท่านก็แสดงเนื้อความอย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อตฺตกามปาริจริยาย ความว่า การบำเรอด้วยกามกล่าวคือเมถุนธรรม ชื่อว่า กามปาริจริยา. การบำเรอด้วยกามเพื่อประโยชน์แก่ตน ชื่อว่า อัตตกามปาริจริยา. อีกอย่างหนึ่ง การบำเรอที่ตนใคร่ คือปรารถนา เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า อัตตกามา.
               อธิบายว่า อันภิกษุเองปรารถนาแล้วด้วยอำนาจแห่งความกำหนัดในเมถุน การบำเรอนั้นด้วยอันตนให้ใคร่ด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อัตตกามปาริจริยา. แห่งการบำเรอด้วยกามเพื่อประโยชน์แก่ตน (หรือแห่งการบำเรออันตนใคร่) นั้น.

               [อธิบายสิกขาบทวิภังค์จตุตถสังฆาทิเสส]               
               สองบทว่า วณฺณํ ภาเสยฺย ความว่า พึงประกาศคุณ คืออานิสงส์. ในอรรถวิกัปทั้งสองนั้น เพราะในอรรถวิกัปนี้ว่า การบำเรอกามเพื่อประโยชน์ตน ได้ใจความ คือ กาม ๑ เหตุ ๑ การบำเรอ ๑ พยัญชนะยังเหลือ ในอรรถวิกัปนี้ว่า การบำเรอนั้นด้วย อันตนใคร่ด้วย ชื่ออัตตกามปาริจริยา ได้ใจความ คือ ความประสงค์ ๑ การบำเรอ ๑ พยัญชนะยังเหลือ เพราะเหตุนั้นเพื่อไม่ทำความเอื้อเฟื้อในพยัญชนะแสดงแต่ใจความเท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบทภาชนะว่า คือเป็นเหตุแห่งตน เป็นที่ประสงค์แห่งตน.
               จริงอยู่ เมื่อตรัสคำว่า การบำเรอตน บัณฑิตทั้งหลายจักทราบว่า การบำเรอด้วยกามเพื่อประโยชน์แก่ตน ท่านกล่าวแล้วด้วยคำมีประมาณเท่านี้ แม้เมื่อท่านกล่าวคำว่า การบำเรอตนซึ่งเป็นที่ประสงค์แห่งตน บัณฑิตทั้งหลายก็จักทราบว่า การบำเรอที่ตนใคร่ ด้วยอรรถว่า ที่ตนต้องการประสงค์ ท่านกล่าวด้วยคำมีประมาณเท่านี้.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงอาการในการสรรเสริญคุณแห่งการบำเรอตนด้วยกามนั้น จึงตรัสคำว่า เอตทคฺคํ เป็นอาทิ. คำนั้นมีเนื้อความชัดเจนทีเดียว ทั้งโดยอุเทศทั้งโดยนิเทศ.
               ส่วนบทสัมพันธ์ และวินิจฉัยอาบัติในสิกขาบทนี้ พึงทราบดังนี้ :-
               คำว่า เอตทคฺคํ ฯเปฯ ปริจเรยฺย มีความว่า หญิงใดพึงบำเรอผู้ประพฤติพรหมจรรย์มีศีล มีกัลยาณธรรมเช่นเรา ด้วยธรรมนั่น. ขึ้นชื่อว่าการบำเรอนี้ใดของหญิงนั้น ผู้บำเรอผู้ประพฤติพรหมจรรย์เช่นเราอย่างนั้น, การบำเรอนี้เป็นยอดของการบำเรอทั้งหลาย.
               สองบทว่า เมถุนูปสํหิเตน สงฺฆาทิเสโส มีความว่า ภิกษุใด เมื่อกล่าวคุณแห่งการบำเรอตนด้วยกามอย่างนั้น พึงกล่าวด้วยคำพาดพิงเมถุนจังๆ คือหมายเฉพาะเมถุนจังๆ เป็นสังฆาทิเสสแก่ภิกษุนั้น.
               บัดนี้ ท่านปรับสังฆาทิเสสแก่ภิกษุผู้กล่าวด้วยคำพาดพิงเมถุนเท่านั้น เพราะเหตุนั้น จึงไม่เป็นสังฆาทิเสสแม้แก่ภิกษุผู้กล่าวคุณแห่งการบำเรอ ด้วยถ้อยคำมีอาทิอย่างนี้ว่า ฉันก็เป็นกษัตริย์ หล่อนก็เป็นกษัตริย์ นางกษัตริย์สมควรให้แก่กษัตริย์ เพราะมีชาติเสมอกัน. แต่เป็นสังฆาทิเสสแก่ภิกษุผู้กล่าวปริยายแม้มากมีคำว่า ฉันก็เป็นกษัตริย์ หล่อนก็เป็นกษัตริย์เป็นต้น แล้วกล่าวด้วยถ้อยคำพาดพิงเมถุนจังๆ อย่างนี้ว่า หล่อนสมควรให้เมถุนแก่ฉัน.
               คำว่า อิตฺถี จ โหติ เป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วในก่อนนั่นแล.
               พระอุทายีเถระเป็นอาทิกัมมิกะในสิกขาบทนี้ ไม่เป็นอาบัติแก่ท่านผู้เป็นอาทิกัมมิกะฉะนี้แล.
               บทภาชนียวรรณนา จบ.               

               ปกิณกะทั้งปวงมีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนทุฏฐุลลวาจาสิกขาบท.
               แม้วินีตวัตถุทั้งหลายก็มีอรรถชัดเจนทั้งนั้น ด้วยประการฉะนี้.

               พรรณนาสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๔ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา เตรสกัณฑ์ สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๔ จบ.
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 397อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 414อ่านอรรถกถา 1 / 421อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=14204&Z=14567
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=910
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=910
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :