ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 600อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 607อ่านอรรถกถา 1 / 614อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา เตรสกัณฑ์
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๒

               สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๑๒               
               ทุพพจสิกขาบทวรรณนา               
               ทุพพจสิกขาบทว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา เป็นต้น
               ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               ในทุพพจสิกขาบทนั้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-

               [แก้อรรถปฐมบัญญัติเรื่องพระฉันนะ]               
               สองบทว่า อนาจารํ อาจรติ มีความว่า ย่อมกระทำการล่วงละเมิดทางกายทวารและวจีทวาร มีอเนกประการ.
               คำว่า กึ นุ โข นาม นี้ เป็นการกล่าวข่ม (ผู้อื่น).
               คำว่า อหํ โข นาม เป็นคำยก (ตน).
               ด้วยคำว่า ตุมฺเห วเทยฺย ท่านแสดงว่า เราควรจะว่ากล่าวพวกท่านว่า พวกท่าน จงกระทำอย่างนี้ อย่ากระทำอย่างนี้.
               หากผู้ถามจะถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะพระฉันนะกล่าวหมายเอาความประสงค์เป็นต้นอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงม้ากัณฐกะเสด็จออกพร้อมกับเรา ทรงผนวชแล้ว. ครั้นกล่าวว่า พระธรรมของเราแล้ว เมื่อจะแสดงยุติในความเป็นของๆ ตนอีก จึงกล่าวว่า พระธรรมนี้ พระลูกเจ้าของเรา ได้ตรัสรู้แล้ว ดังนี้.
               มีคำอธิบายว่า เพราะว่า สัจจธรรม ๔ อันพระลูกเจ้าของเราแทงตลอดแล้ว ฉะนั้น แม้พระธรรมก็เป็นของเรา. แต่สำคัญพระสงฆ์ว่า ตั้งอยู่ในฝักฝ่ายแห่งคนคู่เวรของตน จึงไม่กล่าวว่า พระสงฆ์ของเรา. แต่ใคร่จะกล่าวเปรียบเปรยรุกรานสงฆ์ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า เสยฺยถาปิ นาม ดังนี้.
               บทว่า ติณกฏฺฐปณฺณสฏํ ได้แก่ หญ้า ไม้ และใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นตกไปในสถานที่นั้นๆ. อีกอย่างหนึ่ง หญ้าด้วย ไม้เบาไม่มีแก่นด้วย เหตุนั้นจึงชื่อว่า หญ้าและไม้. ใบไม้แห้ง ชื่อว่า ปัณณสฏะ.
               บทว่า อุสฺสาเทยฺย ได้แก่ พัดไปกองรวมไว้.
               บทว่า ปพฺพเตยฺย ได้แก่ เกิดจากภูเขา. จริงอยู่ แม่น้ำนั้นมีกระแสอันเชี่ยว เพราะฉะนั้น ท่านจึงระบุเอาแต่แม่น้ำนั้นเท่านั้น.
               ในคำว่า สงฺขเสวาลปณกํ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               สาหร่ายที่มีใบ มีรากยาว เรียกว่า จอก. สาหร่ายสีเขียว เรียกว่าสาหร่าย. สาหร่ายที่เหลือ มีตะไคร้น้ำและแหนเป็นต้น แม้ทั้งหมดถึงการนับว่า แหน.
               ด้วยคำว่า เอกโต อุสฺสาทิตา ท่านแสดงว่า แม้อันใครๆ ประมวลมาแล้ว คือทำเป็นกองไว้ในที่เดียวกัน.
               บทว่า ทุพฺพจชาติโก ได้แก่ มีภาวะแห่งบุคคลผู้ว่ายาก.
               อธิบายว่า ผู้อันใครๆ ไม่อาจว่ากล่าวได้.
               แม้ในบทภาชนะแห่งบทว่า ทุพฺพจชาติโก นั้น บทว่า ทุพฺพโจ ได้แก่ ผู้อันเขากล่าวสอนได้โดยยาก คือโดยลำบาก.
               มีคำอธิบายว่า อันใครๆ ไม่อาจว่ากล่าวได้โดยง่าย.
               บทว่า โทวจสฺสกรเณหิ คือ (ด้วยธรรม) อันกระทำความเป็นผู้ว่ายาก.
               อธิบายว่า ก็ธรรมทั้งหลายเหล่าใด ย่อมทำบุคคลให้เป็นผู้ว่ายาก, เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมเหล่านั้น.
               ก็บัณฑิตพึงทราบธรรมเหล่านั้นมี ๑๙ อย่าง๑- คือความเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ๑ ความยกตนข่มผู้อื่น ๑ ความเป็นคนมักโกรธ ๑ ความผูกโกรธ เพราะความโกรธเป็นเหตุ ๑ ความเป็นผู้มักระแวงเพราะความโกรธเป็นเหตุ ๑ ความเป็นผู้เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธเพราะความโกรธเป็นเหตุ ๑ ความกลับเป็นผู้โต้เถียงโจทก์ ๑ ความเป็นผู้กลับรุกรานโจทก์ ๑ ความเป็นผู้กลับปรักปรำโจทก์ ๑ ความกลบเรื่องอื่นด้วยเรื่องอื่น ๑ ความเป็นผู้ไม่พอใจตอบด้วยความประพฤติ ๑ ความเป็นผู้ลบหลู่ตีเสมอ ๑ ความเป็นคนริษยาเป็นคนตระหนี่ ๑ ความเป็นคนโอ้อวดเจ้ามายา ๑ ความเป็นคนกระด้างดูหมิ่นผู้อื่น ๑ ความเป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ๑ ความเป็นคนถือรั้น ๑ ความเป็นผู้ถอนได้ยาก ๑ อันมาแล้วในอนุมานสูตรตามลำดับ โดยนัยมีว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมอันทำความเป็นคนว่ายากเหล่าไหน? ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ดังนี้ เป็นต้น.
               ผู้ใดไม่อด ไม่ทนโอวาท, เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า อักขมะ. ผู้ใด เมื่อไม่ปฏิบัติตามที่ท่านพร่ำสอน ไม่รับอนุสาสนีโดยเบื้องขวา เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่ามีปกติไม่รับโดยเบื้องขวาซึ่งอนุสาสนี.
____________________________
๑- มีเพียง ๑๘ แม้ในอนุมานสูตร ก็มีเพียง ๑๖. ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๒๑.

               บทว่า อุทฺเทสปริยาปนฺเนสุ ได้แก่ นับเนื่องในอุเทศ คือรวมลงในภายใน. ความว่า เป็นไปภายในปาฏิโมกขุทเทส เพราะท่านสงเคราะห์อย่างนี้ว่า อาบัติมีแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเปิดเผย.
               สองบทว่า สหธมฺมิกํ วุจฺจมาโน ได้แก่ อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่โดยชอบสหธรรม. นี้เป็นทุติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ.
               อธิบายว่า อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ด้วยสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ อันได้นามว่า สหธรรมิก เพราะเป็นสิกขาอันสหธรรมิก ๕ พึงศึกษา หรือเพราะเป็นของสหธรรมิก ๕ เหล่านั้น.
               คำว่า วิรมถายสฺมนฺโต มม วจนาย มีความว่า พวกท่านว่ากล่าวข้าพเจ้าด้วยคำใด, จงเลิกจากคำนั้น ตามคำของข้าพเจ้า. มีคำอธิบายว่า พวกท่านจงอย่ากล่าวคำนั้นกะข้าพเจ้า.
               คำว่า วเทตุ สหธมฺเมน มีความว่า ท่านผู้มีอายุจงว่ากล่าวด้วยสิกขาบทอันเป็นสหธรรม หรือด้วยคำแม้อื่นอันเป็นสหธรรม คือเป็นไปเพื่อความเลื่อมใส.
               ศัพท์ว่า ยทิทํ เป็นนิบาต ลงในอรรถ คือแสดงเหตุแห่งความเจริญ.
               ด้วยคำว่า ยทิทํ นั้น ย่อมเป็นอันท่านแสดงเหตุแห่งความเจริญของบริษัทอย่างนี้ว่า การพูดแนะประโยชน์แก่กันและกัน และการยังกันและกันให้ออกจากอาบัตินี้ใด, บริษัทเจริญแล้ว ด้วยการว่ากล่าวกันและด้วยการยังกันและกันให้ออกจากอาบัตินั้น.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวง ตื้นทั้งนั้น.
               แม้สมุฏฐานเป็นต้น ก็เป็นเช่นกับปฐมสังฆเภทสิกขาบทนั้นแล.

               ทุพพจสิกขาบทวรรณนา จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา เตรสกัณฑ์ สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 600อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 607อ่านอรรถกถา 1 / 614อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=18735&Z=18862
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=2632
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=2632
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :