ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 85อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 90อ่านอรรถกถา 1 / 121อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา ทุติยปาราชิกสิกขาบท
บทภาชนีย์ มาติกา ภุมมัฏฐวิภาคเป็นต้น

หน้าต่างที่ ๔ / ๔.

               กถาว่าด้วยด่านภาษี               
               ชนทั้งหลายย่อมตระบัดภาษีจากที่นั้น เหตุนั้น ที่นั้นชื่อว่าสุงกฆาฏะ ที่เป็นแดนตระบัดภาษี. คำว่า สุงกฆาฏะ นั่นเป็นชื่อของด่านภาษี.
               จริงอยู่ ด่านภาษีนั้น ท่านเรียกว่า สุงกฆาฏะ เพราะเหตุที่ชนทั้งหลาย เมื่อไม่ยอมให้ของควรเสียภาษี เป็นค่าภาษีนำออกไปจากที่นั้น ชื่อว่าตระบัด คือ ยังภาษีของพระราชาให้สูญหายไป.
               สองบทว่า ตตฺร ปวิสิตฺวา มีความว่า เข้าไปในด่านภาษีที่พระราชาทรงทำกำหนดตั้งไว้ในที่ทั้งหลาย มีเขาขาดเป็นต้นนั้น.
               สองบทว่า ราชคฺฆํ ภณฺฑํ ได้แก่ ภัณฑะที่ควรแก่พระราชา.
               อธิบายว่า ภาษีมีราคา ๕ มาสก หรือเกินกว่า ๕ มาสก เป็นของที่ตนควรถวายแด่พระราชา จากภัณฑะใด, ภัณฑะนั้น. ปาฐะว่า ราชกํ บ้าง. เนื้อความอย่างนี้เหมือนกัน. ภิกษุมีไถยจิต คือยังไถยจิตให้เกิดขึ้นว่า เราจะไม่ให้ภาษีแก่พระราชาจากภัณฑะนี้ แล้วลูบคลำภัณฑะนั้น ต้องทุกกฏ, หยิบจากที่ที่วางไว้ใส่ในย่าม หรือผูกติดกับขาไว้ในที่ปิดบัง ต้องถุลลัจจัย, กิริยาที่ให้เคลื่อนจากฐาน ชื่อว่ายังไม่มี เพราะเขตแห่งปาราชิก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดด้วยด่านภาษี, ภิกษุยังเท้าที่ ๒ ให้ก้าวข้ามเขตกำหนดด่านภาษีไป ต้องปาราชิก.
               สองบทว่า พหิ สุงฺกฆาฏํ ปาเตติ มีความว่า ภิกษุอยู่ภายในนั่นเองเห็นราชบุรุษทั้งหลายเมินเหม่อเสีย จึงขว้างไป เพื่อต้องการให้ตกไปภายนอก ถ้าภัณฑะนั้นเป็นของจะตกได้แน่นอน พอหลุดจากมือ เธอต้องปาราชิก. ถ้าภัณฑะนั้นกระทบต้นไม้หรือตอไม้ หรือถูกกำลังลมแรงหอบไปตกในภายในนั่นแลอีก ยังคุ้มได้. เธอหยิบขว้างไปอีก ต้องปาราชิก ตามนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล. ถ้าภัณฑะนั้นตกที่พื้นดิน แล้วกลิ้งเข้ามาข้างในอีก เธอต้องปาราชิกเหมือนกัน.
               ส่วนในกุรุนทีและสังเขปอรรถกถากล่าวว่า ถ้าภัณฑะนั้นตกข้างนอก หยุดแล้วจึงกลิ้งเข้าไป เธอต้องปาราชิก ถ้ายังไม่ทันหยุดเลยกลิ้งเข้าไป ยังคุ้มได้. ภิกษุอยู่ภายในใช้มือหรือเท้าหรือไม้เท้า เขี่ยกลิ้งไป หรือว่าให้ผู้อื่นกลิ้งไป, ถ้าภัณฑะนั้นไม่หยุด กลิ้งออกไปต้องปาราชิก. ภัณฑะนั้นหยุดข้างในแล้วจึงออกไปข้างนอก ยังคุ้มได้. ภัณฑะที่ภิกษุวางไว้ภายในด้วยคิดว่า จักกลิ้งออกไปเองหรือว่าผู้อื่นจักให้มันกลิ้งออกไป ภายหลังกลิ้งเองหรือผู้อื่นกลิ้งออกไปข้างนอก ยังคุ้มได้เหมือนกัน. แต่ในภัณฑะที่ภิกษุวางไว้ด้วยจิตบริสุทธิ์และกลิ้งออกไปอย่างนั้น ไม่มีคำที่จะพึงกล่าวเลย.
               ภิกษุทำห่อสองห่อให้ติดกันเป็นพวงเดียว วางไว้ระหว่างแดนของด่านภาษี แม้ว่าค่าภาษีในห่อนอกจะได้ราคาบาทหนึ่งก็จริง ถึงกระนั้นห่อในยังคุ้มไว้ได้ เพราะเนื่องเป็นพวงเดียวกันกับห่อนอกนั้น. แต่ถ้าเธอย้ายห่อที่อยู่ภายในไปวางไว้ข้างนอก ต้องปาราชิก. แม้ในหาบที่ภิกษุทำให้เนื่องเป็นอันเดียวกันวางไว้ ก็มีนัยเหมือนกัน. แต่ถ้าภัณฑะนั้นเป็นของไม่ได้ผูก สักว่าพาดไว้บนปลายคานเท่านั้น เป็นปาราชิก.
               ภิกษุวางไว้ในยานหรือบนหลังม้าเป็นต้นซึ่งกำลังไป ด้วยทำในใจว่า ภัณฑะนี้มันจักนำออกไปในภายนอก เมื่อภัณฑะนั้นถูกนำออกไปแล้ว อวหารย่อมไม่มี แม้ภัณฑไทยก็ไม่มี. เพราะเหตุไร? เพราะพระราชาพิกัดไว้ว่า จงเก็บภาษีแก่คนผู้เข้ามาในที่นี้, จริงอยู่ ภัณฑะนี้ ภิกษุตั้งไว้นอกด่านภาษี และเธอมิได้นำไป เพราะฉะนั้นจึงไม่มีภัณฑไทย ไม่เป็นปาราชิก. แม้ในภัณฑะที่วางไว้ในยานที่จอดอยู่เป็นต้น ครั้นเมื่อยานเป็นต้นนั้นไป เว้นประโยคของภิกษุนั้น แม้เมื่อมีไถยจิต อวหารย่อมไม่มีเหมือนกัน. แต่ถ้าภิกษุวางแล้ว ขับยานเป็นต้นไปอยู่ ให้ก้าวล่วงไปก็ดี ยืนข้างหน้าแล้วเรียกว่า มาเถิดโว้ย ดังนี้ เพราะความที่ตนสั่งสมไว้ในมนต์ทั้งหลายมีมนต์เรียกช้างเป็นต้นก็ดี ต้องปาราชิก ในขณะก้าวล่วงแดนไป.
               ในเอฬกโลมสิกขาบท ไม่เป็นอาบัติในฐานะนี้ คือภิกษุให้ผู้อื่นนำขนเจียมไป, ในสิกขาบทนี้เป็นปาราชิก. ในเอฬกโลมสิกขาบทนั้น ภิกษุใส่ขนเจียมในยานหรือภัณฑะของชนอื่นผู้ไม่รู้ ให้ก้าวล่วงสามโยชน์ไป, ขนเจียมเป็นนิสสัคคีย์ เพราะเหตุนั้น ภิกษุต้องปาจิตตีย์, ในสิกขาบทนี้หาเป็นอาบัติไม่. ภิกษุเสียภาษีที่ด่านภาษีก่อนแล้วจึงไป ควรอยู่.
               ภิกษุรูปหนึ่งทำความผูกใจไว้แล้วไป ด้วยคิดว่า ถ้าเจ้าพนักงานภาษีทวงว่า ท่านจงให้ค่าภาษี เราก็จักให้, ถ้าพวกเขาไม่ทวง เราจักไป ดังนี้. เจ้าพนักงานภาษีคนหนึ่งได้เห็นภิกษุรูปนั้นจึงกล่าวว่า ภิกษุรูปนี้จะไป, พวกท่านจงเก็บค่าภาษีภิกษุนั้น. เจ้าพนักงานภาษีอีกนายหนึ่งพูดขึ้นว่า บรรพชิตจักมีค่าภาษีแต่ที่ไหนเล่า นิมนต์ไปเถิด ดังนี้, เป็นอันได้ข้ออ้าง ภิกษุควรไป. ภิกษุทั้งหลายที่ยังไม่เสียค่าภาษีเสียก่อน ไป ไม่ควร, ก็เพราะเหตุนั้น เมื่อภิกษุพูดว่า รับเอาเถิด อุบาสก ดังนี้ก็ดี เมื่อเจ้าพนักงานภาษีพูดว่า เมื่อเราจะเก็บค่าภาษีของภิกษุ ก็จะต้องเอาบาตรและจีวร จะมีประโยชน์อะไรด้วยบาตรและจีวรนั้น นิมนต์ไปเถิด ดังนี้ก็ดี เป็นอันได้ข้ออ้างทีเดียว.
               ถ้าพวกเจ้าพนักงานภาษีนอนหลับอยู่ก็ดี เล่นสกาอยู่ก็ดี หรือไปในที่ไหนๆ เสียก็ดี, และภิกษุนี้ แม้ร้องเรียนว่า พวกเจ้าพนักงานภาษีอยู่ที่ไหนกัน? ก็ไม่พบเห็น, เป็นอันได้ข้ออ้างเหมือนกัน. แม้ถ้าภิกษุไปถึงด่านภาษีแล้วเผอเรอไป คิดถึงอะไรๆ อยู่ก็ดี สาธยายอยู่ก็ดี ตามประกอบมนสิการอยู่ก็ดี ถูกภยันตราย มีโจร ช้าง ราชสีห์และเสือโคร่งเป็นต้น ลุกวิ่งไล่ติดตามไปก็ดี เห็นมหาเมฆตั้งเค้าขึ้นแล้ว ประสงค์จะเข้าไปยังศาลาข้างหน้าก็ดี ล่วงเลยสถานที่นั้นไป เป็นอันได้ข้ออ้างเหมือนกัน.
               ในคำว่า ภิกษุหลบเลี่ยงภาษี นี้ ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถากุรุนทีว่า ถึงภิกษุก้าวลงสู่อุปจารแล้วหลบเลี่ยงไป ก็จริง ก็เป็นอวหารทีเดียว. แต่ในมหาอรรถกถา ท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อภิกษุเล็งเห็นโทษอย่างเดียวว่า พวกราชบุรุษเบียดเบียนผู้หลบเลี่ยง ดังนี้ จึงก้าวลงสู่อุปจารแล้วหลบเลี่ยงไปเป็นทุกกฏ, เมื่อไม่ได้ก้าวลงเลย แต่หลบเลี่ยงไป ไม่เป็นอาบัติ. คำในมหาอรรถกถานี้ย่อมสมด้วยพระบาลี. ในด่านภาษีนี้ ควรกำหนดอุปจารไว้ ๒ เลฑฑุบาต ฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยด่านภาษี               

               กถาว่าด้วยสัตว์มีชีวิต               
               ถัดจากกถาด่านภาษีนี้ไป พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงสัตว์ที่มีชีวิต ซึ่งพอควรแก่อวหารโดยส่วนเดียว จึงตรัสว่า มนุสฺสปาโณ เป็นต้น. เมื่อภิกษุลักมนุษย์ผู้ยังมีชีวิตแม้นั้น ซึ่งเป็นไทไป ย่อมไม่เป็นอวหาร. แม้มนุษย์ผู้เป็นไทคนใด ถูกมารดาหรือบิดาเอาไปจำนำไว้ หรือตัวเองเอาตัวเป็นประกันไว้ แล้วได้ถือเอาทรัพย์ ๕๐ หรือ ๖๐ กหาปณะไป, เมื่อภิกษุลักเอามนุษย์ผู้เป็นไทแม้คนนั้นไป ก็ไม่เป็นอวหาร. ส่วนทรัพย์ย่อมเพิ่มดอกเบี้ยขึ้นในสถานที่เขาไป. แต่เมื่อภิกษุลักทาสนั่นแล ต่างโดยเป็นทาสที่เกิดในเรือนเบี้ย ทาสสินไถ่และทาสที่ถูกนำมาเป็นเชลย ย่อมเป็นอวหาร.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาทาสผู้เกิดในเรือนเบี้ยเป็นต้นนั้นนั่นแล จึงตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ที่ชื่อว่าสัตว์มีชีวิต เราเรียกคนยังมีชีวิต ดังนี้.

               [บุคคลผู้เป็นทาส ๓ จำพวก]               
               ก็บรรดาทาสเหล่านี้ ทาสที่เกิดในท้องของนางทาสีในเรือนพึงทราบว่า อันโตชาตกะ ทาสที่เกิดภายใน, ทาสที่ซื้อมาด้วยทรัพย์ พึงทราบว่า ธนักกีตกะ ทาสที่ไถ่มาด้วยทรัพย์, บุคคลที่ถูกกวาดต้อนมาจากต่างประเทศ แล้วเข้าถึงความเป็นทาส พึงทราบว่า กรมรานีตะ ทาสที่ถูกนำมาเป็นเชลย.
               ภิกษุคิดว่า เราจักลักมนุษย์ที่มีชีวิตเห็นปานนี้ไป แล้วลูบคลำ ต้องทุกกฏ. เมื่อเธอจับที่มือหรือเท้ายกขึ้น ทำให้ไหว ต้องถุลลัจจัย. เธอใคร่จะยกหนีไป ให้ล่วงเลยจากสถานที่ๆ ยืนอยู่ แม้เพียงปลายเส้นผมไป ต้องปาราชิก. เธอจับที่ผมหรือที่แขนทั้งสองฉุดคร่าไป พึงปรับตามย่างเท้า. ภิกษุคิดว่า เราจักพาเดินไป ขู่หรือตี พลางพูดว่า แกจงไปจากที่นี้. เมื่อเขาไปยังทิศาภาคตามที่ภิกษุนั้นสั่ง เธอต้องปาราชิกในย่างเท้าที่ ๒. แม้ภิกษุเหล่าใดมีฉันทะร่วมกับภิกษุนั้น เป็นปาราชิก ในขณะเดียวกันแก่ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด.
               ภิกษุเห็นทาสแล้ว ถามถึงสุขทุกข์หรือไม่ถามก็ตาม พูดว่า แกจงไป จงหนีไปอยู่เป็นสุขเถิด. ถ้าทาสคนนั้นหนีไปไซร้. เธอต้องปาราชิกในย่างเท้าที่ ๒. ภิกษุรูปอื่นพูดกะทาสคนนั้น ผู้เข้ามาสู่สำนักของตนว่า แกจงหนีไป. ถ้าภิกษุตั้งร้อยรูปพูดกะทาสผู้เข้ามาสู่สำนักของตนๆ ตามลำดับ ก็เป็นปาราชิกด้วยกันทั้งหมด.
               ส่วนภิกษุรูปใดพูดกะทาสผู้กำลังวิ่งหนีไปนั่นเองว่า แกจงหนีไปตลอดเวลาที่เจ้าของยังจับแกไม่ได้, เธอรูปนั้นไม่ต้องอาบัติปาราชิก. แต่ถ้าเธอพูดกะทาสผู้ค่อยๆ เดินไป และทาสคนนั้นรีบจ้ำเดินไปตามคำของภิกษุนั้น เป็นปาราชิก, เมื่อภิกษุเห็นทาสผู้หนีไปยังบ้านหรือประเทศอื่น แล้วไล่ให้หนีไป แม้จากที่นั้นเป็นปาราชิกเหมือนกัน. ชื่อว่าอทินนาทาน ย่อมพ้นได้โดยปริยาย.
               จริงอยู่ ภิกษุรูปใดพูดอย่างนี้ว่า เธอทำอะไรอยู่ในที่นี้? เธอหนีไปไม่ควรหรือ? ก็ดี ว่า การที่เธอไปในที่ไหนๆ แล้ว มีชีวิตอยู่อย่างสบายไม่ควรหรือ? ก็ดี ว่า พวกทาสและสาวใช้พากันหนีไปยังประเทศชื่อโน้นแล้ว ย่อมเป็นอยู่อย่างสบาย ก็ดี, และเขาได้ฟังคำพูดของภิกษุนั้นแล้ว ก็หนีไป, ย่อมไม่เป็นอวหาร.
               ฝ่ายภิกษุใดพูดว่า พวกอาตมาจะไปยังประเทศชื่อโน้น ผู้ไปในประเทศนั้นแล้ว ย่อมเป็นอยู่อย่างสบาย, และเมื่อพวกท่านไปพร้อมกับพวกอาตมา จะไม่มีความลำบากด้วยเสบียงทางเป็นต้น แม้ในระหว่างทางดังนี้แล้ว พาเอาทาสผู้มาพร้อมกับตนไป, ภิกษุรูปนั้นไม่ต้องปาราชิกด้วยไถยจิต ทั้งอวหารก็ไม่มีเลย เพราะอำนาจแห่งการเดินทาง และเมื่อมีพวกโจรดักอยู่ในระหว่างทาง แม้เมื่อภิกษุกล่าวว่า เฮ้ย พวกโจรซุ่มดักแล้ว, แกจงรีบหนีไป จงรีบมาไป ดังนี้ พระอาจารย์ทั้งหลายก็ไม่ปรับเป็นอวหาร เพราะเธอกล่าวเพื่อต้องการให้พ้นจากอันตรายแต่โจร ด้วยประการฉะนี้.
               จบกถาว่าด้วยสัตว์มีชีวิต               

               กถาว่าด้วยสัตว์ไม่มีเท้า               
               บรรดาสัตว์ไม่มีเท้าทั้งหลาย ที่ชื่อว่างู มีเจ้าของ คืองูที่พวกหมองูเป็นต้นจับไว้ เมื่อให้เล่น ย่อมได้ค่าดูกึ่งบาทบ้าง บาทหนึ่งบ้าง กหาปณะหนึ่งบ้าง, แม้เมื่อจะปล่อยออก ก็รับเอาเงินและทองแล้วแลจึงปล่อยออก. เจ้าของงูเหล่านั้นไปยังโอกาสที่ภิกษุบางรูปนั่งแล้ววางกล่องงูไว้ นอนหลับไปหรือไปในที่ไหนๆ เสีย. ถ้าภิกษุนั้นจับกล่องนั้นในสถานที่นั้นด้วยไถยจิต ต้องทุกกฏ. ทำให้ไหวต้องถุลลัจจัย, ให้เคลื่อนจากฐาน ต้องปาราชิก. แต่ถ้าเธอเปิดกล่องออกแล้วจับงูที่คอ ต้องทุกกฏ, ยกงูขึ้นต้องถุลลัจจัย, เมื่อเธอยกขึ้นให้ตรงๆ พอเมื่อหางงูพ้นจากพื้นกล่องเพียงปลายเส้นผม ก็ต้องปาราชิก.
               เมื่อเธอดึงครูดออกไป พอหางงูพ้นจากขอบปาก (กล่อง) ไป ต้องปาราชิก. เธอเปิดปากกล่องออกนิดหน่อยแล้ว ตี หรือร้องเรียกออกชื่อว่า เฮ้ย จงเลื้อยออกมา แล้วให้เลื้อยออก ต้องปาราชิก.
               เธอเปิดออกเหมือนอย่างนั้นแล้วจึงทำเสียงกบร้อง หรือเสียงหนูร้อง หรือโปรยข้าวตอกลงก็ตาม แล้วร้องเรียกออกชื่อ หรือดีดนิ้วมือก็ตาม แม้เมื่องูเลื้อยออกไปด้วยกิริยาที่ทำเสียงเป็นต้นอย่างนั้น ก็ต้องปาราชิก. เมื่อเธอไม่ได้เปิดปากออก แต่ได้ทำกิริยาอย่างนั้น งูหิวจัด จึงชูศีรษะขึ้นดันฝากล่อง ทำช่องแล้วก็เลื้อยหนีไป เป็นปาราชิกเหมือนกัน. แต่เมื่อเธอเปิดปากออกแล้ว งูเลื้อยออกหนีไปเสียเอง ย่อมเป็นภัณฑไทย. แม้ถ้าเธอเปิดปากออกก็ตาม ไม่ได้เปิดออกก็ตาม แต่ได้ทำเป็นเสียงกบและเสียงหนูร้อง หรือโปรยข้าวตอกลงเท่านั้นอย่างเดียว ไม่ได้ร้องเรียกระบุชื่อ หรือไม่ได้ดีดนิ้วมือ, เพราะหิวจัด งูคิดว่าจักกินกบเป็นต้น จึงเลื้อยออกหนีไป เป็นภัณฑไทยเหมือนกัน.
               ในอธิการนี้ ปลาอย่างเดียวมาแล้วด้วย อปท ศัพท์. ก็คำที่จะพึงกล่าวในปลานี้ ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในภัณฑะตั้งอยู่ในน้ำนั่นเทียว ฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยสัตว์ไม่มีเท้า               

               กถาว่าด้วยสัตว์ ๒ เท้า               
               บรรดาสัตว์สองเท้าทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงจำพวกสัตว์ ๒ เท้า ซึ่งใครๆ อาจลักเอาไปได้ จึงตรัสคำว่า มนุสฺสา ปกฺขชาตา เป็นต้น.
               ส่วนพวกเทวดา ใครๆ ไม่อาจลักเอาไปได้.
               ที่ชื่อว่านก เพราะอรรถว่า สัตว์เหล่านั้นมีปีกเกิดแล้ว. สัตว์มีปีกเหล่านั้นมี ๓ จำพวก คือ มีขนเป็นปีกจำพวกหนึ่ง มีหนังเป็นปีกจำพวกหนึ่ง มีกระดูกเป็นปีกจำพวกหนึ่ง, บรรดาสัตว์เหล่านั้น นกยูงและไก่เป็นต้น พึงทราบว่ามีขนเป็นปีก, ค้างคาวเป็นต้น พึงทราบว่ามีหนังเป็นปีก, แมลงภู่เป็นต้นพึงทราบว่า มีกระดูกเป็นปีก.
               ในอธิการนี้ มนุษย์และนกเหล่านั้นทั้งหมดมาแล้วด้วยทวิปทศัพท์ล้วนๆ. ส่วนคำที่จะพึงกล่าวในสัตว์ ๒ เท้านี้ ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในภัณฑะที่อยู่ในอากาศ และสัตว์มีชีวิตนั่นเทียว ฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยสัตว์ ๒ เท้า               

               กถาว่าด้วยสัตว์ ๔ เท้า               
               พึงทราบวินิจฉัย ในสัตว์ ๔ เท้าต่อไป :-
               ชนิดแห่งสัตว์ ๔ เท้าทั้งหมด ที่เหลือจากที่มาในพระบาลี พึงทราบว่า ปศุสัตว์ สัตว์เลี้ยง. สัตว์ทั้งหลายมีช้างเป็นต้นปรากฏชัดแล้วแล. บรรดาสัตว์มีช้างเป็นต้นเหล่านั้น เมื่อภิกษุลูบคลำช้างด้วยไถยจิต เป็นทุกกฏ, ทำให้ไหว เป็นถุลลัจจัย. ส่วนภิกษุรูปใดมีกำลังมาก ใช้ศีรษะทูนเอาลูกช้างตัวยังอ่อน ที่ต้นสะดือขึ้น เพราะความเมากำลังให้เท้าทั้ง ๔ และงวงพ้นจากดินแม้เพียงปลายเส้นผม, ภิกษุรูปนั้น ต้องปาราชิก.
               แต่ช้างบางเชือกเขาผูกขังไว้ในโรงช้าง, บางเชือกยืนอยู่ ไม่ได้ผูกเลย, บางเชือกยืนอยู่ภายในที่อยู่, บางเชือกยืนอยู่ที่พระลานหลวง.
               บรรดาช้างเหล่านั้น ช้างเชือกที่ผูกคอขังไว้ในโรงช้าง มีฐาน ๕ คือเครื่องผูกที่คอ และเท้าทั้ง ๔ สำหรับช้างเชือกที่เขาเอาโซ่เหล็กผูกไว้ที่คอและที่เท้าข้างหนึ่ง มีฐาน ๖. ช้างเชือกที่เขาผูกไว้ที่คอและที่เท้าทั้ง ๒ มีฐาน ๗. พึงทราบการทำให้ไหว และให้เคลื่อนจากฐาน ด้วยอำนาจแห่งฐานเหล่านั้น.
               โรงช้างทั้งสิ้นเป็นฐานของช้างเชือกที่เขาไม่ได้ผูกไว้, เป็นปาราชิก ในเมื่อให้ก้าวล่วงจากโรงช้างนั้นไป. พื้นที่ภายในที่อยู่ทั้งสิ้นนั่นแล เป็นฐานของช้างเชือกยืนอยู่ภายในที่อยู่, เป็นปาราชิก ในเมื่อให้ล่วงเลยประตูที่อยู่ของช้างนั้นไป. พระนครทั้งสิ้นเป็นฐานของช้างเชือกที่ยืนอยู่ที่พระลานหลวง, เป็นปาราชิก ในเมื่อให้ช้างนั้นล่วงเลยประตูพระนครไป. สถานที่ยืนอยู่นั่นเองเป็นฐานของช้างเชือกที่ยืนอยู่ภายนอกพระนคร.
               ภิกษุเมื่อลักช้างนั้นไป พึงปรับด้วยย่างเท้า. สำหรับช้างที่นอนอยู่ มีฐานเดียวเท่านั้น. เมื่อภิกษุไล่ให้ช้างลุกขึ้น ด้วยไถยจิต พอช้างลุกขึ้นแล้ว เป็นปาราชิก,
               ถึงในม้าก็มีวินิจฉัยเหมือนกันนี้แล. แต่ถ้าม้านั้นถูกเขาล่ามไว้ที่เท้าทั้ง ๔ เทียว พึงทราบว่ามีฐาน ๘. ถึงในอูฐก็มีนัยเช่นนี้. แม้โคบางตัวเป็นสัตว์ที่เขาผูกขังไว้ใกล้เรือน บางตัวยืนอยู่ไม่ได้ผูกไว้เลย, แต่บางตัว เขาผูกไว้ในคอก บางตัวก็ยืนอยู่ไม่ได้ผูกไว้เลย.
               บรรดาโคเหล่านั้น โคที่เขาผูกขังไว้ใกล้เรือน มีฐาน ๕ คือเท้าทั้ง ๔ และเครื่องผูก. เรือนทั้งสิ้นเป็นฐานของโคที่ไม่ได้ผูก. โคที่เขาผูกไว้ในคอกก็มีฐาน ๕. คอกทั้งสิ้นเป็นฐานของโคที่ไม่ได้ผูก. ภิกษุให้โคนั้นล่วงเลยประตูคอกไป ต้องปาราชิก. เมื่อเธอทำลายคอกลักไปให้ล่วงเลยประตูคอกไป เป็นปาราชิก. เธอเปิดประตูออก หรือทำลายคอกแล้ว ยืนอยู่ข้างนอก แล้วร้องเรียกออกชื่อ บังคับให้โคออกมา ต้องปาราชิก. แม้สำหรับภิกษุผู้แสดงกิ่งไม้ที่หักได้ ให้โคเห็นแล้วเรียกมา ก็มีนัยเหมือนกันนั่นแหละ.
               เธอไม่ได้เปิดประตู คอกก็ไม่ได้ทำลาย เป็นแต่สั่นกิ่งไม้ที่หักได้แล้วเรียกโคมา. โคกระโดดออกมาเพราะความหิวจัด เป็นปาราชิกเหมือนกัน.
               แต่ถ้าเมื่อเธอเปิดประตูออก หรือทำลายคอกแล้ว โคก็ออกมาเสียเอง เป็นภัณฑไทย. เธอเปิดประตูหรือไม่ได้เปิดก็ตาม ทำลายคอกหรือไม่ได้ทำลายก็ตาม เป็นแต่สั่นกิ่งไม้ที่หักได้อย่างเดียว ไม่ได้เรียกโค. โคเดินออกมาหรือกระโดดออกมา เพราะความหิวจัด, เป็นภัณฑไทยเหมือนกัน. โคที่เขาล่ามไว้กลางบ้าน ยืนอยู่ตัวหนึ่ง นอนอยู่ตัวหนึ่ง. โคตัวที่ยืนอยู่มีฐาน ๕. ตัวที่นอนอยู่มีฐาน ๒. พึงทราบการทำให้ไหว และให้เคลื่อนจากฐาน ด้วยอำนาจแห่งฐานเหล่านั้น.
               ก็ภิกษุรูปใดไม่ได้ไล่ให้โคที่นอนอยู่ลุกขึ้น แต่ให้ฆ่าเสียในที่นั้นนั่นเอง เป็นภัณฑไทยแก่ภิกษุรูปนั้น. ก็บ้านทั้งสิ้นเป็นฐานของโคตัวยืนอยู่ในบ้านที่ได้ประกอบประตูล้อมไว้เป็นอย่างดี สำหรับโคตัวที่ยืนอยู่ หรือที่เที่ยวไปในบ้านซึ่งไม่ได้ล้อม สถานที่ๆ เท้าทั้ง ๔ ย่ำไปย่ำมานั้นเอง เป็นฐาน.
               แม้ในสัตว์ทั้งหลายมีลาและปศุสัตว์เป็นต้น ก็มีวินิจฉัยเหมือนกันนี้นั่นแล.
               จบกถาว่าด้วยสัตว์ ๔ เท้า               

               กถาว่าด้วยสัตว์มีเท้ามาก               
               พึงทราบวินิจฉัยในสัตว์มีเท้ามากต่อไป :-
               ถ้าวัตถุปาราชิกเต็มด้วยตะขาบตัวเดียว เมื่อภิกษุลักตะขาบตัวนั้นไปด้วยเท้า เป็นถุลลัจจัย ๙๙ ตัว, เป็นปาราชิกตัวเดียว. คำที่เหลือมีนัยดังที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               จบกถาว่าด้วยสัตว์มีเท้ามาก               

               กถาว่าด้วยภิกษุผู้สั่ง               
               ที่ชื่อว่าภิกษุผู้สั่ง เพราะอรรถว่า ประพฤติเลวทราม. ท่านกล่าวอธิบายว่า ย่อมตามเข้าไปข้างใน ในสถานที่นั้นๆ.
               บทว่า โอจริตฺวา ความว่า คอยกำหนด คือคอยตรวจดู.
               บทว่า อาจิกฺขติ ความว่า ภิกษุแกล้งบอกทรัพย์ที่เก็บไว้ไม่ดี ในตระกูลของชนอื่นหรือในวิหารเป็นต้น ซึ่งมิได้จัดการอารักขาไว้แก่ภิกษุรูปอื่นผู้สามารถจะทำโจรกรรมได้.
               หลายบทว่า อาปตฺติ อุภินฺนํ ปาราชิกสฺส ความว่า เธอทั้งสองรูปต้องอาบัติปาราชิก อย่างนี้ คือในทรัพย์ที่จะต้องลักได้แน่นอน ภิกษุผู้สั่งเป็นในขณะสั่ง ภิกษุผู้รับสั่งนอกนี้ เป็นในขณะทำให้เคลื่อนจากฐาน.
               ส่วนภิกษุรูปใดทำปริยายโดยนัยเป็นต้นว่า ในเรือนไม่มีผู้ชาย เขาเก็บทรัพย์ชื่อโน้นไว้ในส่วนหนึ่ง ไม่ได้จัดการอารักขาไว้ ทั้งประตูก็ไม่ได้ปิด, อาจจะลักเอาไปได้ตามทางที่ไปแล้วนั่นแหละ ชื่อว่าบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งที่จะพึงไปลักเอาทรัพย์นั้น มาเลี้ยงชีวิตอย่างลูกผู้ชายไม่มี. และภิกษุรูปอื่นได้ฟังคำนั้นแล้วคิดว่า บัดนี้เราจักลักเอา (ทรัพย์นั้น) จึงเดินไปลัก, เป็นปาราชิกแก่ภิกษุรูปนั้น ในขณะที่ทำให้เคลื่อนจากฐาน. ส่วนภิกษุรูปนี้ไม่เป็นอาบัติ. จริงอยู่ ภิกษุผู้ทำปริยายนั้น ย่อมพ้นจากอทินนาทานโดยปริยาย ฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยภิกษุผู้สั่ง               

               กถาว่าด้วยผู้รับของฝาก               
               ที่ชื่อว่า ภิกษุผู้รับของฝาก เพราะอรรถว่า รักษาทรัพย์ที่เขานำมาฝากไว้. ภิกษุรูปใดอันชนอื่นกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ช่วยดูแลทรัพย์นี้สักครู่ จนกว่ากระผมจะทำกิจชื่อนี้ แล้วกลับมา ได้รักษาทรัพย์ที่เขานำมาในสถานที่อยู่ของตนไว้.
               คำว่า โอณิรกฺโข นั่น เป็นชื่อของภิกษุผู้รับของฝากนั้น. เพราะเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ที่ชื่อว่าภิกษุผู้รับของฝาก ได้แก่ ภิกษุผู้รักษาทรัพย์ที่เขานำมาฝากไว้ ดังนี้.
               ในเรื่องนั้น ภิกษุผู้รับของฝากไม่ได้แก้ห่อสิ่งของที่เจ้าของเขาผูกมัดตราสินออกเลย โดยส่วนมาก ตัดแต่กระสอบหรือห่อข้างล่างออกแล้วถือเอาแต่เพียงเล็กน้อยทำการเย็บเป็นต้น ให้เป็นปกติเดิมอีก สำหรับภิกษุผู้คิดว่า เราจักถือเอาด้วยอาการอย่างนี้ แล้วทำการจับต้องเป็นต้น พึงทราบว่าเป็นอาบัติตามสมควร ฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยภิกษุผู้รับของฝาก               

               กถาว่าด้วยการชักชวนกันลัก               
               การชักชวนกันลัก ชื่อว่าสังวิธาวหาร. มีคำอธิบายว่า การลักที่ทำด้วยความสมรู้ร่วมคิดกะกันและกัน.
               บทว่า สํวิทหิตฺวา มีความว่า ปรึกษาหารือกัน ด้วยความเป็นผู้ร่วมฉันทะกัน คือด้วยความเป็นผู้ร่วมอัธยาศัยกัน.

               [ภิกษุหลายรูปชวนกันไปลักทรัพย์ ต้องอาบัติหมดทุกรูป]               
               วินิจฉัยในสังวิธาวหารนั้น ดังนี้ ภิกษุหลายรูปด้วยกันชักชวนกันว่า พวกเราจักไปเรือนชื่อโน้น จักทำลายหลังคาหรือฝา หรือจักตัดที่ต่อลักของ. ในภิกษุเหล่านั้นรูปหนึ่งลักของได้ เป็นปาราชิกแก่ภิกษุทั้งหมด ในขณะยกภัณฑะนั้นขึ้น.
               จริงอยู่ แม้ในคัมภีร์ปริวาร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ว่า
                                   ๔ คน ได้ชวนกันลักครุภัณฑ์ ๓ คน
                         เป็นปาราชิก คนหนึ่งไม่เป็นปาราชิก
                         ปัญหานี้ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
               เนื้อความแห่งคำนั้น พึงทราบดังนี้
               ๔ คน คืออาจารย์กับอันเตวาสิกเป็นผู้ใคร่จะลักครุภัณฑ์ ราคา ๖ มาสก.
               ใน ๔ คนนั้นอาจารย์สั่งว่า คุณจงลัก ๑ มาสก คุณจงลัก ๑ มาสก คุณจงลัก ๑ มาสก ฉันจักลัก ๓ มาสก. ฝ่ายบรรดาอันเตวาสิกทั้งหลาย อันเตวาสิกรูปหนึ่งกล่าวว่า ใต้เท้าจงลัก ๓ มาสก นะขอรับ คุณจงลัก ๑ มาสก คุณจงลัก ๑ มาสก ผมจักลัก ๑ มาสก แม้อันเตวาสิก ๒ รูปนอกจากนี้ ก็ได้กล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน.
               บรรดาชน ๔ คนนั้น มาสกหนึ่งของอันเตวาสิกคนหนึ่งๆ ในพวกอันเตวาสิก เป็นสาหัตถิกอวหาร, เป็นอาบัติทุกกฏแก่อันเตวาสิกทั้ง ๓ คนนั้น ด้วยมาสกหนึ่งนั้น. ๕ มาสกเป็นอาณัตติกอวหาร, เป็นปาราชิกแก่อันเตวาสิกทั้ง ๓ คนด้วย ๕ มาสกนั้น. ส่วน ๓ มาสก ของอาจารย์เป็นสาหัตถิกะ, เป็นถุลลัจจัยแก่อาจารย์นั้น ด้วย ๓ มาสกนั้น. ๓ มาสกเป็นอาณัตติกะ. แม้ด้วย ๓ มาสกนั้นก็เป็นถุลลัจจัยเหมือนกัน.
               จริงอยู่ ในอทินนาทานสิกขาบทนี้ สาหัตถิกะไม่เป็นองค์ของอาณัตติยะ หรืออาณัตติยะไม่เป็นองค์ของสาหัตถิกะ. แต่สาหัตถิยะ พึงปรับรวมกับสาหัตถิยะด้วยกันได้. อาณัตติยะพึงปรับรวมกับอาณัตติยะด้วยกันได้.
               เพราะเหตุนั้นแล ท่านจึงกล่าวว่า
                                   ๔ คน ได้ชวนกันลักครุภัณฑ์ ๓ คน
                         เป็นปาราชิก คนหนึ่งไม่เป็นปาราชิก ปัญหา
                         นี้ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว๑-
____________________________
๑- วิ. ปริวาร.เล่ม ๘/ข้อ ๑๓๐๙.

               อีกอย่างหนึ่ง เพื่อไม่ฉงนในสังวิธาวหาร พึงกำหนดจตุกกะแม้นี้ โดยใจความ คือ ของสิ่งเดียวมีฐานเดียว, ของสิ่งเดียวมีหลายฐาน, ของหลายสิ่ง มีฐานเดียว, ของหลายสิ่ง มีหลายฐาน.
               ในจตุกกะนั้น ข้อว่าของสิ่งเดียว มีฐานเดียว นั้น คือ ภิกษุหลายรูปเห็นของมีราคา ๕ มาสกซึ่งเขาวางไว้ไม่มิดชิด ที่กระดานร้านตลาดของสกุลหนึ่ง จึงบังคับภิกษุรูปหนึ่งว่า คุณจงไปลักของสิ่งนั้น, เป็นปาราชิกแก่ภิกษุทั้งหมด ในขณะที่ยกภัณฑะขึ้นนั้น.
               ข้อว่าของสิ่งเดียว มีหลายฐาน นั้น คือ ภิกษุหลายรูปเห็นมาสกซึ่งเขาวางไว้ไม่มิดชิด บนกระดานร้านตลาดห้าแผ่นๆ ละมาสกของสกุลหนึ่ง จึงสั่งบังคับภิกษุรูปหนึ่งว่า คุณจงไปลักมาสกเหล่านั้น, เป็นปาราชิกแก่ทุกรูป ในขณะที่ยกมาสกที่ ๕ ขึ้น.
               ข้อว่าของหลายสิ่ง มีฐานเดียว นั้น คือ ภิกษุหลายรูปเห็นของมีราคา ๕ มาสกหรือเกินกว่า ๕ มาสกเป็นของๆ คนหลายคน ซึ่งวางไว้ล่อแหลมในที่เดียวกัน จึงสั่งบังคับภิกษุรูปหนึ่งว่า คุณจงไปลักของนั้น, เป็นปาราชิกแก่ทุกรูป ในขณะยกภัณฑะนั้นขึ้น.
               ข้อว่าของหลายสิ่ง มีหลายฐาน นั้น คือ ภิกษุหลายรูปเห็นมาสกของห้าสกุลๆ ละหนึ่งมาสกซึ่งวางไว้ล่อแหลม บนกระดานร้านตลาดห้าแผ่นๆ ละหนึ่งมาสก จึงสั่งบังคับภิกษุรูปหนึ่งว่า คุณจงไปลักมาสกเหล่านั้น, เป็นปาราชิกแก่ทุกรูป ในขณะที่ยกมาสกที่ ๕ ขึ้น ด้วยประการฉะนี้.
               จบกถาว่าด้วยการชักชวนกันลัก               

               กถาว่าด้วยการนัดหมาย               
               กรรมเป็นที่หมายรู้กัน ชื่อว่าสังเกตกรรม. อธิบายว่า การทำความหมายรู้กัน ด้วยอำนาจกำหนดเวลา.
               ก็ในสังเกตกรรมนี้ เมื่อภิกษุผู้ใช้สั่งว่า คุณจงลักในเวลาก่อนอาหาร ภิกษุผู้รับใช้จะลักในเวลาก่อนอาหารวันนี้หรือพรุ่งนี้ หรือในปีหน้าก็ตามที, ความผิดสังเกตย่อมไม่มี, เป็นปาราชิกแม้แก่เธอทั้ง ๒ รูปตามนัยที่กล่าวแล้ว ในภิกษุผู้คอยกำหนดสั่งนั่นแล.
               แต่เมื่อภิกษุผู้ใช้สั่งว่า คุณจงลักในเวลาก่อนอาหารวันนี้ ภิกษุผู้รับใช้ลักในวันพรุ่งนี้, สิ่งของนั้นย่อมเป็นอันภิกษุผู้รับใช้ลักมาภายหลัง ล่วงเลยกำหนดหมายนั้นที่ผู้ใช้กำหนดไว้ว่าวันนี้, ถ้าเมื่อภิกษุผู้ใช้สั่งว่า จงลักในเวลาก่อนอาหารพรุ่งนี้ ภิกษุผู้รับใช้ลักในเวลาก่อนอาหารวันนี้, สิ่งของนั้นย่อมเป็นอันผู้รับใช้ลักมาเสียก่อน ยังไม่ทันถึงกำหนดหมายนั้นที่ผู้ใช้กำหนดว่าพรุ่งนี้, เป็นปาราชิกเฉพาะภิกษุผู้ลักซึ่งลักด้วยอวหารอย่างนั้นเท่านั้น, ไม่เป็นอาบัติแก่ผู้ใช้ซึ่งเป็นต้นเหตุ.
               ในเมื่อผู้ใช้สั่งว่า จงลักในเวลาก่อนอาหารพรุ่งนี้, ฝ่ายภิกษุผู้รับใช้ลักในวันนั้นนั่นเอง หรือในเวลาหลังอาหารพรุ่งนี้ พึงทราบว่า ลักมาเสียก่อนและภายหลังการนัดหมายนั้น.
               แม้ในเวลาหลังอาหารกลางคืนและกลางวัน ก็มีนัยเหมือนกันนี้.
               ก็ในสังเกตกรรมนั้น พึงทราบความถูกนัดหมายและความผิดการนัดหมาย แม้ด้วยอำนาจแห่งเวลามีปุริมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม กาลปักข์ ชุณหปักข์ เดือน ฤดูและปีเป็นต้น.
               ถามว่า เมื่อภิกษุผู้ใช้สั่งว่า จงลักในเวลาก่อนอาหาร ภิกษุผู้รับใช้พยายามอยู่ด้วยอันคิดว่า จักลักในเวลาก่อนอาหารนั่นเอง และสิ่งของนั้นย่อมเป็นอันเธอลักมาได้ ในเวลาหลังอาหาร. ในอวหารข้อนี้ เป็นอย่างไร?
               แก้ว่า พระมหาสุมเถระกล่าวไว้ก่อนว่า นั่นเป็นประโยคในเวลาก่อนอาหารแท้ เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้สั่งซึ่งเป็นต้นเหตุ ย่อมไม่พ้น. ส่วนพระมหาปทุมเถระกล่าวว่า ชื่อว่าผิดการนัดหมาย เพราะล่วงเลยกำหนดกาลไป เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้สั่งซึ่งเป็นต้นเหตุจึงรอดตัวไป.
               จบกถาว่าด้วยการนัดหมาย               

               กถาว่าด้วยการทำนิมิต               
               การทำนิมิตบางอย่าง เพื่อให้เกิดความหมายรู้ ชื่อนิมิตกรรม.
               นิมิตกรรมนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ๓ อย่าง โดยนัยเป็นต้นว่า เราจักขยิบตาก็ดี. ก็การทำนิมิตแม้อย่างอื่นมีเป็นอเนกประการเป็นต้นว่า แกว่งไกวมือ ปรบมือ ดีดนิ้วมือ เอียงคอลง ไอและกระแอม พึงสงเคราะห์เข้าในนิมิตกรรมนี้. ส่วนคำที่เหลือในนิมิตกรรมนี้ มีนัยดังกล่าวแล้วในสังเกตกรรมนั้นทีเดียวแล.
               จบกถาว่าด้วยการทำนิมิต               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทุติยปาราชิกสิกขาบท บทภาชนีย์ มาติกา ภุมมัฏฐวิภาคเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 85อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 90อ่านอรรถกถา 1 / 121อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=6336&Z=6581
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=7842
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=7842
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :