ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 1อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 10อ่านอรรถกถา 2 / 32อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๒

               จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๒               
               พรรณนาอุทโทสิตสิกขาบท               
               อุทโทสิตสิกขาบทว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา เป็นอาทิ ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               วินิจฉัยในอุทโทสิตสิกขาบทนั้น พึงทราบต่อไปนี้ :-

               [แก้อรรถปฐมบัญญัติเรื่องภิกษุหลายรูป]               
               บทว่า สนฺตรุตฺตเรน มีความว่า อันตรวาสก (ผ้านุ่ง) ตรัสเรียกว่า อันตระ. อุตราสงค์ (ผ้าห่ม) ตรัสเรียกว่า อุตตระ. ผ้าห่มกับผ้านุ่งชื่อว่า สันตรุตตระ. มีแต่ผ้าห่มกับผ้านุ่งนั้น. อธิบายว่า พร้อมด้วยผ้าอุตราสงค์กับผ้าอันตรวาสก.
               บทว่า กณฺณกิตานิ ได้แก่ เกิดราเป็นจุดดำๆ ขาวๆ ในโอกาสที่เหงื่อถูก.
               คำว่า อทฺทสา โข อายสฺมา อานนฺโท เสนาสนจาริกํ อาหิณฺฑนฺโต
               มีความว่า ได้ยินว่า พระเถระ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี เพื่อพระประสงค์จะพักผ่อนในกลางวัน ได้โอกาสนั้นแล้ว เก็บภัณฑะไม้ และภัณฑะดิน ที่เก็บไว้ไม่ดี ปัดกวาดสถานที่ที่ไม่ได้กวาด กระทำปฏิสันถารกับพวกภิกษุอาพาธ ไปถึงเสนาสนสถานแห่งภิกษุเหล่านั้นได้เห็นแล้ว. เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า ท่านพระอานนท์เที่ยวไปยังเสนาสนจาริกได้เห็นแล้วแล.

               [อนุบัญญัติแก้อรรถเรื่องภิกษุอาพาธ]               
               คำว่า อวิปฺปวาสสมฺมตึทาตุํ มีความว่า สมมติในการไม่อยู่ปราศ (ไตรจีวร) ชื่ออวิปปวาสสมมติ. อนึ่ง สมมติเพื่อการไม่อยู่ปราศ (ไตรจีวร) ชื่ออวิปปวาสสมมติ. ก็ในอวิปปวาสสมมตินี้ มีอานิสงส์อย่างไร? ภิกษุอยู่ปราศจากจีวรผืนใด, จีวรผืนนั้น ย่อมไม่เป็นนิสสัคคีย์ และภิกษุผู้อยู่ปราศจากไม่ต้องอาบัติ. อยู่ปราศจากได้สิ้นเวลาเท่าไร? พระมหาสุมเถระกล่าวไว้ก่อนว่า ชั่วเวลาที่โรคยังไม่หาย, แต่เมื่อโรคหายแล้ว ภิกษุพึงรีบกลับมาสู่สถานที่เก็บจีวร ดังนี้. พระมหาปทุมเถระกล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นรีบด่วนมา โรคพึงกลับกำเริบขึ้น เพราะฉะนั้น ควรจะค่อยๆ มา, ก็ภิกษุยังแสวงหาพวกเกวียน หรือว่า ทำความผูกใจอยู่ว่า เราจะไป จำเดิมแต่กาลใด, จะอยู่ปราศจากจำเดิมแต่กาลนั้นไป ก็ควร, แต่เมื่อภิกษุทำการทอดธุระอย่างนี้ว่าเราจักยังไม่ไปในเวลานี้ พึงถอนเสีย, ไตรจีวรที่ถอนแล้วจักตั้งอยู่ในฐานะเป็นอติเรกจีวร ดังนี้.
               ถามว่า ถ้าว่า โรคของเธอกลับกำเริบขึ้น, เธอจะพึงทำอย่างไร?
               แก้ว่า พระปุสสเทวเถระกล่าวไว้ก่อนว่า ถ้าโรคนั้นนั่นเองกลับกำเริบขึ้น อวิปปวาสสมมตินั้นนั่นแล ยังคงเป็นสมมติอยู่, ไม่มีกิจที่จะต้องให้สมมติใหม่ ; ถ้าโรคอื่นกำเริบ, พึงให้สมมติใหม่ ดังนี้. พระอุปติสสเถระกล่าวว่า โรคนั้นหรือโรคอื่นก็ตาม จงยกไว้, ไม่มีกิจที่จะต้องให้สมมติใหม่ ดังนี้.
               ส่วนในบทว่า นิฏฺฐิตจีวรสฺมึ ภิกฺขุนา นี้ บัณฑิตอย่าเข้าใจอรรถเหมือนในสิกขาบทก่อน พึงทราบอรรถแห่งตติยาวิภัตติ ด้วยอำนาจแห่งฉัฏฐีวิภัตติอย่างนี้ว่า นิฏฺฐิเต จีวรสฺมึ ภิกฺขุโน เมื่อจีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว ดังนี้. เพราะอรรถด้วยอำนาจแห่งตติยาวิภัตติว่า กิจชื่อนี้ อันภิกษุพึงกระทำ ดังนี้ ไม่มี, แต่ว่า อรรถด้วยอำนาจแห่งฉัฏฐีวิภัตติอย่างนี้ว่า เมื่อจีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว และเมื่อกฐินเดาะแล้ว ถ้าภิกษุมีปลิโพธขาดแล้วอย่างนี้ พึงอยู่ปราศจากไตรจีวร แม้สิ้นราตรีหนึ่ง ดังนี้ ย่อมสมควร (เพราะเหตุใด ; เพราะเหตุนั้น พึงทราบอรรถแห่งตติยาวิภัตติด้วยอำนาจฉัฏฐีวิภัตติ).
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ติจีวเรน ได้แก่ จากบรรดาไตรจีวรที่อธิษฐานแล้ว จีวรผืนใดผืนหนึ่ง. จริงอยู่ ภิกษุแม้อยู่ปราศจากจีวรผืนเดียว ก็จัดว่าเป็นผู้อยู่ปราศจากไตรจีวร เพราะเป็นผู้อยู่ปราศจาก (จีวรผืนหนึ่ง) อันนับเนื่องในความสำเร็จเป็นไตรจีวร เพราะเหตุนั้นนั่นแล ในบทภาชนะแห่งบทว่า ติจีวเรน นั้น พระองค์จึงตรัสคำว่า สงฺฆาฏิยา เป็นต้น.
               บทว่า วิปฺปวเสยฺย คือ พึงเป็นผู้อยู่ปราศจาก.

               [อธิบายสถานที่เก็บจีวรและวิธีปฏิบัติ]               
               คำว่า คาโม เอกูปจาโร เป็นอาทิ ตรัสไว้เพื่อให้กำหนดลักษณะแห่งการไม่อยู่ปราศจาก (ไตรจีวร). ต่อจากคำว่า คาโม เอกูปจาโร เป็นต้นนั้นไป พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงขยายบทมาติกา ๑๕ บทเหล่านั้นนั่นแล ให้พิสดารตามลำดับ จึงตรัสว่า คาโม เอกูปจาโร นาม เป็นต้น.
               ในคำว่า คาโม เอกูปจาโร นั้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               พระราชวังของพระราชาพระองค์หนึ่ง หรือบ้านของนายบ้านคนหนึ่ง ชื่อว่าบ้านของตระกูลเดียว.
               บทว่า ปริกฺขิตฺโต มีความว่า ล้อมแล้วด้วยกำแพง ด้วยรั้ว หรือด้วยคู อย่างใดอย่างหนึ่ง.
               ท่านแสดงความที่บ้านของตระกูลเดียว มีอุปจารเดียวด้วยคำมีประมาณเพียงเท่านี้.
               สองบทว่า อนฺโตคาเม วฏฺฐพฺพํ มีความว่า ภิกษุจะเก็บจีวรไว้ในบ้านเช่นนี้แล้ว ให้อรุณขึ้นในที่ซึ่งตนชอบใจในละแวกบ้านย่อมควร.
               ด้วยบทว่า อปริกฺขิตฺโต นี้ ท่านแสดงความที่บ้านนั้นนั่นแล มีอุปจารต่างๆ กัน.
               คำว่า ตสฺมึ ฆเร วฏฺฐพฺพํ มีความว่า พึงอยู่ในเรือนหลังที่ตนเก็บจีวรไว้ในบ้านเห็นปานนั้น.
               หลายบทว่า หตฺถปาสา วา น วิชหิตพฺพํ มีความว่า อีกอย่างหนึ่ง ไม่พึงละเรือนนั้น จากหัตถบาสโดยรอบ. มีคำอธิบายว่า ไม่พึงละให้ห่างจากประเทศประมาณ ๒ ศอกคืบไป. ก็การอยู่ภายใน ๒ ศอกคืบ ย่อมสมควร. ล่วงเลยประมาณนั้นไป ถ้าแม้นภิกษุผู้มีฤทธิ์ยังอรุณให้ตั้งขึ้นในอากาศ ก็เป็นนิสสัคคีย์เหมือนกัน.
               ก็บัณฑิตพึงทราบการกำหนดเรือนในบทว่า ยสฺมึ ฆเร ในวิสัยว่า บ้านของตระกูลเดียวนี้ โดยลักษณะเป็นต้นว่า เป็นเรือนของตระกูลเดียวดังนี้.
               คำว่า นานากุลสฺส คาโม ได้แก่ ตำหนักแห่งพระราชาต่างพระองค์กัน หรือบ้านของพวกนายบ้านต่างๆ เช่นเมืองไพศาลีและเมืองกุสินาราเป็นต้น.
               ด้วยบทว่า ปริกฺขิตฺโต นี้ ท่านแสดงความที่บ้านของตระกูลต่างกัน มีอุปจารเดียวกัน.
               ท่านกล่าวสภาด้วยลิงค์ตรงกันข้าม ในคำว่า สภาเย วา ทฺวารมูเล วา นี้ ว่า สภายํ.
               บทว่า ทฺวารมูเล ได้แก่ ที่ใกล้ประตูเมือง.
               มีคำอธิบายว่า หรือพึงอยู่ในเรือนที่ตนเก็บจีวรไว้ในบ้านเห็นปานนั้น. เมื่อภิกษุไม่อาจจะอยู่ในเรือนนั้น เพราะเสียงอึกทึก หรือเพราะคนพลุกพล่าน พึงอยู่ในสภาหรือที่ใกล้ประตูเมือง. เมื่อไม่อาจอยู่แม้ในสภา หรือในที่ใกล้ประตูเมืองนั้น พึงอยู่ในที่ผาสุก แห่งใดแห่งหนึ่งแล้วมาในภายในอรุณ ไม่พึงละจากหัตถบาส แห่งสภาและที่ใกล้ประตูเมืองนั้นเลย. ส่วนกิจที่ภิกษุจะพึงอยู่ในหัตถบาสแห่งเรือน หรือแห่งจีวร ไม่มีเลย.
               คำว่า สภายํ คจฺฉนฺเตน หตฺถปาเส จีวรํ นิกฺขิปิตฺวา มีความว่า ถ้าว่า ภิกษุไม่เก็บไว้ในเรือน ไปยังสภาด้วยทำในใจว่า เราจักเก็บไว้ที่สภา, เมื่อภิกษุนั้นไปยังสภา พึงเหยียดแขนออกไปในหัตถบาส เก็บจีวรไว้ที่ร้านตลาดบางร้าน ที่เป็นทางแห่งการเก็บไว้ คือ อยู่ในหัตถบาสอย่างนี้ว่า เอาเถอะ! เราจักเก็บจีวรนี้ไว้ แล้วพึงอยู่ที่สภา หรือที่ใกล้ประตู หรือไม่พึงละ (จีวร) จากหัตถบาส โดยนัยก่อนนั่นแล.

               [มติต่างๆ ในสถานที่เก็บและการรักษาจีวร]               
               ในวิสัยว่า สภาเย วา ทฺวารมูเล วา นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               พระปุสสเทวเถระกล่าวไว้ก่อนว่า ไม่มีกิจจำเป็นที่จะต้องอยู่ในหัตถบาสแห่งจีวร, จะอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง จะเป็นหัตถบาสถนนก็ดี หัตถบาสสภาก็ดี หัตถบาสประตูก็ดี ย่อมสมควรทั้งนั้น ดังนี้.
               ส่วนพระอุปติสสเถระกล่าวว่า เมืองมีประตูมากก็มี มีสภามากก็มี เพราะฉะนั้น จะอยู่ในที่ทั่วไป ไม่สมควร, แต่ไม่พึงละจากหัตถบาสแห่งสภาและประตู ซึ่งมีอยู่ในที่ตรงหน้าแห่งถนนที่ตนเก็บจีวรไว้, จริงอยู่ เมื่อเป็นอย่างนี้ อาจจะทราบความเป็นไปแห่งจีวรได้ ดังนี้.
               แต่เมื่อภิกษุไปยังสภา เก็บจีวรไว้ในมือของชาวร้านตลาดคนใด, ถ้าชาวร้านตลาดคนนั้นไพล่นำจีวรนั้นไปเก็บไว้ที่เรือน, หัตถบาสถนนคุ้มไม่ได้, ภิกษุจะต้องอยู่ในหัตถบาสแห่งเรือนเท่านั้น. ถ้าเรือนใหญ่ตั้งแผ่ครอบไปตลอดสองถนน, ภิกษุพึงให้อรุณตั้งขึ้นเฉพาะในหัตถบาสทางข้างหน้า หรือทางข้างหลัง (แห่งเรือนนั้น). แต่ภิกษุเก็บ (จีวร) ฝากไว้ในสภา พึงให้อรุณขึ้นในสภา หรือที่ใกล้ประตูเมือง ตรงหน้าสภานั้น หรือว่า ในหัตถบาสแห่งสภา หรือที่ใกล้ประตูเมืองนั้นนั่นแล.
               ด้วยบทว่า อปริกฺขิตฺโต นี้ ท่านแสดงความที่บ้านนั้นนั่นแล มีอุปจารต่างกัน. พึงทราบความมีอุปจารเดียวกัน และมีอุปจารต่างกันในบททั้งปวง โดยอุบายอย่างนี้เหมือนกัน. แต่ในพระบาลีพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกบทมาติกาขึ้นเพียงบทเดียว อันมีอยู่ในคำต้น อย่างนี้ว่า บ้าน ชื่อว่า มีอุปจารเดียว และอันตั้งอยู่ในที่สุดอย่างนี้ว่า ที่แจ้ง ชื่อว่ามีอุปจารเดียว แล้วขยายบทภาชนะให้พิสดาร. เพราะฉะนั้น ในทุกๆ บท พึงทราบความมีอุปจารเดียวกัน ด้วยอำนาจแห่งที่มีเครื่องล้อมเป็นต้น และความมีอุปจารต่างกัน ด้วยอำนาจแห่งที่ไม่มีเครื่องล้อมเป็นต้น โดยทำนองแห่งบทนั้นนั่นแล.
               ในนิเวศน์ (เรือนพัก) เป็นต้น มีวินิจฉัย ดังนี้ :-
               บทว่า โอวรกา นี้ เป็นคำยักเรียกห้องทั้งหลายนั้น.
               บทว่า หตฺถปาสา วา ได้แก่ จากหัตถบาสแห่งห้อง หรือแห่งเรือน.
               บทว่า ทฺวารมูเล ได้แก่ ในที่ใกล้ประตูเรือนอันสาธารณะแก่ชนทั้งปวงก็ดี.
               บทว่า หตฺถปาสา วา ได้แก่ จากหัตถบาสแห่งห้อง หรือแห่งเรือนหรือแห่งใกล้ประตูเรือน.
               ที่ชื่อว่าโรงเก็บของนั้น ได้แก่ โรงเก็บสิ่งของมียวดยานเป็นต้น. จำเดิมแต่โรงเก็บสิ่งของนี้ไป พึงทราบวินิจฉัย โดยนัยดังกล่าวแล้วในเรือนพัก.
               ที่ชื่อว่าป้อมนั้น ได้แก่ ที่อาศัยพิเศษ ซึ่งเขาก่อด้วยอิฐ เพื่อป้องกันพระราชาข้าศึกเป็นต้น มีฝาผนังหนา มีพื้น ๔-๕ ชั้น.
               ปราสาท ๔ เหลี่ยมจตุรัส อันสงเคราะห์เข้าด้วยยอดเดียวกัน ชื่อว่า เรือนยอดเดียว. ปราสาทยาว ชื่อว่า ปราสาท. ปราสาทมีหลังคาตัด (ปราสาทโล้น) ชื่อว่า ทิมแถว. อัพภันดรนั่นที่ท่านกล่าวไว้ในคำว่า ๗ อัพภันดร นี้มีประมาณ ๒๘ ศอก.
               บทว่า สตฺโถ มีความว่า ถ้าหมู่เกวียนไปหยุดพักโอบหมู่บ้านหรือแม่น้ำ เนื่องเป็นอันเดียวกันกับหมู่เกวียนที่เข้าไปภายใน กระจายอยู่ตลอดไปทั้งฝั่งในทั้งฝั่งนอก ย่อมได้บริหารว่า หมู่เกวียนแท้. ถ้าหมู่เกวียนยังเนื่องกันอยู่ที่บ้าน หรือว่าที่แม่น้ำ, หมู่เกวียนที่เข้าไปภายในแล้ว ย่อมได้บริหารว่า บ้าน และบริหารว่า แม่น้ำ. ถ้าหมู่เกวียนหยุดพักอยู่เลยวิหารสีมาไป, จีวรอยู่ภายในสีมา พึงไปยังวิหารแล้วอยู่ภายในสีมานั้น, ถ้าจีวรอยู่ในภายนอกสีมา, พึงอยู่ในที่ใกล้หมู่เกวียนนั่นแล. ถ้าหมู่เกวียนกำลังเดินทางเมื่อเกวียนหัก หรือโคหาย ย่อมขาดกันในระหว่าง, จีวรที่เก็บไว้ในส่วนไหน พึงอยู่ในส่วนนั้น. หัตถบาสแห่งจีวรนั่นแล ชื่อว่าหัตถบาสในไร่นาของตระกูลเดียว. หัตถบาสแห่งประตูไร่นา ชื่อว่าหัตถบาสในไร่นาของตระกูลต่างกัน, หัตถบาสแห่งจีวรเท่านั้น ชื่อว่าหัตถบาสในไร่นาที่ไม่ได้ล้อม.
               ลาน ท่านเรียกว่า ธัญญกรณ์ (ลานนวดข้าวเปลือก). สวนดอกไม้หรือสวนผลไม้ท่านเรียกว่า สวน. ในลานนวดข้าวและสวนทั้งสอง มีวินิจฉัยเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในไร่นานั่นแล. ในบทว่า วิหาร ก็มีวินิจฉัยเช่นเดียวกับเรือนพักนั่นเอง.
               ในรุกขมูล พึงทราบวินิจฉัย ดังนี้ :-
               บทว่า อนฺโตฉายายํ คือ เฉพาะภายในโอกาสที่เงาแผ่ไปถึง. แต่จีวรที่ภิกษุเก็บไว้ในโอกาสที่แดดถูก แห่งต้นไม้มีกิ่งโปร่งเป็นนิสสัคคีย์แท้. เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงเก็บจีวรไว้ที่เงาแห่งกิ่งไม้ หรือที่เงาแห่งลำต้นของต้นไม้เช่นนั้น. ถ้าจะเก็บไว้บนกิ่งหรือบนค่าคบ, พึงวางไว้ในโอกาสที่เงาแห่งกิ่งไม้ต้นอื่นข้างบนแผ่ไปถึงเท่านั้น. เงาของต้นไม้เตี้ย ย่อมแผ่ทอดไปไกล, พึงเก็บไว้ในโอกาสที่เงาแผ่ไปถูก. ควรจะเก็บไว้ในที่เงาทึบเท่านั้น. หัตถบาส แม้ในอธิการแห่งโคนไม้นี้ ก็คือหัตถบาสแห่งจีวรนั่นเอง.
               คำว่า อคามเก อรญฺเญ มีความว่า ป่าที่ชื่อว่าหาบ้านมิได้ ย่อมได้ในป่ามีดงดิบเป็นต้น (ดงวิชฌาฏวีเป็นต้น) หรือบนหมู่เกาะ ซึ่งไม่เป็นทางเที่ยวไปของพวกชาวประมง ในท่ามกลางสมุทร.
               คำว่า สนฺตา สตฺตพฺภนฺตรา มีความว่า ๗ อัพภันดร ในทิศทั้งปวงแห่งบุคคลผู้ยืนอยู่ที่ตรงกลาง รวมเป็น ๑๔ อัพภันดร โดยทแยง. ภิกษุนั่งตรงกลางย่อมรักษาจีวรที่เก็บไว้ในที่สุดรอบแห่งทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก. แต่ถ้าว่า ภิกษุเดินไปสู่ทิศตะวันออก แม้เพียงเส้นผมเดียว ในเวลาอรุณขึ้น จีวรในทิศตะวันตกเป็นนิสสัคคีย์. ในจีวรนอกจากนี้ก็นัยนี้. ก็แลในเวลากระทำอุโบสถ พึงชำระสัตตัพภันตรสีมาให้หมดจด ตั้งแต่ภิกษุผู้นั่งในที่สุดท้ายแห่งบริษัท. ภิกษุสงฆ์ขยายไปตลอดที่ประมาณเท่าใด, แม้สีมาก็ขยายออกไปตลอดที่ประมาณเท่านั้น.
               ในคำว่า อนิสฺสชฺชิตฺวา ปริภุญฺชติ อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส นี้ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ถ้าภิกษุผู้ประกอบความเพียร บำเพ็ญเพียรตลอดคืนยังรุ่งใฝ่ใจว่า เราจักสรงน้ำในเวลาใกล้รุ่ง จึงออกไป วางจีวรทั้ง ๓ ผืนไว้ที่ฝั่งแม่น้ำ แล้วลงสู่แม่น้ำ, และเมื่อเธออาบอยู่นั่นเอง อรุณขึ้น, เธอพึงกระทำอย่างไร? ด้วยว่า เธอถ้าขึ้นมาแล้วนุ่งห่มจีวร, ย่อมต้องทุกกฏ เพราะไม่เสียสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์แล้วใช้สอยเป็นปัจจัย, ถ้าเธอเปลือยกายไป แม้ด้วยการเปลือยกายไปอย่างนั้น ก็ต้องทุกกฏ.
               ตอบว่า เธอไม่ต้อง, เพราะว่า เธอตั้งอยู่ในฐานะแห่งภิกษุผู้มีจีวรหาย เพราะจีวรเหล่านั้นเป็นของไม่ควรบริโภค ตราบเท่าที่ยังไม่พบภิกษุรูปอื่นแล้วกระทำวินัยกรรม, และชื่อว่า สิ่งที่ไม่สมควรแก่ภิกษุผู้มีจีวรหาย ไม่มี เพราะฉะนั้น เธอพึงนุ่งผืนหนึ่ง เอามือถือสองผืนไปสู่วิหารแล้วกระทำวินัยกรรม. ถ้าว่า วิหารอยู่ไกล, ในระหว่างทางมีพวกชาวบ้านสัญจรไปมา, เธอพบพวกชาวบ้านเหล่านั้น พึงนุ่งผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง วางผืนหนึ่งไว้บนจะงอยบ่าแล้วพึงเดินไป. ถ้าหากไม่พบภิกษุที่ชอบพอกันในวิหาร, ภิกษุทั้งหลายไปเที่ยวภิกษาจารเสีย, เธอพึงวางผ้าสังฆาฏิไว้ภายนอกบ้าน ไปสู่โรงฉัน ด้วยผ้าอุตราสงค์กับอันตรวาสกแล้ว กระทำวินัยกรรม. ถ้าในภายนอกบ้านมีโจรภัย พึงห่มสังฆาฏิไปด้วย, ถ้าโรงฉันคับแคบมีคนพลุกพล่าน, เธอไม่อาจเปลื้องจีวรออก ทำวินัยกรรมในด้านหนึ่งได้, พึงพาภิกษุรูปหนึ่งไปนอกบ้านกระทำวินัยกรรมแล้วใช้สอยจีวรทั้งหลายเถิด.
               ถ้าภิกษุทั้งหลายให้บาตรและจีวรไว้ในมือแห่งภิกษุหนุ่มทั้งหลาย กำลังเดินทางไป มีความประสงค์จะนอนพักในปัจฉิมยาม, พึงกระทำจีวรของตนๆ ไว้ในหัตถบาสก่อนแล้วจึงนอน. ถ้าเมื่อพวกภิกษุหนุ่มมาไม่ทัน อรุณขึ้นไปแก่พระเถระทั้งหลายผู้กำลังเดินไปนั่นแล, จีวรทั้งหลายย่อมเป็นนิสสัคคีย์. ส่วนนิสัยไม่ระงับ. เมื่อพวกภิกษุหนุ่มเดินล่วงหน้าไปก่อนก็ดี พระเถระทั้งหลายเดินตามไม่ทันก็ดี มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน. แม้เมื่อภิกษุทั้งหลายพลัดทางไม่เห็นกันและกันในป่าก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน. ก็ถ้าพวกภิกษุหนุ่มเรียนว่า ท่านขอรับ! พวกกระผมจักนอนพักสักครู่หนึ่งแล้ว จักตามไปทันพวกท่านในโอกาสชื่อโน้น ดังนี้แล้ว นอนอยู่จนอรุณขึ้น, จีวรเป็นนิสสัคคีย์ด้วย นิสัยก็ระงับด้วย. แม้เมื่อพระเถระทั้งหลายส่งพวกภิกษุหนุ่มไปก่อนแล้วนอน ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน. พบทางสองแพร่ง พระเถระทั้งหลายบอกว่า ทางนี้, พวกภิกษุหนุ่มเรียนว่า ทางนี้ ไม่เชื่อถือถ้อยคำของกันและกัน ไปเสีย (แยกทางกันไป), แม้พร้อมกับอรุณขึ้น จีวรทั้งหลายเป็นนิสสัคคีย์ และนิสัยย่อมระงับ.
               ถ้าพวกภิกษุหนุ่มแวะออกจากทางกล่าวว่า พวกเราจักกลับมาให้ทันภายในอรุณทีเดียว แล้วเข้าไปยังบ้านเพื่อต้องการเภสัชกำลังเดินมา, และอรุณขึ้นไปแก่พวกเธอผู้กลับมายังไม่ถึงนั่นเอง, จีวรทั้งหลายเป็นนิสสัคคีย์, แต่นิสัยไม่ระงับ. ก็ถ้าว่าพวกเธอกล่าวว่า พวกเรายืนสักครู่หนึ่งแล้วจักไป แล้วยืนหรือนั่ง เพราะกลัวแม่โคนม (แม่โคลูกอ่อน) หรือเพราะกลัวสุนัขแล้วจึงเดินไป, เมื่ออรุณขึ้นในระหว่างทาง จีวรทั้งหลายเป็นนิสสัคคีย์ด้วย นิสัยก็ระงับด้วย.
               เมื่อภิกษุทั้งหลาย (เมื่ออาจารย์และอันเตวาสิก) เข้าไปสู่บ้านภายในสีมาด้วยใส่ใจว่า เราจักมาในภายในอรุณขึ้นนั่นเทียว อรุณขึ้นในระหว่าง, จีวรทั้งหลายไม่เป็นนิสสัคคีย์ นิสัยก็ไม่ระงับ. ก็ถ้าว่าภิกษุทั้งหลายนั่งอยู่ด้วยไม่ใส่ใจว่า ราตรีจงสว่างหรือไม่ก็ตามที แม้เมื่ออรุณขึ้นแล้ว จีวรไม่เป็นนิสสัคคีย์ แต่นิสัยย่อมระงับ.
               ก็ภิกษุเหล่าใดเข้าไปสู่โรงในภายนอกอุปจารสีมาด้วยทั้งที่ยังมีอุตสาหะว่า เราจักมาในภายในอรุณนั่นแล เพื่อประโยชน์แก่กรรมมีอุปสมบทกรรมเป็นต้น, อรุณตั้งขึ้นที่โรงนั้น แก่พวกเธอ, จีวรเป็นนิสสัคคีย์ แต่นิสัยไม่ระงับ. ภิกษุทั้งหลายเข้าไปสู่โรงนั้นนั่นแลภายในอุปจารสีมา, เมื่ออรุณตั้งขึ้น จีวรไม่เป็นนิสสัคคีย์ นิสัยก็ไม่ระงับ. แต่ภิกษุเหล่าใดยังมีอุตสาหะไปยังวิหารใกล้เคียง เพื่อประสงค์จะฟังธรรมตั้งใจว่า จักมาให้ทันภายในอรุณ, แต่อรุณขึ้นไปแก่พวกเธอในระหว่างทางนั่นเอง จีวรทั้งหลายเป็นนิสสัคคีย์ แต่นิสัยยังไม่ระงับ. ถ้าพวกเธอนั่งอยู่ด้วยเคารพในธรรมว่า พวกเราฟังจนจบแล้วจึงจักไป พร้อมกับอรุณขึ้น แม้จีวรทั้งหลายก็เป็นนิสสัคคีย์ ทั้งนิสัยก็ระงับ.
               พระเถระ เมื่อจะส่งภิกษุหนุ่มไปสู่ละแวกบ้าน เพื่อต้องการซักจีวร พึงปัจจุทธรณ์จีวรของตนก่อนแล้วจึงให้ไป. แม้จีวรของภิกษุหนุ่ม ก็พึงให้ปัจจุทธรณ์แล้วเก็บไว้. ถ้าภิกษุหนุ่มไปแม้ด้วยไม่มีสติ, พระเถระพึงถอนจีวรของตนแล้ว ถือเอาจีวรของภิกษุหนุ่มด้วยวิสาสะ พึงเก็บไว้. ถ้าพระเถระระลึกไม่ได้ แต่ภิกษุหนุ่มระลึกได้ ภิกษุหนุ่มพึงถอนจีวรของตน แล้วถือเอาจีวรของพระเถระด้วยวิสาสะแล้วไปเรียนว่า ท่านขอรับ ท่านจงอธิษฐานจีวรของท่านเสียแล้วใช้สอยเถิด. จีวรของตน เธอก็พึงอธิษฐาน. แม้ด้วยความระลึกได้ของภิกษุรูปหนึ่งอย่างนี้ ก็ย่อมพ้นอาบัติได้แล. คำที่เหลือมีอรรถอันตื้นทั้งนั้น.
               บรรดาปกิณกะมีสมุฏฐานเป็นต้น ในปฐมกฐินสิกขาบทเป็นอกิริยา คือไม่อธิษฐานและไม่วิกัป ในสิกขาบทนี้เป็นอกิริยา คือไม่ปัจจุทธรณ์ (ไม่ถอน) อันนี้เท่านั้นเป็นความแปลกกัน.
               คำที่เหลือในฐานะทั้งหมดมีนัยดังกล่าวแล้วทั้งนั้นแล.

               พรรณนาอุทโทสิตสิกขาบท จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 1อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 10อ่านอรรถกถา 2 / 32อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=156&Z=382
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=3672
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=3672
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :