ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 109อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 113อ่านอรรถกถา 2 / 117อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๑๐

               โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๑๐               
               พรรณนากยวิกกยสิกขาบท               
               กยวิกกยสิกขาบทว่า เตน สมเยน เป็นต้น ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               ในกยวิกกยสิกขาบทนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               คำว่า กตีหิปิ ตฺยายํ คือ สังฆาฏิผืนนี้ ของท่านจักอยู่ได้กี่วัน.
               ก็ในบทว่า กตีหิปิ นี้ หิ ศัพท์ เป็นปทปูรณะ ปิ ศัพท์เป็นไปในความตำหนิ. อธิบายว่า สังฆาฏิของท่านผืนนี้ชำรุด จักอยู่ได้สักกี่วัน,
               อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะว่า กติหํปิ ตฺยายํ ก็มี.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กติหํ คือ สิ้นวันเท่าไร.
               มีคำอธิบายว่า ตลอดสักกี่วัน. บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วเหมือนกัน.
               คำว่า กตีหิปิ มฺยายํ นี้ ก็พึงทราบโดยนัยนี้เหมือนกัน.
               ในคำว่า คิหีปิ นํ คิหิสฺส นี้ ศัพท์ว่า นํ เป็นนิบาตลงในอรรถแห่งนามศัพท์.
               มีคำอธิบายว่า ธรรมดาว่าแม้คฤหัสถ์ ก็ยังคืนให้แก่คฤหัสถ์.
               บทว่า นานปฺปการกํ คือ มีอย่างมิใช่น้อย ด้วยอำนาจแห่งกัปปิยภัณฑ์มีจีวรเป็นต้น. เพราะเหตุนั้นแล ในบทภาชนะแห่งบทว่า นานปฺปการํ นั้น ท่านจึงทรงแสดงเฉพาะกัปปิยภัณฑ์ตั้งต้นแต่จีวร มีด้ายชายผ้าเป็นที่สุด. จริงอยู่ การแลกเปลี่ยนด้วยอกัปปิยภัณฑ์ย่อมไม่ถึงการสงเคราะห์เข้าในการซื้อขาย.

               [อธิบายการซื้อและขายที่ทำให้เป็นอาบัติ]               
               บทว่า กยวิกฺกยํ ได้แก่ การซื้อและการขาย. ภิกษุเมื่อถือเอากัปปิยภัณฑ์ของคนอื่นโดยนัยเป็นต้นว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ด้วยสิ่งนี้ ชื่อว่าย่อมถึงการซื้อ, เมื่อให้กัปปิยภัณฑ์ของตน ชื่อว่าย่อมถึงการขาย.
               บทว่า อชฺฌาจรติ คือ ย่อมประพฤติข่มขู่. อธิบายว่า ย่อมกล่าววาจาล่วงเกิน.
               ข้อว่า ยโต กยิตญฺจ โหติ วิกฺกีตญฺจ มีความว่า ในเวลาทำภัณฑะของผู้อื่นให้อยู่ในมือของตน ชื่อว่าซื้อ และในเวลาทำภัณฑะของตนให้อยู่ในมือของผู้อื่น ชื่อว่าขาย. แต่ด้วยบทนี้ ในบาลีท่านแสดงภัณฑะของตนก่อน โดยอนุรูปแก่คำว่า อิมํ เป็นต้น.
               บทว่า นิสฺสชฺชิตพฺพํ มีความว่า พึงสละกัปปิยภัณฑ์ที่รับเอาจากมือของคนอื่น ด้วยอำนาจแห่งการซื้อขายอย่างนี้. ก็การซื้อขายอย่างนี้กับพวกคฤหัสถ์และนักบวชที่เหลือ เว้นสหธรรมิกทั้ง ๕ โดยที่สุดแม้กับมารดาบิดา ก็ไม่ควร.
               วินิจฉัยในการซื้อขายนั้นดังต่อไปนี้ :-
               ผ้ากับผ้าก็ตาม อาหารกับอาหารก็ตาม จงยกไว้, ภิกษุกล่าวถึงกัปปิยภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ด้วยสิ่งนี้ เป็นทุกกฏ. ภิกษุกล่าวอย่างนั้นแล้วให้ภัณฑะของตนแม้แก่มารดาก็เป็นทุกกฏ. ภิกษุอันมารดากล่าวว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ด้วยสิ่งนี้ หรือกล่าวว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ ฉันจักให้สิ่งนี้แก่ท่าน แล้วถือเอาภัณฑะแม้ของมารดาเพื่อตนก็เป็นทุกกฏ. เมื่อภัณฑะของตนถึงมือของคนอื่น และเมื่อภัณฑะของคนอื่นถึงมือของตน เป็นนิสสัคคีย์.
               แต่เมื่อภิกษุกล่าวกะมารดาหรือบิดาว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ ไม่เป็นการออกปากขอ. เมื่อภิกษุกล่าวว่า ท่านจงถือเอาสิ่งนี้ ไม่เป็นการยังสัทธาไทยให้ตกไป. เมื่อภิกษุพูดกะผู้มิใช่ญาติว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ เป็นการออกปากขอ, เมื่อพูดว่า ท่านจงถือเอาสิ่งนี้ เป็นการยังสัทธาไทยให้ตกไป. เมื่อภิกษุถึงการซื้อขายว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ ด้วยสิ่งนี้ เป็นนิสสัคคีย์. เพราะฉะนั้น อันภิกษุผู้จะแลกเปลี่ยนกัปปิยภัณฑ์ พึงแลกเปลี่ยนกับมารดาบิดาให้พ้นการซื้อขาย กับพวกคนผู้มิใช่ญาติให้พ้นอาบัติ ๓ ตัว.

               [อธิบายวิธีการแลกเปลี่ยนกัปปิยภัณฑ์]               
               ในกัปปิยภัณฑ์นั้น มีวิธีการแลกเปลี่ยนดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุมีข้าวสารเป็นเสบียงทาง เธอเห็นบุรุษถือข้าวสุกในระหว่างทางแล้วพูดว่า เรามีข้าวสาร, และเราไม่มีความต้องการด้วยข้าวสารนี้, แต่มีความต้องการด้วยข้าวสุก ดังนี้. บุรุษรับเอาข้าวสารแล้วถวายข้าวสุก ควรอยู่. ไม่เป็นอาบัติทั้ง ๓ ตัว. ชั้นที่สุด แม้เพียงสักว่านิมิตกรรมก็ไม่เป็น. เพราะเหตุไร? เพราะมีมูลเหตุ. และพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ข้างหน้านั่นแลว่า ภิกษุพูดว่า เรามีสิ่งนี้ แต่มีความต้องการด้วยสิ่งนี้และสิ่งนี้ดังนี้.
               อนึ่ง ภิกษุใดไม่กระทำอย่างนี้ แลกเปลี่ยนว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ด้วยสิ่งนี้ เป็นอาบัติตามวัตถุแท้. ภิกษุเห็นคนกินเดนกล่าวว่า เธอจงกินข้าวสุกนี้แล้ว นำน้ำย้อมหรือฟืนมาให้ แล้วให้ (ข้าวสุก) เป็นนิสสัคคีย์หลายตัวตามจำนวนสะเก็ดน้ำย้อมและจำนวนฟืน. ภิกษุกล่าวว่า พวกท่านบริโภคข้าวสุกนี้แล้ว จงทำกิจชื่อนี้ แล้วใช้พวกช่างศิลป์มีช่างแกะสลักงาเป็นต้นให้ทำบริขารนั้นๆ บรรดาบริขารมีธมกรกเป็นต้น หรือใช้พวกช่างย้อมให้ซักผ้า เป็นอาบัติตามวัตถุทีเดียว. ภิกษุให้พวกช่างกัลบกปลงผมให้พวกกรรมกรทำนวกรรม เป็นอาบัติตามวัตถุเหมือนกัน.
               ก็ถ้าภิกษุไม่กล่าวว่า พวกท่านบริโภคอาหารนี้แล้ว จงทำกิจนี้ กล่าวว่า เธอจงบริโภคอาหารนี้, เธอบริโภคแล้ว, (หรือ) จักบริโภค จงช่วยทำกิจชื่อนี้ ย่อมสมควร.
               ก็ในการให้ทำบริขารเป็นต้นนี้ ภัณฑะของผู้อื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน ชื่อว่าอันภิกษุพึงสละ ย่อมไม่มี ในการซักผ้าหรือในการปลงผม หรือในนวกรรมมีการถางพื้นที่เป็นต้น แม้ก็จริง, ถึงอย่างนั้น เพราะท่านกล่าวไว้หนักแน่นในมหาอรรถกถา ใครๆ ไม่อาจคัดค้านคำนั้นได้ เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงแสดงปาจิตตีย์ ในเพราะการจ้างซักผ้าเป็นต้นแม้นี้เหมือนแสดงปาจิตตีย์ ในเพราะนิสสัคคิยวัตถุที่ตนใช้สอยแล้ว หรือเสียหายแล้วฉะนั้น.

               [อธิบายอนาปัตติวาร]               
               ในคำว่า กยวิกฺกเย กยวิกฺกยสญฺญี เป็นต้น ผู้ศึกษาพึงทราบใจความอย่างนี้ว่า ภิกษุใดถึงการซื้อขาย, ภิกษุนั้นจงเป็นผู้มีความสำคัญในการซื้อขายนั้นว่าเป็นการซื้อขาย หรือมีความสงสัย หรือมีความสำคัญว่าไม่ใช่การซื้อขายก็ตามที เป็นนิสสัคคิปาจิตตีย์ทั้งนั้น. ในจูฬติกะเป็นทุกกฏเหมือนกันทั้ง ๒ บท.
               สองบทว่า อคฺฆํ ปุจฺฉติ มีความว่า ภิกษุถามว่า บาตรของท่านนี้ราคาเท่าไร? แต่เมื่อเจ้าของบาตรกล่าวว่า ราคาเท่านี้ ถ้ากัปปิยภัณฑ์ของภิกษุนั้นมีราคามาก, และภิกษุตอบอุบาสกนั้นไปอย่างนี้ว่า อุบาสก! วัตถุของเรานี้มีราคามาก ท่านจงให้บาตรของท่านแก่คนอื่นเถิด. ฝ่ายอุบาสกได้ยินคำนั้น กล่าวว่า ผมจะแถมกระถางอื่นให้อีก จะรับเอาไว้ ก็ควร. ของนั้นตกไปในลักษณะที่ตรัสไว้ว่า เรามีสิ่งนี้ เป็นต้น.
               ถ้าบาตรนั้นมีราคาแพง สิ่งของของภิกษุมีราคาถูก และเจ้าของบาตรไม่รู้ว่าของนั้นราคาถูก, ภิกษุอย่าพึงรับเอาบาตร พึงบอกว่า ของของเรามีราคาถูก.
               จริงอยู่ เมื่อภิกษุกล่าวหลอกลวงว่า มีราคามากรับเอา (บาตร) ไป จะถึงความเป็นผู้อันพระวินัยธรพึงให้ตีราคาสิ่งของแล้วปรับอาบัติ. ถ้าเจ้าของบาตรกล่าวว่า ช่างเถอะ ขอรับ! ที่เหลือจักเป็นบุญแก่ผม แล้วถวาย ควรอยู่.
               สองบทว่า กปฺปิยการกสฺส อาจิกฺขติ มีความว่า ภิกษุทำคนอื่น เว้นคนที่ตนรับภัณฑะจากมือ โดยที่สุดแม้เป็นบุตร หรือพี่น้องชายของเขา ให้เป็นกัปปิยการกแล้วบอกว่า เธอจงเอาสิ่งนี้ด้วยสิ่งนี้ให้ด้วย. ถ้าบุตรหรือพี่น้องชายนั้น เป็นคนฉลาดคัดเลือกต่อรองซ้ำๆ ซากๆ แล้ว จึงรับเอา, ภิกษุพึงยืนนิ่งอยู่. ถ้าเขาเป็นคนไม่ฉลาด ไม่รู้จักจะถือเอา พ่อค้าจะลวงเขา, ภิกษุพึงบอกเขาว่า เธออย่าเอา ดังนี้.
               ในคำว่า เรามีสิ่งนี้ เป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุกล่าวว่า น้ำมันหรือเนยใสที่รับประเคนแล้วนี้ ของเรามีอยู่ แต่เราต้องการของอื่นที่ยังไม่ได้ประเคน. ถ้าเขารับเอาน้ำมันหรือเนยใสนั้น ให้น้ำมันหรือเนยใสอื่น. อย่าพึงให้ตวงน้ำมันของตนก่อน. เพราะเหตุไร? เพราะยังมีน้ำมันที่เหลืออยู่ในทะนานน้ำมัน. น้ำมันที่เหลือนั้นจะพึงทำน้ำมันที่ยังไม่ได้รับประเคน ของภิกษุผู้ตวงในภายหลังให้เสียไป ฉะนี้แล.
               คำที่เหลือมีอรรถตื้นทั้งนั้น.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล.

               พรรณนากยวิกกยสิกขาบทที่ ๑๐ จบ               
               และจบวรรคทึ่ ๒               
               ------------------------------------------------------------               
               หัวข้อประจำเรื่อง               
               ๑. โกสิยสิกขาบท ว่าด้วยการทำสันถัตเจือด้วยไหม
               ๒. สุทธกาฬกสิกขาบท ว่าด้วยการทำสันถัตแห่งขนเจียมดำล้วน
               ๓. เทฺวภาคสิกขาบท ว่าด้วยการทำสันถัตแห่งขนเจียมดำล้วน ๒ ส่วน
               ๔. ฉัพพัสสสิกขาบท ว่าด้วยการทำทรงสันถัตไว้ให้ได้ ๖ ฝน
               ๕. นิสีทนสันถตสิกขาบท ว่าด้วยการทำสันถัตสำหรับนั่ง
               ๖. เอฬกโลมสิกขาบท ว่าด้วยการรับขนเจียม
               ๗. เอฬกโลมโธวาปนสิกขาบท ว่าด้วยการซักขนเจียม
               ๘. รูปิยอุคคหสิกขาบท ว่าด้วยการรับทองเงิน
               ๙. รูปิยสํโวหารสิกขาบท ว่าด้วยการซื้อขายด้วยรูปิยะ มีประการต่างๆ
               ๑๐. กยวิกยสิกขาบท ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ

               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๑๐ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 109อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 113อ่านอรรถกถา 2 / 117อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=2807&Z=2944
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=4991
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=4991
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๕  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :