ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 85อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 88อ่านอรรถกถา 4 / 91อ่านอรรถกถา 4 / 252
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ
พระอุปเสนวังคันตบุตรอุปสมบทสัทธิวิหาริก

               อรรถกถาว่าด้วยองค์แห่งอุปัชฌาย์               
               คำว่า กินฺตายํ ภิกฺขุ โหติ มีความว่า ภิกษุนี้เป็นอะไรกับท่าน.
               ข้อว่า อญฺเญหิ โอวทิโย อนุสาสิโย มีความว่า ท่านอันภิกษุเหล่าอื่นต้องตักเตือนและต้องพร่ำสอน.
               ข้อว่า พาหุลฺลาย อาวตฺโต อทิทํ คณพนฺธิกํ มีความว่า ความพัวพันด้วยหมู่ของความเป็นผู้มักมากนี้มีอยู่ เหตุนั้นความเป็นผู้มักมากนี้ ชื่อว่ามีความพัวพันด้วยหมู่.
               มีคำอธิบายว่า ความเป็นผู้มักมากที่ชื่อว่ามีความพัวพันด้วยหมู่นี้อันใด ท่านเวียนมาเพื่อประโยชน์แก่ความเป็นผู้มักมากอันนั้น เร็วนัก.
               บทว่า อพฺยตฺตา ได้แก่ ผู้ปราศจากปัญญาเครื่องเป็นผู้ฉลาด.
               สองบทว่า อญฺญตโรปิ อญฺญติตฺถิยปุพฺโพ ได้แก่ ปริพาชก ชื่อปสุระ.
               ได้ยินว่า เขาคิดว่าจักขโมยธรรม จึงบวชในสำนักพระอุทายีเถระผู้อันท่านว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรม ได้ยกวาทะของท่าน.
               ภิกษุผู้ฉลาดในคำว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว พฺยตฺเตน ภิกฺขุนา เป็นต้น มีลักษณะดังกล่าวแล้วในอรรถกถาแห่งภิกขุโนวาทกสิกขาบทในหนหลังนั้นแล.๑-
               ส่วนภิกษุผู้สามารถทำกิจเป็นต้นว่า พยาบาลอันเตวาสิก หรือสัทธิวิหาริกซึ่งอาพาธ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์ว่า ผู้สามารถ ในที่นี้.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแม้คำนี้ไว้ว่า ดูก่อนอุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรให้กุลบุตรอุปสมบท ควรให้นิสัย ควรให้สามเณรอุปัฏฐากด้วยองค์ ๕ เหล่าไหน? เหล่านี้คือเป็นผู้สามารถพยาบาลเอง หรือให้ผู้อื่นช่วยพยาบาลอันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริกผู้อาพาธ, เป็นผู้สามารถระงับเองหรือให้ผู้อื่นช่วยระงับความกระสันของอันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริก เป็นผู้สามารถบรรเทาเองหรือให้ผู้อื่นช่วยบรรเทาความรังเกียจ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วเสียโดยธรรม, เป็นผู้สามารถแนะนำในอภิธรรม แนะนำในอภิวินัย.๒-
____________________________
๑- สมนฺตฺ ทุติย. ๓๕๐.
๒- ดูคำอธิบายหน้า ๒๓๒.

               ว่าด้วยทรงอนุญาตนิสยาจารย์               
               บทว่า ปกฺขสงฺกนฺเตสุ ได้แก่ ไปเข้าพวกเดียรถีย์
               ข้อว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว อาจริยํ มีความว่า เราอนุญาตอาจารย์ผู้ฝึกหัดอาจาระและสมาจาร.
               คำทั้งปวงเป็นต้นว่า อาจริโย ภิกฺขเว อนฺเตวาสิกมฺหิ พึงทราบด้วยอำนาจคำที่กล่าวแล้วโดยนัยเป็นต้นว่า อุปชฺฌาโย ภิกฺขเว สทฺธิวิหาริกมฺหิ นั่นแล. เพราะว่า ในคำว่า อาจริโย เป็นต้น ต่างกันแต่เพียงชื่อเท่านั้น.
               ส่วนในคำว่า อันเตวาสิกทั้งหลายไม่ประพฤติชอบในอาจารย์ทั้งหลายนี้
               ผู้ศึกษาพึงทราบว่า เป็นอาบัติแก่นิสสยันเตวาสิกโดยลักษณะที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในหนหลังนั้นแลว่า ก็ในการไม่ประพฤติชอบ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เมื่อสัทธิวิหาริกไม่ทำวัตรเพียงย้อมจีวร ความเสื่อมย่อมมีแก่อุปัชฌาย์ เพราะเหตุนั้น จึงเป็นอาบัติเหมือนกันทั้งผู้พ้นนิสัยแล้ว ทั้งผู้ยังไม่พ้น ซึ่งไม่ทำวัตรนั้นและว่า ตั้งแต่ให้บาตรแก่คนบางคนไป เป็นอาบัติแก่ผู้ยังไม่พ้นนิสัยเท่านั้น เพราะว่านิสสยันเตวาสิก ควรทำอาจริยวัตรทั้งปวง เพียงเวลาที่ตนอาศัยอาจารย์อยู่.
               ฝ่ายปัพพชันเตวาสิก อุปสัมปทันเตวาสิกและธัมมันเตวาสิกแม้พ้นนิสัยแล้ว ก็คงทำวัตรตั้งแต่ต้นจนถึงย้อมจีวร แต่ไม่เป็นอาบัติแก่อันเตวาสิกเหล่านั้น ในเพราะเหตุมีไม่เรียนถามก่อนแล้วให้บาตรเป็นต้น.
               และในอันเตวาสิกเหล่านี้ ปัพพชันเตวาสิกและอุปสัมปทันเตวาสิก เป็นภาระของอาจารย์ตลอดชีวิต นิสสยันเตวาสิกและธัมมันเตวาสิก ยังอยู่ในสำนักเพียงใด เป็นภาระของอาจารย์เพียงนั้นทีเดียว เพราะเหตุนั้น ฝ่ายอาจารย์จึงต้องประพฤติในอันเตวาสิกเหล่านั้นด้วย เพราะว่า ทั้งอาจารย์ ทั้งอันเตวาสิก ฝ่ายใดๆ ไม่ประพฤติชอบย่อมเป็นอาบัติแก่ฝ่ายนั้นๆ.

               อรรถกถาว่าด้วยองค์แห่งอุปัชฌาย์จบ.               
               -----------------------------------------------------               

               ว่าด้วยองค์เป็นเหตุระงับนิสัย               
               ในองค์เป็นเหตุระงับนิสัยจากอุปัชฌาย์เป็นต้นว่า อุปัชฌาย์หลีกไปเสียก็ดี มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ปกฺกนฺโต มีความว่า อุปัชฌาย์ใคร่จะย้ายไปจากอาวาสนั้น หลีกไปเสีย คือไปสู่ทิศ. ก็แลเมื่อท่านไปแล้วอย่างนั้น ถ้าในวิหารมีภิกษุผู้ให้นิสัย หรือแม้ในกาลอื่น ตนเคยถือนิสัยในสำนักภิกษุใด หรือภิกษุใดมีสมโภคและบริโภคเป็นอย่างเดียวกัน พึงถือนิสัยในสำนักภิกษุนั้น. แม้วันเดียวก็คุ้มอาบัติไม่ได้.
               ถ้าภิกษุเช่นนั้นไม่มี ภิกษุอื่นที่เป็นลัชชีมีศีลเป็นที่รักมีอยู่ เมื่อทราบว่าเธอเป็นลัชชี มีศีลเป็นที่รัก พึงขอนิสัยในวันนั้นทีเดียว. ถ้าเธอให้ การให้อย่างนั้นนั่นเป็นการดี แต่ถ้าเธอถามว่า อุปัชฌาย์ของท่านจักกลับเร็วหรือ และอุปัชฌาย์ได้พูดไว้อย่างนั้น พึงตอบว่า ถูกละขอรับ และถ้าเธอกล่าวว่า ถ้ากระนั้นจงคอยอุปัชฌาย์มาเถิด จะรออุปัชฌาย์กลับก็ควร.
               แต่ถ้าโดยปกติ ทราบไม่ได้ว่า เธอเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก พึงสังเกตสัก ๔-๕ วันว่า ภิกษุนั้นจะเป็นสภาคกันหรือไม่ แล้วให้เธอทำโอกาส ขอนิสัย.
               แต่ถ้าในวัดที่อยู่ ไม่มีภิกษุผู้ให้นิสัย ทั้งอุปัชฌาย์ได้สั่งว่า ฉันจักไปสัก ๒-๓ วัน พวกคุณอย่าทุรนทุรายใจเลย ดังนี้จึงไป ได้ความคุ้มอาบัติจนกว่าท่านจะกลับมา.
               ถ้าแม้ชาวบ้านในที่นั้น เขานิมนต์ให้ท่านอยู่เกินกว่าเวลาที่กำหนดไว้บ้าง ๕ วันหรือ ๑๐ วันไซร้, อุปัชฌาย์นั้นพึงส่งข่าวไปวัดที่อยู่ว่า พวกภิกษุหนุ่มอย่าทุรนทุรายใจเลย ฉันจักกลับในวันโน้น. แม้อย่างนี้ก็ได้ความคุ้มอาบัติ. ภายหลังเมื่ออุปัชฌาย์กำลังกลับมา มีความติดขัดในระหว่างทางด้วยน้ำเต็มแม่น้ำหรือด้วยโจรเป็นต้น พระเถระคอยน้ำลดหรือหาเพื่อน ถ้าพวกภิกษุหนุ่มทราบข่าวนั้น ได้ความคุ้มอาบัติจนกว่าท่านจะกลับมา.
               แต่ถ้าท่านส่งข่าวมาว่า ฉันจักอยู่ที่นี้แหละ ดังนี้ คุ้มอาบัติไม่ได้. จะได้นิสัยในที่ใด พึงไปในที่นั้น. แต่เมื่ออุปัชฌาย์สึกหรือมรณภาพ หรือไปเข้ารีตเดียรถีย์เสีย แม้วันเดียวก็คุ้มอาบัติไม่ได้. จะได้นิสัยในที่ใด พึงไปในที่นั้น.
               บทว่า วิพฺภนฺโต ได้แก่ เคลื่อนจากศาสนา.
               การประณามนิสัย ท่านเรียกว่า อาณัติ คือสั่งบังคับ. เพราะเหตุนั้น ภิกษุใดถูกอุปัชฌาย์ผลักออกด้วยประณามนิสัย โดยนัยพระบาลีนี้ว่า ฉันประณามเธอ หรือว่า อย่าเข้ามา ณ ที่นี้ หรือว่า จงขนบาตรจีวรของเธอออกไปเสีย หรือว่า เธอไม่ต้องอุปัฏฐากฉันดอกดังนี้ก็ดี โดยนัยพ้นจากบาลีเป็นต้นว่า เธออย่าบอกลาเข้าบ้านกะฉันเลย ดังนี้ก็ดี ภิกษุนั้น พึงขอให้อุปัชฌาย์อดโทษ.
               ถ้าท่านไม่ยอมอดโทษให้แต่แรก, พึงยอมรับทัณฑกรรมแล้ว ขอให้ท่านอดโทษด้วยตนเอง ๓ ครั้งก่อน, ถ้าท่านไม่ยอมอดโทษให้ พึงเชิญพระมหาเถระที่อยู่ในวัดนั้นให้ช่วยขอโทษแทน. ถ้าท่านไม่ยอมอดโทษพึงวานภิกษุทั้งหลายที่อยู่ในวัดใกล้เคียงให้ช่วยขอโทษแทน.
               ถ้าถึงอย่างนั้นแล้ว ท่านก็ยังไม่ยอมอดโทษให้ พึงไปในที่อื่นแล้วอยู่ในสำนักของภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสภาคแก่อุปัชฌาย์ ด้วยคิดว่า แม้ไฉนอุปัชฌาย์ได้ทราบว่า อยู่ในสำนักของภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสภาคของเรา จะพึงอดโทษให้บ้าง.
               ถ้าถึงอย่างนั้นแล้ว ท่านก็ยังไม่ยอมอดโทษให้ พึงอยู่ในที่นั้นเสียเถิด, ถ้าไม่อาจอยู่ในที่นั้นได้ด้วยโทษมีข้าวแพงเป็นต้น จะมายังวัดที่อยู่เดิมนั้นแล้ว ถือนิสัยอยู่ในสำนักภิกษุอื่นก็ควร.
               วินิจฉัยในการสั่งบังคับเท่านี้.

               ว่าด้วยองค์เป็นเหตุระงับนิสัยจากอาจารย์               
               บรรดาองค์ ๖ ซึ่งเป็นเหตุให้นิสัยระงับจากอาจารย์ ในองค์นี้ คืออาจารย์หลีกไปเสียก็ดี มีวินิจฉัยว่า
               อาจารย์บางองค์บอกลาแล้วหลีกไป บางองค์ไม่บอกลา. ถึงอันเตวาสิกก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน. ในอาจารย์และอันเตวาสิก ๒ ฝ่ายนั้น ถ้าอันเตวาสิกบอกลาอาจารย์ว่า ผมอยากไปที่โน้น ด้วยกรณียกิจเฉพาะบางอย่างขอรับ และเธออันอาจารย์ถามว่า จักไปเมื่อไร? จึงตอบว่า จักไปในเวลาเย็น หรือจักลุกขึ้นไปในกลางคืน พออาจารย์รับว่า ดีละ นิสัยระงับในทันที.
               แต่ถ้าเมื่อเธอกล่าวว่า ผมอยากไปที่โน้น ขอรับ อาจารย์ตอบว่า เธอจักเที่ยวบิณฑบาตที่บ้านโน้นก่อน ภายหลังจักรู้ และภิกษุนั้นรับว่า ดีแล้ว ถ้าเธอไปจากบ้านนั้น เป็นอันไปด้วยดี, แต่ถ้าไม่ไป นิสัยไม่ระงับ.
               ถ้าแม้เมื่ออันเตวาสิกกล่าวว่า ผมจะไป แต่อาจารย์สั่งว่า อย่าพึงไปก่อน กลางคืนหารือกันแล้วจึงค่อยรู้ ดังนี้ ครั้นหารือกันแล้วจึงไป เป็นอันไปด้วยดี ถ้าไม่ไป นิสัยไม่ระงับ. แต่สำหรับอันเตวาสิกผู้ไม่บอกลาอาจารย์ก่อนหลีกไป นิสัยระงับในเมื่อล่วงอุปจารสีมาไป, เมื่อกลับเสียแต่ภายในอุปจารสีมา นิสัยยังไม่ระงับ.
               ก็ถ้าอาจารย์บอกลาอันเตวาสิกว่า ฉันจักไปที่โน้นนะคุณ, และเมื่ออันเตวาสิกถามว่า จักไปเมื่อไร? ตอบว่า เวลาเย็นหรือตอนกลางคืน, พออันเตวาสิกรับว่า ดีแล้ว นิสัยระงับทันที.
               แต่ถ้าอาจารย์บอกว่า พรุ่งนี้ฉันจักเที่ยวบิณฑบาตแล้วเลยไป ฝ่ายอันเตวาสิกรับว่า ดีแล้ว นิสัยยังไม่ระงับก่อนตลอดวันหนึ่ง ต่อวันรุ่งขึ้นจึงระงับ. อาจารย์บอกว่า ฉันจักไปบิณฑบาตที่บ้านโน้นแล้ว จึงจะรู้ว่า จะไปหรือไม่ไป ถ้าไม่ไป นิสัยไม่ระงับ.
               ถ้าแม้เมื่ออาจารย์บอกว่าจะไป แล้วถูกอันเตวาสิกหน่วงไว้ว่า อย่าพึงไปก่อน กลางคืนหารือกันแล้วจึงค่อยทราบ, แม้หารือกันแล้วไม่ไป นิสัยก็ไม่ระงับ.
               ถ้าอันเตวาสิกและอาจารย์ทั้ง ๒ ต่างออกนอกสีมาไปด้วยกรณียกิจบางอย่าง ลำดับนั้น ถ้าเมื่อจิตคิดจะไปเกิดขึ้น อาจารย์ไม่ทันบอกลา ไปเสียแล้วกลับแต่เพียงใน ๒ เลฑฑุบาต. นิสัยยังไม่ระงับ ถ้าล่วง ๒ เลฑฑุบาตออกไปแล้วจึงกลับ, นิสัยย่อมระงับ. อาจารย์และอุปัชฌาย์อยู่ในวัดที่อยู่อื่นล่วง ๒ เลฑฑุบาตออกไปนิสัยระงับ.
               อาจารย์ลาสิกขา มรณภาพ ไปเข้ารีตเสีย นิสัยระงับทันที.
               ส่วนในการสั่งบังคับวินิจฉัยว่า
               ถ้าแม้อาจารย์เป็นผู้มีปรารถนาจะสลัดจริงๆ จึงผลักออกเสียด้วยประณามนิสัย, แต่อันเตวาสิกยังเป็นผู้ถืออาลัยอยู่ว่า อาจารย์ประณามเราเสียก็จริง แต่ว่าท่านยังเป็นผู้อ่อนโยนด้วยน้ำใจ ดังนี้. นิสัยยังไม่ระงับ. ถ้าแม้อาจารย์มีอาลัย แต่อันเตวาสิกหมดอาลัยทอดธุระว่า คราวนี้ เราจักไม่อาศัยอาจารย์นี้อยู่ แม้อย่างนั้น นิสัยย่อมยังไม่ระงับ. และด้วยข้อที่ทั้ง ๒ ฝ่ายยังมีอาลัย นิสัยย่อมไม่ระงับแท้.
               ในเมื่อทั้ง ๒ ฝ่ายทอดธุระ นิสัยจึงระงับ.
               อันเตวาสิกผู้ (ถูก) ประณาม ควรยอมรับทัณฑกรรม. แล้วขอให้อาจารย์อดโทษ ๓ ครั้ง ถ้าท่านไม่อดโทษให้ พึงปฏิบัติโดยนัยที่กล่าวแล้วในอุปัชฌาย์.
               ในข้อซึ่งว่า หรือถึงความพบปะกับอุปัชฌาย์ นี้ พึงทราบการพบปะกันด้วยอำนาจการได้เห็นและได้ยิน. ก็ถ้าสัทธิวิหาริกอาศัยอาจารย์อยู่ เห็นอุปัชฌาย์ไหว้พระเจดีย์อยู่ในวัดที่อยู่เดียวกันหรือเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในบ้านเดียวกัน นิสัยย่อมระงับ.
               อุปัชฌาย์เห็น แต่สัทธิวิหาริกไม่เห็น นิสัยไม่ระงับ.
               สัทธิวิหาริกเห็นอุปัชฌาย์เดินทางไปหรือไปทางอากาศ ทราบว่าเป็นภิกษุแต่ไกล แต่ไม่ทราบว่าอุปัชฌาย์ นิสัยไม่ระงับ. ถ้าทราบ นิสัยระงับ.
               อุปัชฌาย์อยู่บนปราสาท สัทธิวิหาริกอยู่ข้างล่างแต่ไม่ทันเห็นท่าน ดื่มยาคูแล้วหลีกไป หรือไม่ทันเห็นท่านซึ่งนั่งที่หอฉัน ฉัน ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้วหลีกไป หรือไม่ทันเห็นท่านแม้นั่งในมณฑปที่ฟังธรรม ฟังธรรมแล้วหนีไป, นิสัยไม่ระงับ.
               พึงทราบการพบปะกันด้วยอำนาจการเห็นก่อนด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนการพบปะกันด้วยอำนาจการได้ยิน พึงทราบดังนี้ :-
               ถ้าเมื่ออุปัชฌาย์กล่าวธรรมอยู่ หรือทำอนุโมทนาอยู่ในวัดที่อยู่ก็ดี ในละแวกบ้านก็ดี สัทธิวิหาริกได้ยินเสียงแล้วจำได้ว่า เสียงอุปัชฌาย์ของเรา นิสัยระงับ เมื่อจำไม่ได้ ไม่ระงับ.
                วินิจฉัยในการพบปะกันเท่านี้.

               โสฬสปัญจกวินิจฉัย               
               ลักษณะแห่งอุปัชฌาย์อาจารย์โดยย่ออันใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในหนหลังว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาดสามารถมีพรรษาครบ ๑๐ หรือเกินกว่า ๑๐ ให้กุลบุตรอุปสมบท ให้นิสัย ดังนี้, บัดนี้เพื่อแสดงลักษณะอันนั้นโดยพิสดาร จึงตรัสคำว่า ปญฺจหิ ภิกฺขเว องฺเคหิ สมนฺนาคเตน เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ปญฺจหิ องฺเคหิ ได้แก่ องค์ไม่เป็นคุณ ๕.
               จริงอยู่ ภิกษุนั้นเป็นผู้ชื่อว่าประกอบด้วยองค์ไม่เป็นคุณก็เพราะไม่ประกอบด้วยกองแห่งธรรม ๕ มีกองศีลเป็นต้น.
               ข้อว่า น อุปสมฺปาเทตพฺพํ ได้แก่ ไม่พึงเป็นอุปัชฌาย์ให้กุลบุตรอุปสมบท.
               ข้อว่า น นิสฺสโย ทาตพฺโพ ได้แก่ ไม่พึงเป็นอาจารย์ให้นิสัย.
               ก็คำว่า อเสเขน เป็นต้นในองค์ ๕ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาศีล สมาธิ ปัญญา ผลและปัจจเวกขณญาณแห่งพระอรหันต์. ก็สามปัญจกะข้างต้นเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยอำนาจแห่งภิกษุผู้ไม่สมควร หาได้ตรัสด้วยอำนาจองค์แห่งอาบัติไม่.
               ก็แลบรรดาปัญจกะเหล่านี้ เฉพาะ ๓ ปัญจกะมีคำเป็นต้นว่า อเสเขน สีลกฺขนฺเธน ๑ อตฺตนา น อเสเขน ๑ อสฺสทฺโธ ๑ ทรงทำการห้ามด้วยอำนาจแห่งภิกษุผู้ไม่สมควร, หาได้ทรงทำด้วยอำนาจองค์แห่งอาบัติไม่.
               จริงอยู่ ภิกษุใดไม่ประกอบด้วยกองธรรม ๕ ของพระอเสขะมีกองศีลเป็นต้น ทั้งไม่สามารถชักนำผู้อื่นในกองธรรมเหล่านั้น, แต่เป็นผู้ประกอบด้วยโทษมีอัสสัทธิยะเป็นต้น ปกครองบริษัท, บริษัทของภิกษุนั้นย่อมเสื่อมจากคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้นแท้ ย่อมไม่เจริญ. เพราะเหตุนั้น คำเป็นต้นว่า อันภิกษุนั้นไม่พึงให้กุลบุตรอุปสมบท ดังนี้ จึงชื่อว่า ตรัสด้วยอำนาจแห่งภิกษุผู้ไม่สมควร หาได้ตรัสด้วยอำนาจองค์แห่งอาบัติไม่.
               อันการที่พระขีณาสพเท่านั้นเป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแล้วหามิได้, ถ้าจักเป็นอันทรงอนุญาตเฉพาะพระขีณาสพนั้นเท่านั้นไซร้ พระองค์คงไม่ตรัสคำว่า ถ้าความเบื่อหน่ายเกิดขึ้นแก่อุปัชฌาย์ ดังนี้เป็นต้น. ก็เพราะเหตุที่บริษัทของพระขีณาสพ ไม่เสื่อมจากคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำเป็นต้นว่า :-
               ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้กุลบุตรอุปสมบทได้ ดังนี้.
               ในองค์ทั้งหลายเป็นต้นว่า อธิสีเล สีลวิปฺปนฺโน มีวินิจฉัยว่า
               ภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิกสังฆาทิเสส ชื่อว่าผู้วิบัติด้วยศีลในอธิศีล. ผู้ต้องอาบัติ ๕ กองนอกจากนี้ ชื่อว่าผู้วิบัติด้วยอาจาระในอัชฌาจาร. ผู้ละสัมมาทิฏฐิเสีย ประกอบด้วยอันตคาหิกมิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่าผู้วิบัติด้วยทิฏฐิในอติทิฏฐิ. สุตะมีประมาณเท่าใดอันภิกษุผู้ปกครองบริษัทพึงปรารถนา เพราะปราศจากสุตะนั้น ชื่อว่าผู้มีสุตะน้อย. เพราะไม่รู้ส่วนที่เธอควรรู้มีอาบัติเป็นต้น จึงชื่อว่าผู้มีปัญญาทราม.
               ก็ในปัญจกะนี้ สามบทเบื้องต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยอำนาจแห่งภิกษุผู้ไม่สมควรเท่านั้น สองบทเบื้องปลายตรัสด้วยอำนาจองค์แห่งอาบัติ.
               ข้อว่า อาปตฺตึ น ชานาติ มีความว่า เมื่อสัทธิวิหาริกหรืออันเตวาสิกบอกว่า กรรมเช่นนี้ ผมทำเข้าแล้ว ดังนี้ เธอไม่ทราบว่า ภิกษุนี้ต้องอาบัติชื่อนี้.
               ข้อว่า วุฏฺฐานํ น ชานาติ มีความว่า ไม่รู้จักว่า ความออกจากอาบัติ ที่เป็นวุฏฐานคามินี หรือเทศนาคามินี เป็นอย่างนี้. ในปัญจกะนี้ ๒ บทเบื้องต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยอำนาจแห่งภิกษุผู้ไม่สมควร สามบทเบื้องปลาย ตรัสด้วยอำนาจองค์แห่งอาบัติ.
               ข้อว่า อภิสมาจาริกาย สิกฺขาย มีความว่า เป็นผู้ไม่สามารถเพื่อจะแนะนำในขันธกวรรค.
               ข้อว่า อาทิพฺรหฺมจริกาย มีความว่า เป็นผู้ไม่สามารถเพื่อจะแนะนำในพระบัญญัติที่ควรศึกษา.
               ข้อว่า อภิธมฺเม มีความว่า เป็นผู้ไม่สามารถเพื่อจะแนะนำในนามรูปปริจเฉท.
               ข้อว่า อภิวินเย มีความว่า เป็นผู้ไม่สามารถจะแนะนำในวินัยปิฎกล้วน.
               ส่วนสองบทว่า วิเนตุํ น ปฏิพโล มีความว่า ย่อมไม่อาจเพื่อให้ศึกษาในทุกอย่าง.
               ข้อว่า ธมฺมโต วิเวเจตุํ มีความว่า เพื่อให้สละเสีย โดยธรรมคือตามเหตุ.
               ในปัญจกะนี้ ปรับอาบัติทุกๆ บท.
               แม้ในปัญจกะซึ่งมีบทต้นว่า ไม่รู้จักอาบัติ ก็ปรับอาบัติทุกๆ บท.
               ในปัญจกะนั้น ข้อว่า อุภยานิ โข ปนสฺส ปาฏิโมกฺขานิ วิตฺถาเรน สฺวาคตานิ โหนฺติ ได้แก่ ปาฏิโมกข์ ๒ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยอำนาจอุภโตวิภังค์.
               บทว่า สุวิภตฺตานิ ได้แก่ ที่ตรัสด้วยอำนาจมาติกาวิภังค์.
               บทว่า สุปฺปวตฺตีนิ ได้แก่ ที่ตรัสด้วยอำนาจที่คล่องปาก.
               หลายบทว่า สุวินิจฺฉิตานิ สุตฺตโส อนุพฺยญฺชนโส ได้แก่ ที่วินิจฉัยดีแล้วโดยมาติกาและวิภังค์. แม้ในปัญจกะซึ่งมีบทท้ายว่า มีพรรษาหย่อน ๑๐ ก็มีนัยเหมือนกันนั่นแล.
               ๓ ปัญจกะข้างต้น ๓ บทในปัญจกะที่ ๔ ๒ บทในปัญจกะที่ ๕ รวมทั้งหมดเป็น ๔ ปัญจกะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยอำนาจแห่งภิกษุผู้ไม่สมควร. ๒ บทในปัญจกะที่ ๔ ๓ บทในปัญจกะที่ ๕ ๓ ปัญจกะ คือที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ รวมทั้งหมดเป็น ๔ ปัญจกะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยอำนาจองค์แห่งอาบัติ ด้วยประการฉะนี้.
               ในศุกลปักษ์ไม่มีอาบัติเลย ทั้ง ๘ ปัญจกะ ฉะนี้แล.
               พึงทราบวินิจฉัยในฉักกะทั้งหลาย ดังนี้ อูนทสวัสสบท เป็นข้อพิเศษ.
               บทนั้นปรับอาบัติในทุกๆ หมวด.
               คำที่เหลือพึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.

               อรรถกถาโสฬสปัญจกวินิจฉัย จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ พระอุปเสนวังคันตบุตรอุปสมบทสัทธิวิหาริก จบ.
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 85อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 88อ่านอรรถกถา 4 / 91อ่านอรรถกถา 4 / 252
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=1975&Z=2021
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=917
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=917
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :