ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 5 / 1อ่านอรรถกถา 5 / 94อรรถกถา เล่มที่ 5 ข้อ 95อ่านอรรถกถา 5 / 99อ่านอรรถกถา 5 / 261
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ กฐินขันธกะ
ภิกษุปาไฐยรัฐเดินทางเข้าเฝ้าเป็นต้น

               เรื่องภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ               
               วินิจฉัยในกฐินขันธกะ พึงทราบดังนี้ :-
               บทว่า ปาเฐยฺยกา มีความว่า เป็นชาวจังหวัดปาเฐยยะ.
               มีคำอธิบายว่า ทางด้านทิศตะวันตกในแคว้นโกศล มีจังหวัดชื่อปาเฐยยะ, ภิกษุเหล่านั้นมีปกติอยู่ในจังหวัดนั้น. คำว่า ปาเฐยฺยกา นั้น เป็นชื่อของพวกพระภัททวัคคิเถระ ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมพระบิดาของพระเจ้าโกศล. ในพระเถระ ๓๐ รูปนั้น รูปที่เป็นใหญ่กว่าทุกๆ รูป เป็นพระอนาคามี, รูปที่ด้อยกว่าทุกๆ รูปเป็นพระโสดาบัน, ที่เป็นพระอรหันต์หรือปุถุชน แม้องค์เดียวก็ไม่มี.
               บทว่า อารญฺญกา มีความว่า มีปกติอยู่ป่า ด้วยอำนาจสมาทานธุดงค์, ไม่ใช่สักว่าอยู่ป่า. ถึงในข้อที่ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นต้น ก็มีนัยเหมือนกัน.
               อันที่จริง คำว่า มีปกติอยู่ป่า นี้ ท่านกล่าวด้วยอำนาจธุดงค์ที่เป็นประธาน แต่ภิกษุเหล่านี้สมาทานธุดงค์ทั้ง ๑๓ ทีเดียว.
               บทว่า อุทกสงฺคเห มีความว่า เมื่อภูมิภาคถูกน้ำท่วม คือขังแช่แล้ว.
               อธิบายว่า ทั้งที่ดอนทั้งที่ลุ่ม เป็นที่มีน้ำเป็นอันเดียวกัน.
               บทว่า อุทกจิกฺขลฺเล มีความว่า ในที่ซึ่งเธอทั้งหลายเหยียบแล้วเหยียบแล้ว น้ำโคลนย่อมกระฉูดขึ้นถึงตะโพก, ทางลื่นเช่นนี้.
               บทว่า โอกปุณฺเณหิ มีความว่า ชุ่มโชกด้วยน้ำ.
               ได้ยินว่า จีวรของพวกเธอ มีเนื้อแน่น, น้ำซึ่งตกที่จีวรเหล่านั้น จึงไม่ไหลไปเพราะเป็นผ้าเนื้อแน่น, ย่อมติดค้างอยู่เหมือนห่อผูกไว้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีจีวรชุ่มโชกด้วยน้ำ. ปาฐะว่า โอฆปุณฺเณหิ ก็มี.
               วินิจฉัยในคำว่า อวิวทมานา วสฺสํ วสิมฺหา นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               ภิกษุเหล่านั้นอยู่ไม่ผาสุก เพราะไม่มีความสำราญด้วยเสนาสนะในฐานที่ตนเป็นอาคันตุกะ และเพราะเป็นผู้กระวนกระวายในใจ ด้วยไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะฉะนั้น พวกเธอจึงไม่ทูลว่า พวกข้าพระองค์ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก.
               ข้อว่า ธมฺมึ กถํ กตฺวา มีความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนอนมตัคคิกถาแก่ภิกษุเหล่านั้น. เธอทั้งหมดเทียว ได้บรรลุพระอรหัตในเวลาจบกถา แล้วได้เหาะไปในอากาศ จากที่ซึ่งตนนั่งทีเดียว.
               พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายหมายเอาอนมตัคคิยกถานั้นกล่าวว่า ธมฺมึ กถํ กตฺวา ภายหลัง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า ถ้าการกรานกฐิน จักได้เป็นการที่เราได้บัญญัติแล้วไซร้ ภิกษุเหล่านั้นจะเก็บจีวรไว้ผืนหนึ่งแล้วมากับอันตรวาสกและอุตราสงค์จะไม่ต้องลำบากอย่างนั้น ; ก็ธรรมดาการกรานกฐินนี้ อันพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ทรงบัญญัติแล้ว ดังนี้. มีพระประสงค์จะทรงอนุญาตการกรานกฐิน จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา, ก็แล ครั้นตรัสเรียกมาแล้ว จึงตรัสคำว่า อนุชานามิ ภิกฺเว เป็นอาทิ.

               ว่าด้วยอานิสงส์ ๕               
               วินิจฉัยในคำนั้น พึงทราบดังนี้ :-
               ในคำว่า อตฺถตกฐินานํ โว นี้ โว อักษร สักว่านิบาต. ความว่า ผู้กรานกฐินแล้ว.
               จริงอยู่ เมื่อเป็นอย่างนั้น คำว่า โส เนสํ ภวิสฺสติ ข้างหน้า จึงจะสมกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า โว นี้ เป็นฉัฏฐีวิภัตตินั่นเอง. ส่วนในคำว่า โส เนสํ นี้ มีความว่า จีวรที่เกิดขึ้นนั้น จักเป็นของภิกษุทั้งหลาย ผู้กรานกฐินแล้วเทียว.
               บรรดาอานิสงส์ ๕ นั้น ข้อว่า อนามนฺตจาโร มีความว่า กฐินอันสงฆ์ยังไม่รื้อ๑- เพียงใด, การเที่ยวไปไม่บอกลา จักควรเพียงนั้น คือจักไม่เป็นอาบัติเพราะจาริตสิกขาบท.
               ข้อว่า อสมาทานจาโร ได้แก่ เที่ยวไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปด้วย.
               ความว่า การอยู่ปราศจากจีวร จักควร.
               ข้อว่า คณโภชนํ มีความว่า แม้การฉันคณโภชน์ จักควร.
               ข้อว่า ยาวทตฺถจีวรํ มีความว่า ต้องการด้วยจีวรเท่าใด, จีวรเท่านั้น ไม่ต้องอธิษฐาน ไม่ต้องวิกัป จักควร.
               ข้อว่า โย จ ตตฺถ จีวรุปฺปาโท มีความว่า จะเป็นจีวรของภิกษุสามเณรผู้มรณภาพในสีมาที่ได้กรานกฐินแล้วนั้น หรือจีวรที่ทายกถวายเฉพาะสงฆ์ หรือจีวรที่จ่ายมาด้วยค่ากัลปนาของสงฆ์ ซึ่งเกิดขึ้นในสีมานั้น ก็ตามที, จีวรใดเป็นของสงฆ์เกิดขึ้นด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง, จีวรนั้น จักเป็นของพวกเธอ.
____________________________
๑- อุพฺภต แปลตามพากย์เขมรว่า เดาะ.

               ว่าด้วยผู้ได้กรานกฐิน               
               วินิจฉัยในคำว่า เอวญฺจ ปน ภิกฺขเว กฐินํ อตฺถริตพฺพํ นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               ในมหาปัจจรีแก้ว่า ถามว่า ใครได้กรานกฐิน ใครไม่ได้?
               ตอบว่า ว่าด้วยอำนาจแห่งจำนวนก่อน. ภิกษุ ๕ รูปเป็นอย่างต่ำย่อมได้กราน, อย่างสูงแม้แสนก็ได้. หย่อน ๕ รูป ไม่ได้.
               ว่าด้วยอำนาจภิกษุผู้จำพรรษา. ภิกษุผู้จำพรรษาในปุริมพรรษา ปวารณาในวันปฐมปวารณาแล้ว ย่อมได้, ภิกษุผู้มีพรรษาขาดหรือจำพรรษาในปัจฉิมพรรษา ย่อมไม่ได้. แม้ภิกษุที่จำพรรษาในวัดอื่นก็ไม่ได้. และภิกษุทั้งปวงผู้จำพรรษาหลัง เป็นคณปูรกะของภิกษุผู้จำพรรษาต้นก็ได้, แต่พวกเธอไม่ได้อานิสงส์ ; อานิสงส์ย่อมสำเร็จแก่พวกภิกษุนอกนี้เท่านั้น.
               ถ้าภิกษุผู้จำพรรษาต้นมี ๔ รูปหรือ ๓ รูปหรือ ๒ รูปหรือรูปเดียว, พึงนิมนต์ภิกษุผู้จำพรรษาหลังมาเพิ่มให้ครบคณะแล้ว กรานกฐินเถิด. ถ้าภิกษุผู้จำพรรษาต้นมี ๔ รูป, มีสามเณรอายุครบอยู่รูปหนึ่ง, หากสามเณรนั้นอุปสมบทในพรรษาหลัง, เธอเป็นคณปูรกะได้ ทั้งได้อานิสงส์ด้วย.
               แม้ในข้อว่า มีภิกษุ ๓ สามเณร ๒, มีภิกษุ ๒ สามเณร ๓, มีภิกษุรูปเดียว สามเณร ๔ นี้ ก็มีนัยอย่างนี้แล. ถ้าภิกษุผู้จำพรรษาต้น ไม่เข้าใจในการกรานกฐิน, พึงหาพระเถระผู้กล่าวคัมภีร์ขันธกะ ซึ่งเข้าใจในการกรานกฐิน นิมนต์มา : ท่านสอนให้สวดกรรมวาจา ให้กรานกฐิน แล้วรับทานแล้วจักไป. ส่วนอานิสงส์ย่อมสำเร็จแก่ภิกษุนอกนี้เท่านั้น.

               ว่าด้วยผู้ถวายกฐิน               
               กฐิน ใครถวาย จึงใช้ได้?
               บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นเทวดาหรือมนุษย์หรือสหธรรมิกทั้ง ๕#- คนใดคนหนึ่งถวายก็ใช้ได้.
               ธรรมเนียมของผู้ถวายกฐิน มีอยู่ ; ถ้าเขาไม่รู้ธรรมเนียมนั้น.
               จึงถามว่า กฐินควรถวายอย่างไร เจ้าข้า ภิกษุพึงบอกเขาอย่างนี้ว่า ควรถวายผ้าพอทำไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้ ในเวลากลางวันว่า พวกข้าพเจ้าถวายผ้ากฐินจีวร, ควรถวายเข็มเท่านี้เล่มด้ายเท่านี้ น้ำย้อมเท่านี้ เพื่อทำจีวรนั้นและถวายยาคูและภัตแก่พวกภิกษุเท่านี้รูปผู้ช่วยทำ. ฝ่ายภิกษุผู้จะกรานกฐินพึงกรานกฐินซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมโดยชอบ. เมื่อจะกราน ต้องรู้จักธรรมเนียม.
               จริงอยู่ แม้ผ้าที่เปื้อนน้ำข้าว โดยสืบเนื่องมาแต่เรื่องช่างหูกทีเดียว ก็ใช้ไม่ได้, แม้ผ้าเก่าก็ใช้ไม่ได้ ; เพราะฉะนั้น ได้ผ้าสำหรับกรานกฐินแล้ว ต้องซักให้สะอาด ตระเตรียมเครื่องมือสำหรับทำจีวรมีเข็มเป็นต้นไว้แล้ว พร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย ช่วยกันเย็บย้อมจีวรที่เย็บเสร็จ ให้กัปปพินทุแล้ว กรานกฐินในวันนั้นทีเดียว. ถ้ากฐินนั้นยังไม่ทันได้กราน, ผู้อื่นนำผ้ากฐินมา ; และถวายผ้าอานิสงส์กฐินอื่นๆ เป็นอันมาก, ผู้ใดถวายอานิสงส์มาก, พึงกรานด้วยผ้ากฐินของผู้นั้นเถิด. แต่ต้องชี้แจงให้ทายกอีกฝ่ายหนึ่งยินยอม.
____________________________
#- สหธรรมิก ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี.

               ว่าด้วยผู้ควรกราน               
               ก็กฐิน ใครควรกราน?
               สงฆ์ให้จีวรกฐินแก่ภิกษุใด, ภิกษุนั้นควรกราน.
               ก็สงฆ์ควรให้ใครเล่า?
               ภิกษุใดมีจีวรเก่า ควรให้แก่ภิกษุนั้น. ถ้าภิกษุมีจีวรเก่าหลายรูปพึงให้แก่ผู้เฒ่า. ในหมู่ผู้เฒ่าเล่า ภิกษุใดเป็นมหาบุรุษสามารถทำจีวรเสร็จทันกรานในวันนั้น, ควรให้แก่ภิกษุนั้น ถ้าผู้เฒ่าไม่สามารถ ; ภิกษุผู้อ่อนกว่าสามารถ พึงให้แก่เธอ. แต่สงฆ์ควรทำความสงเคราะห์แก่พระมหาเถระ, เพราะฉะนั้น สงฆ์พึงเรียนท่านว่า ขอท่านจงรับเถิด, พวกข้าพเจ้าจักช่วยทำถวาย. ในไตรจีวรผืนใดคร่ำคร่า, ควรให้เพื่อประโยชน์แก่ผืนนั้น. ตามปกติ พระมหาเถระครองจีวรสองชั้น พึงให้เพื่อพอทำได้สองชั้น. ถ้าแม้ท่านครองจีวรชั้นเดียวแต่เนื้อแน่น, แต่ผ้ากฐินเนื้อบาง พึงให้ให้พอสองชั้นทีเดียว เพื่อจะได้เหมาะสมทรง. ถึงแม้ท่านพูดอยู่ว่า เมื่อไม่ได้เราก็จะครองชั้นเดียว ก็ควรให้สองชั้น, แต่ถ้าภิกษุใดเป็นผู้มีปกติโลภ ไม่ควรให้แก่ภิกษุนั้น.
               ท่านผู้รับนั้นเล่า ก็ไม่ควรรับด้วยคิดว่า เรากรานกฐินแล้ว ภายหลังจักเลาะออกทำเป็นจีวรสองผืน.

               ว่าด้วยกฐินวัตร               
               ก็แล เพื่อจะแสดงวิธีที่จะพึงให้แก่ภิกษุที่สงฆ์จะให้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารถนาว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็แล กฐินอันภิกษุพึงกรานอย่างนี้ ดังนี้แล้ว จึงตรัสกรรมวาจาสำหรับให้ก่อน มีคำว่า สุณาตุ เม ภนฺเต เป็นต้น.
               ก็เมื่อกฐินอันสงฆ์ให้อย่างนี้แล้ว หากผ้ากฐินนั้นเป็นของมีบริกรรมเสร็จสรรพแล้ว อย่างนั้นนั่นเป็นการดี. หากมีบริกรรมยังไม่สำเร็จ แม้ภิกษุรูปหนึ่งจะไม่ช่วยทำด้วยถือตัวว่า เราเป็นเถระ หรือว่า เราเป็นพหุสสุตะ ดังนี้ไม่ได้ การซักเย็บและย้อม ภิกษุทั้งหมดต้องประชุมช่วยกันให้สำเร็จ ก็ข้อนี้ ชื่อกฐินวัตรที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ก็ได้ทรงทำกฐินวัตรมาแล้ว ในอดีตกาล. ได้ยินว่า พระอัครสาวกของพระองค์ชื่อสุชาตเถระ ได้รับกฐิน. พระศาสดาได้ทรงนั่งทำกฐินวัตรนั้น พร้อมด้วยภิกษุหกล้านแปดแสนรูป.

               วิธีกราน               
               อันภิกษุผู้กราน พึงถือเอาผ้ากฐินที่ทำเสร็จสรรพแล้วกรานกฐินตามวิธีท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์บริวาร๑- มีคำเป็นต้นว่า ถ้าประสงค์จะกรานกฐินด้วยสังฆาฏิ พึงถอนสังฆาฏิเก่า อธิษฐานสังฆาฏิใหม่ พึงลั่นวาจาว่า ข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยสังฆาฏินี้ ก็แล ครั้นกรานแล้ว พึงให้ภิกษุทั้งหลายอนุโมทนา ตามวิธีที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์บริวาร๒- มีคำเป็นอาทิอย่างนี้แลว่า ภิกษุผู้กรานกฐินนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์กระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประณมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทถ ท่านเจ้าข้า กฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ขอท่านทั้งหลายอนุโมทนาเถิด, ภิกษุผู้อนุโมทนาเหล่านี้ พึงทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประณมมือกล่าวอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุกฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม เราอนุโมทนา ; ฝ่ายพวกภิกษุนอกนี้ พึงอนุโมทนากฐินเป็นภิกษุทุกๆ รูปกรานแล้ว ด้วยประการอย่างนี้.
               แท้จริง ในคัมภีร์บริวาร๓- ท่านกล่าวว่า กฐินเป็นอันบุคคลสองฝ่าย คือ ผู้กรานหนึ่ง ผู้อนุโมทนาหนึ่ง กรานแล้ว. ทั้งได้กล่าวไว้อีกว่า สงฆ์หาได้กรานกฐินไม่ คณะหาได้กรานกฐินไม่ บุคคลกรานกฐิน ; แต่พระสงฆ์อนุโมทนา เพราะคณะอนุโมทนา เพราะบุคคลกราน กฐินได้ชื่อว่า สงฆ์ได้กราน คณะได้กราน บุคคลได้กราน.
               ก็เมื่อกฐินกรานแล้วอย่างนั้น ถ้าแล พวกทายกถวายอานิสงส์ที่นำมาพร้อมกับกฐินจีวรว่า ภิกษุรูปใดได้รับผ้ากฐินของพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าถวายแก่ภิกษุรูปนั้น ดังนี้ ภิกษุสงฆ์ไม่เป็นใหญ่. ถ้าเขาไม่ทันได้สั่งเสียไว้ ถวายแล้วก็ไป ภิกษุสงฆ์เป็นใหญ่ ; เพราะเหตุนั้น ถ้าแม้จีวรที่เหลือทั้งหลาย ของภิกษุผู้กรานเป็นของชำรุด สงฆ์พึงอปโลกน์ให้ผ้าเพื่อประโยชน์แก่จีวร แม้เหล่านั้น. ส่วนกรรมวาจาคงใช้ได้ครั้งเดียวเท่านั้น. ผ้าอานิสงส์กฐินที่ยังเหลือ พึงแจกกันโดยลำดับแห่งผ้าจำนำพรรษา. เพราะไม่มีลำดับ พึงแจกตั้งแต่เถรอาสน์ลงมา. คุรุภัณฑ์ไม่ควรแจก. แต่ถ้าในสีมาเดียวมีหลายวิหาร ต้องให้ภิกษุทั้งปวงประชุมกรานกฐินในที่เดียวกัน ; จะกรานกันเป็นแผนกๆ ไม่ควร.
____________________________
๑- ปริวาร. ๔๓๕.  ๒- ปริวาร. ๔๓๒.  ๓- นัย - ปริวาร. ๔๓๘.

               อนัตถตาการและอัตถตาการ               
               ก็บัดนี้ เพื่อจะแสดงวิธีที่กฐินจะเป็นอันกราน และไม่เป็นอันกรานโดยพิสดาร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็แลกฐินเป็นอันกรานแล้วด้วยอย่างนี้ ไม่เป็นอันกรานแล้วด้วยอย่างนี้ เมื่อจะทรงแสดงอกรณียกิจ มหาภูมิกะและอนัตถตลักขณะก่อน จึงทรงแสดงอาการ ๒๔ มีคำว่า อุลฺลิขิตมตฺเตน เป็นต้น.
               ต่อจากนั้นไป เมื่อจะทรงแสดงอัตถตลักขณะ จึงทรงแสดงอาการ ๑๗ มีคำว่า อหเตน อตฺถตํ เป็นอาทิ. จริงอยู่ แม้ในคัมภีร์บริวาร ท่านก็ได้กล่าวลักษณะอย่างนี้เหมือนกันว่า กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการ ๒๔ กฐินเป็นอันกรานด้วยอาการ ๑๗.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุลฺลิขิตมตฺเตน ได้แก่ ด้วยสักว่ากะประมาณด้านยาวและด้านกว้าง. จริงอยู่ เมื่อจะกะประมาณ ย่อมใช้เล็บเป็นต้นกรีด แสดงที่กำหนดตัดอันนั้น หรือที่หน้าผากเป็นต้นเพื่อจำประเทศนั้นๆ เพราะเหตุนั้น การกะประมาณนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สักว่ายกขึ้นจด.
               บทว่า โธวนมตฺเตน คือ ด้วยสักว่าซักผ้ากฐิน.
               บทว่า จีวรวิจารณมตฺเตน คือ ด้วยสักว่ากะอย่างนี้ว่า จงเป็นจีวร ๕ ขัณฑ์ หรือว่าจงเป็นจีวร ๗ ขัณฑ์ หรือว่าจงเป็นจีวร ๙ ขัณฑ์ หรือว่าจงเป็นจีวร ๑๑ ขัณฑ์.
               บทว่า เฉทนมตฺเตน คือ ด้วยสักว่าตัดผ้าตามที่กะไว้แล้ว.
               บทว่า พนฺธนมตฺเตน คือ ด้วยสักว่าเนาด้วยด้ายเนา.
               บทว่า โอวฏฺฏิยกรณมตฺเตน คือ ด้วยสักว่าเย็บตามยาวตามแนวด้ายที่เนา.
               บทว่า กณฺฑูสกรณมตฺเตน คือ ด้วยสักว่าติดห่วงผ้า.
               บทว่า ทฬฺหีกมฺมกรณมตฺเตน คือ ด้วยสักว่าเย็บผ้าดามสองผืนติดปะกันเข้า.
               อีกอย่างหนึ่ง มีความว่า ด้วยสักว่าเย็บผ้ากฐิน ทำให้เป็นผ้าดามท้องแห่งผ้าดามผืนแรกที่เชื่อมติดไว้แล้ว ดังนี้บ้าง.
               ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ด้วยติดผ้ารองจีวรปกติ. ส่วนในกุรุนทีกล่าวว่า ด้วยสักว่าเชื่อมผ้าดามท้องเข้า เพื่อทำจีวรที่เย็บไว้ชั้นเดียวตามปกติให้เป็นสองชั้น.
               บทว่า อนุวาตกรณมตฺเตน คือ ด้วยสักว่าติดอนุวาตด้านยาว.
               บทว่า ปริภณฺฑกรณมตฺเตน คือ ด้วยสักว่าติดอนุวาตด้านกว้าง.
               บทว่า โอวฏฺเฏยฺยกรณมตฺเตน คือ ด้วยสักว่าเพิ่มผ้าดามเข้า.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยสักว่าถือเอาผ้าจากจีวรกฐิน ติดเข้าที่ผ้าจีวรกฐินผืนอื่น.
               บทว่า กมฺพลมทฺทนมตฺเตน คือ ด้วยจีวรที่ใส่ลงในน้ำย้อมเพียงครั้งเดียว มีสีดังงาช้าง หรือมีสีดังใบไม้เหลือง. แต่ถ้าแม้ย้อมครั้งเดียวหรือสองครั้ง ก็ได้สี ใช้ได้.
               บทว่า นิมิตฺตกเตน คือ ด้วยผ้าที่ภิกษุทำนิมิตอย่างนี้ว่า เราจักกรานกฐินด้วยผ้านี้. จริงอยู่ ในคัมภีร์บริวารท่านกล่าวไว้เพียงเท่านี้ แต่ในอรรถกถาทั้งหลายกล่าวว่า ด้วยผ้าที่ภิกษุทำนิมิตได้มาอย่างนี้ว่า ผ้านี้ดี อาจกรานกฐินด้วยผ้านี้ได้.
               บทว่า ปริกถากเตน คือ ด้วยผ้าที่ภิกษุให้เกิดขึ้นด้วยพูดเลียบเคียงอย่างนี้ว่า การถวายผ้ากฐิน สมควรอยู่ ทายกเจ้าของกฐินย่อมได้บุญมาก ขึ้นชื่อว่า ผ้ากฐิน เป็นของบริสุทธิ์จริงๆ จึงจะสมควร แม้มารดาของตน ก็ไม่ควรออกปากขอ ต้องเป็นดังผ้าที่ลอยมาจากอากาศนั่นแล จึงจะเหมาะ.
               บทว่า กุกฺกุกเตน คือ ด้วยผ้าที่ยืมมา.
               ในบทว่า สนฺนิธิกเตน นี้ สันนิธิมี ๒ อย่าง คือกรณสันนิธิ ๑ นิจยสันนิธิ ๑. ในสันนิธิ ๒ อย่างนั้น การเก็บไว้ทำ ไม่ทำเสียให้เสร็จในวันนั้นทีเดียว ชื่อกรณสันนิธิ. สงฆ์ได้ผ้ากฐินในวันนี้ แต่ถวายในวันรุ่งขึ้น นี้ชื่อนิจยสันนิธิ.
               บทว่า นิสฺสคฺคิเยน คือ ด้วยผ้าที่ข้ามราตรี.
               แม้ในคัมภีร์บริวาร ท่านก็กล่าวว่า ผ้าที่ภิกษุกำลังทำอยู่ อรุณขึ้นมาชื่อผ้านิสสัคคีย์.
               บทว่า อกปฺปกเตน คือ ด้วยผ้าที่ไม่ได้ทำกัปปพินททุ.
               ในข้อว่า อญฺญตฺร สงฺฆาฏิยา เป็นต้น มีความว่า กฐินที่กรานด้วยผ้าลาดเป็นต้น ซึ่งเป็นผ้าอื่น นอกจากผ้าสังฆาฏิ ผ้าอุตราสงค์และผ้าอันตรวาสก ไม่เป็นอันกราน.
               ข้อว่า อญฺญตฺร ปญฺจเกน วา อติเรกปญฺจเกน วา มีความว่า กฐินที่กรานด้วยผ้าที่ทำเป็น ๕ ขัณฑ์ หรือเกินกว่า ๕ ขัณฑ์ แสดงมหามณฑลและอัฑฒณฑลเท่านั้น จึงใช้ได้. ด้วยว่า เมื่อทำอย่างนั้น จีวรเป็นอันทำได้มณฑล เว้นจีวรนั้นเสีย กฐินที่กรานด้วยผ้าอื่นที่ไม่ได้ตัด หรือด้วยผ้าที่มีขัณฑ์ ๒ มีขัณฑ์ ๓ มีขัณฑ์ ๔ ใช้ไม่ได้.
               ข้อว่า อญฺญตฺร ปุคฺคลสฺส อตฺถารา มีความว่า กฐิน ไม่เป็นอันกราน ด้วยการกรานของสงฆ์ หรือของคณะอื่น เพราะเว้นการกรานของบุคคลเสีย.
               ข้อว่า นิสฺสีมฏฺโฐ อนุโมทติ มีความว่า ภิกษุผู้อยู่ภายนอกอุปจารสีมาอนุโมนา.
               บทว่า อหเตน คือ ด้วยผ้าที่ยังไม่ได้ใช้.
               บทว่า อหตกปฺเปน คือ ด้วยผ้าเทียมใหม่ คือที่ซักแล้วครั้งเดียวหรือ ๒ ครั้ง.
               บทว่า ปิโลติกาย คือ ด้วยผ้าเก่า.
               บทว่า ปํสุกูเลน คือ ด้วยผ้าบังสุกุลที่เกิดในเขต ๒๓.
               ในกุรุนทีและมหาปัจจรี แก้ว่า ได้แก่ ด้วยจีวรที่ภิกษุผู้ถือบังสุกุลทำด้วยผ้าที่ตนเที่ยวขอได้มา.
               บทว่า อาปณิเกน มีความว่า ทายกเก็บผ้าเก่าที่ตกตามประตูร้านตลาด ถวายเพื่อประโยชน์แก่กฐิน กฐินที่กรานแล้วแม้ด้วยผ้านั้นย่อมใช้ได้.
               บทที่เหลือพึงทราบโดยความแผกจากที่กล่าวแล้ว. แต่ในทีนี้ในอรรถกถามากหลายได้กล่าวคำเป็นต้นว่า ธรรมเท่าไรย่อมเกิดพร้อมกับการกรานกฐิน คำนั้นทั้งหมด พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายได้ยกขึ้นสู่บาลีในคัมภีร์บริวารไว้แล้วแล เพราะฉะนั้น พึงทราบตามนัยที่มาแล้วในคัมภีร์บริวารนั้นเถิด. เพราะว่าข้อความไรๆ แห่งการกรานกฐินจะเสียหายไป เพราะไม่กล่าวคำนั้นไว้ในที่นี้ก็หามิได้.

               ว่าด้วยการรื้อกฐิน๑-               
____________________________
๑- กฐินุทฺธาร การเดาะกฐิน ก็ว่า.

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงการกรานกฐินอย่างนี้แล้ว บัดนี้จะทรงแสดงการรื้อจึงตรัสคำว่า กถญฺจ ภิกฺขเว อุพฺภตํ โหติ กฐินํ เป็นต้น แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็กฐินจะเป็นอันรื้ออย่างไร?
               วินิจฉัยในคำนั้น พึงทราบดังนี้ :-
               มาติกา นั้นได้แก่ หัวข้อ. อธิบายว่า แม่บท.
               จริงอยู่ หัวข้อ ๘ นั้น ยังการรื้อกฐินให้เกิด.
               ในมาติกาเหล่านั้น ที่ชื่อว่า ปักกมนันติกา เพราะมีความหลีกไปเป็นที่สุด. ถึงมาติกาที่เหลือ ก็พึงทราบอย่างนี้.
               บทว่า น ปจฺจเสฺสํ มีความว่า เราจักไม่มาอีก.
               ก็ในการรื้อกฐินมีการหลีกไปเป็นที่สุดนี้ จีวรปลิโพธขาดก่อน อาวาสปลิโพธขาดทีหลัง. จริงอยู่ เมื่อภิกษุหลีกไปเสียอย่างนั้น จีวรปลิโพธย่อมขาดในภายในสีมาทีเดียว, อาวาสปลิโพธิ ขาดในเมื่อล่วงสีมาไป.
               อันที่จริง ถึงในคัมภีร์บริวาร ท่านก็กล่าวว่า :-
                                   การรื้อกฐิน มีการหลีกไปเป็นที่สุด
                         พระสุคตเจ้าผู้เป็นเผ่าพระอาทิตย์ตรัสไว้แล้ว,
                         เมื่อภิกษุหลีกไปด้วยคิดว่า เราจักทิ้งอาวาส
                         นี้เสียละ ดังนี้ จีวรปลิโพธขาดก่อน อาวาส
                         ปลิโพธขาดทีหลัง.
               สองบทว่า จีวรํ อาทาย มีความว่า ถือเอาจีวรที่ยังไม่ทำ (หลีกไป)
               บทว่า พหิสีมาคตสฺส มีความว่า ไปสู่วัดอื่นที่ใกล้เคียง.
               สองบทว่า เอวํ โหติ มีความว่า ความรำพึงอย่างนั้นย่อมมีเพราะได้เห็นเสนาสนะที่ผาสุก หรือสหายสมบัติในวัดนั้น.
               ส่วนการรื้อกฐินมีความเสร็จเป็นที่สุดนี้ อาวาสปลิโพธขาดก่อน.
               จริงอยู่ อาวาสปลิโพธนั้น ย่อมขาด ในเมื่อสักว่าเกิดความคิดในจิตขึ้นว่า เราจักไม่กลับมาละ เท่านั้น.
               อันที่จริง ถึงในคัมภีร์บริวาร ท่านก็กล่าวว่า :-
                                   การรื้อกฐินมีความเสร็จเป็นที่สุด
                         พระสุคตเจ้าผู้เป็นเผ่าพระอาทิตย์ตรัสไว้แล้ว.
                         เมื่อภิกษุหลีกไปด้วยคิดว่า เราจักทิ้งอาวาส
                         นี้เสียละ ดังนี้ อาวาสปลิโพธขาดก่อน
                         จีวรปลิโพธขาดต่อเมื่อจีวรเสร็จแล้ว.
               แม้ในการแจกมาติกาที่เหลือ พึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้ แต่ในมาติกาที่เหลือมีแปลกกันดังนี้ :-
               ในการรื้อกฐินมีความตกลงใจเป็นที่สุด ปลิโพธิทั้งสองย่อมขาดพร้อมกัน ในเมื่อมาตรว่าความคิดเกิดขึ้นว่า เราจักไม่ให้ทำจีวรนี้ละ เราจักไม่กลับมาละ ดังนี้ทีเดียว.
               แท้จริง (ในคัมภีร์บริวาร) ท่านก็กล่าวไว้ว่า :-
                                   การรื้อกฐินมีความตกลงใจเป็นที่สุด
                         พระสุคตเจ้าผู้เป็นเผ่าพระอาทิตย์ตรัสไว้แล้ว,
                         เมื่อภิกษุหลีกไปด้วย คิดว่า เราจักทิ้งอาวาส
                         นี้เสียละ ดังนี้ ปลิโพธทั้งสองขาดไม่ก่อน
                         ไม่หลังกัน.
               ความขาดปลิโพธในการรื้อกฐินทั้งปวง พึงทราบโดยนัยอย่างนี้ :-
               ก็แล ความขาดปลิโพธินั้น บัณฑิตอาจทราบได้ตามนัยที่กล่าวนี้และตามที่มีมาในคัมภีร์บริวาร, เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่กล่าวโดยพิสดาร. ส่วนความสังเขปในกฐินุทธาร ๕ มี นาสนนฺติกา เป็นต้นนี้ ดังนี้ :-
               ในการรื้อกฐินที่มีความเสียเป็นที่สุด อาวาสปลิโพธขาดก่อน เมื่อจีวรเสีย จีวรปลิโพธจึงขาด.
               ที่มีการฟังเป็นที่สุด จีวรปลิโพธขาดก่อน อาวาสปลิโพธิขาดพร้อมกับการฟังของภิกษุนั้น.
               ที่มีความสิ้นหวังเป็นที่สุด อาวาสปลิโพธขาดก่อน, จีวรปลิโพธขาด ต่อเมื่อสิ้นความหวังจะได้จีวรแล้ว.
               ก็การรื้อกฐินมีความสิ้นหวังเป็นที่สุดนี้ มีหลายประเภท มีการแสดงคลุกคละกันไปกับการรื้อนอกจากนี้ โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุย่อมได้ในที่ซึ่งไม่ได้หวัง, ไม่ได้ในที่ซึ่งหวัง, เธอมีความรำพึงอย่างนี้ว่า เราจักทำจีวรนี้ในที่นี้ละ, จักไม่กลับละ ดังนี้, เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแยกตรัสให้พิสดารข้างหน้า, ไม่ตรัสไว้ในลำดับนี้. แต่ได้ตรัสการรื้อกฐินมีความก้าวล่วงสีมาเป็นที่สุด เป็นลำดับแห่งการรื้อกฐินมีการฟังเป็นที่สุดในลำดับนี้.
               ในการรื้อกฐินที่มีความก้าวล่วงสีมาเป็นที่สุดนั้น จีวรปลิโพธขาดก่อน, อาวาสปลิโพธย่อมขาดต่อภิกษุนั้นอยู่นอกสีมา.
               ในการรื้อกฐินที่มีการรื้อพร้อมกัน ปลิโพธ ๒ ขาดไม่ก่อนไม่หลังกัน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงกฐินุทธาร ๗ ในอาทายวารอย่างนี้แล้ว, จึงทรงแสดงกฐินุทธาร ๗ เหล่านั้นแลอีกแห่งจีวรที่ภิกษุทำค้างไว้ ในสมาทายวารบ้าง ตามที่เหมาะในอาทายสมาทายวารบ้าง.
               เบื้องหน้าแต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงกฐินุทธารทั้งหลาย ซึ่งสมด้วยนัยเป็นต้นว่าอนธิฏฺฐิเตน ซึ่งพาดพึงถึงวิธีว่า เราจักไม่กลับ ดังนี้เท่านั้น, ไม่พาดถึงวิธีนี้ เราจักกลับภายในสีมา เราจักไม่กลับ ดังนี้เลย.
               เบื้องหน้าแต่นั้น ครั้นทรงแสดงกฐินุทธารที่มีความสิ้นหวังเป็นที่สุดหลายครั้ง โดยนัยอันคลุกคละกับกฐินุทธารนอกนี้ ด้วยนัยเป็นต้นว่า จีวราสาย ปกฺกมติ แล้วทรงแสดงกฐินุทธารทั้งหลายที่สมควรในมาติกามี นิฏฺฐานนฺติกา เป็นอาทิ เนื่องด้วยภิกษุผู้ไปสู่ทิศ และเนื่องด้วยภิกษุผู้มีความอยู่สำราญอีก.
               ครั้นทรงแสดงกฐินุทธารโดยประเภทอย่างนี้แล้ว, บัดนี้ จะทรงแสดงปลิโพธซึ่งเป็นปฏิปักษ์แก่ปลิโพธทั้งหลาย ที่ตรัสไว้ว่า :-
               ปลิโพธทั้งหลาย ย่อมขาดด้วยกฐินุทธารนั้นๆ ดังนี้ จึงตรัสคำว่า ภิกษุทั้งหลาย ปลิโพธแห่งกฐินมีองค์ ๒ เหล่านี้ ดังนี้ เป็นอาทิ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตฺเตน มีความว่า อาวาสนั้นเป็นสถานอันภิกษุสละแล้ว ด้วยความสละอันใด, ชื่อความสละอันนั้น, ด้วยความสละนั้น.
               แม้ในความวางและความปล่อยก็นัยนี้แล
               คำที่เหลือทุกๆ สถาน ตื้นทั้งนั้นฉะนี้แล.

               อรรถกถากฐินขันธกะ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ กฐินขันธกะ ภิกษุปาไฐยรัฐเดินทางเข้าเฝ้าเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 5 / 1อ่านอรรถกถา 5 / 94อรรถกถา เล่มที่ 5 ข้อ 95อ่านอรรถกถา 5 / 99อ่านอรรถกถา 5 / 261
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=5&A=2648&Z=2746
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=4277
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=4277
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :