ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 6 / 1อ่านอรรถกถา 6 / 319อรรถกถา เล่มที่ 6 ข้อ 320อ่านอรรถกถา 6 / 334อ่านอรรถกถา 6 / 682
อรรถกถา จุลวรรค ภาค ๑ ปาริวาสิกขันธกะ
เรื่องพระอยู่ปริวาสเป็นต้น

               ปาริวาสิกักขันธกวรรณนา               
               ปาริวาสิกวัตรกถา               
               วินิจฉัยในปาริวาสิกักขันธกะนี้ พึงทราบดังนี้ :-
               บทว่า ปาริวาสิกา ได้แก่ ภิกษุผู้อยู่ปริวาส.
               ในคำว่า ปาริวาสิกา นั้น ปริวาสมี ๔ อย่าง คืออัปปฏิจฉันนปริวาส ๑ ปฏิจฉันนปริวาส ๑ สุทธันตปริวาส ๑ สโมธานปริวาส ๑.
               บรรดาปริวาส ๔ อย่างนั้น ติตถิยปริวาสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในมหาขันธกะอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดแม้อื่นผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังบรรพชา หวังอุปสมบท ในธรรมวินัยนี้, สงฆ์พึงให้ปริวาส ๔ เดือนแก่บุคคลนั้น ดังนี้ ชื่ออัปปฏิจฉันนปริวาส คำใดที่จะพึงกล่าวในอัปปฏิจฉันนปริวาสนั้น คำนั้นข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ดีแล้วแล. แต่ว่า อัปปฏิจฉันนปริวาสนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงประสงค์ในปาริวาสิกักขันธกะนี้. ปริวาส ๓ อย่างที่เหลือ สงฆ์พึงให้แก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วและปกปิดไว้. คำใดที่จะพึงกล่าวในปริวาส ๓ อย่างนั้น คำนั้นข้าพเจ้าจักพรรณนาในสมุจจยักขันธกะ. ก็แลปริวาส ๓ อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์ในปาริวาสิกักขันธกะนี้. เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้อยู่ปริวาสอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ ปริวาสนี้ พึงทราบว่า ปาริวาสิกภิกษุ.
               สองบทว่า ปกตตฺตานํ ภิกฺขูนํ ได้แก่ภิกษุปกตัตตะที่เหลือ โดยที่สุดแม้ภิกษุผู้ควรแก่มูลายปฏิกัสสนาเป็นต้น เว้นปาริวาสิกภิกษุผู้ใหม่กว่าเสีย.
               สองบทว่า อภิวาทนํ ปจฺจุปฏฺฐานํ มีความว่า ภิกษุปกตัตตะเหล่านั้น ทำความเคารพมีอภิวาทเป็นต้น อันใด ปาริวาสิกภิกษุทั้งหลายย่อมยินดี คือ ยอมรับความเคารพอันนั้น.
               อธิบายว่า ไม่ห้ามเสีย.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สามีจิกมฺมํ นี้ เป็นชื่อของอภิสมาจาริกวัตร มีการพัดลมให้เป็นต้น แก่ภิกษุอื่นซึ่งสมควร เว้นความเคารพมีอภิวาทเป็นต้นเสีย.
               บทว่า อาสนาภิหารํ ได้แก่ การจัดอาสนะให้ คือ หยิบอาสนะไปให้ คือปูลาดให้นั่นเอง. แม้ในการจัดที่นอนให้ ก็นัยนี้แล.
               บทว่า ปาโททกํ นั้นได้แก่ น้ำสำหรับล้างเท้า.
               บทว่า ปาทปีฐํ นั้นได้แก่ ตั่งสำหรับรองเท้าที่ล้างแล้ว.
               บทว่า ปาทกถลิกํ นั้นได้แก่ แผ่นกระดานสำหรับวางเท้า ซึ่งยังไม่ได้ล้าง หรือแผ่นกระดานสำหรับเช็ดเท้า.
               สองบทว่า อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส มีความว่า คงเป็นอาบัติทุกกฎแก่ภิกษุผู้ยินดี แม้ของสัทธิวิหาริกเป็นต้น. เพราะเหตุนั้น ปาริวาสิกภิกษุนั้น พึงบอกนิสิตทั้งหลายมีสัทธิวิหาริกเป็นต้นนั้นว่า ข้าพเจ้ากำลังทำวินัยกรรมอยู่, พวกท่านอย่าทำวัตรแก่ข้าพเจ้าเลย อย่าบอกลาเข้าบ้านกะข้าพเจ้าเลย. ถ้าพวกกุลบุตรผู้มีศรัทธาบวชกล่าวว่า ขอท่านจงทำวินัยกรรมของท่านเถิด ขอรับ ดังนี้ แล้วยังคงทำวัตร ทั้งบอกลาเข้าบ้านด้วย จำเดิมแต่เวลาที่ห้ามแล้วไป ไม่เป็นอาบัติ.
               สองบทว่า มิถุ ยถาวุฑฺฒํ มีความว่า ในปาริวาสิกภิกษุด้วยกัน ภิกษุใดๆ เป็นผู้แก่กว่ากันและกัน. เราอนุญาตให้ภิกษุนั้นๆ ยินดีอภิวาทเป็นต้นของภิกษุผู้อ่อนกว่าได้.
               สองบทว่า ปญฺจ ยถาวุฑฺฒํ มีความว่า เราอนุญาตส่วน ๕ ตามลำดับผู้แก่ พร้อมด้วยภิกษุทั้งหลายแม้ผู้ปกตัตตะ เพราะเหตุนั้น เมื่อกำลังสวดปาติโมกข์ ปาริวาสิกภิกษุนั่งในหัตถบาส ย่อมควร.
               แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า อย่านั่งในลำดับ พึงละลำดับเสีย แต่อย่านั่งละหัตถบาส.
               เมื่อทำปาริสุทธิอุโบสถ พึงนั่งในที่ของสังฆนวกะ และคงนั่งในที่นั้นเอง ทำปาริสุทธิอุโบสถในลำดับของตน.
               แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า พึงทำปาริสุทธิอุโบสถในลำดับ. แม้เมื่อทำปวารณาเล่า ก็พึงนั่งในที่ของสังฆนวกะ และคงนั่งในที่นั้นเอง ปวารณาในลำดับของตน. แม้ผ้าวัสสิกสาฎกที่สงฆ์ตีระฆังแล้วแจกกัน ปาริวาสิกภิกษุจะรับในที่ซึ่งถึงแก่ตนก็ควร.
               ภัตอันภิกษุสละให้ เรียกว่า ภัตที่ภิกษุโอนให้. ก็ถ้าอุทเทสภัตเป็นต้น ๒-๓ ที่ถึงแก่ปาริวาสิกภิกษุไซร้. แต่เธอมีความหวังเฉพาะปุคคลิกภัตอื่น, อุทเทสภัตเป็นต้นเหล่านั้น เธอพึงรับตามลำดับ แล้วบอกสละเสียว่า ท่านจงให้ผมรับคราวหลังเถิดขอรับ, วันนี้ความหวังเฉพาะภัตของผมมี, พรุ่งนี้ผมจักรับ. ด้วยการเสียสละอย่างนี้ เธอย่อมได้เพื่อรับภัตเหล่านั้นในวันรุ่งขึ้น.
               ในกุรุนทีกล่าวว่า ในวันรุ่งขึ้น พึงให้แก่ปาริวาสิกภิกษุนั้นก่อนภิกษุทั้งปวง. แต่ถ้าเธอไม่รับ ไม่โอนให้เสีย, ในวันรุ่งขึ้นย่อมไม่ได้. ภัตที่ภิกษุโอนให้นี้แล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตเฉพาะปาริวาสิกภิกษุเท่านั้น.
               เพราะเหตุไร? เพราะว่า ยาคู และของขบเคี้ยวเป็นต้นในโรงอาหาร ย่อมถึงแก่เธอผู้นั่งในที่สังฆนวกะบ้าง ไม่ถึงบ้าง เพราะเหตุนั้น ภัตที่ภิกษุโอนให้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาตเฉพาะเพื่อทำการสงเคราะห์แก่ปาริวาสิกภิกษุนั้นว่า เธออย่าต้องลำบากด้วยภิกษาจารเลย.
               บทว่า ภตฺตํ ได้แก่ จตุสาลภัตของสงฆ์ในวิหารที่ภิกษุผู้มาแล้ว พึงรับไปตามลำดับผู้แก่, ปาริวาสิกภิกษุย่อมได้ภัตนั้น ตามลำดับผู้แก่. แต่ไม่ได้เพื่อไปหรือยืนในแถว. เพราะเหตุนั้น พึงถอยห่างจากแถวแล้วยืนในหัตถบาส เอื้อมมือรับอย่างเหยี่ยวโผลงฉวยเอาฉะนั้น. เธอไม่ได้เพื่อจะใช้อารามิกบุรุษหรือสมณุทเทสให้นำมา. ถ้าเขานำมาเอง ข้อนั้นควรอยู่ แม้ในมหาเปฬภัตของพระราชาก็นัยนี้แล.
               ในมหาปัจจรีกล่าวว่า แต่ในจตุสาลภัต ถ้าปาริวาสิกภิกษุ เป็นผู้ใคร่จะทำการโอนให้ไซร้, เมื่ออาหารอันเขายกขึ้นแล้วเพื่อตนพึงบอกว่า วันนี้ ภัตของเราย่อมมี, พรุ่งนี้เราจักรับ ดังนี้ ในวันรุ่งขึ้นย่อมได้อาหาร ๒ ส่วน. แม้อุทเทสภัตเป็นต้น พึงถอยห่างจากแถวก่อนจึงรับ. และพวกทายกนิมนต์ให้นั่งในที่ใดแล้วอังคาส, พึงเป็นหัวหน้าของพวกสามเณร เป็นสังฆนวกะของพวกภิกษุ นั่งในที่นั้น.
               บัดนี้ วินิจฉัยในความประพฤติชอบที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้นี้.
               บทว่า น อุปสมฺปาเทตพฺพํ มีความว่า เป็นอุปัชฌาย์ไม่พึงให้อุปสมบท แต่จะเก็บวัตรแล้วให้อุปสมบท ควรอยู่.
               เป็นอาจารย์แล้ว แม้กรรมวาจาก็ไม่ควรสวด, เมื่อภิกษุอื่นไม่มีจะเก็บวัตรแล้วสวด ควรอยู่.
               บทว่า น นิสฺสโย ทาตพฺโพ มีความว่า ไม่พึงให้นิสัยแก่พวกภิกษุอาคันตุกะ แม้ภิกษุเหล่าใดได้ถือนิสัยตามปกติเทียว พึงบอกภิกษุเหล่านั้นว่า ข้าพเจ้ากำลังทำวินัยกรรม. พวกท่านจงถือนิสัยในสำนักพระเถระชื่อโน้น อย่าทำวัตรแก่ข้าพเจ้าเลย อย่าบอกลาเข้าบ้านกะข้าพเจ้าเลย. ถ้าแม้เมื่อบอกอย่างนั้นแล้ว พวกนิสิตก็ยังขืนทำ แม้พวกเธอยังขืนทำอยู่ จำเดิมแต่กาลที่ได้ห้ามแล้วไป ไม่เป็นอาบัติแก่ปาริวาสิกภิกษุนั้น.
               บทว่า น สามเณโร มีความว่า ไม่พึงรับสามเณรอื่น ; แม้พวกสามเณรที่ตนเป็นอุปัชฌาย์รับเอาไว้ ตนก็ควรบอกว่า ข้าพเจ้ากำลังทำวินัยกรรม, พวกเธออย่าทำวัตรแก่ข้าพเจ้าเลย อย่าบอกลาเข้าบ้านกะข้าพเจ้าเลย. ถ้าแม้เมื่อบอกอย่างนั้นแล้ว เธอทั้งหลายยังขืนทำ ; แม้เมื่อเธอทั้งหลายขืนทำอยู่ จำเดิมแต่กาลที่ได้ห้ามแล้วไป ไม่เป็นอาบัติแก่ปาริวาสิกภิกษุนั้น.
               ขึ้นชื่อว่า การสมมติให้เป็นผู้สอนนางภิกษุณี ซึ่งเป็นตำแหน่งของผู้เป็นใหญ่ ท่านห้าม, เพราะฉะนั้น ปาริวาสิกภิกษุพึงเรียนแก่ภิกษุสงฆ์ว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้ากำลังทำวินัยกรรม, ท่านทั้งหลายจงรู้ภิกษุผู้สอนนางภิกษุณี หรือพึงมอบภาระแก่ภิกษุผู้สามารถก็ได้ และพึงบอกนางภิกษุณีทั้งหลายที่พากันมาว่า ท่านทั้งหลาย จงไปหาสงฆ์. สงฆ์จักรู้ภิกษุผู้ให้โอวาทแก่ท่านทั้งหลาย หรือพึงบอกว่า ข้าพเจ้ากำลังทำวินัยกรรม ท่านทั้งหลายจงไปหาภิกษุผู้ชื่อโน้น. เธอจักให้โอวาทแก่ท่านทั้งหลาย.
               บทว่า สา อาปตฺติ มีความว่า ไม่พึงถึงการปล่อยสุกกะอีกในเมื่อปริวาสเพื่อการปล่อยสุกกะอันสงฆ์ให้แล้ว.
               สองบทว่า อญฺญา วา ตาทิสิกา ได้แก่ ครุกาบัติมีกายสังสัคคะเป็นต้น.
               สองบทว่า ตโต วา ปาปิฏฺฐตรา ได้แก่ อาบัติปาราชิก.
               ในอาบัติ ๗ อาบัติทุพภาสิต เป็นอาบัติเลวทราม อาบัติทุกกฎ เป็นอาบัติเลวทรามกว่า อาบัติทุกกฎเป็นอาบัติเลวทราม อาบัติปาฏิเทสนียะ เป็นอาบัติเลวทรามกว่า.
               พึงทราบนัยในอาบัติปาจิตตีย์ ถุลลัจจัย สังฆาทิเสสและปาราชิกโดยอุบายอย่างนี้.
               แม้ในวัตถุทั้งหลายแห่งอาบัติเหล่านั้น พึงทราบความต่างกันโดยนัยก่อนนั่นแล วัตถุแห่งทุพภาสิตเลวทราม วัตถุแห่งทุกกฎเลวทรามกว่า แต่ในสิกขาบทที่เป็นปัณณัตติวัชชะ ทั้งวัตถุ ทั้งอาบัติเลวทราม. ส่วนสิกขาบทที่เป็นโลกวัชชะ เลวทรามกว่าทั้ง ๒ อย่าง. กรรมวาจาแห่งปริวาสท่านเรียกว่ากรรม, ไม่พึงติด้วยคำเป็นต้นว่า กรรมนั้นไม่เป็นอันทำ ทำเสีย หรือด้วยคำเป็นต้นว่า กรรมชนิดนี้เป็นกสิกรรม เป็นโครักขกรรมด้วยหรือ?
               บทว่า กมฺมิกา มีความว่า กรรมอันภิกษุเหล่าใดทำแล้วภิกษุเหล่านั้น ท่านเรียกว่า กัมมิกา.
               ไม่พึงติภิกษุเหล่านั้นด้วยคำว่า เป็นพาล ไม่ฉลาด เป็นต้น.
               ข้อว่า น สวจนียํ กาตพฺพํ มีความว่า ไม่พึงทำความเป็นผู้มีคำจำต้องกล่าว เพื่อประโยชน์แก่การประวิงหรือเพื่อประโยชน์แก่การเกาะตัว.
               จริงอยู่ เมื่อจะทำเพื่อประโยชน์แก่การประวิง ย่อมทำอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าจะทำท่านให้เป็นผู้ให้การในคดีนี้, ท่านอย่าได้ย่างออกจากอาวาสนี้ แม้เพียงก้าวเดียว ตลอดเวลาที่อธิกรณ์ยังระงับไม่เสร็จ ดังนี้, เมื่อจะทำเพื่อประโยชน์แก่การเกาะตัว ย่อมทำอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าจะทำท่านให้เป็นผู้ให้การ, ท่านจงมา ไปต่อหน้าพระวินัยธร พร้อมกับข้าพเจ้าไม่พึงทำความเป็นผู้มีคำจำต้องกล่าวทั้ง ๒ อย่างนั้น.
               บทว่า น อนุวาโท มีความว่า ไม่พึงรับตำแหน่งหัวหน้าในวิหาร, คือ ไม่พึงเป็นผู้สวดปาติโมกข์ หรือเชิญแสดงธรรม. ไม่พึงทำการเนื่องด้วยความเป็นใหญ่ แม้ด้วยอำนาจสมมติอย่างหนึ่งในสมมติ ๑๓.
               บทว่า น โอกาโส มีความว่า ไม่พึงทำโอกาสแก่ภิกษุผู้ปกตัตตะอย่างนี้ว่า ท่านจงทำโอกาสแก่ข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าอยากจะพูดกะท่าน. คือไม่พึงโจทด้วยวัตถุหรืออาบัติ, ไม่พึงให้ภิกษุอื่นให้การด้วยคำว่า นี้เป็นโทษของท่านหรือ?
               บทว่า น ภิกฺขู ภิกฺขูหิ สมฺปโยเชตพฺพํ มีความว่า ไม่พึงช่วยกันและกันให้ทำความทะเลาะ.
               บทว่า ปูรโต มีความว่า เป็นสังฆเถระไม่ควรไปข้างหน้า คือพึงละการไปใกล้กันเสีย ๑๒ ศอก ไปตามลำพัง. แม้ในการนั่งก็มีนัยเหมือนกัน.
               อาสนะที่จัดว่าสุดท้ายของสังฆนวกะ ในโรงอาหารเป็นต้น ชื่อว่าอาสนะสุดท้าย. อาสนะสุดท้ายนั้น ควรให้แก่ปาริวาสิกภิกษุนั้น, เธอพึงนั่งบนอาสนะนั้น.
               สุดท้ายของที่นอนทั้งหลาย ได้แก่ เตียงตั่งที่เลวกว่าเตียงตั่งทั้งหมด ชื่อว่า ที่นอนสุดท้าย. จริงอยู่ ปาริวาสิกภิกษุนี้ ไม่ได้เพื่อถือเอาที่นอนในที่ซึ่งถึงแก่ตนตามลำดับพรรษา. แต่ที่นอนที่เลว ซึ่งสานด้วยหวายและเปลือกไม้เป็นต้น มีขี้เรือดเกรอะกรัง ที่เหลือจากที่นอนซึ่งภิกษุทั้งปวงเลือกถือเอาแล้ว ควรให้แก่เธอ.
               บทว่า วิหารปริยนฺโต มีความว่า เหมือนอย่างว่า ที่นอนเป็นฉันใด ที่อยู่ก็เป็นฉันนั้น, อีกอย่างหนึ่ง แม้อาวาสก็ไม่ควรแก่เธอ ในที่ซึ่งถึงแก่ตนตามลำดับพรรษา. แต่บรรณศาลาที่มีพื้น มากด้วยธุลี เต็มไปด้วยมูลค้างคาวและหนู ซึ่งเหลือจากที่ภิกษุทั้งปวงเลือกถือแล้ว ควรให้แก่เธอ. ถ้าภิกษุปกตัตตะทั้งหมด ถือรุกขมูล หรืออัพโภกาส ไม่เข้าที่มุง, อาวาสทั้งหมดจัดว่าเป็นอาวาสที่ภิกษุเหล่านั้นละเลยเสียแล้ว. บรรดาอาวาสเหล่านั้น เธอย่อมได้อาวาสที่ตนต้องการ.
               อนึ่ง ในวันวัสสูปนายิกา เธอย่อมได้เพื่อยืนอยู่ข้างหนึ่งรับปัจจัยตามลำดับพรรษา, แต่ไม่ได้เพื่อถือเอาเสนาสนะ. ปาริวาสิกภิกษุผู้ใคร่จะถือเอาเสนาสนะที่มีผ้าจำนำพรรษาเป็นนิตย์ พึงเก็บวัตรก่อนแล้วจึงถือเอา.
               บทว่า เตน จ โส สาทิตพฺโพ มีความว่า ภิกษุทั้งหลายให้อาสนะสุดท้ายเป็นต้นอันใดแก่เธอ, อาสนะสุดท้ายเป็นต้นนั้นแล อันเธอพึงรับ.
               บทว่า ปุเรสมเณน วา ปจฺฉาสมเณน วา มีความว่า เธอรับนิมนต์ในที่แห่งญาติและคนปวารณาว่า ขอท่านจงพาภิกษุมาเท่านี้ ดังนี้ แล้วชักชวนอย่างนี้ว่า สกุลชื่อโน้น นิมนต์ภิกษุทั้งหลายขอรับ, พวกท่านจงมา เราทั้งหลายจงไปในสกุลนั้น ดังนี้ ไม่พึงทำภิกษุผู้ปกตัตตะ ให้เป็นปุเรสมณะหรือปัจฉาสมณะไป.
               แต่ว่าสมควรจะกล่าวโดยปริยายอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ชนทั้งหลายในบ้านชื่อโน้น หวังความมาของภิกษุทั้งหลาย, ดีแล้วหนอ ถ้าท่านทั้งหลายพึงทำความสงเคราะห์แก่ชนเหล่านั้น.
               บทว่า น อารญฺญิกงฺคํ มีความว่า เมื่อระอาที่จะบอกแก่ภิกษุทั้งหลายที่มาแล้วๆ ไม่ควรสมาทานอารัญญิกธุดงค์.
               อารัญญิกธุดงค์นั้น แม้ภิกษุใดสมาทานแล้วตามปกติ ภิกษุนั้นพึงชวนภิกษุผู้เป็นเพื่อนรับอรุณในป่า, แต่ไม่ควรไปตามลำพัง.
               อนึ่ง เมื่อเบื่อหน่ายต่อการนั่งบนอาสนะสุดท้ายในโรงอาหารเป็นต้น ไม่ควรสมาทานแม้ซึ่งปิณฑปาติกธุดงค์ แต่ไม่มีการห้ามแก่ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตตามปกติ.
               บทว่า น จ ตปฺปจฺจยา มีความว่า ไม่ควรให้นำบิณฑบาตออกไป เพราะเหตุนี้ว่า เราเป็นผู้มีอาหารอันนำไปแล้วนั่งฉันอยู่ในกุฏีที่อยู่นั่นแล จักนับราตรีได้ คือว่า รัตติเฉท พึงมีแก่เราผู้ไปเห็นภิกษุมาในบ้านแล้วไม่บอก.
               บทว่า มา มํ ชานึสุ มีความว่า เธอไม่ได้แม้เพื่อให้สามเณรหุงต้มฉันที่วัด ด้วยอัธยาศัยนี้ว่า แม้ภิกษุรูปเดียว จงอย่ารู้จักเรา, คือพึงเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตนั่นเอง. แต่ปาริวาสิกภิกษุผู้อาพาธหรือผู้ขวนขวายในนวกรรม และกิจของอาจารย์อุปัชฌาย์ เป็นต้น ควรอยู่ในกุฏีที่อยู่แท้. ถ้าภิกษุหลายร้อยรูปเที่ยวอยู่ในบ้าน ไม่สามารถจะบอกได้, ควรไปยังคามกาวาสแล้วอยู่ในที่แห่งภิกษุผู้เป็นสภาคกัน.
               แม้เป็นอาคันตุกะมายังวัดบางตำบล ก็พึงบอกแก่ภิกษุทั้งหลายในวัดนั้น. ถ้าเห็นภิกษุทั้งหมดอยู่ในที่เดียวกัน พึงยืนบอกในที่เดียวกันทีเดียว ถ้าภิกษุทั้งหลายแยกๆ กันอยู่ตามโคนไม้เป็นต้น, พึงไปบอกในที่นั้นๆ. เมื่อจงใจไม่บอก เป็นรัตติเฉทด้วย เป็นทุกกฎเพราะวัตตเภทด้วย ถ้าค้นไม่พบบางพวก เป็นแต่รัตติเฉท ไม่เป็นทุกกฎเพราะวัตตเภท.
               บทว่า อาคนฺตุกสฺส มีความว่า พึงบอกแก่ภิกษุอาคันตุกะรูปเดียว หรือหลายรูป แม้ที่มาสู่กุฏีที่อยู่ของตน ตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               อนึ่ง แม้รัตติเฉทและวัตตเภท ในอาคันตุกาโรจนาธิการนี้ ก็พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วเหมือนกัน.
               ถ้าภิกษุอาคันตุกะพักครู่เดียว หรือไม่พัก ไม่ไปในท่ามกลางวัดอย่างนั้น, ควรบอกแม้แก่ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้น, ถ้าภิกษุอาคันตุกะไปเสียแต่เมื่อปาริวาสิกภิกษุนั้นยังไม่ทันรู้ แต่ว่าปาริวาสิกภิกษุนี้รู้ในเวลาที่ไปเสียแล้ว, พึงไปบอก. เมื่อไม่อาจจะไปทัน คงเป็นแต่รัตติเฉท ไม่เป็นทุกกฎเพราะวัตตเภท.
               ฝ่ายภิกษุอาคันตุกะเหล่าใด ไม่เข้าสู่ภายในวัด เข้าอุปจารสีมาแล้วไปเสีย, และปาริวาสิกภิกษุนี้ได้ยินเสียงร่ม หรือเสียงไอ หรือเสียงจาม ของภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้น รู้ว่าเป็นอาคันตุกะ พึงไปบอก. แม้รู้ในเวลาที่พวกเธอไปแล้ว ก็ควรตามไปบอกจนได้ เมื่อไม่สามารถจะไปทัน คงเป็นแต่รัตติเฉท ไม่เป็นทุกกฎเพราะวัตตเภท.
               ฝ่ายภิกษุอาคันตุกะใด มาในกลางคืนแล้ว ไปเสียในกลางคืนนั่นเอง แม้ภิกษุอาคันตุกะนั้น ย่อมทำรัตติเฉทแก่ปาริวาสิกภิกษุนั้น. แต่เพราะไม่รู้ จึงไม่มีอาบัติทุกกฎเพราะวัตตเภท.
               ในกุรุนทีกล่าวว่า ถ้าไม่ทันรู้กระทำอัพภานกรรมๆ นั้น ไม่เป็นอันทำแท้ เพราะเหตุนั้น ควรนับราตรีให้เกินไว้ แล้วจึงค่อยทำอัพภานกรรม. นี้เป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด.
               เห็นภิกษุไปเรือในแม่น้ำเป็นต้นก็ดี ยืนอยู่ที่ฟากโน้นก็ดี ไปในอากาศก็ดี ตั้งอยู่ในที่ไกลมีภูเขาบนบกและป่าเป็นต้นก็ดี, ถ้ามีความกำหนดได้ว่า เป็นภิกษุ พึงไปบอกด้วยเรือเป็นต้นก็ได้ พึงรีบตามไปบอกก็ได้. เมื่อไม่บอกเป็นรัตติเฉทด้วย เป็นทุกกฎเพราะวัตตเภทด้วย. ถ้าว่า แม้พยายามอยู่ ก็ไม่สามารถจะไปทัน หรือให้ได้ยิน เป็นเพียงรัตติเฉท ไม่เป็นทุกกฎเพราะวัตตเภท.
               ฝ่ายพระสังฆเสนาภยเถระ กล่าวด้วยอำนาจแห่งวิสัยและอวิสัยว่า ได้ยินว่า เมื่อไม่บอก ในวิสัย (ที่จะบอกได้) เป็นรัตติเฉทด้วยเป็นทุกกฎเพราะวัตตเภทด้วย, แต่ในอวิสัยไม่มีทั้ง ๒ อย่าง. ส่วนพระกรวิกติสสเถระกล่าวว่า ความกำหนดว่า ผู้นี้เป็นสมณะนั่นแลเป็นประมาณ. ถ้าแม้ไม่ใช่วิสัย, ไม่มีทุกกฎ เพราะวัตตเภทเท่านั้น แต่คงเป็นรัตติเฉทแท้.
               บทว่า อุโปสเถ มีความว่า จริงอยู่ ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายย่อมมาด้วยตั้งใจว่า เราจักทันอุโบสถ แม้ไปด้วยฤทธิ์ทราบว่า เป็นวันอุโบสถ ย่อมลงทำอุโบสถกรรม. เพราะเหตุนั้น จึงควรบอกในวันอุโบสถ เพื่อชำระอาคันตุกะ. แม้ในปวารณา ก็มีนัยเหมือนกัน.
               ผู้อาพาธ นั้นได้แก่ ภิกษุผู้ไม่สามารถจะไป.
               แม้วินิจฉัยในคำว่า ทูเตน นี้ พึงทราบว่า ไม่ควรส่งอนุปสัมบันไป. พึงส่งภิกษุให้ไปบอก.
               บทว่า อภิกฺขุโก อาวาโส ได้แก่ วัดที่ว่าง.
               ภิกษุแม้รูปเดียว ไม่มีในวัดใด ไม่พึงไปเพื่อต้องการอยู่ในวัดนั้น เพราะราตรีที่อยู่ในวัดว่างเปล่านั้น เป็นราตรีที่ไม่ยอมให้นับ. แต่จะอยู่กับภิกษุปกตัตตะ สมควรอยู่. แต่เมื่ออันตราย ๑๐ อย่างมีอยู่ ถึงแม้ว่า ราตรีทั้งหลายจะไม่ยอมให้นับ ก็ควรไปเสีย เพื่อพ้นจากอันตรายแท้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เว้นแต่อันตราย ดังนี้ จึงไม่ควรทำวินัยกรรมกับภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส. แม้เพราะไม่บอกแก่ภิกษุนานาสังวาสเหล่านั้น รัตติเฉทย่อมไม่มี, ที่อยู่นั้นย่อมเป็นเหมือนอาวาส ไม่มีภิกษุนั่นเอง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำนี้ว่า ในอาวาสใดเล่า ภิกษุทั้งหลายเป็นนานาสังวาส?
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วในอุโบสถักขันธกะนั่นแล.
               วินิจฉัยในบทว่า เอกจฺฉนฺเน อาวาเส เป็นต้น พึงทราบดังนี้ :-
               เสนาสนะที่ทำไว้เพื่อประโยชน์แก่การอยู่ ชื่อว่าอาวาส.
               สถานมีอาทิอย่างนี้ คือเรือนเจดีย์ เรือนโพธิ ร้านเก็บไม้กวาด ร้านเก็บไม้ โรงน้ำ เวจกุฎี ซุ้มประตู ชื่ออนาวาส.
               หมวด ๒ แห่งอาวาสและอนาวาสนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาด้วยบทที่ ๓.
               ในมหาปัจจรี กล่าวว่า ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกวัตรแล้วไม่ได้เพื่ออยู่ในโอกาสเหล่านี้ ณ โอกาสอันใดอันหนึ่ง ซึ่งมุงเป็นอันเดียวกัน กำหนดด้วยที่ตกแห่งน้ำจากชายคา. แต่ปาริวาสิกภิกษุ ไม่ได้เพื่ออยู่ภายในอาวาสเท่านั้น.
               ส่วนมหาอรรถกถาแก้ว่า การอยู่นั้น ห้ามด้วยชายคา โดยไม่แปลกกัน.
               ในกุรุนทีแก้ว่า การที่ปาริวาสิกภิกษุและภิกษุที่ถูกสงฆ์ยกวัตรอยู่ร่วมกับภิกษุปกตัตตะ ในที่มุงด้วยเครื่องมุง ๕ อย่าง เหล่านั้น ท่านห้ามด้วยชายคา.
               เพราะเหตุนั้น ปาริวาสภิกษุไม่ควรอยู่ในที่มุงอันเดียวกัน แม้มีอุปจารต่างๆ กัน. ก็ถ้าว่า เป็นภิกษุผู้ปกตัตตะ แม้อุปสมบทในวันนั้น เข้าไปนอนก่อนในโอกาสที่มุงอันเดียวกันนี้ ปาริวาสิกภิกษุ แม้มีพรรษา ๖๐ เข้าไปทีหลังรู้อยู่และนอน เป็นรัตติเฉทด้วย เป็นทุกกฎ เพราะวัตตเภทด้วย. เมื่อไม่รู้ เป็นแต่รัตติเฉท ไม่เป็นทุกกฎเพราะวัตตเภท. แต่ถ้าเมื่อปาริวาสิกภิกษุนั้นนอนก่อน ภิกษุผู้ปกตัตตะเข้าไปนอนทีหลัง, และปาริวาสิกภิกษุรู้อยู่, เป็นรัตติเฉทด้วย เป็นทุกกฎ เพราะวัตตเภทด้วย. ถ้าไม่รู้, เป็นเพียงรัตติเฉท ไม่เป็นทุกกฎเพราะวัตตเภท.
               สองบทว่า วุฏฺฐาตพฺพํ นิมนฺเตตพฺโพ มีความว่า ปาริวาสิกภิกษุ เห็นภิกษุปกตัตตะ แม้อุปสมบทในวันนั้น พึงลุกขึ้นแท้, และครั้นลุกขึ้นแล้ว ไม่พึงหลบหน้าไปเสีย ด้วยคิดว่า เรานั่งสบายแล้ว ภิกษุนี้ทำให้เราต้องลุก. ภิกษุปกตัตตะนั้น อันเธอพึงนิมนต์ อย่างนี้แลว่า ท่านอาจารย์ นี่อาสนะ, นิมนต์นั่งบนอาสนะนี่. ฝ่ายนวกภิกษุผู้ปกตัตตะ ไม่ควรไปยังสำนักพระเถระผู้อยู่ปริวาส ด้วยตั้งใจว่า เราจะทำพระมหาเถระให้เป็นผู้กระอักกระอ่วน.
               บทว่า เอกาสเน มีความว่า บนเตียงหรือตั่ง ซึ่งเป็นที่นั่งแห่งภิกษุผู้มีพรรษาเท่ากัน.
               บทว่า น ฉมายํ นิสินฺเน มีความว่า เป็นภิกษุผู้ปกตัตตะนั่งบนแผ่นดิน ฝ่ายปาริวาสิกภิกษุไม่พึงนั่งบนอาสนะ โดยที่สุดแม้เป็นเครื่องลาดหญ้าหรือแม้เป็นเนินทรายที่สูงกว่า แต่จะนั่งเว้นอุปจาระไว้ ๑๒ ศอก ควรอยู่.
               บทว่า น เอกจงฺกเม มีความว่า ไม่พึงจงกรมในที่จงกรมอันเดียวกับภิกษุผู้ปกตัตตะดังเพื่อนกัน.
               คำว่า ฉมายํ จงฺกมติ มีความว่า เมื่อภิกษุผู้ปกตัตตะจงกรมอยู่บนแผ่นดิน.
               อีกอย่างหนึ่ง นี้เองเป็นบาลี. และพึงทราบเนื้อความในคำนี้ดังต่อไปนี้ :-
               เมื่อภิกษุผู้ปกตัตตะจงกรมอยู่ ณ พื้นดินที่ไม่ได้ปันแดน ไม่พึงจงกรม ณ ที่จงกรมที่ปันแดนเกลี่ยทรายประกอบราวที่เหนี่ยว แม้เป็นที่ต่ำ และไม่จำเป็นต้องกล่าวอะไรในที่จงกรมที่พร้อมเสร็จด้วยการก่ออิฐ ทั้งแวดล้อมด้วยกำแพงแก้ว. แต่ถ้ามีจงกรมที่ล้อมด้วยกำแพงประกอบด้วยซุ้มประตู หรือว่ามีที่จงกรมที่กำบังดี ณ ระหว่างเขาระหว่างป่า และระหว่างกอไม้ ; จะจงกรมในที่จงกรมเช่นนั้นสมควรอยู่, จะเว้นอุปจาระ จงกรม ณ ที่จงกรมแม้ไม่ได้กำบัง ก็ควร.
               วินิจฉัยในคำว่า วุฑฺฒตเรน นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               ในกุรุนทีแก้ว่า ถ้าเมื่อปาริวาสิกภิกษุผู้แก่กว่านอนก่อน ฝ่ายปาริวาสิกภิกษุ (ผู้อ่อนกว่า) รู้อยู่ นอนทีหลัง เป็นรัตติเฉทด้วย เป็นทุกกฎเพราะวัตตเภทด้วยแก่เธอ แต่สำหรับปาริวาสิกภิกษุผู้แก่กว่า เป็นเพียงรัตติเฉท ไม่เป็นทุกกฎเพราะวัตตเภท. ผู้อ่อนกว่าไม่รู้นอน, ไม่เป็นวัตตเภทด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย, แต่เป็นรัตติเฉท. ถ้าเมื่อปาริวาสิกภิกษุผู้อ่อนนอนก่อน ผู้แก่กว่าจึงนอน, และผู้อ่อนรู้, ราตรีของเธอย่อมขาดด้วย เป็นทุกกฎเพราะวัตตเภทแก่เธอด้วย. ฝ่ายผู้แก่กว่า เป็นเพียงรัตติเฉท ไม่เป็นวัตตเภท. ถ้าผู้อ่อนไม่รู้, ไม่เป็นวัตตเภทด้วยกัน ทั้ง ๒ ฝ่าย แต่คงเป็นรัตติเฉท ถ้าทั้ง ๒ ฝ่ายนอนไม่หลังไม่ก่อนกัน, ผู้แก่กว่าเป็นเพียงรัตติเฉท. ฝ่ายผู้อ่อนเป็นทั้งรัตติเฉท ทั้งวัตตเภท.
               ปาริวาสิกภิกษุ ๒ รูป มีพรรษาเท่ากัน รูปหนึ่งนอนก่อนรูปหนึ่งรู้อยู่เทียว นอนทีหลัง, ราตรีของเธอผู้นอนทีหลัง ย่อมขาดและเป็นทุกกฎเพราะวัตตเภทแก่เธอด้วย. สำหรับผู้นอนก่อน เป็นเพียงรัตติเฉท ไม่เป็นวัตตเภท. ถ้าแม้ผู้นอนทีหลังก็ไม่รู้ ไม่มีวัตตเภทด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย, แต่คงเป็นรัตติเฉท. หากแม้ทั้ง ๒ ฝ่ายนอนไม่หลับไม่ก่อนกัน. เป็นรัตติเฉทเท่านั้น ไม่เป็นวัตตเภททั้ง ๒ ฝ่าย.
               ก็ถ้าปาริวาสิกภิกษุ ๒ รูปพึงอยู่ด้วยกัน. เธอพึงรู้อัชฌาจารของกันและกัน จะพึงเป็นผู้ไม่เคารพ หรือมีความเดือดร้อนแล้วต้องอาบัติที่เลวทรามกว่า หรือสึกเสีย เพราะเหตุนั้น การนอนร่วมกันของพวกเธอ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงห้ามโดยประการทั้งปวงฉะนี้แล.
               คำที่เหลือ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               และในปาริวาสิกวัตตาธิการนี้ ภิกษุผู้ควรแก่มูลายปฏิกัสสนาเป็นต้น พึงทราบว่า ตั้งอยู่ในฐานของผู้ปกตัตตะของปาริวาสิกภิกษุเป็นต้น.
               วินิจฉัยในคำว่า ปาริวาสิกจตุตฺโถ เจ ภิกฺขเว ปริวาสํ นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               การที่สงฆ์ทำปาริวาสิกภิกษุให้เป็นที่ ๔ ทำกรรมมีให้ปริวาสเป็นต้น แก่กันและกัน ย่อมใช้ไม่ได้โดยแท้. ในกรรมมีให้ปริวาสเป็นต้นเหล่านี้เท่านั้น ที่ปาริวาสิกภิกษุนี้เป็นคณปูรกะไม่ได้, ในสังฆกรรมที่เหลือ เป็นได้ และเมื่อคณะไม่ครบ พึงให้ปาริวาสิกภิกษุเก็บวัตรแล้ว จึงทำให้เป็นคณปูรกะฉะนี้แล.
               ปาริวาสิกวัตรกถา จบ               

               ปริวาส               
               ก็แลเพราะได้ฟังวัตตกถานี้ พระอุบาลีเถระผู้ทรงวินัยผู้อยู่ ณ ที่เร้น จึงได้เกิดการรำพึงอย่างนี้ว่า วัตรสำหรับภิกษุผู้อยู่ปริวาส พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้มาก, ในวัตรนี้ รัตติเฉทย่อมมีด้วยเหตุเท่าไรหนอ?
               ท่านจึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามเนื้อความนั้น. แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงพยากรณ์แก่ท่าน.
               เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า อถ โข อายสฺมา อุปาลิ ฯลฯ รตฺติจฺเฉทา ดังนี้.
               ใน ๓ อย่างนั้น ที่ชื่อว่าการอยู่ร่วม ได้แก่ การอยู่ด้วยกันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยมีคำเป็นต้นว่า ในที่มุงอันเดียวกันกับภิกษุผู้ปกตัตตะ.
               ที่ชื่อว่า อยู่ปราศ ได้แก่ การอยู่ของภิกษุรูปเดียวเท่านั้น.
               ที่ชื่อว่า ไม่บอก ได้แก่ ไม่บอกภิกษุอาคันตุกะเป็นต้น.
               รัตติเฉท ย่อมมีด้วยเหตุอันหนึ่งๆ ในเหตุ ๓ อย่างนี้
               ข้อว่า น สกฺโกนฺติ มีความว่า เมื่อไม่สามารถไปบอกแก่ภิกษุทั้งปวงในที่นั้นๆ เพราะข้อที่สงฆ์เป็นหมู่ใหญ่ ชื่อว่าไม่สามารถจะให้ปริวาสหมดจดได้.
               ในสองบทนี้ คือ ปริวาสํ นิกฺขิปามิ ๑ วตฺตํ นิกฺขิปามิ ๑ ปริวาส เป็นอันเก็บแม้ด้วยบทอันหนึ่งๆ เป็นอันเก็บเรียบร้อยแท้ด้วยทั้ง ๒ บท. แม้ในการสมาทานก็มีนัยเหมือนกัน. ภิกษุผู้สมาทานวัตร อยู่ปริวาสเสร็จอย่างนั้นแล้ว เมื่อจะถือมานัต ไม่มีกิจที่จะต้องสมาทานวัตรอีก.
               จริงอยู่ ภิกษุนั่งคงเป็นผู้สมาทานวัตรอยู่นั่นเอง, เพราะเหตุนั้น สงฆ์พึงให้มานัต ๖ ราตรีแก่เธอ, พอเธอประพฤติมานัตแล้วพึงอัพภาน. เธอเป็นผู้ไม่มีอาบัติ ตั้งอยู่ในส่วนแห่งผู้บริสุทธิ์อย่างนั้นแล้ว จักบำเพ็ญไตรสิกขา กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ด้วยประการฉะนี้.
               ปริวาสกถา จบ               

               ปกตัตตะของกันและกัน               
               ข้อว่า มูลาย ปฏิกสฺสนารหา ภิกฺขู สาทิยนฺติ ปกตตฺตานํ มีความว่า เว้นภิกษุผู้ควรแก่มูลายปฏิกัสสนาผู้อ่อนกว่าเสีย ได้แก่ภิกษุทั้งหลายที่เหลือ โดยที่สุด แม้ภิกษุผู้อยู่ปริวาสเป็นต้น.
               จริงอยู่ บรรดาภิกษุ ๕ จำพวก คือภิกษุผู้อยู่ปริวาส ๑ ผู้ควรแก่มูลายปฏิกัสสนา ๑ ผู้ควรแก่มานัต ๑ ผู้ประพฤติมานัต ๑ ผู้ควรแก่อัพภาน ๑ เหล่านี้ เว้นภิกษุผู้อ่อนกว่าของตนๆ เสียที่เหลือทั้งหมด คงจัดเป็นผู้ปกตัตตะ.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะเหตุที่การอภิวาทเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตตามลำดับ คือตามแก่. เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ได้แก่ ภิกษุทั้งหลายที่เหลือ โดยที่สุด แม้ภิกษุผู้อยู่ปริวาสเป็นต้น. ส่วนลักษณะแห่งภิกษุผู้ควรแก่มูลายปฏิกัสสนาเป็นต้นเหล่านั้น จักมีแจ้งข้างหน้า. คำที่เหลือในอธิการ ว่าด้วยภิกษุผู้ควรแก่มูลายปฏิกัสสนายินดีอภิวาทเป็นต้น ของภิกษุผู้ปกตัตตะนี้ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในวัตรของภิกษุผู้ควรแก่มานัตเป็นต้น แม้อื่นจากอธิการนี้ และในวัตรของปาริวาสิกภิกษุนั่นแล.
               วินิจฉัยแม้ในคำว่า มูลายปฏิกสฺสนารหจตุตฺโถ เจ เป็นต้นพึงทราบดังนี้ :-
               แม้ภิกษุผู้ควรแก่มูลายปฏิกัสสนาเหล่านั้น ย่อมเป็นคณปูรกะในวินัยกรรมเหล่านั้นไม่ได้ เหมือนปาริวาสิกภิกษุฉะนั้นแล. ในสังฆกรรมที่เหลือ เป็นได้.
               ความแปลกกันในวัตรของมานัตตจาริกภิกษุ คือ มานัตตจาริกภิกษุ ต้องบอกทุกวัน.
               ภิกษุ ๔ รูปหรือเกินกว่า ชื่อว่า คณะ ในคำว่า อูเน คเณ นี้ ในพวกรัตติเฉท. เพราะเหตุนั้น ถ้าแม้มานัตตจาริกภิกษุ อยู่กับภิกษุ ๓ รูป เป็นรัตติเฉททีเดียว.
               ในการเก็บและสมาทานมานัต วินิจฉัยคล้ายกับที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               คำที่เหลือทุกๆ แห่ง ตื้นทั้งนั้น ด้วยประการฉะนี้.

               ปาริวาสิกักขันธกวรรณนา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา จุลวรรค ภาค ๑ ปาริวาสิกขันธกะ เรื่องพระอยู่ปริวาสเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 6 / 1อ่านอรรถกถา 6 / 319อรรถกถา เล่มที่ 6 ข้อ 320อ่านอรรถกถา 6 / 334อ่านอรรถกถา 6 / 682
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=6&A=3597&Z=3791
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=5760
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=5760
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :