ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 941อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 943อ่านอรรถกถา 8 / 954อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อรรถกถา ปริวาร
เอกุตตริกะ หมวด ๒

               [พรรณนาหมวด ๒]               
               วินิจฉัยในหมวด ๒ พึงทราบดังนี้ :-
               อาบัติเป็นสจิตตกะ เป็นสัญญาวิโมกข์ อาบัติเป็นอจิตตกะ เป็นโนสัญญาวิโมกข์.
               อาบัติเพราะอวดอุตริมนุสธรรมที่จริง ชื่อว่าอาบัติของภิกษุผู้ได้สมาบัติ.
               อาบัติเพราะอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่จริง ชื่อว่าอาบัติของภิกษุผู้ไม่ได้สมาบัติ.
               อาบัติในปทโสธัมมสิกขาบทเป็นต้น ชื่อว่าอาบัติเนื่องโดยเฉพาะด้วยสัทธรรม.
               อาบัติเพราะทุฏฐุลลวาจา ชื่อว่าอาบัติเนื่องโดยเฉพาะด้วยอสัทธรรม.
               อาบัติเพราะบริโภคบริขารที่ไม่ควรอย่างนี้ คือ เพราะไม่เสียสละวัตถุ เป็นนิสสัคคีย์ก่อนบริโภค เพราะตากบาตรและจีวรไว้นาน เพราะไม่ซักจีวรที่โสมม เพราะไม่ระบมบาตรที่สนิมจับ ชื่อว่า อาบัติเนื่องโดยเฉพาะด้วยบริขารของตน.
               อาบัติที่พึงต้อง ในเพราะไปเสียด้วยไม่บอกสั่งการที่วางบริขารมีเตียงและตั่งเป็นอาทิของสงฆ์ ไว้กลางแจ้งเป็นต้น ชื่อว่า อาบัติเนื่องโดยเฉพาะด้วยบริขารของผู้อื่น.
               อาบัติที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้มีหลังอ่อน ผู้มีองคชาตยาว ผู้หนีบองคชาตด้วยขา ชื่อว่าอาบัติเนื่องโดยเฉพาะด้วยบุคคลคือตนเอง.
               อาบัติที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ในเพราะเมถุนธรรม กายสังสัคคะและให้ประหารเป็นอาทิ ชื่อว่าอาบัติเนื่องโดยตรงด้วยบุคคลอื่น.
               ภิกษุเมื่อพูดจริงว่า หล่อนมีหงอน ย่อมต้องอาบัติหนัก. เมื่อพูดเท็จ ย่อมต้องอาบัติเบา โดยพระบาลีว่า เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะสัมปชานมุสาวาท.
               เมื่อพูดเท็จ เพราะอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริง ต้องอาบัติหนัก. เมื่อพูดจริง เพราะอวดอตุริมนุสธรรมที่มีจริง ต้องอาบัติเบา.
               ภิกษุเมื่อนั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ภายในสีมา ด้วยตั้งใจว่า เราจักทำสังฆกรรมเป็นพวก ชื่อว่าอยู่บนแผ่นดิน ต้อง (อาบัติ).
               ก็ถ้าว่า เธอพึงตั้งอยู่ในอากาศแม้เพียงองคุลีเดียว ไม่พึงต้อง; เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อยู่ในอากาศ ไม่ต้อง.
               เมื่อภิกษุเมื่อนั่งทับ ซึ่งเตียงหรือตั่ง อันมีเท้าเสียบในตัวบนร้านสูงซึ่งว่าอยู่ในอากาศ ต้อง (อาบัติ).
               ก็ถ้าว่า เธอพึงตั้งเตียงและตั่งนั้นบนภาคพื้นแล้วจึงนอน ไม่พึงต้อง; เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อยู่บนภาคพื้น ไม่ต้อง.
               ภิกษุผู้เตรียมจะไป เมื่อไม่ยังคมิยวัตรให้เต็มไปเสีย ชื่อว่าออกไปอยู่ ต้อง (อาบัติ) เข้าไปอยู่ ไม่ต้อง.
               ภิกษุอาคันตุกะ ไม่ยังอาคันตุกวัตรให้เต็ม กางร่มสวมรองเท้าเข้าไปอยู่ ชื่อว่าเข้าไปอยู่ ต้อง (อาบัติ) ออกไปอยู่ ไม่ต้อง.
               ภิกษุณี เมื่อถือเอาการชำระให้สะอาดด้วยน้ำ ลึกเกินไป ชื่อว่าถือเอาอยู่ ต้อง (อาบัติ).
               ฝ่ายภิกษุ เมื่อไม่ถือเอาสีสำหรับทำให้เศร้าหมอง บริโภคจีวร ชื่อว่าไม่ถือเอาอยู่ ต้อง (อาบัติ).
               เมื่อสมาทานวัตรของเดียรถีย์ มีมูควัตรเป็นต้น ชื่อว่าสมาทานอยู่ (อาบัติ).
               ฝ่ายภิกษุผู้อยู่ปริวาสเป็นต้นก็ดี ผู้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมเป็นต้นก็ดี เมื่อไม่สมาทานวัตรของตน ชื่อว่าไม่สมาทานอยู่ ต้อง (อาบัติ).
               คำที่ว่า มีอยู่ อาบัติ ภิกษุไม่สมาทานอยู่ ย่อมต้อง ดังนี้ท่านกล่าวหมายเอาภิกษุเหล่านั้น.
               ภิกษุผู้เย็บจีวรของภิกษุณีผู้มิใช่ญาติก็ดี ผู้ทำเวชกรรม ภัณฑาคาริกกรรมและจิตรกรรมก็ดี ชื่อว่าที่ทำอยู่ ต้อง (อาบัติ) ผู้ไม่ทำอุปัชฌายวัตรเป็นต้น ชื่อว่าไม่ทำอยู่ ต้อง (อาบัติ).
               ภิกษุผู้ให้จีวรแก่ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ชื่อว่าให้อยู่ ต้อง (อาบัติ). เมื่อไม่ให้บริขารมีจีวรเป็นต้น แก่สัทธิวิหาริกและอันเตวาสิก ชื่อว่าไม่ให้อยู่ ต้อง (อาบัติ).
               เมื่อถือเอาจีวรของภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ชื่อว่ารับอยู่ ต้อง (อาบัติ).
               เมื่อไม่ถือเอาซึ่งโอวาท โดยพระบาลีว่า ภิกษุทั้งหลาย โอวาทอันภิกษุณีไม่พึงรับไม่ได้ ดังนี้ ชื่อว่าไม่รับอยู่ ต้อง (อาบัติ).
               เมื่อไม่เสียสละนิสสัคคิยวัตถุก่อนบริโภค ชื่อว่าต้อง (อาบัติ) เพราะบริโภค.
               เมื่อยังวาระผลัดสังฆาฏิซึ่งมี ๕ วัน ให้ก้าวล่วงไป ชื่อว่าต้อง (อาบัติ) เพราะไม่บริโภค.
               ชื่อว่าย่อมต้อง (อาบัติ) ในราตรีเป็นที่นอนในเรือนร่วมกัน. เมื่อไม่ปิดประตู เร้นอยู่ ชื่อว่าต้องในกลางวัน ไม่ต้องในกลางคืน.
               เมื่อต้องอาบัติที่ตรัสไว้ เพราะก้าวล่วง ๑ ราตรี ๖ ราตรี ๗ วัน ๑๐ วันและเดือนหนึ่ง ชื่อว่าต้องเพราะอรุณขึ้น.
               เมื่อห้ามข้าวแล้วฉัน ชื่อว่าต้อง ไม่ใช่เพราะอรุณขึ้น.
               เมื่อตัดอยู่ซึ่งภูตคามและองคชาต ชื่อว่าตัดอยู่จึงต้อง.
               เมื่อไม่ปลงผมและไม่ตัดเล็บ ชื่อว่าไม่ตัดอยู่จึงต้อง.
               เมื่อปิดอาบัติไว้ ชื่อว่าปิดอยู่จึงต้อง. และชื่อว่าไม่ปกปิดอยู่ต้องอาบัตินี้ (ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส) ว่า อันภิกษุพึงปกปิดด้วยหญ้าหรือใบไม้แล้วจึงไป ฝ่ายภิกษุผู้เปลือย อย่าพึงไปเลย ภิกษุใดไป ภิกษุนั้นต้องทุกกฏ.
               เมื่อทรงไว้ ซึ่งผ้าคากรองเป็นต้น ชื่อว่าทรงไว้ จึงต้อง.
               ชื่อว่าไม่ทรงไว้จึงต้องอาบัตินี้ (ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส) ว่า ภิกษุบาตรนี้ เธอพึงทรงไว้จนกว่าจะแตก.
               ข้อว่า อตฺตนา วา อตฺตานํ นานาสํวาสกํ กโรติ มีความว่า เมื่อสงฆ์ ๒ ฝ่ายนั่งในสีมาเดียวกัน ภิกษุนั่งในฝ่ายหนึ่ง ถือเอาลัทธิของอีกฝ่ายหนึ่ง ชื่อว่าตนเองทำตนเองให้เป็นนานาสังวาสก์ ของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ในฝ่ายที่ตนนั่งนั้น. ตนนั่งแล้วในสำนักของภิกษุเหล่าใด แม้เป็นคณปูรกะของภิกษุณีเหล่านั้น ชื่อว่าย่อมยังกรรมให้กำเริบ เพราะตนไม่มาเข้าหัตถบาสของอีกฝ่ายหนึ่ง.
               แม้ในสมานสังวาสก์ก็มีนัยเหมือนกัน. จริงอยู่ ภิกษุนั้น ชอบใจลัทธิของพวกใด ย่อมเป็นสมานสังวาสก์ของพวกนั้น เป็นนานาสังวาสก์ของอีกพวกหนึ่ง.
               ข้อว่า สตฺต อาปตฺติโย สตฺต อาปตฺติกฺขนฺธา มีความว่า หมวด ๒ (แห่งอาบัติ) อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงด้วยอำนาจแห่งชื่อว่า มี ๒ ชื่อเท่านั้น อย่างนี้ คือ ชื่อว่าอาบัติ เพราะเป็นวีติกกมะที่จะพึงต้องชื่อว่ากอง เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่.
               วินิจฉัยในคำว่า กมฺเมน วา สลากคาเหน วา นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               อุทเทสและกรรมเป็นอันเดียวกัน. โวหารอนุสาวนาและการจับสลากเป็นอันเดียวกัน. โวหารอนุสาวนาและการจับสลาก เป็นบุพภาค. กรรมและอุทเทสเป็นสำคัญ.
               บุคคลผู้มีอายุหย่อน ๒๐ ปี ชื่อว่าผู้มีกาลบกพร่อง. บุคคลผู้มีบรรพชา โทษต่างโดยชนิดมีผู้มีมือด้วนเป็นต้น ชื่อว่าผู้มีอวัยวะบกพร่อง.
               บัณเฑาะก์ สัตว์ดิรัจฉาน และอุภโตพยัญชนก ชื่อว่าผู้มีวัตถุวิบัติ.
               อภัพบุคคล ๘ ที่ยังเหลือ มีผู้ลักสังวาสเป็นต้น ชื่อว่าผู้มีความกระทำเสียหาย.
               ผู้มีกรรมอันตนทำเสีย ชื่อว่าผู้มีความกระทำเสียหาย. อธิบายว่า ผู้ถึงฐานแห่งอภัพบุคคล เพราะกรรมของตนที่ทำเองในอัตภาพนี้ทีเดียว.
               ผู้มีบาตรจีวรไม่ครบ ชื่อว่าผู้ไม่บริบูรณ์. บุคคลไม่ขออุปสมบทชื่อว่าบุคคลไม่ขอ.
               สองบทว่า อลชฺชิสฺส จ พาลสฺส จ มีความว่า ภิกษุอลัชชีแม้หากว่าเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก ภิกษุพาล แม้หากว่า เป็นผู้มีพรรษา ๖๐ อัน ภิกษุไม่พึงอาศัยอยู่ทั้ง ๒.
               วินิจฉัยในคำว่า พาลสฺส จ อลชฺชิสฺส จ ยาจติ นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               นิสัยอันบุคคลผู้ให้นิสัย พึงให้ แม้ด้วยสั่งบังคับว่า เธอจงถือนิสัยในสำนักภิกษุผู้โง่. แต่พึงให้แก่ภิกษุลัชชีผู้ขออยู่แท้.
               บทว่า สาติสารํ มีความว่า เมื่อประพฤติล่วงวัตถุใด ย่อมต้องอาบัติ วัตถุนั้นชื่อว่าเป็นไปกับด้วยโทษ.
               การคัดค้าน ด้วยกายวิการ มีหัตถวิการเป็นอาทิ ชื่อว่าคัดค้านด้วยกาย.
               ข้อว่า กาเยน วา ปฏิชานาติ ได้แก่ ปฏิญญาด้วยกายวิการมีหัตถวิการเป็นต้น.
               การล้างผลาญ ชื่อว่าการเข้าไปทำร้าย.
               การล้างผลาญสิกขา ชื่อว่าการเข้าไปทำร้ายสิกขา.
               การล้างผลาญเครื่องบริโภค ชื่อว่าการเข้าไปทำร้ายโภคะ.
               ใน ๒ อย่างนั้น พึงทราบการล้างผลาญสิกขาของภิกษุผู้ไม่ศึกษาสิกขา ๓. พึงทราบการล้างผลาญโภคะ ของภิกษุผู้ใช้สอยเครื่องบริโภคของสงฆ์ หรือของบุคคลเสียหายไป.
               ข้อว่า เทฺว เวนยิกา ได้แก่ อรรถ ๒ อย่างสำเร็จในวินัย.
               ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ ด้วยอำนาจวัตถุที่ควรและไม่ควรในวินัยปิฎกทั้งสิ้น ชื่อว่าข้อบัญญัติ. ที่ชื่อว่าอนุโลมบัญญัติ พึงเห็นในมหาปเทส ๔.
               การผลาญปัจจัยเสีย ชื่อว่ารื้อสะพาน. อธิบายว่า ภิกษุพึงทำกรรมอันไม่ควรด้วยจิตใด การที่ไม่ยังจิตแม้นั้นให้เกิดขึ้น ชื่อว่าการรื้อสะพานเสีย.
               การกระทำโดยประมาณ คือโดยพอเหมาะ. อธิบายว่า ความตั้งอยู่ในความพอเหมาะ ชื่อว่าความเป็นผู้กระทำพอประมาณ.
               ข้อว่า กาเยน อาปชฺชติ มีความว่า ต้องอาบัติที่เกิดทางกายทวาร ด้วยกาย. ต้องอาบัติที่เกิดทางวจีทวาร ด้วยวาจา.
               ข้อว่า กาเยน วุฏฺฐาติ มีความว่า แม้เว้นการแสดงในติณวัตถารกสมถะเสีย ชื่อว่าย่อมออกด้วยกายเท่านั้น. แต่เมื่อแสดงแล้วออก ชื่อว่าย่อมออกด้วยวาจา.
               บริโภคด้วยการกลืนกิน ชื่อว่าบริโภคภายใน. การทาศีรษะเป็นอาทิ ชื่อว่าบริโภคภายนอก.
               ข้อว่า อนาคตํ ภารํ วหติ มีความว่า ภิกษุผู้มิได้เป็นเถระ แต่นำภาระมีถือพัดและเชิญแสดงธรรมเป็นอาทิ ที่พระเถระทั้งหลายจะพึงนำ คือเริ่มความเพียรที่จะรับภาระนั้น.
               ข้อว่า อาคตํ ภารํ น วหติ มีความว่า ภิกษุผู้เป็นเถระ แต่ไม่ทำกิจของพระเถระ. อธิบายว่า ให้เสื่อมเสียกิจทั้งปวงมีอาทิอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เป็นเถระแสดงธรรมเองบ้าง, อนุญาตให้ภิกษุผู้เถระเชิญภิกษุอื่นบ้าง, ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตปาฏิโมกข์ให้เป็นกิจมีพระเถระเป็นใหญ่.
               ข้อว่า น กุกฺกุจฺจายิตพฺพํ กุกฺกุจฺจายติ มีความว่า ประพฤติรังเกียจ ทำสิ่งที่ไม่น่ารังเกียจ.
               ข้อว่า กุกฺกุจฺจายิตพฺพํ น กุกฺกุจฺจายติ มีความว่า ภิกษุไม่ประพฤติรังเกียจทำสิ่งที่น่ารังเกียจ. อธิบายว่า อาสวะทั้งหลายของภิกษุ ๒ พวกนั่น ย่อมเพิ่มพูนทั้งกลางวันและกลางคืน.
               เนื้อความแม้ในหมวด ๒ อันเป็นลำดับไป พึงทราบด้วยอำนาจแห่งเนื้อความ ที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
               บทที่เหลือ นับว่ามีเนื้อความชัดทั้งนั้น เพราะมีนัยดังกล่าวแล้วในบทนั้นๆ.

               พรรณนาหมวด ๒ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปริวาร เอกุตตริกะ หมวด ๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 941อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 943อ่านอรรถกถา 8 / 954อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=8&A=7464&Z=7627
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=10022
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=10022
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :