ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 943อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 954อ่านอรรถกถา 8 / 965อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อรรถกถา ปริวาร
เอกุตตริกะ หมวด ๓

               [พรรณนาหมวด ๓]               
               วินิจฉัยในหมวด ๓ พึงทราบดังนี้ :-
               หลายบทว่า อตฺถาปตฺติ ติฏฺฐนฺเต ภควติ อาปชฺชติ มีความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงอยู่ ภิกษุจึงต้องอาบัติใด อาบัตินั้นมีอยู่. มีนัยเหมือนกันทุกบท.
               บรรดาอาบัติเหล่านั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงอยู่ ภิกษุจึงต้องอาบัติ เพราะโลหิตุปบาท. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ภิกษุจึงต้องยังทรงอยู่ไม่ต้องอาบัติ เพราะร้องเรียกพระเถระด้วยวาทะว่า อาวุโส เป็นปัจจัย เพราะพระบาลีว่า อานนท์ ก็บัดนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ย่อมร้องเรียกกันและกัน ด้วยวาทะว่า อาวุโส โดยเวลาที่เราล่วงไปเสีย ท่านทั้งหลายไม่พึงร้องเรียกกันและกันอย่างนั้น, อานนท์ ภิกษุผู้เถระอันภิกษุผู้ใหม่ พึงร้องเรียกด้วยวาทะว่า ภทนฺเต หรือว่า อายสฺมา ดังนี้.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงอยู่ก็ตาม ปรินิพพานแล้วก็ตาม เว้นอาบัติ ๒ เหล่านี้เสีย ภิกษุย่อมต้องอาบัติที่เหลือ.
               เมื่อห้ามเสียแล้ว ฉันของเคี้ยวของฉันที่ไม่เป็นเดน ชื่อว่าต้องอาบัติในกาล หาต้องในวิกาลไม่. แต่ย่อมต้องอาบัติเพราะวิกาลโภชน์ในวิกาล หาต้องในกาลไม่. ย่อมต้องอาบัติที่เหลือ ทั้งในกาลและวิกาล.
               ในเวลากลางคืน ย่อมต้องอาบัติเพราะนอนในเรือนร่วมกัน, ในเวลากลางวัน ย่อมต้องอาบัติเพราะไม่ปิดประตูเร้นอยู่. ย่อมต้องอาบัติที่เหลือ ทั้งกลางคืนและกลางวัน.
               ภิกษุผู้พาล ไม่ฉลาด เมื่อให้บริษัทอุปัฏฐาก ด้วยคิดว่า เรามีพรรษา ๑๐ เรามีพรรษาเกิน ๑๐ ผู้มีพรรษาครบ ๑๐ ย่อมต้อง ผู้มีพรรษาหย่อน ๑๐ ไม่ต้อง.
               ภิกษุใหม่หรือปูนกลาง เมื่อให้บริษัทอุปัฏฐาก ด้วยคิดว่า เราเป็นบัณฑิต เราเป็นคนฉลาด ผู้มีพรรษาหย่อน ๑๐ ย่อมต้อง ผู้มีพรรษาครบ ๑๐ ไม่ต้อง.
               ทั้งภิกษุผู้มีพรรษาครบ ๑๐ ทั้งภิกษุผู้มีพรรษาหย่อน ๑๐ ย่อมต้องอาบัติที่เหลือ.
               ภิกษุผู้พาล ไม่ฉลาด เมื่อไม่ถือนิสัยอยู่ ด้วยคิดว่า เรามีพรรษาครบ ๕ ผู้มีพรรษาครบ ๕ ย่อมต้อง.
               ภิกษุใหม่ไม่ถือนิสัยอยู่ ด้วยคิดว่า เราเป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาด ผู้มีพรรษาหย่อน ๕ ย่อมต้อง. ทั้งภิกษุผู้มีพรรษาครบ ๕ ทั้งภิกษุผู้มีพรรษาหย่อน ๕ ย่อมต้องอาบัติที่เหลือ.
               ภิกษุผู้มีจิตเป็นกุศล ย่อมต้องอาบัติเห็นปานนี้ คือ บอกธรรมกะอนุปสัมบันว่าโดยบท, แสดงธรรมแก่มาตุคาม.
               ภิกษุผู้มีจิตเป็นอกุศล ย่อมต้องอาบัติต่างโดยชนิด มีปาราชิก, สุกกวิสัฏฐิ, กายสังสัคคะ, ทุฏฐุลละ, อัตตกามปาริจริยา, ทุฏฐโทสะ, สังฆเภทะ, ปหารทานะ, ตลสัตติกะ เป็นต้น.
               ผู้มีจิตเป็นอัพยากฤต ย่อมต้องอาบัติ มีไม่แกล้งนอนในเรือนร่วมกันเป็นต้น. พระอรหันต์ย่อมต้องอาบัติใด ภิกษุผู้มีจิตเป็นอัพยากฤต ย่อมต้องอาบัตินั้นทั้งหมด.
               ภิกษุผู้พร้อมเพรียงด้วยสุขเวทนา ย่อมต้องอาบัติต่างชนิดมีเมถุนธรรมเป็นต้น. ผู้พร้อมเพรียงด้วยทุกขเวทนา ย่อมต้องอาบัติต่างชนิดมีทุฏฐโทสะเป็นต้น.
               ผู้พร้อมเพรียงด้วยสุขเวทนา ย่อมต้องอาบัติใด ภิกษุผู้มีตนมัธยัสถ์ (วางเฉย) เมื่อต้องอาบัตินั้นแล ชื่อว่าผู้พร้อมเพรียงด้วยอทุกขมสุขเวทนาต้อง (อาบัติ).
               ข้อว่า ตโย ปฏิกฺเขปา มีความว่า ข้อห้าม ๓ อย่าง ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า คือ ความเป็นผู้มักมาก ความเป็นผู้ไม่สันโดษในปัจจัย ๔ ความไม่รักษาข้อปฏิบัติอันขูดเกลากิเลส, ธรรม ๓ อย่างเหล่านี้แล อันพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงห้ามแล้ว.
               ส่วนธรรม ๓ อย่าง มีความเป็นผู้มักน้อยเป็นต้น อันพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงอนุญาตแล้ว. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธรรม ๓ อย่าง ทรงอนุญาต.
               ภิกษุให้บริษัทอุปัฏฐาก ด้วยคิดว่า เรามีพรรษาครบ ๑๐ ไม่ถือนิสัย ด้วยคิดว่า เรามีพรรษาครบ ๕ ผู้โง่เขลาต้อง ผู้ฉลาดไม่ต้อง.
               ผู้มีพรรษาหย่อน ๑๐ คิดว่า เราเป็นผู้ฉลาด เมื่อให้บริษัทอุปัฏฐาก เพราะความเป็นพหุสุตบุคคล และผู้มีพรรษาหย่อน ๕ ไม่ถือนิสัย ผู้ฉลาดต้องผู้โง่เขลาไม่ต้อง.
               ทั้งผู้ฉลาด ทั้งผู้โง่เขลา ย่อมต้องอาบัติที่เหลือ.
               เมื่อไม่เข้าพรรษา ย่อมต้องในกาฬปักข์ ไม่ต้องในชุณหปักข์. เมื่อไม่ปวารณาในวันมหาปวารณา ย่อมต้องในชุณหปักข์ ไม่ต้องในกาฬปักข์. ย่อมต้องอาบัติที่เหลือทั้งในกาฬปักข์และชุณหปักข์.
               การเข้าพรรษา ย่อมสำเร็จในกาฬปักข์ ไม่สำเร็จในชุณหปักข์.
               ปวารณาในวันมหาปวารณา ย่อมสำเร็จ ในชุณหปักข์ ไม่สำเร็จในกาฬปักข์.
               สังฆกิจที่ทรงอนุญาตที่เหลือ ย่อมสำเร็จทั้งในกาฬปักข์และชุณหปักข์.
               ภิกษุนุ่งผ้าอาบน้ำฝนที่วิกัปป์เก็บไว้ในวันปาฏิบทหลัง แต่เพ็ญเดือนกัตติกาหลัง ย่อมต้องในฤดูเหมันต์.
               แต่ในกุรุนที กล่าวว่า ไม่ถอนในวันเพ็ญเดือนกัตติกาหลัง ย่อมต้องในฤดูเหมันต์. คำในอรรถกถากุรุนทีแม้นั้นท่านกล่าวชอบ. เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า เราอนุญาตให้ภิกษุอธิษฐานตลอด ๔ เดือน ต่อแต่นั้นไป อนุญาตให้วิกัปป์.
               เมื่อฤดูร้อนยังเหลือกว่า ๑ เดือน ภิกษุแสวงหา และเมื่อฤดูร้อนยังเหลือกว่ากึ่งเดือน ภิกษุทำนุ่ง ชื่อว่าย่อมต้องอาบัติในคิมหฤดู.
               เมื่อมีผ้าอาบน้ำฝน แต่เปลือยกายอาบน้ำฝน ชื่อว่าย่อมต้องอาบัติในฤดูฝน.
               สงฆ์เมื่อทำปาริสุทธิอุโบสถหรืออธิษฐานอุโบสถ ย่อมต้องอาบัติ.
               คณะเมื่อทำสุตตุทเทสและอธิฏฐานอุโบสถ ย่อมต้องอาบัติ.
               ภิกษุผู้เดียว เมื่อทำสุตตุทเทส ย่อมต้องอาบัติ. แม้ในปวารณาก็นัยนี้แล.
               สังฆอุโบสถ และสังฆปวารณา ย่อมสำเร็จแก่สงฆ์เท่านั้น.
               คณะอุโบสถ และคณะปวารณา ย่อมสำเร็จแก่คณะเท่านั้น.
               อธิษฐานอุโบสถและอธิษฐานปวารณา ย่อมสำเร็จแก่บุคคลเท่านั้น.

               [ว่าด้วยการปิด ๓ อย่างเป็นต้น]               
               เมื่อกล่าวคำว่า ข้าพเจ้าต้องปาราชิก เป็นต้น ชื่อว่าปิดวัตถุ ไม่ปิดอาบัติ.
               เมื่อกล่าวคำว่า ข้าพเจ้าได้เสพเมถุนธรรม เป็นต้น ชื่อว่าปิดอาบัติไม่ปิดวัตถุ.
               ภิกษุใด ไม่บอกวัตถุ ไม่บอกอาบัติ, ภิกษุนี้ ชื่อว่าปิดทั้งวัตถุทั้งอาบัติ.
               ที่ชื่อว่าที่กำบัง เพราะปกปิดไว้.
               ที่กำบัง คือเรือนไฟ ชื่อว่า ชนฺตาฆรปฏิจฺฉาทิ. แม้ในที่กำบังนอกนี้ ก็มีนัยเหมือนกัน.
               ภิกษุผู้ปิดประตูอยู่ภายในเรือนไฟ ควรทำบริกรรม. แม้ภิกษุผู้แช่อยู่ในน้ำ ก็ควรทำบริกรรมนั้นเหมือนกัน. แต่ไม่ควรขบเคี้ยวหรือฉันในสถานทั้ง ๒.
               ของอันปกปิด คือ ผ้า ควรในที่ทั้งปวง.
               ภิกษุผู้ปกปิด (กาย) ด้วยของปกปิด คือ ผ้านั้นแล้ว สมควรทำกิจทั้งปวง.
               บทว่า วหนฺติ มีความว่า ย่อมไป คือย่อมออกไป ได้แก่ไม่ได้ความติเตียนหรือคำคัดค้าน. ดวงจันทร์พ้นจากเมฆ หมอก ควัน ธุลีและราหูแล้ว เปิดเผยดี ย่อมรุ่งเรือง, อันสิ่งเหล่านั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง กำบังแล้ว ย่อมไม่รุ่งเรือง. ดวงอาทิตย์ก็เหมือนกัน. แม้ธรรมวินัยที่ภิกษุเปิดเผยจำแนก แสดงอยู่แล จึงรุ่งเรือง, ปกปิดไว้หารุ่งเรืองไม่.

               [ว่าด้วยอาบัติที่ผู้อาพาธต้องเป็นต้น]               
               ภิกษุผู้อาพาธ เมื่อออกปากขอเภสัชอย่างอื่น ในเมื่อจำเป็นต้องทำด้วยเภสัชอย่างอื่น ย่อมต้อง (อาบัติ).
               ผู้ไม่อาพาธ เมื่อออกปากขอเภสัช ในเมื่อไม่จำเป็นต้องทำด้วยเภสัช ย่อมต้อง.
               ภิกษุทั้งอาพาธและไม่อาพาธ ย่อมต้องอาบัติที่เหลือ.
               ข้อว่า อนฺโต อาปชฺชติ โน พหิ มีความว่า เมื่อสำเร็จการนอนเข้าไปเบียด (ภิกษุเข้าไปก่อน) ย่อมต้อง.
               ข้อว่า พหิ อาปชฺชติ โน อนฺโต มีความว่า เมื่อตั้งเตียงเป็นต้นของสงฆ์ไว้กลางแจ้งแล้วหลีกไป ชื่อว่าย่อมต้องในภายนอก. ย่อมต้องอาบัติที่เหลือทั้งภายในและภายนอก.
               ข้อว่า อนฺโต สีมาย มีความว่า ภิกษุอาคันตุกะ เมื่อไม่แสดงอาคันตุกวัตร กางร่มสวมรองเท้า เข้าสู่วิหาร แต่พอเข้าอุปจารสีมา ก็ต้อง.
               ข้อว่า พหิ สีมาย มีความว่า ภิกษุเตรียมจะไป เมื่อไม่บำเพ็ญคมิกวัตร มีเก็บงำภัณฑะไม้เป็นต้น หลีกไป แต่พอก้าวล่วงอุปจารสีมาก็ต้อง. ย่อมต้องอาบัติที่เหลือทั้งภายในสีมาและภายนอกสีมา.

               [ว่าด้วยอาบัติที่ต้องในท่ามกลางสงฆ์เป็นต้น]               
               เมื่อภิกษุผู้แก่กว่า มีอยู่ ภิกษุไม่ได้รับเผดียงกล่าวธรรมชื่อว่าต้องในท่ามกลางสงฆ์. ในท่ามกลางคณะก็ดี ในสำนักบุคคลก็ดี ก็นัยนี้แล.
               ออก (จากอาบัติ) ด้วยติณวัตถารกสมถะ ชื่อว่าออกด้วยกาย.
               เมื่อภิกษุไม่ยังกายให้ไหว แสดงด้วยวาจา อาบัติชื่อว่าออกด้วยวาจา.
               เมื่อทำกิริยาทางกายประกอบกับวาจาแสดง อาบัติชื่อว่าออกด้วยกายด้วยวาจา.
               อาบัติที่เป็นทั้งเทสนาคามินีทั้งวุฏฐานคามินี ย่อมออกในท่ามกลางสงฆ์. แต่ว่า เพราะอาบัติเป็นเทสนาคามินีเท่านั้น ย่อมออกในท่ามกลางคณะและบุคคล.

               [ว่าด้วยองค์เป็นเหตุลงโทษและเพิ่มโทษ]               
               สองบทว่า อาคาฬฺหาย เจเตยฺย มีความว่า สงฆ์พึงตั้งใจเพื่อความแน่นเข้า คือเพื่อความมั่นคง. อธิบายว่า สงฆ์เมื่อปรารถนา พึงลงอุกเขปนียกรรม แก่ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมเป็นต้นแล้ว ไม่ยังวัตรให้เต็ม.
               ในคำว่า อลชฺชี จ โหติ พาโล จ อปกตตฺโต จ นี้ มีความว่า ไม่พึงลงโทษด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ว่า ผู้นี้เป็นผู้โง่ ไม่รู้จักธรรมและอธรรม หรือว่า ผู้นี้มิใช่ปกตัตต์ ไม่รู้จักอาบัติและมิใช่อาบัติ. พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติ ซึ่งมีความเป็นผู้โง่เป็นมูลและมีความเป็นไม่ใช่ผู้ปกตัตต์เป็นมูล.
               ผู้ต้องอาบัติ ๒ กอง ชื่อว่าผู้เสียศีลในอธิศีล.
               ผู้ต้องอาบัติ ๕ กอง ชื่อว่าผู้เสียอาจาระ.
               ผู้ประกอบด้วยอันตคาหิกทิฏฐิ ชื่อว่าผู้เสียทิฏฐิ.
               พึงลงโทษแก่ภิกษุเหล่านั้น ผู้ไม่เห็น ไม่ทำคืนอาบัติ และผู้ไม่ยอมสละทิฏฐิเท่านั้น.
               อนาจารต่างโดยชนิดมีเล่นการพนันเป็นต้น ด้วยเครื่องเล่นมีสกา๑- เป็นอาทิ ชื่อว่าเล่นทางกาย.
               อนาจารต่างโดยชนิดมีทำเปิงมางปากเป็นต้น ชื่อว่าเล่นทางวาจา.
               อนาจารทางทวารทั้ง ๒ ต่างโดยชนิดมีฟ้อนและขับเป็นต้น ชื่อว่าเล่นทางวาจา.
               อนาจารทวารทั้ง ๒ ต่างโดยชนิดมีฟ้อนและขับเป็นต้น ชื่อว่าเล่นทางกายและทางวาจา.
               ความก้าวล่วงสิกขาบทที่ทรงบัญญัติในกายทวาร ชื่อว่าอนาจารทางกาย
               ความก้าวล่วงสิกขาบทที่ทรงบัญญัติในวจีทวาร ชื่อว่าอนาจารทางวาจา
               ความก้าวล่วงสิกขาบทที่ทรงบัญญัติในทวารทั้ง ๒ ชื่อว่าอนาจารทางกายทวารและทางวจีทวาร.
               สองบทว่า กายิเกน อุปฆาติเกน ได้แก่ ด้วยการไม่ศึกษาสิกขาบทที่ทรงบัญญัติในกายทวาร.
               จริงอยู่ ภิกษุใดไม่ศึกษาสิกขาบทนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าผลาญสิกขาบทนั้น. เพราะเหตุนั้น การไม่ศึกษานั้น ของภิกษุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า การผลาญเป็นไปทางกาย. แม้ใน ๒ สิกขาบทที่เหลือ ก็นัยนี้แล.
               ข้อว่า กายิเกน มิจฺฉาชีเวน ได้แก่ ด้วยการรับใช้ของคฤหัสถ์มีเดินส่งข่าวเป็นต้นก็ดี ด้วยเวชกรรมมีผ่าฝีเป็นต้นก็ดี.
               บทว่า วาจสิเกน ได้แก่ ด้วยรับหรือบอกข่าว (ของคฤหัสถ์) เป็นต้น.
               บทที่ ๓ ท่านกล่าวด้วยอำนาจประกอบบททั้ง ๒ เข้าด้วยกัน.
               หลายบทว่า อลํ ภิกฺขุ มา ภณฺฑนํ มีความว่า อย่าเลยภิกษุ เธออย่าทำความบาดหมาง อย่าทำความทะเลาะ อย่าทำความแก่งแย่ง อย่าก่อวิวาท.
               บทว่า น โวหริตพฺโพ ได้แก่ ไม่พึงว่ากล่าวอะไรเลย.
               จริงอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ย่อมไม่สำคัญที่จะพึงฟังถ้อยคำของภิกษุเช่นนั้น แม้ว่ากล่าวอยู่.
               ข้อว่า น กิสฺมิญฺจิ ปจฺเจกฏฺฐาเน มีความว่า (ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ คือเป็นอลัชชีเป็นต้น) อันสงฆ์ไม่พึงตั้งไว้ในตำแหน่งหัวหน้าไรๆ คือแม้ตำแหน่งเดียว มีถือพัด (อนุโมทนา) เป็นต้น.
               สองบทว่า โอกาสํ การาเปนฺตสฺส มีความว่า (ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ คือเป็นอลัชชีเป็นต้น) ซึ่งขอโอกาสอยู่อย่างนี้ว่า ขอท่านจงให้โอกาส ข้าพเจ้าอยากพูดกะท่าน.
               ข้อว่า นาลํ โอกาสกมฺมํ กาตุํ มีความว่า โอกาสอันภิกษุไม่พึงทำว่า ท่านจักทำอะไร? ดังนี้.
               ข้อว่า สวจนียํ นาทาตพฺพํ มีความว่า คำให้การ ไม่ควรเชื่อถือ คือแม้ถ้อยคำ ก็ไม่ควรฟัง ไม่ควรไปในที่ซึ่งเธอประสงค์จะเกาะตัวไป.
               หลายบทว่า ตีหงฺเคหิ สมนฺนาคตสฺส ภิกฺขุโน วินโย มีความว่า ภิกษุนั้นย่อมรู้วินัยใด วินัยนั้นย่อมเป็นวินัยของเธอ วินัยนั้น อันสงฆ์ไม่พึงถาม.
               สองบทว่า อนุโยโค น ทาตพฺโพ มีความว่า สงฆ์ไม่พึงให้โอกาสเพื่อถาม แก่ภิกษุพาลนั้น ผู้ถามอยู่ว่า นี้ควรหรือ? เธออันสงฆ์พึงตอบว่า จงถามภิกษุอื่น. แม้ภิกษุใด ย่อมถามภิกษุนั้น ภิกษุนั้น อันภิกษุผู้บัณฑิตพึงกล่าวว่า ท่านจงถามภิกษุอื่น เพราะเหตุนั้น ภิกษุพาลนั้น อันภิกษุอื่นไม่พึงถามเลยทีเดียว คือคำถามของภิกษุพาลนั้น อันใครๆ ไม่พึงฟัง.
               สองบทว่า วินโย น สากจฺฉิตพฺโพ มีความว่า ปัญหาวินัยอันใครๆ ไม่พึงสนทนา คือเรื่องที่ควรหรือไม่ควร ก็ไม่พึงสนทนา (กับภิกษุพาลนั้น).
____________________________
๑- ปาสกาทีหิ, ปาสก = Throw = ทอดลูกบาท - เล่นสกา


               [ว่าด้วยชาวอบาย ๓ พวกเป็นต้น]               
               สองบทว่า อิทมปฺปหาย ได้แก่ ไม่สละลัทธิมีความเป็นผู้ปฏิญญาว่า ตนเป็นพรหมจารีบุคคลเป็นต้นนั่น.
               สองบทว่า สุทฺธํ พฺรหฺมจารึ ได้แก่ ภิกษุผู้ขีณาสพ.
               สองบทว่า ปาตพฺยตํ อาปชฺชติ ได้แก่ ถึงความเป็นผู้ตกไปคือการเสพ.
               แต่เพราะพระบาลีว่า อิทมปฺปหาย บุคคลนั้น พึงละความปฏิญญาว่าตนเป็นพรหมจารีบุคคลนั้นเสียแล้ว ขอขมาพระขีณาสพเสียว่า ข้าพเจ้ากล่าวเท็จ ขอท่านจงอดโทษแก่ข้าพเจ้า แล้วสละลัทธิที่ว่า โทษในกามทั้งหลายไม่มีเสีย ทำการชำระคติให้สะอาด.
               อกุศลทั้งหลายด้วย รากเหง้าทั้งหลาย ชื่อว่าอกุศลมูล. อีกอย่างหนึ่ง รากเหง้าของอกุศลทั้งหลาย ชื่อว่าอกุศลมูล. แม้ในกุศลมูล ก็นัยนี้แล.
               ความประพฤติชั่วหรือความประพฤติผิดรูป ชื่อว่าทุจริต.
               ความประพฤติเรียบร้อยหรือความประพฤติที่ดี ชื่อว่าสุจริต.
               ทุจริต ที่ทำด้วยกายอันเป็นทางสำหรับทำ ชื่อว่ากายทุจริต.
               ในบททั้งปวง ก็นัยนี้แล. คำที่เหลือ นับว่าชัดเจนแล้ว เพราะมีนัยดังกล่าวแล้วในที่นั้นๆ ฉะนี้แล.

               พรรณนาหมวด ๓ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปริวาร เอกุตตริกะ หมวด ๓ จบ.
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 943อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 954อ่านอรรถกถา 8 / 965อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=8&A=7628&Z=7850
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=10129
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=10129
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :