ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 1อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 91อ่านอรรถกถา 9 / 141อ่านอรรถกถา 9 / 365
อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
สามัญญผลสูตร

               อรรถกถาสามัญญผลสูตร               
               ราชามจฺจกถาวณฺณนา               
               พระบาลีสามัญญผลสูตรว่า เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา ราชคเห ดังนี้เป็นต้น.
               ในพระบาลีนั้น มีการพรรณนาตามลำดับดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ราชคเห ความว่า ในพระนครซึ่งมีชื่ออย่างนั้น. จริงอยู่ พระนครนั้น เรียกกันว่า ราชคฤห์ เพราะพระเจ้ามันธาตุราช และท่านมหาโควินท์เป็นต้น ครอบครอง.
               ก็ในคำว่า ราชคฤห์นี้มีนักปราชญ์อื่นๆ พรรณนาไว้มากมาย จะมีประโยชน์อะไรด้วยคำเหล่านั้น เพราะคำนั้นเป็นเพียงชื่อของเมืองเท่านั้น.
               พระนครราชคฤห์นี้ เป็นเมืองทั้งในพุทธกาล ทั้งในจักรพรรดิกาล ส่วนในกาลที่เหลือ เป็นเมืองร้าง พวกยักษ์ครอบครอง เป็นป่าที่อยู่อาศัยของยักษ์เหล่านั้น.
               คำว่า วิหรติ นี้ ตามธรรมดาเป็นคำแสดงถึงความพร้อมเพรียงด้วยวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาอิริยาบทวิหารทิพพวิหารพรหมวิหารและอริยวิหาร.
               แต่ในที่นี้ แสดงถึงการยืน เดิน นั่ง นอน ซึ่งเป็นอิริยาบถที่ผลัดเปลี่ยนกันเท่านั้น ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจะประทับยืนก็ตาม เสด็จดำเนินไปก็ตาม ประทับนั่งก็ตาม บรรทมก็ตาม พึงทราบว่า วิหรติ ประทับอยู่ ทั้งนั้น. ด้วยว่า พระองค์ทรงบำบัดความลำบากแห่งอิริยาบถหนึ่ง ด้วยอิริยาบถหนึ่ง ทรงบริหารอัตตภาพมิให้ทรงลำบากพระวรกาย ฉะนั้น จึงเรียกว่า วิหรติ แปลว่า ประทับตามสบาย.
               คำว่า ชีวกสฺส โกมารภจฺจสฺส อพฺพวเน นี้ เป็นคำแสดงแหล่งที่พำนักใกล้กรุงราชคฤห์นั้น พอที่จะเข้าไปอาศัยบิณฑบาตได้ เพราะฉะนั้น ในข้อนี้พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า คำว่า ราชคเห วิหรติ ชีวกสฺส โกมารภจฺจสฺส อมฺพวเน ความว่า ประทับอยู่ ณ สวนอัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจ กรุงราชคฤห์ เพราะคำนี้เป็นสัตตมีวิภัตติ ลงในอรรถว่า ใกล้.
               ในพระบาลีนั้น ที่ชื่อว่า ชีวก ด้วยอรรถว่ายังเป็นอยู่. ที่ชื่อว่า โกมารภัจ ด้วยอรรถว่าพระราชกุมารทรงชุบเลี้ยง.
               เหมือนอย่างที่เล่ากันว่า พระอภัยราชกุมารเสด็จไปพบทารกเข้า รับสั่งถามว่า "อะไรนั่นพนาย ที่ฝูงกาล้อมอยู่" ทูลว่า "ทารก พระเจ้าข้า" "ยังเป็นอยู่หรือ" "ยังเป็นอยู่ พระเจ้าข้า" "ถ้าอย่างนั้น จงนำทารกนั้นเข้าไปภายในเมืองแล้วมอบให้แม่นมทั้งหลายเลี้ยงดูไว้."
               คนทั้งหลายจึงได้ตั้งชื่อทารกนั้นว่า ชีวก เพราะยังเป็นอยู่ และตั้งชื่อว่า โกมารภัจ เพราะพระราชกุมารทรงชุบเลี้ยง.๑-
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๑๒๘

               นี่เป็นความย่อในเรื่องนี้ ส่วนความพิสดารเรื่องหมอชีวกมาแล้วในขันธกะนั่นแล แม้กถาที่วินิจฉัยเรื่องหมอชีวกนี้ ก็ได้กล่าวไว้แล้วในอรรถกถาวินัย ชื่อสมันตปาสาทิกา.
               ก็หมอชีวกนี้ สมัยหนึ่ง ทำให้พระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งหมักหมมด้วยโรค ให้หายเป็นปรกติแล้ว ถวายผ้าคู่หนึ่ง ซึ่งทอจากแคว้นสีพี พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนา เวลาอนุโมทนาการถวายผ้าจบลง หมอชีวกตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล จึงคิดว่า
               เราควรจะไปเฝ้าดูแลพระพุทธเจ้า วันละ ๒-๓ ครั้ง. ก็เขาคิชฌกูฏนี้และพระวิหารเวฬุวันอยู่ไกลเหลือเกิน. แต่สวนอัมพวันของเราใกล้กว่า อย่ากระนั้นเลย เราจะสร้างวิหารถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในสวนอัมพวันของเรานี้.
               หมอชีวกนั้นจึงสร้างที่อยู่กลางคืน ที่อยู่กลางวัน ที่พัก กุฏี และมณฑปเป็นต้น แล้วให้สร้างพระคันธกุฎีที่สมควรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในสวนอัมพวันนั้น ให้สร้างกำแพงมีสีเหมือนผ้าแดง สูง ๑๘ ศอกล้อมสวนอัมพวัน เลี้ยงดูภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วยจีวรและภัตตาหาร ได้หลั่งน้ำทักษิโณทก มอบถวายสวนอัมพรเป็นพระวิหารแล้ว.
               คำว่า ชีวกสฺส โกมารภจฺจสฺส อมฺพวเน นั้น ท่านกล่าวหมายเอาพระวิหาร ดังกล่าวมานั้น.
               บทว่า ราชา ในบททั้งหลาย มีบทว่า ราชา เป็นต้น ความว่า ชื่อว่า ราชา ด้วยอรรถว่า ทำมหาชนให้ยินดีหรือให้เจริญด้วยอิสริยสมบัติของตน หรือด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ.
               ชื่อว่า มาคโธ ด้วยอรรถว่า เป็นใหญ่เหนือชาวมคธ.
               ชื่อว่า อชาตสตฺตุ ด้วยอรรถว่า เนมิตตกาจารย์ทั้งหลายชี้แจงไว้ว่า ยังไม่ทันเกิดก็จักเป็นศัตรูแก่พระราชา.
               ได้ยินว่า เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูยังอยู่ในพระครรภ์ พระเทวีเกิดการแพ้ท้องถึงขนาดอย่างนี้ว่า โอ หนอ เราพึงดื่มโลหิตพระพาหาเบื้องขวาของพระราชา. พระนางมีพระดำริว่า การแพ้ท้องเกิดขึ้นในฐานะอันหนัก ไม่อาจบอกให้ใครทราบได้ เมื่อไม่อาจบอกได้ จึงซูบผอมผิวพรรณซีดลง. พระราชาตรัสถามพระนางว่า "แน่ะนางผู้เจริญ ร่างกายของเธอมีผิวพรรณไม่ปรกติ มีเหตุอะไรหรือ." ทูลว่า "โปรดอย่าถามเลย ทูลกระหม่อม." รับสั่งว่า "แน่ะพระนาง เมื่อไม่อาจบอกความประสงค์ของเธอแก่ฉัน เธอจักบอกแก่ใคร" ดังนี้ ทรงรบเร้าด้วยประการนั้นๆ ให้พระนางบอกจนได้ พอได้ทรงทราบเท่านั้นก็รับสั่งว่า "พระนางนี่โง่ ในเรื่องนี้เธอมีสัญญาหนักหนา มิใช่หรือ" ดังนั้น จึงรับสั่งให้เรียกหมอมา ให้เอามีดทองกรีดพระพาหา แล้วรองพระโลหิตด้วยจอกทองคำ เจือด้วยน้ำแล้วให้พระนางดื่ม.
               เนมิตตกาจารย์ทั้งหลายได้ทราบข่าวดังนั้น พากันพยากรณ์ว่า พระโอรสในครรภ์องค์นี้จักเป็นศัตรูแก่พระราชา พระราชาจักถูกพระโอรสองค์นี้ปลงพระชนม์.
               พระเทวีทรงสดับข่าวดังนั้น มีพระดำริว่า "พระโอรสที่ออกจากท้องของเราจักฆ่าพระราชา" จึงมีพระประสงค์จะทำลายครรภ์ให้ตกไป เสด็จไปพระราชอุทยานให้บีบพระครรภ์. แต่พระครรภ์ก็หาตกไม่. พระนางเสด็จไปให้ทำอย่างนั้นบ่อยๆ. พระราชาทรงสืบดูว่า พระเทวีนี้เสด็จไปพระราชอุทยานเนืองๆ เพื่ออะไร ทรงทราบเหตุนั้นแล้วจึงทรงห้ามว่า พระนาง เด็กในท้องของพระนาง ยังไม่รู้ว่าเป็นชายหรือหญิงเลย พระนางก็กระทำอย่างนี้กะทารกที่เกิดแก่ตนเสียแล้ว โทษกองใหญ่ของเราดังกล่าวนี้จักกระจายไปทั่วชมพูทวีป ขอพระนางจงอย่ากระทำอย่างนี้อีกเลย แล้วได้ประทานอารักขา. พระนางเธอได้หมายใจไว้ว่าเวลาคลอดจักฆ่าเสีย. แม้ในเวลาที่คลอดนั้น พวกเจ้าหน้าที่อารักขาก็ได้นำพระกุมารออกไปเสีย.
               สมัยต่อมา พระกุมารเจริญวัยแล้ว จึงนำมาแสดงแก่พระเทวี. พอทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเท่านั้น พระนางก็เกิดความรักพระโอรส ฉะนั้นจึงไม่อาจฆ่าพระกุมารนั้นได้. ลำดับต่อมา แม้พระราชาก็ได้พระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่พระโอรส.
               สมัยต่อมา พระเทวทัตอยู่ในที่ลับ คิดว่า พระสารีบุตรก็มีบริษัทมาก พระโมคคัลลานะก็มีบริษัทมาก พระมหากัสสปะก็มีบริษัทมาก ท่านเหล่านี้มีธุระคนละอย่างๆ ถึงเพียงนี้ แม้เราก็จะแสดงธุระสักอย่างหนึ่ง.
               พระเทวทัตนั้น เมื่อไม่มีลาภก็ไม่อาจทำบริษัทให้เกิดขึ้นได้ จึงคิดว่า เอาละ เราจักทำลาภให้เกิดขึ้น จึงใช้อิทธิปาฏิหาริย์ทำให้อชาตศัตรูราชกุมารเลื่อมใสตามนัยที่มาในขันธกะ พอรู้ว่า พระกุมารอชาตศัตรูเลื่อมใสคุ้นเคยยิ่ง ถึงขนาดมาสู่ที่บำรุงของตนทั้งเช้าเย็นพร้อมด้วยบริวารเต็มรถ ๕๐๐ คัน วันหนึ่งจึงเข้าไปหากล่าวว่า ดูก่อนกุมาร เมื่อก่อนพวกมนุษย์มีอายุยืน แต่เดี๋ยวนี้มีอายุน้อย. ดูก่อนกุมาร ถ้าอย่างนั้น พระราชกุมารพระองค์จงปลงพระชนม์พระบิดาเสียแล้วเป็นพระราชา. อาตมภาพจักปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจักเป็นพระพุทธเจ้า แล้วส่งพระกุมารไปปลงพระชนม์พระบิดา.
               พระกุมารอชาตศัตรูนั้นหลงเชื่อว่า พระผู้เป็นเจ้าเทวทัตมีอานุภาพมาก สิ่งที่พระเทวทัตไม่รู้แจ้ง ไม่มี จึงเหน็บกฤชที่พระอุรุมุ่งจะฆ่ากลางวันแสกๆ มีความกลัวหวาดหวั่นสะดุ้งตื่นเต้น เข้าไปภายในพระราชฐาน ทำอาการแปลกๆ มีประการดังกล่าวแล้ว.
               ครั้งนั้น พวกอำมาตย์จับอชาตศัตรูราชกุมารได้ ส่งออกมาปรึกษาโทษว่า พระกุมารจะต้องถูกประหาร พระเทวทัตจะต้องถูกประหาร และภิกษุพวกพระเทวทัตทั้งหมดจะต้องถูกประหาร แล้วกราบทูลพระราชาว่า พวกข้าพระองค์จักกระทำตามพระราชอาญา. พระราชาทรงลดตำแหน่งของพวกอำมาตย์ที่ประสงค์ลงโทษประหาร ทรงตั้งพวกอำมาตย์ที่ไม่ต้องการให้ลงโทษประหารไว้ในตำแหน่งสูงๆ แล้วตรัสถามพระกุมารว่า ลูกต้องการจะฆ่าพ่อเพื่ออะไร. พระกุมารกราบทูลว่า หม่อมฉันต้องการราชสมบัติ พระเจ้าข้า. พระราชาได้พระราชทานราชสมบัติแก่พระโอรสนั้น.
               อชาตศัตรูราชกุมารบอกแก่พระเทวทัตว่า ความปรารถนาของเราสำเร็จแล้ว. ลำดับนั้น พระเทวทัตกล่าวกะพระกุมารว่า พระองค์เหมือนคนเอาสุนัขจิ้งจอกไว้ภายในกลองหุ้มหนัง แล้วสำคัญว่าทำกิจสำเร็จเรียบร้อยแล้ว. อีกสองสามวัน พระบิดาของพระองค์ทรงคิดว่า พระองค์ทำการดูหมิ่น แล้วก็จักเป็นพระราชาเสียเอง.
               พระกุมารถามว่า ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรเล่า. พระเทวทัตตอบว่า จงฆ่าชนิดถอนรากเลย. พระกุมารตรัสว่า พระบิดาของข้าพเจ้าไม่ควรฆ่าด้วยศาตรามิใช่หรือ. พระเทวทัตจึงกล่าวว่า จงฆ่าพระองค์ด้วยการตัดพระกระยาหาร. พระกุมารจึงสั่งให้เอาพระบิดาใส่เข้าในเรือนอบ. ที่ชื่อว่าเรือนอบ คือเรือนมีควันที่ทำไว้เพื่อลงโทษแก่นักโทษ. พระกุมารสั่งไว้ว่า นอกจากพระมารดาของเราแล้ว อย่าให้คนอื่นเยี่ยม.
               พระเทวีทรงใส่ภัตตาหารในขันทองคำแล้วห่อชายพกเข้าเยี่ยมพระราชา. พระราชาเสวยภัตตาหารนั้นจึงประทังพระชนม์อยู่ได้. พระกุมารตรัสถามว่า พระบิดาของเราดำรงพระชนม์อยู่ได้อย่างไร. ครั้นทรงทราบความเป็นไปนั้นแล้ว ตรัสสั่งห้ามมิให้พระมารดานำสิ่งของใส่ชายพกเข้าเยี่ยม.
               ตั้งแต่นั้น พระเทวีก็ใส่ภัตตาหารไว้ในพระเมาลีเข้าเยี่ยม. พระกุมารทรงทราบแม้ดังนั้น รับสั่งห้ามมิให้พระมารดานุ่งพระเมาลีเข้าเยี่ยม.
               ลำดับนั้น พระเทวีทรงใส่ภัตตาหารไว้ในฉลองพระบาททองปิดดีแล้ว ทรงฉลองพระบาททองเข้าเยี่ยม. พระราชาดำรงพระชนม์อยู่ด้วยภัตตาหารนั้น. พระกุมารตรัสถามอีกว่า พระบิดาดำรงพระชนม์อยู่ได้อย่างไร ครั้นทรงทราบความนั้น ตรัสสั่งห้ามมิให้แม้แต่ทรงฉลองพระบาทเข้าเยี่ยม.
               ตั้งแต่นั้น พระเทวีก็ทรงสนานพระวรกายด้วยน้ำหอม แล้วทาพระวรกายด้วยอาหารมีรสอร่อย ๔ อย่าง แล้วทรงห่มพระภูษาเข้าเยี่ยม. พระราชาทรงเลียพระวรกายของพระเทวี ประทังพระชนม์อยู่ได้. พระกุมารตรัสถามอีก ครั้นทรงทราบดังนั้นแล้วจึงตรัสสั่งว่า ตั้งแต่นี้ไป ห้ามพระมารดาเข้าเยี่ยม.
               ต่อแต่นั้น พระเทวีประทับยืนแทบประตูทรงกันแสงคร่ำครวญว่า ข้าแต่พระสวามีพิมพิสาร เวลาที่เขาผู้นี้เป็นเด็ก พระองค์ก็ไม่ให้โอกาสฆ่าเขา ทรงเลี้ยงศัตรูของพระองค์ไว้ด้วยพระองค์เองแท้ๆ บัดนี้การเห็นพระองค์ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ต่อแต่นี้ไปหม่อมฉันจะไม่ได้เห็นพระองค์อีก ถ้าโทษของหม่อมฉันมีอยู่ ขอได้โปรดพระราชทานอภัยโทษด้วยเถิด พระเจ้าข้า แล้วก็เสด็จกลับ. ตั้งแต่นั้นมาพระราชาก็ไม่มีพระกระยาหาร ดำรงพระชนม์อยู่ด้วยความสุขประกอบด้วยมรรคผล (ทรงเป็นพระโสดาบัน) ด้วยวิธีเดินจงกรม พระวรกายของพระองค์ก็เปล่งปลั่งยิ่งขึ้น.
               พระกุมารตรัสถามว่า แน่ะพนาย พระบิดาของเรายังดำรงพระชนม์อยู่ได้อย่างไร ครั้นทรงทราบว่า ยังดำรงพระชนม์อยู่ได้ด้วยวิธีเดินจงกรม พระเจ้าข้า ซ้ำพระวรกายยังเปล่งปลั่งยิ่งขึ้นอีก จึงทรงพระดำริว่า เราจักตัดมิให้พระบิดาเดินจงกรมได้ในบัดนี้ ทรงบังคับช่างกัลบกทั้งหลายว่า พวกท่านจงเอามีดโกนผ่าพระบาททั้ง ๒ ของพระบิดาของเรา แล้วเอาน้ำมันผสมเกลือทา แล้วจงย่างด้วยถ่านไม้ตะเคียนซึ่งติดไฟคุไม่มีเปลวเลย แล้วส่งไป.
               พระราชาทอดพระเนตรเห็นพวกช่างกัลบก ทรงดำริว่า ลูกของเราคงจักมีใครเตือนให้รู้สึกตัวแน่แล้ว ช่างกัลบกเหล่านี้คงจะมาแต่งหนวดของเรา.
               ช่างกัลบกเหล่านั้นไปถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ครั้นถูกตรัสถามว่า มาทำไม จึงกราบทูลให้ทรงทราบ. พระราชาพิมพิสารจึงตรัสว่า พวกเจ้าจงทำตามใจพระราชาของเจ้าเถิด. พวกช่างกัลบกจึงกราบทูลว่า ประทับนั่งเถิด พระเจ้าข้า ถวายบังคมพระเจ้าพิมพิสารแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พวกข้าพระองค์จำต้องทำตามพระราชโองการ ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธพวกข้าพระองค์เลย การกระทำเช่นนี้ไม่สมควรแก่พระราชาผู้ทรงธรรมเช่นพระองค์ แล้วจับข้อพระบาทด้วยมือซ้าย ใช้มือขวาถือมีดโกนผ่าพื้นพระบาททั้ง ๒ ข้าง เอาน้ำมันผสมเกลือทาแล้วย่างด้วยถ่านเพลิงไม้ตะเคียนที่กำลังคุไม่มีเปลวเลย.
               เล่ากันว่า ในกาลก่อน พระราชาพิมพิสารได้ทรงฉลองพระบาทเข้าไปในลานพระเจดีย์ และเอาพระบาทที่ไม่ได้ชำระเหยียบเสื่อกกที่เขาปูไว้สำหรับนั่ง นี้เป็นผลของบาปนั้น.
               พระราชาพิมพิสารทรงเกิดทุกขเวทนาอย่างรุนแรง ทรงรำลึกอยู่ว่า อโห พุทฺโธ อโห ธมฺโม อโห สงฺโฆ เท่านั้น ทรงเหี่ยวแห้งไปเหมือนพวงดอกไม้ที่เขาวางไว้ในลานพระเจดีย์ บังเกิดเป็นยักษ์ชื่อชนวสภะ เป็นผู้รับใช้ของท้าวเวสวรรณในเทวโลกชั้นจาตุมหาราช.
               และในวันนั้นนั่นเอง พระโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูก็ประสูติ. หนังสือ ๒ ฉบับ คือข่าวพระโอรสประสูติฉบับหนึ่ง ข่าวพระบิดาสวรรคตฉบับหนึ่ง มาถึงในขณะเดียวกันพอดี.
               พวกอำมาตย์ปรึกษากันว่า พวกเราจักทูลข่าวพระโอรสประสูติก่อน จึงเอาหนังสือข่าวประสูตินั้นทูนถวายในพระหัตถ์ของพระเจ้าอชาตศัตรู. ความรักลูกเกิดขึ้นแก่พระองค์ในขณะนั้นทันที ท่วมไปทั่วพระวรกายแผ่ไปจดเยื่อในกระดูก. ในขณะนั้น พระองค์ได้รู้ซึ้งถึงคุณของพระบิดาว่า แม้เมื่อเราเกิด พระบิดาของเราก็คงเกิดความรักอย่างนี้เหมือนกัน. จึงรีบมีรับสั่งว่า แน่ะพนาย จงไปปล่อยพระบิดาของเรา. พวกอำมาตย์ทูลว่า พระองค์สั่งให้ปล่อยอะไร พระเจ้าข้า แล้วถวายหนังสือแจ้งข่าวอีกฉบับหนึ่งที่พระหัตถ์.
               พอทรงทราบความเป็นไปดังนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูทรงกันแสง เสด็จไปเฝ้าพระมารดา ทูลว่า ข้าแต่เสด็จแม่ เมื่อหม่อมฉันเกิด พระบิดาของหม่อมฉันเกิดความรักหม่อมฉันหรือหนอ.
               พระนางเวเทหิมีรับสั่งว่า เจ้าลูกโง่ เจ้าพูดอะไร เวลาที่ลูกยังเล็กอยู่ เกิดเป็นฝีที่นิ้วมือ ครั้นนั้น พวกแม่นมทั้งหลายไม่สามารถทำให้ลูกซึ่งกำลังร้องไห้ หยุดร้องได้ จึงพาลูกไปเฝ้าเสด็จพ่อของลูกซึ่งประทับนั่งอยู่ในโรงศาล เสด็จพ่อของลูกได้อมนิ้วมือของลูกจนฝีแตกในพระโอษฐ์นั้นเอง ครั้งนั้น เสด็จพ่อของลูกมิได้เสด็จลุกจากที่ประทับ ทรงกลืนพระบุพโพปนพระโลหิตนั้นด้วยความรักลูก เสด็จพ่อของลูกมีความรักลูกถึงปานนี้.
               พระเจ้าอชาตศัตรูทรงกันแสงคร่ำครวญ ได้ถวายเพลิงพระศพพระบิดา.
               ฝ่ายพระเทวทัตเข้าเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรูทูลว่า มหาบพิตร พระองค์จงสั่งคนที่จักปลงชีวิตพระสมณโคดม แล้วส่งคนทั้งหลายที่พระเจ้าอชาตศัตรูพระราชทาน ตนเองขึ้นเขาคิชฌกูฏ กลิ้งศิลาก็แล้ว ให้ปล่อยช้างนาฬาคิรีก็แล้ว ด้วยอุบายไม่ว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่อาจปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ ก็เสื่อมลาภสักการะ จึงขอวัตถุ ๕ ประการ เมื่อไม่ได้วัตถุ ๕ ประการนั้นก็ประกาศว่า ถ้าอย่างนั้น จักให้มหาชนเข้าใจเรื่องให้ตลอด จึงทำสังฆเภท. เมื่อพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะพาบริษัทกลับแล้ว จึงรากเลือดออกร้อนๆ นอนอยู่บนเตียงคนไข้ ๙ เดือน เดือดร้อนใจ ถามว่า เดี๋ยวนี้พระศาสดาประทับอยู่ที่ไหน ครั้นได้รับตอบว่า ในพระเชตวัน จึงกล่าวว่า พวกท่านจงเอาเตียงหามเราไปเฝ้าพระศาสดา เมื่อเขาหามมา เพราะมิได้กระทำกรรมที่ควรจะได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงถูกแผ่นดินสูบที่ใกล้สระโบกขรณี ในพระเชตวันนั่นเอง ลงไปอยู่ในมหานรก.
               นี้เป็นความย่อในเรื่องนี้.
               ส่วนนัยแห่งเรื่องอย่างพิสดาร มาในขันธวินัยแล้ว.๒- ก็เพราะเรื่องนี้มาในขันธวินัยแล้ว จึงมิได้กล่าวทั้งหมดด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๒- วิ. จุลฺ. เล่ม ๗/ข้อ ๓๖๘-๓๘๘

               พระกุมารนี้พอเกิดเท่านั้น ก็จักเป็นศัตรูแก่พระราชา พวกเนมิตตกาจารย์ทำนายไว้ดังนี้ ฉะนั้น จึงชื่อว่า อชาตศัตรู ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า เวเทหีปุตฺโต ความว่า พระกุมารนี้เป็นพระโอรสของพระธิดาพระเจ้าโกศล มิใช่ของพระเจ้าวิเทหราช.
               ก็คำว่า เวเทหี นี้เป็นชื่อของบัณฑิต. เหมือนอย่างที่กล่าวว่า คหปตานีเป็นบัณฑิต๓- พระผู้เป็นเจ้าอานนท์เป็นบัณฑิตมุนี.
____________________________
๓- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๖๖

               ในคำว่า เวเทหี นั้น มีอธิบายเฉพาะคำดังต่อไปนี้
               ชื่อว่า เวทะ ด้วยอรรถว่า เป็นเครื่องรู้ คำว่า เวทะ นี้เป็นชื่อของความรู้.
               ชื่อว่า เวเทหี ด้วยอรรถว่า ดำเนินการ สืบต่อ พยายามด้วยความรู้.
               โอรสของพระนางเวเทหิ ชื่อว่า เวเทหิบุตร.
               บทว่า ตทหุ เท่ากับบท ตสฺมึ อหุ ความว่า ในวันนั้น.
               ชื่อว่า อุโบสถ ด้วยอรรถว่า วันเป็นที่เข้าไปอยู่ (จำศีล). อธิบายว่า บทว่า อุปวสนฺติ จำศีล คือเป็นผู้เข้าถึงด้วยศีลหรือด้วยอาการที่ไม่ขวนขวาย ชื่อว่าเป็นผู้อยู่จำศีล.
               ก็ในคำว่า อุโบสถ นี้ มีการขยายความดังต่อไปนี้
               การสวดปาติโมกข์ ชื่อว่า อุโบสถ เช่นในบาลีมีอาทิว่า อายามาวุโส กปฺปิน อุโปสถํ คมิสฺสาม มาเถิดท่านกัปปินะ พวกเราจักไปทำอุโบสถกัน.
               ศีล ชื่อว่า อุโบสถ เช่นในบาลีมีอาทิว่า เอวํ อฎฺฐงฺคสมนฺนาคโต โข วิสาเข อุโปสโถ อุปวุตฺโถ แน่ะนางวิสาขา ศีลประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้ เราจำแล้ว.๔-
               การจำศีล ชื่อว่า อุโบสถ เช่นในบาลีมีอาทิว่า สุทฺธสฺส เว สทา ผคฺคุ สุทฺธสฺสุโปสโถ สทา ผัคคุณฤกษ์ย่อมถึงพร้อมแก่ผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ การจำศีลย่อมถึงพร้อมแก่ผู้หมดจดทุกเมื่อ.๕-
               บัญญัติ ชื่อว่า อุโบสถ เช่นในบาลีมีอาทิว่า อุโปสโถ นาม นาคราชา นาคราช๖- ชื่อว่า บัญญัติ.
               วันที่ควรจำศีล ชื่อว่า อุโบสถ เช่นในบาลีมีอาทิว่า น ภิกฺขเว ตทหุโปสเถ สภิกฺขุกา อาวาสา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในวันที่ควรจำศีลนั้น วัดว่างภิกษุ.๗-
____________________________
๔- องฺ. อฏฺฐก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๑๓๓   ๕- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๙๘
๖- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๑๖๕   ๗- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๒๐๐

               แม้ในที่นี้ก็ประสงค์วันที่พึงจำศีลนั่นแหละ. ก็วันที่พึงจำศีลนี้นั้นมี ๓ คือ วัน ๘ ค่ำ วัน ๑๔ ค่ำ วัน ๑๕ ค่ำ เพราะฉะนั้น ที่กล่าวในบาลีว่า วัน ๑๕ ค่ำ ก็เพื่อห้ามวัน ๘ ค่ำและวัน ๑๔ ค่ำทั้ง ๒ วัน. ฉะนั้น จึงกล่าวว่า ชื่อว่า อุโบสถ ด้วยอรรถว่า วันเป็นที่เข้าไปอยู่ (จำศีล).
               บทว่า โกมุทิยา ความว่า มีดอกโกมุทบาน. ได้ยินว่า เวลานั้น ดอกโกมุทบานเต็มที่.
               ชื่อว่า โกมุทิ ด้วยอรรถว่า เป็นฤดูมีดอกโกมุท.
               บทว่า จาตุมาสินิยา ความว่า สุดเดือน ๔.
               จริงอยู่ วันอุโบสถวันนั้นเป็นวันที่สุดแห่งเดือน ๔ เหตุนั้น จึงชื่อว่าจาตุมาสี. แต่ในที่นี้ท่านเรียกว่า จาตุมาสินี.
               เพราะเหตุที่ว่าวันนั้นพอดีเต็มเดือน เต็มฤดู เต็มปี สมบูรณ์ จึงชื่อว่า ปุณฺณา.
               ศัพท์ว่า มา ท่านเรียกพระจันทร์.
               พระจันทร์เต็มในวันนั้น เหตุนั้น จึงชื่อว่า ปุณฺณมา.
               ในบททั้ง ๒ คือ ปุณฺณาย และ ปุณฺณมาย นี้ พึงทราบเนื้อความดังกล่าวมานี้.
               บทว่า ราชา อมจฺจปริวุโต ความว่า พระราชาแวดล้อมด้วยอำมาตย์ทั้งหลาย ในราตรีซึ่งสว่างไสวไปด้วยแสงจันทร์เต็มดวงที่ปราศจากเครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการ ปานประหนึ่งทิศาภาคที่ชำระล้างด้วยธารน้ำนมมีแสงเงินยวงออกเป็นช่อ และดุจช่อดอกโกมุททำด้วยผ้าเนื้อดีสีขาว ราวกะว่าพวงแก้วมุกดาและพวงดอกมะลิ มีแสงแวววาวกระจายดังวิมานเงินเปล่งรัศมี.
               บทว่า อุปริปาสาทวรคโต ความว่า ประทับอยู่ในมหาปราสาทชั้นบน. ประทับนั่งเหนือพระราชอาสน์ทองภายใต้มหาเศวตฉัตรที่ยกขึ้นไว้ซึ่งควรแก่ความยิ่งใหญ่.
               ถามว่า ประทับนั่งทำไม?
               แก้ว่า เพื่อบรรเทาความหลับ.
               พระราชาองค์นี้แหละ ตั้งแต่วันที่พยายามปลงพระชนม์พระบิดา พอหลับพระเนตรทั้ง ๒ ลงด้วยตั้งพระทัยว่าจักหลับ ก็สะดุ้งเฮือกเหมือนถูกหอกตั้งร้อยเล่มทิ่มแทง ทรงตื่นอยู่ (ไม่หลับ เพราะหวาดภัยเหลือเกิน). ครั้นพวกอำมาตย์ทูลถามว่า เป็นอะไร พระองค์ก็มิได้ตรัสอะไรๆ. เพราะฉะนั้น ความหลับจึงมิได้เป็นที่พอพระทัยของพระองค์ ดังนั้นจึงประทับนั่งเพื่อบรรเทาความหลับ.
               อนึ่ง ในวันนั้นมีนักษัตรเอิกเกริกมาก. ทั่วพระนครกวาดกันสะอาดเรียบร้อย. เอาทรายมาโรย. ประตูเรือนประดับดอกไม้ ๕ สี. ข้าวตอกและหม้อใส่น้ำเต็ม. ทุกทิศาภาคชักธงชัย ธงแผ่นผ้า. ประดับประทีปมาลาวิจิตรโชติช่วง. มหาชนเล่นนักษัตรกันสนุกสนานตามวิถีถนน เบิกบานกันทั่วหน้า.
               อาจารย์บางท่านกล่าวว่า ประทับนั่งเพราะเป็นวันเล่นนักษัตร ดังนี้ก็มี. ก็แลครั้งกล่าวอย่างนี้แล้ว เป็นอันทำสันนิษฐานว่า นักษัตรทุกครั้งเป็นของราชตระกูล แต่พระราชาองค์นี้ประทับนั่งเพื่อบรรเทาความหลับเท่านั้น.
               บทว่า อุทานํ อุทาเนสิ ความว่า ทรงเปล่งอุทาน.
               น้ำมันที่ล้นเครื่องตวงจนไม่อาจตวงได้ เขาเรียกว่าน้ำมันล้นฉันใด และน้ำที่ท่วมบ่อจนไม่อาจขังอยู่ได้ เขาเรียกว่าห้วงน้ำล้นฉันใด คำปีติที่เปี่ยมใจจนไม่อาจเก็บไว้ได้ ดำรงอยู่ภายในใจไม่ได้ ล้นออกมาภายนอกนั้น เรียกว่า อุทาน ฉันนั้น. พระราชาทรงเปล่งคำที่สำเร็จด้วยปีติเห็นดังนี้.
               บทว่า โทสินา ความว่า ปราศจากโทษ. อธิบายว่า ปราศจากเครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการเหล่านี้ คือ หมอก น้ำค้าง กลุ่มควัน ราหู.
               ราตรีนั้นมีคำชม ๕ ประการ มีเป็นที่น่ารื่นรมย์เป็นต้น ก็ราตรีนั้น ชื่อว่า รมฺมนียา เพราะอรรถว่า ทำใจของมหาชนให้รื่มรมย์.
               ชื่อว่า อภิรูปา เพราะอรรถว่า งามยิ่งนัก เพราะสว่างด้วยแสงจันทร์ซึ่งพ้นจากโทษดังกล่าว.
               ชื่อว่า ทสฺสนียา เพราะอรรถว่า ควรที่จะดู.
               ชื่อว่า ปาสาทิกา เพราะอรรถว่า ทำจิตให้ผ่องใส.
               ชื่อว่า ลกฺขญฺญา เพราะอรรถว่า ควรที่จะกำหนดวันและเดือนเป็นต้น.
               บทว่า กํ นุ ขฺวชฺช ตัดบทเป็น กํ นุ โข อชฺช.
               บทว่า สมณํ วา พฺราหฺมณํ วา ความว่า ชื่อว่าสมณะ เพราะเป็นผู้สงบบาป ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะเป็นผู้ลอยบาป.
               บทว่า ยนฺโน ปยิรุปาสโต ความว่า จิตของเราผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ผู้ฉลาดพูด เพื่อถามปัญหา พึงเลื่อมใสเพราะได้ฟังธรรมที่ไพเราะ.
               ด้วยพระดำรัสแม้ทั้งหมดนี้ พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงกระทำแสงสว่างให้เป็นนิมิต ด้วยประการฉะนี้.
               ทรงกระทำแก่ใคร? แก่หมอชีวก.
               เพื่ออะไร? เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ก็พระเจ้าอชาตศัตรูไม่อาจเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเองหรือ? ถูกแล้ว ไม่อาจ.
               เพราะเหตุไร? เพราะพระองค์มีความผิดมาก.
               ด้วยว่า พระเจ้าอชาตศัตรูได้ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาของพระองค์ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้า และเป็นอริยสาวก และพระเทวทัตก็ได้อาศัยพระเจ้าอชาตศัตรูนั้นนั่นแหละกระทำความฉิบหายใหญ่แก่พระผู้มีพระภาคเจ้า. ความผิดจึงมากด้วยประการฉะนี้. ด้วยความที่พระองค์มีความผิดมากนั้น จึงไม่อาจเสด็จไปเฝ้าด้วยพระองค์เอง.
               อนึ่ง หมอชีวกก็เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้ทรงกระทำแสงสว่างให้เป็นนิมิต ด้วยหมายพระทัยว่า เราจักเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเป็นเงาตามหลังหมอชีวกนั้น.
               หมอชีวกรู้ว่า พระราชาทรงกระทำแสงสว่างให้เป็นนิมิตแก่ตนหรือ? รู้อย่างดี.
               เมื่อรู้ เหตุไรจึงนิ่งเสีย? เพื่อตัดความวุ่นวาย.
               ด้วยว่า ในบริษัทนั้นมีอุปัฏฐากของครูทั้ง ๖ ประชุมกันอยู่มาก. เขาเหล่านั้น แม้ตนเองก็ไม่ได้รับการศึกษาเลย เพราะผู้ไม่ได้รับการศึกษาอยู่ใกล้ชิด เมื่อเราเริ่มกล่าวถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า เขาเหล่านั้นก็จักผลุดลุกผลุดนั่งในระหว่างๆ กล่าวคุณแห่งศาสดาของตนๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณกถาแห่งพระศาสดาของเราก็จักไม่สิ้นสุดลงได้. ฝ่ายพระราชา ครั้นทรงพบกุลุปกะของครูทั้ง ๖ เหล่านี้แล้ว มิได้พอพระทัยในคุณกถาของครูทั้ง ๖ เหล่านั้น เพราะไม่มีสาระที่จะถือเอาได้ ก็จักกลับมาทรงถามเรา ครั้นถึงตอนนั้น เราจักกล่าวพระคุณของพระศาสดา โดยปราศจากความวุ่นวาย แล้วจักพาพระเจ้าอชาตศัตรูไปสู่สำนักของพระศาสดา.
               หมอชีวกรู้ชัดอยู่อย่างนี้จึงนิ่งเสีย เพื่อตัดความวุ่นวาย ดังนี้แล.
               อำมาตย์แม้เหล่านั้นพากันคิดอย่างนี้ว่า วันนี้ พระราชาทรงชมราตรีด้วยบท ๕ บท คงมีพระประสงค์จะเข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์บางองค์ ถามปัญหาแล้วฟังธรรมเป็นแน่ ถ้าพระราชานี้จักทรงสดับธรรมของสมณะหรือพราหมณ์องค์ใดแล้ว ทรงเลื่อมใสและจักทรงกระทำสักการะใหญ่แก่สมณะหรือพราหมณ์องค์นั้น สมณะผู้เป็นกุลุปกะของผู้ใด ได้เป็นกุลุปกะของพระราชา ผู้นั้นย่อมมีความเจริญ ดังนี้.
               อำมาตย์เหล่านั้นครั้นคิดอย่างนี้แล้ว จึงเริ่มกล่าวสรรเสริญสมณะผู้เป็นกุลุกะของตนๆ ด้วยหมายใจว่า เรากล่าวสรรเสริญสมณะผู้เป็นกุลุปกะของตนแล้วจักพาพระราชาไป เราก็จักไป. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูมีกระแสพระดำรัสอย่างนี้แล้ว อำมาตย์ของพระราชาคนหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาครูทั้ง ๖ เหล่านั้น คำว่า ปูรโณ เป็นชื่อแห่งศาสดาปฏิญญา. คำว่า กสฺสโป เป็นโคตร.
               ได้ยินว่า ปูรณกัสสปนั้นเป็นทาสที่ ๙๙ ของตระกูลหนึ่ง เหตุนั้น เขาจึงตั้งชื่อว่า ปูรณะ แต่เพราะเป็นทาสที่เป็นมงคล จึงไม่มีใครคอยว่ากล่าวว่า ทำดี ทำชั่ว หรือว่า ยังไม่ทำ ทำไม่เสร็จ.
               ได้ยินว่า นายปูรณะนั้นคิดว่า เราจะอยู่ในที่นี้ทำไม จึงหนีไป. ครั้งนั้น พวกโจรได้ชิงผ้าของเขาไป. เขาไม่รู้จะหาใบไม้หรือหญ้ามาปกปิดกาย จึงเปลือยกายเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง. มนุษย์ทั้งหลายเห็นเขา เข้าใจว่า ท่านผู้นี้เป็นสมณะ เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้มักน้อย คนเช่นท่านผู้นี้ไม่มี จึงถือเอาของคาวหวานเป็นต้นเข้าไปหา.
               เขาคิดว่า เพราะเราไม่นุ่งผ้าจึงเกิดลาภนี้ ตั้งแต่นั้นมา แม้ได้ผ้าก็ไม่นุ่ง ได้ถือการเปลือยกายนั้น นั่นแหละเป็นบรรพชา. แม้คนเหล่าอื่นๆ ประมาณ ๕๐๐ คนก็พากันบวชตาม ในสำนักของปูรณกัสสปนั้น.
               ท่านกล่าวว่า ปูรโณ กสฺสโป หมายถึง นักบวชปูรณกัสสปที่เล่าเรื่องมาแล้วนั้น.
               ชื่อว่า เจ้าหมู่ ด้วยอรรถว่า มีหมู่ กล่าวคือหมู่นักบวช.
               ชื่อว่า เจ้าคณะ ด้วยอรรถว่า มีคณะนั้นนั่นแหละ.
               ชื่อว่า คณาจารย์ ด้วยอรรถว่า เป็นอาจารย์ของคณะนั้น โดยฐานฝึกมารยาท.
               บทว่า ญาโต แปลว่า รู้กันทั่ว เห็นชัด.
               ชื่อว่า มีเกียรติยศ ด้วยอรรถว่า มียศที่เลื่องลือไปอย่างนี้ว่า มักน้อย สันโดษ แม้ผ้าก็ไม่นุ่ง เพราะมักน้อย.
               บทว่า ติตฺถกโร แปลว่า เจ้าลัทธิ.
               บทว่า สาธุสมฺมโต ความว่า เขายกย่องอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ดีงาม เป็นสัตบุรุษ.
               บทว่า พหุชนสฺส ความว่า ปุถุชนอันธพาลผู้ไม่ได้สดับ.
               ชื่อว่า รัตตัญญู ด้วยอรรถว่า รู้ราตรีมากหลายที่ล่วงมาแล้ว ตั้งแต่บวช.
               ชื่อว่า จิรปัพพชิตะ ด้วยอรรถว่า บวชนาน.
               เพราะถ้อยคำของผู้ที่บวชไม่นาน เป็นถ้อยคำไม่น่าเชื่อ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บวชมานาน.
               บทว่า อทฺธคโต แปลว่า มีอายุยืนนาน อธิบายว่า ล่วงไป ๒-๓ รัชกาล.
               บทว่า วโยอนุปฺปตฺโต ความว่า อยู่ตลอดมาถึงปัจฉิมวัย.
               แม้คำทั้ง ๒ นี้ ท่านกล่าวหมายเอาถ้อยคำของคนหนุ่มที่ไม่น่าเชื่อ.
               บทว่า ตุณฺหี อโหสิ ความว่า พระราชาทรงเป็นเหมือนบุรุษผู้ต้องการจะกินมะม่วงสุกมีสีดังทอง มีรสอร่อย ครั้นพบผลมะเดื่อสุกที่นำมาวางไว้ในมือก็ไม่พอใจฉันใด พระราชาก็ฉันนั้น มีพระประสงค์สดับธรรมกถาที่ไพเราะ ประกอบด้วยคุณมีฌานและอภิญญาเป็นต้น แลสรุปลงด้วยพระไตรลักษณ์ แม้เมื่อก่อนได้เคยพบปูรณกัสสป ก็ไม่พอพระทัย มาบัดนี้ยิ่งไม่พอพระทัยขึ้นไปอีกเพราะการพรรณนาคุณ จึงทรงนิ่งเสีย แม้ไม่พอพระทัยเลย ก็มีพระดำริว่า ถ้าเราจักคุกคามคนที่เพ็ดทูลนั้นแล้วให้เขาจับคอนำออกไป ผู้ใดผู้หนึ่งแม้อื่นก็จะกลัวว่า พระราชาทรงกระทำอย่างนี้แก่คนที่พูดนั้นๆ จักไม่พูดอะไรๆ ฉะนั้น จึงทรงอดกลั้นถ้อยคำนั้นแม้ไม่เป็นที่พอพระทัย ได้ทรงนิ่งเสียเลย.
               ลำดับนั้น อำมาตย์อีกคนหนึ่งคิดว่า เราจักกล่าวคุณของสมณพราหมณ์ผู้เป็นกุลุปกะของตน จึงเริ่มทูล. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อำมาตย์อีกคนหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น.
               คำนั้นทั้งหมดพึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้ว.
               ก็ในบรรดาครูทั้ง ๖ นี้ คำว่า มักขลิ เป็นชื่อของครูคนหนึ่งนั้น. คำว่า โคสาล เป็นชื่อรอง เพราะเกิดที่โรงโค.
               ได้ยินว่า เขาถือหม้อน้ำมันเดินไปบนพื้นที่มีเปือกตม. นายกล่าวว่า อย่าลื่นล้มนะพ่อ. เขาลื่นล้มเพราะเลินเล่อ จึงเริ่มหนีเพราะกลัวนาย. นายวิ่งไปยึดชายผ้าไว้. เขาจึงทิ้งผ้าเปลือยกายหนีไป.
               ความที่เหลือเช่นเดียวกับปูรณกัสสปนั่นเอง.
               คำว่า อชิต เป็นชื่อของครูคนหนึ่งนั้น. ชื่อว่า เกสกัมพล ด้วยอรรถว่า ครองผ้ากัมพลที่ทอด้วยผมคน. รวมชื่อทั้ง ๒ เข้าด้วยกันจึงเรียกว่า อชิตเกสกัมพล. ใน ๒ ชื่อนั้น ผ้ากัมพลที่ทำด้วยผมคน ชื่อว่า เกสกัมพล. ชื่อว่าผ้าที่มีเนื้อหยาบกว่าผ้าเกสกัมพลนั้นไม่มี.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า๘-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผ้าที่ทอด้วยด้ายจะมีกี่อย่างก็ตาม ผ้ากัมพลที่ทอด้วยผมคนเป็นผ้าที่มีเนื้อหยาบกว่าผ้าทอเหล่านั้น.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผ้ากัมพลที่ทอด้วยผมคน หน้าหนาวก็เย็นเยือก หน้าร้อนก็ร้อนระอุ มีค่าน้อย มีสัมผัสระคาย สีไม่สวย ทั้งกลิ่นก็เหม็น.
____________________________
๘- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๕๗๗

               คำว่า ปกุทธ เป็นชื่อของครูคนหนึ่งนั้น. คำว่า กัจจายนะ เป็นโคตร. รวมชื่อและโคตรเข้าด้วยกัน จึงเรียกว่า ปกุทธกัจจายนะ. ครูปกุทธกัจจายนะนี้ห้ามน้ำเย็น แม้ถ่ายอุจจาระ ก็ไม่ใช้น้ำล้าง. ได้น้ำร้อนหรือน้ำข้าวจึงทำการล้าง. ครั้นข้ามแม่น้ำหรือน้ำตามทาง คิดว่าศีลของเราขาด แล้วจึงก่อสถูปทรายอธิษฐานศีลแล้วจึงไป. ครูคนนี้มีลัทธิที่ปราศจากสิริถึงปานนี้.
               คำว่า สญชัย เป็นชื่อของครูคนหนึ่งนั้น. ชื่อว่า เวลัฏฐบุตร เพราะเป็นบุตรของเวลัฏฐะ.
               ครูคนหนึ่ง ชื่อว่า นิครนถ์ ด้วยอำนาจชื่อที่ได้แล้ว เพราะพูดเสมอว่า พวกเราไม่มีกิเลสที่ร้อยรัด ที่เกลือกกลั้ว พวกเราเว้นจากกิเลสที่พัวพัน.
               ชื่อว่า นาฏบุตร เพราะเป็นบุตรของคนฟ้อนรำ.

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 1อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 91อ่านอรรถกถา 9 / 141อ่านอรรถกถา 9 / 365
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=1072&Z=1919
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=3185
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=3185
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :