ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 91อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 141อ่านอรรถกถา 9 / 178อ่านอรรถกถา 9 / 365
อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
อัมพัฏฐสูตร

               อรรถกถาอัมพัฏฐสูตร               
               อทฺธานคมนวณฺณนา               
               เอวมฺเม สุตํ ฯเปฯ โกสเลสุ อมฺพฎฺฐสุตฺตํ
               ในอัมพัฏฐสูตรนั้น มีการพรรณนาตามลำดับบท ดังต่อไปนี้
               บทว่า ในโกศลชนบท คือ ชนบทอันเป็นนิวาสสถานของพระราชกุมารชาวชนบททั้งหลาย ผู้มีนามว่าโกศล แม้จะเป็นชนบทเดียวท่านก็เรียกว่า โกสลา (เป็นพหูพจน์) เพราะศัพท์เสริมเข้ามา ในชนบทชื่อโกศลนั้น.
               ก็พระโบราณาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า
               ในกาลก่อน พระราชาทรงสดับว่า พระราชกุมารนามว่า มหาปนาทะ ผู้ได้ดูการละเล่นมีละครต่างๆ เป็นต้น ก็ไม่ทำอาการแม้สักว่ายิ้มแย้มเลย จึงได้ทรงมีรับสั่งว่า ผู้ใดทำให้บุตรของเราหัวเราะได้ เราจะประดับประดาเขาผู้นั้นด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง.
               ตั้งแต่นั้นมา เมื่อเหล่ามหาชนต่างทอดทิ้งแม้คันไถมาร่วมประชุมกัน พวกมนุษย์ทั้งหลายถึงจะแสดงการละเล่นต่างๆ กันสิ้นเวลานานกว่า ๗ ปี ก็มิสามารถจะให้พระราชกุมารนั้นทรงพระสรวลได้. ทีนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงทรงทำให้พระราชกุมารทรงพระสรวลได้. ต่อมาพวกมนุษย์เหล่านั้นต่างก็แยกย้ายกันกลับ บ่ายหน้าไปยังบ้านที่อาศัยของตนๆ. พวกเขาเจอมิตรและสหายเป็นต้นสวนทางมา เมื่อจะทำปฏิสันถาร (ทักทายปราศรัย) กัน ต่างก็พูดกันว่า กิญฺจิ โภ กุสลํ กิญฺจิ โภ กุสลํ (ท่านผู้เจริญ มีอะไรดีบ้างไหม ท่านผู้เจริญ มีอะไรดีบ้างไหม) เพราะฉะนั้น เขตแคว้นนั้นท่านจึงเรียกชื่อว่า โกศล เพราะยึดเอาคำว่า กุสลํ กุสลํ นั้น.
               บทว่า เสด็จจาริกไป คือ เสด็จเดินทางไกล.
               ธรรมดาการเสด็จจาริกของพระผู้มีพระภาคเจ้า มี ๒ อย่างคือ เสด็จจาริกอย่างรีบด่วน ๑ เสด็จจาริกอย่างไม่รีบด่วน ๑.
               ใน ๒ อย่างนั้น การที่พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นบุคคลที่ควรให้ตรัสรู้ได้แม้ในที่ไกล ก็จะเสด็จไปโดยเร็ว เพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้ของเขา ชื่อว่าเสด็จจาริกอย่างรีบด่วน. พึงเห็นเช่นในการเสด็จไปต้อนรับพระมหากัสสปะ เป็นต้น.
               แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงกระทำการต้อนรับพระมหากัสสปะ ได้เสด็จไปตลอดทาง ๓ คาพยุตโดยครู่เดียว เพื่อประโยชน์แก่อาฬวกยักษ์ ได้เสด็จไปตลอดทาง ๓๐ โยชน์ เพื่อประโยชน์แก่พระอังคุลิมาลก็เท่านั้น แต่สำหรับปุกกุสาติ ได้เสด็จไปตลอดทาง ๔๕ โยชน์ พระมหากัปปินะ ๑๒๐ โยชน์ เพื่อประโยชน์แก่พระธนิยะ ๗๐๐ โยชน์. สำหรับติสสสามเณรผู้เป็นสัทธิวิหาริกของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรผู้ชอบอยู่แต่ในป่า ได้เสด็จไปตลอดทาง ๑๒๐ โยชน์กับอีก ๓ คาพยุต.
               ได้ยินว่า วันหนึ่งพระเถระกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะไปยังสำนักของติสสสามเณร. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า แม้เราก็จักไป แล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มา ด้วยทรงรับสั่งว่า อานทท์ เธอจงบอกแก่ภิกษุผู้สำเร็จอภิญญา ๖ มี ๒๐,๐๐๐ รูปว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จไปยังสำนักติสสสามเณรผู้ชอบอยู่แต่ในป่า. ต่อมาในวันที่ ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระขีณาสพ ๒๐,๐๐๐ รูปเป็นบริวาร ทรงเหาะขึ้นไปในอากาศ เสด็จลงที่ประตูโคจรคามของสามเณรนั้น ในที่สุดทางได้ ๑๒๐ โยชน์ ทรงห่มผ้าจีวรแล้ว.
               พวกมนุษย์ เมื่อเดินทางไปทำงานกันเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ต่างพูดกันว่า พระบรมศาสดาเสด็จมาแล้ว พวกเราอย่าไปทำงานกันเลย ต่างพากันปูลาดอาสนะถวายข้าวยาคูแล้ว เมื่อจะกระทำบาทวัตร๑- จึงถามพวกภิกษุหนุ่มว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จไปที่ไหน. ดูก่อนอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าจะไม่เสด็จไป ณ ที่อื่น เสด็จมาก็เพื่อทรงต้องการจะทอดพระเนตรติสสสามเณร ในที่นี้แหละ.
               พวกมนุษย์เหล่านั้นต่างพากันดีอกดีใจว่า ได้ยินว่า พระบรมศาสดาเสด็จมาก็เพื่อทรงต้องการจะทอดพระเนตรพระเถระผู้สนิทสนมกับตระกูลของพวกเรา พระเถระของพวกเรามิใช่คนเล็กคนน้อยเลย.
____________________________
๑- ฉบับพม่าเป็น ปาตราสภตฺตํ แปลว่า อาหารเช้า.

               ต่อมาในเวลาเสร็จภัตกิจของพระผู้มีพระภาคเจ้า สามเณรเที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านมาแล้วจึงถามว่า ดูก่อนอุบาสกและอุบาสิกทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์มากมาย.
               ทีนั้น พวกเขาจึงบอกแก่สามเณรว่า พระบรมศาสดาเสด็จมา ขอรับ.
               สามเณรจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทูลถามโดยเอื้อเฟื้อด้วยอาหารบิณฑบาต พระบรมศาสดาทรงจับบาตรของสามเณรนั้นด้วยพระหัตถ์แล้วตรัสว่า ติสสะ อาหารบิณฑบาตพอแล้ว เราทำภัตกิจเสร็จแล้ว. ลำดับนั้น สามเณรจึงถามโดยเอื้อเฟื้อกะอุปัชฌาย์แล้วจึงไปนั่งบนอาสนะที่ถึงแก่ตน ทำภัตกิจ (ฉัน). ต่อมาในเวลาสามเณรนั้นฉันเสร็จแล้ว พระบรมศาสดาตรัสมงคลแล้ว เสด็จออกไปประทับยืนที่ประตูบ้าน ตรัสถามว่า ติสสะ ทางไปสู่ที่อยู่ของเธอสายไหน. ทางนี้ พระเจ้าข้า. สามเณรกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อสามเณรกราบทูลชี้ทางถวายแล้ว จึงตรัสว่า ติสสะ เธอจงไปข้างหน้า.
               ดังได้สดับมา พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้จะทรงเป็นผู้ชี้ทางให้แก่โลกพร้อมทั้งเทวโลกก็ตาม ได้ทรงทำให้สามเณรนั้นเป็นผู้ชี้ทางให้ในเส้นทางเพียง ๓ คาพยุตเท่านั้น ด้วยทรงตั้งพระทัยว่า เราจักได้เห็นสามเณร สามเณรนั้นไปสู่ที่อันเป็นที่อยู่ของตน แล้วได้กระทำวัตรแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามสามเณรนั้นว่า ติสสะ ที่ไหนเป็นที่จงกรมของเธอ จึงเสด็จไปที่นั้น ประทับนั่งบนก้อนหินที่นั่งของสามเณรแล้วตรัสถามว่า ติสสะ ในที่นี้เธออยู่เป็นสุขหรือ. สามเณรนั้นกราบทูลว่า เป็นสุข พระเจ้าข้า เมื่อข้าพระองค์อยู่ในที่นี้ ได้ยินเสียงร้องของพวกสัตว์จำพวกราชสีห์ เสือโคร่ง ช้าง กวางและนกยูงเป็นต้น ความสำคัญหมายว่า เป็นป่าก็เกิดขึ้น ข้าพระองค์อยู่เป็นสุขด้วยความสำคัญหมายนั้น.
               ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะสามเณรนั้นว่า ติสสะ เธอจงเผดียงสงฆ์ให้ประชุมกัน เราจักให้พุทธทายาทแก่เธอ เมื่อภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ทรงประทานอุปสมบทให้ แล้วได้เสด็จไปยังที่ประทับอยู่ของพระองค์ทีเดียว.
               นี้ชื่อว่าการเสด็จจาริกอย่างรีบด่วน.
               ก็การที่พระองค์เมื่อจะทรงอนุเคราะห์สัตวโลก เสด็จไปด้วยการทรงบิณฑบาตตามลำดับบ้านและนิคมทุกวัน โยชน์ ๑ บ้าง ๒ โยชน์บ้าง นี้จัดเป็นการเสด็จจาริกไม่รีบด่วน.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะเสด็จจาริกนี้ก็จะเสด็จในมณฑลใดมณฑลหนึ่ง บรรดา ๓ มณฑลเหล่านี้ คือมณฑลใหญ่ มณฑลกลาง มณฑลเล็ก. ในบรรดา ๓ มณฑลนั้น มณฑลใหญ่มีกำหนด ๙๐๐ โยชน์ มณฑลกลางมีกำหนด ๖๐๐ โยชน์ มณฑลเล็กมีกำหนด ๓๐๐ โยชน์.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระประสงค์จะเสด็จจาริกในมณฑลใหญ่ พระองค์ทรงปวารณาในวันมหาปวารณาแล้ว ในวันแรม ๑ ค่ำ จะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวาร เสด็จออกไป ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ ก็จะเกิดการแตกตื่นกันเป็นการใหญ่. คนผู้มาถึงก่อนๆ จึงจะได้นิมนต์ บรรดามณฑลทั้ง ๒ นอกจากนี้ สักการะก็มารวมลงเฉพาะในมหามณฑลเท่านั้น. พระผู้พระภาคเจ้า เมื่อเสด็จประทับอยู่ในหมู่บ้านและอำเภอนั้นๆ สิ้น ๑-๒ วัน ทรงอนุเคราะห์มหาชนด้วยการทรงรับอามิสทาน และเจริญกุศลอันเป็นส่วนพ้นวัฏฏสงสารแก่เขา ด้วยทรงประทานธรรม ทรงให้การจาริกเสร็จสิ้นไปโดย ๙ เดือน.
               แต่ถ้าภายในพรรษา สมถะและวิปัสสนากรรมฐานของภิกษุทั้งหลายยังอ่อนอยู่ พระองค์ก็จะไม่ทรงปวารณาในวันมหาปวารณา ทรงประทานเลื่อนวันปวารณาไป ทรงปวารณาในวันเพ็ญเดือน ๑๒ ต่อถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย จึงพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวารเสด็จออก แล้วเสด็จเข้าไปในมณฑลขนาดกลาง พระองค์มีพระประสงค์จะเสด็จจาริกไปในมณฑลขนาดกลางด้วยเหตุอย่างอื่นก็มีบ้าง แต่จะเสด็จประทับอยู่ตลอด ๔ เดือนเท่านั้น แล้วก็จะเสด็จออกไปตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ. บรรดามณฑลทั้ง ๒ นอกนี้ สักการะก็จะมารวมลงเฉพาะในมณฑลขนาดกลางเท่านั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกโดยนัยก่อนนั่นแหละ ทรงให้การจาริกเสร็จสิ้นไปโดย ๘ เดือน.
               แต่ถ้าเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้จะทรงจำพรรษาตลอด ๔ เดือนแล้วก็ตาม เวไนยสัตว์ยังมีอินทรีย์ไม่แก่กล้า พระองค์ก็จะทรงรอคอยให้พวกเขามีอินทรีย์แก่กล้าก่อน จะเสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้นนั่นแหละ อีกเดือน ๑ บ้าง ๒-๓-๔ เดือนบ้าง แล้วจึงจะเสด็จออกไปพร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวาร. โดยทำนองดังกล่าวแล้วนั่นแหละ บรรดามณฑลทั้ง ๒ นอกนี้ สักการะก็จะมารวมลงเฉพาะในมณฑลขนาดเล็กเท่านั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกตามทำนองข้างต้นนั้นแหละ จะทรงให้การจาริกเสร็จสิ้นไปโดย ๗ เดือนบ้าง ๖ เดือนบ้าง ๕ เดือนบ้าง ๔ เดือนบ้าง.
               ดังกล่าวมานี้ ในบรรดามณฑลทั้ง ๓ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะเสด็จจาริกไปในมณฑลใดมณฑลหนึ่ง จะเสด็จไปเพราะเหตุแห่งลาภผลมีจีวรเป็นต้นก็หาไม่. แต่โดยที่แท้พระองค์เสด็จจาริกไปก็เพราะความเอ็นดูสัตว์โลก ด้วยทรงดำริอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดที่เป็นคนเข็ญใจ ยังโง่เขลา เป็นคนแก่ และคนเจ็บป่วย เมื่อไรคนเหล่านั้นจักมาเห็นตถาคตได้แต่เมื่อเราเที่ยวจาริกไป มหาชนจักได้เห็นตถาคต บรรดาเขาเหล่านั้น บางพวกจักกระทำจิตใจให้เลื่อมใสได้ บางพวกจักบูชาด้วยเครื่องบูชามีพวงดอกไม้เป็นต้น บางพวกจักถวายภักษาหารสักทัพพีหนึ่ง บางพวกจักละความเห็นผิด กลายเป็นผู้มีความเห็นถูก ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่พวกเขาตลอดกาลนาน.
               อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเสด็จจาริกไปด้วยเหตุ ๔ ประการ คือเพื่อประโยชน์ให้พระวรกายได้อยู่สบาย ด้วยทรงเดินพักผ่อน ๑ เพื่อประโยชน์ที่จะรอเวลาเกิดเรื่องราว ๑ เพื่อประโยชน์จะทรงบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย ๑ เพื่อประโยชน์จะให้สัตว์ผู้ควรจะตรัสรู้ ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าแล้วในที่นั้นๆ ได้ตรัสรู้ ๑.
               พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเสด็จจาริกไปด้วยเหตุ ๔ ประการแม้อย่างอื่นอีก ด้วยทรงดำริว่า สัตว์ทั้งหลายจักถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ จักถึงพระธรรม จักถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ หรือว่าเราจักให้บริษัททั้ง ๔ เอิบอิ่มด้วยการฟังธรรมเป็นการใหญ่.
               พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเสด็จจาริกไปด้วยเหตุ ๕ ประการแม้อย่างอื่นอีก ด้วยทรงดำริว่า สัตว์ทั้งหลายจักงดเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงบ้าง จากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้บ้าง จากการประพฤติผิดในกามบ้าง จากการกล่าวเท็จบ้าง จากที่ตั้งแห่งความประมาทคือน้ำเมาอันได้แก่สุราและเมรัยบ้าง.
               พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเสด็จจาริกไปด้วยเหตุ ๘ ประการแม้อย่างอื่นอีก ด้วยทรงดำริว่า สัตว์ทั้งหลายจักกลับได้ปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ตติยฌานบ้าง จตุตถฌานบ้าง อากาสานัญจายตนสมาบัติบ้าง วิญญาณัญจายตนสมาบัติบ้าง อากิญจัญญายตนสมาบัติบ้าง เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติบ้าง.
               พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเสด็จจาริกไปด้วยเหตุ ๘ ประการแม้อย่างอื่นอีก ด้วยทรงพระดำริว่า สัตว์ทั้งหลายจักบรรลุโสดาปัตติมรรคบ้าง โสดาปัตติผลบ้าง สกทาคามิมรรคบ้าง สกทาคามิผลบ้าง อนาคามิมรรคบ้าง อนาคามิผลบ้าง อรหัตตมรรคบ้าง จักกระทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผลบ้าง. ดังกล่าวมานี้จัดเป็นการเสด็จจาริกไม่รีบด่วน.
               ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาการเสด็จจาริกไม่รีบด่วน.
               ก็การเสด็จจาริกไม่รีบด่วนนี้ มีอยู่ ๒ อย่าง คือ การเสด็จจาริกประจำ ๑ การเสด็จจาริกไม่ประจำ ๑.
               บรรดาจาริก ๒ อย่างนั้น การเสด็จไปตามลำดับบ้าน อำเภอ และจังหวัด จัดเป็นการเสด็จจาริกประจำ. ส่วนการเสด็จไปเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ที่ควรจะให้ตรัสรู้ได้คนเดียวเท่านั้น จัดเป็นการเสด็จจาริกไม่ประจำ.
               ในที่นี้ ท่านมุ่งหมายเอาการเสด็จจาริกไม่ประจำนี้.
               ได้ยินว่า ในกาลนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแผ่ข่ายคือพระญาณไปในหมื่นโลกธาตุ ในเวลาเสร็จสิ้นพุทธกิจตอนปัจฉิมยาม ทรงเล็งดูเหล่าสัตว์ผู้มีเผ่าพันธ์ควรจะตรัสรู้ได้อยู่ พราหมณ์ชื่อโปกขรสาติเข้าไปภายในพระสัพพัญญุตญาณ. ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงพิจารณาดูว่า พราหมณ์นี้มาปรากฏในข่ายคือญาณของเรา เขามีอุปนิสัยหรือไม่หนอ ก็ทรงทอดพระเนตรเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคแล้ว ทรงดำริว่า พราหมณ์นี้เมื่อเราไปชนบทนั้น จักใช้ให้ศิษย์ชื่ออัมพัฏฐะไปเพื่อค้นหาดูลักษณะ เขาจะกล่าวโต้ตอบกับเรา พูดวาจาไม่สุภาพมีประการต่างๆ เราจักทรมานเขา ทำให้หมดพยศ เขาก็จักบอกแก่อาจารย์. ทีนั้น อาจารย์ของเขาได้ฟังคำนั้นแล้ว ก็จักมาค้นหาดูลักษณะของเรา เราจักแสดงธรรมแก่เขา พอเทศน์จบเขาก็จักดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เทศนาจักมีผลดีแก่มหาชนดังนี้ จึงพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร เสด็จพระดำเนินไปสู่ชนบทนั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ขบวนใหญ่มีภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป.
               บทว่า บ้านพราหมณ์ชื่ออิจฉานังคละตั้งอยู่โดยที่ใด คือ บ้านพราหมณ์ชื่ออิจฉานังคละควรจะไปได้โดยทิสาภาคใด หรือว่าบ้านพราหมณ์ชื่ออิจฉานังคละตั้งอยู่ในประเทศใด. บาลีว่า อิจฺฉานงฺกลํ ก็มี.
               บทว่า ตทวสริ แปลว่า เสด็จไปโดยทางนั้น หรือว่า เสด็จไปสู่ที่นั้น. อธิบายว่า เสด็จไปโดยทิสาภาคนั้น หรือว่า เสด็จไปสู่ประเทศนั้น.
               บทว่า ประทับอยู่ในป่าชัฏชื่ออิจฉานังคละ ในบ้านพราหมณ์ชื่ออิจฉานังคละ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงเป็นพระธรรมราชา ทรงอาศัยบ้านพราหมณ์ชื่ออิจฉานังคละ ทรงตั้งค่ายคือศีล ทรงถือพระคทาคือสมาธิ ทรงยังศรคือพระสัพพัญญุตญาณให้เป็นไป เสด็จประทับอยู่ด้วยการประทับตามที่พระองค์ทรงพอพระทัยยิ่ง.

               โปกฺขรสาติวตฺถุวณฺณนา               
               บทว่า ก็โดยสมัยนั้นแล คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้นโดยสมัยใด โดยสมัยนั้น. อธิบายว่า ในสมัยนั้น.
               บุคคลย่อมเรียนมนต์ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าพราหมณ์. อธิบายว่า ย่อมสาธยายมนต์. ก็คำนี้นี่แหละเป็นคำเรียกพราหมณ์โดยกำเนิดในทางภาษา. แต่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านเรียกว่าพราหมณ์ เพราะมีบาปอันลอยแล้ว.
               คำว่า โปกขรสาติ นี้ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น.
               ท่านเรียกชื่อว่าโปกขรสาติ เพราะเหตุไร.
               ได้ยินว่า กายของพราหมณ์นั้นเป็นเช่นเดียวกับดอกบัวขาว งามประดุจเสาระเนียดเงินที่เขาปักไว้ในเทวนคร. ส่วนศีรษะของเขามีสีดำ ประดุจสำเร็จด้วยแก้วมรกต. แม้หนวดก็ปรากฏประหนึ่งปุยเมฆสีดำในดวงจันทร์. ลูกตาทั้ง ๒ ข้างเป็นประดุจดอกบัวเขียว. จมูกกลมดีเกลี้ยงเกลา ประดุจท่อน้ำเงิน. ฝ่ามือและฝ่าเท้ารวมทั้งช่องปาก งดงามประดุจลูบไล้ไว้ด้วยน้ำครั่ง. อัตภาพของพราหมณ์จัดว่างามเลิศยิ่งนัก. ในที่ที่ไม่มีพระราชา สมควรจะตั้งพราหมณ์ผู้นี้เป็นพระราชาได้. พราหมณ์นี้ก็เป็นคนประกอบด้วยสิริเช่นนี้. เพราะเหตุนี้ ชนทั้งหลายจึงเรียกเขาว่า โปกขรสาติ เพราะเป็นเหมือนดอกบัว.
               ก็พราหมณ์นี้ แม้ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ เรียนจบเวททั้ง ๓ ถวายทานแด่พระทศพลแล้ว ฟังธรรมเทศนา ไปเกิดในเทวโลก.
               ต่อจากนั้น เขาเมื่อจะมาสู่มนุษย์โลก รังเกียจการอยู่ในท้องมารดา จึงไปเกิดในท้องดอกบัวหลวงในสระใหญ่ข้างป่าหิมพานต์. แต่ที่ไม่ไกลจากสระนั้น มีดาบสอาศัยอยู่ในบรรณศาลา. ดาบสนั้นยืนอยู่บนฝั่งมองเห็นดอกบัวหลวงนั้น จึงคิดว่า ดอกบัวหลวงดอกนี้ใหญ่กว่าดอกบัวหลวงนอกนี้ เวลาที่มันบานแล้ว เราจึงจักเก็บมัน. ดอกบัวหลวงนั้นแม้ตั้ง ๗ วันแล้วก็ยังไม่บาน. ดาบสจึงคิดว่า เพราะเหตุใดหนอ ดอกบัวหลวงนี้แม้ตั้ง ๗ วันแล้วก็ยังไม่บาน เอาเถอะ เราจักเก็บมัน แล้วจึงลงไปเก็บ. ดอกบัวหลวงนั้น พอดาบสเด็ดขาดจากก้านเท่านั้นก็บานออก.
               ทีนั้น ในภายในดอกบัวนั้น เขาได้เห็นทารกมีผิวพรรณขาว มีรูปร่างราวกับเงิน ดุจสีผงทองมีวรรณะขาวเหลืองดังเกสรดอกประทุม. เขาจึงคิดว่าทารกนี้คงจักเป็นผู้มีบุญมาก เอาเถอะ เราจะเลี้ยงดูเขาจึงอุ้มไปยังบรรณศาลา เลี้ยงดู ตั้งแต่อายุได้ ๗ ขวบก็ให้เรียนเวททั้ง ๓. ทารกเรียนจบเวททั้ง ๓ แล้ว เป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด ได้เป็นยอดพราหมณ์ในชมพูทวีป. ในเวลาต่อมาเขาได้แสดงศิลปะแก่พระเจ้าโกศล. ทีนั้น พระราชาทรงเลื่อมใสในศิลปะของเขา จึงได้พระราชทานมหานครชื่ออุกกัฏฐะ ให้เป็นพรหมไทย. เพราะเหตุนี้ ประชาชนทั้งหลายจึงเรียกขานเขาว่า โปกขรสาติ เพราะเหตุที่เขานอนในดอกบัว.
               บทว่า อยู่ครอบครอง นครชื่ออุกกัฏฐะ ความว่า เขาอยู่หรือว่าอยู่ครอบครอง นครอันมีชื่อว่าอุกกัฏฐะ คือเขาเป็นเจ้าของนครนั้น อยู่ตามขอบเขตที่ชนจะพึงอยู่ได้ในนครนั้น. ได้ยินว่า ประชาชนวางโคมไฟไว้แล้ว เมื่อโคมไฟลุกโพลงอยู่ จึงพากันยึดเอาที่ตั้งนครนั้น เพราะฉะนั้น นครนั้นท่านจึงเรียกว่า อุกกัฏฐะ.
               บาลีว่า โอกกัฏฐะ ดังนี้ก็มี. มีเนื้อความอย่างเดียวกัน. แต่ในที่นี้พึงทราบว่า ด้วยอำนาจอุปสัค ทำให้ทุติยาวิภัตติใช้แทนสัตตมีวิภัตติได้. และในบทที่เหลือพึงทราบว่า คำนั้นไม่เป็นทุติยาวิภัตติ. ลักษณะในที่นั้น พึงค้นคว้าจากศัพทศาสตร์.
               บทว่า หนาแน่นด้วยสัตว์ ความว่า หนาแน่น ได้แก่ ล้นเหลือด้วยสัตว์ทั้งหลาย มีชนมากมาย มีมนุษย์เกลื่อนกล่น และคับคั่งด้วยสัตว์หลายชนิดมีช้าง ม้า นกยูงและเนื้อทรายที่เขาเลี้ยงไว้เป็นต้น. ก็เพราะเหตุที่นครนี้สมบูรณ์ด้วยหญ้าเป็นอาหารของช้างและม้าเป็นต้น และด้วยหญ้ามุงหลังคาบ้านที่เกิดเวียนรอบภายนอกนคร ทั้งสมบูรณ์ด้วยไม้ที่เป็นฟืนและไม้ที่ใช้ประกอบเป็นเครื่องเรือนด้วยเช่นกัน และเพราะเหตุที่ภายในนครนั้นมีพระโบกขรณี มีสัณฐานกลมและ ๔ เหลี่ยมเป็นต้นมากมาย ทั้งมีบ่อน้ำนับไม่ถ้วนอีกมาก งดงามด้วยดอกไม้ที่เกิดในน้ำและเต็มเปี่ยมด้วยน้ำเป็นนิตย์ ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นนครที่ประกอบพร้อมด้วยหญ้าไม้และน้ำ. นครที่เป็นไปพร้อมกับด้วยข้าว ชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยข้าว. อธิบายว่า มีข้าวเก็บตุนไว้มากมาย แตกต่างกันเป็นบุพพัณชาติและอปรัณชาติเป็นต้น. ด้วยถ้อยคำเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าท่านได้แสดงถึงสมบัติคือความมั่งคั่งแห่งนคร ที่พราหมณ์อยู่ด้วยลีลาอย่างพระราชา เพราะให้กางกั้นเศวตฉัตรขึ้น.
               โภคสมบัติพราหมณ์ได้มาจากพระราชา ชื่อว่าราชโภคะ หากจะถามว่า ใครให้. ก็ต้องตอบว่า พระราชาทรงพระนามว่าปเสนทิโกศล พระราชทานให้.
               บทว่า ราชทายํ แปลว่า เป็นของพระราชทานให้ของพระราชา. อธิบายว่า เป็นมรดก.
               บทว่า พฺรหฺมเทยฺยํ แปลว่า เป็นของขวัญอันประเสริฐสุด. อธิบายว่า เป็นของที่พราหมณ์จะพึงกางกั้นเศวตฉัตรเสวยโดยทำนองเป็นพระราชา.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า ราชโภคํ ความว่า เป็นนครที่พราหมณ์สั่งให้ลงโทษด้วยการตัดอวัยวะและการทำลายอวัยวะทุกอย่างได้ เมื่อจะเก็บภาษีในสถานที่มีท่าเรือและภูเขาเป็นต้น จะต้องกางกั้นเศวตฉัตรขึ้นเป็นพระราชาครอบครอง.
               ในบทนี้ว่า นครนั้นพระราชาทรงพระนามว่าปเสนทิโกศล พระราชทานให้เป็นราชรางวัล ความว่า นครนั้นเพราะพระราชาพระราชทานให้ จึงชื่อว่าราชทายะ. ก็เพื่อที่จะแสดงพระราชาผู้พระราชทาน ท่านจึงกล่าวคำนี้ว่า พระราชาทรงพระนามว่าปเสนทิโกศล พระราชทานให้.
               บทว่า พฺรหฺมเทยฺยํ แปลว่า ของพระราชทานอันประเสริฐสุด. อธิบายว่า เป็นของที่พระราชทานแล้ว โดยประการที่ว่า พระราชทานแล้ว จะทรงเรียกคืนไม่มี คือ ทรงสละให้เด็ดขาด ได้แก่บริจาคไปเลย.
               บทว่า อสฺโสสิ แปลว่า ได้สดับตรับฟังมา คือได้ประสบมา ได้แก่ได้ทราบมา โดยทำนองคำประกาศก้องที่มาถึงโสตทวาร. คำว่า โข เป็นนิบาต ลงในอรรถอวธารณะ (กำหนดแน่นอนเช่นพวกเอวศัพท์) หรือเป็นนิบาตลงไว้เพียงเป็นบทบูรณ์ (ทำบทให้เต็มเฉยๆ). ใน ๒ คำนั้นด้วยอรรถอวธารณะ พึงทราบคำอธิบายดังนี้ว่า พราหมณ์นั้นได้สดับตรับฟังมาโดยแท้จริงทีเดียว คือมิได้มีสิ่งขัดขวางต่อการได้ยิน. ด้วยบทบูรณ์ คำนี้เป็นเพียงใส่ไว้เพื่อให้บทและพยัญชนะสละสลวยขึ้นเท่านั้นเอง.
               บัดนี้ พราหมณ์ชื่อโปกขรสาติ เมื่อจะประกาศเนื้อความที่ตนได้สดับตรับฟังมา จึงได้กล่าวถ้อยคำมีว่า ได้สดับมาว่า พระสมณโคดมผู้เจริญ.
               พึงทราบเนื้อความในบทเหล่านั้นว่า บุคคลที่ชื่อสมณะ ก็เพราะมีบาปอันระงับแล้ว.
               สมกับที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         ธรรมที่เป็นบาปเป็นอกุศลของบุคคลนั้น ระงับไปแล้ว.๑-
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๔๗๘

               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้มีบาปอันระงับได้แล้ว ด้วยอริยมรรคอย่างยอดเยี่ยม. เพราะเหตุนั้น คำว่า สมณะ นี้จึงเป็นพระนามที่พระองค์ทรงได้รับตามพระคุณที่เป็นจริง.
               คำว่า ขลุ เป็นนิบาต ลงในอรรถว่า ได้ยินเล่าลือกันมา. คำวา โภ เป็นเพียงคำเรียกชื่อที่ได้รับกันมาตามกำเนิดของพราหมณ์.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         ถ้าเขายังเป็นผู้มีความกังวลอยู่ เขาผู้นั้นย่อมมีชื่อเรียกได้ว่าผู้เจริญ.๒-
____________________________
๒- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๗๐๗

               พราหมณ์ยกย่องพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า โคตมะ ด้วยอำนาจแห่งโคตร เพราะฉะนั้น ในคำว่า สมโณ ขลุ โภ โคตโม พึงเห็นเนื้อความดังนี้ว่า ได้ยินว่า พระสมณะโคตมโคตร.
               ส่วนคำว่า เป็นพระราชโอรสของศากยวงศ์ นี้ เป็นคำชี้ชัดถึงพระตระกูลอันสูงศักดิ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า. คำว่า ทรงผนวชจากตระกูลศากยวงศ์ เป็นคำแสดงให้เห็นถึงการที่พระองค์ทรงผนวชด้วยศรัทธา. อธิบายว่า พระองค์มิได้ทรงถูกความขาดแคลนใดๆ บีบบังคับ ทรงละตระกูลนั้นทั้งๆ ที่ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ ทรงผนวชด้วยศรัทธา. ต่อจากนี้ไปก็มีใจความดังกล่าวแล้วนั่นแหละ.
               คำว่า ตํ โข ปน เป็นต้น ได้กล่าวไว้แล้วเหมือนกับในสามัญญผลสูตร.
               คำว่า เป็นการยังประโยชน์ให้สำเร็จ อธิบายว่า เป็นการดีทีเดียว คือนำประโยชน์มาให้ นำความสุขมาให้.
               บทว่า พระอรหันต์เห็นปานฉะนี้ คือ พระอรหันต์ผู้ได้เสียงเรียกว่า พระอรหันต์ในโลก เพราะบรรลุคุณธรรมตามเป็นจริง เช่นเดียวกับพระโคดมผู้เจริญนั้น.
               บทว่า การได้เห็น ความว่า พราหมณ์กระทำความน้อมนึกไปอย่างนี้ว่า เพียงแต่ว่า การลืมตาทั้ง ๒ ข้างที่เยือกเย็นด้วยความเลื่อมใสขึ้นมองดู ก็เป็นการสำเร็จประโยชน์.

               อมฺพฏฺฐมาณวกถาวณฺณนา               
               คำนี้ว่า อัชฌายกะ (ผู้ไม่มีฌาน) เป็นคำกล่าวติเตียนพวกพราหมณ์ผู้ปราศจากฌาน ในกาลอันเป็นปฐมกัปอย่างนี้ว่า ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ พราหมณ์เหล่านี้ไม่เพ่งในบัดนี้ พราหมณ์เหล่านี้ไม่เล่าเรียน ในบัดนี้ เพราะเหตุนี้แล อักษรที่ ๓ ว่า อัชฌายิกา อัชฌายิกา ดังนี้ แลจึงเกิดขึ้น.๑-
____________________________
๑- อัคคัญญสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๑๑/ข้อ ๖๔

               
               แต่บัดนี้ ชนทั้งหลายเรียกพราหมณ์นั้นกระทำให้เป็นคำสรรเสริญแล้ว ด้วยความหมายนี้ว่า บุคคลใดย่อมเล่าเรียน บุคคลนั้นชื่อว่า อัชฌายกะ (ผู้คงแก่เรียน) คือสาธยายมนต์. บุคคลใดย่อมทรงจำมนต์ทั้งหลายได้ บุคคลนั้นชื่อมันตธระ (ผู้ทรงจำมนต์ได้).
               บทว่า ไตรเพท คือ อิรุพเพทยชุพเพทและสามเพท. บุคคลใดถึงแล้วซึ่งฝั่งด้วยอำนาจกระทำให้ริมฝีปากกระทบกัน บุคคลนั้นชื่อว่า ผู้ถึงฝั่ง (ผู้เรียนจบไตรเพท). ไตรเพทเป็นไปกับด้วยนิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์ ชื่อว่าพร้อมกับนิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์.
               คำว่า นิฆัณฑุ คือ ศาสตร์ที่แสดงถึงคำไวพจน์ของสิ่งทั้งหลายมีนิฆัณฑุรุกข์เป็นต้น. คำว่า เกฏุภะ คือ กิริยากัปปวิกัปป ได้แก่ ศาสตร์ว่าด้วยเครื่องมือของกวีทั้งหลาย. ไตรเพทเป็นไปกับด้วยประเภทแห่งอักขระ ชื่อว่าพร้อมด้วยประเภทแห่งอักขระ.
               บทว่า ประเภทแห่งอักขระ ได้แก่ สิกขาและนิรุติ.
               บทว่า มีศาสตร์ว่าด้วยพงศาวดารเป็นที่ ๕ ความว่า พงศาวดาร กล่าวคือเรื่องราวเก่าๆ ที่ประกอบด้วยคำเช่นนี้ว่า อิติห อส อิติห อส (สิ่งนี้ได้เป็นมาแล้วเช่นนี้ สิ่งนี้ได้เป็นมาแล้วเช่นนี้) เป็นที่ ๕ ของไตรเพทนั้น เพราะนับอาถรรพเวทเป็นที่ ๔ เหตุนั้น ไตรเพทนั้นจึงชื่อว่ามีคัมภีร์ว่าด้วยพงศาวดารเป็นที่ ๕. มีศาสตร์ว่าด้วยพงศาวดารเป็นที่ ๕ เหล่านั้น. ผู้ใดย่อมศึกษาและเล่าเรียนบทของเวทและการพยากรณ์อันเป็นพิเศษ ผู้นั้นชื่อว่าผู้ศึกษาเวท และชำนาญการพยากรณ์. ศาสตร์ว่าด้วยคำพูดเล่นๆ ท่านเรียกว่า โลกายตะ.
               บทว่า ลักษณะของมหาบุรุษ ได้แก่ ศาสตร์อันมีปริมาณคัมภีร์ถึง ๑๒,๐๐๐ ที่แสดงลักษณะของมหาบุรุษ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ที่ชื่อว่าเป็นพุทธมนต์ ซึ่งมีปริมาณบทคาถาถึง ๑๖,๐๐๐ มีปรากฏข้อแตกต่างกันดังนี้ คือผู้ประกอบด้วยลักษณะนี้ ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพระอัครสาวกทั้ง ๒ เป็นพระมหาสาวก ๘๐ เป็นพระพุทธมารดา เป็นพระพุทธบิดา เป็นอัครอุปฐาก เป็นอัครอุปฐายิกา เป็นพระราชา เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ.
               บทว่า ผู้เต็มเปี่ยม คือ ไม่บกพร่องในมหาบุรุษลักษณะอันเป็นโลกายตะเหล่านี้ ได้แก่เรียนมาอย่างพร้อมมูล. อธิบายว่า ไม่มีความตกหล่นเลย. ผู้ใดไม่สามารถที่จะทรงจำไว้โดยใจความ และโดยคัมภีร์ซึ่งมหาบุรุษลักษณะเหล่านั้น ผู้นั้นชื่อว่า ยังบกพร่อง.
               บทว่า อนุญฺญาตปฏิญฺญาโต แปลว่า ผู้อันอาจารย์ยอมรับและรับรองแล้ว. อธิบายว่า ผู้อันอาจารย์ยอมรับแล้ว โดยนัยเป็นต้นว่า เรารู้สิ่งใด ท่านก็รู้สิ่งนั้นแล้ว ตนก็รับรองแล้ว ด้วยคำปฏิญาณคือการให้คำตอบแก่อาจารย์นั้นว่า ขอรับ อาจารย์. ในเรื่องอะไร. ในคำสอนที่ประกอบด้วยวิชา ๓ อันเป็นของอาจารย์ของตน.
               ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นคิดว่า ในโลกนี้ ชนเป็นอันมากพากันเที่ยวพูดถึงนามของบุคคลผู้สูงสุดว่า เราเป็นพระพุทธเจ้า เราเป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น การที่เราจะเข้าไปเฝ้าโดยเหตุเพียงได้ยินเขาเล่าลือกันมาหาเป็นการสมควรไม่ เพราะแม้เมื่อเราเข้าไปหาบางคนแล้วไม่หลีกไปเสียก็เป็นการลำบาก ทั้งไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย ถ้ากระไร เราใช้ให้ศิษย์ของเรารู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้าหรือมิใช่ แน่นอนแล้วพึงเข้าไปเฝ้า เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกมาณพมาแล้วกล่าวคำเป็นต้นว่า แน่ะพ่อ พระสมณโคดมนี้ ดังนี้.
               บทว่า ผู้เจริญนั้น คือ พระโคดมผู้เจริญนั้น.
               บทว่า ผู้เป็นเช่นนั้นจริง คือ ผู้เป็นเช่นนั้นโดยแท้. แม้ในบทนี้ คำนี้ก็เป็นทุติยาวิภัตติด้วยอำนาจแห่งอรรถว่า กล่าวถึงตามที่เป็นอยู่เช่นนั้น.
               ในบทนี้ว่า ยถา กถํ ปนาหํ โภ มีใจความว่า แน่ะผู้เจริญ เราจักรู้พระโคดมผู้เจริญนั้นได้อย่างไร พระโคดมนั้น เราจะสามารถรู้ได้โดยวิธีใด ท่านจงบอกพระโคดมนั้นแก่เราโดยวิธีนั้น. อีกประการหนึ่ง คำว่า ยถา นี้ เป็นเพียงนิบาต. คำว่า กถํ เป็นคำถามถึงอาการ. มีใจความว่า เราจักรู้พระโคดมผู้เจริญนั้นได้โดยเหตุใด.
               ได้ยินว่า เมื่อกล่าวถึงอย่างนี้ พราหมณ์ผู้เป็นอุปัชฌาย์ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า แน่ะพ่อ ท่านย่อมกล่าวเหมือนกับคนผู้ยืนอยู่บนแผ่นดิน พูดว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นแผ่นดิน และคนที่ยืนอยู่ในแสงสว่างของพระจันทร์และพระอาทิตย์ พูดว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นพระจันทร์และพระอาทิตย์ ดังนี้กะเขาแล้ว เมื่อจะแสดงอาการที่ตนรู้จึงกล่าวว่า อาคตานิ โข ตาต เป็นต้น.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า ในมนต์ทั้งหลาย คือ ในเวททั้งหลาย.
               พวกเทวดาชั้นสุทธาวาสทราบว่า ได้ยินว่า พระตถาคตจักอุบัติขึ้น จึงได้รีบใส่ลักษณะทั้งหลายไว้ในเวททั้งหลายแล้วเทียว สอนเวททั้งหลายด้วยแปลงเพศเป็นพราหมณ์ ด้วยกล่าวว่า เหล่านี้ชื่อว่าพระพุทธมนต์ โดยคิดว่า สัตว์ผู้มีศักดิ์ใหญ่ทั้งหลายจักรู้จักพระตถาคตโดยทำนองนี้ ดังนี้. เพราะเหตุนั้น มหาบุรุษลักษณะทั้งหลายจึงมีมาในเวททั้งหลายก่อน. แต่เมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว ก็จะอันตรธานไปโดยลำดับ เพราะเหตุนั้น บัดนี้จึงไม่มี.
               คำว่า ของมหาบุรุษ คือ ของคนผู้ใหญ่โดยคุณ มีความตั้งใจมั่น ความถือมั่น ความรู้และกรุณาเป็นต้น.
               คำว่า คติ ๒ เท่านั้น คือ ที่สุด ๒ อย่างเท่านั้นโดยแท้แล.
               คติศัพท์นี้เป็นไปในความแตกต่างแห่งภพ ในคำเป็นต้นว่า ดูก่อนสารีบุตร ภพมี ๕ เหล่านี้แล.๒-
               เป็นไปในสถานที่อาศัยอยู่ ในคำเป็นต้นว่า ป่ากว้างใหญ่ เป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่เนื้อทั้งหลาย.๓-
               เป็นไปในปัญญา ในคำเป็นต้นว่า ผู้มีปัญญามากหลายเช่นนี้.๔-
               เป็นไปในความแพร่หลาย ในคำเป็นต้นว่า คติคตํ.๕-
____________________________
๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๗๐   ๓- วิ. ปริ. เล่ม ๘/ข้อ ๑๐๔๔
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๙๒   ๕- วิ. จุลฺ. เล่ม ๖/ข้อ ๖๑๒

               แต่ในที่นี้พึงทราบว่า เป็นไปในที่สุด.
               ในลักษณะเหล่านั้น ผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่าใด ย่อมเป็นพระราชาจักรพรรดิ ย่อมไม่เป็นพระพุทธเจ้าด้วยลักษณะเหล่านั้น โดยแท้. แต่ท่านกล่าวว่า ลักษณะเหล่านั้นๆ โดยความเสมอกันแห่งชาติ. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่าใด
               บทว่า ถ้าอยู่ครองเรือน คือ ถ้าอยู่ในเรือน.
               บทว่า จะเป็นพระราชาจักรพรรดิ ความว่า ผู้ที่ชื่อว่าพระราชา เพราะทำให้ชาวโลกยินดีด้วยอัจฉริยธรรม และสังคหวัตถุ ๔ อย่าง. ผู้ที่ชื่อว่าจักรพรรดิ เพราะยังจักรรัตนะให้เป็นไป คือเป็นไปพร้อมกับจักรอันเป็นสมบัติ ๔ อย่าง และยังคนอื่นให้เป็นไปด้วย.
               อนึ่ง ความเป็นไปแห่งอิริยาบถจักร เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นมีอยู่ในผู้นั้น ผู้นั้นชื่อว่าจักรพรรดิ.
               ก็ในคำทั้ง ๒ นี้ คำว่า ราชา เป็นคำสามัญธรรมดา. คำว่า จักรพรรดิ เป็นคำพิเศษ.
               ผู้ชื่อว่า ธรรมิกะ เพราะประพฤติโดยธรรม. อธิบายว่า ประพฤติโดยชอบยิ่ง คือโดยเหมาะสม. ผู้ชื่อว่า ธรรมราชา เพราะได้ราชสมบัติโดยธรรม จึงได้เป็นพระราชา.
               อีกประการหนึ่ง ผู้ชื่อว่า ธรรมิกะ เพราะกระทำความดีอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น. ผู้ชื่อว่า ธรรมราชา เพราะการกระทำความดีอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน.
               ผู้ชื่อว่า จาตุรันตะ เพราะเป็นใหญ่ทั่วทั้ง ๔ ทวีป. อธิบายว่า เป็นใหญ่บนผืนแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต และพร้อมพรั่งด้วยทวีปทั้ง ๔.
               ผู้ชื่อว่า กำชัยชนะไว้ได้หมด เพราะชำนะข้าศึกมีความขัดเคืองเป็นต้นในภายในและชำนะพระราชาทั้งปวงในภายนอก.
               บทว่า ถึงความมั่นคงในชนบท คือ ถึงความมั่นคง คือความถาวรในชนบท ใครๆ ไม่สามารถที่จะทำให้หวั่นไหวได้. อีกประการหนึ่ง ชนบทถึงความถาวรในที่นั้นๆ ไม่ต้องขวนขวาย ยินดีแต่ในการงานของตน ไม่หวั่นไหว ไม่สะทกสะท้าน.
               บทว่า อย่างนี้ เป็นนิบาต. ใจความว่า รัตนะเหล่านี้ ของพระเจ้าจักรพรรดินั้น มีอะไรบ้าง.
               ในบทว่า จักรรัตนะ เป็นต้น จักรนั้นด้วย เป็นรัตนะเพราะอรรถว่า ทำให้เกิดความยินดีด้วย เหตุนั้น จึงชื่อว่า จักรรัตนะ.
               ในที่ทุกแห่งก็มีนัยเช่นนี้.
               ก็ในรัตนะเหล่านี้ พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงชนะผู้ที่ยังไม่ชนะด้วยจักรรัตนะ ย่อมเสด็จพระราชดำเนินไปตามสบายในแว่นแคว้นที่พระองค์ทรงชนะแล้วด้วยช้างแก้วและม้าแก้ว ย่อมทรงรักษาแว่นแคว้นที่ทรงชนะแล้วด้วยขุนพลแก้ว ย่อมทรงเสวยอุปโภคสุขด้วยรัตนะที่เหลือ.
               พึงทราบความสัมพันธ์กันดังนี้
               คือ การใช้ความสามารถด้วยความเพียรพยายามของพระเจ้าจักรพรรดินั้น สำเร็จบริบูรณ์แล้วด้วยจักรรัตนะที่ ๑ การใช้ความสามารถด้วยมนต์ สำเร็จบริบูรณ์แล้วด้วยรัตนะสุดท้าย การใช้ความสามารถด้วยปภุ (ความเป็นผู้ใหญ่ยิ่ง) สำเร็จบริบูรณ์แล้วด้วยขุนคลังแก้ว ช้างแก้ว และม้าแก้ว ผลของการใช้ความสามารถ ๓ อย่างบริบูรณ์แล้ว ด้วยนางแก้ว และแก้วมณี.
               พระเจ้าจักรพรรดิทรงเสวยความสุขอันเกิดจากโภคสมบัติ ด้วยนางแก้ว และแก้วมณี ทรงเสวยความสุขอันเกิดจากความเป็นใหญ่ด้วยรัตนะทั้งหลายที่เหลือ.
               อนึ่ง พึงทราบโดยแปลกออกไปอีก ดังนี้
               รัตนะ ๓ อันแรก สำเร็จได้ด้วยอานุภาพแห่งกรรมที่กุศลมูล คือความไม่ประทุษร้ายให้เกิดขึ้น รัตนะท่ามกลาง สำเร็จได้ด้วยอานุภาพแห่งกรรมที่กุศลมูล คือความไม่โลภให้เกิดขึ้น รัตนะอันหนึ่งสุดท้าย สำเร็จได้ด้วยอานุภาพแห่งกรรม อันกุศลมูลคือความไม่หลงให้เกิดขึ้น. ในที่นี้กล่าวเป็นเพียงสังเขปเท่านั้น.
               ส่วนความพิสดารพึงถือเอาจากอุปเทศแห่งรัตนสูตร ในโพชฌงคสังยุต.
               บทว่า มีจำนวน ๑,๐๐๐ เป็นเบื้องหน้า คือ เกินกว่า ๑,๐๐๐
               บทว่า ผู้กล้าหาญ คือ ผู้ไม่หวั่นเกรงใคร.
               บทว่า มีรูปร่างองอาจ คือ มีร่างกายเช่นกับเทวบุตร.
               อาจารย์บางพวกพรรณนาไว้ดังนี้ก่อน. แต่ในที่นี้มีสภาวะดังต่อไปนี้.
               ผู้ที่กล้าหาญที่สุด ท่านเรียกว่า วีระ. องค์ของผู้กล้าหาญ ชื่อวีรังคะ คือเหตุแห่งความกล้าหาญ. อธิบายว่า ความเป็นผู้แกล้วกล้า. รูปร่างอันองอาจของคนเหล่านั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่ามีรูปร่างองอาจ. อธิบายว่า ประหนึ่งว่า มีสรีระร่างอันหล่อหลอมด้วยความแกล้วกล้า.
               บทว่า ย่ำยีเสียได้ซึ่งทหารของข้าศึก มีอธิบายว่า ถ้าเหล่าทหารของข้าศึก พึงยืนเผชิญหน้ากัน เขาก็สามารถที่จะย่ำยีเสียได้ซึ่งข้าศึกนั้น.
               บทว่า โดยธรรม คือ โดยธรรม คือศีล ๕ ที่มีว่าไม่ควรฆ่าสัตว์เป็นต้น.๖-
____________________________
๖- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๑๖๔

               ในบทนี้ว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก. มีใจความว่า เมื่อความมืดคือกิเลสปกคลุมอยู่ด้วยเครื่องปกคลุม คือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อวิชชาและทุจริต ๗ อย่าง พระองค์ทรงเปิดหลังคานั้นในโลกได้แล้ว ทรงมีแสงสว่างเกิดแล้วโดยทั่วถึงประทับยืนอยู่ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้ว.
               ในบทเหล่านั้น ความที่พระองค์เป็นผู้ควรบูชา พึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้ด้วยบทที่ ๑ เหตุแห่งความที่พระองค์ทรงเป็นผู้ควรบูชา เพราะเหตุที่พระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้ด้วยบทที่ ๒ ความที่พระองค์ทรงเป็นผู้มีหลังคาอันเปิดแล้วที่เป็นเหตุแห่งความเป็นพระพุทธเจ้า พึงทราบว่าท่านกล่าวไว้ด้วยบทที่ ๓.
               อีกประการหนึ่ง พระองค์ทรงเป็นผู้ปราศจากวัฏฏะด้วย ปราศจากหลังคาด้วย เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า ปราศจากวัฏฏะ และหลังคา. อธิบายว่า ไม่มีวัฏฏะ และไม่มีหลังคา.
               เพราะเหตุนั้น สำหรับ ๒ บทแรกนี่แหละ ท่านจึงกล่าวไว้ ๒ เหตุอย่างนี้ว่า พระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์เพราะไม่มีวัฏฏะ ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เพราะไม่มีหลังคา.
               อนึ่ง บทนี้ ความสำเร็จเบื้องแรกมีได้ด้วยเวสารัชชญาณที่ ๒. ความสำเร็จที่ ๒ มีได้ด้วยเวสารัชชญาณที่ ๑. ความสำเร็จที่ ๓ มีได้ด้วยเวสารรัชชญาณที่ ๓ และที่ ๔. พึงทราบอีกว่า คำแรกชี้ให้เห็นธรรมจักษุ คำที่ ๒ พุทธจักษุ และคำที่ ๓ สมันตจักษุ.
               พราหมณ์พูดให้เกิดความกล้าหาญในมนต์ทั้งหลายแก่มาณพนั้น ด้วยคำนี้ว่า ท่านเป็นผู้รับมนต์ ดังนี้.
               แม้มาณพนั้นก็ปราศจากความหลงลืมในลักษณะแห่งคำพูดของอาจารย์นั้น มองเห็นทะลุปุโปร่งซึ่งพุทธมนต์ ประดุจว่าเกิดแสงสว่างเป็นอันเดียว จึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญเป็นอย่างนั้น. มีใจความว่า ท่านผู้เจริญ ท่านกล่าวฉันใด ผมจักทำฉันนั้น.
               บทว่า วฬวารถมารุยฺห แปลว่า ขึ้นสู่รถอันเทียมด้วยลา. ทราบมาว่า พราหมณ์ตัวเองท่องเที่ยวไปด้วยรถใด ก็ให้รถคันนั้นแหละส่งมาณพไป.
               บทว่า มาณวกา คือเป็นอันเตวาสิกของพราหมณ์ชื่อ โปกขรสาตินั่นเอง. นัยว่า พราหมณ์นั้นได้ให้สัญญาแก่พวกอันเตวาสิกว่า พวกท่านจงไปพร้อมกับอัมพัฏฐมาณพนั้น.
               บทว่า พื้นที่แห่งยานมีอยู่เพียงใด ความว่า เขาสามารถจะไปได้ด้วยยานตลอดพื้นที่เท่าใด. บทว่า ลงจากยาน คือ เขาไปสู่ที่ใกล้ซุ้มประตูอันมิใช่พื้นที่ของยานแล้วก็ลงจากยาน.
               บทว่า ก็โดยสมัยนั้นแล คือ อัมพัฏฐมาณพเข้าไปสู่อารามในสมัยใด ในสมัยนั้นแล คือในเวลาเที่ยงตรง.
               ถามว่า ภิกษุทั้งหลายเดินจงกรมในเวลานั้น เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพื่อจะบรรเทาความง่วงเหงาหาวนอนอันมีโภชนะประณีตเป็นปัจจัย. หรือว่า ภิกษุเหล่านั้นบำเพ็ญเพียรในเวลากลางวัน. เพราะว่าจิตของภิกษุผู้เดินจงกรมหลังฉันภัตตาหารแล้ว อาบน้ำ ผึ่งลมแล้ว นั่งกระทำสมณธรรมเช่นนั้นย่อมแน่วแน่.
               บทว่า ภิกษุเหล่านั้นอยู่ที่ใด ความว่า ได้ยินว่า มาณพนั้นคิดว่า เราจักไม่เดินจากบริเวณนั้นไปสู่บริเวณนี้ ด้วยคิดว่า พระสมณโคดมเสด็จประทับอยู่ ณ ที่ไหน จักถามก่อนแล้วเข้าไปเฝ้า จึงชำเลืองมองประหนึ่งช้างในป่า เห็นภิกษุทั้งหลายผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุล กำลังเดินจงกรมอยู่บนที่จงกรมใหญ่ จึงได้ไปยังสำนักของภิกษุเหล่านั้น. ท่านหมายถึง เหตุนั้นจึงได้กล่าวคำนี้ว่า ภิกษุเหล่านั้นอยู่ที่ใด.
               บทว่า ทสฺสนาย แปลว่า เพื่อจะเห็น. ใจความว่า เป็นผู้ใคร่เพื่อจะพบ.
               บทว่า ถือเอากำเนิดในตระกูลมีชื่อเสียง คือ เกิดในตระกูลที่โด่งดัง. ได้ยินว่า ในกาลนั้นขึ้นชื่อว่าตระกูลอัมพัฏฐะ นับเป็นตระกูลโด่งดังในชมพูทวีป.
               บทว่า มีชื่อเสียง คือโด่งดังด้วยรูปร่าง กำเนิด มนต์ ตระกูล และถิ่นฐาน.
               บทว่า ไม่หนัก คือ ไม่เป็นภาระ. ความว่า ผู้ใดไม่พึงสามารถที่จะให้อัมพัฏฐมาณพรู้ได้ การสนทนาด้วยเรื่องราวกับอัมพัฏฐมาณพนั้นของผู้นั้น พึงเป็นที่หนักใจ แต่สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงจะถูกมาณพเช่นอัมพัฏฐะนั้น ตั้งร้อยคนก็ตาม พันคนก็ตาม ถามปัญหา พระองค์มิได้ทรงมีความชักช้าในการที่จะทรงเฉลยเลย พวกภิกษุเหล่านั้นสำคัญอยู่ดังนี้ จึงคิดว่า ก็การสนทนาด้วยเรื่องราวต่างๆ มิได้เป็นที่หนักใจเลย.
               บทว่า วิหาร ท่านกล่าวหมายถึงพระคันธกุฎี.
               บทว่า ไม่รีบร้อน คือ ไม่เร่งรัด. ใจความว่า วางเท้าลงในที่พอเหมาะกับเท้า กระทำวัตรแล้ว ไม่ทำให้ทรายที่เกลี่ยไว้เรียบร้อยเสมอแล้ว เช่นกับปูลาดไว้ด้วยไข่มุก ใบไม้และไม้ย่างทราย ให้เป็นหลุมเป็นบ่อ.
               บทว่า ระเบียง คือ หน้ามุข. บทว่า กระแอมแล้ว คือ กระทำเสียงกระแอม. บทว่า ลูกดาลประตู คือ บานประตู.
               บทว่า ท่านอาจารย์ทั้งหลาย เมื่อจะแสดงธรรมเนียมการเคาะประตู จึงกล่าวว่า ได้ทราบว่าพวกอมนุษย์ย่อมเคาะประตูสูงเกินไป สัตว์จำพวกงูเคาะต่ำเกินไป คนไม่ควรจะเคาะเช่นนั้น ควรเคาะตรงที่ใกล้รูตรงกลาง.
               บทว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปิดประตูแล้ว ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงลุกไปเปิดประตู. แต่พระองค์ทรงเหยียดพระหัตถ์ออก ด้วยตรัสว่า จงเปิดเข้ามาเถิด. ควรจะกล่าวว่า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปิดประตูด้วยพระองค์เองทีเดียว ด้วยตรัสว่า เพราะเธอทั้งหลาย เมื่อให้ทานอยู่เป็นเวลาตั้งโกฏิกัปมิใช่น้อย มิได้กระทำกรรม คือการเปิดประตูด้วยมือตนเองเลย ก็ประตูนั้นอันน้ำพระทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปิดแล้ว เพราะเหตุใด เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเปิดประตูแล้ว.
               บทว่า พวกเขาต่างรื่นเริงอยู่กับพระผู้มีพระภาคเจ้า ความว่า
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะตรัสถามคำเป็นต้นว่า สบายดีหรือ ทรงร่าเริงอยู่กับพวกมาณพเหล่านั้นฉันใด แม้พวกเขาเหล่านั้นต่างก็มีความร่าเริง เป็นไปทำนองเดียวกับพระผู้มีพระภาคเจ้าฉันนั้น คือต่างถึงความร่าเริงร่วมกัน คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประหนึ่งน้ำเย็นรวมกันกับน้ำร้อน ฉะนั้น. พวกมาณพเหล่านั้นต่างร่าเริงด้วยถ้อยคำอันใดเล่าว่า พระโคดม เจ้าข้า พระองค์ทรงพระสำราญดีอยู่แลหรือ พระองค์ยังทรงพอดำรงพระชนมชีพอยู่ได้แลหรือ และพระสาวกทั้งหลายของพระโคดมผู้เจริญ ยังมีอาพาธน้อย ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ยังแข็งแรง มีกำลัง และการอยู่เป็นผาสุกดีอยู่แลหรือ ดังนี้เป็นต้น
               พวกเขาต่างก็กล่าวถ้อยคำนั้นอันเป็นที่ตั้งแห่งความร่าเริง และยังให้ระลึกถึงกันโดยปริยายเป็นอันมากอย่างนี้ว่า ที่ชื่อว่า เป็นที่ตั้งแห่งความร่าเริง เพราะเป็นถ้อยคำที่เหมาะจะบันเทิงใจ โดยก่อให้เกิดความร่าเริง กล่าวคือปีติ และปราโมทย์ และชื่อว่าเป็นที่ตั้งแห่งการให้ระลึกถึงกัน เพราะเป็นถ้อยคำควรระลึก โดยควรที่จะให้กันและกันระลึกถึงสิ้นกาลแม้นานได้ และเป็นไปอยู่ตลอดกาลนิรันดร เพราะเป็นถ้อยคำที่ไพเราะด้วยอรรถ และพยัญชนะ
               อนึ่ง ชื่อว่าเป็นถ้อยคำเป็นที่ตั้งแห่งความร่าเริง เพราะเป็นสุขแก่ผู้ฟัง และชื่อว่าเป็นที่ตั้งแห่งการให้ระลึกถึงกัน เพราะเป็นสุขแก่ผู้รำลึกถึง.
               อีกประการหนึ่ง ชื่อว่าเป็นถ้อยคำเป็นที่ตั้งแห่งความร่าเริง เพราะมีพยัญชนะบริสุทธิ์ ชื่อว่าเป็นถ้อยคำเป็นที่ตั้งแห่งการให้ระลึกถึงกัน เพราะมีอรรถอันบริสุทธิ์ ดังนี้แล้ว.
               ครั้นกล่าวจบ คือกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง.
               บทว่า อมฺพฎฺโฐ ปน มาณโว มีเนื้อความว่า
               ดังได้สดับมา มาณพนั้นไม่กระทำแม้สักว่าความเลื่อมใสแห่งจิตในรูปสมบัติของพระผู้มีพระภาคเจ้า คิดว่า เราจักรุกรานพระทศพล จึงแก้ผ้าที่พันไว้ที่ท้องเอามาห้อยไว้ที่คอ เอามือข้างหนึ่งจับชายผ้าไว้ ขึ้นไปยังที่จงกรม บางคราวก็เปิดแขน บางคราวก็เปิดท้อง บางคราวก็เปิดหลังให้เห็น บางคราวก็แกว่งมือ บางคราวก็ยักคิ้ว ได้กล่าวคำเย้ยหยันที่ทำให้นึกถึงความประพฤติน่าอับอาย เห็นปานฉะนี้ว่า พระโคดมเจ้าข้า ท่านยังมีความสม่ำเสมอของธาตุอยู่แลหรือ ท่านไม่ลำบากด้วยภิกษาหารแลหรือ ก็แลอาการที่ไม่ลำบากนั่นแหละยังปรากฏแก่ท่าน ที่จริงอวัยวะน้อยใหญ่ของท่านเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ในสถานที่ที่ท่านไปแล้ว ชนเป็นอันมากเหล่านั้นมีความนับถือมากเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ท่านเป็นพระราชา บรรพชิต และท่านเป็นพระพุทธเจ้า ต่างก็ถวายอาหารอันมีรสอร่อยประณีต พวกท่านจงดูเรือนของท่าน ราวกะว่าศาลาอันสวยงาม และเป็นดังทิพยปราสาท ดูเตียง ดูหมอน เมื่อท่านอยู่ในสถานที่เห็นปานฉะนี้ การจะบำเพ็ญสมณธรรมย่อมทำได้ยาก.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็อัมพัฏฐมาณพเดินจงกรมอยู่ก็กล่าวสาราณิกถาเล็กๆ น้อยๆ กับพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับนั่งอยู่บ้าง ยืนอยู่ก็กล่าวสาราณิกถาเล็กๆ น้อยๆ กับพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับนั่งอยู่บ้าง.
               บทว่า ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ความว่า
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า มาณพนี้พยายามอยู่ในที่ไม่สมควร เหมือนคนผู้มีประสงค์จะเหยียดมือออกเอื้อมเอาชั้นภวัคคพรหม เหมือนคนผู้มีประสงค์จะเหยียดเท้าออกเดินไปสู่นรกชั้นอเวจี เหมือนคนผู้มีประสงค์จะข้ามมหาสมุทร และเหมือนคนผู้มีประสงค์จะขึ้นไปยังภูเขาสิเนรุ เอาเถอะ เราจะลองซักซ้อมกับเขาดู ดังนี้แล้ว จึงได้ตรัสคำนี้กะอัมพัฏฐมาณพ.
               บทว่า อาจริยปาจริเยหิ แปลว่า กับอาจารย์และอาจารย์ของอาจารย์เหล่านั้น.

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค อัมพัฏฐสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 91อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 141อ่านอรรถกถา 9 / 178อ่านอรรถกถา 9 / 365
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=1920&Z=2832
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=5643
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=5643
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :