ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
เวรัญชกัณฑ์

หน้าต่างที่ ๑๒ / ๑๕.

               กถาว่าด้วยปุพเพนิวาสญาณ               
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเอกเทศแห่งคุณทั้งหลาย ที่จตุตถฌานเป็นเหตุอำนวยให้เหล่านั้น จึงตรัสว่า เอวํ สมาหิเต จิตฺเต ดังนี้เป็นต้น.
               ในคำว่า โส เอวํ เป็นต้นเหล่านั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า โส คือ โส อหํ แปลว่า เรานั้น. บทว่า เอวํ นั่นเป็นบทแสดงลำดับแห่งจตุตถฌาน. มีอธิบายว่า เราได้เฉพาะจตุตถฌาน ด้วยลำดับนี้.
               บทว่า สมาหิเต ความว่า (เมื่อจิตของเรา) ตั้งมั่นแล้วด้วยสมาธิ ในจตุตถฌานนี้.
               ส่วนในคำว่า ปริสุทฺเธ เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ชื่อว่า บริสุทธิ์ เพราะมีสติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ อันอุเบกขาให้เกิดแล้ว. มีคำอธิบายไว้ว่า ชื่อว่า ผุดผ่อง คือใสสว่าง เพราะความเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์นั่นเอง.
               ชื่อว่า ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน เพราะความที่กิเลสเพียงดังเนินมีราคะเป็นต้น อันมรรคจำกัดแล้ว เพราะฆ่าซึ่งปัจจัยมีสุขเป็นต้นเสียได้. ชื่อว่ามีอุปกิเลสปราศไปแล้ว เพราะความไม่มีกิเลสเพียงดังเนินนั่นเอง.
               จริงอยู่ จิตย่อมเศร้าหมอง เพราะกิเลสเพียงดังเนิน.
               ชื่อว่า เป็นธรรมชาติอ่อน เพราะอบรมดีแล้ว. มีคำอธิบายว่า ถึงความชำนาญ. แท้จริง จิตที่เป็นไปอยู่ในอำนาจ ท่านเรียกว่า มุทุ (อ่อน).
               อนึ่ง ชื่อว่าควรแก่การงาน เพราะความเป็นจิตอ่อนนั่นเอง. มีคำอธิบายว่า เหมาะแก่การงาน คือควรประกอบในการงาน. จริงอยู่ จิตที่อ่อนย่อมเป็นของควรแก่การงาน ดุจทองคำที่ไล่มลทินออกดีแล้ว ฉะนั้น. ก็จิตแม้ทั้ง ๒ (คือจิตอ่อนและจิตที่ควรแก่การงาน) นั้นจะมีได้ ก็เพราะเป็นจิตที่ได้รับอบรมดีแล้วนั่นแล.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เล็งเห็นแม้ธรรมอย่างหนึ่งอื่นที่อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นของอ่อนและควรแก่การงานเหมือนจิตนี้เลย นะภิกษุทั้งหลาย.๑-
               ชื่อว่า ตั้งมั่นแล้ว เพราะตั้งอยู่ในธรรมทั้งหลายมีความบริสุทธิ์เป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่าถึงความไม่หวั่นไหว เพราะความเป็นจิตตั้งมั่นนั่นเอง. มีอธิบายว่า เป็นจิตไม่หวั่นไหว คือหมดความหวั่นไหว. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าตั้งมั่นแล้ว เพราะความเป็นจิตตั้งอยู่แล้วในอำนาจของตน โดยความเป็นจิตอ่อนและควรแก่การงาน. ชื่อว่าถึงความไม่หวั่นไหว เพราะความเป็นจิตอันธรรมทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้น ประคองไว้แล้ว.
____________________________
๑- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๘/หน้า ๑๑

               [จิตประกอบด้วยธรรม ๖ อย่างเป็นจิตไม่หวั่นไหว]               
               จริงอยู่ จิตอันศรัทธาประคองไว้แล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะอสัทธิยะ (ความไม่มีศรัทธา) อันวิริยะประคองไว้แล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะโกสัชชะ (ความเกียจคร้าน) อันสติประคองไว้แล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะความประมาท (ความเลินเล่อ) อันสมาธิประคองไว้แล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะอุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) อันปัญญาประคองไว้แล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะอวิชชา (ความไม่รู้) ที่ถึงความสว่าง ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะความมืด คือกิเลส จิตอันธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ประคองไว้แล้ว เป็นจิตถึงความไม่หวั่นไหว. จิตที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการดังพรรณนามาแล้วนี้ ย่อมเป็นของควรแก่อภินิหาร เพื่อการทำให้แจ้งด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมทั้งหลายที่ควรทำให้แจ้งด้วยอภิญญา.
               แม้อีกนัยหนึ่ง เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วด้วยสมาธิในจตุตถฌาน ชื่อว่าเป็นจิตบริสุทธิ์ เพราะเป็นจิตไกลจากนิวรณ์, ชื่อว่าผุดผ่อง เพราะก้าวล่วงองค์ฌานมีวิตกเป็นต้น, ชื่อว่าไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน เพราะไม่มีความประพฤติต่ำ ด้วยความปรารถนาอันลามก ซึ่งเป็นข้าศึกต่อการกลับได้ฌาน.๑-
               อธิบายว่า ชื่อว่าไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน เพราะไม่มีความประพฤติต่ำ ด้วยความปรารถนา คือเพราะไม่มีปัจจัยแห่งกามราคะมีประการต่างๆ อันหยั่งลงแล้ว คือเป็นไปแล้วด้วยอำนาจความปรารถนา. ชื่อว่า มีอุปกิเลสปราศไปแล้ว เพราะความปราศไปแห่งความเศร้าหมองของจิต มีอภิชฌาเป็นต้น. ก็แม้ธรรมทั้ง ๒ (คือความไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน และมีกิเลสปราศไป) นั้น บัณฑิตพึงทราบตามแนวแห่งอนังคณสูตรและวัตถุสูตร.๒-
               ชื่อว่า เป็นจิตอ่อน เพราะถึงความชำนาญ. ชื่อว่า ควรแก่การงาน เพราะเข้าถึงความเป็นบาทแห่งฤทธิ์, ชื่อว่า ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว เพราะเข้าถึงความเป็นธรรมชาติประณีต ด้วยความเต็มบริบูรณ์แห่งภาวนา, อธิบายว่า จิตย่อมถึงความไม่หวั่นไหว ฉันใด, ตั้งมั่นแล้ว ฉันนั้น. จิตที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ แม้ดังพรรณนามาแล้วนี้ ย่อมเป็นของควรแก่อภินิหาร เป็นบาท เป็นปทัฏฐาน แห่งการทำให้แจ้งด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมทั้งหลายที่ควรทำให้แจ้งด้วยอภิญญา ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติญฺญาณาย ความว่า เมื่อจิตนั่นอันเป็นบาทแห่งอภิญญา เกิดแล้วอย่างนั้น, (เราได้น้อมจิตไป) เพื่อประโยชน์แก่บุพเพนิวาสานุสติฌานนั้น.
____________________________
๑- วิสุทธิมรรค. ๒/๒๐๓ เป็น ฌานปฏิลาภปจฺจนีกานํ เห็นว่าถูก
๑- จึงแปลตามนั้น.
๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๔/หน้า ๔๒
๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๙๑-๙๙/หน้า ๖๔-๗๑.

               [อรรถาธิบายวิเคราะห์ ปุพเพนิวาสศัพท์]               
               ในบรรดาบทว่า ปุพฺเพนิวาสา เป็นต้นนี้ พึงทราบวิเคราะห์ศัพท์ดังนี้ :-
               ขันธ์ที่ตนเคยอยู่แล้วในกาลก่อน คือในอดีตชาติ ชื่อว่า ปุพเพนิวาส (ขันธ์ที่ตนเคยอยู่แล้วในกาลก่อน).
               ขันธ์ที่ตนเคยอยู่ดับแล้ว คือที่ตนตามเสวยแล้ว ได้แก่ ที่เกิดขึ้นในสันดานของตนแล้วดับไป หรือธรรมที่ตนเคยอยู่แล้ว ชื่อว่า นิวุฏฺฐา (ขันธ์หรือธรรมที่ตนเคยอยู่ดับแล้ว).
               ธรรมทั้งหลายที่ตนเคยอยู่ ด้วยการอยู่โดยความเป็นโคจร คือที่ตนรู้แจ้ง ได้แก่ที่ตนกำหนดแล้ว ด้วยวิญญาณของตน หรือแม้ที่ตนรู้แจ้งแล้วด้วยวิญญาณของผู้อื่น ในญาณทั้งหลายมีการตามระลึกถึงสังสารวัฏที่ตนตัดได้ขาดแล้ว ชื่อว่า นิวุฏฺฐา.
               พระโยคาวจรย่อมตามระลึกได้ถึงขันธ์ ที่ตนเคยอยู่ในกาลก่อนด้วยสติใด,๑- สตินั้นชื่อว่า บุพเพนิวาสานุสติ ในคำว่า ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติ นี้.
               ญาณที่สัมปยุตด้วยสตินั้น ชื่อว่า ญาณ. เพื่อประโยชน์แก่บุพเพนิวาสานุสติญาณนี้, มีคำอธิบายว่า (เราได้น้อมจิตไป) เพื่อบุพเพนิวาสานุสติญาณ คือเพื่อบรรลุ ได้แก่เพื่อถึงญาณนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อภินินฺนาเมสึ แปลว่า เราได้น้อมไปเฉพาะแล้ว.
               บทว่า โส คือ โส อหํ แปลว่า เรานั้น.
               บทว่า อเนกวิหิตํ แปลว่า มิใช่ชาติเดียว, อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า อันเราให้เป็นไปแล้ว คือพรรณนาไว้แล้วโดยอเนกประการ.
               บทว่า ปุพฺเพนิวาสํ ได้แก่ สันดานอันเราเคยอยู่ประจำ.
               ในภพนั้นๆ ตั้งต้นแต่ภพที่ล่วงแล้วเป็นลำดับไป.
               ด้วยบทว่า อนุสฺสรามิ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงว่า เราได้ตามระลึกไปๆ ถึงลำดับแห่งชาติได้อย่างนี้ คือ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้างเป็นต้น, อีกอย่างหนึ่ง เราระลึกตามได้จริงๆ คือเมื่อจิตสักว่าเราได้น้อมไปเฉพาะแล้วเท่านั้น เราก็ระลึกได้.
               จริงอยู่ พระมหาบุรุษทั้งหลายผู้มีบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว ไม่มีการทำบริกรรม เพราะเหตุนั้น มหาบุรุษเหล่านั้นพอน้อมจิตมุ่งตรงไปเท่านั้น ก็ย่อมระลึก (ชาติ) ได้. ส่วนกุลบุตรผู้เป็นอาทิกรรมิกทั้งหลาย ต้องทำบริกรรมจึงระลึก (ชาติ) ได้ เพราะเหตุนั้น การบริกรรมด้วยสามารถแห่งกุลบุตรเหล่านั้น จึงควรกล่าวไว้ด้วย. แต่เมื่อข้าพเจ้าจะกล่าวการบริกรรมนั้น จะทำนิทานแห่งพระวินัยให้เป็นภาระหนักยิ่ง เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวการบริกรรมนั้นไว้ แต่นักศึกษาผู้มีความต้องการควรถือเอาบริกรรมนั้น ตามนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรค.๒- ก็ในนิทานแห่งพระวินัยนี้ ข้าพเจ้าจักพรรณนาไว้เฉพาะบาลีเท่านั้น.
               บทว่า เสยฺยถีทํ เป็นนิบาต ลงในอรรถแห่งการแสดงประการที่พระองค์ทรงเริ่มไว้แล้ว. เพราะเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงประการที่ต่างกันแห่งบุพเพนิวาส ที่พระองค์ทรงเริ่มไว้แล้วนั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า เอกมฺปิ ชาตึ เป็นต้น. ในคำว่า เอกมฺปิ ชาตึ เป็นต้นนั้นมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               สองบทว่า เอกมฺปิ ชาตึ ความว่า ชาติหนึ่งบ้าง ได้แก่ ขันธสันดานอันนับเนื่องในภพหนึ่ง ซึ่งมีปฏิสนธิเป็นมูล มีจุติเป็นที่สุด.
               บทว่า เทฺวปิ ชาติโย เป็นต้นก็นัยนี้.
____________________________
๑- วิสุทธิมรรค. ๒/๒๑.  ๒- วิสุทธิมรรค. ๒/๒๕๑-๒๕๓.

               [อรรถาธิบายเรื่องกัป]               
               อนึ่ง ในบทว่า อเนเกปิ สํวฏฺฏกปฺเป เป็นต้น พึงทราบว่า กัปที่กำลังเสื่อมลง ชื่อว่าสังวัฏฏกัป, กัปที่กำลังเจริญขึ้น ชื่อว่าวิวัฏฏกัป. บรรดาสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปทั้ง ๒ นั้น สังวัฏฏฐายีกัป ชื่อว่าเป็นอันท่านถือเอาแล้ว ด้วยสังวัฏฏกัป เพราะสังวัฏฏกัปเป็นมูลเดิมแห่งสังวัฏฏฐายีกัปนั้น และวิวัฏฏฐายีกัป ก็เป็นอันท่านถือเอาแล้วด้วยวิวัฏฏกัป.
               จริงอยู่ เมื่อถือเอาเช่นนั้น กัปทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสงไขยกัป ๔ อย่างเหล่านี้, ๔ อย่างเป็นไฉน? คือ สังวัฏฏกัป ๑ สังวัฏฏฐายีกัป ๑ วิวัฏฏกัป ๑ วิวัฏฏฐายีกัป ๑, ทั้งหมดย่อมเป็นอันท่านถือเอาแล้ว.
               บรรดากัปเหล่านั้น สังวัฏฏกัปมี ๓ คือ เตโชสังวัฏฏกัป (คือกัปที่พินาศไปเพราะไฟ) ๑ อาโปสังวัฏฏกัป (คือกัปที่พินาศไปเพราะน้ำ) ๑ วาโยสังวัฏฏกัป (คือกัปที่พินาศไปเพราะลม).
               เขตแดนแห่งสังวัฏฏกัปมี ๓ คือ ชั้นอาภัสสระ ๑ ชั้นสุภกิณหะ ๑ ชั้นเวหัปผละ ๑. ในกาลใด กัปย่อมพินาศไปเพราะไฟ, ในกาลนั้น โลกย่อมถูกไฟเผา ภายใต้ตั้งแต่ชั้นอาภัสสระลงมา. ในกาลใด กัปย่อมพินาศไปเพราะน้ำ ในกาลนั้น โลกย่อมถูกน้ำทำลายให้แหลกเหลวไป ภายใต้ตั้งแต่ชั้นสุภกิณหะลงมา. ในกาลใด กัปย่อมพินาศไปเพราะลม, ในกาลนั้น โลกย่อมถูกลมพัดให้กระจัดกระจายไป ภายใต้ตั้งแต่ชั้นเวหัปผละลงมา. ก็โดยส่วนมาก๒- พุทธเขตอย่างหนึ่ง (คือเขตของพระพุทธเจ้า) ย่อมพินาศไป แม้ในกาลทุกเมื่อ.
____________________________
๑- องฺ จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๕๖/หน้า ๑๙๐.
๒- วิตฺถารโตติ ปุถุกโต. โยชนา ๑/๑๖๑.

               [พุทธเขต ๓ พร้อมทั้งอรรถาธิบาย]               
               ขึ้นชื่อว่า พุทธเขต (คือเขตของพระพุทธเจ้า) มี ๓ คือ ชาติเขต (คือเขตที่ประสูติ) ๑ อาณาเขต (คือเขตแห่งอำนาจ) ๑ วิสัยเขต (คือเขตแห่งอารมณ์ หรือความหวัง) ๑.
               ในพุทธเขต ๓ อย่างนั้น สถานเป็นที่หวั่นไหวแล้ว เพราะเหตุทั้งหลายมีการถือปฏิสนธิเป็นต้น ของพระตถาคต ชื่อชาติเขต ซึ่งมีหมื่นจักรวาลเป็นที่สุด.
               สถานที่อานุภาพแห่งพระปริตรเหล่านี้ คือ รัตนปริตร เมตตาปริตร ขันธปริตร ธชัคคปริตร อาฏานาฏิยปริตร โมรปริตร เป็นไปชื่อว่า อาณาเขตซึ่งมีแสนโกฏิจักรวาลเป็นที่สุด.
               เขตเป็นที่พึ่งซึ่งพระองค์ทรงระลึกจำนงหวัง ที่พระองค์ทรงหมายถึงตรัสไว้ว่า ก็หรือว่า ตถาคตพึงหวังโลกธาตุมีประมาณเพียงใด ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า วิสัยเขต ซึ่งมีประมาณหาที่สุดมิได้.
               บรรดาพุทธเขตทั้ง ๓ เหล่านั้น อาณาเขตอย่างหนึ่งย่อมพินาศไป ดังพรรณนามาฉะนี้. ก็เมื่ออาณาเขตนั้นพินาศอยู่ ชาติเขตก็ย่อมเป็นอันพินาศไปด้วยเหมือนกัน. และชาติเขตเมื่อพินาศไป ก็ย่อมพินาศโดยรวมกันไปทีเดียว. แม้เมื่อดำรงอยู่ ก็ย่อมดำรงอยู่โดยรวมกัน. ความพินาศไป และความดำรงอยู่แห่งเขตนั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค.๑- นักศึกษาทั้งหลายผู้มีความต้องการ พึงถือเอาจากปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรคนั้น.
____________________________
๑- วิสุทธิมรรค ๒/๒๒๕-๒๖๕.

               ก็บรรดาสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งอยู่ ณ โพธิมัณฑ์ เพื่อต้องการตรัสรู้ยิ่งซึ่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงระลึก (บุพเพนิวาสได้) ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง.
               ทรงระลึกได้ โดยนัยอย่างไร?
               คือทรงระลึกได้โดยนัยว่า อมุตฺตราสึ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมุตฺตราสึ ความว่า ในสังวัฏฏกัปชื่อโน้น เราได้มีแล้ว คือในภพก็ดี ในกำเนิดก็ดี ในคติก็ดี ในวิญญาณฐิติก็ดี ในสัตตาวาสก็ดี ในสัตนิกายก็ดี ชื่อโน้น เราได้มีแล้ว.
               บทว่า เอวนฺนาโม ความว่า (ในภพเป็นต้นชื่อโน้น) เรามีชื่อว่า เวสสันดร หรือมีชื่อว่า โชติบาล.
               บทว่า เอวํโคตฺโต ความว่า เราเป็นภควโคตรหรือโคตมโคตร.
               บทว่า เอวํวณฺโณ ความว่า เราเป็นผู้มีผิวขาว หรือดำคล้ำ.
               บทว่า เอวมาหาโร ความว่า เรามีอาหารคือข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่ปรุงด้วยเนื้อ หรือมีผลไม้ที่หล่นลงเองเป็นของบริโภค.
               บทว่า เอวํสุขทุกฺขปฏิสํเวที ความว่า เราได้เสวยสุขและทุกข์ต่างโดยประเภทมีสามิสสุขและนิรามิสสุขเป็นต้น ที่เป็นไปทางกายและทางจิตโดยอเนกประการบ้าง.
               บทว่า เอวมายุปริยนฺโต ความว่า (ในภพเป็นต้นชื่อโน้น) เรามีที่สุดแห่งอายุมีกำหนดได้ร้อยปี หรือมีที่สุดแห่งอายุมีกำหนดได้แปดหมื่นสี่พันกัป อย่างนั้น.
               หลายบทว่า โส ตโต จุโต อมุตฺร อุทปาทึ ความว่า เรานั้นจุติจากภพ กำเนิด คติ วิญญาณฐิติ สัตตาวาส หรือสัตตนิกายนั้นแล้ว จึงได้เกิดขึ้นในภพ กำเนิด คติ วิญญาณฐิติ สัตตาวาส หรือในสัตตนิกายชื่อโน้นอีก.
               บทว่า ตตฺราปาสึ ความว่า ภายหลังเราได้มีแล้ว ในภพ กำเนิด คติ วิญญาณฐิติ สัตตาวาส หรือในสัตตนิกายแม้นั้น ซ้ำอีก. คำว่า เอวํนาโม เป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะการระลึกนี้ว่า อมุตฺราสึ เป็นการทรงระลึกตามที่ต้องการของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงระลึกขึ้นไปตามลำดับ, การระลึกนี้ว่า โส ตโต จุโต เป็นการพิจารณาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงระลึกถอยหลังกลับ, เพราะฉะนั้น พึงทราบใจความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาภพดุสิต จึงตรัสคำนี้ว่า อมุตฺร อุทปาทึ ในลำดับแห่งการทรงอุบัติขึ้นในภพนี้ๆ ว่า อิธูปปนฺโน.
               หลายบทว่า ตตฺราปาสึ เอวนฺนาโม ความว่า เราได้เป็นเทวบุตรมีนามว่าเสตุเกตุ ในดุสิตพิภพแม้นั้น.
               บทว่า เอวํโคตฺโต ความว่า เรามีโคตรอย่างเดียวกันกับเทวดาเหล่านั้น.
               บทว่า เอวํวณฺโณ ความว่า เรามีผิวพรรณดุจทอง.
               บทว่า เอวมาหาโร ความว่า เรามีอาหารขาวสะอาดเป็นทิพย์.
               บทว่า เอวํสุขทุกฺขปฏิสํเวที ความว่า เราได้เสวยสุขอันเป็นทิพย์อย่างนี้. ส่วนทุกข์ เป็นเพียงทุกข์ประจำสังขารเท่านั้น.
               บทว่า เอวมายุปริยนฺโต ความว่า เรามีที่สุดแห่งอายุห้าสิบเจ็ดโกฏิกับหกสิบแสนปี อย่างนี้.
               หลายบทว่า โส ตโต จุโต ความว่า เรานั้น จุติจากดุสิตพิภพนั้นแล้ว.
               ชุมนุมบทว่า อิธูปปนฺโน ความว่า เราเกิดแล้วในพระครรภ์ของพระนางมหามายาเทวีในภพนี้.
               บทว่า อิติ แปลว่า ด้วยประการฉะนี้.
               สองบทว่า สาการํ สอุทฺเทสํ คือพร้อมด้วยอุเทศ ด้วยอำนาจชื่อและโคตร, พร้อมด้วยอาการ ด้วยอำนาจผิวพรรณเป็นต้น.
               จริงอยู่ สัตว์ คน อันชาวโลกย่อมแสดงขึ้น ด้วยชื่อและโคตรว่า ติสสะ โคตมะ ดังนี้. สัตว์ ย่อมปรากฏโดยความเป็นต่างๆ กันด้วยผิวพรรณ เป็นอาทิว่า ขาว ดำคล้ำ ดังนี้เป็นต้น. เพราะเหตุนั้น ชื่อและโคตร ชื่อว่าอุเทศ, ผิวพรรณเป็นต้นนอกนี้ ชื่อว่าอาการ.

               [พวกเดียรถีย์ระลึกชาติได้ ๔๐ กัป]               
               ถามว่า ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงระลึกบุพเพนิวาสได้พวกเดียวเท่านั้นหรือ?
               ข้าพเจ้าจะเฉลยต่อไป :-
               พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงระลึกได้พวกเดียว ก็หาไม่, ถึงแม้พระปัจเจกพุทธ์ พระสาวกและเดียรถีย์ ก็ระลึกได้, แต่ว่าระลึกได้โดยไม่วิเศษเลย.๑-
               จริงอยู่ พวกเดียรถีย์ย่อมระลึกได้เพียง ๔๐ กัปเท่านั้น เลยจากนั้นไป ระลึกไม่ได้.
               ถามว่า เพราะเหตุไร ?
               แก้ว่า เพราะมีปัญญาหย่อนกำลัง.
               แท้จริง ปัญญาของเดียรถีย์เหล่านั้น จัดว่าหย่อนกำลัง เพราะเว้นจากการกำหนดนามและรูป.
____________________________
๑- สารัตถทีปนี ๑/๖๑๓ เป็น ... อวิเสเสน.

               [พระอสีติมหาสาวกระลึกชาติได้แสนกัป]               
               ก็บรรดาพระสาวกทั้งหลาย พระมหาสาวก ๘๐ รูประลึกได้แสนกัป. พระอัครสาวกทั้ง ๒ องค์ระลึกได้หนึ่งอสงไขยและแสนกัป. พระปัจเจกพุทธทั้งหลายระลึกได้สองอสงไขยและแสนกัป.
               จริงอยู่ อภินิหารของพระมหาสาวก พระอัครสาวกและพระปัจเจกพุทธเหล่านั้น มีประมาณเท่านี้. ส่วนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่มีกำหนด, พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมระลึกได้ตราบเท่าที่ทรงปรารถนา. แต่พวกเดียรถีย์ย่อมระลึกได้ตามลำดับขันธ์เท่านั้น พ้นลำดับ (ขันธ์) ไป ย่อมไม่สามารถจะระลึกได้ ด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิ. เพราะว่าการก้าวลงสู่ประเทศ (แห่งญาณ) ที่ตนปรารถนา ย่อมไม่มีแก่เดียรถีย์เหล่านั้น ผู้เป็นเหมือนคนบอด. พระสาวกทั้งหลายย่อมระลึกได้แม้โดยประการทั้ง ๒. พระปัจเจกพุทธทั้งหลาย ก็เหมือนอย่างนั้น. ส่วนพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงระลึกได้ตลอดสถานที่ๆ ทรงมุ่งหวังนั้นๆ ทั้งหมดทีเดียว ในเบื้องต่ำหรือเบื้องบน ในโกฏิกัปเป็นอันมากด้วยลำดับขันธ์บ้าง ด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิบ้าง ด้วยอำนาจการก้าวไปดุจราชสีห์บ้าง.
               ในคำว่า อยํ โข เม พฺราหฺมณ เป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า เม คือ มยา แปลว่า อันเรา. ความรู้แจ้ง ท่านเรียกว่า วิชชา เพราะอรรถว่า ทำให้รู้แจ้ง.
               ถามว่า ย่อมทำให้รู้แจ้งอะไร?
               แก้ว่า ย่อมทำให้รู้แจ้ง ซึ่งบุพเพนิวาส.
               โมหะที่ปกปิดวิชชานั้น ท่านเรียกว่า อวิชชา เพราะอรรถว่า เป็นเหตุทำไม่ให้รู้แจ้งซึ่งบุพเพนิวาสนั้นนั่นแล. โมหะนั้นนั่นเอง ท่านเรียกว่า ตมะ (ความมืด) ในบทว่า ตโม เพราะอรรถว่าปกปิด. วิชชานั้นนั่นเอง ท่านเรียกว่า อาโลกะ ในบทว่า อาโลโก เพราะอรรถว่าทำแสงสว่าง. ก็บรรดาบทเหล่านี้ ในบทว่า วิชฺชา อธิคตา นี้ มีอธิบายเท่านี้.
               คำที่เหลือเป็นคำกล่าวสรรเสริญ.
               ส่วนในบททั้ง ๒ ว่า วิชฺชา อธิคตา อวิชฺชา วิหตา นี้มีโยชนาว่า วิชชานี้แล เราได้บรรลุแล้ว อวิชชาอันเราผู้ได้บรรลุวิชชานั้น กำจัดได้แล้ว. อธิบายว่า ให้พินาศแล้ว.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               แก้ว่า เพราะเหตุที่วิชชาเกิดขึ้นแล้ว.
               ในบททั้ง ๒ (คือ ตโม วิหโต อาโลโก อุปฺปนฺโน) แม้นอกนี้ก็มีนัยนี้.
               ศัพท์ว่า ยถา ในคำว่า ยถาตํ นี้เป็นนิบาต ลงในความอุปมา.
               ศัพท์ว่า ตํ เป็นนิบาต.
               (วิชชาเป็นต้นเกิดขึ้นแล้ว) แก่บุคคลผู้ชื่อว่าไม่ประมาท เพราะความไม่อยู่ปราศจากสติ, ผู้ชื่อว่ามีความเพียรเผากิเลส เพราะยังกิเลสให้เร่าร้อนด้วยความเพียร, ผู้ชื่อว่ามีตนส่งไปแล้ว. อธิบายว่า ผู้ส่งจิตไปแล้ว เพราะเป็นผู้ไม่มีความเยื่อใยในกายและชีวิต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำอธิบายนี้ไว้ว่า อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว, วิชชา เกิดขึ้นแล้ว (แก่เรา), ความมืด เรากำจัดได้แล้ว, แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว (แก่เรา), ผลอันสมควรแก่การประกอบความเพียรเนืองๆ นั้น เราได้แล้ว เหมือนอย่างอวิชชา อันพระโยคาวจรพึงกำจัด, วิชชาพึงเกิดขึ้น, ความมืดพึงถูกกำจัด, แสงสว่างพึงเกิดขึ้น แก่พระโยคาวจรผู้ไม่ประมาท ผู้มีความเพียรเผากิเลส ผู้มีตนส่งไปแล้วอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน.
               หลายบทว่า อยํ โข เม พฺราหฺมณ ปฐมา อภินิพฺพิทา อโหสิ กุกฺกุฏจฺฉาปกสฺเสว อณฺฑโกสมฺหา ความว่า พราหมณ์ ความชำแรกออกครั้งที่หนึ่ง คือความออกไปครั้งที่หนึ่ง ได้แก่ความเกิดเป็นอริยะครั้งที่หนึ่งนี้แล้ว ได้มีแล้วแก่เรา เพราะทำลายกระเปาะฟอง คืออวิชชา อันปกปิดขันธ์ที่เราอยู่อาศัยในภพก่อน ด้วยจะงอยปาก คือบุพเพนิวาสานุสติญาณ ดุจความชำแรกออก คือความออกไป ได้แก่ความเกิดในภายหลัง ในหมู่ไก่ จากกระเปาะฟองไข่นั้นแห่งลูกไก่ เพราะทำลายกระเปาะฟองไข่ด้วยจะงอยปาก หรือด้วยปลายเล็บเท้าฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               กถาว่าด้วยปุพเพนิวาส จบ.               

               [กถาว่าด้วยทิพยจักษุ]               
               หลายบทว่า โส เอวํ ฯเปฯ จุตูปปาตญฺญาณาย ความว่า (เราได้น้อมจิตไปแล้ว) เพื่อญาณ (ความรู้) ในจุติและอุปบัติ (ของสัตว์ทั้งหลาย). มีคำอธิบายว่า (เราได้น้อมจิตไปแล้ว) เพื่อญาณที่เป็นเครื่องรู้ ความเคลื่อนและความบังเกิด ของสัตว์ทั้งหลาย.
               สองบทว่า จิตฺตํ อภินินฺนาเมสึ ความว่า เราได้น้อมบริกรรมจิตไป.
               ส่วนในคำว่า โส ทิพฺเพน ฯเปฯ ปสฺสามิ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               พระมหาสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมไม่มีการทำบริกรรม.
               จริงอยู่ พระมหาสัตว์เหล่านั้น พอเมื่อน้อมจิตไปเท่านั้น ย่อมเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์. กุลบุตรผู้เป็นอาทิกรรมิกทั้งหลาย ต้องทำบริกรรมจึงเห็นด้วย. เพราะเหตุนั้น การบริกรรมด้วยสามารถแห่งกุลบุตรเหล่านั้น จึงควรกล่าวไว้ด้วย.
               แต่เมื่อข้าพเจ้าจะกล่าวการบริกรรมนั้นด้วย จะทำนิทานแห่งพระวินัย ให้เป็นภาระหนักยิ่ง, เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวการบริกรรมนั้นไว้.
               ส่วนนักศึกษาทั้งหลาย ผู้มีความต้องการ ควรถือเอาการบริกรรมนั้น ตามนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค.๑- แต่ในนิทานแห่งพระวินัยนี้ ข้าพเจ้าจักพรรณนาไว้เฉพาะบาลีเท่านั้น.
____________________________
๑- วิสุทธิมรรค ๒/๒๕๑-๒๕๓.

               [อรรถาธิบายคำว่าทิพยจักษุเป็นต้น]               
               บทว่า โส คือ โส อหํ แปลว่า เรานั้น.
               ในคำว่า ทิพฺเพน เป็นต้นมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               จักษุประสาท ชื่อว่าทิพย์ เพราะเป็นเช่นกับด้วยจักษุทิพย์.
               จริงอยู่ จักษุประสาทของเทวดาทั้งหลายที่เกิดเพราะสุจริตกรรม อันน้ำดี เสลดและเลือดเป็นต้นมิได้พัวพัน ซึ่งสามารถรับอารมณ์แม้ในที่ไกลได้ เพราะเป็นธรรมชาติที่พ้นจากอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ชื่อว่าเป็นทิพย์. ก็อีกอย่างหนึ่ง ญาณจักษุนี้ที่เกิดเพราะกำลังแห่งวิริยภาวนา ก็เป็นเช่นจักษุประสาทนั้นเหมือนกัน, เพราะเหตุนั้น ญาณจักษุนั้นจึงชื่อว่าเป็นทิพย์ เพราะเป็นจักษุอันพระองค์ได้แล้วด้วยอำนาจทิพพวิหาร และเพราะแม้ตนก็อาศัยทิพพวิหาร. ชื่อว่าเป็นทิพย์ แม้เพราะมีความรุ่งเรืองมาก ด้วยกำหนดแสงสว่าง. ชื่อว่าเป็นทิพย์ แม้เพราะมีคติ (ทางไป) มาก ด้วยการเห็นรูปที่อยู่ภายนอกฝาเรือนเป็นต้น. หมวด ๕ แห่งอรรถทั้งหมดนั้น บัณฑิตพึงทราบตามแนวแห่งคัมภีร์ศัพทศาสตร์.
               ชื่อว่าจักษุ เพราะอรรถว่าเห็น เป็นเหมือนจักษุ เพราะทำกิจแห่งจักษุ แม้เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าจักษุ. ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะความเป็นเหตุแห่งทิฏฐิวิสุทธิ ด้วยการเห็นความจุติและความอุปบัติ (แห่งสัตว์ทั้งหลาย).
               จริงอยู่ ผู้ใดย่อมเห็นเพียงความจุติเท่านั้น ไม่เห็นความอุปบัติ (แห่งสัตว์ทั้งหลาย) ผู้นั้นย่อมยึดเอาอุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่าขาดสูญ). ผู้ใดย่อมเห็นเพียงความอุปบัติเท่านั้น ไม่เห็นความจุติ (แห่งสัตว์ทั้งหลาย) ผู้นั้นย่อมยึดเอาทิฏฐิคือความปรากฏขึ้นแห่งสัตว์ใหม่ๆ. ส่วนผู้ใดย่อมเห็นทั้งสองอย่างนั้น ผู้นั้นย่อมล่วงเลยทิฏฐิทั้งสองอย่างนั้นไป เพราะเหตุนั้น ทัสสนะนั้นของผู้นั้นจึงชื่อว่าเป็นเหตุแห่งทิฏฐิวิสุทธิ. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นทั้งสองอย่างนั้นแล้ว. เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวคำนี้ว่า ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะความเป็นเหตุแห่งทิฏฐิวิสุทธิ ด้วยการเห็นความจุติและความอุปบัติ (แห่งสัตว์ทั้งหลาย) ดังนี้.

               [ทิพยจักษุของพระผู้มีพระภาคเจ้าปราศจากอุปกิเลส ๑๑ อย่าง]               
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะเว้นจากอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมองจิต) ๑๑ อย่าง. จริงอยู่ ทิพยจักษุของพระผู้มีพระภาคเจ้า เว้นแล้วจากอุปกิเลส ๑๑ อย่าง. เหมือนอย่างที่พระองค์ตรัสไว้อย่างนี้ว่า
               ดูก่อนอนุรุทธะนันทิยะและกิมพิละทั้งหลาย๑- เรานั้นแล รู้แล้วว่า วิจิกิจฉา เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต จึงละวิจิกิจฉา เครื่องเศร้าหมองจิตเสียได้.
               รู้แล้วว่า อมนสิการ เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต จึงละอมนสิการ เครื่องเศร้าหมองจิตเสียได้. รู้แล้วว่า ถีนมิทธะ ได้เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต จึงละถีนมิทธะ เครื่องเศร้าหมองจิตเสียได้. รู้แล้วว่า ความหวาดเสียว เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต จึงละความหวาดเสียว เครื่องเศร้าหมองจิตเสียได้. รู้แล้วว่า ความตื่นเต้น เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต จึงละความตื่นเต้น เครื่องเศร้าหมองจิตเสียได้.
               รู้แล้วว่า ความชั่วหยาบ เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต จึงละความชั่วหยาบ เครื่องเศร้าหมองจิตเสียได้. รู้แล้วว่า ความเพียรที่ปรารภเกินไป เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต จึงละความเพียรที่ปรารภเกินไป เครื่องเศร้าหมองจิตเสียได้. รู้แล้วว่า ความเพียรที่หย่อนเกินไป เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต จึงละความเพียรที่หย่อนเกินไป เครื่องเศร้าหมองจิตเสียได้. รู้แล้วว่า ตัณหาที่คอยกระซิบ เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต จึงละตัณหาที่คอยกระซิบ เครื่องเศร้าหมองจิตเสียได้.
               รู้แล้วว่า นานัตตสัญญา (คือความสำคัญสภาวะเป็นต่างๆ กัน) เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต จึงละนานัตตสัญญา เครื่องเศร้าหมองจิตเสียได้. รู้แล้วว่า กิริยาที่เพ่งดูรูปเกินไป เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต จึงละกิริยาที่เพ่งรูปเกินไป เครื่องเศร้าหมองจิตเสียได้.
               ดูก่อนอนุรุทธะนันทิยะและกิมพิละทั้งหลาย เรานั้นแล เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วอยู่ ย่อมรู้สึกแสงสว่างอย่างเดียวเทียวแล แต่ไม่เห็นรูปทั้งหลาย เห็นแต่รูปอย่างเดียวเทียวแล แต่ไม่รู้สึกแสงสว่าง๒- ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๑-ในอุปกิเลสสูตร มีพระอนุรุทธะ พระนันทิยะ และพระกิมพิละ ๓ ท่าน
๑-เข้าไปเฝ้า, แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสออกชื่อท่านอนุรุทธะรูปเดียว
๑-ที่เป็นหัวหน้า ใช้พหุวจนะ เช่น สาริปุตตา เป็นต้น.
๒- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๔๖๓/หน้า ๓๐๖

               ญาณจักษุนั้น (ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น) ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะเว้นจากอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมองจิต) ๑๑ อย่าง ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ชื่อว่า ล่วงจักษุของมนุษย์ เพราะเห็นรูปล่วงเลยอุปจารแห่งมนุษย์ไป.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า ชื่อว่าอติกกันตมานุสกะ เพราะล่วงเลยมังสจักษุของมนุษย์ไป. ด้วยทิพยจักษุนั้นอันบริสุทธิ์ล่วงเลยเสีย ซึ่งจักษุของมนุษย์.
               สองบทว่า สตฺเต ปสฺสามิ ความว่า เราย่อมดู คือย่อมเห็น ได้แก่ ตรวจดูสัตว์ทั้งหลาย (ด้วยทิพยจักษุ) เหมือนมนุษย์ ดูด้วยมังสจักษุฉะนั้น.
               ในคำว่า จวมาเน อุปปชฺชมาเน เป็นต้นนี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ใครๆ ไม่สามารถเพื่อจะเห็นสัตว์ทั้งหลายได้ ด้วยทิพยจักษุในขณะจุติหรือในขณะอุปบัติ แต่สัตว์เหล่าใด ผู้ใกล้ต่อจุติอยู่ว่า จักจุติเดี๋ยวนี้ สัตว์เหล่านั้น ท่านประสงค์ว่า กำลังจะจุติ และสัตว์เหล่าใด ผู้ถือปฏิสนธิแล้ว หรือผู้เกิดแล้วบัดเดี๋ยวนี้ สัตว์เหล่านั้นท่านก็ประสงค์ว่า กำลังจะอุปบัติ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เราย่อมเล็งเห็นสัตว์เหล่านั้น คือเห็นปานนั้น ผู้กำลังจุติและผู้กำลังอุปบัติ ดังนี้.
               บทว่า หีเน ความว่า ผู้ถูกเขาติเตียน คือดูหมิ่น เหยียดหยาม ด้วยอำนาจชาติตระกูลและโภคะเป็นต้น ที่ชื่อว่าเลวทรามเพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยผลวิบากแห่งโมหะ.
               บทว่า ปณีเต ความว่า ผู้ตรงกันข้ามจากบุคคลเลวนั้น เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยผลวิบากแห่งอโมหะ.
               บทว่า สุวณฺเณ ความว่า ผู้ประกอบด้วยผิวพรรณ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ และน่าชอบใจ เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยผลวิบากแห่งอโทสะ.
               บทว่า ทุพฺพณฺเณ ความว่า ผู้ประกอบด้วยผิวพรรณที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ และไม่น่าชอบใจ เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยผลวิบากแห่งโทสะ. อธิบายว่า ผู้มีรูปแปลกประหลาดจากผู้ที่มีรูปสวย ดังนี้บ้าง.
               บทว่า สุคเต ได้แก่ ผู้ไปสู่สุคติ. อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ผู้มั่งคั่ง คือมีทรัพย์มาก เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยผลวิบากแห่งอโลภะ.
               บทว่า ทุคฺคเต ได้แก่ ไปสู่สุคติ. อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ผู้ยากจน คือมีข้าวและน้ำน้อย เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยผลวิบากแห่งโลภะ.
               บทว่า ยถากมฺมูปเค ได้แก่ ผู้เข้าถึงตามกรรมที่ตนเข้าไปสั่งสมไว้แล้ว.
               บรรดาบทเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกิจแห่งทิพยจักษุด้วยบทต้นๆ ว่า จวมาเน เป็นอาทิ. อนึ่ง กิจแห่งยถากัมมูปคญาณ (ญาณเครื่องรู้สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรม) ก็เป็นอันตรัสแล้วด้วยบทนี้.

               [ลำดับความเกิดขึ้นแห่งยถากัมมูปคญาณ]               
               ก็ลำดับความเกิดขึ้นแห่งญาณนั้น มีดังต่อไปนี้ :-
               (ภิกษุในพระศาสนา๑- นี้) เจริญอาโลกกสิณ มุ่งหน้าต่อนรกเบื้องต่ำแล้ว ย่อมเห็นสัตว์นรกทั้งหลาย ผู้ตามเสวยทุกข์อย่างใหญ่อยู่. การเห็นนั้นจัดเป็นกิจแห่งทิพยจักษุโดยแท้. เธอนั้นใฝ่ใจอยู่อย่างนี้ว่า สัตว์เหล่านี้ทำกรรมอะไรหนอแล จึงได้ตามเสวยทุกข์อยู่อย่างนี้?
               ลำดับนั้น ญาณอันมีกรรมนั้นเป็นอารมณ์ ก็เกิดขึ้นแก่เธอนั้นว่า เพราะทำกรรมชื่อนี้. อนึ่ง เธอนั้นเจริญอาโลกกสิณ มุ่งหน้าต่อเทวโลกเบื้องบนแล้ว ย่อมเห็นสัตว์ทั้งหลายในสวนนันทวัน มิสสกวันและปารุสกวันเป็นต้น ผู้เสวยสมบัติอย่างใหญ่อยู่ การเห็นแม้นั้นจัดเป็นกิจแห่งทิพยจักษุโดยแท้. เธอนั้นใฝ่ใจอยู่อย่างนี้ว่า "สัตว์เหล่านี้ทำกรรมอะไรหนอแล จึงได้เสวยสมบัติอย่างนี้?" ลำดับนั้น ญาณอันมีกรรมนั้นเป็นอารมณ์ก็เกิดขึ้นแก่เธอนั้นว่า "เพราะทำกรรมชื่อนี้." นี้ชื่อว่า ยถากัมมูปคญาณ (ญาณเครื่องรู้สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรม). ชื่อว่าการบริกรรมแผนกหนึ่งแม้แห่งยถากัมมูปคญาณนี้ก็ไม่มี. ยถากัมมูปคญาณนี้ ไม่มีการบริกรรมไว้แผนกหนึ่งแม้ฉันใด แม้อนาคตังสญาณก็ไม่มีฉันนั้น. จริงอยู่ ญาณเหล่านี้๒- ที่เป็นบาทแห่งทิพยจักษุนั่นแล ย่อมสำเร็จพร้อมกับทิพยจักษุนั่นเอง.
               ในคำว่า กายทุจฺจริเตน เป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ความประพฤติชั่ว หรือความประพฤติเสียหาย เพราะมีกิเลสเป็นความเสียหาย เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า ทุจริต. ความประพฤติชั่วทางกาย หรือความประพฤติชั่วที่เกิดจากกาย เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า กายทุจริต. แม้วจีทุจริตและมโนทุจริต ก็ควรทราบดังอธิบายมานี้.
               บทว่า สมนฺนาคตา แปลว่า เป็นผู้พร้อมเพรียง.
____________________________
๑- ฏีกาปรมัตถมัญชุสา ๒/๓๓๐ อิมานิ ศัพท์นี้เป็น อิมินา
๑- ในวิสุทธิมรรคก็เป็น อิมินา.
๒- วิสุทธิมรรค ๒/๒๖๙ มีศัพท์ว่า อิธ ภิกฺขุ จึงได้แปลไว้ตามนั้น
๒- เพราะความชัดดี.

               [การด่าพระอริยเจ้าห้ามสวรรค์และห้ามมรรค]               
               สองบทว่า อริยานํ อุปวาทกา ความว่า สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเห็นผิด เป็นผู้ใคร่ซึ่งความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ กล่าวใส่ร้าย. มีคำอธิบายว่า ด่าทอ ติเตียนพระอริยเจ้าทั้งหลาย คือพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกของพระพุทธเจ้า โดยที่สุด แม้คฤหัสถ์ผู้เป็นพระโสดาบัน ด้วยอันติมวัตถุ หรือด้วยการกำจัดเสียซึ่งคุณ.
               ในการกล่าวใส่ร้าย ๒ อย่างนั้น บุคคลผู้กล่าวอยู่ว่า สมณธรรมของท่านเหล่านั้น ไม่มี, ท่านเหล่านั้น ไม่ใช่สมณะ ดังนี้ พึงทราบว่า ชื่อว่ากล่าวใส่ร้ายด้วยอนติมวัตถุ. บุคคลผู้กล่าวอยู่ว่า ฌานก็ดี วิโมกข์ก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี ของท่านเหล่านั้น ไม่มี ดังนี้ พึงทราบว่า ชื่อว่ากล่าวใส่ร้าย ด้วยการกำจัดเสียซึ่งคุณ. ก็ผู้นั้นพึงกล่าวใส่ร้ายทั้งที่รู้ตัวอยู่ หรือไม่รู้ก็ตาม ย่อมชื่อว่า เป็นผู้กล่าวใส่ร้ายพระอริยเจ้าแท้ แม้โดยประการทั้งสอง. กรรม (คือการกล่าวใส่ร้ายพระอริยเจ้า) เป็นกรรมหนัก เป็นทั้งสัคคาวรณ์ (ห้ามสวรรค์) ทั้งมัคคาวรณ์ (ห้ามมรรค)

               [เรื่องภิกษุหนุ่มกล่าวใส่ร้ายพระอริยเจ้าชั้นสูง]               
               ก็เพื่อประกาศข้อที่การด่าเป็นกรรมที่หนักนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้มาเป็นอุทาหรณ์ ดังต่อไปนี้ :-
               ได้ยินว่า พระเถระรูปหนึ่งและภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง เที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านแห่งใดแห่งหนึ่ง. ท่านทั้ง ๒ นั้นได้ข้าวยาคูร้อนประมาณกระบวยหนึ่ง ในเรือนหลังแรกนั่นเอง. แต่พระเถระเกิดลมเสียดท้องขึ้น. ท่านคิดว่า ข้าวยาคูนี้เป็นของสบายแก่เรา เราจะดื่มข้าวยาคูนั้นก่อนที่มันจะเย็นเสีย ท่านจึงได้นั่งดื่มข้าวยาคูนั้นบนขอนไม้ ซึ่งพวกมนุษย์เข็นมาไว้ เพื่อต้องการทำธรณีประตู. ภิกษุหนุ่มนอกนี้ได้รังเกียจพระเถระนั้น ด้วยคิดว่า พระเถระแก่รูปนี้หิวจัดหนอ กระทำให้เราได้รับความอับอาย. พระเถระเที่ยวไปในบ้านแล้วกลับไปยังวิหาร ได้พูดกะภิกษุหนุ่มว่า อาวุโส ที่พึ่งในพระศาสนานี้ของคุณมีอยู่หรือ?
               ภิกษุหนุ่มเรียนว่า มีอยู่ ขอรับ กระผมเป็นพระโสดาบัน. พระเถระพูดเตือนว่า อาวุโส ถ้ากระนั้น คุณไม่ได้ทำความพยายาม เพื่อต้องการมรรคเบื้องสูงขึ้นไปหรือ?๑- เพราะพระขีณาสพ คุณได้กล่าวใส่ร้ายแล้ว. ภิกษุหนุ่มรูปนั้นได้ให้พระเถระนั้นอดโทษแล้ว เพราะเหตุนั้น กรรมนั้นของภิกษุหนุ่มรูปนั้น ก็ได้กลับเป็นปกติเดิมแล้ว.
____________________________
๑- ในวิสุทธิมรรค ภาค ๒/๒๗๐- มีดังนี้คือ เตนหาวุโส อุปริมคฺคตฺถาย
๑- วายามํ มาอกาสีติ. กสฺมา ภนฺเตติ. ขีณาสโว ตยา ว อุปวทิโตติ.
๑- แปลว่า พระเถระพูดเตือนว่า อาวุโส ถ้ากระนั้นคุณไม่ได้ทำความพยายาม
๑- เพื่อต้องการมรรคเบื้องสูงขึ้นไปหรือ? ภิกษุหนุ่มเรียนว่า เพราะเหตุไร
๑- ขอรับ? พระเถระพูดว่า เพราะพระขีณาสพ คุณได้กล่าวใส่ร้ายแล้ว
๑- กสฺมา ภนฺเตติ ในสามนต์นี้ น่าจะตกไป.

               [วิธีขอขมาเพื่อให้อดโทษให้ในการด่าใส่ร้าย]               
               เพราะฉะนั้น ผู้ใดแม้อื่น กล่าวใส่ร้ายพระอริยเจ้า ผู้นั้นไปแล้ว ถ้าท่านแก่กว่าตนไซร้, ก็พึงให้ท่านอดโทษให้ ด้วยเรียนท่านว่า กระผมได้กล่าวคำนี้และคำนี้กะพระคุณเจ้าแล้ว ขอพระคุณเจ้าได้อดโทษนั้นให้กระผมด้วยเถิด.
               ถ้าท่านอ่อนกว่าตนไซร้ ไหว้ท่านแล้วนั่งกระโหย่งประคองอัญชลี พึงขอให้ท่านอดโทษให้ ด้วยเรียนท่านว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมได้กล่าวคำนี้และคำนี้กะท่านแล้ว ขอท่านจงอดโทษนั้นให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด.
               ถ้าท่านไม่ยอมอดโทษให้ หรือท่านหลีกไปยังทิศ (อื่น) เสีย พึงไปยังสำนักของภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในวิหารนั้น, ถ้าท่านแก่กว่าตนไซร้ พึงยืนขอขมาโทษทีเดียว ถ้าท่านอ่อนกว่าตนไซร้ ก็พึงนั่งกระโหย่งประคองอัญชลี ให้ท่านช่วยอดโทษให้ พึงกราบเรียนให้ท่านอดโทษอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมได้กล่าวคำนี้ และคำนี้กะท่านผู้มีอายุชื่อโน้นแล้ว ขอท่านผู้มีอายุรูปนั้นจงอดโทษให้แก่กระผมด้วยเถิด
               ถ้าพระอริยเจ้ารูปนั้นปรินิพพานแล้วไซร้, ควรไปยังสถานที่ตั้งเตียงที่ท่านปรินิพพาน แม้ไปจนถึงป่าช้าแล้ว พึงให้อดโทษให้เมื่อตนได้กระทำแล้วอย่างนี้ กรรมคือการใส่ร้ายนั้น ก็ไม่เป็นทั้งสัคคาวรณ์ มัคคาวรณ์ (ไม่ห้ามทั้งสวรรค์ทั้งมรรค) ย่อมกลับเป็นปกติเดิมทีเดียว.

               [การกล่าวใส่ร้ายพระอริยเจ้ามีโทษเช่นกับอนันตริยกรรม]               
               บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิกา แปลว่า มีความเห็นวิปริต.
               บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิกมฺมสมาทานา ความว่า ก็คนเหล่าใด ให้ชนแม้เหล่าอื่นสมาทาน บรรดากรรมมีกายกรรมเป็นต้น ซึ่งมีมิจฉาทิฏฐิเป็นมูล. คนเหล่านั้น ชื่อว่ามีกรรมนานาชนิดอันตนสมาทานถือเอาแล้ว ด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ.
               ก็บรรดาอริยุปวาทและมิจฉาทิฏฐิเหล่านั้น แม้เมื่อท่านสงเคราะห์อริยุปวาทเข้าด้วยวจีทุจริตศัพท์นั่นเอง และมิจฉาทิฏฐิเข้าด้วยมโนทุจริตศัพท์เช่นกันแล้ว การกล่าวถึงกรรมทั้ง ๒ เหล่านี้ซ้ำอีก พึงทราบว่า มีการแสดงถึงข้อที่กรรมทั้ง ๒ นั้นมีโทษมากเป็นประโยชน์.
               จริงอยู่ อริยุปวาท มีโทษมากเช่นกับอนันตริยกรรม. เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนสารีบุตร เปรียบเหมือนภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญาพึงได้ลิ้มอรหัตผล ในภพปัจจุบันนี้แล แม้ฉันใด, ดูก่อนสารีบุตร เรากล่าวข้ออุปไมยนี้ ฉันนั้น บุคคลนั้น ไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสียแล้ว ต้องถูกโยนลงในนรก (เพราะอริยุปวาท) เหมือนถูกนายนิรยบาลนำมาโยนลงในนรกฉะนั้น.๑-
               ก็กรรมอย่างอื่น ชื่อว่า มีโทษมากกว่ามิจฉาทิฏฐิย่อมไม่มี.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เล็งเห็นแม้ธรรมอย่างหนึ่งอื่น ซึ่งมีโทษมากกว่าเหมือนอย่างมิจฉาทิฏฐินี้เลย ภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหมดมีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง๒- ดังนี้.
               สองบทว่า กายสฺส เภทา ความว่า เพราะสละอุปาทินนกขันธ์เสีย (ขันธ์ที่ยังมีกิเลสเข้าไปยึดครองอยู่).
               บทว่า ปรมฺมรณา ความว่า แต่การถือเอาขันธ์ที่เกิดขึ้นในลำดับแห่งการสละนั้น. อีกอย่างหนึ่ง สองบทว่า กายสฺส เภทา คือ เพราะความขาดสูญแห่งชีวิตินทรีย์.
               บทว่า ปรมฺมรณา คือ ต่อจากจุติจิต.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๖๗.   ๒- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๑๙๓/หน้า ๔๔.

               [อรรถาธิบายคำว่านรกได้ชื่อว่าอบายเป็นต้น]               
               คำทั้งหมดมีอาทิอย่างนี้ว่า อปายํ เป็นไวพจน์แห่งคำว่า นิรยะ.
               จริงอยู่ นิรยะ ชื่อว่าอบาย เพราะไปปราศจากความเจริญ ที่สมมติว่าเป็นบุญอันเป็นเหตุแห่งสวรรค์และนิพพาน หรือเพราะไม่มีความเจริญขึ้นแห่งความสุข.
               ที่ชื่อว่า ทุคติ เพราะอรรถว่า มีคติแห่งทุกข์เป็นที่พึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ทุคติ เพราะอรรถว่า มีคติที่เกิดเพราะกรรมที่ชั่วร้ายเพราะมีโทษมาก.
               ที่ชื่อว่า วินิบาต เพราะอรรถว่า เป็นสถานที่พวกสัตว์ผู้ชอบทำชั่ว ตกไปไร้อำนาจ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วินิบาต เพราะอรรถว่า เป็นสถานที่ที่พวกสัตว์ผู้กำลังพินาศ มีอวัยวะใหญ่น้อยแตกกระจายตกไปอยู่.
               ที่ชื่อว่า นิรยะ เพราะอรรถว่า เป็นสถานที่ไม่มีความเจริญที่รู้กันว่าความยินดี. อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานด้วยอบายศัพท์.
               จริงอยู่ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานจัดเป็นอบาย เพราะปราศจากสุคติ แต่ไม่จัดเป็นทุคติ เพราะเป็นสถานที่เกิดแห่งสัตว์ทั้งหลายมีพญานาคเป็นต้น ผู้มีศักดามาก. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเปตวิสัย ด้วยทุคติศัพท์.
               จริงอยู่ เปตวิสัยนั้นจัดเป็นอบายด้วย เป็นทุคติด้วย เพราะปราศไปจากทุคติและเพราะเป็นคติแห่งทุกข์, แต่ไม่เป็นวินิบาต เพราะไม่มีความตกไป เช่นกับพวกอสูร. แท้จริง แม้วิมานทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นแก่พวกเปรตผู้มีฤทธิ์มาก. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอสุรกาย ด้วยวินิปาตศัพท์. ความจริง อสุรกายนั้น ท่านเรียกว่า เป็นอบายด้วย เป็นทุคติด้วย เพราะอรรถตามที่กล่าวมาแล้ว และว่าเป็นวินิบาต เพราะเป็นผู้มีความตกไปจากความเกิดขึ้นแห่งสมบัติทั้งปวง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงนิรยะนั่นแล ซึ่งมีอเนกประการมีอเวจีเป็นต้นด้วยนิรยศัพท์.
               บทว่า อุปปนฺนา แปลว่า เข้าถึงแล้ว. อธิบายว่า เกิดขึ้นแล้วในนรกนั้น. ศุกลปักษ์ (ฝ่ายขาว) พึงทราบโดยบรรยายที่แปลกกันจากที่กล่าวแล้ว.
               ส่วนความแปลกกันมีดังต่อไปนี้ :-
               แม้คติแห่งมนุษย์ ท่านก็สงเคราะห์เอาด้วยสุคติศัพท์ ในศุกลปักษ์นี้.
               เทวคติเท่านั้น ท่านสงเคราะห์เข้าด้วยสัคคศัพท์.
               ใน ๓ บทว่า สุคตึ สคฺคํ โลกํ นั้น มีใจความเฉพาะคำดังนี้คือ :-
               ชื่อว่า สุคติ เพราะอรรถว่า เป็นคติดี. ชื่อว่า สัคคะ เพราะอรรถว่าเลิศด้วยดี ด้วยอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้น. สุคติและสวรรค์ทั้งหมดนั้น ชื่อว่า โลก เพราะอรรถว่า พินาศและแตกสลายไป.
               วิชชาคือทิพยจักษุญาณ ชื่อว่า วิชชา. อวิชชา อันเป็นเครื่องปกปิดจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่า อวิชชา.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ ด้วยประการฉะนี้.
               กถาว่าด้วยทิพยจักษุ จบ.               

               [กถาว่าด้วยอาสวักขยญาณ]               
               จริงอยู่ ในกถาว่าด้วยทิพยจักษุญาณนี้ มีความแปลกกันดังต่อไปนี้แล.
               ในกถาว่าด้วยปุพเพนิวาส ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วว่า เพราะทำลายกระเปาะฟอง คืออวิชชา อันปกปิดขันธ์ที่ตนเคยอยู่แล้วในกาลก่อน ด้วยจะงอยปากคือบุพเพนิวาสานุสติญาณ ดังนี้ ฉันใด ในกถาว่าด้วยทิพยจักษุญาณนี้ ก็ควรกล่าวว่า เพราะทำลายกระเปาะฟองคืออวิชชาอันปกปิดความจุติและอุปบัติ (ของสัตว์ทั้งหลาย) ด้วยจะงอยปากคือจุตูปปาตญาณ ดังนี้ ฉันนั้น.
               ในคำว่า โส เอวํ สมาหิเต จิตฺเต นี้ ควรทราบจิตในจตุตถฌานอันเป็นบาทแห่งวิปัสนา (ต่อไป).
               สองบทว่า อาสวานํขยญฺญาณาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่อรหัตมรรคญาณ. จริงอยู่ อรหัตมรรค ท่านเรียกว่า ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะทำอาสวะให้พินาศไป. ก็ญาณนี้ ในอรหัตมรรคนั้น ท่านเรียกว่า ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะความที่ญาณนั้นเป็นธรรมนับเนื่องแล้ว ในมรรคนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               สองบทว่า จิตฺตํ อภินินฺนาเมสึ ความว่า เราได้น้อมวิปัสสนาจิตไปเฉพาะแล้ว.
               ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า โส อิทํ ทุกฺขํ พึงทราบใจความอย่างนี้ว่า
               เราได้รู้ คือทราบ ได้แก่แทงตลอดแล้ว ซึ่งทุกขสัจแม้ทั้งหมด ตามความเป็นจริง ด้วยการแทงตลอดลักษณะตามที่เป็นจริงว่า ทุกข์มีประมาณเท่านี้ ไม่มีทุกข์ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ และเราได้รู้ คือทราบ ได้แก่แทงตลอดแล้ว ซึ่งตัณหาอันยังทุกข์นั้นให้เกิด ตามความเป็นจริง ด้วยการแทงตลอดลักษณะตามที่เป็นจริงว่า นี้ทุกขสมุทัย แม้ทุกข์และตัณหาทั้ง ๒ นั้น ไปถึงสถานที่ใด ย่อมดับไป เราก็ได้รู้คือได้ทราบ ได้แก่แทงตลอดแล้ว ซึ่งสถานที่นั้น คือพระนิพพาน อันเป็นไปไม่ได้แห่งทุกข์และตัณหานั้น ตามความเป็นจริง ด้วยการแทงตลอดลักษณะตามที่เป็นจริงว่า นี้ทุกขนิโรธ และเราก็ได้รู้ คือได้ทราบ ได้แก่แทงตลอดแล้ว ซึ่งอริยมรรค อันเป็นเหตุให้บรรลุทุกขนิโรธนั้น ตามเป็นจริง ด้วยการแทงตลอดลักษณะตามที่เป็นจริงว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงสัจจะทั้งหลายโดยสรุปอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงด้วยอำนาจกิเลสโดยบรรยาย จึงตรัสคำมีอาทิว่า อิเม อาสวา ดังนี้.
               หลายบทว่า ตสฺส เม เอวํ ชานโต เอวํ ปสฺสโต ความว่า เมื่อเรานั้นรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสมรรคอันถึงที่สุดพร้อมกับวิปัสสนาไว้ (ในบทเหล่านั้น).
               บทว่า กามาสวา แปลว่า จากกามาสวะ. พระองค์ทรงแสดงขณะแห่งผลไว้ด้วยคำว่า หลุดพ้นแล้ว นี้ แท้จริง จิตย่อมหลุดพ้นในขณะแห่งมรรค ในขณะแห่งผลจัดว่าหลุดพ้นแล้ว ทรงแสดงปัจเวกขณญาณไว้ด้วยคำนี้ว่า เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็ได้มีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ดังนี้ ทรงแสดงภูมิแห่งปัจจเวกขณญาณนั้นไว้ด้วยคำเป็นต้นว่า ชาติสิ้นแล้ว.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงพิจารณาอยู่ด้วยพระญาณนั้น ก็ได้ทรงรู้แล้วซึ่งทุกขสัจเป็นต้นว่า ชาติสิ้นแล้ว.
               ถามว่า ก็ชาติไหนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่า สิ้นแล้ว และพระองค์ทรงรู้ชาตินั้นได้อย่างไร?
               ข้าพเจ้าจะกล่าวเฉลยต่อไป :-
               ชาติที่เป็นอดีต ของพระองค์ชื่อว่ายังไม่สิ้นไปก่อน (ด้วยมรรคภาวนา) เพราะชาตินั้นสิ้นไปแล้ว ในกาลก่อน, ชาติที่เป็นอนาคตของพระองค์ ชื่อว่ายังไม่สิ้นไป เพราะไม่มีความพยายามในอนาคต, ชาติที่เป็นปัจจุบันของพระองค์ ก็ชื่อว่ายังไม่สิ้นไป เพราะชาติยังมีอยู่. ส่วนชาติใด อันต่างโดยประเภทคือขันธ์ ๑ ขันธ์ ๔ และขันธ์ ๕ ที่จะพึงเกิดขึ้นในเอกโวการภพ จตุโวการภพและปัญจโวการภพ เพราะยังมิได้อบรมมรรค ชาตินั้นจัดว่าสิ้นไปแล้วเพราะถึงความไม่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา เหตุมีมรรคอันได้อบรมแล้ว, พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ครั้นทรงพิจารณาถึงกิเลสที่พระองค์ทรงละด้วยมรรคภาวนาแล้ว ทรงทราบว่า เมื่อไม่มีกิเลส กรรมแม้ยังมีอยู่ ก็ไม่มีปฏิสนธิต่อไป จึงชื่อว่าได้ทรงรู้ชาตินั้นแล้ว.
               บทว่า วุสิตํ ความว่า (พรหมจรรย์) อันเราอยู่แล้ว คืออยู่จบแล้ว. อธิบายว่า อันเรากระทำ ประพฤติ ให้เสร็จสิ้นแล้ว.
               บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่มรรคพรหมจรรย์. จริงอยู่ พระเสขบุคคล ๗ จำพวกรวมกับกัลยาปุถุชน ที่ชื่อว่าย่อมอยู่อบรมพรหมจรรย์. พระขีณาสพมีการอยู่พรหมจรรย์จบแล้ว. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงพิจารณาถึงพรหมจริยวาสของพระองค์ ก็ได้ทรงรู้แล้วว่า พรหมจรรย์อันเราอยู่จบแล้ว.
               สองบทว่า กตํ กรณียํ ความว่า กิจแม้ ๑๖ อย่าง เราให้จบลงแล้วด้วยอำนาจแห่งการกำหนดรู้ การละ การกระทำให้แจ้ง และการอบรมให้เจริญ ด้วยมรรค ๔ ในสัจจะทั้ง ๔.
               จริงอยู่ พระเสขบุคคล ๗ จำพวกมีกัลยาณปุถุชนเป็นต้น ยังทำกิจนั้นอยู่. พระขีณาสพมีกิจที่ควรทำ อันตนทำสำเร็จแล้ว. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงพิจารณาถึงกิจที่ควรทำของพระองค์ ก็ได้ทรงรู้ว่า กิจที่ควรทำเราทำเสร็จแล้ว.
               หลายบทว่า นาปรํ อิตฺถตฺตาย ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงรู้แล้วว่า บัดนี้ กิจคือการอบรมด้วยมรรค เพื่อความเป็นอย่างนี้อีก คือเพื่อความเจริญแห่งโสฬสกิจ หรือเพื่อความสิ้นไปแห่งกิเลสอย่างนี้ ของเรา ย่อมไม่มี.
               บัดนี้ พระองค์เมื่อจะทรงแสดงการบรรลุญาณ อันเป็นเหตุสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายนั้น อันปัจจเวกขณญาณประคองแล้วอย่างนั้นแก่พราหมณ์ จึงตรัสพระดำรัสว่า อยํ โข เม พฺราหฺมณ ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น ความรู้อันสัมปยุตด้วยอรหัตตมรรคญาณ ชื่อว่าวิชชา ความไม่รู้อันปกปิดสัจจะ ๔ ชื่อว่า อวิชชา. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล.

               [พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเกิดก่อนใครทั้งหมดด้วยคุณธรรม]               
               ส่วนความแปลกกัน มีดังต่อไปนี้ :-
               ในคำว่า อยํ โข เม พฺราหฺมณ ตติยา อภินิพฺพิทา อโหสิ นี้ มีอธิบายว่า ดูก่อนพราหมณ์ ความชำแรกครั้งที่ ๓ คือ ความออกครั้งที่ ๓ ได้แก่ความเกิดเป็นอริยะครั้งที่ ๓ นี้แล ได้มีแล้วแก่เรา เพราะได้ทำลายกระเปาะฟองคืออวิชชา อันปกปิดสัจจะ ๔ ด้วยจะงอยปากคืออาสวักขยญาณ ดุจความชำแรกออก คือความออกไป ได้แก่ความเกิดในภายหลังในหมู่ไก่จากกระเปาะฟองไข่นั้นแห่งลูกไก่ เพราะได้ทำลายกระเปาะฟองไข่ ด้วยจะงอยปาก หรือด้วยปลายเล็บเท้าฉะนั้น.
               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระประสงค์อะไรไว้ ด้วยพระดำรัสมีประมาณเท่านี้?
               แก้ว่า ทรงแสดงพระประสงค์นี้ไว้อย่างนี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ ก็ลูกไก่ตัวนั้นได้ทำลายกระเปาะฟองไข่แล้ว ออกไปจากกระเปาะฟองไข่นั้น ย่อมชื่อว่าเกิดครั้งเดียวเท่านั้น ส่วนเราได้ทำลายกระเปาะฟองคืออวิชชา อันปกปิดขันธ์ที่เราเคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนแล้ว ชื่อว่า เกิดแล้วครั้งแรกทีเดียว เพราะวิชชาคือบุพเพนิวาสานุสติญาณ ต่อจากนั้นได้ทำลายกระเปาะฟองคืออวิชชา อันปกปิดจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าเกิดแล้วครั้งที่ ๒ เพราะวิชชา คือทิพยจักษุญาณ ต่อมาอีก ได้ทำลายกระเปาะฟองคืออวิชชาอันปกปิดสัจจะ ๔ ชื่อว่าเกิดแล้วครั้งที่ ๓ เพราะวิชชาคืออาสวักขยญาณ เราเป็นผู้ชื่อว่าเกิดแล้ว ๓ ครั้ง เพราะวิชชาทั้ง ๓ ดังพรรณนามฉะนี้ และชาติของเรานั้นจึงเป็น อริยะ คือดีงาม บริสุทธิ์.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงอย่างนี้ ทรงประกาศอตีตังสญาณ ด้วยบุพเพนิวาสญาณ, ปัจจุปันนังสญาณ และอนาคตังสญาณ ด้วยทิพยจักษุ, พระคุณที่เป็นโลกิยะและโลกุตระทั้งสิ้น ด้วยอาสวักขยญาณ ครั้นทรงประกาศคุณคือพระสัพพัญญู แม้ทั้งหมดด้วยวิชชา ๓ ดังที่กล่าวมาแล้ว จึงได้ทรงแสดงข้อที่พระองค์เป็นผู้เจริญและประเสริฐที่สุดด้วยอริยชาติแก่พราหมณ์ ด้วยประการฉะนี้.

               (กถาว่าด้วยอาสวักขยญาณ จบ๑-)               
____________________________
๑- ได้แปลเพิ่มเติมไว้อย่างในฏีกาสารัตถทีปนี ๖/๑๔๑.

.. อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]
อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=1&Z=315
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๔
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :