ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
เวรัญชกัณฑ์

หน้าต่างที่ ๑๓ / ๑๕.

               เวรัญชพราหมณ์ได้สติรู้สึกตัว               
               ในคำว่า เอวํ วุตฺเตเวรญฺโช พฺราหฺมโณ นี้ มีอธิบายว่า
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงอนุเคราะห์แก่โลก จะทรงอนุเคราะห์พราหมณ์ ได้ตรัสความที่พระองค์เป็นผู้เจริญและประเสริฐที่สุดด้วยอริยชาติ แม้ที่ควรปกปิด ด้วยธรรมเทศนาอันประกาศวิชชา ๓ โดยนัยดังกล่าวมาอย่างนี้
               เวรัญชพราหมณ์มีกายและจิตเต็มเปี่ยมไปด้วยความแผ่ซ่านไปแห่งปีติ รู้ความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้เจริญและประเสริฐที่สุดด้วยอริยชาตินั้น จึงตำหนิตนเองว่า เราได้กล่าวกะพระสัพพัญญูผู้ประเสริฐกว่าโลกทั้งหมด ทรงประกอบด้วยพระคุณทั้งปวง ชื่อเช่นนี้ว่า ไม่ทรงทำกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้นแก่ชนเหล่าอื่น เฮ้ย น่าติเตียนความไม่รู้อะไรเสียจริงๆ หนอ ดังนี้ จึงตกลงใจว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้ ชื่อว่าเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เพราะอรรถว่าเป็นผู้เกิดก่อนด้วยอริยชาติ ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุด เพราะอรรถว่าไม่มีผู้เสมอด้วยพระคุณทั้งปวง แล้วได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดมเป็นผู้เจริญที่สุด ท่านพระโคดมเป็นผู้ประเสริฐที่สุด.
               ก็แลครั้นกราบทูลอย่างนั้นแล้ว เมื่อจะชมเชยพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นอีก จึงได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระดำรัสของพระองค์ น่าชมเชยยิ่งนัก ดังนี้เป็นต้น.

               [อรรถาธิบายอภิกกันตศัพท์ลงในอรรถ ๔ และ ๙ อย่าง]               
               ในคำว่า อภิกฺกนฺตํ เป็นต้นนั้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               อภิกกันตศัพท์นี้ย่อมปรากฏในอรรถ คือ ขยะ (ความสิ้นไป) สุนทระ (ความดี) อภิรูปะ (รูปงาม) และอัพภนุโมทนะ (ความชมเชย).
               จริงอยู่ อภิกกันตศัพท์ ปรากฏในความสิ้นไป ในประโยคทั้งหลายเป็นต้นว่า พระเจ้าข้า ราตรีล่วงไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่งรอนานแล้ว.๑-
               อภิกกันตศัพท์ ปรากฏในความดี ในประโยคทั้งหลายเป็นต้นว่า คนนี้ ดีกว่า และประณีตกว่า ๔ คนเหล่านี้.๒-
               อภิกกันตศัพท์ ปรากฏในรูปงาม ในประโยคทั้งหลายเป็นต้นว่า
                                   ใคร ช่างรุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ ด้วยยศ
                         มีพรรณงดงามยิ่งนัก ยังทิศทั้งปวงให้สว่าง
                         อยู่ กำลังไหว้เท้าของเรา?๓-
               อภิกกันตศัพท์ ปรากฏในความชมเชย ในประโยคทั้งหลายเป็นต้นว่า พระเจ้า ภาษิตของพระองค์ น่าชมเชยยิ่งนัก.๔-
               แม้ในอธิการนี้ อภิกกันตศัพท์ ก็ปรากฏในความชมเชยทีเดียว. พึงทราบสันนิษฐานว่า ก็เพราะอภิกกันตศัพท์ ปรากฏในความชมเชย ฉะนั้น เวรัญชพราหมณ์จึงกล่าวอธิบายไว้ว่า ดีละๆ ท่านพระโคดมผู้เจริญ!
               ก็ในอธิการนี้ อภิกกันตศัพท์นี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้ ๒ ครั้ง ด้วยอำนาจแห่งความเลื่อมใสและด้วยอำนาจแห่งความสรรเสริญ ด้วยลักษณะนี้ คือ :-
                                   บัณฑิตผู้รู้ พึงทำการกล่าวซ้ำๆ ไว้
                         (ในอรรถ ๙ อย่างเหล่านี้) คือ ในภยะ
                         (ความกลัว) ในโกธะ (ความโกรธ) ใน
                         ปสังสา (ความสรรเสริญ) ในตุริตะ (ความ
                         รีบด่วน) ในโกตุหละ (ความตื่นเต้น) ใน
                         อัจฉระ (ความอัศจรรย์) ในหาสะ (ความ
                         ร่าเริง) ในโสกะ (ความโศก) และในปสาทะ
                         (ความเลื่อมใส).
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อภิกฺกนฺตํ แปลว่า น่าใคร่ยิ่งนัก น่าปรารถนายิ่งนัก น่าชอบใจยิ่งนัก. มีคำอธิบายไว้ว่า ดียิ่งนัก.
               บรรดาอภิกกันตศัพท์ ๒ อย่างนั้น เวรัญชพราหมณ์ย่อมชมเชยเทศนา ด้วยอภิกกันตศัพท์อย่างหนึ่ง ย่อมชมเชยความเลื่อมใสของตน ด้วยอภิกกันตศัพท์อย่างหนึ่ง.
               จริงอยู่ ในความชมเชยนี้ มีอธิบายดังนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของท่านพระโคดมผู้เจริญนี้ น่าชมเชยยิ่งนัก ความเลื่อมใสของข้าพระองค์อาศัยพระธรรมเทศนาของท่านพระโคดมผู้เจริญ ดียิ่งนัก.
               เวรัญชพราหมณ์ชมเชยปาพจน์ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นแล มุ่งใจความเป็นสองอย่างๆ.
____________________________
๑- วิ. จุลฺล. เล่ม ๗/ข้อ ๔๔๗.
๒- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๗/ข้อ ๑๐๐.
๓- ขุ. วิมาน. เล่ม ๒๖/ข้อ ๕๑.
๔- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑๓๙.

               [ปาพจน์มีความดี ๑๘ อย่าง]               
               บัณฑิตพึงประกอบปาพจน์ ด้วยเหตุทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ คือ :-
               พระดำรัสของพระโคดมผู้เจริญ ชื่อว่าดียิ่งนัก เพราะยังโทสะให้พินาศ ๑ ชื่อว่าดียิ่งนัก เพราะให้บรรลุคุณ ๑ อนึ่ง เพราะให้เกิดศรัทธา ๑ เพราะให้เกิดปัญญา ๑ เพราะเป็นไปกับด้วยอรรถ ๑ เพราะเป็นไปกับด้วยพยัญชนะ ๑ เพราะมีบทอันตื้น ๑ เพราะมีเนื้อความลึกซึ้ง ๑ เพราะไพเราะโสต ๑ เพราะเข้าถึงหทัย ๑ เพราะไม่ยกตนขึ้นอวดอ้าง ๑ เพราะไม่ข่มผู้อื่น ๑ เพราะเย็นด้วยพระกรุณา ๑ เพราะทรงตรัสด้วยพระปัญญา ๑ เพราะเป็นที่รื่นรมย์แห่งคลอง ๑ เพราะทนต่อความย่ำยีได้อย่างวิเศษ ๑ เพราะฟังอยู่ก็เป็นสุข ๑ เพราะใคร่ครวญอยู่ก็มีประโยชน์ ๑ ดังนี้.

               [เวรัญชพราหมณ์ชมเชยพระธรรมเทศนาด้วยอุปมา ๔ อย่าง]               
               แม้เบื้องหน้าแต่นั้นไป เวรัญชพราหมณ์ย่อมชมเชยเทศนานั่นแลด้วยอุปมา ๔ ข้อ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิกฺกุชฺชิตํ คือ ภาชนะที่เขาวางคว่ำปากไว้ หรือมีที่ปากอยู่ภายใต้.
               บทว่า อุกฺกุชฺเชยฺย คือ พึงหงายปากขึ้น.
               บทว่า ปฏิจฺฉนฺนํ คือ ที่เขาปิดไว้ด้วยวัตถุมีหญ้าและใบไม้เป็นต้น.
               บทว่า วิวเรยฺย คือ พึงเปิดขึ้น.
               บทว่า มูฬฺหสฺส คือ คนหลงทิศ.
               สองบทว่า มคฺคํ อาจิกฺเขยฺย ความว่า พึงจับที่มือแล้วบอกว่า นี้ทาง.
               บทว่า อนฺธกาเร ความว่า ในความมืดมีองค์ ๔ (คือ) เพราะวันแรม ๑๔ คำในกาฬปักษ์ ๑ กลางคืน ๑ ไพรสณฑ์ที่หนาทึบ (ดงทึบ) ๑ กลีบเมฆ ๑.
               ความหมายแห่งบทที่ยังไม่กระจ่างมีเท่านี้ก่อน.
               ส่วนการประกอบความอธิบาย มีดังต่อไปนี้ :-
               (เวรัญชพราหมณ์ ชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า) ท่านพระโคดมผู้เจริญ ทรงยังเราผู้เบือนหน้าหนีจากพระสัทธรรม ตกไปในอสัทธรรมแล้ว ให้ออกจากอสัทธรรม เหมือนใครๆ พึงหงายภาชนะที่คว่ำขึ้นไว้ฉะนั้น ทรงเปิดเผยพระศาสนาที่ถูกรกชัฏคือ มิจฉาทิฏฐิปกปิดไว้ ตั้งต้นแต่พระศาสนาของพระกัสสปผู้มีพระภาคเจ้าอันตรธานไป เหมือนใครๆ พึงเปิดของที่ปิดไว้ออกฉะนั้น ทรงตรัสบอกทางสวรรค์และนิพพานให้แก่เรา ผู้ดำเนินไปสู่ทางชั่วและทางผิด เหมือนใครๆ พึงบอกทางให้แก่คนหลงทางฉะนั้น ทรงส่องแสงสว่างคือเทศนา อันเป็นเครื่องกำจัดความมืด คือโมหะอันปกปิดรูป คือพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นนั้นแก่เราผู้จมอยู่ในความมืดคือโมหะ ซึ่งไม่เห็นรูป คือพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เหมือนใครๆ พึงส่องประทีปน้ำมันในที่มืดให้ฉะนั้น ได้ทรงประกาศพระธรรมแก่เรา โดยอเนกปริยาย เพราะทรงประกาศด้วยบรรยายทั้งหลายเหล่านี้.

               [เวรัญชพราหมณ์แสดงตนถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง]               
               เวรัญชพราหมณ์ ครั้นชมเชยพระธรรมเทศนาอย่างนั้นแล้ว มีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เพราะพระธรรมเทศนานี้ เมื่อจะทำอาการอันผู้มีความเลื่อมใสพึงกระทำ จึงได้กราบทูลว่า เอสาหํ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอสาหํ ตัดเป็น เอโส อหํ แปลว่า ข้าพเจ้านี้.
               หลายบทว่า ภวนฺตํ โคตมํ สรณํ คจฺฉามิ ความว่า ข้าพเจ้าขอถึงพระโคดมผู้เจริญว่าเป็นที่พึ่ง คือข้าพเจ้าขอถึง ขอคบ ขอซ่องเสพ ได้แก่ขอเข้าไปนั่งใกล้พระโคดมผู้เจริญ ด้วยความประสงค์นี้ว่า พระโคดมผู้เจริญทรงเป็นที่พึ่งแก่ข้าพเจ้า คือทรงเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ทรงเป็นผู้ป้องกันความทุกข์ และทรงทำประโยชน์เกื้อกูล (แก่ข้าพเจ้า) ข้าพเจ้าย่อมทราบคือย่อมรู้สึก ดังกราบทูลมาแล้วนั่นแล.
               จริงอยู่ คติ (ความถึง) เป็นความหมายแห่งธาตุเหล่าใด แม้ พุทฺธิ (ความรู้) ก็เป็นความหมายแห่งธาตุเหล่านั้น เพราะฉะนั้น บทว่า คจฺฉามิ นี้ ท่านก็กล่าวความหมายแม้นี้ไว้ดังนี้ว่า ชานามิ พุชฺฌามิ (แปลว่า ย่อมทราบ คือย่อมรู้สึก).

               [อรรถาธิบายคำว่าพระธรรม]               
               ก็ในคำว่า ธมฺมญฺจภิกฺขุสงฺฆญฺจ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               สภาพที่ชื่อว่า ธรรม เพราะอรรถว่า ทรงไว้ซึ่งบุคคลผู้ได้บรรลุมรรค ผู้ทำให้แจ้งนิโรธแล้วและผู้ปฏิบัติอยู่ตามคำพร่ำสอน มิได้ตกไปในอบาย. ธรรมนั้นโดยอรรถ ได้แก่อริยมรรคและนิพพาน.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่ปัจจัยปรุงแต่งได้ มีประมาณเพียงไร อริยมรรคมีองค์ ๘ เราเรียกว่า ประเสริฐกว่าธรรมเหล่านั้น. ควรกล่าวให้พิสดาร. ธรรมนั้น ได้แก่อริยมรรคและนิพพานอย่างเดียว ก็หามิได้ ถึงแม้ปริยัติธรรมรวมกับอริยผล ก็ชื่อว่าธรรม.
               สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในฉัตตมาณวกวิมานว่า๑-
                                   ท่านจงเข้าถึงพระธรรม อันเป็นธรรม
                         คลายความกำหนัด เป็นธรรมไม่หวั่นไหว
                         ไม่มีความเศร้าโศก อันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้
                         ไม่ปฏิกูล เป็นธรรมไพเราะคล่องแคล่ว
                         อันเราจำแนกดีแล้ว เพื่อเป็นที่พึ่งเถิด ดังนี้.
               แท้จริง ในพระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมรรคว่า เป็นธรรมคลายความกำหนัด ตรัสผลว่า เป็นธรรมไม่หวั่นไหวไม่มีความเศร้าโศก ตรัสพระนิพพานว่า เป็นธรรมอันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ ตรัสธรรมขันธ์ทั้งหมดที่ทรงจำแนกโดยปิฎก ๓ ว่า ไม่ปฏิกูล เป็นธรรม ไพเราะ คล่องแคล่ว เป็นธรรมอันเราจำแนกดีแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. วิมาน. เล่ม ๒๖/ข้อ ๕๓.

               [อรรถาธิบายคำว่าพระสงฆ์]               
               ชื่อว่า พระสงฆ์ เพราะอรรถว่า รวมกันด้วยธรรมที่ทัดเทียมกัน คือทิฏฐิและศีล. พระสงฆ์นั้นโดยอรรถ ได้แก่ประชุมพระอริยบุคคล ๘.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในวิมานวัตถุนั้นเหมือนกันว่า๑-
                                   บัณฑิตทั้งหลายกล่าว ทาน อัน
                         บุคคลให้แล้ว ในพระอริยสงฆ์ ผู้สะอาด
                         เป็นคู่แห่งบุรุษ ๔ เป็นบุรุษบุคคล ๘ ผู้เห็น
                         ธรรมว่า มีผลมาก ท่านจงเข้าถึง พระสงฆ์นี้
                         เพื่อเป็นที่พึ่งเถิด ดังนี้.
               หมู่ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า ภิกษุสงฆ์.
               ก็พราหมณ์ประกาศสรณคมน์ ๓ ด้วยคำเพียงเท่านี้.

               [สรณคมนกถา]               
               บัดนี้ เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในไตรสรณคมน์เหล่านั้นนั่นแหละควรทราบวิธีนี้ ดังนี้คือ :-
               สรณะ สรณคมน์ ผู้ถึงสรณะ ประเภทแห่งสรณคมน์ ผลแห่งสรณคมน์ สังกิเลส (ความเศร้าหมอง) เภทะ (ความแตกแห่งสรณคมน์)
               ก็วิธีนั้น เมื่อข้าพเจ้าจะกล่าวไว้ในอธิการนี้ ก็ย่อมทำนิทานแห่งพระวินัย ให้เป็นภาระหนักเกินไป เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่กล่าว. ส่วนนักศึกษาทั้งหลายผู้มีความต้องการ พึงเอาวิธีนั้นจากวรรณนาแห่งภยเภรวสูตร ในอรรถกถาแห่งมัชฌิมนิกาย ชื่อว่าปปัญจสูทนี จากวรรณนาสรณะ ในอรรถกถาขุททกนิกาย ชื่อปรมัตถโชติกา หรือในอรรถกถาทีฆนิกายชื่อสุมังคลวิลาสินี ฉะนี้นแล.
               ข้อว่า อุปาสกํ มํ ภวํ โคตโม ธาเรตุ อธิบายว่า ท่านพระโคดมผู้เจริญจงทรงจำข้าพเจ้าไว้อย่างนี้ว่า ข้าพเจ้านี้เป็นอุบาสก ดังนี้เถิด. ก็ในอธิการนี้ เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในวิธีแสดงตนเป็นอุบาสก ควรทราบปกิณณกะนี้ดังนี้ว่า
               ใคร ท่านเรียกว่า อุบาสก เพราะเหตุไรจึงเรียกว่าอุบาสก อุบาสกนั้นมีศีลอย่างไร มีอาชีพอย่างไร มีอะไรเป็นวิบัติ มีอะไรเป็นสมบัติ
               ข้าพเจ้าไม่ได้จำแนกปกิณณกะนั้น ไว้ในอธิการว่าด้วยนิทานนี้ เพราะจะทำให้เป็นภาระหนักเกินไป แต่นักศึกษาทั้งหลายผู้มีความต้องการ พึงทราบโดยนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้ว ในอรรถกถามัชฌิมนิกายชื่อปปัญจสูทนีนั้นแล.
____________________________
๑- ขุ. วิมาน. เล่ม ๒๖/ข้อ ๕๓.

               [อธิบายอัคคะศัพท์ที่ลงในอรรถ ๔ อย่าง]               
               อัคคะศัพท์นี้ ในบทว่า อชฺชตคฺเค นี้ ย่อมปรากฏในอรรถคือ อาทิ (เบื้องต้น) โกฏิ (เบื้องปลาย) โกฏฐาสะ (ส่วน) และ เสฏฐะ (ประเสริฐ).
               จริงอยู่ อัคคะศัพท์ ย่อมปรากฏในอรรถคือเบื้องต้น ในประโยคทั้งหลายมีอาทิว่า๑- ดูก่อนนายประตูเพื่อนรัก ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์.
               อัคคะศัพท์ ย่อมปรากฏในอรรถคือเบื้องปลาย ในประโยคทั้งหลายมีอาทิว่า พึงแตะต้องปลายแห่งนิ้วมือนั้น ด้วยปลายแห่งนิ้วมือนั้นนั่นเอง พึงแตะต้องยอดอ้อยยอดไผ่.
               ย่อมปรากฏในอรรถคือส่วน ในประโยคทั้งหลายมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อให้แจกส่วนของที่มีรสเปรี้ยว ส่วนของที่มีรสหวาน หรือส่วนของที่มีรสขม ด้วยส่วนแห่งวิหาร หรือส่วนแห่งบริเวณ.
               ย่อมปรากฏในอรรถคือประเสริฐ ในประโยคทั้งหลาย มีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีประมาณเพียงไร ไม่มีเท้าก็ดี มี ๒ เท้าก็ดี ฯลฯ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเราเรียกว่า ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น.๒-
               แต่อัคคะศัพท์นี้ ในอธิการนี้ พึงเห็นว่าลงในอรรถคือเบื้องต้น. เพราะฉะนั้น ในบทว่า อชฺชตคฺเค นี้ พึงทราบใจความอย่างนี้ว่า ตั้งต้นแต่วันนี้เป็นต้นไป. ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า บทว่า อชฺชคฺคํ ก็คือ อชฺชภาวํ แปลว่า มีในวันนี้. อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะว่า อชฺชทคฺเค ดังนี้ก็มี. อักษร ทำการต่อบท. มีคำอธิบายว่า ตั้งต้นแต่วันนี้.
____________________________
๑- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๗๕.
๒- ขุ. อิติวุตฺตก. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๗๐.

               [เวรัญชพราหมณ์ไม่กล่าวล่วงเกินพระรัตนตรัยจนตลอดชีวิต]               
               บทว่า ปาณุเปตํ ความว่า ผู้เข้าถึง (พระรัตนตรัย) ด้วยปราณ (คือชีวิต).
               เวรัญชพราหมณ์กราบทูลว่า ชีวิตของข้าพเจ้ายังเป็นไปอยู่เพียงใด, ท่านพระโคดมผู้เจริญจงทรงจำคือทรงทราบ ข้าพเจ้าว่า (เป็นอุบาสก) ผู้เข้าถึง ผู้ถึงสรณะอันไม่มีศาสดาอื่นด้วยไตรสรณคมน์เพียงนั้น ข้าพเจ้าแล แม้หากว่าใครๆ จะพึงเอามีดที่คมกริบตัดศีรษะของข้าพเจ้าไซร้, ก็จะไม่พึงกล่าวถึงพระพุทธว่า ไม่ใช่พระพุทธ พระธรรมว่า ไม่ใช่พระธรรม หรือพระสงฆ์ว่า ไม่ใช่พระสงฆ์ ดังนี้เลย.
               ส่วนในอธิการนี้ พึงทราบอธิบายว่า พราหมณ์ เมื่อกล่าวถึงสรณคมน์ซ้ำอีกว่า ผู้ถึงสรณะจนตลอดชีวิต ชื่อว่า ประกาศมอบถวายตน (แก่พระรัตนตรัย).

               [พราหมณ์ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าจำพรรษา ณ เมืองเวรัญชา]               
               เวรัญชพราหมณ์ ครั้นมอบถวายตนอย่างนั้นแล้ว มีความประสงค์จะอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งบริษัท จึงกราบทูลว่า และขอท่านพระโคดมผู้เจริญ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงรับการอยู่จำพรรษาที่เมืองเวรัญชา ของข้าพเจ้าเถิด.
               พราหมณ์กราบทูลความประสงค์ไว้อย่างไร.
               กราบทูลไว้อย่างนี้ว่า ขอท่านพระโคดมผู้เจริญจงทรงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสก และขอจงทรงรับการอยู่จำพรรษาที่เมืองเวรัญชา ของข้าพเจ้าเถิด คือขอให้ทรงรับการอาศัยเมืองเวรัญชาอยู่จำพรรษาตลอดไตรมาส เพื่ออนุเคราะห์ข้าพระองค์เถิด.

               [พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับการอยู่จำพรรษาเมืองเวรัญชา]               
               หลายบทว่า อธิวาเสสิ ภควา ตุณฺหีภาเวน ความว่า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำของพราหมณ์นั้นแล้ว ก็ไม่ทรงยังองค์คือกายหรือองค์คือวาจาให้ไหวเลย ทรงไว้ซึ่งพระขันติในภายในนั่นแล ทรงรับ (คำอาราธนา) โดยพระดุษณีภาพ.
               ท่านอธิบายไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับด้วยพระหฤทัยทีเดียว เพื่อทรงอนุเคราะห์พราหมณ์.
               หลายบทว่า อถโขเวรญฺโช พฺราหฺมโณ ภควโต อธิวาสนํ วิทิตฺวา ความว่า ครั้งนั้นแล เวรัญชพราหมณ์คิดว่า ถ้าท่านพระสมณโคดมไม่พึงทรงรับ (คำอาราธนา) ของเรา จะพึงทรงคัดค้านด้วยกายหรือด้วยวาจา แต่เพราะพระองค์ไม่ทรงคัดค้าน ทรงพระขันติไว้ในภายใน, ฉะนั้น พระองค์ก็ทรงรับ (คำอาราธนา) ของเรา ด้วยพระหฤทัยนั่นเอง ดังนี้
               ครั้นทราบการทรงรับคำอาราธนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะความที่ตนเป็นผู้ฉลาดในการกำหนดรู้อาการดังพรรณนามาแล้วนั้น จึงลุกจากอาสนะที่ตนนั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าในทิศทั้ง ๔ ด้วยความเคารพ แล้วทำประทักษิณ ๓ รอบ แม้ได้ติเตียนจำเดิมแต่เวลาที่ตนมาว่า พระสมณโคดมไม่ทรงทำสามีจิกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้น แก่พวกพราหมณ์ผู้แก่กว่าโดยชาติ เป็นต้น บัดนี้ ได้รู้พระพุทธคุณอย่างซาบซึ้งแล้ว ถึงไหว้อยู่ด้วยกายวาจาและใจ หลายครั้งหลายหน ก็ยังเป็นผู้ไม่อิ่มนั่นเอง จึงได้ประคองกระพุ่มมือ อันรุ่งเรืองด้วยความประชุมพร้อมแห่งนิ้วทั้ง ๑๐ แล้วยกชูขึ้นไว้บนเศียร เดินถอยหลังหันหน้าไปทาง (พระผู้มีพระภาคเจ้า) จนพ้นทัศนวิสัย ได้ถวายบังคมในที่พ้นทัศนวิสัยแล้วหลีกไป.

               เมืองเวรัญชาเกิดทุพภิกขภัย               
               หลายบทว่า เตน โข ปน สมเยนเวรญฺชา ทุพฺภิกฺขา โหติ
               ความว่า โดยสมัยที่เวรัญชพราหมณ์ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยเมืองเวรัญชาจำพรรษานั้น เมืองเวรัญชาเป็นเมืองมีภิกษาหาได้ยาก.
               บทว่า ทุพฺภิกฺขา แปลว่า มีภิกษาหาได้โดยยาก. ก็ความมีภิกษาหาได้ยากนั้น ย่อมมีในถิ่นที่พวกมนุษย์ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส ในเวลาที่ข้าวกล้าสมบูรณ์ดีก็ตาม ในเวลาปุพพัณณะและอปรัณณะมีราคาถูกก็ตาม (มีราคาตกต่ำ). แต่ในเมืองเวรัญชาหาได้เป็นอย่างนั้นไม่ โดยที่แท้ได้มีเพราะโทษคือความอดอยาก เหตุที่มีข้าวกล้าเสียหาย เพราะฉะนั้น ท่านพระอุบาลีเถระ เมื่อจะแสดงความข้อนั้น จึงกล่าวว่า ทฺวีหิติกา ดังนี้เป็นต้น.
               ในคำว่า ทฺวีหิติกา เป็นต้นนั้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า ทฺวีหิติกา ได้แก่ ความพยายามที่เป็นไปแล้ว ๒ อย่าง.
               ความเคลื่อนไหว ชื่อว่าอีหิตะ (ความพยายาม). ความพยายามนี้เป็นไปแล้ว ๒ อย่างคือ จิตตอิริยา (ความเคลื่อนไหวแห่งจิต) ๑ จิตตอีหา (ความพากเพียรแห่งจิต) ๑.
               ในบทว่า ทฺวีหิติกา นี้ มีอธิบายดังนี้ว่า ความเคลื่อนไหวแห่งจิตที่เป็นไปแล้ว ๒ อย่างนี้ คือพวกเราขอวัตถุอะไรๆ อยู่ในที่นี้จักได้หรือจักไม่ได้หนอแล. อีกอย่างหนึ่ง พวกเราจักอาจเพื่อเป็นอยู่หรือจักไม่อาจหนอแล.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ทฺวีหิติกา แปลว่า เป็นผู้อยู่อย่างฝืดเคือง.
               จริงอยู่ บททั้งหลายเป็นต้นคือ อีหิตํ (ความพยายาม) อีหา (ความพากเพียร) อริยนํ (ความเคลื่อนไหว) ปวตฺตนํ (ความเป็นไป) ชีวิตํ (ความเป็นอยู่) มีใจความอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้น ในบทว่า ทฺวีหิติกา นี้ จึงมีใจความเฉพาะบทดังนี้ คือความพยายามด้วยความเป็นทุกข์ ย่อมเป็นไปในเมืองเวรัญชานี้ เพราะเหตุนั้น เมืองเวรัญชานี้จึงชื่อว่า ทฺวีหิติกา.
               บทว่า เสตฏฺฐิกา ความว่า เมืองเวรัญชา ชื่อว่ามีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ที่เมืองเวรัญชานี้มีกระดูกขาวเกลื่อน. มีอธิบายว่า ซากศพของพวกมนุษย์กำพร้า ผู้ขอแม้ตลอดวันก็ไม่ได้อะไรๆ ตายแล้ว มีกระดูกสีเหมือนเห็ดหัวงูเกลื่อนกลาดอยู่ในที่นั้นๆ.
               ปาฐะว่า เสตัฏฏิกา ดังนี้บ้าง. ความหมายแห่งปาฐะนั้นว่า โรคตายขาวมีอยู่ในเมืองเวรัญชานี้ เหตุนั้นเมืองเวรัญชานี้จึงชื่อว่า มีโรคตายขาว. ความอาดูร คือความเสียดแทงเพราะความเจ็บไข้ ชื่อว่า อัฏฏิ.
               ก็ในเมืองเวรัญชานั้น ในเวลาที่ข้าวกล้ามีท้องมาน รวงข้าวสาลีก็ดี รวงข้าวเหนียวและข้าวละมานก็ดี มีสีขาวๆ ถูกโรคตายขาวนั่นเองทำให้เสีย ก็ขาดน้ำนม ไม่มีเมล็ดข้าวสารงอกออกมา (คือตกเป็นรวงออกมา) เพราะฉะนั้น เมืองเวรัญชานี้ ท่านจึงเรียกว่า เสตัฏฏิกา (เมืองมีโรคข้าวกล้าตายขาว).

               [เมืองเวรัญชามีปันส่วนซื้ออาหารเลี้ยงชีพ]               
               ในเวลาหว่าน ข้าวกล้าที่ประชาชนแม้ผสมพันธุ์หว่านไว้ดีแล้ว ย่อมสำเร็จเป็นสลากเท่านั้น ในเมืองเวรัญชานั้น เพราะเหตุนั้น เมืองเวรัญชานั้นจึงชื่อว่า มีข้าวกล้าที่หว่านแล้วสำเร็จเป็นสลาก.
               อีกอย่างหนึ่ง ประชาชนทั้งหลาย ย่อมให้ชีวิตเป็นไปในเมืองเวรัญชานั้นด้วยสลาก (คือการแจกบัตร) เพราะฉะนั้น เมืองเวรัญชานั้นจึงชื่อว่า มีชีวิตเป็นไปได้ด้วยสลาก.
               มีคำกล่าวอธิบายไว้อย่างไร?
               มีคำกล่าวอธิบายไว้อย่างนี้ คือ ดังได้สดับมา ในเมืองเวรัญชานั้น เมื่อประชาชนทั้งหลายผู้ซื้อไปยังสำนักของพวกพ่อค้าผู้ขายข้าวเปลือก พวกมนุษย์มีกำลัง (ทรัพย์) กดขี่พวกมนุษย์ผู้ไม่มีกำลัง (ทรัพย์) แล้วซื้อเอาข้าวเปลือกไป (หมด). พวกมนุษย์ผู้ไม่มีกำลัง (ทรัพย์) เมื่อไม่ได้ (ข้าวเปลือก) ย่อมส่งเสียงดัง.
               พวกพ่อค้าผู้ขายข้าวเปลือกปรึกษากันว่า พวกเราจักทำการสงเคราะห์ประชาชนทั้งหมด จึงสั่งให้ช่างผู้ตวงข้าวเปลือกนั่งในสำนักงานที่ๆ ตวงข้าวเปลือก แล้วให้ผู้ชำนาญการดูกหาปณะ นั่งอยู่ที่ส่วนข้างหนึ่ง. พวกมนุษย์ผู้มีความต้องการข้าวเปลือก ก็ไปยังสำนักของผู้ชำนาญการดูกหาปณะ. ผู้ชำนาญการดูกหาปณะนายนั้น ถือเอามูลค่าโดยลำดับแห่งชนผู้มาแล้ว จึงเขียนสลาก (คือบัตร) ให้ไปว่า ควรให้แก่ชนชื่อนี้ มีประมาณเท่านี้. พวกมนุษย์ผู้มีความต้องการข้าวเปลือกเหล่านั้น รับเอาสลากนั้นแล้ว ไปยังสำนักของช่างผู้ตวงข้าวเปลือก แล้วรับเอาข้าวเปลือกโดยลำดับที่เขาตวงให้.
               ประชาชนทั้งหลายย่อมให้ชีวิตเป็นไป ในเมืองเวรัญชานั้นด้วยสลาก เพราะเหตุนั้น เมืองเวรัญชานั้นจึงชื่อว่า มีชีวิตเป็นไปได้ด้วยสลาก ดังพรรณนามาฉะนี้.
               หลายบทว่า น สุกราอุญฺเฉน ปคฺคเหนยาเปตุํ ความว่า
               ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย. มีคำอธิบายว่า ใครๆ ถือบาตรแล้ว จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการแสวงหาอย่างที่พวกพระอริยเจ้าทำการแสวงหา คือเที่ยวภิกขาจารนั้น ก็ทำไม่ได้ง่ายๆ เลย.
               ได้ยินว่า คราวนั้น ในเมืองเวรัญชานั้นพวกภิกษุเที่ยวไปบิณฑบาตตลอด ๗-๘ หมู่บ้าน ก็ไม่ได้อาหารพอสักว่ายังอัตภาพให้เป็นไป แม้ในวันหนึ่ง.

               [พ่อค้าม้าถวายข้าวทะนานหนึ่งแก่ภิกษุรูปหนึ่ง]               
               ข้อว่า เตน โข ปน สมเยน อุตฺตราปถกา อสฺสวาณิชา ฯเปฯ อสฺโสสิ โข ภควา อุทุกฺขลสทฺทํ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า เตน ความว่า โดยสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยเมืองเวรัญชาจำพรรษานั้น พวกพ่อค้าม้าผู้อยู่ในอุตตราปถชนบท หรือผู้ได้ชื่ออย่างนั้น เพราะมาจากอุตราปถชนบท รับ (ซื้อ) เอาม้า ๕๐๐ ตัว ในสถานที่เป็นถิ่นเกิดของม้าทั้งหลายในอุตราปถชนบทแล้ว เมื่อปรารถนารายได้ (ผลกำไร) ๒-๓ เท่า ก็ไปยังต่างประเทศ แล้วเข้าพักฤดูฝนอยู่ในเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยฝูงม้ามีประมาณ ๕๐๐ ซึ่งเป็นสินค้าที่ตนจะต้องขายเหล่านั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร จึงต้องพักอยู่เช่นนั้น?
               แก้ว่า เพราะว่าในประเทศนั้น ใครๆ ไม่อาจเดินทางไกล ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝนได้... ก็พวกพ่อค้าม้าเหล่านั้น เมื่อจะเข้าพักฤดูฝน จึงได้สั่งให้นายช่างสร้างเรือนพักสำหรับตน และโรงม้าสำหรับพวกม้าไว้ในสถานที่น้ำจะท่วมไม่ได้ ในภายนอกพระนครแล้ว กั้นรั้วไว้. สถานที่พักของพวกพ่อค้าเหล่านั้นๆ ปรากฏว่า อัสสมัณฑลิกา (คอกม้า) เพราะเหตุนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงกล่าวไว้ว่า พวกพ่อค้าม้าเหล่านั้นได้ตกแต่งข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ สำหรับภิกษุทั้งหลายไว้ที่คอกม้า ดังนี้.
               บทว่า ปตฺถปตฺถปุลกํ ได้แก่ ข้าวแดงมีประมาณแล่งหนึ่งๆ สำหรับภิกษุรูปหนึ่งๆ. ชื่อว่าแล่งหนึ่ง มีประมาณเท่าทะนานหนึ่ง เพียงพอเพื่อเลี้ยงอัตภาพให้เป็นไปสำหรับคนคนหนึ่ง.
               สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ข้าวสุกแล่งหนึ่งนี้ ไม่เพียงพอเพื่อเลี้ยงอัตภาพให้เป็นไปสำหรับคน ๒ คน.๑-
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๖๗๓

               ข้าวสารเหนียวที่บุคคลทำให้หมดแกลบแล้วนึ่งให้สุกจึงถือเอา เขาเรียกชื่อว่า ข้าวแดง. จริงอยู่ ถ้าข้าวสารเหนียวนั้นยังมีแกลบอยู่ สัตว์จำพวกตัวแมลงย่อมเจาะไชได้ ย่อมไม่ควรเก็บไว้นาน เพราะฉะนั้น พวกพ่อค้าเหล่านั้นได้ทำให้เป็นของควรเก็บไว้ได้นาน แล้วถือเอาข้าวสารเหนียว จึงเดินทางไกล ด้วยคิดว่า ในสถานที่ใด หญ้าอันเป็นอาหารที่พวกม้ากิน จักเป็นของหาได้ยาก ในสถานที่นั้นนั่นแล ข้าวสารเหนียวนั้นจักเป็นอาหารของม้า.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พวกพ่อค้าเหล่านั้นจึงได้ตกแต่งข้าวสารเหนียวนั้นไว้สำหรับภิกษุทั้งหลาย?
               ข้าพเจ้าจะกล่าวเฉลยต่อไป :-
               จริงอยู่ พวกมนุษย์ชาวอุตตราปถชนบทเหล่านั้น จะเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส เหมือนอย่างพวกมนุษย์ชาวทักขิณาปถชนบทหามิได้.
               ความจริง พวกมนุษย์ชาวอุตตราปถชนบทเหล่านั้น เป็นผู้มีศรัทธา มีความเลื่อมใส เป็นพุทธมามกะ ธรรมมามกะ สังฆมามกะ. พวกพ่อค้าเหล่านั้น ในเวลาเช้า เมื่อเข้าไปยังเมืองด้วยกรณียกิจบางอย่างนั่นเอง ได้พบภิกษุ ๗-๘ รูป ผู้นุ่งห่มเรียบร้อย สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ เที่ยวไปบิณฑบาตแม้ทั่วเมืองก็ไม่ได้วัตถุอะไรๆ ตั้ง ๒-๓ วัน.
               ครั้นเห็นแล้ว พวกพ่อค้าเหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายอาศัยเมืองนี้อยู่จำพรรษา ฉาตกภัยก็กำลังเป็นไป และท่านเหล่านี้ก็ไม่ได้วัตถุอะไรๆ ย่อมลำบากเป็นอย่างยิ่ง ทั้งพวกเราก็เป็นอาคันตุกะ ย่อมไม่อาจตระเตรียมข้าวต้มและข้าวสวยถวายพระผู้เป็นเจ้าเหล่านั้นทุกวันๆ ได้ แต่ม้าทั้งหลายของพวกเราได้อาหารสองมื้อ คือในเวลาเย็นและเวลาเช้า ไฉนหนอ พวกเราพึงแบ่งถวายข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ แก่ภิกษุรูปหนึ่งๆ จากอาหารมื้อเช้าของม้าตัวหนึ่งๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจักไม่ลำบาก ทั้งม้าก็จักพอยังชีวิตให้เป็นไปได้
               พวกพ่อค้าเหล่านั้นจึงไปยังสำนักของภิกษุทั้งหลาย เรียนบอกข้อความนั่นให้ทราบ แล้วเรียนขอว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงได้รับข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ แล้วทำให้เป็นอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งฉันเถิด ดังนี้แล้ว จึงได้ตกแต่งข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ ไว้ทุกวันๆ เพราะเหตุนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงกล่าวไว้ว่า พวกพ่อค้าม้าเหล่านั้นได้ตกแต่งข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ สำหรับภิกษุทั้งหลายไว้ที่คอกม้า.
               บทว่า ปญฺญตฺตํ แปลว่า ได้ตั้งไว้แล้ว โดยสังเขปอย่างนิตยภัต.

               [อรรถาธิบายปุพพัณหสมัยศัพท์]               
               บัดนี้ควรทราบวินิจฉัยในคำว่า ภิกฺขู ปุพฺพณฺหสมยํ นิวาเสตฺวา เป็นต้นต่อไป :-
               บทว่า ปุพฺพณฺหสมยํ แปลว่า สมัยอันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งวัน. อธิบายว่า ในปุพพัณหสมัย. อีกอย่างหนึ่ง สมัยในตอนเช้า ชื่อว่า ปุพพัณหสมัย ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า ขณะหนึ่งในเวลาเช้า. เมื่ออธิบายอย่างนี้ ทุติยาวิภัตติย่อมได้ในอรรถแห่งอัจจันสังโยค.
               บทว่า นิวาเสตฺวา แปลว่า นุ่งห่มแล้ว. บทว่า นิวาเสตฺวา นั่นพึงทราบด้วยสามารถแห่งการผลัดเปลี่ยนการนุ่งห่มในวิหาร. ในกาลก่อนแต่เวลาเที่ยวบิณฑบาตนั้น ภิกษุเหล่านั้นจะไม่ได้นุ่งห่ม ก็หามิได้เลย.
               บทว่า ปตฺตจีวรมาทาย ความว่า เอามือทั้ง ๒ อุ้มบาตร เอาจีวรคล้องกาย. อธิบายว่า รับไว้ คือพาดไว้. จริงอยู่ พวกภิกษุเมื่อถือเอา (บาตรและจีวร) ด้วยประการใดๆ ก็ตาม ท่านก็เรียกว่า ถือเอา เหมือนกัน. เหมือนในประโยคว่า พอถือเอาได้เท่านั้น ก็หลีกไป ดังนี้.
               สองบทว่า ปิณฺฑํ อลภมานา ความว่า เที่ยวไปทั่วทั้งเมืองเวรัญชา อย่าว่าแต่ก้อนข้าวเลย ไม่ได้โดยที่สุดแม้เพียงคำว่านิมนต์ โปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด.

               [พวกภิกษุได้ข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ นำไปจัดการฉันเอง]               
               หลายบทว่า ปตฺถปตฺถปุลกํ อารามํ หริตฺวา ความว่า ถือเอาข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ ที่ตนได้ในที่ที่ไปแล้วๆ นำไปยังอาราม.
               หลายบทว่า อุทุกฺขเล โกฏฺเฏตฺวาปริภุญฺชนฺติ ความว่า
               ใครๆ ผู้ที่จะเป็นกัปปิยการกรับเอาข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ นั้น ไปหุงต้มเป็นข้าวต้มหรือข้าวสวย ถวายแก่พระเถระเหล่านั้น ย่อมไม่มี. การหุงต้มแม้เองย่อมไม่เป็นสมณสารูป ทั้งไม่สมควร. ภิกษุเหล่านั้นรวมเป็นพวกๆ พวกละ ๘ รูปบ้าง พวกละ ๑๐ รูปบ้าง ปรึกษากันว่า ความเป็นผู้มีความประพฤติเบา และเปลื้องจากการหุงต้มให้สุกเอง จักมีแก่พวกเรา ด้วยวิธีอย่างนี้ ดังนี้ จึงโขลกตำในครกแล้วเอาน้ำชุบส่วนของตนๆ ให้ชุ่มแล้วก็ฉัน ครั้นเธอเหล่านั้นฉันแล้วก็เป็นผู้มีขวนขวายน้อย บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ด้วยประการฉะนี้.

               [พ่อค้าม้าถวายข้าวแดงแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า]               
               ส่วนพวกพ่อค้าม้าเหล่านั้นก็ถวายข้าวแดงแล่งหนึ่ง และเนยใส น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดที่ควรแก่ข้าวแดงนั้น แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. ท่านพระอานนท์นำเอาข้าวแดงนั้นมาบดที่ศิลา. ข้าวแดงนั้นอันบุรุษบัณฑิตผู้มีบุญทำแล้ว ย่อมเป็นที่ชอบใจทีเดียว. คราวนั้น ท่านพระอานนท์ ครั้นบดข้าวแดงนั้น ก็ปรุงด้วยเครื่องปรุงมีเนยใสเป็นต้น น้อมเข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ขณะนั้น พวกเทวดาได้แทรกทิพโอชาลงในข้าวแดงที่ปรุงนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสวยพระกระยาหารที่บดถวายนั้น ครั้นเสวยแล้วก็ทรงยังกาลให้ผ่านไปด้วยผลสมาบัติ จำเนียรกาลตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เสด็จเที่ยวทรงบาตร.

               [พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้แล้ว ๒๐ ปี ไม่มีผู้อุปัฏฐากประจำ]               
               ถามว่า ก็คราวนั้น พระอานนทเถระ ยังไม่ได้เป็นผู้อุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้าหรือ?
               แก้ว่า ยังไม่ได้เป็น ทั้งท่านก็ไม่ได้รับตำแหน่งผู้อุปัฏฐากเลย.
               ความจริง ในครั้งปฐมโพธิกาล ชื่อว่าภิกษุผู้อุปัฏฐากประจำ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในภายใน ๒๐ พรรษา ย่อมไม่มี.
               บางคราว พระนาคสมาลเถระอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า, บางคราว พระนาคิตเถระ, บางคราว พระเมฆิยเถระ, บางคราว พระอุปวาณเถระ, บางคราว พระสาคตเถระ, บางคราว พระเถระผู้เป็นโอรสของเจ้าลิจฉวี ชื่อสุนักขัตตะ อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระเถระเหล่านั้นอุปัฏฐากตามความพอใจของตนแล้ว ก็หลีกไปในเวลาที่ตนปรารถนา (จะหลีกไป). พระอานนทเถระ เมื่อท่านเหล่านั้นอุปัฏฐากอยู่ ก็เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย เมื่อท่านเหล่านั้นหลีกไปแล้ว ก็ทำวัตรปฏิบัติเสียเอง.
               ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงใฝ่พระทัยอยู่ว่า พระญาติผู้ใหญ่ของเรา ไม่ได้รับตำแหน่งเป็นผู้อุปัฏฐากก่อน แม้ก็จริง ถึงกระนั้น พระอานนท์นี้แหละเป็นผู้สมควรในฐานะทั้งหลายเห็นปานนี้ ดังนี้ จึงทรงนิ่งเงียบไว้. เพราะเหตุนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงกล่าวไว้ว่า ท่านพระอานนท์บดข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ ที่ศิลาแล้ว น้อมเข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า, พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสวยพระกระยาหารที่บดถวายนั้น.

               [พราหมณ์และชาวเมืองไม่ได้ถวายภัตแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า]               
               ถามว่า ก็ในเวลาข้าวยากหมากแพง มนุษย์ทั้งหลายเกิดความอุตสาหะทำบุญกันอย่างเหลือเกิน ถึงตนเองก็ไม่บริโภค ย่อมสำคัญของที่ตนควรถวายแก่พวกภิกษุมิใช่หรือ? เพราะเหตุไร ในคราวนั้น พวกมนุษย์เหล่านั้นจึงไม่ได้ถวายแม้ภิกษาสักทัพพีเล่า,
               และเวรัญชพราหมณ์นี้ก็ได้ทูลขอพระผู้มีพระภาคเจ้าให้อยู่จำพรรษา ด้วยความอุตสาหะเป็นอย่างมาก, เพราะเหตุไร พราหมณ์นั้นจึงไม่รู้แม้ความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่?
               ตอบว่า เพราะถูกมารดลใจ.
               จริงอยู่ มารได้ดลใจ คือทำเวรัญชพราหมณ์ผู้พอสักว่าหลีกไปจากสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น และชาวนครทั้งสิ้นให้ลุ่มหลงทั้งหมด ตลอดสถานที่มีประมาณโยชน์หนึ่งโดยรอบ (เมืองเวรัญชา) อันเป็นสถานที่พวกภิกษุอาจเที่ยวไปบิณฑบาต ในเวลาก่อนฉันแล้วกลับมาได้ ทำให้พวกมนุษย์ทั้งหมดกำหนดไม่ได้แล้วก็หลีกไป เพราะฉะนั้น ใครๆ จึงไม่ได้ใฝ่ใจถึงกิจที่ตนควรทำ โดยที่สุดแม้สามีจิกรรม.
               ถามว่า ก็แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทราบมารจะดลใจหรือ? จึงทรงเข้าจำพรรษาในเมืองเวรัญชานั้น.
               แก้ว่า ไม่ทรงทราบ ก็หามิได้.
               ถามว่า เมื่อทรงทราบเช่นนั้น เพราะเหตุไร จึงไม่ทรงเข้าจำพรรษา ในบรรดาพระนครแห่งใดแห่งหนึ่ง มีนครจัมปา สาวัตถีและราชคฤห์เป็นต้น?
               แก้ว่า พระนครทั้งหลายมีนครจัมปา สาวัตถีและราชคฤห์เป็นต้นจงยกไว้, แม้ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงเสด็จไปยังอุตรกุรุทวีปหรือไตรทศบุรี แล้วเข้าจำพรรษาในปีนั้นไซร้, มารก็พึงดลใจชาวอุตรกุรุทวีปหรือไตรทศบุรีแม้นั้นได้.
               ได้ยินว่า มารนั้นได้เป็นผู้มีจิตถูกความอาฆาตเข้ากลุ้มรุมอย่างยิ่งตลอดศกนั้น, ส่วนในเมืองเวรัญชานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นี้ได้เป็นอย่างดีว่า พวกพ่อค้าม้าจักทำการสงเคราะห์ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจึงทรงเข้าพรรษาในเมืองเวรัญชานั่นแล.

               [มารไม่สามารถทำอันตรายแก่ปัจจัย ๔ ได้]               
               ถามว่า ก็มารไม่สามารถจะดลใจพวกพ่อค้าได้หรือ?
               แก้ว่า จะไม่สามารถ ก็หามิได้ แต่เพราะพ่อค้าเหล่านั้นได้มาในเมื่อประชาชนถูกมารดลใจเสร็จสิ้นลงแล้ว.
               ถามว่า เพราะเหตุไร มารจึงไม่กลับมาดลใจอีกเล่า?
               แก้ว่า เพราะไม่เป็นวิสัย จึงไม่กลับมา.
               จริงอยู่ มารนั้นย่อมไม่อาจเพื่อทำอันตราย แก่ภิกษาที่บุคคลนำไปเฉพาะพระตถาคต แก่นิพัทธทาน แก่วัตถุทานที่บุคคลกำหนดถวายไว้แล้ว.
               ความจริง ใครๆ ไม่สามารถจะทำอันตรายแก่ปัจจัย ๔ ได้.
               แก่ปัจจัย ๔ เหล่าไหน?
               ใครๆ ไม่สามารถจะทำอันตรายแก่ปัจจัย ๔ เหล่านี้ คือ :-
               ใครๆ ไม่สามารถจะทำอันตรายแก่นิพัทธทาน โดยสังเขปว่า ภิกษาที่บุคคลนำไปเฉพาะพระตถาคต หรือแก่ปัจจัย ๔ ที่บุคคลบริจาคแล้วแด่พระตถาคตโดยสังเขปว่าวัตถุทานที่บุคคลกำหนดถวายไว้แล้ว ๑, ใครๆ ไม่สามารถจะทำอันตรายแก่พระชนมชีพ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ ๑, ใครๆ ไม่สามารถจะทำอันตรายแก่พระอนุพยัญชนะ ๘๐ หรือแก่พระรัศมี ที่ซ่านออกข้างละวาได้.
               จริงอยู่ รัศมีแม้แห่งพระจันทร์ พระอาทิตย์ เทวดาและพรหม พอไปถึงประเทศแห่งพระอนุพยัญชนะและพระรัศมีที่ซ่านออกข้างละวา ของพระตถาคตแล้ว ก็หมดอานุภาพไป ๑,
               ใครๆ ไม่สามารถจะทำอันตรายแก่พระสัพพัญญุตญาณ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ ๑ (รวมเป็น ๔ อย่าง ด้วยประการฉะนี้).
               เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมทั้งพระสงฆ์สาวกเสวยและฉันภิกษา ที่มารทำอันตรายไม่ได้ในคราวนั้น.

               [พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามสิ่งที่เป็นประโยชน์]               
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงเสวยอยู่อย่างนั้น วันหนึ่ง (ได้ทรงสดับเสียงครกแล).
               หลายบทว่า อสฺโสสิ โข ภควา อุทุกฺขลสทฺทํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับเสียงครก ที่เกิดเพราะสากกระทบ (ครก) ของพวกภิกษุผู้โขลกตำข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ อยู่.
               พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายกล่าวคำเป็นต้น ซึ่งมีต่อจากคำนั้นไปอย่างนี้ว่า พระตถาคตทั้งหลาย แม้ทรงทราบอยู่ ดังนี้ ก็เพื่อแสดงการเฉลยพระดำรัส ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามข้างหน้าว่า ดูก่อนอานนท์ นั้นเสียงครกหรือหนอแล?
               ในคำเหล่านั้นมีการพรรณนาโดยสังเขปดังต่อไปนี้ :-
               ธรรมดาว่า พระตถาคตทั้งหลาย แม้เมื่อทรงทราบอยู่ ถ้าเหตุแห่งการถามเช่นนั้น มีอยู่ไซร้ จึงตรัสถาม, แต่ถ้าเหตุแห่งการถามเช่นนั้น ไม่มีไซร้, ถึงทรงทราบอยู่ ก็ไม่ตรัสถาม. ก็เพราะขึ้นชื่อว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงทราบ ไม่มี, เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่กล่าวคำว่า แม้เมื่อไม่รู้.
               หลายบทว่า กาลํ วิทิตฺวา ปุจฺฉนฺติ ความว่า ถ้าเวลาแห่งการตรัสถามนั้นๆ มีอยู่ไซร้, ทรงทราบกาลนั้นอย่างนั้นแล้ว จึงตรัสถาม ถ้าเวลาแห่งการตรัสถามนั้น ไม่มีไซร้, ทรงทราบกาลแม้อย่างนั้นแล้ว ก็ไม่ตรัสถาม.
               อนึ่ง พระตถาคตทั้งหลาย แม้เมื่อจะตรัสถามอย่างนั้น ย่อมตรัสถามแต่คำที่ประกอบด้วยประโยชน์ คือย่อมตรัสถามเฉพาะแต่คำที่อิงอาศัยประโยชน์อิงอาศัยเหตุเท่านั้น หาตรัสถามคำที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ไม่.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะพระตถาคตทั้งหลายทรงขจัดคำที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เสียได้ด้วยมรรคชื่อว่าเสตุ.
               มรรคท่านเรียกว่า เสตุ. มีคำอธิบายไว้ว่า การขจัดคือ การตัดขาดด้วยดี ซึ่งคำเช่นนั้นด้วยมรรคนั่นเอง.
               บัดนี้ ท่านพระอุบาลีเถระ เมื่อจะแสดงถึงพระดำรัสที่อิงอาศัยประโยชน์ซึ่งพระตถาคตทั้งหลายตรัสถามนั้น ในบทว่า อตฺถสญฺหิตํ นี้จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ทฺวีหิ อากาเรหิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อากาเรหิ คือ ด้วยเหตุทั้งหลาย.
               สองบทว่า ธมฺมํ วา เทเสสฺสาม ความว่า เราจักแสดงพระสูตรที่ประกอบด้วยอัตถุปปัตติเหตุ (คือเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า) หรือชาดกที่ประกอบด้วยเหตุแห่งบุรพจริต (คือความประพฤติในชาติก่อน).
               หลายบทว่า สาวกานํ วา สิกฺขาปทํ ปญฺญาเปสฺสาม ความว่า หรือเราจักทำโทษที่ล่วงเกินให้ปรากฏ ด้วยการถามนั้น แล้วจักบัญญัติสิกขาบท คือตั้งข้อบังคับหนักหรือเบาไว้แก่สาวกทั้งหลาย.
               ในคำว่า อถโข ภควา ฯเปฯ เอตมตฺถํ อาโรเจสิ นี้ หามีคำอะไรๆ ที่ควรกล่าวไว้ไม่. เพราะว่า ท่านพระอานนท์เมื่อทูลบอกการได้ข้าวแดงแล่งหนึ่งๆ ความเป็นผู้มีความประพฤติเบา และเปลื้องจากการหุงต้มให้สุกเอง ของพวกภิกษุ ที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในตอนต้นนั่นแล เรียกว่า ได้ทูลบอกข้อความนั่นแล้ว.

               [พวกภิกษุจำพรรษาเมืองเวรัญชาชำนะความอดอยากได้]               
               ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงทำให้ท่านพระอานนท์รื่นเริง จึงได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดีละ ดีละ อานนท์ ก็แลครั้นทรงประทานสาธุการแล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรมยอมรับเอาอาการอย่างหนึ่ง ในบรรดาอาการทั้ง ๒ จึงได้ตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ พวกเธอเป็นสัตบุรุษ ชนะวิเศษแล้ว, พวกเพื่อนสพรหมจารีชั้นหลัง จักดูหมิ่นข้าวสาลีและข้าวสุกที่ระคนด้วยเนื้อ.
               ในคำว่า ตุมฺเหหิ เป็นต้นนั้น มีอธิบายดังต่อไปนี้ :-
               (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า) ดูก่อนอานนท์ ในคราวทุพภิกขภัย คือ ในคราวที่มีก้อนข้าวอันหาได้ยากอย่างนี้ พวกท่านเป็นสัตบุรุษชนะวิเศษแล้ว ด้วยความเป็นผู้ประพฤติเบานี้ และด้วยธรรมอันเป็นเครื่องขูดเกลานี้.
               ถามว่า พวกเธอชนะอะไร?
               แก้ว่า ชนะทุพภิกขภัยได้ ชนะความโลภได้ ชนะความประพฤติด้วยอำนาจแห่งความปรารถนาได้.
               ถามว่า ชนะอย่างไร?
               แก้ว่า แม้ภิกษุรูปหนึ่งย่อมไม่มีความคิด หรือความคับแค้นใจว่า เมืองเวรัญชานี้มีภิกษาหาได้ยาก แต่บ้านและนิคมในระหว่างโดยรอบ (แห่งเมืองเวรัญชานี้) มีข้าวกล้าโน้มลงด้วยความหนักคือผล คือว่ามีภิกษาดี มีก้อนข้าวหาได้โดยง่าย เอาเถิดพวกเราไปที่บ้านและนิคมนั้นแล้ว จึงจักฉัน, แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็จะทรงรับเอาพวกเราอยู่ในเมืองนี้ทีเดียว ดังนี้. ทุพภิกขภัยอันภิกษุเหล่านั้นชนะได้แล้ว คือครอบงำได้แล้ว ได้แก่ให้เป็นไปในอำนาจของตนแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้ก่อน.
               ถามว่า ชนะความโลภได้อย่างไร?
               แก้ว่า แม้ภิกษุรูปหนึ่งไม่ได้ทำให้ราตรีขาดด้วยอำนาจแห่งความโลภว่า เมืองเวรัญชานี้ มีภิกษาหาได้ยาก, ส่วนบ้านและนิคมในระหว่างโดยรอบ (แห่งเมืองเวรัญชานี้) มีข้าวกล้าโน้มลงด้วยความหนัก คือผล ได้แก่มีภิกษาดี มีก้อนข้าวหาได้โดยง่าย เอาเถิด พวกเราจักพากันไปฉันที่บ้านและนิคมนั้น หรือไม่ได้ทำให้พรรษาขาด ด้วยคิดว่า พวกเราจะเข้าจำพรรษาในบ้านและนิคมนั้น ในพรรษาหลัง ดังนี้,
               ความโลภอันภิกษุเหล่านั้นชนะได้แล้วด้วยอาการอย่างนี้.
               ถามว่า ชนะความประพฤติ ด้วยอำนาจแห่งความปรารถนาได้อย่างไร?
               แก้ว่า แม้ภิกษุรูปหนึ่งไม่ได้ให้ความปรารถนาเห็นปานนี้เกิดขึ้นเลยว่า เมืองเวรัญชานี้ ภิกษาหาได้ยาก และมนุษย์ทั้งหลายนี้ย่อมไม่สำคัญพวกเรา แม้ผู้พักอยู่ตั้ง ๒-๔ เดือน ในคุณอะไรเลย ไฉนหนอ พวกเราทำการค้าคุณธรรม (อวดอุตริมนุสธรรม) คือ ประกาศซึ่งกันและกัน แก่มนุษย์ทั้งหลาย อย่างนี้ว่า ภิกษุรูปโน้นได้ปฐมฌาน ฯลฯ รูปโน้นได้อภิญญา ๖ ดังนี้ แล้วปรนปรือท้อง ภายหลังจึงค่อยอธิษฐานศีล ดังนี้,
               ความประพฤติด้วยอำนาจแห่งความปรารถนา อันภิกษุเหล่านั้นชนะได้แล้ว คือครอบงำได้แล้ว เป็นไปในอำนาจของตนแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้.
               ส่วนในอนาคต เพื่อนพรหมจารีชั้นหลัง นั่งอยู่ในวิหารแล้ว แม้ได้ (ภัตตาหาร) โดยความยากลำบากเพียงเล็กน้อย ก็จะดูหมิ่นข้าวสาลีและข้าวสุกที่ระคนด้วยเนื้อ คือจักทำให้เป็นของดูหมิ่น น่าติเตียน โดยนัยเป็นต้นว่า ข้าวสุกนี้อะไรกัน? เป็นท้องเล็น แฉะไป ไม่เค็ม เค็มจัด ไม่เปรี้ยว เปรี้ยวจัด จะประโยชน์อะไรด้วยข้าวสุกนี้? ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอธิบายไว้ว่า) ขึ้นชื่อว่า ชนบทจะมีภิกษาหาได้ยากตลอดกาล ก็หามิได้ คือ บางคราวก็มีภิกษาหาได้ยาก บางคราวก็มีภิกษาหาได้ง่าย ในกาลใด ชนบทนี้นั้นจักมีภิกษาหาได้ง่าย ในกาลนั้น มนุษย์ทั้งหลายเลื่อมใสต่อข้อปฏิบัตินี้ของพวกท่านผู้เป็นสัตบุรุษแล้ว จักสำคัญข้าวสาลีวิกัติ และข้าวสุกที่ระคนด้วยเนื้อ อันมีประการหลายอย่าง โดยประเภทมีข้าวต้มและของขบฉันเป็นต้น ที่ตนพึงถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย, ปัจฉิมชนตาชน กล่าวคือ เพื่อนสพรหมจารีของพวกท่านนั่งอยู่ในระหว่างพวกท่านแล้ว เสวยอยู่ซึ่งสักการะที่อาศัยพวกท่านเกิดขึ้นแล้วนั้นแล จักดูหมิ่นและจะทำความดูถูก อันมีการเสวยสักการะนั้นเป็นปัจจัย.
               ถามว่า จักทำความดูถูกอย่างไร?
               แก้ว่า จักทำความดูถูกอย่างนี้ว่า เพราะเหตุไร พวกท่านจึงหุงต้มภัตมีประมาณเท่านี้เล่า? ภาชนะของพวกท่านซึ่งเป็นที่ที่พวกท่านจะพึงใส่ของๆ ตนเก็บไว้ ไม่มีหรือ?

               มหาโมคคัลลานสีหนาทกถา               
               ในบททั้งหลายเป็นต้นว่า อถโข อายสฺมา มหาโมคฺคลฺลาโน มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า อายสฺมา นี้ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก, บทนี้เป็นชื่อแห่งความเคารพ และความยำเกรงโดยฐานครู.
               บทว่า มหาโมคฺคลฺลาโน ความว่า พระเถระนั้นชื่อว่ามหาโดยความเป็นผู้มีคุณใหญ่ และชื่อว่าโมคคัลลานะโดยโคตร เพราะเหตุนั้น พระเถระนั้นจึงชื่อว่า มหาโมคคัลลานะ.
               บทว่า เอตทโวจ ความว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กราบทูลคำนี้ (กะพระผู้มีพระภาคเจ้า) คือแสดงคำเป็นต้น ที่ตนควรกราบทูลในบัดนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ (เมืองเวรัญชามีภิกษาหาได้ยาก) ดังนี้.

               [ท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลขออนุญาตพลิกแผ่นดิน]               
               ถามว่า ท่านมหาโมคคัลลานะได้กราบทูล (คำนี้) เพราะเหตุไร?
               แก้ว่า เพราะได้ยินว่า พระเถระบวชแล้วในวันที่ ๗ จึงได้ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ ทั้งพระศาสดาก็ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เพราะความที่ท่านเป็นผู้มีฤทธิ์มาก. พระเถระนั้นอาศัยความที่ตนเป็นผู้มีฤทธิ์มากนั้นจึงดำริว่า เมืองเวรัญชานี้มีภิกษาหาได้ยาก และภิกษุทั้งหลายก็ย่อมลำบาก, ถ้าไฉนหนอ เราจะพลิกแผ่นดิน แล้วให้ภิกษุทั้งหลายฉันง้วนดิน.
               คราวนั้น ท่านได้มีความรำพึงดังนี้ว่า ก็ถ้าว่า เมื่อเราอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า จะไม่ทูลขอกะพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วพึงทำอย่างนั้นไซร้ ข้อนั้นจะไม่พึงเหมาะแก่เรา จะพึงเป็นเหมือนการแข่งดี ที่เราทำกับพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะฉะนั้น พระเถระมีความประสงค์จะทูลขอ จึงมากราบทูลกล่าวคำนั่นกะพระผู้มีพระภาคเจ้า.

               [ภายใต้แผ่นดินมีง้วนดินที่มีรสโอชา]               
               สองบทว่า เหฏฺฐิมตลํ สมฺปนฺนํ ความว่า ได้ยินว่า พระเถระกล่าวหมายเอาฟองดิน โอชาดิน ง้วนดิน ซึ่งมีอยู่ในพื้นเบื้องล่างแห่งแผ่นดิน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺปนฺนํ แปลว่า มีรสหวาน. อธิบายว่า มีรสดี. เหมือนอย่างในประโยคนี้ว่า ต้นไม้มีผลสมบูรณ์และมีผลเกิดแล้ว พึงมีในสถานที่นั้น ดังนี้ พึงทราบความหมายว่า มีผลอร่อยฉันใดแล แม้ในอธิการนี้ ก็ฉันนั้น บัณฑิตพึงทราบความหมายแห่งบทว่า สมฺปนฺนํ นี้ว่า มีรสหวาน คือรสดี.
               ส่วนคำว่า เสยฺยถาปิ ขุทฺทกมธุ อนีลกํ นี้ พระเถระกล่าวแล้วก็เพื่อแสดงข้ออุปมา เพราะพื้นเบื้องล่างแห่งแผ่นดินนั้น เป็นธรรมชาติมีรสหวาน.
               น้ำหวานที่ตัวแมลงผึ้งเล็กๆ ทำไว้แล้ว ชื่อว่า ขุทฺทกมธุ (น้ำผึ้งหวี่).
               บทว่า อนีลกํ แปลว่า ไม่มีตัว คือไม่มีตัวอ่อน ได้แก่น้ำผึ้งที่บริสุทธิ์.
               ได้ยินว่า น้ำผึ้งนั่นเป็นของเลิศ ประเสริฐ มีรสดี และมีโอชากว่าน้ำหวานทั้งหมด เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงได้กล่าวว่า เสยฺยถาปิ ขุทฺทกมธุ อนีลกํ เอวมสฺสาทํ แปลว่า (เป็นที่ชอบใจ เหมือนน้ำผึ้งหวี่ที่ไม่มีตัวฉะนั้น) ดังนี้เป็นต้น.
               ประชุมหลายบทว่า สาธาหํ ภนฺเต ตัดบทว่า สาธุ อหํ ภนฺเต แปลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระพุทธเจ้า (จะพึงพลิกแผ่นดิน).
               ก็บทว่า สาธุ นั่น ซึ่งมีอยู่ในบทว่า สาธาหํ นี้ เป็นคำกราบทูลขอ.
               จริงอยู่ พระเถระ เมื่อจะกราบทูลขออนุญาตการพลิกแผ่นดิน จึงได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนั้น.
               บทว่า ปริวตฺเตยฺยํ ความว่า พึงหงายขึ้น คือพึงทำพื้นข้างล่างให้กลับขึ้นข้างบน.
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระเถระจึงต้องทำอย่างนั้น?
               แก้ว่า เพราะว่า เมื่อพระเถระทำอย่างนั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายจักได้ฉันง้วนดิน คือฟองดิน โดยสะดวก.
               คราวนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้มีพระประสงค์จะไม่ทรงอนุญาตก็ตาม แต่เพื่อให้พระเถระบันลือสีหนาท จึงตรัสถามว่า โมคคัลลานะ ก็เธอจักทำเหล่าสัตว์ผู้อาศัยแผ่นดินไว้อย่างไรเล่า? ตรัสอธิบายไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายในบ้านและนิคมเป็นต้นเหล่าใดผู้อาศัยแผ่นดินอยู่ เมื่อเธอพลิกแผ่นดิน เธอจักทำสัตว์เหล่านั้นผู้ไม่สามารถจะดำรงอยู่ในอากาศได้อย่างไร? คือจักพักไว้ในสถานที่ไหนเล่า.
               คราวนั้น พระเถระ เมื่อจะประกาศอิทธานุภาพของตนอันสมควรแก่ความที่ตน อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ จึงได้กราบทูลว่า เอกาหํ ภนฺเต เป็นต้น.
               ใจความแห่งคำว่า เอกาหํ ภนฺเต เป็นต้นนั้นว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าจักนิรมิตมือข้างหนึ่ง เหมือนแผ่นดินใหญ่นี้ คือจักทำเป็นเช่นกับแผ่นดิน ครั้นข้าพระพุทธเจ้าทำอย่างนั้นแล้ว จักทำเหล่าสัตว์ผู้อาศัยแผ่นดินให้ก้าวไปบนมือนั้น เหมือนทำให้สัตว์ผู้ดำรงอยู่แล้วบนพื้นฝ่ามือข้างหนึ่งนั้น ก้าวไปบนพื้นฝ่ามือข้างที่สองฉะนั้น.

               [พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้พลิกแผ่นดิน]               
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงคัดค้านการทูลขอของพระเถระนั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า อย่าเลย โมคคัลลานะ!
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อลํ เป็นพระดำรัสที่ตรัสคัดค้าน.
               หลายบทว่า วิปลฺลาสมฺปิ สตฺตาปฏิลเภยฺยุํ ความว่า สัตว์ทั้งหลายพึงเข้าถึงแม้การถือคลาดเคลื่อนไป.
               ถามว่า พึงถึงการถือคลาดเคลื่อนอย่างไร?
               แก้ว่า อย่างนี้คือ นี้เป็นแผ่นดิน หรือนี้มิใช่แผ่นดินหนอ.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงถึงการถือคลาดเคลื่อนที่ตรงกันข้ามอย่างนี้คือ นี้เป็นบ้านของพวกเรา หรือเป็นบ้านของคนเหล่าอื่นหนอ. ในนิคม ชนบท นาและสวนเป็นต้นก็มีนัยดังกล่าวมาแล้วนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง นั่นมิใช่วิปัลลาส. เพราะว่าอิทธิวิสัยของท่านผู้มีฤทธิ์เป็นอจินไตย. ส่วนมนุษย์ทั้งหลายพึงได้รับความเข้าใจผิด อย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าทุพภิกขภัยนี้ หาใช่จะมีในบัดนี้เท่านั้นไม่, แม้ในอนาคต ก็จักมี, ในกาลนั้น ภิกษุทั้งหลายจักได้เพื่อนพรหมจารีผู้มีฤทธิ์เช่นนั้นแต่ที่ไหนเล่า? ท่านเหล่านั้นเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระสุกขวิปัสสก ท่านผู้ได้ฌาน และผู้บรรลุปฏิสัมภิทา แม้เป็นพระขีณาสพก็มี จักเข้าไปบิณฑบาตยังตระกูลอื่น เพราะไม่มีอิทธิพล ความวิตกอย่างนี้ของมนุษย์ทั้งหลายจักมีขึ้นในภิกษุเหล่านั้นว่า ในครั้งพุทธกาล ภิกษุทั้งหลายได้เป็นผู้บำเพ็ญให้บริบูรณ์ในสิกขาทั้งหลายแล้ว, ท่านเหล่านั้นได้ให้คุณทั้งหลายเกิดขึ้นแล้ว ทั้งในคราวมีทุพภิกขภัย ก็ได้พลิกแผ่นดิน แล้วฉันง้วนดิน, แต่บัดนี้ ท่านผู้บำเพ็ญให้บริบูรณ์ในสิกขาย่อมไม่มี, ถ้าจะพึงมีไซร้ก็พึงจะทำเหมือนอย่างนั้นทีเดียว ด้วยคิดว่า มนุษย์ทั้งหลายไม่พึงถวายบิณฑบาตที่สุกหรือดิบอย่างใดอย่างหนึ่งแก่พวกเรา เพื่อขบฉัน ดังนี้, เพราะความวิตกอย่างว่ามานี้ มนุษย์เหล่านั้นพึงได้วิปัลลาส (ความเข้าใจเคลื่อนคลาด) นี้ ในพระอริยบุคคลทั้งหลาย ซึ่งมีตัวอยู่นั่นแหละว่า พระอริยบุคคลทั้งหลาย ไม่มี. ก็แลมนุษย์ทั้งหลายผู้ติเตียนว่าร้ายอยู่ซึ่งพระอริยบุคคลด้วยอำนาจวิปัลลาส (ความเข้าใจผิด) จะพึงเป็นผู้เข้าถึงอบาย เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า การพลิกแผ่นดิน เธออย่าชอบใจเลย ดังนี้.
               ลำดับนั้น พระเถระเมื่อทูลขอเรื่องนี้ไม่ได้ จะทูลขอเรื่องอื่น (ต่อไป) จึงได้กราบทูลคำมีอาทิว่า ดีละ พระเจ้าข้า!
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงคัดค้านคำทูลขอแม้นั้นของพระเถระนั้น จึงตรัสพระดำรัส มีอาทิว่า อย่าเลย โมคคัลลานะ!.
               คำว่า สัตว์ทั้งหลายพึงได้รับแม้ซึ่งวิปัลลาส ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสไว้ในคำว่า อย่าเลย โมคคัลลานะ ดังนี้เป็นต้น แม้ก็จริง, ถึงกระนั้น บัณฑิตก็ควรถือเอาโดยนัยดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นนั่นแหละ. อนึ่ง แม้ใจความแห่งคำนั้น ก็ควรทราบเช่นกับที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง.
               ถามว่า ก็ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตไซร้, พระเถระจะพึงทำอย่างไร?
               แก้ว่า พระเถระพึงอธิษฐานมหาสมุทรให้ขนาดเท่าเหมืองที่จะพึงข้ามด้วยย่างเท้าก้าวเดียว แล้วชักหนทางจากต้นสะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงอยู่มุ่งหน้าตรงไปยังอุตรกุรุทวีป แล้วแสดงอุตรกุรุทวีปไว้ในที่อันสมบูรณ์ด้วยการไปและการมา ให้ภิกษุทั้งหลายเข้าไปบิณฑบาตแล้วออกไปได้ตามสบาย เหมือนเข้าไปสู่โคจรคามฉะนั้น.

               สีหนาทกถาของพระมหาโมคคัลลานะ จบ.               

.. อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]
อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=1&Z=315
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๔
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :