ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 1อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 10อ่านอรรถกถา 1 / 21อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ปาราชิกกัณฑ์ ปฐมปาราชิกสิกขาบท

               ปฐมปาราชิกวรรณนา               
               [เรื่องพระสุทินน์]               
               ๑- เบื้องหน้าแต่เวรัญชกัณฑ์นี้ไป คำว่า เตน โข ปน สมเยน เวสาลิยา อวิทูเร เป็นต้น มีเนื้อความกระจ่างโดยมาก. เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะงดการพรรณนาตามลำดับบทเสีย จักพรรณนาแต่เฉพาะบทที่มีคำสมควรจะกล่าวเท่านั้น.
____________________________
๑- ต่อจากนี้ไป ถ้าเป็นประโยคสนามหลวง เป็นสำนวนแปลของเจ้าประคุณ
๑- สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี ป.ธ. ๙) วัดมกุฏกษัตริยาราม
๑- เป็นส่วนมาก.

               [อรรถาธิบายชื่อบ้านและชื่อบุตรเศรษฐี]               
               บ้านที่ได้ชื่อว่า กลันทคาม ก็ด้วยอำนาจแห่งกระแตทั้งหลาย ที่เรียกว่า กลันทกะ.
               บทว่า กลนฺทปุตฺโต ความว่า (สุทินน์) เป็นบุตรของกลันทเศรษฐีผู้มีทรัพย์ ๔๐ โกฏิ ซึ่งได้ชื่อด้วยอำนาจแห่งบ้าน ที่พระราชทานสมมติให้. ก็เพราะมนุษย์แม้เหล่าอื่น ที่มีชื่อว่ากลันทะ มีอยู่ในบ้านตำบลนั้น, ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า กลันทบุตร แล้วกล่าวย้ำไว้อีกว่า เศรษฐีบุตร.
               บทว่า สมฺพหุเลหิ แปลว่า มากหลาย.
               บทว่า สหายเกหิ ความว่า ชนผู้ชื่อว่าสหาย เพราะอรรถว่าไปร่วมกัน คือเข้าถึงสุขและทุกข์ด้วยกัน. สหายนั่นเอง ชื่อว่า สหายกา. (สุทินน์กลันทบุตร ได้ไปเมืองไพศาลี) กับด้วยสหายเหล่านั้น.
               บทว่า สทฺธึ แปลว่า เป็นพวกเดียวกัน.
               สองบทว่า เกนจิเทว กรณีเยน ความว่า ด้วยกิจบางอย่างมีประกอบการซื้อขายสินค้า การให้กู้ยืม และการทวงหนี้เป็นต้น. อาจารย์บางพวก กล่าวว่า ด้วยกิจคือการเล่นกีฬาอันเป็นนักขัตฤกษ์ในเดือนกัตติกมาส (คือเดือน ๑๒) ดังนี้บ้าง.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปถึงนครไพศาลี ในชุณหปักข์ (ข้างขึ้น) แห่งเดือนกัตติกมาส. อนึ่ง ในนครไพศาลีนี้ มีการเล่นกีฬาอันเป็นนักขัตฤกษ์ประจำเดือนกัตติกมาสอย่างโอฬาร, สุทินน์กลันทบุตรนั้น พึงทราบว่า ไป (ยังนครไพศาลี) เพื่อเล่นกีฬานักขัตฤกษ์นั้น.

               [สุทินน์กลันทบุตรไปเพื่อฟังธรรม]               
               บทว่า อทฺทสา โข ความว่า สุทินน์กลันทบุตรนั้น ได้เห็นอย่างไร?
               ได้เห็นอย่างนี้คือ :-
               ได้ยินว่า สุทินน์นั้นได้เห็นมหาชนผู้บริโภคอาหารเช้า เสร็จแล้วห่มผ้าขาว มีมือถือดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ออกจากพระนครไปเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าและเพื่อฟังธรรม จึงถามว่า พวกท่านจะไปที่ไหนกัน.
               มหาชนตอบว่า จะไปเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า และเพื่อฟังธรรม.
               สุทินน์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น แม้ข้าพเจ้าก็จะไป แล้วไปได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้อันบริษัททั้ง ๔ แวดล้อมแล้ว ทรงแสดงธรรมอยู่ ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะดังเสียงพรหม. เพราะเหตุนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงได้กล่าวไว้ว่า สุทินน์กลันทบุตรได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้อันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมแล้ว ประทับนั่งแสดงธรรมอยู่.
               บทว่า ทิสฺวานสฺส ตัดบทเป็น ทิสฺวาน อสฺส แปลว่า เพราะได้เห็น (ความรำพึงนี้ได้มี) แก่เขา.
               บทว่า เอตทโหสิ ความว่า ความรำพึงนี้ได้มีแก่สุทินน์ผู้เป็นภัพกุลบุตร (กุลบุตรผู้ควรตรัสรู้) ผู้อันปุพเพกตปุญญตาตักเตือนอยู่.
               ถามว่า ความรำพึงนี้ได้มีแล้วอย่างไร?
               แก้ว่า ได้มีว่า ไฉนหนอ เราจะพึงได้ฟังธรรมบ้าง.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยนฺนูน นั่นเป็นบทแสดงถึงความรำพึง.
               ได้ยินว่า สุทินน์นั้นได้เกิดความรำพึงขึ้นอย่างนี้ว่า บริษัทนี้มีจิตดิ่งลงเป็นหนึ่ง ฟังธรรมใดอยู่, โอหนอ แม้เราก็พึงฟังธรรมนั้น.
               หากจะมีอาจารย์ผู้โจทก์ท้วงว่า ในคำว่า ครั้งนั้นแล สุทินน์กลันทบุตรเข้าไปโดยทางบริษัทนั้น นี้เพราะเหตุไร ท่านพระอุบาลีเถระจึงไม่กล่าวไว้ว่า เข้าไปเฝ้าโดยทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ แต่กลับกล่าวว่า เข้าไปโดยทางที่บริษัทนั้นอยู่?
               เฉลยว่า จริงอยู่ บริษัทหมู่ใหญ่ มีเหล่าชนผู้หรูหรา นั่งห้อมล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่แล้ว, สุทินน์กลันทบุตรนี้มาภายหลังเขา ไม่สามารถจะเข้าไปนั่งเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าในบริษัทนั้นได้, แต่ก็สามารถจะเข้าไปนั่งในที่แห่งหนึ่งใกล้บริษัทได้, เพราะฉะนั้น สุทินน์กลันทบุตรนั้นก็เข้าไปหาบริษัทนั้นนั่นแล. เพราะเหตุนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงได้กล่าวว่า ครั้งนั้นแล สุทินน์กลันทบุตรเข้าไปโดยทางที่บริษัทนั้นอยู่.๑-
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๑๐/หน้า ๑๙

               [สุทินน์กลันทบุตรได้ฟังธรรมแล้วคิดจะบวช]               
               หลายบทว่า เอกมนฺตํ นิสินฺนสฺส โข สุทินฺนสฺส กลนฺทปุตฺตสฺส เอตทโหสิ ความว่า ความรำพึงนี้หาได้มีแก่สุทินน์กลันทบุตร ผู้สักว่านั่งแล้วเท่านั้นไม่, โดยที่แท้ ก็ความรำพึงนั้นได้มีแก่สุทินน์กลันทบุตรนั้น ผู้นั่งแล้ว ณ ที่สมควรข้างหนึ่งนั่นแล เพราะได้ฟังธรรมกถาหน่อยหนึ่งซึ่งประกอบด้วยไตรสิกขา ของพระผู้มีพระภาคเจ้า, เพราะเหตุนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงกล่าวไว้ว่า ความรำพึงนี้ได้มีแก่สุทินน์กลันทบุตรผู้นั่งอยู่แล้ว ณ ที่สมควรข้างหนึ่งแล.
               ถามว่า ความรำพึงนี้ได้มีแล้วอย่างไร?
               แก้ว่า ได้มีว่า ด้วยอาการใดๆ แล (เราจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว) ดังนี้เป็นต้น.
               ในคำว่า ยถา เป็นต้นนั้น มีการกล่าวโดยสังเขปดังต่อไปนี้ :-
               เราแลจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วด้วยอาการใดๆ, ความรำพึงอย่างนี้ย่อมมีแก่เรา ผู้ใคร่ครวญอยู่ด้วยอาการนั้นๆ. พรหมจรรย์คือไตรสิกขา ชื่อว่าอันบุคคล (ผู้อยู่ครองเรือน) จะพึงประพฤติให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เพราะจะต้องทำมิให้ขาดเป็นท่อน แม้ตลอดวันหนึ่ง แล้วพึงให้ลุถึงจริมกจิต๑- (คือจิตที่เคลื่อนจากภพ) และชื่อว่าอันบุคคล (ผู้ยังอยู่ครองเรือน) จะพึงประพฤติให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว เพราะจะต้องทำมิให้เศร้าหมอง ด้วยมลทินคือกิเลสแม้ตลอดวันหนึ่ง แล้วพึงให้ลุถึงจริมกจิต๑- (คือจิตที่เคลื่อนจากภพ).
               บทว่า สงฺขลิขิตํ ความว่า จะพึงปฏิบัติให้เป็นดุจสังข์ที่ขัดเกลาแล้ว คือให้มีส่วนเปรียบด้วยสังข์ที่ชำระล้างแล้ว.
               หลายบทว่า อิทํ น สุกรํ อคารํ อชฺฌาวสตา ความว่า อันบุคคลผู้ยังอยู่ในท่ามกลางแห่งเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์นี้ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดเกลาแล้ว เป็นของทำไม่ได้ง่าย ไฉนหนอ เราจะพึงปลงผมและหนวด ครองคือนุ่งห่มผ้ากาสาวะ เพราะเป็นของย้อมแล้วด้วยรสแห่งน้ำฝาด อันเป็นของสมควรแก่บรรพชิตผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แล้วออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต.
               ก็เพราะกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้น ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เรือน ท่านเรียกว่า อคาริยะ ในบทว่า อนคาริยํ นี้. และกสิกรรมพาณิชยกรรมเป็นต้นนั้นย่อมไม่มีในบรรพชา เพราะเหตุนั้น บรรพชาบัณฑิตพึงรู้ว่า อนคาริยา. ซึ่งการบรรพชาที่ไม่มีเรือนนั้น.
               บทว่า ปพฺพเชยฺยํ แปลว่า พึงเข้าถึง.
____________________________
๑- จริมกจิต หมายถึงจุติจต คือจิตเคลื่อนจากภพ หมายถึงจนดับชีวิต.
๑- ในฏีกาสารัตถทีปนี ๒/๔.

               [สุทินน์กลันทบุตรทูลขอบรรพชากะพระผู้มีพระภาคเจ้า]               
               หลายบทว่า อจิรวุฏฺฐิตาย ปริสาย เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ
               ความว่า สุทินน์ เมื่อบริษัทยังไม่ลุกไป ก็ยังไม่ได้ทูลขอบรรพชากะพระผู้มีพระภาคเจ้า. เพราะเหตุไร?
               เพราะในบริษัทนั้น ญาติสาโลหิต มิตรและอำมาตย์ของสุทินน์นั้น มีอยู่มาก, พวกญาติเป็นต้นเหล่านั้นจะพึงพูดว่า ท่านเป็นบุตรน้อยคนเดียวของมารดาบิดา, ท่านไม่ได้เพื่อจะบวช ดังนี้แล้วพึงจับแม้ที่แขนฉุดออกไป, ในเวลานั้น สุทินน์คิดว่า อันตรายจักมีแก่บรรพชา จึงลุกขึ้นเดินไปได้หน่อยหนึ่ง พร้อมกับบริษัทนั่นเอง แล้วหวนกลับมาอีก ด้วยการอ้างเลิศแห่งสรีรกิจบางอย่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลขอบรรพชา.
               เพราะเหตุนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงกล่าวไว้ว่า ครั้งนั้นแล สุทินน์กลันทบุตร เมื่อบริษัทลุกไปแล้วไม่นานนักก็เข้าเฝ้า โดยทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่, ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่งอยู่ ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง. สุทินน์กลันทบุตรนั่งอยู่ ณ ที่สมควรข้างหนึ่งแล้วแล ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยอาการใดๆ ข้าพระพุทธเจ้าจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วอันบุคคลผู้ยังอยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดเกลาแล้ว เป็นของทำไม่ได้ง่าย, ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสาวะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต, ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด พระเจ้าข้า!๑-
               ก็เพราะจำเดิมแต่ราหุลกุมารบรรพชามา พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ทรงบวชให้บุตรผู้ที่มารดาบิดาไม่อนุญาต, เพราะฉะนั้นจึงตรัสถามสุทินน์นั้นว่า ดูก่อนสุทินน์ ก็เธออันมารดาบิดาอนุญาตให้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้วหรือ?๑-
               เบื้องหน้าแต่พระพุทธดำรัสนี้ไป บัณฑิตพึงทราบเนื้อความไปตามแนวพระบาลีนั่นแล อย่างนี้ในบทว่า ตํ กรณียํ ตีเรตฺวา๒- นี้. (สุทินน์กลันทบุตรนั้น) ให้กรณียกิจนั้นเสร็จลง ด้วยการทอดทิ้งธุระนั่นเอง.
               จริงอยู่ น้ำใจของสุทินน์กลันทบุตรผู้มีฉันทะแรงกล้าในการบรรพชา หาได้น้อมไปในธุระกิจทั้งหลายมีประกอบการซื้อขายสินค้า การให้กู้ยืมและทวงหนี้เป็นต้นหรือในการเล่นกีฬานักขัตฤกษ์ไม่.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๑๐/หน้า ๒๐
๒- วิ. มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๑๑/หน้า ๒๐

               [มารดาบิดาไม่อนุญาตให้สุทินน์บวช]               
               ก็ในบทว่า อมฺม ตาต นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               สุทินน์กลันทบุตรเรียกมารดาว่า อมฺม แม่ (และ) เรียกบิดาว่า ตาต พ่อ.
               สองบทว่า ตฺวํ โขสิ ตัดบทเป็น ตฺวํ โข อสิ แปลว่า (ลูกสุทินน์) เจ้าเท่านั้นแล เป็น...
               บทว่า เอกปุตฺตโก ความว่า เป็นบุตรคนเดียวแท้ๆ คือพี่ชายหรือน้องชายคนอื่นของเจ้าไม่มี.
               อนึ่ง ในบทว่า เอกปุตฺตโก นี้ เมื่อมารดาบิดาควรจะกล่าวว่า เอกปุตฺโต แต่กล่าวว่า เอกปุตฺตโก ก็ด้วยอำนาจความเอ็นดู.
               บทว่า ปิโย แปลว่า ผู้ให้เกิดปีติ.
               บทว่า มนาโป แปลว่า ผู้เจริญใจ.
               บทว่า สุเขธิโต แปลว่า ผู้รุ่งเรืองมาด้วยความสุข. อธิบายว่า ผู้เจริญมาด้วยความสุข.
               บทว่า สุขปริหโฏ ความว่า ผู้อันเหล่าชนประคบประหงมมาด้วยความสุข คือตั้งแต่เวลาเกิดมาแล้ว ก็มีพี่เลี้ยงนางนมทั้งหลายผลัดเปลี่ยนตักกันอุ้มทรงไว้ เล่นอยู่ด้วยสิ่งของเครื่องเล่นในเวลายังเป็นเด็กเล็กๆ มีม้าและรถเป็นต้น อันพี่เลี้ยงเป็นต้นให้บริโภคโภชนาหารที่มีรสอร่อยดี ชื่อว่าผู้อันเหล่าชนประคบประหงมมาด้วยความสุข.
               หลายบทว่า น ตฺวํ ตาต สุทินฺนกิญฺจิ ทุกฺขสฺส ชานาสิ ความว่า แนะลูกสุทินน์ เจ้าย่อมไม่รู้ส่วนเสี้ยวแห่งทุกข์อะไรๆ แม้เพียงเล็กน้อยเลย. อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า เจ้าย่อมไม่ได้เสวยอะไรๆ ด้วยความทุกข์. คำว่า ทุกฺขสฺส นี้ เป็นฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถตติยาวิภัตติ. ก็ความรู้เป็นไปในอรรถคือความเสวย.
               อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า เจ้าย่อมระลึกถึงทุกข์อะไรๆ ไม่ได้. คำว่า ทุกฺขสฺส นี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ลงในอรรถทุติยาวิภัตติ. ก็ความรู้เป็นไปในอรรถคือความระลึก.
               แม้ในวิกัปป์ทั้งสอง พึงเห็นการลบวิภัตติที่เสมอกันแห่งบทเบื้องต้น ด้วยบทเบื้องปลายเสีย. คำตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนั้น ผู้ศึกษาควรทราบตามแนวคัมภีร์ศัพทศาสตร์.
               หลายบทว่า มรเณนปิ มยนฺเต อกามกา วินา ภวิสฺสาม ความว่า แม้ถ้าเมื่อเราทั้งสอง ยังมีชีวิตอยู่ เจ้าจะพึงตายไซร้, แม้ด้วยความตายของเจ้านั้น เราทั้งสองก็ไม่ต้องการ คือไม่ปรารถนา ชื่อว่าจักไม่ยอม เว้น (ให้เจ้าตาย) ตามความพอใจของตน. อธิบายว่า เราทั้งสองจักประสบความพลัดพรากจากเจ้าไม่ได้.
               หลายบทว่า กึ ปน มยํ ตํ ความว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เหตุอะไรเล่าจักเป็นเหตุให้เราทั้งสองอนุญาตให้เจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่ (ออกบวชเป็นบรรพชิต).
               อีกอย่างหนึ่ง ในบทว่า กึ ปน มยํ ตํ นี้ พึงเห็นใจความอย่างนี้ว่า ก็เพราะเหตุไรเล่า เราทั้งสองจึงจักยอมอนุญาตให้เจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่.
               บทว่า ตตฺเถว ความว่า (สุทินน์กลันทบุตรนั้นนอนลง) ในสถานที่ที่เขายืนอยู่ ซึ่งมารดาบิดาไม่อนุญาตให้เขาบวชนั้นนั่นเอง.
               บทว่า อนนฺตรหิตาย ความว่า บนพื้นที่อันมิได้ลาดด้วยเครื่องปูลาดอะไรๆ.
               บทว่า ปริจาเรหิ ความว่า เจ้าจงให้พวกนักขับร้องนักเต้นรำและนักฟ้อนเป็นต้น บำรุงบำเรอเฉพาะตนแล้ว จงให้อินทรีย์ (คือร่างกายทุกส่วน) เที่ยวไป คือให้สัญจรไปตามสบายร่วมกับสหายทั้งหลาย ในหมู่นักขับร้องเป็นต้นเหล่านั้น. อธิบายว่า เจ้าจงนำนักขับร้องเป็นต้น เข้ามาทางนี้และทางนี้เถิด.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปริจาเรหิ ความว่า เจ้าจงให้พวกนักขับร้องนักเต้นรำและนักฟ้อนเป็นต้น บำรุงบำเรอเฉพาะตนแล้ว จงเล่น คือจงเข้าไปสมาคม ได้แก่จงรื่นรมย์ร่วมกับสหายทั้งหลายเถิด. มีคำอธิบายไว้ว่า จงเล่นกีฬาเถิด ดังนี้บ้าง.
               สองบทว่า กาเมปริภุญฺชนฺโต ความว่า เจ้าจงบริโภคโภคทรัพย์ทั้งหลายร่วมกับบุตรและภรรยาของตนเถิด.
               สองบทว่า ปุญฺญานิ กโรนฺโต ความว่า เจ้าจงปรารถพระพุทธ์ พระธรรมและพระสงฆ์แล้ว บำเพ็ญกุศลธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องชำระทางสุคติให้บริสุทธิ์ด้วยดี มีการเพิ่มให้ทานเป็นต้นเถิด.
               สองบทว่า ตุณฺหี อโหสิ ความว่า สุทินน์กลันทบุตร เพื่อตัดความเกี่ยวข้องด้วยการพูดวาจา จึงได้งดการสนทนาปราศรัยเสีย.

               [สหายไปห้ามไม่ให้สุทินน์บวชไม่สำเร็จ]               
               คราวนั้น มารดาบิดาของสุทินน์ พูด (เล้าโลม) ถึง ๓ ครั้ง เมื่อไม่ได้แม้เพียงคำตอบ จึงสั่งให้เรียกพวกสหาย (ของเขา) มาแล้วสั่งว่า สุทินน์ผู้เป็นสหายของพวกเธอนั่น มีความประสงค์จะบวช พวกเธอจงช่วยห้ามเขาด้วย. แม้สหายเหล่านั้นเข้าไปหาเขาแล้วก็ได้พูด (อ้อนวอน) ถึง ๓ ครั้ง แต่สุทินน์ก็ได้นิ่งเงียบแม้ต่อ (หน้า) สหายเหล่านั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงได้กล่าวไว้ว่า อถโข สุทินฺนสฺส กลนฺทปุตฺตสฺส สหายกา ฯเปฯ ตุณฺหี อโหสิ.๑-

               [สหายไปขออนุญาตมารดาบิดาให้สุทินน์บวช]               
               ครั้งนั้น พวกสหายของสุทินน์นั้นได้มีความรำพึงดังนี้ว่า หากว่า สุทินน์ เมื่อไม่ได้บวช จักตาย, จักไม่มีคุณอะไร, แต่มารดาบิดาจักได้เห็นเขาผู้บวชแล้วเป็นครั้งคราว, ถึงพวกเราจักได้เห็น, อนึ่ง ขึ้นชื่อว่าการบวชนั่น เป็นภาระที่หนัก, ผู้บวชจะต้องถือบาตรเดินเที่ยวบิณฑบาตทุกวันๆ , พรหมจรรย์มีการนอนหนเดียว ฉันหนเดียว เป็นกิจที่ทำได้ยากอย่างยิ่ง, และสุทินน์นี้เป็นผู้ละเอียดอ่อน เป็นชาติชนชาวเมือง, เขา เมื่อไม่สามารถจะประพฤติพรหมจรรย์นั้นได้ ก็จักกลับมาที่เรือนนี้อีกทีเดียว, เอาเถิด พวกเราจักขอให้มารดาบิดาของเขาอนุญาตให้บวช. สหายเหล่านั้นก็ได้ทำเหมือนอย่างนั้นแล้ว.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๑๓/หน้า ๒๓-๒๔

               [มารดาบิดาอนุญาตให้สุทินน์บุตรชายบวช]               
               ฝ่ายมารดาบิดาก็ได้อนุญาตให้เขาบวช. เพราะเหตุนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงได้กล่าวไว้ว่า อถโข สุทินฺนสฺส กลนฺทปุตฺตสฺส สหายกา เยน สุทินฺนสฺส กลนฺทปุตฺตสฺส มาตาปิตโร ฯเปฯ อนุญฺญาโตสิ มาตาปิตูหิ อคารสฺมา อนคาริยํ ปพฺพชฺชาย.๑-
               บทว่า หฏฺโฐ แปลว่า ผู้ยินดีแล้ว.
               บทว่า อุทคฺโค แปลว่า ผู้มีกายและจิตฟูขึ้นด้วยอำนาจปีติ.
               บทว่า กติปาหํ แปลว่า สิ้นวันเล็กน้อย.
               สองบทว่า พลํ คาเหตฺวา ความว่า สุทินน์กลันทบุตรนั้น เมื่อบริโภคโภชนาหารที่สบาย และบริหารร่างกายด้วยกิจมีการอบและอาบน้ำเป็นต้น ให้เกิดกำลังกายแล้ว ไหว้มารดาบิดา ลาเครือญาติผู้มีหน้าเต็มด้วยน้ำตา แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจนถึงที่ประทับ ฯลฯ ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์ได้โปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด พระพุทธเจ้าข้า!๒-
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๑๓/หน้า ๒๔
๒- วิ. มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๑๔/หน้า ๒๕

               [พระพุทธเจ้ารับสั่งภิกษุบวชให้สุทินน์กลันทบุตร]               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ซึ่งยืนเฝ้าอยู่ในที่ใกล้มาว่า ดูก่อนภิกษุ ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้สุทินน์บรรพชาและอุปสมบทเถิด.
               ภิกษุรูปนั้นทูลรับแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดีละ พระพุทธเจ้าข้า แล้วได้สุทินน์กลันบุตรที่พระชินเจ้าทรงประทานเป็นสัทธิวิหาริก ให้บรรพชาและอุปสมบทแล้ว. เพราะเหตุนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงกล่าวไว้ว่า สุทินน์กลันทบุตรได้รับบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.๑-
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๑๔/หน้า ๒๕

               อนึ่ง ยกเว้นในอธิการว่าด้วยท่านสุทินน์ได้รับบรรพชาอุปสมบทนี้เสีย การบรรพชาและอุปสมบท พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายก็ได้กล่าวไว้แล้วในอรรถกถาทั้งปวง. ส่วนข้าพเจ้าจักกล่าว (บรรพชาและอุปสมบทนั้น) ในขันธกะด้วยอำนาจแห่งพระบาลีตามที่ตั้งไว้แล้วนั้นแล และหาใช่จักกล่าวแต่บรรพชาและอุปสมบทในขันธกะอย่างเดียวเท่านั้นไม่ คำแม้อื่นใดที่ควรกล่าวในขันธกะก็ดี ในคัมภีร์บริวารก็ดี อันพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้แล้วในวิภังค์ ข้าพเจ้าจักกล่าวคำนั้นไว้ในที่นั้นๆ แลทั้งหมด. แท้จริง เมื่อข้าพเจ้ากล่าวตามที่อธิบายมาอย่างนี้ การพรรณนาย่อมเป็นอันข้าพเจ้าทำแล้วโดยลำดับแห่งพระบาลีทีเดียว. เพราะเหตุนั้น นักศึกษาทั้งหลายผู้มีความต้องการด้วยการวินิจฉัยนั้นๆ ตรวจดูวินัยสังวรรณนานี้ โดยลำดับพระบาลีนั้นแล ก็จักรู้การวินิจฉัยที่ยังเหลือได้ดี ฉะนี้แล.
               บทว่า อจิรูปสมฺปนฺโน คือท่านสุทินน์นั้นเป็นผู้อุปสมบทแล้วไม่นาน. มีคำอธิบายว่า โดยกาลไม่นานนัก แต่อุปสมบทมานั่นเอง.
               บทว่า เอวรูเป คือมีส่วนอย่างนี้ ได้แก่ มีชาติอย่างนี้.
               บทว่า ธุตคุเณ ได้แก่ คุณอันเป็นเครื่องกำจัดกิเลส.
               สองบทว่า สมาทาย วตฺตติ ความว่า (ท่านสุทินน์นั้น) สมาทานคือรับเอา ประพฤติ เที่ยวไป อยู่.
               สองบทว่า อารญฺญิโก โหติ ความว่า ห้ามเสนาสนะแดนบ้านเสียแล้ว เป็นผู้ชอบอยู่ป่าเป็นวัตร ด้วยอำนาจสมาทานอารัญญิกธุดงค์.
               บทว่า ปิณฺฑปาติโก ความว่า ห้ามภัต ๑๔ อย่าง ด้วยการห้ามอติเรกลาภเสียแล้ว เป็นผู้ชอบเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ด้วยอำนาจสมาทานบิณฑปาติธุดงค์.
               บทว่า ปํสุกูลิโก ความว่า ห้ามคฤหบดีจีวรเสียแล้ว เป็นผู้ชอบทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ด้วยอำนาจสมาทานปังสุกูลิกธุดงค์.
               บทว่า สปทานจาริโก ความว่า ห้ามการเที่ยวโลเลเสียแล้ว เป็นผู้ชอบเที่ยวตามลำดับตรอกเป็นวัตร คือเข้าไปเพื่อภิกษาตามลำดับเรือน ด้วยอำนาจสมาทานสปทาจาริธุดงค์.
               บทว่า วชฺชิคามํ ความว่า (ท่านสุทินน์นั้นเข้าอาศัย) หมู่บ้านชาววัชชีหรือหมู่บ้านในแคว้นวัชชี.

               [ญาติของท่านสุทินน์ที่เมืองไพศาลีมีสมบัติมาก]               
               ในคำเป็นต้นว่า อฑฺฒา มหทฺธนา มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               (ญาติทั้งหลายของเราในเมืองไพศาลี) ชื่อว่าเป็นผู้มั่งคั่ง เพราะมีเครื่องอุปโภคและอุปกรณ์แห่งเครื่องบริโภคมาก. มีคำอธิบายว่า จริงอยู่ เครื่องอุปโภคและอุปกรณ์แห่งเครื่องอุปโภค ของญาติเหล่านั้นๆ มีมาก คือมีหนาแน่น ทั้งเป็นวัตถุมีสาระ.
               ชื่อว่า ผู้มีทรัพย์มาก เพราะมีทรัพย์ที่ฝังไว้มาก.
               บทว่า มหาโภโค ชื่อว่าผู้มีโภคะมาก เพราะมีโภคะคือวัตถุที่เป็นเสบียง (สำหรับจ่าย) ประจำวันมาก.
               ชื่อว่า ผู้มีทองและเงินมาก เพราะนอกจากเครื่องอุปโภคอย่างอื่น ก็ยังมีทองและเงินนั่นแหละมากมาย.
               ชื่อว่า ผู้มีอุปกรณ์แห่งทรัพย์เครื่องปลื้มใจมาก เพราะอุปกรณ์แห่งทรัพย์เครื่องปลื้มใจ อันเป็นเครื่องประดับ ซึ่งทำความปีติปราโมทย์ให้ มีมากมาย. พึงทราบว่า เป็นผู้มีทรัพย์และข้าวเปลือกมากมาย เพราะทรัพย์และข้าวเปลือกอันแลกเปลี่ยนกันด้วยอำนาจการซื้อขาย มีจำนวนมาก.
               สองบทว่า เสนาสนํ สํสาเมตฺวา ความว่า เก็บงำเสนาสนะแล้ว. อธิบายว่า จัดตั้งเสนาสนะนั้นไว้อย่างเรียบร้อย โดยประการที่เสนาสนะจักไม่เสียหาย.

               [ญาตินำภัตตาหารไปถวายท่านสุทินน์ ๖๐ ถาด]               
               สองบทว่า สฏฺฐิมตฺเต ถาลิปาเก ความว่า (ญาติทั้งหลายของท่านสุทินน์นำภัตตาหารไปถวายท่านสุทินน์) มีประมาณ ๖๐ หม้อ โดยกำหนดแห่งการคำนวณ.
               ก็บรรดาภัต ๖๐ หม้อนี้ เฉพาะหม้อหนึ่งๆ จุภัตพอแก่ภิกษุ ๑๐ รูป ภัตแม้ทั้งหมดนั้น ภิกษุ ๖๐๐ รูปพอฉัน.
               ในสองบทว่า ภตฺตาภิหารํ อภิหรึสุ นี้ มีวิเคราะห์ดังนี้ :-
               อาหารที่ชื่อว่า อภิหาร เพราะอรรถว่า อันบุคคลนำไปเฉพาะ. นำอะไรไป? นำภัตไป. อภิหาร คือภัตนั่นเอง ชื่อภัตตาภิหาร. ชื่อภัตตาภิหารนั้น.
               บทว่า อภิหรึสุ ความว่า ญาติทั้งหลายนำภัตตาหารไปไว้เฉพาะหน้า. อธิบายว่า ถือเอาแล้ว ได้ไปยังสำนักของท่านพระสุทินน์นั้น.
               ถามว่า ภัตนั้นมีประมาณเท่าไร?
               แก้ว่า มี ๖๐ หม้อ. เพราะเหตุนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงกล่าวไว้ว่า ญาติทั้งหลายนำภัตตาหารมีประมาณ ๖๐ หม้อ ไปถวายท่านพระสุทินน์.๑-
               สองบทว่า ภิกฺขูนํ วิสฺสชฺเชตฺวา ความว่า ท่านพระสุทินน์นั้นมีความประสงค์จะเที่ยวจาริกไปตามลำดับตรอกด้วยตนเอง เพราะเป็นผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรอย่างอุกฤษฏ์ จึงได้สละคือถวาย (ภัตตาหารมีประมาณ ๖๐ หม้อนั้น) เพื่อเป็นของฉันแก่ภิกษุทั้งหลาย. จริงอยู่ ท่านผู้มีอายุนี้ใฝ่ใจว่า ภิกษุทั้งหลายจักได้ลาภ และเราก็จักไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตแล้วจึงมา เพื่อประโยชน์นั้นนั่นเอง. เพราะฉะนั้น ท่านพระสุทินน์นั้น เมื่อทำกิจที่สมควรแก่การมาของตน จึงได้สละแก่ภิกษุทั้งหลาย ส่วนตนเองก็เข้าไปบิณฑบาต. นางทาสีของพวกญาติ ชื่อญาติทาสี.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๑๕/หน้า ๒๖.

               [อธิบายเรื่องขนมบูดเน่า]               
               บทว่า อาภิโทสิกํ ได้แก่ขนมกุมมาสที่เก็บไว้นาน คือล่วงไปได้คืนหนึ่งแล้ว เป็นของบูด.
               ในบทว่า อาภิโทสิกํ นั้น มีใจความเฉพาะบทดังต่อไปนี้ :-
               ขนมกุมมาส ที่ชื่อว่าอภิโทสะ เพราะอรรถว่า ถูกโทษคือความบูดครอบงำ. อภิโทสะนั่นเอง ชื่ออาภิโทสิกะ. อีกอย่างหนึ่ง สัญญา คืออาภิโทสิกะนี้ เป็นสัญญา คือชื่อแห่งขนมกุมมาส ที่ล่วงไปได้คืนหนึ่งแล้ว. ซึ่งขนมกุมมาส ชื่ออาภิโทสิกะนั้น.
               บทว่า กุมฺมาสํ ได้แก่ ขนมกุมมาส ที่เขาทำด้วยข้าวเหนียว.
               สองบทว่า ฉฑฺเฑตุกามา โหติ ความว่า ขนมกุมมาสนั้นเป็นของไม่ควรบริโภค โดยที่สุดแม้พวกทาสและกรรมกร กระทั่งถึงฝูงโค เพราะฉะนั้น นางทาสีจึงมีความมุ่งหมายจะเทขนมกุมมาสนั้นทิ้งเสียภายนอก ดุจเทหยากเยื่อทิ้ง ฉะนั้น.
               บทว่า สเจ ตํ ตัดบทเป็น สเจ เอตํ แปลว่า ถ้าของนั่น.
               พระสุทินน์เรียกทาสีของญาติว่า แนะน้องหญิง ด้วยอำนาจอริยโวหาร.
               บทว่า ฉฑฺฑนียธมฺมํ แปลว่า มีอันจะต้องทิ้งเป็นสภาพ. มีคำอธิบายไว้ว่า แนะน้องหญิง ถ้าของนั่น มีอันจะต้องทิ้งในภายนอกเป็นธรรมดา คือ เป็นของที่เขาสละความหวงแหนแล้วไซร้ เธอจงเกลี่ยลงในบาตรของเรานี้เถิด.
               ถามว่า ก็บรรพชิตย่อมได้ เพื่อจะพูดอย่างนี้หรือ? ไม่เป็นวิญญัติ (การออกปากขอ) หรือปยุตตวาจา (วาจาพูดขอเกี่ยวด้วยปัจจัย) หรือ?
               แก้ว่า ไม่เป็น (ทั้งสองอย่าง).
               ถามว่า เพราะเหตุไร จึงไม่เป็น?
               แก้ว่า เพราะเป็นของที่เขาสละความหวงแหนแล้ว.
               จริงอยู่ จะพูดว่า ท่านจงให้ คือจงนำสิ่งของซึ่งมีอันจะต้องทิ้งเป็นธรรมดา คือเป็นของที่เขาสละความหวงแหนแล้ว ที่พวกเจ้าของไม่มีความเสียดายทั้งหมด มาเกลี่ยลงในบาตรนี้เถิด ดังนี้ก็ควร. จริงอย่างนั้น แม้ท่านพระรัฐบาลผู้ประพฤติอริยวงศ์อย่างดีเลิศ ก็ได้พูดว่า เธอจงเกลี่ยขนมกุมมาสซึ่งมีอันจะต้องทิ้งเป็นธรรมดาลงในบาตรของเรานี้เถิด. เพราะฉะนั้น ของสิ่งใดมีอันจะต้องทิ้งเป็นธรรมดาเห็นปานนี้ก็ดี ของสิ่งอื่นมีรากไม้ผลไม้และเภสัชในป่าเป็นต้น อันไม่มีใครหวงแหนก็ดี ภิกษุควรให้นำสิ่งของนั้นทั้งหมด มาแล้วฉันได้ตามสบาย ไม่ควรจะรังเกียจ.

               [พระสุทินน์ออกบวชได้ ๘ ปี นางทาสีจำอวัยวะบางส่วนได้]               
               บทว่า หตฺถานํ ความว่า นางทาสีของญาติได้ถือเอาเค้ามือทั้งสองของพระสุทินน์ผู้น้อมบาตรเข้าไปเพื่อรับภิกษา ตั้งแต่ข้อมือไป.
               บทว่า ปาทานํ ความว่า นางทาสีของญาติได้ถือเอาเค้าเท้าทั้งสอง จำเดิมแต่ชายผ้านุ่งไป.
               บทว่า สรสฺส ความว่า เมื่อพระสุทินน์ เปล่งวาจาว่า แนะน้องหญิง ถ้าของนั้น ดังนี้เป็นต้น นางทาสีของญาติก็จำสุ้มเสียง (ของท่าน) ได้.
               สองบทว่า นิมิตฺตํ อคฺคเหสิ ความว่า นางทาสีของญาติได้ถือเอา คือจำได้. หมายความว่า กำหนดอาการที่ตนเคยสังเกตได้ในคราวที่ท่านยังเป็นคฤหัสถ์.
               จริงอยู่ พระสุทินน์บวชในพรรษาที่ ๑๒ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในพรรษาที่ ๒๐ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เข้าไปบิณฑบาตยังตระกูลญาติตนเอง มีพรรษาได้ ๘ ตั้งแต่บวชมา. เพราะเหตุนั้น นางทาสีของญาติคนนั้น เห็นท่านแล้วจึงจำไม่ได้ แต่ถือเอาเค้า (นิมิต) ได้ด้วยประการฉะนี้.
               หลายบทว่า สุทินฺนสฺส มาตรํ เอตทโวจ ความว่า นางทาสีของญาติไม่อาจจะพูดคำเป็นต้นว่า ท่านเจ้าขา ท่านหรือหนอคือพระสุทินน์ ผู้เป็นนายของดิฉัน ดังนี้ กับบุตรชายผู้เป็นนาย (ของตน) ซึ่งเข้าบวชแล้วด้วยความเคารพยิ่ง จึงรีบกลับเข้าไปในเรือน แล้วได้แจ้งข่าวนี้กะมารดาของพระสุทินน์.
               ศัพท์ว่า ยคฺเฆ เป็นนิบาต ลงในอรรถแห่งคำบอกเล่า.
               ศัพท์ว่า เช ที่มีอยู่ในบทว่า สเจ เช สจฺจํ นี้ เป็นนิบาต ลงในอรรถแห่งคำร้องเรียก. ความจริง ชนทั้งหลายในประเทศนั้นย่อมร้องเรียกหญิงสาวใช้ ด้วยภาษาอย่างนั้น. เพราะเหตุนั้น ในคำว่า สเจ เช สจฺจํ นี้ พึงทราบใจความอย่างนี้ว่า แม่ทาสีผู้เจริญ ถ้าเจ้าพูดจริงไซร้.

               [พวกบรรพชิตไม่นั่งฉันในที่ไม่สมควรเหมือนคนขอทาน]               
               สองบทว่า อญฺญตรํ กุฑฺฑูลํ ความว่า ได้ยินว่า ในประเทศนั้นในเรือนของเหล่าชนผู้เป็นทานบดี มีหอฉันไว้, และในหอฉันนี้ เขาก็จัดปูอาสนะไว้ ทั้งได้จัดตั้งน้ำฉันและน้ำส้มไว้พร้อม. บรรพชิตทั้งหลาย ครั้นเที่ยวไปบิณฑบาตแล้ว (กลับมา) นั่งฉันที่หอฉันนั้น ถ้าปรารถนาจะรับเอาภัตตาหารที่มีอยู่ ก็รับเอาของที่ยังมีอยู่ แม้ของเหล่าชนผู้เป็นทานบดีไป. เพราะฉะนั้น แม้สถานที่นั้น ควรทราบว่า ได้แก่พะไลฝาเรือนแห่งใดแห่งหนึ่ง ใกล้หอฉันนี้ แห่งตระกูลใดตระกูลหนึ่ง. จริงอยู่ บรรพชิตทั้งหลายย่อมไม่นั่งฉันในสถานที่ไม่สมควร เหมือนพวกมนุษย์กำพร้าฉะนั้นแล.
               ศัพท์ว่า อตฺถิ ที่มีอยู่ในบทว่า อตฺถิ นาม ตาต นี้ เป็นนิบาต ลงในอรรถว่า มีอยู่, และศัพท์ว่า นาม (ที่มีอยู่ในบทนั้น). ก็เป็นนิบาตลงในอรรถแห่งคำถาม และในอรรถแห่งความดูหมิ่น.

               [บิดาติเตียนพระสุทินน์ว่าฉันขนมบูดเหมือนดื่มน้ำอมฤต]               
               จริงอยู่ ท่านกล่าวคำอธิบายนี้ไว้ว่า (บิดาพูดกับพระสุทินน์ผู้เป็นบุตรชายว่า) พ่อสุทินน์ ทรัพย์ของเรา ก็มีอยู่มิใช่หรือ? พวกเราซึ่งมีเจ้าเป็นบุตรชาย ผู้มานั่งฉันขนมกุมมาสที่เก็บไว้ค้างคืนอยู่ในที่เช่นนี้ จะพึงถูกประชาชนเขาตำหนิว่า เป็นผู้ไม่มีทรัพย์มิใช่หรือ?
               อนึ่ง พ่อสุทินน์ พ่อแม่ก็ยังมีชีวิตอยู่ มิใช่หรือ? พ่อแม่ซึ่งมีเจ้าเป็นบุตรชาย ผู้มานั่งฉันขนมกุมมาสที่เก็บไว้ค้างคืนอยู่ในที่เช่นนี้ จะถูกประชาชนเขาตำหนิว่า ตายแล้วมิใช่หรือ?
               อนึ่ง พ่อสุทินน์ พ่อสำคัญว่า สมณคุณที่เจ้าได้เพราะอาศัยศาสนา มีอยู่ในภายในจิตใจของเจ้า ผู้ซึ่งแม้เจริญเติบโตมาด้วยรสแห่งอาหารที่ดี ยังไม่มีความรังเกียจฉันขนมกุมมาสที่เก็บไว้ค้างคืน ซึ่งเป็นของน่าสะอิดสะเอียนนี้ เหมือนดื่มน้ำอมฤตฉะนั้น.
               ก็คฤหบดีนั้น เพราะถูกความทุกข์บีบคั้น เมื่อไม่สามารถจะพูดแต่งใจความนั่นให้บริบูรณ์ได้ จึงได้กล่าวคำเพียงเท่านี้ว่า มีอยู่หรือพ่อสุทินน์ ที่พ่อจักฉันขนมกุมมาสที่เก็บไว้ค้างคืน?
               ส่วนในคำว่า อตฺถิ นาม ตาต เป็นต้นนี้ อาจารย์ผู้คิดอักษรทั้งหลาย ย่อมกล่าวลักษณะนี้ไว้ดังนี้คือ :-
               เมื่อมีอัตถิศัพท์อยู่ในที่ใกล้ (คืออยู่บทข้างหน้า) บัณฑิตทั้งหลายจึงได้แต่งคำอนาคตกาลนั่นไว้ดังนี้ว่า ปริภุญชิสฺสสิ ด้วยอำนาจเนื้อความที่ไม่น่าเชื่อและไม่อาจเป็นได้.
               ใจความแห่งคำอนาคตกาลนั้น มีดังนี้คือ :-
               ข้อว่า อตฺถิ นาม ฯเปฯ ปริภุญฺชิสฺสสิ มีความหมายว่า พ่อไม่เชื่อ ทั้งไม่พอใจซึ่งการฉันนี้ แม้ที่เห็นประจักษ์อยู่.
               สองบทว่า ตตายํ อาภิโทสิโก ความว่า ขนมกุมมาสที่เก็บไว้ค้างคืนนี้ รูปได้มาแต่เรือนของคุณโยมนั้น. ปาฐะว่า ตโตยํ บ้าง. อาจารย์บางพวกสวดกันว่า ตทายํ บ้าง. คำนั้นไม่งาม.
               หลายบทว่า เยน สกปิตุ นิเวสนํ ความว่า นิเวศน์แห่งบิดาของตน คือแห่งบิดาของอาตมา มีอยู่โดยสถานที่ใด พระเถระเป็นผู้ว่าง่าย จึงได้ไป (ยังนิเวศน์นั้น) เพราะความรักในบิดานั่นเอง.
               บทว่า อธิวาเสสิ ความว่า พระเถระถึงจะเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรอย่างเคร่งครัดก็ตาม แต่ก็ยังใฝ่ใจว่า ถ้าเราจักไม่รับแม้ภัตตาหารครั้งเดียวไซร้, พวกญาติเหล่านั้นก็จักเสียใจอย่างยิ่ง จึงได้รับคำอาราธนา เพื่ออนุเคราะห์พวกญาติ.
               บทว่า โอปุญฺฉาเปตฺวา แปลว่า สั่งให้ไล้ทา.
               บทว่า ติโรกรณียํ เป็นสัตตมีวิภัตติ ลงในอรรถตติยาวิภัตติ, ความว่า แวดวง (กองทรัพย์นั้น) ไว้ด้วยกำแพงม่าน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชนทั้งหลายย่อมทำรั้วกันไว้ภายนอก ด้วยกำแพงม่านนั่น เหตุนั้น กำแพงม่านนั้น จึงชื่อว่าติโรกรณียะ. ความก็ว่า จัดวงล้อมกำแพงม่านนั้นไว้โดยรอบ.
               ในสองบทว่า เอกํหิรญฺญสฺส นี้ กหาปณะ ควรทราบว่า เงิน.
               ชายไม่สูงนัก ไม่เตี้ยนัก ขนาดปานกลาง พึงทราบว่า บุรุษ.
               บทว่า เตน หิ ความว่า เพราะเหตุที่ลูกสุทินน์จักมาในวันนี้.
               ศัพท์ว่า หิ เป็นนิบาต ลงในอรรถสักว่าทำบทให้เต็ม.
               อีกนัยหนึ่ง ศัพท์ว่า เตน แม้นี้ เป็นนิบาตลงในอรรถแห่งคำเชื้อเชิญนั่นเอง.
               ในบทว่า ปุพฺพณฺหสมยํ นี้ ท่านมิได้กล่าวคำเผดียงกาลไว้ในพระบาลี แม้ก็จริง, ถึงกระนั้น ก็ควรทราบอธิบายว่า เมื่อเขาเผดียงกาลแล้วนั่นแล พระเถระก็ได้ไป.

               [บิดามอบทรัพย์เพื่อให้พระสุทินน์สึก]               
               โยมบิดาของท่านสุทินน์ ชี้บอกกองทรัพย์ทั้ง ๒ กองว่า พ่อสุทินน์ นี้ทรัพย์มารดาของพ่อ เป็นต้น.
               บทว่า มาตุ ได้แก่ แห่งหญิงผู้ให้เกิด.
               บทว่า มตฺติกํ ได้แก่ ทรัพย์ที่มีมาแต่ฝ่ายมารดา. อธิบายว่า ทรัพย์ส่วนนี้คุณย่าได้มอบให้มารดาของเจ้าผู้มาสู่เรือนนี้.
               โยมบิดากล่าวตำหนิ (ทรัพย์เป็นสินเดิมฝ่ายหญิง) ด้วยคำว่า อิตฺถิกาย อิตฺถีธนํ ทรัพย์ชื่อว่าอันฝ่ายหญิงได้มา เพื่อประโยชน์แก่เครื่องจุณณ์สำหรับอาบน้ำเป็นต้น อันเป็นเครื่องใช้สอยของหญิงนั่นเอง มีประมาณเท่าไร, เจ้าจงตรวจดูปริมาณทรัพย์ฝ่ายหญิงแม้นั้นก่อน.
               อีกอย่างหนึ่ง มีคำอธิบายว่า พ่อสุทินน์ นี้ทรัพย์มารดาของพ่อ, ก็แลทรัพย์นั้นเป็นสินเดิมฝ่ายมารดา พ่อมิได้ให้ไว้ คือ เป็นของมารดาของเจ้าเท่านั้น.
               ในบทว่า อตฺถิกาย อิตฺถีธนํ นี้ พึงทราบใจความอย่างนี้ว่า ก็ทรัพย์นี้นั้นรวบรวมมาได้ด้วยกสิกรรม (และ) พาณิชยกรรมก็หามิได้. อีกอย่างหนึ่งแล ทรัพย์อันฝ่ายหญิงพึงได้มา ชื่อว่า อิตถีธนํ (ทรัพย์ฝ่ายหญิง), คือว่า ทรัพย์ฝ่ายหญิงส่วนใด อันฝ่ายหญิงผู้ไปสู่ตระกูลสามีจากตระกูลญาติ พึงได้มาเพื่อประโยชน์แก่เครื่องจุณณ์สำหรับอาบน้ำเป็นต้น, ทรัพย์ส่วนนั้นก็มีประมาณเท่านั้นก่อน.
               หลายบทว่า อญฺญํ เปตฺติกํอญฺญํ ปิตามหํ ความว่า ก็ทรัพย์ส่วนใดอันเป็นสินเดิมของบิดาและปู่ทั้งหลายของพ่อ, ทรัพย์ส่วนนั้นก็เป็นส่วนอื่นต่างหาก, ที่เขาฝังไว้และที่ประกอบการค้าขาย ก็มีอยู่มากมายนัก.
               อนึ่ง บทว่า ปิตามหํ ที่มีอยู่ในสองบทว่า เปตฺติกํ ปิตามหํ นี้ควรทราบว่าทำการลบปัจจัยแห่งตัทธิตเสีย. อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะว่า เปตามหํ ดังนี้ก็มี.
               หลายบทว่า ลพฺภา ตาต สุทินฺน หีนายาวตฺติตฺวา ความว่า พ่อสุทินน์ พ่อควรละเพศบรรพชิตอันสูงส่ง ซึ่งเป็นธงชัยแห่งพระอริยเจ้าเสีย แล้วกลับมาเพื่อความเป็นคฤหัสถ์อันเป็นเพศที่ต่ำทรามจะพึงได้ใช้สอย คือจะได้เพื่อบริโภคโภคสมบัติ, พ่อกลัวต่อราชอาญา จึงบวชก็หามิได้ ทั้งถูกเจ้าหนี้ทวงก็หามิได้แล.
               ก็คำว่า ตาต ที่มีอยู่ในบทว่า ตาต น อุสฺสหามิ นี้ พระสุทินน์พูด (กับบิดา) เพราะความรักอาศัยเรือน หาใช่พูดเพราะเดชแห่งสมณะไม่.
               บทว่า น อุสฺสหามิ แปลว่า รูปไม่อาจ.
               บทว่า น วิสหามิ แปลว่า รูปไม่พร้อม คือ ไม่สามารถ.
               ก็คำว่า วเทยฺยาม โข ตํ คหปติ นี้ พระสุทินน์พูด (กับบิดา) เพราะเดชแห่งสมณะ.
               บทว่า นาติกฑฺเฒยฺยาสิ ความว่า ความรักอันใดของคุณโยมที่ตั้งอยู่แล้วในรูป, คุณโยมไม่ควรตัดรอนความรักอันนั้นออก ด้วยอำนาจความโกรธ. มีคำอธิบายว่า ถ้าว่าคุณโยมไม่พึงโกรธไซร้.
               ลำดับนั้น ท่านเศรษฐี มีจิตเบิกบานด้วยนึกในใจว่า บุตรชายเหมือนมีความประสงค์จะทำการสงเคราะห์เรากระมัง จึงได้พูดว่า พูดเถิด พ่อสุทินน์!
               ศัพท์ว่า เตนหิ เป็นนิบาต มีรูปคล้ายวิภัตติ ลงในอรรถแห่งคำเชื้อเชิญ.
               บทว่า ตโตนิทานํ พึงทราบการอาเทศ ตํปฐมาวิภัตติ อย่างนี้คือ ตํนิทานํ ตํเหตุกํ (มีทรัพย์นั้นเป็นต้นเรื่อง, มีทรัพย์นั้นเป็นเหตุ) เป็นโต. และในสมาสบทนั้นไม่มีการลบโตปัจจัย.
               ภัยมีราชภัยเป็นต้น ที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า พระราชาทั้งหลายจะไม่พึงทรงริบโภคสมบัติของเราหรืออย่างไร ชื่อว่าภัยก็ดี. อธิบายว่า จิตสะดุ้ง.
               กายสั่นเทา (ก็ดี) กายสะทกสะท้าน (ก็ดี) เนื้อหัวใจป่วนปั่น (ก็ดี) ของบุคคลผู้ถูกพระราชาหรือโจรลงกรรมกรณ์ ด้วยสั่งบังคับว่า เองจงให้ทรัพย์ดังนี้ ชื่อว่าฉัมภิตัตตะ (ความหวาดเสียว). ขนชูชัน คือมีปลายงอนขึ้นข้างบน ในเมื่อมีภัยเกิดขึ้น ชื่อว่าโลมหังสะ (ขนพองสยองเกล้า). การรักษาอย่างกวดขัน ทั้งภายในและภายนอก ทั้งกลางคืนและกลางวัน ชื่อว่าอารักขา (การเฝ้ารักษา).

               [บิดาสั่งภรรยาเก่าให้ประเล้าประโลมพระสุทินน์สึก]               
               สองบทว่า เตนหิ วธุ ความว่า เศรษฐีคฤหบดี ครั้นแสดงทรัพย์แล้ว ก็ไม่สามารถจะประเล้าประโลมบุตรชาย เพื่อให้สึกด้วยตนเองได้ จึงสำคัญว่า บัดนี้ เครื่องผูกพวกผู้ชายเช่นกับมาตุคามเป็นไม่มี จึงได้เรียกปุราณทุติยิกาภรรยา ของพระสุทินน์นั้นมาสั่งว่า เตนหิ วธุ เป็นต้น.
               บทว่า ปุราณทุติยิกํ ได้แก่ หญิงคนที่สองซึ่งเป็นคนดั้งเดิม คือหญิงคนที่สองในกาลก่อน คือในคราวที่ยังเป็นคฤหัสถ์. อธิบายว่า ได้แก่ภรรยาผู้เคยเป็นหญิงผู้ร่วมในการเสพสุขที่อาศัยเรือนมาแล้ว.
               บทว่า เตนหิ ความว่า เพราะเหตุที่ไม่มีเครื่องผูก (อย่างอื่น) เช่นกับมาตุคาม.
               สองบทว่า ปาเทสุ คเหตฺวา ความว่า ภรรยาเก่าได้จับเท้าทั้งสอง (ของท่านสุทินน์). บทว่า ปาเทสุ เป็นสัตตมีวิภัตติ ลงในอรรถทุติยาวิภัตติ. อีกอย่างหนึ่ง ความว่า ภรรยาเก่าได้จับพระสุทินน์นั้นที่เท้าทั้งสอง.
               ถามว่า เพราะเหตุไร ภรรยาเก่าจึงได้กล่าวกะพระสุทินน์ อย่างนี้ว่า ข้าแต่ลูกนาย นางเทพอัปสร (ผู้เป็นเหตุให้ท่านประพฤติพรหมจรรย์) เหล่านั้น ชื่อเช่นไร?๑-
               แก้ว่า เพราะได้ยินว่า ในกาลครั้งนั้น หมู่ชนผู้ไม่รู้จักคุณแห่งบรรพชา ครั้นเห็นขัตติยกุมารบ้าง พราหมณกุมารบ้าง เศรษฐีบุตรบ้าง มากมาย ซึ่งพากันละมหาสมบัติแล้วออกบวช จึงสนทนากันขึ้นว่า เพราะเหตุไร ขัตติยกุมารเป็นต้นเหล่านั้นจึงออกบวช.
               คราวนั้น ชนเหล่าอื่นก็พูดกันว่า ขัตติยกุมารเป็นต้นเหล่านั้นออกบวช เพราะเหตุแห่งนางเทพอัปสรทั้งหลายผู้เป็นเทพนาฏกา.
               ถ้อยคำนั้นเป็นอันชนเหล่านั้นได้ให้แผ่กระจายไปแล้ว.
               ภรรยาเก่าของท่านสุทินน์นี้ได้ถือเอาถ้อยคำนั้น จึงได้กล่าวอย่างนั้น.
               พระเถระ เมื่อจะคัดค้านถ้อยคำของภรรยาเก่านั้น จึงได้กล่าวว่า น โข อหํ ภคินิ เป็นต้น แปลว่า น้องหญิง ฉันไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะเหตุแห่งนางเทพอัปสรเลย.๑-
               บทว่า สมุทาจรติ ความว่า ย่อมเรียก คือย่อมกล่าว.
               หลายบทว่า ตตฺเถว มุจฺฉิตา ปปตา ความว่า ภรรยาเก่าเห็นท่านสุทินน์นั้นเรียกตนด้วยวาทะน้องหญิง จึงคิดอยู่ในใจว่า บัดนี้ ท่านสุทินน์นี้ไม่ต้องการเรา, ได้สำคัญเราผู้เป็นภรรยาจริงๆ เหมือนเด็กหญิงผู้นอนอยู่ในท้องมารดาเดียวกันกับตน ก็เกิดความโศกเป็นกำลัง แล้วสลบล้มลงฟุบอยู่ในที่ตรงนั้นนั่นเอง.
               หลายบทว่า มา โน วิเห€ยิตฺถ ความว่า ท่านสุทินน์กล่าวกะโยมบิดาว่า คุณโยม อย่าชี้บอกทรัพย์และส่งมาตุคามมาเบียดเบียนรูปเลย, จริงอยู่ วาจานั่นทำความลำบากให้แก่พวกบรรพชิต.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๑๖/หน้า ๓๐.

               [มารดาขอร้องให้พระสุทินน์เพาะพืชพันธุ์ไว้]               
               มารดาของท่านสุทินน์ ได้เชื้อเชิญท่านสุทินน์ไว้ในความอภิรมย์ด้วย. ความว่า ถ้าเช่นนั้น ดังนี้ ที่มีอยู่ในบทนี้ว่า พ่อสุทินน์ ถ้าเช่นนั้น พ่อจงให้พืชพันธุ์ไว้บ้าง คือมารดาได้พูดว่า ถ้าพ่อยังยินดีจะประพฤติพรหมจรรย์ไซร้, ขอพ่อจงประพฤติ นั่ง ปรินิพพานอยู่บนอากาศเถิด, แต่ว่า พ่อจงให้บุตรชายคนหนึ่งผู้จะเป็นพืชพันธุ์สำหรับดำรงสกุลของเราไว้.
               หลายบทว่า มา โน อปุตฺตกํ สาปเตยฺยํ ลิจฺาฉวโยอติหราเปสุํ ความว่า มารดาของท่านสุทินน์พูดว่า เพราะเหตุที่พวกเราอยู่ในรัชสมัยแห่งเจ้าลิจฉวีผู้เป็นคณราชย์, โดยกาลล่วงลับไปแห่งบิดาของพ่อ เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นจะสั่งให้ริบทรัพย์มฤดกนี้ คือทรัพย์สมบัติของพวกเรา ซึ่งมีมากมายอย่างนี้ อันหาบุตรมิได้ คือที่เว้นจากบุตร ผู้จะรักษาทรัพย์ของตระกูลไว้ นำไปสู่ภายในพระราชวังของพระองค์เสีย, ฉะนั้น เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นอย่าได้สั่งให้ริบคือจงอย่าสั่งให้ริบทรัพย์สมบัตินั้นไปเลย.
               ถามว่า เพราะเหตุไร ท่านสุทินน์จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า คุณโยมแม่ เฉพาะเรื่องนี้แล รูปอาจทำได้?
               แก้ว่า ได้ยินว่า ท่านสุทินน์นั้นคิดว่า เราเท่านั้นจักเป็นเจ้าของทรัพย์มฤดกของมารดาเป็นต้นเหล่านั้น คนอื่นย่อมไม่มี, มารดาเป็นต้นแม้เหล่านั้นก็จักตามผูกพันเราเป็นนิตย์ เพื่อต้องการให้รักษาทรัพย์มฤดก, เพราะเหตุนั้น เราจักไม่ได้เพื่อเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย บำเพ็ญสมณธรรม, ส่วนท่านเหล่านี้ ครั้นได้บุตรชายแล้วก็จักงดเว้น (การตามผูกพันเรา), ต่อแต่นั้น เราก็จักได้บำเพ็ญสมณธรรมตามสบาย, เมื่อ (ท่าน) เล็งเห็นนัยนี้อยู่ จึงได้กล่าวอย่างนั้น.

               [สตรีมีระดูหยุดก็ตั้งครรภ์]               
               คำว่า ปุปฺผํ นี้เป็นชื่อแห่งโลหิตที่เกิดขึ้นในเวลาที่มาตุคามมีระดู.
               จริงอยู่ ในเวลาที่มาตุคามมีระดู ต่อมมีสีแดงตั้งขึ้นในสถานที่ๆ ตั้งครรภ์ (ในมดลูก) แล้วเจริญขึ้นถึง ๗ วันก็สลายไป. โลหิตก็ไหลออกจากต่อมเลือดที่สลายไปแล้วนั้น. คำว่า ปุปฺผํ นั่นเป็นชื่อแห่งโลหิตนั้น.
               อนึ่ง โลหิตนั้นเป็นของมีกำลัง ยังไหลออกอยู่มากเพียงใด, ปฏิสนธิ (ของสัตว์ผู้เกิดในครรภ์) แม้ที่บิดาให้ไว้แล้ว ก็ตั้งอยู่ไม่ได้เพียงนั้น, คือย่อมไหลออกพร้อมกับโทษ (มลทินแห่งโลหิต) นั่นเอง, ก็เมื่อโทษ (มลทินแห่งโลหิต) ไหลออกแล้ว ปฏิสนธิ (ของสัตว์ผู้เกิดในครรภ์) ที่บิดาให้ไว้แล้วในวัตถุ (รังไข่) ที่บริสุทธิ์ ก็ตั้งขึ้นได้โดยเร็วพลัน.
               สองบทว่า ปุปฺผํสา อุปฺปชฺชติ ความว่า ต่อมเลือดเกิดขึ้นแก่ภรรยาเก่าของท่านสุทินน์นั้นแล้ว.
               พึงทราบการลบบทสังโยค พร้อมกับการลบ อักษร๑- เสีย.
               หลายบทว่า ปุราณทุติยิกาย พาหายํ คเหตฺวา ความว่า ท่านพระสุทินน์จับภรรยาเก่านั้นที่แขนทั้งสองนั้น.
               สองบทว่า อปฺปญฺญตฺเต สิกฺขาปเท ความว่า เพราะปฐมปาราชิกสิกขาบทยังมิได้ทรงตั้งไว้.
____________________________
๑- บทว่า ปุปผํสา นี้ ตัดบทเป็น ปุปฺผํ อสสา ลบ อักษรตัวต้น
๑- และลบ สฺ ที่เป็นตัวสะกดเสีย จึงสนธิกันเข้าเป็น ปุปฺผํสา.

.. อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค ปาราชิกกัณฑ์ ปฐมปาราชิกสิกขาบท
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 1อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 10อ่านอรรถกถา 1 / 21อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=316&Z=670
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=4913
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=4913
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๔
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :