ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 521อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 538อ่านอรรถกถา 1 / 564อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา เตรสกัณฑ์
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๘

               สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๘               
               ปฐมทุฏฐโทสสิกขาบทวรรณนา               
               ทุฏฐโทสสิกขาบทว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา เป็นต้น
               ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               พึงทราบวินิจฉัยในทุฏฐโทสสิกขาบทนั้น ดังนี้ :-

               [ประวัติพระเวฬุวันวิหาร]               
               คำว่า เวฬุวัน ในคำว่า เวฬุวเน กลนฺทกนิวาเป เป็นชื่อแห่งอุทยานนั้น.
               ได้ยินว่า อุทยานนั้นได้ล้อมรอบไปด้วยกอไผ่และกำแพงสูง ๑๘ ศอก ประกอบด้วยเชิงเทิน (ซุ้มประตู) และป้อม มีสีเขียวชอุ่ม เป็นที่รื่นรมย์ใจ. ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกกันว่า เวฬุวัน. อนึ่ง ชนทั้งหลายได้ให้เหยื่อแก่พวกกระแตในอุทยานนี้ ด้วยเหตุนั้น อุทยานนั้นจึงชื่อว่า กลันทกนิวาปะ.
               ได้ยินว่า ในกาลก่อน พระราชาพระองค์หนึ่งได้เสด็จประพาส ณ อุทยานนั้นทรงมึนเมาเพราะน้ำจัณฑ์แล้ว บรรทมหลับกลางวัน. แม้บริวารของพระองค์ ก็พูดกันว่า พระราชาบรรทมหลับแล้ว ถูกดอกไม้และผลไม้เย้ายวนใจอยู่ จึงพากันหลีกไปทางโน้นทางนี้. ขณะนั้น งูเห่าเลื้อยออกมาจากต้นไม้มีโพรงต้นใดต้นหนึ่ง เพราะกลิ่นสุรา เลื้อยมุ่งหน้าตรงมาหาพระราชา.
               รุกขเทวดาเห็นงูเห่านั้นแล้วคิดว่า เราจักถวายชีวิตแด่พระราชา จึงแปลงเพศเป็นกระแตมาทำเสียงร้องที่ใกล้พระกรรณแห่งพระราชา. พระราชาทรงตื่นบรรทม. งูก็เลื้อยกลับไป. ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นเหตุนั้นแล้ว ทรงดำริว่า กระแตนี้ให้ชีวิตเรา จึงเริ่มต้นเลี้ยงเหยื่อแก่กระแตทั้งหลาย และทรงให้ประกาศพระราชทานอภัยแก่ฝูงกระแตในอุทยานนั้น เพราะฉะนั้น เวฬุวันนั้นจึงถึงอันนับว่า กลันทกนิวาปะ (เป็นที่เลี้ยงเหยื่อแก่กระแต) จำเดิมแต่กาลนั้นมา. แท้จริง คำว่า กลันทกะ นี้เป็นชื่อของพวกกระรอกกระแต.

               [แก้อรรถเรื่องพระทัพพมัลลบุตร]               
               คำว่า ทัพพะ เป็นนามแห่งพระเถระนั้น.
               บทว่า มลฺลปุตฺโต แปลว่า เป็นโอรสของเจ้ามัลลราช.
               คำว่า ชาติยา สตฺตวสฺเสน อรหตฺตํ สจฺฉิกตํ มีความว่า ได้ยินว่า พระเถระบัณฑิตพึงทราบว่า มีอายุเพียง ๗ ขวบ เมื่อบรรพชา ได้ความสังเวชแล้วบรรลุพระอรหัตผล ในขณะปลงผมเสร็จนั่นเทียว.
               คำว่า ยงฺกิญฺจิ สาวเกน ปตฺตพฺพํ สพฺพํ เตน ปตฺตพฺพํ มีความว่า คุณชาตินี้ คือ วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ โลกุตรธรรม ๙ ชื่อว่า อันสาวกพึงบรรลุ, คุณชาตินั้น ย่อมเป็นอันพระเถระนั้นบรรลุแล้วทุกอย่าง.
               คำว่า นตฺถิ จสฺส กิญฺจิ อุตฺตริกรณียํ มีความว่า บัดนี้ กิจที่จะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปน้อยหนึ่ง ไม่มีแก่พระเถระนั้น เพราะกิจ ๑๖ ประการในอริยสัจ ๔ อันท่านกระทำเสร็จแล้วด้วยมรรค ๔.
               คำว่า กตสฺส วา ปฏิจโย มีความว่า แม้การจะเพิ่มเติมกิจที่กระทำเสร็จแล้วนั้นก็ไม่มี เหมือนกับผ้าที่ซักแล้ว ไม่ต้องซักซ้ำอีก เหมือนของหอมที่บดแล้ว ไม่ต้องบดซ้ำอีก และเหมือนดอกไม้ที่บานแล้ว ไม่กลับบานอีกฉะนั้นแล.
               บทว่า รโหคตสฺส ได้แก่ ไปในที่สงัด.
               บทว่า ปฏิสลฺลีนสฺส ได้แก่ หลีกจากอารมณ์นั้นๆ แล้วเร้นอยู่.
               มีคำอธิบายว่า ถึงความเป็นผู้โดดเดี่ยว.
               ข้อว่า อถโข อายสฺมโต ทพฺพสฺส มลฺลปุตฺตสฺส เอตทโหสิ ยนฺนูนาหํ สงฺฆสฺส เสนาสนญฺจ ปญฺญาเปยฺยํ ภตฺตานิ จ อุทฺทิเสยฺยํ
               มีความว่า ได้ยินว่า พระเถระเห็นว่า กิจของตนกระทำเสร็จแล้ว จึงดำริว่า เรายังทรงไว้ซึ่งสรีระสุดท้ายอันนี้, ก็แลสรีระสุดท้ายนั้น ดำรงอยู่ในทางแห่งความเป็นของไม่เที่ยง ไม่นานนักก็จะดับไปเป็นธรรมดา ดุจประทีปตั้งอยู่ทางลมฉะนั้น, เราควรจะกระทำการขวนขวายแก่สงฆ์ ตลอดเวลาที่ยังไม่ดับ อย่างไรหนอแล?
               พลางพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า เหล่ากุลบุตรเป็นอันมาก ในแคว้นนอกทั้งหลาย บวชไม่ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย, ท่านเหล่านั้นย่อมพากันมาแม้จากที่ไกล ด้วยหวังใจว่า เราทั้งหลายจักเฝ้าแหน จักถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า บรรดากุลบุตรนั้น เสนาสนะไม่เพียงพอแก่ท่านพวกใด, ท่านพวกนั้นต้องนอนแม้บนแผ่นศิลา, ก็แล เราย่อมอาจเพื่อนิรมิตเสนาสนะมีปราสาท วิหาร เพิงพักเป็นต้น พร้อมทั้งเตียงตั่งและเครื่องลาดให้ตามอำนาจความปรารถนาของกุลบุตรเป็นอันมากเหล่านั้น ด้วยอานุภาพของตน และในวันรุ่งขึ้น บรรดากุลบุตรเหล่านี้บางเหล่ามีกายเหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน, กุลบุตรพวกนั้นจะยืนข้างหน้าภิกษุทั้งหลาย แล้วให้แจกแม้ซึ่งภัตตาหารด้วยคารวะหาได้ไม่, ก็เราแลอาจแจกแม้ซึ่งภัตตาหารแก่กุลบุตรเหล่านั้นได้.
               ครั้งนั้นแล ท่านพระทัพพมัลลบุตรผู้พิจารณาอยู่อย่างนี้ ได้มีความตกลงใจนี้ว่า ผิฉะนั้น เราควรแต่งตั้งเสนาสนะและแจกภัตตาหารแก่สงฆ์.
               ถามว่า ก็ฐานะทั้ง ๒ ประการนี้ ควรแก่ภิกษุผู้ตามประกอบแต่ความยินดีในการพูดเป็นต้น มิใช่หรือ? ส่วนท่านพระทัพพมัลลบุตรนี้เป็นพระขีณาสพ ไม่มีความยินดีในธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า, เพราะเหตุไร ฐานะ ๒ ประการนี้จึงปรากฏแจ่มแจ้งแก่ท่านผู้มีอายุนี้เล่า?
               ตอบว่า เพราะความปรารถนาในปางก่อนกระตุ้นเตือน.
               ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงมีเหล่าพระสาวกผู้บรรลุฐานันดรนี้เหมือนกัน, และท่านพระทัพพมัลลบุตรนี้เกิดชาติปางหลัง ในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ เห็นอานุภาพของภิกษุผู้บรรลุฐานันดรนี้ นิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๖๘๐,๐๐๐ รูป ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน แล้วหมอบลงแทบบาทมูล ได้กระทำความปรารถนาว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าเช่นกับพระองค์บังเกิดขึ้นในอนาคต แม้ข้าพระองค์พึงเป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะและภัตตุเทสกะ เหมือนสาวกของพระองค์ผู้มีชื่อนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอดส่องอนาคตังสญาณไป ได้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว. ก็แลครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว จึงได้ทรงพยากรณ์ว่า โดยกาลล่วงไปแห่งแสนกัปแต่กัปนี้ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคดมจักทรงอุบัติขึ้น ในกาลนั้น ท่านจักเกิดเป็นบุตรของมัลลกษัตริย์นามว่า ทัพพะ มีอายุ ๗ ขวบโดยกำเนิด จักออกบรรพชา แล้วกระทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตผลและจักได้ฐานันดรนี้.
               จำเดิมแต่นั้นมา ท่านบำเพ็ญกุศลมีทาน ศีลเป็นต้นอยู่ ได้เสวยสมบัติในเทวดาและมนุษย์ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ได้กระทำให้แจ้งพระอรหัตผลเช่นกับพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงพยากรณ์แล้วนั่นแล.
               ลำดับนั้น เมื่อท่านพระทัพพมัลลบุตรผู้อยู่ในที่สงัด ดำริอยู่ว่า เราพึงทำการขวนขวายแก่สงฆ์อย่างไรหนอแล ฐานะ ๒ นี้ปรากฏแจ่มแจ้งแล้ว เพราะความปรารถนาในปางก่อนนั้นกระตุ้นเตือน ฉะนี้แล.
               ครั้งนั้น ท่านได้มีความรำพึงนี้ว่า เราแลไม่เป็นอิสระในตนเอง, เราอยู่ในสำนักเดียวกับพระศาสดา, ถ้าหากพระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงอนุญาตให้เราไซร้, เราจักสมาทานฐานะทั้ง ๒ นี้ แล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า. เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงได้กล่าวว่า อถโข อายสฺมา ทพฺโพ มลฺลปุตฺโต ฯเปฯ ภตฺตานิ จอุทฺทิสิตุํ ดังนี้.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังท่านพระทัพพมัลลบุตรนั้นให้รื่นเริงด้วยพระดำรัสว่า ดีละ ดีแล้ว ทัพพะ จึงตรัสว่า ดูก่อนทัพพะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงแต่งตั้งเสนาสนะและแจกภัตตาหารแก่สงฆ์เถิด, เพราะว่า ภิกษุผู้ห่างไกลจากการลำเอียงเพราะอคติเห็นปานนี้ ย่อมสมควรจัดการฐานะทั้ง ๒ นี้.
               สองบทว่า ภควโต ปจฺจสฺโสสิ มีความว่า ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า คือทูลรับสนองตรงพระพักตร์. มีคำอธิบายว่า ทูลรับสนองตอบ.
               ในคำว่า ปฐมํ ทพฺโพ ยาจิตพฺโพ นี้ มีคำถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้ขอ เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพื่อจะป้องกันความครหานินทา.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า ในอนาคต อุปัทวะใหญ่จักบังเกิดแก่ทัพพะ ด้วยอำนาจแห่งภิกษุชื่อเมตติยะและภุมมชกะเพราะอาศัยฐานะนี้, บรรดาภิกษุเหล่านั้นบางพวกจักตำหนิว่า ท่านทัพพะนี้เป็นผู้นิ่งเฉย, ไม่ทำการงานของตน มาจัดการฐานะเช่นนี้เพราะเหตุไร?
               ลำดับนั้น ภิกษุพวกอื่นจักกล่าวว่า โทษอะไรของท่านผู้นี้, ท่านผู้นี้อันภิกษุเหล่านั้นแลขอตั้งแล้ว, เธอจักพ้นจากความครหานินทาด้วยอาการอย่างนี้.
               แม้ครั้นให้ขอเพื่อเปลื้องความครหาอย่างนี้แล้ว เพราะเมื่อภิกษุที่สงฆ์ไม่ได้สมมติซ้ำอีก กล่าวคำอะไรๆ ในท่ามกลางสงฆ์จะเกิดการบ่นว่า เป็นธรรมดาว่า เพราะเหตุไร ท่านผู้นี้จึงกระทำเสียงดัง แสดงความเป็นใหญ่ในท่ามกลางสงฆ์เล่า? แต่เมื่อภิกษุที่สงฆ์สมมติแล้วพูด จะมีผู้กล่าวว่า พวกท่านอย่าได้พูดอะไรๆ, ท่านผู้นี้สงฆ์สมมติแล้ว จงพูดได้ตามสบายเถิด, และภิกษุผู้กล่าวตู่ผู้ที่สงฆ์มิได้สมมติด้วยคำไม่จริง เป็นอาบัติเบาเพียงทุกกฏ, แต่ผู้กล่าวตู่ภิกษุที่สงฆ์สมมติแล้ว เป็นอาบัติปาจิตตีย์ที่หนักกว่า, ทีนั้นภิกษุที่สงฆ์สมมติแล้ว จะเป็นผู้ถูกพวกภิกษุแม้ผู้จองเวรกำจัดได้ยากยิ่ง เพราะเป็นอาบัติหนัก, ฉะนั้น เพื่อจะให้สงฆ์สมมติท่านผู้มีอายุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า พยตฺเตน ภิกฺขุนา เป็นต้น.
               ถามว่า ก็การให้สมมติ ๒ อย่าง แก่ภิกษุรูปเดียวควรหรือ?
               ตอบว่า มิใช่แต่เพียง ๒ อย่างเท่านั้น, ถ้าสามารถจะให้สมมติทั้ง ๑๓ อย่าง ก็ควร. แต่เมื่อภิกษุทั้งหลายไม่สามารถ แม้สมมติอย่างเดียว ก็ไม่สมควรให้แก่ภิกษุ ๒ หรือ ๓ รูป.
               บทว่า สภาคานํ มีความว่า ผู้เสมอกันด้วยคุณ ไม่ใช่ผู้เสมอกันโดยเป็นมิตรสนิทสนมกัน. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เย เต ภิกฺขู สุตฺตนฺติกา เตสํ เอกชฺฌํ เป็นต้น. ก็ภิกษุผู้ทรงพระสูตรมีจำนวนเท่าใด ท่านทัพพะคัดเลือกภิกษุเหล่านั้นแต่งตั้งเสนาสนะอันสมควรแก่ภิกษุเหล่านั้นแลรวมกัน, แก่พวกภิกษุที่เหลือก็อย่างนั้น.
               บทว่า กายทฬฺหีพหุลา ได้แก่ เป็นผู้มากไปด้วยการกระทำร่างกายให้แข็งแรง. อธิบายว่า เป็นผู้มากไปด้วยการบำรุงร่างกาย.
               ข้อว่า อิมายปิเม อายสฺมนฺโต รตฺติยา ได้แก่ ด้วยความยินดีในดิรัจฉานกถาอันเป็นเหตุขัดขวางต่อทางสวรรค์นี้.
               บทว่า อจฺฉิสฺสนฺติ แปลว่า จักอยู่.
               ข้อว่า เตโชธาตุํ สมาปชฺชิตฺวา เตเนวาโลเกน มีความว่า ท่านผู้มีอายุนั้นเข้าจตุตถฌาน มีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ ออกแล้วอธิษฐานนิ้วมือให้สว่างด้วยอภิญญาญาณ (แต่งตั้งเสนาสนะ) ด้วยแสงสว่างที่โพลงจากนิ้วมือ อันเตโชธาตุสมาบัติให้เกิดแล้วนั้น.
               ก็อานุภาพของพระเถระอย่างนี้ได้ปรากฏแล้ว ในสกลชมพูทวีป ต่อกาลไม่นานนัก. ชนทั้งหลายสดับข่าวนั้น อยากเห็นอิทธิปาฏิหาริย์ของท่าน ได้พากันมา. พวกภิกษุแกล้งมาในเวลาวิกาลบ้างก็มี.
               ข้อว่า เต สญฺจิจฺจ ทูเร อปทิสนฺติ มีความว่า ภิกษุเหล่านั้นทั้งที่รู้อยู่ ก็พากันอ้างถึงสถานทีไกลๆ.
               คือ อย่างไร?
               คือ อ้างเอาโดยนัยนี้ว่า พระคุณเจ้าทัพพะ ขอท่านจงแต่งตั้งเสนาสนะให้พวกกระผมที่เขาคิชฌกูฏ ดังนี้ เป็นต้น.
               คำว่า องฺคุลิยา ชลมานาย ปุรโต ปุรโต คจฺฉติ มีความว่า ถ้ามีภิกษุรูปเดียว ท่านไปเอง, ถ้ามีหลายรูป ท่านนิรมิตอัตภาพเป็นอันมาก ให้เป็นเช่นเดียวกับตนของท่านทั้งหมด.
               ก็ในคำว่า เสนาสนํ ปญฺญาเปติ อยํ มญฺโจ เป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เมื่อพระเถระกล่าวว่า นี้เตียง แม้อัตภาพที่นิรมิตก็กล่าวว่า นี้เตียงในที่แห่งตนๆ ไปถึงแล้ว. แม้ในบททั้งปวงก็อย่างนี้.
               จริงอยู่ ปกตินี้เป็นธรรมดาของอัตภาพนิรมิต คือ :-
                  เมื่อผู้มีฤทธิ์คนเดียวพูด อัตภาพนิรมิตทั้งหมดก็พูดด้วย
                  เมื่อผู้มีฤทธิ์คนเดียวนั่งนิ่ง อัตภาพนิรมิตเหล่านั้นทั้งหมดก็นิ่งด้วย.

               ก็ในวิหารใด เตียงตั่งเป็นต้นไม่สมบูรณ์, ท่านย่อมให้บริบูรณ์ด้วยอานุภาพของตน, การพูดนอกเรื่องของอัตภาพที่พระเถระนั้นนิรมิตย่อมไม่มี.
               คำว่า เสนาสนํ ปญฺญาเปตฺวา ปุนเทว เวฬุวนํ ปจฺจาคจฺฉติ มีความว่า ท่านย่อมไม่นั่งคุยเรื่องชนบทกับภิกษุเหล่านั้น กลับมาสู่ที่อยู่ของตนทันที.

               [แก้อรรถเรื่องพระเมตติยะและพระภุมมชก]               
               บทว่า เมตฺติยภุมฺมชกา ได้แก่ ภิกษุเหล่านี้ คือ ภิกษุชื่อเมตติยะ ๑ ภิกษุชื่อภุมมชกะ ๑ เป็นบุรุษชั้นหัวหน้าแห่งพวกภิกษุฉัพพัคคีย์.
               สองบทว่า ลามกานิ จ ภตฺตานิ ได้แก่ ข้อนี้ คือเสนาสนะอันเลวทรามถึงแก่พวกภิกษุใหม่ก่อน ไม่เป็นข้อที่น่าอัศจรรย์เลย. แต่ภิกษุทั้งหลายใส่สลากไว้ในกระเช้า หรือขนดจีวร เคล้าคละกันแล้วจับขึ้นทีละอันๆ แจกภัตให้ไป, ภัตแม้เหล่านั้นเป็นของเลวด้อยกว่าเขาทั้งหมด ย่อมถึงแก่ภิกษุเมตติยะและภุมมชกะนั้น เพราะเป็นผู้มีบุญน้อย.
               ภัตที่ควรแจกให้ถึงตามลำดับคราวหนึ่งแม้ใด ชื่อว่า เอกวาริกภัต เป็นของประณีตแสนจะประณีต พึงประมวลให้แจกตั้งแต่พระเถระจนถึงพระนวกะ, แม้ภัตนั้น ในวันที่ถึงแก่ภิกษุเมตติยะและภุมมชกะนี้กลายเป็นของเลว หรือพวกชาวบ้านพอเห็นภิกษุ ๒ รูปนั้น ไม่ถวายของประณีตกลับถวายของเลวๆ.
               บทว่า อภิสงฺขริกํ ได้แก่ อันเขาปรุงผสมด้วยเครื่องปรุงต่างๆ.
               อธิบายว่า อันเขาตระเตรียมด้วยดี คือให้สำเร็จด้วยดี.
               บทว่า กาณาชกํ ได้แก่ ข้าวปนรำ.
               บทว่า พิลงฺคทุติยํ ได้แก่ คู่กับน้ำผักดอง.
               บทว่า กลฺยาณภตฺติโก มีความว่า ภัตอย่างดี คือที่อร่อยแสนจะประณีตของอุบาสกนั้น มีอยู่, เพราะเหตุนั้น อุบาสกนั้นจึงชื่อว่า กัลยาณภัตติกะ อุบาสกนั้นปรากฏชื่อตามภัตนั่นแล เพราะเป็นผู้ถวายภัตประณีต.
               สองบทว่า จตุกฺกภตฺตํ เทติ ได้แก่ ถวายภัตตาหารวันละ ๔ ที่. แต่โดยโวหารแห่งตัทธิต ท่านกล่าวว่า จตุกภัต.
               สองบทว่า อุปติฏฺฐิตฺวา ปริวิสติ มีความว่า อุบาสกนั้นสละการงานทั้งหมด กระทำการบูชาและสักการะ แล้วยืนอังคาสอยู่ในที่ใกล้ๆ.
               สองบทว่า โอทเนน ปุจฺฉนฺติ มีความว่า พวกคนถือข้าวสุกเข้าไปหาแล้ว ถามว่า กระผมจะถวายข้าวสุก หรือขอรับ? อย่างนี้ เป็นตติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งกรณะ. ในสูปะเป็นต้นก็มีนัยอย่างนี้.
               บทว่า สฺวาตนาย มีความว่า การฉันภัตตาหารอันมีในวันพรุ่งนี้ ชื่อว่า สวาตนะ. เพื่อประโยชน์แก่การฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้นั้น ชื่อว่า สฺวาตนาย.
               มีคำอธิบายว่า เพื่อประโยชน์แก่การฉันภัตตาหาร ที่ควรกระทำในวันรุ่งขึ้น.
               สองบทว่า อุทฺทิฏฺฐํ โหติ ได้แก่ เป็นของอันภัตตุทเทสก์ถวายให้ถึงแล้ว.
               พระเถระไม่ได้คำนึงถึง จึงกล่าวคำนี้ว่า เมตฺติยภุมฺมชกานํ โข คหปติ ดังนี้.
               จริงอยู่ ความที่ภิกษุเมตติยะและภุมมชกะนั้นเป็นผู้มีบุญน้อย มีพลังอย่างนี้ แม้พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยความเป็นผู้มีสติอันไพบูลย์ ก็ไม่มีความคำนึงถึง.
               ด้วยคำว่า เช ในคำว่า เย เช นี้ คหบดีร้องเรียกนางทาสี.
               ข้อว่า หีโย โข อาวุโส อมฺหากํ มีความว่า ภิกษุเมตติยะและภุมมชกะปรึกษากันตลอดราตรี กล่าวหมายถึงส่วนแห่งวันที่ล่วงแล้วว่า หีโย (วันวาน).
               บทว่า น จิตฺตรูปํ ได้แก่ ไม่สมใจนึก. ภิกษุทั้งสองนั้นจำวัดไม่หลับ เหมือนอย่างที่ตนเคยจำวัดหลับเท่าที่ตนต้องการในก่อน. มีคำอธิบายว่า จำวัดได้นิดหน่อยเท่านั้น.
               บทว่า พหารามโกฏฺฐเก ได้แก่ ภายนอกซุ้มประตูแห่งพระเวฬุวันวิหาร.
               บทว่า ปตฺตกขนฺธา ได้แก่ มีคอตก คือนั่งงอกระดูกคอ (นั่งคอพับ).
               บทว่า ปชฺฌายนฺตา ได้แก่ ซบเซาอยู่.
               คำว่า ยโต นีวาตํ ตโต ปวาตํ มีความว่า ณ ที่ใดอับลม คือไม่มีลมแม้แต่น้อย, ณ ที่นั้นเกิดมีลมพัดแรงขึ้น.
               คำว่า อุทกํ มญฺเญ อาทิตฺตํ ได้แก่ เหมือนน้ำถูกต้มให้เดือด.

               [พระทัพพมัลลบุตรถูกสอบสวน]               
               ข้อว่า สรสิ ตฺวํ ทพฺพ เอวรูปํ กตฺตา ความว่า ดูก่อนทัพพะ เธอผู้ทำกรรมเห็นปานนี้ ยังระลึกได้อยู่หรือ? อีกอย่างหนึ่ง ความว่า ดูก่อนทัพพะ เธอยังระลึกคำอย่างที่นางภิกษุณีกล่าวหาได้อยู่หรือ? ก็ในคำนี้ บัณฑิตพึงประกอบเห็นใจความอย่างนี้ว่า เธอเป็นผู้กระทำกรรมอย่างที่นางภิกษุณีนี้กล่าวหาหรือ? แต่ปาฐะของพวกอาจารย์ผู้สวดว่า ภตฺวา ปรากฏตรงทีเดียว.
               ด้วยคำว่า ยถา มํ ภนฺเต ภควา ชานาติ นี้ พระเถระทูลชี้แจงว่าอย่างไร? ทูลชี้แจงว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญู และข้าพระองค์ก็เป็นพระขีณาสพ, การเสพวัตถุกามไม่มีแก่ข้าพระองค์เลย, พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบข้าพระองค์นั้น, ข้าพระองค์จักต้องกล่าวอะไรในการเสพวัตถุกามนั้นเล่า? พึงทราบข้าพระองค์เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบนั่นแล.
               ในคำว่า น โข ทพฺพ ทพฺพา เอวํ นิพฺเพเฐนฺติ นี้ บัณฑิตพึงเห็นใจความอย่างนี้ว่า ดูก่อนทัพพะ ผู้ฉลาด คือบัณฑิตย่อมไม่กล่าวหาเหมือนอย่างที่เธอกล่าวแก้คำกล่าวหา เพราะมีผู้อื่นเป็นปัจจัย (เพราะเชื่อผู้อื่น). อนึ่งแล บัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าวแก้คำกล่าวหาด้วยกรรมที่ตนรู้เองทั้งนั้น.
               ด้วยคำว่า สเจ ตยา กตํ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า อย่างไร? ทรงแสดงว่า เพราะว่า ใครๆ ไม่อาจทำบุคคลผู้ไม่ได้ทำ (ผิด) ให้เป็นผู้ทำ (ผิด) หรือผู้ทำ (ผิด) ให้เป็นผู้ไม่ทำ (ผิด) ด้วยกำลังคน หรือด้วยกำลังสนับสนุนของพรรคพวกได้ เพราะเหตุนั้น กรรมใดที่ตนทำเองหรือมิได้กระทำก็ตาม ควรพูดแต่กรรมนั้นเท่านั้น.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร? พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ทรงทราบอยู่ แต่ไม่ตรัสว่า เรารู้อยู่ เธอเป็นพระขีณาสพ โทษของเธอไม่มี, ภิกษุณีนี้กล่าวเท็จ.
               แก้ว่า เพราะทรงมีความเอ็นดูผู้อื่น.
               ก็ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสทุกๆ เรื่องที่พระองค์ทรงทราบ, พระองค์ถูกผู้อื่นซึ่งต้องปาราชิกแล้วถาม จำต้องตรัสคำว่า เรารู้อยู่, เธอเป็นปาราชิก. แต่นั้น บุคคลนั้นพึงผูกอาฆาตว่า เมื่อก่อนพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ทรงทำให้พระทัพพมัลลบุตรบริสุทธิ์ได้ บัดนี้ทรงทำเราให้เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้, ต่อไปนี้ เราจะพูดอะไรแก่ใครได้เล่า? ในฐานะที่แม้พระศาสดายังทรงถึงความลำเอียงในหมู่สาวก, ความเป็นพระสัพพัญญูของพระศาสดานี้ จักมีแต่ที่ไหนเล่า? ดังนี้แล้ว ต้องเป็นผู้เข้าถึงอบาย. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอยู่ก็ไม่ตรัส เพราะทรงมีความเอ็นดูผู้อื่นนี้. มีคำที่ควรกล่าวเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย, พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัส เพราะทรงหลีกเลี่ยงคำค่อนขอด.
               ก็ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสอย่างนี้ จะพึงมีการกล่าวค่อนขอดอย่างนี้ว่า ชื่อว่า การออกจากอาบัติของพระทัพพมัลลบุตรหนัก, แต่ได้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสักขีพยานจึงออกได้. และพวกปาปภิกษุเข้าใจลักษณะแห่งการออกจากอาบัตินี้ อย่างนี้ว่า ถึงในครั้งพุทธกาล ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ย่อมมีได้ด้วยพยาน, พวกเรารู้อยู่, บุคคลนี้เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ดังนี้ พึงทำให้ภิกษุ แม้ผู้มีความละอายพินาศแล.
               อีกนัยหนึ่ง แม้ในอนาคต พวกภิกษุเมื่อเรื่องวินิจฉัยแล้ว จักให้โจทก์โจท แล้วให้จำเลยให้การว่า ถ้าท่านทำ จงกล่าวว่า ข้าพเจ้าทำ แล้วถือเอาแต่ปฏิญญาของพวกลัชชีภิกษุ กระทำกรรม เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงตั้งแบบแผนในลักษณะแห่งวินัย จึงไม่ตรัสว่า เรารู้อยู่ ตรัสว่า ถ้าเธอทำ จงกล่าวว่า ข้าพเจ้าทำ ดังนี้.
               ข้อว่า นาภิชานามิ สุปินนฺเตนปิ เมถุนํ ธมฺมํ ปฏิเสวิตา มีความว่า แม้โดยความฝันข้าพระองค์ก็ยังไม่รู้จักเสพเมถุนธรรม. มีคำอธิบายว่า ข้าพระองค์มิได้เสพ.
               อีกอย่างหนึ่ง มีรูปความที่ท่านกล่าวไว้ว่า ข้าพระองค์ไม่รู้จักเมถุนธรรม แม้โดยความฝันว่าเป็นผู้เสพ. แต่ปาฐะของพวกอาจารย์ผู้สวดว่า ปฏิเสวิตฺวา ปรากฏตรงทีเดียว.
               คำว่า ปเคว ชาคโร มีความว่า ก็ข้าพระองค์ตื่นอยู่ ไม่รู้จักมาก่อนทีเดียว.
               คำว่า เตนหิ ภิกฺขเว เมตฺติยํ ภิกฺขุนึ นาเสถ มีคำอธิบายว่า เพราะคำของพระทัพพมัลลบุตรและภิกษุณีเมตติยานี้ ไม่เชื่อมต่อกัน ฉะนั้น พวกเธอจงนาสนะภิกษุณีเมตติยาเสีย. ในคำนั้น นาสนะมี ๓ อย่าง คือ ลิงคนาสนะ ๑ สังวาสนาสนะ ๑ ทัณฑกัมมนาสนะ ๑.
               บรรดานาสนะเหล่านั้น นาสนะนี้ว่า สามเณรผู้ประทุษร้าย (นางภิกษุณี) สงฆ์พึงให้ฉิบหายเสีย ชื่อว่าลิงคนาสนะ. พวกภิกษุทำอุกเขปนียกรรม เพราะไม่เห็นหรือไม่ทำคืนอาบัติก็ดี เพราะไม่สละทิฏฐิลามกเสียก็ดี นี้ชื่อสังวาสนาสนะ. พวกภิกษุทำทัณฑกรรม (แก่สมณุเทศ) ว่า เจ้าคนเลว เจ้าจงไปเสีย จงฉิบหายเสีย นี้ชื่อทัณฑกัมนาสนะ.
               แต่ในฐานะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาลิงคนาสนะ จึงตรัสว่า พวกเธอจงนาสนะภิกษุณีเมตติยาเสีย ดังนี้.
               ด้วยคำว่า อิเม จ ภิกฺขู อนุยุญฺชถ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระประสงค์นี้ว่า ภิกษุณีนี้มิใช่ผู้กระทำตามธรรมดาของตน, คงถูกพวกภิกษุอื่นยุยงแน่นอน เพราะเหตุนั้น พวกเธอจงสอบสวนคือจงสืบสวนหา จงรู้ตัวภิกษุผู้ยุยงเหล่านี้.
               ถามว่า ก็ภิกษุณีเมตติยา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งให้สึกเสียด้วยปฏิญญา หรือทรงให้สึกด้วยไม่ปฏิญญา.
               แก้ว่า ในการทักท้วงนี้ มีคำที่จะต้องกล่าวเพิ่มบ้างเล็กน้อย, ชั้นแรกถ้าทรงให้สึกด้วยปฏิญญา, พระเถระจะเป็นผู้กระทำ (ผิด), ถ้าทรงให้สึกด้วยไม่ปฏิญญา, พระเถระจะเป็นผู้ไม่ทำ (ผิด) ไม่มีโทษ.

               [เรื่องตีความหมายบาลีพระวินัยผิดตกลงกันไม่ได้]               
               แม้ในกาลแห่งพระเจ้าภาติยราช พระเถระสำนักมหาวิหารและสำนักอภัยคิรีวิหาร ได้มีการวิวาทกัน (ถกเถียงกัน) ในเพราะวาทะนี้แล. ฝ่ายสำนักอภัยคิรีวิหาร อ้างสูตรของตนกล่าวว่า ในวาทะของพวกท่าน พระเถระเป็นผู้ทำ (ผิด). ฝ่ายสำนักมหาวิหารอ้างสูตรของตนกล่าวว่า ในวาทะของพวกท่าน พระเถระเป็นผู้ทำ (ผิด). ปัญหาจึงตกลงกันไม่ได้. พระราชาทรงทราบ (ข่าวนั้น) แล้วรับสั่งให้พระเถระทั้งหลายประชุมกัน ทรงสั่งบังคับอำมาตย์เชื้อชาติพราหมณ์นามว่าทีฆการายนะ ว่า เธอจงฟังถ้อยคำของพระเถระทั้งหลาย. ได้ยินว่า อำมาตย์เป็นบัณฑิต ฉลาดในภาษาอื่น. อำมาตย์นั้นกล่าวว่า ท่านขอรับ ขอพระเถระจงกล่าวสูตรเถิด.
               ลำดับนั้น พระเถระสำนักอภัยคิรีวิหารได้กล่าวสูตรของตนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกเธอจงให้นางภิกษุณีเมตติยาสึกเสีย ด้วยปฏิญญาของตน.
               อำมาตย์เรียนว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ ในวาทะของพวกท่าน พระเถระเป็นผู้ทำ (ผิด) มีโทษ.
               ฝ่ายพระเถระสำนักมหาวิหารได้กล่าวสูตรของตนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกเธอจงให้นางภิกษุณีเมตติยาสึกเสีย. อำมาตย์เรียนว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ ในวาทะของพวกท่าน พระเถระไม่ใช่ผู้ทำ (ผิด) ไม่มีโทษ. ก็ใน ๒ สูตรนี้ สูตรไหนถูกเล่า? สูตรที่กล่าวภายหลังถูก, เพราะสูตรนี้ พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายวิจารณ์ไว้แล้ว.
               ภิกษุตามกำจัดภิกษุด้วยอันติมวัตถุอันไม่มีมูล เป็นสังฆาทิเสส, ตามกำจัดนางภิกษุณี เป็นทุกกฏ. แต่ในกุรุนทีกล่าวว่า เป็นปาจิตตีย์ เพราะมุสาวาท.
               ในนัยก่อนและนัยหลังนั้น มีการพิจารณาดังต่อไปนี้ :-
               นัยต้น เป็นเพียงทุกกฏเท่านั้น ถูกก่อน เพราะมีความประสงค์จะตามกำจัด. แม้เมื่อมีการกล่าวเท็จ ก็เป็นสังฆาทิเสสแก่ภิกษุ ในเพราะภิกษุด้วยกัน และแม้เมื่อมีการกล่าวเท็จ ก็เป็นปาจิตตีย์ เพราะโอมสวาทเท่านั้น แก่ภิกษุผู้มีความเห็นว่าบริสุทธิ์ โจทภิกษุผู้ไม่บริสุทธิ์ ด้วยความประสงค์จะด่า ไม่ใช่เป็นปาจิตตีย์ เพราะสัมปชานมุสาวาท ฉันใด, แม้ในอธิการนี้ ก็ฉันนั้น เป็นปาจิตตีย์ เพราะสัมปชานมุสาวาท ไม่ถูก เพราะมีความประสงค์จะตามกำจัด. เป็นเพียงทุกกฏเท่านั้น ถูกแล้ว. แม้นัยหลัง เป็นปาจิตตีย์อย่างเดียว ก็ถูก เพราะเป็นมุสาวาท.
               แต่จากหลักฐานทางพระบาลี ไม่มีคำว่า เป็นสังฆาทิเสสแก่ภิกษุ ในเพราะภิกษุด้วยกัน ด้วยความประสงค์จะตามกำจัด, เป็นสังฆาทิเสสในเพราะภิกษุด้วยกัน แก่ภิกษุผู้มีความประสงค์จะด่า เพราะมุสาวาท, แต่เป็นทุกกฏ แก่ภิกษุผู้มีความประสงค์จะด่า ในเพราะโอมสวาท และเพราะตามกำจัดนางภิกษุณี, มีคำว่า เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะสัมปชานมุสาวาท เพราะเหตุนั้น เป็นปาจิตตีย์อย่างเดียว จึงถูก.
               ก็ในวาทะนั้นบัณฑิตควรพิจารณาดังต่อไปนี้ :-
               ถามว่า เมื่อไม่มีความประสงค์จะตามกำจัด (โจท) เป็นปาจิตตีย์, เมื่อมีความประสงค์จะตามกำจัดนั้น จะพึงเป็นอะไรเล่า?
               แก้ว่า บรรดาปาจิตตีย์และสังฆาทิเสสนั้น เพราะแม้เมื่อสำเร็จเป็นปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้พูดเท็จ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงปรับปาจิตตีย์ไว้ต่างหาก ในเพราะการโจทด้วยสังฆาทิเสสไม่มีมูล เพราะฉะนั้น เมื่อมีความประสงค์จะโจท โอกาสแห่งปาจิตตีย์ ในเพราะสัมปชานมุสาวาท จึงไม่ปรากฏ และไม่อาจที่จะไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้โจทก์ เพราะฉะนั้น บรรดานัยทั้งสองนี้ นัยต้นแลปรากฏว่า บริสุทธิ์กว่า.
               อนึ่ง นางภิกษุณีโจทนางภิกษุณีด้วยอันติมวัตถุอันหามูลมิได้ เป็นสังฆาทิเสส, โจทภิกษุ เป็นทุกกฏ. บรรดาสังฆาทิเสสและทุกกฏนั้น สังฆาทิเสสเป็นวุฏฐานคามี (ออกได้ด้วยการอยู่กรรม) ทุกกฏเป็นเทสนาคามี (ออกได้ด้วยการแสดง) การนาสนะภิกษุณี เพราะสังฆาทิเสสและทุกกฏเหล่านี้ จึงไม่มี.
               อนึ่ง นางภิกษุณีเมตติยานั้นยืนกล่าวเท็จต่อพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าใดเล่า ด้วยเหตุนั้น นางจึงเป็นปาจิตตีย์ในเพราะสัมปชานมุสาวาท, เพราะปาจิตตีย์แม้นี้นาสนะก็ไม่มี. แต่เพราะนางภิกษุณีเมตติยานั้นตามปกติแล เป็นภิกษุณีเลวทรามทุศีล, และเดี๋ยวนี้นางก็กล่าวด้วยความสำคัญว่า เราเองแล เป็นผู้ทุศีล, เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงรับสั่งให้สึกนางภิกษุณีนั้นเสีย เพราะความเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์นั่นแล.
               ข้อว่า อถโข เมตฺติยภุมฺมชกา มีความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอจงให้นางภิกษุณีเมตติยาสึกเสียอย่างนี้ และจงสอบสวนภิกษุเหล่านี้ แล้วเสด็จลุกจากอาสนะเข้าสู่พระวิหาร. ภิกษุเหล่านั้นเห็นนางภิกษุณีนั้น ถูกภิกษุเหล่านั้นให้สึกอยู่ ด้วยคำว่า พวกท่านจงให้ผ้าขาวแก่ภิกษุณีนี้เดี๋ยวนี้ จึงได้ประกาศความผิดของตน เพราะเป็นผู้มีความประสงค์จะช่วยนางภิกษุณีนั้นให้พ้นผิด. เพื่อแสดงเนื้อความนี้ พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวคำว่า อถโข เมตฺติยภุมฺกา เป็นอาทิ.

               [แก้อรรถสิกขาบทวิภังค์สังฆาทิเสสที่ ๘]               
               สองบทว่า ทุฏฺโฐ โทโส ได้แก่ เป็นผู้ถูกโทสะประทุษร้ายและเป็นผู้ประทุษร้าย. จริงอยู่ เมื่อโทสะเกิดขึ้นแล้ว บุคคลย่อมเป็นผู้ชื่อว่า ถูกโทสะนั้นประทุษร้ายแล้ว คือให้ละความเป็นปกติเสีย เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ทุฏฐะ (ขัดใจ). และผู้มีความขัดใจนั้น ย่อมประทุษร้ายผู้อื่น คือทำผู้อื่นให้พินาศ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า โทสะ. ด้วยประการอย่างนี้ คำว่า ทุฏฺโฐ โทโส นี้ แสดงโดยความต่างแห่งอาการของบุคคลเพียงคนเดียว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทุฏฺโฐ โทโสติ ทูสิโต เจว ทูสโก จ.
               ในคำว่า ทุฏฺโฐ โทโส นั้น ผู้ศึกษาควรค้นหาลักษณะแห่งศัพท์. ก็เพราะว่า บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยความแค้นเคืองนั้น ถึงการนับว่า ขัดใจ มีโทสะ ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในความเป็นผู้โกรธเป็นต้นทีเดียว เพราะเหตุนั้น ในบทภาชนะแห่งสองบทว่า ทุฏฺโฐ โทโส นั้น ท่านจึงกล่าวคำมีคำว่า กุปิโต เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุปิโต ได้แก่ ถึงภาวะกำเริบ คือภาวะที่เคลื่อนไปจากปกติ.
               บทว่า อนตฺตมโน ได้แก่ ผู้ไม่มีใจเป็นของตน คือมีจิตไม่ตั้งอยู่ในอำนาจของตน. อีกอย่างหนึ่ง ผู้มีใจอันปีติและสุขไม่ซึมซาบ คือมีจิตตกไปเสียจากปีติและสุข เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อนัตตมนะ (ไม่ถูกใจ).
               บทว่า อนภิรทฺโธ คือ ไม่ประสบความสุข, อีกอย่างหนึ่ง ผู้ไม่ถึงความแจ่มใส ฉะนั้น จึงชื่อว่า อนภิรัทธะ (ไม่พอใจ). จิตของเขานั้นถูกปฏิฆะกระทบแล้ว เหตุนั้น เขาจึงชื่อว่า อาหตจิตตะ (แค้นใจ). ตะปู คือปฏิฆะ กล่าวคือความที่จิตแข็งกระด้าง และจิตยุ่งเหยิงดุจหยากเยื่อ เกิดแล้วแก่บุคคลนั้น เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า ขีลชาตะ (เจ็บใจ).
               บทว่า อปฺปตีโต ได้แก่ ไม่ถึงเฉพาะ (ไม่แช่มชื่น) คือเว้นจากปีติและสุขเป็นต้น. ความว่า อันปีติและสุขเป็นต้นไม่ซาบซ่าน. แต่ในบทภาชนะท่านพระอุบาลีกล่าวว่า เตน จ โกเปน เป็นต้น เพื่อแสดงธรรมทั้งหลายที่มีอำนาจทำให้ไม่แช่มชื่น.
               บรรดาบทเหล่านั้น คำว่า เตน จ โกเปน ได้แก่ เพราะความโกรธที่เป็นเหตุให้เรียกภิกษุนั้นว่า ผู้มีความขัดใจและโกรธ. แท้จริง คำทั้งสองนี้เป็นอาการเดียวกัน เพราะให้ละปกติภาพ.
               คำว่า เตน จ โทเสน ได้แก่ เพราะโทสะที่เป็นเหตุให้เรียกภิกษุนั้นว่า มีโทสะ. ด้วยบททั้ง ๒ นี้ ท่านพระอุบาลีแสดงสังขารขันธ์เหมือนกัน.
               คำว่า ตาย จ อนตฺตมนตาย ได้แก่ เพราะความไม่ถูกใจที่เป็นเหตุให้เรียกภิกษุนั้นว่า ผู้ไม่ถูกใจ.
               คำว่า ตาย จ อนภิรทฺธิยา ได้แก่ เพราะความไม่พอใจที่เป็นเหตุให้เรียกภิกษุนั้นว่า ผู้ไม่พอใจ. ด้วยคำทั้งสองนี้ท่านพระอุบาลีแสดงเวทนาขันธ์.

               [อธิบายเรื่องอธิกรณ์มีมูลและไม่มีมูล]               
               ในคำว่า อมูลเกน ปาราชิเกน นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               ปาราชิกนั้นไม่มีมูล เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอมูลกะ. ก็ความที่ปาราชิกนั้นไม่มีมูลนั้น ทรงประสงค์เอาด้วยอำนาจแห่งโจทก์ ไม่ใช่ด้วยอำนาจแห่งจำเลย เพราะฉะนั้น เพื่อทรงแสดงเนื้อความนั้น ในบทภาชนะ ท่านพระอุบาลีจึงกล่าวว่า ที่ชื่อว่าไม่มีมูล คือไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ.
               ด้วยบทภาชนะว่า อทิฏฺฐํ เป็นต้นนั้น ท่านแสดงอธิบายนี้ไว้ว่า ปาราชิกที่โจทก์ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ ในตัวบุคคลผู้เป็นจำเลย ชื่อว่าไม่มีมูล เพราะไม่มีมูล กล่าวคือการเห็น การได้ยินและการรังเกียจนี้. ก็จำเลยนั้นจะต้องปาราชิกนั้น หรือไม่ต้องก็ตามที, ข้อที่จำเลยต้องหรือไม่ต้องนี้ ไม่เป็นประมาณในสิกขาบทนี้.
               ในบทว่า อทิฏฺฐํ เป็นต้นนั้น ที่ชื่อว่าไม่ได้เห็น คือไม่ได้เห็นด้วยจักษุประสาท หรือด้วยทิพยจักษุของตน. ชื่อว่าไม่ได้ยิน คือไม่ได้ยินใครๆ เขาพูดกันเหมือนอย่างนั้น. ที่ชื่อว่าไม่ได้รังเกียจ คือไม่ได้รังเกียจด้วยจิต.
               ที่ชื่อว่า ได้เห็น คือตนเองหรือคนอื่นได้เห็นด้วยจักษุประสาทหรือด้วยทิพยจักษุ. ที่ชื่อว่า ได้ยิน คือได้ยินมาเหมือนอย่างที่ได้เห็นนั่นเอง. ที่ชื่อว่า ได้รังเกียจ คือตนเอง หรือคนอื่นรังเกียจ. ในเรื่องได้เห็นเป็นต้น ตนเองได้เห็นมา จึงชื่อว่า ได้เห็น. แต่ลักษณะทั้งหมดนี้ คือคนอื่นได้เห็น ตนเองได้ยิน คนอื่นได้ยิน คนอื่นได้รังเกียจ ตั้งอยู่ในฐานที่ตนได้ยินมาเท่านั้น.
               ก็เรื่องที่รังเกียจมี ๓ อย่าง คือรังเกียจด้วยอำนาจได้เห็น ๑ รังเกียจด้วยอำนาจได้ยิน ๑ รังเกียจด้วยอำนาจได้ทราบ ๑.
               ในเรื่องรังเกียจ ๓ อย่างนั้น ที่ชื่อว่า รังเกียจด้วยอำนาจได้เห็น คือภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปยังพุ่มไม้แห่งหนึ่งใกล้หมู่บ้าน ด้วยการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ, หญิงแม้คนใดคนหนึ่ง ก็เข้าไปยังพุ่มไม้นั้นด้วยกรณียกิจบางอย่างเหมือนกัน แล้วกลับไป, ทั้งภิกษุก็ไม่ได้เห็นผู้หญิง ทั้งผู้หญิงก็ไม่ได้เห็นภิกษุ, ทั้งสองคนต่างก็หลีกไปตามชอบใจ ไม่ได้เห็นกันเลย, ภิกษุอีกรูปหนึ่งกำหนดหมายเอาการที่คนทั้งสองออกไปจากพุ่มไม้นั้น จึงรังเกียจว่า ชนเหล่านี้กระทำกรรมแล้ว หรือจักกระทำแน่แท้ นี้ชื่อว่ารังเกียจด้วยอำนาจได้เห็น.
               ที่ชื่อว่า รังเกียจด้วยอำนาจได้ยิน คือคนบางคนในโลกนี้ ได้ยินคำปฏิสันถารเช่นนั้นของภิกษุกับมาตุคาม ในโอกาสที่มืดหรือกำบัง คนอื่นแม้มีอยู่ในที่ใกล้ ก็ไม่ทราบว่า มีหรือไม่มี, เขารังเกียจว่า ชนเหล่านี้ทำกรรมแล้ว หรือว่า จักทำแน่นอน นี้ชื่อว่ารังเกียจด้วยอำนาจได้ยิน.
               ที่ชื่อว่ารังเกียจด้วยอำนาจได้ทราบ คือตกกลางคืนพวกนักเลงเป็นอันมาก ถือเอาดอกไม้ของหอม เนื้อและสุราเป็นต้นแล้ว ไปยังวิหารชายแดนแห่งหนึ่งพร้อมกับพวกสตรี เล่นกันตามสบายที่มณฑปหรือที่ศาลาฉันเป็นต้น ทิ้งดอกไม้เป็นต้นให้กระจัดกระจาย แล้วพากันไป.
               ในวันรุ่งขึ้น พวกภิกษุเห็นอาการแปลกนั้นแล้วพากันสืบหาว่า นี้เป็นกรรมของใคร? ก็ในบรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุบางรูปลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ปฏิบัติมณฑปหรือศาลาฉันด้วยมุ่งวัตรเป็นใหญ่ จำเป็นต้องจับต้องดอกไม้เป็นต้น, บางรูปต้องทำการบูชาด้วยดอกไม้เป็นต้น ที่ตนนำมาจากตระกูลอุปัฏฐาก, บางรูปต้องดื่มยาดองชื่ออริฏฐะเพื่อเป็นยา.
               ครั้งนั้น พวกภิกษุเหล่านั้นผู้สืบหาว่า กรรมนี้ของใคร? จึงดมกลิ่นมือและกลิ่นปาก แล้วรังเกียจภิกษุเหล่านั้น, นี้ชื่อว่ารังเกียจด้วยอำนาจได้ทราบ.
               ในเรื่องได้เห็นเป็นต้นนั้น เรื่องได้เห็นที่มีมูลก็มี ที่ไม่มีมูลก็มี, เรื่องได้เห็นนั่นเอง มีมูลด้วยอำนาจแห่งสัญญาก็มี ไม่มีมูลด้วยอำนาจแห่งสัญญาก็มี. แม้ในเรื่องได้ยิน ก็นัยนี้. แต่ในเรื่องที่รังเกียจ เรื่องที่รังเกียจด้วยอำนาจได้เห็น มีมูลก็มี, ไม่มีมูลก็มี, เรื่องที่รังเกียจด้วยอำนาจได้เห็นนั้นเอง มีมูลด้วยอำนาจแห่งสัญญาก็มี, ไม่มีมูลด้วยอำนาจแห่งสัญญาก็มี. ในเรื่องที่รังเกียจ ด้วยการได้ยิน และการได้ทราบก็นัยนี้.
               ในคำว่า มีมูลเป็นต้นนั้น เรื่องได้เห็นที่ชื่อว่ามีมูล คือเขาได้เห็น ภิกษุต้องปาราชิกจริงๆ แล้วกล่าวว่า ข้าพเจ้าเห็น. ที่ชื่อว่า ไม่มีมูล คือเขาเห็นภิกษุออกมาจากโอกาสกำบัง แต่ไม่เห็นการล่วงละเมิด กล่าวว่า ข้าพเจ้าเห็น. เรื่องที่เห็นนั่นเอง ชื่อว่ามีมูลด้วยอำนาจแห่งสัญญา คือเขาเพียงแต่ได้เห็นเท่านั้น เป็นผู้มีความสำคัญว่าได้เห็น แล้วโจท. ที่ชื่อว่าไม่มีมูลด้วยอำนาจแห่งสัญญา คือในเบื้องต้น เขาเห็นการล่วงละเมิดด้วยปาราชิก ภายหลังกลับเกิดมีความสำคัญว่า ไม่ได้เห็น. ผู้นั้นทำให้ไม่มีมูลด้วยสัญญา แล้วโจทว่า ข้าพเจ้าเห็น. แม้เรื่องที่รังเกียจด้วยอำนาจแห่งการได้ยินและได้ทราบ ก็พึงทราบโดยพิสดารตามนัยนี้แล.
               ก็ในสิกขาบทนี้ เมื่อภิกษุโจทภิกษุที่ตนเห็น แม้โดยอาการทุกอย่าง ด้วยปาราชิกที่มีมูล หรือมีมูลด้วยอำนาจแห่งสัญญา ไม่เป็นอาบัติ. เป็นอาบัติแต่เฉพาะภิกษุผู้โจท ด้วยปาราชิกอันหามูลมิได้ หรือไม่มีมูลด้วยอำนาจแห่งสัญญา.
               บทว่า อนุทฺธํเสยฺย ได้แก่ พึงกำกัด คือพึงขจัด ข่มขู่ ครอบงำ. ก็เพราะภิกษุโจทด้วยตนเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นโจทก็ดี ชื่อว่า ย่อมทำการกำจัดนั้นทั้งนั้น ฉะนั้น ในบทภาชนะ ท่านพระอุบาลีจึงกล่าวว่า โจทเองก็ตาม ใช้ให้ผู้อื่นโจทก็ตาม.
               ในสองบทว่า โจเทติ วา โจทาเปติ วา นั้น บทว่า โจเทติ มีความว่า ภิกษุโจทเองด้วยคำเป็นต้นว่า ท่านเป็นผู้ต้องธรรมถึงปาราชิก ดังนี้ เป็นสังฆาทิเสสแก่ภิกษุนั้น ทุกๆ คำพูด.
               บทว่า โจทาเปติ มีความว่า สั่งภิกษุอื่นผู้ยืนอยู่ใกล้ๆ กับตน, ภิกษุผู้รับสั่งนั้นโจทภิกษุนั้น ตามคำของภิกษุผู้สั่งนั้น, เป็นสังฆาทิเสสแก่ภิกษุผู้สั่งให้โจททุกๆ คำพูดเหมือนกัน. ทีนั้นฝ่ายภิกษุผู้รับสั่งนั้นโจทว่า เรื่องที่ข้าพเจ้าได้เห็น ได้ยินมีอยู่ ดังนี้ก็เป็นสังฆาทิเสสแก่ภิกษุทั้งสองรูปทุกๆ คำพูดเหมือนกัน.

               [อธิบายลักษณะแห่งการโจทต่างๆ]               
               ก็แล เพื่อความฉลาดในประเภทแห่งการโจทในสิกขาบทนี้ บัณฑิตพึงทราบจตุกกะเป็นต้นว่าวัตถุอย่างเดียว และผู้โจทก์ก็คนเดียวก่อน. บรรดาจตุกกะเหล่านั้น ภิกษุรูปหนึ่งโจทภิกษุรูปหนึ่งด้วยวัตถุอันหนึ่ง. การโจทนี้มีวัตถุเดียว ผู้โจทก์ก็คนเดียว. ภิกษุมีจำนวนมากด้วยกัน โจทภิกษุรูปหนึ่งด้วยวัตถุอันหนึ่ง ดุจพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ๕๐๐ รูป มีภิกษุเมตติยะและภิกษุภุมมชกะเป็นหัวหน้า โจทท่านพระทัพพมัลลบุตร ฉะนั้น, การโจทนี้มีวัตถุเดียว มีผู้โจทก์ต่างๆ กัน. ภิกษุรูปหนึ่งโจทภิกษุรูปหนึ่ง ด้วยวัตถุมากหลายด้วยกัน, โจทนี้มีวัตถุต่างๆ กัน มีผู้โจทก์คนเดียว. ภิกษุมีจำนวนมากด้วยกัน การโจทภิกษุมากรูปด้วยกัน ด้วยวัตถุมากหลาย, การโจทนี้มีวัตถุต่างกัน มีผู้โจทก์ต่างกัน.
               ถามว่า ก็ใครย่อมได้เพื่อจะโจท ใครย่อมไม่ได้?
               ตอบว่า ภิกษุบางรูปเชื่อคำของโจทก์ที่เพลา ย่อมไม่ได้เพื่อจะโจทก่อน.
               ที่ชื่อว่า โจทก์เพลา คือเมื่อพวกภิกษุมากด้วยกัน นั่งประชุมสนทนากัน ภิกษุรูปหนึ่งพูดถึงวัตถุปาราชิก ปรารภถึงภิกษุรูปหนึ่งไม่เจาะจงตัว. ภิกษุอื่นได้ยินคำของภิกษุนั้น จึงไปบอกแก่ภิกษุเจ้าตัวนอกนี้. ภิกษุรูปนั้นจึงไปหาเธอ กล่าวว่า ได้ยินว่า ท่านพูดอย่างนี้ๆ ถึงผมหรือ? เธอจึงตอบว่า ผมไม่รู้รูปการณ์จะเป็นอย่างนี้, แต่ในขณะที่พูด มีถ้อยคำที่ผมพูดไม่เจาะจง, หากผมรู้ว่าคำพูดนี้ จะเกิดทุกข์แก่ท่าน, ผมจะไม่พึงพูดถ้อยคำแม้เท่านี้เลย. นี้ชื่อว่า โจทก์เพลา. โจทก์บางรูปถือเอาคำพูดสนทนานั้นของเธอ ไม่ได้เพื่อจะโจทภิกษุนั้น.
               แต่พระมหาปทุมเถระไม่เชื่อถ้อยคำนี้ กล่าวว่า ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมได้เพื่อจะโจทภิกษุหรือภิกษุณี และภิกษุณีผู้มีศีลสมบูรณ์ ย่อมได้เพื่อจะโจทเฉพาะภิกษุณีเท่านั้น ดังนี้.
               ฝ่ายพระมหาสุมเถระกล่าวว่า สหธรรมิกทั้ง ๕ ย่อมได้ ดังนี้.
               ฝ่ายพระโคทัตตเถระกล่าวว่า ใครๆ จะไม่ได้เพื่อจะโจทหามิได้ แล้วอ้างสูตรนี้ว่า ฟังคำของภิกษุแล้วจึงโจท, ฟังคำของภิกษุณีแล้วจึงโจท, ฯลฯ ฟังคำของพวกสาวกเดียรถีย์แล้วจึงโจท.
               ในวาทะของพระเถระทั้ง ๓ รูป พึงปรับตามปฏิญญาของจำเลยเท่านั้น.
               ก็ธรรมดาการโจทนี้ เมื่อภิกษุแม้ส่งทูตก็ดี หนังสือก็ดี ข่าวสาสน์ก็ดี ไปโจท ยังไม่ถึงที่สุดก่อน. แต่เมื่อบุคคลยืนอยู่ในที่ใกล้ๆ โจทด้วยหัวแม่มือ หรือด้วยการเปล่งวาจาเท่านั้น จึงถึงที่สุด. จริงอยู่ การบอกลาสิกขาบทอย่างเดียว ไม่ถึงที่สุดด้วยหัวแม่มือ. ส่วนการตามกำจัดนี้ และการอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริง ย่อมถึงทีเดียว. ภิกษุใดหมายโจทภิกษุรูปหนึ่งในสถานที่ภิกษุสองรูปยืนอยู่ด้วยกัน, ถ้ารูปที่เขาหมายโจทนั้นรู้ตัว, การโจทนั้น ย่อมถึงที่สุด, อีกรูปหนึ่งรู้ยังไม่ถึงที่สุด. ผู้โจทหมายโจททั้งสองรูป, รูปหนึ่งรู้ หรือว่า รู้ทั้งสองรูปก็ตาม ย่อมถึงที่สุด.
               ในโจทก์มากรูปด้วยกันก็นัยนี้.
               อันธรรมดาว่า จะรู้ได้ในทันทีทันใดนั้น ทำได้ยาก. แต่เมื่อคิดคำนึงตามความรู้ปกติ๑- จึงรู้ ก็จัดว่าเป็นอันรู้ได้เหมือนกัน. ถ้ารู้ได้ในภายหลัง ยิ่งไม่ถึงที่สุด.
               จริงอยู่ สิกขาบทเหล่านี้ คือการบอกลาสิกขา อภูตาโรจนสิกขาบท ทุฏฐุลลวาจาสิกขาบท อัตตกามสิกขาบท ทุฏฐโทสสิกขาบท และภูตาโรจนสิกขาบททั้งหมดมีข้อกำหนดอย่างเดียวกันทั้งนั้น.
____________________________
๑- วิมติวิโนทนีฎีกา. สมเยนาติ ปกติยา ชานนกฺขเณ, แปลว่า คำว่าสมัย
๑- คือ ในขณะรู้ได้ตามปกติ.

               [อรรถกถาธิบายการโจท ๒ และ ๔ อย่างเป็นต้น]               
               ก็การโจททั้ง ๒ นี้ ด้วยอำนาจกายและวาจาอย่างนี้ ยังแยกเป็น ๓ อย่างได้อีก คือ โจทตามที่ได้เห็น โจทตามที่ได้ยิน โจทตามที่รังเกียจ.
               ยังมีการโจทอีก ๔ อย่าง คือโจทด้วยศีลวิบัติ ๑ โจทด้วยอาจารวิบัติ ๑ โจทด้วยทิฏฐิวิบัติ ๑ โจทด้วยอาชีววิบัติ ๑. บรรดาการโจท ๔ อย่างนั้น การโจทด้วยศีลวิบัติ พึงทราบด้วยอำนาจแห่งกองอาบัติหนัก ๒ กอง. โจทด้วยอาจารวิบัติ พึงทราบด้วยอำนาจแห่งกองอาบัติที่เหลือ. โจทด้วยทิฏฐิวิบัติ พึงทราบด้วยอำนาจแห่งมิจฉาทิฏฐิและอันตคาหิกทิฏฐิ. โจทด้วยอาชีววิบัติ พึงทราบด้วยอำนาจแห่งสิกขาบท ๖ ที่ทรงบัญญัติ เพราะอาชีพเป็นเหตุ.
               การโจทยังมีอีก ๔ อย่าง คือโจทระบุวัตถุ ๑ โจทระบุอาบัติ ๑ การห้ามสังวาส ๑ การห้ามสามีจิกรรม ๑. บรรดาการโจท ๔ อย่างนั้น โจทที่เป็นไปอย่างนี้ว่า ท่านเสพเมถุนธรรม, ท่านลักทรัพย์, ท่านฆ่ามนุษย์, ท่านอวดคุณวิเศษที่ไม่เป็นจริง ชื่อว่า โจทระบุวัตถุ. โจทที่เป็นไปโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ท่านต้องเมถุนธรรมปาราชิกาบัติ ชื่อว่า โจทระบุอาบัติ. โจทที่เป็นไปอย่างนี้ว่า อุโบสถก็ดี ปวารณาก็ดี สังฆกรรมก็ดี ร่วมกับท่านไม่มี ชื่อว่า การห้ามสังวาส. แต่ด้วยอาการเพียงเท่านี้ การโจทยังไม่ถึงที่สุด. เมื่อพูดเชื่อมต่อกับคำเป็นต้นว่า ท่านไม่เป็นสมณะ ไม่ใช่เหล่ากอแห่งศากยบุตร จึงถึงที่สุด. การไม่กระทำกรรมมีการกราบไหว้ ลุกรับ ประคองอัญชลีและพัดวีเป็นต้น ชื่อว่า การห้ามสามีจิกรรม.
               การไม่ทำสามีจิกรรมนั้น พึงทราบในเวลาที่ภิกษุผู้กำลังทำการกราบไหว้เป็นต้นตามลำดับ ไม่กระทำแก่ภิกษุรูปหนึ่ง กระทำแก่ภิกษุที่เหลือ. ก็ด้วยอาการเพียงเท่านี้ ชื่อว่า โจท. ส่วนอาบัติยังไม่ถึงที่สุด. แต่เมื่อถูกถามว่า ทำไม ท่านจึงไม่กระทำการกราบไหว้เป็นต้นแก่เราเล่า? แล้วพูดเชื่อมต่อ ด้วยคำเป็นต้นว่า ท่านไม่ใช่สมณะ ท่านไม่ใช่เหล่ากอแห่งศากยบุตร นั่นแหละ อาบัติจึงถึงที่สุด.
               ก็ภิกษุอาปุจฉาสิ่งที่ตนต้องการด้วยข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้น, ด้วยคำเพียงเท่านั้น ยังไม่จัดเป็นการโจท. ในปาฏิโมกขัฏฐปนขันธกะ ท่านพระอุบาลีเถระกล่าวโจทไว้อีกถึง ๑๑๐ อย่าง คือการโจทที่ไม่เป็นธรรม ๕๕ ที่เป็นธรรม ๕๕ อย่างนี้ คือตั้งต้นแต่พระดำรัสที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การพักปาฏิโมกข์ที่ไม่เป็นธรรมมีหนึ่ง, การพักปาฏิโมกข์ที่เป็นธรรมมีหนึ่ง จนถึงการพักปาฏิโมกข์ที่ไม่เป็นธรรม ๑๐ การพักปาฏิโมกข์ที่เป็นธรรม ๑๐. การโจทเหล่านั้นเป็น ๓๓๐ คือ ของภิกษุผู้โจทด้วยการได้เห็นเอง ๑๑๐, ของภิกษุผู้โจทด้วยการได้ยิน ๑๑๐, ของภิกษุผู้โจทด้วยความรังเกียจ ๑๑๐. การโจทเหล่านั้น เอา ๓ คูณ คือสำหรับภิกษุผู้โจทด้วยกาย ผู้โจทด้วยวาจา ผู้โจทด้วยกายและวาจา จึงรวมเป็น ๙๙๐. การโจท ๙๙๐ เหล่านั้นของภิกษุผู้โจทด้วยตนเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นโจทก็ดี มีจำนวนเท่านั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงเป็นโจท ๑,๙๘๐ อย่าง. บัณฑิตพึงทราบอีกว่า การโจทมีหลายพัน ด้วยอำนาจโจทที่มีมูลและไม่มีมูล ในความต่างแห่งมูลมีเรื่องที่ได้เห็นเป็นต้น.

               [อธิบายโจทก์และจำเลยตามอรรถกถานัย]               
               อนึ่ง พระอรรถกถาจารย์ตั้งอยู่ในฐานะนี้แล้ว นำเอาสูตรเป็นอันมากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ในอุบาลีปัญจกะเป็นต้น อย่างนี้ว่า ดูก่อนอุบาลี ภิกษุผู้ประสงค์จะรับอธิกรณ์ พึงรับอธิกรณ์ประกอบด้วยองค์ ๕#- และว่า ดูก่อนอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาธรรม ๕ อย่างในตนแล้ว โจทผู้อื่น๒- ดังนี้ แล้วกล่าวลักษณะอธิกรณ์ ธรรมเนียมของโจทก์ ธรรมเนียมของจำเลย กิจที่สงฆ์จะพึงทำและธรรมเนียมของภิกษุผู้ว่าความ (ผู้สอบสวน) ทั้งหมด โดยพิสดารไว้ในอรรถกถา. ข้าพเจ้าจักพรรณนาลักษณะอธิกรณ์เป็นต้นนั้น ในที่ตามที่มาแล้วนั่นแล.
____________________________
#- วิ. ปริวาร. เล่ม ๘/ข้อ ๑๑๘๗.
๒- วิ. ปริวาร. เล่ม ๘/ข้อ ๑๑๘๓.

               ก็เมื่อเรื่องถูกนำเข้าในท่ามกลางสงฆ์แล้ว ด้วยอำนาจแห่งโจทอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาโจทซึ่งมีประเภทดังกล่าวแล้วนี้ สงฆ์พึงถามโจทก์และจำเลยว่า พวกท่านจักพอใจด้วยการวินิจฉัยของพวกเราหรือ? ถ้าโจทก์และจำเลยกล่าวว่า พวกกระผมจักพอใจ สงฆ์พึงรับอธิกรณ์นั้น. แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายกล่าวว่า ขอพวกท่านวินิจฉัยดูก่อนเถิด ขอรับ ถ้าการวินิจฉัยนั้นจักควรแก่พวกกระผม พวกกระผมจักยอมรับ. พึงกล่าวคำมีอาทิว่า พวกท่านจงไหว้พระเจดีย์ก่อน แล้วพึงวิสัชนาทำพระสูตรให้ยาว. ถ้าพวกเธอเหน็ดเหนื่อยตลอดกาลนาน เป็นผู้มีบริษัทหลีกไปเสีย ขาดพรรคพวก จึงขอร้องใหม่, พระวินัยธรพึงห้ามเสียถึง ๓ ครั้ง แล้วพึงวินิจฉัยอธิกรณ์ของพวกเธอ ในเวลาพวกเธอหมดความมานะจองหอง. และพวกภิกษุที่สงฆ์สมมติเมื่อจะวินิจฉัย ถ้ามีบริษัทหนาแน่นด้วยพวกอลัชชี, พึงวินิจฉัยอธิกรณ์นั้น ด้วยอุพพาหิกาญัตติ, ถ้าบริษัทหนาแน่นด้วยพวกคนพาล, พึงกล่าวว่า พวกท่านจงแสวงหาพระวินัยธร ที่ชอบพอของพวกท่านๆ เถิด ให้แสวงหาพระวินัยธรเอาเอง แล้วพึงระงับอธิกรณ์นั้นโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ ซึ่งเป็นเครื่องระงับอธิกรณ์นั้น.
               ก็ในธรรมวินัยและสัตถุศาสน์นั้น เรื่องที่เป็นจริง ชื่อว่า ธรรม. การโจทและการให้การ ชื่อว่า วินัย. ญัตติสมบัติและอนุสาวนาสมบัติ ชื่อว่า สัตถุศาสน์. เพราะฉะนั้น เมื่อโจทก์ยกเรื่องขึ้นฟ้อง พระวินัยธรพึงถามจำเลยว่า เรื่องนี้ จริงหรือไม่จริง? พระวินัยธรสอบสวนเรื่องอย่างนี้แล้ว โจทด้วยเรื่องที่เป็นจริง ให้จำเลยให้การแล้ว พึงระงับอธิกรณ์นั้นด้วยญัตติสมบัติและอนุสาวนาสมบัติ.
               ถ้าว่า ในโจทก์และจำเลยนั้น โจทก์เป็นอลัชชี โจทจำเลยผู้เป็นลัชชี และโจทก์อลัชชีนั้นเป็นพาล ไม่ฉลาด, พระวินัยธรไม่พึงให้การซักถามแก่เธอ. แต่พึงกล่าวอย่างนี้ ท่านโจทภิกษุนั้นเพราะเรื่องอะไร? แน่นอนโจทก์นั้นจักกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ที่ชื่อว่ากิมหินัง นี้ คืออะไร? พึงส่งเธอไปเสียด้วยคำว่า ท่านไม่รู้จักแม้คำว่า กิมหินัง (ท่านโจทภิกษุนั้นในเพราะเรื่องอะไร), ท่านเป็นคนโง่เห็นปานนี้ ไม่ควรโจทผู้อื่น. พระวินัยธรไม่พึงให้การซักถามแก่เธอ. แต่ถ้าโจทก์อลัชชีนั้น เป็นบัณฑิตเฉลียวฉลาด สามารถจะกลบเกลื่อนให้สำเร็จได้ ด้วยเรื่องที่ได้เห็น หรือด้วยเรื่องที่ได้ยิน, พึงให้การซักถามแก่โจทก์นั้น แล้วกระทำกรรมตามปฏิญญาของจำเลยผู้เป็นลัชชีนั่นแล. ถ้าลัชชีโจทอลัชชี, และลัชชีนั้นเป็นคนโง่ ไม่เฉลียวฉลาด ไม่อาจจะให้คำตอบข้อซักถามได้, พระวินัยธรพึงให้นัยแก่เธอว่า ท่านโจทภิกษุนั้นเพราะเรื่องอะไร? เพราะเรื่องแห่งศีลวิบัติ หรือเพราะเรื่องแห่งวิบัติอย่างหนึ่ง ในบรรดาอาจารวิบัติเป็นต้น.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร จึงควรให้นัยอย่างนี้แก่ลัชชีนี้เท่านั้น ไม่ควรให้แก่อลัชชีนอกนี้เล่า? การลำเอียงเพราะอคติ ไม่สมควรแก่พวกพระวินัยธรมิใช่หรือ?
               แก้ว่า การลำเอียงเพราะอคติ ไม่สมควรเลย. แต่การให้นัยนี้ ไม่จัดเป็นการลำเอียงเพราะอคติ. การนี้ชื่อว่าเป็นการอนุเคราะห์ธรรม. จริงอยู่ สิกขาบทพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ เพื่อต้องการข่มพวกอลัชชีและเพื่อต้องการยกย่องพวกลัชชี.
               ในลัชชีและอลัชชีเหล่านั้น อลัชชีได้นัยแล้ว จักกลบเกลื่อนไปเสีย. ฝ่ายลัชชีได้นัยแล้ว จักกล่าวยืนยันในเรื่องที่ได้เห็น โดยความสืบเนื่องกันกับเรื่องที่ได้เห็น ในเรื่องที่ได้ยิน โดยความสืบเนื่องกันกับเรื่องที่ได้เห็น ในเรื่องที่ได้ยิน โดยความสืบเนื่องกันกับเรื่องที่ได้ยิน. เพราะฉะนั้น การอนุเคราะห์ธรรมจึงสมควรแก่ลัชชีนั้น. ก็ถ้าว่าลัชชีนั้นเป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด ยืนยันพูด, แต่อลัชชีไม่ให้ปฏิญญา ด้วยปฏิเสธว่า แม้เรื่องนี้ก็ไม่มี, ถึงเรื่องนั่นก็ไม่มี. พึงปรับตามปฏิญญาของอลัชชีเหมือนกัน.

               [ว่าด้วยเรื่องทำตามปฏิญญาของจำเลยลัชชีและอลัชชี]               
               ก็แลเพื่อแสดงใจความนั้น ผู้ศึกษาพึงทราบเรื่องดังต่อไปนี้ :-
               ได้ยินว่า พระเถระจูฬาภัยผู้ทรงไตรปิฏก แสดงวินัยแก่ภิกษุทั้งหลาย ภายใต้โลหปราสาท เลิกในเวลาเย็น. ในเวลาพระเถระนั้นเลิก ภิกษุ ๒ รูปผู้เป็นความกันในอรรถคดี ได้ยังถ้อยคำให้เป็นไป. รูปหนึ่งไม่ให้ปฏิญญาโดยปฏิเสธว่า แม้เรื่องนี้ก็ไม่มี, ถึงเรื่องนั่นก็ไม่มี. คราวนั้น เมื่อปฐมยามยังเหลือน้อย พระเถระเกิดความเข้าใจว่าไม่บริสุทธิ์ในบุคคลนั้นว่า ผู้นี้ยืนยันพูด, แต่ผู้นี้ไม่ให้ปฏิญญา และเรื่องชักมาเป็นอุทาหรณ์มีมาก, กรรมนี้จักเป็นของอันบุคคลนั้นทำแล้วแน่นอน.
               ครั้งนั้น พระเถระได้ให้สัญญาที่แผ่นกระเบื้องเช็ดเท้าด้วยด้ามพัดแล้วกล่าวว่า คุณ เราไม่สมควรจะวินิจฉัย, เธอจงให้คนอื่นวินิจฉัยเถิด. พวกภิกษุถามว่า เพราะเหตุไร ขอรับ? พระเถระได้บอกเนื้อความนั้น. ความเร่าร้อนเกิดขึ้นในกายของบุคคลผู้เป็นจำเลย. ครั้งนั้น จำเลยไหว้พระเถระแล้วกล่าวว่า ธรรมดาพระวินัยธรผู้เหมาะสมเพื่อวินิจฉัย ควรเป็นผู้เช่นท่านนั่นแหละ และผู้โจทก์ก็ควรเป็นเช่นท่านผู้นี้แล แล้วนุ่งผ้าขาวกล่าวว่า ผมทำให้ท่านลำบากนานแล้ว ขอขมาพระเถระแล้วหลีกไป.
               อลัชชีภิกษุถูกลัชชีภิกษุโจทอยู่อย่างนี้ เมื่อเรื่องแม้เป็นอันมากเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ให้ปฏิญญา. อลัชชีภิกษุนั้น พระวินัยธรไม่ควรกล่าวเลยว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งไม่ควรกล่าวว่า เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์. บุคคลนี้ชื่อว่าตายทั้งเป็น ชื่อว่าเน่าทั้งดิบ. ก็ถ้าว่า เรื่องแม้อื่นเช่นนั้นเกิดขึ้นแก่เขา, พระวินัยธรไม่ต้องวินิจฉัย. เขาจักต้องฉิบหายไปอย่างนั้นนั่นเอง.
               อนึ่ง ถ้าอลัชชีภิกษุโจทอลัชชีภิกษุด้วยกัน, พระวินัยธรควรพูดแนะโจทก์นั้นว่า แน่ะคุณ ผู้นี้ใครๆ ไม่อาจว่ากล่าวอะไร ตามคำของคุณได้, กล่าวอย่างนั้นเหมือนกันกะฝ่ายจำเลยนอกนี้ แล้วส่งไปด้วยคำว่า พวกเธอทั้งสองจงร่วมสมโภคบริโภคกันอยู่เถิด, ไม่พึงทำการวินิจฉัยแก่อลัชชีทั้งสองนั้น เพื่อประโยชน์แก่ศีล, แต่เพื่อประโยชน์แก่บาตรและจีวร และบริเวณเป็นต้น ได้พยานสมควรแล้วจึงควรทำ.
               ถ้าลัชชีภิกษุโจทลัชชีภิกษุด้วยกัน และการวิวาทของพวกเธอมีเพียงเล็กน้อย ในเรื่องบางเรื่องเท่านั้น, พระวินัยธรพึงให้รอมชอมตกลงกัน ให้แสดงโทษล่วงเกินแล้วส่งไปด้วยคำว่า พวกเธอจงอย่าทำอย่างนี้. ก็ถ้าในโจทก์และจำเลยนั้น จำเลยพูดพลั้งพลาดผิดไป, ตั้งแต่ต้น จำเลยยังไม่ชื่อว่าเป็นอลัชชี. และจำเลยนั้นไม่ให้ปฏิญญาเพื่อต้องการรักษาพรรคพวก. พวกมากลุกขึ้นด้วยกล่าวว่า พวกเราไม่เชื่อ พวกเราไม่เชื่อ. จำเลยนั้นจะเป็นผู้บริสุทธิ์ครั้งเดียว หรือ ๒ ครั้ง ตามปฏิญญาของพวกมากนั้นเถิด. แต่ถ้าเธอไม่ตั้งอยู่ในฐาน (เป็นลัชชี) จำเดิมแต่เวลาพูดผิดไป. พึงให้การวินิจฉัย.๑-
____________________________
๑- สารัตถทีปนี ๓/๔๔, มี ปฏิเสธ เป็น วินิจฺฉโย น ทาตพฺโพติ
๑- อลชฺชิภาวาปนฺนตฺตา ทาตพฺโพ แปลว่า ข้อว่า ไม่พึงให้วินิจฉัย คือ
๑- พึงให้วินิจฉัย เพราะถึงความเป็นอลัชชี.

               [ว่าด้วยองค์ของโจทก์และจำเลย]               
               เมื่อเรื่องถูกนำมาเสนอในที่ประชุมท่ามกลางสงฆ์ ด้วยอำนาจแห่งการโจทอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นนี้ พระวินัยธรทราบการปฏิบัติในจำเลยและโจทก์แล้ว พึงทราบวินิจฉัยด้วยสามารถแห่งเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดเป็นต้น เพื่อรู้จักสมบัติและวิบัติแห่งการโจทนั้นนั่นเอง. คืออย่างไร? คือการโจทมีอะไรเป็นเบื้องต้น มีอะไรเป็นท่ามกลาง มีอะไรเป็นที่สุด?
               การขอโอกาสว่า ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวกะท่าน, ขอท่านผู้มีอายุจงกระทำโอกาสให้แก่ข้าพเจ้า ดังนี้ ชื่อว่า เบื้องต้นแห่งการโจท.
               การโจทแล้วให้จำเลยให้การตามวัตถุที่ยกขึ้นบรรยายฟ้องแล้ววินิจฉัย ชื่อว่า ท่ามกลางแห่งการโจท.
               การระงับด้วยให้จำเลยตั้งอยู่ในอาบัติ หรืออนาบัติ ชื่อว่า ที่สุดแห่งการโจท.
               การโจทมีมูลเท่าไร? มีวัตถุเท่าไร? มีภูมิเท่าไร?
               การโจทมีมูล ๒ คือ มูลมีเหตุ ๑ มูลไม่มีเหตุ ๑ (มูลมีมูล ๑ มูลไม่มีมูล ๑).
               มีวัตถุ ๓ คือ ได้เห็น ๑ ได้ยิน ๑ ได้รังเกียจ ๑.
               มีภูมิ ๕ คือจักพูดตามกาล จักไม่พูดโดยกาลไม่ควร ๑ จักพูดตามจริง จักไม่พูดโดยคำไม่จริง ๑ จักพูดด้วยคำอ่อนหวาน จักไม่พูดด้วยคำหยาบ ๑ จักพูดถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่พูดคำที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ จักมีจิตประกอบด้วยเมตตาพูด จักไม่เพ่งโทษพูด ๑.
               ก็ในการโจทนี้ บุคคลผู้เป็นโจทก์ พึงตั้งอยู่ในธรรม ๑๕ อย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในอุบาลีปัญจกะ โดยนัยเป็นต้นว่า เราเป็นผู้มีกายสมาจารบริสุทธิ์หรือหนอแล. ผู้เป็นจำเลย พึงตั้งอยู่ในธรรม ๒ อย่าง คือในความจริง และความไม่โกรธ.
               ข้อว่า อปฺเปว นาม นํ อิมมฺหา พฺรหฺมจริยา จาเวยฺยํ มีความว่า แม้ไฉนแล เราจะพึงให้บุคคลผู้นั้นเคลื่อนจากความประพฤติอันประเสริฐนี้ได้. มีคำอธิบายว่า พึงตามกำจัดด้วยความประสงค์อย่างนี้ว่า พึงเป็นการดีหนอ ถ้าเราพึงให้บุคคลผู้นี้เคลื่อนจากพรหมจรรย์นี้ได้. แต่ในบทภาชนะ ท่านพระอุบาลีกล่าวคำเป็นต้นว่า พึงให้เคลื่อนจากความเป็นภิกษุ เพื่อแสดงเพียงปริยายแห่งคำว่า พึงให้เคลื่อนจากพรหมจรรย์นี้เท่านั้น.
               บททั้งหลายมีขณะเป็นต้น เป็นไวพจน์ของสมัย.
               หลายบทว่า ตํ ขณํ ตํ ลยํ ตํ มหุตฺตํ วีติวตฺเต ได้แก่ เมื่อขณะนั้น เมื่อครู่นั้น เมื่อยามนั้น ล่วงเลยไปแล้ว. จริงอยู่ คำว่า ตํ ขณํ เป็นต้นนี้ เป็นทุติยาวิภัตติ เพื่อเกิดเป็นสัตตมีวิภัตติ (ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ).
               ในสมนุคคาหิยมานนิเทศ ข้อว่า เยน วตฺถุนา อนุทฺธํสิโต โหติ มีความว่า จำเลยถูกโจทก์ตามกำจัด คือข่มเหง ครอบงำด้วยวัตถุใด ในบรรดาวัตถุแห่งปาราชิก ๔.
               ข้อว่า ตสฺมึ วตฺถุสฺมึ สมนุคฺคาหิยมาโน มีความว่า ในเรื่องที่โจทก์กล่าวหานั้น โจทก์นั้นถูกพระวินัยธรผู้ว่าความสอบสวน ไต่สวน คือพิจารณาอยู่โดยนัยเป็นต้นว่า ท่านเห็นอะไร? ท่านเห็นว่าอย่างไร?
               ในอสมนุคคาหิยมานนิเทศ ข้อว่า น เกนจิ วุจฺจมาโน คืออันผู้ว่าความ หรือใครคนใดคนหนึ่ง (ไม่ซักถาม). อีกอย่างหนึ่ง ความว่าไม่ถูกผู้ว่าความสอบถามด้วยบรรดาวัตถุที่ได้เห็นเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               ก็บัณฑิตพึงทราบความสัมพันธ์แห่งบทมาติกาทั้ง ๒ นี้ ด้วยคำว่า ภิกฺขุ จ โทสํ ปติฏฺฐาติ นี้ข้างหน้า. จริงอยู่ มีรูปความที่ท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า ก็แล ภิกษุอันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม อย่างนี้ (เชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม) ยืนยัน อิงอาศัยโทสะ คือปฏิญญา, เป็นสังฆาทิเสส. ก็คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เพื่อแสดงกาลปรากฏแห่งความเป็นอธิกรณ์ไม่มีมูลเท่านั้น. แต่ภิกษุผู้โจทก์ย่อมต้องอาบัติในขณะที่ตนโจทนั่นแล.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำว่า อธิกรณํ นาม เป็นต้น เพื่อจะไม่ตรัสลักษณะอธิกรณ์ไม่มีมูลนั้น แสดงแต่ที่ยังไม่เคยมีเท่านั้น เพราะลักษณะแห่งอธิกรณ์ไม่มีมูล ได้ตรัสไว้แล้วในก่อน ในคำว่า อมูลกญฺเจว ตํ อธิกรณํ โหติ นี้.

               [อธิบายคำว่าอธิกรณ์เป็นต้น]               
               เพราะอธิกรณ์ในคำว่า อธิกรณํ นาม นั้น โดยอรรถ คือเหตุย่อมมีแม้อย่างเดียว ด้วยอำนาจแห่งวัตถุมีต่างๆ กัน เพราะเหตุนั้น เพื่อความแตกต่างกันนั้นแห่งอธิกรณ์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำมีอาทิว่า จตฺตาริ อธิกรณานิ วิวาทาธิกรณํ ดังนี้.
               ถามว่า ก็อธิกรณ์นั่นย่อมเป็นอันเดียว ด้วยอรรถคือเหตุอันใด อรรถคือเหตุอันนั้นเป็นอย่างไร?
               แก้ว่า อรรถ คือ เหตุนั้น คือข้อที่อธิกรณ์เป็นเหตุที่จะพึงกระทำยิ่ง (ระงับ) ด้วยสมถะทั้งหลาย. เพราะเหตุนั้น สมถะทั้งหลายเทียว ปรารภคืออาศัย หมายเอาอธิกิจอันใดเป็นไป, อธิกิจอันนั้นพึงทราบว่า อธิกรณ์. แต่ในอรรถกถาทั้งหลายกล่าวว่า อาจารย์บางพวกกล่าวความยึดถือว่า อธิกรณ์, บางพวกกล่าวเจตนาว่า อธิกรณ์, บางพวกกล่าวความไม่ชอบใจว่า อธิกรณ์, บางพวกกล่าวโวหารว่า อธิกรณ์, บางพวกกล่าวบัญญัติว่า อธิกรณ์.
               พระอรรถกถาจารย์เหล่านั้นวิจารณ์ซ้ำไว้อย่างนี้ว่า ถ้าความยึดถือพึงเป็นอธิกรณ์ไซร้, ภิกษุรูปหนึ่งถือเอาคดีปรึกษากันกับภิกษุผู้เป็นสภาคกัน เห็นโทษในคดีนั้นแล้วสละเสียอีก, อธิกรณ์นั้นของเธอ จักเป็นอันถึงความระงับไป. ถ้าเจตนาพึงเป็นอธิกรณ์ไซร้, เจตนาที่เกิดขึ้นว่า เราจักถือเอาคดีนี้ ย่อมดับไป. ถ้าความไม่ชอบใจพึงเป็นอธิกรณ์ไซร้, ภิกษุแม้ถือเอาคดีด้วยความไม่ชอบใจ ภายหลังไม่ได้ความวินิจฉัย หรือฝ่ายจำเลยขอขมาโทษแล้ว ย่อมสละเสีย. ถ้าโวหารพึงเป็นอธิกรณ์ไซร้, ภิกษุเที่ยวพูดอยู่ ย่อมเป็นผู้นิ่งไม่มีเสียงในภายหลัง, อธิกรณ์นั้นของเธอ จักเป็นอันถึงความระงับด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนั้น บัญญัติจึงจัดเป็นอธิกรณ์.
               แต่คำของพระอรรถกถาทั้งหลายนั้นนี้ แย้งพระบาลีมีอาทิอย่างนี้ว่า เมถุนธรรมปาราชิกาบัติ มีในส่วนนั้นแห่งเมถุนธรรมปาราชิกาบัติ ฯลฯ อาปัตตาธิกรณ์เป็นส่วนนั้น แห่งอาปัตตาธิกรณ์๑- อย่างนี้ และว่า วิวาทาธิกรณ์ เป็นกุศลก็มี เป็นอัพยากฤตก็มี๒- ดังนี้.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๕๖๘
๒- วิ. จุลฺล. เล่ม ๖/ข้อ ๖๕๐

               อันที่จริง พระอรรถกถาจารย์เหล่านั้นมิได้ประสงค์ข้อที่บัญญัติเป็นกุศลเป็นต้น. และธรรมคือปาราชิก ที่มาในคำว่า อมูลเกน ปาราชิเกน ธมฺเมน นี้ จะได้ชื่อว่าเป็นบัญญัติ หามิได้. เพราะเหตุไร? เพราะเป็นอกุศลโดยส่วนเดียว.
               จริงอยู่ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสคำนี้แล้วว่า อาปัตตาธิกรณ์เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากฤตก็มี. และปาราชิกไม่มีมูลนั่นใดที่ทรงนิเทศไว้ในพระบาลีนี้ว่า อมูลเกน ปาราชิเกน ดังนี้. พระบาลีว่า อมูลกญฺเจว ตํ อธิกรณํ โหติ นี้ เป็นปฏินิเทศแห่งปาราชิกไม่มีมูลนั้นนั่นแล ไม่ใช่แห่งบัญญัติ. แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าจะได้ทรงนิเทศปาราชิกอื่น แล้วทรงปฏินิเทศปาราชิกอื่น หามิได้. แต่บุคคลนั้นถูกโจทก์ตราเอาว่า ล่วงธรรมคือปาราชิก ด้วยบัญญัติใด คือด้วยข้อหาอันใด, บัญญัติแม้นั้น จัดว่าไม่มีมูล ก็เพราะอธิกรณ์กล่าวคือปาราชิก เป็นของไม่มีมูล, แต่จัดเป็นอธิกรณ์ ก็เพราะบัญญัตินั้นเป็นไปในอธิกรณ์ เพราะเหตุนั้น คำว่า บัญญัติเป็นอธิกรณ์ ควรถูก โดยบรรยายนี้. แต่อธิกรณ์ที่จัดว่าไม่มีมูล ย่อมไม่มีโดยปกติของตน, จะมีได้ก็สักว่าบัญญัติเท่านั้น. แม้เพราะเหตุนั้น คำว่า บัญญัติจัดเป็นอธิกรณ์ ก็ควรจะถูก.
               ก็แล ข้อที่บัญญัติจัดเป็นอธิกรณ์ โดยบรรยายดังกล่าวมานั้น ย่อมถูกในสิกขาบทนี้เท่านั้น ไม่ถูกทุกๆ สิกขาบท. จริงอยู่ การบัญญัติอธิกรณ์มีวิวาทาธิกรณ์เป็นต้น ไม่ใช่อรรถ คือเหตุ. แต่อรรถ คือเหตุ ก็ได้แก่ข้อที่อธิกรณ์เหล่านั้น เป็นเหตุที่จะพึงกระทำยิ่ง (ระงับ) ด้วยสมถะทั้งหลายดังกล่าวแล้วในหนหลัง. ด้วยอรรถ คือเหตุนี้อย่างกล่าวมานี้ วิวาทบางอย่างในโลกนี้ เป็นวิวาทด้วย เป็นอธิกรณ์ด้วย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า วิวาทาธิกรณ์.
               ในอธิกรณ์ที่เหลือ ก็นัยนี้.
               บรรดาอธิกรณ์ ๔ มีวิวาทาธิกรณ์เป็นต้นนั้น วิวาทที่อาศัยเภทกรวัตถุ ๑๘ อย่าง เกิดขึ้นอย่างนี้ คือพวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ วิวาทกันว่า เป็นธรรม หรือว่า ไม่ใช่ธรรม ชื่อว่า วิวาทาธิกรณ์.
               การกล่าวหากันอาศัยวิบัติ ๔ เกิดขึ้นอย่างนี้ คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมกล่าวหาภิกษุด้วยศีลวิบัติบ้าง ชื่อว่า อนุวาทากรณ์.
               เฉพาะอาบัติเท่านั้นชื่อว่า อาปัตตาธิกรณ์ อย่างนี้คือ กองอาบัติทั้ง ๕ ชื่อว่า อาปัตตาธิกรณ์. กองอาบัติทั้ง ๗ ชื่อว่า อาปัตตาธิกรณ์.
               ความเป็นกิจของสงฆ์ คือความเป็นกิจอันสงฆ์ต้องทำ ได้แก่ สังฆกิจ ๔ อย่างนี้คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรมและญัตติจตุตถกรรม พึงทราบว่า กิจจาธิกรณ์.
               แต่ในอรรถนี้ประสงค์เอาอาปัตตาธิกรณ์ กล่าวคืออาบัติปาราชิกเท่านั้น. อธิกรณ์ที่เหลือมีวิวาทาธิกรณ์เป็นต้น ท่านกล่าวไว้ ด้วยอำนาจแห่งการขยายความ. แท้จริง อรรถแห่งศัพท์ว่าอธิกรณ์ มีเท่านี้. ในอรรถเหล่านั้น ปาราชิกเท่านั้นประสงค์เอาในอธิการนี้. ปาราชิกนั้นเป็นอธิกรณ์ไม่มีมูล ด้วยมูลมีการได้เห็นเป็นต้นนั่นแล. และภิกษุนี้ยืนยันอิงอาศัยโทสะ คือเมื่อกล่าวคำเป็นต้นว่า ข้าพเจ้าพูดเล่นเปล่าๆ ชื่อว่าย่อมปฏิญญา. เป็นสังฆาทิเสสแก่ภิกษุนั้นในขณะที่ตนโจทนั่นเองแล. นี้เป็นใจความแห่งสิกขาบทนั้นซึ่งมีนิเทศ (การขยาย) ตามลำดับแห่งบทก่อน.

               [แก้อรรถบทภาชนีย์]               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงยกอาบัติขึ้นแสดงโดยพิสดารด้วยสามารถแห่งเรื่องของการโจท มีเรื่องที่ไม่ได้เห็นเป็นต้น ที่ตรัสไว้โดยสังเขปแล้วนั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า อทิฏฺฐสฺส โหติ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น คำว่า อทิฏฺฐสฺส โหติ ได้แก่ (จำเลย) เป็นผู้อันโจทก์นั้นมิได้เห็น. อธิบายว่า บุคคลผู้ต้องธรรมถึงปาราชิกนั้น เป็นผู้อันโจทก์นี้มิได้เห็น. แม้ในบทว่า อสฺสุตสฺส โหติ เป็นต้นก็มีนัยเหมือนกันนี้.
               สองบทว่า ทิฎฺโฐ มยา มีคำอธิบายว่า ท่านเป็นผู้อันเราเห็นแล้ว. แม้ในบทว่า สุโต มยา เป็นต้นก็มีนัยอย่างนี้. บทที่เหลือในอธิกรณ์มีเรื่องที่ไม่ได้เห็นเป็นมูลชัดเจนทีเดียว. ส่วนในอธิกรณ์ที่มีมูลด้วยเรื่องที่ได้เห็น พึงทราบความเป็นอธิกรณ์ไม่มีมูล เพราะความไม่มีแห่งมูล มีเรื่องที่ได้ยินเป็นต้น ที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า ถ้าโจทก์โจทภิกษุนั้นว่า ข้าพเจ้าได้ยิน เป็นต้น.
               ก็ในวาระของโจทก์นี้ทั้งหมดนั่นแล ย่อมเป็นสังฆาทิเสสเหมือนกันทุกๆ คำพูด ด้วยอำนาจแห่งคำพูดคำหนึ่งๆ ในบรรดาคำเหล่านี้อันมา แล้วในที่อื่นว่า ท่านเป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลว มีสมาจารอันไม่สะอาด น่ารังเกียจ มีการงานอันซ่อนเร้น มิใช่สมณะ ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ มิใช่พรหมจารี ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เป็นผู้เน่าใน มีราคะชุม เกิดเป็นเพียงหยากเยื่อ เหมือนเป็นสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด ด้วยอำนาจคำหนึ่งๆ ในบรรดาคำเหล่านี้อันมาแล้วในสิกขาบทนี้ว่า ท่านเป็นผู้ต้องปาราชิก เป็นผู้มิใช่สมณะ ไม่ใช่เหล่ากอแห่งศากยบุตรฉะนั้น.
               ก็คำล้วนๆ เหล่านี้ว่า อุโบสถ หรือปวารณา หรือสังฆกรรมร่วมกับท่าน ย่อมไม่มี ยังไม่ถึงที่สุดก่อน. แต่คำพูดที่เชื่อมต่อกับบทใดบทหนึ่งแล้วเท่านั้น บรรดาบทว่าทุศีลเป็นต้นอย่างนี้ว่า ท่านเป็นผู้ทุศีล อุโบสถก็ดี ร่วมกับท่านไม่มี และบรรดาบทว่า ท่านต้องธรรมถึงปาราชิกเป็นต้น ย่อมถึงที่สุด คือทำให้เป็นสังฆาทิเสส.
               แต่พระมหาปทุมเถระกล่าวว่า เฉพาะบทเป็นต้นว่า เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลว อย่างเดียว ซึ่งมิได้มาในบาลีในสิกขาบทนี้ ยังไม่ถึงที่สุด, แม้บทเหล่านี้คือ ท่านเป็นคนชั่ว ท่านเป็นสามเณรโค่ง ท่านเป็นมหาอุบาสก ท่านเป็นผู้ประกอบวัตรแห่งเจ้าแม่กลีเทพีผู้ประเสริฐ ท่านเป็นนิครนถ์ ท่านเป็นอาชีวก ท่านเป็นดาบส ท่านเป็นปริพาชก ท่านเป็นบัณเฑาะก์ ท่านเป็นเถยยสังวาส ท่านเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์ ท่านเป็นดิรัจฉาน ท่านเป็นผู้ฆ่ามารดา ท่านเป็นผู้ฆ่าบิดา ท่านเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์ ท่านเป็นผู้ทำสังฆเภท ท่านเป็นผู้ทำโลหิตุปบาท ท่านเป็นภิกขุนีทูสกะ ท่านเป็นคนสองเพศ ย่อมถึงที่สุดทีเดียว.
               และพระมหาปทุมเถระอีกนั่นแหละ กล่าวในบทว่า ทิฏฺเฐ เวมติโก เป็นต้นว่า เป็นผู้เคลือบแคลงด้วยส่วนใด ย่อมไม่เชื่อด้วยส่วนนั้น, ไม่เชื่อด้วยส่วนใด ย่อมระลึกไม่ได้โดยส่วนนั้น, ระลึกไม่ได้โดยส่วนใด ย่อมเป็นผู้หลงลืมโดยส่วนนั้น.
               ฝ่ายมหาสุมเถระแยกบทหนึ่งๆ ออกเป็น ๒ บท แล้วแสดงนัยเฉพาะอย่างแห่งบทแม้ทั้ง ๔. คืออย่างไร?
               คือพึงทราบนัยว่า ทิฏฺเฐ เวมติโก นี้ก่อน, ภิกษุเป็นผู้สงสัยในการเห็นบ้าง, ในบุคคลบ้าง, บรรดาการเห็นและบุคคลนั้น ย่อมเป็นผู้สงสัยในการเห็นอย่างนี้ว่า เป็นบุคคลที่เราเห็น หรือไม่ใช่คนที่เราเห็น, เป็นผู้มีความสงสัยในบุคคลอย่างนี้ว่า คนนี้แน่หรือที่เราเห็นหรือคนอื่น. ย่อมไม่เชื่อการเห็นบ้าง บุคคลบ้าง, ย่อมระลึกไม่ได้ซึ่งการเห็นบ้าง บุคคลบ้าง, ย่อมเป็นผู้ลืมการเห็นบ้าง บุคคลบ้าง ด้วยประการอย่างนี้.
               ก็บรรดาบทเหล่านี้ บทว่า เวมติโก ได้แก่ เกิดความสงสัย.
               สองบทว่า โน กปฺเปติ ได้แก่ ย่อมไม่เชื่อ.
               บทว่า น สรติ มีความว่า เมื่อคนอื่นไม่เตือน ก็ระลึกไม่ได้. แต่เมื่อใด คนเหล่าอื่นเตือนเธอให้ระลึกว่า ในสถานที่ชื่อโน้น ขอรับ ในเวลาโน้น เมื่อนั้น จึงระลึกได้.
               บทว่า ปมุฏฺโฐ มีความว่า บุคคลผู้แม้ซึ่งคนอื่นเตือนให้ระลึกอยู่โดยอุบายนั้นๆ ก็ระลึกไม่ได้เลย. แม้วาระแห่งบุคคลผู้ให้โจท ก็พึงทราบโดยอุบายนี้. ก็ในโจทาปกวารนั้น ลดบทว่า มยา ออกอย่างเดียว. บทที่เหลือ ก็เช่นเดียวกับโจทกวารนั่นแล.
               ต่อจากโจทาปกวารนั้น เพื่อแสดงชนิดแห่งอาบัติ และชนิดแห่งอนาบัติ จึงทรงตั้งจตุกกะว่า อสุทฺเธ สุทฺธทิฏฺฐิ เป็นต้นแล้วทรงแสดงขยายแต่ละบทออกไป ตามชนิดอย่างละ ๔ ชนิด. จตุกกะทั้งหมดนั้น ผู้ศึกษาอาจจะรู้ได้ตามนัยแห่งพระบาลีนั่นแล. ก็ในการโจทนี้ พึงทราบความต่างกันแห่งความประสงค์อย่างเดียว.
               จริงอยู่ ธรรมดาว่า ความประสงค์นี้มีมากอย่าง คือ ความประสงค์ในอันให้เคลื่อน ความประสงค์ในการด่า ความประสงค์ในการงาน ความประสงค์ในการออก (จากอาบัติ) ความประสงค์ในการพักอุโบสถและปวารณา ความประสงค์ในการสอบสวน ความประสงค์ในการกล่าวธรรม.
               บรรดาความประสงค์เหล่านั้น ในความประสงค์ ๔ อย่างข้างต้น เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้ไม่ให้กระทำโอกาส, และเป็นสังฆาทิเสส แม้แก่ภิกษุผู้ให้กระทำโอกาส แล้วตามกำจัด (โจท) ด้วยปาราชิกอันไม่มีมูลซึ่งๆ หน้า, เป็นปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้ตามกำจัด (โจท) ด้วยสังฆาทิเสสไม่มีมูล, เป็นทุกกฏ แก่ภิกษุผู้ตามกำจัดด้วยอาจารวิบัติ, เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้กล่าวด้วยประสงค์จะด่า, เป็นทุกกฏ แก่ภิกษุผู้กล่าวด้วยกองอาบัติแม้ทั้ง ๗ กอง ในที่ลับหลัง, เป็นทุกกฏอย่างเดียวแก่ภิกษุผู้กระทำกรรมทั้ง ๗ อย่าง เฉพาะในที่ลับหลัง.
               ส่วนในกุรุนที ท่านกล่าวว่า กิจด้วยการขอโอกาส ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้กล่าวว่า ท่านต้องอาบัติชื่อนี้ จงกระทำคืนอาบัตินั้นเสีย โดยความประสงค์จะให้ออกจากอาบัติ. ในอรรถกถาทุกๆ อรรถกถาทีเดียว ไม่มีการขอโอกาสสำหรับภิกษุผู้พักอุโบสถและปวารณา.
               แต่พึงรู้เขตแห่งการพัก ดังนี้ :-
               ก็เมื่อสวดยังไม่เลย เร อักษร นี้ว่า สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ อชฺชุโปสโถ ปณฺณรโส ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ สงฺโฆ อุโปสถํ กเร ดังนี้ ไป ย่อมได้เพื่อจะพัก. แต่ถัดจากนั้นไป เมื่อถึง อักษรแล้ว ย่อมไม่ได้เพื่อพัก. ในปวารณาก็มีนัยอย่างนี้.
               โอกาสกรรม ย่อมไม่มี แม้แก่ภิกษุผู้สอบสวนในเมื่อเรื่องถูกนำเข้าเสนอแล้ว กล่าวอยู่ด้วยประสงค์จะสอบสวนว่า เรื่องอย่างนี้มีแก่ท่านหรือ? แม้สำหรับพระธรรมกถึกผู้นั่งอยู่บนธรรมาสน์กล่าวธรรมไม่เจาะจง โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุใดกระทำอย่างนี้และนี้, ภิกษุนี้มิใช่สมณะ ดังนี้ ก็ไม่ต้องมีการขอโอกาส. แต่ทว่ากล่าวเจาะจงกำหนดว่า ผู้โน้นๆ มิใช่สมณะ มิใช่อุบาสก ดังนี้ ลงจากธรรมาสน์แล้วควรแสดงอาบัติก่อนจึงไป.
               อนึ่ง พึงทราบใจความแห่งคำที่ท่านกล่าวไว้ในที่นั้นๆ ว่า อโนกาสํ กาเรตฺวา อย่างนี้ว่า โอกาสํ อกาเรตฺวา แปลว่า ไม่ให้กระทำโอกาส.
               จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่าโอกาส ไม่สมควรบางโอกาส ที่โจทก์ให้ทำโอกาสแล้ว ยังต้องอาบัติจะไม่มี หามิได้, แต่โจทก์ไม่ให้จำเลยทำโอกาสจึงต้องอาบัติฉะนี้แล.
               คำที่เหลือตื้นทั้งนั้น.
               บรรดาสมุฏฐานเป็นต้น สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑ ทางวาจากับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา สัญญาวิโมกข์ สจิตตกะ โลกวัชชะ กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต เป็นทุกขเวทนา ฉะนี้แล.

               ปฐมทุฏฐโทสสิกขาบทวรรณนา จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา เตรสกัณฑ์ สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๘ จบ.
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 521อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 538อ่านอรรถกถา 1 / 564อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=17310&Z=17840
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=1609
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=1609
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :