ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 57อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 67อ่านอรรถกถา 10 / 163อ่านอรรถกถา 10 / 301
อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
มหาปรินิพพานสูตร

หน้าต่างที่ ๕ / ๕.

               ตถาคตปจฺฉิมวาจาวณฺณนา               
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงการประทานพระโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ ที่ทรงเริ่มไว้นั้น จึงกล่าวคำว่า อถ โข ภควา เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เทสิโต ปญฺญตฺโต ความว่า ทั้งธรรมก็ทรงแสดงแล้วบัญญัติแล้ว ทั้งวินัยก็ทรงแสดงบัญญัติแล้ว. อธิบายว่า ชื่อว่าทรงบัญญัติ ได้แก่ทรงแต่งตั้งแล้ว.
               บทว่า โส โว มมจฺจเยน ได้แก่ ธรรมและวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลายโดยที่เราล่วงไป.
               จริงอยู่ เรายังเป็นอยู่นี้แลแสดงอุภโตวิภังควินัย พร้อมทั้งขันธกบริวารแก่เธอทั้งหลาย ในวัตถุที่จัดไว้ด้วยอำนาจกองอาบัติทั้ง ๗ ว่า นี้อาบัติเบา นี้อาบัติหนัก นี้อาบัติที่แก้ไขได้ นี้อาบัติที่แก้ไขไม่ได้ นี้อาบัติที่เป็นโลกวัชชะ นี้เป็นบัณณัติวัชชะ นี้อาบัติออกได้ในสำนักบุคคล นี้อาบัติออกได้ในสำนักคณะ นี้อาบัติออกได้ในสำนักสงฆ์. วินัยปิฏกแม้ทั้งสิ้นนั้น เมื่อเราปรินิพพานแล้วจักทำกิจของศาสดาของพวกท่านให้สำเร็จ.
               อนึ่ง เรายังเป็นอยู่นี้แหละ ก็จำแนกแยกแยะธรรมเหล่านี้ แสดงสุตตันตปิฏกด้วยอาการนั้นว่า เหล่านี้สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ สุตตันตปิฏกแม้ทั้งสิ้นนั้นจักทำกิจแห่งศาสดาของท่านทั้งหลายให้สำเร็จ.
               อนึ่ง เรายังดำรงอยู่นี้แหละ จำแนกแยกแยะธรรมเหล่านี้ คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ สัจจะ ๔ อินทรีย์ ๒๒ เหตุ ๙ อาหาร ๔ ผัสสะ ๗ เวทนา ๗ สัญญา ๗ สัญเจตนา ๗ จิตต์ ๗ แม้ในจิตต์นั้น ธรรมเท่านี้เป็นกามาวจร เท่านี้เป็นรูปาวจร เท่านี้เป็นอรูปาวจร เท่านี้เป็นธรรมเนื่องกัน เท่านี้เป็นธรรมไม่เนื่องกัน เท่านี้เป็นโลกิยะ เท่านี้เป็นโลกุตตระ แล้วแสดงอภิธรรมปิฏก เป็นสมันตปัฏฐาน ๒๔ ประดับมหาปัฏฐานอนันตนัย อภิธรรมปิฏกแม้ทั้งสิ้น เมื่อเราปรินิพพานแล้ว จักทำกิจแห่งศาสดาของเธอทั้งหลายให้สำเร็จ.
               อนึ่ง พระพุทธวจนะนี้ทั้งหมดที่เราภาษิตแล้ว กล่าวแล้ว ตั้งแต่ตรัสรู้จนถึงปรินิพพานมีมากประเภทอย่างนี้ คือ ปิฏก ๓ นิกาย ๕ องค์ ๙ แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์. พระธรรมขันธ์แปดหมื่นสี่พันเหล่านี้ดำรงอยู่ด้วยประการฉะนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงเหตุเป็นอันมากอย่างนี้ว่า เราจักปรินิพพานผู้เดียว อนึ่ง เราบัดนี้ก็โอวาทสั่งสอนผู้เดียวเหมือนกัน เมื่อเราปรินิพพานแล้ว พระธรรมขันธ์แปดหมื่นสี่พันเหล่านี้ก็จักโอวาทสั่งสอนท่านทั้งหลาย ทรงโอวาทว่า ธรรมวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย เมื่อเราล่วงไป แล้วเมื่อทรงย้ำแสดงจารีตในอนาคตกาล จึงตรัสว่า ยถา โข ปน เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมุทาจรนฺติ ได้แก่ ย่อมกล่าวย่อมร้องเรียก.
               บทว่า นาเมน วา โคตฺเตน วา ได้แก่ นวกะพึงร้องเรียกโดยชื่ออย่างนี้ว่า ติสสะ นาคะ หรือโดยโคตรอย่างนี้ว่า กัสสปโคตร หรือโดยวาทะว่า อาวุโส อย่างนี้ว่า อาวุโสติสสะ อาวุโสกัสปะ.
               บทว่า ภนฺเตติวา อายสฺมาติวา ได้แก่ พึงเรียกอย่างนี้ว่า ภนฺเต ติสสะ อายฺสมา ติสสะ.
               บทว่า สมูหนตุ ได้แก่ เมื่อจำนงอยู่ จงถอน. อธิบายว่า ผิว่าปรารถนา ก็พึงถอนเสีย.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสโดยส่วนเดียวว่า จงถอนเสีย แต่ตรัสด้วยคำเป็นวิกัป.
               ตอบว่า เพราะทรงเห็นกำลังของมหากัสสปะ. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงเห็นว่า เมื่อตรัสว่า จงถอนเสีย พระมหากัสสปะจักไม่ถอนในเวลาทำสังคายนา เพราะฉะนั้น จึงตรัสไว้ด้วยคำเป็นวิกัป นั่นแล. เรื่องเล็กๆ น้อยๆ มาในปัญจสติกสังคีติโดยนัยเป็นต้นว่า บรรดาพระเถระเหล่านั้น พระเถระบางเหล่ากล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เสีย นอกนั้นก็เป็นอาบัติเล็กน้อยๆ. ก็การวินิจฉัยในเรื่องอาบัติเล็กๆ น้อยๆ นี้กล่าวไว้แล้วในอรรถกถาชื่อสมันตปาสาทิกา.
               ก็อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระนาคเสนรู้จักอาบัติเล็กๆ น้อย เพราะถูกพระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ท่านพระนาคเสน อาบัติเล็กเป็นอย่างไร อาบัติน้อยเป็นอย่างไร? ทูลตอบว่า มหาบพิตร ทุกกฎเป็นอาบัติเล็ก ทุพภาษิตเป็นอาบัติน้อย.
               ส่วนพระมหากัสสปเถระ เมื่อไม่รู้อาบัติเล็ก อาบัติน้อยนั้น จึงประกาศว่า
               ผู้มีอายุทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สิกขาบททั้งหลายของพวกเราที่เป็นส่วนของคฤหัสถ์ก็มีอยู่ แม้คฤหัสถ์ทั้งหลายก็รู้ว่า ข้อนี้ควรแก่ท่านทั้งหลายที่เป็นสมณสักยบุตร ข้อนี้ไม่ควรแก่ท่านทั้งหลายที่เป็นสมณสักยบุตร ถ้าเราจะถอนสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ เสีย ผู้คนทั้งหลายก็จักว่ากล่าวเอาได้ว่า สิกขาบทที่พระสมณโคดมบัญญัติเอาไว้แก่สาวกทั้งหลายอยู่ได้ชั่วควันไฟ สาวกเหล่านี้ศึกษาในสิกขาบททั้งหลายตราบเท่าที่ศาสดายังดำรงอยู่ เพราะศาสดาของสาวกเหล่านี้ปรินิพพานเสียแล้ว สงฆ์ไม่พึงบัญญัติในข้อที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนในข้อที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว พึงสมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว นี้เป็นญัตติ. ท่านประกาศกรรมวาจาดังกล่าวมานี้.
               ข้อนั้นไม่ควรถืออย่างนี้ ก็ท่านพระนาคเสนกล่าวไว้อย่างนั้น ด้วยประสงค์จะไม่ให้ปรวาที (ฝ่ายตรงกันข้าม) มีโอกาส. ท่านพระมหากัสสปเถระประกาศกรรมวาจานี้ก็ด้วยประสงค์จะไม่เพิกถอนอาบัติเล็กๆ น้อยๆ แล. แม้เรื่องพรหมทัณฑ์ ท่านก็วินิจฉัยไว้แล้วในอรรถกถาวินัยชื่อสมันตปาสาทิกา เพราะมาแล้วในบาลีสังคีติ.
               บทว่า กงฺขา คือ ทางสองแพร่ง. บทว่า วิมติ คือ ไม่สามารถจะวินิจฉัยได้.
               ความสังเขปในข้อนี้อย่างนี้ว่า
               ผู้ใดพึงบังเกิดความสงสัยว่า เป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ใช่พระพุทธเจ้าหนอ เป็นพระธรรมหรือไม่ใช่พระธรรมหนอ เป็นพระสงฆ์หรือไม่ใช่พระสงฆ์หนอ เป็นมรรคหรือมิใช่มรรคหนอ เป็นปฏิปทาหรือไม่ใช่ปฏิปทาหนอ เราจะกล่าวข้อนั้นแก่เธอทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงถามดังนี้.
               บทว่า สตฺถุคารเวนาปิ น ปุจฺเฉยฺยาถ ความว่า ถ้าพวกเธอไม่ถามด้วยความเคารพในศาสดาอย่างนี้ว่า พวกเราบวชในสำนักของพระศาสดา แม้ปัจจัย ๔ ก็เป็นของพระศาสดาของพวกเราเหล่านั้น ก็ไม่ควรจะทำความสงสัยตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ในวันนี้ ไม่ควรจะทำความสงสัยในกาลภาคหลัง.
               บทว่า สหายโกปิ ภิกฺขเว สหายกสฺส อาโรเจตุ ทรงแสดงว่า บรรดาท่านทั้งหลาย ผู้ใดเห็นคบกันแล้วกับภิกษุใด ผู้นั้นจงบอกภิกษุนั้นว่า ข้าพเจ้าจะบอกแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ท่านทั้งหลายฟังคำภิกษุนั้นแล้วจักหมดความสงสัยทุกรูป.
               บทว่า เอวํปสนฺโน ความว่า ข้าพเจ้าเชื่ออย่างนี้.
               บทว่า ญาณเมว ความว่า กระทำความเป็นผู้หมดความสงสัยให้ประจักษ์ ชื่อว่าความรู้นั่นแลของตถาคตในข้อนี้ มิใช่เพียงความเชื่อ.
               บทว่า อิเมสญฺหิ อานนฺท ความว่า บรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูป ที่นั่งอยู่ภายในม่านเหล่านี้.
               บทว่า โย ปจฺฉิมโก ความว่า ภิกษุใดต่ำสุดโดยคุณ.
               ท่านกล่าวหมายถึง พระอานนท์เถระเท่านั้น.
               บทว่า อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ ความว่า จงยังกิจทั้งปวงให้สำเร็จด้วยความไม่ไปปราศจากสติ. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรทมที่เตียงปรินิพพาน ประทานพระโอวาทที่ประทานมา ๔๕ พรรษา รวมลงในบท คือความไม่ประมาทอย่างเดียวเท่านั้น.
               ก็คำนี้ว่า ปจฺฉิม วาจา เป็นคำของพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย.

               ปรินิพฺพุตกถาวณฺณนา               
               ต่อแต่นี้ไป เพื่อจะแสดงข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำบริกรรมในพระปรินิพพาน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อถ โข ภควา ปฐมชฺฌานํ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปรินิพฺพุโต ภนฺเต ความว่า ท่านพระอานนท์เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้านิโรธสมาบัติไม่มีอัสสาสปัสสาสะ จึงถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้วหรือ.
               ท่านพระอนุรุทธตอบว่า ยัง ผู้มีอายุ. พระเถระทราบเรื่อง.
               ได้ยินว่า พระเถระเข้าสมาบัตินั้นๆ พร้อมกับพระศาสดานั่นแล จึงรู้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วดำเนินไป บัดนี้ เข้านิโรธสมาบัติ ชื่อว่าการทำกาละในภายในนิโรธสมาบัติไม่มี.
               ในพระบาลีนี้ว่า ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ฯลฯ ออกจากตติยฌาน เข้าจตุตถฌาน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าปฐมฌานในฐานะ ๒๔ ทุติยฌานในฐานะ ๑๓ ตติยฌานก็เหมือนกัน เข้าจตุตถฌานในฐานะ ๑๕.
               เข้าอย่างไร.
               คือ เข้าปฐมฌานในฐานะ ๒๔ เหล่านี้ มีอสุภะ ๑๐ อาการ ๓๒ กสิณ ๘ เมตตา กรุณา มุทิตา อานาปานสติปริจเฉทากาส เป็นต้น. แต่เว้นอาการ ๓๒ และอสุภะ ๑๐ เข้าทุติยฌานในฐานะที่เหลือ ๑๓ และเข้าตติยฌานในฐานะ ๑๓ นั้นเหมือนกัน.
               อนึ่ง เข้าจตุตถฌานในฐานะ ๑๕ เหล่านี้ คือกสิณ ๘ อุเบกขาพรหมวิหาร อานาปานสติ ปริจเฉทากาส อรูป ๔. กล่าวโดยสังเขปเท่านี้.
               แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ธรรมสามี เสด็จเข้าพระนครคือปรินิพพาน เสด็จเข้าสมาบัติทั้งหมดนับได้ยี่สิบสี่แสนโกฏิ แล้วเข้าเสวยสุขในสมาบัติทั้งหมด เหมือนคนไปต่างประเทศ กอดคนที่เป็นญาติฉะนั้น.
               ในคำนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากจตุตถฌานในลำดับมา เสด็จปรินิพพาน คือ ในลำดับทั้ง ๒ คือ ในลำดับแห่งฌาน ในลำดับแห่งปัจจเวกขณญาณ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากฌานแล้ว หยั่งลงสู่ภวังค์ แล้วปรินิพพานในระหว่างนั้น ชื่อว่าระหว่างฌาน ในลำดับ ๒ นั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากฌานแล้ว พิจารณาองค์ฌานอีก หยั่งลงสู่ภวังค์ แล้วปรินิพพานในระหว่างนั้นนั่นแหละ ชื่อว่าระหว่างปัจจเวกขณญาณ. แม้ทั้ง ๒ นี้ก็ชื่อว่าระหว่างทั้งนั้น. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าฌานเสด็จออกจากฌาน พิจารณาองค์ฌานแล้วปรินิพพานด้วยภวังคจิต เป็นอัพยากฤตเป็นทุกขสัจจะ. สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่ว่าพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก อย่างต่ำมดดำมดแดง ต้องกระทำกาละด้วยภวังคจิตที่เป็นอัพยากฤต เป็นทุกขสัจทั้งนั้นแล.
               เรื่องแผ่นดินใหญ่ไหวเป็นต้น มีนัยดังกล่าวไว้แล้วแล.
               บทว่า ภูตา ได้แก่ สัตว์ทั้งหลาย.
               บทว่า อปฺปฏิปุคฺคโล ได้แก่ ปราศจากบุคคลที่เปรียบเทียบได้.
               บทว่า พลปฺปตฺโต คือ ผู้ถึงพลญาณ ๑๐.
               บทว่า อุปฺปาทวยธมฺมิโน ได้แก่ มีอันเกิดและดับเป็นสภาวะ.
               บทว่า เตสํ วูปสโม ความว่า ความระงับสังขารเหล่านั้น ก็คือพระนิพพานอันไม่มีปัจจัยปรุงแต่งแท้จริง เป็นสุข.
               บทว่า นาหุ อสฺสาสปสฺสาโส คือ ไม่เกิดอัสสาสปัสสาสะ.
               บทว่า อเนโช ชื่อว่า อเนชะ เพราะไม่มีกิเลสเป็นเครื่องไหว คือตัณหา.
               บทว่า สนฺติมารพฺภ ได้แก่ ปรารภอาศัยหมายเอาอนุปาทิเสสนิพพาน.
               บทว่า ยํ กาลมกริ ผู้ใดได้กระทำกาละ.
               ท่านอธิบายว่า ผู้มีอายุ พระพุทธมุนีคือศาสดาของเราพระองค์ใด ทรงปรารภสันติว่า เราจักถึงสันติได้ทรงทำกาละแล้ว บัดนี้ พระพุทธมุนีพระองค์นั้นมีจิตตั้งมั่นคงที่ ไม่เกิดอัสสาสปัสสาสะ คือไม่มีไม่เป็นไป.
               บทว่า อสลฺลีเนน คือ ด้วยจิตไม่หดหู่ เบิกบานดีแล้วแล.
               บทว่า เวทนํ อชฺฌาวสยิ ทรงอดกลั้นเวทนาแล้ว คือไม่กระสับกระส่าย เป็นไปตามอำนาจของเวทนา.
               บทว่า วิโมกฺโข ได้แก่ หลุดพ้นไม่ติดขัดด้วยธรรมอะไรๆ ถึงความไม่มีบัญญัติ โดยประการทั้งปวง เป็นเช่นเดียวกับความดับของไฟที่โพลงแล้ว.
               ท่านกล่าวว่า ตทาสิ หมายเอาแผ่นดินไหวที่ท่านกล่าวไว้ในหนหลังอย่างนี้ว่า แผ่นดินใหญ่ไหวพร้อมกับปรินิพพาน.
               จริงอยู่ ความไหวแห่งแผ่นดินนั้นทำให้เกิดขนลุกและน่าสะพรึงกลัว.
               บทว่า สพฺพาการวรูเปเต แปลว่า เข้าถึงเหตุอันประเสริฐทั้งปวง.
               บทว่า อวีตราคา ได้แก่ ปุถุชน พระโสดาบันและพระสกทาคามี.
               จริงอยู่ ปุถุชน พระโสดาบันและพระสกทาคามีเหล่านั้นยังละโทมนัสไม่ได้. เพราะฉะนั้น ท่านแม้เหล่านั้นประคองแขนทั้งสองคร่ำครวญ วางมือทั้งสองไว้เหนือศีรษะร้องไห้. เรื่องทั้งหมดพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแหละ.
               บทว่า อุชฺฌายนฺติ คือ เทวดายกโทษกล่าวอยู่ว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่อาจอดกลั้นแม้ด้วยตนเองได้ จักปลอบโยนชนที่เหลือได้อย่างไร.
               บทว่า กถํ ภูตา ปน ภนฺเต อนุรุทฺธ ความว่า ท่านผู้เจริญ พวกเทวดาเป็นอย่างไร.
               พระอนุรุทธะกำหนดว่า เทวดาเหล่านั้นจะยับยั้งการปรินิพพานของพระศาสดาได้หรือ. ต่อมา เพื่อจะแสดงความเป็นไปของเทวดาเหล่านั้น พระเถระจึงกล่าวว่า สนฺตาวุโส เป็นต้น. คำนั้นมีข้อความที่กล่าวไว้แล้วทั้งนั้น.
               บทว่า รตฺตาวเสสํ คือ ราตรีที่ยังเหลือระยะเวลาเล็กน้อย เพราะปรินิพพานในเวลาใกล้รุ่ง.
               บทว่า ธมฺมิยา กถาย คือ ไม่มีธรรมกถาที่แยกออกไปเป็นอย่างอื่น.
               แต่ว่า พระเถระเจ้าทั้งสองยังเวลาให้ล่วงไปด้วยกถาที่เกี่ยวด้วยมรณะเห็นปานนี้ว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระยามัจจุราชนี้ไม่ละอายต่อพระศาสดาผู้ไม่มีบุคคลเปรียบในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ก็จะป่วยกล่าวไปใยว่าจะละอายต่อโลกิยมหาชน.
               ก็เมื่อพระเถระทั้งสองกล่าวกถาอยู่นั้น อรุณก็ขึ้นโดยครู่เดียวเท่านั้น.
               บทว่า อถโข ความว่า เมื่ออรุณขึ้น พระเถระก็กล่าวต่อพระเถระ.
               บทว่า เตน กรณีเยน ความว่า กรณียะอันใดอย่างนี้ คือจะพึงจัดสักการะมีดอกไม้และของหอมเป็นต้น ในที่ปรินิพพานเช่นไรหนอ. จะพึงจัดที่นั่งสำหรับภิกษุสงฆ์เช่นไร. จะพึงจัดขาทนียะ โภชนียะเช่นไร. อันผู้รู้เรื่องพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้วจะพึงกระทำ พวกเจ้ามัลละประชุมกันด้วยกรณียะเช่นนั้น.

               ตถาคตสรีรปฏิปตฺติวณฺณนา               
               บทว่า สพฺพญฺจ ตาลาวจรํ ได้แก่ เครื่องดุริยางค์ทุกชนิด.
               บทว่า สนฺนิปาเตถ ความว่า ตีกลองเรียกประชุม. เจ้ามัลละเหล่านั้นได้กระทำกันอย่างนั้น.
               บทว่า มณฺฑลมาเล ได้แก่ นำมาลัยวงด้วยผ้า.
               บทว่า ปฏิยาเทนฺตา แปลว่า จัด.
               บทว่า ทกฺขิเณน ทกฺขิณํ คือ ทิศาภาคด้านทักษิณแห่งพระนคร.
               บทว่า พาหิเรน พาหิรํ ได้แก่ ไม่เข้าไปภายในพระนคร นำไปข้างนอก โดยข้างนอกพระนครนั่นแหละ.
               บทว่า ทกฺขิณโต นครสฺส ความว่า ตั้งไว้ในสถานที่เช่นเดียวกับประตูด้านทักษิณของกรุงอนุราธปุระ กระทำสักการะสัมมานะแล้วจักทำฌาปนกิจในสถานที่เช่นเดียวกับพระเชตวัน.
               บทว่า อฎฺฐ มลฺลปาโมกฺขา ได้แก่ พวกเจ้ามัลละรุ่นมัชฌิมวัย สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง. บทว่า สีสํ นฺหาตฺวา ได้แก่ ชำระศีรษะอาบน้ำแล้ว.
               บทว่า อายสฺมนฺตํ เถรํ ความว่า พระเถระผู้เดียวปรากฏว่าเป็นผู้มีทิพยจักษุ เพราะฉะนั้น เมื่อพระเถระองค์อื่นๆ แม้มีอายุ พวกเจ้ามัลละเหล่านั้น ก็เรียนถามเฉพาะพระเถระ ด้วยประสงค์ว่า ท่านพระอนุรุทธเถระนี้จักบอกแก่พวกเราได้ชัดเจน.
               บทว่า กถํ ปน ภนฺเต เทวตานํ อธิปฺปาโย ความว่า พวกเจ้ามัลละเรียนถามว่า ท่านเจ้าข้า ก่อนอื่น พวกเรารู้ความประสงค์ของพวกเรา แต่ความประสงค์ของเหล่าเทวดาเป็นอย่างไร. พระเถระ เมื่อจะแสดงความประสงค์ของพวกเจ้ามัลละเท่านั้น จึงกล่าวว่า ตุมฺหากํ โข เป็นต้น.
               คำว่า เจดีย์ของพวกเจ้ามัลละ ชื่อว่ามกุฏพันธนะ นี้เป็นชื่อของศาลามงคลเป็นที่แต่งพระองค์ของพวกเจ้ามัลละ. ก็ศาลานี้ ท่านเรียกว่าเจดีย์ เพราะอรรถว่า ท่านสร้างไว้อย่างงดงาม.
               ในคำว่า ยาว สนฺธิสมลสงฺกฏิรา นี้ที่ต่อเรือน ชื่อว่าสันธิ บ่อกำจัดกองคูถ (บ่อคูถ) ชื่อว่าสมละ ที่เทขยะ ชื่อว่าสังกฏิระ.
               บทว่า ทิพฺเพหิ จ มานุสเกหิ จ นจฺเจหิ ความว่า การฟ้อนรำของเหล่าเทวดามี ณ เบื้องบน ของเหล่ามนุษย์มี ณ เบื้องล่าง.
               ในการขับร้องเป็นต้นก็นัยนี้.
               อนึ่ง ในระหว่างเหล่าเทวดาก็มีเหล่ามนุษย์ ในระหว่างเหล่ามนุษย์ก็มีเทวดา ทั้งเทวดาและมนุษย์ได้พากันไปสักการะบูชา แม้ด้วยประการดังกล่าวมานี้.
               บทว่า มชฺเฌน มชฺฌํ นครสฺส หริตฺวา ความว่า เมื่อพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าถูกเขานำมาอย่างนี้ ภรรยาของพันธุลเสนาบดี ชื่อว่ามัลลิกา ทราบว่า เขานำพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้ามา ก็คิดว่าเราจักให้เขานำเครื่องประดับชื่อมหาลดาประสาธน์ เช่นเดียวกับเครื่องประดับของนางวิสาขา ซึ่งเราเก็บไว้ไม่ได้ใช้สอยมาตั้งแต่สามีของตนตายไป จักบูชาพระศาสดา ด้วยมหาลดาประสาธน์นี้ ดังนี้แล้ว ให้ทำความสะอาดมหาลดาประสาธน์นั้น ชำระด้วยน้ำหอมแล้ววางไว้ใกล้ประตู.
               เขาว่า เครื่องประดับนั้นมีอยู่ในสถานที่ ๓ แห่ง คือ ที่เรือนของสตรีทั้งสองนั้น (นางวิสาขา และนางมัลลิกา) และเรือนของโจร ชื่อว่าเทวนานิยะ.
               ก็นางมัลลิกานั้นกล่าวว่า เมื่อพระสรีระของพระศาสดามาถึงประตูแล้ว พ่อทั้งหลาย จงวางพระสรีระของพระศาสดาลงแล้ว สวมเครื่องประดับนี้ที่พระสรีระของพระศาสดา. เครื่องประดับนั้น สวมตั้งแต่พระเศียรจนจรดพื้นพระบาท พระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งมีพระฉวีวรรณเหมือนทองคำ ประดับด้วยมหาลดาประสาธน์ ที่ทำด้วยรัตนะ ๗ ประการ ก็รุ่งเรืองยิ่งนัก.
               นางมัลลิกานั้นเห็นดังนั้นแล้ว ก็มีจิตผ่องใส ทำความปรารถนาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์จักโลดแล่นอยู่ในวัฏฏสงสารตราบใด ตราบนั้น กิจด้วยเครื่องประดับ จงอย่าแยกจากข้าพระองค์ ขอสรีระจงเป็นเช่นเดียวกับเครื่องประดับที่สวมใส่อยู่เป็นนิตย์เถิด.
               ครั้งนั้น พวกเจ้ามัลลปาโมกข์ยกพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยเครื่องมหาลดาประสาธน์ ที่ทำด้วยรัตนะ ๗ ประการ ออกทางประตูทิศบูรพา วางพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าลง ณ มกุฏพันธนะเจดีย์ของพวกเจ้ามัลละ ทางเบื้องทิศบูรพาแห่งพระนคร.

               มหากสฺสปตฺเถรวตฺถุวณฺณนา               
               บทว่า ปาวาย กุสินารํ ความว่า ท่านพระมหากัสสปะเดินทางไกลด้วยหมายใจว่า จักเที่ยวไปบิณฑบาตในนครปาวา แล้วจักไปยังนครกุสินารา.
               ในคำว่า นั่ง ณ โคนไม้นี้ เหตุไร ท่านจึงไม่กล่าวว่าพักกลางวัน.
               เพราะท่านไม่นั่งเพื่อต้องการจะพักกลางวัน.
               ความจริง เหล่าภิกษุบริวารของพระเถระล้วนแต่จำเริญสุข มีบุญมาก ท่านเดินทางด้วยเท้าบนแผ่นดินที่เสมือนแผ่นหินอันร้อนในเวลาเที่ยง พากันลำบาก. พระเถระเห็นภิกษุเหล่านั้น ก็คิดว่า ภิกษุทั้งหลายพากันลำบาก ทั้งสถานที่ๆ จะไปก็ยังอยู่ไกล จักพักเสียเล็กน้อยระงับความลำบาก ตอนเย็นถึงนครกุสินาราจักเข้าเฝ้าพระทศพล จึงแวะลงจากทาง ปูสังฆาฏิที่โคนไม้แห่งหนึ่ง แล้วเอาน้ำจากคณโฑน้ำลูบมือและเท้าให้เย็น แล้วนั่งลง. แม้เหล่าภิกษุบริวารของท่าน ก็นั่ง ณ โคนไม้ ใช้โยนิโสมนสิการทำกัมมัฏฐาน นั่งสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย. ดังนั้น ท่านจึงไม่กล่าวว่าพักกลางวัน. เพราะนั่งเพื่อต้องการบรรเทาความเมื่อยล้า.
               บทว่า มนฺทารวปุปฺผํ คเหตฺวา ได้แก่ เอาไม้เสียบดอกมณฑารพขนาดถาดใหญ่ถือมาดังร่ม.
               บทว่า อทฺทสา โข ได้แก่ เห็นอาชีวกเดินมาแต่ไกล.
               ก็แลครั้นเห็นแล้ว พระเถระคิดว่า นั่นดอกมณฑารพปรากฏอยู่ในมือของอาชีวกนี่ ก็ดอกมณฑารพนั้นไม่ปรากฏในถิ่นมนุษย์เสมอๆ จะมีก็ต่อเมื่อผู้มีฤทธิ์บางท่านแผลงฤทธิ์ และต่อเมื่อพระสัพพัญญูโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดาเป็นต้น แต่วันนี้ ผู้มีฤทธิ์ไรๆ ก็ไม่ได้แสดงฤทธิ์นี่ พระศาสดาของเราก็ไม่เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา ไม่ได้เสด็จออกจากพระครรภ์ ทั้งวันนี้พระองค์ก็มิได้ตรัสรู้ ไม่ได้ประกาศพระธรรมจักร ไม่ได้แสดงยมกปาฏิหาริย์ ไม่ได้เสด็จลงจากเทวโลก ไม่ได้ทรงปลงอายุสังขาร แต่พระศาสดาของเราทรงพระชรา จักเสด็จปรินิพพานเสียเป็นแน่แล้ว.
               ลำดับนั้น พระเถระเกิดจิตคิดว่า จักถามเขา จึงดำริว่า ก็ถ้าเรานั่งถาม ก็จักเป็นการกระทำความไม่เคารพในพระศาสดา ดังนี้แล้วจึงลุกขึ้น ห่มบังสุกุลจีวรสีเมฆที่พระทศพลประทาน ประหนึ่งพญาช้างฉัททันต์หลีกออกจากที่ยืน คลุมหนังแก้วมณี ฉะนั้น ยกอัญชลีอันรุ่งเรืองด้วยทศนัขสโมทานไว้เหนือเกล้า ผินหน้าตรงต่ออาชีวกด้วยคารวะที่ทำในพระศาสดา กล่าวถามว่า ผู้มีอายุ ท่านทราบข่าวพระศาสดาของเราบ้างไหม.
               ถามว่า ก็ท่านพระมหากัสสปะ รู้การปรินิพพานของพระศาสดา หรือไม่รู้จึงถาม. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า การรู้ของพระขีณาสพทั้งหลายต้องเนื่องด้วยอาวัชชนะ ความนึก ก็ท่านพระมหากัสสปะนี้ไม่รู้ จึงถาม เพราะท่านไม่ได้นึกไว้. พระเถระมากด้วยสมาบัติ ยังชีวิตให้เป็นไปด้วยการมากไปด้วยสมาบัติเป็นนิตย์ ในที่อยู่กลางคืน ที่พักกลางวัน ที่เร้นและที่มณฑปเป็นต้น เข้าบ้านของตระกูลก็เข้าสมาบัติทุกประตูเรือน ออกจากสมาบัติแล้วจึงรับภิกษา เขาว่า พระเถระทำความตั้งใจอย่างนี้ว่า ด้วยอัตตภาพสุดท้ายนี้ เราจักอนุเคราะห์มหาชน ชนเหล่าใดถวายภิกษาหรือทำสักการะด้วยของหอม...และดอกไม้เป็นต้นแก่เรา ทานนั้นของชนเหล่านั้นจงมีผลมากดังนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่รู้ เพราะมากไปด้วยสมาบัติ. ดังนั้น อาจารย์พวกหนึ่งจึงกล่าวว่า ท่านไม่รู้จึงถาม.
               คำนั้น ไม่ควรถือเอา. เพราะว่า ไม่มีเหตุที่จะไม่รู้ในข้อนั้น.
               การปรินิพพานของพระศาสดาได้เป็นการกำหนดไว้ชัดแล้วด้วยนิมิตทั้งหลายมีหมื่นโลกธาตุไหวเป็นต้น พระเถระผู้รู้อยู่จึงถามเพื่อให้เกิดสติแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยคิดว่า ก็ในบริษัทของพระเถระ ภิกษุบางเหล่าก็เคยเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า บางเหล่าก็ไม่เคยเห็น บรรดาภิกษุเหล่านั้น แม้ภิกษุเหล่าใดเคยเห็นแล้ว ภิกษุแม้เหล่านั้นก็ยังอยากจะเห็น แม้ภิกษุเหล่าใดไม่เคยเห็น แม้ภิกษุเหล่านั้นก็ยากจะเห็นเหมือนกัน บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่าใดไม่เคยเห็น ภิกษุเหล่านั้นก็ไปเพราะกระหายที่จะเห็นยิ่งนัก.
               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ไหน
               ทราบว่า ปรินิพพานเสียแล้ว ก็จะไม่อาจจะดำรงตัวอยู่ได้ ทิ้งบาตรจีวร นุ่งผ้าผืนเดียวบ้าง นุ่งไม่ดีบ้าง ห่มไม่ดีบ้าง ทุบอกร่ำร้องไห้ ในที่นั้น ผู้คนทั้งหลายจักแสดงโทษของเราว่า เหล่าภิกษุผู้ถือบังสุกุลจีวริกังคธุดงค์ที่มากับพระมหากัสสปะร้องไห้เสียเองเหมือนสตรี ภิกษุเหล่านั้นจักปลอบโยนพวกเราได้อย่างไร ก็ป่าใหญ่นี้คงจะว่างเปล่า เมื่อภิกษุทั้งหลายร้องไห้เหมือนในที่นี้ ขึ้นชื่อว่าโทษคงจะไม่มี เพราะรู้เรื่องเสียก่อน แม้ความโศกเศร้าก็คงจะเบาบางดังนี้.
               บทว่า อชฺช สตฺตาหํ ปรินิพฺพุโต สมโณ โคตโม แปลว่า นับถึงวันนี้ พระสมณโคดมปรินิพพานได้ ๗ วันแล้ว.
               บทว่า ตโต เม อิทํ ได้แก่ ดอกมณทารพนี้ ข้าพเจ้าเก็บมาแล้วแต่สถานที่ปรินิพพานของพระสมณโคดมนั้น.
               บทว่า สุภทฺโท นาม วุฑฺฒปพฺพชิโต ความว่า คำว่า สุภัททะ เป็นชื่อของภิกษุนั้น แต่เพราะภิกษุนั้นบวชในเวลาเป็นคนแก่ ท่านจึงเรียกว่าวุฑฒบรรพชิต.
               ก็เพราะเหตุไร สุภัททะภิกษุนั้นจึงกล่าวอย่างนี้.
               เพราะอาฆาตในพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ได้ยินว่า สุภัททะภิกษุนี้นั้น เคยเป็นช่างตัดผมในเมืองอาตุมานคร ที่มาในขันธกะ บวชเมื่อแก่ ทราบว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากนครกุสินาราไปยังอาตุมานคร พร้อมกับภิกษุ ๒๕๐ รูป. พระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังเสด็จมา จึงคิดว่าจักกระทำยาคูทานถวายในเวลาเสด็จมา จึงเรียกบุตร ๒ คน ซึ่งเตรียมตัวจะเป็นสามเณร บอกว่า พ่อเอ๋ย เขาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมายังอาตุมานคร พร้อมกับภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๒๕๐ รูป ไปเถิดพ่อ จงถือเครื่องมีดโกนพร้อมกับทะนานและถังไปทุกลำดับบ้านเรือน จงรวบรวมเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของเคี้ยวบ้าง เราจักกระทำยาคูทาน ถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เสด็จมา. บุตร ๒ คนนั้นก็ได้กระทำอย่างนั้น.
               ผู้คนเห็นเด็กเหล่านั้นมีเสียงเพราะ มีไหวพริบ บ้างประสงค์จักให้กระทำ บ้างประสงค์จะไม่ให้กระทำ แต่ก็ให้กระทำทั้งนั้น ถามว่า พ่อเอ้ยเจ้าจักรับไปในเวลาทำหรือ. เด็ก ๒ คนนั้นบอกว่า พวกข้าไม่ต้องการอะไรอื่น แต่พ่อของเราประสงค์จะถวายยาคูทาน ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา. ผู้คนได้ฟังดังนั้นแล้วก็ไม่ค่อยนำพา ยอมให้สิ่งที่เด็กทั้ง ๒ นั้น อาจนำไปได้หมด ที่ไม่อาจนำไปได้ก็ส่งคนไป.
               ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมายังอาตุมานคร ก็เข้าไปยังโรงลานข้าว ตกเย็น สุภัททะภิกษุก็ไปยังประตูบ้าน เรียกมนุษย์มากล่าวว่า อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ได้รับอะไรๆ อย่างอื่นจากสำนักของท่านทั้งหลาย ข้าวสารเป็นต้นที่เด็กของข้าพเจ้านำมาเพียงพอแก่สงฆ์ พวกท่านจงให้เพียงงานฝีมือเถิด.
               ถามว่า พวกข้าพเจ้าจะทำอย่างไรเจ้าข้า.
               สุภัททะภิกษุพูดว่า พวกท่านจงถือเอาสิ่งนี้ๆ แล้วให้ถือเครื่องอุปกรณ์ทั้งหมด ให้สร้างเตาไฟที่วิหาร ตนเองนุ่งกาสาวะดำผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง แล้วสั่งว่า จงทำสิ่งนี้ ครุ่นคิดอยู่ ตลอดทั้งคืน สละทรัพย์หนึ่งแสนให้เขาจัดยาคูสำหรับดื่มกิน และน้ำผึ้ง น้ำอ้อยงบ. ยาคูที่พึงกินแล้วดื่ม ชื่อว่ายาคูสำหรับกินดื่ม. ของมีเนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ ดอกไม้ ผลไม้ และรสเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าของเคี้ยว ใส่ของเคี้ยวทั้งหมดลงในยาคูนั้น. คันธชาติที่หอม ที่เขาใช้ทาศีรษะสำหรับผู้ต้องการเล่นกีฬาก็มี.
               ครั้นเวลาเช้าตรู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติพระสรีรกิจแล้ว มีภิกษุสงฆ์แวดล้อม เสด็จบ่ายพระพักตร์เข้าไปยังอาตุมานครเพื่อเที่ยวบิณฑบาต. ผู้คนทั้งหลายก็บอกแก่สุภัททะภิกษุนั้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังเสด็จเข้าบ้านบิณฑบาต ท่านจัดยาคูไว้เพื่อใคร.
               พระสุภัททะภิกษุนั้น นุ่งห่มผ้ากาสาวะดำเหล่านั้น เอามือข้างหนึ่งจับทัพพีและกระบวย คุกเข่าข้างขวาลงที่พื้นดิน ถวายบังคมดุจพรหมทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงรับยาคูของข้าพระองค์เถิด.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามและทรงฟังคำนั้นแล้ว ทรงติเตียนพระสุภัททะวุฑฒบรรพชิตนั้น. เพราะเรื่องนั้น ทรงบัญญัติ ๒ สิกขาบท คือสิกขาบทว่าด้วยการชักชวนในสิ่งเป็นอกัปปิยะ และสิกขาบทว่าด้วยการรักษาเครื่องมีดโกน
               โดยนัยที่มาในขันธกะว่า
               พระตถาคตแม้ทรงทราบ ก็ทรงถามดังนี้เป็นต้น แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล่าภิกษุผู้แสวงหาโภชนะล่วงไปถึงหลายโกฏิกัป พวกเธอบริโภคโภชนะที่เป็นอกัปปิยะของพวกเธอ อันเกิดขึ้นโดยไม่ชอบธรรม จักต้องไปบังเกิดในอบายทั้งหลายหลายแสนอัตตภาพ จงหลีกไป อย่ามายุดยื้อ ดังนี้แล้ว ได้เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปเที่ยวภิกขา แม้ภิกษุรูปหนึ่ง ก็ไม่รับอะไรๆ เลย.
               พระสุภัททะเสียใจ ก็ผูกอาฆาตในพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านี้เข้าใจว่า เรารู้ทุกสิ่งจึงเที่ยวไป ถ้าไม่ทรงประสงค์จะรับ ก็ควรส่งคนไปบอก ขึ้นชื่อว่าอาหารที่สุกแล้วนี้ เมื่อจะตั้งอยู่นานตลอดไป พึงตั้งอยู่ได้เพียง ๗ วัน แท้จริง ของนี้จะพึงเป็นของที่เราจัดไว้ตลอดชีวิต พระองค์ก็ทรงทำให้พินาศเสียสิ้น พระผู้มีพระภาคเจ้านี้ไม่ทรงหวังดีต่อเราเสียเลย.
               เมื่อพระทศพลยังทรงพระชนม์อยู่ จึงไม่อาจกล่าวอะไรๆ ได้. ได้ยินว่า พระสุภัททะนั้นคิดอย่างนี้ว่า พระมหาบุรุษนี้บวชจากตระกูลสูง ถ้าเราพูดอะไรไป ก็จักทรงคุกคามเราผู้เดียว. พอได้ฟังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้นี้นั้นปรินิพพานแล้วในวันนี้ ก็ร่าเริงยินดีประดุจได้ลมหายใจ จึงกล่าวอย่างนี้.
               พระเถระฟังคำนั้นแล้ว มิได้สำคัญว่าประหนึ่งถูกประหารที่หทัย ประหนึ่งฟ้าปราศจากเมฆผ่าลงบนกระหม่อม. แต่พระเถระเกิดธรรมสังเวช. พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานได้เพียง ๗ วัน แม้วันนี้ พระสรีระของพระองค์มีพระฉวีวรรณดังทองคำ ก็ยังดำรงอยู่ทีเดียว. กากบาปเสี้ยนหนามอันใหญ่เกิดขึ้นเร็วอย่างนี้ในพระศาสนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำมาด้วยทุกข์ยาก ก็คนบาปนี่ นี้เมื่อเติบโต ได้คนอื่นเห็นบาปนั้นเป็นพรรคพวก ก็อาจจะทำพระศาสนาให้เสื่อมถอยได้.
               ลำดับนั้น พระเถระคิดว่า ก็ถ้าเราจักให้หลวงตาผู้นี้นุ่งผ้าเก่า เอาขี้เถ้าโรยศีรษะ ขับไล่ไป. ผู้คนทั้งหลายก็จะพากันยกโทษพวกเราว่า เมื่อพระสรีระของพระสมณโคดมยังคงอยู่ เหล่าสาวกก็วิวาทกัน เพราะฉะนั้น เราจึงอดกลั้นไว้ก่อน
               ก็ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว ก็เสมือนกองดอกไม้ที่ยังไม่ได้ควบคุม ในธรรมที่ทรงแสดงแล้วนั้น เปรียบเหมือนดอกไม้ทั้งหลายที่ต้องลมย่อมกระจัดกระจายไป ฉันใด สิกขาบท ๑-๒ สิกขาบทในวินัยก็จักพินาศ ปัญหาวาระ ๑-๒ วาระในสูตรก็จักพินาศ ภูมิอื่น ๑-๒ ภูมิในอภิธรรมก็จักพินาศ ในเมื่อเวลาล่วงไปๆ ด้วยอำนาจบุคคลชั่วเห็นบาปนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
               เมื่อมูลรากพินาศไปอย่างนี้ พวกเราก็จักเป็นเสมือนปีศาจ. เพราะฉะนั้น เราจำจักต้องสังคายนาธรรมวินัย เมื่อเป็นดังนี้ ธรรมนี้ วินัยนี้ ก็จักมั่นคงเหมือนดอกไม้ที่คุมไว้ด้วยด้ายเหนียว ก็เพื่อประโยชน์อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จต้อนรับเรา ตลอดทาง ๓ คาวุต (๓๐๐ เส้น) ประทานอุปสมบทด้วยโอวาท ๓ ประการ ทรงเปลี่ยนจีวรจากพระวรกาย ตรัสปฏิปทาเปรียบด้วยดวงจันทร์ ประหนึ่งสั่นมือในอากาศ ทรงยกย่องเราเป็นกายสักขี (มีวิหารธรรมเสมอด้วยพระองค์) ทรงมอบความเป็นสกลศาสนทายาท ๓ ครั้งว่า เมื่อภิกษุเช่นเรายังดำรงอยู่ ภิกษุชั่วผู้นี้จักไม่ได้ความเจริญในพระศาสนา. อธรรมยังไม่รุ่งเรือง ธรรมก็จะไม่เสื่อมถอย อวินัยยังไม่รุ่งเรือง วินัยก็จะไม่เสื่อมถอย ฝ่ายอธรรมวาทียังไม่มีกำลัง ฝ่ายธรรมวาทีก็จะไม่อ่อนกำลัง ฝ่ายอวินัยวาทียังไม่มีกำลัง ฝ่ายวินัยวาทีก็จะไม่อ่อนกำลังเพียงใด เราก็จักสังคายนาธรรมและวินัยเพียงนั้น.
               แต่นั้น เหล่าภิกษุรวบรวมภิกษุที่เป็นสภาคกัน เพียงพอแก่ตนๆ ก็จักกล่าวสิ่งที่ควรและไม่ควรได้ เมื่อเป็นดังนี้ ภิกษุชั่วผู้นี้ตนเองก็ประสบนิคคหะ ไม่อาจเงยศีรษะได้อีก พระศาสนาก็จักมั่นคงและแพร่หลาย.
               พระเถระคิดว่า เราเกิดจิตคิดอย่างนี้แล้ว ยังไม่อาจบอกใครๆ ได้แต่ปลอบโยนภิกษุสงฆ์. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถโข อายสฺมา มหากสฺสโป ฯเปฯ เนตํ ฐานํ วิชฺชติ ดังนี้.
               บทว่า จิตกํ ได้แก่ จิตกาธานที่ทำด้วยไม้จันทน์ประดับด้วยรัตนะสองพัน.
               บทว่า อาลิมฺเปสฺสาม ได้แก่ ช่วยกันจุดไฟ.
               บทว่า น สกฺโกนฺติ คือ ชนทั้งหลาย ๘ คนบ้าง ๑๖ คนบ้าง ถือคบไฟเป็นคู่ๆ เพื่อติดไฟ พัดด้วยใบตาล เป่าด้วยสูบ แม้กระทำการณ์นั้นๆ ก็ไม่อาจทำให้ไฟติดได้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า เทวตานํ อธิปฺปาโย นี้ดังนี้.
               ได้ยินว่า เทวดาเหล่านั้นเป็นเทวดาอุปัฏฐากของพระเถระนั่นเอง. ความจริง เพราะจิตเลื่อมใสพระอสีติมหาสาวก อุปัฏฐาก ๘๐,๐๐๐ ตระกูล ของพระมหาสาวกเหล่านั้น ก็ไปบังเกิดในสวรรค์.
               ลำดับนั้น เหล่าเทวดาผู้มีจิตเลื่อมใสในพระเถระแล้วบังเกิดในสวรรค์ ไม่เห็นพระเถระในสมาคมนั้น คิดว่า พระเถระประจำตระกูลของพวกเราไปเสียที่ไหนหนอ ก็เห็นท่านเดินอยู่ระหว่างทาง จึงพากันอธิษฐานว่า เมื่อพระเถระประจำตระกูลของพวกเรายังไม่ได้ถวายบังคมพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอจิตกาธานอย่าเพิ่งติดไฟ ดังนี้.
               เหล่าผู้คนฟังเรื่องนั้นแล้วคิดว่า เขาว่าพระมหากัสสปะกล่าวว่า ดูก่อนท่านภิกษุ เราจักถวายบังคมพระบาทของพระทศพล พร้อมกับภิกษุ ๕๐๐ รูป ดังนี้แล้วจึงมา เมื่อยังมาไม่ถึง จิตกาธานก็จักไม่ติดไฟ ผู้เจริญ ภิกษุนั้นเป็นเช่นไร ดำ ขาว สูง เตี้ย เมื่อภิกษุเช่นนี้ยังดำรงอยู่ ทำไมพระทศพลจึงปรินิพพาน ดังนี้แล้ว บางพวกถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นเดินสวนทาง บางพวกทำถนนให้สวยงาม ยืนสำรวจทางที่จะมา.
               คำว่า อถโข อายสฺมา มหากสฺสโป เยน กุสินารา ฯเปฯ สิรสา วนฺทิ ความว่า
               ได้ยินว่า พระเถระกระทำประทักษิณจิตกาธาน พลางรำลึกกำหนดว่า ตรงนี้พระเศียร ตรงนี้พระบาท. แต่นั้น พระเถระก็ยืนใกล้พระบาททั้งสอง เข้าจตุตถฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา ออกจากฌานแล้วอธิษฐานว่า ขอพระยุคลบาทของพระทศพลที่มีลักษณะจักรอันประกอบด้วยซี่ ๑,๐๐๐ ซี่ประดิษฐานแล้ว จงชำแรกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่ พร้อมกับชั้นสำลี รางทอง และจิตกาธานไม้จันทน์ออกเป็น ๒ ช่อง ประดิษฐานเหนือเศียรเกล้าของข้าพระองค์ด้วยเถิด. พร้อมด้วยจิตอธิษฐาน พระยุคลบาทก็ชำแรกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่เป็นต้นเหล่านั้นโผล่ออกมา ประหนึ่งจันทร์เพ็ญออกจากระหว่างพลาหกฉะนั้น.
               พระเถระเหยียดมือทั้ง ๒ เสมือนดอกปทุมแดงที่คลี่บานแล้ว จับพระยุคลบาทของพระศาสดา อันมีพระฉวีวรรณดังทองคำจนถึงข้อพระบาทไว้มั่นแล้ว ประดิษฐานไว้เหนือเศียรเกล้าอันประเสริฐของตน. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เผยพระบาทถวายบังคมพระบาทของผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า.
               มหาชนเห็นความอัศจรรย์ดังนั้นแล้ว บันลือสีหนาทกระหึ่มขึ้นพร้อมกัน บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้นแล้วไหว้ตามความพอใจ. ก็แลพอพระเถระ มหาชนและภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้นถวายบังคมแล้ว ก็ไม่มีกิจที่จะต้องอธิษฐานอีก. ด้วยอำนาจการอธิษฐานตามปกติเท่านั้น ฝ่าพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีวรรณะดังน้ำครั่ง พ้นจากมือของพระเถระแล้ว ไม่กระทำไม้จันทน์เป็นต้นอะไรให้ไหว ประดิษฐานอยู่ในที่เดิม. จริงอยู่ เมื่อพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าออกมาหรือเข้าไป ใยสำลีก็ดี เส้นผ้าก็ดี หยาดน้ำมันก็ดี ชิ้นไม้ก็ดี ไม่เคลื่อนจากที่เลย ทั้งหมดตั้งอยู่ตามเดิมนั่นแล. แต่เมื่อพระยุคลบาทของพระตถาคตตั้งขึ้นแล้วก็หายวับไป เหมือนพระจันทร์และพระอาทิตย์อัสดงคต มหาชนพากันร้องไห้ยกใหญ่ น่ากรุณายิ่งกว่าครั้งปรินิพพานเสียอีก.
               ก็คำว่า สมเยว ภควโต จิตโก ปชฺชลิ นี้ ท่านกล่าวด้วยอำนาจมองไม่เห็นใครๆ ผู้พยายามจะติดไฟ. ก็จิตกาธานนั้นติดไฟพรึบเดียวโดยรอบด้วยอานุภาพของเทวดา.
               บทว่า สรีราเนว อวสิสฺสึสุ ความว่า เมื่อก่อนได้ชื่อว่าสรีระ ก็เพราะตั้งอยู่ด้วยโครงร่างอันเดียวกัน บัดนี้ ท่านกล่าวว่าสรีระทั้งหมดกระจัดกระจายไปแล้ว. อธิบายว่า พระธาตุทั้งหลายก็เสมือนดอกมะลิตูม เสมือนแก้วมุกดาที่เจียรนัยแล้ว และเสมือนจุณทองคำยังเหลืออยู่.
               จริงอยู่ สรีระของพระพุทธเจ้าผู้มีพระชนมายุยืนทั้งหลาย ย่อมติดกันเป็นพืดเช่นกับแท่งทองคำ. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิษฐานพระธาตุให้กระจายว่า เราอยู่ได้ไม่นานก็จะปรินิพพาน ศาสนาของเรายังไม่แพร่หลายไปในที่ทั้งปวงก่อน เพราะฉะนั้น เมื่อเราแม้ปรินิพพานแล้ว มหาชนถือเอาพระธาตุแม้ขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดทำเจดีย์ในที่อยู่ของตนๆ ปรนนิบัติ จงมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
               ถามว่า พระธาตุอย่างไหนของพระองค์กระจัดกระจาย อย่างไหนไม่กระจัดกระจาย.
               ตอบว่า พระธาตุ ๗ เหล่านี้ คือพระเขี้ยวแก้ว ๔ พระรากขวัญ ๒ พระอุณหิส ๑ ไม่กระจัดกระจาย นอกนั้นกระจัดกระจาย. บรรดาพระธาตุเหล่านั้น พระธาตุเล็กๆ ทั้งหมดได้มีขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด. พระธาตุใหญ่ขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารหักกลาง พระธาตุขนาดใหญ่ยิ่งมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียวหักกลาง.๑-
____________________________
๑- ขุ. พุทธ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๒๘

               บทว่า อุทกธารา ความว่า ท่อน้ำขนาดปลายเท่าแขนก็ดี ขนาดแข้งก็ดี ขนาดลำตาลก็ดี ตกจากอากาศดับไป.
               คำว่า อุทกํ สาลโตปิ นี้ ท่านกล่าวหมายต้นสาละที่ยืนต้นล้อมอยู่. ท่อน้ำออกจากระหว่างลำต้น และระหว่างค่าคบของต้นสาละเหล่านั้นดับไฟ. จิตกาธานของพระผู้มีพระภาคเจ้าขนาดใหญ่. เกลียวน้ำขนาดเท่างอนไถ แม้ชำแรกดินโดยรอบ เช่นเดียวกับพวงแก้วผลึกผุดขึ้นจับจิตกาธาน.
               บทว่า คนฺโธทเกน ได้แก่ น้ำหอมนานาชนิด ที่เขาบรรจุหม้อทอง หม้อเงินให้เต็มนำมา.
               บทว่า นิพฺพาเปสุํ ความว่า เหล่าเจ้ามัลละดับจิตกาธานเกลี่ยด้วยไม้ ๘ อัน ที่ทำด้วยทองและเงิน. ก็เมื่อไฟกำลังไหม้จิตกาธานนั้นอยู่ เปลวไฟก็พุ่งขึ้นจากระหว่างกิ่ง ค่าคบและใบของต้นสาละที่ยืนต้นล้อมอยู่. ใบกิ่งหรือดอกไม่ไหม้เลย. ทั้งมดแดง ทั้งลิง ทั้งสัตว์เล็กๆ เที่ยวไปโดยระหว่างเปลวไฟ. ธรรมดาในท่อน้ำที่ตกจากอากาศก็ดี ในท่อน้ำที่ออกจากต้นสาละก็ดี ในท่อน้ำที่ชำแรกแผ่นดินออกไปก็ดี ควรถือเอาเป็นประมาณ.
               ก็แลครั้นดับจิตกาธานอย่างนี้แล้ว เหล่าเจ้ามัลละก็ให้ประพรมด้วยคันธชาติ ๔ ชนิดที่สัณฐาคาร โปรยดอกไม้มีข้างตอกเป็นที่คำครบห้า ติดเพดานผ้าไว้เบื้องบน ขจิตด้วยดาวทองเป็นต้น ห้อยพวงของหอมพวงมาลัยและพวงแก้ว ให้ล้อมม่านและเสื่อลำแพนไว้สองข้างตั้งแต่สัณฐาคารจนถึงมงคลศาลาที่ประดับศีรษะ กล่าวคือมกุฏพันธน์ แล้วติดเพดานผ้าไว้เบื้องบน ขจิตด้วยดาวทองเป็นต้น ห้อยพวงของหอมพวงมาลัยและพวงแก้วแม้ในที่นั้น ให้ยกธง ๕ สี โดยสีก้านมณีและไม้ไผ่ ล้อมธงชัยและธงปฏากไว้โดยรอบ ตั้งต้นกล้วยและหม้อบรรจุน้ำไว้เต็มที่ถนนทั้งหลาย อันรดน้ำและเกลี้ยงเกลาก็ตาม ประทีปมีด้าม วางรางทองพร้อมด้วยพระธาตุทั้งหลายไว้บนคอช้างที่ประดับแล้ว บูชาด้วยมาลัยและของหอมเป็นต้น เล่นสาธุกีฬา นำเข้าไปภายในพระนคร วางไว้บนบัลลังก์ที่ทำด้วยรัตนะ ๗ ประการ ณสัณฐาคาร กั้นเฉวตฉัตรไว้เบื้องบน.
               ครั้นกระทำดังนี้แล้ว ครั้งนั้น เหล่าเจ้ามัลละชาวนครกุสินาราให้ทหารถือหอกเป็นลูกกรง ให้ทหารถือธนูเป็นกำแพงล้อมที่สัณฐาคาร บูชาพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยการฟ้อนรำ การขับร้อง การประโคม ด้วยมาลัยของหอมตลอด ๗ วัน บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตฺติปญฺชรํ กริตฺวา ได้แก่ จัดเหล่าบุรุษถือหอกล้อมไว้.
               บทว่า ธนุปาการํ ได้แก่ จัดเหล่าช้างเรียงลำดับกระพองต่อกันล้อมไว้ก่อน จากนั้นจัดเหล่าม้าเรียงลำดับคอต่อกัน ต่อนั้นจัดเหล่ารถเรียงลำดับปลายลิ่มล้อรถต่อกัน ต่อนั้นจัดเหล่าราบยืนเรียงลำดับแขนต่อกัน ปลายรอบแถวทหารเหล่านั้น จัดเหล่าธนูเรียงลำดับต่อกันล้อมไว้. เหล่าเจ้ามัลละจัดอารักขาตลอดที่ประมาณโยชน์หนึ่ง โดยรอบ ๗ วัน ทำประหนึ่งลูกโคสวมเกราะ ด้วยประการฉะนี้.
               ท่านหมายเอาข้อนั้น จึงกล่าวว่า ธนุปาการํ ปริขิปาเปตฺวา ดังนี้.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร เหล่าเจ้ามัลละเหล่านั้นจึงได้กระทำดังนั้น.
               ตอบว่า ใน ๒ สัปดาห์แรกจากนี้ เจ้ามัลละเหล่านั้นกระทำโอกาสที่ยืนและนั่งสำหรับภิกษุสงฆ์ จัดแจงของเคี้ยวของฉันถวาย ไม่ได้โอกาสที่จะเล่นสาธุกีฬา. แต่นั้น เจ้ามัลละเหล่านั้นดำริกันว่า พวกเราจักเล่นสาธุกีฬาตลอดสัปดาห์นี้. ข้อที่ใครๆ รู้ว่าพวกเราประมาท แล้วมายึดเอาพระธาตุทั้งหลายไปเสีย มีฐานะที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น พวกเราจักต้องตั้งกองรักษาการณ์ไว้แล้วเล่นกีฬากัน. ด้วยเหตุนั้น เจ้ามัลละเหล่านั้นจึงได้กระทำดังนั้น.
               บทว่า อสฺโสสิ โข ราชา ความว่า พระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบเรื่องแล้ว.
               ได้ยินว่า เหล่าอำมาตย์ของท้าวเธอ ครั้งแรกทีเดียวคิดว่า ธรรมดาว่าพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ใครๆ ก็ไม่อาจนำพระองค์มาได้อีก แต่ไม่มีผู้เสมอเหมือนพระราชาของเราด้วยศรัทธาของปุถุชน ถ้าพระราชาพระองค์นี้จักทรงสดับโดยทำนองนี้ หฤทัยของท้าวเธอจักต้องแตก แต่พวกเราควรระวังรักษาพระราชาไว้ดังนี้.
               อำมาตย์เหล่านั้นจึงนำรางทอง ๓ ราง บรรจุของอร่อยๆ ไว้เต็มนำไปยังราชสำนัก กราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ พวกข้าพระองค์ฝันไป พระองค์ควรทรงผ้าเปลือกไม้สองชั้นแล้วบรรทมในรางที่เต็มด้วยของอร่อยๆ ๔ อย่าง พอที่ช่องพระนาสิกโผล่ เพื่อขจัดความฝันนั้นเสียพระราชา สดับคำของเหล่าอำมาตย์ผู้หวังดี ทรงรับสั่งว่า เอาสิพ่อ แล้วได้ทรงกระทำอย่างนั้น.
               ลำดับนั้น อำมาตย์ผู้หนึ่งเปลื้องเครื่องประดับแล้วสยายผม ผินหน้าไปทางทิศที่พระศาสดาปรินิพพาน ประคองอัญชลี ทูลพระราชาว่า พระเจ้าข้า ขึ้นชื่อว่าสัตว์ผู้หลุดพ้นจากความตาย หามีไม่ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงเป็นผู้เจริญชนมายุ เป็นเจติยสถาน เป็นบุญเขต เป็นพระแท่นอภิเษก เป็นศาสดาของเราทั้งหลาย ปรินิพพานแล้ว ณ นครกุสินารา พระราชาทรงสดับแล้ว ก็ถึงวิสัญญีภาพ (สลบ) ปล่อยไออุ่นในรางอันเต็มด้วยของอร่อย ๔ อย่าง.
               ลำดับนั้น เหล่าอำมาตย์ก็ยกพระองค์ขึ้นจากรางที่ ๑ นั้น ให้บรรทม ณ รางที่ ๒. ท้าวเธอกลับฟื้นขึ้นมาตรัสถามว่า พ่อเอ๋ย พวกเจ้าพูดอะไรนะ. กราบทูลว่า พระมหาราชเจ้า พระศาสดาปรินิพพานแล้ว พระเจ้าข้า. พระราชาก็กลับทรงวิสัญญีภาพอีก ปล่อยไออุ่นลงในรางของอร่อย ๔ อย่าง. ลำดับนั้น เหล่าอำมาตย์ช่วยกันยกท้าวเธอขึ้นจากรางที่ ๒ นั้นแล้ว ให้บรรทมในรางที่ ๓. ท้าวเธอทรงกลับพื้นขึ้นมาตรัสถามว่า พ่อเอ๋ย พวกเจ้าพูดอะไรนะ. กราบทูลว่า พระศาสดาปรินิพพานแล้ว พระเจ้าข้า. พระราชาก็ทรงวิสัญญีภาพอีก.
               ครั้งนั้น เหล่าอำมาตย์ช่วยกันยกพระองค์ขึ้นให้สรงสนาน เอาหม้อน้ำรดน้ำลงบนพระเศียร.
               พระราชาทรงจำได้แล้ว ลุกจากที่ประทับนั่งสยายพระเกศาที่มีวรรณะดั่งแก้วมณีอบด้วยของหอม ทอดพระปฤษฏางค์ที่มีวรรณะดังแผ่นทองคำ เอาฝ่าพระหัตถ์ตบพระอุระ จับพระอุระที่มีวรรณะดังผลตำลึงทองคำ ประหนึ่งว่าจะเสียบด้วยนิ้วพระหัตถ์อันกลมกลึง ที่มีวรรณะดุจหน่อแก้วประพาฬ ทรงคร่ำครวญ เสด็จลงไปในระหว่างถนน ด้วยเพศของคนวิกลจริต.
               ท้าวเธอมีนางรำที่แต่งตัวแล้วเป็นบริวาร เสด็จออกจากพระนครไปยังสวนมะม่วงของหมอชีวก ทอดพระเนตรสถานที่ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งแสดงธรรม พร่ำปริเทวนาการซ้ำๆ ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สัพพัญญูประทับนั่งแสดงธรรมที่นี้ มิใช่หรือ? ทรงบรรเทาความโศกศัลย์ของข้าพระองค์ พระองค์ทรงนำความโศกศัลย์ของข้าพระองค์ออกไป ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์มายังสำนักของพระองค์แล้ว แต่บัดนี้ พระองค์ไม่ประทานแม้คำโต้ตอบแก่ข้าพระองค์.
               และตรัสคำเป็นต้นอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์สดับมาในเวลาอื่นมิใช่หรือ? ว่า ในเวลาเห็นปานนั้น พระองค์มีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวาร เสด็จจาริกไป ณ ภาคพื้นชมพูทวีป แต่บัดนี้ ข้าพระองค์ก็ได้แต่ฟังเรื่องอันไม่เหมาะ ไม่ควรแก่พระองค์เลย.
               แล้วทรงรำลึกพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาประมาณ ๖๐ คาถา ทรงพระดำริว่า อะไรๆ ย่อมไม่สำเร็จได้ด้วยปริเทวนาการของเรา จำเราจักให้นำพระบรมธาตุของพระทศพลมา. ทรงสดับมาอย่างนี้แล้ว ครั้นแล้ว เมื่อทรงหายวิสัญญีภาพเป็นต้นแล้ว ก็โปรดส่งทูตไป. ท่านหมายเอาเรื่องนั้น จึงกล่าวว่า อถ โข ราชา เป็นอาทิ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทูตํ ปาเหสิ ได้แก่ ทรงส่งทูตและบรรณาการไป. พระเจ้าอชาตศัตรูทรงพระดำริว่า ถ้าพวกเจ้ามัลละจักให้ก็เป็นการดี ถ้าเขาไม่ให้ ก็จำเราจักต้องนำมาด้วยอุบายนำมาให้ได้ดังนี้ แล้วทรงจัดกองทัพ ๔ เหล่าเสด็จออกไปด้วยพระองค์เอง. แม้เหล่าเจ้าลิจฉวีเป็นต้นก็ส่งทูตไป เสด็จออกไปด้วยพระองค์เอง พร้อมด้วยกองทัพ ๔ เหล่าเหมือนพระเจ้าอชาตศัตรูฉะนั้น.
               ถ้ามีคำถามว่า บรรดาเจ้าเหล่านั้น เจ้ามัลละชาวนครปาวา มีระยะใกล้กว่าเขาทั้งหมด อยู่ในนครปาวาระยะ ๓ คาวุต แต่นครกุสินารา แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้านครปาวาแล้ว ก็ยังเสด็จไปนครกุสินารา เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร พวกเจ้ามัลละนครปาวา จึงไม่เสด็จมาเสียก่อน.
               ตอบว่า เพราะว่า พวกเจ้าเหล่านั้นมีบริวารมาก เมื่อทำกิจกะบริวารที่มาก จึงมาภายหลัง.
               บทว่า เต สงฺเฆ คเณ เอตทโวจุํ ความว่า พวกเจ้าและพราหมณ์ทั้งหมดเหล่านั้น รวมเป็นชาวนคร ๗ นครพากันมาแล้ว ยื่นคำขาดว่า เหล่าเจ้ามัลละจะให้พระบรมธาตุแก่พวกเราหรือจะรบ. แล้วตั้งทัพล้อมนครกุสินาราไว้ เหล่าเจ้ามัลละก็ได้กล่าวคำโต้ตอบไปว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานในคามเขตของพวกเรานี่.
               ได้ยินว่า เจ้าเหล่านั้นตรัสอย่างนี้ว่า พวกเราไม่ได้ส่งข่าวของพระศาสดา พวกเราไปก็ไม่ได้นำข่าวมา แต่พระศาสดาเสด็จมาเอง ทรงส่งข่าวไปรับสั่งให้เรียกพวกเรา แต่แม้พวกท่านก็ไม่ให้พระรัตนะที่เกิดในคามเขตของพวกท่านแก่พวกเรา ธรรมดาว่า พระรัตนะที่เสมอด้วยพระพุทธรัตนะไม่มีในโลก พร้อมทั้งเทวโลก พวกเราได้พระรัตนะอันสูงสุดเห็นปานนี้ จักไม่ยอมให้ ก็พวกท่านเท่านั้นดื่มน้ำนมจากถันของมารดา พวกเราไม่ได้ดื่มก็หาไม่. พวกท่านเท่านั้นเป็นลูกผู้ชาย พวกเราไม่ได้เป็นลูกผู้ชายหรือ เป็นไรก็เป็นกัน ต่างทำอหังการส่งสาส์นโต้ตอบกัน ใช้มานะขู่คำรามต่อกันและกัน.
               ก็เมื่อมีการรบกัน ฝ่ายเหล่าเจ้ามัลละกรุงกุสินารา น่าได้ชัยชนะ.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะเหล่าเทวดาที่พากันมาเพื่อบูชาพระบรมธาตุ ต้องเป็นฝ่ายของเจ้ามัลละกรุงกุสินาราเหล่านั้นแน่.
               แต่ในพระบาลีมาเพียงเท่านี้ว่า เหล่าเจ้ามัลละกรุงกุสินารากล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานในคามเขตของพวกเรา พวกเราจักไม่ยอมให้ส่วนแบ่งแห่งพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้.
               บทว่า เอวํ วุตฺเต โทโณ พฺราหฺมโณ ความว่า โทณพราหมณ์สดับเรื่องการวิวาทของกษัตริย์พราหมณ์เหล่านั้นแล้ว ดำริว่า พวกเจ้าเหล่านี้ก่อวิวาทกันในสถานที่พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพาน เป็นการไม่สมควร การทะเลาะกันนี้ควรจะพอกันที จำเราจักระงับการวิวาทกันนั้นเสียดังนี้แล้ว ก็ไปกล่าวข้อความนี้แก่หมู่คณะเจ้าเหล่านั้น.
               กล่าวว่าอย่างไร?
               โทณพราหมณ์ยืนในที่ดอน (สูง) ได้กล่าวคาถาที่ชื่อว่า โทณครรชิต (การบันลือของโทณพราหมณ์) ประมาณ ๒ ภาณวาร.
               บรรดาภาณวารทั้ง ๒ นั้น ก่อนอื่น พวกเจ้าเหล่านั้นไม่รู้แม้แต่บทเดียว. จบภาณวารที่ ๒ พวกเจ้าทั้งหมดพูดกันว่า ผู้เจริญนั้นดูเหมือนเสียงของท่านอาจารย์นี่ๆ แล้วก็พากันเงียบเสียง.
               เขาว่า ในภาคพื้นชมพูทวีป คนที่เกิดในเรือนของตระกูลโดยมาก ชื่อว่าไม่เป็นศิษย์ของโทณพราหมณ์นั้นไม่มีเลย. ครั้งนั้น โทณพราหมณ์รู้ว่า เจ้าเหล่านั้นฟังคำของตนแล้วเงียบเสียงนิ่งอยู่ จึงได้กล่าวซ้ำ ได้กล่าว ๒ คาถานี้ว่า สุณนฺตุ โภนฺโต เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมฺหากํ พุทฺโธ แปลว่า พระพุทธเจ้าของพวกเรา.
               บทว่า อหุ ขนฺติวาโท ความว่า พระองค์แม้ไม่บรรลุพุทธภูมิ ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลาย ไม่ทรงทำความโกรธในคนอื่นๆ ได้กระทำแต่ขันติอย่างเดียว ทรงสรรเสริญขันติอย่างเดียว
                         สมัยเสวยพระชาติเป็นขันติวาทิดาบส
                         สมัยเป็นธรรมปาลกุมาร
                         สมัยเป็นพระยาช้างฉัททันต์
                         สมัยเป็นพญานาคชื่อภูริทัตตะ
                         สมัยเป็นพญานาคชื่อจัมเปยยกะ
                         สมัยเป็นพญานาคชื่อสังขปาละ
                         สมัยเป็นกระบี่ใหญ่
                         และในชาดกอื่นๆ เป็นอันมาก.
               จะป่วยกล่าวไปใย บัดนี้ พระพุทธเจ้าของพวกเรา ทรงบรรลุลักษณะความเป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ได้มีพระวาทะเรื่องขันติ. การที่พวกเราจะมาประหัตประหารกันในเหตุเรื่องส่วนแบ่งพระสรีระของพระองค์ผู้เป็นบุคคลสูงสุด อย่างเช่นที่กล่าวมานี้นั้น ไม่ดีเลย.
               คำว่า น หิ สาธุยํ ตัดบทว่า น หิ สาธุ อยํ.
               บทว่า สรีรภาเค แปลว่า นิมิตแห่งส่วนของพระสรีระ. อธิบายว่า เหตุส่วนแห่งพระบรมธาตุ.
               บทว่า สิย สมฺปหาโร ท่านอธิบายว่า การสัมปหารกันด้วยอาวุธไม่พึงดีเลย.
               บทว่า สพฺเพว โภนฺโต สหิตา ความว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านทั้งหมดจงเกื้อกูลกันอย่าแตกกันเลย.
               บทว่า สมคฺคา ได้แก่ จงเป็นผู้ประชุมพร้อมกัน พูดคำเดียวกัน สามัคคีกันทางกายและทางวาจาเถิด.
               บทว่า สมฺโมทมานา ได้แก่ จงเป็นผู้บันเทิงต่อกันและกัน แม้ทางจิตเถิด.
               บทว่า กโรมฎฺฐ ภาเค ความว่า จงแบ่งพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็น ๘ ส่วน.
               บทว่า จกฺขุมโต ได้แก่ พระพุทธเจ้าผู้มีจักษุด้วยจักษุ ๕.
               โทณพราหมณ์ได้กล่าวเหตุเป็นอันมากให้เข้าใจกันว่า มิใช่พวกท่านพวกเดียวที่เลื่อมใส แม้มหาชนก็เลื่อมใส ในชนเหล่านั้น ผู้ชื่อว่าไม่ควรจะได้ส่วนแบ่งพระสรีระไม่มีแม้แต่คนเดียว.
               บทว่า เตสํ สงฺฆานํ คณานํ ปฏิสฺสุณิตฺวา ความว่า เพราะหมู่คณะที่มาประชุมกันจากที่นั้นๆ เหล่านั้นรับฟัง (ยินยอม) โทณพราหมณ์จึงแบ่งพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็น ๘ ส่วน เท่าๆ กัน.
               ลำดับความในเรื่องนั้นมีดังนี้.
               เล่ากันว่า เพราะเจ้าเหล่านั้นยินยอม โทณพราหมณ์จึงสั่งให้เปิดรางทอง.
               เจ้าทั้งหลายก็มายืนที่รางทองนั่นแล ต่างแลเห็นพระบรมธาตุทั้งหลายมีวรรณะดั่งทองคำ พากันรำพันว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สัพพัญญู แต่ก่อนข้าพระองค์ทั้งหลายได้เห็นพระสรีระของพระองค์มีวรรณะดังทองคำ ประดับด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ขจิตด้วยพระพุทธรัศมีมีวรรณะ ๖ ประการ งามรุ่งเรืองด้วยพระอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ แต่บัดนี้ ก็เหลือแต่พระบรมธาตุมีวรรณะดั่งทองคำ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า การณ์นี้ไม่สมควรแก่พระองค์เลย.
               สมัยนั้น แม้โทณพราหมณ์รู้ว่า เจ้าเหล่านั้นเผลอก็ฉวยพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวา เก็บไว้ในระหว่างผ้าโพก. ต่อมาภายหลังจึงแบ่งเป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กัน พระบรมธาตุทั้งหมดรวมได้ ๑๖ ทะนาน โดยทะนานตามปกติ เจ้านครแต่ละพระองค์ได้ไปองค์ละ ๒ ทะนานพอดี.
               ส่วนเมื่อโทณพราหมณ์กำลังแบ่งพระบรมธาตุอยู่นั่นแล. ท้าวสักกะจอมเทพสำรวจดูว่า ใครหนอฉกเอาพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งการตรัสเรื่องสัจจะ ๔ เพื่อทรงประสงค์ตัดความสงสัยของโลกพร้อมทั้งเทวโลกไป ก็ทรงเห็นว่า พราหมณ์ฉกเอาไป. ทรงดำริว่า แม้พราหมณ์ก็ไม่อาจทำสักการะอันควรแก่พระเขี้ยวแก้วได้ จำเราจะถือเอาพระเขี้ยวแก้วนั้นไปเสีย แล้วทรงถือเอาจากระหว่างผ้าโพก บรรจุไว้ในผอบทองคำ นำไปยังเทวโลกประดิษฐานไว้ ณ พระจุฬามณีเจดีย์.
               ฝ่ายพราหมณ์ ครั้นแบ่งพระบรมธาตุแล้ว ไม่เห็นพระเขี้ยวแก้ว แต่เพราะตนฉกเอาโดยกิริยาของขโมย จึงไม่อาจแม้แต่จะถามว่า ใครฉกเอาพระเขี้ยวแก้วของเราไป. เห็นแต่การยกโทษลงในตนเองว่า เจ้าเท่านั้นแบ่งพระบรมธาตุมิใช่หรือ ทำไมเจ้าไม่รู้ว่า พระบรมธาตุของตนมีอยู่ก่อนเล่า.
               ลำดับนั้น พราหมณ์คิดว่า ทะนานทองคำนี้ก็มีคติดังพระบรมธาตุ เราจักทำทะนานทองคำที่ตวงพระบรมธาตุของพระตถาคตเป็นสถูป แล้วจึงทูลว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายโปรดประทานทะนานลูกนี้แก่ข้าพระเจ้าเถิด.
               แม้เหล่าเจ้าโมริยะ เมืองปิปผลิวัน ก็ส่งทูตไป ตระเตรียมการรบ ยกออกไปเหมือนพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นต้น.

               ธาตุถูปปูชาวณฺณนา               
               พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า และงานมหกรรมในกรุงราชคฤห์.
               ถามว่า ได้ทรงทำอย่างไร?
               ตอบว่า ได้ทรงทำการมหกรรม ตั้งแต่กรุงกุสินาราจนถึงกรุงราชคฤห์ เป็นระยะทาง ๒๕ โยชน์. ในระหว่างนั้น ทรงให้ทำทางกว้าง ๘ อุสภะปราบพื้นเรียบ สั่งให้ทำการบูชาในทางแม้ ๒๕ โยชน์ เช่นที่เหล่าเจ้ามัลละสั่งให้ทำการบูชาระหว่างมกุฏพันเจดีย์และสัณฐาคาร ทรงขยายไปในระหว่างตลาดในที่ทุกแห่ง เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก ทรงให้ล้อมพระบรมธาตุที่บรรจุไว้ในรางทองคำด้วยลูกกรงหอก ให้ผู้คนชุมนุมกันเป็นปริมณฑล ๕๐๐ โยชน์ ในแคว้นของพระองค์.
               ผู้คนเหล่านั้นรับพระบรมธาตุ เล่นสาธุกิฬา ออกจากกรุงกุสินารา พบเห็นดอกไม้มีสีดั่งทองคำในที่ใดๆ ก็เก็บดอกไม้เหล่านั้นในที่นั้นๆ บูชาพระบรมธาตุในระหว่างหอก เวลาดอกไม้เหล่านั้นหมดแล้วก็เดินต่อไป เมื่อถึงฐานแอกแห่งรถในคันหลัง ก็พากันเล่นสาธุกีฬาแห่งละ ๗ วันๆ เมื่อผู้คนรับพระบรมธาตุมากันด้วยอาการอย่างนี้ เวลาก็ล่วงไป ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน.
               เหล่ามิจฉาทิฏฐิพากันติเตียนว่า ตั้งแต่พระสมณโคดมปรินิพพาน พวกเราก็วุ่นวายด้วยการเล่นสาธุกีฬา โดยพลการ การงานของพวกเราเสียหายหมด แล้วก็ขุ่นเคืองใจ ไปบังเกิดในอบายประมาณ ๘๖,๐๐๐ คน.
               เหล่าพระขีณาสพระลึกแล้วเห็นว่า มหาชนขุ่นเคืองใจ พากันบังเกิดในอบาย แล้วดำริว่า พวกเราจักให้ท้าวสักกะเทวราชทรงทำอุบายนำพระบรมธาตุมา ดังนี้ จึงพากันไปยังสำนักท้าวสักกะเทวราชนั้น ทูลบอกเรื่องนั้นแล้ว ทูลว่า ท่านมหาราช ขอได้โปรดทรงทำอุบายนำพระบรมธาตุมาเถิด.
               ท้าวสักกะตรัสว่า ท่านเจ้าข้า ขึ้นชื่อว่าปุถุชนที่มีศรัทธาเสมอด้วยพระเจ้าอชาตศัตรูไม่มี พระองค์ไม่ทรงเชื่อเราดอก ก็แต่ว่า ข้าพเจ้าจักแสดงสิ่งที่น่าสะพึงกลัว เสมือนมารที่น่าสะพึงกลัว จักประกาศเสียงดังลั่น จักทำเป็นคนไข้สั่นระรัว เหมือนคนผีเข้า ขอพระคุณเจ้าทูลว่า มหาบพิตร พวกอมนุษย์เขาโกรธเคือง ได้โปรดให้นำพระบรมธาตุไปโดยเร็ว ด้วยอุบายอย่างนี้ ท้าวเธอก็จักทรงให้นำพระบรมธาตุไป.
               ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะก็ได้ทรงทำทุกสิ่งทุกอย่างดังกล่าวนั้น
               ฝ่ายพระเถระทั้งหลายก็เข้าไปเฝ้าพระราชาทูลว่า ถวายพระพร พวกอมนุษย์เขาโกรธเคือง โปรดให้นำพระบรมธาตุไปเถิด.
               พระราชาตรัสว่า ท่านเจ้าข้า จิตของโยมยังไม่ยินดีก่อน แต่เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะให้เขานำพระบรมธาตุไป. ในวันที่ ๗ ผู้คนทั้งหลายก็นำพระบรมธาตุมาถึง. ท้าวเธอทรงรับพระบรมธาตุที่มาด้วยอาการอย่างนั้น ทรงสร้างพระสถูปไว้ ณ กรุงราชคฤห์ และทรงทำมหกรรม แม้เหล่าเจ้าพวกอื่นๆ ก็นำไปตามสมควรแก่กำลังของตนๆ สร้างพระสถูปไว้ ณ สถานของตนๆ แล้วทำมหกรรม.
               บทว่า เอวเมตํ ภูตปุพฺพํ ความว่า การแบ่งพระบรมธาตุ และการสร้างพระสถูป ๑๐ แห่งนี้ เคยมีมาแล้วในชมพูทวีปด้วยประการฉะนี้. ภายหลัง พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้.
               เมื่อสถาปนาพระสถูปกันดั่งนี้แล้ว พระมหากัสสปเถระเห็นอันตรายของพระบรมธาตุทั้งหลาย จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรูทูลว่า ถวายพระพร ควรเก็บพระบรมธาตุไว้อย่างนี่แหละ.
               พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสว่า ดีละท่านเจ้าข้า กิจด้วยการเก็บพระบรมธาตุของโยม จงยกไว้ก่อน แต่โยมจะนำพระบรมธาตุที่เหลือมาได้อย่างไร.
               ทูลว่า ถวายพระพร การนำพระบรมธาตุมา ไม่ใช่ภาระของมหาบพิตร แต่เป็นภาระของพวกอาตมภาพ. ตรัสว่า ดีละท่านเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้าโปรดนำพระบรมธาตุมาเถิด โยมจะเก็บไว้.
               พระเถระเว้นไว้เพียงที่ราชตระกูลนั้นๆ ปกปิดไว้พระบรมธาตุส่วนที่เหลือ ก็นำมา. ส่วนพระบรมธาตุทั้งหลายในรามคาม เหล่านาคเก็บรักษาไว้.
               พระเถระดำริว่า อันตรายของพระบรมธาตุเหล่านั้นไม่มี ต่อไปในอนาคตกาล คนทั้งหลายจักเก็บไว้ในพระมหาเจดีย์ ในมหาวิหาร ลังกาทวีปดังนี้ แล้วไม่นำพระบรมธาตุเหล่านั้นมา นำมาจากนครทั้ง ๗ ที่เหลือประดิษฐานไว้ ณ ทิศตะวันออกและทิศใต้แห่งกรุงราชคฤห์ อธิษฐานว่า หินอันใดมีอยู่ในที่นี้ หินอันนั้นจงอันตรธานไป ขอฝุ่นจงสะอาดด้วยดี ขอน้ำอย่าขึ้นถึงดังนี้.
               พระราชาสั่งให้ขุดที่นั้น คุ้ยฝุ่นออกจากที่นั้นก่ออิฐแทน โปรดให้สร้างเจดีย์สำหรับพระอสีติมหาสาวก. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า แม้เมื่อมีคนถามว่า พระราชาโปรดให้สร้างอะไรไว้ในที่นี้ ตอบว่า ให้สร้างพระเจดีย์สำหรับพระมหาสาวกทั้งหลาย. แต่ในที่นั้นลึก ๘๐ ศอก โปรดให้ปูเครื่องลาดโลหะไว้ภายใต้ สร้างผอบที่ทำด้วยไม้จันทร์เหลืองเป็นต้น และพระสถูปไว้อย่างละ ๘ๆ.
               ครั้งนั้น พระราชาใส่พระบรมธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้ในผอบจันทน์เหลือง ทรงใส่ผอบจันทน์เหลืองแม้นั้น ลงในผอบจันทน์เหลืองอีกใบหนึ่ง แล้วทรงใส่ผอบจันทน์เหลืองแม้นั้น ลงในผอบจันทน์เหลืองอีกใบหนึ่ง ดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอันทรงรวมผอบ ๘ ใบไว้ในใบเดียวกัน ด้วยอุบายอย่างนั้นแล ทรงใส่ผอบทั้ง ๘ ผอบนั้นลงในพระสถูปจันทน์เหลือง ๘ สถูป ทรงใส่สถูปจันทน์เหลืองทั้ง ๘ สถูปลงในผอบจันทน์แดง ๘ ผอบ ทรงใส่ผอบจันทน์แดงทั้ง ๘ ผอบลงในพระสถูปจันทน์แดง ๘ สถูป ทรงใส่สถูปจันทน์แดงทั้ง ๘ สถูปลงในผอบงา ทรงใส่ผอบงาตั้ง ๘ ผอบลงในสถูปงา ๘ สถูปแล้วทรงใส่สถูปงาทั้ง ๘ สถูปลงในผอบรัตนะล้วน ๘ ผอบ ทรงใส่ผอบรัตนะล้วน ๘ ผอบลงในสถูปรัตนะล้วน ๘ สถูป ทรงใส่สถูปรัตนะล้วน ๘ สถูปลงในผอบทองคำ ๘ ผอบ ทรงใส่ผอบทองคำ ๘ ผอบลงในสถูปทองคำ ๘ สถูป ทรงใส่สถูปทองคำ ๘ สถูปลงในผอบเงิน ๘ ผอบ ทรงใส่ผอบเงิน ๘ ผอบลงในสถูปเงิน ๘ สถูป ทรงใส่สถูปเงิน ๘ สถูปลงในผอบมณี ๘ ผอบ ทรงใส่ผอบมณี ๘ ผอบลงในสถูปมณี ๘ สถูป ทรงใส่สถูปมณี ๘ สถูปลงในผอบทับทิม ๘ ผอบ แล้วทรงใส่ผอบทับทิมลงในสถูปทับทิม ๘ สถูป ทรงใส่สถูปทับทิม ๘ สถูปลงในผอบแก้วลาย ๘ ผอบ แล้วทรงใส่ผอบแก้วลาย ๘ ผอบลงในสถูปแก้วลาย ๘ สถูป ทรงใส่สถูปแก้วลาย ๘ สถูปลงในผอบแก้วผลึก ๘ ผอบ แล้วทรงใส่ผอบแก้วผลึกลงในสถูปแก้วผลึก ๘ สถูป.
               เจดีย์แก้วผลึกมีก่อนเจดีย์ทั้งหมด ถือเอาเป็นประมาณแห่งเจดีย์ในถูปาราม. บนเจดีย์แก้วผลึกนั้น โปรดให้สร้างเรือนทำด้วยรัตนะล้วน. บนเรือนรัตนะนั้นให้สร้างเรือนทำด้วยทองคำไว้ บนเรือนทองคำนั้นให้สร้างเรือนด้วยเงินไว้ บนเรือนเงินนั้นให้สร้างเรือนทำด้วยทองแดงไว้ บนเรือนทองแดงนั้น โรยเมล็ดทรายทำด้วยรัตนะทั้งหมด เกลี่ยดอกไม้น้ำ ดอกไม้บกไว้ ๑,๐๐๐ ดอก โปรดให้สร้างชาดก ๕๕๐ ชาดก พระอสีติมหาเถระ พระเจ้าสุทโธทนมหาราช พระนางมหามายาเทวี สหชาตทั้ง ๗ ทั้งหมด ดังกล่าวมานี้ทำด้วยทองคำทั้งสิ้น. โปรดให้ตั้งหม้อน้ำเต็ม ที่ทำด้วยทองและเงินอย่างละ ๕๐๐ หม้อ ให้ยกธงทอง ๕๐๐ ธง ให้ทำประทีปทอง ๕๐๐ ดวง ประทีปเงิน ๕๐๐ ดวง ทรงใส่ไส้ผ้าเปลือกไม้ไว้ในประทีปเหล่านั้น บรรจุน้ำมันหอม.
               ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะอธิษฐานว่า พวงมาลัยอย่าเหี่ยว กลิ่นหอมอย่าหาย ประทีปอย่าไหม้ แล้วให้จารึกอักษรไว้ที่แผ่นทองว่า แม้ในอนาคตกาล ครั้งพระกุมารพระนามว่า อโศก จักเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าอโศกมหาราช ท้าวเธอจักทรงกระทำพระบรมธาตุเหล่านี้ให้แพร่หลายไป ดังนี้. พระราชาทรงเอาเครื่องประดับทั้งหมดบูชา ทรงปิดประตูแล้วเสด็จออกไปตั้งแต่แรก.
               ท้าวเธอ ครั้นปิดประตูทองแดงแล้ว ทรงคล้องตรากุญแจไว้ที่เชือกผูก ทรงวางแท่งแก้วมณีแท่งใหญ่ไว้ที่ตรงนั้นนั่นเอง โปรดให้จารึกอักษรไว้ว่า ในอนาคตกาล เจ้าแผ่นดินที่ยากจน จงถือเอาแก้วมณีแท่งนี้ กระทำสักการะพระบรมธาตุทั้งหลายเทอญ.
               ท้าวสักกะเทวราชเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมา ทรงส่งไปด้วยพระดำรัสสั่งว่า พ่อเอ๋ย พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเก็บพระบรมธาตุแล้ว เจ้าจงตั้งกองรักษาการณ์ไว้ที่นั้น. วิสสุกรรมเทพบุตรมาประกอบหุ่นยนต์มีโครงร่างร้าย รูปไม้ (หุ่นยนต์) ถือพระขรรค์สีแก้วผลึกในห้องพระบรมธาตุ เคลื่อนตัวได้เร็วเสมือนลม. วิสสุกรรมเทพบุตรประกอบหุ่นยนต์แล้ว ติดลิ่มสลักไว้อันเดียวเท่านั้น เอาสิลาล้อมไว้โดยรอบ โดยอาการเสมือนเรือนสร้างด้วยอิฐ ข้างบนปิดด้วยสิลาแผ่นเดียว ใส่ฝุ่นแล้วทำพื้นให้เรียบ แล้วประดิษฐานสถูปหินไว้บนที่นั้น.
               เมื่อการเก็บพระบรมธาตุเสร็จเรียบร้อยอย่างนี้แล้ว แม้พระเถระดำรงอยู่จนตลอดอายุก็ปรินิพพาน แม้พระราชาก็เสด็จไปตามยถากรรม พวกมนุษย์แม้เหล่านั้น ก็ตายกันไป.
               ต่อมาภายหลัง เมื่อครั้งอโศกกุมารเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระธรรมราชา พระนามว่าอโศก ทรงรับพระบรมธาตุเหล่านั้นไว้แล้ว ได้ทรงกระทำให้แพร่หลาย.
               ทรงกระทำให้แพร่หลายอย่างไร?
               พระเจ้าอโศกนั้นอาศัยนิโครธสามเณร ทรงได้ความเลื่อมใสในพระศาสนา โปรดให้สร้างวิหาร ๘๔,๐๐๐ วิหารแล้ว ตรัสถามภิกษุสงฆ์ว่า โยมให้สร้างวิหาร ๘๔,๐๐๐ วิหารแล้ว จักได้พระบรมธาตุมาจากไหนเล่า ท่านเจ้าข้า.
               ภิกษุสงฆ์ทูลว่า ถวายพระพร พวกอาตมภาพฟังมาว่า ชื่อว่าที่เก็บพระบรมธาตุมีอยู่ แต่ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน.
               พระราชาให้รื้อพระเจดีย์ในกรุงราชคฤห์ ก็ไม่พบ ทรงให้ทำพระเจดีย์คืนดีอย่างเดิมแล้ว ทรงพาบริษัท ๔ คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไปยังกรุงเวสาลี แม้ในที่นั้นก็ไม่ได้ ก็ไปยังกรุงกบิลพัศดุ์ แม้ในที่นั้นก็ไม่ได้ แล้วไปยังรามคาม. เหล่านาคในรามคาม ก็ไม่ยอมให้รื้อพระเจดีย์. จอบที่ตกต้องพระเจดีย์ ก็หักเป็นท่อนเล็กท่อนน้อย. ด้วยอาการอย่างนี้ แม้ในที่นั้นก็ไม่ได้ ก็ไปยังเมืองอัลลกัปปะเวฏฐทีปะ ปาวา กุสินารา ในที่ทุกแห่งดังกล่าวมานี้ รื้อพระเจดีย์แล้วก็ไม่ได้พระบรมธาตุเลย ครั้นทำเจดีย์เหล่านั้นให้คืนดีดังเดิมแล้ว ก็กลับไปยังกรุงราชคฤห์อีก ทรงประชุมบริษัท ๔ แล้วตรัสถามว่า ใครเคยได้ยินว่า ที่เก็บพระบรมธาตุ ในที่ชื่อโน้น มีบ้างไหม.
               ในที่ประชุมนั้น พระเถระรูปหนึ่งอายุ ๑๒๐ ปี กล่าวว่า อาตมภาพก็ไม่รู้ว่า ที่เก็บพระบรมธาตุอยู่ที่โน้น แต่พระมหาเถระบิดาอาตมภาพ ให้อาตมภาพครั้งอายุ ๗ ขวบถือหีบมาลัย กล่าวว่า มานี่ สามเณร ระหว่างกอไม้ตรงโน้น มีสถูปหินอยู่ เราไปกันที่นั้นเถิด แล้วไปบูชา ท่านพูดว่า สามเณร ควรพิจารณาที่ตรงนี้. ถวายพระพร อาตมภาพรู้เท่านี้. พระราชาตรัสว่า ที่นั่นแหละ แล้วสั่งให้ตัดกอไม้ แล้วนำสถูปหินและฝุ่นออก ก็ทรงเห็นพื้นโบกปูนอยู่ แต่นั้นทรงทำลายปูนโบกและแผ่นอิฐแล้วเสด็จสู่บริเวณตามลำดับ ทอดพระเนตรเห็นทรายรัตนะ ๗ ประการ และรูปไม้ (หุ่นยนต์) ถือดาบ เดินวนเวียนอยู่ ท้าวเธอรับสั่งให้เหล่าคนผู้ถือผีมา แม้ให้ทำการเซ่นสรวงแล้ว ก็ไม่เห็นที่สุดโต่งสุดยอดเลย จึงทรงนมัสการเทวดาทั้งหลายแล้วตรัสว่า ข้าพเจ้ารับพระบรมธาตุเหล่านี้แล้ว บรรจุไว้ในวิหาร ๘๔,๐๐๐ วิหาร จะทำสักการะ ขอเทวดาอย่าทำอันตรายแก่ข้าพเจ้าเลย.
               ท้าวสักกะเทวราชเสด็จจาริกไปทรงเห็นพระเจ้าอโศกนั้นแล้ว เรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมาสั่งว่า พ่อเอ๋ย พระธรรมราชาอโศกจักทรงนำพระบรมธาตุไป เพราะฉะนั้น เจ้าจงลงสู่บริเวณไปทำลายรูปไม้ (หุ่นยนต์) เสีย. วิสสุกรรมเทพบุตรนั้นก็แปลงเพศเป็นเด็กชาวบ้านไว้จุก ๕ แหยม ยืนถือธนูตรงพระพักตร์ของพระราชาแล้ว ทูลว่า ข้าจะนำไป มหาราชเจ้า. พระราชาตรัสว่า นำไปสิพ่อ. วิสสุกรรมเทพบุตรจับศรยิงตรงที่ผูกหุ่นยนต์นั้นแล ทำให้ทุกอย่างกระจัดกระจายไป.
               ครั้งนั้น พระราชาทรงถือตรากุญแจที่ติดอยู่ที่เชือกผูก ทอดพระเนตรเห็นแท่งแก้วมณีและเห็นอักษรจารึกว่า ในอนาคตกาล เจ้าแผ่นดินที่ยากจนถือเอาแก้วมณีแท่งนี้แล้ว จงทำสักการะพระบรมธาตุทั้งหลาย ทรงกริ้วว่า ไม่ควรพูดหมิ่นพระราชาเช่นเราว่า เจ้าแผ่นดินยากจน ดังนี้แล้ว ทรงเคาะซ้ำๆ กันให้เปิดประตู เสด็จเข้าไปภายในเรือนประทีปที่ตามไว้เมื่อ ๒๑๘ ปี ก็โพลงอยู่อย่างนั้นนั่นเอง ดอกบัวขาบก็เหมือนนำมาวางไว้ขณะนั้นเอง เครื่องลาดดอกไม้ก็เหมือนลาดไว้ขณะนั้นเอง เครื่องหอมก็เหมือนเขาบดวางไว้เมื่อครู่นี้เอง. พระราชาทรงถือแผ่นทอง ทรงอ่านว่า ต่อไปในอนาคตกาล ครั้งกุมารพระนามว่า อโศก จักเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระธรรมราชาพระนามว่า อโศก ท้าวเธอจักทรงกระทำพระบรมธาตุเหล่านี้ให้แพร่หลายดังนี้ แล้วตรัสว่า ท่านผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้า มหากัสสปเถระเห็นตัวเราแล้ว ทรงคู้พระหัตถ์ซ้ายปรบกับพระหัตถ์ขวา.
               ท้าวเธอเว้นเพียงพระบรมธาตุที่ปกปิดไว้ในที่นั้น ทรงทำพระบรมธาตุที่เหลือทั้งหมดมาแล้ว ปิดเรือนพระบรมธาตุไว้เหมือนอย่างเดิม ทรงทำที่ทุกแห่งเป็นปกติอย่างเก่าแล้ว โปรดให้ประดิษฐานปาสาณเจดีย์ไว้ข้างบน บรรจุพระบรมธาตุไว้ในวิหาร ๘๔,๐๐๐ วิหาร ทรงไหว้พระมหาเถระแล้ว ตรัสถามว่า ท่านเจ้าข้า โยมเป็นทายาทในพระพุทธศาสนาได้ไหม?
               พระมหาเถระทูลว่า ถวายพระพร มหาบพิตรยังเป็นคนภายนอกของพระศาสนา จะเป็นทายาทของอะไรเล่า.
               ตรัสถามว่า ก็โยมบริจาคทรัพย์ถึง ๙๖ โกฏิ ให้สร้างวิหารไว้ถึง ๘๔,๐๐๐ วิหาร ยังไม่เป็นทายาท คนอื่นใครเล่าจะเป็นทายาท. พูดว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร ได้ชื่อว่าเป็นปัจจยทายก ก็ผู้ใดบวชบุตรหรือธิดาของตน ผู้นี้จึงจะชื่อว่าเป็นทายาทของพระศาสนา.
               ท้าวเธอจึงให้บวชพระโอรสและพระธิดา. ครั้งนั้น พระเถระทั้งหลายทูลพระองค์ว่า ขอถวายพระพร บัดนี้ มหาบพิตรเป็นทายาทในพระศาสนาแล้ว.
               บทว่า เอวเมตํ ภูตปุพฺพํ ความว่า แม้การเก็บพระบรมธาตุในอดีตกาลนี้ เคยมีมาแล้วในภาคพื้นชมพูทวีป ด้วยประการฉะนี้. แม้การกสงฆ์ผู้ทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ก็วางบทนี้ไว้.
               ก็คาถาเป็นต้นว่า อฎฺฐโทณํ จกฺขุมโต สรีรํ เป็นต้นนี้ พระเถระชาวสีหลทวีปกล่าวไว้แล้วแล.
               จบอรรถกถามหาปรินิพพานสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 57อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 67อ่านอรรถกถา 10 / 163อ่านอรรถกถา 10 / 301
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=10&A=1888&Z=3915
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=2965
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=2965
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :