ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 235อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 247อ่านอรรถกถา 10 / 273อ่านอรรถกถา 10 / 301
อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
สักกปัญหสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               ปญฺหเวยฺยากรณวณฺณนา               
               บทว่า มีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้ คือ มีอะไรเป็นเครื่องผูก ได้แก่เป็นผู้ถูกเครื่องผูกอะไรผูกเอาไว้.
               บทว่า กายมาก คือ ชนมาก.
               บทว่า ไม่มีเวร คือ ไม่มีความกระทบกระทั่ง.
               บทว่า ไม่มีอาชญา คือ พ้นจากอาชญาคืออาวุธ และอาชญาคือธนู.
               บทว่า ไม่มีข้าศึก คือ ไม่มีศัตรู.
               บทว่า ไม่มีความพยาบาท ได้แก่ ปราศจากโทมนัส.
               บทว่า พึงเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่ คือ ย่อมให้ทาน ย่อมทำการบูชาแล้วปรารถนาว่า โอ้หนอ ขอให้พวกเราพึงเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่กับใครๆ เถิด ขอให้พวกเราพึงไม่ก่อความกำเริบให้เกิดในใครๆ แล้วใช้สอยของที่ถือเอาด้วยนิ้วมือพร้อมกับคนหนึ่งพันเถิด.
               บทว่า และย่อมมีแก่พวกเขาด้วยประการฉะนี้ คือ และก็ความปรารถนานี้ย่อมมีแก่พวกเขาด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า และก็เมื่อเป็นเช่นนั้น คือ เมื่อความปรารถนาอย่างนั้นแม้มีอยู่.
               บทว่า มีริษยาและความตระหนี่เป็นเครื่องประกอบเข้าไว้ คือ ความริษยามีความสิ้นไปแห่งสมบัติของอื่นเป็นลักษณะ และความตระหนี่อันมีความทนไม่ได้ต่อความที่สมบัติของตน เป็นของทั่วไปกับพวกคนเหล่าอื่นเป็นลักษณะ.
               ชื่อว่า ผู้มีความริษยาและความตระหนี่เป็นเครื่องประกอบเข้าไว้ เพราะความริษยาและความตระหนี่เป็นเครื่องประกอบเข้าไว้ของพวกเขา.
               นี้เป็นความย่อในที่นี้. ส่วนความริษยาและความตระหนี่อย่างพิสดาร ได้กล่าวไว้เสร็จแล้วในอภิธรรม.
               สำหรับในเรื่องความตระหนี่นี้
               เพราะความตระหนี่ที่อยู่ สัตว์ไม่ว่าเป็นยักษ์หรือเป็นเปรตต่างก็เที่ยวใช้ศีรษะทูนขยะของที่อยู่นั้นเอง. เพราะความตระหนี่ตระกูล เมื่อบุคคลเห็นผู้ที่กำลังทำทานเป็นต้นแก่ผู้อื่นในตระกูลนั้น ก็คิดว่า ตระกูลของเรานี้แตกแล้วหนอ ถึงกับกระอักเลือดบ้าง ถ่ายท้องบ้าง ไส้ขาดเป็นท่อนน้อยใหญ่ทะลักออกมาบ้าง. เพราะความตระหนี่ลาภ ผู้เกิดตระหนี่ในลาภของสงฆ์หรือของหมู่ บริโภคเหมือนบริโภคของส่วนบุคคล เกิดเป็นยักษ์บ้าง เปรตบ้าง งูเหลือมขนาดใหญ่บ้าง. ก็เพราะความตระหนี่วรรณแห่งสรีระและวรรณแห่งคุณ และเพราะความตระหนี่การศึกษาเล่าเรียน บุคคลจะกล่าวชมแต่คุณของตัวเองเท่านั้น หากล่าวชมคุณของคนเหล่าอื่นไม่ กล่าวอยู่แต่โทษนั้นๆ ว่า คนนี้มีดีอะไร และจะไม่ให้การศึกษาเล่าเรียนอะไรๆ แก่ใครๆ พูดแต่โทษว่า คนนี้ขี้เหร่ และบ้าบอ.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยความตระหนี่ที่อยู่ เขาย่อมไหม้ในเรือนโลหะ. ด้วยความตระหนี่ตระกูล เขาย่อมเป็นผู้มีลาภน้อย. ด้วยความตระหนี่ลาภ เขาย่อมเกิดในคูถนรก. ด้วยความตระหนี่วรรณ เมื่อเกิดในภพ จะไม่มีวรรณ. ด้วยความตระหนี่ธรรม เขาย่อมเกิดในนรกขี้เถ้า.
               ก็แล ความริษยาและความตระหนี่ที่เป็นเครื่องประกอบ (สัตว์ไว้ในภพ) นี้ จะละได้ก็ด้วยโสดาปัตติมรรค. ตลอดเวลาที่ยังละมันไม่ได้ เทวดาและมนุษย์ แม้ปรารถนาความเป็นผู้ไม่มีเวรเป็นต้นอยู่ก็ตาม ก็หาได้รอดพ้นไปจากเวรเป็นต้นไม่เลย.
               บทว่า ข้าพระองค์ข้ามความสงสัยในปัญหานี้ได้แล้ว ความว่า ท้าวสักกะตรัสว่า ในปัญหานี้ เพราะฟังพระดำรัสของพระองค์ ข้าพระองค์จึงข้ามความสงสัยได้แล้ว. ท้าวสักกะไม่ได้ทรงแสดงความที่ทรงข้ามความสงสัยได้ด้วยอำนาจมรรค.
               คำว่า ความสงสัยที่ต้องถามว่า อย่างไรๆ ปราศไปแล้ว คือ ความสงสัย แม้นี้ว่า อย่างไรนี้ นี้อย่างไร ปราศไปแล้ว.
               คำมี เค้ามูลเป็นต้น มีใจความอันได้กล่าวไว้เสร็จแล้ว.
               บทว่า มีที่ชอบและที่ชังเป็นเค้ามูล คือ ความตระหนี่มีสัตว์และสังขารอันเป็นที่รักเป็นเค้ามูล ริษยามีสัตว์และสังขารอันไม่เป็นที่รักเป็นเค้ามูล หรือทั้งสอง ก็มีทั้งสองเป็นเค้ามูล.
               ก็สำหรับนักบวช ลูกศิษย์ลูกหาเป็นต้น สำหรับชาวบ้าน ลูกเป็นต้น หรือสัตว์ก็มีช้างม้าเป็นต้น ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่หยอกล้อ เป็นที่ยึดถือว่าของเรา. เมื่อไม่เห็นพวกเหล่านั้น แม้ครู่เดียวก็ทนไม่ได้. เมื่อเขาได้เห็นคนอื่นผู้ได้สัตว์ที่น่ารักอย่างนั้นก็เกิดริษยา ถูกคนอื่นขอสัตว์นั้นเองว่า พวกเรามีงานบางอย่างด้วยสัตว์นี้ โปรดให้ยืมสักครู่เถิด ก็ให้ไม่ได้ กล่าวว่า เขาจะเหนื่อยหรือเขาจะกลุ้ม แล้วก็เกิดความตระหนี่.
               ด้วยประการฉะนี้ ก็เป็นอันว่า ความริษยาและความตระหนี่แม้ทั้งสอง มีสัตว์อันเป็นที่รักเป็นเค้ามูล.
               ก็แหละ สำหรับภิกษุบริขารมีบาตรและจีวรเป็นต้น หรือสำหรับชาวบ้าน อุปกรณ์มีเครื่องประดับเป็นต้น ย่อมเป็นที่รักที่ชื่นใจ. เมื่อเขาเห็นสิ่งชนิดนั้นกำลังเกิดแก่คนอื่น ก็เกิดความริษยาว่า โอ้หนอ ขอสิ่งเห็นปานนี้ ไม่พึงมีแก่คนนั้น และแม้ถูกขอก็เกิดความตระหนี่ว่า แม้พวกเรากำลังรัก ยังใช้สอยสิ่งนี้อยู่ ยังให้ไม่ได้หรอก.
               ด้วยประการฉะนี้ ก็เป็นอันว่า แม้ความริษยาและความตระหนี่ทั้งสอง ย่อมมีสังขารอันเป็นที่รักเป็นเค้ามูล.
               แต่เมื่อได้สัตว์และสังขารประการที่กล่าวมาแล้วนั้น แต่เป็นชนิดที่ไม่น่ารักเลย ถึงแม้ว่าสัตว์และสังขารเหล่านั้นไม่เป็นที่ชื่นใจเขา แม้อย่างนั้นก็ตาม เพื่อให้พวกกิเลสที่ตรงกันข้ามเป็นไปได้ ก็กระทำความริษยาว่า เว้นข้าเสียแล้ว ใครอื่นเป็นผู้ได้สัตว์และสังขารเห็นปานนี้ หรือถูกขอยืมก็ไม่ให้ ย่อมกระทำความหวง. ด้วยประการฉะนี้ ก็เป็นอันว่า ความริษยาและความตระหนี่แม้ทั้งสองย่อมมีสัตว์และสังขารอันไม่เป็นที่รักเป็นเค้ามูล.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า มีความพอใจเป็นเค้ามูล นี้.
               ความพอใจมี ๕ อย่างคือ ความพอใจในการแสวงหา ความพอใจในการได้เฉพาะ ความพอใจในการใช้สอย ความพอใจในการสะสม ความพอใจในการสละ.
               ความพอใจในการแสวงหาเป็นไฉน คือ คนบางคนในโลกนี้ เกิดความพอใจไม่อิ่ม ย่อมแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส ย่อมแสวงหาสิ่งที่พึงถูกต้อง ย่อมแสวงหาทรัพย์ นี้ความพอใจในการแสวงหา.
               ความพอใจในการได้เฉพาะเป็นไฉน คือ คนบางคนในโลกนี้ เกิดความพอใจไม่อิ่ม ย่อมได้เฉพาะรูป เสียง กลิ่น รส ย่อมได้เฉพาะสิ่งที่พึงถูกต้อง ย่อมได้เฉพาะทรัพย์ นี้ความพอใจในการได้เฉพาะ.
               ความพอใจในการใช้สอยเป็นไฉน คือ คนบางคนในโลกนี้ เกิดความพอใจไม่อิ่ม ย่อมใช้สอยรูป เสียง กลิ่น รส ย่อมใช้สอยสิ่งที่พึงถูกต้อง ย่อมใช้สอยทรัพย์ นี้ความพอใจในการใช้สอย.
               ความพอใจในการสะสมเป็นไฉน คือ คนบางคนในโลกนี้ เกิดความพอใจไม่อิ่ม ย่อมทำการสะสมทรัพย์ ด้วยคิดว่า จะมีในคราววิบัติ นี้ความพอใจในการสะสม.
               ความพอใจในการสละเป็นไฉน คือ คนบางคนในโลกนี้ เกิดความพอใจไม่อิ่ม ย่อมจ่ายทรัพย์แก่พลช้าง พลม้า พลรถ ขมังธนู ด้วยคิดว่า คนเหล่านี้จักรักษา จักคุ้มครอง จักรัก จักแวดล้อมเรา นี้ความพอใจในการสละ.
               ความพอใจแม้ทั้ง ๕ อย่างนี้ ในที่นี้เป็นเพียงตัณหาเท่านั้นเอง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาความพอใจนั้น จึงได้ตรัสคำนี้.

               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า มีความตรึกเป็นเค้ามูล นี้.
               ความตรึกที่เกิดจากความรู้สึกตระหนักแน่ที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า อาศัยลาภ เกิดความรู้สึกตระหนักแน่๑- ชื่อว่า ความตรึก.
____________________________
๑- ที. ม. มหานิทานสุตฺต เล่ม ๑๐/ข้อ ๕๙

               คำว่า ความรู้สึกตระหนักแน่ คือ ความรู้สึกตระหนักแน่ มีสองอย่างคือ ความรู้สึกตระหนักแน่คือตัณหา และความรู้สึกตระหนักแน่คือทิฏฐิ. ตัณหาวิปริต ๑๐๘ ชนิด ชื่อว่าความรู้สึกตระหนักแน่คือตัณหา. ความเห็น ๖๒ อย่าง ชื่อว่าความตระหนักแน่คือทิฏฐิ. ก็ด้วยประการฉะนี้ จึงไม่มีการชี้ขาดลงไปว่าน่าใคร่ไม่น่าใคร่ และน่ารักไม่น่ารักด้วยอำนาจความตระหนักแน่คือตัณหา ที่กล่าวมาแล้วอย่างนั้น. เพราะสิ่งนั้นเองเป็นของน่าใคร่สำหรับบางคน ไม่น่าใคร่สำหรับบางคน เหมือนการชี้ขาดในไส้เดือนมฤคและเนื้อเป็นต้นของพระราชาในส่วนภูมิภาค และพระราชาในประเทศส่วนกลาง ก็เมื่อวัตถุที่ได้รับมานั้นถูกชี้ขาดด้วยความตระหนักแน่คือตัณหาแล้ว จึงจะมีการชี้ชัดลงไปด้วยความรู้สึกตระหนักแน่ คือความตรึกว่า เป็นของรูปเท่านี้ เท่านี้เป็นของเสียง เป็นของกลิ่นเท่านี้ เท่านี้เป็นของรส เป็นของสิ่งที่พึงถูกต้องเท่านี้ เท่านี้เป็นของเรา เป็นของเขาเท่านี้ เท่านี้จะเก็บไว้ จะให้เท่านี้.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า จอมทวยเทพ ความพอใจนี้เอง มีความตรึกเป็นเค้ามูล ดังนี้.
               คำว่า มีส่วนความสำคัญที่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้าเป็นเค้ามูล คือ ธรรมเครื่องเนิ่นช้ามี ๓ อย่างคือ
                         ธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือตัณหา
                         ธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือมานะ
                         ธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือทิฏฐิ.
               ใน ๓ อย่างนั้น ตัณหาวิปริต ๑๐๘ อย่าง ชื่อว่าธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือตัณหา มานะ ๙ อย่าง ชื่อว่าธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือมานะ ทิฏฐิ ๖๒ ชนิด ชื่อว่าธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือทิฏฐิ.
               ในธรรมเครื่องเนิ่นช้าเหล่านั้น ในที่นี้ ท่านหมายเอาธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือตัณหา.
               ที่เรียกว่าธรรมเครื่องเนิ่นช้า เพราะอรรถว่ากระไร.
               ที่เรียกว่าธรรมเครื่องเนิ่นช้า เพราะอรรถว่าให้ถึงอาการของคนมัวเมาประมาท.
               ความสำคัญที่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้านั้น ชื่อว่า ปปัญจสัญญา (ความสำคัญที่คลุกเคล้าไปด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้า). ส่วนเรียกว่า สังขา เหมือนในคำเป็นต้นว่า ก็ส่วนแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้า มีความสำคัญเป็นเค้ามูล.๒-
               ด้วยประการฉะนี้ คำว่า มีส่วนความสำคัญที่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้าเป็นเค้ามูล จึงหมายความว่า ความตรึกมีส่วนแห่งความสำคัญที่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้าเป็นเค้ามูล.
____________________________
๒- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๑๘

               คำว่า ข้อปฏิบัติให้เข้าถึงความสมควรแก่การดับโดยไม่เหลือแห่งส่วนความสำคัญที่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้า ความว่า ความดับโดยไม่เหลือ ได้แก่ความสงบระงับอันใดแห่งส่วนความสำคัญที่ประกอบไปด้วยเครื่องเนิ่นช้านี้.
               ท้าวสักกะย่อมทูลถามทางพร้อมทั้งวิปัสสนา คือ ความเหมาะสมแห่งความดับโดยไม่เหลือนั้น และข้อปฏิบัติให้ถึงในความดับโดยไม่เหลือนั้น.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มเวทนา ๓ อย่างแก่ท้าวสักกะนั้นว่า และอาตมภาพกล่าวโสมนัส.
               ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแต่ข้อที่ทูลถาม ข้อที่ไม่ทูลถาม ข้อที่มีความต่อเนื่อง ข้อที่ไม่มีความต่อเนื่องหรือ.
               ตอบว่า ตรัสแต่ข้อที่ทูลถามเท่านั้น ไม่ใช่ข้อที่ไม่ทูลถาม ตรัสข้อที่มีความต่อเนื่องเท่านั้น ไม่ใช่ข้อที่ไม่มีความต่อเนื่อง. จริงอยู่ สำหรับเทวดาทั้งหลาย อรูปปรากฏกว่า โดยความเป็นรูป ถึงแม้ในอรูป เวทนาก็ปรากฏกว่า. เพราะเหตุไร. เพราะกายที่เกิดจากธุลีในน้ำ (กรัชกาย) ของพวกเทวดา เป็นของละเอียด รูปที่เกิดจากกรรมเป็นของมีกำลัง เพราะความที่กายอันเกิดแต่ธุลีในน้ำเป็นของละเอียด (และ) เพราะรูปที่เกิดจากกรรมเป็นของมีกำลัง ถ้าก้าวล่วงอาหารแม้มื้อเดียว พวกเทวดาก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ย่อมแหลกไปเหมือนก้อนเนยใสบนแผ่นหินที่ร้อน.
               พึงทราบถ้อยคำทั้งหมดตามนัยที่กล่าวแล้วในพรหมชาลสูตรนั้นแล.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มเวทนาทั้ง ๓ อย่างแก่ท้าวสักกะ.
               ก็แหละกัมมัฏฐานมี ๒ อย่างคือ รูปกัมมัฏฐานและอรูปกัมมัฏฐาน. จะเรียกกัมมัฏฐานนั้นเองว่า การกำหนดรูป และการกำหนดอรูปก็ได้. ในกัมมัฏฐาน ๒ อย่างนั้น รูปปรากฏแก่ผู้ใด พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงทำการกำหนดธาตุ ๔ ให้พิสดารแก่ผู้นั้นด้วยอำนาจเอาใจใส่โดยย่อ หรือด้วยอำนาจเอาใจใส่โดยพิสดาร ก็ตรัสรูปกัมมัฏฐาน อรูปปรากฏแก่ผู้ใด ก็ตรัสอรูปกัมมัฏฐานแก่ผู้นั้น และเมื่อจะตรัสอรูป ก็ทรงแสดงรูปกัมมัฏฐานอันเป็นที่ตั้งของอรูปนั้นจึงตรัส.
               แต่สำหรับพวกเทวดา ทรงทราบว่าอรูปปรากฏ จึงทรงเริ่มเวทนาด้วยอำนาจอรูปกัมมัฏฐาน.
               ก็ความตั้งมั่นในอรูปกัมมัฏฐานมี ๓ อย่างคือ ด้วยอำนาจผัสสะ ด้วยอำนาจเวทนา ด้วยอำนาจจิต. อย่างไร คือ สำหรับบางคน เมื่อรับเอารูปกัมมัฏฐานไปจะโดยสังเขปหรือโดยพิสดารก็ตาม ย่อมมีความตกไปเป็นอย่างยิ่งในชั้นแรกของจิตและเจตสิกทั้งหลายในอารมณ์นั้น ผัสสะเกิดถูกต้องอารมณ์นั้นอยู่ย่อมเป็นของปรากฏ. สำหรับบางคน เวทนาเกิดตามเสวยอารมณ์นั้นอยู่ย่อมเป็นของปรากฏ. สำหรับบางคน วิญญาณที่เกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์นั้นอยู่ย่อมเป็นของปรากฏ.
               ในความตั้งมั่นทั้ง ๓ อย่างนั้น ผู้ใดมีผัสสะแจ่มแจ้ง แม้ผู้นั้นไม่ใช่จะเกิดขึ้นแต่ผัสสะอย่างเดียวเท่านั้น พร้อมกับผัสสะนั้น แม้เวทนาที่ตามเสวยอารมณ์นั้นเองอยู่ก็ย่อมเกิดขึ้นด้วย ถึงสัญญาที่จำอารมณ์นั้นอยู่ ถึงเจตนาที่คิดอารมณ์นั้นอยู่ ถึงวิญญาณที่รู้แจ้งอารมณ์นั้นอยู่ ก็ย่อมเกิดขึ้นด้วย จึงชื่อว่าย่อมรวบถือเอาหมวดเจตสิกธรรมที่มีผัสสะเป็นที่ห้าเหมือนกัน ด้วยประการฉะนี้.
               ผู้ใดมีเวทนาแจ่มแจ้ง แม้ผู้นั้นก็ย่อมชื่อว่ารวบถือเอาหมวดเจตสิกธรรม ที่มีผัสสะเป็นที่ห้าอีกเหมือนกัน เพราะมิใช่แต่เวทนาอย่างเดียวเท่านั้น ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับเวทนานั้น ยังมีผัสสะเกิดขึ้นกระทบอารมณ์นั้นเองอยู่ ยังมีสัญญาที่จำอารมณ์ ยังมีเจตนาที่คิดอารมณ์ ยังมีวิญญาณที่รู้แจ้งอารมณ์นั้นอยู่เกิดขึ้นด้วย.
               สำหรับผู้ที่มีวิญญาณแจ่มแจ้งแม้นั้น ก็ย่อมชื่อว่ารวบถือเอาหมวดเจตสิกธรรมที่มีผัสสะเป็นที่ห้าอีกเหมือนกันนั่นแหละ เพราะมิใช่เกิดขึ้นแต่วิญญาณอย่างเดียวเท่านั้น พร้อมกับวิญญาณนั้น ก็ยังมีผัสสะที่เกิดขึ้นกระทบอารมณ์นั้นเองอยู่ ยังมีเวทนาที่ตามเสวยอารมณ์ ยังมีสัญญาที่จำอารมณ์ ยังมีเจตนาที่คิดอารมณ์เกิดขึ้นด้วย.
               เมื่อเขาใคร่ครวญอยู่ว่า ธรรมหมวดที่มีผัสสะเป็นที่ห้าเหล่านี้อาศัยอะไร ก็ย่อมรู้ชัดว่าอาศัยที่ตั้ง. ชื่อว่า ที่ตั้ง ก็คือร่างกาย (ที่เกิดจากละอองในน้ำ) ที่ท่านหมายเอากล่าวว่า ก็แลวิญญาณของเรานี้อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ เกี่ยวข้องในร่างกายนี้.
               โดยใจความก็คือ เขาย่อมรู้ชัดทั้งภูตรูปและอุปาทารูป. เมื่อรู้ชัดว่า ที่ตั้งในร่างกายนี้เป็นรูป หมวดที่มีผัสสะเป็นที่ห้า เป็นนามอย่างนี้ ก็ชื่อว่าย่อมเห็นสักว่าเป็นนามรูปเท่านั้น. และนามรูปก็เป็นเพียงขันธ์ห้า คือรูปในที่นี้เป็นรูปขันธ์ และนามก็เป็นขันธ์ที่ไม่มีรูปทั้ง ๔. ก็ขันธ์ห้าที่พ้นไปจากนามรูป หรือนามรูปที่พ้นไปจากขันธ์ห้าหามีอยู่ไม่.
               เมื่อเขาไตร่ตรองว่า ขันธ์ห้าเหล่านี้มีอะไรเป็นเหตุ ก็ย่อมเห็นว่ามีอวิชชาเป็นต้นเป็นเหตุ แต่นั้นเมื่อไตร่ตรองถึงปัจจัย และสิ่งที่เกิดเพราะปัจจัยจนรู้ว่านอกเหนือไปจากปัจจัยและสิ่งที่เกิดจากปัจจัยนั้นแล้ว ไม่มีสัตว์หรือบุคคลอื่น มีแต่กลุ่มสังขารล้วนๆ เท่านั้นเอง แล้วก็ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ด้วยอำนาจนามรูปพร้อมกับปัจจัย เที่ยวพิจารณาว่า ไม่เที่ยง ทนไม่ได้ ไม่มีอะไรเป็นตัวตน ตามลำดับแห่งวิปัสสนา.
               เขาหวังการแทงตลอดอยู่ว่า วันนี้ วันนี้ ในวันเห็นปานนั้น เมื่อได้ฤดูเป็นที่สบาย บุคคลเป็นที่สบาย อาหารเป็นที่สบาย หรือการฟังธรรมเป็นที่สบายแล้ว ก็นั่งโดยบัลลังก์เดียวเท่านั้น ครั้นให้วิปัสสนาถึงยอดแล้ว ก็ย่อมตั้งอยู่ในอรหัตตผล.
               โคปกเทพเทพบุตรบอกกัมมัฏฐานจนถึงอรหัตแก่ท่านทั้งสามเหล่านี้อย่างนี้แล.
               แต่ในที่นี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงบอกอรูปกัมมัฏฐาน ก็ทรงแสดงด้วยเวทนาเป็นหัวข้อ. เมื่อพระองค์จะแสดงด้วยอำนาจผัสสะหรือด้วยอำนาจวิญญาณ จะไม่มีความแจ่มแจ้งแก่ท้าวสักกะนี้ แต่จะปรากฏเหมือนความมืด. แต่ด้วยอำนาจเวทนา จึงจะแจ่มแจ้ง.
               เพราะเหตุไร.
               เพราะการเกิดเวทนาขึ้น เป็นของแจ่มแจ้งแล้ว.
               จริงอยู่ การเกิดสุขและทุกขเวทนาขึ้นเป็นสิ่งแจ่มแจ้งแล้ว. เมื่อความสุขเกิดขึ้น ทั่วทั้งร่างก็เกิดกระเพื่อม ข่มอยู่ ซาบซ่า ซึมซาบ เหมือนให้กินเนยใสที่ชำระร้อยครั้ง เหมือนกำลังทาน้ำมันที่เจียวร้อยครั้ง เหมือนกำลังเอาน้ำพันหม้อมาดับความเร่าร้อน เปล่งวาจาว่า สุขหนอ สุขหนอ อยู่นั่นแหละ. เมื่อเกิดความทุกข์ขึ้น ทั่วทั้งร่างก็เกิดกระเพื่อม ข่มอยู่ ซู่ซ่า ซึมซาบเหมือนเข้าสู่กระเบื้องร้อน เหมือนเอาน้ำทองแดงเหลวมารด เหมือนโดนมัดคบเพลิงไม้ในป่าที่มีหญ้าและไม้ใหญ่ๆ ที่แห้ง คร่ำครวญว่า ทุกข์หนอ ทุกข์หนอ อยู่นั่นแล.
               สุขและทุกขเวทนาเกิดขึ้นปรากฏดังว่ามานี้.
               ส่วนอทุกขมสุขเวทนาชี้แจงยากเหมือนกะถูกความมืดครอบงำ. อทุกขมสุขเวทนานั้น เพราะหลีกสุขและทุกข์ไป จึงมีอาการเป็นกลางด้วยอำนาจเป็นปฏิปักษ์ต่อสุขและทุกข์ ดังนี้
               เมื่อถือเอาโดยนัย จึงจะแจ่มแจ้ง.
               เหมือนอะไร พรานเนื้อเดินไปตามรอยเท้าเนื้อที่ขึ้นหลังแผ่นหินในระหว่าง แล้วหนึไปได้ เห็นรอยเท้าที่ส่วนนี้บ้าง ส่วนอื่นบ้างของหลังแผ่นหิน แม้ตรงกลางไม่เห็นก็ย่อมรู้ได้โดยนัยว่า มันคงจะขึ้นทางนี้แล้วลงทางนี้ไปโดยประเทศนี้ ตรงกลางบนหลังแผ่นหินฉันใด ก็การเกิดสุขเวทนาขึ้นย่อมเป็นสิ่งแจ่มแจ้ง เหมือนรอยเท้าตรงที่เนื้อมันขึ้น การเกิดขึ้นแห่งทุกขเวทนาก็เป็นสิ่งแจ่มแจ้ง เหมือนรอยเท้าตรงที่เนื้อมันลง เมื่อถือเอาโดยนัยว่า เพราะหลีกสุขและทุกข์ไป อทุกขมสุขเวทนานั้นจึงมีอาการเป็นกลางด้วยอำนาจเป็นปฏิปักษ์ต่อทั้งสุขและทุกข์ ก็ย่อมเป็นของแจ่มแจ้ง เหมือนการถือเอาโดยนัยว่า มันขึ้นตรงนี้ ลงตรงนี้ แล้วไปอย่างนี้ ฉันนั้น.
               ครั้นตรัสรูปกัมมัฏฐานไว้ก่อนอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงพลิกแพลงแสดงอรูปกัมมัฏฐานด้วยอำนาจเวทนาในภายหลัง. และก็ไม่ใช่ทรงแสดงอย่างนี้อย่างเดียวในที่นี้เท่านั้น หากแต่ทรงแสดงรูปกัมมัฏฐานก่อนในพระสูตรไม่ใช่น้อยอย่างนี้คือ ในมหาสติปัฏฐานสูตร จูฬตัณหาสังขยสูตร มหาตัณหาสังขยสูตร จุลลเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร รัฏฐปาลสูตร มาคันทิยสูตร ธาตุวิภังคสูตร อเนญชสัปปายสูตร (และ) ในเวทนาสังยุตทั้งหมด แล้วจึงทรงพลิกแพลงแสดงอรูปกัมมัฏฐานด้วยอำนาจเวทนาในภายหลัง.
               และก็ในพระสูตรเหล่านั้นฉันใด แม้ในสักกปัญหสูตรนี้ก็ฉันนั้น ครั้งแรกทรงแสดงรูปกัมมัฏฐาน แล้วภายหลังจึงทรงพลิกแพลงแสดงอรูปกัมมัฏฐานด้วยอำนาจเวทนา. สำหรับในสักกปัญหสูตรนี้ รูปกัมมัฏฐานพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย่อเพียงเป็นอารมณ์ของเวทนาเท่านั้น ฉะนั้น ในบาลีจึงไม่มียกขึ้นมา. เพื่อจะทรงแสดงข้อที่เป็นหลักสำหรับตั้งมั่นด้วยอำนาจของเวทนาที่แจ่มแจ้งแก่ท้าวสักกะนั้นนั่นเอง ในอรูปกัมมัฏฐาน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำเป็นต้นว่า จอมทวยเทพ อาตมภาพกล่าวโสมนัส ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สองอย่าง คือ สองชนิด หมายความว่า โดยส่วนสอง.
               คำว่า ไม่พึงเสพโสมนัสเห็นปานนี้ คือ ไม่พึงเสพโสมนัสที่อาศัยเรือนเห็นปานนี้. ชื่อว่าโสมนัสที่อาศัยเรือน ได้แก่โสมนัสที่อาศัยกามคุณ เป็นไปในทวาร ๖ อย่างนี้ คือในเวทนาเหล่านั้น โสมนัสที่อาศัยเรือน ๖ อย่างเป็นไฉน เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นการได้เฉพาะซึ่งรูปที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยตาที่น่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจ น่าชื่นใจ ที่เกี่ยวกับเหยื่อของโลก โดยความได้เฉพาะ หรือเมื่อตามระลึกถึงรูปที่เคยได้เฉพาะเมื่อก่อน ซึ่งล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว จึงเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสเห็นปานนี้ใด นี้เรียกว่าโสมนัสที่อาศัยเรือน๓- ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๓- ม. อุ. สฬายตนวิภงฺคสุตฺต เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๒๔

               คำว่า พึงเสพโสมนัสเห็นปานนี้ คือ พึงเสพโสมนัสที่อาศัยการออกจากเรือนเห็นปานนี้. ชื่อว่าโสมนัสที่อาศัยการออกจากเรือน ได้แก่โสมนัสที่เกิดขึ้นแก่ผู้เกิดโสมนัสว่า เราได้ขวนขวายวิปัสสนาแล้ว ผู้สามารถเร่งเร้าใจให้ขวนขวายเริ่มตั้งวิปัสสนาด้วยอำนาจไตรลักษณ์ มีความไม่เที่ยงเป็นต้นในอารมณ์ที่น่ารักซึ่งมาสู่คลองในทวารทั้ง ๖ อย่างนี้เป็นต้นว่า ในเวทนาเหล่านั้น โสมนัสที่อาศัยการออกจากเรือน ๖ อย่างเป็นไฉน ก็แลเมื่อบุคคลมารู้ความที่รูปทั้งหลายไม่เที่ยง แปรปรวนไป คลายไป ดับไป แล้วเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาที่ถูกต้องตามที่เป็นจริงอยู่อย่างนี้ว่า รูปทั้งหลายทั้งเมื่อก่อนและบัดนี้ รูปเหล่านั้นทั้งหมดไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จึงเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสเห็นปานนี้ใด นี้เรียกว่าโสมนัสที่อาศัยการออกจากเรือน.
               คำว่า พึงเสพ คือ โสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการออกจากเรือน ด้วยอำนาจวิปัสสนา ด้วยอำนาจการตามระลึกถึง ด้วยอำนาจฌานที่หนึ่งเป็นต้นนี้ ชื่อว่าพึงเสพ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า หากโสมนัสใดมีความตรึก มีความตรอง คือ ในโสมนัสที่อาศัยการออกจากเรือนแม้นั้น ก็ต้องรู้ว่าโสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการออกจากเรือน ด้วยอำนาจวิปัสสนา ด้วยอำนาจการตามระลึกถึง และด้วยอำนาจแห่งฌานที่หนึ่งนั้นเป็นโสมนัสที่ยังมีความตรึก ยังมีความตรอง.
               บทว่า หากโสมนัสใดไม่มีความตรึก ไม่มีความตรอง คือ ส่วนโสมนัสที่เกิดด้วยอำนาจฌานที่สองและที่สามนั้น ก็ต้องรู้ว่าเป็นโสมนัสที่ไม่มีความตรึก ไม่มีความตรอง.
               คำว่า เหล่าใด ไม่มีความตรึก ไม่มีความตรอง ประณีตกว่า ความว่า แม้ในโสมนัสทั้งสองนี้ โสมนัสที่ไม่มีความตรึก ไม่มีความตรองนั้น ประณีตกว่า.
               ด้วยคำนี้ เป็นอันท่านกล่าวถึงอะไร. กล่าวถึงอรหัตตผลของสองท่าน.
               อย่างไร?
               จริงอยู่ ภิกษุรูปหนึ่งเมื่อเริ่มตั้งวิปัสสนาในโสมนัสที่ยังมีความตรึก ยังมีความตรอง แล้วก็มาใคร่ครวญว่าโสมนัสนี้อาศัยอะไร ก็ทราบชัดว่าอาศัยที่ตั้ง แล้วก็ตั้งอยู่ในอรหัตตผลโดยลำดับ ตามนัยที่กล่าวแล้วในหมวดอันมีผัสสะเป็นที่ห้านั่นแหละ. รูปหนึ่งเริ่มตั้งวิปัสสนาในโสมนัสที่ไม่มีความตรึก ไม่มีความตรองแล้วก็ตั้งอยู่ในอรหัตตผล ตามนัยที่กล่าวแล้วเหมือนกัน.
               แม้ในโสมนัสที่ตั้งมั่นเหล่านั้น โสมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง ประณีตกว่าที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรอง โสมนัสวิปัสสนาที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง ประณีตกว่า แม้โสมนัสวิปัสสนาที่มีความตรึกและมีความตรอง โสมนัสผลสมาบัติที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองเท่านั้นที่ประณีตกว่า โสมนัสผลสมาบัติที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรอง. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เหล่าใดไม่มีความตรึกไม่มีความตรอง ประณีตกว่า ดังนี้.
               คำว่า ไม่พึงเสพโทมนัสเห็นปานนี้ ความว่า ไม่พึงเสพโทมนัสที่อาศัยเรือนเห็นปานนี้. ที่ชื่อว่าโทมนัสอันอาศัยเรือน ได้แก่ โทมนัสที่อาศัยกามคุณซึ่งเกิดแก่ผู้ตรึกอยู่ว่า เราไม่ตามเสวยแล้ว จักไม่ตามเสวย ย่อมไม่ตามเสวย ซึ่งอิฏฐารมณ์ในทวารทั้ง ๖ อย่างนี้ว่า ในเวทนาเหล่านั้น โทมนัสที่อาศัยเรือน ๖ อย่างเป็นไฉน๔- เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นการไม่ได้เฉพาะซึ่งรูปที่น่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจ น่าชื่นใจ ซึ่งเกี่ยวกับเหยื่อของโลก ที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยตา โดยความไม่ได้เฉพาะ หรือเมื่อตามระลึกถึงรูปที่ไม่เคยได้เฉพาะ เมื่อซึ่งล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว จึงเกิดโทมนัสขึ้น โทมนัสเห็นปานนี้ใด นี้เรียกโทมนัสที่อาศัยเรือน ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๔- ม. อุ. สฬายตนวิภงฺคสุตฺต เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๒๗

               คำว่า พึงเสพโทมนัสเห็นปานนี้ คือ พึงเสพโทมนัสที่อาศัยการออกจากเรือนเห็นปานนี้. ที่ชื่อว่าโทมนัสที่อาศัยการออกจากเรือน ได้แก่ โทมนัสที่เกิดแก่ผู้ที่ไม่สามารถเพื่อจะเร่งเร้าใจให้ขวนขวายเข้าไปตั้งความอยากได้ในธรรมคืออริยผล กล่าวคือความหลุดพ้นชั้นเยี่ยม แล้วเริ่มตั้งวิปัสสนาด้วยอำนาจไตรลักษณ์มีความไม่เที่ยงเป็นต้นเพื่อบรรลุอริยผลนั้น ผู้ตามเศร้าใจว่า เราไม่สามารถเพื่อจะเร่งเร้าใจให้ขวนขวายวิปัสสนามาตลอดปักษ์แม้นี้ ตลอดเดือนแม้นี้ ตลอดปีแม้นี้ แล้วบรรลุอริยภูมิได้ ในอารมณ์ที่น่ารักอันมาสู่คลองในทวารทั้ง ๖ อย่างนี้ว่า ในเวทนาเหล่านั้น โทมนัสที่อาศัยการออกจากเรือนเป็นไฉน ก็แล เมื่อบุคคลมารู้ความที่รูปทั้งหลายไม่เที่ยง แปรปรวนไป คลายไป ดับไปแล้ว เห็นรูปนั้นด้วยปัญญาที่ถูกต้องตามที่เป็นจริงอยู่อย่างนี้ว่า รูปทั้งหลาย ทั้งเมื่อก่อนและบัดนี้เหล่าใด รูปเหล่านั้นทั้งหมด ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แล้วจึงเข้าไปตั้งความอยากได้ในความหลุดพ้นชั้นเยี่ยมว่า ชื่อว่าเมื่อไรหนอ เราจึงจะเข้าถึงอายตนะนั้นแล้วแลอยู่ คืออายตนะที่พวกพระอริยเจ้า ในบัดนี้ ย่อมเข้าถึงแล้วแลอยู่. เมื่อเข้าไปตั้งความอยากได้ในความหลุดพ้นชั้นเยี่ยม ดังที่ว่ามานี้ โทมนัสก็ย่อมเกิดขึ้น เพราะความอยากได้เป็นปัจจัย. โทมนัสเห็นปานนี้ใด นี้เรียกว่าโทมนัสที่อาศัยการออกจากเรือน ดังนี้เป็นต้น.
               คำว่า พึงเสพ คือ โทมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการออกจากเรือน ด้วยอำนาจวิปัสสนา ด้วยอำนาจการตามระลึกถึง ด้วยอำนาจฌานที่หนึ่งเป็นต้นนี้ ชื่อว่าเป็นโทมนัสที่พึงเสพ.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า หากโทมนัสใด ยังมีความตรึก ยังมีความตรอง คือ ในโสมนัสทั้งสองอย่างแม้นั้น โทมนัสที่อาศัยเรือนเท่านั้น ที่ชื่อว่าโทมนัสยังมีความตรึก ยังมีความตรองอยู่. ส่วนโทมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการออกจากเรือน ด้วยอำนาจวิปัสสนา ด้วยอำนาจการตามระลึกถึง ด้วยอำนาจฌานที่หนึ่งและฌานที่สอง พึงทราบว่าเป็นโทมนัสที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรองอยู่. ส่วนโดยทำนองอย่างตรงขึ้นชื่อว่าโทมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองไม่มี. สำหรับอินทรีย์คือโทมนัส เป็นอกุศลโดยส่วนเดียวเท่านั้น และยังมีความตรึกและยังมีความตรองด้วย. แต่ด้วยอำนาจความเข้าใจของภิกษุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อินทรีย์คือโทมนัส ยังมีความตรึกและยังมีความตรอง และว่าที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง ดังนี้.
               ต่อไปนี้ เป็นนัยในเรื่องโทมนัสนั้น คือ
               ในกรณีนี้ ภิกษุถือเอาธรรมที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรอง และธรรมที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง อันเป็นธรรมที่มีโทมนัสเป็นปัจจัย และธรรมคือมรรคและผลที่เกิดขึ้นมีโทมนัสเป็นปัจจัยนั่นเอง ว่าเป็นโทมนัสเพราะอำนาจเห็นการปฏิบัติของภิกษุเหล่าอื่นแล้วก็มาคิดว่า เมื่อไรหนอแล เราจึงจักเริ่มตั้งวิปัสสนาในโทมนัสที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรองได้เสียที เมื่อไร เราจึงเริ่มตั้งวิปัสสนาในโทมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองได้เสียที และคิดอีกว่า เมื่อไรหนอแล เราจึงจักให้ผลสมาบัติในโทมนัสที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรองเกิดได้เสียที เมื่อไรเราจึงจักให้ผลสมาบัติในโทมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองเกิดได้เสียที
               แล้วก็ถือข้อปฏิบัติตลอดสามเดือน หกเดือน หรือเก้าเดือน เมื่อถือข้อปฏิบัติตลอดสามเดือน ในเดือนแรกเดินเสียหนึ่งยาม สองยามทำโอกาสแก่การหลับ ในเดือนกลางเดินเสียสองยาม ทำโอกาสแก่การหลับหนึ่งยาม ในเดือนสุดท้ายให้ร่างกายเป็นไปด้วยการเดินจงกรมและการนั่งเท่านั้นเอง ถ้าแบบนี้ บรรลุพระอรหัตนั้นก็ดีไป.
               ถ้าไม่บรรลุ เธอก็ถือข้อปฏิบัติประเภท ๖ เดือน ให้วิเศษ (ขึ้นไปอีก) แม้ในข้อปฏิบัติประเภท ๖ เดือนนั้น ทุกสองเดือนๆ ก็ปฏิบัติตามนัยที่กล่าวแล้ว เมื่อไม่สามารถสำเร็จพระอรหัตได้ ก็ยึดหลักปฏิบัติชนิดเก้าเดือนให้วิเศษ (ยิ่งขึ้นไปอีก) แม้ในหลักปฏิบัติชนิดเก้าเดือนนั้น ทุกสามเดือนๆ ก็ปฏิบัติอย่างนั้นแหละ เมื่อไม่สามารถบรรลุความเป็นพระอรหันต์ได้ (และ) เมื่อพิจารณาว่า โอ้หนอ! เราไม่ได้ปวารณาแบบวิสุทธิปวารณา พร้อมกับพวกเพื่อนพรหมจรรย์เสียแล้ว ความโทมนัสก็ย่อมเกิดขึ้น. สายน้ำตาก็ไหลพรู เหมือนสายน้ำตาของพระมหาสิวเถระผู้อยู่ที่เงื้อมเขาท้ายหมู่บ้าน.
               เล่ากันว่า พระเถระสอนหมู่ใหญ่ ๑๘ หมู่ พวกภิกษุสามหมื่นรูปตั้งอยู่ในโอวาทของท่านบรรลุอรหัตแล้ว. ต่อมา มีภิกษุรูปหนึ่งมารำพึงว่า ภายในตัวเราก่อน มีคุณประมาณไม่ได้ คุณของอาจารย์เราเป็นอย่างไรหนอแล กำลังรำพึงอยู่ก็เห็นความเป็นปุถุชน จึงคิดว่า อาจารย์พวกเราเป็นที่พึ่งของคนเหล่าอื่น (แต่) ไม่สามารถเพื่อจะเป็นที่พึ่งของตนได้ เราจะให้โอวาทแก่ท่าน แล้วก็เหาะมาลงใกล้วัด เข้าไปหาอาจารย์ผู้นั่งในที่พักกลางวัน แสดงวัตรแล้ว ก็นั่งในที่ควรส่วนหนึ่ง.
               พระเถระกล่าวว่า ดูก่อนผู้ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร คุณมาเพราะเหตุไร.
               ภิกษุ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมเป็นผู้มาแล้ว ด้วยคิดว่า จักเอาอนุโมทนาสักบทหนึ่ง.
               เถระ. คงจะไม่มีโอกาสหรอกคุณ
               ภิกษุ. ท่านขอรับ กระผมจะเรียนถามในเวลายืนที่โรงตรึก
               เถระ. ในที่นั้น พวกคนอื่นก็จะถาม.
               ภิกษุ. ในทางเที่ยวบิณฑบาตล่ะ ขอรับ.
               เถระ. แม้ในทางนั้น พวกคนอื่นก็จะถาม.
               ภิกษุ. ในที่นุ่งผ้าสองชั้น ในที่ห่มสังฆาฏิ ในที่นำเอาบาตรออกในเวลาเที่ยวไปในหมู่บ้าน แล้วดื่มข้าวต้มในโรงฉันล่ะขอรับ.
               เถระ. ในที่นั้นๆ ก็จะมีพวกเถระทางอรรถกถาบรรเทาความสงสัยของตน.
               ภิกษุ. กระผมจะเรียนถามในเวลาออกจากภายในหมู่บ้าน ขอรับ.
               เถระ. แม้ในที่นั้น ก็จะมีคนพวกอื่นถาม คุณ.
               ภิกษุ. ท่านขอรับ ในระหว่างทาง ท่านขอรับ ในเวลาเสร็จการฉันในโรงอาหาร ท่านขอรับ ในเวลาล้างเท้า ในเวลาล้างหน้า ในที่พักกลางวัน.
               เถระ. ตั้งแต่นั้นไปจนถึงสว่าง ก็จะมีพวกอื่นอีกถาม คุณ.
               ภิกษุ. ในเวลาเอาไม้สีฟันแล้วไปสู่ที่ล้างหน้า ขอรับ.
               เถระ. ตอนนั้น พวกอื่นก็จะถาม.
               ภิกษุ. ในเวลาล้างหน้าแล้วมาล่ะ ขอรับ.
               เถระ. แม้ในตอนนั้น พวกอื่นก็จะถาม.
               ภิกษุ. ในเวลาเข้าเสนาสนะแล้วนั่งล่ะ ขอรับ.
               เถระ. แม้ในตอนนั้น พวกอื่นก็จะถาม.
               ภิกษุ. ท่านขอรับ มันน่าจะเป็นโอกาสและเวลาของพวกผู้ที่ล้างหน้า เสร็จแล้วเข้าสู่เสนาสนะ ให้สามสี่บัลลังก์ได้รับความอบอุ่นแล้ว ทำงานด้วยความเอาใจใส่อย่างมีเหตุผลมิใช่หรือ ท่านขอรับ ท่านจะไม่ได้แม้แต่ขณะแห่งความตาย ท่านจงเป็นเหมือนแผ่นกระดานเถิด ขอรับ ท่านจงเป็นที่พึ่งของคนอื่นเถิด ขอรับ ท่านไม่อาจเพื่อจะเป็นที่พึ่งของตน กระผมไม่มีความต้องการ ด้วยการอนุโมทนาของท่าน ว่าแล้วก็ได้เหาะไปในอากาศ.
               พระเถระทราบว่า งานเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนของภิกษุรูปนี้ไม่มี แต่เธอมาด้วยคิดว่า จะเป็นผู้สั่งสอนเรา แล้วคิดว่า บัดนี้จะไม่มีโอกาส เวลาใกล้รุ่งเราจะไป แล้วก็เก็บบาตรจีวรไว้ใกล้ๆ สอนธรรมตลอดยามต้น และยามกลางคืนยังรุ่ง ขณะที่พระเถระรูปหนึ่งเรียนอุทเทศแล้วจะออกไปในยามสุดท้าย ก็ถือบาตรจีวรออกไปด้วยกันกับพระเถระนั้นนั่นเอง พวกศิษย์ (อันเตวาสิก) ที่นั่งเข้าใจว่า อาจารย์ออกไปด้วยธุระบางอย่างนานแล้ว. พระเถระที่ออกไปก็ทำความเข้าใจว่า เป็นภิกษุที่ร่วมอาจารย์กันบางรูปนั่นเอง.
               ได้ยินว่า พระเถระคิดว่า ชื่อว่าความเป็นพระอรหันต์สำหรับคนชั้นเรา จะอะไรหนักหนาเล่า แค่สองสามวันเท่านั้นแหละ ก็จะสำเร็จแล้วจึงจะกลับมา ดังนี้ จึงไม่บอกพวกลูกศิษย์เลย ในวันขึ้นสิบสามค่ำเดือนแปดไปสู่เงื้อมเขาท้ายหมู่บ้าน เมื่อขึ้นสู่ที่จงกรมแล้ว เอาใจใส่กัมมัฏฐาน ในวันนั้นยังถือเอาพระอรหัตตผลไม่ได้.
               เมื่อถึงวันอุโบสถ ก็คิดว่า เรามาแล้วด้วยคิดว่า โดยสองสามวัน เราจะเอาพระอรหัตตผลให้ได้ ก็ยังเอาไม่ได้ สามเดือนก็เหมือนสามวันนั่นแหละ คอยถึงวันมหาปวารณาก่อนจะรู้ ถึงเข้าพรรษาแล้วก็ยังเอาไม่ได้.
               ในวันปวารณา ท่านคิดว่า เรามาแล้วด้วยคิดว่า โดยสองสามวัน เราจะเอาพระอรหัตตผลให้ได้ นี่ก็ตั้งสามแล้ว ก็ยังไม่สามารถจะเอาได้ ส่วนพวกเพื่อนพรหมจรรย์จะปวารณาชนิดวิสุทธิปวารณากัน เมื่อท่านคิดอย่างนั้น สายน้ำตาก็หลั่งไหล. จากนั้น ท่านคิดว่า มรรคผลจะไม่เกิดขึ้นเพราะอิริยาบถ ๔ ของเราบนเตียง ถ้าเดี๋ยวนี้ยังไม่บรรลุพระอรหัตตผล เราจะไม่ยอมเหยียดหลังบนเตียงอย่างเด็ดขาด จะไม่ยอมล้างเท้า แล้วก็ให้ยกเอาเตียงไปเก็บไว้ภายใน พรรษาก็ถึงอีก. ท่านก็ยังเอาพระอรหัตตผลไม่ได้ตามเคย สายน้ำตาก็หลั่งไหล ในวันปวารณายี่สิบเก้าครั้ง.
               พวกเด็กในหมู่บ้านพากันเอาหนามมากลัดที่ที่แตกในเท้าทั้งสองข้างของพระเถระ.
               แม้เมื่อจะพากันเล่น ก็เล่นเอาว่า ขอให้เท้าทั้งสองข้างจงเป็นเหมือนเท้าของพระคุณเจ้ามหาสิวเถระเถิด.
               ในวันมหาปวารณาปี (ที่) สามสิบ พระเถระยืนยึดแผ่นกระดานสำหรับพิง คิดว่า เมื่อเราทำสมณธรรมมาตั้งสามสิบปีเข้านี้แล้ว เราก็ไม่สามารถสำเร็จพระอรหัตตผลได้ ในอัตภาพของเรานี้ มรรคหรือผลย่อมไม่มีเป็นแน่ เราไม่ได้ปวารณาชนิดวิสุทธิปวารณากับเพื่อนพรหมจรรย์แล้ว. และก็เมื่อท่านคิดอยู่อย่างนั้น ก็เกิดโทมนัสขึ้นมา สายน้ำตาก็หลั่งไหล.
               ขณะนั้น ในที่ใกล้ๆ มีเทพธิดาองค์หนึ่ง กำลังยืนร้องไห้อยู่.
               เถระ. ใครร้องไห้ที่นี้.
               เทพธิดา. ดิฉัน นางเทพธิดา เจ้าค่ะ.
               เถระ. ร้องไห้ทำไม.
               เทพธิดา. เมื่อมรรคผลกำลังเกิด เพราะการร้องไห้ ดิฉันคิดว่า แม้เราก็จะให้เกิดมรรคผลหนึ่ง (หรือ) สอง จึงร้องไห้เจ้าค่ะ.
               จากนั้น พระเถระก็คิดว่า นี่แน่ะ มหาสิวะ แม้แต่เทพธิดาก็ยังมาเยาะเย้ยเธอได้ นี่มันควรแก่เธอหรือหนอ แล้วก็เจริญวิปัสสนา ได้ถือเอาความเป็นพระอรหันต์พร้อมกับปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว.
               ท่านคิดว่า บัดนี้ เราจะนอน แล้วก็จัดแจงเสนาสนะ ปูลาดเตียง ตั้งน้ำในที่น้ำ คิดว่า เราจะล้างเท้าทั้งสองข้าง แล้วก็นั่งลงที่ขั้นบันได.
               แม้พวกศิษย์ของท่าน ก็พากันคิดอยู่ว่า เมื่ออาจารย์ของเราไปทำสมณธรรมตั้งสามสิบปี ท่านอาจทำคุณวิเศษให้เกิดได้หรือไม่อาจ เห็นว่าท่านสำเร็จพระอรหัตแล้ว นั่งลงเพื่อล้างเท้า จึงต่างก็คิดว่า อาจารย์พวกเรา เมื่อพวกศิษย์เช่นพวกเรายังอยู่ คิดว่า จะล้างเท้าด้วยตนเองนี้ไม่ใช่ฐานะ เราจะล้าง เราจะล้าง แล้วทั้ง ๓๐,๐๐๐ รูปต่างก็เหาะมาไหว้ แล้วกราบเรียนว่า กระผมจะล้างเท้าถวาย ขอรับ.
               ท่านห้ามว่า คุณ ฉันไม่ได้ล้างเท้ามาตั้งสามสิบปีเข้านี่แล้ว พวกคุณไม่ต้องฉันจะล้างเอง.
               แม้ท้าวสักกะก็ทรงพิจารณาว่า พระคุณเจ้ามหาสิวะเถระของเรา สำเร็จพระอรหัตแล้ว เมื่อพวกศิษย์สามหมื่นรูปมาแล้วด้วยคิดว่า พวกเราจะล้างเท้าทั้งหลายถวาย ก็ไม่ให้ล้างเท้าให้ ก็เมื่ออุปัฏฐากเช่นเรายังมีอยู่ พระคุณเจ้าคิดว่าจะล้างเท้าเองนี่เป็นไปไม่ได้ แล้วทรงตัดสินพระทัยว่า เราจะล้างถวายจึงพร้อมด้วยสุชาดาเทวีได้ทรงปรากฏในสำนักของหมู่ภิกษุ.
               ท้าวเธอทรงส่งนางสุชาดาผู้เป็นอสุรกัญญาล่วงหน้าไปก่อน ให้เปิดโอกาสว่า ท่านเจ้าขา พวกท่านจงหลีกไป โปรดให้โอกาสผู้หญิง แล้วทรงเข้าไปหาพระเถระ ไหว้แล้วนั่งกระหย่งต่อหน้าตรัสว่า ท่านขอรับ กระผมจะล้างเท้าถวาย.
               พระเถระตอบว่า โกสีย์ อาตมภาพไม่เคยล้างเท้ามาตั้งสามสิบปีเข้านี่แล้ว และแม้โดยปกติชื่อว่ากลิ่นตัวคนเป็นของน่าเกลียดสำหรับพวกเทพ แม้อยู่ไกลตั้งร้อยโยชน์ เหมือนเอาซากศพมาแขวนคอ อาตมภาพจะล้างเอง.
               ตรัสตอบว่า ท่านขอรับ ชื่อว่ากลิ่นอย่างนี้ไม่ปรากฏ เพราะว่ากลิ่นศีลของท่านเลยเทวโลกหกชั้นไปตั้งอยู่สูงถึงชั้นภวัคคพรหมในเบื้องบน ไม่มีกลิ่นอื่นที่ยิ่งไปกว่ากลิ่นศีล ท่านขอรับ กระผมมาเพราะกลิ่นศีลของท่าน แล้วก็ทรงเอาพระหัตถ์ซ้ายจับข้อต่อตาตุ่ม แล้วเอาพระหัตถ์ขวาลูบฝ่าเท้า. เท้าของท่านก็เป็นเหมือนกับเท้าของเด็กหนุ่มขึ้นมาทันที. ครั้นท้าวสักกะทรงล้างเท้าถวายเสร็จแล้วก็ทรงไหว้ แล้วเสด็จไปสู่เทวโลกตามเดิม.
               พึงทราบว่า ท่านเรียกอารมณ์ของวิปัสสนาก็ดี วิปัสสนาก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี ว่า โทมนัสที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรอง และว่าโทมนัสที่ไม่มีความตรึก และไม่มีความตรอง ด้วยอำนาจความเข้าใจของภิกษุผู้อาศัยโทมนัสที่เกิดขึ้นแล้วพิจารณาอยู่ว่า เราไม่ได้ปวารณาชนิดวิสุทธิปวารณาด้วยกันกับพวกเพื่อนพรหมจรรย์ ดังที่ว่ามานี้.
               ในเรื่องของโทมนัสนั้น มีภิกษุรูปหนึ่งเริ่มตั้งวิปัสสนาในโทมนัสที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรองมาใคร่ครวญว่า โทมนัสนี้อาศัยอะไร ก็รู้ชัดว่าอาศัยวัตถุ จึงตั้งอยู่ในพระอรหัตตผลโดยลำดับ โดยนัยที่กล่าวแล้วในหมวดธรรมที่มีผัสสะเป็นที่ห้านั่นแหละ. รูปหนึ่งเริ่มตั้งวิปัสสนาในโทมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง ก็ตั้งอยู่ในพระอรหัตตผล ตามนัยที่กล่าวมาแล้วเหมือนกัน.
               แม้ในโทมนัสที่ตั้งมั่นแล้วเหล่านั้น โทมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง ประณีตกว่าที่มีความตรึกและความตรอง วิปัสสนาในโทมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง ก็ประณีตกว่าวิปัสสนาในโทมนัสที่มีความตรึกและมีความตรองด้วย ผลสมาบัติในโทมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองก็ประณีตกว่า แม้ผลสมาบัติในโทมนัสที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรองนั่นเทียว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เหล่าใดที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองประณีตกว่า ดังนี้.
               คำว่า ไม่พึงเสพอุเบกขาเห็นปานนั้น ความว่า ไม่พึงเสพอุเบกขาที่อาศัยเรือนเห็นปานนั้น. ที่ชื่อว่าอุเบกขาที่อาศัยเรือน ได้แก่อุเบกขาที่อาศัยกามคุณ ซึ่งติดข้อง เกิดขึ้นในกามคุณนั้นเอง เป็นไปล่วงรูปเป็นต้นไม่ได้ เหมือนแมลงวันตอมงบน้ำอ้อย ในอารมณ์ที่น่ารักที่มาสู่คลองในทวารทั้ง ๖ อย่างนี้ คือ ในเวทนาเหล่านั้น อุเบกขาที่อาศัยเรือน ๖ อย่างเป็นไฉน เพราะเห็นรูปด้วยตา อุเบกขาย่อมเกิดขึ้นแก่คนโง่ คนหลง คนมีกิเลสหนา คนเอาแต่ชนะไม่มีขอบเขตไป เอาแต่ชนะไม่เป็นผล มีปกติไม่เห็นโทษ ไม่ได้รับการศึกษา คือเป็นปุถุชน อุเบกขาเห็นปานนี้ใด อุเบกขานั้นก้าวล่วงรูปไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกอุเบกขานั้นว่าอาศัยเรือน๕- ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๕- ม. อุ. สฬายตนวิภงฺคสุตฺต เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๒๙

               คำว่า อุเบกขาเห็นปานนี้ อันบุคคลพึงเสพ คือ พึงเสพอุเบกขาที่อาศัยการออกจากเรือนเห็นปานนี้. ที่ชื่อว่า อุเบกขาที่อาศัยการออกจากเรือนได้แก่ อุเบกขาที่ประกอบพร้อมด้วยวิปัสสนาญาณ ซึ่งเกิดแก่บุคคลผู้ไม่ยินดีในอารมณ์ที่น่ารัก ไม่ยินร้ายในอารมณ์ที่ไม่น่ารัก ไม่ลุ่มหลงเพราะขาดการเพ่งพิจารณาในอารมณ์ มีอารมณ์ที่น่ารักเป็นต้น ที่มาสู่คลองในทวารทั้งหกอย่างนี้ คือ ในเวทนาเหล่านั้น อุเบกขาที่อาศัยการออกจากเรือนหกอย่างเป็นไฉน คือ อุเบกขาย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้รู้แจ้ง ความไม่เที่ยงนั้นเอง ความแปรปรวน ความคลาย ความดับของรูป แล้วเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปทั้งหลายทั้งในเมื่อก่อน ทั้งในบัดนี้ รูปเหล่านั้นล้วนแต่ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา อุเบกขาเห็นปานนี้ใด อุเบกขานั้นก้าวล่วงรูปได้ เพราะฉะนั้น อุเบกขานั้นจึงเรียกว่าอาศัยการออกจากเรือน๖- ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๖- ม. อุ. สฬายตนวิภงฺคสุตฺต เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๓๐

               อีกอย่างหนึ่ง แม้อุเบกขาที่เป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ มีส่วนเสมอกันกับเวทนา ก็จัดเป็นอุเบกขาในที่นี้ได้เหมือนกัน.
               คำว่า เพราะฉะนั้นพึงเสพ ความว่า พึงเสพอุเบกขาที่เกิดด้วยอำนาจการออกจากเรือนด้วยอำนาจวิปัสสนา ด้วยอำนาจการตามระลึกถึง ด้วยอำนาจฌานที่หนึ่ง ที่สอง ที่สามและที่สี่นี้ไว้.
               ในคำเหล่านั้นคำว่า ถ้าอุเบกขาใดยังมีความตรึกยังมีความตรอง คือ แม้ในอุเบกขาที่อาศัยการออกจากเรือนนั้น ก็พึงทราบว่า อุเบกขายังมีความตรึก ยังมีความตรองซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจการออกจากเรือน ด้วยอำนาจวิปัสสนา ด้วยอำนาจการตามระลึกถึงและด้วยอำนาจฌานที่หนึ่งใด.
               คำว่า ใด ถ้าไม่มีความตรึก ไม่มีความตรอง คือ ก็พึงทราบว่าอุเบกขาที่ไม่มีความตรึก ไม่มีความตรอง ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจฌานที่สองและที่สามเป็นต้นใด.
               คำว่า เหล่าใดไม่มีความตรึกไม่มีความตรอง ความว่า ในอุเบกขาทั้งสองเหล่านี้ อุเบกขาที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองนั้นประณีตกว่า.
               ด้วยคำนี้ เป็นอันท่านกล่าวถึงอะไร กล่าวถึงอรหัตตผลของสองท่าน.
               จริงอยู่ ภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อเริ่มตั้งวิปัสสนาในอุเบกขาที่ยังมีความตรึก และยังมีความตรองแล้วก็มาใคร่ครวญว่า อุเบกขานี้อาศัยอะไร ก็ทราบชัดว่าอาศัยที่วัตถุ แล้วก็ตั้งอยู่ในอรหัตผลโดยลำดับ ตามนัยที่กล่าวแล้วในหมวดอันมีผัสสะเป็นที่ห้านั่นแหละ. รูปหนึ่งเริ่มตั้งวิปัสสนาในอุเบกขาที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง แล้วก็ตั้งอยู่ในอรหัตผล ตามนัยที่กล่าวแล้วเหมือนกัน.
               แม้ในอุเบกขาที่ตั้งมั่นเหล่านั้น อุเบกขาที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองประณีตกว่าที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรอง อุเบกขาวิปัสสนาที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองประณีตกว่า แม้อุเบกขาวิปัสสนาที่มีความตรึกและมีความตรอง อุเบกขาผลสมาบัติที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองเท่านั้นที่ประณีตกว่าอุเบกขาผลสมาบัติที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรอง. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เหล่าใดไม่มีความตรึกไม่มีความตรองประณีตกว่า ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า จอมทวยเทพ! ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าย่อมปฏิบัติข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความสมควรเพื่อความดับโดยไม่เหลือแห่งส่วนที่มีความจำได้หมายรู้อันประกอบด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้า แล้วก็ทรงจบเทศนาลงด้วยยอด คือพระอรหัตผล.
               ส่วนท้าวสักกะทรงบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว.
               ธรรมดาพระอัธยาศัยของพระพุทธเจ้าไม่มีเลว มีแต่ชั้นยอดทั้งนั้น. เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่คนเดียวก็ดี แก่หลายคนก็ดี ล้วนแต่ทรงถือยอดด้วยพระอรหัตตผลทั้งนั้น. แต่พวกสัตว์ตั้งอยู่ในอุปนิสัยที่สมควรแก่ตน. บางพวกก็เป็นโสดาบัน บางพวกก็เป็นสกทาคามี บางพวกก็เป็นอนาคามี บางพวกก็เป็นอรหันต์.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเหมือนพระราชา พวกเวไนยสัตว์เหมือนพวกพระราชกุมาร. เหมือนอย่างว่า ในเวลาเสวยพระกระยาหาร พระราชาทรงตักก้อนข้าวตามขนาดพระองค์ แล้วทรงป้อนพวกพระราชกุมาร. พวกพระราชกุมารเหล่านั้นก็ทรงทำคำข้าวตามขนาดพระโอษฐ์ของพระองค์จากก้อนข้าวนั้นฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น ทรงถือเอายอดด้วยพระอรหัตตผลด้วยเทศนาที่สมควรแก่พระอัธยาศัยของพระองค์เท่านั้น เวไนยสัตว์ทั้งหลายต่างก็ย่อมรับเอาโสดาปัตตผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผลนั่นแหละจากพระธรรมเทศนานั้น ตามประมาณแห่งอุปนิสัยของตน.
               ส่วนท้าวสักกะ ครั้นทรงเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ทรงจุติต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเอง แล้วก็ทรงเกิดกลายเป็นท้าวสักกะหนุ่ม. ธรรมดาที่ไปและที่มาของอัตภาพของเหล่าเทพที่จุติอยู่ ย่อมไม่ปรากฏ. ย่อมเป็นเหมือนการปราศไปของเปลวประทีป ฉะนั้น พวกเทพที่เหลือจึงไม่ทราบกัน. ส่วนท่านที่ทรงทราบมีสองท่านเท่านั้น คือ ท้าวสักกะ เพราะทรงจุติเอง ๑ พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะทรงมีพระญาณที่หาอะไรมาขัดข้องไม่ได้ ๑.
               ลำดับนั้น ท้าวสักกะทรงคิดว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงผลของผู้เกิดในสามสถานเท่านั้นแก่เรา ส่วนมรรคหรือผลนี้ ไม่มีใครเหาะไปเอาได้เหมือนนางนก อันการถือเอามรรคหรือผลนั้น พึงเป็นได้ด้วยข้อปฏิบัติอันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งมรรคหรือผลอันจะต้องมา เอาเถิด เราจะทูลถามข้อปฏิบัติอันเป็นส่วนเบื้องต้นของพระขีณาสพในเบื้องบนให้ได้.
               ต่อจากนั้น เมื่อจะทูลถามข้อปฏิบัตินั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สิ้นทุกข์ ก็ผู้ปฏิบัติแล้วอย่างไร.

               ปาติโมกฺขสํวรวณฺณนา               
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ด้วยความสำรวมในปาฏิโมกข์ คือ ด้วยความสำรวมในศีลที่สูงสุดและเจริญที่สุด. คำเป็นต้นว่า แม้ถึงมารยาททางกาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อทรงแสดงถึงความสำรวมในปาฏิโมกข์ ด้วยอำนาจมารยาททางกายที่พึงเสพ. ก็แล ชื่อว่าถ้อยคำที่เกี่ยวกับศีลนี้ ย่อมเป็นอันพึงกล่าวด้วยอำนาจกรรมบถ หรือด้วยอำนาจบัญญัติก็ได้. ในกรรมบถและบัญญัตินั้น อันผู้จะกล่าวด้วยอำนาจกรรมบถ ต้องกล่าวถึงมารยาททางกายที่ไม่พึงเสพด้วยการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์และความพระพฤติผิดในกามทั้งหลายก่อน เมื่อจะกล่าวด้วยอำนาจบัญญัติ ต้องกล่าวด้วยอำนาจบัญญัติสิกขาบทและการละเมิดในกายทวาร. ต้องกล่าวถึงมารยาททางกายที่พึงเสพด้วยเจตนาเครื่องเว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นต้น และด้วยบัญญัติสิกขาบทและการไม่ละเมิดในกายทวาร. ต้องกล่าวถึงมารยาททางวาจาที่ไม่พึงเสพด้วยความประพฤติชั่วทางวาจามีการกล่าวเท็จเป็นต้น และด้วยบัญญัติสิกขาบท และการละเมิดในวจีทวาร ต้องกล่าวถึงมารยาททางวาจาที่พึงเสพด้วยเจตนาเครื่องเว้นจากการกล่าวเท็จเป็นต้น และด้วยบัญญัติสิกขาบท และการไม่ละเมิดในวจีทวาร.
               สำหรับการแสวงหา ก็ได้แก่การแสวงหาด้วยกายและวาจานั่นเอง. การแสวงหานั้นก็เป็นอันถือเอาแล้วด้วยศัพท์ คือมารยาททางกายและวาจา เพราะเหตุที่ธรรมดาศีลอันมีอาชีพเป็นที่แปด ย่อมเกิดขึ้นแต่ในสองทวารนี้เท่านั้น ไม่ใช่ในอากาศ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสการแสวงหานั้นไว้แผนกหนึ่งต่างหาก เพื่อทรงแสดงถึงศีลซึ่งมีอาชีพเป็นที่แปด. ในการแสวงหานั้น ไม่พึงกล่าวถึงการแสวงหาที่พึงเสพด้วยการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ พึงกล่าวถึงการแสวงหาที่พึงเสพด้วยการแสวงหาที่ประเสริฐ.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหาสองอย่างเหล่านี้ คือ การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐหนึ่ง การแสวงหาที่ประเสริฐหนึ่ง
               ภิกษุทั้งหลาย ก็การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐเป็นไฉน
               ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ตัวเองเป็นผู้มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดานั่นแล
               ตัวเองมีความแก่เป็นธรรมดา...
               มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ...
               มีความตายเป็นธรรมดา ...
               มีความโศกเป็นธรรมดา ...
               มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดานั่นแล
               ภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอย่อมกล่าวอะไรว่า มีความเกิดเป็นธรรมดา
               ภิกษุทั้งหลาย ลูกเมียมีความเกิดเป็นธรรมดา คนใช้หญิงชายมีความเกิดเป็นธรรมดา แพะแกะมีความเกิดเป็นธรรมดา ไก่ หมู มีความเกิดเป็นธรรมดา ช้าง วัว ม้า ลา มีความเกิดเป็นธรรมดา เงินทองมีความเกิดเป็นธรรมดา
               ภิกษุทั้งหลาย ก็สิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาเหล่านี้ เป็นตัวอุปธิทั้งหลาย (สภาพเครื่องเข้าไปทรงสัตว์ไว้ในทุกข์) บุคคลนี้เป็นผู้อันอุปธิผูกไว้ ทำให้สยบ ให้ต้องโทษในสิ่งเหล่านี้ ตัวเองเป็นผู้มีความเกิดเป็นธรรมดาแล้ว ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดานั่นแล
               ภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอย่อมกล่าวถึงอะไรว่า มีความแก่เป็นธรรมดา ภิกษุทั้งหลาย ลูกเมียมีความแก่เป็นธรรมดา ฯลฯ ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดานั่นแล
               ภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอย่อมกล่าวถึงอะไรว่า มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ภิกษุทั้งหลาย ลูกเมีย มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ฯลฯ ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดานั่นแล
               ภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอย่อมกล่าวถึงอะไรว่า มีความตายเป็นธรรมดา ภิกษุทั้งหลาย ลูกเมียมีความตายเป็นธรรมดา ฯลฯ ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดานั่นแล
               ภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอย่อมกล่าวถึงสิ่งอะไรว่า มีความโศกเป็นธรรมดา ภิกษุทั้งหลาย ลูกเมียมีความโศกเป็นธรรมดา ฯลฯ ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความโศกเป็นธรรมดานั่นแล
               ภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอย่อมกล่าวถึงอะไรว่า มีเศร้าหมองเป็นธรรมดา ภิกษุทั้งหลาย ลูกเมีย มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ฯลฯ ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดานั่นแล
               ภิกษุทั้งหลาย นี้การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ.๑-
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๑๔

               อีกอย่างหนึ่งพึงทราบว่า การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ มี ๕ อย่างด้วยอำนาจการโกงเป็นต้น มี ๖ อย่างด้วยอำนาจอโคจร มี ๒๑ อย่างด้วยอำนาจงานของหมอเป็นต้น. การแสวงหาที่ไม่สมควร แม้ทั้งหมดที่เป็นไปอย่างนี้ พึงทราบว่า เป็นการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐโดยแท้.
               ภิกษุทั้งหลาย ส่วนการแสวงหาที่ประเสริฐเป็นไฉน
               ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ตัวเองเป็นผู้มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เห็นโทษในสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่เกิด เป็นที่เกษมจากโยคะ (กิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในทุกข์) อันยอดเยี่ยม
               ตัวเองมีความแก่เป็นธรรมดา...
               มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ...
               มีความตายโศกและเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เห็นโทษในสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่เศร้าหมอง เป็นที่เกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม.
               ภิกษุทั้งหลาย นี้การแสวงหาที่ประเสริฐ.๒-
____________________________
๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๑๕

               อีกอย่างหนึ่ง แม้การเว้นการกระทำ ๕ อย่างมีการโกงเป็นต้น อโคจร ๖ แห่ง และการแสวงหาที่ไม่สมควร ๒๑ อย่างแล้ว แสวงหาด้วยการเที่ยวภิกษา ด้วยธรรม ด้วยสม่ำเสมอ ก็พึงทราบว่า เป็นการแสวงหาที่ประเสริฐทั้งนั้น.
               สำหรับในเรื่องมารยาทของกายนี้ มารยาทใดๆ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ไม่พึงเสพมารยาทนั้นๆ ต้องอย่าเสพตั้งแต่เวลาแห่งเครื่องมือการแสวงหา การทำความพยายาม และการไปในส่วนเบื้องต้นแห่งการฆ่าสัตว์เป็นต้นทีเดียว. นอกนี้พึงเสพตั้งแต่ต้น. ผู้ที่ไม่สามารถก็พึงทำแม้เพียงจิตให้เกิดขึ้น (คิดเอาก็ได้).
               อีกอย่างหนึ่ง ต้องไม่เสพมารยาททางกายที่เหมือนของพระเทวทัตเป็นต้น ที่บากบั่นเพื่อต้องการทำลายสงฆ์เป็นอาทิ. ต้องเสพมารยาททางกายที่เหมือนของพระธรรมเสนาบดีและพระมหาโมคคัลลานเถระเป็นต้น ซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจการไปสู่ที่รับใช้พระรัตนตรัยวันละสองสามครั้ง. มารยาททางวาจาที่ไม่พึงเสพก็เหมือนของพระเทวทัตเป็นต้นที่ลั่นวาจาด้วยอำนาจการส่งนายขมังธนูเป็นต้น. พึงเสพมารยาททางวาจาที่เหมือนของพระธรรมเสนาบดีและพระมหาโมคคัลลานเถระเป็นต้น ที่เป็นไปด้วยอำนาจการประกาศพระคุณพระไตรรัตน์. ต้องไม่เสพการแสวงหาที่เหมือนของพระเทวทัตเป็นต้นที่แสวงหาการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ. ต้องเสพการแสวงหาที่เหมือนของพระธรรมเสนาบดีและพระมหาโมคคัลลานเถระเป็นต้น ที่แสวงหาแต่การแสวงหาที่ประเสริฐเท่านั้น.
               คำว่า ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ความว่า ท่านจอมทวยเทพ ภิกษุผู้ละมารยาททางกายและวาจาและการแสวงหาที่ไม่พึงเสพ ปฏิบัติเพื่อความเต็มที่แห่งมารยาททางกายและวาจาและการแสวงหาที่พึงเสพอย่างที่ว่ามานี้แล้ว ก็ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อต้องการสำรวมศีลที่สูงสุดและเจริญที่สุด
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสข้อปฏิบัติอันเป็นภาคแรกที่จะต้องมาของผู้สิ้นอาสวะแล้ว ด้วยประการฉะนี้.

               อินฺทฺริยสํวรวณฺณนา               
               ในคำถามที่ ๒. คำว่า เพื่อสำรวมอินทรีย์ ได้แก่ เพื่อปิดอินทรีย์ทั้งหลาย คือเพื่อคุ้มครองทวารได้ หมายความว่า เพื่อความระแวดระวังทวารไว้. สำหรับในการทรงแก้แก่ท้าวสักกะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำเป็นต้นว่า รูปที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยตา เพื่อทรงแสดงความสำรวมอินทรีย์ด้วยอำนาจรูปที่พึงเสพเป็นต้น.
               คำว่า ครั้นตรัสอย่างนี้ในอินทรีย์นั้นแล้ว ความว่า ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสอย่างนี้ ท้าวสักกะผู้จอมทวยเทพก็ทรงเกิดความไหวทันว่า แม้นี้ก็ต้องเป็นด้วยลักษณะการแบบเดียวกันนั่นแหละ เพราะความที่การทรงแก้ปัญหาในเรื่องโสมนัสเป็นต้น เป็นเรื่องที่ทรงได้ฟังมาแล้วในหนหลัง จึงได้ทรงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ คือได้ตรัสคำเป็นต้นนี้ว่า นี้แล ข้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าข้า. ถึงแม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ประทานพระโอกาสแก่ท้าวเธอ จึงทรงนิ่ง.
               ความจริงมีอยู่ว่า ผู้ที่ไม่สามารถทำให้สำเร็จประโยชน์ได้นั้น เป็นคนชอบพูด หรือผู้ที่สามารถทำให้สำเร็จประโยชน์ได้นั้น ไม่เป็นคนชอบพูด คนแบบนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ประทานโอกาสให้. ส่วนท้าวสักกะนี้ เพราะทรงเป็นผู้ชอบตรัส และทั้งยังทรงสามารถทำประโยชน์ให้สำเร็จได้ด้วย ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงประทานพระโอกาสให้ท้าวเธอ.
               ในเรื่องการสำรวมอินทรีย์นั้น นี้เป็นความย่อในคำเป็นต้นว่า
               ไม่พึงเสพเห็นปานนั้น. เมื่อดูรูปใด ความรักเป็นต้นย่อมเกิดขึ้น ไม่พึงเสพ ไม่พึงแลดูรูปนั้น แต่เมื่อดูรูปใด ความสำคัญว่าไม่งาม ย่อมตั้งมั่น ความเลื่อมใสย่อมเกิดขึ้น หรือการกลับได้ซึ่งความสำคัญว่าไม่เที่ยงย่อมมี พึงเสพรูปนั้น.
               เมื่อฟังเสียงที่มีอักษรพิจิตรก็ดี มีพยัญชนะพิจิตรก็ดี ย่อมเกิดความรักเป็นต้นขึ้น เสียงเห็นปานนั้น ไม่พึงเสพ. แต่เมื่อฟังเสียงใดแม้แต่เพลงขับของนางคนใช้ตักน้ำ (กุมภทาสี) ที่อาศัยอรรถ (ผล) อาศัยธรรม (เหตุ) ย่อมเกิดความเลื่อมใสขึ้น หรือความเบื่อหน่ายย่อมตั้งมั่น เสียงเห็นปานนั้นพึงเสพ.
               เมื่อดมกลิ่นใด ย่อมเกิดความกำหนัดเป็นต้นขึ้นมา กลิ่นอย่างนั้นไม่พึงเสพ. แต่เมื่อดมกลิ่นใด ย่อมมีการกลับได้ความเข้าใจว่าไม่งามเป็นต้น กลิ่นอย่างนั้นพึงเสพ.
               เมื่อลิ้มรสใด ย่อมเกิดความกำหนัดเป็นต้นขึ้นมา รสอย่างนั้นไม่พึงเสพ. แต่เมื่อลิ้มรสใด ย่อมเกิดความเข้าใจว่าเป็นของปฏิกูลในอาหาร และย่อมอาศัยแรงกาย เพราะรสที่ได้ลิ้มเป็นปัจจัยแล้วสามารถก้าวลงสู่อริยภูมิได้ เหมือนของสามเณรสิวะ หลานพระมหาสิวเถระ หรือเมื่อบริโภค ก็ย่อมมีการสิ้นกิเลสไป รสเห็นปานนั้นพึงเสพ.
               เมื่อถูกต้องโผฏฐัพพะใด ย่อมเกิดราคะเป็นต้น ไม่พึงเสพโผฏฐัพพะเห็นปานนั้น. แต่เมื่อถูกต้องสิ่งใด ย่อมมีการสิ้นกิเลสเครื่องหมักดองได้เหมือนของพระสารีบุตรเถระเป็นต้น ทั้งความเพียร ก็ได้รับการประคับประคองไว้เป็นอย่างดี และทั้งประชุมชนในภายหลัง ก็ย่อมได้รับการอนุเคราะห์ด้วยการดำเนินตามเยี่ยงอย่างที่ได้เห็น โผฏฐัพพะเห็นปานนั้น พึงเสพไว้เถิด.
               เล่ากันมาว่า พระสารีบุตรเถระไม่เคยเหยียดหลังบนเตียงตลอด ๓๐ ปี พระมหาโมคคัลลานเถระก็เหมือนกัน. พระมหากัสสปเถระไม่เคยเหยียดหลังบนเตียง ๑๒๐ ปี. พระอนุรุทธเถระ ๕๕ ปี พระภัททิยเถระ ๓๐ ปี พระโสณเถระ ๑๘ ปี พระรัฏฐปาลเถระ ๑๒ ปี พระอานนทเถระ ๑๕ ปี พระราหุลเถระ ๑๒ ปี พระพากุลเถระ ๘๐ ปี พระนาฬกเถระไม่เคยเหยียดหลังบนเตียงจนปรินิพพาน.
               เมื่อพิจารณาธรรมที่จะพึงรู้แจ้งได้ด้วยใจเหล่าใด ย่อมเกิดราคะเป็นต้นขึ้นมา หรือความเพ่งเล็งอยากได้เป็นต้น โดยนัยเป็นต้นว่า โอ้หนอ ขอให้เครื่องอุปกรณ์ คือสมบัติที่คนอื่นปลื้มใจของคนเหล่าอื่นนั้นจงเป็นของเราเถิด ย่อมมาสู่คลอง พึงเสพไม่ได้. แต่ธรรมทั้งหลายของพระเถระ ๓ รูปเหล่าใดด้วยอำนาจเมตตาเป็นต้นอย่างนี้ว่า ขอให้พวกสัตว์ทั้งหมด จงเป็นผู้ไม่มีเวรกันเถิด ธรรมเห็นปานนี้เหล่านั้นพึงเสพได้.
               ได้ยินว่า พระเถระ ๓ รูป ในวันเข้าพรรษาได้วางกฏไว้ว่า ความตรึกที่เป็นอกุศลมีความตรึกถึงความใคร่เป็นต้น พวกเราไม่พึงตรึก. ครั้นในวันปวารณา พระเถระในสงฆ์ถามผู้ใหญ่ในสงฆ์ว่า คุณ ใน ๓ เดือนนี้ คุณให้จิตวิ่งวนไปกี่แห่ง. พระเถระรูปที่ ๑ เรียนว่า ท่านขอรับ กระผมไม่ได้ให้วิ่งออกนอกเขตบริเวณ. พระเถระในสงฆ์จึงถามรูปที่ ๒ ว่า ของคุณกี่แห่ง คุณ. รูปที่ ๒ นั้นตอบว่า ท่านขอรับ กระผมไม่ได้ให้วิ่งไปนอกที่อยู่. ครั้นแล้วพระเถระทั้ง ๒ รูปก็พากันถามพระเถระบ้างว่า ของท่านเล่าขอรับ. พระเถระตอบว่า ผมไม่ได้ให้วิ่งออกนอกขันธ์ ๕ หมวดที่แนบแน่นในภายใน. ท่านทั้ง ๒ รูปจึงเรียนว่า ท่านขอรับ ท่านได้ทำสิ่งที่ทำได้ยากแล้ว. พึงเสพธรรมที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยใจเห็นปานนี้ไว้เถิด.
               คำว่า ผู้มีถ้อยคำมีที่สุดอย่างเดียว คือ ที่ชื่อว่าผู้มีถ้อยคำมีที่สุดอย่างเดียว เพราะที่สุดถ้อยคำของคนเหล่านี้อย่างเดียวเท่านั้นไม่ใช่ ๒ ถ้อยคำ. ท้าวสักกะทรงถามว่า ย่อมกล่าวอย่างเดียวเท่านั้น.
               คำว่า มีศีล มีที่สุดอันเดียว คือ มีมารยาทอย่างเดียว. คำว่า มีความพอใจ มีที่สุดอย่างเดียว คือ มีลัทธิอย่างเดียว. คำว่า มีการสิ้นสุด มีที่สุดอย่างเดียว คือ มีการจบถ้วน มีที่สุดอย่างเดียว.
               คำว่า ท่านจอมทวยเทพ โลกมีธาตุไม่ใช่อย่างเดียว มีธาตุต่างกัน ความว่า ท่านจอมทวยเทพ โลกนี้มีอัธยาศัยไม่ใช่อย่างเดียว มีอัธยาศัยแตกต่างกัน เมื่อคนหนึ่งอยากเดิน (แต่อีก) คนหนึ่งอยากยืน เมื่ออีกคนหนึ่งอยากยืน (แต่อีก) คนหนึ่งอยากนอน สัตว์ทั้ง ๒ ชื่อว่ามีอัธยาศัยอย่างเดียวกันหาได้ยาก.
               ในโลกที่มีธาตุมากมาย และมีธาตุแตกต่างกันนั้น หมู่สัตว์ย่อมยึดมั่น ย่อมถือเอาธาตุใดๆ อัธยาศัยใดๆ คือ ก็ย่อมยึดมั่น ย่อมถือเอาธาตุนั้นๆ แหละด้วยเรี่ยวแรง ด้วยการลูบคลำ เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดง คือระบุว่าย่อมยึดมากกว่า ย่อมถือเอามากล่าวอย่างดี ด้วยเรี่ยวแรงและด้วยการลูบคลำ. คำว่า นี่เท่านั้นจริง อย่างอื่นโมฆะ คือ คำของพวกเราเท่านั้นแหละจริง คำของคนเหล่าอื่นโมฆะ คือเปล่า ได้แก่ไม่มีประโยชน์.
               ความฉิบหายอันเรียกว่า อันตะ (ที่สุด) ในบทว่า มีความดับเป็นที่สุด (ยิ่งล่วงส่วน). ชื่อว่าผู้มีความดับล่วงส่วน เพราะความดับของเขาเหล่านั้นล่วงที่สุดแล้ว. ความดับของพวกเขาใด ความหวังอย่างยิ่ง คือพระนิพพานใด นั้น ท่านเรียกว่าสิ่งมีที่สุดล่วงส่วนก้าวล่วงความฉิบหายของพวกเขาทั้งหมด.
               คำว่า ความโปร่งจากกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ในทุกข์ เป็นชื่อของพระนิพพานนั่นเอง. ชื่อว่าผู้มีความโปร่งจากกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในทุกข์อันล่วงส่วน เพราะความโปร่งจากกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในทุกข์ของเขาเหล่านี้มีอยู่. ชื่อว่าผู้มีความประพฤติอันประเสริฐ เพราะเขาย่อมประพฤติทางที่ไกลจากข้าศึก ที่ชื่อว่าประเสริฐ เพราะอรรถว่าประเสริฐสุด. ผู้ประพฤติประเสริฐ เพราะเป็นความประพฤติที่ล่วงส่วน ชื่อว่าผู้ประพฤติประเสริฐล่วงส่วน.
               คำว่า ที่จบถ้วน เป็นชื่อของพระนิพพานนั่นเอง. ชื่อว่าผู้มีความจบถ้วน เพราะเขามีความจบถ้วนที่ล่วงส่วน.
               คำว่า ความสิ้นไปพร้อมแห่งความทะยานอยาก ในคำว่า ผู้หลุดพ้นแล้วเพราะความสิ้นไปพร้อมแห่งความทะยานอยาก นี้เป็นมรรคก็ได้ เป็นพระนิพพานก็ได้ มรรคชื่อว่าเป็นเครื่องสิ้นไปพร้อมแห่งความทะยานอยาก เพราะทำตัณหาให้สิ้นไปพร้อม คือให้หายไป พระนิพพานชื่อว่าเป็นที่สิ้นไปพร้อมแห่งความทะยานอยาก เพราะความทะยานอยาก เมื่อมาถึงพระนิพพานนั้นแล้ว ก็ย่อมสิ้นไปพร้อม คือย่อมฉิบหายไป ชื่อว่าผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะความสิ้นไปพร้อมแห่งความทะยานอยาก เพราะหลุดพ้นแล้วด้วยมรรคอันเป็นเครื่องสิ้นไปแห่งความทะยานอยาก หรือหลุดพ้น คือพ้นอย่างยิ่งในเพราะพระนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปพร้อมแห่งความทะยานอยาก.
               ด้วยพระดำรัสมีประมาณเพียงเท่านี้ ก็เป็นอันว่า ผู้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ปัญหาครบทั้ง ๑๔ ข้อแล้ว.
               ชื่อปัญหา ๑๔ ข้อคือ
               ๑. ความหึงและความหวง (อิสสามัจฉริยะ)
               ๒. ความชอบและความชัง (ปิยาปิยะ)
               ๓. ความพอใจ (ฉันทะ)
               ๔. ความตรึก (วิตก)
               ๕. ธรรมเครื่องเนิ่นช้า (ปปัญจ)
               ๖. ความสุขใจ (โสมนัส)
               ๗. ความทุกข์ใจ (โทมนัส)
               ๘. ความรู้สึกเฉยๆ (อุเบกขา)
               ๙. มารยาททางกาย (กายสมาจาร)
               ๑๐. มารยาททางวาจา (วจีสมาจาร)
               ๑๑. การแสวงหา (ปริเยสนา)
               ๑๒. ความสำรวมอินทรีย์ (อินทริยสังวร)
               ๑๓. ธาตุจำนวนมาก (อเนกธาตุ)
               ๑๔. ความดับล่วงส่วน (อัจจันตนิฏฐา).
               ความทะยานอยาก ท่านเรียกว่าเอชา คือความหวั่นไหว เพราะอรรถว่าไหวหวั่น. ความหวั่นไหวนั้น เรียกว่าโรค เพราะอรรถว่าเบียดเบียน เรียกว่าฝี เพราะอรรถว่าประทุษร้ายภายใน เรียกว่าลูกศร เพราะอรรถตามแทง.
               คำว่า เพราะฉะนั้น บุรุษนี้ คือ ความหวั่นไหวย่อมคร่าคน เพื่อประโยชน์แก่อันเกิดยิ่งขึ้นในภพนั้นๆ ตามสมควรแก่กรรมที่ตนได้ทำไว้ เพราะเหตุใด เพราะเหตุนั้น บุรุษนี้จึงย่อมถึงความสูงต่ำด้วยอำนาจภพนั้นๆ. สูงในพรหมโลก ในเทวโลกต่ำ สูงในเทวโลก ในมนุษยโลกต่ำ สูงในมนุษยโลก ในอบายต่ำ.
               คำว่า เยสาหํ ภนฺเต ตัดบทเป็น เยสํ อหํ ภนฺเต. เพราะคำว่า เยสาหํ ในที่นี้ เป็นด้วยอำนาจการเชื่อม (สนธิ). คำว่า ตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เรียนมา คือ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมาและได้เรียนมาอย่างไร. คำว่า ย่อมแสดงธรรมอย่างนี้ คือ ย่อมแสดงธรรมคือวัตตบทเจ็ดประการ.
               คำว่า น จาหํ เตสํ คือ ส่วนข้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นสาวกของท่านเหล่านั้นยังเข้าถึงไม่ได้. ท้าวสักกะทรงแจ้งให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความที่พระองค์ทรงเป็นพระโสดาบันด้วยพระดำรัสเป็นต้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ ข้าพระพุทธเจ้า แล.

               โสมนสฺสปฏิลาภกถาวณฺณนา               
               คำว่า การได้เฉพาะซึ่งความดีใจ คือ การได้เฉพาะซึ่งความยินดี.
               คำว่า สงครามระหว่างเทวดากับอสูร ได้แก่ สงครามของพวกเทวดาและพวกอสูร.
               คำว่า ประชิดกัน ได้แก่ เผชิญหน้ากันแบบถึงลักษณะที่เอาหน้าผากเข้ากระแทกกัน.
               เล่ากันว่า บางที พวกเหล่านั้นถึงกับรบกันบนหลังทะเลหลวงก็มี. แต่ในที่นั้นไม่มีการฆ่ากันและกันด้วยการฟันการแทงเป็นต้น. เอากันแค่ชนะและแพ้เหมือนการรบกันระหว่างไม้กับแกะเท่านั้นเอง. บางครั้งเหล่าเทพก็ชนะ บางครั้งก็เหล่าอสูร. ในการรบกันนั้น พวกเทพชนะ พวกอสูรด้วยการไม่กลับมาอีกในสงครามใด ท้าวสักกะทรงหมายเอาสงครามนั้นจึงตรัสคำเป็นต้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ นั้น แล.
               คำว่า ทั้งสองนี้ ได้แก่ พวกเทวดาเท่านั้น ย่อมบริโภคโอชะทั้งสอง คือสองอย่างนี้ในเทวโลกนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อท้าวสักกะนั้นทรงใคร่ครวญอยู่ความปลาบปลื้มและความดีพระทัยที่มีกำลังจึงเกิดขึ้น.
               คำว่า เที่ยวไปพร้อมกับอาชญา ได้แก่ ผู้เที่ยวเป็นประจำพร้อมกับอาชญา. ท่านแสดงว่าได้เป็นผู้เที่ยวไปพร้อมกับการถือกระบอง พร้อมกับการถือศัสตรา ไม่ใช่วางอาชญาและอาวุธ.
               คำว่า เพื่อความเบื่อหน่ายที่มีที่สุดอย่างเดียว ได้แก่ เพื่อความเบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิดโดยที่สุดอย่างเดียวเท่านั้น.
               ทุกอย่างได้กล่าวไว้ในมหาโควินทสูตรเสร็จแล้ว.
               คำว่า แจ้ง ได้แก่ กล่าว คือแสดง.
               บทว่า ใน นี้นั่นเทียว คือ ในโอกาสนี้แหละ.
               บทว่า ของข้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นเทวดาเป็นอยู่ คือ ของข้าพระพุทธเจ้าผู้เทพเป็นอยู่.
               คำว่า และข้าพระพุทธเจ้าก็ได้อายุอีกทีเดียว ความว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ชีวิตด้วยผลกรรมอย่างอื่นอีก. ด้วยคำนี้ ท้าวสักกะทรงเปิดเผยถึงความจุติและความเกิดของพระองค์.
               คำว่า กายทิพย์ คือ อัตภาพเป็นทิพย์. คำว่า ละอายุที่ไม่ใช่เป็นของมนุษย์ คือ ทิ้งอายุทิพย์. คำว่า จะไม่หลงเข้าครรภ์ คือ เป็นผู้ไม่หลง เพราะมีคติเที่ยงแท้ จะเข้าถึงครรภ์ในตระกูลกษัตริย์เป็นต้น ที่ใจของข้าพระพุทธเจ้าจะรื่นรมย์นั้นเท่านั้น. ท้าวสักกะทรงแสดงความข้อนี้ว่า ในเทวดาและในมนุษย์เจ็ดครั้ง.
               คำว่า จะอยู่อย่างถูกต้อง ความว่า แม้ข้าพระพุทธเจ้าเกิดในหมู่มนุษย์จะอยู่อย่างถูกต้อง คือตามเหตุผล โดยสม่ำเสมอ เพราะความเป็นผู้ไม่ควรแก่การปลงแม่จากชีวิตเป็นต้น (ฆ่าแม่).
               ท้าวสักกะตรัสหมายเอาสกทาคามิมรรคนี้ว่า หากความตรัสรู้จะมี. ทรงแสดงว่า หากข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นสกทาคามี. คำว่า เป็นผู้รู้ทั่วถึงจะอยู่ คือ ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้รู้ทั่วถึง คือจะเป็นผู้ใครรู้ทั่วถึงอยู่. คำว่า ที่สุดนั้นแลจะมี คือ ที่สุดในมนุษยโลกนั้นแลจะมี.
               ท้าวสักกะตรัสว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นสักกะผู้จอมทวยเทพที่สูงสุดในเทวโลกอีก ด้วยคำนี้ว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นเทพผู้สูงสุดในเทวโลกอีก.
               คำว่า อันมีในที่สุด ที่กำลังเป็นไปอยู่ คือ ในภพอันมีในที่สุดที่กำลังเป็นไปอยู่.
               คำว่า นั้นจะเป็นที่อยู่ คือ พวกเทวดาเหล่านั้นใดที่ไม่น้อยกว่าใคร ทั้งด้วยอายุ ทั้งด้วยปัญญา เป็นผู้เจริญที่สุด ประณีตกว่าพวกเทพทั้งหมด ในที่สุดภพนั้นจะเป็นที่อยู่อาศัยของข้าพระพุทธเจ้า.
               เล่ากันมาว่า ท้าวสักกะนี้จุติจากอัตภาพแห่งท้าวสักกะนั้นแล้ว จะเป็นผู้มีกระแสสูงไปจนถึงชั้นอกนิฏฐ์ เพราะความที่ทรงได้อนาคามิมรรคในอัตภาพนั้น เมื่อทรงเกิดในชั้นอวิหาเป็นต้นอยู่ สุดท้ายจะเป็นอกนิฏฐคามีพรหม. ท้าวเธอทรงหมายถึงข้อนั้นจึงตรัสอย่างนั้น.
               ได้ยินว่า ท้าวสักกะนี้จะทรงอยู่ในชั้นอวิหาพันกัป แม้ในชั้นอตัปปาสองพันกัป ในชั้นสุทัสสาสี่พันกัป ในชั้นสุทัสสีแปดพันกัป ในชั้นอกนิฏฐ์หนึ่งหมื่นหกพันกัป ดังว่ามานี้ ท้าวเธอจึงจะเสวยอายุพรหมสามหมื่นหนึ่งพันกัป.
               จริงอยู่ ชื่อว่าสัตว์ยินดีเป็นอย่างยิ่งในการเวียนว่ายตายเกิดมีประมาณอายุอย่างเดียวกันแท้ เหล่านี้สามท่าน ได้แก่ท้าวสักกะผู้เป็นราชาของเทพ อนาถปิณฑิกคฤหบดี นางวิสาขามหาอุบาสิกา. ธรรมดาผู้มีส่วนความสุขเท่ากับท่านเหล่านี้ไม่มี.
               คำว่า ผู้มีความดำริยังไม่ถึงที่สุด คือ มีมโนรถที่ยังไม่จบลง. คำว่า ข้าพระพุทธเจ้าสำคัญสมณะเหล่าใดสิ คือ ข้าพระพุทธเจ้าย่อมสำคัญว่า สมณะเหล่าใดเป็นผู้มีปกติเงียบสงบอยู่. คำว่า อาราธนา แปลว่า ความสำเร็จ. คำว่า วิราธนา แปลว่า ความล้มเหลว. คำว่า ไม่เป็นพร้อม คือ ไม่อาจพูดให้สำเร็จได้.
               คำว่า เป็นญาติของพระอาทิตย์ คือ พระอาทิตย์ก็เป็นโคตมโคตรด้วย. พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเป็นโคตมโคตรด้วย ฉะนั้น ท้าวสักกะจึงตรัสอย่างนั้น.
               คำว่า ย่อมกระทำสิ่งใดกันล่ะ คือ แต่ก่อนมา พวกเราย่อมกระทำความนอบน้อมใดแก่พรหม.
               คำว่า เสมอกับพวกเทพ คือ พร้อมกับพวกเทพ. ท้าวสักกะทรงแสดงว่า บัดนี้ ตั้งแต่นี้ไป พวกเราไม่มีการกระทำความนอบน้อมแก่พรหม พวกเราเลิกไหว้พรหม.
               คำว่า ย่อมกระทำความสมควร คือ พวกเราย่อมกระทำความนอบน้อม.
               คำว่า ทรงลูบคลำ ความว่า ท้าวสักกะมีพระทัยปลาบปลื้ม ทรงตบแผ่นดิน หรือทรงตบเพื่อพระประสงค์ให้เป็นพยาน เหมือนคนเอามือลูบมือเพื่อนตรัสว่า เราก็เหมือนท่านที่ไม่หวั่นไหว.
               คำว่า ปัญหาที่ทรงเชื้อเชิญแล้ว คือ ปัญหาที่ได้รับอาราธนา หมายความว่าปัญหาที่ถูกทูลถาม.
               คำที่เหลือในที่ทุกแห่งง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาสักกปัญหสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค สักกปัญหสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 235อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 247อ่านอรรถกถา 10 / 273อ่านอรรถกถา 10 / 301
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=10&A=5727&Z=6256
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=7978
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=7978
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :