ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 247อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 273อ่านอรรถกถา 10 / 301อ่านอรรถกถา 10 / 301
อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
มหาสติปัฏฐานสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๖.

               บาลีวิภังค์               
               ส่วนในบาลีวิภังค์กล่าวความของบทเหล่านั้นไว้อย่างนี้ว่า
               บทว่า อนุปสฺสี ความว่า อนุปัสสนาในคำนั้นเป็นอย่างไร ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ฯลฯ ความเห็นชอบ นี้เรียกอนุปัสสนา บุคคลได้ประกอบแล้ว ประกอบพร้อมแล้ว เข้าไปแล้ว เข้าไปพร้อมแล้ว เข้าถึงแล้ว เข้าถึงพร้อมแล้ว มาตามพร้อมแล้ว ด้วยอนุปัสสนานี้ เหตุนั้น บุคคลนั้นจึงเรียกว่า อนุปสฺสี.
               บทว่า วิหรติ แปลว่า เป็นอยู่ เป็นไปอยู่ รักษาอยู่ ดำเนินไปอยู่ ให้อัตตภาพดำเนินไปอยู่ เที่ยวไปอยู่ เหตุนั้นจึงเรียกว่า วิหรติ.
               บทว่า อาตาปี ผู้มีเพียร ความว่า อาตาปะ ความเพียรในคำนั้นเป็นอย่างไร การปรารภความเพียรเป็นไปทางใจ ฯลฯ สัมมาวายามะใด นี้เรียกว่า อาตปะ บุคคลผู้ประกอบด้วยอาตาปะนี้ เหตุนั้น บุคคลนั้นจึงเรียกว่าอาตาปี.
               บทว่า สมฺปชาโน ความว่า สัมปชัญญะในคำนั้นเป็นอย่างไร ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ฯลฯ ความเห็นชอบ นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ บุคคลใดประกอบแล้ว ฯลฯ มาตามพร้อมแล้ว ด้วยสัมปชัญญะนี้ เหตุนั้น บุคคลนั้นจึงเรียกว่า สมฺปชาโน.
               บทว่า สติมา ความว่า สติในคำนั้นเป็นอย่างไร ความระลึกได้ ความระลึกถึง ฯลฯ ความระลึกชอบ นี้เรียกว่า สติ บุคคลใดประกอบแล้ว ฯลฯ มาตามพร้อมแล้วด้วยสตินี้ เหตุนั้น บุคคลนั้นจึงเรียกว่าสติมา.
               ข้อว่า วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ ความว่า โลกในคำนั้นเป็นอย่างไร กายนั้นแล ชื่อว่าโลก อุปาทานขันธ์แม้ทั้ง ๕ ก็ชื่อว่าโลก นี้เรียกว่าโลก.
               อภิชฌาในคำนั้นเป็นอย่างไร ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความดีใจ ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ความกำหนัดนักแห่งจิต นี้เรียกว่าอภิชฌา.
               โทมนัสในคำนั้นเป็นอย่างไร ความไม่สำราญทางใจ ทุกข์ทางใจ ฯลฯ เวทนาที่ไม่สำราญเป็นทุกข์ อันเกิดแก่สัมผัสทางใจ นี้เรียกว่า โทมนัส.
               อภิชฌาและโทมนัสนี้ เป็นอันพระโยคาวจรกำจัดเสียแล้ว นำออกไปแล้ว สงบแล้ว ให้สงบแล้ว ให้ระงับแล้ว ให้ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว ให้ถึงความสาบศูนย์แล้ว ให้ถึงความไม่มีแล้ว ให้ถึงความย่อยยับแล้ว ให้เหือดแห้งแล้ว ให้แห้งผากแล้ว ทำให้ถึงที่สุดแล้ว เหตุนั้นจึงตรัสว่า วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌา โทมนสฺสํ ดังนี้.
               นัยที่มาในอรรถกถานี้ กับบาลีวิภังค์นั้น บัณฑิตพึงทราบได้โดยการเทียบกัน.
               พรรณนาความแห่งอุทเทสที่ว่าด้วยกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีเพียงเท่านี้ก่อน.

               อุทเทสวารแห่งเวทนาจิตตธัมมานุปัสสนา               
               บัดนี้จะวินิจฉัยในคำว่า ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย จิตในจิต ธรรมในธรรมทั้งหลาย อยู่ ฯลฯ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก ดังนี้ ประโยชน์ในอันจะกล่าวซ้ำเวทนาเป็นต้น ในคำซึ่งมีอาทิอย่างนี้ว่า เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย พึงทราบโดยนัยที่กล่าวมาแล้วในกายานุปัสสนานั่นแล.
               อนึ่ง ในข้อที่ว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย พิจารณาเห็นจิตในจิต พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายนี้ มีวินิจฉัยดังนี้ เวทนาได้แก่เวทนา ๓ ก็เวทนา ๓ นั้น เป็นโลกิยะอย่างเดียว แม้จิตก็เป็นโลกิยะ ธรรมทั้งหลายก็เป็นโลกิยะเหมือนกัน.
               การจำแนกเวทนาจิตธรรมนั้นจักปรากฏในนิทเทสวาร.
               ส่วนในอุทเทสวารนี้ ภิกษุผู้พิจารณาเวทนา ๓ นั้นโดยประการที่ตนพึงพิจารณาเห็น ก็พึงทราบว่า เป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย. แม้ในจิตและธรรม ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ถามว่า จะพึงพิจารณาเห็นเวทนาอย่างไร.
               ตอบว่า พึงพิจารณาเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์ เห็นทุกข์เวทนาโดยเป็นดุจลูกศร เห็นอทุกขมสุขเวทนา โดยความเป็นของไม่เที่ยง.
               ดังที่ตรัสไว้ว่า
                         โย สุขํ ทุกฺขโต อทฺท    ทุกฺขมทฺทกฺขิ สลฺลโต
                         อทุกฺขมสุขํ สนฺตํ    อทฺทกฺขิ นํ อนิจฺจโต
                         ส เว สมฺมทฺทโส ภิกฺขุ    อุปสนฺโต จริสฺสติ
                                   ภิกษุใดเห็นสุขเวทนาโดยความเป็น
                         ทุกข์ เห็นทุกขเวทนาโดยความเป็นดังลูกศร
                         เห็นอทุกขมสุขเวทนาที่มีอยู่โดยความเป็น
                         ของไม่เที่ยง ภิกษุนั้นแล เป็นผู้เห็นชอบ จัก
                         เป็นผู้สงบเที่ยวไป ดังนี้.

               อนึ่ง พระโยคาวจรพึงพิจารณาเห็นเวทนาทั้งหมดนั่นแหละ โดยความเป็นทุกข์ด้วย. สมจริงดังที่ตรัสไว้ดังนี้ว่า เรากล่าวเวทนาทุกอย่างบรรดามี อยู่ในทุกข์ทั้งนั้น.
               พึงพิจารณาเห็นเวทนาโดยความเป็นสุข เป็นทุกข์ (เปลี่ยนเวียนกันไป). ดังที่ตรัสไว้ว่า สุขเวทนาเป็นสุข เมื่อเกิดขึ้น เมื่อตั้งอยู่ เป็นทุกข์เมื่อแปรไป ดังนี้
               คำทั้งหมด ผู้ศึกษาพึงเข้าใจให้กว้างขวาง.
               อนึ่ง พระโยคาวจรพึงพิจารณาเห็น แม้ด้วยอำนาจอนุปัสสนา ๗ มีอนิจจานุปัสสนา เป็นต้น. ข้อควรกล่าวนี้ยังเหลือจักปรากฏในนิทเทสวารแล.
               ก่อนอื่น บรรดาจิตและธรรม จิตอันพระโยคาวจรพึงพิจารณาเห็นด้วยอำนาจประเภทแห่งจิตอันต่างๆ กัน มีอารัมมณจิต อธิปติจิต สหชาตจิต ภูมิจิต กัมมจิต วิปากจิตและกิริยาจิตเป็นต้น และด้วยอำนาจประเภทแห่งจิต มีจิตมีราคะเป็นต้น ซึ่งมาในนิทเทสวารแห่งอนุปัสนา มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น.
               ธรรมอันพระโยคาวจรพึงพิจารณาเห็นด้วยอำนาจแห่งลักษณะเฉพาะตนและลักษณะทั่วไป และแห่งธรรมที่เป็นสภาพว่างเปล่า และด้วยอำนาจประเภทแห่งธรรมมีธรรมอันมีสงบเป็นต้น ซึ่งมาในนิทเทสสวารแห่งอนุปัสสนา ๗ มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวมาแล้วทั้งนั้น.
               อภิชฌาและโทมนัสในโลก คือกาย อันพระโยคาวจรใดละได้แล้ว ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ แม้อภิชฌาและโทมนัสในโลก คือเวทนาเป็นต้น ก็เป็นอันพระโยคาวจรนั้นละได้แล้วเหมือนกัน ก็จริงอยู่ ถึงดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยังตรัสการละอภิชฌาและโทมนัสไว้ในสติปัฏฐานทุกข้อ ด้วยอำนาจแห่งบุคคลต่างๆ กัน และด้วยอำนาจแห่งสติปัฏฐานภาวนา อันเป็นไปในขณะจิตต่างกัน.
               อีกนัยหนึ่ง เพราะอภิชฌาและโทมนัสที่ละได้ในสติปัฏฐานข้อหนึ่งถึงในสติปัฏฐานที่เหลือทั้ง ๓ ข้อ ก็เป็นอันละได้เหมือนกัน. เพราะฉะนั้นแล จึงควรทราบว่า การละอภิชฌาและโทมนัสนี้ ตรัสไว้เพื่อทรงแสดงการละในสติปัฏฐานเหล่านั้นของภิกษุนั้น ฉะนั้นแล.
               จบอุทเทสวารกถา               

               นิทเทสวารกถา               
               กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน               
               สัมมาสติมีอารมณ์ ๔               
               นายช่างจักสานผู้ฉลาด ประสงค์จะทำเครื่องใช้ เช่นเสื่อหยาบ เสื่ออ่อน เตียบ ลุ้งและฝาชีเป็นต้น ได้ไม้ไผ่ลำใหญ่มาลำหนึ่ง ตัดเป็น ๔ ท่อนแล้ว พึงเอาท่อนๆ หนึ่งแต่ ๔ ท่อนนั้นมาผ่าออกทำเป็นเครื่องใช้นั้นๆ แม้ฉันใด
               พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน บัดนี้ ทรงประสงค์จะทำสัตว์ทั้งหลายให้บรรลุคุณวิเศษต่างๆ ด้วยการทรงแสดงสติปัฏฐานจำแนกสัมมาสติอย่างเดียวเท่านั้น ออกเป็น ๔ ส่วน ด้วยสามารถแห่งอารมณ์ โดยนัยเป็นต้นว่า สติปัฏฐาน ๔ เป็นอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ดังนี้ ทรงถือเอาสติปัฏฐานแต่ละอย่างจาก ๔ อย่างนั้น
               เมื่อจะทรงจำแนกกาย จึงทรงเริ่มตรัสนิทเทสวารโดยนัยเป็นต้นว่า กถญฺจ ภิกฺเว.

               อธิบายศัพท์ในปุจฉวาร               
               ในนิทเทสวารนั้น คำว่า กถญฺจ อย่างไรเล่า เป็นต้น เป็นคำถามด้วยหมายจะขยายให้กว้างขวาง. ก็แล ความย่อในปุจฉวารนี้มีดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายโดยประการไรเล่า. ในปุจฉวารทุกข้อ ก็นัยนี้.
               ข้อว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ คือภิกษุในพระศาสนานี้. ก็อิธศัพท์ในคำนี้ เป็นเครื่องแสดงศาสนา อันเป็นที่อาศัยอย่างดีของบุคคลผู้บำเพ็ญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกประการ ให้เกิดขึ้นแล้ว และเป็นเครื่องปฏิเสธความไม่เป็นจริงของศาสนาอื่น.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ (ในจูฬสีหนาทสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์) ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑-๒-๓-๔ มีอยู่ในศาสนานี้เท่านั้น ศาสนาอื่นว่างเปล่าจากสมณะผู้เป็นพระอรหันต์ทั้งหลาย

               เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า ภิกษุในศาสนานี้.

               อานาปานบรรพ               
               คำว่า ภิกษุไปป่าก็ดี ไปที่โคนไม้ก็ดี ไปยังเรือนว่างก็ดี นี้เป็นเครื่องแสดงการกำหนดเอาเสนาสนะอันเหมาะแก่การเจริญสติปัฏฐานของภิกษุนั้น. เพราะจิตของเธอซ่านไปในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นมานาน ย่อมไม่ประสงค์จะลงสู่วิถีแห่งกัมมัฏฐาน คอยแต่จะแล่นออกนอกทางท่าเดียว เหมือนเกวียนที่เทียมด้วยโคโกงฉะนั้น.
               เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้จะเจริญสติปัฏฐานนี้ ประสงค์จะทรมานจิตที่ร้าย ที่เจริญมาด้วยการดื่มรส มีรูปารมณ์เป็นต้นมานาน พึงพรากออกจากอารมณ์ เช่นรูปารมณ์เป็นต้น แล้วเข้าไปป่าก็ได้ โคนไม้ก็ได้ เรือนว่างก็ได้ แล้วเอาเชือก คือสติผูกเข้าไว้ที่หลัก คืออารมณ์ของสติปัฏฐานนั้น จิตของเธอนั้นแม้จะดิ้นรนไปทางนั้นทางนี้ เมื่อไม่ได้อารมณ์ที่คุ้นเคยมาก่อน ไม่อาจตัดเชือก คือสติให้ขาดแล้วหนีไปได้ ก็จะแอบแนบสนิทเฉพาะอารมณ์นั้นอย่างเดียว ด้วยอำนาจเป็นอุปจารภาวนา และอัปปนาภาวนา.
               เหมือนอย่างคนเลี้ยงโค ต้องการจะทรมานลูกโคโกงที่ดื่มนมแม่โคตัวโกงจนเติบโต พึงพรากมันไปเสียจากแม่โค แล้วปักหลักใหญ่ไว้หลักหนึ่ง เอาเชือกผูกไว้ที่หลักนั้น ครั้งนั้น ลูกโคของเขานั้นก็จะดิ้นไปทางโน้นทางนี้ เมื่อไม่อาจหนีไปได้ ก็หมอบหรือนอนแนบหลักนั้นนั่นแล ฉะนั้น.
               เหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงกล่าวว่า
                         ยถา ถมฺเภ นิพนฺเธยฺย    วจฺฉํ ทมํ นโร อิธ
                         พนฺเธยฺเยวํ สกํ จิตฺตํ    สติยารมฺมเณ ทฬฺหํ
                                   นรชนในพระศาสนานี้ พึงผูกจิตของตน
                         ไว้ในอารมณ์ให้มั่นด้วยสติ เหมือนคนเลี้ยงโค
                         เมื่อจะฝึกลูกโค พึงผูกมันไว้ที่หลักฉะนั้น.

               เสนาสนะนี้ ย่อมเหมาะแก่การเจริญสติปัฏฐานของภิกษุผู้เจริญสติปัฏฐานนั้น ด้วยประการฉะนี้. เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า คำนี้เป็นเครื่องแสดงการกำหนดเสนาสนะอันเหมาะแก่การเจริญสติปัฏฐานของภิกษุนั้นดังนี้.

               เสนาสนะที่เหมาะแก่การเจริญอานาปานสติ               
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะพระโยคาวจรไม่ละ ละแวกบ้านอันอื้ออึ้งด้วยเสียงหญิงชาย ช้างม้าเป็นต้น จะบำเพ็ญอานาปานสติกัมมัฏฐาน อันเป็นยอดในกายานุปัสสนา เป็นปทัฏฐานแห่งการบรรลุคุณวิเศษ และธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งปวงนี้ให้สำเร็จ ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ เลย เพราะฌานมีเสียงเป็นข้าศึก
               แต่พระโยคาวจรกำหนดกัมมัฏฐานนี้แล้วให้จตุตถฌาน มีอานาปานสติเป็นอารมณ์เกิดขึ้น ทำฌานนั้นนั่นแลให้เป็นบาท พิจารณาสังขารทั้งหลายแล้วบรรลุพระอรหัต ซึ่งเป็นผลอันยอดจะทำได้ง่าย ก็แต่ในป่าที่ไม่มีบ้าน ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเสนาสนะอันเหมาะแก่ภิกษุโยคาวจรนั้น จึงตรัสว่า อรญฺญคโต วา ไปป่าก็ดี เป็นต้น.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเปรียบเหมือนอาจารย์ผู้รู้ชัยภูมิ. อาจารย์ผู้รู้ชัยภูมิเห็นพื้นที่ควรสร้างนครแล้ว ใคร่ครวญถี่ถ้วนแล้ว ก็ชี้ว่า ท่านทั้งหลายจงสร้างนครตรงนี้ เมื่อเขาสร้างนครเสร็จโดยสวัสดีแล้ว ย่อมได้รับลาภสักการะอย่างใหญ่จากราชสกุล ฉันใด
               พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นก็ฉันนั้น ทรงใคร่ครวญถึงเสนาสนะอันเหมาะแก่พระโยคาวจรแล้วทรงชี้ว่า เสนาสนะตรงนี้ พระโยคาวจรควรประกอบกัมมัฏฐานเนืองๆ ต่อแต่นั้น พระโยคีเจริญกัมมัฏฐานเนืองๆ ในเสนาสนะนั้น ได้บรรลุพระอรหัตตามลำดับ ย่อมทรงได้รับสักการะอย่างใหญ่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ จริงหนอ.
               ก็ภิกษุนี้ ท่านกล่าวว่า เป็นเช่นเดียวกับเสือเหลือง. เหมือนอย่างพระยาเสือเหลืองขนาดใหญ่อาศัยพงหญ้าป่าชัฏ หรือเทือกเขาในป่า ซ่อนตัวคอยจับหมู่มฤคมีกระบือป่า ละมั่ง หมูป่าเป็นต้น ฉันใด ภิกษุนี้ผู้มีเพียรประกอบเนืองๆ ซึ่งกัมมัฏฐานในป่าเป็นต้น ย่อมถือเอาซึ่งมรรค ๔ และอริยผล ๔ ได้ตามลำดับ ฉันนั้นเหมือนกัน.
               เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงกล่าวว่า.
                         ยถาปิ ทีปิโก นาม    นิลียิตฺวา คณฺหตี มิเค
                         ตเถวายํ พุทฺธปุตฺโต    ยุตฺตโยโค วิปสฺสโก
                         อรญฺญํ ปวิสิตฺวาน    คณฺหติ ผลมุตฺตมํ
                                   อันเสือเหลืองซ่อนตัวคอยจับหมู่มฤค ฉันใด
                         ภิกษุผู้เป็นพุทธบุตรนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เข้าไปสู่
                         ป่าแล้ว ประกอบความเพียร เป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง
                         (เจริญวิปัสสนา) ย่อมถือไว้ได้ซึ่งผลอันสูงสุดได้.

               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเสนาสนะป่า อันเป็นภูมิที่เหมาะแก่ชวนปัญญา อันเป็นเครื่องบากบั่นของพระโยคาวจรนั้น จึงตรัสว่า อรญฺญคโตวา ไปป่าก็ดี เป็นต้น.
               ต่อแต่นี้ไป ก่อนอื่น คำที่ควรจะกล่าวในอานาปานบรรพนี้ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแล้วทั้งนั้น.

               กำหนดลมอัสสาสปัสสาสะ               
               ก็คำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายช่างกลึง หรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยัน นี้เป็นเพียงคำอุปมาเท่านั้น. คำว่า ในกายภายใน ก็ดีนี้เป็นเพียงอัปปนาเท่านั้น. แต่อัปปนานั้นก็ย่อมไม่มาในคำนั้น. มาแต่อุปจารกัมมัฏฐานที่เหลือ. แต่ก็ยังมาไม่ถึง คำว่า ผู้ขยัน หมายถึง ผู้ฉลาด (ผู้ชำนาญ).
               คำว่า ชักเชือกกลึงยาวก็ดี ความว่า เหยียดมือ เหยียดเท้า ชักเชือกยาวในเวลากลึงกลองช่องพิณเป็นต้น ซึ่งเป็นของใหญ่. คำว่า ชักเชือกสั้นก็ดี ความว่า ชักเชือกสั้นๆ ในเวลากลึงของเล็กๆ น้อยๆ เช่นงาและลิ่มสลักเป็นต้น.
               คำว่า ฉันนั้นเหมือนกันแล ความว่า แม้ภิกษุนี้ก็ฉันนั้น เมื่อหายใจเข้ายาวโดยลมอัสสาสะและปัสสาสะ ที่เป็นไปโดยระยะยาวและระยะสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว ฯลฯ คอยสำเหนียกอยู่ว่าเราหายใจออกยาวดังนี้. เมื่อเธอสำเหนียกอยู่อย่างนี้ ฌาน ๔ ย่อมเกิดในนิมิตแห่งลมอัสสาสปัสสาสะ. เธอออกจากฌานแล้ว จะกำหนดลมอัสสาสปัสสาสะ หรือองค์ฌานได้.
               ในการกำหนดลมอัสสาสปัสสาสะนั้น ภิกษุประกอบกัมมัฏฐานในลมอัสสาสปัสสาสะ ย่อมกำหนดรูปอย่างนี้ว่า ลมอัสสาสปัสสาสะเหล่านี้อาศัยอะไร อาศัยวัตถุ กรัชกาย ชื่อว่าวัตถุ มหาภูตรูป ๔ กับอุปาทายรูป ชื่อว่ากรัชกาย ต่อแต่นั้น จึงกำหนดในนามธรรม ซึ่งมีผัสสะเป็นที่ ๕ (๑. เวทนา ๒. สัญญา ๓. เจตนา ๔. วิญญาณ ๕. ผัสสะ) มีรูปนั้นเป็นอารมณ์.
               ครั้นกำหนดนามรูปนั้นอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว ค้นหาปัจจัยแห่งนามรูปนั้นอยู่ เห็นปฏิจจสมุปบาทมีอวิชชาเป็นต้นแล้ว ข้ามพ้นความสงสัยเสียได้ว่านี้เป็นเพียงปัจจัย และธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์หรือบุคคล จึงยกนามรูปกับทั้งปัจจัย ขึ้นสู่พระไตรลักษณ์เจริญวิปัสสนาอยู่ ย่อมบรรลุพระอรหัตโดยลำดับ. นี้เป็นทางปฏิบัติออกจากทุกข์จนถึงพระอรหัตของภิกษุรูปหนึ่ง.
               ภิกษุผู้เจริญฌานกัมมัฏฐาน กำหนดนามรูปว่า องค์ฌานเหล่านี้อาศัยอะไร อาศัยวัตถุรูป กรัชกายชื่อว่าวัตถุรูป องค์ฌานจัดเป็นนาม กรัชกายจัดเป็นรูป เมื่อจะแสวงหาปัจจัยแห่งนามรูปนั้น จึงเห็นปัจจยาการมีอวิชชาเป็นต้น จึงข้ามความสงสัยเสียได้ว่า นี้เป็นเพียงปัจจัยและธรรมอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ไม่ใช่สัตว์หรือบุคคล จึงยกนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยขึ้นสู่ไตรลักษณ์ เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตโดยลำดับ. นี้เป็นมุขของการออกจากทุกข์จนถึงพระอรหัตของภิกษุรูปหนึ่ง.
               คำว่า อิติ อชฺฌตฺตํวา ในกายภายใน ความว่า พิจารณาเห็นกายในกาย คือลมอัสสาสปัสสาสะของตนอยู่อย่างนี้.
               คำว่า หรือ ภายนอก ความว่า หรือพิจารณาเห็นกายในกาย คือลมอัสสาสปัสสาสะของคนอื่น อยู่.
               คำว่า ทั้งภายในทั้งภายนอก ความว่า หรือในกาย คือลมอัสสาสปัสสาสะของตนตามกาล ของคนอื่นตามกาล ด้วยคำนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกาลที่ภิกษุนั้นไม่หยุดกัมมัฏฐานที่คล่องแคล่ว ให้กาย คือลมอัสสาสปัสสาสะสัญจรไปมาอยู่ ก็กิจทั้งสองนี้ ย่อมไม่ได้ในเวลาเดียวกัน.
               คำว่า พิจารณาเห็นธรรมดา คือความเกิด ความว่า ลมอาศัยสูบของช่างทอง ๑ ลูกสูบ ๑ ความพยายามอันเกิดแต่ลูกสูบนั้น ๑ จึงจะสัญจรไปมาได้ฉันใด กาย คือลมอัสสาสปัสสาสะก็อาศัยกรัชกาย ๑ ช่องจมูก ๑ จิต ๑ ของภิกษุ จึงสัญจรไปมาได้ฉันนั้น. ภิกษุเห็นธรรมมีกายเป็นต้น ซึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา ท่านเรียกว่า พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดในกาย.
               คำว่า พิจารณาธรรม คือความเสื่อมก็ดี ความว่า เมื่อสูบถูกนำออกไปแล้ว เมื่อลูกสูบแตกแล้ว เมื่อความพยายามอันเกิดแต่ลูกสูบนั้น ไม่มี ลมนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ฉันใด เมื่อกายแตกแล้ว เมื่อช่องจมูกถูกกำจัดเสียแล้ว และเมื่อจิตดับแล้ว ชื่อว่ากาย คือลมอัสสาสปัสสาสะ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน. ภิกษุผู้เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ลมอัสสาสปัสสาสะดับ เพราะกายเป็นต้นดับ ดังนี้ ท่านเรียกว่า พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในกาย.
               คำว่า พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิด และความเสื่อม หมายความว่า พิจารณาเห็นความเกิดตามกาล ความเสื่อมตามกาล.
               คำว่า สติของเธอปรากฏชัดว่ากายมีอยู่ ความว่า สติของภิกษุนั้นเข้าไปตั้งเฉพาะอย่างนี้ว่า กายแลมีอยู่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร.
               คำว่า เพียงเท่านั้น นี้เป็นเครื่องกำหนดเขตแห่งประโยชน์.
               ท่านอธิบายว่า สติที่เข้าไปตั้งอยู่นั้น หาใช่เพื่อประโยชน์อย่างอื่นไม่ ที่แท้ก็เพียงเพื่อประโยชน์สักว่า ความรู้ คือประมาณแห่งความรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป และประมาณแห่งสติเท่านั้น. อธิบายว่า เพื่อความเจริญแห่งสติสัมปชัญญะ.
               คำว่า ไม่ถูกกิเลส อาศัยอยู่ ความว่า ไม่ถูกกิเลสอาศัย ด้วยอำนาจแห่งกิเลสเป็นที่อาศัย คือตัณหา และทิฏฐิอยู่.
               คำว่า ไม่ยึดถือสิ่งไรๆ ในโลกด้วย ความว่า ไม่ถือสิ่งไรๆ ในโลก คือรูป ฯลฯ หรือวิญญาณว่า นี้เป็นตัวของเรา นี้มีในตัวของเรา.
               ปิอักษรใน คำว่า เอวํปิ ลงในอรรถ คือ อาศัยความข้างหน้าประมวลมา.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมอบเทศนา คืออานาปานบรรพแสดงแล้วด้วยบทนี้.

               อานาปานสติเป็นอริยสัจ ๔               
               ในอานาปานบรรพนั้น สติที่กำหนดลมอัสสาสปัสสาสะเป็นอารมณ์เป็นทุกขสัจ ตัณหามีในก่อนอันยังทุกขสัจนั้นให้ตั้งขึ้นเป็นสมุทัยสัจ ความไม่เป็นไปแห่งสัจจะทั้งสอง เป็นนิโรธสัจ อริยมรรคที่กำหนดรู้ทุกขสัจ ละสมุทัยสัจ มีนิโรธสัจเป็นอารมณ์ เป็นมรรคสัจ. ภิกษุโยคาวจรขวนขวายด้วยอำนาจสัจจะ ๔ อย่างนี้ ย่อมบรรลุความดับทุกข์ได้ฉะนี้.
               นี้เป็นทางปฏิบัตินำออกจากทุกข์ จนบรรลุพระอรหัตของภิกษุผู้ตั้งมั่นแล้ว ด้วยอำนาจแห่งลมอัสสาสปัสสาสะ รูปหนึ่งฉะนี้แล.
               จบอานาปานบรรพ               

               อิริยาบถบรรพ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกกายานุปัสสนาโดยทางแห่งลมอัสสาสปัสสาสะอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกโดยทางแห่งอิริยาบถ จึงตรัสว่า ปุน จปรํ อีกอย่างหนึ่งดังนี้เป็นต้น.
               ในอิริยาบถนั้น พึงทราบความว่า แม้สัตว์ดิรัจฉาน เช่นสุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอกเป็นต้น เมื่อเดินไปก็รู้ว่าตัวเดิน ก็จริงอยู่ แต่ในอิริยาบถนั้น มิได้ตรัสหมายเอาความรู้เช่นนั้น เพราะความรู้เช่นนั้น ละความเห็นว่าสัตว์ไม่ได้ เพิกถอนความเข้าใจว่าสัตว์ไม่ได้ ไม่เป็นกัมมัฏฐาน หรือสติปัฏฐานภาวนาเลย.
               ส่วนการรู้ของภิกษุ (ผู้เจริญกายานุปัสสนา) นี้ ย่อมละความเห็นว่าสัตว์ เพิกถอนความเข้าใจว่าสัตว์ได้ เป็นทั้งกัมมัฏฐาน และเป็นสติปัฏฐานภาวนา และคำที่ตรัสหมายถึง ความรู้ชัดอย่างนี้ว่า ใครเดิน การเดินของใคร เดินได้เพราะอะไร.
               แม้ในอิริยาบถอื่น มีการยืนเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               จะวินิจฉัยในปัญหาเหล่านั้น คำว่า ใครเดิน ความว่า ไม่ใช่สัตว์หรือบุคคลไรๆ เดิน. คำว่า การเดินของใคร ความว่า ไม่ใช่การเดินของสัตว์ หรือบุคคลไรๆ เดิน. คำว่า เดินได้เพราะอะไร ความว่า เดินได้เพราะการแผ่ไปของวาโยธาตุอันเกิดแต่การทำของจิต.
               เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ คือจิตเกิดขึ้นว่า เราจะเดิน จิตนั้นก็ทำให้เกิดวาโยธาตุๆ ก็ทำให้เกิดวิญญัติ ความเคลื่อนไหว การนำสกลกายให้ก้าวไปข้างหน้า ด้วยความไหวตัวแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่การทำของจิต เรียกว่าเดิน.
               แม้ในอิริยาบถอื่นมียืนเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ในอิริยาบถยืนเป็นต้นนั้น จิตเกิดขึ้นว่า เราจะยืน จิตนั้นทำให้เกิดวาโยธาตุๆ ทำให้เกิดวิญญัติความเคลื่อนไหว การทรงสกลกายตั้งขึ้นแต่พื้นเท้าเป็นที่สุด ด้วยความไหวตัวแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่การทำของจิต เรียกว่ายืน. จิตเกิดขึ้นว่า เราจะนั่ง จิตนั้นก็ทำให้เกิดวาโยธาตุๆ ก็ทำให้เกิดวิญญัติความเคลื่อนไหว ความคู้กายเบื้องล่างลง ทรงกายเบื้องบนตั้งขึ้น ด้วยความไหวตัวแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่การทำของจิต เรียกว่านั่ง. จิตเกิดขึ้นว่า เราจะนอน จิตนั้นก็ทำให้เกิดวาโยธาตุๆ ทำให้เกิดวิญญัติความเคลื่อนไหว การเหยียดกายทั้งสิ้นเป็นทางยาว ด้วยความไหวตัวแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่การทำจิต เรียกว่า นอน.
               เมื่อภิกษุนั้นรู้ชัดอยู่อย่างนี้ ย่อมมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เขากล่าวกันว่า สัตว์เดิน สัตว์ยืน แต่โดยอรรถแล้ว สัตว์ไรๆ ที่เดิน ที่ยืนไม่มี ประดุจคำที่กล่าวกันว่า เกวียนเดิน เกวียนหยุด แต่ธรรมดาว่า เกวียนไรๆ ที่เดินได้ หยุดได้เอง หามีไม่ ต่อเมื่อนายสารถีผู้ฉลาดเทียมโค ๔ ตัว แล้วขับไป เกวียนจึงเดิน จึงหยุด เพราะฉะนั้น คำนั้นจึงเป็นเพียงบัญญัติสมมุติเรียกกันฉันใด
               กายเปรียบเหมือนเกวียน เพราะอรรถว่าไม่รู้ ลมที่เกิดจากจิต เปรียบเหมือนโค จิตเปรียบเหมือนสารถี
               เมื่อจิตเกิดขึ้นว่า เราจะเดิน เราจะยืน วาโยธาตุที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวก็เกิดขึ้น อิริยาบถมีเดินเป็นต้น ย่อมเป็นไปเพราะความไหวตัวแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่การทำของจิต ต่อแต่นั้น สัตว์ก็เดิน สัตว์ก็ยืน เราเดิน เรายืน เพราะเหตุนั้น คำนั้นจึงเป็นเพียงบัญญัติสมมุติเรียกกัน ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ด้วยฉะนั้น พระโบราณาจารย์จึงกล่าวว่า
               นาวา มาลุตเวเคน    ชิยาเวเคน เตชนํ
               ยถา ยาติ ตถา กาโย    ยาติ วาตาหโต อยํ
               ยนฺตํ สุตฺตวเสเนว    จิตฺตสุตฺตวเสนิทํ
               ปยุตฺตํ กายยนฺตมฺปิ    ยาติ ฐาติ นิสีทติ
               โก นาม เอตฺถ โส    สตฺโต โย วินา เหตุปจฺจเย
               อตฺตโน อานุภาเวน    ติฎฺเฐ วา ยทิ วา วเช
                         เรือแล่นไปได้ด้วยกำลังลม ลูกธนูแล่นไปด้วย
               กำลังสายธนูฉันใด กายนี้อันลมนำไป จึงเดินไปได้
               ฉันนั้น แม้ยนต์คือกายนี้ อันปัจจัยประกอบแล้ว เดิน
               ยืนและนั่งได้ด้วยอำนาจสายชัก คือจิต เหมือนเครื่อง
               ยนต์ หมุนไปได้ด้วยอำนาจสายชักฉะนั้นนั่นแหละ
                         ในโลกนี้ สัตว์ใดเว้นเหตุปัจจัยเสียแล้ว ยังยืน
               ได้ เดินได้ด้วยอานุภาพของตนเอง สัตว์นั้นชื่อไรเล่า
               จะมี ดังนี้.

               เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ภิกษุนี้กำหนดอิริยาบถมีเดินเป็นต้น ซึ่งเป็นไปได้ด้วยอำนาจเหตุปัจจัยเท่านั้นอย่างนี้ เมื่อเดินก็รู้ว่าเราเดิน เมื่อยืนก็รู้ว่าเรายืน เมื่อนั่งก็รู้ว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ว่าเรานอน ดังนี้.
               คำว่า ก็หรือ กายของเธอตั้งอยู่โดยอาการใดๆ ก็รู้กายนั้นโดยอาการนั้นๆ นี้เป็นคำกล่าวรวมอิริยาบถทั้งปวง. มีคำอธิบายว่า หรือกายของเธอดำรงอยู่โดยอาการใดๆ ก็รู้ชัดกายนั้นโดยอาการนั้นๆ คือกายนั้นดำรงอยู่โดยอาการเดิน ก็รู้ชัดว่าเราเดิน กายดำรงอยู่โดยอาการยืน นั่ง นอน ก็รู้ชัดว่าเรายืน เรานั่ง เรานอน.

               อิริยาบถภายในภายนอก               
               คำว่า ภายใน หรือดังนี้ ความว่า พิจารณาเห็นกายในกายด้วยการกำหนดอิริยาบถ ๔ ของตนเองอย่างนี้อยู่.
               คำว่า หรือภายนอก ความว่า ด้วยการกำหนดอิริยาบถสี่ของคนอื่นอยู่.
               คำว่า หรือทั้งภายใน ทั้งภายนอก ความว่า พิจารณาเห็นกายในกาย ด้วยการกำหนดอิริยาบถ ๔ ของตนเองตามกาล ของคนอื่นตามกาลอยู่.
               ก็ในคำบาลีเป็นต้นว่า พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิด คือพึงนำความเกิดและความเสื่อมแห่งรูปขันธ์ออกแสดง โดยอาการทั้ง ๕ ตามนัยบาลีเป็นต้นว่า รูปเกิด เพราะอวิชชาเกิด ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาความเกิด และความเสื่อมนั้นแล ตรัสว่า พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดดังนี้เป็นต้นในที่นี้.
               คำบาลีเป็นต้นว่า สติของเธอก็ปรากฏชัดว่า กายมีอยู่ ดังนี้ ก็มีข้อความเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วนั่นแล.

               สติกำหนดอิริยาบถเป็นอริยสัจ ๔               
               แม้ในอิริยาบถบรรพนี้ สติที่กำหนดอิริยาบถ ๔ เป็นอารมณ์เป็นทุกขสัจ ตัณหาที่มีในก่อนอันยังสติที่กำหนดอิริยาบถ ๔ นั้นให้ตั้งขึ้นเป็นสมุทัยสัจ การหยุดทุกขสัจและสมุทัยสัจทั้งสอง เป็นนิโรธสัจ อริยมรรคที่กำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัยมีนิโรธเป็นอารมณ์ เป็นมรรคสัจ ภิกษุผู้โยคาวจรขวนขวายโดยทางสัจจะ ๔ อย่างนี้ ย่อมบรรลุพระนิพพานดับทุกข์.
               นี้เป็นทางปฏิบัตินำออกจากทุกข์จนถึงพระอรหัต ของภิกษุผู้กำหนดอิริยาบถ ๔ รูปหนึ่งฉะนี้แล.
               จบอิริยาบถบรรพ               

               สัมปชัญญบรรพ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกกายานุปัสสนาโดยทางอิริยาบถ ๔ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกโดยทางสัมปชัญญะ ๔ จึงตรัสว่า ยังมีอีกข้อหนึ่ง เป็นต้น.
               ในสัมปชัญญบรรพนั้น คำว่า ก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น ทรงพรรณนาไว้แล้วในสามัญญผลสูตร.
               คำว่า หรือภายใน ความว่า พิจารณาเห็นกายในกายของตน หรือในกายของคนอื่น หรือในกายของตนตามกาล ของคนอื่นตามกาล โดยกำหนดสัมปชัญญะ ๔ อย่างนี้อยู่.
               ความเกิด และความเสื่อมของรูปขันธ์นั้นแล พึงนำออกแสดงในคำว่า พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดเป็นต้น แม้ในสัมปชัญญบรรพนี้.
               คำนอกจากนี้ ก็เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วนั่นแล.

               สติกำหนดสัมปชัญญะเป็นอริยสัจ ๔               
               ในสัมปชัญญบรรพนี้ สติกำหนดสัมปชัญญะ ๔ เป็นทุกขสัจ ตัณหาที่มีในก่อน อันยังสติกำหนดสัมปชัญญะ ๔ นั้นให้ตั้งขึ้น เป็นสมุทัยสัจ การไม่เกิดทุกขสัจและสมุทัยสัจทั้งสอง เป็นนิโรธสัจ อริยมรรคมีประการดังกล่าวมาแล้วเป็นมรรคสัจ ภิกษุโยคาวจรขวนขวายโดยทางสัจจะ ๔ อย่างนี้ ย่อมบรรลุนิพพานดับทุกข์ได้แล.
               นี้เป็นทางปฏิบัตินำทุกข์ออกจนถึงพระอรหัต ของภิกษุผู้กำหนดสัมปชัญญะ ๔ รูปหนึ่งฉะนี้แล.
               จบสัมปชัญญบรรพ               

               ปฏิกูลมนสิการบรรพ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกกายานุปัสสนาโดยทางสัมปชัญญะ ๔ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกการใส่ใจถึงกายโดยความเป็นของปฏิกูล จึงตรัสว่า ยังมีอีกข้อหนึ่ง เป็นต้น.
               ในปฏิกูลมนสิการบรรพนั้น คำใดที่ควรกล่าวในบาลีเป็นต้นว่า กายนี้นี่แล คำนั้นทั้งหมด ท่านกล่าวไว้แล้วในกายคตาสติกัมมัฏฐาน คัมภีร์วิสุทธิมรรคโดยพิสดารด้วยอาการทั้งปวง.
               คำว่า มีปากสองข้าง ความว่า ประกอบด้วยปากทั้งสอง ทั้งข้างล่างข้างบน.
               คำว่า มีอย่างต่างๆ คือมีชนิดต่างๆ.
               ในข้อนั้นมีคำเทียบเคียงอุปมาดังต่อไปนี้.
               ก็กายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ พึงทราบ เปรียบเหมือนไถ้มีปากสองข้าง อาการ ๓๒ มีผมเป็นต้น เปรียบเหมือนธัญญชาติต่างชนิด ที่เขาใส่ปนกันลงไปในไถ้นั้น พระโยคาวจรเปรียบเหมือนบุรุษมีจักษุ อาการปรากฏชัดแห่งอาการ ๓๒ ของพระโยคาวจร พึงทราบเหมือนอาการที่ธัญญชาติต่างชนิดปรากฏแก่บุรุษผู้แก้ไถ้นั้นออกแล้ว พิจารณาดูอยู่.
               คำว่า ภายในก็ดี ความว่า พิจารณาเห็นกายในกายของตน หรือในกายของคนอื่น หรือในกายของตนตามกาล ของคนอื่นตามกาล ด้วยการกำหนดอาการ ๓๒ มีผมเป็นต้นอย่างนี้อยู่.
               ข้อต่อไปจากนี้ ก็มีนัยดังที่กล่าวมาแล้ว. ในปฏิกูลมนสิการบรรพนี้ ต่างกันอย่างเดียว ก็คือควรประกอบความอย่างนี้ว่า สติกำหนดอาการ ๓๒ เป็นอารมณ์ เป็นทุกขสัจแล้ว พึงทราบว่าเป็นทางปฏิบัตินำออกจากทุกข์จนถึงพระอรหัต ของภิกษุผู้กำหนดอาการ ๓๒ รูปหนึ่ง. คำนอกจากนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วนั้นแล.
               จบปฏิกูลมนสิการบรรพ               

               ธาตุมนสิการบรรพ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกกายานุปัสสนาโดยทางการใส่ใจถึงกายโดยเป็นของปฏิกูลอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกโดยทางการใส่ใจถึงกายโดยความเป็นธาตุ จึงตรัสธาตุมนสิการบรรพว่า ยังมีอีกข้อหนึ่ง เป็นต้น.
               ในธาตุมนสิการบรรพนั้น มีการพรรณนาอรรถพร้อมด้วยข้อเทียบเคียงอุปมาดังต่อไปนี้. คนฆ่าโคบางคน หรือลูกมือของเขา ที่เขาเลี้ยงดูด้วยอาหารและค่าจ้าง ฆ่าโคแล้วชำแหละแบ่งออกเป็นส่วนๆ แล้ว นั่ง ณ ที่ทางใหญ่ ๔ แพร่ง คือที่ชุมทางย่านกลางทางใหญ่ ซึ่งไปได้ทั้ง ๔ ทิศ ฉันใด ภิกษุ (ผู้บำเพ็ญธาตุกัมมัฏฐาน) ก็ฉันนั้นนั่นแล ย่อมพิจารณากาย ซึ่งชื่อว่าตั้งอยู่ตามที่ เพราะตั้งอยู่ด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งอิริยาบถทั้ง ๔ และซึ่งชื่อว่าดำรงอยู่ตามที่ เพราะตั้งอยู่ตามที่ อย่างนี้ว่า ในกายนี้มีปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ.

               กายสักว่าธาตุ ๔               
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร. ท่านอธิบายไว้ว่า เมื่อคนฆ่าโคเลี้ยงโคอยู่ก็ดี นำโคไปยังที่ฆ่าก็ดี นำมาผูกไว้ที่ฆ่าก็ดี กำลังฆ่าก็ดี มองดูโคที่ฆ่าตายแล้วก็ดี ความสำคัญว่าโค ยังไม่หายไปตราบเท่านี้ เขายังไม่ได้ชำแหละโคนั้นออกเป็นส่วนๆ ต่อเมื่อเขาชำแหละแบ่งออกแล้ว ความสำคัญว่าโคก็หายไป กลับสำคัญเนื้อโคไป เขามิได้คิดว่า เราขายโค คนเหล่านี้ซื้อไป ที่แท้ เขาคิดว่า เราขายเนื้อโค คนเหล่านี้ซื้อเนื้อโค เปรียบฉันใด
               แม้ภิกษุนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อครั้งเป็นปุถุชนผู้เขลา เป็นคฤหัสก็ดี บรรพชิตก็ดี ความสำคัญว่าสัตว์หรือบุคคล ยังไม่หายไปก่อนตราบเท่าที่ยังไม่พิจารณาเห็นกายนี้นี่แล ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่ แยกออกจากก้อน โดยความเป็นธาตุ ต่อเมื่อเธอพิจารณาเห็นโดยความเป็นธาตุ ความสำคัญว่าสัตว์จึงหายไป จิตก็ตั้งอยู่ด้วยดีโดยความเป็นธาตุอย่างเดียว.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
               ภิกษุพิจารณาเห็นกายอันนี้นี่แล ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่ โดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ขยัน ฯลฯ วาโยธาตุ ดังนี้ฉันนั้น.
               ก็พระโยคาวจรเปรียบเหมือนคนฆ่าโค ความสำคัญว่าสัตว์เปรียบเหมือนความสำคัญว่าโค อิริยาบถทั้ง ๔ เปรียบเหมือนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ความพิจารณาเห็นโดยความเป็นธาตุ เปรียบเหมือนการที่คนฆ่าโคนั่งแบ่งออกเป็นส่วนๆ นี้เป็นการพรรณนาบาลี ในธาตุมนสิการบรรพนี้. ส่วนกถาว่าด้วยกัมมัฏฐาน ท่านพรรณนาไว้พิสดาร ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแล้ว.
               คำว่า หรือภายใน ความว่า พิจารณาเห็นกายในกายของตน หรือในกายของคนอื่น หรือในกายของตนตามกาล ของคนอื่นตามกาล ด้วยการกำหนดธาตุ ๔ ด้วยอาการอย่างนี้อยู่.
               ข้อต่อไปจากนี้ ก็มีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้น. แต่ในที่นี้มีข้อต่างกันอย่างเดียว คือ พึงประกอบความอย่างนี้ว่า สติกำหนดธาตุ ๔ เป็นอารมณ์ เป็นทุกขสัจเป็นต้นแล้ว พึงทราบว่า นี้เป็นทางปฏิบัตินำออกจากทุกข์ของภิกษุผู้กำหนดธาตุ ๔ ดังนี้. ส่วนคำที่เหลือก็เช่นกับที่กล่าวมาแล้วแต่ก่อนนั่นแล.
               จบธาตุมนสิการบรรพ               

               นวสีวถิกาบรรพ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกกายานุปัสสนาโดยทางธาตุมนสิการอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกด้วยนวสีวัฏฐิกาบรรพ ข้อกำหนดว่าด้วยป่าช้า ๙ ข้อ จึงตรัสว่า ยังมีอีกข้อหนึ่งเป็นต้น.
               บรรดาเหล่านั้น บทว่า เหมือนอย่างว่า เห็น คือ เหมือนอย่างว่าพบ.
               บทว่า สรีระ คือสรีระของคนตาย.
               บทว่า ที่เขาทิ้งไว้ที่ป่าช้า คือที่เขาปล่อยทิ้งไว้ที่สุสาน.
               ซากศพที่ชื่อว่าตายแล้ววันเดียว เพราะเป็นซากศพที่ตายแล้วได้ ๑ วัน. ที่ชื่อว่าตายแล้ว ๒ วัน เพราะเป็นซากศพที่ตายแล้วได้ ๒ วัน. ที่ชื่อว่าตายแล้ว ๓ วัน เพราะซากศพที่ตายแล้วได้ ๓ วัน.
               ที่ชื่อว่าศพที่พองขึ้น เพราะเป็นศพที่พองขึ้นโดยเป็นศพที่ขึ้นอืดตามลำดับตั้งแต่สิ้นชีพไป เหมือนลูกสูบช่างทองอันพองขึ้นด้วยลม. ศพที่พองขึ้นนั่นแล ชื่อว่าอุทธุมาตกะ. อีกนัยหนึ่ง ศพที่พองขึ้นน่าเกลียด เพราะเป็นของปฏิกูล เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอุทธุมากะ.
               ศพที่มีสีต่างๆ เจือเขียว เรียกว่าศพที่มีสีเขียวเจือ. ศพที่มีสีเขียวเจือนั่นแล ชื่อว่าวินีลกะ. อีกนัยหนึ่ง ศพที่มีสีเขียวน่าเกลียด เพราะเป็นของปฏิกูล เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าวินีลกะ.
               คำว่า วินีลกะ นี้เป็นชื่อของซากศพ มีสีแดง ในที่เนื้อนูนหนา มีสีขาวในที่อันบ่มหนอง โดยมากมีสีเขียว ในที่ควรเขียว คล้ายผ้าห่มสีเขียว.
               ศพที่มีน้ำเหลืองไหลออกจากที่ปริแตกทางปากแผลทั้ง ๙ บ้าง ชื่อว่าศพมีน้ำเหลืองไหล. ศพมีน้ำเหลืองไหลนั่นแล ชื่อว่า วิบุพพกะ. อีกนัยหนึ่ง ศพมีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เพราะเป็นของปฏิกูล เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าวิบุพพกะ. ศพที่เป็นวิบุพพกะเกิดแล้ว คือถึงความเป็นซากศพมีน้ำเหลืองไหลอย่างนั้น เพราะเหตุนั้น ชื่อว่าวิบุพพกชาตะ.
               ข้อว่า โส อิมเมว กายํ ความว่า ภิกษุนั้นใช้ญาณนั้นแหละ น้อมนำกายของตนนี้ไปเปรียบกับกายอันนั้น (ซากศพ).
               เปรียบอย่างไร.
               เปรียบว่า กายนี้แล มีอย่างนั้นเป็นธรรมดาต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้.

               กายที่ปราศจากอายุไออุ่นวิญญาณเป็นซากศพ               
               ท่านอธิบายไว้ว่า กายนี้ยังทนยืนเดินเป็นต้นอยู่ได้ ก็เพราะมีธรรม ๓ อย่างนี้ คืออายุ ไออุ่นและวิญญาณ แต่เพราะธรรม ๓ อย่างนี้พรากจากกัน แม้กายนี้จึงต้องมีอย่างนั้นเป็นธรรมดา คือมีสภาพเปื่อยเน่าอย่างนั้นเหมือนกัน ต้องเป็นอย่างนั้น คือจักเป็นประเภทศพขึ้นพองเป็นต้นอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้ คือไม่ล่วงพ้นความเป็นศพพองขึ้นเป็นต้นอย่างนั้นไปได้.
               ข้อว่า หรือภายใน ความว่า พิจารณาเห็นกายในกายของตน ในกายของคนอื่น หรือในกายของตนตามกาล ของคนอื่นตามกาล ด้วยการกำหนดซากศพที่ขึ้นพองเป็นต้นอย่างนี้อยู่.

               เทียบกายด้วยซากศพ               
               บทว่า ขชฺชมานํ อันสัตว์กัดกินอยู่ ได้แก่ศพอันสัตว์มีแร้ง กาเป็นต้น จับที่อวัยวะ เช่นท้องเป็นต้น แล้วดึงเนื้อท้อง เนื้อปาก เบ้าตาเป็นต้น จิกกินอยู่.
               บทว่า สมํสโลหิตํ ยังมีเนื้อและเลือด คือศพที่มีเนื้อและเลือดยังเหลืออยู่.
               บทว่า นิมฺมํสโลหิตมกฺขิตํ ที่ปราศจากเนื้อแต่เปื้อนเลือด คือเมื่อเนื้อหมดไปแล้ว แต่เลือดยังไม่แห้ง. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาศพประเภทนั้น จึงตรัสว่า นิมฺมํสโลหิตมกฺขิตํ.
               บทว่า อญฺเญน คือ ศพไปทางทิศอื่น.
               บทว่า หตฺถฎฺฐิกํ กระดูกมือ ความว่า กระดูกมือมีประเภทถึง ๖๔ ชิ้น กระจัดกระจายแยกกันไป. แม้กระดูกเท้าเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า เตโรวสฺสิกานิ เกินปีหนึ่งขึ้นไป คือล่วงปีไปแล้ว.
               บทว่า ปูตีนิ เป็นของผุ ความว่า กระดูกอันตั้งอยู่กลางแจ้ง ย่อมผุเปื่อย เพราะกระทบลม แดดและฝน ส่วนกระดูกที่อยู่ใต้พื้นดิน ย่อมตั้งอยู่ได้นานกว่า.
               บทว่า จุณฺณกชาตานิ เป็นผง คือแหลกเป็นผง กระจัดกระจายไป.
               พึงประกอบความเข้าในข้อทั้งปวงโดยบทว่า ขชฺชมานํ อันสัตว์กัดกินเป็นต้น โดยนัยที่กล่าวมาแล้วว่า เธอก็น้อมกายอันนี้นี่แล เข้าไปเทียบกับศพเป็นต้น.
               ข้อว่า หรือภายในเป็นต้น ความว่า พิจารณาเห็นกายในกายของตน ในกายของคนอื่น หรือในกายของตนตามกาล ของคนอื่นตามกาล ด้วยการกำหนดซากศพอันสัตว์กัดกินเป็นต้น จนถึงเป็นกระดูกอันแหลกเป็นผงอย่างนี้อยู่.

               จัดเป็นบรรพ               
               ป่าช้า ๙ ข้อที่อยู่ในนวสีวถิกาบรรพนี้ บัณฑิตพึงจัดประมวลมาดังนี้ คือ
               ๑. ข้อที่ตรัสโดยนัยเป็นต้นว่า ศพที่ตายแล้วได้วันหนึ่งบ้าง แม้ทั้งหมดเป็นบรรพอันหนึ่ง.
               ๒. ข้อที่ว่า ศพที่ฝูงกาจิกกินบ้าง เป็นต้น เป็นบรรพอันหนึ่ง.
               ๓. ข้อที่ว่า ร่างกระดูก ที่ยังมีเนื้อ และเลือดมีเส้นเอ็นรัดรึงอยู่ เป็นบรรพอันหนึ่ง.
               ๔. ข้อที่ว่า ปราศจากเนื้อแต่เปื้อนเลือด มีเส้นเอ็นรัดรึงอยู่ เป็นบรรพอันหนึ่ง.
               ๕. ข้อที่ว่า ปราศจากเนื้อและเลือด มีเส้นเอ็นรัดรึงอยู่ เป็นบรรพอันหนึ่ง.
               ๖. ข้อที่ว่า กระดูกทั้งหลาย ที่ปราศจากเส้นเอ็นรัดรึงแล้วเป็นต้น เป็นบรรพอันหนึ่ง.
               ๗. ข้อที่ว่า กระดูกทั้งหลาย ขาว คล้ายสีสังข์ เป็นบรรพอันหนึ่ง.
               ๘. ข้อที่ว่า กระดูกทั้งหลายที่กองเรี่ยราย เกินหนึ่งปีขึ้นไป เป็นบรรพอันหนึ่ง.
               ๙. ข้อที่ว่า กระดูกทั้งหลายที่ผุ แหลกเป็นผงเป็นบรรพอันหนึ่ง.

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงป่าช้าทั้ง ๙ แล้ว จะทรงจบกายานุปัสสนา จึงตรัสคำนี้ว่า เอวํ โข ภิกฺขเว อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลายเป็นต้น.

               สติกำหนดซากศพเป็นอริยสัจ ๔               
               ในนวสีวถิกาบรรพนั้น สติอันกำหนดป่าช้าทั้ง ๙ ข้อ เป็นทุกขสัจ ตัณหาที่มีในก่อนที่ยังสตินั้นให้เกิดขึ้น เป็นสมุทัยสัจ การหยุดทุกขสัจและสมุทัยสัจทั้งสอง เป็นนิโรธสัจ อริยมรรคอันกำหนดทุกข์ ละสมุทัย มีนิโรธเป็นอารมณ์ เป็นมรรคสัจ.
               ภิกษุผู้โยคาวจรขวนขวายด้วยอำนาจสัจจะอย่างนี้ ย่อมบรรลุพระนิพพานดับทุกข์ได้ดังนี้. อันนี้เป็นทางปฏิบัตินำออกจากทุกข์จนถึงพระอรหัต ของเหล่าภิกษุผู้กำหนดป่าช้าทั้ง ๙ ข้อ อย่างนี้แล.
               จบนวสีวถิกาบรรพ.               

               ก็กายานุปัสสนา ๑๔ บรรพคืออานาปานบรรพ ๑ อิริยาบถบรรพ ๑ จตุสัมปชัญบรรพ ๑ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ๑ ธาตุมนสิการบรรพ ๑ สีวถิกา ๙ บรรพเป็นอันจบลง ด้วยคำพรรณนามีประมาณเพียงเท่านี้.
               ใน ๑๔ บรรพนั้น อานาปานบรรพกับปฏิกูลมนสิการบรรพ ๒ บรรพ นี้เท่านั้นเป็นอัปปนากัมมัฏฐาน ส่วน ๑๒ บรรพที่เหลือเป็นอุปจารกัมมัฏฐานอย่างเดียว เพราะตรัสไว้โดยการพิจารณาเห็นโทษแห่งกายอันเกี่ยวด้วยป่าช้า ดังนี้แล.
               จบกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน.               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 247อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 273อ่านอรรถกถา 10 / 301อ่านอรรถกถา 10 / 301
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=10&A=6257&Z=6764
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=9140
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=9140
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :