ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘]อ่านอรรถกถา 11 / 1อ่านอรรถกถา 11 / 207อรรถกถา เล่มที่ 11 ข้อ 221อ่านอรรถกถา 11 / 364อ่านอรรถกถา 11 / 364
อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
สังคีติสูตร

หน้าต่างที่ ๗ / ๘.

               ว่าด้วยธรรมหมวด ๖               
               พระเถระ (พระสารีบุตร) ครั้นแสดงสามัคคีรส ด้วยสามารถแห่งธรรมหมวดห้า ด้วยประการฉะนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะแสดงสามัคคีรสด้วยสามารถแห่งธรรมหมวดหก จึงเริ่มปรารภพระธรรมเทศนาต่อไปอีก.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อชฺฌตฺติกานิ ได้แก่ อายตนะภายใน.
               บทว่า พาหิรานิ ได้แก่ อายตนะที่มีในภายนอกจากอายตนะภายในนั้น. ส่วนว่า อายตนะกถาโดยพิสดาร ข้าพเจ้า (พระพุทธโฆษาจารย์) กล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคแล้วแล.
               บทว่า วิญฺญาณกายา ได้แก่ หมู่แห่งวิญญาณ.
               บทว่า จกฺขุวิญฺญาณํ ได้แก่ วิญญาณที่เป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากอันอาศัยจักษุประสาท. ในวิญญาณทั้งปวง ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า จกฺขุสมฺผสฺโส ได้แก่ สัมผัสอันอาศัยจักษุ. แม้ในโสตสัมผัสเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า มโนสมฺผสฺโส ได้แก่ สัมผัสทั้งปวงที่เหลือ เว้นสัมผัส ๑๐ เหล่านี้เสีย ชื่อว่ามโนสัมผัส. แม้หมวดหกแห่งเวทนาบัณฑิต ก็พึงทราบโดยนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า รูปสญฺญา ได้แก่ สัญญาที่กระทำรูปให้เป็นอารมณ์บังเกิดขึ้น.
               แม้สัญญาที่เหลือ บัณฑิตก็พึงทราบโดยอุบายนี้.
               แม้ในหมวดหกแห่งเจตนาก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ในหมวดหกแห่งตัณหาก็เหมือนกัน.
               บทว่า อคารโว ได้แก่ เว้นจากความเคารพ.
               บทว่า อปฺปฏิสฺโส ได้แก่ ไม่ยำเกรง คือไม่ประพฤติอ่อนน้อม.
               ก็ภิกษุใด ในพระศาสนานี้ ครั้นเมื่อพระศาสดายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ย่อมไม่ไปสู่ที่บำรุง ในกาลทั้ง ๓ ครั้นเมื่อพระศาสดาไม่สวมรองเท้า เสด็จจงกรมอยู่ ก็สวมรองเท้าจงกรม ครั้นเมื่อพระศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ ในที่จงกรมต่ำ ก็จงกรมในที่จงกรมสูง ครั้นเมื่อพระศาสดาเสด็จอยู่ในเบื้องล่าง ก็อยู่ในเบื้องบน ในที่เห็นพระศาสดา ก็ห่มคลุมไหล่ทั้งสอง กั้นร่ม สวมรองเท้า อาบน้ำ ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ก็หรือว่า ครั้นเมื่อพระศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว ย่อมไม่ไปเพื่อจะไหว้พระเจดีย์ กระทำกิจทั้งปวงตามที่กล่าวแล้ว ในที่พระเจดีย์ยังปรากฏอยู่ (หรือ) ในที่เห็นพระศาสดา ภิกษุนี้ชื่อว่าไม่เคารพในพระศาสดา.
               ก็ภิกษุใด ครั้นเมื่อเขาประกาศการฟังธรรม ก็ไม่ไปโดยเคารพ ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ นั่งคุยฟุ้งอยู่ ไม่เรียน ไม่บอก โดยเคารพ ภิกษุนี้ชื่อว่าไม่เคารพในพระธรรม.
               ก็ภิกษุใด อันภิกษุผู้เถระมิได้เชื้อเชิญ ก็แสดงธรรม นั่งกล่าวปัญหา เบียดภิกษุผู้เฒ่า ไปยืน นั่ง กระทำการรัดเข่าด้วยผ้าหรือด้วยมือในท่ามกลางสงฆ์ ก็ห่มคลุมไหล่ทั้งสอง กั้นร่ม หรือสวมรองเท้า ภิกษุนี้ชื่อว่าไม่เคารพในพระสงฆ์. ก็เมื่อภิกษุกระทำความไม่เคารพแม้ในภิกษุรูปเดียว ความไม่เคารพในพระสงฆ์ ก็จัดว่าเป็นอันเธอกระทำแล้วเหมือนกัน.
               ส่วนภิกษุผู้ไม่ยังสิกขาทั้ง ๓ ให้บริบูรณ์อยู่นั่นแล ชื่อว่าไม่เคารพในสิกขา. ภิกษุผู้ไม่ตามพอกพูนซึ่งลักษณะแห่งความไม่ประมาท ชื่อว่าไม่เคารพในความไม่ประมาท. ภิกษุ เมื่อไม่กระทำปฏิสันถาร แม้ทั้ง ๒ อย่าง ชื่อว่าไม่เคารพในปฏิสันถาร.
               ความเคารพ บัณฑิตพึงทราบด้วยสามารถแห่งนัยตรงกันข้ามตามที่กล่าวไว้แล้ว.
               บทว่า โสมนสฺสูปวิจารา ได้แก่ วิจารที่สัมปยุตด้วยโสมนัส.
               บทว่า โสมนสฺสฏฺฐานียํ คือ เป็นเหตุแห่งโสมนัส.
               บทว่า อุปวิจรติ ได้แก่ ตรึกด้วยวิตก (ก่อน) แล้วจึงกำหนดด้วยวิจาร.
               ในคำที่เหลือทั้งปวง ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               แม้โทมนัสสูปวิจาร บัณฑิตก็พึงทราบอย่างนั้นนั่นแหละ.
               อุเปกขูปวิจารก็เหมือนกัน.
               สาราณิยธรรม ท่านให้พิสดารในหนหลัง.
               ส่วนปฐมมรรค ท่านกล่าวไว้ในโกสัมพิกสูตร ด้วยบทนี้ว่า ทิฏฺฐิสามญฺญคโต. มรรคแม้ทั้ง ๔ ท่านกล่าวไว้ในที่นี้.

               วิวาทมูลฉกฺกวณฺณนา               
               บทว่า วิวาทมูลานิ ได้แก่ มูลแห่งวิวาท.
               บทว่า โกธโน ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความโกรธ อันมีความเกรี้ยวกราดเป็นลักษณะ.
               บทว่า อุปนาหิ ได้แก่ ประกอบด้วยความเข้าไปผูกโกรธไว้ อันมีการไม่สลัดการจองเวรกันเป็นลักษณะ.
               หลายบทว่า อหิตาย ทุกฺขาย เทวมนุสฺสานํ ได้แก่ วิวาทแห่งภิกษุทั้งสองย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายอย่างไร.
               เหมือนอย่างในโกสัมพิกขันธกะ
               เมื่อภิกษุ ๒ รูปวิวาทกัน พวกอันเตวาสิกของเธอทั้งสองนั้น ในวิหารนั้นก็วิวาทกัน. ภิกษุณีสงฆ์ผู้รับโอวาทของพวกภิกษุเหล่านั้นก็วิวาทกัน แต่นั้นพวกอุปัฏฐากของภิกษุเหล่านั้นก็วิวาทกัน. ลำดับนั้น เหล่าอารักขเทวดาของพวกมนุษย์ก็ (แยก) เป็นสองฝ่าย. บรรดาเทวดาเหล่านั้น เหล่าอารักขเทวดาของพวกมนุษย์ผู้เป็นธรรมวาที ก็เป็นธรรมวาทีด้วย. สำหรับพวกมนุษย์ผู้เป็นอธรรมวาที ก็เป็นอธรรมวาทีตาม.
               จากนั้นเหล่าภุมมเทวดาผู้เป็นมิตรของอารักขเทวดา จึงแตกกัน. เทวดาและมนุษย์ทั้งหมดยกเว้นพระอริยสาวกเสีย ต่อๆ กันไป จนกระทั่งถึงพรหมโลก ก็ (แยก) เป็นสองฝ่ายด้วยประการฉะนี้. ก็พวกที่เป็นอธรรมวาทีเทียวมีจำนวนมากกว่าพวกธรรมวาที.
               ลำดับนั้น พวกเทวดาและมนุษย์ก็ปรารถนาที่จะยึดถือสิ่งที่ชนเป็นอันมากพากันยึดถือ พวกอธรรมวาทีที่มากกว่านั่นแหละ ก็แก้สภาพที่เป็นธรรมแล้ว พากันยึดถือสภาพที่มิใช่ธรรม. พวกอธรรมวาทีเหล่านั้น กระทำสภาพที่มิใช่ธรรมให้อยู่ในเบื้องหน้ากล่าวอยู่ จึงบังเกิดในอบายทั้งหลาย.
               วิวาทของภิกษุทั้งสองฝ่าย ย่อมมีเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ วา ได้แก่ ในภายในบริษัทของท่าน.
               บทว่า พหิทฺธา ได้แก่ ในบริษัทของชนเหล่าอื่น.
               บทว่า มกฺขิ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความลบหลู่ อันมีการลบหลู่คุณของชนเหล่าอื่นเป็นลักษณะ.
               บทว่า ปลาสิ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยการตีตนเสมอ อันมีการแข่งดีเป็นลักษณะ.
               บทว่า อิสฺสุกิ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความริษยา อันมีการริษยาเครื่องสักการะของชนอื่นเป็นต้นเป็นลักษณะ.
               บทว่า มจฺฉริ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความตระหนี่ที่อยู่เป็นต้น.
               บทว่า สโฐ ได้แก่ ผู้เต็มไปด้วยการหลอกลวง (ผู้โอ้อวด).
               บทว่า มายาวี ได้แก่ ผู้ปกปิดความชั่วที่ตัวกระทำแล้ว.
               บทว่า ปาปิจฺโฉ ได้แก่ผู้ปรารถนาจะให้มีในสิ่งที่ไม่มี คือผู้ทุศีล.
               บทว่า มิจฉาทิฏฺฐิ ได้แก่ ผู้มีปกติกล่าวว่าไม่มี ผู้มีปกติกล่าวว่าหาเหตุมิได้ ผู้มีปกติกล่าวว่าไม่เป็นอันทำฯ.
               บทว่า สนฺทิฏฺฐิปรามาสิ คือ ลูบคลำทิฏฐิเองทีเดียว ฯ.
               บทว่า อาธานคฺคาหี คือ ผู้ยึดถืออย่างมั่น ฯ.
               บทว่า ทุปฺปฏินิสฺสคฺคี ได้แก่ ไม่อาจที่จะสละสิ่งที่ตนยึดถือไว้ฯ.
               ธาตุที่ตั้งอยู่เฉพาะ ชื่อว่าปฐวีธาตุ ฯ ธาตุที่เอิบอาบ ชื่อว่าอาโปธาตุ ฯ ธาตุที่ยังอาหารให้ย่อย ชื่อว่าเตโชธาตุ ฯ ธาตุที่เคลื่อนไหวได้ ชื่อว่าวาโยธาตุ ฯ ธาตุที่ถูกต้องไม่ได้ ชื่อว่าอากาสธาตุ ฯ ธาตุที่รู้ชัดอย่างเดียว ชื่อว่าวิญญาณธาตุ ฯ.

               นิสฺสรณิยฉกฺกวณฺณนา               
               ธาตุที่พ้นออกไป ชื่อว่า นิสสารณียธาตุ.
               หลายบทว่า ปริยาทาย ติฏฺฐติ ได้แก่ ครอบงำให้เสื่อมแล้วคงอยู่.
               หลายบทว่า มา เหวนฺติสฺส วจนีโย ได้แก่ เพราะเหตุที่ภิกษุพยากรณ์ ซึ่งคำพยากรณ์อันไม่เป็นจริง ฉะนั้น พึงถูกกล่าวว่า ท่านอย่าพูดอย่างนี้.
               สองบทว่า ยทิทํ เมตฺตาเจโตวิมุตฺติ ได้แก่ เมตตาเจโตวิมุตตินี้เป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งความพยาบาท. อธิบายว่า ออกไปจากความพยาบาท. ก็ภิกษุใดออกจากติกฌานหรือจตุกกฌานด้วยเมตตา แล้วพิจารณาสังขารทั้งหลาย บรรลุตติยมรรคแล้ว เห็นพระนิพพานด้วยตติยผลว่า พยาบาทไม่มีอีก จิตของภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นจิตที่สลัดออกซึ่งความพยาบาทโดยส่วนเดียว.
               บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในบททั้งปวงโดยอุบายนี้.
               สมาบัติของพระอรหัตตผล ชื่อว่าอนิมิตตาเจโตวิมุตติ. ก็สมาบัติของพระอรหัตตผลนั้น ท่านเรียกว่าไม่มีนิมิต เพราะไม่มีราคนิมิตเป็นต้น. เพราะไม่มีรูปนิมิตเป็นต้น และเพราะไม่มีนิจจนิมิตเป็นต้น.
               บทว่า นิมิตฺตานุสารี ความว่า ภิกษุผู้แล่นไปตามนิมิต อันมีประเภทตามที่กล่าวแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่านิมิตตานุสารี (ผู้แล่นไปตามนิมิต).
               บทว่า อสฺมิ ได้แก่ การถือว่าเรามีอยู่ (อัสมิมานะ).
               บทว่า อยมหมสฺมิ ได้แก่ พระอรหัตต์เป็นอันท่านพยากรณ์แล้วด้วยคำมีประมาณเท่านี้ว่า เราชื่อนี้มีอยู่ในขันธ์ห้า.
               บทว่า วิจิกิจฺฉากถํกถาสลฺลํ ได้แก่ ลูกศร คือความเคลือบแคลงสงสัยอันเป็นตัววิจิกิจฉา.
               หลายบทว่า มา เหวนฺติสฺส วจนีโย ความว่า ถ้าว่า วิจิกิจฉาอันควรกำจัดด้วยปฐมมรรค จะบังเกิดขึ้นแก่ท่านไซร้ การพยากรณ์พระอรหัตต์ ก็เป็นอันผิด เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นพึงถูกห้ามว่า ท่านอย่ากล่าวคำที่ไม่จริง.
               บทว่า อสฺมิ ความว่า พระอรหัตตมรรค ชื่อว่าถอนมานะเสียได้. ก็เมื่อบุคคลเห็นพระนิพพาน ด้วยอำนาจแห่งพระอรหัตตผลแล้ว อัสมิมานะ (ความถือตัวว่าเรามีอยู่) ย่อมไม่มีอีก เพราะเหตุนั้น พระอรหัตตมรรค ท่านจึงกล่าวว่า ถอนอัสมิมานะเสียได้.

               อนุตฺตริยาทิฉกฺกวณฺณนา               
               บทว่า อนุตฺตริยานิ ได้แก่ ไม่มีอะไรอื่นยิ่งไปกว่า คือประเสริฐที่สุด. ไม่มีอะไรอื่นยิ่งกว่าในการเห็นทั้งหลาย ชื่อว่าทัสสนานุตตริยะ.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บรรดาการเห็นเหล่านั้น การเห็นช้างแก้วเป็นต้นไม่จัดเป็นทัสสนานุตตริยะ. ส่วนว่าสำหรับผู้มีศรัทธาตั้งมั่นแล้ว การเห็นพระทศพล หรือพระภิกษุสงฆ์ด้วยอำนาจแห่งความรักที่ตั้งมั่นแล้ว หรือว่าการเห็น บรรดากสิณนิมิตและอสุภนิมิตเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าทัสสนานุตตริยะ.
               การฟังคุณกถาของกษัตริย์เป็นต้นไม่จัดเป็นสวนานุตตริยะ. ส่วนสำหรับผู้มีศรัทธาตั้งมั่นแล้ว การฟังคุณกถาของพระรัตนตรัยด้วยอำนาจแห่งความรักที่ตั้งมั่นแล้ว หรือว่าการฟังพระพุทธวจนะคือพระไตรปิฎก ชื่อว่าสวนานุตตริยะ.
               การได้รัตนะ คือแก้วมณีเป็นต้น ไม่จัดเป็นลาภานุตตริยะ. ส่วนการได้อริยทรัพย์ ๗ อย่าง ชื่อว่าลาภานุตตริยะ.
               การศึกษาศิลปะ มีศิลปะเพราะช้างเป็นต้น ไม่จัดเป็นสิกขานุตตริยะ. ส่วนการบำเพ็ญสิกขาทั้ง ๓ ให้บริบูรณ์ ชื่อว่าสิกขานุตตริยะ.
               การบำเรอกษัตริย์เป็นต้น ไม่จัดเป็นปาริจริยานุตตริยะ. ส่วนการบำเรอพระรัตนตรัย ชื่อว่าปาริจริยานุตตริยะ.
               การตามระลึกถึงคุณของกษัตริย์เป็นต้น ไม่จัดเป็นอนุสสรณานุตตริยะ (อนุสตานุตตริยะ). ส่วนการตามระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ชื่อว่าอนุสสรณานุตตริยะ (อนุสตานุตริยะ).
               อนุสสติทั้งหลายเทียว ชื่อว่าอนุสสติฐาน (ที่ตั้งแห่งความระลึกถึง). การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ชื่อว่าพุทธานุสสติ. ก็เมื่อบุคคลระลึกถึงอยู่อย่างนี้ ปีติย่อมบังเกิดขึ้น. บุคคลนั้นเริ่มตั้งปีตินั้นโดยความสิ้นไปโดยความเสื่อมไป ย่อมบรรลุความเป็นพระอรหันต์ได้. ธรรมดาว่าอุปจารกัมมัฏฐานนี้ แม้คฤหัสถ์ทั้งหลายก็ย่อมได้ (บรรลุได้) ในกัมมัฏฐานทั้งปวง ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ส่วนกถาโดยพิสดาร บัณฑิตพึงทราบโดยนัยอันข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรคนั่นแล.

               สตตวิหารฉกฺกวณฺณนา               
               การอยู่ประจำของพระขีณาสพ ชื่อว่า สตตวิหาร.
               หลายบทว่า จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา ความว่า ครั้นเมื่ออารมณ์แห่งจักขุทวารไปสู่คลอง ภิกษุเห็นรูปนั้นด้วยจักขุวิญญาณแล้ว ไม่ยินดีในชวนขณะที่น่ายินดี ย่อมเป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่ประทุษร้ายในชวนขณะที่ไม่น่ายินดี ย่อมเป็นผู้ไม่เสียใจ ไม่ยังโมหะให้บังเกิดขึ้น ในเพราะการเพ่งที่ไม่สม่ำเสมอ วางเฉย มีตนเป็นกลางอยู่ มีสติ เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยสติ มีสัมปชัญญะ เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยสัมปชัญญะ.
               แม้ในบทที่เหลือทั้งหลาย ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ภิกษุย่อมวางเฉยอยู่ แม้ในทวารทั้ง ๖ ด้วยประการฉะนี้. ท่านกล่าวฉฬังคุเบกขา ไว้ด้วยบทนี้.
               ก็เพราะคำว่า สมฺปชาโน บัณฑิตย่อมได้ญาณสัมปยุตตจิต ๔ ดวง.
               คำว่า สตตวิหารา บัณฑิตย่อมได้มหาจิตแม้ทั้ง ๘ ดวง. เพราะคำว่า อรชฺชนฺโต อทุสฺสนฺโต บัณฑิตย่อมได้จิตแม้ทั้ง ๑๐ ดวง.
               หากมีคำถามสอดเข้ามาว่า โสมนัสจะมีได้อย่างไร.
               แก้ว่า มีได้เพราะอาเสวนะ.

               อภิชาติฉกฺกวณฺณนา               
               ชาติทั้งหลายชื่อว่า อภิชาติ.
               สองบทว่า กณฺหาภิชาติโก สมาโน ความว่า ผู้เกิดแล้วในที่ดำ คือในตระกูลต่ำ. หลายบทว่า กณฺหํ ธมฺมํ อภิชายติ ความว่า ย่อมประสบ คือกระทำธรรมคือความเป็นผู้ทุศีล ๑๐ ประการ อันเป็นธรรมฝ่ายดำ. บุคคลนั้นประสบธรรม คือความเป็นผู้ทุศีล ๑๐ ประการนั้นแล้ว ย่อมบังเกิดในนรก.
               สองบทว่า สุกฺกํ ธมฺมํ ความว่า เราเกิดแล้วในตระกูลต่ำ เพราะความที่ไม่ได้กระทำบุญไว้แม้ในกาลก่อน บัดนี้ เราจักทำบุญ เพราะเหตุนั้น เขาย่อมประสบธรรมฝ่ายขาว กล่าวคือบุญ. บุคคลนั้นย่อมบังเกิดในสวรรค์ด้วยธรรมฝ่ายขาว กล่าวคือบุญนั้น.
               หลายบทว่า อกณฺหํ อสุกฺกํ นิพฺพานํ ความว่า ก็พระนิพพาน หากว่าจะพึงเป็นธรรมฝ่ายดำไซร้ ก็จะพึงให้วิบากที่ดำ หากว่าจะพึงเป็นธรรมฝ่ายขาวไซร้ ก็จะพึงให้วิบากที่ขาว แต่เพราะไม่ให้วิบากแม้ทั้ง ๒ พระนิพพาน ท่านจึงกล่าวว่า ไม่ดำ ไม่ขาว.
               ก็ธรรมดาว่า พระนิพพาน ท่านประสงค์เอาพระอรหัตต์ในอรรถนี้.
               จริงอยู่ พระอรหัตต์นั้นชื่อว่าพระนิพพาน เพราะเกิดในที่สุดแห่งการดับกิเลส. บุคคลนั้นย่อมพบ คือประสบ กระทำ พระนิพพานนั้น.
               สองบทว่า สุกฺกาภิชาติโก สมาโน ความว่า เป็นผู้เกิดแล้วในที่ขาว คือในตระกูลสูง.
               คำที่เหลือ บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.

               นิพฺเพธภาคิยฉกฺกวณฺณนา               
               บทว่า นิพฺเพธภาคิยา ความว่า พระนิพพาน ท่านเรียกว่านิพเพธ. ชนทั้งหลายย่อมคบ คือย่อมเข้าไปใกล้พระนิพพานนั้น เพราะเหตุนั้น ชื่อว่า นิพเพธภาคิยา (ส่วนแห่งการแทงตลอด).
               อนิจจสัญญาเป็นต้น ท่านกล่าวไว้ในหมวดห้า.
               ความกำหนดหมายในนิโรธานุปัสสนาญาณ ชื่อว่านิโรธสัญญา.
               คำเป็นต้นว่า อิเม โข อาวุโส บัณฑิตพึงประกอบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               พระเถระกล่าวอยู่ซึ่งปัญหา ๑๓๒ ปัญหาด้วยสามารถแห่งหมวดหก ๒๒ หมวด แสดงสามัคคีรสด้วยประการฉะนี้ ดังนี้แล.
               จบหมวด ๖               

               ว่าด้วยธรรมหมวด ๗               
               พระเถระครั้นแสดงสามัคคีรสด้วยสามารถแห่งหมวดหก ด้วยประการฉะนี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะแสดงสามัคคีรสด้วยสามารถแห่งหมวดเจ็ด จึงเริ่มปรารภพระธรรมเทศนาอีก.
               บรรดาบทเหล่านั้น ทรัพย์คือศรัทธา ชื่อว่าทรัพย์คือศรัทธา ด้วยอรรถว่าได้เฉพาะซึ่งสมบัติ. ในบททั้งปวงก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ก็บรรดาอริยทรัพย์เหล่านี้ ทรัพย์คือปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งปวง. เพราะว่า สัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่ในปัญญาแล้ว บำเพ็ญสุจริต ๓ ศีล ๕ ศีล ๑๐ ให้บริบูรณ์ ย่อมเข้าถึงสวรรค์ คือย่อมแทงตลอดซึ่งสาวกบารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณและพระสัพพัญญุตญาณได้. ปัญญา ท่านเรียกว่าทรัพย์คือปัญญา เพราะเป็นเหตุแห่งการได้เฉพาะซึ่งสมบัติเหล่านี้. ก็อริยทรัพย์แม้ทั้ง ๗ ประการเหล่านี้ ท่านกล่าวว่า เจือด้วยโลกิยะและโลกุตตระทีเดียว.
               โพชฌงค์กถา ท่านกล่าวไว้แล้วเทียว.
               บริวารแห่งสมาธิ ชื่อว่า สมาธิปริกฺขารา. สัมมาทิฏฐิเป็นต้น มีอรรถอันท่านกล่าวไว้แล้วนั่นเทียว. ด้วยบทว่า สัมมาทิฏฐิเป็นต้นเหล่านี้ บริขาร ๗ ท่านกล่าวว่าเป็นทั้งโลกิยะทั้งโลกุตระเทียว.
               ธรรมของอสัตบุรุษทั้งหลาย ชื่อว่าอสัทธรรม. อีกอย่างหนึ่ง ธรรมอันไม่สงบ คือธรรมอันลามก เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอสัทธรรม. บัณฑิตพึงทราบสัทธรรมโดยปริยายตรงกันข้าม.
               บรรดาบทเหล่านี้ คำที่เหลือมีเนื้อความตื้นทั้งนั้น.
               ก็บรรดาสัทธรรมทั้งหลาย สัทธรรมแม้ทั้งปวงมีศรัทธาเป็นต้น ท่านกล่าวไว้เฉพาะพระวิปัสนา. ปัญญาแม้ในสัทธรรมเหล่านั้นเป็นทั้งโลกิยะทั้งโลกุตตระ.
               นี้ความย่อ.
               สองบทว่า สปฺปุริสานํ ธมฺมา ได้แก่ ธรรมของสัตบุรุษ.
               ชนใดรู้ธรรม ในบรรดาสัปปุริสธรรมเหล่านั้นมีสุตตะและเคยยะเป็นต้น เพราะเหตุนั้น ชนนั้นชื่อว่าธัมมัญญู (รู้จักเหตุ). ชนใดรู้อรรถแห่งภาษิตนั้นๆ นั่นแล เพราะเหตุนั้น ชนนั้นชื่อว่าอัตถัญญู (รู้จักผล). ชนใดรู้จักตนอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มีประมาณเท่านี้ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เพราะเหตุนั้น ชนนั้นชื่อว่าอัตตัญญู (รู้จักตน). ชนใดรู้จักประมาณในการรับและการบริโภค เพราะเหตุนั้น ชนนั้นชื่อว่ามัตตัญญู (รู้จักประมาณ). ชนใดรู้จักกาลอย่างนี้ว่า นี้กาลแสดง นี้กาลไต่ถาม นี้กาลบรรลุโยคธรรม เพราะเหตุนั้น ชนนั้นชื่อว่ากาลัญญู (รู้จักกาล).
               ก็บรรดากาลเหล่านั้น กาลแสดง ๕ ปี กาลไต่ถาม ๑๐ ปี นี้นับว่าคับแคบยิ่งนัก. กาลแสดง ๑๐ ปี กาลไต่ถาม ๒๐ ปี. เบื้องหน้าต่อแต่นั้นไป บัณฑิตพึงกระทำกรรมในการประกอบเถิด.
               ชนใดรู้จักบริษัท ๘ อย่าง เพราะเหตุนั้น ชนนั้นชื่อว่าปริสัญญู (รู้จักบริษัท). ชนใดรู้จักบุคคลที่ควรเสพหรือไม่ควรเสพ เพราะเหตุนั้น ชนนั้นชื่อว่าปุคคลัญญู (รู้จักบุคคล).
               วัตถุมีนิททสเป็นต้น ชื่อว่า นิททสวัตถุ. เหตุแห่งคำอย่างนี้ว่า ภิกษุไม่มี ๑๐ ภิกษุไม่มี ๒๐ ไม่มี ๓๐ ไม่มี ๔๐ ไม่มี ๕๐.
               เล่ากันว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นในสมัยเดียรถีย์. ก็พวกเดียรถีย์กล่าวถึงนิครนถ์ผู้ตายในเวลา ๑๐ ปี ว่าไม่ใช่ ๑๐. เล่ากันว่า นิครนถ์นั้นมีกาลฝน ๑๐ ก็ไม่ใช่อีก. อนึ่ง จะว่า ๑๐ ปีอย่างเดียวก็ไม่ใช่ แม้ ๙ ปี ฯลฯ แม้ ๑ ปีก็ไม่ใช่. โดยนัยนั้นนั่นแหละ พวกเดียรถีย์กล่าวถึงนิครนถ์ผู้ตายแม้ในเวลา ๒๐ ปีเป็นต้นว่า ไม่ใช่ ๒๐ ไม่ใช่ ๓๐ ไม่ใช่ ๔๐ ไม่ใช่ ๕๐.
               ท่านพระอานนท์เที่ยวไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ฟังถ้อยคำนั้นแล้ว จึงไปยังวิหาร กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ นี้ไม่ใช่คำของพวกเดียรถีย์หรอก นั่นเป็นคำของพระขีณาสพในศาสนาของเราดังนี้. ด้วยว่า พระขีณาสพปรินิพพานแล้วในเวลา ๑๐ ปี จะเป็นผู้ชื่อว่า มีกาลฝน ๑๐ อีกก็ไม่ใช่.
               อนึ่ง พระขีณาสพจะเป็นผู้ชื่อว่า มีกาลฝน ๑๐ อย่างเดียวก็หามิได้ แม้จะเป็นผู้มีกาลฝน ๙ ฯลฯ แม้จะเป็นผู้มีกาลฝน ๑. อนึ่ง พระขีณาสพจะเป็นผู้ชื่อว่า มีกาลฝน ๑ อย่างเดียวก็หามิได้ จะเป็นผู้ชื่อว่า ๑๐ เดือนบ้าง ฯลฯ ๑ เดือนบ้าง ๑ วันบ้าง ครู่หนึ่งบ้าง ก็หามิได้นั่นเทียว.
               ถามว่า เพราะเหตุอะไร.
               แก้ว่า เพราะความไม่มีปฏิสนธิอีก.
               แม้ในคำว่า ไม่มี ๒๐ เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสว่า นั่นเป็นคำของพระขีณาสพในศาสนาของเราด้วยประการฉะนี้ ดังนี้แล้ว เพื่อจะทรงแสดงเหตุที่พระขีณาสพนั้น เป็นผู้มิใช่ (มีกาลฝน) ๑๐ จึงทรงแสดงนิททสวัตถุ ๗ ประการ. แม้พระเถระครั้นยกพระธรรมเทศนานั้นนั่นแหละขึ้นแล้ว จึงกล่าวนิททสวัตถุ ๗ ประการดังมีคำเป็นอาทิว่า ดูก่อนผู้มีอายุ ภิกษุในพระศาสนานี้เป็นผู้มีความพอใจอย่างแรงกล้า ในการสมาทานสิกขา.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อิธ ได้แก่ ในพระศาสนานี้.
               หลายบทว่า สิกฺขาสมาทาเน ติพฺพจฺฉนฺโท โหติ ความว่า เป็นผู้มีความพอใจอย่างมากในการบำเพ็ญไตรสิกขา.
               หลายบทว่า อายติญฺจ สิกฺขาสมาทาเน อวิคตเปโม ความว่า เป็นผู้มาตามพร้อมด้วยความรักอันตนบรรลุแล้วในการบำเพ็ญสิกขา แม้ในวันรุ่งขึ้นเป็นต้น ในอนาคต.
               บทว่า ธมฺมนิสนฺติยา ความว่า ด้วยการพิจารณาธรรม. คำนั่นเป็นชื่อของวิปัสนา.
               บทว่า อิจฺฉาวินเย ความว่า ในการปราบตัณหา.
               บทว่า ปฏิสลฺลาเน ความว่า ในความเป็นผู้เดียว.
               บทว่า วิริยารมฺเภ ความว่า ในการบำเพ็ญความเพียรที่เป็นไปทางกายและเป็นไปทางจิต.
               บทว่า สติเนปกฺเก ความว่า ในสติและในความเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน.
               บทว่า ทิฏฺฐิปฏิเวเธ ความว่า ในการเห็นมรรค.
               คำที่เหลือ บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในที่ทั้งปวงเถิด.
               พึงทราบวินิจฉัยในสัญญาทั้งหลาย.
               สัญญาในอสุภานุปัสสนาญาณ ชื่อว่าอสุภสัญญา. สัญญาในอาทีนวานุปัสนาญาณ ชื่อว่าอาทีนวสัญญา. สัญญาที่เหลือท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               หมวด ๗ แห่งพละ หมวด ๗ แห่งวิญญาณฐิติ และหมวด ๗ แห่งบุคคล มีนัยอันท่านกล่าวไว้แล้วนั่นเทียว.
               กิเลสทั้งหลายเหล่าใดย่อมนอนเนื่อง ด้วยอรรถว่าละไม่ได้ เพราะเหตุนั้น กิเลสเหล่านั้นชื่อว่าอนุสัย. กามราคะที่มีกำลังเรี่ยวแรง ชื่อว่ากามราคานุสัย. ในราคะทั้งปวงก็นัยนี้.
               หมวดเจ็ดแห่งสัญโญชน์ มีเนื้อความชัดทั้งนั้น.

               อธิกรณสมถสตฺตกวณฺณนา               
               พึงทราบวินิจฉัยในอธิกรณสมถะต่อไปนี้.
               อธิกรณ์ทั้งหลายย่อมสงบ คือเข้าไประงับ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อธิกรณสมถะ.
               บทว่า อุปฺปนฺนุปฺปนฺนานํ ความว่า เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นแล้ว.
               บทว่า อธิกรณานํ ความว่า แห่งอธิกรณ์ ๔ เหล่านี้คือ วิวาทาธิกรณ์ ๑ อนุวาทาธิกรณ์ ๑ อาปัตตาธิกรณ์ ๑ กิจจาธิกรณ์ ๑.
               สองบทว่า สมถาย วูปสมาย ความว่า เพื่อสงบและเพื่อเข้าไประงับ.
               พระวินัยธรพึงให้สมถะ ๗ เหล่านี้ คือพึงให้สัมมุขาวินัย ฯลฯ พึงให้ติณวัตถารกวินัย.
               นัยแห่งการวินิจฉัยในสมถะเหล่านั้นดังต่อไปนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในอธิกรณ์ทั้งหลายก่อน
               วิวาทอันใดแห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้วิวาทกันด้วยวัตถุ ๑๘ ประการว่า ธรรมหรือมิใช่ธรรมก็ตาม อันนี้ชื่อว่าวิวาทาธิกรณ์ การกล่าวโทษ. การกล่าวโทษ การติเตียนและการโจทกันอันใด แห่งภิกษุผู้กล่าวโทษกันถึงศีลวิบัติก็ดี ถึงอาจารวิบัติและอาชีววิบัติก็ดี อันนี้ชื่อว่าอนุวาทาธิกรณ์. กองแห่งอาบัติแม้ทั้ง ๗ คือ กองแห่งอาบัติ ๕ มาในมาติกา กองแห่งอาบัติ ๒ มาในวิภังค์ อันนี้ชื่อว่าอาปัตตาธิกรณ์. การกระทำกรรม ๔ อย่างมีอปโลกนกรรมเป็นต้นแห่งสงฆ์ อันนี้ชื่อว่ากิจจาธิกรณ์.
               บรรดาอธิกรณ์เหล่านั้น วิวาทาธิกรณ์ระงับได้ด้วยสมถะ ๒ คือ สัมมุขาวินัย ๑ เยภุยยสิกา ๑. วิวาทาธิกรณ์ ระงับอยู่ด้วยสัมมุขาวินัยเท่านั้น คือ วิวาทาธิกรณ์เกิดขึ้นในวิหารใด อันสงฆ์วินิจฉัยแล้วในวิหารนั้นนั่นแหละ ย่อมระงับ เมื่อภิกษุไปเพื่อจะระงับในที่อื่น อันสงฆ์วินิจฉัยแล้วในระหว่างทางก็ย่อมระงับได้ อันภิกษุไปมอบให้แก่สงฆ์ในที่ใด อันสงฆ์ในที่นั้นวินิจฉัยแล้ว ก็ย่อมระงับได้ หรือว่า ครั้นเมื่อสงฆ์ไม่อาจเพื่อจะระงับอันบุคคลผู้อันสงฆ์สมมติแล้ว วินิจฉัยเพื่อดึงออก (จากอาบัติ) ในที่นั้นนั่นแหละ ย่อมระงับได้เช่นกัน.
               ก็แลครั้นเมื่อวิวาทาธิกรณ์นั้นระงับอยู่อย่างนี้ ความพร้อมหน้าสงฆ์ ความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ความพร้อมหน้าบุคคล อันใด อันนี้ชื่อว่าสัมมุขาวินัย.
               ก็บรรดาความพร้อมหน้าเหล่านั้น ความที่สงฆ์ผู้กระทำ (กรรม) พร้อมหน้ากันด้วยสามารถแห่งความสามัคคีของสงฆ์ อันนี้ชื่อว่าความพร้อมหน้าสงฆ์. ความที่มีวัตถุ (เรื่อง) อันจะพึงระงับ ชื่อว่าความพร้อมหน้าธรรม. การพิจารณาโดยประการที่วิวาทาธิกรณ์จะพึงระงับไป ชื่อว่าความพร้อมหน้าวินัย. ภิกษุใดวิวาทกัน และวิวาทด้วยเนื้อความอันใด ความพร้อมหน้ากันแห่งเนื้อความและคู่กรณี (ข้าศึก) ทั้งสองนั้น ชื่อว่าความพร้อมหน้าบุคคล.
               ก็ความพร้อมหน้าสงฆ์ในวิวาทาธิกรณ์นี้ ย่อมเสื่อมหายไป ในเพราะการเข้าไประงับเพื่อดึงออก (จากอาบัติ). วิวาทาธิกรณ์ย่อมระงับไปด้วยสัมมุขาวินัยเท่านั้น อย่างนี้ก่อน.
               ก็ถ้าว่า วิวาทาธิกรณ์ไม่ระงับไปแม้อย่างนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้พวกภิกษุผู้อันสงฆ์สมมุติ เพื่อดึงออก (จากอาบัติ) ย่อมมอบเรื่องนั้นแก่สงฆ์นั่นแหละด้วยคิดว่า พวกเราไม่อาจเพื่อจะระงับได้. ลำดับนั้น สงฆ์จึงสมมุติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ห้า ให้เป็นผู้จับฉลาก เพราะความที่พระธรรมวาทีแห่งบริษัท ผู้ยังภิกษุรูปนั้นให้จับฉลาก ด้วยสามารถแห่งวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาการจับฉลาก ๓ อย่าง คือ ซ่อน ๑ เปิดเผย ๑ กระซิบที่หูของตน ๑ ประชุมกันแล้วมีมาก อธิกรณ์ที่เข้าไประงับโดยประการที่พระธรรมวาทีเหล่านั้นกล่าว ก็จัดว่าเป็นอันเข้าไประงับแล้วด้วยสัมมุขาวินัยและเยภุยยสิกา.
               สัมมุขาวินัยในวิวาทาธิกรณ์นั้น มีนัยอันท่านกล่าวไว้แล้วนั่นเทียว.
               ก็การกระทำกรรมโดยเสียงข้างมากเป็นประมาณอันใด อันนี้ชื่อว่าเยภุยยสิกา.
               วิวาทาธิกรณ์ย่อมระงับด้วยสมถะ ๒ อย่าง ด้วยประการฉะนี้.
               อนุวาทาธิกรณ์ ย่อมระงับด้วยสมถะ ๔ คือ สัมมุขาวินัย ๑ สติวินัย ๑ อมุฬหวินัย ๑ ตัสสปาปิยสิกา ๑. อนุวาทาธิกรณ์ระงับอยู่ด้วยสัมมุขาวินัยนั่นเทียว คือ ภิกษุผู้โจทกล่าวโทษ และโจทกล่าวโทษผู้ใด อนุวาทาธิกรณ์อันสงฆ์ฟังถ้อยคำของทั้งสองฝ่ายนั้นแล้ว วินิจฉัยอย่างนี้ว่า ถ้าว่า อาบัติบางอย่างไม่มี ยังเธอทั้งสองให้อดโทษแล้ว ถ้าว่ามีอาบัติ อาบัติในอนุวาทาธิกรณ์นี้ ชื่อนี้ ย่อมเข้าไประงับได้. ลักษณะแห่งสัมมุขาวินัย ในอนุวาทาธิกรณ์นั้น มีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วนั่นเทียว.
               ก็ในกาลใด สงฆ์ให้สติวินัยด้วยญัตติจตุตถกรรมแก่ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพผู้ถูกโจทด้วยศีลวิบัติอันหามูลมิได้ผู้ขอสติวินัยอยู่ ในกาลนั้น อนุวาทาธิกรณ์เป็นอันระงับไปด้วยสัมมุขาวินัยและสติวินัย. ก็เมื่อสงฆ์ให้สติวินัยแล้ว การกล่าวโทษของใครๆ ย่อมไม่ขึ้นในบุคคลนั้นอีก.
               ในกาลใด ภิกษุผู้เป็นบ้า ถูกพวกภิกษุโจทว่า ท่านผู้มีอายุระลึกถึงอาบัติเห็นปานนี้ได้หรือในความประพฤติอันไม่ใช่ของสมณะด้วยอำนาจแห่งความเป็นบ้า แม้กล่าวอยู่ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย กระผมผู้เป็นบ้า กระทำกรรมนั้นแล้ว กระผมหาระลึกได้ไม่ ดังนี้แล้ว ยังถูกพวกภิกษุโจทอยู่เทียว ขออมุฬหวินัยเพื่อประโยชน์แก่การไม่โจทอีก และสงฆ์ให้อมุฬหวินัยแก่ภิกษุนั้นด้วยญัตติจตุตถกรรม ในกาลนั้น อนุวาทาธิกรณ์เป็นอันเข้าไประงับด้วยสัมมุขาวินัยและอมุฬหวินัย. ก็ครั้นเมื่อสงฆ์ให้อมุฬหวินัยแล้ว การกล่าวโทษของใครๆ เพราะความที่ภิกษุนั้นเป็นบ้า เป็นปัจจัย ย่อมไม่ขึ้นในบุคคลนั้นอีก.
               ก็ในกาลใด เมื่อบุคคลผู้ลามกเพราะมากด้วยความชั่ว ถูกโจทด้วยอาบัติปาราชิก หรือใกล้เคียงปาราชิก กลับประพฤติเป็นอย่างอื่น ถ้าว่าบุคคลผู้นี้จักเป็นผู้มีมูล อันตนต้องการแล้ว ประพฤติโดยชอบเทียว จักได้การรวมกัน (เข้าหมู่) ถ้าว่า เป็นผู้มีมูลอันตนตัดแล้ว สงฆ์สำคัญอยู่ว่า การขับไล่นี้นั่นแหละจักมีแก่บุคคลนั้น จึงกระทำตัสสปาปิยสิกา (การลงโทษแก่ผู้ผิด) ด้วยญัตติจตุตถกรรม ในกาลนั้น อนุวาทาธิกรณ์เป็นอันเข้าไประงับด้วยสัมมุขาวินัยและตัสสปาปิยสิกา.
               อนุวาทาธิกรณ์ย่อมระงับไปด้วยสมถะ ๔ อย่างด้วยประการฉะนี้.
               อาปัตตาธิกรณ์ย่อมระงับด้วยสมถะ ๓ คือ สัมมุขาวินัย ๑ ปฏิญญาตกรณะ ๑ ติณวัตถารกะ ๑. อาปัตตาธิกรณ์นั้นไม่มีการเข้าไประงับด้วยสัมมุขาวินัยทีเดียว. ก็ในกาลใด ภิกษุแสดงลหุกาบัติในสำนักแห่งภิกษุรูปหนึ่ง หรือในท่ามกลางคณะสงฆ์ ในกาลนั้น อาปัตตาธิกรณ์ย่อมเข้าไประงับด้วยสัมมุขาวินัยและปฏิญญาตกรณะ. บรรดาสมถะเหล่านั้นพึงทราบวินิจฉัยในสัมมุขาวินัยก่อน ภิกษุผู้แสดงและแสดงแก่ผู้ใด ความพร้อมหน้ากันแห่งบุคคลทั้งสองนั้น ชื่อว่าความพร้อมหน้าบุคคล. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ.
               ความพร้อมหน้าสงฆ์ย่อมเสื่อมหายไปในกาลที่แสดงแก่บุคคลและคณะ. ก็บรรดาสมถะเหล่านี้ การกระทำปฏิญญาว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมต้องแล้วซึ่งอาบัติชื่อนี้ และว่า ขอรับ กระผมเห็นอยู่ (ผู้รับแสดงอาบัติกล่าวว่า) ท่านพึงสำรวมระวังต่อไป อันใด อันนั้นชื่อว่าปฏิญญาตกรณะ. การขอปริวาสเป็นต้นจากอาบัติสังฆาทิเสสทั้งหลาย ชื่อว่าปฏิญญา การให้ปริวาสเป็นต้นชื่อว่าปฏิญญาตกรณะ.
               ก็พวกภิกษุผู้กระทำการทะเลาะกัน เกิดแยกเป็นสองฝ่าย ประพฤติล่วงละเมิดกิจอันมิใช่ของสมณะเป็นอันมาก ครั้นเมื่อลัชชีธรรมเกิดขึ้นอีกเห็นโทษในการชักชวนกันและกันให้กระทำอาบัติว่า ถ้าว่าพวกเราพึงกระทำกันและกันด้วยอาบัติเหล่านี้ไซร้ อธิกรณ์นั้น แม้จะพึงมี ก็พึงเป็นไปพร้อมเพื่อความเป็นผู้หยาบช้า แล้วจึงกระทำติณวัตถารกกรรมในกาลใด ในกาลนั้น อาปัตตาธิกรณ์ย่อมระงับด้วยสัมมุขาวินัยและติณวัตถารกะ.
               ก็ภิกษุผู้เข้าอยู่ในหัตถบาสในกรรมนั้น ไม่กระทำกรรมให้แจ้งอันตนเห็นอย่างนี้ว่า กรรมนั้นไม่เหมาะแก่เรา แล้วพากันหลบไปเสีย. อาบัติทั้งปวงของภิกษุทั้งปวงเหล่านั้น เว้นโทษที่หยาบและที่ปฏิสังยุตต์ด้วยคฤหัสถ์ย่อมออกพ้นไปได้. อาปัตตาธิกรณ์ย่อมระงับด้วยสมถะ ๓ อย่างด้วยประการฉะนี้.
               กิจจาธิกรณ์ย่อมระงับด้วยสมถะ ๑ คือ สัมมุขาวินัยเท่านั้น.
               อธิกรณ์ ๔ เหล่านี้ย่อมระงับด้วยสมถะ ๗ ประการเหล่านี้ตามสมควร. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า เพื่อความสงบระงับอธิกรณ์ อันบังเกิดขึ้นแล้วๆ พึงให้สัมมุขาวินัย พึงให้สติวินัย พึงให้อมุฬหวินัย พึงปรับตามปฏิญญา พึงถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ พึงปรับตามความผิดของจำเลย พึงใช้ติณวัตถารกวิธี ดังนี้แล.
               นี้เป็นนัยแห่งการวินิจฉัยในอธิกรณ์เหล่านี้. ส่วนความพิสดารมาแล้วในสมถขันธกะนั่นแล. แม้การวินิจฉัยแห่งความพิสดารนั้น ข้าพเจ้าก็กล่าวไว้แล้วในสมันตปาสาทิกา.
               คำเป็นต้นว่า อิเม โข อาวุโส บัณฑิตพึงประกอบโดยนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั่นเทียว.
               พระเถระกล่าว ๙๘ ปัญหาด้วยสามารถแห่งหมวดเจ็ด ๑๔ หมวด แสดงสามัคคีรสด้วยประการฉะนี้ ดังนี้แล.
               จบธรรมหมวด ๗               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘]
อ่านอรรถกถา 11 / 1อ่านอรรถกถา 11 / 207อรรถกถา เล่มที่ 11 ข้อ 221อ่านอรรถกถา 11 / 364อ่านอรรถกถา 11 / 364
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=11&A=4501&Z=7015
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=6&A=4096
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=6&A=4096
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :