ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘]อ่านอรรถกถา 11 / 1อ่านอรรถกถา 11 / 207อรรถกถา เล่มที่ 11 ข้อ 221อ่านอรรถกถา 11 / 364อ่านอรรถกถา 11 / 364
อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
สังคีติสูตร

หน้าต่างที่ ๘ / ๘.

               ว่าด้วยธรรมหมวด ๘               
               พระเถระ ครั้นแสดงสามัคคีรส ด้วยสามารถแห่งหมวดเจ็ดด้วยประการฉะนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะแสดงสามัคคีรสด้วยสามารถแห่งหมวดแปด จึงเริ่มปรารภพระธรรมเทศนาต่อไปอีก.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิจฺฉตฺตา คือ ไม่แน่นอน ได้แก่มีสภาพที่ผิด.
               บทว่า สมฺมตฺตา คือ แน่นอน ได้แก่มีสภาพที่ถูกโดยชอบ.
               บทว่า กุสีตวตฺถูนิ ได้แก่ เรื่อง คือที่พึ่งของคนเกียจคร้าน คือของคนขี้เกียจ. อธิบายว่า เหตุของความเกียจคร้าน.
               หลายบทว่า กมฺมํ กตฺตพฺพํ โหติ ความว่า พึงกระทำกรรมมีการกะจีวรเป็นต้น.
               หลายบทว่า น วิริยํ อารภติ ความว่า ไม่ปรารภความเพียรแม้ทั้ง ๒ อย่าง.
               บทว่า อปฺปตฺตสฺส ความว่า เพื่อบรรลุธรรม คือฌาน วิปัสสนา มรรคและผลที่ตนยังไม่บรรลุ. บทว่า อนธิคตสฺส ความว่า เพื่อประโยชน์ คือการบรรลุธรรม คือฌาน วิปัสสนา มรรคและผลนั้นนั่นแหละอันตนยังมิได้บรรลุ.
               บทว่า อสจฺฉิกตสฺ ความว่า เพื่อประโยชน์คือการกระทำให้แจ้งธรรม คือฌาน วิปัสสนา มรรคและผลนั้นที่ตนยังไม่กระทำให้แจ้ง.
               สองคำนี้ว่า อิทํ ปฐมํ ได้แก่ การนั่งลง (ด้วยการคิด) อย่างนี้ว่า เอาเถิด เราจะนอน ดังนี้ จัดเป็นเรื่องของความเกียจคร้านทีแรก. บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในบททั้งปวงโดยนัยนี้.
               ก็ถั่วราชมาสอันชุ่มชื่อว่ามาสาจิตะ ในคำนี้ว่า มาสาจิตํ มญฺเญ ดังนี้. อธิบายว่า เป็นผู้หนักเหมือนถั่วราชมาสที่เปียกชุ่ม เป็นของหนักฉะนั้น.
               สองบทว่า คิลานวุฏฺฐิโต โหติ ความว่า เป็นไข้หายออกไปทีหลัง.
               บทว่า อารพฺวตฺถูนิ ได้แก่ เหตุแห่งความเพียร บัณฑิตพึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้เทียวแห่งบททั้งหลาย แม้เหล่านั้น.
               บทว่า คือ เหตุแห่งทาน. หลายบทว่า อาสชฺช ทานํ เทติ ความว่า ถึงแล้วจึงให้ทาน. บุคคลเห็นภิกษุผู้มาแล้วเทียว นิมนต์ท่านให้นั่งครู่หนึ่งเท่านั้น แล้วจึงกระทำสักการะถวายทาน ย่อมไม่ลำบาก ด้วยการคิดว่า เราจักให้. ความหวังในการให้นี้ ชื่อว่า เหตุแห่งการให้ ด้วยประการฉะนี้.
               เหตุทั้งหลายมีความกลัวเป็นต้น แม้ในคำเป็นต้นว่า ให้ทาน เพราะความกลัว บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นเหตุแห่งการให้. บรรดาเหตุเหล่านั้น ความกลัวต่อคำติเตียน หรือความกลัวต่ออบายว่า บุคคลผู้นี้เป็นผู้ไม่ให้ (ทาน) เป็นผู้ไม่กระทำ (สักการะ) ชื่อว่าความกลัว.
               สองบทว่า อทาสิ เม ความว่า บุคคลย่อมให้ตอบด้วยคิดว่า บุคคลนั้นได้ให้วัตถุชื่อนี้แก่เราในกาลก่อน. สองบทว่า ทสฺสติ เม ความว่า บุคคลย่อมให้ด้วยคิดว่า เขาจักให้วัตถุชื่อนี้ในอนาคต. สองบทว่า สาหุ ทานํ ความว่า บุคคลย่อมให้ (ทาน) ด้วยคิดว่า ธรรมดาว่า การให้เป็นการยังประโยชน์ให้สำเร็จ คือเป็นกรรมดี อันบัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงสรรเสริญแล้ว.
               หลายบทว่า จิตฺตาลงฺการจิตฺตปริกฺขารตฺกํ ทานํ เทติ ความว่า บุคคลย่อมให้ทานเพื่อเป็นเครื่องประดับ และเพื่อเป็นบริวารของจิตในสมถะและวิปัสสนา.
               จริงอยู่ ทานย่อมกระทำจิตให้อ่อนได้. อันผู้ใดได้วัตถุ แม้ผู้นั้นก็ย่อมมีจิตอ่อนว่า เราได้แล้ว. อันผู้ใดให้แล้ว แม้ผู้นั้นก็ย่อมมีจิตอ่อนว่า เราให้แล้ว. ทานย่อมกระทำจิตของบุคคลแม้ทั้งสองให้อ่อนได้ด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำเป็นต้นว่า การฝึกจิตซึ่งยังไม่เคยฝึก (ชื่อว่าทาน). เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   การฝึกจิตซึ่งยังไม่เคยฝึก ชื่อว่าทาน
                         การไม่ให้เป็นเหตุประทุษร้ายจิตที่ฝึกแล้ว
                         สัตว์ทั้งหลายย่อมฟูขึ้นและฟุบลง ด้วยทาน
                         และวาจาที่อ่อนหวาน
ดังนี้.
               ก็บรรดาทานทั้ง ๘ ประการเหล่านี้ ทานที่เป็นเครื่องประดับจิตเท่านั้นสูงสุด.
               บทว่า ทานูปปตฺติโย ความว่า เข้าถึงเพราะทานเป็นปัจจัย. บทว่า ทหติ แปลว่า ตั้งไว้. คำว่า อธิฏฺฐาติ เป็นไวพจน์ของคำว่า ทหติ นั้นนั่นแหละ. บทว่า ภาเวติ แปลว่า ให้เจริญ.
               สองบทว่า หีเน วิมุตฺตํ ความว่า หลุดพ้นกามคุณ ๕ อันเลว.
               บทว่า อุตฺตริอภาวิตํ ความว่า แต่นั้น ไม่อบรมเพื่อต้องการมรรคผลอันยอดเยี่ยม.
               สองบทว่า ตตฺรูปปตฺติยาสํวตฺตติ ความว่า บุคคลปรารถนา (เกิด) ที่ใด กระทำกุศลไว้ก็ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อประโยชน์แก่การเกิดในที่นั้นๆ.
               บทว่า วีตราคสฺส ความว่า ผู้มีราคะอันตัดได้เด็ดขาดด้วยมรรค หรือผู้มีราคะอันข่มได้ด้วยสมาบัติ.
               จริงอยู่ สัตว์ไม่อาจที่จะเกิดในพรหมโลกได้ด้วยกุศลสักว่าทานเท่านั้น. ก็ทานย่อมเป็นเครื่องประดับเป็นบริวารของจิตในสมาธิและวิปัสสนา. บุคคลผู้มีจิตอ่อนโยนเพราะทานนั้น เจริญพรหมวิหารแล้ว ย่อมบังเกิดในพรหมโลกได้. เพราะเหตุนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวไว้ว่า ของผู้มีราคะไปปราศแล้ว ไม่ใช่ของผู้มีราคะ.
               บริษัทของกษัตริย์ ชื่อว่าขัตติยปริสา (บริษัทของกษัตริย์) อธิบายว่า หมู่.
               ในบททั้งปวงก็นัยนี้นั่นเทียว.
               ธรรมของโลก ชื่อว่าโลกธรรม. ธรรมดาว่าบุคคลผู้พ้นจากโลกธรรมเหล่านั้นไม่มี. แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ยังต้องมีนั่นเทียว.
               สมจริงดังพระดำรัสแม้ที่พระองค์ตรัสไว้ว่า๑-
               ภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการเหล่านี้ย่อมหมุนเวียนไปตามโลก และโลกก็ย่อมหมุนเวียนไปตามโลกธรรม ๘ ประการดังนี้.
____________________________
๑- องฺ. อฏฺฐก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๙๕

               สองบทว่า ลาโภ อลาโภ บัณฑิตพึงทราบว่า ครั้นเมื่อลาภมา ความไม่มีลาภก็มาด้วยนั่นเทียว. แม้ในยศเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               กถาว่าด้วยอภิภายตนะและวิโมกข์ ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               คำว่า อิเม โข อาวุโส เป็นต้น บัณฑิตพึงประกอบโดยนัยดังที่กล่าวแล้วเหมือนกัน. พระเถระกล่าวปัญหา ๘๘ ปัญหาด้วยสามารถแห่งหมวดแปด ๑๑ หมวด แสดงสามัคคีรสแล้วด้วยประการฉะนี้แล.
               จบธรรมหมวด ๘               

               ว่าด้วยธรรมหมวด ๙               
               พระเถระครั้นแสดงสามัคคีรส ด้วยสามารถแห่งหมวดแปดด้วยประการฉะนี้ บัดนี้เพื่อจะแสดงสามัคคีรสด้วยสามารถแห่งหมวดเก้า จึงปรารภพระธรรมเทศนาอีก.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาฆาตวตฺถูนิ แปลว่า เหตุแห่งความอาฆาต.
               สองบทว่า อาฆาตํ พนฺธติ ความว่า ผูกไว้คือกระทำได้แก่ยังความโกรธให้เกิดขึ้น.
               หลายบทว่า ตํ กุเตตฺถ ลพฺภา ความว่า การประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์นั้น อย่าได้มีแล้ว เพราะเหตุนั้น อันบุคคลพึงได้จากที่ไหน คืออาจเพื่อจะได้ด้วยเหตุอะไรในบุคคลนี้. บุคคลคิดอย่างนี้ว่า ธรรมดาว่าบุคคลอื่นย่อมกระทำความฉิบหายตามความพอใจแห่งจิตของตนแก่บุคคลอื่น ดังนี้ ย่อมบรรเทาความอาฆาตได้.
               อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า ถ้าว่า เราพึงกระทำความโกรธตอบไซร้ การกระทำความโกรธนั้นอันเราพึงได้แต่ที่ไหนในบุคคลนี้ หรือพึงได้ด้วยเหตุอะไร. บาลีว่า กุโต ลาภา ดังนี้ก็มี. ถ้าว่า เราพึงกระทำความโกรธในบุคคลนี้ไซร้ ธรรมดาว่า ลาภอันเราได้แต่ที่ไหนในการกระทำความโกรธของเรานั้น. อธิบายว่า ลาภเหล่าไหนพึงมี.
               ก็ในอรรถนี้ ศัพท์ว่า ตํ เป็นเพียงนิบาตเท่านั้น.
               บทว่า สตฺตาวาสา ได้แก่ ถิ่นเป็นที่อยู่ของสัตว์ทั้งหลาย. อธิบายว่า ที่เป็นที่อยู่.
               บรรดาสัตตาวาสเหล่านั้น แม้สุทธาวาสทั้งหลายก็จัดเป็นสัตตาวาสเหมือนกัน แต่ว่า ท่านมิได้จัดไว้ เพราะความที่ไม่เป็นไปในกาลทั้งปวง.
               จริงอยู่ สุทธาวาสทั้งหลายเป็นเหมือนกับค่าย (ถิ่นที่ประทับ) ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. เพราะว่าในอสงไขยกัปป์ ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าไม่บังเกิด ที่นั้นย่อมว่างเปล่า เพราะเหตุนั้น ท่านจึงไม่จัดไว้ (ว่าเป็นสัตตาวาส) เพราะความที่ไม่เป็นไปในกาลทั้งปวง.
               คำที่เหลือในอรรถนี้ บัณฑิตพึงทราบดังต่อไปนี้
               คำที่จะพึงกล่าวท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               พึงทราบวินิจฉัยในอขณะทั้งหลาย.
               หลายบทว่า ธมฺโม จ เทสิยติ ความว่า สัจจธรรม ๔ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดง. บทว่า โอปสมิโก ความว่า กระทำการเข้าไประงับกิเลส. บทว่า ปรินิพฺพานิโก ความว่า นำมาซึ่งการดับรอบแห่งกิเลส. บทว่า สมฺโพธคามี ความว่า ผู้แทงตลอดด้วยมรรคญาณ ๔. บทว่า อญฺญตรํ ความว่า อสัญญภพหรือว่าอรูปภพ.
               บทว่า อนุปุพฺพวิหารา ความว่า วิหารธรรมอันจะพึงเข้าไปตามลำดับ.
               บทว่า อนุปุพฺพนิโรธา ความว่า ดับไปตามลำดับ.
               คำว่า อิเม โข อาวุโส เป็นต้น บัณฑิตพึงประกอบโดยนัยดังที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               พระเถระเมื่อกล่าวปัญหา ๕๔ ปัญหาด้วยสามารถแห่งหมวดเก้า ๖ หมวด แสดงสามัคคีรสแล้วด้วยประการฉะนี้ดังนี้แล.
               จบธรรมหมวด ๙               

               ว่าด้วยธรรมหมวด ๑๐               
               พระเถระครั้นแสดงสามัคคีรสด้วยสามารถแห่งหมวดเก้าด้วยประการฉะนี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะแสดงสามัคคีรสด้วยสามารถแห่งหมวดสิบ จึงปรารภพระธรรมเทศนาอีก.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาถกรณา ความว่า ธรรมอันกระทำที่พึ่งแห่งตน อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า๑-
               ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงมีที่พึ่งอยู่เถิด อย่าอยู่ไม่มีที่พึ่งเลย.
               ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการเหล่านี้เป็นธรรมที่กระทำที่พึ่ง.
____________________________
๑- องฺ. ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๑๗

               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า กลฺยาณมิตฺโต เป็นต้น.
               มิตรทั้งหลายของบุคคลนั้นถึงพร้อมด้วยคุณมีศีลเป็นต้น คือเป็นคนดี เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่ากัลยาณมิตร (ผู้มีมิตรดี). อนึ่ง มิตรเหล่านั้นของบุคคลนั้น ชื่อว่าสหาย เพราะไปร่วมกันในอิริยาบถทั้งหลายมีการยืนและการนั่งเป็นต้น เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่ากัลยาณสหาย (ผู้มีสหายดี). ความเข้าพวกในกัลยาณมิตรนั่นแล น้อมไปทั้งจิตและกาย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่ากัลยาณสัมปวังกะ (ผู้มีพวกดี).
               สองบทว่า สุพฺพโจ โหติ ความว่า เป็นผู้อันเขาพึงว่ากล่าวได้โดยง่าย คืออันเขาพึงตามสอนได้โดยง่าย. บทว่า ขโม ความว่า ผู้ถูกเขาว่าด้วยถ้อยคำอันหนักคือหยาบคาย ได้แก่แข็งกระด้าง ย่อมอดทนได้ คือไม่โกรธ.
               สองบทว่า ปทกฺขิณคฺคาหี อนุสาสนี ความว่า ผู้ไม่กระทำเหมือนบุคคลบางคน พอถูกเขาโอวาทก็รับโดยเบื้องซ้าย แตกแยกกันไป หรือไม่ฟังไปเสีย ย่อมรับเบื้องขวาด้วยกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงโอวาท จงตามสอนเถิด เมื่อท่านไม่โอวาท คนอื่นใครเล่า จักโอวาทดังนี้.
               บทว่า อุจฺจาวจานิ ความว่า สูงและต่ำ.
               บทว่า กึกรณียานิ ความว่า การงานอันจะพึงกล่าวกระทำอย่างนี้ว่า กระผมจะทำอะไร.
               บรรดาการงานเหล่านั้น การงานมีอาทิอย่างนี้ว่า การกระทำจีวร การย้อมจีวร การทำความสะอาดที่พระเจดีย์ การงานอันจะพึงกระทำที่โรงอุโบสถ เรือนพระเจดีย์ และเรือนโพธิ์ทั้งหลาย ชื่อว่าการงานสูง. การงานเล็กน้อยมีการล้างเท้าและทาเท้าเป็นต้น ชื่อว่าการงานต่ำ.
               บทว่า ตตฺรูปายาย ความว่า ควรเข้าไปในที่นั้น. สองบทว่า อลํ กาตุํ ความว่า เป็นผู้สามารถเพื่อจะทำ. สองบทว่า อลํ สํวิธาตุํ ความว่า ผู้สามารถเพื่อจะพิจารณา. อธิบายว่า เป็นผู้ใคร่ที่จะแสดงแก่คนเหล่าอื่น.
               ความใคร่คือความรักในธรรมของบุคคลนั้นมีอยู่ เหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า ธัมมกาโม (ผู้ใคร่ในธรรม). อธิบายว่า ย่อมประพฤติรักซึ่งพระพุทธวจนะคือพระไตรปิฎก.
               บทว่า ปิยสมุทาหาโร ความว่า เมื่อบุคคลอื่นกล่าวอยู่ ย่อมฟังโดยเคารพ และเป็นผู้ใคร่เพื่อจะแสดงแก่ชนเหล่าอื่นเอง.
               ในหมวดสองแห่งบทนี้ว่า อภิธมฺเม อภิวินเย บัณฑิตพึงทราบหมวดสี่แห่งคำว่า ธมฺโม อภิธมฺโม วินโย อภิวินโย ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺโม ได้แก่ พระสุตตันปิฎก. บทว่า อภิธมฺโม ได้แก่ สัตตัปปกรณ์ (ปกรณ์ ๗). บทว่า วินโย ได้แก่ อุภโตวิภังค์. บทว่า อภิวินโย ได้แก่ ขันธกบริวาร.
               อีกอย่างหนึ่ง แม้พระสุตตันตปิฎก คือพระธรรมนั่นเอง มรรคและผลทั้งหลาย คือพระอภิธรรม พระวินัยปิฎกทั้งสิ้น คือพระวินัย การกระทำการเข้าไประงับกิเลส คืออภิวินัย. บัณฑิตพึงทราบอธิบายในธรรม อภิธรรม วินัยและอภิวินัย นี้แม้ทั้งหมดด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อุฬารปาโมชฺโช ความว่า เป็นผู้มีความปราโมทย์มาก. กุสเลสุ ธมฺเมสุ ความว่า สัตตมีวิภัตติลงในอรรถแห่งตติภวิภัตติ. เพราะเหตุแห่งกุศลธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔. อธิบายว่า เป็นผู้ไม่ทอดธุระ เพื่อประโยชน์แก่การบรรลุกุศลธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔ เหล่านั้น.
               บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในหมวดสิบแห่งกสิณดังต่อไปนี้.
               โดยอรรถทั้งสิ้น กสิณทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นแดน ด้วยอรรถว่าเป็นเขต หรือด้วยอรรถว่าการตั้งใจมั่น แห่งธรรมทั้งหลายอันเป็นตทารมณ์.
               บทว่า อุทฺธํ ความว่า ผู้มีหน้าเฉพาะต่อพื้นท้องฟ้าในเบื้องบน. บทว่า อโธ ความว่า ผู้มีหน้าเฉพาะต่อพื้นแผ่นดินเบื้องต่ำ. บทว่า ติริยํ ความว่า กำหนดตัดโดยรอบเหมือนมณฑลแห่งนา.
               จริงอยู่ บุคคลบางคนย่อมขยายกสิณไปเบื้องบนอย่างเดียว บางคนขยายไปเบื้องล่าง บางคนขยายไปโดยรอบ. บุคคลผู้ใคร่ในการเห็นรูป ประดุจเหมือนแสงสว่าง ย่อมแผ่ออกไปอย่างนั้นหรือโดยเหตุนั้นนั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า ผู้หนึ่งย่อมจำปฐวีกสิณได้ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง.
               ส่วนคำว่า อนฺวยํ นี้ ท่านกล่าวไว้เพื่อการเข้าถึงความเป็นอย่างอื่นแห่งบุคคลผู้หนึ่ง. เหมือนอย่างว่า เมื่อบุคคลดำลงน้ำ น้ำเท่านั้นย่อมปรากฏมีในทิศทั้งปวง สิ่งอื่นหามีไม่ฉันใด ปฐวีกสิณก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นปฐวิกสิณอยู่นั่นเอง ความเจือด้วยกสิณอย่างอื่นของผู้นั้นย่อมไม่มี. ในกสิณทั้งปวงก็นัยนี้.
               คำว่า อปฺปมาณํ นี้ ท่านกล่าวไว้ด้วยสามารถแห่งการแผ่ไปไม่มีประมาณแห่งบุคคลนั้นๆ.
               จริงอยู่ บุคคลเมื่อแผ่กสิณนั้นไปด้วยใจ ชื่อว่าแผ่ไปทั้งสิ้นทีเดียว คือไม่ถือเอาประมาณว่า นี้เป็นเบื้องต้น นี้เป็นท่ามกลางแห่งกสิณนั้น ดังนี้แล.
               ก็ในคำว่า วิญฺญาณกสิณํ นี้ได้แก่ วิญญาณที่เป็นไปในกสิณุคฆาติมากาศ (อากาศที่เพิกกสิณ). บัณฑิตพึงทราบความเป็นเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง ในวิญญาณที่เป็นไปในกสิณนั้น ด้วยสามารถแห่งกสิณุคฆาติมากาศด้วยอำนาจแห่งกสิณในวิญญาณนั้น. นี้เป็นความย่อในกสิณนี้.
               ก็แล กสิณทั้งหลายมีปฐวีกสิณเป็นต้นเหล่านั้นอันข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วโดยพิสดารในวิสุทธิมรรคนั่นแล โดยภาวนามัยแห่งกัมมัฏฐาน.

               อกุสลกมฺมปถทสกวณฺณนา               
               พึงทราบวินิจฉัยในกรรมบถทั้งหลายดังต่อไปนี้.
               กรรมทั้งหลายนั่นเอง ชื่อว่าเป็นกรรมบถ เพราะความเป็นทางแห่งทุคคติและสุคติทั้งหลาย. บรรดากรรมบถเหล่านั้น กรรมบถทั้ง ๔ มีปาณาติบาต อทินนาทานและมุสาวาทเป็นต้น ท่านให้พิสดารแล้วในพรหมชาลสูตรนั่นแล.
               ส่วนในกรรมบถข้อว่า กาเมสุ มิจฺฉาจาโร นี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า กาเมสุ ความว่า ในความประพฤติเมถุน หรือในวัตถุแห่งเมถุน.
               บทว่า มิจฺฉาจาโร ความว่า ความประพฤติอันลามก ที่บัณฑิตติเตียนโดยส่วนเดียว. ส่วนโดยลักษณะเจตนาที่ก้าวล่วงฐานะอันไม่พึงถึง ที่เป็นไปทางกายทวาร โดยความประสงค์จะเสพอสัทธรรม ก็จัดเป็นกาเมสุมิจฉาจาร.
               ในกาเมสุมิจฉาจารนั้น สำหรับบุรุษทั้งหลายก่อน หญิง ๑๐ จำพวกมีหญิงอันมารดารักษาเป็นต้น คือ หญิงอันมารดารักษา ๑ หญิงอันบิดารักษา ๑ หญิงอันมารดาและบิดารักษา ๑ หญิงอันพี่น้องชายรักษา ๑ หญิงอันพี่น้องหญิงรักษา ๑ หญิงอันญาติรักษา ๑ หญิงอันโคตรรักษา ๑ หญิงอันธรรมรักษา ๑ หญิงที่มีการอารักขา ๑ หญิงที่มีอาชญา ๑
               และหญิงอีก ๑๐ จำพวกมีหญิงที่ซื้อมาด้วยทรัพย์เป็นต้น เหล่านั้นคือ หญิงที่ซื้อมาด้วยทรัพย์ ๑ หญิงที่อยู่ด้วยความพอใจ ๑ หญิงที่อยู่ด้วยโภคะ ๑ หญิงที่อยู่ด้วยแผ่นผ้า ๑ หญิงผู้มีถังน้ำ (ตักน้ำ) ๑ หญิงผู้มีเทริดนำไป ๑ ภริยาผู้เป็นทาสี ๑ ภริยาผู้ทำงาน ๑ หญิงผู้นำมาด้วยธง ๑ หญิงผู้อยู่ชั่วครู่ ๑ รวมเป็นหญิง ๒๐ จำพวกชื่อว่า ฐานอันไม่พึงถึง.
               ส่วนบรรดาหญิงทั้งหลาย บุรุษเหล่าอื่น ชื่อว่าเป็นฐานะอันไม่พึงถึงแห่งหญิง ๑๒ จำพวก คือ หญิงที่มีการอารักขาและมีอาชญา ๒ และหญิงที่ซื้อมาด้วยทรัพย์เป็นต้นอีก ๑๐.
               ก็มิจฉาจารนี้นั้น จัดว่ามีโทษน้อยในฐานะอันไม่พึงถึงที่เว้นจากคุณมีศีลเป็นต้น, จัดว่ามีโทษมากในฐานะอันไม่พึงถึงที่ประกอบด้วยคุณมีศีลเป็นต้น.
               กาเมสุมิจฉาจารนั้นมีสัมภาระ (องค์) ๔ คือ วัตถุอันไม่พึงถึง ๑ จิตคิดจะเสพในวัตถุอันไม่พึงถึงนั้น ๑ ความพยายามในการเสพ ๑ การหยุดอยู่แห่งการปฏิบัติต่อองค์มรรคด้วยมรรค ๑. การกระทำด้วยมือของตนก็เป็นความพยายามอย่างหนึ่งนั่นแล.
               บทว่า อภิชฺฌายติ แปลว่า การเพ่ง. อธิบายว่า เป็นผู้มีหน้าเฉพาะต่อภัณฑะของผู้อื่นเป็นไป เพราะความที่น้อมไปในภัณฑะของผู้อื่นนั้น.
               อภิชฌานั้นมีการเพ่งต่อภัณฑะของผู้อื่นเป็นลักษณะอย่างนี้ว่า โอหนอ วัตถุนี้พึงเป็นของเรา มีโทษน้อยและมีโทษมาก เหมือนอทินนาทาน. อภิชฌานั้น สัมภาระ (องค์) ๒ คือ ภัณฑะของผู้อื่น ๑ น้อมภัณฑะนั้นไปเพื่อตน ๑. ก็ครั้นเมื่อความโลภอันมีภัณฑะของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง แม้บังเกิดขึ้นแล้ว บุคคลไม่น้อมภัณฑะนั้นไปเพื่อตนว่า โอหนอ วัตถุนี้พึงเป็นของเราดังนี้เพียงใด ความแตกแห่งกรรมบถก็ไม่มีเพียงนั้น.
               กิเลสใดยังหิตสุขให้ย่อยยับไป เหตุนั้น กิเลสนั้นชื่อว่าพยาบาท. พยาบาทนั้นมีลักษณะประทุษร้ายทางใจ เพื่อความพินาศของผู้อื่น มีโทษน้อยและมีโทษมากเหมือนผรุสวาจา. พยาบาทนั้นมีสัมภาระ (องค์) ๒ คือ สัตว์อื่น ๑ การคิดเพื่อความพินาศแห่งสัตว์อื่นนั้น ๑. ก็ครั้นเมื่อความโกรธอันมีสัตว์อื่นเป็นที่ตั้ง แม้บังเกิดขึ้นแล้ว บุคคลไม่คิดถึงความพินาศแห่งสัตว์อื่นนั้นว่า โอหนอ บุคคลนี้พึงขาดสูญ พึงพินาศดังนี้เพียงใด ความแตกแห่งกรรมบถก็ไม่มีเพียงนั้น.
               ที่ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่าเห็นผิดโดยไม่มีการถือเอาตามสภาพที่เป็นจริง. มิจฉาทิฏฐินั้นมีลักษณะเห็นผิด โดยนัยเป็นต้นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ดังนี้ มีโทษน้อยและมีโทษมาก เหมือนสัมผัปปลาปะ.
               อีกอย่างหนึ่ง มิจฉาทิฏฐิที่ไม่แน่นอน (ไม่มั่นคง) มีโทษน้อย ที่แน่นอน (มั่นคง) มีโทษมาก. มิจฉาทิฏฐินั้นมีสัมภาระ (องค์) ๒ คือ ความที่วัตถุผิดจากอาการที่ตนถือเอา ๑ การบำเรอวัตถุนั้นโดยความเป็นเหมือนอย่างที่ตนถือเอา ๑.
               ส่วนอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเหล่านี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัย โดยอาการ ๕ คือ โดยธรรม ๑ โดยส่วน ๑ โดยอารมณ์ ๑ โดยเวทนา ๑ โดยมูล ๑.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมโต ความว่า เจตนาธรรม ๗ โดยลำดับเทียว ย่อมมีในอกุศลกรรมบถเหล่านั้น. เจตนาธรรม ๓ มีอภิชฌาเป็นต้น ชื่อว่าสัมปยุตด้วยเจตนา.
               บทว่า โกฏฺฐาสโต ความว่า เจตนาธรรม ๘ เหล่านี้ คือ โดยลำดับ ๑ และมิจฉาทิฏฐิอีก ๗ เป็นกรรมบถแท้ทีเดียว แต่ไม่เป็นมูล. อภิชฌาและพยาบาทเป็นทั้งกรรมบถและเป็นทั้งมูล.
               จริงอยู่ อภิชฌาถึงความเป็นมูลแล้ว ย่อมเป็นโลภะอกุศลมูล. พยาบาทเป็นโทสะอกุศลมูล.
               บทว่า อารมฺมณโต ความว่า ปาณาติบาตมีสังขารเป็นอารมณ์ โดยมีชีวิตินทรีย์เป็นอารมณ์. อทินนาทานมีสัตว์เป็นอารมณ์บ้าง มีสังขารเป็นอารมณ์บ้าง. มิจฉาจารมีสังขารเป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งโผฏฐัพพะ. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า มีสัตว์เป็นอารมณ์บ้าง.
               มุสาวาทมีสัตว์เป็นอารมณ์บ้าง มีสังขารเป็นอารมณ์บ้าง ปิสุณวาจาก็อย่างนั้น. ผรุสวาจามีสัตว์เป็นอารมณ์. สัมผัปปลาปะมีสัตว์เป็นอารมณ์บ้าง มีสังขารเป็นอารมณ์บ้าง ด้วยสามารถแห่งรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟังและอารมณ์ที่ได้ทราบแล้วรู้แจ้งแล้ว. อภิชฌาก็อย่างนั้น. พยาบาทมีสัตว์เป็นอารมณ์. มิจฉาทิฏฐิมีสังขารเป็นอารมณ์ด้วยสามารถแห่งธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ บ้าง มีสัตว์เป็นอารมณ์ด้วยสามารถแห่งบัญญัติบ้าง.
               บทว่า เวทนาโต ความว่า ปาณาติบาตเป็นทุกขเวทนา.
               เหมือนอย่างว่า พระราชาทั้งหลายทรงเห็นโจรแล้ว แม้จะทรงร่าเริงอยู่ ตรัสว่า พวกท่านจงไปฆ่าโจรนั้น ดังนี้แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น สันนิฏฐาปกเจตนา (เจตนาที่ให้สำเร็จ) ก็ชื่อว่าสัมปยุตด้วยทุกข์แท้. อทินนาทานมีเวทนา ๓. มิจฉาจารมีเวทนา ๒ คือ สุขและมัชฌัตตเวทนา (อุเบกขา). ส่วนว่า ในสันนิฏฐาปกจิต (จิตที่ให้สำเร็จ) มิจฉาจารไม่เป็นมัชฌัตตเวทนา. มุสาวาทมีเวทนา ๓. ปิสุณวาจาก็อย่างนั้น. ผรุสวาจาเป็นทุกขเวทนา. สัมผัปปลาปะมีเวทนา ๓. อภิชฌามีเวทนา ๒ คือสุขและมัชฌัตตเวทนา (อุเบกขา). มิจฉาทิฏฐิก็อย่างนั้น. พยาบาทเป็นทุกขเวทนา.
               บทว่า มูลโต ความว่า ปาณาติบาตมีมูล ๒ คือ โทสะและโมหะ. อทินนาทานก็มีมูล ๒ เหมือนกัน คือโทสะและโมหะบ้าง โลภะและโมหะบ้าง. มิจฉาจารมีมูล ๒ คือโลภะและโมหะ. มุสาวาทก็มีมูล ๒ คือโทสะและโมหะบ้าง โลภะและโมหะบ้าง. ปิสุณวาจาและสัมผัปปลาปะก็อย่างนั้น. ผรุสวาจามีมูล ๒ คือโทสะและโมหะ. อภิชฌามีมูลเดียวคือโมหะ. พยาบาทก็อย่างนั้น. มิจฉาทิฏฐิมีมูล ๒ คือโลภะและโมหะดังนี้แล.

               กุสลกมฺมปถทสกวณฺณนา               
               กุศลกรรมบถทั้งหลายมีเจตนางดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น บัณฑิตพึงทราบด้วยสามารถแห่งสมาทานวิรัติ สัมปัตตวิรัติและสมุจเฉทวิรัติ ส่วนโดยธรรม เจตนาทั้ง ๗ ก็ดี วิรัติทั้งหลายก็ดี ย่อมเป็นไปโดยลำดับในกุศลกรรมบถ แม้เหล่านั้น. เจตนาธรรม ๓ ในที่สุด ชื่อว่าสัมปยุตด้วยเจตนาแท้.
               บทว่า โกฏฺฐาสโต ความว่า เจตนาธรรม ๗ โดยลำดับชื่อว่าเป็นกรรมบถแท้ทีเดียว แต่ไม่มีมูล. เจตนาธรรม ๓ ในที่สุด เป็นทั้งกรรมบถและเป็นมูล.
               จริงอยู่ อนภิชฌาถึงความเป็นมูลแล้ว ย่อมเป็นอโลภะกุศลมูล. อัพยาบาทเป็นอโทสะกุศลมูล. สัมมาทิฏฐิเป็นอโมหะกุศลมูล.
               บทว่า อารมฺมณโต ความว่า อารมณ์แห่งปาณาติบาตเป็นต้นนั่นเทียว แม้เป็นอารมณ์แห่งกุศลกรรมบถเหล่านั้นโดยลำดับ. จริงอยู่ เจตนานั้น ชื่อว่าเป็นเจตนางดเว้น เพราะความเป็นสภาพอันจะพึงก้าวล่วง. ก็อริยมรรคอันมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ย่อมละกิเลสทั้งหลายได้ฉันใด กรรมบถทั้งหลายเหล่านั้น แม้มีชีวิตินทรีย์เป็นต้นเป็นอารมณ์ บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมละความเป็นผู้ทุศีลทั้งหลาย มีปาณาติบาตเป็นต้นฉันนั้น.
               บทว่า เวทนาโต ความว่า กุศลกรรมบถทั้งปวงเป็นสุขเวทนาบ้าง เป็นมัชฌัตตเวทนา (อุเบกขาเวทนา) บ้าง. จริงอยู่ ธรรมดาว่าทุกขเวทนา ถึงความเป็นกุศลไม่มี.
               ว่าโดยมูล กุศลกรรมบถ ๗ โดยลำดับ ย่อมมีมูล ๓ คือ อโลภะ อโทสะและอโมหะแก่บุคคลผู้เว้นด้วยญาณสัมปยุตตจิต. ย่อมมีมูล ๒ แก่บุคคลผู้เว้นด้วยญาณวิปปยุตจิต. อนภิชฌามีมูลสองสำหรับผู้เว้นด้วยญาณสัมยุตจิต มีมูลหนึ่งแก่บุคคลผู้เว้นด้วยญาณวิปปยุตตจิต. ก็อโลภะไม่เป็นมูลแก่ตนด้วยตนเลย. แม้ในอัพยาบาทก็นัยนี้เหมือนกัน. สัมมาทิฏฐิมีมูล ๒ คือ อโลภะและอโทสะเท่านั้น ดังนี้แล.

               อริยวาสทสกวณฺณนา               
               บทว่า อริยวาสา ความว่า พระอริยะทั้งหลายนั่นเทียว อยู่แล้ว คือย่อมอยู่ ได้แก่จักอยู่ในธรรมเหล่านั้น เหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นชื่อว่าอริยวาส.
               บทว่า ปญฺจงฺควิปฺปหีโน ความว่า เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยองค์ห้า พระขีณาสพได้อยู่แล้ว คือย่อมอยู่ ได้แก่จักอยู่ เพราะเหตุดังนี้นั้นความเป็นผู้ละองค์ห้าเสียได้นี้ ท่านเรียกว่า อริยวาส เพราะความเป็นธรรมเครื่องอยู่ของพระอริยะ.
               ในธรรมทั้งปวงก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยองค์หก อย่างนี้แล เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยฉฬังคุเบกขา.
               ถามว่า ธรรมเหล่าไร ชื่อว่า ฉฬังคุเบกขา.
               แม้ว่าธรรมมีญาณเป็นต้น ชื่อว่าฉฬังคุเบกขา. เมื่อท่านกล่าวว่าญาณ บัณฑิตย่อมได้ญาณสัมปยุตตจิต ๔ ดวง โดยกิริยา. เมื่อท่านกล่าวว่าสตตวิหาร ย่อมได้มหาจิต ๘ ดวง. เมื่อท่านกล่าวว่า รชฺชนทุสฺสนํ นตฺถิ ย่อมได้จิต ๑๐ ดวง. โสมนัส บัณฑิตย่อมได้ด้วยสามารถแห่งอาเสวนะ.
               สองบทว่า สตารกฺเขน เจตสา ความว่า ก็สติย่อมยังกิจแห่งการรักษาให้สำเร็จ ตลอดกาลทั้งปวง ในทวารทั้ง ๓ ของพระขีณาสพ. เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ ญาณทัสสนะอันสงบระงับ แล้วติดต่อกัน ท่านจึงเรียกว่าเป็นญาณอันปรากฏเฉพาะแล้วแก่พระขีณาสพนั้นผู้เที่ยวไปอยู่ ผู้ยืนอยู่ ผู้หลับและผู้ตื่น.
               บทว่า ปุถุสมณพฺราหฺมณานํ ความว่า แห่งสมณพราหมณ์มาก.
               ก็บรรดาคำเหล่านั้น ที่ชื่อว่าสมณะ ได้แก่ผู้เข้าถึงการบรรพชา. ที่ชื่อว่าพราหมณ์ ได้แก่ผู้มีปกติกล่าวว่า เจริญ. บทว่า ปุถุปจฺเจกสจฺจานิ ความว่า สัจจะเฉพาะตัวมาก. อธิบายว่า สัจจะเป็นอันมากที่ท่านถือเอาเฉพาะอย่างนี้ว่า นี้เท่านั้นจริง.
               บทว่า นุณฺณานิ ความว่า ถูกนำออก.
               บทว่า ปนุณฺณานิ ความว่า ถูกนำออกด้วยดี.
               บทว่า จตฺตานิ ความว่า ปล่อยแล้ว.
               บทว่า วนฺตานิ ความว่า คายแล้ว.
               บทว่า มุตฺตานิ ความว่า กระทำการตัดเครื่องผูก.
               บทว่า ปหีนานิ ความว่า ละแล้ว.
               บทว่า ปฏินิสิสฏฺฐานิ ความว่า สละเฉพาะโดยประการที่กิเลสจะไม่ขึ้นสู่จิตอีก.
               คำเหล่านั้นทั้งปวงนั่นแล เป็นไวพจน์แห่งความสละการยึดถืออันตนยึดถืออยู่แล้ว.
               บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในคำว่า สมวยสฏฺเฐสโน นี้ดังต่อไปนี้.
               บทว่า อวยา ได้แก่ ไม่ขาดแคลน.
               บทว่า สฏฺฐา ได้แก่ สละแล้ว บุคคลนี้มีการแสวงหาอันไม่ขาดแคลน คือสละแล้วโดยชอบ เพราะเหตุนี้ จึงชื่อว่าผู้มีการแสวงหาอันไม่ขาดแคลนและสละแล้วเสมอ. อธิบายว่า ผู้มีการแสวงหาทั้งปวงอันสละแล้วโดยชอบ.
               ด้วยคำเป็นต้นว่า จิตหลุดพ้นแล้วจากราคะ เป็นอันกล่าวความสำเร็จแห่งกิจของมรรค. ด้วยคำเป็นต้นว่า เราละราคะได้แล้ว เป็นอันกล่าวผลของการพิจารณา.

               อเสกฺขธมฺมทสกวณฺณนา               
               พระอเสขะ ชื่อว่ามีธรรมอันสัมปยุตด้วยผลแม้ทั้งปวง มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น.
               ก็ในบรรดาธรรมเหล่านั้น ปัญญาเทียวเป็นอันท่านกล่าวไว้ในฐานะทั้ง ๒ คือ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาญาณ ๑. ธรรม คือผลสมาบัติที่เหลือ ท่านกล่าวไว้ด้วยบทนี้ว่า สัมมาวิมุตติ บัณฑิตพึงทราบว่า ท่านสงเคราะห์เข้าแล้ว.
               คำว่า อิเม โข อาวุโส เป็นต้น บัณฑิตพึงประกอบโดยนัย ดังที่กล่าวแล้วนั่นแล. พระเถระเมื่อกล่าวปัญหา ๖๐ ถ้วนด้วยสามารถแห่งหมวดสิบ ๖ หมวดด้วยประการฉะนี้ แสดงสามัคคีรสแล้วดังนี้แล.
               จบธรรมหมวด ๑๐               

               ปญฺหสโมธานวณฺณนา               
               ก็ภิกษุดำรงในศาสนานี้แล้ว พึงประชุมปัญหาดังต่อไปนี้.
               จริงอยู่ ในพระสูตรนี้เป็นอันท่านกล่าว ๒ ปัญหาด้วยสามารถแห่งหมวดหนึ่งๆ กล่าว ๗๐ ปัญหาด้วยสามารถแห่งหมวดสอง กล่าว ๑๘๐ ปัญหาด้วยสามารถแห่งหมวดสาม กล่าว ๒๐๐ ปัญหาด้วยสามารถแห่งหมวดสี่ กล่าว ๑๓๐ ปัญหาด้วยสามารถแห่งหมวดห้า กล่าว ๑๓๒ ปัญหาด้วยสามารถแห่งหมวดหก กล่าว ๙๘ ปัญหาด้วยสามารถแห่งหมวดเจ็ด กล่าว ๘๘ ปัญหาด้วยสามารถแห่งหมวดแปด กล่าว ๕๔ ปัญหาด้วยสามารถแห่งหมวดเก้า กล่าว ๖๐ ปัญหาถ้วนด้วยสามารถแห่งหมวดสิบ
               รวมเป็นอันท่านกล่าวปัญหาไว้ ๑,๐๑๔ ปัญหาด้วยประการฉะนี้.
               จริงอยู่ เว้นพระสูตรนี้เสีย พระสูตรอื่นในพระพุทธวจนะคือพระไตรปิฎกอันประดับด้วยปัญหามากอย่างนี้ไม่มี. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับพระสูตรนี้ทั้งหมดตั้งแต่ต้นแล้ว ดำริว่า พระสารีบุตรผู้เป็นธรรมเสนาบดีแสดงกำลังแห่งพระพุทธเจ้า บรรลือสีหนาทในอัปฏิวัตกาล เมื่อเรากล่าวว่าเป็นสาวกภาษิต ความปลงใจเชื่อก็จะไม่มี ครั้นเมื่อเรากล่าวว่าเป็นชินภาษิต ดังนี้ ความปลงใจเชื่อจึงจะมี เพราะเหตุนั้น เรากระทำให้เป็นชินภาษิตแล้ว ยังความปลงใจเชื่อให้เกิดแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายในพระสูตรนี้ ดังนี้แล้ว จึงเสด็จลุกจากที่นั้นได้ประทานสาธุการแล้ว. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลุกขึ้น ตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมาว่า สารีบุตร ดีละ ดีนักแล สารีบุตร เธอได้กล่าวสังคีติปริยายสูตรแก่ภิกษุทั้งหลายแล้วดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สงฺคีติปริยายํ ได้แก่ เหตุแห่งความสามัคคี.
               มีคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า สารีบุตร ดีนักแล เธอเทียบเคียงด้วยสัพพัญญุตญาณของเรา ได้กล่าวสามัคคีรสแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว.
               หลายบทว่า สมนุญฺโญ สตฺถา อโหสิ ความว่า ได้เป็นผู้พอใจด้วยการอนุโมทนาแล้ว. พระสูตรนี้ชื่อว่าชินภาษิต เกิดแล้วด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้. ในกาลเป็นที่สิ้นสุดแห่งพระเทศนา ภิกษุเหล่านั้นกระทำไว้ในใจซึ่งพระสูตรนี้ บรรลุพระอรหัตต์แล้วดังนี้แล.

               จบอรรถกถาสังคีติสูตรที่ ๑๐               
               -----------------------------------               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘]
อ่านอรรถกถา 11 / 1อ่านอรรถกถา 11 / 207อรรถกถา เล่มที่ 11 ข้อ 221อ่านอรรถกถา 11 / 364อ่านอรรถกถา 11 / 364
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=11&A=4501&Z=7015
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=6&A=4096
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=6&A=4096
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :