ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 11 / 1อ่านอรรถกถา 11 / 51อรรถกถา เล่มที่ 11 ข้อ 73อ่านอรรถกถา 11 / 94อ่านอรรถกถา 11 / 364
อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
สัมปสาทนียสูตร

               อรรถกถาสัมปสาทนียสูตร               
               สาริปุตฺตสีหนาทวณฺณนา               
               สัมปสาทนียสูตร มีคำขึ้นต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้.
               ในสัมปสาทนียสูตรนั้น มีการพรรณนาบทที่ยังไม่ชัด ดังต่อไปนี้.
               บทว่า นาฬนฺทายํ ความว่า ใกล้พระนครซึ่งได้นามว่า นาฬันทา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำเมืองนาลันทานั้นให้เป็นที่โคจรคาม.
               บทว่า ปาวาริกมฺพวเน ความว่า ที่สวนมะม่วงของเศรษฐีผู้มีผ้ามีขนอ่อนนุ่ม.
               ได้ยินว่า สวนมะม่วงนั้นเป็นสวนของเศรษฐีนั้น. เขาได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้สร้างวิหารซึ่งประดับด้วยกุฏิที่พักผ่อนและมณฑปเป็นต้นในอุทยานนั้น มอบถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า วิหารนั้นได้ถึงการนับว่า ปาวาริกัมพวัน เหมือนชีวกัมพวันฉะนั้น.
               อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นประทับอยู่ที่ปาวาริกัมพวันนั้น. ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้.
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระเถระจึงทูลอย่างนี้.
               ตอบว่า เพื่อประกาศความโสมนัสซึ่งบังเกิดแก่ตน.
               ในเรื่องนี้ มีการกล่าวตามลำดับ ดังต่อไปนี้.
               นัยว่า ในวันนั้น พระเถระชำระร่างกายแต่เช้าตรู่ นุ่งห่มเรียบร้อยแล้ว ถือบาตรจีวร นำความเลื่อมใสมาให้เกิดแก่หมู่เทวดาและมนุษย์ ด้วยอิริยาบถมีการก้าวไป ข้างหน้าเป็นต้นอันน่าเลื่อมใส หวังเพิ่มพูลประโยชน์สุขแก่ชาวเมืองนาลันทา จึงเข้าไปเพื่อบิณฑบาต ในเวลาหลังภัตก็กลับจากบิณฑบาตไปวิหารแล้ว แสดงวัตรแด่พระศาสดา.
               เมื่อพระศาสดาเสด็จเข้าพระคันธกุฎีแล้ว ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กลับไปยังที่พักกลางวันของตน เมื่อสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกในที่นั้น พากันแสดงวัตรแล้วหลีกไป พระเถระได้กวาดที่พักกลางวันนั้นแล้ว ปูลาดแผ่นหนัง เอาน้ำจากลักจั่นชุบมือและเท้าให้เย็นแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ๓ ชั้น ทำตามกำหนดเวลาแล้ว จึงเข้าผลสมาบัติ.
               ท่านออกจากสมาบัติด้วยเวลาตามที่ได้กำหนดไว้แล้ว เริ่มที่จะระลึกถึงคุณของตน.
               ทีนั้น เมื่อท่านกำลังระลึกถึงคุณอยู่ ศีลก็ได้มาปรากฏ ต่อแต่นั้น สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ปฐมฌาน ฯลฯ จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนสมาบัติ ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ฯลฯ วิปัสสนาญาณ ฯลฯ ทิพพจักขุญาณ ฯลฯ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ฯลฯ อรหัตตมรรค อรหัตตผล อัตถปฏิสัมภิทา ธรรมปฏิสัมภิทา นิรุตติปฏิสัมภิทา ปฏิภาณปฏิสัมภิทา สาวกบารมีญาณ ก็ปรากฏขึ้นตามลำดับ.
               จำเดิมแต่นั้น เมื่อท่านกำลังระลึกถึงคุณของตน เริ่มต้นแต่อภินิหารที่ได้ทำไว้แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี เหนืออสงไขยกำไรแสนกัลป์ จนกระทั่งถึงเวลาที่กำลังนั่งคู้บัลลังก์ คุณทั้งหลายก็ได้ปรากฏ. พระเถระระลึกถึงคุณของตนเป็นอันมากอย่างนี้ ก็ไม่อาจเห็นประมาณหรือกำหนดของคุณทั้งหลายได้เลย.
               ท่านคิดว่า ประมาณหรือกำหนดแห่งคุณทั้งหลายของพระสาวกผู้ดำรงอยู่ในญาณบางส่วน ย่อมไม่มีแก่เราก่อน แต่เราบวชอุทิศพระศาสดาองค์ใด พระศาสดาพระองค์นั้นมีพระคุณเป็นเช่นไรหนอ ดังนี้แล้ว จึงเริ่มระลึกถึงพระคุณของพระทสพล.
               ท่านได้อาศัยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสนะ สติปัฏฐาน ๔ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า อาศัยสัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ มรรค ๔ ผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ โยนิปริจเฉทกญาณ ๔ อริยวงศ์ ๔ ของพระทสพล แล้วเริ่มระลึกถึงพระคุณของพระทศพล.
               อนึ่ง พระเถระอาศัยองค์ของปธาน ๕ สัมมาสมาธิมีองค์ ๕ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ นิสสรณียธาตุ ๕ วิมุตตายตนะ ๕ ปัญญาเครื่องสั่งสมวิมุตติ ๕ สาราณียธรรม ๖ อนุสสติกัมมัฏฐาน ๖ คารวะ ๖ นิสสรณียธาตุ ๖ สัตตวิหารธรรม ๖ อนุตตริยะ ๖ ปัญญาอันเป็นส่วนแห่งการตรัสรู้ ๖ อภิญญา ๖ อสาธารณญาณ ๖
               อปริหานิยธรรม ๗ อริยทรัพย์ ๗ โพชฌงค์ ๗ สัปปุริสธรรม ๗ นิชชรวัตถุ (เรื่องของเทวดา) ๗ ปัญญา ๗ ทักขิไณยบุคคล ๗ ขีณาสวพละ ๗ ปัญญาปฏิลาภเหตุ ๘ สมมัตตธรรม ๘ การก้าวล่วงโลกธรรม ๘ อารัพภวัตถุ ๘ อักขณเทสนา ๘ มหาปุริสวิตก ๘ อภิภายตนะ ๘ วิโมกข์ ๘ ธรรมอันเป็นมูลของโยนิโสมนสิการ ๙ องค์แห่งความเพียรอันบริสุทธิ์ ๙ สัตตาวาสเทสนา ๙ อาฆาตปฏิวินัย ๙ ปัญญา ๙ นานัตตธรรม ๙ อนุปุพพวิหาร ๙
               นาถกรณธรรม ๑๐ กสิณายตนะ ๑๐ กุศลกรรมบถ ๑๐ ตถาคตพละ ๑๐ สัมมัตตธรรม ๑๐ อริยวาสธรรม ๑๐ อเสขธรรม ๑๐ อานิสงส์เมตตา ๑๑ ธรรมจักรมีอาการ ๑๒ ธุดงคคุณ ๑๓ พุทธญาณ ๑๔ ธรรมเครื่องอบรมวิมุตติ ๑๕ อานาปานสติ ๑๖ พุทธธรรม ๑๘ ปัจจเวกขณญาณ ๑๙ ญาณวัตถุ ๔๔ กุศลธรรมเกิน ๕๐ ญาณวัตถุ ๗๗ สมาบัติ ๒๔ แสนโกฏิ สัญจาริตมหาวชิรญาณแล้ว เริ่มระลึกถึงคุณของพระทศพล.
               ก็พระสารีบุตรนั่งในที่พักกลางวันนั้นนั่นแล อาศัยธรรมอันเป็นเชื้อสายข้ออื่นอีก ๑๖ ข้อ ซึ่งจักมาต่อไปโดยพระบาลีว่า อปรํ ปน ภนฺเต เอตทานุตฺตริยํ จึงได้เริ่มระลึกถึงพระคุณของพระทศพล.
               พระสารีบุตรนั้นระลึกถึงพระคุณของพระทสพลอย่างนี้ว่า พระศาสดาของเราทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมในกุศลบัญญัติ ยอดเยี่ยมในอายตนบัญญัติ ยอดเยี่ยมในการก้าวลงสู่พระครรภ์ ยอดเยี่ยมในวิธีแสดงดักใจผู้ฟัง ยอดเยี่ยมในทัสสนสมบัติ ยอดเยี่ยมในบุคคลบัญญัติ ยอดเยี่ยมในปธาน ยอดเยี่ยมในปฏิทา ยอดเยี่ยมในภัสสมาจาร ยอดเยี่ยมในปุริสสีลสมาจาร ทรงยอดเยี่ยมในอนุสาสนีวิธี ยอดเยี่ยมในปรปุคคลวิมุตติญาณ ยอดเยี่ยมในปุพเพนิวาสญาณ ยอดเยี่ยมในทิพจักขุญาณ ยอดเยี่ยมในอิทธิวิธี ยอดเยี่ยมด้วยธรรมนี้ ดังนี้ ก็ไม่เห็นที่สุด ไม่เห็นประมาณแห่งพระคุณทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้.
               พระเถระไม่เห็นที่สุด ไม่เห็นประมาณแห่งคุณทั้งหลายของตนก่อน จักเห็นพระคุณทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้อย่างไร
               ก็ผู้ใดมีปัญญามากและมีญาณแข็งกล้า ผู้นั้นย่อมเชื่อพุทธคุณอย่างมาก.
               โลกิยมหาชน ไอก็ดี จามก็ดี ดำรงอยู่ในอุปนิสัยของตนๆ ย่อมระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายว่า ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย. พระโสดาบันคนเดียวย่อมเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าโลกิยมหาชนทั้งหมด. พระสกทาคามีคนเดียวเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระโสดาบันตั้งร้อยตั้งพัน. พระอนาคามีคนเดียวเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระสกทาคามีตั้งร้อยตั้งพัน. พระอรหันต์องค์เดียวเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระอนาคามีตั้งร้อยตั้งพัน. พระอสีติมหาเถระเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระอรหันต์ที่เหลือ. พระมหาเถระ ๔ รูปเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระอสีติมหาเถระ. พระอัครสาวกทั้งสองรูปเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระมหาเถระทั้ง ๔ รูป บรรดาพระอัครสาวกทั้งสองนั้น พระสารีบุตรเถระเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระโมคคัลลานะ. พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวก็เชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระสารีบุตรเถระ ก็ถ้าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายพึงนั่งเอาชายสังฆาฏิกระทบกับชายสังฆาฏิในห้องแห่งจักรวาฬทั้งสิ้น แล้วระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระสัพพัญญูพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นเชื่อในพระพุทธคุณมากกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงเหล่านั้น.
               มหาชนฟั่นเชือกทั้งหลายเพื่อต้องการรู้ว่า มหาสมุทรลึก-ตื้นเท่าไร ดังนี้ บรรดาชนเหล่านั้น บางคนฟั่นได้วาหนึ่ง บางคนฟั่นได้ ๒ วา ฯลฯ บางคน ๑๐ วา บางคน ๒๐ วา บางคน ๓๐ วา บางคน ๔๐ วา บางคน ๕๐ วา บางคน ๑๐๐ วา บางคนได้ ๑,๐๐๐ วา บางคนได้ ๘๔,๐๐๐ วา.
               ชนเหล่านั้นพากันลงเรือแล้ว ดำรงอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทรหรือบนภูเขาสูงเป็นต้นแล้ว หย่อนเชือกของตนๆ ลงไป บรรดาชนเหล่านั้น ผู้ใดมีเชือกยาววาหนึ่ง เขาก็รู้น้ำได้ในที่ประมาณวาหนึ่งเท่านั้น ฯลฯ ผู้ใดมีเชือกยาวถึง ๘๔,๐๐๐ วา ผู้นั้นย่อมรู้น้ำได้ ในที่ลึกประมาณ ๘๔,๐๐๐ วาเท่านั้น ต่อจากนั้นไป ย่อมไม่รู้ว่า น้ำในมหาสมุทรมีความลึกเท่านี้ ดังนี้.
               อนึ่ง น้ำในมหาสมุทร มิใช่มีประมาณเพียงเท่านั้น โดยที่แท้ย่อมมีมากหาที่สุดหาประมาณมิได้ เพราะมหาสมุทรมีความลึกถึง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด พึงทราบพระพุทธคุณที่โลกิยมหาชนเห็น เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษรู้ได้ด้วยเชือก พึงทราบพระพุทธคุณมีอุปไมยฉันนั้น คือ ตั้งแต่วาหนึ่งจนถึง ๙ วา. พึงทราบพระพุทธคุณที่โลกิยมหาชนเห็น เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษรู้ได้ด้วยเชือกตั้งแต่วาหนึ่งจนถึง ๙ วา. พึงทราบพระพุทธคุณที่พระโสดาบันเห็นได้ เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษรู้ได้ในที่ประมาณ ๑๐ วาด้วยเชือกยาว ๑๐ วา. พึงทราบพระพุทธคุณที่พระสกิทาคามีเห็นได้ เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษรู้ได้ในที่ลึก ๒๐ วาด้วยเชือกยาว ๒๐ วา. พึงทราบพระพุทธคุณที่พระอนาคามีเห็นได้เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษรู้ได้ในที่ลึก ๓๐ วาด้วยเชือกยาว ๓๐ วา. พึงทราบพระพุทธคุณที่พระอรหันต์เห็นได้ เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษเห็นได้ในที่ลึก ๔๐ วาด้วยเชือกยาว ๔๐ วา. พึงทราบพระพุทธคุณที่พระอสีติมหาเถระเห็นได้ เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษเห็นได้ในที่ลึก ๕๐ วาด้วยเชือกยาว ๕๐ วา. พึงทราบพระพุทธคุณที่พระมหาเถระ ๔ รูปเห็นได้ เปรียบเหมือนน้ำที่บุรุษเห็นได้ในที่ลึก ๑๐๐ วาด้วยเชือกยาว ๑๐๐ วา. พึงทราบพระพุทธคุณที่พระมหาโมคคัลลานะเห็นได้ เปรียบเหมือนน้ำที่บุรุษเห็นได้ ในที่ลึก ๑,๐๐๐ วาด้วยเชือกยาว ๑,๐๐๐ วา. พึงทราบพระพุทธคุณที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเห็นได้ เปรียบเหมือนน้ำที่บุรุษรู้ได้ในที่ลึกประมาณ ๘๔,๐๐๐ วาด้วยเชือกยาว ๘๔,๐๐๐ วา.
               ในบรรดาชนเหล่านั้น บุรุษคนใดย่อมถือเอาว่า น้ำในมหาสมุทรไม่มีเพียงเท่านี้ ย่อมหาที่สุดหาประมาณมิได้ฉันใด ท่านพระสารีบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดำรงอยู่ในสาวกบารมีญาณ ระลึกถึงพระคุณของพระทศพลโดยแนวแห่งธรรม คือโดยรู้ตามกันมา อนุมาน ถือเอาโดยนัย จึงเชื่อว่า พระพุทธคุณไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ดังนี้.
               ความจริง เฉพาะพระพุทธคุณที่บุคคลพึงถือเอาโดยแนวธรรม มีมากกว่าพระพุทธคุณที่พระเถระเห็นแล้ว.
               ท่านอธิบายว่า เหมือนอะไร.
               ท่านอธิบายไว้ว่า บุรุษคนหนึ่งพึงเอาบ่วงเข็มตักเอาน้ำจากแม่น้ำใหญ่ชื่อจันทรภาคา ซึ่งกำลังไหลท่วมสถานที่ถึง ๑๘ โยชน์ คือ ข้างนี้ ๙ โยชน์ ข้างโน้นอีก ๙ โยชน์ น้ำที่บุรุษมิได้ตักไปมีมากกว่าน้ำที่บุรุษเอาห่วงเข็มตัดไป ก็หรือบุรุษพึงเอานิ้วมือจับเอาฝุ่นจากแผ่นดินใหญ่ ฝุ่นที่เหลือนั้นแลมีมากกว่าฝุ่นที่บุรุษนั้นเอานิ้วมือจับได้มา ก็หรือบุรุษพึงชี้นิ้วไปยังมหาสมุทร น้ำที่เหลือนั้นแลมีมากกว่าน้ำตรงที่บุรุษชี้นิ้วไป และบุรุษพึงชี้นิ้วไปยังอากาศ ส่วนอากาศที่เหลือมีมากกว่าอากาศตรงที่บุรุษชี้นิ้วไป พระพุทธคุณทั้งหลายที่พระเถระไม่เห็นนั้นแล พึงทราบว่ามีมากกว่าพระพุทธคุณที่พระเถระได้เห็นแล้ว ฉันนั้น
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                     มาตรแม้นพระพุทธเจ้าไม่ตรัสคำอื่น พึงพรรณาเฉพาะ
                     พระพุทธคุณตลอดกัลป์ กัลป์พึงสิ้นไปในระหว่างเวลา
                     ยืดยาวนาน แต่พระคุณของพระตถาคตหาสิ้นไปไม่ ดังนี้.

               เมื่อพระเถระระลึกถึงคุณของตน และพระคุณของพระศาสดาอยู่อย่างนี้ ปีติและโสมนัสท่วมทับที่ในภายใน เหมือนห้วงน้ำใหญ่ไหลท่วมแม่น้ำใหญ่สองสาย ยังสรีระทุกส่วนให้เต็มเปี่ยม เหมือนลมทำให้ถุงลมเต็มเปี่ยม (และ) เหมือนสายน้ำที่ไหลแยกพุ่งขึ้น ยังห้วงน้ำใหญ่ให้เต็ม ฉะนั้น.
               ลำดับนั้น พระเถระคิดว่า เราผู้ได้บวชในสำนักของพระศาสดาเช่นนี้ นับว่าได้ตั้งความปรารถนาไว้ดีแล้วและการบวชเราได้ดีแล้ว. ปีติและโสมนัสอันมีกำลังมากได้เกิดแก่พระเถระผู้กำลังคิดอยู่อย่างนี้.
               ทีนั้น พระเถระคิดว่า เราควรบอกปีติและโสมนัสนี้แก่ใครหนอดังนี้ แล้วคิดอีกว่า สมณะหรือพราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหมบางคน ไม่สามารถที่จะรับเอาความเลื่อมใสของเรานี้ทำให้เหมาะสมได้ เราจักกราบทูลความโสมนัสนี้แด่พระศาสดาเท่านั้น.
               พระศาสดาเท่านั้นที่จักสามารถรับเอาความโสมนัสของเราได้ ปีติโสมนัสของเรานั้นจงยกไว้ก่อน เมื่อสมณะเช่นเราร้อยหนึ่งก็ดี พันหนึ่งก็ดี แสนหนึ่งก็ดี ประกาศความโสมนัสอยู่ พระศาสดาของเราครองใจคนทั้งปวง ก็ทรงสามารถที่จะรับปีติโสมนัสนั้นได้ เหมือนบึงหรือซอกเขาไม่สามารถที่จะรับแม่น้ำใหญ่ ชื่อจันทรภาคา ซึ่งกำลังไหลบ่าท่วมไปถึง ๑๘ โยชน์ได้ มหาสมุทรเท่านั้นที่จะรับน้ำนั้นได้ แม่น้ำใหญ่ชื่อจันทรภาคาจงยกไว้ก่อน แม่น้ำเห็นปานนี้ร้อยหนึ่งก็ดี พันหนึ่งก็ดี แสนหนึ่งก็ดี มหาสมุทรย่อมรับไว้ได้หมด ความพร่องหรือความเต็มด้วยน้ำนั้นของมหาสมุทรนั้น หาปรากฏไม่ฉันใด พระศาสดาของเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อพระสมณะเช่นเราร้อยหนึ่งก็ดี พันหนึ่งก็ดี แสนหนึ่งก็ดี กำลังประกาศปีติโสมนัสอยู่ ทรงครองใจคนทั้งปวงสามารถที่จะรับไว้ได้ สมณะพราหมณ์เป็นต้นที่เหลือย่อมไม่สามารถเพื่อจะรับโสมนัสของเราไว้ได้ เหมือนบึงและซอกเขาไม่สามารถที่จะรับแม่น้ำใหญ่ ชื่อจันทรภาคาไว้ได้ฉะนั้น.
               อย่ากระนั้นเลย เราจะกราบทูลปีติโสมนัสของเราแก่พระศาสดาเท่านั้นดังนี้แล้ว จึงเลิกนั่งคู้บัลลังก์สะบัดแผ่นหนังถือเข้าไปเฝ้าพระศาสดาในเวลาเย็น อันเป็นเวลาที่ดอกไม้หลุดจากขั้วหล่นลงมา เมื่อจะประกาศโสมนัสของตนจึงทูลว่า เอวํ ปสนฺโน อหํ ภนฺเต ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านี้ บทว่า เอวํ ปสนฺโน ความว่า มีความเชื่อเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้. อธิบายว่า ข้าพระองค์เชื่ออย่างนี้.
               บทว่า ภิยฺโยภิญฺญตโร ความว่า รู้ยิ่งกว่าหรือผู้มีความรู้ยิ่งไปกว่า. อธิบายว่า ผู้มีญาณยิ่งกว่า.
               บทว่า สมฺโพธิยํ ความว่า ในสัพพัญญุตญาณหรือในอรหัตตมรรคญาณ. ด้วยว่า พุทธคุณทั้งหลายมิได้มีส่วนหนึ่งต่างหาก ท่านถือเอาด้วยอรหัตตมรรคนั่นเอง.
               ความจริง พระอัครสาวกทั้งสองย่อมได้เฉพาะสาวกบารมีญาณด้วยอรหัตตมรรคนั่นเอง. พระปัจเจกพุทธเจ้าย่อมได้ปัจเจกโพธิญาณ และพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมได้ทั้งพระสัพพัญญุตญาณและพระพุทธคุณทั้งสิ้น.
               ความจริง เพราะพระสัพพัญญุตญาณเป็นต้นนั้นย่อมสำเร็จแก่ท่านเหล่านั้น ด้วยอรหัตตมรรคนั้นเอง. ฉะนั้น อรหัตตมรรคญาณจึงชื่อว่าสัมโพธิ. บุคคลผู้ยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยอรหัตตมรรคนั้นหามีไม่. ด้วยเหตุนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงทูลว่า ภควตา ภิยฺโยภิญฺญตโร ยทิทํ สมฺโพธิยํ ดังนี้.
               บทว่า อฺฬารา คือ ประเสริฐ. ความจริง อุฬารศัพท์นี้มาในอรรถว่าอร่อย ในประโยคเป็นต้นว่า ย่อมเคี้ยวกินของเคี้ยวอันอร่อย.๑-
               มาในอรรถว่าประเสริฐ ในประโยคว่า นัยว่า ท่านวัจฉายนะย่อมสรรเสริญพระสมณโคดมด้วยคำสรรเสริญอันประเสริฐ.๒-
               มาในอรรถว่าไพบูลย์ ในประโยคเป็นต้นว่า รัศมีอันไพบูลย์หาประมาณมิได้๓- ดังนี้.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๔๐๗   ๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๒๙
๓- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๖๗๒

               ในบาลีประเทศนี้ อุฬารศัพท์นั้นมาในอรรถว่าประเสริฐ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บทว่า อุฬารา แปลว่า ประเสริฐ.
               บทว่า อาสภิ ความว่า เป็นวาจาไม่หวั่นไหว ไม่สั่นคลอน เช่นกับวาจาของผู้องอาจ.
               บทว่า เอกํโส คหิโต ความว่า ถือเอาส่วนเดียวเหมือนรู้สึกซึ้งด้วยญาณโดยประจักษ์ ไม่กล่าวเพราะฟังตามกันมา เพราะเชื่อตามอาจารย์ เพราะเชื่อข่าวลือ เพราะอ้างตำรา เพราะตรึกตามอาการ เพราะชอบใจว่าถูกต้องกับความเห็นของตน เพราะเหตุแห่งการเดาเอาเอง หรือเพราะเหตุแห่งการคาดคะเน. อธิบายว่า ท่านถือเอาสันนิฏฐานกถาอย่างเดียว.
               บทว่า สีหนาโท คือ การบันลืออย่างประเสริฐ. อธิบายว่า บันลือเสียงสูงเหมือนราชสีห์ มิใช่เปล่งเสียงช้าๆ มิใช่เปล่งเสียงเหมือนเครื่องสูบ.
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มเทศนานี้ว่า กินฺนุ เต สาริปุตฺ ดังนี้.
               ตอบว่า เพื่อให้ท่านยอมให้ซักถามได้ เพราะบุคคลบางคนบันลือสีหนาทแล้วไม่อาจที่จะตอบคำซักถามได้ ในการบันลือของตนทั้งทนการเสียดสีไม่ได้ ย่อมเป็นเหมือนลิงที่ติดตังฉะนั้น. ถ่านเพลิงที่เผาไหม้สำหรับช่างทองใช้เผาโลหะที่ไม่บริสุทธิ์ฉันใด บุคคลนั้นก็เป็นเหมือนถ่านเพลิงที่เผาไหม้ฉันนั้น. บุคคลบางคนเมื่อถูกซักถามในสีหนาท ย่อมสามารถที่จะตอบได้ ทั้งทนต่อการเสียดสีได้ ย่อมงามยิ่ง เหมือนทองคำไม่มีโทษ (บริสุทธิ์) ของช่างทองฉะนั้น พระเถระเป็นเช่นนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบพระเถระนั้นว่า พระสารีบุตรนี้ควรแก่การซักถามได้ จึงทรงเริ่มเทศนาแม้นี้ เพื่อจะให้ท่านยอมให้ซักถามได้ในการบันลือสีหนาท.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺเพ เต ความว่า พระพุทธเจ้าทั้งหมดเหล่านั้น เธอกำหนดรู้แล้ว. ในคำเป็นต้นว่า เอวํสีลา ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสถามศีลเป็นต้น ด้วยอำนาจศีลทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ. คำเหล่านั้นได้กล่าวพิสดารไว้แล้วในมหาปทาน.
               ด้วยคำว่า กึ ปน เต สารีปุตฺต เย เต ภวิสฺสนฺติ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะตรัสถามว่า ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งมีในอดีตดับไปก่อนแล้ว คือถึงความเป็นผู้หาบัญญัติไม่ได้ ได้แก่ดับไปเหมือนเปลวประทีปฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าดับไป คือถึงความเป็นผู้หาบัญญัติมิได้อย่างนี้ เธอจักรู้ได้อย่างไร ก็คุณของพระพุทธเจ้าในอนาคต เธอกำหนดรู้ได้ด้วยจิตของตนอย่างไร ดังนี้ จึงตรัสอย่างนี้.
               ด้วยคำว่า กึ ปน เต สารีปุตฺต อหํ เอตรหิ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงซักถามว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายแม้ยังไม่มาถึง คือยังไม่ประสูติ ยังไม่เกิด ยังไม่อุบัติขึ้น เธอจักรู้พระพุทธเจ้าเหล่านั้นได้อย่างไร เพราะการรู้พระพุทธเจ้าเหล่านั้นย่อมเป็นเหมือนการดูรอยเท้าในอากาศ ซึ่งไม่มีรอยเท้าเลยฉะนั้น. บัดนี้ เธออยู่ในวิหารหลังเดียวกันกับเรา เที่ยวภิกขาจารร่วมกัน ในเวลาแสดงธรรม เธอก็นั่งอยู่ที่ข้างเบื้องขวา (ของเรา) ก็คุณทั้งหลายของเรา เธอกำหนดรู้ด้วยใจของตนแล้วหรือ ดังนี้แล้ว จึงตรัสอย่างนี้.
               ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามแล้วๆ พระเถระจึงกราบทูลปฏิเสธว่า ข้อนั้นหาเป็นเช่นนั้นไม่ พระเจ้าข้า ดังนี้.
               ถามว่า ก็สิ่งที่พระเถระรู้ก็มีอยู่บ้าง สิ่งที่พระเถระไม่รู้ก็มีอยู่บ้าง พระเถระนั้นย่อมทำการโต้แย้งในที่ๆ ตนรู้ และในที่ๆ ตนไม่รู้อย่างไร.
               ตอบว่า ในสิ่งที่ตนรู้ พระเถระไม่โต้แย้ง ในสิ่งที่ตนไม่รู้ พระเถระจึงโต้แย้ง.
               ได้ยินว่า เมื่อเริ่มการซักถามนั่นแหละ พระเถระได้รู้ว่า นี้ไม่เป็นการซักถามในสาวกบารมีญาณ นี้เป็นการซักถามในพระสัพพัญญุตญาณ ดังนี้. พระเถระไม่ทำการโต้แย้งในสาวกบารมีญาณของตน ย่อมทำการโต้แย้งในพระสัพพัญญุตญาณ อันเป็นฐานะที่ตนไม่รู้.
               ด้วยเหตุนี้ พระสารีบุตรจึงแสดงความข้อนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระสัพพัญญุตญาณอันสามารถในการรู้เหตุแห่งศีล สมาธิ ปัญญาและวิมุตติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในอดีต อนาคตและปัจจุบันของข้าพระองค์ หามีไม่ ดังนี้.
               บทว่า เอตฺถ ได้แก่ ในบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่แตกต่างกัน มีพระพุทธเจ้าในอดีตเป็นต้นเหล่านั้น. ด้วยบทว่า อถ กิญฺจรหิ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อญาณอย่างนี้ไม่มี เพราะเหตุไรเล่า เธอจึงกล่าวคำอย่างนี้ดังนี้.
               บทว่า ธมฺมนฺวโย ได้แก่ อนุมานญาณแห่งธรรม คือความรู้โดยประจักษ์แก่ธรรมอันเกิดขึ้นคล้อยตามการซักถาม คือการถือเอาโดยนัยอันข้าพระองค์ทราบแล้ว. เพราะดำรงอยู่ในสาวกบารมีญาณเท่านั้น พระเถระจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ทราบโดยอาการนี้เท่านั้น.
               ความจริง การถือเอานัยของพระเถระหาประมาณมิได้ และหาที่สุดมิได้. ประมาณหรือที่สุดของพระสัพพัญญูตญาณไม่มี ฉันใด การถือเอานัยของพระธรรมเสนาบดีก็ไม่มีที่สุด หรือประมาณ ฉันนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระเถระย่อมรู้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นอย่างนี้ด้วยวิธีนี้ เป็นศาสดายอดเยี่ยมโดยวิธีนี้. แท้จริง การถือเอานัยของพระเถระ ก็เป็นไปตามแนวแห่งพระสัพพัญญุตญาณนั่นเอง. บัดนี้ พระเถระเมื่อจะแสดงข้ออุปมา เพื่อจะทำการถือเอานัยนั้นให้ปรากฏชัด จึงกราบทูลว่า เสยฺยถาปิ ภนฺเต ดังนี้เป็นต้น.
               ในคำว่า เสยฺยถาปิ ภนฺเต นั้น มีวินิจฉัยว่า เชิงเทินและกำแพงอันแข็งแรงเป็นต้นของพระนครในมัชฌิมประเทศ จะเป็นของมั่นคงก็ตาม ไม่มั่นคงก็ตาม ก็หรือว่าไม่มีโดยประการทั้งปวง ความระแวงภัยจากพวกโจรก็ไม่มี ฉะนั้น พระเถระไม่ถือเอามัชฌิมประเทศนั้นจึงทูลว่า ปจฺจนฺติมํ นครํ ดังนี้.
               บทว่า ทฬฺหุทฺทาปํ ได้แก่ มีเชิงกำแพงมั่นคง.
               บทว่า ทฬฺหปาการโตรฌํ คือ มีกำแพงมั่นคง และมีเสาค่ายต้นหลังมั่นคง.
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระเถระจึงกล่าวว่า เอกทฺวารํ ดังนี้.
               ตอบว่า เพราะในพระนครที่มีมากประตู ต้องมีคนรักษาประตูที่ฉลาดมากในพระนครที่มีประตูเดียว ก็สมควรมีคนรักษาประตูเพียงคนเดียว.
               อนึ่ง ไม่มีใครอื่นจะเท่าเทียมปัญญาของพระเถระได้ ฉะนั้น เพื่อจะแสดงคนรักษาประตูคนเดียวเท่านั้น เพื่อเปรียบเทียบความเป็นบัณฑิตของตน พระเถระจึงกล่าวว่า เอกทฺวารํ ดังนี้.
               บทว่า ปณฺฑิโต ได้แก่ ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิต.
               บทว่า พฺยตฺโต คือ ประกอบด้วยความเฉียบแหลม หรือเป็นผู้มีญาณแก่กล้า.
               บทว่า เมธาวี คือประกอบด้วยเมธา คือปัญญาที่เกิดขึ้นตามฐานะ.
               บทว่า อนุปริยายปถํ ได้แก่ ทางกำแพงอันได้นามว่าอนุปริยาย (เวียนรอบไปมาได้).
               บทว่า ปาการสนฺธึ ได้แก่ ที่อันไม่มีอิฐสองก้อนเชื่อมอยู่.
               บทว่า ปาการวิวรํ คือ รอยทะลุของกำแพง.
               บทว่า เจตโส อุปกฺกิเลเส ความว่า นิวรณ์ทั้งห้าย่อมยังจิตให้เศร้าหมอง คือย่อมทำจิตให้หม่นหมองให้เร่าร้อน ได้แก่ย่อมเบียดเบียนจิต ฉะนั้น นิวรณ์ห้านั้นท่านจึงเรียกว่า ความเศร้าหมองแห่งใจ.
               บทว่า ปญฺญาย ทุพฺพลีกรเณ ความว่า นิวรณ์ทั้งหลาย เมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมไม่ให้เพื่อจะให้ปัญญาที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นได้ ทั้งไม่ยอมให้ปัญญาที่เกิดขึ้นแล้วเจริญได้ ฉะนั้น นิวรณ์เหล่านี้ ท่านจึงเรียกว่าเป็นเครื่องทำปัญญาให้ทรามกำลัง.
               บทว่า สุปฏฺฐิตจิตฺตา ความว่า เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นไว้ดีในสติปัฏฐาน ๔.
               บทว่า สตฺต โพชฺฌงฺเค ยถาภูตํ ความว่า เจริญโพชฌงค์ทั้ง ๗ ตามสภาพ.
               ด้วยบทว่า อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺโพธึ พระเถระย่อมแสดงว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงแทงตลอดพระอรหัตต์หรือพระสัพพัญญุตญาณ.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า สติปัฏฐาน ในที่นี้ ได้แก่วิปัสสนา. โพชฌงค์ ได้แก่มรรค. อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้แก่พระอรหัตต์.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า สติปัฏฐาน ได้แก่วิปัสสนา. สัมมาสัมโพธิญาณอันเจือด้วยโพชฌงค์ ได้แก่พระอรหัตต์นั่นเอง.
               ก็พระมหาสิวเถระผู้กล่าวทีฆนิกายกล่าวไว้ว่า เมื่อท่านถือเอาสติปัฏฐานว่าเป็นวิปัสสนา แล้วถือเอาโพชฌงค์ว่าเป็นมรรค และเป็นพระสัพพัญญุตญาณ แล้วพึงมีปัญหาที่ดี แต่ข้อนี้ท่านมิได้ถือเอาอย่างนี้ดังนี้. พระเถระได้แสดงความแตกต่างกันในท่ามกลางในการละนิวรณ์ ในการเจริญสติปัฏฐาน และในสัมโพธิญาณของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลาย เหมือนแสดงทองและเงินแตกต่างกันฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้. บัณฑิตดำรงอยู่ในที่นี่พึงเทียบเคียงอุปมา.
               ความจริง ท่านพระสารีบุตรเถระแสดงปัจจันตนคร ๑ แสดงกำแพง ๑ ทางเดินรอบกำแพง ๑ แสดงประตู ๑ แสดงคนเฝ้าประตู ซึ่งเป็นคนฉลาด ๑ แสดงสัตว์ใหญ่ ซึ่งเข้าออกในพระนคร ๑ แสดงความปรากฏแห่งสัตว์เหล่านั้นแก่นายประตูนั้น ๑.
               ในข้ออุปมานี้ หากมีคำถามว่า อะไรเหมือนกับอะไร ดังนี้.
               พึงตอบว่า ก็พระนิพพานเหมือนพระนคร ศีลเหมือนกำแพง หิริเหมือนทางเดินรอบกำแพง อริยมรรคเหมือนประตู พระธรรมเสนาบดีเหมือนคนเฝ้าประตูที่ฉลาด พระพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งอุบัติขึ้นในอดีตอนาคตและปัจจุบัน เหมือนสัตว์ใหญ่ที่เข้าออกในพระนคร ความปรากฏด้วยศีลและสมถะเป็นต้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งในอดีตอนาคตและปัจจุบันแก่พระสารีบุตร เหมือนกับความปรากฏแห่งสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นแก่นายประตูนั้น.
               ถ้อยคำมีประมาณเท่านี้เป็นอันพระเถระตอบการซักถามแห่งสีหนาทของตนว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ดำรงอยู่ในสาวกบารมีญาณอย่างนี้ ย่อมรู้ได้โดยอาการอันเป็นแนวธรรม โดยถือเอานัย ดังนี้.
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระเถระจึงเริ่มธรรมเทศนานี้ว่า อิธาหํ ภนฺเต เยน ภควา ดังนี้.
               ตอบว่า เพื่อแสดงความสำเร็จแห่งสาวกบารมีญาณ.
               ก็ในเรื่องนี้ มีอธิบายดังนี้
               ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์เมื่อได้สาวกบารมีญาณ ได้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แม้บางคนอื่นในบรรดานักบวชนอกศาสนาทั้ง ๙๕ คนแล้ว จึงได้สาวกบารมีญาณก็หามิได้ ข้าพระองค์เข้าไปหาพระองค์เท่านั้น เข้าไปนั่งใกล้พระองค์เท่านั้นจึงได้.
               ในบรรดาบทเหล่านั้น คำว่า อิธ เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า อุปสงฺกมึ ธมฺมสฺสวนาย ความว่า อีกอย่างหนึ่ง ข้าพระองค์เมื่อเข้าไปเฝ้าพระองค์นั้น มิได้เข้าไปเฝ้าเพราะเหตุแห่งปัจจัยมีจีวรเป็นต้น แต่เข้าไปเฝ้าเพื่อฟังธรรม ไปเฝ้าอย่างนี้แล้วจึงได้สาวกบารมีญาณ.
               ถามว่า พระเถระเข้าไปเฝ้าเพื่อฟังธรรม ในกาลไร จึงได้สาวกบารมีญาณ.
               ตอบว่า พระเถระเข้าไปเฝ้าในวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเวทนาปริคหสูตรแก่ทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลานที่ถ้ำสุกรขาตา จึงได้สาวกบารมีญาณในเวลานั้น. ความจริง ในวันนั้น พระเถระถือพัดใบตาลยืนพัดพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ฟังเทศนานั้นแล้วได้ทำสาวกบารมีญาณให้ตกอยู่ในเงื้อมมือในที่นั้นนั่นเอง.
               บทว่า อุตฺตรุตฺตรํ ปณีตปฺปณีตํ ความว่า พระองค์ทรงแสดงอย่างยอดเยี่ยม และอย่างประณีตยิ่งนัก.
               บทว่า กณฺหสุกฺกํ สปฺปฏิภาคํ ความว่า พระองค์ทรงแสดงทั้งฝ่ายดำและฝ่ายขาว และทรงแสดงธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาวนั้นให้เป็นปฏิภาคต่อกัน คือให้เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน พระองค์ทรงแสดงธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาวให้เป็นปฏิภาคกันอย่างนี้ คือทรงห้ามธรรมฝ่ายดำแสดงฝ่ายขาว และห้ามฝ่ายขาวแสดงฝ่ายดำ.
               อีกอย่างหนึ่ง พระองค์เมื่อทรงแสดงธรรมฝ่ายดำ ก็ทรงแสดงพร้อมกับความอุตสาหะพร้อมกับวิบาก. เมื่อทรงแสดงธรรมฝ่ายขาว ก็ทรงแสดงพร้อมกับอุตสาหะพร้อมกับวิบาก.
               ในหลายบทนี้ว่า ตสฺมึ ธมฺเม อภิญฺญา อิเธกจฺจํ ธมฺมํ ธมฺเมสุ นิฏฺฐมคมํ ความว่า เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมนั้นแล้ว ข้าพระองค์ได้รู้สาวกบารมีญาณอันจัดเป็นธรรมบางส่วน ได้ถึงความสำเร็จในธรรมทั้งหลาย.
               ถามว่า ในธรรมเหล่าไหน.
               ตอบว่า ในสัจจธรรม ๔ ประการ.
               ในเรื่องนี้ มีการเจรจาของพระเถระดังต่อไปนี้.
               พระสุมนเถระผู้อยู่ในกาฬวัลลวิหาร กล่าวไว้ก่อนว่า บัดนี้ ไม่มีเหตุแห่งการถึงความสำเร็จในสัจจธรรม ๔. ความจริง ในวันที่พบพระอัสสชิมหาเถระนั่นเอง ท่านพระสารีบุตรนั้นได้ถึงความสำเร็จในสัจจธรรม ๔ ด้วยมรรคที่ ๑ (โสดาปัตติมรรค) ในเวลาต่อมาได้ถึงความสำเร็จในสัจจธรรมทั้ง ๔ ด้วยมรรค ๓ เบื้องสูงที่ประตูถ้ำสุกรขาตา แต่ในที่นี้ ท่านได้ถึงความสำเร็จในพระพุทธคุณทั้งหลาย ชื่อว่าสำเร็จในธรรมทั้งหลาย.
               ส่วนพระจูฬสิวเถระผู้อยู่ในโลกันตรวิหาร กล่าวคำทั้งหมดเช่นเดียวกันนั้นเอง แล้วกล่าวอีกว่า ก็ในที่นี้ พระเถระได้ถึงความสำเร็จในพระอรหัตต์ ชื่อว่าสำเร็จในธรรมทั้งหลาย.
               ส่วนพระมหาสิวเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกผู้กล่าวทีฆนิกาย กล่าวคำตอนต้นเช่นเดียวกันแล้วกล่าวว่า ก็ในที่นี้ พระเถระได้ถึงความสำเร็จในสาวกบารมีญาณ ชื่อว่าสำเร็จในธรรมทั้งหลาย ดังนี้แล้ว กล่าวอีกว่า ก็พระพุทธคุณทั้งหลายมาแล้วโดยนัย ดังนี้.
               บทว่า สตฺถริ ปสีทึ ความว่า ข้าพระองค์นั้นได้ถึงความสำเร็จในธรรม คือสาวกบารมีญาณอย่างนี้แล้ว ได้มีความเลื่อมใสในพระศาสดาโดยประมาณอย่างยิ่งว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบหนอ ดังนี้.
               บทว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม คือ มรรคอันเป็นนิยานิกธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว คือทรงกล่าวไว้ดีแล้ว ย่อมนำออกไปเพื่อให้บรรลุอริยผล สามารถบรรเทาราคะโทสะและโมหะได้.
               สองบทว่า สุปฏิปนฺโน สงฺโฆ คือ พระเถระย่อมแสดงว่า ข้าพระองค์มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า แม้พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว เพราะปฏิบัติสัมมาปฏิปทา ซึ่งเว้นจากโทษมีความคดโกงเป็นต้น ดังนี้.

               กุสลธมฺมเทสนาวณฺณนา               
               บัดนี้ พระเถระนั่งในที่พักกลางวันแล้ว เพื่อจะแสดงธรรมซึ่งเป็นประเพณีข้ออื่นอีก ๑๖ ข้อที่ตนบรรลุพร้อมแล้ว จึงได้เริ่มเทศนานี้ว่า อปรํ ปน ภนฺเต เอตทานุตฺตริยํ เป็นต้น.
               ในบรรดาคำเหล่านั้น ความเป็นผู้ยอดเยี่ยม ชื่อว่า อนุตตริยะ.
               ด้วยคำว่า ยถา ภควา ธมฺมํ เทเสติ นี้ พระเถระย่อมทูลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโดยประการใด คือโดยอาการเช่นไร ด้วยเทศนาเช่นใด เทศนาของพระองค์นั้น จัดเป็นเทศนาที่ยอดเยี่ยม.
               ด้วยคำว่า กุสเลสุ ธมฺเมสุ พระเถระย่อมแสดงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยม แม้ในกุศลธรรมทั้งหลายที่พระองค์ทรงแสดงแล้วด้วยเทศนานั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง พระเถระแม้เมื่อจะแสดงภูมิของเทศนานั้น จึงทูลว่า กุสเลสุ ธมฺเมสุ ดังนี้.
               บทว่า ตตฺรีเม กุสลา ธมฺมา ความว่า ในบทที่กล่าวว่า กุสเลสุ ธมฺเมสุ นั้น พึงทราบธรรมที่จัดเป็นกุศลธรรมเหล่านี้.
               ในคำว่า กุสเลสุ ธมฺเมสุ นั้น พึงเข้าใจกุศลธรรมโดยส่วน ๕ คือโดยอรรถว่าไม่มีโรค โดยอรรถว่าไม่มีโทษ โดยอรรถว่าเป็นบ่อเกิดแห่งความฉลาด โดยอรรถว่าหมดความกระวนกระวาย และโดยอรรถว่ามีสุขเป็นผล.
               ในอรรถเหล่านั้น กุศลควรมีอรรถว่าไม่มีโรค เพราะถือตามแนวชาดก. กุศลควรมีอรรถว่าไม่มีโทษ เพราะถือตามแนวพระสูตร. กุศลควรมีอรรถว่าเป็นบ่อเกิดแห่งความฉลาด หมดความกระวนกระวาย และมีสุขเป็นผล เพราะถือตามแนวพระอภิธรรม.
               แต่ในที่นี้พึงเห็นเป็นกุศล โดยอรรถว่าไม่มีโทษตามแนวแห่งพาหิยสูตร.๑-
____________________________
๑- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๕๔๙

               บทว่า จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกออกโดยนัยต่างๆ แล้ว ทรงแสดงสติปัฏฐาน ๔ ประการซึ่งเจือปนกันทั้งฝ่ายโลกิยะและโลกุตตระ ด้วยอำนาจแห่งสมถะวิปัสสนาและมรรคอย่างนี้ว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานโดย ๑๔ วิธี เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๙ วิธี จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑๖ วิธี ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๕ วิธี.
               แต่ในที่นี้ไม่ประสงค์เอาสติปัฏฐานฝ่ายผล.
               บทว่า จตฺตาโร สมฺมปฺปธานา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสัมมัปปธานไว้ ๔ ประการซึ่งมีลักษณะอย่างเดียวกัน อรรถว่าเป็นเครื่องประคองจิต มีกิจต่างกันด้วยอำนาจกิจ ซึ่งเจือปนกันทั้งฝ่ายโลกิยะและฝ่ายโลกุตตระ ด้วยอำนาจแห่งสมถะวิปัสสนาและมรรค โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุในศาสนานี้ย่อมปรารภความเพียรเพื่อความไม่เกิดแห่งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น.๒-
____________________________
๒- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๔๖๕

               บทว่า จตฺตาโร อิทฺธิปาทา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอิทธิบาท ๔ ซึ่งรวมอยู่หมวดเดียวกัน โดยอรรถว่าเป็นเครื่องสำเร็จ มีสภาวะต่างกันด้วยอำนาจสภาพมีความพอใจเป็นต้น ซึ่งเจือกันทั้งฝ่ายโลกิยะและฝ่ายโลกุตตระ ด้วยอำนาจแห่งสมถะวิปัสสนาและมรรค โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุในศาสนานี้ย่อมเจริญอิทธิบาท ซึ่งประกอบด้วยความพอใจ ความตั้งใจมั่น ความเพียรและการปรุงแต่ง๓- ดังนี้.
____________________________
๓- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๖๘๒   อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๕๐๕

               บทว่า ปญฺจินฺทฺริยานิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอินทรีย์ ๕ มีศรัทธินทรีย์เป็นต้น ซึ่งมีลักษณะอย่างเดียวกัน ด้วยอรรถว่าเป็นใหญ่ มีสภาพต่างกันด้วยอำนาจสภาพน้อมใจเชื่อเป็นอาทิ ซึ่งเจือกันทั้งฝ่ายโลกิยะและฝ่ายโลกุตระ ด้วยสามารถแห่งสมถะวิปัสสนาและมรรค.
               บทว่า ปญฺจ พลานิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพละไว้ ๕ ประการมีศรัทธาเป็นต้น ซึ่งรวมอยู่ในหมวดเดียวกัน ด้วยอรรถว่าเป็นเครื่องอุปถัมภ์ หรือด้วยอรรถว่าไม่หวั่นไหว มีสภาพต่างกันตามลักษณะของตน ซึ่งเจือกันทั้งฝ่ายโลกิยะและฝ่ายโลกุตระ ด้วยสามารถแห่งสมถะวิปัสสนาและมรรค.
               บทว่า สตฺต โพชฺฌงฺคา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโพชฌงค์ไว้ ๗ ประการ รวมอยู่ในหมวดเดียวกัน ด้วยอรรถว่าเป็นเครื่องนำออก มีสภาพต่างกันตามลักษณะของตนมีความปรากฏเป็นต้น ซึ่งเจือกันทั้งฝ่ายโลกิยะและฝ่ายโลกุตตระ ด้วยอำนาจแห่งสมถะวิปัสสนาและมรรคนั้นแล.
               บทว่า อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐ ซึ่งรวมอยู่ในหมวดเดียวกัน ด้วยอรรถว่าเป็นตัวเหตุ และมีภาพต่างๆ กันตามลักษณะของตนมีการเห็นเป็นอาทิ เจือกันทั้งฝ่ายโลกิยะและฝ่ายโลกุตตระ ด้วยอำนาจแห่งสมถะวิปัสสนาและมรรคนั้นแล.
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระเถระจึงเริ่มคำนี้ว่า อิธ ภนฺเต ภิกฺขุ อาสวานํ ขยา ดังนี้.
               ตอบว่า เพื่อแสดงที่สุดของพระศาสนา.
               ความจริง ที่สุดของพระศาสนาหามีด้วยมรรคอย่างเดียวเท่านั้นไม่ ย่อมมีแม้ด้วยพระอรหัตตผล ฉะนั้น พึงทราบว่า พระเถระเริ่มคำนี้ ก็เพื่อจะแสดงที่สุดของพระศาสนานั้น.
               หลายบทว่า เอตทานุตฺตริยํ ภนฺเต กุสเลสุ ธมฺเมสุ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การแสดงอย่างนี้นั้นจัดเป็นข้อธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายกุศลธรรมทั้งหลาย.
               บทว่า ตํ ภควา คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบชัดเทศนานั้นทั้งสิ้นไม่มีเหลือ.
               บทว่า ตํ ภควโต ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบชัดเทศนานั้นโดยไม่เหลือ.
               บทว่า อุตฺตริอภิญฺเญยฺยํ นตฺถิ ความว่า ข้อธรรมที่จะพึงรู้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ หามีไม่ คือคำนี้ว่า ธรรมหรือบุคคลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทราบนอกจากนี้ชื่อนี้ ย่อมไม่มี.
               บทว่า ยทภิชานํ อญฺโญ สมโณ วา ความว่า สมณะหรือพราหมณ์อื่นรู้สิ่งที่พระองค์ไม่ทรงรู้ พึงเป็นผู้มีความรู้ยิ่งกว่า คือมีปัญญายิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               คำว่า ยทิทํ ในบทว่า ยทิทํ กุสเลสุ ธมฺเมสุ นี้เป็นเพียงนิบาต.
               ในข้อนี้ มีคำอธิบายดังนี้ว่า
               สมณะหรือพราหมณ์ที่ยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ในฝ่ายกุศลธรรมย่อมไม่มี.
               พระสารีบุตรเมื่อจะแสดงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมในกุศลธรรมทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้ ดังนี้แล้ว ย่อมแสดงว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ ด้วยเหตุแม้นี้ ดังนี้.
               ในคำว่า อปรํ ปน เป็นต้น นอกจากนี้ เราจะพรรณนาเพียงข้อที่แตกต่างกันเท่านั้น. ส่วนคำที่เหมือนกับวาระข้างต้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วแล.

               อายตนปณฺณตฺติเทสนาวณฺณนา               
               บทว่า อายตนปณฺณตฺตีสุ คือ ในการบัญญัติอายตนะ.
               บัดนี้ เมื่อจะแสดงอายตนบัญญัติทั้งหลายเหล่านั้น พระสารีบุตรเถระจึงทูลว่า ฉยิมานิ ภนฺเต ดังนี้เป็นต้น. ก็กถาว่าด้วยอายตนะนี้ ท่านกล่าวไว้อย่างพิสดารในปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรค ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักไม่พรรณนาอายตนะนั้นให้พิสดาร เพราะฉะนั้น พึงทราบอายตนกถานั้นอย่างพิสดาร โดยนัยได้กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรคนั้นเถิด.
               บทว่า เอตทานุตฺตริยํ ภนฺเต อายตนปณฺณตฺตีสุ คือ การแสดงอย่างนี้ด้วยอำนาจการกำหนดเป็นอายตนภายในและภายนอกเป็นต้นนี้ จัดเป็นข้อธรรมที่เยี่ยมในอายตนบัญญัตินี้. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล.

               คพฺภาวกฺกนฺติเทสนาวณฺณนา               
               บทว่า คพฺภาวกฺกนฺตีสุ คือ ในการก้าวลงสู่ครรภ์.
               พระสารีบุตรเถระ เมื่อจะแสดงการก้าวลงสู่ครรภ์เหล่านั้น จึงกราบทูลว่า จตสฺโส อิมา ภนฺเต ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสมฺปชาโน คือ ไม่รู้ ได้แก่หลงพร้อม.
               บทว่า มาตุ กุจฺฉึ โอกฺกมติ คือ ย่อมเข้าไปสู่ครรภ์ด้วยอำนาจปฏิสนธิ.
               บทว่า ฐาติ แปลว่า ย่อมอยู่.
               บทว่า นิกฺขมติ คือแม้เมื่อจะออกก็ไม่รู้ คือหลงพร้อมออกไป (จากครรภ์).
               บทว่า อยํ ปฐมา คือ นี้จัดเป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ของเหล่ามนุษย์ชาวโลกตามปกติข้อที่ ๑.
               บทว่า สมฺปชาโน หิ โข คือ สัตว์เมื่อจะก้าวลง ก็เป็นผู้รู้ไม่หลงก้าวลงสู่ครรภ์.
               บทว่า อยํ ทุติยา คือ ข้อนี้จัดเป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ข้อที่ ๒ ของหมู่อสีติมหาสาวกทั้งหลาย.
               ความจริง พระมหาสาวกเหล่านั้น เมื่อจะเข้าไปสู่ครรภ์เท่านั้นย่อมรู้ เมื่ออยู่และเมื่อออกย่อมไม่รู้.
               บทว่า อยํ ตติยา ความว่า ข้อนี้จัดเป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ข้อที่ ๓ ของพระอัครสาวกทั้งสองและของพระปัจเจกโพธิสัตว์ทั้งหลาย.
               นัยว่า ท่านเหล่านั้นถูกลมกัมมชวาตพัดให้หันศีรษะลงเบื้องล่าง หันเท้าขึ้นเบื้องบน มาอยู่ที่ปากช่องคลอด เหมือนอยู่ในเหวที่ลึกหลายร้อยชั่วบุรุษ ออกจากช่องคลอดซึ่งคับแคบ ก็ย่อมประสบทุกข์เป็นอันมาก เปรียบเหมือนช้างที่ออกจากโพรงต้นตาล ย่อมประสบความทุกข์ฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น สัตว์เหล่านั้นย่อมไม่มีความรู้ว่า เราออกไปแล้ว ดังนี้. ความทุกข์อย่างใหญ่หลวงในฐานะเห็นปานนี้ ย่อมบังเกิดขึ้นแก่เหล่าสัตว์ แม้ผู้บำเพ็ญบารมีมาแล้วแท้อย่างนี้ ฉะนั้น ควรจะเบื่อหน่าย ควรจะคลายกำหนัดในการอยู่ในครรภ์.
               บทว่า อยํ จตุตฺถา คือ ข้อนี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ข้อที่ ๔ ด้วยอำนาจแห่งพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ทั้งหลาย.
               ความจริง พระสัพพัญญูโพธิสัตว์ทั้งหลาย แม้เมื่อถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดาย่อมรู้ ทั้งเมื่ออยู่ในครรภ์ก็ย่อมรู้. และแม้ในเวลาประสูติจากพระครรภ์ ลมกัมมชวาตทั้งหลายย่อมไม่สามารถที่จะพัดพาทำพระสัพพัญญูโพธิสัตว์เหล่านั้นให้มีเท้าอยู่ข้างบน และศีรษะอยู่ข้างล่างได้. พระสัพพัญญูโพธิสัตว์เหล่านั้นเหยียดพระหัตถ์ทั้งสองแล้วลืมพระเนตร ประทับยืนเสด็จออกมา. เว้นพระสัพพัญญูโพธิสัตว์เสีย สัตว์อื่นในระหว่างอเวจีจนถึงภวัคคพรหม ที่ชื่อว่ารู้ในระยะเวลาทั้งสามย่อมไม่มีเลย.
               ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ในเวลาที่พระสัพพัญญูโพธิสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ก้าวลงสู่พระครรภ์มารดา และในเวลาประสูติ หมื่นโลกธาตุจึงได้หวั่นไหว.
               คำที่เหลือในเรื่องการก้าวลงสู่ครรภ์นี้ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล.

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สัมปสาทนียสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 11 / 1อ่านอรรถกถา 11 / 51อรรถกถา เล่มที่ 11 ข้อ 73อ่านอรรถกถา 11 / 94อ่านอรรถกถา 11 / 364
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=11&A=2130&Z=2536
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=6&A=1460
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=6&A=1460
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :