ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 12 / 10อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
มูลปริยายสูตร ว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง

               อรรถกถามูลปริยายสูตร               
               เอวมฺเม สุตํ ฯเปฯ สพฺพธมฺมปริยายํ               
               ------------------------------               

               บทนมัสการพระรัตนตรัย               
               ข้าพเจ้าขอวันทาพระสุคตเจ้าผู้มีความมืดคือโมหะอันกำจัดแล้วด้วยแสงสว่างคือปัญญา หลุดพ้นแล้วจากคติ (ทั้งปวง) มีพระหฤทัยเยือกเย็นด้วยพระกรุณา เป็นครูแห่งสัตว์โลกทั้งมนุษย์และเทวดา.
               แม้องค์พระพุทธเจ้าทรงเข้าถึงซึ่งพระธรรมอันปราศจากมลทินใด จึงทรงทำให้เกิดและทำให้แจ้งซึ่งความเป็นพระพุทธ ข้าพเจ้าขอวันทาพระธรรมอันเลิศนั้น.
               ข้าพเจ้าขอวันทาพระอริยสงฆ์ คือชุมนุมแห่งพระอริยบุคคลทั้ง ๘ ผู้เป็นพระบุตร เกิดแต่พระอุระแห่งพระสุคตเจ้า ผู้ย่ำยีมารและเสนามารเสียได้.
               บุญอันสำเร็จด้วยการวันทาพระรัตนตรัยของข้าพเจ้าผู้มีใจเลื่อมใสดังนี้อันใด ด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้น ข้าพเจ้าเป็นผู้มีอันตรายอันขจัดเสียได้ด้วยดีแล้ว อรรถกถาอันใดที่พระอรหันต์ผู้เชี่ยวชาญ ๕๐๐ องค์สังคายนา (ร้อยกรอง) ไว้แต่เบื้องแรก และที่พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายสังคายนา (ร้อยกรอง) เพิ่มเติมในภายหลังก็ดี เพื่อประกาศ (อธิบาย) เนื้อความแห่งพระสูตรมัชฌิมนิกาย ในคัมภีร์นี้ อันกำหนดหมายด้วยพระสูตรขนาดกลาง (ไม่ยาวไม่สั้น) ที่พระพุทธองค์และพระสาวกกล่าวสังวรรณนาไว้ ยํ่ายีเสียได้ซึ่งลัทธิอื่น ครั้งแล้วพระมหินทมหาเถระผู้เชี่ยวชาญได้นำมาสู่เกาะสีหล ฐาปนา (จารึก) ไว้ในภาษาสีหล เพื่อประโยชน์แก่ชาวเกาะ ข้าพเจ้าจักนำภาษาสีหลออกแล้วยกขึ้นสู่ภาษาอันเป็นที่รื่นรมย์ใจ สมควรที่จะเป็นแบบแผนได้ ปราศจากโทษ (คือภาษามคธ) อีกทอดหนึ่ง ประกาศ (อธิบาย) เนื้อความมิให้ขัดมติของพระเถระคณะมหาวิหารผู้เป็นประทีปแห่งเถรวงศ์ มีการวินิจฉัยละเอียดดี โดยเว้นความที่ซํ้าๆ กันเสียบ้าง เพื่อความพอใจแห่งสาธุชนและเพื่อความตั้งใจอยู่นานแห่งพระธรรม.
               ส่วนข้อธรรม คือ สีลกถา ธุตธรรม (เรื่องธุดงค์) กรรมฐานทุกอย่าง ฌานสมาบัติอย่างพิสดาร พร้อมทั้งจริยาวิธาน (แจงจริตของบุคคล) อภิญญาทั้งปวง การวินิจฉัย ปัญญาทั้งสิ้น ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ อริยสัจ ๔ การแสดงปัจจยาการ (คือปฏิจจสมุปบาท) มีนัยบริสุทธิ์ละเอียดดี พอเป็นแบบที่เชื่อได้ และวิปัสสนาภาวนา ทั้งปวง (นี้) ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรคอย่างหมดจดดี เหตุใด เหตุนั้น ข้าพเจ้าจักไม่วิจารณ์ข้อธรรมทั้งปวงนั้นยิ่งขึ้นไปละ.
               วิสุทธิมรรคนั้น ข้าพเจ้ารจนาทำด้วยคิดว่า วิสุทธิมรรคจักตั้งอยู่ในท่ามกลางแห่งนิกายทั้ง ๔ แล้วประกาศเนื้อความตามที่ท่านภาษิตไว้ในนิกายทั้ง ๔ นั้นได้ ดังนี้ เหตุนั้น ท่านทั้งหลายจงถือเอาแม้วิสุทธิมรรคนั้นพร้อมทั้งอรรถกถานี้ ทราบเนื้อความแห่งมัชฌิมสังคีติ (คือมัชฌิมนิกายทั้ง ๓ ปัณณาสก์) เถิด.
               ศีลกถา ธุดงคธรรม กัมมัฏฐาน ความพิสดารของฌานและสมาบัติ ซึ่งประกอบด้วยวิธีการคล้อยตามจริต ๖ อภิญญาทั้งปวง คำวินิจฉัยที่ประมวลไว้ด้วยปัญญา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ อริยสัจ ๔ ปัจจยาการเทศนาที่ไม่นอกแนวพระบาลี มีนัยที่ชื่อว่า มัชฌิมสังคีติ ในคำว่า มชฺฌิมสงฺคีติยา นั้นว่าโดยปัณณาสก์ ได้แก่การรวบรวมปัณณาสก์ ๓ หมวด คือมูลปัณณาสก์ มัชฌิมปัณณาสก์และอุปริปัณณาสก์.
               ว่าโดยวรรค ได้แก่การรวบรวมวรรคได้ ๑๕ วรรค เพราะแบ่งแต่ละปัณณาสก์ออกเป็น ๕. ว่าโดยสูตรมี ๑๕๒ สูตร ว่าโดยบทมี ๘๐,๕๒๓ บท เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า ท่านกล่าวกำหนดบทไว้ ๘๐,๕๒๓ บทอย่างนี้.
               แต่ว่าโดยอักษรมี ๗๔๐,๐๕๓ อักษร. ว่าโดยภาณวารมี ๘๐ ภาณวารและกึ่งภาณวารมี ๒๓ บท. ว่าโดยอนุสนธิโดยย่อมี ๓ อนุสนธิ คือ ปุจฉานุสนธิ อัชฌาสยานุสนธิ และยถานุสนธิ แต่เมื่อว่า โดยพิสดารในเรื่องนี้มี ๓,๙๐๐ อนุสนธิ. เพราะเหตุนั้น ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า ท่านประกาศนัยอนุสนธิแห่งมัชฌิมปัณณาสก์เหล่านั้นไว้ ๓,๙๐๐ อนุสนธิ.
               ในปัณณาสก์เหล่านั้น มูลปัณณาสก์เป็นปัณณาสก์ต้น, ในวรรคทั้งหลาย มูลปริยายวรรคเป็นวรรคต้น และในสูตรทั้งหลาย มูลปริยายสูตรเป็นสูตรต้น.

               อธิบายนิทานพจน์               
               [๑] คำนิทานว่า เอวมฺเม สุตํ ที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ในกาลปฐมมหาสังคีติ เป็นเบื้องต้นของมูลปริยายสูตรแม้นั้น. ก็ปฐมมหาสังคีตินี้ ท่านกล่าวไว้พิสดารแล้วในเบื้องต้นแห่งอรรถกถาทีฆนิกาย ชื่อสุมังคลวิลาสินี. เพราะฉะนั้น ปฐมมหาสังคีตินั้น บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่กล่าวให้พิสดารแล้วในอรรถกถาทีฆนิกายนั้นนั่นแล.

               อธิบาย เอวมฺเม สุตํ               
               ก็คำว่า เอวมฺเม สุตํ เป็นต้นนี้ เป็นคำเริ่มต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ เป็นนิบาต. บทว่า เม เป็นต้น เป็นบทนาม.
               ในคำว่า อุกฺกฏฺฐายํ วิหรติ นี้ บัณฑิตพึงทราบการแยกบท โดยนัยนี้ก่อนว่า บทว่า วิ เป็นบทอุปสรรค. บทว่า หรติ เป็นบทอาขยาต.
               แต่โดยใจความ เอวํ ศัพท์ มีใจความแยกออกได้หลายอย่างเป็นต้นว่า อุปมา อุปเทส สัมปหังสนะ ครหณะ วจนสัมปฏิคคหะ อาการะ นิทัสสนะ อวธารณะ.
               จริงอย่างนั้น เอวํ ศัพท์ นี้ มาในอรรถว่า อุปมา ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า กุศลเป็นอันมาก อันสัตว์ที่เกิดแล้ว พึงกระทำฉันนั้นดังนี้.
               มาในอรรถว่า อุปเทส ในประโยคเป็นต้นว่า อันท่านพึงก้าวไปอย่างนี้ พึงถอยกลับอย่างนี้ ดังนี้.
               มาในอรรถว่า สัมปหังสนะ ในประโยคเป็นต้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำนี้ไว้อย่างนี้, พระสุคตเจ้าตรัสคำนี้ไว้อย่างนี้.
               มาในอรรถว่า ครหณะ ในประโยคเป็นต้นว่า ก็คนถ่อยนี้กล่าวสรรเสริญคุณพระสมณะศีรษะโล้นนั้น อย่างนี้ๆ ในทุกๆ ที่ ดังนี้.
               มาใน วจนสัมปฏิคคหะ ในประโยคเป็นต้นว่า ภิกษุเหล่านั้นแลทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าอย่างนั้น พระเจ้าข้า ดังนี้.
               มาในอรรถว่า อาการ ในประโยคเป็นต้นว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทราบชัดพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วด้วยอาการอย่างนี้.
               มาในอรรถว่า นิทัสสนะ ในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนมาณพ ท่านจงมา จงเข้าไปหาท่านอานนท์ ผู้สมณะถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว จงถามความไม่เจ็บไข้ ความมีโรคน้อย ความคล่องตัว กำลัง และการอยู่ผาสุกกะท่านพระอานนท์ผู้สมณะ ตามคำของเรา และจงกล่าวอย่างนี้ว่า สุภมาณพ โตเทยยบุตร ย่อมถามถึงความไม่เจ็บไข้ ฯลฯ การอยู่ผาสุกกะท่านพระอานนท์ผู้เจริญ ดังนี้. นัยว่า เป็นการดีที่ท่านพระอานนท์ผู้เจริญอาศัยความอนุเคราะห์เข้าไปหาสุภมาณพ โตเทยยบุตร ถึงที่อยู่ ดังนี้.
               มาในอรรถว่า อวธารณะ ในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนกาลามะทั้งหลาย พวกเธอจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล? เป็นอกุศล พระเจ้าข้า. มีโทษหรือไม่มีโทษ? มีโทษ พระเจ้าข้า. บัณฑิตติเตียนหรือสรรเสริญ? ติเตียน พระเจ้าข้า. ธรรมทั้งหลายที่ตนสมาทานให้บริบูรณ์ ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่ใช่ประโยชน์ และเป็นทุกข์หรือไม่ หรือว่าเป็นอย่างไรในข้อนี้? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายที่ตนสมาทานให้บริบูรณ์ ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่ใช่ประโยชน์ และเป็นทุกข์ ย่อมมีแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายในข้อนี้อย่างนี้.
               เอวํ ศัพท์นี้นั้น ในที่นี้ บัณฑิตพึงทราบว่า (ใช้) ในอรรถว่า อาการะ นิทัสสนะ อวธารณะ.
               ใน ๓ อย่างนั้น พระอานนท์แสดงความนี้ด้วย เอวํ ศัพท์ ซึ่งมีอาการะเป็นอรรถว่า ใครๆ สามารถจะทราบพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งละเอียดอ่อนด้วยนัยต่างๆ เกิดขึ้นด้วยอัธยาศัยอันกว้างขวาง สมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะมีปาฏิหาริย์หลากหลาย ลึกซึ้งโดยธรรม โดยอรรถ โดยเทศนา แลโดยปฏิเวธ มาสู่โสตประสาทของสัตว์ทั้งปวงโดยสมควรแก่ภาษาของตนๆ โดยประการทั้งปวง และทั้งให้เกิดความอยากฟังโดยเต็มกำลัง ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ คือแม้ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วด้วยอาการอย่างหนึ่ง. พระอานนทเถระเมื่อจะออกตัวด้วยอรรถว่า ชี้แจงว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่สยัมภู สูตรนี้ข้าพเจ้าไม่ได้ทำให้แจ้ง จึงแสดงสูตรทั้งสิ้นที่จะต้องกล่าวในบัดนี้ว่า ข้าพเจ้าได้ฟังอย่างนี้ คือว่า แม้ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
               พระอานนทเถระเมื่อจะแสดงกำลัง คือความทรงจําของตนที่สมควรแก่ภาวะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราที่ทรงพหูสูต คืออานนท์ บรรดาอุปัฏฐากที่มีคติ มีสติ มีธิติ คืออานนท์ และที่พระธรรมเสนาบดีสรรเสริญอย่างนี้ว่า ท่านอานนท์ฉลาดในอรรถ ในธรรม ในพยัญชนะ ในภาษาและในอักษร เบื้องต้นและเบื้องปลาย ยังสัตว์ทั้งหลายเกิดความอยากฟัง ด้วยอรรถว่า อวธารณะ ว่าข้าพเจ้าได้ฟังมาเท่านี้ และสูตรนั้นแลไม่ยิ่งไม่หย่อนโดยอรรถหรือพยัญชนะ พึงเห็นว่าอย่างนี้เท่านั้น ไม่พึงเห็นเป็นอย่างอื่น ดังนี้.
               เม ศัพท์ปรากฏในอรรถ ๓ อย่าง.
               จริงอย่างนั้น เม ศัพท์นั้นมีความหมายว่า มยา (อันเรา) ในประโยคเป็นต้นว่า โภชนะที่ได้มาด้วยการขับกล่อม เราไม่ควรบริโภค.
               มีความหมายว่า มยฺหํ (แก่เรา) ในประโยคเป็นต้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์แต่โดยย่อเถิด.
               มีความหมายว่า มม (ของเรา) ในประโยคเป็นต้นว่า ภิกษุทั้งหลาย ขอให้พวกเธอจงเป็นธรรมทายาทของเราเถิด ดังนี้.
               แต่ในที่นี้ เม ศัพท์ใช้ในอรรถ ๒ อย่างว่า อันข้าพเจ้าได้ฟังมา และว่า สุตะของเรา ดังนี้.
               สุตะ ศัพท์ ในคำว่า สุตํ นี้มีอุปสรรคและไม่มีอุปสรรค มีเนื้อความหลายอย่างเป็นต้นว่า คมน (การไป) วิสฺสุต (ปรากฏ) กิลินฺน (เปียก) อุปจิต (สั่งสม) อนุโยค (ประกอบเนืองๆ) โสตวิญฺเญยฺย (รู้ทางหู) โสตทวารานุสารวิญญาณ (รู้ตามกระแสทางหู).
               จริงอย่างนั้น สุตะ ศัพท์นั้น มีความหมายว่า ไป ในประโยคเป็นต้นว่า ไปแล้วโดยเสนา.
               มีความหมายว่า มีธรรมอันตนสดับตรับฟังแล้วอย่างแจ่มแจ้ง ในประโยคเป็นต้นว่า ผู้สดับธรรมแล้วเห็น (ธรรม) อยู่.
               มีความหมายว่า เปียกชุ่ม ของบุคคลผู้เปียกชุ่ม ในประโยคเป็นต้นว่า เปียกชุ่มของบุคคลผู้เปียกชุ่ม.
               มีความหมายว่า สะสม ในประโยคเป็นต้นว่า บุญมิใช่น้อย อันท่านทั้งหลายสะสมแล้ว.
               มีความหมายว่า ประกอบเนืองๆ ในฌานเนืองๆ ในประโยคเป็นต้นว่า นักปราชญ์เหล่าใด ผู้ขวนขวายในฌาน.
               มีความหมายว่า เสียงที่จะพึงทราบทางโสตประสาท ในประโยคเป็นต้นว่า เห็นแล้ว ฟังแล้ว ทราบแล้ว.
               มีความหมายว่า ทรงความรู้คล้อยตามโสตทวาร ในประโยคเป็นต้นว่า ทรงไว้ซึ่งสุตะ และสะสมสุตะ.
               แต่ในที่นี้ สุตะศัพท์นั้นมุ่งเอาความหมายว่า ทรงจํา หรือความทรงจํา ตามแนวแห่งโสตทวาร.
               จริงอยู่ เมื่อ เม ศัพท์มีเนื้อความเท่ากับ มยา ย่อมประกอบความได้ว่า ข้าพเจ้าได้สดับมา คือทรงจําตามแนวแห่งโสตทวารอย่างนี้.
               มีเนื้อความเท่ากับ มม ย่อมประกอบความได้ว่า การสดับของข้าพเจ้า คือความทรงจําตามแนวแห่งโสตทวารของข้าพเจ้าอย่างนี้.
               ในบททั้ง ๓ เหล่านั้นดังกล่าวมานี้ คำว่า เอวํ เป็นการแสดงกิจแห่งวิญญาณมีโสตวิญญาณเป็นต้น. คำว่า เม เป็นการแสดงบุคคลผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยวิญญาณดังกล่าวแล้ว. คำว่า สุตํ เป็นการแสดงการถือเอาที่ไม่ผิด ไม่หย่อน ไม่ยิ่ง เพราะห้ามการไม่ฟัง.
               อนึ่ง คำว่า เอวํ เป็นการประกาศความเป็นไปในอารมณ์แห่งวิญญาณวิถีที่เป็นไปตามแนวแห่งโสตทวารนั้นโดยประการต่างๆ. คำว่า เม เป็นการประกาศตน. คำว่า สุตํ เป็นการประกาศธรรมะ.
               จริงอยู่ ในคำว่า เอวมฺเม สุตํ นี้ มีความย่อดังต่อไปนี้ว่า
               ข้าพเจ้าไม่ทำกิจอื่นแห่งวิญญาณวิถีที่เป็นไปแล้วในอารมณ์โดยประการต่างๆ แต่ข้าพเจ้าทำกิจนี้, ธรรมนี้ ข้าพเจ้าฟังแล้ว.
               อนึ่ง คำว่า เอวํ เป็นการประกาศคำที่จะพึงแถลงไข. คำว่า เม เป็นการประกาศบุคคล. คำว่า สุตํ เป็นการประกาศกิจแห่งบุคคล. มีคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า พระสูตรที่ข้าพเจ้าจักแสดง ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
               อนึ่ง คำว่า เอวํ เป็นการไขอาการต่างๆ ของจิตสันดานที่มีการถือเอาอรรถและพยัญชนะต่างๆ โดยการเป็นไปโดยประการต่างๆ กัน.
               จริงอยู่ ศัพท์ว่า เอวํ นี้ เป็นการบัญญัติอาการ, ศัพท์ว่า เม เป็นการแสดงกัตตา (ผู้ทำ). ศัพท์ว่า สุตํ เป็นการแสดงวิสัย. ด้วยการอธิบายเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นอันทำการสันนิษฐานได้ว่า ด้วยจิตสันดานที่เป็นไปโดยประการต่างๆ กัน พระเถระผู้ประกอบด้วยจิตสันดานนั้นจึงเป็นกัตตา และรับอารมณ์ได้.
               อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า เอวํ เป็นการแสดงกิจแห่งบุคคล. ศัพท์ว่า สุตํ เป็นการแสดงกิจแห่งวิญญาณ. ศัพท์ว่า เม เป็นการแสดงถึงบุคคลที่ประกอบด้วยกิจทั้ง ๒ ก็ในคำว่า เอวมฺเม สุตํ นี้มีความย่อว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาโดยโวหารแห่งสวนกิจที่ได้ด้วยอํานาจแห่งวิญญาณ โดยบุคคลที่พร้อมเพรียงด้วยสวนกิจและวิญญาณกิจ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ เป็นอวิชชมานบัญญัติ โดยอรรถว่าแจ่มแจ้ง และบทว่า เม เป็นอวิชชมานบัญญัติ โดยปรมัตถ์ ก็ในข้อนี้ยังมีข้อพิเศษอยู่อีก คือข้อที่พระเถระพึงได้การแถลงไขว่า เอวํ หรือ เม มีอยู่โดยปรมัตถ์.
               บทว่า สุตํ เป็นวิชชมานบัญญัติ. อธิบายว่า ในบทว่า สุตํ นี้ อารมณ์ที่ได้ทางโสตนี้มีอยู่โดยปรมัตถ์แล.
               อนึ่ง บทว่า เอวํ และ เม จัดเป็นอุปาทาบัญญัติ เพราะพระเถระกล่าวหมายเอาธรรมที่มากระทบโสต และขันธ์ที่นับเนื่องในสันดานของตนนั้น. บทว่า สุตํ เป็นอุปนิธาบัญญัติ เพราะพระเถระกล่าวพาดพิงสิ่งที่เห็นแล้วเป็นต้น.
               อนึ่ง ในข้อนี้ พระเถระแสดงความไม่โง่เขลา ด้วยคำว่า เอวํ อธิบายว่า ผู้โง่เขลาย่อมไม่สามารถแทงตลอดโดยประการต่างๆ ได้. ด้วยคำว่า สุตํ พระเถระแสดงความไม่หลงลืมพระพุทธพจน์ที่ได้ฟังมาแล้ว. อธิบายว่า สุตะที่ผู้ใดหลงลืมแล้ว ผู้นั้นย่อมนึกไม่ออกว่าเราได้ฟังมาแล้วโดยกาลอื่น. ความสําเร็จแห่งปัญญาของพระเถระนั้นย่อมมีได้ เพราะความไม่โง่เขลา ส่วนความสําเร็จแห่งสติย่อมมีได้เพราะความไม่หลงลืม.
               บรรดา ๒ อย่างนั้น ความสามารถในการทรงจําพยัญชนะ มีได้ด้วยสติ มีปัญญาเป็นตัวนำ ความสามารถในการเข้าใจอรรถมีได้ด้วยปัญญามีสติเป็นตัวนำ ความสําเร็จการเป็นขุนคลังแห่งธรรมโดยสามารถในการเก็บรักษาคลังธรรมที่ถึงพร้อมด้วยอรรถและพยัญชนะ มีได้เพราะประกอบด้วยความสามารถทั้ง ๒ อย่างนั้น.
               อีกนัยหนึ่ง ด้วยคำว่า เอวํ ท่านพระเถระแสดงการทำไว้ในใจโดยแยบคาย เพราะบุคคลผู้ทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย จะไม่มีการแทงตลอดประการต่างๆ. ด้วยคำว่า สุตํ ท่านแสดงความไม่ฟุ้งซ่าน เพราะบุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่านจะไม่เป็นอันฟัง. จริงอย่างนั้น บุคคลที่มีจิตฟุ้งซ่านแม้ถูกบอกด้วยคุณสมบัติทุกอย่าง ก็ยังกล่าวว่า ข้าพเจ้าฟังไม่ถนัด ขอท่านพูดอีกที. ก็ในข้อนี้ เพราะการฟังโดยการทำไว้ในใจโดยแยบคาย บุคคลย่อมยังการตั้งตนไว้โดยชอบและความเป็นผู้มีบุญทำไว้ในปางก่อนให้สําเร็จได้ เพราะบุคคลผู้มิได้ตั้งตนไว้โดยชอบและไม่ได้ทำบุญไว้ในปางก่อน ไม่มีการทำไว้ในใจโดยแยบคายนั้น. เพราะความไม่ฟุ้งซ่าน บุคคลจึงยังการฟังพระสัทธรรมและการเข้าไปคบสัตบุรุษให้สําเร็จ.
               จริงอยู่ บุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่านไม่อาจที่จะฟัง (ธรรมได้) และการฟัง (ธรรม) ย่อมไม่เกิดมีแก่บุคคลผู้ไม่เข้าไปพบสัตบุรุษ.
               อีกนัยหนึ่ง เพราะเหตุที่ท่านกล่าวไว้ว่า บทว่า เอวํ เป็นบทแสดงอาการต่างๆ ของจิตสันดานที่มีการรับเอาอรรถและพยัญชนะโดยเป็นไปโดยประการต่างๆ กัน. และอาการที่ดีอย่างนี้นั้นย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ตั้งตนไว้ชอบ หรือมิได้ทำบุญไว้ในปางก่อน. ฉะนั้น ท่านแสดงความถึงพร้อมแห่งจักรทั้ง ๒ ข้างท้ายของตนด้วยอาการอันเจริญนี้ ด้วยบทว่า เอวํ ท่านแสดงความถึงพร้อมแห่งจักรทั้ง ๒ ข้างต้นของตน ด้วยบทว่า สุตํ.
               จริงอยู่ การฟัง (ธรรม) ย่อมไม่เกิดมีแก่ผู้อยู่ในประเทศที่ไม่สมควร หรือผู้เว้นจากการคบหากับสัตบุรุษ. ความบริสุทธิ์แห่งอาสวกิเลสย่อมสําเร็จแก่บุคคลนั้น เพราะความสําเร็จแห่งจักรทั้ง ๒ ข้างท้าย. ความบริสุทธิ์แห่งปโยคสมบัติย่อมมีเพราะความสําเร็จแห่งจักรทั้ง ๒ ข้างต้นด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง ความสําเร็จแห่งความฉลาดในอธิคม (ปฏิเวธ) ย่อมมีแก่บุคคลนั้น เพราะความบริสุทธิ์แห่งอาสวกิเลส ความสําเร็จแห่งความฉลาดในอาคม (ปริยัติ) ย่อมมีเพราะความบริสุทธิ์แห่งปโยคสมบัติ (ความเพียร) พระเถระเมื่อจะเรียงนิทานพจน์ไว้ในฐานะที่เหมาะสม คำของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยอาคมและอธิคม ผู้มีอาสวกิเลสบริสุทธิ์ด้วยปโยคสมบัติย่อมควรเป็น [คำเริ่มแรกแห่ง] พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดุจแสงเงินแสงทองขึ้นนำพระอาทิตย์ที่กำลังอุทัยอยู่ และดุจการทำไว้ในใจโดยแยบคาย เป็นตัวนำ (การทำ) กุศลกรรม จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้.
               อีกนัยหนึ่ง ด้วยคำนี้ว่า เอวํ ท่านพระเถระแสดงสภาวะคือความถึงพร้อมแห่งอัตถปฏิสัมภิทาและปฏิภาณปฏิสัมภิทาของตน ด้วยคำที่แสดงถึงปฏิเวธมีประการต่างๆ ด้วยคำว่า สุตํ นี้ ท่านแสดงสภาวะคือความถึงพร้อมแห่งธัมมปฏิสัมภิทาและนิรุตติปฏิสัมภิทา ด้วยคำที่แสดงถึงความแทงตลอดประเภทแห่งธรรมที่จะต้องฟัง. อนึ่ง พระเถระเมื่อจะกล่าวคำที่แสดงการทำไว้ในใจโดยแยบคายนี้ว่า เอวํ ดังนี้ จึงแสดงว่า ธรรมเหล่านี้อันข้าพเจ้าตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิแล้ว เมื่อจะกล่าวคำที่แสดงการตามประกอบการฟังนี้ว่า สุตํ ดังนี้ จึงแสดงว่า ธรรมเป็นอันมากอันข้าพเจ้าฟังมาแล้ว ทรงจำไว้แล้ว ท่องบ่นแล้ว ดังนี้.
               พระเถระเมื่อจะแสดงความบริบูรณ์แห่งอรรถและพยัญชนะด้วยคำทั้ง ๒ นั้น จึงยังความเอื้อเฟื้อให้เกิดขึ้นในการฟัง. จริงอยู่ บุคคลเมื่อไม่ฟังธรรมที่บริบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะโดยเอื้อเฟื้อ ย่อมห่างจากประโยชน์เกื้อกูลอันยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้น ควรทำความเอื้อเฟื้อให้เกิดแล้วฟังธรรมโดยเคารพเถิด.
               ก็ด้วยคำทั้งหมดนี้ว่า เอวมฺเม สุตํ (เป็นอันว่า) พระอานนท์เมื่อไม่วางธรรมที่พระตถาคตทรงประกาศแล้วไว้ห่างตน ชื่อว่าล่วงเลยภูมิแห่งอสัตบุรุษ ปฏิญญาความเป็นสาวก ชื่อว่าก้าวลงสู่ภูมิแห่งสัตบุรุษ. อนึ่ง ด้วยคำทั้งหมดนี้ว่า เอวมฺเม สุตํ เป็นต้น เป็นอันว่า พระเถระย่อมยังจิตให้ออกจากอสัทธรรม ให้ดำรงอยู่ในสัทธรรม. พระเถระเมื่อแสดงว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นนั่นเทียวนั้น ข้าพเจ้าฟังมาตลอดแล้วทีเดียว ชื่อว่าย่อมออกตัว อ้างพระศาสดา แนบแน่นอยู่ในพระดำรัสของพระชินเจ้า ประดิษฐานเนติธรรมไว้.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยคำว่า เอวมฺเม สุตํ พระเถระยังความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาในธรรมนี้ของเทวดาและมนุษย์ทั้งปวงให้หมดไป ให้เกิดความถึงพร้อมแห่งศรัทธา (โดย) ไม่อ้างว่า สูตรนั้นท่านให้เกิดเอง (และ) เปิดเผยการฟังมาก่อนว่า สูตรนี้ ข้าพเจ้าได้รับมาต่อพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นผู้องอาจด้วยเวสารัชชธรรม ๔ ทรงไว้ซึ่งพลญาณ ๑๐ ทรงดำรงอยู่ในฐานะผู้อาจหาญ บันลือสีหนาทได้ สูงสุดกว่าสัตว์ทุกจำพวก เป็นใหญ่โดยพระธรรม เป็นพระธรรมราชา เป็นพระธรรมาธิบดี เป็นประทีปโดยธรรม เป็นที่พึ่งโดยธรรม เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ประเสริฐโดยพระสัทธรรม ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่ควรทำความสงสัย หรือความเคลือบแคลงในอรรถ ในธรรม ในบทหรือในพยัญชนะ ในสูตรนี้แล.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำนี้ไว้ว่า
                         พระสาวกของพระโคดมกล่าวอยู่อย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว
                         อย่างนี้ ยังอศรัทธาให้พินาศ ยังศรัทธาในศาสนาให้เจริญ ดังนี้.

               อธิบาย สมย ศัพท์               
               บทว่า เอกํ เป็นบทแสดงไขถึงจำนวนนับ. บทว่า สมยํ เป็นบทแสดงเวลาที่กำหนดไว้แล้ว. สองบทว่า เอกํ สมยํ เป็นบทแสดงเวลาที่ไม่กำหนดแน่นอน. สมย ศัพท์ ในบทว่า เอกํ สมยํ นั้นย่อมปรากฏในอรรถว่า
                         สมวายะ (พร้อมเพรียง) ขณะ กาล สมูหะ (การประชุม)
                         เหตุ ทิฏฐิ ปฏิลาภะ (การได้) ปหานะ (การละ) และ
                         ปฏิเวธะ (การแทงตลอด).
               จริงอย่างนั้น สมย ศัพท์นั้นมีความพร้อมเพรียงเป็นอรรถ ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า ชื่อแม้ไฉน ในวันพรุ่งนี้ พวกเราอาศัยกาลสมัย (ที่เหมาะ) พึงเข้าไปหา ดังนี้.
               มีขณะเป็นอรรถ ในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล ขณะและสมัยหนึ่ง ย่อมมีเพื่ออยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ดังนี้.
               มีกาละเป็นอรรถ ในประโยคเป็นต้นว่า เวลาร้อน เวลาเร่าร้อน ดังนี้.
               มีการประชุมเป็นอรรถ ในประโยคเป็นต้นว่า ประชุมใหญ่ ในป่าใหญ่.
               มีเหตุเป็นอรรถ ในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนภัททาลิ แม้เหตุแลท่านไม่ได้แทงตลอด, พระผู้มีพระภาคเจ้าแลประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าจักรู้จักเราว่า ภิกษุชื่อว่าภัททาลิ ไม่ทำการศึกษาในพระศาสนาของพระศาสดาให้บริบูรณ์ ดูก่อนภัททาลิ เหตุแม้นี้แล อันท่านยังไม่ได้แทงตลอดดังนี้.
               มีทิฏฐิเป็นอรรถ ในประโยคเป็นต้นว่า ก็โดยสมัยนั้นแล ปริพาชกชื่อ อุคคาหมานะ เป็นบุตรของสมณมุณฑิกา อาศัยอยู่ในสวนดอกมะลิ ที่มีศาลาหลังเดียวเป็นที่สอนลัทธิ หนาแน่นด้วยต้นมะพลับ.
               มีการได้เฉพาะเป็นอรรถ ในประโยคเป็นต้นว่า
                         นักปราชญ์ท่านเรียกว่า บัณฑิต เพราะได้รับ
                         ประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ.
               มีการละเป็นอรรถ ในประโยคเป็นต้นว่า ได้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะละมานะได้โดยชอบ.
               มีการแทงตลอดเป็นอรรถ ในประโยคเป็นต้นว่า ทุกข์ มีอรรถว่าเบียดเบียน ถูกปรุงแต่ง ทำให้เร่าร้อนแปรปรวน และมีอรรถว่าควรกำหนดรู้.
               แต่ในที่นี้ สมยศัพท์นั้นมีกาละเป็นอรรถ เพราะเหตุนั้น ท่านพระเถระจึงแสดงว่า ในสมัยหนึ่ง บรรดาสมัยที่แยกกาลออกเป็นปี ฤดู เดือน ครึ่งเดือน กลางคืน กลางวัน เวลาเช้า เวลาเที่ยง เวลาเย็น ยามต้น ยามกลาง ยามสุดท้าย และครู่หนึ่งเป็นต้น.
               ในข้อนั้น สูตรใดๆ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปี ฤดู เดือน ปักข์ ภาคกลางคืน หรือภาคกลางวันใดๆ ในบรรดาสมัยมีปีเป็นต้นเหล่านั้น สูตรนั้นทั้งหมด พระเถระรู้ดีคือกำหนดไว้ด้วยดีด้วยปัญญาแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น เพราะเหตุที่เมื่อท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ ในปีโน้น ฤดูโน้น เดือนโน้น ปักข์โน้น ภาคกลางคืนโน้น ภาคกลางวันโน้น ใครๆ ไม่อาจจะทรงจำได้ง่าย ไม่สามารถจะแสดงเองหรือให้คนอื่นแสดงได้ และจะต้องพูดกันมาก ฉะนั้น พระเถระจึงรวบรวมเนื้อความนั้นไว้ด้วยบทเดียวเท่านั้น แล้วกล่าวว่า เอกํ สมยํ ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง สมัยเหล่านี้ใดของพระผู้มีพระภาคเจ้าแยกประเภทกาลเวลาออกมากมาย ที่ปรากฏชัดเหลือเกินในหมู่เทวดาและมนุษย์เป็นต้นอย่างนี้คือ สมัยเสด็จลงสู่พระครรภ์ สมัยประสูติ สมัยเกิดความสังเวช สมัยเสด็จออกผนวช สมัยทรงกระทำทุกกรกิริยา สมัยชนะมาร สมัยตรัสรู้ สมัยอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน สมัยเทศนา สมัยเสด็จปรินิพพาน. พระเถระแสดงว่า สมัยหนึ่ง กล่าวคือสมัยเทศนาในบรรดาสมัยเหล่านั้น.
               อนึ่ง ท่านพระเถระหมายเอาสมัยแห่งกิจที่ประกอบด้วยกรุณา ในบรรดาสมัยแห่งกิจที่ประกอบด้วยญาณและกรุณา สมัยแห่งการปฏิบัติเพื่อประโยชน์คนอื่น ในบรรดาสมัยแห่งการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและคนอื่น สมัยแห่งธรรมีกถา ในบรรดาสมัยแห่งกรณียะทั้ง ๒ ของผู้ประชุมกันสมัยแห่งเทศนา ในบรรดาสมัยแห่งการเทศนาและการปฏิบัติ. สมัยใดสมัยหนึ่ง ในบรรดาสมัยเหล่านั้น จึงกล่าวว่า เอกํ สมยํ ดังนี้.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ในที่นี้ท่านไม่ทำเหมือนอย่างในอภิธรรม ท่านทำการแสดงไขด้วยสัตตมีวิภัตติว่า ยสฺมึ สมเย กามาวจรํ และว่า ยสฺมึ สมเย ภิกฺขเว ภิกฺขุ วิวิจฺเจว กาเมหิ ในสุตตบทอื่นจากคัมภีร์นี้ และในวินัยท่านทำการแสดงไขด้วยตติยาวิภัตติว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา แต่ทำการแสดงไขด้วยทุติยาวิภัตติว่า เอกํ สมยํ
               ตอบว่า เพราะในที่นั้นมีความหมายเป็นอย่างนั้น แต่ในที่นี้มีความหมายเป็นอย่างนี้ (มีความหมายคนละอย่าง). จริงอยู่ ในบรรดาอภิธรรมเป็นต้นเหล่านั้นในอภิธรรมและในสุตตบทอื่นนอกจากนี้ สมยศัพท์มีความหมายในอธิกรณะ (สัตตมีวิภัตติ) และมีความหมายภาวลักษณะโดยภาวะ. เพราะว่า สมยะเป็นอธิกรณะ มีกาละเป็นอรรถ และมีสมูหะเป็นอรรถ และท่านกำหนดว่าเป็นภาวะแห่งธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น ที่ท่านกล่าวไว้แล้วในที่นั้นๆ เหล่านั้น โดยภาวะแห่งสมยะ กล่าวคือขณะ การรวบรวมและเหตุ. เพราะฉะนั้น เพื่อจะให้ใจความนั้นกระจ่าง ท่านจึงแสดงไขเป็นสัตตมีวิภัตติในบทนั้น. จริงอยู่ สมัยแห่งการบัญญัติสิกขาบทนั้นใด แม้ท่านพระสารีบุตรเป็นต้นก็รู้ได้ยาก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงบัญญัติสิกขาบทโดยสมัยนั้น อันเป็นเหตุ และเป็นกรณะ และเมื่อทรงเพ่งถึงเหตุการบัญญัติสิกขาบท ทรงประทับอยู่ในที่นั้นๆ. เพราะฉะนั้น เพื่อจะให้ใจความนั้นกระจ่าง ท่านจึงทำการแสดงไขเป็นตติยาวิภัตติในบทนั้น.
               แต่ในที่นี้และในที่อื่นที่มีใจความอย่างนี้ สมยศัพท์ลงในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ.
               จริงอยู่ ในสมัยใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้หรือสูตรอื่น ในสมัยนั้น พระองค์ทรงประทับอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่ คือกรุณาโดยส่วนเดียวทีเดียว. เพราะฉะนั้น เพื่อให้ใจความนั้นกระจ่าง ท่านจึงทำการแสดงไขเป็นทุติยาวิภัตติในบทนี้.
               เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำนี้ไว้ว่า
                         เพ่งถึงใจความนั้นๆ แล้ว ท่านกล่าว สมย ศัพท์
                         ไว้ในที่อื่นด้วย สัตตมีวิภัตติ และตติยาวิภัตติ แต่
                         ในที่นี้ท่านกล่าว สมย ศัพท์นั้นไว้ด้วยทุติยาวิภัตติ.
               ส่วนท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายพรรณนาไว้ว่า สมย ศัพท์นั้นมีประเภทที่แยกพูดได้ดังนี้ว่า ตสฺมึ สมเย, เตน สมเยน หรือว่า ตํ สมยํ แต่ว่าโดยใจความ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติในที่ทั้งปวงดังนี้. เพราะฉะนั้น แม้เมื่อท่านกล่าวว่า เอกํ สมยํ พึงทราบใจความว่า เอกสฺมึ สมเย ดังนี้.

               อธิบาย ภควา               
               คำว่า ภควา เป็นคำกล่าวด้วยความเคารพ. เพราะว่าคนทั้งหลายเรียกครูในโลกว่า ภควา ก็พระผู้มีพระภาคเจ้านี้ ชื่อว่าเป็นครูของสัตว์ทุกจำพวก เพราะเป็นผู้ประเสริฐด้วยพระคุณทุกอย่าง เพราะฉะนั้น พึงทราบครูว่า ภควา ดังนี้.
               ถึงแม้ว่าท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายก็ได้กล่าวไว้ว่า
                                   คำว่า ภควา เป็นคำประเสริฐ, คำว่า ภควา เป็น
                         คำสูงสุด เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกท่านผู้ประกอบ
                         ด้วยความเคารพนับถือว่า ภควา ดังนี้
                                   อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวไว้ว่า ท่านกล่าวว่า ภควา
                         เพราะมีพระภาคยะ (บารมีธรรม). เพราะหักออกเสียซึ่ง
                         กองกิเลส เพราะประกอบด้วยบุญศิริ (เพราะจำแนกธรรม)
                         เพราะเสวยพรหมวิหารธรรม และเพราะคายเสียซึ่งการ
                         เวียนว่ายตายเกิดในภพทั้ง ๓.
               พึงทราบเนื้อความของบทว่า ภควา นี้ด้วยอำนาจคาถานี้โดยพิสดาร.
               จริงอยู่ ศัพท์ว่า ภควา นั้น ท่านกล่าวไว้แล้วในพุทธานุสสตินิเทศ ในวิสุทธิมรรค.
               ก็ในอธิการนี้ ด้วยคำอธิบายเพียงเท่านี้ พระเถระเมื่อแสดงธรรมตามที่ตนได้ฟังมา ด้วยคำว่า เอวมฺเม สุตํ ชื่อว่าย่อมทำสรีระ คือพระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ประจักษ์. เพราะเหตุนั้น พระเถระย่อมยังชนที่เกิดความเบื่อหน่าย เพราะไม่เห็นพระศาสดาให้โล่งใจว่า ปาพจน์ที่ขาดศาสดาย่อมไม่มี นี้เป็นศาสดาของเราทั้งหลาย. พระเถระเมื่อแสดงความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มีอยู่ ในสมัยนั้น ด้วยคำว่า เอกํ สมยํ ภควา ยังการดับแห่งรูปกายให้แล่นไป. เพราะเหตุนั้น พระเถระย่อมยังชนที่เมาในชีวิตให้สลดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้พระองค์นั้นทรงแสดงอริยธรรมมีชื่ออย่างนี้ ทรงไว้ซึ่งกำลัง ๑๐ มีพระวรกายเสมอก้อนเพชร เสด็จปรินิพพานแล้วด้วยประโยชน์อะไรอื่นที่พวกเธอพึงยังความหวังในชีวิตให้เกิดขึ้น และยังความอุตสาหะของชนนั้นให้เกิดขึ้นในพระสัทธรรม.
               อนึ่ง พระเถระเมื่อกล่าวว่า เอวํ ย่อมแสดงไขถึงสมบัติคือเทศนา. เมื่อกล่าวว่า เม สุตํ ย่อมแสดงไขถึงสาวกสมบัติ. เมื่อกล่าว เอกํ สมยํ ย่อมแสดงไขถึงกาลสมบัติ. เมื่อกล่าวว่า ภควา ย่อมแสดงไขถึงเทสกสมบัติ.

               ที่มาของชื่อเมืองอุกกัฏฐา               
               คำว่า อุกฺกา ในคำว่า อุกฺกฏฺฐายํ วิหรติ นี้ หมายเอาดวงประทีป และเมืองนั้นเขาเรียกว่า อุกกัฏฐา เพราะชาวเมืองพากันชูคบเพลิง สร้างแม้ในเวลากลางคืนด้วยหวังว่า วันมงคล ขณะดี ฤกษ์ดี อย่าเลยไปเสีย. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า เพราะเมืองนั้นพวกชาวเมืองจุดประทีปมีด้ามส่องให้สร้าง. ใกล้เมืองชื่ออุกกัฏฐานั้น.
               บทว่า อุกฺกฏฺฐายํ เป็นสัตตมีวิภัตติลงในอรรถว่า ใกล้.
               บทว่า วิหรติ นี้เป็นคำแสดงการถึงการพร้อมเพรียงแห่งการอยู่ ในบรรดาการอยู่ด้วยการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ, การอยู่อย่างเทพ, การอยู่อย่างพรหม และการอยู่อย่างพระอริยะ อย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่ต่างกัน. แต่ในที่นี้ เป็นการแสดงการประกอบด้วยอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาอิริยาบถ (ทั้ง ๔) คือ ยืน เดิน นั่งและนอน.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนก็ดี เสด็จดำเนินก็ดี ประทับนั่งก็ดี บรรทมก็ดี ก็พึงทราบว่า ประทับอยู่ ทั้งนั้น.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงผ่อนคลายความปวดเมื่อยจากอิริยาบถหนึ่งด้วยอิริยาบถหนึ่ง ย่อมทรงบริหาร คือยังทรงอัตภาพให้เป็นไปมิให้ทรุดโทรม. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ประทับอยู่ ดังนี้.

               ที่มาของป่าสุภควัน               
               ในบทว่า สุภควเน นี้พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ป่าชื่อว่าสุภคะ เพราะถึงความงาม. อธิบายว่า เพราะสง่างาม และเพราะมีสิ่งที่พึงประสงค์สวยงาม.
               ก็เพราะความสวยงามของป่านั้น ผู้คนทั้งหลายจึงพากันถือเอาข้าวและน้ำเป็นต้น ไปดื่มกินเที่ยวเล่นสนุกสนานอยู่ในป่านั้นนั่นแลตลอดทั้งวัน และปรารถนาสิ่งที่เขาปรารถนาดีๆ ในที่นั้นว่า ขอเราทั้งหลายจงได้ลูกชายลูกหญิงเถิด และสิ่งที่พึงปรารถนานั้นเขาก็ได้สมปรารถนาทีเดียว ป่านั้นชื่อว่า สุภคะ เพราะสง่างาม และเพราะมีสิ่งที่พึงประสงค์สวยงามดังพรรณนามานี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า สุภคะ แม้เพราะคนส่วนมากติดใจ. ชื่อว่า วนะ (ป่า) เพราะอรรถว่าสัตว์ทั้งหลายชอบใจ คือทำให้สัตว์ทั้งหลายรักใคร่ด้วยคุณสมบัติของตัวมันเอง. อธิบายว่า ให้เกิดความน่ารักในตัวเอง ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วนะ (ป่า) เพราะเรียกหา. อธิบายว่า เหมือนเรียกร้องปวงสัตว์ด้วยเสียงร้องของนกมีนกโกกิลาเป็นต้น ที่เพลิดเพลินอยู่กับกลิ่นดอกไม้นานาพรรณ และด้วยกิ่งก้านค่าคบใบแก่ใบอ่อนของต้นไม้ที่สั่นไหว เพราะต้องลมอ่อนว่า มาเถิด มากินมาใช้ฉันเถิด.
               ป่านั้นด้วย ถึงความงามด้วย ฉะนั้นจึงชื่อว่า สุภควัน. ในป่าสุภควันนั้น.
               ธรรมดาป่ามี ๒ ชนิด คือ ป่าปลูก และป่าเกิดเอง.
               ในป่า ๒ ชนิดนั้น ป่าปลูก ได้แก่ป่าเวฬุวันและป่าเชตวันเป็นต้น ป่าเกิดเอง ได้แก่ป่าอันธวัน ป่ามหาวันและป่าอัญชนวันเป็นต้น. ป่าสุภควันแม้นี้ พึงทราบว่าเป็นป่าเกิดเอง.
               แม้ต้นรัง ในคำนี้ว่า สาลราชมูเล ท่านก็เรียกว่า ต้นสาละ.
               สมดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ป่าสาลวันใหญ่ ไม่ไกลบ้านหรือนิคม และป่าสาลวันใหญ่นั้นก็ดาดาษไปด้วยต้นละหุ่ง.
               และตรัสว่า ระหว่างนางรังทั้งคู่. แม้ต้นไม้โตที่สุด ท่านก็เรียกว่า ต้นไม้เจ้าป่า.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ในภาคพื้นพระราชอุทยานใน
                         แว่นแคว้นของพระองค์ มีต้นไม้ใหญ่หลายต้นมีค่าคบตรง
                         เขียวชอุ่ม น่ารื่นรมย์.
               ถึงแม้ว่าต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่ง ก็เรียกว่าต้นไม้เจ้าป่าได้.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล เมล็ดเถาย่านทรายพึงหล่นไปที่โคนต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น.
               แต่ในที่นี้ท่านประสงค์เอาต้นไม้ใหญ่ที่สุด ชื่อว่าต้นไม้เจ้าป่า.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค มูลปริยายสูตร ว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 12 / 10อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=1&Z=237
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :