ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 110อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 131อ่านอรรถกถา 12 / 153อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
สติปัฏฐานสูตร ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน

               อรรถกถาสติปัฏฐานสูตร               
               [๑๓๑] สติปัฏฐานสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าสดับมาแล้วอย่างนี้.

               ที่มาของคำว่า กุรุ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุรูสุ วิหรติ ความว่า ชนบทแม้แห่งหนึ่ง เป็นที่อยู่ของราชกุมารผู้อยู่ในชนบทชื่อว่า กุรุ เขาเรียกว่ากุรู ด้วยรุฬหิศัพท์ (คำที่งอกไปจากคำเดิม) (พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับ) ที่กุรุชนบทนั้น.
               แต่พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า ในรัชสมัยของพระเจ้ามันธาตุราช มนุษย์ใน ๓ ทวีปได้ยิน (คำเล่าลือ) ว่า ขึ้นชื่อว่าทวีปชมพู เป็นดินแดนที่อุบัติของยอดคน (อุดมบุรุษ) จำเดิมแต่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิทั้งหลาย เป็นถิ่นอภิรมย์อุดมทวีป จึงได้พากันมาพร้อมด้วยพระเจ้าจักรพรรดิมันธาตุราชผู้ทรงส่งจักรแก้วออกหน้าแล้วเสด็จติดตามมายังทวีปทั้ง ๔.
               จากนั้นมา พระราชาได้ตรัสถามปริณายกแก้วว่า ยังมีหรือไม่ สถานที่ๆ เป็นรมณียสถานยิ่งกว่ามนุษยโลก?
               ปริณายกแก้วได้กราบทูลว่า ขอเดชะ พระอาชญาไม่พ้นเกล้า ไฉนใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจึงตรัสอย่างนี้ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมิได้ทอดพระเนตรอานุภาพของดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์หรือ? สถานที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เหล่านี้ เป็นรมณียสถานยิ่งกว่ามนุษยโลกนี้แน่.
               พระราชาจึงทรงส่งจักรแก้วไปก่อนแล้ว ได้เสด็จไป ณ ที่นั้น.
               ท้าวจาตุมมหาราชได้ทราบว่า พระเจ้ามันธาตุราชเสด็จมาแล้ว ทรงดำริว่า พระราชาผู้ทรงฤทธิ์มาก (เสด็จมาแล้ว) เราไม่อาจจะต่อต้านได้ด้วยการรบ จึงได้มอบราชสมบัติของตนถวาย.
               พระองค์ทรงรับราชสมบัตินั้นแล้ว ได้ตรัสถามอีกว่า ยังมีอยู่หรือไม่ สถานที่ที่เป็นรมณียสถานยิ่งกว่านี้?
               ท้าวจาตุมมหาราชได้กราบทูลถึงดาวดึงสภพแด่พระองค์ว่า พระพุทธเจ้าข้า ดาวดึงสภพเป็นรมณียสถานยิ่งกว่า (นี้). บนดาวดึงสภพนั้น มหาราชทั้ง ๔ เหล่านี้เป็นผู้รักษาการ (ปริจาริกา) ของท้าวสักกเทวราชนั้น จะประทับยืนที่พระทวาร ท้าวสักกเทวราชทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพมาก และพระองค์ทรงมีเทวสถานสำหรับใช้เหล่านี้คือ เวชยันตปราสาทสูง ๑ โยชน์ สุธรรมาเทวสภาสูง ๕๐๐ โยชน์ เวชยันตรถสูง ๑๕๐ โยชน์ ช้างเอราวัณก็สูงเท่านั้น สวนนันทวัน สวนจิตรลดาวัน สวนปารุสกวัน สวนมิสกวัน ประดับประดาด้วยทิพยพฤกษาจำนวนพันต้น ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตตกะสูง ๑๐๐ โยชน์ ภายใต้ต้นปาริฉัตตกะนั้นมีพระที่นั่งบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์มีสีเหมือนดอกหงอนไก่ ยาว ๖๐ โยชน์ กว้าง ๕๐ โยชน์ สูง ๑๕ โยชน์ ซึ่งอ่อนนุ่ม เมื่อท้าวสักกเทวราชทรงประทับนั่ง พระวรกายจะจมลงครึ่งพระองค์.
               ครั้นทรงสดับคำกราบบังคมทูลนั้นแล้ว พระราชามีพระราชประสงค์จะเสด็จไป ณ ดาวดึงสภพนั้น จึงทรงโยนจักรแก้วขึ้นไป. จักรแก้วนั้นประดิษฐานอยู่บนอากาศ๑- พร้อมด้วยจตุรงคเสนา.
____________________________
๑- ปาฐะเป็น อากาเสน อุฏฺฐหิ ฉบับพม่าเป็น อากาเส ปติฏฺฐาสิ แปลตามพม่า.

               ต่อมาจักรแก้วก็ร่อนลงจากท่ามกลางเทวโลกทั้ง ๒ ประดิษฐานอยู่ที่พื้นดิน พร้อมด้วยจตุรงคเสนามีปริณายกแก้วเป็นประมุข. พระราชาได้เสด็จไปยังดาวดึงสภพลำพังพระองค์เดียวเท่านั้น.
               ท้าวสักกะพอได้ทรงทราบว่า พระเจ้ามันธาตุเสด็จมาเท่านั้น ก็เสด็จต้อนรับพระองค์กราบบังคมทูลว่า ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม พระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จมา (นี้เป็น) ราชสมบัติของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเอง ขอทูลเชิญปกครองเถิด พระพุทธเจ้าข้า ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ แล้วได้ทรงแบ่งเทวราชสมบัติออกเป็น ๒ ส่วน พร้อมด้วยเทพธิดาฟ้อนรำ ได้น้อมถวาย ๑ ส่วน.
               พระราชาเพียงแต่เสด็จประทับที่ดาวดึงสภพเท่านั้น ความเป็นมนุษย์๒- ก็หายไป ความเป็นเทวดาก็ปรากฏขึ้นแทนที่.
____________________________
๒- ปาฐะว่า มนุสฺสตฺตภาโว เทวตฺตภาโว ฉบับพม่าเป็น มนุสฺสภาโว เทวภาโว แปลตามพม่า

               ได้ทราบว่า พระองค์ประทับนั่งบนพระที่นั่งบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ร่วมกับท้าวสักกะ ด้วยเหตุเพียงลืมพระเนตรขึ้นจึงจะปรากฏแตกต่างกัน. ทวยเทพเมื่อไปสังเกตพระองค์ ก็จะลืมไปในความแตกต่างระหว่างท้าวสักกะกับพระองค์. พระองค์เมื่อทรงเสวยทิพยสมบัติในดาวดึงสภพนั้น ทรงครองเทวราชสมบัติอยู่ จนท้าวสักกะเสด็จอุบัติแล้วจุติไปถึง ๓๖ พระองค์ ก็ไม่ทรงอิ่มด้วยกามคุณเลย ครั้นทรงจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว ก็ทรงดำรง๓- อยู่ที่พระราชอุทยานของพระองค์ มีพระวรกายถูกลมและแดดกระทบ๔- จึงได้สวรรคต.
____________________________
๓- ปาฐะว่า ปติโต ฉบับพม่าเป็น ปติฏฺฐิโต จึงแปลตามพม่า.
๔- ปาฐะว่า ผุฏฺฐิตคฺคตฺโต พม่าเป็น ผุฏฺฐคตฺโต จึงแปลตามพม่า.

               ก็เมื่อจักรแก้วประดิษฐานที่พื้นดิน ปริณายกแก้วก็ประทับฉลองพระบาทของพระเจ้ามันธาตุ ลงในพระสุพรรณบัฏ แล้วมอบถวายราชสมบัติว่า นี้เป็นราชสมบัติของพระเจ้ามันธาตุ. มนุษย์ที่มาจากทวีปทั้ง ๓ แม้เหล่านั้นไม่อาจจะไปได้อีก ได้พากันเข้าไปหาปริณายกแก้ว แล้วร้องเรียนว่า ใต้เท้าขอรับ เหล่ากระผมมาด้วยพระบรมราชานุภาพ บัดนี้จึงไม่อาจจะไปได้ ขอใต้เท้าได้กรุณาให้ที่อยู่แก่เหล่ากระผมเถิด. ปริณายกแก้วได้มอบชนบทให้แก่เขาเหล่านั้น เพื่อประโยชน์แก่การอยู่คนละแห่ง.
               ในจำนวนชนบทเหล่านั้น ถิ่นที่มีคนมาจากบุพพวิเทหทวีปอาศัยอยู่ได้นามว่า วิเทหรัฐ ตามชื่อเก่านั้นเอง. ถิ่นที่มีคนมาจากอมรโคยานทวีปอาศัยอยู่ได้นามว่า อปรันตชนบท. ถิ่นที่มีคนมาจากอุดรกุรุทวีปอาศัยอยู่ได้นามว่า กุรุรัฐ. แต่คนทั้งหลายเรียกด้วยพหูพจน์ โดยหมายถึงบ้านและนิคมจำนวนมาก เพราะเหตุดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่าประทับอยู่ที่หมู่บ้านกุรุทั้งหลาย (เป็นพหูพจน์) ดังนี้.

               ที่มาของคำว่า กัมมาสธัมมะ               
               ในบทว่า กมฺมาสธมฺมํ ในบรรดาคำว่า กมฺมาสธมฺมํ นาม กุรูนํ นิคโม นี้ อาจารย์บางพวกกล่าวอรรถาธิบายความ โดย (แปลง) อักษร เป็น อักษร. สถานที่ชื่อว่า กัมมาสธัมมะ เพราะเป็นที่ถูกทรมานของคนเท้าด่าง. พระเจ้าโปริสาทผู้มีพระบาทด่าง เขาเรียกว่า กัมมาสะ (เจ้าองค์ด่าง).
               เล่ากันมาว่า แผลเป็นที่พระบาทในที่ที่ถูกตอตำ งอกขึ้นคล้ายไม้มีลาย เพราะฉะนั้น จึงปรากฏว่ามีพระบาทด่าง. และในโอกาสนั้น พระองค์ถูกทรมานแล้วถูกห้ามจากความเป็นมนุษย์กินคน.
               ใครทรมาน? พระมหาสัตว์.
               ถามว่า ในชาดกอะไร?
               แก้ว่า พระเถระพวกหนึ่ง (อ้างว่ามา) ในสุตตโสมชาดก.
               แต่พระเถระเหล่านี้บอกว่า มาในชยทิสชาดก.
               จริงอย่างนั้น พระมหาสัตว์เจ้าได้ทรงทรมานพระเจ้าโปริสาทผู้มีพระบาทด่าง.
               ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า :-
                         ปางเมื่อเราเป็นพระบรมโอรสาธิราชของพระเจ้าชยทิสผู้ทรง
                         เป็นราชาธิบดีแห่งปัญจาลรัฐได้สละชีวิต ปลดเปลื้องพระราช
                         บิดาแล้ว อีกอย่างหนึ่ง เราได้ให้พระเจ้าโปริสาทผู้มีพระบาท
                         ด่างเลื่อมใสแล้ว ดังนี้.
               แต่บางอาจารย์อรรถาธิบายด้วย อักษรอย่างเดียว.
               ดังที่เล่ากันมาว่า ชาวกุรุรัฐมีขนบธรรมเนียมประจำกุรุรัฐ แต่เกิดความด่างพร้อยขึ้นในขนบธรรมเนียมนั้น เพราะฉะนั้น ที่ที่ด่างพร้อยนั้นจึงถูกเรียกว่า กัมมาสธัมมะ เพราะมีธรรมคือความด่างพร้อยเกิดขึ้น.
               ถามว่า เหตุไฉนท่านจึงไม่กล่าวชื่อนิคมที่อยู่อาศัยกันแห่งนี้เท่านั้นไว้ด้วยสัตตมีวิภัตติ ในคำว่า กัมมาสธัมมะ นั้น?
               แก้ว่า เพราะ (พระผู้มีพระภาคเจ้า) ไม่มีโอกาสที่จะประทับ.
               ได้ทราบว่า ไม่มีวิหารอะไรที่เป็นโอกาสให้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับในนิคมนั้นเลย. แต่ห่างออกจากนิคมไป ได้มีไพรสณฑ์ใหญ่ในภูมิภาคแห่งหนึ่ง สมบูรณ์ด้วยน้ำเป็นรมณียสถาน. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับที่มหาไพรสณฑ์นั้น ทรงเอานิคมนั้นเป็นโคจรคาม (บ้านรับบิณฑบาต). เพราะฉะนั้น ควรเข้าใจความหมายในเรื่องนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับที่หมู่บ้านกุรุ ทรงเอานิคมของชาวกุรุที่ชื่อว่ากัมมาสธัมมะ เป็นโคจรคาม.
               [๑๓๒] พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค ดังต่อไปนี้ :-

               ทำไมจึงตรัสสติปัฏฐานสูตรที่กุรุรัฐ?               
               ถามว่า เหตุไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสพระสูตรนี้ในแคว้นกุรุรัฐนั้น?
               ตอบว่า เพราะชาวกุรุสามารถจะรับเอาพระธรรมเทศนาที่ลึกซึ้งได้.
               ได้ทราบว่า ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลายชาวกุรุรัฐ เป็นผู้มีร่างกายและจิตใจเหมาะสมเป็นนิจ ด้วยสามารถแห่งปัจจัยคือฤดูเป็นที่สบาย เพราะรัฐนั้นสมบูรณ์ด้วยปัจจัยคือฤดู. คนเหล่านั้นมีกำลังปัญญา อันความเหมาะสมแห่งจิตใจและร่างกายอนุเคราะห์แล้ว จะเป็นผู้สามารถรับ (ฟัง) ถ้อยคำที่ลึกซึ้งได้. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงเล็งเห็นว่าคนเหล่านั้นสามารถจะรับ (ฟัง) พระธรรมเทศนาอันลึกซึ้งนี้ได้ จึงได้ตรัสสติปัฏฐานสูตรที่มีอรรถลึกล้ำนี้ โดยเพิ่มพระกรรมฐานเข้าในพระอรหัตในฐานะ ๑๙ อย่าง.
               อุปมาเหมือนบุรุษได้ผอบทองคำแล้ว บรรจุดอกไม้นานาชนิดไว้ในนั้น หรือได้หีบทองคำแล้ว เก็บรัตนะทั้ง ๗ ไว้ (ในนั้น) ฉันใด. พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น ครั้นทรงได้ชาวกุรุรัฐบริษัท๑- จึงได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่ลึกซึ้ง.
____________________________
๑- ปาฐะว่า กุรุรฏวาสีนํ ฉบับพม่าเป็น กุรุรฏฺฐวาสีปริสํ แปลตามพม่า.

               ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์นี้ จึงได้ทรงแสดงพระสูตรที่มีเนื้อความลึกซึ้งไว้อย่างหนึ่ง ในทีฆนิกาย ได้ทรงแสดงไว้อีกอย่างหนึ่งคือ มหานิทานสูตรมหาสติปัฏฐานสูตร ๑ (และ) ในมัชฌิมนิกายนี้ ได้ทรงแสดงพระสูตรไว้ อีกอย่างหนึ่ง คือ สาโรปมสูตร ๑ รุกขูปมสูตร ๑ รัฏฐปาลสูตรมาคัณฑิยสูตรอานัญชสัปปายสูตร ๑.
               อีกอย่างหนึ่ง ในชนบทนั้นตามปกติแล้ว บริษัททั้ง ๔ พากันประกอบความเพียรเนืองๆ ในสติปัฏฐานภาวนาอยู่ โดยที่สุดแม้พวกทาส, กรรมกร และบริวารชน ก็พูดจากันเกี่ยวกับสติปัฏฐานนั้น. แม้แต่ที่ท่าน้ำและสถานที่ปั่นด้ายกันเป็นต้น ขึ้นชื่อว่าการพูดกันในเรื่องไร้ประโยชน์จะเป็นไปไม่ได้เลย.
               ถ้าหญิงคนใดคนหนึ่งถูกถามว่า คุณแม่จ๋า คุณแม่มนสิการสติปัฏฐานภาวนาข้อไหน? แล้วตอบว่า ไม่ได้มนสิการข้อไหนเลย. คนทั้งหลายจะตำหนิเธอว่า ชีวิตของเธอไร้ประโยชน์ เธอถึงจะมีชีวิตอยู่ก็เช่นกับคนตายแล้ว. จึงได้ให้โอวาทเธอว่า ทีนี้อย่าได้ทำอย่างนี้ แล้วให้เรียนเอาสติปัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง. แต่ (ถ้า) หญิงใดพูดว่า ฉันมนสิการสติปัฏฐานชื่อโน้น. คนทั้งหลายจะพากันให้สาธุการว่า สาธุ สาธุ แล้วสรรเสริญด้วยถ้อยคำทั้งหลายมีอาทิว่า ชีวิตของเธอเป็นชีวิตที่ดีแล้ว เธอชื่อว่าเป็นมนุษย์สมบูรณ์แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นมาเพื่อประโยชน์แก่เธอ.
               ก็ในเรื่องนี้ไม่เฉพาะแต่มนุษย์ชาติอย่างเดียวเท่านั้นที่พากันประกอบมนสิการสติปัฏฐาน แม้แต่พวกสัตว์เดียรัจฉานที่อาศัยเขาอยู่ (ก็มนสิการสติปัฏฐาน) ในการทำมนสิการสติปัฏฐานของสัตว์นั้น มีเรื่องเล่าดังต่อไปนี้ :-

               นกแขกเต้าเจริญสติปัฏฐาน               
               เล่ากันมาว่า นักฟ้อนรำคนหนึ่งเที่ยวจับลูกนกแขกเต้ามาฝึก. นางอาศัยสำนักภิกษุณีอยู่ เวลาไปก็ไป (แต่ตัว) ลืมลูกนกแขกเต้า เหล่าสามเณรีจึงจับมันมาเลี้ยงไว้. ตั้งชื่อให้มันว่า พุทธรักขิต (พุทธรักษา).
               อยู่มาวันหนึ่ง พระเถรีเห็นมันเจ่าอยู่ข้างหน้า จึงเรียกว่า พุทธรักษา.
               มันขานรับว่า อะไรคะ คุณแม่.
               มีมนสิการภาวนา อะไรบ้างไหม? พระเถรีถาม.
               ไม่มีคะ คุณแม่ นกตอบ.
               พระเถรีพูดว่า แกเอ๋ย ธรรมดาผู้อยู่ในสำนักบรรพชิต ไม่ควรจะเป็นอยู่โดยปล่อยอัตภาพเสีย (ปล่อยตัว) ควรปรารถนามนสิการอะไรบางอย่างนะ แล้วได้บอกว่า แต่อย่างอื่นเจ้าไม่สามารถ (ทำได้) จงสาธยาย (บริกรรม) ว่า อฏฺฐิ อฏฺฐิ (กระดูก กระดูก).
               มันตั้งอยู่ในโอวาทของพระเถรี เที่ยวสาธยายว่า อฏฺฐิ อฏฺฐิ (กระดูก กระดูก).
               อยู่มาวันหนึ่ง ตอนเช้ามันเกาะปลายเสาผึ่งแดดอ่อนอยู่ นกตัวหนึ่งได้เอากรงเล็บเฉี่ยวเอาไป. มันส่งเสียงร้อง แจ๊ด แจ๊ด. สามเณรีทั้งหลายได้ยินเสียงร้อง จึงพูดว่า คุณแม่ขา พุทธรักษาถูกนกเฉี่ยวไป หนูจะไปช่วยให้มันปล่อย แล้วพากันถือเอาก้อนดินเป็นต้นติดตามไป ให้มันปล่อยจนได้. พระเถรีถามมันผู้ที่เขาช่วยนำมา เกาะอยู่ข้างหน้าว่า พุทธรักษาเวลานกเฉี่ยวเอาไป แกคิดอะไร?
               มันตอบว่า คุณแม่เจ้าขา ดิฉันไม่ได้คิดอย่างอื่น คุณแม่ ดิฉันคิดถึงกองกระดูกเท่านั้นอย่างนี้ว่า กองกระดูกนั้นแหละเฉี่ยวเอากองกระดูกไป กองกระดูกจะเกลื่อนกลาดไป ไม่ว่าแม้ในที่ไหน?
               ดีแล้ว ดีแล้ว พุทธรักษา (การมนสิการอย่างนั้น) จักเป็นปัจจัยของความสิ้นไปแห่งภพของเธอในอนาคต พระเถรีกล่าว.
               แม้สัตว์เดียรัจฉานในชนบทนั้นก็ประกอบมนสิการในสติปัฏฐานดังที่กล่าวมาแล้วนี้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงยังความเจริญในสติปัฏฐานนั้นเองให้เกิดแก่เขาเหล่านั้น จึงได้ตรัสพระสูตรนี้ไว้.

               ความหมายของเอกายนะ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอกายโน แปลว่า ทางเอก.
                         เพราะว่าทางมีชื่อมากอย่าง คือ มรรคา, ปันถะ, ปถะ,
                         ปัชชะ, อัญชสะ, วฏุมะ, อายตนะ, นาวา, อุตตรเสตู,
                         กุลละ, ภิสิ, และสังกมะ.
               ในสติปัฏฐานสูตรนี้ พระองค์ตรัสทางนี้นั้นไว้โดยชื่อว่า อยนะ. เพราะฉะนั้น ในคำว่า เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเอก) นี้ควรเข้าใจความหมายอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเดียว ไม่ใช่เป็นทาง ๒ สาย.
               อีกอย่างหนึ่ง ทางชื่อว่า เอกายนะ เพราะคนคนเดียวเท่านั้นพึงไป. คำว่า คนเดียว คือควรละการคลุกคลีด้วยหมู่ ปลีกตัวออก เงียบสงัด ดำเนินไป คือปฏิบัติ (คนเดียว) หรือชื่อว่าอยนะ เพราะเป็นเหตุดำเนินไป คือไปจากสงสาร ถึงพระนิพพาน.
               ทางดำเนินของผู้เป็นเอก ชื่อว่า เอกายนะ คำว่า ผู้เป็นเอก ได้แก่ ผู้ประเสริฐที่สุด. และผู้ประเสริฐที่สุดกว่าสรรพสัตว์ คือพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะฉะนั้น จึงมีอธิบายว่า ได้แก่ (ทางดำเนิน) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               อันที่จริง ถึงคนอื่นก็ดำเนินไปตามทางนั้นได้ แต่ถึงอย่างนั้น ทางนั้นก็ชื่อว่าเป็นทางเสด็จดำเนินของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะพระองค์ทรงสร้างขึ้น. ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงยังทางที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้เป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อยนะ เพราะไป คือดำเนินไป. อธิบายว่า เป็นไป. มีอธิบายว่า ไปในที่เดียวกัน คือเป็นไปในธรรมวินัย (ศาสนา) นี้เท่านั้น ไม่ใช่ไปที่อื่น.
               ดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนสุภัททะ อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในพระธรรมวินัย (ศาสนา) นี้เอง.
               ความจริง เนื้อความทั้ง ๒ นี้ต่างกันเพียงเทศนา (โวหาร) เท่านั้น แต่ก็มีเนื้อความเป็นอันเดียวกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เอกายนะ เพราะไปสู่จุดหมายเดียวกัน มีอธิบายว่า ในตอนต้นถึงแม้จะเป็นไปโดยนัยแห่งภาวนาที่เป็นหลักแตกต่างกัน แต่ตอนหลัง ก็จะไปถึงนิพพานแห่งเดียวกันนั้นแหละ.
               ดังที่ท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวไว้ว่า :-
                         พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงเห็นที่สุดแห่งการสิ้นความเกิด
                         ทรงอนุเคราะห์เกื้อกูล (ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ) ทรง
                         ทราบทางไปสู่ที่แห่งเดียว (พระนิพพาน) ด้วยทางสายนี้
                         ที่คนทั้งหลายได้เคยข้ามโอฆะห้วงน้ำมาแล้ว กำลังข้าม
                         อยู่ และจักข้ามต่อไป.
               แต่อาจารย์บางเหล่ากล่าวว่า ชื่อว่า เอกายนะ เพราะไปถึงนิพพานครั้งเดียว ตามนัยแห่งความว่า ไม่ไปถึงฝั่ง (คือพระนิพพาน) ถึง ๒ ครั้ง. คำนั้นไม่ถูก เพราะว่า อรรถะ (ความหมาย) อย่างนี้ พยัญชนะควรจะเป็นอย่างนี้ว่า สกึ อยโน (ไม่ใช่เอกายโน). แต่ถ้าจะกล่าวประกอบความอย่างนี้ว่า ทางนั้นมีทางไปอย่างเดียว คือมีคติ ได้แก่มีความเป็นไปอย่างเดียว ดังนี้ พยัญชนะก็ใช้ได้. แต่อรรถใช้ไม่ได้ทั้ง ๒ อย่าง.
               เพราะเหตุไร ?
               เพราะในที่นี้ทรงประสงค์เอามรรคที่เป็นบุพพภาค.
               อธิบายว่า ในที่นี้พระองค์ทรงประสงค์เอามรรคเป็นที่ตั้งสติ (สติปัฏฐาน) อันเป็นส่วนเบื้องต้น เป็นไปในอารมณ์ทั้ง ๔ มีกายเป็นต้น ไม่ใช่มรรคที่เป็นโลกุตตระ และมรรคที่เป็นส่วนเบื้องต้นนั้นก็ไปได้ไม่ใช่ครั้งเดียวด้วย ทั้งมีการไปไม่ใช่อย่างเดียว.

               ศิษย์กับอาจารย์สนทนากัน               
               อนึ่ง แม้เมื่อก่อน ในบทนี้ พระมหาเถระทั้งหลายก็ได้มีการสนทนากันมาแล้วเหมือนกัน. (คือ) พระตรีปิฎกจุลลนาคเถระได้กล่าวไว้ว่า เป็นทางสติปัฏฐานที่เป็นบุพพภาค. แต่อาจารย์ของท่าน คือพระตรีปิฎกจุลลสุมนเถระได้กล่าวไว้ว่า เป็นทางปนกันไป (ทั้งโลกิยะและโลกุตตระ).
               เป็นทางเบื้องต้น ครับ ใต้เท้า ท่านตรีปิฎกจุลลนาคเถระกล่าว
               เป็นทางปนกันไป คุณ ท่านตรีปิฎกจุลลสุมนเถระค้าน.
               เมื่ออาจารย์กล่าวย้ำแล้วย้ำอีก ศิษย์ก็นิ่งไม่คัดค้าน. (ทั้ง ๒ ท่าน) ก็ลุกขึ้นโดยไม่วินิจฉัย (ชี้ขาด) ปัญหาเลย. ภายหลังพระเถระผู้เป็นอาจารย์ไปที่ห้องอาบน้ำ คิดว่า เราพูดว่า เป็นทางปนกันไป แต่คุณจุลลนาคอ้างเอาว่า เป็นทางเบื้องต้น ในปัญหานี้จะมีวินิจฉัยกันอย่างไร จึงร่ายพระสูตรตั้งแต่ต้นไป กำหนด (ยุติ) ลงตรงนี้ว่า โย หิ โกจิ ภิกฺขเว อิเม จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน เอวํ ภาเวยฺย สตฺต วสฺสานิ (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งก็ตาม เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ เหล่านี้อย่างนี้ ตลอด ๗ ปี) ดังนี้ ท่านก็รู้ว่า ธรรมดาโลกุตตรมรรค ครั้นเกิดขึ้นแล้วจะหยุดชะงักอยู่ตลอด ๗ ปีไม่มี มรรคที่ปนกันไปที่เรากล่าวแล้วนั้นมีไม่ได้ ส่วนมรรคที่เป็นบุพพภาคที่คุณจุลลนาคแสดงแล้วมีได้ จึงได้ไป ณ ที่ที่สำหรับประกาศในวันธัมมัสสวนะ ๘ ค่ำ.
               ได้ทราบว่า พระเถระในปางก่อนชอบฟังธรรม. พอได้ยินเสียงเท่านั้น ก็คิดว่า เรา (จะฟัง) ก่อน เรา (จะฟัง) ก่อนแล้ว ลงฟังกันอย่างพร้อมพรั่งทีเดียว. และวันนั้นก็เป็นวาระของท่านจุลลนาคเถระ. เมื่อท่านนั่งบนธรรมาสน์ จับพัดแล้วกล่าวอารัมภบท (บุพพกถา) พระเถระที่ยืนอยู่หลังอาสนะได้มีความคิดว่า เราจะนั่งในที่ลับ ไม่พูด (อะไร). เพราะว่า พระเถระในปางก่อนเป็นนักฟัง จะไม่เที่ยวยกความพอใจของตนขึ้นเป็นใหญ่อย่างเดียว เหมือนคนแบกมัดอ้อยไว้ฉะนั้น ถือเหตุผลอย่างเดียว สลัดสิ่งที่ไม่มีเหตุผลทิ้ง เพราะฉะนั้น พระเถระจึงพูดว่า คุณ จุลลนาค.
               ท่าน (จุลลนาค) สงสัยว่า ดูเหมือนเสียงท่านอาจารย์ได้หยุดแสดงธรรมแล้ว เรียนว่า อะไรครับ ใต้เท้า?
               คุณจุลลนาค มรรคปนกันไปที่ฉันว่านั้น ไม่มี แต่มรรคคือสติปัฏฐานที่เป็นบุพพภาค ที่คุณว่านั้น มี พระเถระพูดตอบ.
               พระเถระ (จุลลนาค) คิดว่า อาจารย์ของเราเรียนปริยัติทั่วถึง ทรงจำไตรปิฎกไว้ได้เป็นสุตพุทธ ปัญหานี้ยังมัวสำหรับพระภิกษุถึงขนาดนี้ (ชั้นอาจารย์) พระภิกษุที่เป็นรุ่นน้องในอนาคตจักพิศวงปัญหานี้ (แน่นอน) เราจักเอาพระสูตรมาแก้ปัญหานี้ไม่ให้ดิ้นได้.
               จากคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค บุพพภาคสติปัฏฐานมรรค ท่านเรียกว่า เอกายนมรรค.
               พระเถระได้นำเอาพระสูตรมาตั้งว่า
                         บรรดาทางทั้งหลาย ทางมีองค์ ๘ ประเสริฐที่สุด
                         บรรดาสัจจะทั้งหลาย บท (สัจจะ) ทั้ง ๔ ประเสริฐที่สุด
                         บรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคธรรมประเสริฐที่สุด และ
                         บรรดาสัตว์ ๒ เท้าทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
                         ผู้ทรงมีปัญญาจักษุ ประเสริฐที่สุด
                         ทางสายนี้เท่านั้นไม่มีทางสายอื่นที่เป็นไป เพื่อความ
                         บริสุทธิ์แห่งทัสสนะ. เธอทั้งหลายจงเดินทางสายนั้นเถิด
                         ที่ให้มารและเสนามารหลง เพราะว่าเธอทั้งหลายเดินทาง
                         สายนั้นแล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

               อธิบายมรรค               
               ทางชื่อว่า มรรค เพราะหมายความว่า อย่างไร?
               เพราะหมายความว่า เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน และเพราะหมายความว่า ผู้มีความต้องการพระนิพพานจะต้องดำเนินไป.
               บทว่า สตฺตานํ วิสุทฺธิยา (เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย) ความว่า เพื่อประโยชน์แก่ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีจิตเศร้าหมองแล้ว เพราะมลทินทั้งหลายมีราคะเป็นต้น และเพราะอุปกิเลสทั้งหลายมีอภิชฌาวิสมโลภเป็นต้น.
               จริงอย่างนั้น ก็สัตว์เหล่านี้ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำนวนมากพระองค์ ตั้งต้นแต่พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ตัณหังกร, เมธังกร, สรณังกร, ทีปังกรที่ได้เสด็จอุบัติแล้วในกัปกัปเดียวกันนั้นแหละ ก่อนแต่กัปนี้ไป ๔ อสงไขยเศษแสนกัป จนถึงพระศากยมุนีเป็นที่สุดก็ดี พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าหลายร้อยพระองค์ก็ดี พระอริยสาวกเหลือที่จะคณานับก็ดี ได้ทรงลอยและลอยมลทินของจิตทั้งมวลแล้ว ทรงบรรลุและบรรลุความบริสุทธิ์อย่างยอดเยี่ยม ก็ด้วยทางสายนี้.
               แต่ด้วยสามารถแห่งมลทินของรูปจะไม่มีการบัญญัติความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วเลย.
               จริงอย่างนั้น
                         พระมหาฤาษี (พระพุทธเจ้า) ไม่ได้ตรัสไว้ว่า
                         มาณพ (คน) ทั้งหลายเศร้าหมอง เพราะรูป
                         เศร้าหมอง บริสุทธิ์ในเพราะรูปบริสุทธิ์
                         แต่พระมหาฤาษีได้ตรัสไว้อย่างนี้ว่า มาณพ
                         (คน) ทั้งหลายเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง
                         บริสุทธิ์ ในเพราะจิตบริสุทธิ์.
               ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง ผ่องแผ้ว เพราะจิตผ่องแผ้ว. และความผ่องแผ้วของจิตนั้นมีได้ เพราะทางคือสติปัฏฐานนี้. เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสไว้ว่า เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย
               บทว่า โสกปริเทวนํ สมติกฺกมาย (เพื่อระงับโสกปริเทวะทั้งหลาย) ความว่า เพื่อระงับ. อธิบายว่า เพื่อละความโศกเศร้า และการคร่ำครวญทั้งหลาย.
               เพราะว่า มรรคนี้ บุคคลอบรมแล้ว เป็นไปเพื่อระงับความโศกเศร้า (ของคนทั้งหลายได้) เหมือนสันตติมหาอำมาตย์เป็นต้น และระงับการคร่ำครวญ (ของคนทั้งหลาย) ได้ เหมือนปฏาจาราเถรีเป็นต้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะทั้งหลาย.
               ความจริง สันตติมหาอำมาตย์ ถึงจะได้สดับพระคาถาบทนี้ว่า
                         สิ่งใดจะมีข้างหน้า เธอจงละมันเสีย เธออย่าได้มี
                         ความกังวลอะไรในภายหลัง ถ้าเธอจักไม่ยึดอะไร
                         ในท่ามกลาง เธอจักเป็นผู้สงบ เที่ยวไป ดังนี้.
               แล้วได้บรรลุอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.
               พระปฏาจาราเถรี ได้สดับพระคาถาบทนี้ว่า
                         บุตรไม่มีเพื่อการต้านทาน แม้บิดาและพวกพ้องก็
                         ไม่มีเพื่อการต้านทาน เมื่อหมู่สัตว์ถูกมัจจุครอบงำ
                         ย่อมไม่มีการต้านทานในหมู่ญาติทั้งหลาย.
               แล้วได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ก็จริงแล แต่ว่า เพราะขึ้นชื่อว่าภาวนาแล้ว จะไม่เกี่ยวกับธรรมะข้อไหนในกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นไม่มี เพราะฉะนั้น แม้ทั้ง ๒ ท่านนั้น ก็ต้องทราบไว้ด้วยว่า ก้าวล่วงโสกปริเทวะไปได้ เพราะทางสายนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย (เพื่อระงับทุกข์โทมนัสทั้งหลาย) หมายความว่า เพื่อระงับ.
               อธิบายว่า เพื่อดับทุกข์ทั้ง ๒ อย่างนี้ คือ ทุกข์ทางกาย ๑ โทมนัสทางใจ ๑. ด้วยว่า มรรคนี้ คนอบรมแล้ว จะเป็นไปเพื่อดับทุกข์ของคนทั้งหลาย เหมือนของพระติสสเถระเป็นต้น และเพื่อดับโทมนัสของคนทั้งหลาย เหมือนของท้าวสักกะเป็นต้น.
               ในเรื่องนั้น มีการแสดงเนื้อความดังต่อไปนี้:-

               พระเถระทุบเท้า               
               เล่ากันมาว่า ในนครสาวัตถี บุตรชาวกุฎุมพี ชื่อว่า ติสสะ ละทิ้งเงิน ๔๐ โกฏิ ออกบวชแล้วอยู่ในป่า ที่ไม่มีบ้าน. ภรรยาน้องชายคนสุดท้องของเขา ส่งโจร ๕๐๐ คนไปโดยสั่งว่า ไปเถอะ พวกเจ้าจงปลงชีวิตพระรูปนั้น พวกเขาพากันไปนั่งล้อมพระเถระไว้.
               พระเถระพูดว่า พากันมาทำไม อุบาสก?
               พวกผมจักปลงชีวิตท่าน โจรบอก.
               อุบาสก ท่านทั้งหลาย จงยึดเอาตัวอาตมาไว้เป็นประกันแล้วให้ ชีวิตอาตมาไว้คืนวันนี้คืนเดียวเถิด พระเถระขอร้อง.
               ท่านสมณะ ใครจักเป็นผู้ค้ำประกันให้ท่านในที่นี้? โจรถาม.
               พระเถระหยิบหินก้อนใหญ่มาทุบกระดูกขาทั้ง ๒ ข้างให้หักแล้ว บอกว่า อุบาสกเอ๋ย ตัวประกัน (คนนี้) สมควร (ไหม?)
               พวกเขาพากันหลีกไปก่อไฟนอนที่ต้นทางเดินจงกรม (ของท่าน). เมื่อพระเถระข่มเวทนาไว้แล้ว พิจารณาศีล เพราะอาศัยศีลบริสุทธิ์ ปีติปราโมทย์จึงเกิดขึ้น.
               ลำดับต่อจากนั้น ท่านก็เจริญวิปัสสนา บำเพ็ญสมณธรรมตลอดราตรีทั้ง ๓ ยาม เวลารุ่งอรุณ ได้บรรลุพระอรหัตแล้วได้เปล่งอุทานบทนี้ว่า
                         เราทุบเท้าทั้ง ๒ ข้าง สัญญากะท่านทั้งหลายไว้
                         เราเอือมระอาความตายทั้งๆ ที่ยังมีราคะ ครั้น
                         คิดอย่างนี้แล้ว เราก็เห็นแจ้งตามความจริง เมื่อ
                         ถึงเวลาอรุณขึ้น จึงได้บรรลุพระอรหัต.

               พระได้บรรลุพระอรหัตในปากเสือโคร่ง               
               ภิกษุแม้เหล่าอื่นอีก ๓๐ รูปเรียนเอากรรมฐานในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วจำพรรษาที่อรัญวิหาร พูด (ตกลงกันไว้) ว่า คุณ เราทั้งหลายต้องบำเพ็ญสมณธรรมกันตลอดราตรีทั้ง ๓ ยาม และไม่ควรไปมาหาสู่กัน ดังนี้แล้ว จึงพากันอยู่.
               เมื่อท่านเหล่านั้นบำเพ็ญสมณธรรมแล้ว เวลาเช้าออกไป (จากวัด) เสือโคร่งตัวหนึ่งมาคาบเอาพระไปคราวละ ๑ รูป ไม่มีใครส่งเสียงเลยว่า เสือโคร่งตะครุบผม. เมื่อภิกษุถูกเสือคาบไปกินถึง ๑๕ รูปอย่างนี้ ในวันอุโบสถ จึงถามกันว่า พระนอกนี้ไปไหนกันคุณ? พอรู้เรื่องแล้วก็พูด (ตกลงกันใหม่) ว่า ต่อไปนี้ ใครถูกเสือโคร่งตะครุบควรบอกกันว่า เสือโคร่งตะครุบผมดังนี้แล้ว อยู่กันต่อไป.
               ภายหลัง เสือโคร่งได้ตะครุบภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งแบบครั้งก่อนนั้นแหละ. เธอได้บอกว่า ท่านครับ เสือโคร่ง. ภิกษุทั้งหลายพากันถือไม้เท้าและคบเพลิงติดตามไปด้วยหมายใจว่า จะให้มันปล่อย. เสือโคร่งได้ขึ้นไปที่ช่องเขาขาดที่พระขึ้นไปไม่ได้ เริ่มจะกินพระนั้น ตั้งแต่นิ้วเท้าขึ้นไป. พระภิกษุนอกจากนี้ได้พากันกล่าวว่า ท่านผู้เป็นสัตบุรุษเอ๋ย บัดนี้ พวกผมช่วยอะไรคุณไม่ได้แล้ว ธรรมดาคุณวิเศษของภิกษุทั้งหลายจะปรากฏ (ให้เห็น) ก็ในสถานการณ์เช่นนี้แหละ.
               ท่านนอนอยู่ใกล้ปากเสือโคร่งนั้นแหละ ข่มเวทนานั้นไว้ เจริญวิปัสสนาในเวลาเสือโคร่งกินไปจนถึงข้อเท้า เป็นพระโสดาบัน เวลากินถึงเข่า เป็นพระสกทาคามี เวลากินถึงท้องเป็นพระอนาคามี ขณะกินยังไม่ถึงหัวใจนั่นแหละ ก็บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ได้เปล่งอุทานบทนี้ว่า :-
                         เรามีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร มีสมาธิ มีปัญญา เผลอ
                         ตัวไปชั่วครู่ ไม่ได้ระมัดระวังเสือโคร่ง เสือโคร่ง
                         ตะครุบเราไว้ในกรงเล็บ นำเข้ามาที่ภูเขา จะกินเรา
                         แน่ กาย (ของเรา) ที่ไม่มีจิตใจจะเป็นอาหาร (มัน)
                         เมื่อ (เรา) กลับได้กรรมฐาน มรณสติจะเจริญ.

               พระเถระถูกแทงบรรลุพระอรหัต               
               อีกรูปหนึ่งชื่อว่าทีปมัลลเถระ เวลาเป็นคฤหัสถ์ ถือเอาผ้าที่กองขยะ ๓ กองมายังตัมพปัณณิทวีป เฝ้าพระราชา แล้วได้รับราชานุเคราะห์. วันหนึ่งเดินไปทางประตูศาลากิลัญชกาสนะ ได้ฟังนตุมหากวัตรว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละทิ้งมันไป รูปนั้นที่เธอทั้งหลายละได้แล้ว จักมีประโยชน์เกื้อกูลและความสุขตลอดกาลนาน แล้วคิดว่า นัยว่า รูปไม่ใช่ของตนเลย เวทนาก็ไม่ใช่ของตน. เขาทำนตุมหากวัตรนั้นให้เป็นเหมือนขอช้าง ออกไปยังมหาวิหาร ขอบรรพชา บรรพชาอุปสมบท เล่าท่องมาติกาทั้ง ๒ ได้คล่องแคล่ว แล้วพาภิกษุ ๓๐ รูปไปยังเนิน ชื่อว่า ครวาลิยะ บำเพ็ญสมณธรรม. เมื่อเท้าบวมก็เดินจงกรมด้วยเข่า.
               ในคืนวันนั้น พรานเนื้อคนหนึ่งเข้าใจว่า ท่านเป็นเนื้อ จึงแทงท่าน. หอกทะลุเข้าไป ท่านให้เขาเอาหอกออก แล้วเอาม้วนหญ้าอุดปากแผลไว้ให้เต็ม พยุงตนนั่งเหนือลานหิน ถือโอกาสเจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา. พยากรณ์แก่ภิกษุผู้มาเพราะเสียงไอ (ของท่าน) แล้วได้เปล่งอุทานนี้ว่า :-
                         พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด (ผู้มีปกติตรัสธรรมอัน
                         เลิศแก่สรรพสัตว์) ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
                         รูปนี้ไม่ใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละทิ้งมันไป
                         สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น และ
                         เสื่อมไปเป็นธรรมดา ครั้นเกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไป
                         ความระงับแห่งสังขารเหล่านั้น เป็นสุข.
               ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้พูดกะท่านว่า ท่านผู้เจริญ ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงประชวรแล้วไซร้ พระองค์จะต้องทรงเหยียดพระหัตถ์ (ข้ามสมุทร) มาลูบศีรษะท่านเป็นแน่.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ทางสายนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย เหมือนของพระติสสเถระเป็นต้น.

               ท้าวสักกะจุติแล้วอุบัติทันที               
               ก็ท้าวสักกะจอมเทพ ครั้นทรงเห็นบุพพนิมิต ๕ อย่างของพระองค์แล้ว ทรงถูกมรณภัยคุกคาม เกิดเสียพระทัย จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงถามปัญหา. ในอวสานแห่งการวิสัชนาปัญหา ท้าวเธอได้บรรลุโสดาปัตติผล พร้อมด้วยเทวดา ๘ หมื่นตน ท้าวเธอ (จุติแล้ว) ได้เสด็จอุบัติขึ้นใหม่เป็นปกติดังเดิมอีก.

               เทวดาตกนรก               
               แม้สุพรหมเทพบุตรมีเทพอัปสรพันหนึ่งเป็นบริวาร เสวยสวรรค์สมบัติ บรรดาเทพอัปสรสาวสวรรค์พันหนึ่งนั้น เทพอัปสร ๕๐๐ ตนกำลังเก็บดอกไม้จากต้นอยู่หลัดๆ ก็จุติ๑- แล้วเกิดในนรก.
____________________________
๑- ปาฐะเป็น จริตฺวา ฉบับพม่าเป็น จวิตฺวา จึงแปลตามฉบับพม่า

               ท้าวเธอทรงใคร่ครวญดูว่า สาวอัปสรเหล่านี้ เหตุใดจึงช้าอยู่? ได้ทรงเห็นว่า เขาเหล่านั้นเกิดในนรกแล้ว ทรงตรวจดูว่า อายุของเราจะเท่าไรหนอ? พอทรงทราบพระชนมายุของพระองค์ก็จักสิ้นไปเหมือนกัน ก็ทรงเห็นว่า พระองค์จะทรงเกิดในนรกนั้นแหละ จึงตกพระทัย ทรงโทมนัสเหลือเกิน ทรงดำริว่า พระศาสดาจักขจัดโทมนัสของเรานี้ได้ ผู้อื่นขจัดไม่ได้ แล้วได้ทรงพาเทพอัปสรสาวสวรรค์ ๕๐๐ ที่ยังเหลือไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามปัญหาว่า :-
                         จิตนี้สะดุ้งอยู่เนืองนิตย์ จิตคือใจนี้หวาดผวาเป็นประจำ
                         เมื่อกิจ (เหตุ) เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิดขึ้น ถ้าหาก
                         ความไม่สะดุ้งกลัวมีอยู่ ขอพระองค์ผู้อันข้าพระองค์ทูล
                         ถามแล้ว จงตรัสบอกความไม่สะดุ้งนั้นแก่ข้าพระองค์
                         ด้วยเถิด.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท้าวเธอว่า :-
                         เรามองไม่เห็นความสวัสดีอย่างอื่นของสัตว์ทั้งหลาย
                         นอกจากการบำเพ็ญเพียร อันเป็นองค์แห่งการตรัสรู้
                         นอกจากการสำรวมอินทรีย์ (และ) นอกจากการความ
                         สละวางทั้งหมด.
               ในเวลาจบพระธรรมเทศนา ท้าวเธอดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมด้วยเทพอัปสร ๕๐๐ ทรงทำทิพยสมบัตินั้นให้มีเสถียรภาพแล้ว ได้เสด็จไปยังเทวโลกตามเดิม.
               ทางนี้บุคคลผู้เจริญแล้ว พึงเข้าใจว่า เป็นไปเพื่อดับโทมนัสของสัตว์ทั้งหลาย เหมือนของท้าวสักกะเป็นต้น ดังที่พรรณนามานี้.
               อริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น ท่านเรียกว่า ญายะ ในคำว่า ญายสฺส อธิคมาย เพื่อบรรลุ. อธิบายว่า เพื่อถึงอริยมรรคนั้น เพราะว่ามรรค สติปัฏฐานอันเป็นโลกิยะในส่วนเบื้องต้นนี้อันบุคคลเจริญแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อบรรลุโลกุตตรมรรค. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ญายสฺส อธิคมาย.
               บทว่า นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย (เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน) ความว่า เพื่อกระทำให้แจ้ง ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า เพื่อประจักษ์ด้วยตนเอง ซึ่งอมตธรรมที่ได้นามว่าพระนิพพาน เพราะเว้นจากตัณหาเครื่องร้อยรัด. เพราะว่ามรรคนี้ที่บุคคลอบรมแล้ว ให้สำเร็จการทำให้แจ้งพระนิพพาน ตามลำดับ. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย.
               บรรดาคำเหล่านั้น เมื่อพระองค์ตรัสว่า เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย คำว่า ก้าวล่วงความโศกเป็นต้น ก็เป็นอันสำเร็จความหมายไปด้วย ก็จริง แต่ก็ยังไม่ปรากฏแก่ผู้อื่น นอกจากผู้ฉลาดในข้อยุติของศาสนา และพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงทำให้คนเป็นผู้ฉลาดในข้อยุติของศาสนาก่อนแล้ว จึงทรงแสดงธรรมภายหลัง แต่ทรงให้เข้าใจผลที่ต้องการนั้นๆ ด้วยสูตรนั้นๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้น ในสติปัฏฐานสูตรนี้ เมื่อพระองค์จะทรงแสดงผลที่ต้องการซึ่งเอกายนมรรคจะให้สำเร็จได้ให้ปรากฏ จึงได้ตรัสไว้ว่า โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะทั้งหลาย ดังนี้เป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายจะเป็นไปพร้อมก็ด้วยเอกามรรค ความบริสุทธิ์จะมีได้เพราะก้าวล่วงโสกปริเทวะ การก้าวล่วงโสกปริเทวะจะมีได้เพราะทุกข์โทมนัสดับไป การดับทุกข์โทมนัสจะมีได้เพราะได้บรรลุญายธรรม การบรรลุญายธรรมจะมีได้เพราะการทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ฉะนั้น พระองค์เพื่อทรงแสดงลำดับนี้แล้ว จึงตรัสว่า สตฺตานํ วิสุทฺธิยา เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย แล้วได้ตรัสคำมีอาทินี้ไว้ว่า โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย เพื่อระงับโสกะและปริเทวะ.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า สตฺตานํ วิสุทฺธิยา เป็นต้นนี้ เป็นคำกล่าวสรรเสริญเอกายนมรรค เหมือนอย่างว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสรรเสริญเทศนา ๖ หมวด หมวดละ ๖ ข้อ ด้วยบท ๘.
               บทว่า ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตจักแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จักประกาศพรหมจรรย์ (ศาสนา) ที่บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ คือพรหมจรรย์ ๖ หมวด หมวดละ ๖ ข้อแก่เธอทั้งหลาย และได้ตรัสสรรเสริญอริยวงศ์เทศนาไว้ด้วยบท ๙ บทว่า
               ภิกษุทั้งหลาย อริยวงศ์ ๔ อย่างเหล่านี้ เป็นของที่ผู้รู้รู้กันว่าเลิศ รู้กันมานาน รู้กันว่าเป็นวงศ์ (ของพระอริยเจ้า) เป็นของเก่าไม่เกลื่อนกลาด ไม่เคยเกลื่อนกลาด ไม่ถูกระแวง ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้านฉันใด.
               พระองค์ก็ได้ตรัสสรรเสริญเอกายนมรรค แม้นี้ไว้ด้วยบท ๗ บทมีบทว่า เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลายเป็นต้นฉันนั้น.
               หากจะถามว่า เพราะเหตุไร?
               แก้ว่า เพื่อจะให้เกิดอุตสาหะแก่ภิกษุเหล่านั้น.
               ด้วยว่า ภิกษุเหล่านั้น ครั้นได้สดับการตรัสสรรเสริญแล้วจักเกิดอุตสาหะขึ้นว่า ทางสายนี้จะนำอุปัทวะทั้ง ๔ ออกไป คือ ความโศกที่เป็นสิ่งแผดเผาใจ ๑ ความคร่ำครวญที่เป็นการรำพันทางวาจา ๑ ความทุกข์ที่เป็นความไม่สำราญทางกาย ๑ ความเสียใจซึ่งเป็นความไม่แช่มชื่นทางใจ ๑ (และ) นำคุณวิเศษ ๓ อย่างมาให้ คือ วิสุทธิความหมดจด ๑ ญายธรรมที่ควรรู้ ๑ นิพพานความดับ (กิเลส) ๑ ดังนี้แล้ว จักสำคัญพระธรรมเทศนานี้ว่า ต้องเรียน ต้องท่อง ต้องทรงจำ ต้องบอกสอน และจักสำคัญทางสายนี้ว่าต้องเจริญ (ดำเนิน).
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสรรเสริญ (เอกายนมรรค) เพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นเกิดอุตสาหะ ด้วยประการดังที่พรรณนามานี้ เหมือนกับพ่อค้าผ้าขนสัตว์เป็นต้น กล่าวสรรเสริญคุณภาพผ้าขนสัตว์เป็นต้นฉะนั้น.
               ความพิสดารว่า เมื่อพ่อค้าผ้าขนสัตว์สีเหลือง (บัณฑุกัมพล) ราคาแสน โฆษณาว่า เชิญรับผ้าขนสัตว์ครับ คนทั้งหลายยังไม่ทราบก่อนว่า เป็นผ้ากัมพลชนิดโน้น. เพราะว่า แม้ผ้าเกสกัมพลและผ้าพาลกัมพลเป็นต้น ที่มีกลิ่นเหม็น เนื้อหยาบ (ห่มสาก) เขาก็เรียกว่าผ้ากัมพลเหมือนกัน. แต่เมื่อใดเขาโฆษณาว่า ผ้ากัมพลแดงจากคันธารราฐ เนื้อละเอียด มันเป็นเงา ห่มนุ่มนวล.
               เมื่อนั้น คนที่มีทรัพย์พอก็จะรับ (ซื้อ) ส่วนคนที่มีไม่พอก็อยากชมฉันใด. แม้เมื่อพระองค์ตรัสว่าทางสายนี้เป็นทางสายเอก ก็ยังไม่ชัดแจ้งว่าเป็นทางสายโน้นฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะว่า ทางที่ไม่นำออกจากทุกข์นานัปการ เขาก็เรียกว่าทางเหมือนกัน. แต่เมื่อตรัสคำมีอาทิว่า สตฺตานํ วิสุทฺธิยา เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายก็จะเกิดอุตสาหะว่า ได้ทราบว่า ทางสายนี้นำอุปัทวะทั้ง ๔ ออกไป นำคุณวิเศษ ๓ ประการมาให้ จักสำคัญพระธรรมเทศนานี้ว่า ต้องเรียน ต้องท่อง ต้องทรงจำ ต้องบอกสอน จักสำคัญทางนี้ว่าต้องเจริญ (ดำเนินตาม) ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสสรรเสริญ (เอกายนมรรค) จึงได้ตรัสไว้ว่า สตฺตานํ วิสุทฺธิยา.
               และในเรื่องนี้ ควรนำข้อเปรียบเทียบกับพ่อค้าทองชมพูนุทสีแดง พ่อค้าแก้วมณี น้ำใสสะอาด พ่อค้าแก้วมุกดาหาร ใสสะอาด และพ่อค้าแก้วประพาฬ ที่เจียระไนแล้วเป็นต้นมา เหมือนข้อเปรียบเทียบกับพ่อค้าบัณฑุกัมพลราคาแสนฉะนั้น.

               อธิบายศัพท์ว่า ยทิทํ               
               ศัพท์ว่า ยทิทํ เป็นนิบาต มีเนื้อความเท่ากับ เย อิเม. ศัพท์ว่า จตฺตาโร เป็นการกำหนดนับ (จำนวนนับ). ด้วยศัพท์นั้น พระองค์ทรงแสดงถึงการกำหนด (จำนวน) สติปัฏฐานว่า มีไม่ต่ำไม่สูงไปกว่าจำนวนนั้น.

               แก้สติปัฏฐาน               
               บทว่า สติปัฏฐาน ได้แก่ สติปัฏฐาน ๓ อย่าง คือ อารมณ์แห่งสติ ๑ การที่พระศาสดาไม่ทรงดีพระทัย และเสียพระทัย ในเมื่อสาวกทั้งหลายปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๓ อย่าง ๑ สติ ๑.
               อธิบายว่า อารมณ์แห่งสติท่านเรียกว่า สติปัฏฐาน (เช่น) ในพระพุทธพจน์ทั้งหลาย มีอาทิว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตจักแสดงการเกิด และการดับของสติปัฏฐาน ๔ อย่าง เธอทั้งหลายจงฟังเทศนานั้น ฯลฯ
               ภิกษุทั้งหลาย ก็ความเกิดขึ้นแห่งกาย คืออะไร? การเกิดขึ้นแห่งอาหาร คือการเกิดขึ้นแห่งกาย.
               อีกอย่างหนึ่ง อารมณ์ของสติ ท่านเรียกว่าสติปัฏฐาน (เช่น) ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า กายเป็นที่เข้าไปตั้ง (ของสติ) ไม่ใช่ตัวสติ สติเป็นที่ตั้งด้วย เป็นตัวสติด้วย (ชื่อว่าสติปัฏฐาน) ดังนี้บ้าง.
               สติปัฏฐานนั้นมีอรรถว่า ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะเป็นที่ตั้ง.
               อะไรตั้ง? สติตั้ง. ที่ตั้งของสติ ชื่อว่า สติปัฏฐาน.
               อีกอย่างหนึ่ง สถานที่เป็นที่จอด (ประธาน) ฉะนั้น จึงชื่อว่าปัฏฐาน. สถานที่เป็นที่จอดของสตินั้น ชื่อว่าสติปัฏฐาน เหมือนกับสถานที่ยืนของช้างและสถานที่ยืนของม้าเป็นต้นฉะนั้น.
               สติปัฏฐาน ๓ อย่าง คือการที่พระศาสดาไม่ทรงดีพระทัยและเสียพระทัย ในเพราะสาวกทั้งหลายผู้ปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๓ อย่าง ท่านเรียกว่า สติปัฏฐาน (เช่น) ในพระพุทธพจน์แม้นี้ว่า พระศาสดาผู้ทรงเป็นพระอริยเจ้า เมื่อทรงซ่องเสพสิ่งที่พระอริยเจ้าซ่องเสพกัน ควรตามสอนหมู่คณะ ดังนี้.
               ข้อนั้นมีเนื้อความว่า ชื่อว่าปัฏฐานะ เพราะควรให้เริ่มตั้งไว้. อธิบายว่า เพราะควรให้เป็นไป (ประพฤติ).
               เพราะควรให้อะไรตั้ง?
               ควรให้สติตั้ง การตั้งสติ ชื่อว่าสติปัฏฐาน ดังนี้.
               ก็สตินั้นเอง ท่านเรียกว่า สติปัฏฐาน ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า สติปัฏฐานที่อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ให้โพชฌงค์ ๗ ประการบริบูรณ์ได้. ในข้อนั้นมีเนื้อความว่า ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะตั้งไว้. อธิบายว่า เข้าไปตั้งไว้ คือก้าวลง แล่นไป เป็นไป. ปัฏฐาน คือสตินั้นเอง จึงชื่อว่า สติปัฏฐาน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าสติ เพราะอรรถว่าระลึก ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะอรรถว่าเข้าไปตั้งไว้. สตินั้นด้วย การตั้งไว้ด้วย ฉะนั้น จึงชื่อว่าสติปัฏฐาน ด้วยประการดังนี้บ้าง. ในสติปัฏฐานสูตรนี้ ท่านประสงค์สติปัฏฐานข้อนี้.
               ถามว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น เหตุไฉน คำว่า สติปัฏฐาน จึงเป็นพหูพจน์?
               เพราะสติมีมาก.
               ความจริง ว่าโดยประเภทแห่งอารมณ์ สตินั้นมีมาก.
               เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไร คำว่า มรรค (ซึ่งมีมากเหมือนเกิน) จึงเป็นเอกพจน์.
               เพราะมีอย่างเดียว โดยอรรถว่า จะต้องดำเนินไป.
               จริงอยู่ สติเหล่านั้นแม้จะมี ๔ อย่าง แต่ก็ถึงความเป็นอย่างเดียวกัน ด้วยอรรถว่าต้องดำเนินไป. สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ทางชื่อว่ามรรค เพราะหมายความว่าอะไร?
               เพราะหมายความว่า เป็นเครื่องไปสู่นิพพาน และเพราะหมายความว่า ผู้มีความต้องการนิพพานจะต้องดำเนินไป.
               ก็สติแม้ทั้ง ๔ อย่างเหล่านั้น เมื่อยังกิจให้สำเร็จในอารมณ์ทั้งหลายมีกายเป็นต้น (จน) ถึงนิพพานในกาลภายหลัง และผู้มุ่งนิพพานก็ดำเนินไปตั้งแต่นั้น เพราะเหตุดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า สติแม้ทั้ง ๔ อย่างเป็นทางสายเอก.
               เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีเทศนาที่มีการสืบต่อกันมาตามลำดับทีเดียว ด้วยการสืบต่อถ้อยคำกันมา เหมือนในพระพุทธพจน์ทั้งหลายมีอาทิว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตจักแสดงทางสำหรับย่ำยีมารและเสนามาร เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทางสำหรับย่ำยีมารและเสนามารคืออะไร? คือโพชฌงค์ ๗ (องค์แห่งธรรมเป็นเหตุตรัสรู้)
               ทั้งทางสำหรับย่ำยีมาร และโพชฌงค์ ๗ โดยอรรถก็เป็นอันเดียว แต่พยัญชนะเท่านั้นต่างกันฉันใด เอกายนมรรคกับสติปัฏฐานสูตร ๔ ก็ฉันนั้น โดยอรรถเป็นอันเดียวกัน ในที่นี้ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น เพราะฉะนั้น ควรเข้าใจว่า (มรรค) เป็นเอกพจน์ เพราะเป็นอย่างเดียวกัน โดยอรรถว่าจะต้องดำเนินไป (และ) ควรเข้าใจ (สติปัฏฐาน) ว่าเป็นพหูพจน์ เพราะสติมีมากโดยประเภทแห่งอารมณ์.

               เหตุที่ตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ อย่าง               
               แต่เหตุไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ อย่างเท่านั้น ไม่ยิ่งไปหย่อน (ไปกว่านั้น)?
               เพราะทรงเกื้อกูลแก่เวไนยสัตว์.
               อธิบายว่า บรรดาเวไนยสัตว์ทั้งหลาย พวกตัณหาจริต พวกทิฏฐิจริต พวกสมถยานิกะ และวิปัสสนายานิกะ (แยก) เป็นพวกละ ๒ ตามอ่อนและแก่กล้า.
               ผู้มีตัณหาจริตอย่างอ่อน มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอารมณ์หยาบเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์. แต่ผู้มีตัณหาจริตแก่กล้า มีเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ละเอียด เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์.
               แม้ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างอ่อน มีจิตตานุปัสนาสติปัฏฐาน ที่มีอารมณ์แยกออกไม่มากนักเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์. แต่ผู้มีทิฏฐิจริตแก่กล้า มีธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่มีอารมณ์แยกประเภทออกไปมาก เป็นทางแห่งวิสุทธิ.
               และสติปัฏฐานข้อแรกที่มีนิมิตจะที่พึงประสบได้ไม่ยาก เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ของสมถยานิกบุคคลประเภทยังอ่อน. ข้อที่ ๒ เป็นทางแห่งวิสุทธิสมถยานิกบุคคลประเภทแก่กล้า. เพราะท่านดำรงอยู่ได้ ไม่มั่นคงในอารมณ์ที่หยาบ. ข้อที่ ๓ ที่มีอารมณ์แยกประเภทออกไปไม่มากนัก เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์แม้ของวิปัสสนายานิกบุคคลประเภทยังอ่อน. ข้อที่ ๔ ที่มีอารมณ์แยกประเภทออกไปมาก เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ของวิปัสสนายานิกบุคคลประเภทแก่กล้า.
               สติปัฏฐานจึงตรัสไว้ ๔ อย่างเท่านั้นไม่ยิ่งไม่หย่อนด้วยประการดังที่พรรณนามานี้ ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง (ที่ทรงแสดงไว้ ๔ อย่างเท่านั้น) เพื่อละวิปลาสคือความงาม ความสุข ความเที่ยงและความเป็นตน. ความจริง กายเป็นของไม่งาม แต่สัตว์ทั้งหลายดำรงอยู่อย่างวิปริต สำคัญผิดในกายนั้นว่างาม สติปัฏฐานข้อที่ ๑ ตรัสไว้สำหรับสัตว์เหล่านั้น เพื่อให้ละสุภวิปลาสนั้น ด้วยการเห็นว่าไม่งามในกายนั้น.
               และในเวทนาเป็นต้น แม้ที่สัตว์ทั้งหลายยึดถือว่า เป็นสุข เที่ยง เป็นอัตตา (ก็มีนัยนี้คือ) เวทนาเป็นทุกข์ จิตไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่สัตว์เหล่านั้นดำรงอยู่อย่างวิปริต สำคัญผิดในเวทนา จิตและธรรมเหล่านั้นว่า เป็นสุข เที่ยงและเป็นอัตตา ตรัส ๓ อย่างที่เหลือไว้สำหรับสัตว์เหล่านั้น เพื่อให้ละวิปลาสที่เหลือเหล่านั้น ด้วยการเห็นเวทนาเป็นต้นเหล่านั้นว่า เป็นทุกข์เป็นต้น ดังนี้.
               เมื่อเป็นเช่นนี้ สติปัฏฐานก็ควรเข้าใจไว้ว่า พระองค์ตรัสไว้ ๔ อย่างเท่านั้นไม่ยิ่งไม่หย่อน (ไปกว่านี้) ก็เพื่อให้ละสุภวิปลาส สุขวิปลาส นิจจวิปลาสและอัตตวิปลาส. และไม่ใช่เพียงตรัสไว้เพื่อให้ละวิปลาสอย่างเดียวเท่านั้น แต่ควรเข้าใจว่า ตรัสไว้ ๔ อย่างเท่านั้น ก็เพื่อให้ละโอฆะ ๔ โยคะ ๔ อาสวะ ๔ คันถะ ๔ และอุปทานทั้ง ๔ และอคติ ๔ ด้วย เพื่อให้กำหนดรู้อาหารทั้ง ๔ ด้วย.
               นี้เป็นนัยตามปกรณ์ก่อน.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค สติปัฏฐานสูตร ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 110อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 131อ่านอรรถกถา 12 / 153อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=1754&Z=2150
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=6135
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=6135
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :