ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 10อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 20อ่านอรรถกถา 12 / 27อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
ธรรมทายาทสูตร ว่าด้วยทายาทแห่งธรรม

               อรรถกถาธรรมทายาทสูตร               
               เหตุเกิดพระสูตร               
               [๒๐] ธรรมทายาทสูตรมีคำเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ.
               ก็เพราะเหตุที่ธรรมทายาทสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกขึ้นแสดงตามที่มีเรื่องเกิดขึ้น ฉะนั้น ข้าพเจ้า (พระอรรถกถาจารย์) จักแสดงเหตุเกิดพระสูตรนั้นแล้ว จึงจะกระทำการขยายความพระสูตรนั้นไปตามลําดับบท.
               ถามว่า ก็ธรรมทายาทสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกขึ้นแสดง เพราะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นเล่า?
               ตอบว่า เรื่องลาภสักการะ.
               ดังได้สดับมาว่า ลาภสักการะเป็นอันมากเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า โดยที่ได้ทรงสั่งสมทานบารมีให้บริบูรณ์แล้วตั้ง ๔ อสงไขย เป็นความจริง (เพราะ) พระบารมีทุกข้อเป็นเหมือนมาจับกลุ่ม (ตกลงกัน) ว่าจักให้ผลในอัตภาพเดียวกันนี่แหละ ดังนี้แล้วให้บังเกิดเป็นห้วงนํ้าใหญ่คือลาภสักการะ ประดุจมหาเมฆที่จับกลุ่มกันเป็นคู่ๆ ก่อตัวขึ้นในทุกทิศแล้ว (ตกลงมา) ให้บังเกิดเป็นห้วงนํ้าใหญ่ฉะนั้น.
               ประชาชนต่างวรรณะมีกษัตริย์และพราหมณ์เป็นต้นมีมือถือข้าว นํ้า ยาน ผ้า พวงดอกไม้ ของหอมและเครื่องไล้ทาเป็นต้นมาจากที่นั้นๆ (ที่ต่างๆ กัน) แล้วพากันถามหาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน? พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ไหน? พระผู้เป็นเทพของเทพ พระผู้เป็นนระผู้อาจหาญ พระผู้เป็นบุรุษประดุจราชสีห์ ประทับอยู่ที่ไหน?
               ประชาชนเหล่านั้นแม้ใช้เกวียนตั้งหลายร้อยเล่มบรรทุกปัจจัยมา เมื่อยังไม่ได้โอกาสเข้าเฝ้าก็จะจอดเกวียนคอยเรียงรายติดกันโดยรอบกินเนื้อที่เป็นคาวุต เช่นอันธกวินุพราหมณ์เป็นต้นเป็นตัวอย่าง.
               รายละเอียดทั้งหมด นักศึกษาจะพึงทราบได้ตามนัยที่มาแล้วในขันธกะ (หมวด) และในสูตรนั้น.
               และพระผู้มีพระภาคเจ้ามีลาภสักการะเกิดขึ้นมากฉันใด พระภิกษุสงฆ์ก็มีฉันนั้นเหมือนกันแล.
               ข้อนี้สมด้วยคำอ้างที่พระอานนทเถระกล่าวไว้ดังนี้ว่า
               ก็ในสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้อันมหาชนถวายสักการะแสดงความเคารพนับถือบูชานอบน้อม (และ) ทรงได้รับจีวรบิณฑบาตเสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารอยู่เป็นประจํา ฝ่ายภิกษุสงฆ์แล (ก็เช่นกัน) คือเป็นผู้อันมหาชนถวายสักการะ ฯลฯ (และ) ได้รับ ... บริขารอยู่เป็นประจํา.
               พระผู้มีพระภาคเองก็ตรัสไว้เหมือนกันว่า ดูก่อนจุนทะ หมู่หรือคณะที่อุบัติขึ้นในโลกในบัดนี้มีอยู่จํานวนเท่าใด (บรรดาหมู่หรือคณะเหล่านั้น) หมู่หรือคณะอื่นแม้แต่หมู่หนึ่ง ตถาคตก็ยังมองไม่เห็นเลยที่จะได้รับลาภอันเลิศและยศอันเลิศเหมือนกับหมู่ภิกษุ นะจุนทะ ลาภสักการะนี้นั้นที่เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ รวมกันแล้วเป็นของประมาณไม่ได้ เหมือนนํ้าของแม่นํ้าใหญ่ ๒ สายที่ไหลมารวมเป็นสายเดียวกันก็เป็นของประมาณไม่ได้ฉะนั้น.
               ภิกษุทั้งหลายได้กลายเป็นผู้หนักในปัจจัย ติดในปัจจัย หมกมุ่นในปัจจัยตามลําดับ แม้เมื่อเวลาหลังภัตร (หลังฉันอาหารแล้ว) เมื่อประชาชนนำไทยธรรมมีนํ้ามัน นํ้าผึ้งและนํ้าอ้อยเป็นต้นมาถวายภิกษุเหล่านั้น ครั้นเคาะระฆังแล้วก็ส่งเสียงเอ็ดอึงว่า ถวายแก่อาจารย์ของอาตมานะ ถวายแก่อุปัชฌาย์ของอาตมานะ และพฤติกรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นก็ได้ปรากฏ (ล่วงรู้) ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเกิดธรรมสังเวชว่า ช่างไม่เหมาะเอาเสียเลย แล้วทรงดำริว่า ตถาคตไม่สามารถจะบัญญัติสิกขาบท (ห้าม) ว่า ปัจจัยเป็นของไม่สมควร เนื่องจากการบําเพ็ญสมณธรรมของกุลบุตรทั้งหลายต้องอาศัยปัจจัย แต่เอาเถอะตถาคตจักแสดงธรรมทายาทปฏิทา (ข้อปฏิบัติของผู้เป็นธรรมทายาท) ซึ่งก็จักเป็นเหมือนการบัญญัติสิกขาบทแห่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ใคร่ต่อการศึกษา และจักเป็นเหมือนกระจกสําหรับส่องดูได้ทั่วตัวที่ติดตั้งไว้ที่ประตูเมือง.
               อธิบายว่า ประชาชน ๔ วรรณะเห็นเงา (รูป) ของตนในกระจกสําหรับส่องดูได้ทั่วตัวซึ่งติดตั้งไว้ที่ประตูเมือง ย่อมขจัดโทษ (สิ่งที่ทำให้หมดความสวยงาม) แล้วกลับกลายเป็นผู้ไม่มีโทษฉันใด กุลบุตรทั้งหลายผู้ใคร่ต่อการศึกษาก็ฉันนั้นเหมือนกัน (คือ) ประสงค์จะประดับประดาตนด้วยเครื่องประดับคือความเพียร มาน้อมนึกถึงเทศนาซึ่งอุปมาด้วยกระจกส่องดูได้ทั่วตัว แล้วต่างพากันละเว้นอามิสทายาทปฏิปทา หันมาบําเพ็ญธรรมทายาทปฏิปทา ก็จัก (สามารถ) ทำชาติชรามรณะให้สิ้นสุดไปได้โดยฉับพลันทีเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระสูตรนี้ไว้ก็เพราะมีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้น.

               ธรรมทายาทและอามิสทายาท               
               ในพระสูตรนั้น พระดำรัสที่ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของตถาคตเถิด อย่าเป็นอามิสทายาทเลย ดังนี้.
               มีคำอธิบายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขอเธอทั้งหลายจงเป็นทายาทแห่งธรรมของตถาคตเถิด อย่าเป็นทายาทแห่งอามิสเลย คือธรรมะของตถาคตอันใด ขอเธอทั้งหลายจงเป็นผู้รับไว้ซึ่งธรรมะอันนั้นเถิด ส่วนตถาคตมีอามิสใดแล ขอเธอทั้งหลายอย่ารับซึ่งอามิสนั้นเลย.
               ในพระดำรัสนั้น แม้ธรรมก็มีอยู่ ๒ อย่าง คือ นิปปริยายธรรม (ธรรมโดยตรง) ๑ ปริยายธรรม (ธรรมโดยอ้อม) ๑.
               ฝ่ายอามิสก็มีอยู่ ๒ อย่าง (เช่นกัน) คือ นิปปริยายอามิส (อามิสโดยตรง) ๑ ปริยายอามิส (อามิสโดยอ้อม) ๑.
               ทั้งธรรมและอามิสนั้น มีอธิบายเป็นอย่างไร?
               มีอธิบายว่า โลกุตตรธรรมทั้ง ๙ อย่างซึ่งแยกประเภทเป็นมรรค (๔) ผล (๔) และนิพพาน (๑) ชื่อว่า นิปปริยายธรรม คือธรรมที่ผู้ปฏิบัติให้บังเกิด (กับตนได้โดยตรง) ทีเดียว ไม่ใช่เป็นธรรมโดยปริยาย (โดยอ้อม) คือ โดยเหตุหรือโดยเลสอะไร.
               ส่วนกุศลที่อิงอาศัยวิวัฏฏะ (นิพพาน) นี้ เช่นคนบางคนในโลกนี้ปรารถนาอยู่ซึ่งวิวัฏฏะ จึงให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถ ทำการบูชาพระรัตนตรัยด้วยสักการะทั้งหลายมีเครื่องหอมและพวงดอกไม้เป็นต้น ฟังธรรม (และ) แสดงธรรม ทำฌานและสมาบัติให้บังเกิด เขาทำอยู่อย่างนี้ย่อมได้นิปปริยายธรรม คืออมตนิพพานโดยลําดับ. ก็ธรรมดังว่ามานี้แหละ ชื่อว่าปริยายธรรม.
               ปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้นก็ทำนองนั้น ชื่อว่านิปปริยายอามิสแท้ทีเดียว ไม่ใช่เป็นอามิสเพราะปริยายอย่างอื่น หรือเพราะเลสอย่างอื่นเลย ส่วนกุศลที่นำไปสู่วัฏฏะ (ภพ ๓) นี้ เช่นคนบางคนในโลกนี้ปรารถนาวัฏฏะ มุ่งหมายภพที่มีสมบัติ (พร้อมมูล) จึงให้ทาน ฯลฯ ทำสมาบัติให้บังเกิด เขาทำอยู่อย่างนี้ ย่อมได้เทวสมบัติมนุษย์สมบัติโดยลําดับ กุศลดังว่ามานี้ ชื่อว่าปริยายอามิส.
               ในเรื่องธรรมและอามิสนั้น (มีอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า)
               แม้นิปปริยายธรรมก็ชื่อว่าเป็นธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า เนื่องจากว่าเพราะธรรมนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนไว้ ภิกษุทั้งหลายจึงได้บรรลุมรรคผล และนิพพาน.
               ข้อนี้สมด้วยคำอ้างที่มีกล่าวไว้ดังนี้ว่า
               พราหมณ์ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงยังมรรคที่ยังไม่อุบัติให้อุบัติขึ้น ทรงยังมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ฯลฯ ส่วนพระสาวกทั้งหลายในบัดนี้มาทีหลังดำเนินไปตามมรรค (ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าให้อุบัติแล้ว) อยู่ ดังนี้
               และว่า ดูก่อนอาวุโส พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เมื่อ (ทรงมีพระประสงค์) จะทรงทราบก็ทราบได้ เมื่อทรง (มีพระประสงค์) จะเห็นก็เห็นได้ พระองค์ทรงมีพระจักษุ ทรงมีพระญาณ ทรงมีธรรม ทรงเป็นพรหม ทรงเป็นผู้บอกกล่าว ทรงเป็นผู้น้อมนำไปสู่ประโยชน์ ทรงประทานอมตะ ทรงเป็นธรรมสามี เป็นพระตถาคต.
               แม้ปริยายธรรม ก็ชื่อว่าเป็นของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยแท้ เนื่องจากว่าเป็นเพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนไว้ สาวกทั้งหลายจึงรู้อย่างนี้ว่า คนผู้ปรารถนาวิวัฏฏะแล้วให้ทาน ฯลฯ ทำสมาบัติให้บังเกิด ได้นิพพานอันเป็นอมตะโดยลําดับ.
               ฝ่ายนิปปริยายอามิส ก็ชื่อว่าเป็นของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหมือนกัน เนื่องจากว่าเป็นเพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้นั่นเอง ภิกษุทั้งหลายจึงได้จีวรอันประณีต เพราะทรง (ปรารภ) เรื่องหมอชีวกเป็นตัวอย่าง พระผู้มีพระภาคเจ้าเองก็ตรัสไว้เป็นหลักฐานดังนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตคหบดีจีวร (จีวรที่คหบดีถวาย) ภิกษุรูปใดปรารถนา (จะสมาทานหรือครองผ้าบังสุกุลเป็นวัตร) ก็จงเป็นผู้ถือครองผ้าบังสุกุลเป็นวัตรไปเถิด ภิกษุรูปใดปรารถนาคหบดีจีวร ก็จงยินดีคหบดีจีวรไปเถิด ภิกษุทั้งหลาย แต่ว่าตถาคตสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรตามได้.
               อนึ่ง ในกาลก่อน ภิกษุทั้งหลายยังไม่ได้บิณฑบาตอันประณีต จึงได้สรรเสริญคำข้าวที่แสวงหาด้วยลําแข้งโดยการเที่ยวไปตามลําดับตรอกเท่านั้น เป็นเพราะพระมีผู้พระภาคเจ้าเมื่อประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์ได้ทรงอนุญาตไว้เองอย่างนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตสังฆภัตร อุทเทสภัตร นิมันตนภัตร สลากภัตร ปักขิกภัตร อุโบสถิกภัตร ปาฏิปทิกภัตร.
               ภิกษุเหล่านั้นได้โภชนะอันประณีต เสนาสนะก็ทำนองเดียวกัน แม้ในกาลก่อน ภิกษุทั้งหลายได้อาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ อาทิตามเงื้อมเขาที่ไม่ได้ตกแต่ง และตามควงไม้ (ร่มไม้) เป็นเพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้เองอย่างนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตเสนาสนะ ๕ ชนิด ภิกษุเหล่านั้นจึงได้เสนาสนะเหล่านี้คือ วิหาร เพิง ปราสาทมียอด ปราสาทไม่มียอด เรือนโล้นและถํ้า.
               อนึ่ง ในกาลก่อน ภิกษุทั้งหลายได้ใช้สมอดองด้วยนํ้ามูตรทำเป็นยา เป็นเพราะพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นแหละที่ทรงอนุญาตไว้โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตเภสัช ๕ ชนิด คือ เนยใส เนยข้น นํ้ามัน นํ้าผึ้ง นํ้าอ้อย.
               ภิกษุเหล่านั้นจึงได้เภสัชนานาชนิด.
               ถึงปริยายอามิสก็ชื่อว่าเป็นของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหมือนกัน เนื่องจากว่าเป็นเพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนไว้ สาวกทั้งหลายจึงรู้อย่างนี้ว่า คนที่ปรารถนาภพที่มีสมบัติ (พร้อมมูล) ให้ทาน สมาทานศีล ฯลฯ ทำสมาบัติให้บังเกิดแล้ว ย่อมได้ปริยายอามิสคือทิพยสมบัติ มนุษยสมบัติโดยลําดับ
               เพราะเหตุที่ทั้งนิปปริยายธรรม ทั้งปริยายธรรม ทั้งนิปปริยายอามิส ทั้งปริยายอามิส ชื่อว่าเป็นของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งนั้น ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงภาวะที่พระองค์ทรงเป็นเจ้าของทั้งในธรรมและอามิสนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของตถาคตเถิด อย่าเป็นอามิสทายาทเลย.
               อธิบายว่า ธรรมทั้ง ๒ อย่างซึ่งเป็นของตถาคตอันใด ขอเธอทั้งหลายจงเป็นทายาทแห่งธรรมนั้นเถิด ส่วนอามิสนั้นใด ซึ่งเป็นของตถาคตเหมือนกัน ขอเธอทั้งหลายจงอย่าเป็นทายาทแห่งอามิสนั้นเลย คือขอเธอทั้งหลายจงเป็นเจ้าของแต่เฉพาะส่วนแห่งธรรมเท่านั้นเถิด อย่าเป็นเจ้าของส่วนแห่งอามิสเลย
               ด้วยว่าภิกษุรูปใดบวชในศาสนาของพระชินเจ้า มีปัจจัยเป็นยอดเยี่ยม คือเห็นแก่ปัจจัย ๔ ซึ่งเป็นเหตุเกิดตัณหา ทอดทิ้งธุระในการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอยู่ ภิกษุรูปนี้ชื่อว่าอามิสทายาท ขอเธอทั้งหลายจงอย่าเป็นเช่นนั้นเลย
               ส่วนภิกษุรูปใดอาศัยคุณธรรมมีความเป็นผู้มักน้อยเป็นต้นในปัจจัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ให้พิจารณาอย่างละเอียดก่อน แล้วจึงเสพ (บริโภค) มีข้อปฏิบัติยอดเยี่ยมเห็นเอง (ดำรงอยู่) ในอริยวงศ์ ๔ ภิกษุรูปนี้ชื่อว่าธรรมทายาท ขอเธอทั้งหลายจงเป็นเช่นนั้นเถิด.

               ตถาคตอนุเคราะห์สาวก               
               บัดนี้ ก็ชนเหล่าใดได้มีความวิตกดังนี้ว่า ในอนาคตกาลจักมีหรือไม่หนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ไม่ทรงประสงค์ให้พระสาวกทั้งหลายได้ลาภจึงตรัสอย่างนี้ เพื่อจะทรงแสดงแก่ชนเหล่านั้นว่า พระตถาคตเจ้าประสงค์จะให้พระสาวกทั้งหลายได้ลาภอันประณีตยิ่ง (กว่านี้) จึงกล่าวอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อตฺถิ เม ตุเมฺหสุ ฯลฯ โน อามิสทายาทา ดังนี้ (เราตถาคตมีความอนุเคราะห์ในเธอทั้งหลาย ฯลฯ ไม่เป็นอามิสทายาท).
               พระพุทธดำรัสนั้นมีอรรถาธิบายดังนี้ว่า
               ตถาคตมีความอนุเคราะห์ ความเอ็นดู ความมุ่งหวัง เกื้อกูลในเธอทั้งหลายว่า ด้วยเหตุอะไรหนอ ด้วยอุบายอะไรหนอ พระสาวกทั้งหลายจึงจะเป็นธรรมทายาท เป็นเจ้าของส่วนแห่งธรรม ไม่เป็นอามิสทายาท.
               อนึ่ง ท่านอธิบายไว้ดังนี้ว่า
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นนักบวชหลายร้อยจําพวก เป็นต้นว่าภิกษุภิกษุณีและนางสิกขมานาในอดีตกาล (ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน) มีหลักฐานปรากฏมาโดยนัยว่า แม้สังฆาฏิของกบิลภิกษุก็ถูกไฟลุกไหม้ ดังนี้เป็นต้น และนักบวชในศาสนาของพระองค์เองเช่นพระเทวทัตเป็นต้น ซึ่งเป็นผู้เห็นแก่อามิสถลําเข้าไปในอามิส (ตายแล้วไปบังเกิดในอบายภูมิ จนเต็มอบายภูมิ) แต่ทรงเห็นพระสาวกผู้หนักในธรรมมีพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะและพระมหากัสสปะเป็นต้น กลับได้บรรลุคุณมีอภิญญาและปฏิสัมภิทาเป็นอาทิ.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารถนาให้พระสาวกเหล่านั้นหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิงไปจากอบายภูมิและได้บรรลุคุณธรรมทั้งหมด จึงตรัสว่า
               อตฺถิ เม ตุเมฺหสุ อนุกมฺปา กินฺติ เม สาวกา ธมฺมทายาทา ภเวยฺยํ โน อามิสทายาทา (ตถาคตมีความอนุเคราะห์ในเธอทั้งหลาย ทำอย่างไรหนอ สาวกของตถาคตจึงจะเป็นธรรมทายาท ไม่เป็นอามิสทายาท) ดังนี้.
               ก็ภิกษุผู้เห็นแก่ปัจจัยย่อมสิ้นเดชอับแสงระหว่างบริษัท ๔ คล้ายกับกหาปณะเก๊และเถ้าถ่านไฟที่ดับแล้วฉะนั้น (ส่วน) ภิกษุผู้มีจิตหวนกลับจากปัจจัยนั้น เป็นผู้หนักในธรรม ประพฤติครอบงําอามิสอยู่เป็นนิตย์ ย่อมมีเดช (สง่าราศี) คล้ายกับราชสีห์ฉะนั้น เพราะเหตุนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้ว่า อตฺถิ เม ฯเปฯ โน อามิสทายาทา ดังนี้ (เราตถาคตมี ฯลฯ อย่าเป็นอามิสทายาท).
               ครั้นทรงชี้แจงให้เข้าใจว่า พระพุทธดำรัสนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขอเธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของตถาคตเถิด อย่าเป็นอามิสทายาทเลย ตถาคตปรารถนาให้เหล่าพระสาวกได้ลาภที่ประณีตกว่า ตรัสไว้แล้วด้วยความอนุเคราะห์ หาใช่ไม่ต้องการให้พระสาวกได้ลาภไม่อย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงโทษในเพราะไม่ยอมทำตามพระโอวาทนี้ ในบัดนี้จึงตรัสว่า
               ตุเมฺห จ เม ภิกฺเว ฯปฯ โน ธมฺมทายาทา ดังนี้
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่ถ้าเธอทั้งหลาย ฯลฯ ไม่พึงเป็นธรรมทายาทของตถาคตไซร้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตุเมฺหปิ เตน อาทิสฺสา ภเวยฺยาถ มีความว่า แม้พวกเธอก็จะพึงถูกรังเกียจโดยความเป็นอามิสทายาทนั้น หาถูกรังเกียจโดยความเป็นธรรมทายาทไม่. มีคำอธิบายว่า เธอทั้งหลายพึงถูกเหยียดหยาม คือถูกกระทำ ได้แก่กำหนดไว้ต่างหาก (ถูกกันไว้ต่างหาก) หมายความว่า ถูกวิญญูชนติเตียน.
               ติเตียนว่าอย่างไร? ติเตียนว่า เหล่าสาวกของพระศาสดาเป็นอามิสทายาทอยู่ หาเป็นธรรมทายาทอยู่ไม่.
               บทว่า อหมฺปิ เตน อาทิสฺโส ภเวยฺยํ ความว่า ถึงเราตถาคตก็จะพึงถูกตําหนิได้ โดยที่ทำให้เธอทั้งหลายเป็นอามิสทายาทนั้น หาถูกตําหนิโดยที่เธอทั้งหลายเป็นธรรมทายาทไม่.
               ถูกตําหนิว่าอย่างไร? ถูกตําหนิว่า เหล่าสาวกของพระศาสดาอยู่อย่างเป็นอามิสทายาท หาอยู่อย่างเป็นธรรมทายาทไม่.
               คำตําหนินี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ก็เพื่อทำให้ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นกลายเป็นคนอ่อนโยนอย่างยิ่งทีเดียว.
               ก็ในพระพุทธดำรัสตอนนี้มีอธิบายดังนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอทั้งหลายจักลุ่มหลงในอามิสท่องเที่ยวไป ในเพราะความลุ่มหลงอามิสของพวกเธอนั้น วิญญูชนทั้งหลายก็จักพากันติเตียนตถาคตว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญู (รู้ทุกสิ่ง) ไฉนจึงไม่สามารถทำเหล่าสาวกของพระองค์ให้เป็นธรรมทายาท ไม่ให้เป็นอามิสทายาทได้เล่า? เปรียบเหมือน (เมื่อ) ชาวโลกเห็นพระมีมรรยาทไม่เหมาะสม ย่อมติเตียนถึงอาจารย์และอุปัชฌาย์ว่า ท่านเหล่านี้เป็นสัทธิวิหาริกของใคร? เป็นอันเตวาสิกของใคร?
               อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือน (ผู้ใหญ่) เห็นเด็กชายหรือเด็กหญิงที่มีตระกูล เป็นคนไม่ดีมีความประพฤติเสียหาย ย่อมติเตียนถึงบิดามารดาว่า เด็กพวกนี้เป็นลูกชายลูกสาวของใครฉันใด วิญญูชนทั้งหลายก็จักติเตียนตถาคตฉันนั้นเหมือนกัน คือจักติเตียนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญู ไฉนจึงไม่ทรงสามารถทำเหล่าสาวกของพระองค์ให้เป็นธรรมทายาท ไม่ให้เป็นอามิสทายาทได้เล่า?
               ครั้นทรงแสดงโทษในการไม่ยอมทำตามพระพุทธโอวาทนี้อย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงอานิสงส์ในการยอมทำตาม พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ตุเมฺห จ เม ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อหมฺปิ เตน อาทิสฺโส น ภเวยฺยํ ความว่า อุปมาเสมือนว่า ชาวโลกเห็นพวกภิกษุหนุ่มประพฤติวัตรบริบูรณ์ ถึงพร้อมด้วยอุเทศและปริปุจฉา (การเรียนและการสอบถาม) มีอากัปปกิริยาเหมาะสมเหมือนหนึ่งพระเถระร้อยพรรษา จึงถามว่า ท่านเหล่านี้เป็นสัทธิวิหาริกของใคร? เป็นอันเตวาสิกของใคร? เมื่อมีคนบอกว่า ของอาจารย์และอุปัชฌาย์รูปโน้นก็จะพากันสรรเสริญว่า พระเถระช่างอาจสามารถตักเตือนพรํ่าสอน อาจารย์และอุปัชฌาย์ย่อมไม่ถูกตําหนิ ไม่ถูกติเตียนฉันใด
               แม้เราตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือโดยความที่เธอทั้งหลายเป็นธรรมทายาทนั้น ไม่ใช่โดยความที่เธอทั้งหลายเป็นอามิสทายาท ชาวโลกก็จะพากันถามว่า สาวกของใครกันนะปฏิบัตินาลกปฏิปทา ปฏิบัติตุวฏกปฏิปทา ปฏิบัติจันทูปมปฏิปทา ปฏิบัติรถวินีตปฏิปทา ปฏิบัติมหาโคสิงคสาลปฏิปทา ปฏิบัติมหาสุญญตาปฏิปทา เป็นพยานในอริยวงศ์ ซึ่งมีความสันโดษในปัจจัย ๔ และภาวนาเป็นที่มายินดี มีใจหลีกออกห่างจากความกำหนัดในปัจจัยอยู่ไป.
               เปรียบเหมือนดวงจันทร์ที่พ้นจากเมฆหมอก เมื่อมีคนบอกว่า สาวกของพระสมณโคดม ก็จะพากันสรรเสริญว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญูแท้หนอ ได้ทรงสามารถแท้หนอที่จะทรงแนะนำเหล่าสาวกให้ละทิ้งอามิสทายาท ปฏิปทาแล้วหันมาบําเพ็ญข้อปฏิบัติของผู้เป็นธรรมทายาท พระองค์ย่อมไม่ถูกวิญญูชนทั้งหลายตําหนิติเตียนอย่างนี้แล.
               นักศึกษาทราบคำอธิบายในบทนี้อย่างนี้ รายละเอียดที่ยังเหลือพึงทราบโดยนัยที่ตรงกันข้ามจากนัยที่กล่าวแล้วในกัณหปักษ์ (ฝ่ายที่ไม่ดี).

               ปวารณา ๔               
               ครั้งทรงแสดงอานิสงส์ในการยอมทำตามพระโอวาทนี้อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงมอบพระโอวาทนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ตสฺมาติห เม ภิกฺขเว ฯเปฯ โน อามิสทายาทา ดังนี้.
               [๒๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงมอบพระพุทธโอวาทนี้อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงชมเชยเหล่าภิกษุผู้บําเพ็ญข้อปฏิบัติของผู้เป็นธรรมทายาทนั้น จึงมีพุทธดำรัสมีอาทิว่า อิธาหํ ภิกฺเว ดังนี้.
               จริงอยู่ ภิกษุทั้งหลายพอได้ฟังคำตรัสชมของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ต่างย่อมพากันปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้นทีเดียว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธ นี้ เป็นบทนิบาต.
               บทว่า ภุตฺตาวี แปลว่า เสวยแล้วเสร็จ. อธิบายว่า ทรงกระทำภัตตกิจแล้ว.
               บทว่า ปวาริโต แปลว่า (พระผู้มีพระภาคเจ้า) ทรงห้ามภัตรแล้วด้วยการปวารณา (การห้าม) เมื่อพอแก่ความต้องการแล้ว. อธิบายว่า เสวยจนพอแก่ความต้องการแล้ว จึงทรงห้ามโภชนะหรือทรงอิ่มแล้ว.
               อธิบายว่า ปวารณา (การยอมให้ตักเตือน การยอมให้ขอ การห้าม) มี ๔ อย่าง คือ ปวารณาของภิกษุผู้อยู่จําพรรษาแล้ว ๑ ปวารณาด้วยปัจจัย ๑ ปวารณาทั้งที่มีของอยู่พร้อม ๑ ปวารณาเมื่อพอแก่ความต้องการแล้ว ๑.
               ในบรรดาปวารณา ๔ นั้น ปวารณานี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราผู้ตถาคตอนุญาตให้ภิกษุอยู่จําพรรษาแล้วปวารณากันได้ ย่อมให้ตักเตือนโดยเหตุ ๓ สถาน ดังนี้ ชื่อว่าปวารณาของภิกษุผู้อยู่จําพรรษาแล้ว.
               ปวารณานี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะปวารณา (ยอมให้ขอ) สงฆ์ด้วยเภสัชตลอด ๔ เดือน และปวารณานี้คือปวารณายกเว้น ปวารณาซํ้าอีก ยกเว้นปวารณาเป็นนิตย์ ชื่อว่าปวารณาด้วยปัจจัย.
               ปวารณานี้คือ ภิกษุชื่อว่า (ห้ามภัตร) แล้ว คือ การฉันปรากฏอยู่ ๑ โภชนะปรากฏอยู่ ๑ คนอยู่ในหัตถบาส ๑ น้อมของเข้าไป ๑ การห้ามปรากฏ ๑ ภิกษุนี้ชื่อว่าห้ามภัตรแล้ว ชื่อว่าปวารณาทั้งที่มีของพร้อม.
               ปวารณานี้ คือทายกเลี้ยงภิกษุสงฆ์ให้อิ่มหนำสําราญด้วยขาทนียะ (ของเคี้ยว) และโภชนียะ (ของฉัน) ด้วยมือของตน (จน) ให้บอกห้าม (ภัตร) ชื่อว่าปวารณาเมื่อพอแก่ความต้องการ.
               ปวารณาเมื่อพอแก่ความต้องการนี้ ท่านประสงค์เอาแล้วในที่นี้ ด้วยเหตุนั้น จึงได้กล่าวไว้ว่า :-
               บทว่า ปวาริโต แปลว่า (พระผู้มีพระภาคเจ้า) ทรงห้ามภัตรแล้วด้วยการปวารณาเมื่อพอแก่ความต้องการแล้ว.
               บทว่า ปริปุณฺโณ แปลว่า ทรงบริบูรณ์แล้วด้วยโภชนะ.
               บทว่า ปริโยสิโต แปลว่า มีโภชนะอันพระองค์ให้สิ้นสุดแล้ว (ฉันเสร็จแล้ว).
               (ในบทว่า ปริโยสิโต นี้) พึงเห็นว่า ท่านลบบทหลัง (โภชโน) ออกเสีย. อธิบายว่า เราตถาคตพึงฉันได้เท่าใด ก็ฉันเท่านั้น กิริยาคือการฉันของเราตถาคตสิ้นสุดลงแล้ว.
               บทว่า สุหิโต แปลว่า ทรงอิ่มแล้ว อีกอย่างหนึ่งหมายความว่า ทรงสําราญแล้ว เพราะไม่มีทุกข์คือความหิว.
               บทว่า ยาวทตฺโถ ความว่า ความต้องการด้วยโภชนะของตถาคตมีอยู่เท่าใด ความต้องการนั้นทั้งหมดตถาคตได้บรรลุ (ถึงที่สุด) แล้ว.
               ก็ในคำเหล่านี้ (คือคำว่า ภุตฺตาวี ปวาริโต ปริปุณฺโณ ปริโยสิโต สุหิโต ยาวทตฺโถ) ๓ คำหลังมีความหมายเท่ากับ ๓ คำแรก.
               อธิบายว่า ภิกษุผู้มีโภชนะอันตนให้สิ้นสุดแล้ว ชื่อว่ามีโภชนะอันตนฉันแล้ว ภิกษุผู้อิ่มแล้ว ชื่อว่าห้ามภัตรแล้วด้วยการห้ามเมื่อพอแก่ความต้องการแล้ว ภิกษุผู้เพียงพอแก่ความต้องการแล้ว ชื่อว่าบริบูรณ์แล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง ๓ คำแรกมีความหมายเท่ากับ ๓ คำหลัง.
               อธิบายว่า เพราะเหตุที่ภิกษุฉันเสร็จ ฉะนั้นจึงชื่อว่ามีโภชนะอันตนให้สิ้นสุดแล้ว เพราะเหตุที่ภิกษุห้ามภัตรแล้ว ฉะนั้นจึงชื่อว่าอิ่มแล้ว เพราะเหตุที่ภิกษุบริบูรณ์แล้ว ฉะนั้นจึงชื่อว่าพอแก่ความต้องการ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ผู้ศึกษาพึงทราบเถิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนด (ความหมายของ) คำทุกคำนั้นไว้แล้วจึงตรัสไว้.
               บทว่า สิยา ใช้ในอรรถว่าเป็นส่วนหนึ่งๆ และในอรรถว่าคาดหมาย.
               ใช้ในอรรถว่า เป็นส่วนหนึ่งๆ คือ (ในประโยคที่ว่า) ปฐวีธาตุ สิยา อชฺฌตฺติกา สิยา พาหิรา (ปฐวีธาตุที่เป็นภายในก็มี ที่เป็นภายนอกก็มี).
               ใช้ในอรรถว่า คาดหมาย คือ (ในประโยคที่ว่า) สิยา อญฺญตรสฺส ภิกฺขุโน อาปตฺติวีติกฺกโม (คงจะมีภิกษุรูปใดรูปหนึ่งล่วงละเมิดอาบัติ).
               ในที่นี้ ใช้ได้ทั้งสองความหมาย.
               บิณฑบาตมากเกินนั่นเอง ชื่อว่าเป็นของเหลือเฟือเป็นธรรมดา และธรรมดาก็จะต้องทิ้งไป. อธิบายว่า ทั้งเป็นของเหลือเฟือ ทั้งเป็นของจะต้องทิ้ง จึงไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่น.
               บทนิบาตว่า อถ คือ ตมฺหิ โยค กาเล (แปลว่า ในกาลนั้น).
               บทว่า ชิฆจฺฉาทุพฺพลฺยปเรตา ความว่า อันความหิวและความอ่อนกำลังครอบงําแล้ว คือประทุษร้ายแล้ว ได้แก่ติดตามแล้ว.
               ในบรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุบางเหล่าแม้หิวมาตั้ง ๘ วันบ้าง ๑๐ วันบ้างก็ยังไม่อ่อนกำลัง ยังสามารถข่มความหิวไว้ได้ แต่ภิกษุ (๒ รูป) นี้ไม่เป็นเช่นนั้น เพื่อแสดงเหตุผลดังกล่าวมาแล้วนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ทั้งสองอย่าง (ทั้งความหิวและความอ่อนกำลัง).
               บทว่า ตฺยาหํ ตัดบทเป็น เต อหํ (แปลว่า เราตถาคตกะภิกษุ ๒ รูปนั้น).

               คำจำกัดความที่ที่ปราศจากของสดเขียว               
               บทว่า สเจ อากงฺขถ ความว่า ถ้าเธอทั้งสองปรารถนาไซร้.
               บทว่า อปฺปหริเต แปลว่า ปราศจากของเขียวสดที่งอกขึ้นแล้ว.
               อธิบายว่า ในที่ที่ไม่มีหญ้าซึ่งธรรมดาจะต้องตายไปเพราะถูกก้อนข้าวที่ตกลงไปทับ ในที่ที่แม้จะทิ้งบิณฑบาตไปเป็นเล่มเกวียน หญ้าทั้งหลายก็ไม่ตายหมด ที่นั้นจะไม่มีหญ้าเลยก็ตาม มีหญ้ามากก็ตาม ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดถึงแล้วด้วยบทว่า อปฺปหริเต นั้น.
               ก็บทว่า อปฺปหริเต นั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อไม่ให้ภิกษุละเมิดภูตคามสิกขาบท.
               บทว่า อปฺปาณเก แปลว่า ไม่มีสัตว์เล็ก คือในนํ้าจํานวนมาก ซึ่งปราศจากสัตว์เล็กที่จะต้องตาย เพราะถูกก้อนข้าวที่ตกลงไป เป็นความจริง เมื่อนํ้าน้อยคละเคล้าด้วยการใส่ข้าวลงไปเท่านั้น พวกสัตว์เล็กๆ จึงจะตาย (แต่) ในสถานที่ทั้งหลายมีสระใหญ่เป็นต้น พวกสัตว์เล็กๆ จะไม่ตาย เพื่ออนุรักษ์สัตว์มีชีวิตดังกล่าวมานี้แล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้อย่างนี้.
               บทว่า โอปิลาเปสฺสามิ แปลว่า จักทิ้ง. ความว่า จักให้จมลง.
               บทว่า ตตฺเรกสฺส ความว่า ในบรรดาภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่ง (ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า...) แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาภิกษุรูปนั้น คือรูปที่ตั้งใจฟังธรรมเทศนานี้แล้วน้อมนึกถึงบ่อยๆ.

               ความหมายของวุตฺตศัพท์               
               ในคำว่า วุตฺตํ โข ปเนตํ มีอธิบายว่า วุตฺต ศัพท์นี้ (ใช้ในความหมายต่างๆ กัน) คือ :-
               ๑. ใช้ในความหมายว่า ปลงผม บ้าง (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า มาณพหนุ่มชื่อว่ากาปติกะ โกนหัวแล้ว.
               ๒. ใช้ในความหมายว่า เพาะปลูก บ้าง (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า พืชที่งอกในสรทกาลปลูกลงไปในไร่นาแล้วย่อมงอกขึ้น ฉันใด.
               ๓. ใช้ในความหมายว่า กล่าว บ้าง (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า คำนี้อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสไว้แล้ว.
               แต่ในที่นี้ นักศึกษาพึงเห็นว่าใช้ในความหมายว่า กล่าว.
               ก็คำว่า วุตฺตํ โข ปเนตํ นั้นมีอธิบายดังนี้ว่า กถิตํ โข ปเนตํ แปลว่า (แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้แล้วนะว่า...).
               บทว่า อมิสญฺญตรํ ความว่า อามิสคือปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาอามิสคือปัจจัย ๔. อธิบายว่า อามิสคือปัจจัยอย่างหนึ่ง.
               บทว่า ยทิทํ เป็นนิบาต (และ) มีรูปเป็นเช่นนั้นนั่นแหละในทุกลิงค์ วิภัตติและทุกวจนะ นักศึกษาพึงใช้ให้ถูกความหมาย ในลิงค์วิภัตติและวจนะนั้นๆ.
               แต่ว่าในที่นี้ บทว่า ยทิทํ นั้นมีความหมายเท่า โย เอโส. มีคำอธิบายไว้ว่า ชื่อว่าบิณฑบาตนั่นใด บิณฑบาตนี้เป็นอามิสอย่างหนึ่ง.
               บทว่า ยนฺนูนาหํ ได้แก่ สาธุ วตาหํ (แปลว่า ดีละหนอเรา...).
               บทว่า เอวํ ความว่า แม้ปล่อยวันคืน (ให้ล่วงไป) เหมือนอย่างที่บุคคลปล่อยขณะนี้ให้ล่วงไปอยู่ในบัดนี้.
               บทว่า วีตินาเมยฺยํ แปลว่า พึง... ให้สิ้นไป คือพึงให้ล่วงเลยไป.
               บทว่า โส ตํ ปิณฺฑปาตํ ความว่า ภิกษุนั้นไม่ฉันบิณฑบาตนั้น แบบที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกพึงรับไว้ด้วยเศียรเกล้าที่เหลือจากที่พระสุคต (เสวย) หวังอยู่ซึ่งความเป็นธรรมทายาท พิจารณาถึงข้ออุปมาด้วยบุคคลที่ถูกไฟไหม้ศีรษะแล้ว พึงปล่อยให้คืนและวันนั้นล่วงไปอย่างนั้นด้วยความหิวและความอ่อนกำลังนั้นเอง.

               บิณฑบาตที่ไม่ควรฉัน ๕ อย่าง               
               ก็ในวาระนี้ว่า อถ ทุติยสฺส มีความย่อดังต่อไปนี้
               ถ้าภิกษุนั้นเมื่อจะคิดว่า ดีละ เรา ฯลฯ พึงยังคืนและวันให้ล่วงไป ก็พึงคิดอย่างนี้ด้วยว่า การที่บรรพชิตจะแสวงหาบิณฑบาตในหมู่บ้านที่เกลื่อนกล่นด้วยสัตว์ร้ายคือเบญจกามคุณเป็นการยากลําบาก เช่นเดียวกับการแสวงหาเภสัชในป่าซึ่งชุกชุมไปด้วยสัตว์ร้าย แต่ว่าบิณฑบาตนี้พ้นโดยสิ้นเชิงจากโทษในการแสวงหาดังว่ามานี้ และเป็นบิณฑบาตที่เป็นเดนของพระสุคต เพราะฉะนั้น จึงเป็นเหมือนขัตติยกุมารผู้อุภโตสุชาต (มีพระราชสมภพดีแล้วจากทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี).
               อนึ่ง บิณฑบาตเป็นของภิกษุไม่ควรฉันเพราะเหตุ ๕ ประการเหล่าใด คือ
               ๑. เป็นของไม่ควรฉัน เพราะบุคคล (ผู้ถวาย) มีข้อน่าตําหนิ คือเป็นบิณฑบาตของบุคคลอลัชชี.
               ๒. เป็นของไม่ควรฉัน เพราะบิณฑบาตมีการเกิดขึ้นไม่บริสุทธิ์ คือเกิดขึ้นมาจากการแนะนำของนางภิกษุณี และจากการสรรเสริญคุณที่ไม่มีจริง (ในตน).
               ๓. เป็นของไม่ควรฉันเพื่อเป็นการอนุเคราะห์เจ้าของ คือภิกษุเจ้าของบิณฑบาตก็กำลังหิว.
               ๔. (แม้) ภิกษุเจ้าของบิณฑบาตนั้นจะอิ่มแล้ว แต่บิณฑบาตก็ยังเป็นของไม่ควรฉัน เพื่อเป็นการอนุเคราะห์อันเตวาสิกเป็นต้นของท่านนั่นเอง (เนื่องจาก) อันเตวาสิกหรือคนอื่นๆ ที่อาศัยบิณฑบาตนั้นยังหิวอยู่.
               ๕. แม้คนเหล่านั้นจะอิ่มหนำสําราญแล้ว แต่ว่าบิณฑบาตก็ยังเป็นของไม่ควรฉันเพราะความไม่มีศรัทธา คือภิกษุเจ้าของบิณฑบาตยังไม่มีศรัทธา.
               บิณฑบาตนี้ก็พ้นแล้วโดยสิ้นเชิงจากเหตุ ๕ ประการเหล่านั้น.
               ความจริงแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นยอดของลัชชีบุคคลทั้งหลาย บิณฑบาตมีความเกิดขึ้นโดยบริสุทธิ์ และพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงอิ่มหนำสําราญแล้ว ทั้งบุคคลอื่นที่หวังเฉพาะเจาะจงในบิณฑบาตก็ไม่มี คนเหล่าใดเป็นผู้มีศรัทธาในโลก พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เป็นยอดของคนเหล่านั้นดังนี้ และภิกษุนั้นครั้นคิดอย่างนี้แล้ว จึงฉันบิณฑบาตนั้นแล้ว ฯลฯ ปล่อยให้คืนและวันล่วงไป.
               ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาเพียงเท่านี้ แม้ภิกษุใดไม่ฉัน (บิณฑบาตที่เป็นเดนพระสุคต) แต่บําเพ็ญสมณธรรม ภิกษุนั้นชื่อว่าไม่ฉันบิณฑบาตที่ควรฉันทีเดียว ส่วนภิกษุใดฉันแล้ว (บำเพ็ญสมณธรรม) ภิกษุนั้นชื่อว่าฉันบิณฑบาตที่ควรฉันโดยแท้.
               ความแปลกกันในบิณฑบาตไม่มี แต่มีความแปลกกันอยู่ในบุคคล เพราะฉะนั้น เมื่อจะแสดงความแปลกกันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า กิญฺจาปิ โส ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิญฺจาปิ เป็นนิบาตใช้ในความหมายว่ายอมรับ และใช้ในความหมายว่าสรรเสริญ.
               ถามว่า ยอมรับซึ่งอะไร?
               ตอบว่า ซึ่งการฉันอันไม่มีโทษนั้นของภิกษุนั้น.
               ถามว่า สรรเสริญซึ่งอะไร?
               ตอบว่า ซึ่งการฉันแล้วบําเพ็ญสมณธรรม.
               มีคำกล่าวอธิบายไว้ดังนี้ว่า
               ถ้าภิกษุรูปนั้นฉันบิณฑบาตที่ควรฉันแล้วบำเพ็ญกิจที่ควรบําเพ็ญไซร้ ข้อว่าโดยที่แท้แล้วภิกษุรูปแรกโน้นแหละของเราตถาคต.
               ความว่า ภิกษุรูปแรกผู้ปฏิเสธบิณฑบาตนั้นแล้ว บำเพ็ญสมณธรรมโน้นนั้นแลของตถาคต ดูเหมือนจะเป็นผู้แกล้วกล้ากว่าในบรรดาสาวก ๒ รูปของตถาคตซึ่งเป็นผู้แกล้วกล้า และดูเหมือนจะเป็นบัณฑิตกว่าในบรรดาสาวก ๒ รูปผู้เป็นบัณฑิตของเราตถาคต ชื่อว่าเป็นผู้น่าบูชากว่าและน่าสรรเสริญกว่า มีคำอธิบายไว้ว่าน่าบูชาและน่าสรรเสริญยิ่งกว่าภิกษุรูปที่ ๒.

               เหตุที่น่าบูชากว่าและน่าสรรเสริญกว่า               
               บัดนี้ เมื่อจะยกเหตุ (การณะ) ขึ้นมาขยายความนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า ตํ กิสฺส เหตุ ดังนี้เป็นต้น.
               คำนั้นมีอธิบาย (เพิ่มเติม) ว่า ในข้อนั้น เธอทั้งหลายคงมี (ข้อกังขา) ว่า เพราะเหตุไร ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้น่าบูชากว่าน่าสรรเสริญกว่าของพระผู้มีพระภาคเจ้า?
               คำตอบก็คือ ตญฺหิ ตสฺส ความว่า เพราะการห้ามบิณฑบาตนั้นจักเป็นไปเพื่อความมักน้อย ฯลฯ เพื่อความปรารภความเพียรสิ้นกาลนานสําหรับภิกษุนั้น.
               จักเป็นไปอย่างไร?
               คือภิกษุนั้น ถ้าสมัยต่อมาจักเกิดความมักได้ ความปรารถนาลามกหรือความมักมากในปัจจัยทั้งหลายขึ้น. ลําดับนั้น ภิกษุ (รูปอื่น) พิจารณาเห็นอยู่อย่างนั้นจักกันเธอไว้ด้วยตาขอ คือการห้ามบิณฑบาตนี้ว่า นี่แน่ะท่าน ท่านปฏิเสธบิณฑบาตแม้ที่เป็นเดนของพระสุคต แล้วก็ยังเกิดความปรารถนาเช่นนี้ขึ้นจนได้ นี่เป็นนัยในการห้ามความไม่ขัดเกลากิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิเสธบิณฑบาตนั้นจักเป็นไปเพื่อความมักน้อย ความสันโดษ (และ) ความขัดเกลากิเลสสำหรับเธอก่อน.
               ในคำว่า สุภรตาย (เพื่อความเป็นผู้เลี้ยงง่าย) นี้มีการพรรณนาดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เลี้ยงยากบำรุงยากทั้งแก่ตนเอง ทั้งแก่อุปัฏฐาก (ส่วน) บางรูปเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่ายทั้งแก่ตนเองทั้งแก่อุปัฏฐาก.
               เป็นอย่างไร?
               อธิบายว่า ภิกษุรูปใดได้อาหารที่เปรี้ยวเป็นต้นแล้วยังแสวงหาอาหารอื่น มีอาหารที่มีรสไม่เปรี้ยวเป็นต้น ทิ้งสิ่งของที่ได้ในเรือนของคนหนึ่งไว้ในเรือนของอีกคนหนึ่ง เที่ยวจาริกไปจนหมดเวลา (บิณฑบาต) แล้วมีบาตรเปล่ากลับเข้าวัดนอน ภิกษุรูปนี้จัดว่าเป็นผู้เลี้ยงยากสําหรับตนเอง.
               ส่วนภิกษุรูปใดแม้ทายกจะถวายข้าวสาลีเนื้อและข้าวสุกเป็นต้น จนเต็มบาตรแล้วก็ยังแสดงสีหน้าบึ้งตึงและความไม่พอใจ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อจะดูแคลนบิณฑบาตนั้นต่อหน้าคนเหล่านั้นว่า พวกท่านถวายของอะไร ดังนี้ จึงให้แก่อนุปสัมบันมีสามเณรและคฤหัสถ์ (อื่น) เป็นต้นไป (เป็นการประชด) ภิกษุรูปนี้จัดว่าเป็นผู้เลี้ยงยากสําหรับผู้อุปัฏฐากทั้งหลาย. พวกชาวบ้านเห็นเธอเข้าก็จะพากันหลีก (หลบหน้า) เสียแต่ไกลทีเดียว ด้วยนึกตําหนิว่า พระเลี้ยงยาก พวกเราไม่สามารถจะเลี้ยงดูท่านได้หรอก.
               ส่วนภิกษุใดได้อาหารอย่างใดอย่างหนึ่งจะเป็นของชนิดดีหรือชนิดเลวก็ตาม มีจิตสันโดษฉันอาหารนั้นแล้วกลับวัดไปทำงานของตน (ต่อไป) ภิกษุรูปนี้จัดว่าเป็นผู้เลี้ยงง่ายสําหรับตน. และภิกษุรูปใดไม่ดูหมิ่นทานของคนอื่นจะน้อยหรือมากจะดีหรือเลวก็ตาม มีจิตยินดีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ฉันต่อหน้าคนเหล่านั้นแล้วจึงค่อยไป ภิกษุรูปนี้จัดว่าเป็นผู้เลี้ยงง่ายสําหรับผู้อุปัฏฐาก พวกชาวบ้านครั้นเห็นพระรูปนั้นแล้วต่างก็พากันดีใจอย่างยิ่งยวดว่า พระคุณเจ้าของพวกเราเป็นผู้เลี้ยงง่าย สันโดษ แม้ด้วยอาหารเล็กๆ น้อยๆ พวกเราจักเลี้ยงดูท่าน ครั้นตกลงแล้วก็พากันบํารุงเลี้ยงดู.
               ในพฤติกรรมนั้น ถ้าสมัยต่อมาเธอจักเกิดความคิดขึ้นในทำนองจะเป็นผู้เลี้ยงยากทั้งแก่ตนเองหรืออุปัฏฐากทั้งหลายไซร้. คราวนั้น ภิกษุรูปอื่นพิจารณาเห็นอย่างนี้ก็จักช่วยกันเธอไว้ด้วยตาขอคือการปฏิเสธบิณฑบาตนี้ว่า นี่แน่ะท่าน ท่านปฏิเสธบิณฑบาตที่เป็นเดนของพระสุคตแล้ว ยังมาเกิดความคิดเช่นนี้ขึ้นจนได้. เมื่อเป็นอย่างนี้ การปฏิเสธบิณฑบาตก็จักเป็นไปเพื่อความเป็นผู้เลี้ยงง่ายสําหรับเธอ.
               อนึ่ง ถ้าเธอจักเกิดความเกียจคร้านขึ้น ภิกษุรูปอื่นก็จักช่วยกันไว้ด้วยตาขอนั้นเหมือนกันว่า นี่แน่ะท่าน ท่านปฏิเสธบิณฑบาตที่เป็นเดนของพระสุคตแล้ว คราวนั้นแม้จะถูกความหิวและความอ่อนกำลังครอบงำ ก็ยังบําเพ็ญสมณธรรมได้ (ไฉน) วันนี้จึงหันมาหาความเกียจคร้านเสียเล่า เมื่อเป็นอย่างนี้ การปฏิเสธบิณฑบาตจักเป็นไปเพื่อการปรารภความเพียรสําหรับเธอ การปฏิเสธบิณฑบาตนี้ของภิกษุนั้นจักเป็นไปเพื่อความมักน้อย ฯลฯ เพื่อการปรารภความเพียรตลอดกาลนานดังกล่าวมานี้.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค ธรรมทายาทสูตร ว่าด้วยทายาทแห่งธรรม
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 10อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 20อ่านอรรถกถา 12 / 27อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=385&Z=516&bgc=lavender
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=2422
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=2422
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :