ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 209อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 221อ่านอรรถกถา 12 / 226อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สีหนาทวรรค
อนุมานสูตร ว่าด้วยความคาดหมาย

               อรรถกถาอนุมานสูตร               
               อนุมานสูตรมีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับดังนี้ :-
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภคฺเคสุ ได้แก่ ในชนบทมีชื่ออย่างนั้น. ก็เนื้อความแห่งคำพึงทราบโดยทำนองที่กล่าวแล้วในที่นี้.
               บทว่า สํสุมารคิเร ได้แก่ ในนครมีชื่ออย่างนั้น.
               ได้ยินว่า ในวันเป็นที่กำหนดพื้นที่สร้างนครนั้น จระเข้ในสระอันไม่ไกลได้ร้องขึ้น เปล่งเสียงว่า คิระ ครั้นสร้างนครนั้นเสร็จแล้ว ประชาชนทั้งหลายจึงตั้งชื่อนครนั้นว่า สังสุมารคิร.
               บทว่า เภสกฬาวเน ได้แก่ ในป่าอันมีชื่อว่า เภสกฬา. บาลีว่า เภสกวัน ดังนี้ก็มี.
               บทว่า มิคทาเย ความว่า ป่านั้นได้เกิดในที่เป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อและนกทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า มิคทายะ.
               บทว่า ปวาเรติ ได้แก่ ย่อมปวารณา.
               บทว่า วทนฺตุ ความว่า จงว่ากล่าว คือจงโอวาท จงพร่ำสอนด้วยสามารถแห่งโอวาทและอนุสาสนี.
               บทว่า วจนีโยมฺหิ ความว่า เราอันท่านพึงว่ากล่าว คือพึงพร่ำสอน พึงโอวาท.
               บทว่า โส จ โหติ ทุพฺพโจ ความว่า ก็ภิกษุนั้นเป็นผู้ว่ากล่าวโดยยาก คือกล่าวแล้วไม่อดทน.
               บทว่า โทวจสฺสกรเณหิ ความว่า ด้วยธรรม ๑๖ ประการอันมาแล้วในข้างหน้าซึ่งเป็นธรรมทำให้เป็นผู้ว่ากล่าวโดยยาก.
               บทว่า อปทกฺขิณคฺคาหี อนุสาสนึ ความว่า ก็ภิกษุใด เมื่อถูกว่ากล่าว จึงพูดว่า ท่านทั้งหลายว่ากล่าวผมเพราะเหตุไร ผมย่อมรู้สิ่งที่ควรและไม่ควร โทษและไม่ใช่โทษ ประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์ของตน ภิกษุนี้ ชื่อว่าไม่รับคำพร่ำสอนโดยเบื้องขวา ย่อมรับโดยเบื้องซ้าย เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ไม่รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ.
               บทว่า ปาปกานํ อิจฺฉานํ คือ ความปรารถนาอันก่อให้เกิดความไม่สงบลามก.
               บทว่า ปฏิปฺผรติ คือ ย่อมดำรงตนเป็นผู้โต้ตอบเป็นข้าศึก.
               บทว่า อปสาเทติ ความว่า ย่อมพยายามอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วแก่ท่านผู้พาล ไม่ฉลาด ธรรมดาแม้ท่านจักสำคัญคำที่พึงกล่าวมิใช่หรือ.
               บทว่า ปจฺจาโรเปติ ความว่า กลับปรักปรำอย่างนี้ว่า แม้ท่านก็ต้องอาบัติชื่อนี้ ท่านจงทำคืนอาบัตินั้นก่อน.
               บทว่า อญฺเญนญฺญํ ปฏิจรติ คือ ปกปิดด้วยเรื่องอื่นด้วยคำอื่น หรือกลบเกลื่อนเรื่องอื่น คำอื่น. ครั้นภิกษุอื่นกล่าวว่า ท่านต้องอาบัติ ก็พูดว่า ใครต้อง ต้องอาบัติอะไร ต้องในที่ไหน ท่านพูดกะใคร ท่านพูดอะไร ดังนี้ ครั้นภิกษุอื่นพูดว่า ท่านได้เห็นอะไรๆ เห็นปานนี้ ก็เบือนหูว่าเราจะไม่ฟัง ดังนี้.
               บทว่า พหิทฺธา กถํ อปนาเมติ ความว่า ภิกษุนั้นถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ถามว่า ท่านต้องอาบัติชื่อนี้ ก็พูดว่า เราไปสู่เมืองปาตลิบุตร ครั้นภิกษุผู้โจทก์กล่าวอีกว่า พวกเราไม่ได้ถามถึงการไปเมืองปาตลิบุตรของท่าน พวกเราถามถึงอาบัติ แต่นั้นก็กล่าวคำมีอาทิว่า ข้าพเจ้าไปสู่เมืองราชคฤห์ ท่านจงไปสู่เมืองราชคฤห์ หรือท่านต้องอาบัติในบ้านพราหมณ์ ท่านได้เนื้อสุกรในบ้านพราหมณ์นั้น ดังนี้ ชื่อว่าพูดนอกเรื่อง.
               บทว่า อปทาเน คือ ในความประพฤติของตน.
               บทว่า น สมฺปายติ ความว่า ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ถามถึงความประพฤติโดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนผู้มีอายุ ท่านอยู่ที่ไหน ท่านอาศัยใครอยู่ หรือว่าท่านพูดกะผู้ใด ผู้นั้นต้องอาบัติอันข้าพเจ้าเห็นแล้วๆ หรือว่า ในสมัยนั้น ท่านทำอะไร ข้าพเจ้าทำอะไร หรือท่านอยู่ที่ไหน ข้าพเจ้าอยู่ที่ไหน ดังนี้ ก็ไม่อาจเพื่อให้พอใจกล่าว.
               บทว่า ตตฺราวุโส ความว่า ดูก่อนผู้มีอายุ ในธรรม ๑๖ ประการนั้น.
               บทว่า อตฺตนาว อตฺตานํ เอวํ อนุมานิตพฺพํ ความว่า พึงอนุมาน พึงชั่ง พึงเทียบเคียง พึงพิจารณาตนด้วยตนเองเทียว อย่างนี้.
               บทว่า อโหรตฺตานุสิกฺขินา ความว่า ภิกษุเมื่อศึกษาแม้ตลอดวันตลอดคืน พึงศึกษากุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางคืนและกลางวัน ยังปีติและความปราโมทย์นั้นเทียวให้เกิดขึ้น.
               บทว่า อจฺเฉ วา อุทกปตฺเต คือ ในภาชนะน้ำอันใส.
               บทว่า มุขนิมิตฺตํ ได้แก่ เงาหน้า.
               บทว่า รชํ ได้แก่ ธุลีที่จรมา.
               บทว่า องฺคณํ ได้แก่ จุดตกกระหรือต่อมที่เกิดบนใบหน้านั้น. พระเถระแสดงการละทั้งหมด ด้วยบทนี้ว่า ซึ่งอกุศลธรรมอันชั่วเหล่านี้แม้ทั้งหมดที่ยังละไม่ได้.
               อย่างไร.
               อย่างนี้คือ พระเถระแสดงปฏิสังขานปหานะแก่ภิกษุผู้ยังการพิจารณาให้เกิดขึ้นว่า อกุศลธรรมประมาณเท่านี้ไม่สมควรแก่บรรพชิต แสดงวิกขัมภนปหานะแก่ภิกษุผู้ทำศีลให้เป็นปทัฏฐานแล้ว ปรารภกสิณบริกรรม ยังสมาบัติแปดให้เกิดขึ้น แสดงตทังคปหานะแก่ภิกษุผู้ทำสมาบัติให้เป็นปทัฏฐานแล้ว เจริญวิปัสสนา แสดงสมุจเฉทปหานะแก่ภิกษุผู้เจริญวิปัสสนาแล้ว อบรมมรรค แสดงปฏิปัสสัทธิปหานะ เมื่อผลมาแล้ว แสดงนิสสรณปหานะ เมื่อนิพพานมาแล้ว เพราะฉะนั้น ปหานะทั้งหมดเป็นอันพระเถระแสดงแล้วเทียวในสูตรนี้ด้วยประการฉะนี้.
               โบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ก็สูตรนี้ ชื่อว่า ภิกขุปาฏิโมกข์.
               โบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ภิกษุพึงพิจารณาวันละ ๓ ครั้งด้วยประการฉะนี้ ภิกษุเข้าไปสู่สถานที่อยู่ แต่เช้าตรู่เทียว แล้วนั่งพิจารณาว่า กิเลสมีประมาณเท่านี้ของเรามีอยู่ไม่หนอแล ถ้าเห็นว่ามี พึงพยายามเพื่อละกิเลสเหล่านั้น ถ้าเห็นว่าไม่มี พึงเป็นผู้มีใจเป็นของตนว่า เราบวชดีแล้ว ทำภัตกิจนั่งในที่พักกลางคืนหรือในที่พักกลางวันแล้ว พึงพิจารณาบ้าง นั่งในที่อยู่ในเวลาเย็น พึงพิจารณาบ้าง เมื่อไม่อาจพิจารณาถึงวันละ ๓ ครั้งก็พึงพิจารณาเพียง ๒ ครั้ง แต่เมื่อไม่อาจถึง ๒ ครั้งก็พึงพิจารณาเพียง ๑ ครั้งที่เหลือ ไม่พิจารณาเลย ไม่สมควร ดังนี้.
               คำที่เหลือในบททั้งปวงมีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาอนุมานสูตรที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สีหนาทวรรค อนุมานสูตร ว่าด้วยความคาดหมาย จบ.
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 209อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 221อ่านอรรถกถา 12 / 226อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=3185&Z=3448
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=9940
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=9940
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :