ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 221อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 226อ่านอรรถกถา 12 / 234อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สีหนาทวรรค
เจโตขีลสูตร ว่าด้วยตะปูตรึงใจ

               อรรถกถาเจโตขีลสูตร               
               เจโตขีลสูตรเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้ :-
               ในเจโตขีลสูตรนั้น ความที่จิตเป็นชาติแข็งกระด้าง ความที่จิตเป็นดุจเกราะ ความที่จิตเป็นดุจตอไม้ ชื่อว่า เจโตขีลา.
               บทว่า เจตโส วินิพนฺธา ความว่า กิเลสเครื่องหน่วงเหนี่ยวจิต เพราะอรรถว่า ผูกพันจิตยึดไว้ เหมือนทำไว้ในกำมือ.
               ความเจริญด้วยศีล ความงอกงามด้วยมรรค ความไพบูลย์ด้วยนิพพาน หรือความเจริญด้วยศีลและสมาธิ ความงอกงามด้วยวิปัสสนามรรค ความไพบูลย์ด้วยผลและนิพพานในบทเป็นต้นว่า วุฑฺฒึ.
               บทว่า สตฺถริ กงฺขติ ความว่า ภิกษุสงสัยในพระสรีระหรือพระคุณของพระศาสดา.
               ภิกษุเมื่อสงสัยในพระสรีระ ก็ย่อมสงสัยว่า พระสรีระที่ประดับประดาด้วยพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการมีอยู่หนอแล หรือไม่มี. เมื่อสงสัยในพระคุณก็ย่อมสงสัยว่า พระสัพพัญญุตญาณที่สามารถรู้อดีต อนาคตและปัจจุบัน มีอยู่หรือไม่หนอ.
               บทว่า วิจิกิจฺฉติ ความว่า เมื่อวิจัยย่อมเคลือบแคลง คือย่อมถึงทุกข์ ย่อมไม่อาจวินิจฉัย.
               บทว่า นาธิมุจฺจติ ความว่า ย่อมไม่ได้รับความน้อมไปว่า นั่นต้องเป็นอย่างนี้.
               บทว่า น สมฺปสีทติ ความว่า ย่อมไม่อาจเพื่อหยั่งลงในพระคุณทั้งหลายแล้วเลื่อมใส โดยความเป็นผู้ปราศจากความเคลือบแคลง คือเพื่อเป็นผู้หมดความสงสัย.
               บทว่า อาตปฺปาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่การทำความเพียรเครื่องเผากิเลส.
               บทว่า อนุโยคาย ความว่า เพื่อประกอบความเพียรบ่อยๆ.
               บทว่า สาตจฺจาย ความว่า เพื่อกระทำต่อเนื่อง.
               บทว่า ปธานาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่การตั้งมั่น.
               บทว่า อยํ ปฐโม เจโตขีโล ความว่า ความที่จิตเป็นธรรมชาติแข็งกระด้าง กล่าวคือความเคลือบแคลงในพระศาสดาข้อที่ ๑ นี้ ย่อมเป็นอันภิกษุนั้นละยังไม่ได้แล้ว ด้วยเหตุอย่างนี้.
               บทว่า ธมฺเม คือ ในปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรมและปฏิเวธธรรม.
               เมื่อสงสัยในปริยัติธรรม ย่อมสงสัยว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า พระพุทธพจน์ คือไตรปิฎกมี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ นั่นมีอยู่หนอแล หรือไม่มี. เมื่อสงสัยในปฎิเวธธรรม ย่อมสงสัยว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า ความไหลออกแห่งวิปัสสนา ชื่อว่ามรรค ความไหลออกแห่งมรรค ชื่อว่าผล การสลัดออกซึ่งสังขารทั้งปวง ชื่อว่านิพพาน ดังนี้ นั้นมีอยู่หรือไม่หนอแล.
               บทว่า สงฺเฆ กงฺขติ ความว่า ย่อมสงสัยว่า ชื่อว่าพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่แห่งบุคคล ๘ คือผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๔ ผู้ตั้งอยู่ในผล ๔ ผู้ปฏิบัติปฏิปทาเห็นปานนี้ด้วยอำนาจแห่งบททั้งหลายมีว่า ผู้ปฏิบัติดีเป็นต้นมีอยู่หรือไม่หนอแล. เมื่อสงสัยในสิกขาก็ย่อมสงสัยว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า ชื่ออธิสีลสิกขา ชื่ออธิจิตตสิกขา ชื่ออธิปัญญาสิกขา ดังนี้ สิกขานั้นมีอยู่หรือไม่หนอแล.
               บทว่า อยํ ปญฺจโม ความว่า ความที่จิตเป็นธรรมชาติแข็งกระด้าง เป็นดุจเกราะ เป็นดุจตอไม้ กล่าวคือความกำเริบในเพื่อนสพรหมจารีนี้ เป็นที่ห้า.
               พึงทราบวินิจฉัยในกิเลสเครื่องหน่วงเหนี่ยวทั้งหลาย.
               บทว่า กาเม ได้แก่ วัตถุกามบ้าง กิเลสกามบ้าง.
               บทว่า กาเย ความว่า ในกายของตน.
               บทว่า รูเป ความว่า ในรูปภายนอก.
               บทว่า ยาวทตฺถํ ความว่า มีประมาณเท่าที่ต้องการ.
               บทว่า อุทราวเทหกํ ได้แก่ เต็มท้อง. จริงอยู่ ท้องนั้นเรียกว่า อุทราวเทหกํ เพราะไม่ย่อย.
               บทว่า เสยฺยสุขํ ความว่า ความสุขบนเตียงและบนตั่ง หรือความสุขในฤดู. บทว่า ปสฺสสุขํ ความว่า ความสุขที่เกิดขึ้นเหมือนอย่างความสุขตะแคงขวาและตะแคงซ้ายของผู้นอนพลิกไปมาฉะนั้น. บทว่า มิทฺธสุขํ ได้แก่ ความสุขในการหลับ.
               บทว่า อนุยุตฺโต ความว่า เป็นผู้ประกอบความเพียรอยู่.
               บทว่า ปณิธาย ความว่า ปรารถนาแล้ว.
               จริงอยู่ จตุปาริสุทธสีล ชื่อว่าสีล ในบทเป็นต้นว่า สีเลน ดังนี้. การสมาทานวัตร ชื่อว่าวตะ. การประพฤติความเพียรเครื่องเผากิเลส ชื่อว่าตบะ. การงดเว้นเมถุน ชื่อว่าพรหมจรรย์.
               บทว่า เทโว วา ภวิสฺสามิ ความว่า เราจักเป็นเทพเจ้าผู้มเหศักดิ์.
               บทว่า เทวญฺญตโรวา ความว่า หรือเป็นเทพองค์ใดองค์หนึ่งในบรรดาเทพผู้มีศักดิ์น้อย.
               สมาธิที่ถึงแล้วเพราะอาศัยความพอใจในอิทธิบาททั้งหลาย ชื่อว่าฉันทสมาธิ. สังขารทั้งหลายที่เป็นปธาน ชื่อว่าปธานสังขาร.
               บทว่า สมนฺนาคตํ ความว่า ประกอบด้วยธรรมเหล่านั้น. บาทแห่งฤทธิ์ หรือบาทที่เป็นฤทธิ์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อิทธิบาท.
               ในบททั้งหลายแม้ที่เหลือ ก็มีนัยเช่นนั้นเทียว.
               ความสังเขปในพระสูตรนี้เพียงเท่านี้.
               ส่วนความพิสดาร มาแล้วในอิทธิบาทวิภังค์นั้นแล.
               ส่วนเนื้อความแห่งอิทธิบาทนั้นได้แสดงไว้แล้วในวิสุทธิมรรค. ได้กล่าวการละด้วยการข่มไว้ด้วยอิทธิบาท ๔ นี้ ด้วยประการฉะนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความเพียรอันพึงกระทำในที่ทั้งปวงว่า อุสฺโสฬฺหิ ในบทนี้ว่า อุสฺโสฬหิเยว ปญฺจมี ดังนี้.
               บทว่า อุสฺโสฬฺหิปณฺณรสงฺคสมนฺนาคโต ความว่า ผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๕ ประการพร้อมกับความเพียรอย่างนี้ คือ การละตะปูตรึงใจ ๕ การละกิเลสเครื่องรึงรัดจิต ๕ อิทธิบาท ๔ ความเพียร ๑.
               บทว่า ภพฺโพ ความว่า อนุรูป คือสมควร.
               บทว่า อภินิพฺภิทาย ความว่า เพื่อทำลายกิเลสด้วยญาณ.
               บทว่า สมฺโพธาย ความว่า เพื่อตรัสรู้ดีซึ่งมรรคสี่.
               บทว่า อนุตฺตรสฺส ความว่า ประเสริฐที่สุด.
               บทว่า โยคกฺเขมสฺส ความว่า ความเกษมจากโยคะสี่ คือพระอรหัต.
               บทว่า อธิคมาย ความว่า เพื่อได้รับ.
               ศัพท์ว่า เสยฺยถา เป็นนิบาตลงในอรรถว่าเปรียบเทียบ.
               ศัพท์ว่า ปิ เป็นนิบาตลงในอรรถว่ายกย่อง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ฉันใด ดังนี้ ด้วยบทแม้ทั้งสอง.
               ก็ในบทนี้ว่า ไข่ของแม่ไก่มี ๘ ฟองบ้าง ๑๐ ฟองบ้าง ๑๒ ฟองบ้างดังนี้ จะเป็นไข่ของแม่ไก่แม้น้อยกว่าหรือมากกว่าจากประการที่กล่าวแล้วก็ตาม. แต่คำนั้นท่านกล่าวด้วยความสละสลวยแห่งถ้อยคำ. จริงอยู่ ถ้อยคำที่สละสลวยย่อมมีในโลกอย่างนี้.
               บทว่า ตานสฺสุ แยกบทเป็น ตานิ อสฺสุ ความว่า ไข่เหล่านั้นพึงมี.
               บทว่า กุกฺกุฎิยา สมฺมา อธิสยิตานิ ความว่า เมื่อแม่ไก่นั้นป้องปีกทั้งสองกกไข่เหล่านั้น ไข่เหล่านั้นเป็นอันแม่ไก่กกดีแล้ว.
               บทว่า สมฺมา ปริเสทิตานิ ความว่า อันแม่ไก่ให้อบอุ่นตลอดกาลอันสมควร เป็นอันอบอุ่นด้วยดี คือโดยชอบ ได้แก่กระทำให้มีไออุ่น.
               บทว่า สมฺมา ปริภาวิตานิ ความว่า เป็นอันฟักด้วยดี คือโดยชอบตลอดกาลอันสมควร. อธิบายว่า ให้ได้รับกลิ่นของไก่.
               บทว่า กิญฺจาปิ ตสฺสา กุกฺกุฏิยา ความว่า แม่ไก่นั้นทำความไม่ประมาทด้วยการทำกิริยาสามอย่างนี้ ไม่พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้โดยแท้.
               บทว่า อถโข ภพฺพาว เต ความว่า ลูกไก่เหล่านั้นควรแท้เพื่อออกมาโดยสวัสดี โดยนัยที่กล่าวแล้ว.
               จริงอยู่ เพราะไข่ทั้งหลายอันแม่ไกนั้นเพียรฟักด้วยอาการ ๓ อย่างนี้ ย่อมไม่เน่า ยางเหนียวของไข่เหล่านั้นก็จะถึงความแก่ขึ้น เปลือกไข่ก็จะบาง ปลายเล็บเท้าและจะงอยปากก็จะแข็ง ไข่ทั้งหลายก็จะแก่รอบ แสงสว่างข้างนอกก็จะปรากฏข้างในเพราะเปลือกไข่บาง เพราะฉะนั้น ลูกไก่เหล่านั้นจึงใคร่จะออกด้วยคิดว่า เรางอปีกงอเท้าอยู่ในที่คับแคบ เป็นเวลานานแล้วหนอ และแสงสว่างภายนอกนี้ก็ปรากฏ บัดนี้ พวกเราจักอยู่เป็นสุขในที่มีแสงสว่างนั้นดังนี้ แล้วกะเทาะเปลือกด้วยเท้า ยื่นคอออก แต่นั้นเปลือกนั้นก็จะแตกออกเป็นสองส่วน.
               ลำดับต่อมา ลูกไก่ทั้งหลายขยับปีก ร้อง ออกมาตามสมควรแก่ขณะนั้นนั้นเทียว ครั้นออกมาแล้วก็จะเที่ยวหากินตามคามเขต.
               บทว่า เอวเมว โข นี้ มีอรรถว่าเปรียบเทียบ นักปราชญ์เปรียบเทียบด้วยอรรถอย่างนี้แล้วพึงทราบ.
               ก็พึงทราบความที่ภิกษุนี้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยองค์ ๑๕ รวมทั้งความอุตสาหะเหมือนแม่ไก่นั้นทำกิริยา ๓ อย่างในไข่ทั้งหลายฉะนั้น
               ความไม่เสื่อมแห่งวิปัสสนาญาณเพราะความถึงพร้อมด้วยอนุปัสสนา ๓ อย่างของภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๕ เหมือนความที่ไข่ทั้งหลายไม่เน่า เพราะความถึงพร้อมด้วยกิริยา ๓ อย่างของแม่ไก่ฉะนั้น.
               การถือเอายางเหนียวคือความใคร่อันเป็นไปในภพ ๓ ด้วยความถึงพร้อมด้วยอนุปัสสนา ๓ อย่างของภิกษุนั้น เหมือนการแก่รอบแห่งยางเหนียวของไข่ทั้งหลายด้วยการกระทำกิริยา ๓ อย่างของแม่ไก่ฉะนั้น.
               ความที่เปลือกไข่คืออวิชชาของภิกษุเป็นธรรมชาติเบาบาง เหมือนความที่เปลือกไข่เป็นธรรมชาติบางฉะนั้น. ความที่วิปัสสนาญาณของภิกษุเป็นธรรมชาติคมแข็ง ผ่องใสและกล้า เหมือนความที่ปลายเล็บเท้าและจะงอยปากของลูกไก่ทั้งหลายเป็นธรรมชาติกระด้างและแข็งฉะนั้น.
               กาลเปลี่ยนแปลง กาลอันเจริญแล้ว กาลแห่งการถือห้องแห่งวิปัสสนาญาณของภิกษุ เหมือนกาลแปรไปแห่งลูกไก่ทั้งหลายฉะนั้น กาลที่ภิกษุนั้นให้ถือห้องคือวิปัสสนาญาณเที่ยวไปได้อุตุสัปปายะ โภชนสัปปายะ ปุคคลสัปปายะหรือธรรมสวนสัปปายะ อันเกิดแต่วิปัสสนาญาณนั้น นั่งบนอาสนะเดียวเจริญวิปัสสนา ทำลายเปลือกไข่คืออวิชชาด้วยอรหัตมรรคที่บรรลุแล้วโดยลำดับ ขยับปีกคืออภิญญาแล้ว บรรลุพระอรหัตโดยสวัสดี เหมือนกาลที่ลูกไก่ทั้งหลายกะเทาะเปลือกไข่ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปากแล้ว ขยับปีกทั้งหลายออกมาโดยความสวัสดีฉะนั้น.
               ก็ฝ่ายแม่ไก่รู้ความที่ลูกไก่ทั้งหลายแก่จัดแล้ว ทำลายเปลือกไข่ฉันใด แม้พระศาสดาก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงรู้ความแก่งอมแห่งญาณของภิกษุเห็นปานนั้นแล้ว ทรงแผ่โอภาสแล้ว ทรงทำลายเปลือกไข่คืออวิชชา ด้วยพระคาถามีอาทิว่า
                         บุคคลพึงตัดความรักของตน ดุจเด็ดดอกโกมุท
                         ในสารทกาลด้วยมือ แล้วพอกพูนเฉพาะทางสันติ
                         เท่านั้น พระนิพพานอันพระสุคตแสดงไว้แล้ว.
               ภิกษุนั้นทำลายเปลือกไข่คืออวิชชาแล้ว บรรลุพระอรหัตในเวลาจบพระคาถา.
               จำเดิมแต่นั้น ลูกไก่เหล่านั้นยังคามเขตให้งามเที่ยวไปในคามเขตนั้นฉันใด ภิกษุแม้นี้เป็นพระมหาขีณาสพบรรลุผลสมาบัติอันมีนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว ยังสังฆารามให้งามอยู่เที่ยวไปฉันนั้น.
               ท่านแสดงปหานะ ๔ อย่างในพระสูตรนี้ด้วยประการฉะนี้.
               อย่างไร
               ก็ท่านแสดงปฏิสังขาปหานะด้วยการละตะปูตรึงใจทั้งหลาย ละกิเลสเครื่องรึงรัดใจทั้งหลาย แสดงวิกขัมภนปหานะ ด้วยอิทธิบาททั้งหลาย แสดงสมุจเฉทปหานะ เมื่อมรรคมาแล้ว แสดงปฏิปัสสัทธิปหานะ เมื่อผลมาแล้ว.
               คำที่เหลือในบททั้งปวง มีเนื้อความง่ายทั้งนั้นดังนี้.

               จบอรรถกถาเจโตขีลสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สีหนาทวรรค เจโตขีลสูตร ว่าด้วยตะปูตรึงใจ จบ.
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 221อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 226อ่านอรรถกถา 12 / 234อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=3449&Z=3630
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=10006
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=10006
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :