ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 289อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 292อ่านอรรถกถา 12 / 301อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค
รถวินีตสูตร ภิกษุชาวชาติภูมิยกย่องพระปุณณมันตานีบุตร

               อรรถกถารถวินีตสูตร               
               รถวินีตสูตรเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ :-
               พึงทราบวินิจฉัยในรถวินีสูตรนั้น บทว่า ราชคเห ได้แก่นครมีชื่ออย่างนี้.
               จริงอยู่ นครนั้น ท่านเรียกว่าราชคฤห์ เพราะพระเจ้ามนธาตุราชและมหาโควินศาสดาเป็นต้น คุ้มครองรักษาไว้. แต่ท่านอาจารย์พวกอื่นพรรณนาไว้หลายประการในคำนี้. ท่านพรรณนาไว้อย่างไร ท่านพรรณนาไว้ว่าคำนี้เป็นชื่อของนครนั้น ก็กรุงราชคฤห์นั้นเป็นนครทั้งในกาลแห่งพระพุทธเจ้า ทั้งในกาลแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ ในเวลานอกนั้นก็เป็นนครร้าง มีแต่ผีเฝ้าแหนไว้ กลายเป็นป่าที่อยู่ของผีพวกนั้นไป.
               คำว่า เวฬุวัน ในคำว่า เวฬุวเน กลนฺทกนิวาเป เป็นชื่อของอุทยานนั้น.
               นัยว่า อุทยานนั้นมีไม้ไผ่ล้อมไว้รอบ มีกำแพงสูง ๑๘ ศอก ประกอบด้วยซุ้มประตูและป้อม มีสีเขียวสดใสน่ารื่นรมย์ ท่านจึงเรียกว่า เวฬุวัน.
               อนึ่ง คนทั้งหลายได้ให้เหยื่อแก่เหล่ากระแตในเวฬุวันนั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า กลันทกนิวาปะ เป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต.
               เล่ากันว่า แต่ก่อน พระราชาพระองค์หนึ่งเสร็จมาเพื่อทรงกีฬาในพระราชอุทยานนั้น แต่ทรงเมาด้วยน้ำจัณฑ์ ก็บรรทมหลับไปเวลากลางวัน. แม้ชนที่อยู่ข้างเคียงท้าวเธอ รู้ว่าพระราชาบรรทมหลับแล้ว ก็หยิบฉวยดอกไม้ผลไม้เป็นต้น ต่างแยกย้ายกันไป.
               คราวนั้น งูเห่าตัวหนึ่งได้กลิ่นสุรา ก็เลื้อยออกมาจากโพรงไม้ต้นหนึ่ง บ่ายหน้ามาทางพระราชา. รุกขเทวดาเห็นงูเห่านั้นแล้ว ก็แปลงเพศเป็นกระแต หมายจะช่วยชีวิตพระราชา มากระทำเสียงที่ใกล้พระกรรณ. พระราชาก็ทรงตื่นบรรทม. งูเห่าก็เลื่อยกลับไป.
               ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นกระแตนั้น ก็ทรงทราบว่า กระแตนี้ช่วยชีวิตเราไว้ ก็ทรงวางเหยื่อไว้ในพระราชอุทยานนั้น เพื่อกระแตทั้งหลายและโปรดให้ประกาศประทานอภัยแก่กระแตทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นั้นมา พระราชอุทยานนั้นจึงนับได้ว่า กลันทกนิวาปะ เป็นที่ประทานเหยื่อแก่กระแต. ด้วยว่า คำว่า กลนฺทก เป็นชื่อของกระแตทั้งหลาย.
               บทว่า ชาติภูมิ ๓ ได้แก่ ชาวชาติภูมิ.
               ในคำว่า ชาติภูมิ ๓ นั้น บทว่า ชาติภูมิ แปลว่าที่เกิด. ก็ที่เกิดนั้น ไม่ใช่ที่เกิดของพระเจ้าโกศลมหาราชเป็นต้น ไม่ใช่ที่เกิดของจังกีพราหมณ์เป็นต้น ไม่ใช่ที่เกิดของท้าวสักกะ ท้าวสุยามและท้าวสันดุสิตเป็นต้น ไม่ใช่ที่เกิดของพระอสีติมหาสาวกเป็นต้น ไม่ใช่ที่เกิดของสัตว์เหล่าอื่น ที่เรียกว่าชาติภูมิ.
               แต่ในวันที่พระสัพพัญญูโพธิสัตว์เจ้าพระองค์ใดเกิดแล้ว หมื่นโลกธาตุเกลื่อนกล่นด้วยธงและดอกไม้เป็นอันเดียวกัน หอมตระหลบด้วยกลิ่นดอกไม้และจุณอบ รุ่งเรืองดังนันวันที่มีดอกไม้บานสะพรั่งไปทั่ว ได้ไหวดุจหยาดน้ำบนใบบัว ปาฏิหาริย์เป็นอันมาก เช่นคนตาบอดเห็นรูปเป็นต้นเป็นไปแล้ว ที่เกิดแห่งพระสัพพัญญูพระโพธิสัตว์เจ้าพระองค์นั้น คือกรุงกบิลพัสดุ์ สักกชนบทนั้นแล เรียกว่า ชาติภูมิ.
               บทว่า วสฺสํ วุฎฺฐา ได้แก่ อยู่จำพรรษา ๓ เดือน ปวารณาแล้ว.
               บทว่า ภควา เอตทโว จ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระพุทธพจน์ว่า โก นุ โข ภิกฺเว ดังนี้ เป็นต้นนั้น ทรงกระทำปฏิสันถารต้อนรับอาคันตุกะด้วยพระดำรัสเป็นต้นว่า กิจฺจิ ภิกฺเว ขมนียํ.
               ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้นถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามโดยการปฏิสันถารว่า ภิกษุทั้งหลาย พอทนได้ไหม พอเป็นไปได้ไหม พวกเธอมาไกลไม่ลำบากหรือ ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ พวกเธอมาแต่ไหน จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์มาจากชาติภูมิ คือกบิลพัสดุ์สักกชนบท.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามิตรัสถามถึงความไม่มีโรคของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ของเจ้าสุกโกทนะ ของเจ้าสักโกทนะ ของเจ้าโธโตทนะ ของเจ้าอมิโตทนะ ของพระนางอมิตาเทวี ของพระนางมหาปชาบดี ของวงศ์เจ้าศากยะทั้งสิ้นเลย ที่แท้เมื่อตรัสถามภิกษุผู้ได้กถาวัตถุ ๑๐ ด้วยตนเอง และผู้อื่นผู้ชักชวนในข้อปฏิบัตินั้น ผู้สมบูรณ์ด้วยข้อปฏิบัติ จึงตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า โก นุ โข ภิกฺขเว เป็นต้น.
               ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสถามความไม่มีโรคของพระเจ้าสุทโธทนะเป็นต้น ตรัสถามเฉพาะภิกษุเห็นปานนั้นเท่านั้น. เพราะเป็นที่รัก.
               จริงอยู่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกาผู้ปฏิบัติ ย่อมเป็นที่รักที่ชอบพอพระทัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               เพราะเหตุไร. เพราะทรงเป็นผู้หนักในธรรม.
               จริงอยู่ พระตถาคตทั้งหลายเป็นผู้หนักในธรรม. ก็ภาวะที่พระตถาคตทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้หนักในธรรมนั้น พึงทราบโดยอัธยาศัยที่เกิด ณ โคนแห่งต้นอชปาลนิโครธนี้ว่า ผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงอยู่เป็นทุกข์.
               จริงอยู่ เพราะความเป็นผู้หนักในธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำการต้อนรับในวันออกบวชของพระมหากัสสปเถระได้เสด็จไปตลอดหนทางประมาณ ๓ คาวุต. เสด็จเดินทางเกิน ๓๐๐ โยชน์ แสดงธรรมที่ฝั่งแม่น้ำคงคา สถาปนาพระเจ้ามหากัปปินะพร้อมบริษัทไว้ในพระอรหัต. ภายหลังภัตรครั้งหนึ่ง เสด็จเดินทาง ๔๕ โยชน์ ตรัสธรรมตลอด ๓ ยาม ณ ที่อยู่ของช่างหม้อ ทรงสถาปนาปุกกุสาติกุลบุตรไว้ในอนาคามีผล. เสด็จไปตลอดทาง ๒,๐๐๐ โยชน์ ทรงอนุเคราะห์สามเณรที่อยู่ป่า. เสด็จไปตลอดทาง ๖๐ โยชน์ แสดงธรรมโปรดพระขทิวรนิยเถระ. ทรงทราบว่า พระอนุรุทธเถระนั่งอยู่ที่ปาจีนวังสทายวัน ตรึกถึงมหาปุริสวิตก แล้วเหาะไปในที่นั้น และเสด็จลงข้างหน้าของพระเถระประทานสาธุการ. ให้ปูเสนาสนะที่คันธกุฎีเดียวกัน สำหรับพระกุฏิกัณณโสณเถระ ในเวลาใกล้รุ่ง เชื้อเชิญแสดงธรรม ในเวลาจบสรภัญญะได้ประทานสาธุการ. เสด็จเดินทาง ๓ คาวุต ตรัสอานิสงส์สามัคคีรส ณ โคสิงคสาลวันที่อยู่ของกุลบุตร ๓ คน.
               ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เกิดความสนิทสนมว่าพระอริยสาวกผู้นี้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล เสด็จไปที่อยู่ของนายช่างหม้อ ชื่อว่าฆฏิการะ รับอามิสด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เสวย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย เมื่อจวนเข้าพรรษา ภิกษุสงฆ์แวดล้อมเสด็จออกจาริกจากพระเชตวัน. พระเจ้าโกศลมหาราชและอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นต้น ไม่อาจจะทำให้เสด็จกลับได้. ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกลับมาบ้าน แล้วก็นั่งเสียใจ.
               ทาสีชื่อว่าปุณณา กล่าวกะอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า นายเสียใจหรือ.
               อนาถบิณฑิกเศรษฐีตอบว่า เออว่า ข้าไม่อาจจะทำให้พระศาสดาเสด็จกลับได้ เมื่อเป็นอย่างนั้น ข้าก็คิดว่า ข้าก็คงไม่ได้ฟังธรรม ถวายทานตามประสงค์ ตลอด ๓ เดือนนี้.
               นางปุณณาทาสีกล่าวว่า นาย ฉันจะนำพระศาสดากลับมาเอง.
               เศรษฐีพูดว่า ถ้าเจ้าสามารถนำพระศาสดากลับมาได้ เจ้าก็จะเป็นไทแก่ตัว.
               นางไปหมอบแทบเบื้องพระยุคลบาทของพระทสพล ทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์โปรดเสด็จกลับเถิด. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ปุณณา เจ้าเป็นคนอาศัยเขาเลี้ยงชีพ จักทำอะไรแก่เราได้. นางกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ไม่มีไทยธรรมดอก แม้พระองค์ก็ทรงทราบ แต่เพราะพระองค์เสด็จกลับเป็นเหตุ ข้าพระองค์จักตั้งอยู่ในสรณะ ๓ ศีล ๕. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสาธุการว่า ดีละ ปุณณา แล้วเสด็จกลับเข้าสู่พระเชตวันนั้นแล. เรื่องนี้ปรากฏจริงขึ้นแล้ว. เศรษฐีฟังแล้วคิดว่า เขาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จกลับเพราะนางปุณณาแล้วให้นางปุณณาเป็นไทแล้วตั้งไว้ในฐานะเป็นธิดา. นางขอบวชแล้วก็บวชครั้นแล้วก็เริ่มวิปัสสนา. ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบว่า นางเริ่มวิปัสสนาแล้ว ทรงเปล่งโอภาสและตรัสคาถานี้ว่า
                                   ปุณฺเณ ปูเรสิ สทฺธมฺมํ จนฺโท ปณฺณรโส ยถา
                                   ปริปุณฺณาย ปญฺญาย ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสสิ

                         ดูก่อนปุณณา เจ้าบำเพ็ญพระสัทธรรมให้เต็ม
                         เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญ จักกระทำที่สุด
                         ทุกข์ด้วยปัญญาที่บริบูรณ์ได้.

               เมื่อจบคาถา นางก็บรรลุพระอรหัตได้เป็นพระสาวิกาผู้มีชื่อเสียง. พระตถาคตทั้งหลายเป็นผู้หนักในธรรมด้วยประการฉะนี้.
               เมื่อพระนันทเถระแสดงธรรมอยู่ในโรงฉัน พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่นำอะไรไป ประทับยืนฟังธรรมกถาตลอด ๓ ยาม เมื่อจบเทศนา ได้ประทานสาธุการ. พระเถระมาถวายบังคม ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์มาเวลาไร. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เมื่อเธอพอเริ่มสูตร. ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงทำกิจที่ทำได้ยาก ทรงเป็นพระพุทธเจ้าสุขุมาลชาติ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นันทะ ถ้าเธอพึงอาจแสดงอยู่ได้ถึงกัปป์ เราก็จะพึงยืนฟังอยู่ตลอดกัปป์. พระตถาคตทั้งหลายหนักในธรรมอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ย่อมเป็นที่รักของพระตถาคตเหล่านั้น เพราะเป็นผู้หนักในธรรม เพราะฉะนั้น จึงตรัสถามผู้ปฏิบัติทั้งหลาย.
                  ขึ้นชื่อว่า ผู้ปฏิบัติมี ๔ ประเภท คือ
                  ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ๑
                  ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ๑
                  ผู้ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ๑
                  ไม่ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนทั้งไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ๑.
               บรรดาผู้ปฏิบัติเหล่านั้น ผู้ใดได้กถาวัตถุ ๑๐ เอง ไม่กล่าวไม่สอนผู้อื่นในกถาวัตถุ ๑๐ นั้น เหมือนอย่างท่านพากุละ ผู้นี้ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น. พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ถามภิกษุเช่นนี้. เพราะเหตุไร. เพราะภิกษุนั้นไม่ตั้งอยู่ในฝ่ายเจริญแห่งศาสนาของเรา.
               ส่วนผู้ไม่ได้กถาวัตถุ ๑๐ สอนภิกษุอื่นด้วยกถาวัตถุ ๑๐ นั้น เพื่อยินดีข้อวัตรที่ภิกษุนั้นกระทำแล้ว เหมือนท่านอุปนันทสักยบุตร ผู้นี้ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน. พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสถามแม้ภิกษุเช่นนั้น. เพราะเหตุไร. เพราะภิกษุนั้นละตัณหาไม่ได้ เหมือนกระเช้าใหญ่.
               ผู้ใดไม่ได้กถาวัตถุ ๑๐ แม้ด้วยตนเอง ไม่ชักชวน ไม่สอนผู้อื่นด้วยกถาวัตถุ ๑๐ นั้น เหมือนพระโลฬุทายีผู้นี้ ชื่อว่าไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น. ไม่ตรัสถามภิกษุเห็นปานนั้น. ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะกิเลสทั้งหลายในภายในของเธอมีมาก เหมือนจะต้องตัดทิ้งด้วยขวาน.
               ส่วนภิกษุใด ตนเองได้กถาวัตถุ ๑๐ ทั้งสอนผู้อื่นด้วยกถาวัตถุ ๑๐ นั้น ภิกษุนี้ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นเหมือนพระอสีติมหาเถระมีพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะและพระมหากัสสปะเป็นต้น. ตรัสถามภิกษุเห็นปานนั้น. ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะภิกษุนั้นตั้งอยู่ในฝ่ายเจริญแห่งศาสนาของเรา.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสถามเฉพาะภิกษุเห็นปานนั้น แม้ในที่นี้ จึงตรัสว่า โก นุ โข ภิกฺเว เป็นต้น.
               ก็เมื่อภิกษุเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามภิกษุผู้ได้กถาวัตถุ ๑๐ ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทั้งสองฝ่ายในชาติภูมิของตน. ได้มีความคิดหรือปรึกษากันและกันว่า ในภิกษุเหล่านั้นรูปไหนจะเป็นเช่นนั้น.
               เพราะเหตุไร.
               เพราะท่านมันตานีบุตรปรากฏมีชื่อเสียงในชนบทนั้น เหมือนพระจันทร์และพระอาทิตย์ลอยเด่นอยู่ในท่ามกลางอากาศ. เพราะฉะนั้น ภิกษุเหล่านั้นเป็นประดุจฝูงนกยูง ได้ฟังเสียงเมฆก็เกาะกลุ่มประชุมกัน และเป็นดุจภิกษุผู้เริ่มทำคณะสาธยาย.
               เมื่อจะกราบทูลถึงพระปุณณเถระผู้เป็นอาจารย์ของตนแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงจะมีปากก็ไม่พอที่จะกล่าวสรรเสริญคุณของพระเถระ จึงได้กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ปุณฺโณ นาม ภนฺเต อายสฺมา เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น คำว่า ปุณฺโณ เป็นชื่อของพระเถระนั้น ก็เพราะท่านเป็นบุตรของมันตานีพราหมณีฉะนั้น จึงเรียกกันว่ามันตานีบุตร.
               บทว่า สมฺภาวิโต ได้แก่ ยกย่องโดยกล่าวสรรเสริญคุณ.
               บทว่า อปฺปิจฺโฉ ได้แก่ ปราศจากความปรารถนา หมดความอยาก หมดตัณหา.
               ก็ในคำนี้เหมือนจะเหลือแต่พยัญชนะ ส่วนเนื้อความไม่มีเหลือเลย. ก็ท่านปุณณมันตานีบุตรนั้นไม่มีปรารถนาเหลืออยู่เลยแม้น้อยนิด เพราะท่านเป็นพระขีณาสพ ละตัณหาได้โดยประการทั้งปวง.
               อีกอย่างหนึ่ง ในคำว่า อปฺปิจฺโฉ นี้ พึงทราบความแตกต่างกันดังนี้ว่า ความเป็นผู้ปรารถนาไม่มีขอบเขต ความเป็นผู้ปรารถนาลามก ความเป็นผู้มักมาก ความเป็นผู้มักน้อย.
               ใน ๔ ประเภทนั้น ผู้ไม่อิ่มในลาภของตน มุ่งลาภของผู้อื่น ชื่อว่าความเป็นผู้ปรารถนาไม่มีขอบเขต. ผู้ที่ประกอบด้วยความปรารถนาไม่มีขอบเขต ย่อมมองเห็นขนมที่สุกแล้วในภาชนะเดียวกัน ที่ตกลงในบาตรของตนว่าเป็นเหมือนยังไม่สุกและเป็นของเล็กน้อย ของอย่างเดียวกันนั่นแหละที่เขาใส่ลงในบาตรของผู้อื่น ย่อมมองเห็นว่าเป็นเหมือนของสุกดีและเป็นของมาก.
               อนึ่ง ความอวดอ้างคุณที่ไม่มีอยู่และความไม่รู้จักประมาณในการรับ ชื่อว่าความเป็นผู้มีความปรารถนาลามก. ข้อนั้นมาแล้วในพระอภิธรรมโดยนัยเป็นต้นว่า บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ย่อมปรารถนาว่าขอชนจงรู้ว่าเรามีศรัทธา. บุคคลผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้ปรารถนาลามกนั้น ย่อมตั้งอยู่ในฐานะเป็นคนล่อลวง.
               ส่วนการกล่าวสรรเสริญคุณที่มีอยู่ก็ดี และการไม่รู้จักประมาณในการรับก็ดี ชื่อว่าความเป็นผู้มักมาก. แม้ความเป็นผู้มักมากนั้นก็มาแล้วโดยนัยเป็นต้นว่า บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมปรารถนาว่าขอชนจงรู้ว่าเรามีศรัทธา เป็นผู้มีศีล ย่อมปรารถนาว่า ขอชนจงรู้เราว่าเป็นผู้มีศีล. บุคคลผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มักมากนั้น ย่อมเป็นที่รักของคนชั่ว. แม้มารดาผู้บังเกิดเกล้าก็ไม่สามารถจะเอาใจเขาได้.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำนี้ไว้ว่า
                         อคฺคิกฺขนฺโธ สมุทฺโท จ มหิจฺโฉ จาปิ ปุคฺคโล
                         สกเฎน ปจฺจยํ เหตุ ตโย เจเต อตปฺปิยา

                         กองไฟ ๑ ทะเล ๑ คนมักมาก ๑ ทั้ง ๓ ประเภทนี้
                         ถึงจะให้ของจนเต็มเล่มเกวียน ก็ไม่ทำให้อิ่มได้.

               ส่วนการปกปิดคุณที่มีอยู่ และความเป็นผู้รู้จักประมาณในการรับ ชื่อว่าความเป็นผู้มักน้อย. บุคคลผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มักน้อยนั้น เพราะประสงค์จะปกปิดคุณ แม้ที่มีอยู่ในตน ถึงจะสมบูรณ์ด้วยศรัทธา ก็ไม่ปรารถนาจะให้คนรู้ว่าเรามีศรัทธา เป็นผู้มีศีล เป็นผู้สงัด เป็นพหูสูต เป็นผู้ปรารภความเพียร สมบูรณ์ด้วยสมาธิ มีปัญญา เป็นพระขีณาสพ ก็ไม่ปรารถนาจะให้คนรู้ว่าเราเป็นพระขีณาสพ เหมือนอย่างพระมัชฌันติกเถระฉะนั้น.
               เล่ากันว่า พระเถระเป็นพระมหาขีณาสพ. ก็บาตรจีวรของท่านมีราคาเพียงบาทเดียวเท่านั้น. ท่านได้เป็นประธานสงฆ์ในวันฉลองวิหารของพระเจ้าธรรมาโศกราช.
               ครั้งนั้น มนุษย์ทั้งหลายเห็นท่านมีจีวรเศร้าหมองเกินไป จึงกล่าวว่า ขอท่านจงรออยู่ข้างนอกสักหน่อยเถิดเจ้าข้า.
               พระเถระคิดว่า เมื่อพระขีณาสพเช่นเราไม่สงเคราะห์พระราชา ผู้อื่นใดใครเล่าจักสงเคราะห์ได้ จึงดำลงไปในแผ่นดิน รับอาหารที่เขาจัดไว้สำหรับพระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ แล้วโผล่ขึ้น. ขนาดท่านเป็นพระขีณาสพอย่างนี้ ยังไม่ปรารถนาว่า ขอประชาชนจงรู้จักเราว่าเป็นพระขีณาสพ.
               ส่วนภิกษุผู้มักน้อยย่อมยังลาภที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ย่อมทำลาภที่เกิดขึ้นแล้วให้มั่นคง ทำจิตของเหล่าทายกให้ยินดีด้วยประการฉะนี้.
               จริงอยู่ ภิกษุผู้มีความมักน้อยนั้น ย่อมรับเอาแต่น้อย เพราะตนเป็นผู้มักน้อยโดยประการใดๆ เหล่ามนุษย์ผู้เลื่อมใสในวัตรของท่านย่อมถวายมากโดยประการนั้นๆ.
               อีกนัยหนึ่ง ภิกษุผู้มักน้อย มี ๔ ประเภท คือ
                         ภิกษุผู้มักน้อยในปัจจัย ๑
                         ผู้มักน้อยในธุดงค์ ๑
                         ผู้มักน้อยในปริยัติ ๑
                         ผู้มักน้อยในอธิคม ๑.
               ใน ๔ ประเภทนั้น ภิกษุผู้มักน้อยในปัจจัย ๔ ชื่อว่าผู้มักน้อยในปัจจัย. ภิกษุผู้มักน้อยในปัจจัยนั้น ย่อมรู้ความสามารถของทายก ย่อมรู้ความสามารถของไทยธรรม ย่อมรู้กำลังของตน. ก็ผิว่า ไทยธรรมมีมาก แต่ทายกต้องการถวายน้อย ก็รับเอาแต่น้อยตามความสามารถของทายก ไทยธรรมมีน้อย ทายกต้องการจะถวายมาก ก็รับเอาแต่น้อย ตามความสามารถของไทยธรรม ทั้งไทยธรรมก็มีมาก ทั้งทายกก็ต้องการจะถวายมาก ก็รู้กำลังของตน รับเอาแต่พอประมาณ.
               ภิกษุผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ต้องการจะให้เขารู้ความที่ธุดงค์สมาทานมีอยู่ในตน ชื่อว่าผู้มักน้อยในธุดงค์. เพื่อจะทำความในข้อนั้นให้แจ่มแจ้ง มีเรื่องเหล่านี้เป็นตัวอย่าง.
               เล่ากันมาว่า พระมหาสุมเถระผู้ถือโสสานิกังคธุดงค์อยู่ป่าช้ามา ๖๐ ปี แม้แต่ภิกษุสักรูปหนึ่งอื่นๆ ก็ไม่รู้. ด้วยเหตุนั้นแล ท่านจึงกล่าวว่า
                                   สุสาเน สฏฺฐิวสฺสานิ อพฺโพกิณฺโณ วสามหํ
                                   ทุติโย มํ น ชาเนยฺย อโห โสสานิกุตฺตโม

                         เราอยู่ลำพังคนเดียวในป่าช้ามา ๖๐ ปี เพื่อนก็
                         ไม่รู้เรา โอ ยอดของผู้รักษาโสสานิกังคธุดงค์.

               พระเถระ ๒ พี่น้องอยู่ในเจติยบรรพต. พระเถระองค์น้องรับท่อนอ้อยที่อุปฐากเขาส่งมา ได้ไปยังสำนักของพระเถระผู้พี่พูดว่า หลวงพี่ฉันเสียซิ. เป็นเวลาที่พระเถระฉันแล้วบ้วนปาก. พระเถระผู้พี่กล่าวว่า พอละเธอ. พระผู้น้องชายถามว่า หลวงพี่ถือเอกาสนิกังคธุดงค์หรือ. พระเถระผู้พี่กล่าวว่า เธอนำท่อนอ้อยมา แม้เป็นผู้ถือเอกาสนิกังคธุดงค์มาถึง ๕๐ ปี ก็ปกปิดธุดงค์ไว้ ฉันแล้วบ้วนปาก อธิษฐานธุดงค์ใหม่แล้วไป.
               ส่วนภิกษุผู้มักน้อยรูปใด ไม่ประสงค์จะให้เขารู้ความที่ตนเป็นพหูสูต เหมือนพระสาเกตกติสเถระ ภิกษุนี้ชื่อว่าผู้มักน้อยในพระปริยัติ.
               เล่ากันมาว่า พระเถระไม่ทำโอกาสในอุเทศและปริปุจฉาว่า ไม่มีเวลา ถูกเตือนว่า ท่านคงจะมีแต่เวลาตาย ละหมู่แล้ว ไปวิหารใกล้สมุทรที่มีทรายดังดอกกัณณิกา เป็นผู้อุปการะเหล่าภิกษุชั้นเถระ นวกะและมัชฌิมะตลอดพรรษา ยังชุมชนให้สะเทือนด้วยธรรมกถาในวันมหาปวารณา วันอุโบสถแล้วไป.
               ส่วนภิกษุผู้มักน้อยรูปใดเป็นพระอริยบุคคลองค์หนึ่ง ในบรรดาพระอริยบุคคลผู้โสดาบันเป็นต้น ย่อมไม่ปรารถนาให้รู้ความเป็นพระโสดาบันเป็นต้น ภิกษุผู้มักน้อยรูปนี้ ชื่อว่าผู้มักน้อยในอธิคม เหมือนกุลบุตร ๓ คน และเหมือนช่างหม้อ ชื่อว่าฆฏิการะ.
               ส่วนท่านปุณณะละความปรารถนาเกินขอบเขต ความปรารถนาลามกและความมักมาก ได้ชื่อว่าเป็นผู้มักน้อย เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยความมักน้อยอันบริสุทธิ์ กล่าวคือความไม่โลภอันเป็นปฏิปักษ์ต่อความปรารถนาโดยประการทั้งปวง. ท่านปุณณะแสดงโทษในธรรมเหล่านั้นว่า ผู้มีอายุ ธรรมเหล่านี้ คือความปรารถนาเกินขอบเขต ความปรารถนาลามก ความเป็นผู้มักมากอันภิกษุควรละ ดังนี้แล้ว จึงกล่าวอัปปิจฉกถาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุควรสมาทาน ประพฤติ ความเป็นผู้มักน้อยเห็นปานนี้. ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุผู้มักน้อยด้วยตนเอง และสอนเรื่องเป็นผู้มักน้อยแก่ภิกษุทั้งหลาย.
               บัดนี้ ข้าพเจ้าจักแสดงอรรถอันพิเศษในคำว่า อตฺตนาว สนฺตุฏฺโฐ เป็นต้น. แต่พึงทราบการประกอบความโดยนัยดังกล่าวมาแล้ว.
               บทว่า สนฺตุฏฺโฐ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความสันโดษในปัจจัยตามมีตามได้.
               ก็สันโดษนี้นั้นมี ๑๒ อย่าง คืออะไรบ้าง อันดับแรกในจีวร มี ๓ อย่าง คือ ยถาลาภสันโดษ ยถาพลสันโดษ ยถาสารุปปสันโดษ. ในบิณฑบาตเป็นต้นก็เหมือนกัน. การพรรณนาประเภทปัจจัย คือจีวรนั้นดังนี้ ภิกษุในศาสนานี้ได้จีวร ไม่ว่าดีหรือไม่ดี ก็ยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรนั้นเท่านั้น ไม่ปรารถนาจีวรอื่น ถึงได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษในจีวรของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุใดทุพพลภาพโดยปกติหรือถูกความเจ็บป่วยและชราครอบงำ ครองจีวรหนักก็ลำบาก ภิกษุนั้นเปลี่ยนจีวรกับภิกษุผู้ชอบพอกัน แม้ยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรเบา ก็เป็นผู้สันโดษเหมือนกัน นี้ชื่อยถาพลสันโดษในจีวรของภิกษุนั้น.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งเป็นผู้ได้ปัจจัยอันประณีต เธอได้จีวรมีค่ามากผืนหนึ่ง บรรดาจีวรแพรเป็นต้น ก็หรือว่าได้จีวรเป็นอันมาก คิดว่าจีวรนี้เหมาะแก่พระเถระผู้บวชนาน ผืนนี้เหมาะแก่ภิกษุผู้พหูสูต ผืนนี้เหมาะแก่ภิกษุผู้เป็นไข้ ผืนนี้เหมาะแก่ภิกษุผู้มีลาภน้อย ถวายแล้วเลือกจีวรเก่าๆ บรรดาผ้าเหล่านั้นหรือชิ้นผ้าจากกองขยะเป็นต้น กระทำสังฆาฏิด้วยผ้าเหล่านั้น แม้ครองอยู่ก็เป็นผู้สันโดษอยู่นั่นแล นี้ชื่อว่ายถาสารุปสันโดษในจีวรของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุในพระศาสนานี้ได้บิณฑบาตไม่ว่าปอนหรือประณีต เธอยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยบิณฑบาตนั้นเท่านั้น ไม่ปรารถนาบิณฑบาตอื่น ถึงได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษในบิณฑบาตของภิกษุนั้น. แต่ภิกษุใดได้บิณฑบาตที่แสลงแก่ปกติของตนหรือแสลงแก่โรค ซึ่งเธอฉันแล้วไม่ผาสุก ภิกษุนั้นถวายบิณฑบาตนั้นแก่ภิกษุที่ชอบกัน ฉันโภชนะที่สบายจากมือของภิกษุนั้น แม้กระทำสมณธรรมอยู่ ก็ยังชื่อว่าผู้สันโดษ นี้ชื่อว่ายถาพลสันโดษในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้บิณฑบาตประณีตเป็นอันมาก เธอถวายบิณฑบาตนั้นแก่เหล่าภิกษุผู้บวชนาน ผู้เป็นพหูสูต ผู้มีลาภน้อย และภิกษุไข้เหมือนจีวร แม้ฉันบิณฑบาตที่เหลือของภิกษุเหล่านั้น หรือเที่ยวบิณฑบาตแล้วฉันอาหารคละกัน ก็ยังชื่อว่าผู้สันโดษ นี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุในพระศาสนานี้ได้เสนาสนะไม่ว่าน่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ เธอไม่เกิดโสมนัส ไม่เกิดปฏิฆะ ด้วยเสนาสนะนั้น ยินดีด้วยเสนาสนะตามที่ได้โดยที่สุดแม้เครื่องปูลาดทำด้วยหญ้า นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุใดได้เสนาสนะที่แสลงแก่ปกติของตนหรือแสลงแก่โรค เมื่ออยู่ก็ไม่มีความผาสุก ภิกษุนั้นถวายเสนาสนะนั้นแก่ภิกษุที่ชอบกัน แม้อยู่ในเสนาสนะอันเป็นสัปปายะอันเป็นส่วนของเธอ ก็ยังชื่อว่าผู้สันโดษ นี้ชื่อว่ายถาพลสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งมีบุญมาก ได้เสนาสนะมาก มีที่เร้น มณฑปและเรือนยอดเป็นต้น เธอถวายเสนาสนะเหล่านั้นแก่ภิกษุผู้บวชนาน ผู้พหูสูต ผู้มีลาภน้อย และภิกษุไข้ เหมือนจีวรเป็นต้น แม้อยู่ที่ใดที่หนึ่ง ก็ยังชื่อว่าผู้สันโดษ นี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               แม้ภิกษุใดพิจารณาว่า เสนาสนะอันอุดมเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เมื่อนั่งในที่นั้น ย่อมง่วงเหงาหาวนอน เมื่อหลับแล้วตื่นขึ้น ความวิตกอันลามกก็ปรากฏ แล้วไม่รับเสนาสนะเช่นนั้นแม้มาถึงแล้ว เธอปฏิเสธแล้วแม้อยู่กลางแจ้งโคนไม้เป็นต้น ก็ยังชื่อว่าผู้สันโดษ นี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษในเสนาสนะ.
               อนึ่ง ภิกษุในพระศาสนานี้ได้เภสัชไม่ว่าปอนหรือประณีต เธอยินดีด้วยเภสัชที่ได้ ไม่ปรารถนาเภสัชแม้อย่างอื่น ถึงได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษในคิลานปัจจัยของเธอ.
               อนึ่ง ภิกษุใดต้องการน้ำมัน แต่ได้น้ำอ้อย เธอถวายน้ำอ้อยนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบกัน ถือเอาน้ำมันจากมือของภิกษุนั้น หรือแสวงหาอย่างอื่น แม้กระทำเภสัชด้วยปัจจัยเหล่านั้น ก็ยังชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ นี้ชื่อว่ายถาพลสันโดษในคิลานปัจจัยของเธอ.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งมีบุญมาก ได้เภสัชประณีต มีน้ำมันน้ำผึ้งน้ำอ้อยเป็นต้นเป็นอันมาก เธอถวายเภสัชนั้นแก่ภิกษุบวชนาน พหูสูต มีลาภน้อยและภิกษุไข้เหมือนจีวร แม้ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยเภสัชอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้มาจากคิลานปัจจัยเหล่านั้น ก็ยังชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ.
               อนึ่ง ภิกษุใดอันภิกษุทั้งหลายวางสมอดองไว้ในภาชนะหนึ่ง วางของมีรสอร่อย ๔ อย่างไว้ในภาชนะหนึ่ง แล้วกล่าวว่า นิมนต์ถือเอาสิ่งที่ต้องการเถิดขอรับ ถ้าว่าโรคของเธอจะระงับไปด้วยของอย่างใดอย่างหนึ่งในของเหล่านั้น เมื่อเป็นดังนั้น เธอก็ห้ามว่า ขึ้นชื่อสมอดองอันพระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงสรรเสริญแล้ว กระทำเภสัชด้วยสมอดองเท่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษอย่างยิ่ง นี้ชื่อว่ายถาสารุปสันโดษในคิลานปัจจัย. ก็ยถาสารุปปสันโดษเป็นยอดของสันโดษแต่ละสามๆ ในปัจจัยแต่ละอย่างๆ เหล่านี้
               ท่านพระปุณณะได้เป็นผู้สันโดษด้วยสันโดษแม้ทั้งสามเหล่านี้ ในปัจจัยแต่ละอย่าง.
               บทว่า สนฺตฏฺฐิกถญฺจ ได้แก่ สั่งสอนเรื่องสันโดษนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย.
               บทว่า ปวิวิตฺโต ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยวิเวก ๓ เหล่านี้ คือ กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก. ในวิเวก ๓ นั้น ภิกษุเดินรูปเดียว ยืนรูปเดียว นั่งรูปเดียว นอนรูปเดียว บิณฑบาตรูปเดียว กลับรูปเดียว จงกรมรูปเดียว เที่ยวรูปเดียว อยู่รูปเดียว นี้ชื่อว่ากายวิเวก. ส่วนสมาบัติ ๘ ชื่อว่าจิตตวิเวก. นิพพานชื่อว่าอุปธิวิเวก.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               กายวิเวกสำหรับบุคคลผู้ปลีกกายยินดีในเนกขัมมะ จิตตวิเวกสำหรับบุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ มีจิตผ่องแผ้วอย่างยิ่ง และอุปธิวิเวกสำหรับบุคคลผู้ปราศจากอุปธิ ผู้ถึงวิสังขาร.
               บทว่า ปวิเวกกถํ ได้แก่ สั่งสอนเรื่องวิเวกนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย.
               บทว่า อสํสฏฺโฐ ได้แก่ เว้นการคลุกคลี ๕ อย่าง.
               การคลุกคลี ๕ อย่าง คือ
                         ๑. สวนสังสัคคะ
                         ๒. ทัสสนสังสัคคะ
                         ๓. สมุลลาปสังสัคคะ
                         ๔. สัมโภคสังสัคคะ
                         ๕. กายสังสัคคะ.
               ในการคลุกคลี ๕ อย่างนั้น ภิกษุในธรรมวินัยนี้ฟังว่า ผู้หญิงหรือหญิงสาวในบ้านหรือตำบลนั่นงาม น่าชม สดใส ผิวพรรณงามอย่างยิ่ง ฟังเรื่องนั้นแล้ว สยบซึมเซา ไม่อาจสืบพรหมจรรย์ต่อไปได้ ไม่ลาสิกขา สึกเลย เมื่อเธอฟังคนอื่นเขาพูดถึงรูปสมบัติเป็นต้น หรือเสียงหัวเราะด้วยตน เกิดราคะด้วยโสตวิญญาณวิถี ชื่อว่าสวนสังสัคคะ.
               สวนสังสัคคะนั้น พึงทราบโดยอำนาจพระโพธิสัตว์ผู้ไม่เคยได้กลิ่นหญิง และพระติสสะหนุ่มผู้อยู่ในถ้ำปัญจัคคฬะ. เขาว่า ภิกษุหนุ่มเหาะไปได้ยินเสียงลูกสาวช่างทองชาวบ้านคิริคาม ไปสระปทุมกับหญิงสาว ๕ คน อาบน้ำประดับดอกปทุม ขับร้องด้วยเสียงอันไพเราะ ถูกกามราคะเสียบเอา เสื่อมฌานถึงความพินาศ.
               ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่ได้ยินเสียงเลย แต่ตนเองเห็นผู้หญิงหรือหญิงสาวที่สวยน่าชม สดใส มีผิวพรรณงามอย่างยิ่ง เธอเห็นแล้ว สยบซึมเซา ไม่อาจสืบพรหมจรรย์ต่อไปได้ ไม่ลาสิกขา สึกเลย เมื่อเธอแลดูรูปที่เป็นข้าศึกอย่างนี้ เกิดราคะด้วยจักขุวิญญาณวิถี ชื่อว่าทัสสนสังสัคคะ.
               ทัสสนสังสัคคะนั้นพึงทราบดังนี้.
               เขาว่า ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งไปยังทูรวิหารใกล้บึงกาลทีฆะ เพื่อเรียนอุทเทส. อาจารย์เห็นอันตรายของท่าน ก็ไม่ให้โอกาส. เธอก็พยายามติดตามไป. อาจารย์กล่าวว่า ถ้าเธอไม่เที่ยวไปในบ้าน เราก็จักสอนอุทเทสแก่เธอ. เธอรับคำแล้ว เมื่อเรียนอุทเทสจบ ก็ไหว้อาจารย์ไป คิดว่า อาจารย์ไม่ให้เราเที่ยวไปในบ้านนี้ ทำไมหนอ ห่มจีวรเข้าบ้าน.
               กุลธิดาคนหนึ่งนุ่งผ้าสีเหลืองยืนที่เรือนเห็นภิกษุหนุ่มก็เกิดราคะ เอากระบวยนำยาคูมาใส่ลงในบาตร แล้วกลับไปนอนเตียง. ครั้งนั้น มารดาบิดาจึงถามว่า อะไรกันลูก. กุลธิดานั้นตอบว่า เมื่อฉันได้ภิกษุหนุ่มที่ไปทางประตู จึงจักมีชีวิตอยู่ได้ เมื่อไม่ได้ ฉันจักตาย. มารดาบิดารีบไปพบภิกษุหนุ่มที่ประตูบ้าน ไหว้แล้วบอกว่า กลับมาเถิดท่าน โปรดรับภิกษา. ภิกษุหนุ่มบอกว่า พอละโยม จะไปละ. มารดาบิดาอ้อนวอนว่า เรื่องมันเป็นอย่างนี้ท่าน ในเรือนของเรามีทรัพย์อยู่เท่านี้ เรามีลูกสาวอยู่คนเดียวเท่านั้น ท่านมาเป็นลูกชายคนโตของเราเถิด สามารถอยู่ได้อย่างสบาย. ภิกษุหนุ่มตอบว่า ฉันไม่ต้องการกังวลอย่างนี้ ไม่ใยดีแล้วผละไป.
               มารดาบิดาไปบอกลูกสาวว่า ลูก พ่อแม่ไม่อาจจะนำภิกษุหนุ่มกลับมาได้ เลือกสามีอื่นที่เจ้าต้องการเถิด จงลุกขึ้นมากินข้าวกินน้ำเถิด. กุลธิดานั้นก็ไม่ปรารถนา นางอดข้าว ๗ วันตาย. มารดาบิดาทำการฌาปนกิจนางแล้ว ถวายผ้าสีเหลืองผืนนั้นแก่ภิกษุสงฆ์ในทูรวิหาร.
               ภิกษุทั้งหลายก็ฉีกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแบ่งกัน. ภิกษุแก่รูปหนึ่งรับส่วนของตนไป มายังกัลยาณวิหาร. ภิกษุหนุ่มแม้นั้นคิดจะไปไหว้พระเจดีย์ ก็ไปที่กัลยาณวิหารนั้น นั่งในที่พักกลางวัน. ภิกษุแก่หยิบชิ้นผ้านั้นมาแล้วบอกภิกษุหนุ่มว่า ท่านขอรับ โปรดใช้ผ้าผืนนี้ของผมเป็นผ้ากรองน้ำ. ภิกษุหนุ่มเรียนว่า ท่านมหาเถระได้มาแต่ไหนขอรับ. ภิกษุแก่ก็เล่าเรื่องนั้นทั้งหมด. ภิกษุหนุ่มฟังเรื่องนั้นแล้ว คิดว่าเราไม่ได้อยู่ร่วมกับหญิงคนนี้ ถูกไฟราคะเผา มรณภาพในที่นั้นเอง.
               ส่วนราคะที่เกิดโดยการสนทนาปราศรัยกะกันและกัน ชื่อสมุลลาปสังสัคคะ. ราคะที่เกิดโดยภิกษุรับของของภิกษุณี หรือภิกษุณีรับของของภิกษุแล้วบริโภค ชื่อสัมโภคสังสัคคะ.
               สัมโภคสังสัคคะนั้นพึงทราบดังนี้.
               เล่าว่า ครั้งฉลองมริจิวัตติยวิหาร มีภิกษุแสนรูป ภิกษุณีเก้าหมื่นรูป. สามเณรรูปหนึ่งรับข้าวยาคูร้อนไปพักไว้ที่ชายจีวรครั้งหนึ่ง ที่พื้นดินครั้งหนึ่ง. สามเณรีรูปหนึ่งเห็น ถวายถลกบาตร ด้วยกล่าวว่า วางบาตรไว้ในนี้แล้วค่อยไป. ภายหลังต่อมา เมื่อเกิดภัยขึ้น ทั้งสองก็ไปยังปรสมุททวิหาร. ทั้งสองรูปนั้น ภิกษุณีไปก่อน. ภิกษุณีนี้นั้นได้ยินว่า ภิกษุชาวสิงหลรูปหนึ่งมา ก็ไปยังสำนักพระเถระกระทำปฏิสันถารแล้วนั่งถามว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อครั้งฉลองมริจิวัตติยวิหาร ท่านพรรษาเท่าไร. พระเถระตอบว่า ครั้งนั้น ฉันเป็นสามเณรอายุ ๗ ขวบ ท่านเล่าพรรษาเท่าไร. ภิกษุณีตอบว่า ครั้งนั้น ดิฉันก็เป็นสามเณรีอายุ ๗ ขวบเหมือนกัน ดิฉันได้ถวายถลกบาตรแก่สามเณรรูปหนึ่งซึ่งรับข้าวยาคูร้อนไปเพื่อพักบาตร. พระเถระบอกว่า สามเณรองค์นั้นคือฉัน นำถลกบาตรออกมาแสดง. ด้วยสังสัคคะอันนี้นี่เอง แม้ทั้งสองท่านก็ไม่อาจจะสืบพรหมจรรย์ต่อไปได้ สึกในเวลามีอายุ ๖๐.
               ก็ราคะที่เกิดขึ้นโดยการจับมือเป็นต้น ชื่อว่ากายสังสัคคะ. ในข้อนั้นมีเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง. เขาว่าที่มหาเจติยังคณะ พวกภิกษุหนุ่มทำการสาธยาย พวกภิกษุณีสาวฟังธรรมอยู่ข้างหลังของพวกภิกษุหนุ่มเหล่านั้น. ในภิกษุหนุ่มเหล่านั้น ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งเหยียดแขนออกไปถูกกายภิกษุณีสาวรูปหนึ่ง. ภิกษุณีสาวจับมือมาทาบไว้ที่อกของตน. ด้วยสังสัคคะอันนั้น แม้ทั้งสองก็สึกเป็นคฤหัสถ์.
               ก็ในสังสัคคะ ๕ อย่างเหล่านี้ การฟัง การเห็น การเจรจา การร่วม การถูกต้องกายของภิกษุกับภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีเป็นนิจทีเดียว เว้นกายสังสัคคะ สังสัคคะที่เหลือกับภิกษุณีทั้งหลาย ย่อมมีได้เป็นครั้งคราว. สังสัคคะแม้ทั้งหมดกับอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ก็มีได้เป็นครั้งคราวเหมือนกัน. ก็พึงรักษาจิตจากการเกิดกิเลสในสังสัคคะเหล่านั้น.
               ภิกษุรูปหนึ่งเป็นคาหคาหกะ รูปหนึ่งเป็นคาหมุตตกะ รูปหนึ่งเป็นมุตตคากะ รูปหนึ่งเป็นมุตตมุตกะ.
               ในภิกษุเหล่านั้น พวกมนุษย์เข้าไปหาภิกษุด้วยการเอาเหยื่อล่อจับไว้ก็ดี ภิกษุเข้าไปหามนุษย์ด้วยการเอาดอกไม้ผลไม้เป็นต้นล่อจับไว้ก็ดี นี้ชื่อว่าคาหคาหกะ ต่างคนต่างจับ.
               ส่วนมนุษย์เข้าไปหาภิกษุโดยนัยที่กล่าวแล้ว ภิกษุเข้าไปหาโดยเป็นทักขิเณยยบุคคล นี้ชื่อว่าคาหมุตตกะ พ้นจากผู้จับ.
               มนุษย์ทั้งหลายถวายปัจจัยสี่โดยเป็นทักขิเณยยบุคคล ฝ่ายภิกษุเข้าไปหาโดยเอาดอกไม้ผลไม้เป็นต้นล่อจับไว้ นี้ชื่อว่ามุตตคาหกะ จับผู้ปล่อย.
               มนุษย์ทั้งหลายถวายปัจจัยสี่โดยเป็นทักขิเณยยบุคคลก็ดี ภิกษุบริโภคโดยเป็นทักขิเณยยบุคคล เหมือนพระจุลลปิณฑปาติยติสสเถระก็ดี นี้ชื่อว่ามุตตมุตตกะ ต่างคนต่างปล่อย.
               เขาว่า อุบาสิกาคนหนึ่งอุปัฏฐากพระเถระมา ๑๒ ปี. วันหนึ่งไฟไหม้เรือนที่หมู่บ้านนั้น. ภิกษุประจำตระกูลของคนอื่นๆ ก็มาถามว่า อุบาสิกา ไฟสามารถทำสิ่งของอะไรๆ ให้ไม่เสียหายมีบ้างหรือ. คนทั้งหลายกล่าวว่า พระเถระประจำตระกูลมารดาของเราจักมาเวลาฉันเท่านั้น.
               วันรุ่งขึ้นแม้พระเถระกำหนดเวลาภิกษาจารแล้วก็มา. อุบาสิกานิมนต์ให้นั่งที่ร่มยุ้ง จัดภิกษาถวาย. เมื่อพระเถระฉันเสร็จแล้วไป คนทั้งหลายก็พูดว่า พระเถระประจำตระกูลมารดาของเรามาเวลาฉันเท่านั้น. อุบาสิกากล่าวว่า พระประจำตระกูลของพวกท่านก็เหมาะแก่พวกท่านเท่านั้น พระเถระของเราก็เหมาะแก่เราเท่านั้น.
               ก็ท่านพระมันตานีบุตรไม่คลุกคลีกับบริษัทสี่ ด้วยสังสัคคะ ๕ เหล่านี้ จึงเป็นทั้งคาหมุตตกะ ทั้งมุตตมุตตกะ ท่านไม่คลุกคลีเองฉันใด ก็ได้สั่งสอนเรื่องการไม่คลุกคลีนั้น แม้แก่ภิกษุทั้งหลายฉันนั้น.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค รถวินีตสูตร ภิกษุชาวชาติภูมิยกย่องพระปุณณมันตานีบุตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 289อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 292อ่านอรรถกถา 12 / 301อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=4938&Z=5108
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=1058
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=1058
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :